bloggang.com mainmenu search


หนังสือชื่อ "Childism" จะตีพิมพ์ในเดือนมกราคม พุทธศักราช 2555 โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Yale (Yale University Press) ในขณะที่บทความนี้เผยแพร่ หนังสือเล่มนี้อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ ยังไม่มีวางจำหน่ายหรือเผยแพร่ หนังสือนี้เป็นผลงานของนักวิชาการชื่อ Elisabeth Young-Bruehl ซึ่งเป็นการแสดงถึง "การให้ความสำคัญกับเด็ก" ซึ่งมีสาระของการต่อสู้กับการตัดสินล่วงหน้า (Prejudice) และ เจตคติ (Attitudes) ของผู้คนทั่วไปที่มีต่อเด็กในสังคมยุคก่อนและยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

การตีพิมพ์หนังสือดังกล่าวและบทความนี้เผยแพร่ในเดือนที่มีการกำหนดให้มี “วันเด็ก” ของประเทศไทย คือ วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมพอดี หนังสือนี้เป็นการยืนยันว่า นักวิชาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับเด็กมาโดยตลอด เช่น แนวคิดทางการศึกษา “ผู้เรียนเป็นสำคัญ” หรือ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” เป็นตัวอย่างของการให้ความสำคัญกับเด็ก

เด็กไทยกำลังอยู่ในภาวะของการปรับตัวกับวัฒนธรรมสากล
การเกิดขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่มีความซับซ้อน มีค่านิยมหลากหลาย มีมาตรฐานความดีงามที่แตกต่าง มีระบบสารสนเทศและการสื่อสารที่รวดเร็ว มีชีวิตและการทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนไม่อาจเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง นับเป็นความยากลำบากสำหรับเด็กไทย แม้แต่ความแตกต่าง (อาจมากถึงความแตกแยก) ที่เกิดขึ้นภายในประเทศตามภูมิภาคต่างๆ เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ซึ่งอยู่ในประเทศเดียวกัน เด็กๆ บางส่วนยังคงสับสนกับแบบแผนที่ดีงามสำหรับสังคมไทย

ในขณะที่ประเทศไทยต้องการแบบแผนที่ดีงามสำหรับเด็ก
ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการให้มีการศึกษาข้ามวัฒนธรรม (Cross-culture Studies) จำนวนมาก ซึ่งเป็นการศึกษาลำดับที่สามของการศึกษาเปรียบเทียบทางวัฒนธรรม (Cross-culture Comparison) ซึ่งประกอบด้วยลำดับแรกคือ การเปรียบเทียบรายกรณี ลำดับสองคือ การเปรียบเทียบในกลุ่มที่มีตัวแปรเหมือนๆ กัน และลำดับสามคือ การเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง การศึกษาข้ามวัฒนธรรมนั้นจำเป็นสำหรับเด็กไทย ไม่เพียงเพื่อเข้าสู่สังคมโลกและประชาคมอาเซียน ที่รัฐบาลกำลังนำประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมโลกและประชาคมอาเซียนเท่านั้น แต่ยังจำเป็นสำหรับความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างเด็กไทยภายในประเทศอีกด้วย

กฎหมายกับเด็ก

เด็กเป็นภาวะของสภาพบุคคล ที่ถูกกำหนดฐานะทางกฎหมายให้เป็นผู้เยาว์ โดยใช้ฐานของความสามารถในการคิดและการกระทำที่สามารถจะรับรอง หรือไม่รับรองโดยกฎหมาย หรือ “นิติภาวะ” ตามมาตราที่ 19 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และจะบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุยี่สิบปีบริบูรณ์” ดังนั้นการกระทำของเด็กหรือผู้เยาว์จึงถูกกฎหมายกำหนดไว้แตกต่างจากผู้ใหญ่ หรือผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว การจำกัดขอบเขตของการกระทำมีเจตนาเพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็กโดยเชื่อว่า เด็กยังเป็นผู้มีความสามารถไม่บริบูรณ์

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกจำนวนมากที่อ้างอิงความเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ตามกฎหมายนี้ในการบัญญัติสาระต่างๆ ทั้งการให้ความคุ้มครอง การให้ประโยชน์ และการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอีกจำนวนมาก จนบางครั้งทำให้มีความได้เปรียบ หรือได้ประโยชน์จากการเป็นเด็กหรือผู้เยาว์อย่างมาก การพิจารณาลงโทษเด็ก กฎหมายมีบทบัญญัติให้ลงโทษน้อยกว่าผู้ใหญ่ หรือบางกรณีไม่ต้องรับโทษเลย จะเห็นได้ว่าสังคมมนุษย์มีความอาทรและต้องการปกป้องดูแลเด็กที่เป็นผู้เยาว์อย่างเต็มที่




