DR.MOO CAN DO
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2553
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
23 พฤษภาคม 2553
 
All Blogs
 
ศพกับสิทธิยึดหน่วง

          คงมีหลายคนสงสัยว่า กรณีผู้ป่วยมารักษากับทางโรงพยาบาลแล้วสุดท้ายถึงแก่ความตายโดยยังไม่มีการชำระค่ารักษาพยาบาล เมื่อญาติมาขอรับศพเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลโดยไม่ได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้ครบถ้วน ทางโรงพยาบาลจะยึดหน่วงศพไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลจนครบถ้วนได้หรือไม่  ก่อนตอบปัญหานี้ขอทำความเข้าใจเรื่องสิทธิยึดหน่วง ซึ่งได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมาตรา 241 บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์ของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้ ............” ตัวอย่างเช่น นายแดงนำนาฬิกาไปให้นายขาวซ่อม นายขาวซ่อมเสร็จจนใช้การได้ดี นายแดงไม่ยอมชำระค่าจ้าง นายขาวจึงมีสิทธิยึดหน่วงนาฬิกาเรือนนั้นไว้ได้จนกว่าจะได้รับค่าจ้างจากนายขาว


            เรื่องที่เกิดขึ้นจริงเมื่อหลายปีก่อนมีอยู่ว่า หญิงคนหนึ่งเป็นคนต่างจังหวัดแต่มาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ วันหนึ่งถูกรถชนอาการสาหัส พลเมืองดีจึงนำส่งโรงพยาบาลเอกชน รักษาอยู่สองวันก็เสียชีวิต แม่ของผู้ตายซึ่งอยู่ต่างจังหวัดรู้ข่าวจึงมาขอรับศพจากโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลทวงเงินค่ารักษาพยาบาล แม่ของผู้ตายไม่มีให้เพราะมีฐานะยากจน โรงพยาบาลจึงไม่ยอมมอบศพให้  จึงเกิดปัญหาว่าโรงพยาบาลสามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงในกรณีนี้ได้หรือไม่  ท่านอาจารย์เพ็ง  เพ็งนิติ  ซึ่งเป็นผู้บรรยายวิชาละเมิด ที่สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาให้ความเห็นว่า  ค่าจ้างการรักษาพยาบาลเป็นหนี้ที่เกิดในขณะที่ผู้ตายยังมีสภาพบุคคล ( ยังไม่มีสภาพเป็นทรัพย์สิน) โรงพยาบาลย่อมไม่สามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงในกรณีนี้ได้ สรุปก็คือ “หนี้ค่ารักษาพยาบาลคน เจ้าหนี้อ้างสิทธิยึดหน่วงไม่ได้” หากไม่มอบศพให้ญาติเขาไปบำเพ็ญกุศล ก็ถือเป็นละเมิด


            ก็มีผู้สงสัยถามต่อไปอีกว่า แล้วหากหนี้นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่ถึงแก่ความตายแล้ว จะสามารถใช้สิทธิยึดหน่วงได้หรือไม่ เช่น สมมติว่า แม่มาขอรับศพลูกแต่ เห็นว่าศพไม่สวย จึงจ้างทางโรงพยาบาลให้ช่วยแต่งศพ (เสริมสวย) ให้ แต่สุดท้ายไม่ยอมจ่ายค่าแต่งศพ อย่างนี้ทางโรงพยาบาลจะสามารถอ้างสิทธิยึดหน่วงศพได้หรือไม่  อาจารย์ เพ็ง กล่าวว่า ยังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่าศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่ แต่ถึงแม้ว่าจะถือว่าศพเป็นทรัพย์สิน การที่ไม่มอบศพให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศล ก็น่าจะเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะขัดความรู้สึกของประชาชนทั่วไปที่รู้เรื่องนี้แล้วคงรู้สึกเวทนาและคงไม่เห็นด้วยกับการกระทำของโรงพยาบาล  อีกทั้งน่าจะเข้าข่ายที่ว่าหนี้ค่าแต่งศพไม่เหมาะสมที่จะมาใช้สิทธิยึดหน่วงดังที่ มาตรา242 บัญญัติว่า “สิทธิยึดหน่วงอันใด ถ้าไม่สมกับลักษณะที่เจ้าหนี้รับภาระในมูลหนี้ก็ดี ไม่สมกับคำสั่งอันลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนหรือให้ในเวลาที่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นก็ดี หรือเป็นการขัดกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ดี สิทธิยึดหน่วงเช่นนั้นท่านให้ถือว่าหามีไม่เลย” 


สรุป


            1.ยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่บ่งชี้ชัดว่า ศพเป็นทรัพย์สินหรือไม่


            2.โรงพยาบาลใช้สิทธิยึดหน่วงศพในกรณีที่ผู้ตายเป็นหนี้ค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ เพราะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะที่ผู้นั้นยังเป็นคนอยู่


            3.กรณีที่โรงพยาบาลเป็นเจ้าหนี้ค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นหลังจากที่คนนั้นถึงแก่ความตายแล้ว เช่น หนี้ค่าตกแต่งศพ ก็ไม่สามารถยึดหน่วงศพได้เพราะเป็นการขัดความสงบเรียบร้อยของประชาชน


Create Date : 23 พฤษภาคม 2553
Last Update : 23 พฤษภาคม 2553 0:55:44 น. 0 comments
Counter : 1615 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

DR.MOO CAN DO
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




ผมเป็น นิติพยาธิแพทย์ หรือ จะเรียกว่า หมอนิติเวช ก็ได้ครับ นิติพยาธิแพทย์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง นิติพยาธิอีก 3 ปี และเมื่อสอบผ่าน ก็จะได้รับวุฒิบัตรเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ และได้เป็นนิติพยาธิแพทย์ โดยสมบูรณ์
หน้าที่ของหมอนิติเวช แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จะเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยคดี โดยในผู้ป่วยคดีนั้นแพทย์นิติเวชจะมีหน้าที่ในการตรวจ และให้ความเห็นกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับบาดแผลที่ตรวจพบ ซึ่งตำรวจจะนำไปใช้ในการตั้งข้อกล่าวหากับคู่กรณี และหน้าที่ต่อมาของแพทย์นิติเวชคือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีดังกล่าว
ส่วนที่สอง จะเกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต โดยในกรณีผู้เสียชีวิตนั้นแพทย์นิติเวชมีหน้าที่ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุในกรณีตายผิดธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนด และหากมีความจำเป็นต้องผ่าชันสูตร ก็จะต้องมีการทำรายงาน และให้ความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิต ส่งให้พนักงานสอบสวน สุดท้ายหน้าที่หลักที่สำคัญโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเป็นพยานในชั้นศาลในคดีนั้นๆครับ
ประวัติการศึกษา
1.แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
2.วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.ประกาศนียบัตร “Crime Scene Investigation” โครงการร่วมระหว่าง International Law Enforcement Academy กับ Federal Bureau of Investigation Academy
4.ประกาศนียบัตร “การบริหารงานโรงพยาบาล” คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผลงาน
1.อาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มศว.
2.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาชั้นปีที่ 3 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
3.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ
4.อาจารย์พิเศษ สอนนักศึกษาปริญญาโท สาขานิติวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
5.วิทยากร หัวข้อ "ICD-10" ของกระทรวงสาธารณสุข
6.วิทยากร หัวข้อ "การตรวจสถานที่เกิดเหตุ" ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
7.วิทยากรอบรมหลักสูตรนายร้อยตำรวจอบรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
8.วิทยากร หัวข้อ "KPI รายบุคคล" ให้กับโรงพยาบาลและมหาลัยวิทยาลัย ในภาครัฐ
9.วิทยากร หัวข้อ "Living will" ให้กับโรงพยาบาลในภาครัฐและเอกชน10.วิทยากร หัวข้อ "นิติเวชศาสตร์กับงานด้านโบราณคดี" ให้กับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
11.ร่วมเขียนหนังสือ "KPI รายบุคคล"
12.ร่วมเขียนหนังสือ "มาตรฐาน ICD-10, ICD-9"
13.ที่ปรึกษารายการ "เรื่องจริงผ่านจอ" และ "Redline"
14.บทความทางวิชาการและผลงานวิจัยทั้งในและต่างประเทศ 15 เรื่อง
15.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ตั้งแต่ ปี พศ.2553
16.ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ ฯ คณะแพทยศาสตร์ มศว. ตั้งแต่ปี พศ.2551
ผศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี (DR.MOO CAN DO)
New Comments
Friends' blogs
[Add DR.MOO CAN DO's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.