พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
กันยายน 2556
 
1 กันยายน 2556
 
All Blogs
 
แก้ปากท้อง แฝงการเมือง

แก้ปากท้อง แฝงการเมือง

ผ่าสถานการณ์ประชาธิปัตย์ “ควบม็อบ” ขย่มรัฐบาล

มีแรงก็พูดกันไป ภายหลังฝ่ายรัฐบาลยอมผ่อนคลาย ปล่อยให้ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ และเครือข่าย ส.ว.สรรหา ได้อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 111 ถึง 120 ว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภากันโดยไม่จำกัดเวลา

บรรยากาศตึงเครียดในสภาก็เบาบางลงไป

ในขณะที่ความร้อนแรงไหลไปอยู่ที่สถานการณ์ด้านนอก กับภาพที่ม็อบเกษตรกรชาวสวนยางในนามเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางพารา ได้ประท้วงปิดถนนและเส้นทางรถไฟในพื้นที่อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อกดดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

ยกระดับเกมป่วนขั้นรุนแรง

ทำให้การคมนาคมขนส่งในภาคใต้ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รถไฟต้องหยุดชะงัก เส้นทางรถยนต์ใช้การไม่ได้ ประชาชนผู้สัญจรได้รับความเดือดร้อนไปตามๆกัน

นี่ขนาดยังไม่ถึงขั้นที่ม็อบประกาศดีเดย์วันที่ 3 กันยายน จะปิดถนนสายหลักทั่วประเทศ

สถานการณ์ม็อบยางยังตึงเครียดเต็มที

แน่นอน การชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้

โดยเฉพาะประชาชน เกษตรกรผู้เดือดร้อนที่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา

เป็นธรรมดาของม็อบพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ

แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของผู้ชุมนุมสวนยางถูกตั้งแง่ โดยเฉพาะจากเครือข่ายฝ่ายรัฐบาลว่า เป็นม็อบแฝงเกมการเมืองที่มีเป้าหมาย

ฉวยสถานการณ์เขย่ารัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นั่นก็เพราะมันสามารถตามแกะรอยกันมาตั้งแต่จุดแรกที่แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรยางพาราได้เลือกสถานที่หารือวางแผนกันที่ร้านกาแฟโอชาคอฟฟี่ ข้างที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์

และก็เปิดหน้าโชว์ตัวกันชัดๆ นายถาวร เสนเนียม นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายวิทยา แก้วภราดัย พร้อมทีมงาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้รุดให้กำลังใจม็อบเกษตรกรสวนยางที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ร่วมวงปราศรัยอัดรัฐบาลบนเวที

ขณะที่ “เทพเทือก” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำพรรค ต้องรีบนำทีม ส.ส.เปิดแถลงข่าวที่สภา ปฏิเสธพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมของม็อบสวนยางแต่อย่างใด

ชิงแสดงความบริสุทธิ์ใจกันตามลีลา

นั่นก็เพราะโดยจังหวะประกอบกับเงื่อนไขมันเป็นอะไรที่มีน้ำหนักเชื่อมโยงกันได้

ในเมื่อก่อนหน้านั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็แบะท่า จะพยายามสกัดกั้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ให้เดินหน้าออกกฎหมายนิรโทษ-กรรมและขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกวิถีทาง เกมในสภาแพ้โหวตก็จะออกมาปลุกมวลชนให้ขัดขวางข้างนอกถนนอย่างสุดกำลัง

แม้แต่ “เจ้าหลักการ” อย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ก็ปูทางเป็นนัย ระบอบประ-ชาธิปไตยไม่ได้อยู่ในรัฐสภาอย่างเดียว

ประชาธิปัตย์เปิดหน้า กดปุ่มเกมม็อบเต็มตัว

ประกอบกับเบื้องหลังปรากฏการณ์ที่แกนนำม็อบพันธมิตรฯทั้งรุ่น 1 และรุ่น 2 ประกาศยุติบทบาทการเคลื่อนไหว เพราะติดชนักคดีก่อการร้าย ขยับลำบาก

ปล่อยให้มวลชนแนวร่วมเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ

แต่อีกมุมหนึ่งก็มีการมองว่า เป็นการเคลียร์ฉาก “ลบภาพ” กันแบบเนียนๆ

เพราะแกะรอยตามความต่อเนื่อง เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งคนเข้าเจรจากับแกนนำพันธมิตรฯเพื่อให้ผนึกเกมมวลชนนอกสภาร่วมกัน แล้วได้รับเงื่อนไขให้ลาออกจาก ส.ส.มานำม็อบเต็มตัว แต่ได้รับการปฏิเสธ อันเป็นเหตุที่นำมาอ้างกันถึงการตัดสินใจยุติบทบาทของแกนนำม็อบพันธมิตรฯ

พาดบันไดให้ลง ส่งไม้ให้กันนิ่มๆ

อย่างที่เห็นทันทีที่แกนนำม็อบพันธมิตรฯประกาศยุติบทบาท คนของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสายสัมพันธ์โยงอยู่กับม็อบพันธมิตรฯ ทั้งคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช นายกษิต ภิรมย์ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง ก็เคลื่อนไหวสอดรับ

“เทกโอเวอร์” เคลมมวลชนทันที

โดยเฉพาะการที่นายนิพิฏฐ์รีบประกาศจับมือ 12 กลุ่มแนวร่วมฝ่ายต้านระบอบทักษิณ ล็อกเป้าหมายโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

พร้อมประกาศแต่งตั้งนายสุริยะใส กตะศิลา แกนนำม็อบพันธมิตรฯ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มกรีน ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่าง 12 กลุ่มกับพรรคประชาธิปัตย์

ก่อนที่คุณหญิงกัลยากับนายนิพิฏฐ์ จะเดินทางเข้าคารวะสมณะโพธิรักษ์ เจ้าสำนักแห่งสันติอโศก กองกำลังหลักของ “มหาจำลอง” พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำม็อบพันธมิตรฯ
ตามรูปการณ์ มันก็คนหน้าเดิมๆทั้งนั้น

ฐานของพรรคประชาธิปัตย์กับมวลชนแนวร่วมม็อบพันธมิตรฯก็คือฐานเดียวกัน

เป็นฐานที่ร่วมมือกันมา ในการรวมพลม็อบเสื้อเหลืองจนนำไปสู่สถานการณ์รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549

เพียงแต่รอบนี้สลับคิวกัน เหมาให้ประชาธิปัตย์นำเกมม็อบเอง

เกมมวลชนโค่นระบอบทักษิณถูกเซตฉากกันใหม่ ในบรรยากาศที่กระแสม็อบคนกลางๆในเมืองกรุงยังจุดติดยาก แต่ก็มาได้ “หัวเชื้อ” พอดีกับสถานการณ์ยางพาราราคาตกต่ำ โดยยุทธศาสตร์กระพือม็อบยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ

กดดันรัฐบาลที่กำลังเผชิญสถานการณ์หนักหน่วงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ทางหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรช่วยเหลือประชาชน แต่อีกมุมหนึ่งก็เหมือนโหนความเดือดร้อนของเกษตรกร ลากเกมม็อบนอกสภา

สกัดรัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ให้ลากเกมช่วย “ทักษิณ” กลับบ้าน ไปถึงสุดซอย

ทั้งนี้ทั้งนั้น ม็อบกับฐานสนับสนุนพรรคการเมืองเป็นของคู่กัน แยกกันไม่ออก

อีกทั้งรัฐบาลเองก็พูดได้ไม่เต็มปาก ในเมื่อมันเป็นยุทธศาสตร์ยอกย้อนพรรคเพื่อไทยที่เคยใช้ม็อบเสื้อแดง นปช.เป็นมวลชนเดินเกมกดดันสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

งานนี้ถือว่า ทีใครทีมัน

ถ้าไม่บังเอิญ ด้วยมาตรฐานสูงส่งกว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยประกาศว่า “ยึดมั่นในระบอบรัฐสภา” เป็นวาทกรรมมัดคอตัวเองไว้

งานนี้พรรคประชาธิปัตย์เลย “เข้าเนื้อ” เยอะกว่าพรรค เพื่อไทย

โดยเฉพาะกับบทความที่นิวยอร์กไทม์ สื่อดังระดับโลกของสหรัฐอเมริกา ได้เขียนวิเคราะห์สถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์แบบตรงๆเลยว่า การดำเนินการทางการเมืองนอกสภาของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกแผนการผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ของพรรคเพื่อไทย มาเป็นข้ออ้างในการปลุกมวลชนต่อต้าน

แม้จะบอกว่า เลียนแบบ “อาหรับสปริง” แต่ที่จริงแล้วเป็นเพียงความต้องการที่จะหวนคืนสู่อำนาจ หลังแพ้เลือกตั้งให้ขั้วอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 2 ปีก่อนเท่านั้น

เพราะการนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ดีกรีระดับออกซ์ฟอร์ด ไม่สามารถเข้าถึงประชาชนคนรากหญ้าได้ จึงทำให้พ่ายแพ้

และนำมาซึ่งการเดินเกมนอกสภาด่าทอรัฐบาลด้วยคำหยาบคาย ปฏิเสธการเข้าร่วมปฏิรูปประเทศเพื่อหาทางออก รวมถึงการสร้างความปั่นป่วนในสภา ทำให้หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถึงกับพาดหัวว่า “อัปยศ” ผิดวิสัยภาพลักษณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นมาในอดีต

