bloggang.com mainmenu search

8 กลยุทธ์ ปั้นเด็กฉลาด

โดย : ชฎาพร นาวัลย์




▷▷หลังจากเป็นหมอดู ทำนายทายทักเจ้าตัวเล็กแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนปั้นแต่งลูกให้ฉลาด ฉบับเฉพาะตัวของเขาเอง


แพทย์หญิงนลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ เผยถึงวิธีการพัฒนาความฉลาดของน้องๆ ด้วยวิธีต่างๆ ของศาสตราจารย์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ เริ่มต้นกันที่...

เด็กที่ฉลาดด้านภาษา พ่อแม่ก็ควรอ่านหนังสือร่วมกันโดยอาจเล่านิทานหรือเรื่องราวต่างๆ ให้เด็กฟัง ทั้งที่เล่าด้วยตนเองหรือเปิดจากแผ่นซีดีก็ได้ หรือจะชวนเด็กให้พูดคุยถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว และสนับสนุนให้เด็กอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขามองเห็น หรือกำลังกระทำอยู่ด้วยการพูดหรือเขียน แล้วเปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกครั้งที่ต้องการ รวมทั้งเล่นเกมที่เกี่ยวกับคำศัพท์

ตัวอย่างวิธีสอน หากต้องการสอนวิธีบวก-ลบเลข ให้แต่งเรื่องว่ามีเด็กผู้ชาย 2 คน คนหนึ่งมีส้ม 3 ผล อีกคนมีส้ม 2 ผล ถ้าคนที่มีส้ม 2 ผลให้ส้มเด็กอีกคนไป 1 ผล ถามว่าเด็กแต่ละคนมีส้มคนละกี่ผล

เด็กที่ฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ พ่อแม่ก็ต้องหากิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ชื่นชอบ เช่น แก้ปริศนา การวัดและการสำรวจสิ่งต่างๆ การทดลองเพื่อค้นหาเหตุและผล หรือใช้สัญลักษณ์และสูตร ชวนพวกเขาเล่นเกมปริศนาต่างๆ โดยเฉพาะประเภทที่มีการคิดคำนวณ มีตัวเลขเกี่ยวข้อง หรือต้องอาศัยการจัดลำดับ แล้วให้เด็กลองคิดหาเหตุผลเบื้องหลังสิ่งต่างๆ กระตุ้นให้เขาถามคำถาม เพื่อให้ใช้ความคิดอย่างต่อเนื่อง

ตัวอย่างวิธีสอน ถ้าอยากสอนภูมิศาสตร์ พ่อแม่ควรใช้เหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เมื่อเด็กรับประทานผลไม้ ก็อาจไล่ลำดับเหตุการณ์ว่ามะม่วงนี้มาจากที่ใด เช่นมะม่วงซื้อมาจากไหน ปลูกในจังหวัดอะไร เติบโตด้วยน้ำจากแม่น้ำใด และก็ให้เด็กลองวาดภาพลำดับเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง

เด็กที่ฉลาดด้านดนตรี แน่นอนว่าพ่อแม่ควรหมั่นให้เด็กๆ ฟังเพลง ท่วงทำนอง จังหวะ และรูปแบบดนตรีในลักษณะต่างๆ กัน หาหนังสือที่มีเสียงสัมผัสให้ลูกได้อ่าน และช่วยส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ เป็นเสียงดนตรีหรือหาเกมส์เกี่ยวกับตัวเลข และรูปทรงมาให้ลูกเล่น และสอนเรื่องรูปทรงต่างๆ ให้ลูกเมื่อเห็นสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องรูปทรง

ตัวอย่างวิธีสอน ให้เด็กใช้ส้อมเสียง น้ำ ทรายหรือสิ่งรอบตัวทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกันเพื่อเรียนรู้วิทยาศาสตร์หรือสอนเรื่องวัฒนธรรมและเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็ก

เด็กที่ฉลาดด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว ก็ต้องหากิจกรรมที่เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย ใช้กล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายให้เด็ก เรียนรู้ด้วยการแสดงท่าทาง เคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายให้มากที่สุด และช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วยการทำการทดลองจริงให้ได้มากที่สุด และให้โอกาสเด็กได้เดินคิดไปมาและตัดสินใจด้วยตัวเองในขณะเรียนรู้สิ่งต่างๆ

ตัวอย่างวิธีสอน คณิตศาสตร์ เริ่มจากการสอนบวกลบง่ายๆ ให้กับเด็กด้วยการนำกล่องขนาดต่างๆ และเซตลูกบอลมาให้เด็กใช้ เพื่อแสดงการบวกลบ โดยเพิ่ม หรือลดจำนวนลูกบอลในกล่องได้ และสอนเรื่องรูปทรงเรขาคณิต เช่น วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม โดยให้ทำมือเป็นรูปทรงต่างๆ

เด็กที่ฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ เพราะเด็กกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีหากใช้ภาพ สิ่งของ หรือจินตนาการของเด็กเองเป็นเครื่องช่วย ฉะนั้นเมื่ออ่านหนังสือให้เด็กฟัง ก็ควรจะเน้นให้เด็กสังเกตเห็นภาพ และเชื่อมโยงภาพนั้นกับคำที่คุณอ่าน หรือให้เด็กเล่นของเล่น ไม่ว่าจะเป็นดินน้ำมัน กระดาษ ลูกบอล หรือตัวต่อ บ้างใช้ท่าทางช่วย เมื่อต้องอธิบายสิ่งของให้เด็กรับรู้ และใช้ภาพในการอธิบายสิ่งต่างๆ แทนที่จะพูดเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างวิธีสอน ถ้าต้องการสอนวิทยาศาสตร์ ก็ลองให้ลูกจินตนาการและวาดรูปสิ่งที่เขาจะประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในอนาคต วาดรูปหรือต่อภาพจิ๊กซอว์ให้เป็นต้นไม้ และสัตว์ หรือสอนภูมิศาสตร์ด้วยการสร้างโมเดลย่อส่วนของสถานที่สำคัญต่างๆ โดยใช้ดินน้ำมันหรือกระดาษแข็งเป็นวัสดุ

เด็กที่ฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้รับโอกาสให้ตอบโต้ พูดคุย หรือทำงานร่วมกับผู้อื่น ผู้ใหญ่จึงน่าจะให้เด็กจับกลุ่มกับเพื่อนๆ ร่วมกันทำงาน โดยอาจจัดกิจกรรมที่ให้เด็กได้พบปะสังสรรค์กัน และควรให้พบปะกับคนหลายๆ ประเภท เพื่อเปิดโอกาสให้เขาเรียนรู้ถึงบทบาทและความสามารถของผู้อื่น และเมื่อจะอธิบายสิ่งต่างๆ ให้เด็กฟังในรูปของเรื่องราวที่มีตัวละครหลายๆ ตัว

ตัวอย่างวิธีสอน หากจะสอนวิธีบวก-ลบเลข ให้ชวนเขาทำครัว และสอนเขาตวงเครื่องปรุงต่างๆ เช่น 2 ช้อน
แกง 3 ถ้วย ไปพร้อมๆ กับพ่อแม่ หรือชวนเด็กและเพื่อนๆ ให้ไปเที่ยวด้วยกันที่สวนสัตว์ และให้เด็กๆ พูดคุยกันถึงสัตว์ที่ได้พบเจอ

เด็กที่ฉลาดด้านเข้าใจตนเอง วิธีที่ดีที่สุด คือต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดวิเคราะห์และไตร่ตรอง สิ่งที่ได้เรียนรู้ด้วยตนเองโดยตรง และเปิดโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็น และความรู้สึกถึงบทบาทที่พวกเขาได้รับ รวมทั้งส่งเสริมให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของกับทุกกิจกรรมที่ทำ โดยไม่บีบบังคับ หรือก้าวก่ายความคิดของเด็กๆ ในขณะที่พวกเขาเรียนรู้ พร้อมกับให้เด็กๆ มีพื้นที่ส่วนตัว เพื่อคิดไตร่ตรองในขณะเรียนรู้เรื่องต่างๆ

ตัวอย่างวิธีสอน ให้เด็กเป็นคนวางแผนว่าอยากทำอาหารอะไรที่มีสารอาหารครบทุกหมู่ในวิชาวิทยาศาสตร์
หรือให้เด็กบอกชื่อฤดูต่างๆ กันออกมา แล้วนั่งวิเคราะห์กันว่าใครชอบฤดูไหน ทำไมจึงไม่ชอบอย่างไร

เด็กที่ฉลาดด้านรู้จักธรรมชาติ ต้องรู้จักส่งเสริมให้เด็กอยู่กับธรรมชาติ จัดการ และค้นหา เชื่อมโยงธรรมชาติให้เข้ากับทุกอย่างที่เด็กเรียนรู้ แนะวิธีคิดให้เด็กๆ คิดว่าสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาเรียนรู้นั้นมีผลต่อโลกนี้อย่างไร พร้อมใส่ข้อมูลด้านต่างๆ กระตุ้นให้เด็กจดจำข้อมูลเกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัว โดยแบ่งสิ่งต่างๆ ออกเป็นกลุ่มๆ ตามลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้นๆ

ตัวอย่างวิธีสอน คณิตศาสตร์ พ่อแม่ต้องเชื่อมโยงแนวคิดทุกอย่างสู่ธรรมชาติ เช่น ใช้คณิตศาสตร์อธิบายการเจริญเติบโตของพืช หรือใช้แผนภาพในการจำแนกชนิดดอกไม้

คุณหมอนลินี กล่าวสรุปสั้นๆ เพื่อย้ำความถูกต้องของทฤษฎีและวิธีการสอนว่า “ความฉลาด” นั้น มิได้จำกัดอยู่แค่ความสามารถเพียงบางด้านเท่านั้น จึงไม่ควรมองข้ามความฉลาดอื่นๆ แล้วทำให้เชื่อมโยงกันอย่างถูกหลัก

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่พ่อแม่จะเปลี่ยนคำถามว่า “ลูกฉลาดแค่ไหน?” ให้เป็น “ลูกฉลาดในด้านใดบ้าง?

credit : bangkokbiznews