พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
 
27 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
น้ำท่วม"ปี56 ศึกใหญ่รัฐบาล?

น้ำท่วม"ปี56 ศึกใหญ่รัฐบาล?

คอลัมน์ รายงานพิเศษ


ปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ขณะนี้ ถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำไปขยายผลโจมตีว่าเกิดจากการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพ ให้สังคมหวั่นวิตกว่าเหตุการณ์จะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ในแง่ข้อเท็จจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเวลานี้มีสาเหตุจากอะไร และจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลด้วยหรือไม่

นักวิชาการด้านน้ำและผู้เกาะติดสถานการณ์ ให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้



ยุทธพร อิสรชัย

คณบดีรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช


ติดตามข้อมูลน้ำขณะนี้ยังไม่น่าวิตก พื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่รับน้ำซึ่งน้ำท่วมขังทุกปีอยู่แล้ว และได้รับผลกระทบก่อนเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี"54

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญคือการบริหารจัดการ น้ำของรัฐบาลทำได้น้อย เนื่อง จากปัญหาต่างๆ ทั้งคำสั่งศาลปกครองให้ระงับโครงการ 3.5 แสนล้านบาท การชุมนุมคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ฯลฯ

โดยเฉพาะคำสั่งศาลปกครอง กระทบการนำเงินไปใช้ในภาคปฏิบัติ ทั้งการสร้างเขื่อน ฝาย ทางระบายน้ำที่จะช่วยป้องกันน้ำท่วม ก็ไม่สามารถทำได้

อีกปัญหาคือการทำงานของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ เป็นประธาน มีบทบาทน้อยเกิน ทำงานเชิงรับมากไป ไม่สามารถรับมือสถานการณ์ได้ทันท่วงที เป็นลักษณะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามากกว่า

อีกทั้งที่ผ่านมาภาระหนักในการแก้ปัญหาตกอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่นและจังหวัดมากเกินไป ประสิทธิภาพการแก้ปัญหาจึงค่อนข้างน้อย

รัฐบาลต้องทำงานเชิงรุกและเชิงป้องกันมากขึ้น เพราะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้อยู่ที่ปริมาณน้ำหรือภัยธรรมชาติ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลว่าจะบริหารจัดการปัญหาได้ดีขนาดไหน

น้ำท่วมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงรัฐบาลหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ดีขนาดไหน แม้พื้นที่ที่ประสบปัญหาขณะนี้จะเป็นพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคชาติไทยพัฒนา

แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ เร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีโดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะหากแก้ไขปัญหาล่าช้า ไม่ตรงจุด กระทบคะแนนเสียงของรัฐบาลแน่นอน



อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

กรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)


ปัญหาน้ำท่วมขณะนี้ความรุนแรงอยู่ที่ผู้ได้รับผลกระทบ เป็นปัญหาระดับท้องถิ่น ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความรุนแรงแตกต่างกัน

ขั้นตอนการบริหารจัดการภัยพิบัติยังเป็นระดับท้องถิ่นอยู่ ไม่ใช่ภัยพิบัติระดับประเทศ กบอ.ยังไม่ต้องเข้าไปจัดการ แต่ทำหน้าที่บริหารภาพรวม ลดปัญหาในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด เช่น บางพื้นที่ขาดแคลนเครื่องมือ กบอ.จะประสานหน่วยงานต่างๆ ให้เข้าช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมหลายพื้นที่ขณะนี้เกิดจากธรรมชาติ ไม่ใช่ท้องถิ่นบริหารจัดการผิดพลาด แต่บางท้องถิ่นมีทรัพยากรค่อนข้างจำกัดจึงดูว่ารุนแรง

ยกตัวอย่างน้ำท่วมพื้นที่อีสานใต้ทั้ง จ.สุรินทร์และศรีสะเกษ ถือเป็นปัญหาเฉียบพลันมาเร็วไปเร็ว ส่วน จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เหตุน้ำท่วมจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเกิดขึ้นประจำ ดังนั้นสิ่งที่ท้องถิ่นต้องทำคือ การวางแผนป้องกันระยะยาวให้มีความถาวรมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้การติดตามเฝ้าระวังอยู่ที่น้ำฝนเพียงอย่างเดียว น้ำเหนือไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ต้นน้ำทางภาคเหนือขณะนี้อ่างเก็บน้ำยังรองรับได้อยู่ อีกทั้งพื้นที่รับน้ำทางตอนเหนือและตอนใต้ของ จ.นคร สวรรค์ ยังรองรับน้ำได้มาก

สิ่งที่น่ากังวลจึงเป็นเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต ที่หลายพื้นที่อาจต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์จึงเก็บเกี่ยวได้ หากปล่อยน้ำตอนนี้จะเกิดผลกระทบได้ ดังนั้นต้องมีการพูดคุยให้เข้าใจ

ยืนยันว่าสถานการณ์น้ำปี"56 ในภาพใหญ่ไม่มีอะไรน่ากังวล และจะไม่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี"54 จะมีปัญหาเฉพาะระดับท้องถิ่นเท่านั้น

ซึ่งการบูรณาการทางข้อมูลของรัฐบาลทำให้เห็นภาพในหลายมิติ มีความพร้อมด้านข้อมูลมากขึ้น ส่งผลให้ตัดสินใจในการบริหารจัดการประตูระบายน้ำทันต่อเหตุการณ์

สำหรับการบริหารจัดการน้ำปีนี้ ใช้งบกลางแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่เกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท



อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

นักวิเคราะห์ธรณีวิทยาและภัยพิบัติ


สถานการณ์น้ำปีนี้ไม่น่าเป็นห่วง เขื่อนต่างๆ ยังไม่เต็ม รองรับน้ำได้อีกมาก พื้นที่บางจังหวัดเหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถปล่อยให้น้ำไหลลงมาได้

ส่วนเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นที่ต่างๆ เกิดจากฝนตกหนัก เช่น จ.สุรินทร์ รัฐบาลต้องบริหารระบายน้ำให้ดี อย่าปิดกั้นทางน้ำผ่าน การปิดกั้นบริเวณหนึ่งมันก็จะไหลไปอีกบริเวณหนึ่งอยู่ดี ควรปล่อยให้น้ำไหลผ่านไปโดยเร็วที่สุด

ระหว่างนี้อาจมีปัจจัยด้านพายุมรสุมในบางพื้นที่ของภาคเหนือ อีสาน และตะวันออก แต่ต่อให้รุนแรงมาก เขื่อนก็ยังรองรับปริมาณน้ำได้ ขณะนี้ก็อยู่ในช่วงปลายฤดูฝนแล้ว

ฝากถึงประชาชนไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์เหมือนมหาอุทกภัยปี"54 โดยเฉพาะพื้นที่กทม. ปัญหาจะมีเพียงบางพื้นที่ที่ฝนตกมากกว่าปกติ และการระบายน้ำเท่านั้น

สิ่งที่น่าห่วงกังวลคือ ถ้าปีใดกระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกเปลี่ยน ปรากฏการณ์เอลนินโญเปลี่ยนเป็นลานินญาที่จะนำความชื้นมาสู่ประเทศไทยมาก

จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าปีนั้นปริมาณฝนจะมากกว่าปกติ



ชูโชค อายุพงศ์

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เชียงใหม่


น้ำท่วมในบางพื้นที่ อาทิ จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ปราจีนบุรี ฯลฯ อยู่ในภาวะปกติ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม มีฝนมากกว่าปกติ อีกทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ยังเหลือพื้นที่รับน้ำอีกเยอะ ไม่น่าเป็นห่วง

คันดินกั้นน้ำที่พังทลายในบางพื้นที่ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะความทนทานมีไม่มาก น้ำเหนือก็ไม่ได้หนุนลงมาเพิ่มเติม ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงก็เกิดจากฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติเท่านั้น ขณะที่ปัญหาน้ำทะเลหนุนก็ไม่น่าจะมี

สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ หลังหน้าฝนน้ำจะแล้งหรือไม่

เข้าใจว่าประชาชนระแวงว่าจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี"54 และอาจมีการเมืองผสมด้วยบ้าง แต่ปีนี้ไม่น่าจะท่วมใหญ่ เพราะไม่มีปัจจัยเรื่องพายุฝนขนาดใหญ่ที่เข้ามา 3-4 ครั้งในช่วงไล่เลี่ยกัน จนเขื่อนกักเก็บน้ำไม่ไหว

หากสามารถสร้างฟลัดเวย์ได้ตามที่วางไว้ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จะช่วยน้ำท่วมได้เยอะ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มเนื่องจากศาลปกครองสั่งให้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อน




Create Date : 27 กันยายน 2556
Last Update : 27 กันยายน 2556 2:52:47 น. 0 comments
Counter : 726 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.