พระเครื่อง : แหล่งข้อมูลบทความพระเครื่อง เครื่องรางของขลัง และวัตถุมงคล
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2556
 
20 สิงหาคม 2556
 
All Blogs
 

'เวทีปฏิรูปฯ-แก้รธน.'ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นบทพิสูจน์ความจริงใจ นักการเมือง

'เวทีปฏิรูปฯ-แก้รธน.'ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นบทพิสูจน์ความจริงใจ นักการเมือง

หากกล่าวถึง การเมือง ประเด็นร้อนที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ชั่วโมงนี้ หนีไม่พ้น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. ที่จะมีการพิจารณาใน สภาผ้แทนราษฎรตั้งแต่วันนี้ (20ส.ค.) เป็นต้นไป จนไปถึงวันพรุ่งนี้ (21 ส.ค.)

เรื่องนี้ อาจไม่ประสบกับความยุ่งยาก  หากรัฐบาล จะบรรจุเพียงประเด็นดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯโดยไม่มีการหยิบยก ร่างแก้ไขรธน.ในมาตราอื่น อย่าง ม.68,237 หรือ 190 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ก่อนหน้า มาพิจารณาด้วย  ก็อย่างที่ฝ่ายค้าน ออกมาทึกทัก และ จับผิดแบบตาไม่กระพริบว่า สุดท้ายแล้วอาจจะมีการสอดไส้ นำร่างฯแก้ไข รธน.ทั้ง 3 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร อย่างที่มีผู้ออกมาตั้งข้อสังเกต หรือไม่ อย่างไร

อำนวย คลังผา

อำนวย คลังผา

ร้อนถึง พลพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะคนที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง อย่าง นายอำนวย คลังผา ประธานประสานงานวิปรัฐบาล ต้องรีบออกมา ปัดเผือกร้อน    

"แม้จะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับในวาระประชุมแล้ว แต่ยังยืนยัน มติวิปรัฐบาลที่จะพิจารณาประเด็นว่าด้วยที่มาส.ว.เพียงฉบับเดียว คาดว่าจะได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภามากกว่า 330 เสียง ประกอบด้วยส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 299 เสียงและสว.เลือกตั้ง มากกว่า 60 เสียง" นายอำนวย กล่าว...

ชลน่าน ศรีแก้ว

ชลน่าน ศรีแก้ว

ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า ส.ว.เลือกตั้ง ใกล้หมดวาระดำรงตำแหน่งในเดือน มี.ค.ปีหน้า  จึงจำเป็นต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้ ขณะเดียวกัน วิปรัฐบาลยังต้องการลดกระแสความร้อนแรงทางการเมือง จากประเด็นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่พิจารณากันอยู่ใน ชั้นกรรมาธิการ   ส่วนสาเหตุ ที่ยังไม่สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราอื่น ต่อ  เนื่องจากยังต้องมีการวาระ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ค้างอยู่ในสภาฯ ที่ต้องพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ให้แล้วเสร็จใน วันที่ 26ส.ค.ตามที่ รธน.กำหนด โดยต้องพิจารณาภายใน 105 วัน ก่อนส่งให้ วุฒิสภา พิจารณาต่อใน 20 วัน

ดูท่าที ฝ่ายรัฐบาล ที่ประกาศอย่างเป็นมั่นเป็นเหมาะแล้ว ก็เชื่อแน่ว่า น่าทำตามคำพูดที่สัญญาไว้โดยเคร่งครัด คือ ไม่แตะต้องร่างแก้ไขรธน.มาตรา อื่นแน่ โดยเฉพาะมาตรา 68 ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ เพราะโยงเข้าไปถึง ข้อครหาว่าพรรคเพื่อไทย จ้องแก้ไข เพราะจะส่งผลไปถึงการแก้ไข รธน.ม.309 เพื่อหวังช่วยเหลือ"นายใหญ่"แบบเต็มๆ  ซึ่งแน่นอนว่า หากสุดท้ายรัฐไม่ทำตามที่พูด คงไม่ต้องบอกว่า จะต้องเจอกับ การตีรวนอะไรบ้าง จากพรรคปชป.


ส่วนเรื่องทางการเมือง อีกเรื่อง ที่ถือว่า ร้อนแรงไม่แพ้กัน คือ ข้อเสนอ"เวทีปฎิรูปการเมือง"ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่โยนออกมาสู่สังคม ขณะเดียวกัน ยังสั่งเดินหน้าเต็มตัวในการจัดเวทีปฏิรูปฯ ท่ามกลางการตอบรับ และปฏิเสธความคิดเห็น แต่ละฝ่ายในสังคมเป็นวงกว้าง ที่มีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย

หากถามว่า การเชื้อเชิญทุกฝ่าย เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง ของนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในสังคมไทย ที่ปรากฎความแตกแยกของคนในชาติ มาอย่างยาวนาน หรือไม่? คำตอบที่ได้ก็คือ ไม่ใช่ของใหม่ ที่ผ่านมา ตั้งแต่การเมือง เกิดความขัดแย้งรุนแรง มีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย แบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งสี กันมาตลอด ตั้งแต่ ปี 2549-ปัจจุบัน ก็มีทั้งบุคคลสำคัญของชาติ ทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อดีตนักการเมือง  องค์กรภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ออกมามีข้อเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น เสนอทางออกของประเทศ แต่ต้องยอมรับว่า ยังไม่ได้ผล

