bloggang.com mainmenu search
โดย: หนอนแก้ว


ทำไมเพื่อนๆ ถึงหาว่าหนูขี้ฟ้อง

นี่เป็นเสียงเจื้อยแจ้วของน้องฝ้ายจอมแก่น ที่พอเกิดเรื่องผิดปกติอะไรใกล้ตัวให้เธอติดใจนิดเดียว ก็จะวิ่งมาบอกคุณครูแล้ว

หนนี้ก็เหมือนกันค่ะ ที่ความช่างเจรจาของน้องฝ้ายทำให้เพื่อนๆ เรียกเธอว่า "จอมขี้ฟ้อง" จนน้องฝ้ายต้องเอาเรื่องนี้นี่ล่ะ...มาฟ้องกับคุณครู


นักฟ้องตัวยง

นี่เป็นหนึ่งในคำเรียกเด็กๆ ที่มักจะนำเรื่องที่ผิดปกติหรือความบกพร่องที่เกิดขึ้น มาบอกต่อกับคนอื่นๆ ค่ะ

แค่ไหนถึงเรียกว่าอาการ "ฟ้อง" นั่นก็คือการที่น้องหนูนำเอาข้อผิดพลาดในสายตาของเขามาบอกต่อกับคนอื่นตลอด เวลา หรือย้ำซ้ำกับเรื่องเดิมๆ ซึ่งหากจะมองถึงข้อดีของพฤติกรรมอย่างนี้ คือแสดงให้เห็นถึงความช่างสังเกตและความใส่ใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ของน้องหนู

แต่ข้อเสียที่น่าแก้ไขก็มีเหมือนกันนะคะ เพราะหนูๆ อาจมองเรื่องเล็กๆ โดยตีความว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โตไปเสียหมด เช่น น้องตั้นที่ชอบเล่นหยอกล้อกับเพื่อนๆ แต่น้องฝ้ายกลับตาโตวิ่งมาฟ้องครู ว่าน้องตั้นแกล้งจนเพื่อนเจ็บ ซึ่งถ้าการฟ้องเกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อนๆ อาจไม่เข้าใจและอาจติดภาพว่าเพื่อนคนนี้ช่างฟ้องไปเสียทุกเรื่อง

ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะปล่อยทิ้งไว้นานเลยค่ะ เพราะเป็นเรื่องการปฏิสัมพันธ์และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม ห้องเรียนของหนูๆ แต่จะปรับพฤติกรรมช่างฟ้องของน้องหนูยังไงดีล่ะ ถึงจะไม่ทำให้เขาเข้าใจผิดไปว่าคุณครูหรือคุณพ่อคุณแม่เป็นปฏิปักษ์กับความ ถูกต้องและความยุติธรรม


คุณครู...สนใจหนูหน่อย

บางทีการที่หนูพยายามเข้าหาคุณครูด้วยวิธีแบบนี้ อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าเขาต้องการความสนใจจากคนรอบข้าง ซึ่งเขาอาจจะรู้สึกไม่ชินกับเพื่อนเท่าที่ควรจะเป็น จึงต้องดึงคุณครูให้สนใจหนูหน่อย

ถ้าน้องหนูพยายามทำตัวเองให้เป็นผู้พิทักษ์ความยุติธรรมในหมู่เพื่อนแบบนี้ ก็ต้องสอนให้เขาเข้าใจถึงขอบเขตที่พอเหมาะ เพราะเป็นเรื่องดีที่หนูๆ จะช่วยคุณครูสอดส่องดูแลความเป็นไปต่างๆ ในห้องเรียน ซึ่งถ้าเกิดเรื่องผิดปกติหรือมีพฤติกรรมไม่ถูกต้องเกิดขึ้น คุณครูจะได้แก้ไขทันเวลา

ส่วนวิธีจัดการของคุณครู กับเด็กวัยอนุบาล 3 ที่เรื่องของระเบียบวินัยยังไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ ถ้าขอบเขตความถูกต้องของหนูจะยืดหยุ่นบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรงค่ะ

