bloggang.com mainmenu search

สาโรจน์  วีกิจ, นพ. (2553 : 61-66) กล่าวว่า

นอกจากการวางแผนการรักษาที่ถูกต้องแล้วการดูแลด้านจิตใจของผู้ป่วยก็มีความสำคัญไม่น้อยเช่นกันเพราะสภาพจิตใจของผู้ป่วยมีผลต่ออาการของผู้ป่วย การรักษาที่ได้ผลต้องทำควบคู่ระหว่างจิตใจและร่างกายซึ่งต่างก็มีส่วนสัมพันธ์ และมีอิทธิพลต่อกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็งด้วยแล้วสภาพจิตใจของผู้ป่วยมีผลเป็นอย่างมาก

 

ผู้ป่วยโดยทั่วไปต้องการกำลังใจเป็นสำคัญโดยเฉพาะความรักความเอาใจใส่ ทำให้ผู้ป่วยมีสภาพของจิตใจพร้อมที่จะต่อสู้กับโรคร้ายอยู่เสมอฉะนั้นญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยไม่ควรทอดทิ้งผู้ป่วยหมั่นดูแลเอาใจใส่อยู่เป็นประจำเพราะอย่างน้อยก็เป็นกำลังใจสำหรับผู้ป่วยให้ต่อสู้และมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข

 



การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอันมีผลกระทบต่อสภาพจิตใตของผู้ป่วย แบ่งได้ตามระยะต่าง ๆ ดังนี้
             
1. ระยะก่อนและขณะที่ได้รับทราบการวินิจฉัย
              2. การวินิจฉัยภาวะซึงเศร้า
              3. ระยะให้การรักษา
              4. ระยะติดตามการรักษา
              5. ระยะสุดท้าย


ระยะก่อนและขณะที่ได้รับทราบการวินิจฉัย
เซลล์มะเร็งที่เริ่มเกิดในอวัยวะหนึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักอยู่ในวัยที่ต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว หรือประมาณช่วงอายุ 30ปีขึ้นไป ดังนั้นความตึงเครียดและกังวลต่อโรคที่ได้รับการวินิจฉัยจึงค่อนข้างมีสูงความรู้สึกก่อนการรับทราบการวินิจฉัยจึงอยู่ในภาวะกดดันพอสมควรมีความขัดแย้งในตัวเอง และสับสน อยากทราบผลการวินิจฉัยแต่ก็กังวลกับผลที่จะทราบด้วยความรู้สึก และความเข้าใจที่มีอยู่แล้วว่าผู้ที่เป็นมะเร็งจะต้องตายและไม่มีทางรักษา ผู้ป่วยจะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาดังนี้
     - การปฏิเสธความจริง (Denying)
     - อารมณ์โกรธและก้าวร้าว (Aggression)
     - การต่อรอง (Bargaining)
     - การยอมรับ (Acception)
     - ระยะซึมเศร้า (Depression)

โดยในระยะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอาจมีระยะใดระยะหนึ่งเกิดขึ้นก่อน หรือเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ภาวะดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากถึงร้อยละ 25-30 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งศรีษะและลำคอในรายที่มีประวัติการดื่มเหล้ามากก็จะมีอัตราเสี่ยงต่อภาวะนี้และมีโอกาสฆ่าตัวตายมากขึ้น


การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้า

Dysphoric mood คือความรู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง กังวล และ กระวนกระวาย
อารมณ์ร่วมได้แก่
     - เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
     - นอนไม่หลับ
     - อ่อนเพลีย
     - เฉื่อยชา หรือกระวนกระวาย
     - ขาดความสนใจในการทำงาน
     - ต้องการเก็บตัว
     - ขาดสมาธิเลื่อนลอย
     - คิดถึงแต่เรื่องความตาย

เมื่อเป็นในลักษณะนี้แพทย์ผู้ให้การวินิจฉัยและรักษาควรอย่างยิ่งที่จะดูลักษณะผู้ป่วยไม่มีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ใด ๆ ที่จะสามารถระบุได้ว่าพฤติกรรมของผู้ป่วยที่แสดงออกบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีความรู้สึกเช่นไร

โดยทั่วไปในประเทศไทยเรายังไม่มีกฎเกณฑ์ที่แพทย์ต้องบอกการวินิจฉัยให้ผู้ป่วยทราบก่อนการรักษาเนื่องจากการศึกษา และขนบธรรมเนียมยังแตกต่างจากต่างประเทศดังนั้นก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจบอกผู้ป่วยให้รับทราบ ควรเป็นในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปการสร้างศรัทธาและความเชื่อถือการมีสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยกัยแพทย์จึงเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการนำไปสู่การอธิบายเพื่อแก้ไขความรู้สึกกลัว หรือสงสัย เป็นการเตรียมใจของผู้ป่วยให้อยู่ในสภาพพร้อมที่สุดในการรักษา



อย่างไรก็ตามควรบอกให้ผู้ป่วยได้รับทราบถึงการวินิจฉัยเมื่อถึงเวลาอันสมควรทั้งนี้เพราะผู้ป่วยต้องการทราบมากที่สุดการปิดบังจะทำให้เกิดข้อสงสัยและความไม่ไว้วางใจระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแรก ๆ เขาควรได้รับทราบว่ามีโอกาสหายจากการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์เพราะโรคมะเร็งในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ป่วยจะต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อหลุดพ้นจากความทรมานทางใจและใช้เวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ทั้งนี้จะต้องอยู่ในดุลยพินิจของญาติผู้ป่วยด้วยเช่นกัน


ระยะที่ให้การรักษา

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการรักษาโรคมะเร็งมีวิธีการต่าง ๆ กัน ตั้งแต่การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัดและการฉายรังสี ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยไม่ค่อยเข้าใจ และกลัวต่อภาวะแทรกซ้อนมากจากการศึกษาถึงวิธีการรักษาต่าง ๆ ในผู้ป่วยโรคมะเร็งรังสีรักษาเป็นวิธีที่ผู้ป่วยสับสนและกังวลมากที่สุด กลัวเครื่องฉายรังสีกลัวผิวหนังไหม้เกรียม กลัวผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากรังสีซึ่งมีกลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะอย่างนี้ในปริมาณที่สูงพอสมควร


ระยะติดตามการรักษา

ระยะนี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมีความสบายใจ และมั่นใจมากขึ้นเนื่องจากผลการรักษามักจะขจัดอาการต่าง ๆ ให้ดีขึ้นอย่างชัดเจน เช่น อาการปวดหอบเหนื่อย หรืออาการทางระบบประสาทต่าง ๆแต่ผู้ป่วยก็มีความกังวลใจเกี่ยวกับการกลับมาเป็นใหม่ หรือการกระจายของโรคดังนั้นจึงมักแสวงหาสิ่งอื่น ๆ มาเสริมสร้างกำลังใจ เช่น การใช้ยาสมุนไพรตลอดจนยาจากตำราต่าง ๆ ยาต้มซึ่งหากแพทย์ผู้ให้การรักษาไม่อนุญาตจะสร้างความขัดแย้งต่อจิตใจผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

ดังนั้นการให้ผู้ป่วยหรือญาติรับทราบว่าโรคที่รักษาขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาชนิดอื่น ๆ นอกเหนือจากยาที่แพทย์สั่งแต่หากผู้ป่วยต้องการจะกินยาชนิดอื่น ๆ เพิ่ม ก็ควรจะกินได้ในปริมาณที่พอเหมาะที่สำคัญหากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติรีบพบแพทย์โดยทันที ปัญหาที่สำคัญคือหากโรคมะเร็งกลับมาอีก ผู้ป่วยจะมีความกังวลใจมากขึ้นมีความเชื่อมั่นในการรักษาลดลงในกรณีเช่นนี้ต้องรีบสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยต่อการรักษาอีกครั้ง ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยและญาติจะหันความสนใจไปรักษากันเองกับหมอเถื่อนซึ่งเป็นผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ป่วยเอง

 

ระยะสุดท้าย

ระยะนี้ผู้ป่วยจะท้อแท้มากที่สุดบางครั้งมีความรู้สึกอยากตายหรือบางครั้งรู้สึกว่ายังมีเรื่องอะไรให้ต้องจัดการอีกมากในการรักษาผู้ป่วยในระยะนี้แพทย์จะอธิบายให้ญาติเข้าใจและจัดสิ่งแวดล้อมตามความพอใจของผู้ป่วย แม้แต่สถานที่ผู้ป่วยต้องการดำรงชีวิตอยู่ซึ่งที่สำคัญที่สุดควรเป็นที่บ้านมากกว่าที่โรงพยาบาลสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุดคือ กำลังใจ ดังนั้นการกระทำใด ๆที่จะช่วยลดอาการทางกายเป็นสิ่งที่ควรกระทำที่สุด เช่นการให้ยากลุ่มมอร์ฟีนเพื่อระงับอาการปวด โดยไม่ต้องเกรงว่าผู้ป่วยจะติดยาหากมั่นใจว่าผู้ป่วยอยู่ในระยะสุดท้ายจริง ๆ

 

 

แพทย์เอง หากขาดการดูแลแม้ลดลงเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง ควรให้ความสำคัญกับผู้ป่วยโดยเฉพาะญาติหรือผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย จะเป็นกำลังใจที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ป่วยให้ผู้ป่วยยืนหยัดต่อสู้กับโรคมะเร็งได้เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสภาพจิตใจของผู้ป่วยให้ใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขไร้ข้อวิตกกังวลใด ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญและดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเอง

โรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้เพียงแค่ให้ความใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองโดยผู้ที่เป็นมะเร็งเกือบทุกรายมักไม่ค่อยคำนึงถึงสุขภาพของตนเอง ซึ่งคิดเพียงว่าโรคมะเร็งคงไม่เกิดขึ้นกับตนเป็นแน่แต่เมื่อเป็นแล้วก็มักจะตรวจพบในระยะที่รักษายากเสมอ ฉะนั้นการดูแลรักษาสุขภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญของทุกคนไม่จำกัดวัยเพราะทุกวัยมีโอกาสเกิดโรคและเจ็บป่วยได้เท่าเทียมกันหากต้องการมีชีวิตที่ห่างไกลจากโรค ควรหาทางป้องกันดีกว่าการรักษาเพราะคุณภาพชีวิตที่ดีคือสิ่งที่ทุกคนต้องการ อย่าลืมว่าการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บไม่ให้เกิดขึ้น ต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ

 

เอกสารอ้างอิง : สาโรจน์วีกิจ, นพ. ล้างพิษมะเร็ง. กรุงเทพมหานคร : READING CONNER, 2553.

 

 

 

Create Date :17 สิงหาคม 2555 Last Update :20 สิงหาคม 2555 14:23:34 น. Counter : 6469 Pageviews. Comments :1