จะว่าสื่อระดับโลกอย่างนิวยอร์กไทม์เลือกข้าง

หรือโดน “นายใหญ่” หว่านเงินซื้อเหมือนที่ตั้งแง่กับสื่อมวลชนไทย ก็ใช่ที่

ที่แน่ๆแม้แต่คนในด้วยกันอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร รอง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ยอมรับเต็มปากเลยว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบม็อบของพรรค ว่าด้วย “ประชาธิปไตยแบบม็อบ” ไม่มีทางชนะใจประชาชนได้ มีแต่สร้างความแตกแยกไม่สิ้นสุด

ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรเร่งปฏิรูปตนเอง

นอกจากการออกมาวิจารณ์กันเองแบบตรงๆของนายอลงกรณ์ ยังมีอาการที่ซ่อนไว้ลึกๆภายในทีมงานพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนก็ไม่เอาด้วย โดยเฉพาะในส่วนของ ส.ส.กทม. เพราะกังวลว่า เกมนอกสภาสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน

กรุงเทพฯเป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อกระแส จะส่งผลกระทบต่อคะแนนเสียงในระยะยาว

ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ประกาศระดมม็อบต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โหมกันสุดตัว เรียกแขกมากันเต็มที่แค่ลานใต้ทางด่วน

นำม็อบมาโดนสกัดอยู่แค่รอบนอกสภา

ต้องประกาศให้ม็อบแยกย้ายกันกลับบ้านใครบ้านมัน

เอาเป็นว่า โดยสถานการณ์ที่ประชาธิปัตย์ทุ่มหมดหน้าตักเปิดเกมม็อบเต็มตัวลุ้นเดิมพันเกมอำนาจ ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งภายใน มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับวิธีการลากเกมไปเล่นข้างถนน

ประชาธิปัตย์เสียจุดยืน เสียอาการทรงตัว เพราะยึดมั่นในระบบรัฐสภามาตลอด

ตามจังหวะต่อเนื่องโยงไปถึงเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่

ซึ่งแน่นอน คนที่โดนแรงกดดันมากกว่าใครก็คือคนชื่อ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในฐานะที่พรรคประชาธิปัตย์ สถาบันการเมืองของประเทศไทยที่มีตำนานมากกว่า 65 ปี

ต้องมาภาพพจน์ตกต่ำสุดขีดในยุคที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค

จากเกียรติประวัติที่รู้กันว่า ยี่ห้อประชาธิปัตย์คือฝ่ายตรงข้ามกับทหาร เป็นตัวแทนของฝ่ายต่อต้านเผด็จการ แต่มาถึงวันนี้กลับโดนสังคมตั้งแง่สงสัย การบอยคอตเลือกตั้ง นำการเมืองไปสู่ทางตัน เปิดทางกองทัพทำรัฐประหาร สุดท้ายก็ได้ขึ้นสู่อำนาจโดยไปตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร

ภาพของ “อภิสิทธิ์” ถูกอุ้มขึ้นสู่อำนาจด้วยปลายกระบอกปืน

จุดยืนที่เคยมั่นคงในประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา หายไปเกือบหมดเลย

จริงอยู่โดยสภาพปัจจุบันของพรรคประชาธิปัตย์ จะโทษ “อภิสิทธิ์” ฝ่ายเดียวก็คงไม่ใช่ทั้งหมด

เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองยุคทุนนิยมเข้ามาบีบ สถาบันการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ปรับตัวตามกระแสไม่ทัน โดนเจ้าตำรับโคตรเซียนการตลาดอย่าง “ทักษิณ” ตีกินประชานิยม

โกยคะแนนนิยมนำโด่งไปหลายก้าว

แต่มันก็ถือเป็นเงื่อนไขไฟต์บังคับ ในเมื่อประชาธิปัตย์เจอแรงกดดันให้เข้าสู่กระแสปฏิรูปทั้งจากเสียงวิจารณ์ภายนอกและแรงกระเพื่อมจากคนภายในพรรคด้วยกัน

ถ้าไม่ปฏิรูปพรรคยกเครื่องกันใหม่ กลุ่มทุนสนับสนุนก็ไม่กล้าลงทุน กระแสความนิยมก็ไม่กระเตื้อง

เลือกตั้งเมื่อไหร่ก็แพ้พรรคเพื่อไทย

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะปฏิรูปคน ปฏิรูปพรรค หรือแม้แต่การปฏิรูปแค่ชื่อพรรคใหม่

สถานการณ์บีบให้ประชาธิปัตย์ต้องทำอะไรสักอย่าง.




Create Date : 01 กันยายน 2556
Last Update : 1 กันยายน 2556 9:36:05 น. 0 comments
Counter : 1070 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.