ดังนั้นถ้าบางเรื่องที่หนูๆ นำมาฟ้องเป็นเรื่องไม่รุนแรงนัก ก็ขอให้คุณครูค่อยๆ แก้ปัญหาอย่างละมุนละม่อมนะคะ เพื่อให้ฝ่ายที่ฟ้องรับรู้ว่าคุณครูฟังเขา และฝ่ายที่ถูกฟ้องได้รับการตัดสินอย่างยุติธรรมจากคุณครูด้วย


กล่อมน้อง 'ช่างฟ้อง' เป็น 'ช่างฟัง'

ความช่างฟ้องของเด็ก อาจเป็นเพราะเขามองเรื่องต่างๆ ในแง่ร้ายจนเกินไป ถ้าสอนให้เขาหัดฟังเหตุผลของเพื่อนๆ บ้าง จะทำให้เขาเข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้มากกว่าการมองอย่างจับผิด

เช่น ถ้าเขาฟ้องคุณครูว่าเพื่อนกินอาหารหกเลอะเทอะ ก็ลองสอนให้เขาฟังเพื่อนอธิบายว่าที่ทำข้าวหก อาจเป็นเพราะเพื่อนเผลอทำช้อนตก ทำให้ข้าวหกเลอะโต๊ะไปด้วย ไม่ใช่ว่าเพื่อนคนนั้นตั้งใจจะทำอะไรที่มันไม่เรียบร้อยเลยสักหน่อย

ทีนี้ ก่อนที่หนูจะวิ่งมาฟ้องคุณครู เขาก็จะเข้าใจมากขึ้นแล้วล่ะค่ะ ว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเรื่องแง่ร้ายเสียทั้งหมด แถมยังได้สื่อสารกับเพื่อนมากขึ้นเพื่อให้เข้าใจซึ่งกันและกันด้วยนะคะ


เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

ทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมที่เข้าขั้นฟ้องของน้องหนู ให้กลายเป็นการบอกเล่าเรื่องราวให้คุณครูและผู้ใหญ่ได้ฟัง ซึ่งความละเอียดรอบคอบและหูไวตาไวของหนูๆ นี่เองค่ะ ที่จะช่วยปลูกฝังทักษะการเป็นผู้ใหญ่และการเป็นผู้นำที่ดีให้เด็กๆ ได้ในอนาคต

ซึ่งคุณครูเป็นคนสำคัญเชียวค่ะที่จะช่วยสร้างบรรยากาศดีๆ ให้ความสัมพันธ์ของเพื่อนตัวจิ๋วเหล่านี้ได้สนิทสนมกัน รวมทั้งพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ในขั้นแรกนั้นก็ควรจะรับฟังเสียงของเด็กๆ ด้วยท่าทีเชื่อถือนะคะ เพราะถ้าเด็กต้องการความใส่ใจจากคุณ แล้วคุณยังบอกปัดไม่สนใจเพราะคิดว่าเป็นแค่การฟ้องเล็กๆ น้อยๆ ของเด็กเท่านั้น อาจจะส่งผลให้เขาเก็บเรื่องนั้นๆ ไปคิดมาก และกลายเป็นว่าไม่วางใจในตัวคุณเข้าอีกคน

มิตรภาพของเด็กๆ จะยาวนานกว่าที่คิด ด้วยการที่เขาได้เรียนรู้ถึงการ 'เอาใจเขา มาใส่ใจเรา' และเพียงปรับพฤติกรรมช่างฟ้องของหนูให้กลายเป็นเด็กที่รอบคอบและใช้เหตุผล ขึ้นอีกนิด เท่านี้หนูก็จะกลายเป็นเด็กดี...ที่เพื่อนรักแล้วล่ะ


Tip for Parent

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่น้องหนูมักจะพกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนกลับมาเล่าให้ฟังด้วยทีท่าฟ้องบ่อยๆ อยากให้ลองตรวจสอบกับทางโรงเรียนนะคะว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นความจริง มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าเป็นเรื่องจริงที่น่าห่วง เช่น พฤติกรรมของเพื่อนบางคนทำให้หนูรู้สึกทุกข์ใจกับการไปโรงเรียน จะได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุดค่ะ


Source:
Credit: momypedia

ครูขา!...เพื่อนว่าหนูขี้ฟ้อง
  • Comment
    *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก