DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
 
มกราคม 2556
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
4 มกราคม 2556
 
All Blogs
 
ปัญหาฟ้องร้องทางการแพทย์และแนวทางแก้ไข (2)

เมื่อถูกฟ้องร้องจะทำอย่างไร
เมื่อเกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยหรือญาติ โอกาสที่จะนำไปสู่การร้องเรียนหรือฟ้องร้องย่อมมีได้มาก. เริ่มตั้งแต่การร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งถ้าสามารถแก้ปัญหาในจุดนี้ได้ ย่อมจะเป็นการดี การพูดคุยกันให้เกิดความเข้าใจ การเยียวยาหรือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นร่วมกัน ถือเป็นการยุติข้อขัดแย้งในเบื้องต้นที่ดีที่สุด.

แต่หากเลยจุดนี้ไป หากผู้ป่วยหรือญาติมีความเชื่อมั่นในสภาวิชาชีพคือ แพทยสภา ว่า จะสอบสวนให้ความเป็นธรรมได้ เขาก็จะไปร้องเรียนที่นั่น แต่ถ้าศรัทธาในจุดนี้หมดไป การร้องเรียนต่อสื่อมวลชน หรือฟ้องร้องในชั้นศาลจะตามมา. กรรมการแพทยสภาจึงต้องเข้าใจในบทบาทของสภาวิชาชีพว่าเป็นกระบวนการดูแลกันเอง และถ้าดูแลกันเองได้ เรื่องราวก็จะไม่ลุกลามไปถึงขั้นฟ้องร้องในชั้นศาล.

หากพิจารณาโทษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม ก็จะพบว่าโทษนั้นเบากว่ากฎหมาย บ้านเมืองมากคือ มีตั้งแต่การตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาตและถอนใบอนุญาต และแม้จะถูกลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต กฎหมายก็เปิดช่องไว้ให้ขอคืนใบอนุญาตได้ เมื่อพ้น 2 ปี นับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอน และหากถูกปฏิเสธ ผู้นั้นยังสามารถยื่นเรื่องขอรับใบอนุญาตได้อีกครั้ง เมื่อสิ้นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันที่คณะกรรมการปฏิเสธ (มาตรา 42).

หากถึงขั้นฟ้องร้องกันในคดีอาญา และมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก โดยคณะกรรมการ เห็นว่าพฤติกรรมนั้นนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ความเป็นสมาชิกแพทยสภาจะสิ้นสุดลง ส่งผลให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต่อไปไม่ได้ (มาตรา 11) ผู้ประกอบวิชาชีพ เวชกรรมจึงควรระมัดระวังไม่กระทำการใด อันเป็นความผิดอาญาที่ร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์วิชาชีพ.

อย่างไรตาม แม้จะถึงขั้นกล่าวหาหรือร้องทุกข์ ในทางอาญา ผู้ต้องหาก็ยังมีสิทธิตามกฎหมายในฐานะ ผู้ประกอบวิชาชีพที่จะขอประกันตัว และต่อสู้คดีได้ หากผลที่เกิดแก่ชีวิตหรือร่างกายเป็นเหตุแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นโดยมิอาจคาดหมายได้ ย่อมไม่เป็นความผิดอาญา.

สำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งในเรื่องละเมิดนั้น หากเป็นบุคลากรในภาครัฐ ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยในมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติว่า

"หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย ในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"


การมีบทบัญญัติดังกล่าวเท่ากับยกเว้นหลัก ทั่วไปในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐทุกประเภท เมื่อทำความเสียหายต่อบุคคลภายนอกในขณะทำงานตามหน้าที่ ย่อมพ้นจากการถูกฟ้องร้องให้รับผิดในกรณีละเมิด แต่หากมิใช่การกระทำในหน้าที่ กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ให้ความคุ้มครอง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ดังนี้
"ถ้าการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดในการนั้นเป็นการเฉพาะตัว ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง แต่จะฟ้องหน่วยงานของรัฐไม่ได้"
‰Ž
การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการในหน้าที่ ในขณะเดียวกันก็เป็นผลดีแก่ผู้เสียหายอีกด้วยที่สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนได้โดยตรงจากหน่วยงานของรัฐ.

อนึ่ง หากหน่วยงานของรัฐได้ชดใช้ค่าเสียหายไปแล้ว จะไล่เบี้ยจากเจ้าหน้าที่ได้ในกรณีใด ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 ของพระราชบัญญัตินี้ได้ระบุไว้ว่า

"ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย เพื่อการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้หน่วยงานของรัฐมีสิทธิเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแก่หน่วยงานของรัฐได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการนั้นไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง


สิทธิเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใด ให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์ โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้

ถ้าการละเมิดเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วน รวม ให้หักส่วนแห่งความรับผิดดังกล่าวออกด้วย

ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น"Ž

"ถ้าหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย สิทธิที่จะเรียกให้อีกฝ่ายหนึ่ง ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตน ให้มีกำหนดอายุความหนึ่งปีนับแต่วันที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นแก่ผู้เสียหาย"


ก้าวต่อไปในหนทางแห่งวิชาชีพ
ในการประชุมทางวิชาการครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องการแพทย์ วัฒนธรรมและจริยธรรม เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 1 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต) ปัจจุบันคือพระพรหมคุณากรณ์ ได้ปาฐกถาเรื่องบทบาทของแพทย์กับความหวังจากคนไข้ โดยท่านได้กล่าวถึงสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ในสังคมไทยว่า อยู่ในกระแสวัฒนธรรม 2 สาย ท่านได้กล่าวไว้ดังนี้

"แพทย์ไทยในสภาพโลกาภิวัตน์ปัจจุบันก็มี เรื่องที่สืบเนื่องมาแต่เก่าก่อนซึ่งรวมถึงวัฒนธรรมด้วย พูดโดยรวบรัดว่าแพทย์ไทยในปัจจุบันอยู่ในวัฒนธรรมสองกระแส หนึ่ง คือ กระแสของวัฒนธรรมของไทยเองแต่เดิม และสอง คือ กระแสวัฒนธรรมที่มาจากตะวันตก การแพทย์ปัจจุบันของเราสมัยใหม่นี้ เป็นการแพทย์ที่เรานำมาจากตะวันตก เมื่อการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามา วัฒนธรรมตะวันตกก็เข้ามากับแพทย์ด้วย.

ทีนี้กระแสวัฒนธรรมไทยกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกนั้นก็มีทั้งในแง่ที่ขัดกันและในแง่ที่จะเสริมกัน เรามามองดูวัฒนธรรมไทยก่อน วัฒนธรรมไทยเดิมนั้น ก็อย่างที่บอกแล้วว่าวัฒนธรรมนั้นเป็นวิถีชีวิตของคนซึ่งรวมเอาจริยธรรมเข้าไว้ด้วย จริยธรรมก็รวมอยู่ในวิถีชีวิตที่เรียกว่าวัฒนธรรมของไทยเรา เราเรียกวัฒนธรรมของเราว่า "วัฒนธรรมน้ำใจ"

"วัฒนธรรมน้ำใจ" ใจเป็นเรื่องของจิตใจที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีความปรารถนาดีต่อกัน พร้อมที่จะช่วยเหลือ พูดทางพระก็คือ มีเมตตากรุณา อีกฝ่ายหนึ่งก็มีความกตัญญูหรือความรู้สึกบุญคุณ ซึ่งเป็นความรู้สึกต่อแพทย์ในสังคมไทย ในฐานะที่แพทย์เป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ ช่วยรักษาบำบัดความเจ็บป่วย ทำให้หายจากโรค จึงทำให้มีความรู้สึกในทางที่ชื่นชมว่าเป็นผู้มีพระคุณต้องเคารพบูชา เราก็เลยมีคติในสังคมไทยว่า บุคคล 3 กลุ่ม หรือ 3 พวกนี้ เป็นบุคคลที่สังคมไทยยกย่องเชิดชูบูชา คือ พระ ครู และแพทย์.

ทำไมจึงเชิดชูบูชาถือเป็นผู้มีพระคุณ ทัศนคติ นี้ตั้งอยู่บนฐาน คือ คุณค่าต่อชีวิต คือ เรามองไปที่คุณค่าของชีวิตว่าแพทย์เป็นผู้มาช่วยทำสิ่งที่เป็นคุณค่าต่อชีวิต คือ มาช่วยชีวิตนั่นเอง ทำให้ชีวิตหลุดพ้นจากภัยอันตรายทำให้มีสุขภาพดี อันเป็นความสำคัญพื้นฐานที่มองคุณค่าต่อชีวิต เมื่อผู้ใดเป็นผู้ที่มีคุณค่าต่อชีวิตของตัว ช่วยชีวิตของตัว เขาก็มีความซาบซึ้งในพระคุณ ความรู้สึกเคารพบูชาจึงเกิดขึ้น อันนี้คือสภาพที่เป็นมาในสังคมไทย เป็นกระแสวัฒนธรรมไทยเดิม.

ทีนี้อีกสายหนึ่งก็คือ วัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมตะวันตกที่แทรกอยู่ในการแพทย์ก็คือ วัฒนธรรมธุรกิจ วัฒนธรรมธุรกิจเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ มองไปที่ค่าตอบแทน และเวลามองอย่าง นั้นจุดเพ่งก็จะอยู่ที่การได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะฉะนั้นทั้งคนไข้และแพทย์ต่างก็จะดูว่า ทำอย่างไรเรา จะได้เปรียบมากกว่า หรือว่าเราจะไม่เสียเปรียบ อย่างน้อยก็ต้องพิทักษ์สิทธิของตัวเองที่จะไม่ให้เสียเปรียบ เพราะฉะนั้น ก็จะมองกันด้วยสายตาของลูกค้ากับผู้ให้บริการ.

เมื่อเป็นอย่างนี้ ตัวฐานที่ตั้งของวัฒนธรรมแบบนี้จะอยู่ที่อะไร ก็อยู่ที่ผลประโยชน์ พูดง่ายๆ ก็คือ เงิน ทีนี้เมื่อเงินเข้ามาเป็นตัวเด่น เป็นตัวเป้าหมายแล้ว เงินนี้ก็จะเข้ามาบังคุณค่าของชีวิต หรือบังชีวิตนั่นเอง. เมื่อเงินบังชีวิตแล้วคนก็มองแต่เงิน เมื่อมองแค่เงิน ไม่ถึงชีวิตแล้ว ความรู้สึกในด้านคุณค่าก็ไม่มี เพราะมองไปแค่ผลประโยชน์และก็จะระวังในเรื่องของการได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะฉะนั้น ความซาบซึ้งในคุณค่า ในฐานะเป็นผู้มีพระคุณก็ไม่เกิดขึ้น เพราะมองไม่ถึงชีวิตของคน แต่มองไปติดแค่เงิน เงินก็บังตัวคุณค่าของชีวิตนั้นเสีย แทนที่จะมีคุณค่า ก็มีแต่ราคา คนก็ไม่มองเห็นคุณค่าของกันและกัน แต่จ้องไปที่ราคา.

ในวัฒนธรรมตะวันตก จริยธรรม ไม่รวมลงไปในกระแสวัฒนธรรม เพราะว่าระบบเองขัดกับจริยธรรมอยู่ในตัว จึงต้องมีระบบการควบคุมทางสังคมมาช่วยไม่ให้คนเอาเปรียบกัน. อะไรที่จะมาเป็นระบบควบคุมทางสังคมที่สำคัญก็คือ กฎหมาย ฉะนั้น จะต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ถ้าหากว่าแพทย์ทำผิดไม่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนเท่าที่จ่าย เอาเปรียบคนไข้ กฎหมายก็จะต้องเข้ามาให้ความเป็นธรรมเช่นเดียวกัน ถ้าคนไข้ มองเห็นว่าแพทย์ทำอะไรถึงตัวเองไม่พอใจ ก็ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเหมือนกันเพราะกฎหมายเป็นมาตรฐาน.

พร้อมกันนั้น มาตรการอีกอย่างหนึ่งก็เข้ามาประกอบ คือ วัฒนธรรมแบบพิทักษ์สิทธิที่กลายมาเป็นค่านิยมพิทักษ์ผลประโยชน์ ทำให้มีวัฒนธรรมของการเรียกร้องค่าเสียหาย ที่เรียกว่า sue ซึ่งก็อาศัยกฎหมายเข้ามาช่วย หมายความว่า 2 อย่างนี้เข้ามาหนุนซึ่งกันและกัน.

กฎหมายเป็นเรื่องของระเบียบแบบแผนภายนอก เป็นหลักการของสังคมหรือเป็นกติกา แต่ในจิตใจของคนก็จะต้องมีแนวโน้ม หรือมีค่านิยมที่สอดคล้องกันด้วย ค่านิยมอันหนึ่งก็คือ ค่านิยมปกป้องสิทธิ ซึ่งจะแสดงออกในการที่ว่า ถ้ามีการทำอะไรผิดพลาดฉันจะต้องเรียกร้องค่าเสียหาย คือ sue ฉะนั้น ฝรั่งจึงมีหลักปฏิบัติที่สำคัญคือ sue และอันนี้ก็เป็นวิธีถ่วงดุล และคานกันเองในทางสังคม. ฉะนั้นการที่จะเอารัดเอาเปรียบอะไรกันก็จะต้องคุมไว้ด้วยกฎหมายและระบบการ sue นี้ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า ควบคุมไว้ด้วยกติกาสังคมและวัฒนธรรมพิทักษ์สิทธิ.

ในวัฒนธรรมแต่ละวัฒนธรรม ระบบสังคมจะมีเครื่องถ่วงดุลกันเอง แต่พอกระแสวัฒนธรรม 2 สายเข้าปะทะหรือบรรจบกัน ก็ทำให้เกิดความระส่ำระสาย ความไม่พอดีก็เกิดขึ้น ดังที่ปรากฏว่าพอวัฒนธรรมธุรกิจของตะวันตกเข้าในสังคมไทยก็เกิดปัญหา 2 แบบ คือ

1. ในแง่ที่ขัดกัน ถ้าแพทย์มีใจโน้มไปทางวัฒนธรรมกระแสไทยมาก โดยมีความรู้สึกด้านน้ำใจมาก มีเมตตากรุณามาก พอมาพบกับกระแสวัฒนธรรมธุรกิจ ก็หนักใจ อึดอัดใจ เช่น ลำบากใจในการคิดเงินทองกับลูกค้า คือ คนไข้ ทำให้ไม่สบายใจกลายเป็นผลเสียแก่หมอ ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาของวัฒนธรรมตะวันตกหมอก็เสียเปรียบ เพราะจะคิดราคา ค่ารักษา ค่ายาหรือค่าอะไรก็ไม่กล้าคิดแพง กลายเป็นว่าวัฒนธรรมไทยนี้ไปขัดกับวัฒนธรรมธุรกิจที่เข้ามา.

2. อีกด้านหนึ่งกลายเป็นการเสริม
คือ ถ้าแพทย์ยึดวัฒนธรรมธุรกิจของฝรั่งที่เข้ามา ก็อาจจะเอาประโยชน์จากวัฒนธรรมไทย โดยฉวยโอกาสที่ว่าคนไทยไม่มีนิสัยในการที่จะเรียกค่าเสียหาย ไม่รู้จัก sue และคนไข้ก็มองแพทย์ด้วยความรู้สึกเคารพบูชา แพทย์จะทำอะไร คนไข้ก็รู้สึกว่ามาช่วยเหลือชีวิตเรา มาช่วยเหลือญาติของเรา ถึงจะผิดพลาดไปบ้างก็ต้องยอมรับ อย่าไปทำอะไรท่าน ฉะนั้นก็ไม่คิดจะไปเรียกร้องอะไรจากแพทย์. เมื่อเป็นอย่างนี้ แพทย์ก็ได้โอกาส กลายเป็นว่าแพทย์สามารถปฏิบัติการทางแพทย์โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบมากนัก แต่สามารถมุ่งเอาผลประโยชน์ได้เต็มที่ คือ เอาวัฒนธรรมธุรกิจเป็นใหญ่ แล้วก็ฉวยโอกาสเอาประโยชน์จากวัฒนธรรมไทยคือ น้ำใจของคนไข้นั่นเอง เลยสบายไป กลายเป็นว่าหารายได้สูงสุดโดยไม่ต้องเสี่ยงต่อการ "sue" เป็นอันว่า สังคมไทยเวลานี้มีจุดอ่อนแล้ว จากการที่วัฒนธรรมสองสายเข้ามาพบกัน.

ในเมื่อสภาพอย่างนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย เมืองไทยจะยิ่งมีปัญหามากกว่าเมืองฝรั่ง ซึ่งเขามีวัฒนธรรมแบบเดียว ไม่มีการขัดแย้งระหว่างกระแสวัฒนธรรม 2 สาย ยิ่งเวลานี้ระบบการแข่งขันหาผลประโยชน์รุนแรงขึ้น สภาพนี้จะยิ่งน่ากลัว ถ้าเราไม่มีทางแก้ไข ปรับให้มีความพอดีสมดุลได้แล้ว สังคมไทยจะดีไปได้อย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้จะเอื้ออำนวยต่อ การสร้างสรรค์สังคมและแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างไร จะเป็นปัญหาใหญ่มาก ฉะนั้นจะต้องมาดูกันว่าเรามีความหวังจากแพทย์อย่างไร".

จากปาฐกถาดังกล่าว ท่านพระพรหม-คุณาภรณ์ได้ชี้ให้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยว่า บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอยู่ในวัฒนธรรม 2 กระแส ส่วนจะไหลไปในกระแสไหนในอนาคต บุคลากรทางการแพทย์ ถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่กระแสใด รวมทั้งนักธุรกิจ นักการเมือง ที่เข้ามาทำกำไรจากความเจ็บป่วยของเพื่อนมนุษย์ด้วย โดยมาลงทุนและอาศัยแพทย์เป็นผู้ดำเนินกิจการให้ การดึงบุคลากรออกจากภาครัฐ จะทำให้การบริการในภาครัฐอ่อนแอลง ปัญหาเหล่านี้หากไม่ได้รับการแก้ไข การฟ้องร้องคงจะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับการให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องนั้น คงต้องพิจารณาตามวิสัยและพฤติการณ์ของแต่ละกรณีซึ่งย่อมต้องมีความแตกต่างกันระหว่าง โรงพยาบาลในภาครัฐ โรงพยาบาลในภาคเอกชน และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยทำให้เรื่องการรักษาพยาบาลเป็นธุรกิจ เพราะเมื่อทำการแพทย์เป็นธุรกิจก็ต้องพร้อมที่จะรับผลที่ตามมาเมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือคดีอาญา และจะไปอ้างวัฒนธรรมอีกกระแสหนึ่ง เพื่ออ้างความเห็นอกเห็นใจคงไม่ตรงกับเรื่องนัก.

แสวง บุญเฉลิมวิภาส
ศาสตราจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




Create Date : 04 มกราคม 2556
Last Update : 4 มกราคม 2556 9:06:02 น. 0 comments
Counter : 913 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.