กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓

คำนำ


"...พระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยโปรดฯในการเสด็จประพาส ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา เสด็จประพาสแทบทุกปี เสด็จไปตามหัวเมืองน้อยใหญ่ในพระราชอาณาเขตบ้าง เสด็จไปถึงต่างประเทศบ้าง ได้เคยเสด็จตามมณฑลหัวเมืองในพระราชอาณาเขตทั่วทุกมณฑล เว้นแต่มณฑลภาคพายัพ มณฑลเพชรบูรณ์ มณฑลอุดร และมณฑลอีสานเท่านั้น ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๕ ทางคมนาคมถึงมณฑลเหล่านั้นจะไปมายังกันดารนัก เปลืองเวลาและลำบากแก่ผู้อื่น จึงรออยู่มิได้เสด็จจนตลอดรัชกาล

ในการเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่น้อยในพระราชอาณาเขตนั้น บางคราวเสด็จไปเพื่อทรงตรวจจัดการปกครอง จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ บางคราวไปเพื่อสำราญพระราชอิริยบถ ไม่โปรดฯให้จัดการรับเสด็จเป็นทางราชการ ที่เรียกว่า "เสด็จประพาสต้น" อยู่ในการเสด็จเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ แต่โปรดฯให้จัดการที่เสด็จไปให้ง่ายยิ่งกว่าเสด็จไปประพาสเพื่อสำราญพระราชอิริยบถอย่างสามัญ คือไม่ให้มีท้องตรา สั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั้น บางทีก็ทรงเลือก หรือเสด็จโดยสารรถไฟไปมิให้ใครรู้จักพระองค์ การเสด็จประพาสต้นเริ่มมีครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๓(พ.ศ. ๒๔๔๗) รายการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ นายทรงอานุภาพได้เขียนจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นไว้โดยพิสดาร ดังที่พิมพ์ไว้ในตอนต้นสมุดเล่มนี้

เหตุที่จะเรียกว่า ประพาสต้น นั้นเกิดเมื่อเสด็จในคราวนี้ เวลาจะประพาสมิให้มีใครรู้ว่าเสด็จไป ทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำหนึ่ง เรือนั้นลำเดียวไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวที่แม่น้ำอ้อมแขวงจังหวัดราชบุรีลำหนึ่ง โปรดฯให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชเป็นผู้คุมเครื่องครัวไปในเรือนั้น เจ้าหมื่นเสมอใจราชชื่อ อ้น จึงทรงดำรัสเรียกเรือลำนั้นว่า "เรือตาอ้น" เรียกเร็วๆเสียงเป็น "เรือต้น" เหมือนในบทเห่ซึ่งว่า "พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" ฟังดูก็เพราะดี

แต่เรือมากประทุนลำนั้นใช้อยู่หน่อยหนึ่งเปลี่ยนเป็นเรือมากเก๋ง ๔ แจวอีกลำหนึ่ง จึงโปรดให้เอาชื่อเรือต้นมาใช้เรียกเรือมาดเก๋ง ลำที่เป็นเรือพระที่นั่งทรง อาศัยเหตุนี้ ถ้าเสด็จประพาสโดยกระบวนเรือพระที่นั่งมาดเก๋ง ๔ แจว โดยพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่าเสด็จ จึงเรียกการเสด็จประพาสเช่นนั้นว่า "ประพาสต้น"

คำว่า "ต้น " ยังมีที่ใช้อนุโลกต่อมาจนถึงเครื่องแต่งพระองค์ ในเวลาทรงเครื่องอย่างคนสามัญเสด็จประพาสมิให้ผู้ใดเห็นแปลกผิดกับคนสามัญดำรัสเรียกว่า "ทรงเครื่องต้น" ต่อมาโปรดฯให้ปลูกเรือนฝากระดานอย่างไทย เช่นพลเรือนอยู่กันเป็นสามัญขึ้นที่ในพระราชวังดุสิต ก็พระราชทานนามเรือนนั้นว่า "เรือนต้น".....

พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงฉลองพระองค์
ที่ทรงมีพระราชดำรัสเรียกว่า เครื่องต้น



....................................................................................................................................................

จดหมายฉบับที่ ๑


บางปะอิน
ณ วันที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม ร.ศ.๑๒๓

ถึง พ่อดิษฐ์(๑)


ฉันมาตามเสด็จคราวนี้ หมายว่าจะมาตั้งหน้ากินและนอนให้สบาย จนเสด็จกลับอย่างเคยมาตามเสด็จบางปะอินเที่ยวก่อนๆ แต่เที่ยวนี้เห็นจะต้องพลัดที่นาลาที่อยู่ไปเที่ยวเตร็จเตร่หลายวันทีเดียว ด้วยได้ทราบว่าจะเสด็จไปประพาสเมืองราชบุรี หรืออย่างไรยังรู้แน่ไม่ได้ เป็นแต่เห็นเขาตระเตรียมเรือนแพชุลมุนกันอยู่

เหตุที่จะเสด็จประพาสต่อไปในคราวนี้ ได้ทราบว่าเมื่อก่อนเสด็จขึ้นมาบางปะอิน พระเจ้าอยู่หัวไม่ใคร่จะทรงสบาย หมายจะเสด็จขึ้นมาพักรักษาพระองค์ตามเคย ก็มรพระราชกังวลและพระราชกิจติดตามขึ้นมา หาเวลาพักไม่ใคร่ได้จึงไม่ทรงสบายมากไป เสวยไม่ได้และบรรทมไม่หลับทั้งสองอย่าง หมอเห็นว่าจะต้องเสด็จประพาสเที่ยวไปให้พ้นความรำคาญ อย่าให้ต้องทรงเป็นพระราชธุระในราชกิจอย่างใดๆเสียสักคราวหนึ่ง จึงจะรักษาพระองค์ให้ทรงสบายได้ดังเก่าโดยเร็ว เจ้านายผู้ใหญ่ที่มาตามเสด็จ จึงพร้อมกันกราบบังคมทูล ขอให้ทรงระงับพระราชธุระ เสด็จประพาสตามคำแนะนำของหมอ ทรงดำริเห็นชอบด้วยจึงจะเสด็จไปประพาสตามลำน้ำ ด้วยกระบวนเรือปิคนิคพ่วงเรือไฟ ไปจากบางปะอินนี้จะเสด็จไปถึงไหน และจะเสด็จไปกี่วันฉันยังหาทราบไม่ เป็นแต่ทราบว่าการเสด็จครั้งนี้ เจ้ากระทรวงท่านห้ามปรามไม่ให้จัดการรับเสด็จตามทางราชการ จะให้เป็นการเสด็จอย่างเงียบๆแล้วแต่พอพระราชหฤทัยจะเสด็จที่ใดหรือประทับที่ใดได้ตามพระราชประสงค์ อย่างให้มีเครื่องขุ่นเคืองรำคาญพระราชหฤทัยได้เลยเป็นอันขาด

ส่วนตัวฉันเองนั้นท่านสั่งให้ไปตามเสด็จด้วยในคราวนี้ ต้องตระเตรียมหาผู้คนเสบียงอาหารลงเรือ ได้เรือ ๖ แจวลำหนึ่งจะไปด้วยกันกับนายอัษฎาวุธ(๒) หวังใจว่านายอัษฎาวุธจะไม่ไปเจ็บไข้ลงกลางทางอย่างเมื่อไปตามเสด็จเมืองชวาด้วยกันคราวนั้น

ขอจบจดหมายฉบับนี้เพีงนี้ที ด้วยกำลังจัดเรือแพวุ่นวาย แล้วจึงจะจดหมายบอกข่าวคราวมาให้ทราบต่อไป


นายทรงอานุภาพ(๑)




....................................................................................................................................................