บริบททางสังคมที่มีต่อเด็ก

ผู้ใหญ่ทุกคนต้องผ่านวัยเด็กมาก่อน จึงมีความเข้าใจภาวะของความเป็นเด็ก ให้ความรัก ความเมตตา และให้อภัยกับเด็กได้ดีมากกว่าเด็กจะเข้าใจภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ การให้ความสำคัญกับเด็กจึงเป็นความเมตตาของผู้ใหญ่ที่จะจัดการให้กับเด็กโดยเฉพาะ เพราะผู้ใหญ่เป็นผู้มีความพร้อม ความบริบูรณ์ที่จะเป็น “ผู้ให้ความสำคัญกับเด็ก”

นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะมีคำขวัญประจำวันเด็กในแต่ละปี ซึ่งส่วนมากจะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่พึงประสงค์ให้กับเด็กในแต่ละช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่ง ดูได้จากภาพประกอบ คำขวัญของนายกรัฐมนตรีในวันเด็กปี พ.ศ. 2554 และ พ.ศ. 2555 (ภาพคำขวัญของนายกรัฐมนตรี)

นอกจากนั้นการแสดงถึงการดูแลเอาใจใส่เด็ก หรือ “รักเด็ก” ยังเป็นค่านิยมที่ทำให้คนชื่นชอบ ในช่วงเวลาหนึ่งบนเวทีของผู้เข้าประกวดนางงาม ผู้เข้าประกวดจะแสดงวาทกรรมและพฤติกรรมของการ “รักเด็ก” กับสาธารณชนจนนำไปสู่การชนะใจกรรมการและประชาชนได้

การต่อสู้เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็ก มีทั้งในนามของบุคคล และนิติบุคคล หรือมูลนิธิต่างๆ จำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานของรัฐอีกจำนวนมากเช่นกันที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลเด็ก นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สังคมเห็นความดีงามของการดูแลเด็ก ให้ความช่วยเหลือเด็ก คุ้มครองเด็กมากขึ้นกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตาม เด็กยังถูกมองว่าเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับสังคม
เป็นอันตราย และเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ที่ต้องดูแล เลี้ยงดู ให้การศึกษา ผลการศึกษาทางพฤติกรรมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ สังคมศาสตร์และอื่นๆ ชี้ให้เห็นว่า เด็กเป็นต้นตอของปัญหาจำนวนมาก บางลัทธิและระบบการปกครองในอดีตจึงแยกเด็กออกไปจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และให้รัฐเป็นผู้จัดการเลี้ยงดู ควบคุม สร้างวินัยให้กับเด็ก และวิธีการดังกล่าวก็ยังคงมีแฝงอยู่ในปัจจุบันแต่เปลี่ยนรูปแบบ กระบวนการหรือวิธีการของการดำเนินการ และเรียกชื่อกระบวนการหรือวิธีการเหล่านั้นโดยไม่ทำให้มีความรู้สึกว่า “ไร้มนุษยธรรม”

เด็กเป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิต นับตั้งแต่คลอดและอยู่รอดเป็นทารก เติบโตจนถึงวัยที่จะสามารถสร้างผลผลิตได้ หรือสามารถใช้เป็นแรงงานได้ ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ตลอดเวลาดังกล่าวพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเลี้ยงดู แบ่งปันปัจจัยต่างๆ ที่ตนเองหามาได้เพื่อเด็กที่เป็นลูกหรือผู้อยู่ในอำนาจปกครองตามฐานะต่างๆ ความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัวขึ้นอยู่กับสัดส่วนของปริมาณจำนวนมือที่ทำงาน หรือทำการผลิต กับจำนวนปากที่บริโภค

ในแต่ละสังคม ความอุดมสมบูรณ์ของครอบครัวที่เป็นหน่วยเล็กสุดของสังคมจึงมีจำนวนของเด็กผู้บริโภคเป็นตัวแปรสำคัญ ในยุคหนึ่งนิยมให้มีลูกมากเพราะต้องการกำลังคนและครอบครัวต้องการแรงงานในการผลิต แต่ยุคต่อมาประเทศไทยได้ถูกชี้นำให้เห็นว่า การมีลูกมากเป็นภาระเลี้ยงดูอย่างมาก ทำให้ยากจน การคุมกำเนิดจึงได้รับการส่งเสริม และทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กน้อยลง แต่ความคิดในการมีลูกเพื่อใช้งาน เป็นปัจจัยผลิต และเป็นสิ่งที่นำรายได้และเงินตราเข้าบ้านยังคงมีอยู่

