พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2556
 
28 มิถุนายน 2556
 
All Blogs
 
กลยุทธ์ 'ทักษิณ' เกมถ่วงดุลอำนาจ เปิดช่องโหวต พ.ร.บ.กลาโหม

กลยุทธ์ 'ทักษิณ' เกมถ่วงดุลอำนาจ เปิดช่องโหวต พ.ร.บ.กลาโหม

นอกจากเกมการเมืองที่เข้มข้น เกมในกองทัพก็ลึกซึ้งน่าสนใจไม่แพ้กัน เมื่อ "นายกฯ ปู" ตัดสินใจนั่งควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ทำให้การโยกย้ายทหารปีนี้น่าจับตายิ่งนัก โดยเฉพาะเสียงใน พ.ร.บ.กลาโหม ที่อาจถูกนำมาใช้ กลายเป็นหมากถ่วงดุลอำนาจจากฝ่ายเป็นรอง มาเป็นต่อ หากการปรับย้ายตุลาฯ เกิดสะดุด รวมถึงมานั่งบัญชาการจุดส่วนรวมการปฏิวัติด้วยตัวเอง...

การเข้ามานั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะมีการซ่อนเงื่อนด้วยกลยุทธ์ที่แยบยล เนื่องจากการเมืองนับจากนี้ไปจนถึงเปิดสภาฯ มีงานช้างรออยู่ในหลายประเด็น ที่การเมืองต้องอาศัยกองทัพ-ทหาร เป็นตัวปลดล็อก ไม่ว่าจะเป็นร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ทหารมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ปฏิวัติของคณะ คมช. เมื่อปี 2549 เหตุการณ์พฤษภาเลือดของ ศอฉ.เมื่อปี 2552-53

โดยเฉพาะ ผบ.เหล่าทัพบางคน บิ๊กทหารหลายรายที่ติดร่างแห เข้าไปเกี่ยวข้องในคดีความหลายคดี ทำให้ทั้งหมดดูเหมือนจะต้องผูกโยงกับและเกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาล คนในพรรคเพื่อไทย ซึ่งจังหวะตรงนี้อาจทำให้รัฐบาลอาศัยช่องโหวได้ใกล้ชิดกับคนในกองทัพอย่างไร้รอยต่อ และสามารถเปิดเกมดันได้สุดซอย เพราะทั้งหมดมีพันธะร่วมกันที่อยากจะปลดล็อกหลุดพ้นตัวเอง

ไม่นับรวมปัจุบัน อุณหภูมิการเมืองที่ร้อนแรง การทหารตึงเครียด รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกลัวมากที่สุดคือ "การปฏิวัติ" เมื่อการเมืองกลัวกองทัพ สิ่งเดียวที่จะทำได้คือ การสร้างเครือข่ายโดยใช้ยุทธวิธี เมื่อกลัวต้องกล้าเผชิญ เมื่อเกรงต้องกล้าสู้ จึงทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตัดสินใจถอด "บิ๊กโอ๋" พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เพื่อนรักร่วมรุ่ต ตท.10 ออกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหม แบบฟ้าผ่า แล้วไปใช้บริการน้องสาว โดยเปลี่ยนลุคนำเอาความเยือกเย็นนิ่มนวลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้าไปดับความร้อนในกองทัพแทน


คาดว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้ มีงานยักษ์หลายอย่างรอรัฐบาลอยู่ข้างหน้า เพราะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการเมืองของพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องเผชิญกับคลื่นลมอีกมากมาย ดังนั้น การล้างไพ่เพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น จึงนับว่ามีความจำเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็เหมือนมีการส่งสัญญาณให้ทางผู้นำเหล่าทัพได้รับทราบว่า การเมืองยังเป็นมิตรกับกองทัพ ด้วยการให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีต รมว.กลาโหม และอดีตคนใน ทบ. รีเทิร์นมาเป็น รมช.กลาโหม เพื่อดูแลภาพรวมทั้งหมดของกระทรวงกลาโหม กองทัพ เพื่อทำให้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้สบายใจ ในฐานะพี่น้องที่เคยทำงานใกล้ชิดกันมา


