พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 
21 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 
แก้รธน.ทำสภาฯเดือดพล่าน!ถึงเวลาหรือยัง?'นักการเมือง'ต้องหันกลับมา สำรวจตัวเอง

แก้รธน.ทำสภาฯเดือดพล่าน!ถึงเวลาหรือยัง?'นักการเมือง'ต้องหันกลับมา สำรวจตัวเอง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรไทย เมื่อวานที่ผ่าน ดู ๆ ไป เข้าใกล้การประชุมสภาฯ ในบางประเทศ เข้าไปทุกที เกิดการโห่ฮา ประท้วงกันวุ่นวายไปหมด จนผู้ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ควบคุมการประชุมไม่อยู่

ขณะที่หากหันไปดูเรื่องเกี่ยวกับวาระการประชุม  คือ วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็น ที่มา ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่า คิดไม่ถึงว่า จะเกิดการปะทะคารมรุนแรง จนเลยเถิดไปจนถึง ขั้นปะทะกันด้วยกำลังได้ขนาดนั้น หากเป็นวาระเรื่องการแก้ รธน.มาตรา 68 หรือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม  หรือ แม้แต่ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ที่กำลังจะเข้าสภาฯ ซึ่งดูกันว่า เป็นจุดตายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็ว่าไปอย่าง

อุณภูมิในห้องประชุมสภาฯ เข้าขั้นร้อนแรง เรียกได้ว่า "ปรอทแตก" ทันที เมื่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทุบค้อน 3 ที ประกาศลั่น"เป็นไงก็เป็นกัน"เรียกตำรวจรัฐสภา เข้าควบคุมสถานการณ์ และเชิญ กลุ่ม ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ปชป. ออกจากห้องประชุม ถึงขนาดเกิดการทำร้ายร่างกาย ชกต่อยกัน ระหว่าง ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจสภา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สภาผู้แทนราษฎรไทย จนกลายเป็นความอัปยศ และจุดด่างพร้อย ของฝ่ายนิติบัญญัติประเทศ

ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ไปค้นหา เนื้อหาตัวร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ฉบับดังกล่าว ให้พี่น้องประชาชนได้มาดูกันว่า แท้จริงแล้ว ร่างฯ นี้มีเนื้อหาอย่างไร จนทำให้เกิดเหตุการณ์เดือดแทบ "ลุกเป็นไฟ" ในสภาอันทรงเกียรติ  เราไปดูกัน....

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ประเด็นที่มา ส.ว. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 มาตรา 112 มาตรา 115 มาตรา 116 วรรคสอง มาตรา 117 มาตรา 118 มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และ มาตรา 114)

มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ ..) พุทธศักราช ....”

มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 111 และมาตรา 112 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 111 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิก ซึ่งราษฎรเลือกตั้ง จำนวนสองร้อยคน ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลง ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ และยังมิได้มีการเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ให้วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาเท่าที่มีอยู่ ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใด ๆ ทำให้สมาชิกวุฒิสภาไม่ครบจำนวนตามวรรคหนึ่ง แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละเก้าสิบห้า ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ให้ถือว่า วุฒิสภาประกอบด้วย สมาชิกจำนวนดังกล่าว แต่ต้องมีการเลือกตั้งให้ได้สมาชิกวุฒิสภา ครบจำนวนตามวรรคหนึ่งภายใน หนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่มีเหตุการณ์ดังกล่าว และให้สมาชิกวุฒิสภาที่เข้ามานั้น อยู่ในตำแหน่งเพียงเท่าวาระของวุฒิสภาที่เหลืออยู่

มาตรา 112 การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ได้หนึ่งคน และให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ การคำนวณเกณฑ์จำนวนสมาชิกวุฒิสภา ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ให้คำนวณตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 94 โดยอนุโลม

ในกรณีที่จังหวัดใด มีสมาชิกวุฒิสภาได้มากกว่าหนึ่งคน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้ คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น เป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถหาเสียงเลือกตั้งได้ ก็แต่เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเลือกตั้ง และการหาเสียงเลือกตั้งของสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา”

มาตรา 4 ให้ยกเลิกมาตรา 113และมาตรา114 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 115 บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ในวันสมัครรับเลือกตั้ง (3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และ(4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

(ข) เป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง

(ค) เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปีการศึกษา

(ง) เคยรับราชการ หรือ เคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าห้าปี

(5) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

(6) ไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในอื่นของพรรคการเมือง หรือ เคยเป็นสมาชิกหรือเคยดำรงตำแหน่งและพ้นจากการเป็นสมาชิก หรือ การดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมืองมาแล้ว ยังไม่เกินห้าปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

(7) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่เกินห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง

(8) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๒ (๑) (๒) (๓)(๔) (๕) (๖) (๗) (๘) (๙) (๑๑) (๑๒) (๑๓) หรือ (๑๔)

(9) ไม่เป็นรัฐมนตรี หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภาสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น แต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว ยังไม่เกินห้าปี”

มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาพสิ้นสุดลงมาแล้ว ยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรี หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภามิได้”

มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 117 และมาตรา 118  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 117 สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาเริ่มตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้วาระของวุฒิสภามีกำหนดคราวละหกปี นับแต่วันเลือกตั้ง

มาตรา 118 เมื่อวาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งภายในสามสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่วาระของวุฒิสภาสิ้นสุดลง และวันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร”

มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 120 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 120 เมื่อตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาว่างลง เพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามวาระของวุฒิสภา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ขึ้นแทนภายในสี่สิบห้าวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่วาระของวุฒิสภาจะเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้ สมาชิกวุฒิสภาผู้เข้ามาแทนที่ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของวุฒิสภาที่เหลืออยู่”

มาตรา 9 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 241 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา 241 ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สมาชิกวุฒิสภา หรือประกาศให้มีการออกเสียงประชามติ มีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือ หมายเรียกตัวกรรมการการเลือกตั้งไปทำการสอบสวน เว้นแต่ในกรณีที่ได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือในกรณีที่จับในขณะกระทำความผิด”

มาตรา 10 ให้สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีสมาชิกภาพอยู่ในวันที่รัฐธรรมนูญนี้ ใช้บังคับยังคงมีสมาชิกภาพและปฏิบัติหน้าที่วุฒิสภาต่อไป ในกรณีที่การดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาตามวรรคหนึ่งว่างลง ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้ง หรือสรรหาสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่าง

มาตรา 11 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาต่อรัฐสภาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ

เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคสอง หรือมีเหตุอื่นใด ทำให้รัฐสภาไม่สามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งให้แล้วเสร็จ ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว ที่สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นำขึ้นทูลเกล้าทูลฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และ ให้นำความในมาตรา 150 และมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 12 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาครั้งแรก ซึ่งเป็นการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ตามมาตรา11 ให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 10 ซึ่งมาจากการเลือกตั้งสิ้นสุดสมาชิกภาพ ในวันที่สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

และให้สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 10 ซึ่งมาจากการสรรหาเท่าที่เหลืออยู่ ยังคงมีสมาชิกภาพต่อไป จนกว่าจะครบวาระตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปตามวรรคหนึ่งแล้ว สมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 10 จะปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่ง หรือ ถอดถอนบุคคลใดออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมิได้ จนกว่าสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ เข้าปฏิบัติหน้าที่

มาตรา 13 ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปตาม มาตรา 12

และสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 10 ซึ่งมาจากการสรรหาเท่าที่เหลืออยู่ ในกรณีที่สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการสรรหาตามวรรคหนึ่งสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ต้องดำเนินการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง

ทั้งหมด คือ เนื้อหาร่างฯ รธน.แก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มา ส.ว. ซึ่งดูแล้ว ความจริงก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา ถึงขั้นต้องใช้ตำรวจดำเนินการเชิญ ส.ส.ออกจากสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 2 ฝ่าย น่าจะพูดจาหารือกันได้ เพราะจริง ๆ แล้ว เรื่องที่เกิดขึ้น กลายเป็นเพียงน้ำผึ้งหยดเดียว เพียงแค่ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นชอบให้ส.ส. จำนวน 57 คน ที่แปรญัตติ ไว้ในเรื่องดังกล่าว ได้อภิปราย ชี้ถึงข้อเสีย การให้ ส.ว.ไปเลือกตั้งทั้งหมด

ฝ่ายรัฐ ก็ไม่จำเป็นพยายามรวบรัดจนเกินเหตุ จนกลายเป็นเหมือนไม่ทำตามขั้นตอน ที่ถูกครรลองคลองธรรม หมิ่นเหม่ กับข้อหาต้องการรวบและลดอำนาจองค์กรอิสระ ควรปล่อยให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายฯ ได้บ้าง ถึงแม้จะทราบถึงความจำเป็น ที่รัฐต้องพยายามทำให้จบลง ภายในเวลาที่กำหนดเดิม 20-21 ส.ค.นี้ เพราะมีคิวสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะต้องถกร่างงบประมาณประจำปี 2557 จ่อคอหอยอยู่ ที่ต้องให้เสร็จสิ้น ก่อนวันทืี่ 26 ส.ค.นี้ เพราะครบกำหนด 105 วัน ก็ตาม

ส่วนฝ่ายค้าน ก็ต้องกลับไปสำรวจตัวเองเหมือนกันว่า การทำหน้าในสภาฯ ที่ที่ผ่านมา มีการจงใจแตะถ่วง การประชุม หรือต้องการทำทุกทางที่จะเบรกรัฐบาล อย่างไม่มีเหตุมีผล จริงหรือไม่ แล้วสิ่งที่น่ากลัวอีกอย่าง คือ ถึงท้ายที่สุดแล้ว จะเป็นไปตามที่มีหลายฝ่ายออกมาดักคอไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ ที่มีข้อครหาว่า ปชป.จะจับมือ กับพันธมิตรฯ กลุ่มหน้ากากขาว หรือ กปท. ละทิ้งแนวทางระบอบสภาฯ เตรียมเป็นแกนนำนำม็อบออกไปประท้วงต่อต้านรัฐข้างถนน ถึงขนาดมีท่าทีว่า จะมี ส.ส.ปชป.บางคนตัดสินใจลาออก ไปนำม็อบด้วยตัวเอง

ถึงนาทีนี้ คนในสังคมที่เป็นกลาง ๆ ที่ไม่อยากเข้าข้างสีไหน เชื่อว่าไม่อยากทราบแล้ว ว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก แต่อยากให้นักการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย กลับไปสำรวจความผิด ความบกพร่องของตัวเองให้ดี โดยไม่ต้องไปโทษอีกฝ่ายหนึ่ง แล้วควรจะต้องพิจารณาปรับปรุงพฤติกรรมของตนเอง ขอให้หันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าบนความถูกต้องเสียที ฝ่ายคุมเกมอำนาจก็อย่าเอาแต่ดันทุรัง ส่วนฝ่ายต้านก็อย่าเอาแต่เล่นนอกเกมจนเกินไป สุดท้ายต้องถามว่า ที่ทำกันมาทั้งหมดทั้ง 2 ฝ่าย ทำเพื่อใคร?

เพราะยอมรับว่า..ถึงตอนนี้ประชาชน เบื่อพฤติกรรมนักการเมืองเต็มทนแล้ว...




Create Date : 21 สิงหาคม 2556
Last Update : 21 สิงหาคม 2556 9:18:15 น. 0 comments
Counter : 1211 Pageviews.

amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.