พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2556
 
2 พฤศจิกายน 2556
 
All Blogs
 
"นิติราษฎร์"แถลงต้านสุดซอย (คอลัมน์ รายงานพิเศษ)

"นิติราษฎร์"แถลงต้านสุดซอย

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



หมายเหตุ : คณะนิติราษฎร์อ่านแถลงการณ์ความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. .... ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.

ตามที่นายวรชัย เหมะ กับคณะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร มีหลักการและเหตุผลคือ ให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง และการแสดงออกทางการเมือง

ต่อมาสภามีมติในวาระที่ 1 รับหลักการร่างพ.ร.บ. จากนั้นตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งพิจารณาและมีมติแก้ไข โดยขยายการนิรโทษกรรมครอบคลุมไปถึง ?บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 รวมทั้งองค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่างพ.ศ.2547 ถึง 8 ส.ค. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับ สนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

เมื่อพิจารณาจากร่างพ.ร.บ.ที่สภาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 จะเห็นได้ว่าสภาลงมติรับหลักการให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนผู้กระทำการตามที่กล่าวข้างต้น

ไม่นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ทั้งไม่นิรโทษกรรมให้ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

และเมื่อพิจารณาประกอบกับชื่อของร่างพ.ร.บ. แล้ว ประจักษ์ชัดว่าร่างพ.ร.บ.นี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น

การแก้ไขให้รวมถึงบุคคลอื่นนอกจากประชาชน จึงขัดกับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 อันเป็นการต้องห้ามตามข้อ 117 วรรค 3 แห่งข้อบังคับการประชุมสภา

ทำให้กระบวนการตราพ.ร.บ.ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ เพราะข้อบังคับการประชุมสภาที่ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.ในวาระที่ 2 ขัดกับหลักการแห่งร่างพ.ร.บ.นั้น เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ

นอกจากประเด็นปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรม นูญแล้ว ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีปัญหาดังนี้

1.การนิรโทษกรรมซึ่งครอบคลุมไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม นอกจากไม่เป็นธรรมต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์แล้ว ยังขัดต่อพันธกรณีระหว่างประเทศ

รวมถึงตอกย้ำบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้ดำรงอยู่ สร้างความเคยชินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติต่อประชาชนในลักษณะดังกล่าวข้างต้น โดยไม่ต้องกังวลว่าตนจะต้องรับผิดในทางกฎหมายในอนาคต

2.กรณียกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้บุคคลซึ่งกระทำผิดมาตรา 112 เป็นการปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระอย่างเดียวกันให้แตกต่างกัน ขัดต่อหลักความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 30

3.การนิรโทษกรรมที่มีผลกับการกระทำความผิดระหว่างพ.ศ.2547 ถึง 8 ส.ค. 2556 ครอบคลุมเหตุการณ์จำนวนมาก มีบุคคลอาจได้รับประโยชน์หลายกลุ่ม และบุคคลดังกล่าวถูกดำเนินคดีในขั้นตอนที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความซับซ้อนจนหลายกรณีไม่อาจระบุแน่ชัดได้ว่า บุคคลใดบ้างเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรม

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.กำหนดให้พนักงานสอบสวน อัยการ หรือศาล มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว จึงอาจทำให้การวินิจฉัยไม่เป็นเอกภาพ ส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในชั้นของการบังคับใช้กฎหมาย

4.แม้กระบวนการกล่าวหาบุคคลที่เกิดขึ้นโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จะไม่ถูกต้องชอบธรรม แต่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มุ่งหมายนิรโทษกรรมให้บุคคลที่กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองฯ ซึ่งมีสภาพและลักษณะของเรื่องแตกต่างไปจากการ กระทำของบุคคลที่ถูกกล่าวหา

ประการสำคัญ ในสภาวการณ์ความขัดแย้งของสังคมขณะนี้ การเสนอให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลดังกล่าว อาจเหนี่ยวรั้งให้การหาฉันทามติในการนิรโทษกรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างล่าช้า หรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมให้กับบุคคลที่ได้รับผลร้ายจากการทำรัฐประหาร สมควรกระทำด้วยการลบล้างผลพวงของรัฐประหารตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์

5.การกำหนดเวลาเริ่มต้นการนิรโทษกรรมตั้งแต่พ.ศ.2547 ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่ผ่านการรับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ถึง 10 พ.ค. 2554

อาจส่งผลให้มีเหตุการณ์หรือการกระทำความผิดบางอย่างที่ไม่สมควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ได้รับประโยชน์จากร่างฉบับนี้ด้วย

6.กรณีให้บุคคลที่ถูกกล่าวหาพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้น ย่อมทำให้รัฐต้องคืนสิทธิแก่ ผู้ที่ได้รับการนิรโทษกรรม เช่น คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

แม้คณะนิติราษฎร์จะเห็นว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือถูกพิพากษาว่ากระทำความผิดโดยองค์กรหรือคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร มีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการได้รับคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปโดยกระบวนการทางกฎหมายที่เชื่อมโยงกับการทำรัฐประหาร

แต่การได้รับคืนทรัพย์สินดังกล่าว ต้องเป็นไปโดยหนทางของการลบล้างคำพิพากษาตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร มิใช่โดยการนิรโทษกรรมตามร่างพ.ร.บ.นี้

ข้อเสนอคณะนิติราษฎร์

1.แยกบุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

2.ให้นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง

โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ตลอดจนการสลายการชุมนุมไม่ว่าจะได้กระทำการในฐานะเป็นผู้สั่งการหรือ ผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ

3.บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร

4.เพื่อให้การนิรโทษกรรมแก่ประชาชนฯ เป็นไปโดยรวดเร็วภายใต้ข้อจำกัดที่เป็นอยู่ ขอเสนอดังนี้

4.1 เนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แก้ไขเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.จนขัดกับการรับหลักการในวาระที่ 1 ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ร่างนี้จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่ 2 ได้

สภาผู้แทนราษฎรสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าว โดยลงมติว่ากระบวนการตราพ.ร.บ.นี้ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 117 วรรค 3 เพื่อให้ร่างพ.ร.บ.ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตกไป

4.2 ให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการ วิสามัญฯชุดเดิม และตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อเริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.ในวาระที่ 2 ใหม่



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2556 2:09:14 น. 0 comments
Counter : 752 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.