การปรับ ครม.ครั้งนี้ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จึงดูสอดคล้องกับจังหวะในห้วงเวลา การจัดทำบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี 2556 จึงถือเป็นการเปลี่ยนม้ากลางศึกของเจ้ากระทรวงปืนใหญ่ที่ได้เวลาแหมาะเจาะ เพราะการมานั่งควบ รมว.กลาโหม จะทำให้เขาต้องเพิ่มตำแหน่ง รมช.กลาโหม อีก 1 ที เพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหารงาน จึงถือว่าเป็นการถ่วงดุลอำนาจของการโยกย้ายทหารที่กำลังจะมีขึ้น เพราะหากการโยกย้ายครั้งนี้ฝ่ายการเมืองต้องการดัน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นไปเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม หรือ ผบ.สส. จริงๆ เชื่อว่าสุดท้ายอาจจะต้องถึงขั้นโหวตเลือกเพื่อตัดสินก็ได้

โดยเฉพาะตำแหน่ง ผบ.ทบ. ที่ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งมาครบ 3 ปี ทางฝ่ายการเมืองต้องการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ พล.อ.จิระเดช โมกขะสมิต ผช.ผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพื่อล้างไพ่สายบูรพาพยัคฆ์ออก ก็อาจทำให้ ผบ.เหล่าทัพ ต้องออกแรงโหวตคัดชื่อ เพราะหากนับผู้ที่ร่วมเป็นกรรมการ ประกอบด้วย ฝ่ายการเมือง จะมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะ รมว.กลาโหม พล.อ.ยุทธศักดิ์ ในฐานะ รมช.กลาโหม พล.อ.ทนงศักดิ์ ในฐาะปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ที่มาจากสายสัมพันธ์เดียวกัน ก็เท่ากับฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงถึง 5 เสียงแน่นอน ส่วนฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะเหลือเพียง พล.อ.ธนะศักดิ์ ในฐานะ ผบ.สส.เท่านั้น

ดังนั้น ณ เวลานี้ การถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลมีมากกว่าถึง 5 เสียง และหากมีการโหวต ก็เชื่อว่าจะกำชัยชนะได้แน่นอน เพราะฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ ที่ขณะนี้มีเพียง 2 เสียงเท่านั้น หากเกิดข้อขัดแย้ง หรือถกเถียงดังเช่นปีที่แล้ว รับรอง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 จะต้องถูกนำมาใช้อย่างแน่นอน


นี่จึงอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ต้องเอา น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาเป็น รมว.กลาโหม เพื่อให้มีตำแหน่ง รมช.กลาโหม อีกตำแหน่ง หากมีโหวตทางรัฐบาลจะได้มีเสียงข้างมาก...

เปิดดูระเบียบ พ.ร.บ.กลาโหม

พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการล้วงลูกจากฝ่ายการเมือง และต้องการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง ที่สำคัญต้องการให้กองทัพเป็นเขตปลอดการเมืองแทรกแซง

โดยกรรมการส่วนใหญ่ก็มาจากนายทหาร ที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพ ส่วนฝ่ายการเมืองมีเพียงรัฐมนตรีว่าการ หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการเท่านั้น

โดยในมาตรา 25 ที่ระบุไว้ในวรรค 2-3 ว่า “การพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย ให้ดำเนินการโดยคณะกรรมการที่ส่วนราชการนั้นแต่งตั้งขึ้น แล้วเสนอคณะกรรมการตามวรรค 3 พิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงกลาโหมกำหนด


ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เจ้ากรมเสมียนตราเป็นผู้ช่วยเลขานุการมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลของส่วนราชการตามวรรคสอง และระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวง และส่วนราชการในกองทัพไทย
จะเห็นได้ว่าการจัดทำ พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้จัดโครงสร้างของคณะกรรมการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารว่า พ.ร.บ.กลาโหมระบุว่าให้มีคณะกรรมการในการพิจารณา 7 คน

โดยมี รมว.กลาโหม รมช.กลาโหม (กรณีที่มีตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม หากไม่มีก็จะเหลือเพียง 1 เสียง จาก 6 เสียง) ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.ทบ. ผบ.ทร. และ ผบ.ทอ. เมื่อมีการจัดตั้งแล้วก็ออกข้อบังคับของกระทรวงกลาโหม ถึงขอบเขตในอำนาจของคณะกรรมการดังกล่าว

นี่คือเกมถ่วงดุลอำนาจกองทัพของฝ่ายรัฐบาล โดยต้องจับตาการโยกย้าย โดยเฉพาะเก้าอี้ "ผบ.ทบ." นั่นเองว่า ที่สุดแล้วจะได้ บิ๊กคนไหน.




Create Date : 28 มิถุนายน 2556
Last Update : 28 มิถุนายน 2556 6:22:01 น. 0 comments
Counter : 1041 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.