อานันท์ ปันยารชุน

อานันท์ ปันยารชุน

ก่อนหน้านี้ หากยังจำกันได้ มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ(คปร.) ที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อศึกษารวมรวมแนวทางปฏิรูปประเทศ หลังจากการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงใน พ.ศ. 2553  ได้เก็บข้อมูลข้อคิดเห็น และสังเคราะห์ ปัญหา เพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง แล้วยกร่างเป็นแผนปฏิบัติการ ที่สามารถนำไปปฏิบัติและแก้ไขปัญหาความอยุติธรรม และความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในอดีตได้ โดยใช้เวลาทำงานนานถึง 3 ปี

เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปฯศึกษาเสร็จและมีข้อเสนอว่า “ความล้มเหลว”ของประเทศไทย เกิดจาก “ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วในทุกมิติ” ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างแกนหลัก ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ตามมาอีกมาก ความเหลื่อมล้ำของคณะกรรมการปฏิรูปแบ่งได้เป็น 5 มิติ ได้แก่ ด้านรายได้ ด้านสิทธิ ด้านโอกาส ด้านอำนาจ ด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากคนในกลุ่มต่างๆ มี “อำนาจในการต่อรอง”ห่างไกลกันมาก ซึ่งอำนาจต่อรองในที่นี้ หมายถึง อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม

คณิต ณ นคร

คณิต ณ นคร

ยังไม่นับข้อเสนอจาก คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)ที่มีศาสตราจารย์ ดร. คณิต ณ นคร เป็นประธานในการแก้ปัญหา ความขัดแย้งของสังคม  เช่น เสนอแนะเกี่ยวกับบรรยากาศแห่งการปรองดอง อาทิ เรียกร้องให้ทุกฝ่าย ยุติทุกการเคลื่อนไหว ที่เป็นการปลุกปั่นยั่วยุ ให้เกิดการต่อสู้และการใช้ความรุนแรง กับ คู่ขัดแย้งฝ่ายตรงข้าม  หรือ คอป. ขอให้ทุกฝ่ายหยุดดึง สถาบันเบื้องสูง มาเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมือง

ส่วนเรื่อง "การนิรโทษกรรม" คอป. เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ที่ผ่านมาเป็นการเร่งรัดกระบวนการปรองดอง ซึ่งต้องอาศัยเวลาที่เหมาะสม และการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะจากเหยื่อและผู้เสียหาย ทั้งนี้ เห็นว่า การนิรโทษกรรม ไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กระบวนการนิรโทษกรรม จะไม่เกิดขึ้น โดยการเร่งรัดของบุคคลบางฝ่าย และไม่กระทบสิทธิของเหยื่อ และผู้ที่ได้รับผลกระทบในการรับรู้ความจริงที่เกิดขึ้น ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม และมีการรับประกันจากรัฐว่าจะไม่เกิดเหตุรุนแรงอีก

ถ้ายังจำได้ นายคณิต ยังกล่าวอีกว่า รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. อาจไม่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย แต่อยากให้ยอมรับ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข  ตนยังจะมีข้อเสนอไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า คนที่จะถูกเรียกว่า"รัฐบุรุษได้"จะต้องรู้จักคำว่า"เสียสละ" โดยจะมีการหยิบยก กรณี นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี และแกนนำคณะราษฎร มาเปรียบเทียบ

ประเวศ วะสี

ประเวศ วะสี

นี่ยังไม่นับ ข้อเสนอของ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่เสนอให้ ลดความเลื่อมล้ำทางสังคมไทยในทุกด้าน ต้องให้ส่วนกลางค่อยๆกระจายอำนาจและงบประมาณลงไปสู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้ ท้องถิ่น มีความสามารถในการตัดสินใจ เรื่องการพัฒนาและเรื่องต่างๆได้เอง

ฉะนั้น การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชิงเสนอแนวคิด เวทีปฏิรูปการเมือง ขึ้นมา คำถามจากสังคม คือ รัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง มากน้อยเพียงใด เพราะที่ผ่านมา ไม่ใช่ว่า สังคมไม่มีการเสนอแนะ ทางออกกับประเทศ แต่ปัญหา คือ ไม่มีใคร หรือหน่วยงานไหน นำไปปฏิบัติอย่างแท้จริง นั่น เพราะต่างฝ่าย ต่างก็ยึดเอาผลประโยชน์พวกพ้องตัวเอง เป็นหลัก

ฝ่ายรัฐ ถูกกล่าวหาว่า ยอมทิ้งหน้าที่ การรักษากฎหมายบ้านเมือง เพื่อคนเพียงคนเดียว ในที่นี้ก็ คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้กลับประเทศได้ โดยต้องไร้ความผิด ขณะที่ฝ่ายต่อต้านเอง ก็โดนข้อครหา ก้าวไม่พ้นคนๆเดียว มองทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเกมการเมือง ไม่เห็นถึงประโยชน์ของประเทศ    ไปถึงการบ่อนทำลายล้มรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทักษิณ ชินวัตร

ทักษิณ ชินวัตร

ถึงนาทีนี้ น่าจะถึงเวลาต้องพิสูจน์ความจริงใจ ของทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว ว่า ที่ดำเนินการมาทั้งหมด เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ เพื่อผลประโยชน์พวกพ้องตัวเอง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐ ที่ถือทั้งอำนาจรัฐ และคะแนนเสียงในสภาฯ ได้เปรียบฝ่ายค้านทุกประตู เหมือนเช่น ดังคำสุภาษิต"ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน"

รู้สึกมีลางสังหรณ์ว่า ครั้งนี้สงสัยอาจไม่ต้อง ใช้เวลาพิสูจน์กันนานด้วย...จริงไหม?




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2556
0 comments
Last Update : 20 สิงหาคม 2556 10:10:46 น.
Counter : 1102 Pageviews.


amulet108
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 96 คน [?]








Friends' blogs
[Add amulet108's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.