เด็กกับการศึกษาและสถานศึกษา


การให้การศึกษาแก่เด็กเป็น “หน้าที่” ตามกฎหมายของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องให้การศึกษาจนถึงระดับประถมศึกษา ประเทศไทยมีการศึกษาขั้นพื้นฐานบังคับ 9 ปี เป็น “ความรับผิดชอบ” ของรัฐที่ต้องสนับสนุนให้มีการจัดการศึกษาให้กับพลเมือง และเป็น “ภารกิจ” ของสถานศึกษาที่จะต้องจัดการศึกษาให้กับเด็กที่เป็นเยาวชนของชาติ

ดังนั้น เด็กทุกคนจึงมีความเกี่ยวข้องกับครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาของประเทศ การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของเด็กย่อมส่งผลต่อภารกิจ การทำงาน รวมทั้งความก้าวหน้าในวิชาชีพของพวกเขา ไม่เฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ส่งผลในทุกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียนจนถึงระดับมหาวิทยาลัย จำนวนเด็กที่ลดลง ส่งผลต่อระบบการศึกษา ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดตัวเอง ยุบรวม เพราะไม่มีเด็กเรียน จำนวนโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งงานอาจหายไป

นอกจากนั้นระบบการขนส่งและคมนาคมของประเทศสะดวกขึ้น การเข้ามาเรียนในตัวเมืองที่เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่สะดวกมากกว่าเดิม ดังนั้นโรงเรียนขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเพื่อจัดการศึกษาให้ทั่วถึงกับชุมชน หรือหมู่บ้านที่ห่างไกลในอดีตจำนวนมากจึงจำเป็นต้องปิดหรือยุบรวม การพิจารณาปิด หรือยุบรวมโรงเรียนจึงเป็นผลมาจากปริมาณของเด็กเป็นสำคัญ และเกณฑ์ที่ใช้พิจารณานั้นควรเป็นเกณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นให้สามารถปรับเข้ากับบริบทของชุมชนและสังคมในแต่ละแห่งได้อย่างเหมาะสม

สรุป


“ภาวะเด็กนิยม” (Childism) หรือ การให้ความสำคัญกับเด็ก สำหรับประเทศไทยมีพัฒนาการของการคุ้มครองเด็กค่อนข้างมาก และให้ความดูแลเด็กมากกว่าในอดีต มีพัฒนาการที่รวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ หรือแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ หน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือมีจำนวนมากสามารถให้ความช่วยเหลือเด็กได้ค่อนข้างทั่วถึง แต่การปรับเปลี่ยนเจตคติที่มีต่อเด็กในสังคมไทยอาจต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนบ้าง

เจตคติของการใช้เด็กเป็นแรงงาน
เป็นปัจจัยของการผลิต และเป็นทรัพย์สินของครอบครัวต้องมีการทบทวนและสร้างเจตคติที่มีต่อเด็ก หรือบุตรธิดาให้เหมาะสม นอกจากนั้นแบบแผนการเลี้ยงดูเด็กที่รับเอาวัฒนธรรมและค่านิยมต่างชาติเข้ามา ใช้เลี้ยงดูเด็กไทย ต้องมีการจัดระดับและระบบของค่านิยมพื้นฐานตามบริบทของสังคมไทย

การส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ ต้องมีการนิยามและกำหนดวิธีการที่เหมาะสมสำหรับเกณฑ์ที่ใช้สำหรับการตัดสิน คุณค่าของการแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไทยอย่างเหมาะสม

การศึกษาข้ามวัฒนธรรม (Cross-culture Studies) ถึงแม้จะมีความซับซ้อน แต่เป็นความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศในภาวะของการแข่งขัน การอยู่ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างผู้ที่รู้และเข้าใจพวกเขา เป็นความมั่นคงของประเทศ เป็นความมั่นใจของฝ่ายการเมือง และการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลานาน ในการดำเนินการและต้องการผู้ที่มีคุณภาพสำหรับการทำภารกิจที่ต่อเนื่องและ ยาวนานนี้ และ “เด็กวันนี้” คือ ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสำหรับอนาคตต่อไป การให้ความคุ้มครองป้องกันเด็กจากภัยต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมทั้งการสนับสนุนพัฒนาการเพื่อสมรรถนะสูงสุดของเด็กจึงเป็น “ความรับผิดชอบของผู้ใหญ่” ตลอดไป.


รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์


credit : thairath
  • Comment
    * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก