พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 
23 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 

'ปริญญา' ชี้ ศาลรธน.ไม่มีอำนาจตามหลักการ แต่ ม.68 เป็นช่องทางวินิจฉัยได้

'ปริญญา' ชี้ ศาลรธน.ไม่มีอำนาจตามหลักการ แต่ ม.68 เป็นช่องทางวินิจฉัยได้

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ชี้ ศาล รธน. ไม่มีอำนาจตามหลักการ แต่ ม.68 เป็นช่องทางวินิจฉัยได้ เผยเพื่อไทย มี 3 ทางออก แนะรอ 90 วัน...

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ "ไทยรัฐออนไลน์" ถึงกรณีอำนาจในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ในแง่ของศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลเฉพาะ และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ไม่ได้เขียนระบุไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ หรือให้ความชอบแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก็เป็นหลักทั่วไปในประเทศต่าง ๆ อยู่แล้ว จริง ๆ แล้ว การตัดสินศาลรัฐธรรมนูญแบ่งเป็นสองเรื่อง เรื่องแรก คือ มีอำนาจหรือไม่ เรื่องที่สอง คือ มีอำนาจแล้ววินิจฉัยอย่างไร ซึ่งการวินิจฉัยอย่างไร ก็อยู่ที่หลักฐานกับข้อกฎหมายด้วย ทั้งข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายในเรื่องของอำนาจ

หากว่ากันตามหลักการแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่มีตรงไหนที่ศาลรัฐธรรมนูญมาตรวจสอบได้ ซึ่งแตกต่างจากร่างพระราชบัญญัติ คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะฉะนั้น ออกพระราชบัญญัติมา ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบได้ว่า ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดด้วยกัน แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องขัดรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่โดยทั่วไป ไม่มีตรงไหนเขียนไว้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตรวจสอบเห็นชอบรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่า มีอีกช่องทางหนึ่งซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตีความได้อย่างกว้าง คือ มาตรา 68 ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการที่บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเป็นอำนาจที่กระทำโดยวิธีการอื่น เพื่อได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และใช้ช่องนี้ในการตีความว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัย และในอนาคตจะกลายเป็นบรรทัดฐาน เป็นแนวทางของศาล ตั้งแต่คดีการแก้ไข ส.ส.ร. ในมาตรา 291 อันนี้มองว่า ยังเป็นปัญหา และเป็นประเด็นที่ทำให้ถูกวิจารณ์

ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวต่อว่า โดยปกติ เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของรัฐสภา ซึ่งทุกประเทศจะมีมาตราที่ห้ามแก้เอาไว้ด้วย และของประเทศไทย ก็มีมาตราที่ห้ามแก้เหมือนกัน คือ ญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่มีผลว่ามีการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข และเปลี่ยนรูปของรัฐจะเสนอไม่ได้ คือพูดง่าย ๆ ว่า จะแก้อย่างไรก็ได้ที่ไม่กระทบต่อระบอบประชาธิปไตยฯ ในต่างประเทศอย่างเยอรมนี ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองมา เขาก็วางหลักเอาไว้ว่า เรื่องที่ห้ามแก้คล้าย ๆ กัน คือ การเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบอื่น หรือการเปลี่ยนการสหพันธรัฐไปเป็นรัฐเดี่ยว ห้ามแก้ และไม่เคยมีการแก้ในเรื่องนี้ หรือบางเรื่องไม่เคยเขียนเอาไว้ ก็กลายเป็นจารีตประเพณี จารีตอย่างอเมริกาก็ไม่ได้เขียนไว้ว่า ห้ามแก้ จากสหพันธรัฐเป็นรัฐเดี่ยว เท่าที่ศึกษามาไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีหรือไม่มี ที่ฝ่ายตุลาการจะเข้ามาถ่วงดุลได้ มีเรื่องเดียว คือ ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

ทั้งนี้ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.สรรหา มาจากการเลือกตั้ง ต้องถามว่า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ในอดีต รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ก็ไม่ได้กระทบหรือมีปัญหาต่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุขตรงไหน แต่ผมยํ้าอีกทีว่า เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ยังคงถกเถียงกันอยู่ แต่พอมีพยานหลักฐานขึ้นมาว่า มันมีขั้นตอนการแก้ไขเพิ่มเติม มีการตุกติกกัน มีการทำไม่ถูกต้องขึ้นมา ก็เลยมาบังประเด็นนี้ไปในทางการเมืองออกมา เลยทำให้คนที่ไม่ใช่ฝ่ายคนเสื้อแดงก็เรียกว่า ชอบ ทำได้ แล้วคนกลางจะทำอย่างไร รู้สึกว่าอำนาจมี หรือไม่มี ก็ฟังได้ทั้งมีหรือไม่มี จึงทำให้เถียงกันอยู่

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของเนื้อหา มองการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าต้องการให้ ส.ว.สรรหาว่าขัดหรือไม่ ตนก็มองว่ามันขัด เพราะดูที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นหลัก แต่ผลคำวินิจฉัยที่ปรากฏนั้น ระบุว่า หาก ส.ว. มีเลือกตั้งเหมือนกับ ส.ส. ก็กลายเป็นว่ามีสภาเดียว แล้วมี ส.ว. ไปทำไม ซึ่งอันนี้มองว่า ฟังไม่ค่อยขึ้น เสียงก็กํ้ากึ่ง 5 ต่อ 4 หากคิดอีกทาง ถ้าเสียงหนึ่งคนพลิกไปอีกทาง ผลก็จะกลายเป็นอีกข้างไปเลย ซึ่งมีปัญหาตรงนี้ แต่ส่วนตัวประเด็นที่ 1 เรื่องกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนนั้นเห็นด้วย เพราะอันนี้มีนํ้าหนักมากกว่า หากว่ามีพยานหลักฐาน และรับฟังได้จริงอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย ซึ่งเกิดเหตุการณ์ตรงนี้ขึ้น จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจจะทำอย่างไร เช่น ในเมื่อขั้นตอนปฏิบัติไม่ถูก มีการเสียบบัตรแทนกัน ตรงนี้เราจะว่าอย่างไร ข้อนี้ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้ แล้วที่พบแล้วว่า การกระทำผิดจริงก็ต้องให้ตรวจสอบได้ ส่วนทางฝั่งคนเสื้อแดงก็ดูเหตุที่ว่า ไม่ถึงขั้นยุบพรรค ก็ไม่ถึงขนาดเป็นเรื่องที่มันเป็นประเด็นที่ว่าออกมาต่อต้านศาลรัฐธรรมนูญถึงขนาดนั้น

แต่ในแง่ที่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ต้องรับผิดชอบ ต้องลาออกนั้นก็ไปไม่ถึง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องของความรับผิดชอบ พอแก้ไม่สำเร็จก็ต้องรับผิดชอบซึ่งไม่ใช่ เว้นเสียแต่ว่า มีเจตนาในแง่การทุจริตจริง อันนั้นต้องเป็นความรับผิดทางอาญาไป ก็มีความผิดใช้อำนาจหน้าที่นั้นไป กรณีการเสียบบัตรของ ส.ส. ไปแทนกัน ผมมองว่า ต้องดำเนินการ และเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองข้างไหน เพราะมีการเสียบบัตรแทนกันจริง มันก็ต้องไม่ปกป้องกัน และต้องดำเนินการ

"ในทางการเมืองออกมาประมาณไม่สุดซอย คำวินิจฉัยออกมาจึงไม่สุดซอย ถ้าสุดซอยก็หมายถึงให้ยุบพรรคไปเลย ยกคำร้องเลยก็ไปอีกทางหนึ่ง แต่ตอนนี้ ออกมาในทิศทางที่ไม่มีใครชนะหมด หรือแพ้ทั้งหมดเลยก็จริง เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ถูกยุบ แต่ว่าผลที่เกิดขึ้น คือ พรรคเพื่อไทย มีทางเดินให้ไปต่อน้อย ขณะที่ หากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์จะเล่น ก็มีทางให้เล่นมากกว่า" ผศ. ดร.ปริญญา กล่าว

สำหรับกรณีที่เพื่อไทย ไม่ยอมรับอำนาจศาลรธน. ตัดสิน ผศ. ดร.ปริญญา กล่าวว่า ก็ตอนนี้กระบวนการไม่ได้อยู่ในรัฐสภาแล้ว ขณะนี้ ทำได้แค่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวประท้วงศาลรัฐธรรมนูญต่อ ในเมื่อตอนนี้ ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญได้ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ต้องถามว่าเขาจะดำเนินการอำนาจอย่างไร มีทางเดียว คือ รอให้ครบ 90 วัน แล้วให้ผ่านไป เขาก็ต้องประชุมกัน ซึ่งเสียง ส.ส.ในสภาเขาก็ไม่ถึงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทางเลือกของพรรคเพื่อไทย มีแค่ 3 ทาง คือ 1. ขอพระราชทานร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน.คืนมา ซึ่งเขาอาจจะไม่ทำ เพราะเหมือนเป็นการยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2. รอให้ครบ 90 วัน ยืนยันด้วยเสียง 2 ใน 3 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าอยากจะทำหรือไม่ แต่ประเด็นคือจะทำได้ หรือเสียงเพียงพอหรือไม่ ซึ่งมองแล้วยาก 3. ปล่อยให้เวลาผ่านไป ก็จะเหมือนชะตากรรมของรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่ มาตรา 291 ที่ให้มี ส.ส.ร. ก็ปล่อยให้ผ่านไป

"แล้วเรื่องการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ไม่สามารถดึงกลับมาแก้ใหม่ได้ ถ้าจะทำก็ต้องเริ่มต้นใหม่หมด เพราะขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ คือ จบวาระ 3 นายกฯ ต้องทูลเกล้าฯ รัฐธรรมนูญภายใน 20 วัน และรอ 90 วัน ผ่านไป หากไม่ลงพระปรมาภิไธย ไม่ยืนยัน ถือว่าตกไป ถ้ายืนยันก็จบไป ตอนนี้เท่าที่ทำได้ก็คือ ต้องรอให้เวลาครบ 90 วัน หากนำลงมาแก้ไขใหม่จะไม่ได้ เพราะขั้นตอนวาระ 3 ผ่านไปแล้ว และถ้าจะทำต้องหลังจากนั้นจึงจะเริ่มต้นใหม่ได้" ผศ. ดร.ปริญญา กล่าว.




 

Create Date : 23 พฤศจิกายน 2556
0 comments
Last Update : 23 พฤศจิกายน 2556 6:21:01 น.
Counter : 1070 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.