DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
2 กรกฏาคม 2553
 
All Blogs
 
กฎหมายใหม่ ผลกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม

                ในระยะหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 16 พ.ศ. 2540 แล้วได้มีการตื่นตัวในด้านสิทธิเสรีภาพกันอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากพื้นฐานกฎหมายดังกล่าว หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย เช่น มาตรา 26 การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้


               มาตรา 27 สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมายและการตีความกฎหมายทั้งปวง


               มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน


               บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาล หรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้


               มาตรา 29


               การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้


               กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป และไม่มุ่งหมายใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย


               บทบัญญัติวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎหรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม


               มาตรา 30


               บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน


               ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน


               การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้


               มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม


               มาตรา 31


               บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย


               การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้


               การจับ คุมขัง ตรวจค้นตัวบุคคล หรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย


               มาตรา 32


               บุคคลจะไม่ต้องรับโทษทางอาญา เว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้


               มาตรา 33 ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด


               ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้


               และแม้ว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 18 พ.ศ. 2550 ในเวลาต่อมาก็ตาม แต่แนวทางในเรื่องสิทธิเสรีภาพดังกล่าวก็ยังคงเป็นในลักษณะเดิมอยู่ ดังปรากฏในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เช่น


               มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน


               บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถ ยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้


               บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ


               บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้


               มาตรา 30


               บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน


               ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน


               การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้


               มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม


               มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย


               การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษประหารชีวิตตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้


               การจับและการควบคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้


               การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ


               ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้


               ผลจากรัฐธรรมนูญและการตื่นตัวในเรื่อง "สิทธิเสรีภาพ" ประกอบกับ ความก้าวหน้าในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และการศึกษาที่มีผู้ให้ความรู้มากขึ้น จึงได้มีการออกกฎหมายตามมาหลายฉบับที่ถือได้ว่ามีผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรม และการประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ ตามมา


               กฎหมายที่สำคัญ


               กฎหมายที่สำคัญที่อาจเกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขในระดับต่าง ๆ ในขณะนี้จึงอาจจำแนกได้อย่างง่าย ๆ ดังนี้


               กฎหมายพื้นฐาน


               1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์3 เป็นการฟ้องร้องในเรื่องค่าสินไหมทดแทนกรณีการกระทำอันเป็นละเมิดเป็นสำคัญ ซึ่งปรากฏอยู่ในมาตรา 420 นั่นเอง


               2. ประมวลกฎหมายอาญา4 คือการกระทำทางการแพทย์หรือการประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขอันอาจเป็นความผิดในทางอาญา โดยเฉพาะในเรื่องความประมาทอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อกายและจิตใจ รวมถึงความประมาทอันทำให้เกิดอันตรายบาดเจ็บสาหัส ไปจนถึงประมาทเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อชีวิต (ตาย) นั่นเอง


               กฎหมายวิชาชีพโดยตรง


               1. พระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525


               2. กฎหมายวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขอื่น ๆ เช่น พระราชบัญญัติการพยาบาลและการผดุงครรภ์ พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2540 พระราชบัญญัติวิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 เป็นต้น


               กฎหมายเหล่านี้เป็นกฎหมายที่มีกรอบในการควบคุมการประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขแต่ละประเภทอยู่แล้ว เนื่องจากการที่สังคมยินยอมให้การประกอบการดังที่กำหนดเป็น "การประกอบวิชาชีพ" ซึ่งจะต้องใช้ความรู้ความสามารถในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมเป็นกรณีพิเศษ และที่สำคัญคือต้องมี "องค์กรวิชาชีพ" ในการควบคุมดูแล


               กฎหมายทางด้านสาธารณสุข


               1. พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หรืออาจเรียกว่า "กฎหมาย 30 บาท" นั่นเอง แม้ว่าในการประกาศหรือประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขได้รับทราบว่า กฎหมายนี้เป็นเพียงกฎหมายที่มีผลต่อ "หน่วยบริการ" หรือสถานบริการทางด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังคงกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขด้วย เมื่อพิจารณาถึงมาตรา 57, 58 และ 59 แห่งกฎหมายนี้นั้นเอง


               2. พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายแม่แบบของกฎหมายสาธารณสุขที่ถือว่าเป็น "ธรรมนูญแห่งสาธารณสุขก็ว่าได้" แม้ว่าจะประกาศใช้หลังจากพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มีกรอบที่อาจเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในมาตรา 5, 6, 7, 8, 9, 10, 11 และ 12 อีกทั้งยังมีกฎหมายย่อยที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์กับการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าจะต้องกระทบต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขอย่างมากมาย


               3. พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่อาจถือได้ว่ามีประโยชน์ในการตัดสินใจให้กับผู้ประกอบวิชาชีพในระดับหนึ่งโดยเฉพาะ "ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม" ในประการที่สามารถที่จะตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินการอย่างใดกับผู้ป่วยที่มีสภาพแห่งการป่วยรุนแรงที่อาจถึงแก่ชีวิต แต่ยังไม่มีการแสดงความยินยอมให้ดำเนินการ


               กฎหมายที่เกี่ยวกับผู้บริโภค


               1. พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551


               2. พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551


               3. พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522


               เป็นกฎหมายที่น่าจะมีผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข เนื่องจากมีการกำหนดกรอบในการรับผิดชอบที่ค่อนข้างกว้าง ที่สำคัญก็คือ มีการกำหนดระยะเวลาแห่งการดำเนินการไว้ยาวมาก อีกทั้งในเรื่องพยานหลักฐานในการพิสูจน์ โดยเฉพาะหน้าที่แห่งการพิสูจน์ในการดำเนินการทางการแพทย์นั้นกลับต้องตกกับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ หาได้ใช้กฎเกณฑ์พื้นฐานที่ว่า "ผู้ใดกล่าวอ้างผู้นั้นต้องนำสืบ" แม้ว่ากฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคจะประกาศใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 แล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็เพิ่งจะมีผลบังคับใช้นั่นเอง


               ร่างกฎหมายใหม่ คือ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการทางด้านสาธารณสุข พ.ศ. ..... เป็นกฎหมายที่อาจถือว่ามีความสำคัญอีกฉบับหนึ่งถ้ามีการประกาศใช้


               ความเห็นในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข


               จะเห็นได้ว่าการที่มีกฎหมายใหม่ขึ้นมานั้น แทนที่จะเป็นกฎหมายที่รวบรวมการดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพดำเนินการให้แก่ผู้ป่วยนั้นเพียงฉบับเดียวหรือในทางเดียวกลับยิ่งมีกฎหมายมากขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายใหม่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงเท่ากับมิได้เป็นการแก้ปัญหาให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพแต่อย่างใด ในกรณีดังกล่าวข้างต้นย่อมหมายความว่าผู้ประกอบ วิชาชีพทางด้านสาธารณสุขยังต้องรับผิดตั้งแต่กฎหมายพื้นฐานมาจนถึงกฎหมาย ล่าสุดนั่นเอง


Create Date : 02 กรกฎาคม 2553
Last Update : 2 กรกฎาคม 2553 1:27:50 น. 0 comments
Counter : 1498 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.