(๑) พระนามแฝง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ฯ กรมหลวงนครราชสีมา


..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๒


วัดโชติทายการาม คลองดำเนินสะดวก
วันที่ ๑๖ กรกฏาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อดิษฐ์


ฉันได้บอกมาในจดหมายฉบับก่อนว่า จะจดหมายส่งข่าวการเสด็จประพาสมาให้ทราบเนืองๆ วันนี้ประทับแรมอยู่ที่วัดโชติทายการาม คลองดำเนินสะดวก ฉันจึงมีเวลาว่างอยู่บ้างจึงได้เขียนจดหมายฉบับนี้ฝากเข้ามาให้ หวังใจว่าจะไม่ไปหายสูญเสียกลางทาง

เสด็จออกจากบางปะอินเมื่อ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ล่องมาตามลำน้ำ เรือฉันล่วงหน้า ทราบว่าเสด็จประทับวัดปรมัยยิกาวาสอยู่ครู่หนึ่ง แล้วเลยประพาสสวนสะท้อนของนายบุตร ที่แม่น้ำอ้อมแขวงเมืองนนทบุรี ว่ามีสะท้อนอย่างดีๆที่สวนนั้นมาก กำลังสะท้อนออกผล เจ้าของสวนเชิญเสด็จเก็บสะท้อน ทราบว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และทรงพระกรุณาแก่เจ้าของสวนมาก เวลาเย็นเสด็จมาประทับที่หน้าวัดเขมา จอดเรือพระที่นั่งเข้ากับสะพานหน้าวัดอย่างเราไปเที่ยวกัน ใช้ศาลาหน้าวัดเป็นท้องพระโรง ไม่มีพลับพลาฝาเลื่อนอย่างใด เจ้าพนักงานเจ้าของท้องที่ก็ดูเหมือนจะไม่รู้ตัวว่าจะเสด็จมาประทับแรมที่นั่น การล้อมวงกงกำจัดกันตามแต่จะทำได้ ดูก็สนุกดี จนเวลา ๒ ทุ่มเศษ กรมหลวงนเรศร์(๑) เสนาบดีกระทรวงนครบาลจึงเสด็จไปถึง ได้ยืนรับสั่งว่า "อาสน์แข็งๆ(๒)กันไม่รู้ พอรู้ก็รีบมาจะต้องนั่งอยู่ยันรุ่ง"

วันที่ ๑๕ เวลาเช้า ออกกระบวนล่องลงมาเข้าคลองบางกอกใหญ่และคลองภาษีเจริญ ฉันมากระบวนหน้าตามเคย ประจวบเวลาหัวน้ำลง เมื่อพ้นหนองแขมเจอเรือไฟที่ไปก่อนติดขวางคลองอยู่ลำหนึ่ง ฉันจึงปล่อยเรือไฟที่จูงเรือให้คอยตามเรือไฟลำหน้า ส่วนตัวฉันเองให้คนแจวเรือล่องเลยไปจอดคอยเรือไฟที่น้ำลึกบ้านกระทุ่มแบน รอๆอยู่เท่าใดๆก็ไม่เห็นเรือไฟตามออกมา น้ำก็แห้งงวดลงไปทุกที พอแน่ใจว่าเรือไฟคงติดเสียกลางทางแล้ว ก็พอนึกขึ้นได้ว่าครัวมอเสบียงอาหารอยู่ในเรือไฟหมดทั้งนั้น และดูนายอัษฎาวุธท่าจะออกหิว จึงชวนกันขึ้นบกเดินไปเที่ยวซื้อข้างแกงกินที่ตลาดบ้านกระทุ่มแบน ไปเจอคนผัดหมี่ดี คุยว่ารู้จักคุ้นเคยกับเจ้าคุณเทศ(๓)ผ่านมาเป็นต้องแวะกินหมี่เสมอ ซื้อเสบียงอาหารได้พอกันแล้ว ได้ยินเสียงโรงละครที่โรงบ่อน นายอัษฎาวุธเกิดอยากดูละคร พากันไปดู ไปเจอเจ้าของละครเจ้ากรรมรู้จักว่าฉันเป็นหุ้มแพรมหาดเล็ก ต้องรีบหนีพากันมาลงเรือ แต่กระนั้นก็ไม่พ้น พอประเดี๋ยวเจ้าหมี่เจ้าหม่าพากันมารุมมาตุ้มพิธีแตก เพราะนายอัษฎาวุธทีเดียว ถ้านายอัษฎาวุธไม่พาไปดูละครก็คงได้นั่งกินข้างแกงกันในตลาดให้สนุก นี่กลับต้องกินสำรับคับค้อนแล้วตอบแทนเขาแทบไม่ไหว

จอดรอกระบวนเสด็จอยู่จนค่ำ กลางคืนน้ำขึ้น เรือไฟพ่วงล่วงหน้าหลุดออกมาทีละลำสองลำ ถามดูก็ไม่ได้ความว่ากระบวนเสด็จอยู่ที่ไหน จนยามกว่าจึงได้ความจากเรือลำหนึ่งว่า ประทับแรมอยู่ที่หน้าวัดหนองแขม ฉันก็เลยจอดนอนคอยเสด็จอยู่ที่กระทุ่มแบนนั่นเอง

ครั้นรุ่งเช้า วันที่ ๑๖ ออกเรือล่วงหน้ามาคอยเสด็จอยู่ที่ปากคลองดำเนินสะดวก พอประมาณ ๔ โมงเช้ากระบวนเสด็จมาถึง เลยเข้าคลองต่อมา น้ำกำลังท่วมทุ่งท่วมค้นคลองเจิ่งทั้งสองข้าง เรือแล่นได้สะดวก พอสักบ่าย ๒ โมงก็มาถึงหลักหก หยุดกระบวนประทับแรมที่วัดโชติทายการาม เวลาบ่ายทรงเรือเล็กพายไปประพาสทุ่ง คือไร่ที่น้ำท่วม เจ้าของไร่กำลังเก็บเอาหอมกระเทียมขึ้นผึ่งตามนอกชานบ้านเรือนตลอดจนบนหลังคา เพราะไม่มีที่ดิน น้ำท่วมเป็นทะเลหมด

ไปถึงบ้านแห่งหนึ่งเจ้าของเป็นหญิง กำลังตากหอมกระเทียม พอเห็นเรือก็ร้องเชื้อเชิญให้แวะที่บ้าน เห็นได้ว่าแกไม่รู้จักว่าใครเป็นใคร คงเข้าใจว่าพวกขุนนางที่ตามเสด็จ ครั้นเสด็จขึ้นเรือนแล้วเพียงต้อนรับยายผึ้งยังไม่พอใจ ยังเข้าไปยกหม้อข้าวกับกะบะไม้ใส่ชามกะลา มีผักกาดผัดหมู ปลาเค็ม น้ำพริก กับอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งแกหาไว้สำหรับแกกินเองในเวลาเย็นมาตั้งจะเลี้ยงอีก

ใครเคยตามเสด็จประพาสไปรเวตมาแต่ก่อน ย่อมเข้าใจว่าถ้ามีของสนุกในการที่จะทรงสมาคมกับราษฎรเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว ที่พระเจ้าอยู่หัวของเราจะเว้นเป็นไม่มี พอยายผึ่งเชิญ พวกเราก็เข้าล้อมสำรับ กับพระเจ้าอยู่หัวด้วยกัน ว่ากันคนละคำสองคำ เจ้าเจ๊กฮวดลูกยายผึ้งอายุราวสัก ๒๐ ปี มาช่วยยกสำรับคับค้อน ขณะเมื่อพวกเรากินเลี้ยง เจ๊กฮวดมันนั่งดูๆพระเจ้าอยู่หัว ประเดี๋ยวเอ่ยขึ้นว่า "คล้ายนักคล้ายนักขอรับ" ถามว่าคล้ายอะไร มันบอกว่า คล้ายรูปที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชา พอประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นนั่งยองๆ เอาผ้าปูกราบพระเจ้าอยู่หัวบอกว่า "แน่ละขอรับไม่ผิดละ เหมือนนัก" ยายผึ่งยายแพ่งเลยรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว แต่ก็ได้รับพระราชทานมากอยู่ เห็นจะหลายสิบเท่าราคาสำรับกับข้าวที่ยายผึ้งเลี้ยง

เสด็จเที่ยวนี้ตั้งต้นชอบกลดีที่จะสนุกมาก ตั้งแต่เสด็จออกจากบางปะอิน พระเจ้าอยู่หัวทรงสบายขึ้นมาก


นายทรงอานุภาพ




....................................................................................................................................................

(๑) พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศวรฤทธิ์

(๒) "อาสน์แข็งๆ" - เป็นสำนวนมาจากคติเรื่องพระอินทร์ เมื่อมีเรื่องเดือนร้อนให้ต้องแก้ไข อาสน์ที่นั่งจะแข็งกระด้างหรือร้อนหรือเหมือนมีหนาม นั่งนอนไม่สบาย ต้องจับทิพยเนตรสอดส่องค้นหาเรื่องเดือดร้อน และแก้ไขอาสน์นั้นจึงจะกลับมาคืนดีอย่างเดิม

(๓) เจ้าคุณเทศ น่าจะหมายถึง เจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธ(เทศ บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๔ เป็นพระเพ็ชรพิไสยศรีสวัสดิ์ปลัดเมืองเพชรบุรี ในรัชกาลที่ ๕ เป็นพระยาสุรินทรลือไชย ผู้ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เพราะทางที่จะไปเมืองเพชรบุรีคงต้องผ่านทางนี้

..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๓


เมืองราชบุรี
วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อดิษฐ์


ว้นนี้ฉันเหนื่อยเหลือทน ไม่ได้คิดว่าจะเขียนจดหมายฉบับนี้ ตั้งใจว่าจะนอน แต่เหตุใดไม่ทราบนอนไม่หลับ มาคิดขึ้นได้ว่าพรุ่งนี้จะตามเสด็จลงไปเมืองสมุทรสงคราม อยู่ห่างทางรถไฟ จะส่งจดหมายมาถึงพ่อประดิษฐ์ยาก จึงลุกขึ้นมานั่งเขียนจดหมายฉบับนี้ในเวลาเห็นจะสักสองยาม ถ้าเขียนวิปลาสคลาดเคลื่อนอย่างใดบ้าง ขออภัยโทษเถิดอย่าถือเลย

ในจดหมายฉบับก่อนได้บอกข่าวตามเสด็จมาถึงวัดโชติทายการาม ครั้น ณ วันที่ ๑๗ เวลาเช้า กระบวนเสด็จออกจากที่ประทับแรมมาถึงเมืองราชบุรีราวเวลาเที่ยง จอดเรือพระที่นั่งประทับที่หน้าบ้านเทศา พอจอดเรือแพกันเรียบร้อย ฉันไปฟังราชการที่พลับพลา ได้ข่าวว่ารับสั่งให้เตรียมรถไฟพิเศษ จะเสด็จไหนในบ่ายวันนั้นไม่ทราบ เป็นแต่ได้รับสั่งว่าให้ฉันไปตามเสด็จด้วย จนกระทั่งออกรถไฟแล่นลงไปข้างใต้ จึงเข้าใจว่าเห็นจะเสด็จเมืองเพชรบุรี นิ่งไปสักครู่หนึ่งจึงทราบความสมจริงดังคาด ว่าจะเสด็จเมืองเพชรบุรี นัยว่าจะจู่ไปไม่ให้ผู้ใดทราบ ด้วยมีพระราชประสงค์จะใคร่ทอดพระเนตรบ้านเมืองในเวลาเป็นปกติ ไม่ได้จัดการตระเตรียมอย่างหนึ่งอย่างใดไว้รับเสด็จแต่อย่างไร

เมื่อรถไฟถึงสะเตชั่นบ้านปากธ่อหยุดรถ หลีกรถเมืองเพชร พบเจ้าพระยาสุรพันธ์ยืนยิ้มคอยรับเสด็จอยู่ที่สะเตชั่นดูเป็นประหลาดใจกันมาก ด้วยการรับเสด็จก็สั่งกันเป็นปัจจุบันทันด่วน และได้บังคับเจ้าพนักงานรถไฟมิให้บอกไปเมืองเพชรว่าจะเสด็จ เหตุใดความนี้จึงรู้ไปถึงเจ้าพระยาสุรพันธ์ ถึงล่วงหน้ามารับเสด็จอยู่ได้เป็นครึ่งทาง ใครๆซักไซ้ไต่ถามเจ้าพระยาสุรพันธ์ ว่าทำไมจึงได้รู้ว่าจะเสด็จ ท่านก็ยิ้มเยาะบอกแต่ว่าคอยสืบอยู่จึงได้ทราบ ทำให้เกิดสนเท่ห์แปลกันไปต่างๆ จนท่านผู้เป็นต้นรับสั่งเรื่องเสด็จวันนี้จะออกตกใจ เกรงความผิดว่าไม่ปิดข่าวเสด็จให้มิดชิดตามพระราชประสงค์ ต่อมีรับสั่งซักไซ้จึงได้ความจากเจ้าพระยาสุรพันธ์กราบทูลว่า บ่าวมาอยู่ที่สะเตชั่นรถไฟได้ทราบจากนายสะเตชั่นว่า ได้รับโทรเลขสั่งไปจากเมืองราชบุรีว่าจะมีรถไฟพิเศษไปเมืองเพชรบุรีในบ่ายวันนั้น บ่าววิ่งไปบอกเจ้าพระยาสุรพันธ์ๆนึกว่ารถไฟพิเศษนี้บางทีจะเกี่ยวด้วยการเสด็จสักอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงรีบขึ้นรถบ่ายมาจากเมืองเพชร คาดว่าถ้าไม่พบเสด็จในรถไฟพิเศษก็จะเลยมาเฝ้าฟังราชการที่เมืองราชบุรี มิได้สั่งให้ตระเตรียมการรับเสด็จไว้อย่างใดในเมืองเพชร ได้ความดังนี้ดูสมกิริยาเจ้าพระยาสุรพันธ์ เมื่อได้ทราบว่าจะเสด็จเมืองเพชรจริงๆดูท่านตกใจวุ่นวาย จะไปโทรเลขสั่งโน่นสั่งนี่จนต้องคุมตัว และต้องสั่งเจ้าพนักงานมิให้รับโทรเลขของเจ้าพระยาสุรพันธ์ไปส่ง และมิให้บอกข่าวเสด็จล่วงหน้าไปเมืองเพชรเป็นอันขาด

เมื่อไปถึงเมืองเพชรสังเกตดูเห็นได้ว่าไม่มีใครรู้ว่าจะเสด็จจริง ผู้คนเป็นปกติตามธรรมเนียมเมือง ต่อทรงพระราชดำเนินไปตามถนนเป็นนาน เจ้าเมืองกรมการจึงวิ่งกระหืดกระหอบมาทีละคนสองคน ใส่เสื้อมากลางทางบ้าง สวมถุงเท้ากันบ้าง มาแต่ด้วยสลิบเปอร์บ้าง วิ่งกันไขว่ไปทั้งเมือง ดูก็สนุกดี ประทับเสวยที่เมืองเพชรแล้วเสด็จรถไฟพิเศษกลับมาประทับแรมราชบุรี

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม วันนี้ประจวบเป็นวันกำหนดบวชนาคบุตรพระแสนท้องฟ้า เวลาเช้าเสด็จประพาสตลาดแล้วเสด็จไปทอดพระเนตรบวชนาคที่วัดสัตนาถ การแห่นี้ก็แห่อย่างนาคราษฎร มีกลองยาวเถิดเทิงตามแบบที่เคยเห็นกัน ถ้าจะว่าก็ไม่สนุก แต่บังเอิญในเวลาเถิดเทิงตีอยู่ในลานวัด มีอ้ายบ้าคนหนึ่งซึ่งพระเลี้ยงไว้ในใต้ถุนกุฏิ ออกสนุกขึ้นมาอย่างไร กรากออกมาช่วยรำ ใครจะห้ามก็ไม่ฟัง เจ้าพนักงานจะไปห้าม ก็มีรับสั่งว่า ช่างมันเถิด อ้ายบ้ารำไปรำมาประเดี๋ยวแลบลิ้นหลอกก็เดินออกไปจากวัดเสีย ใครจะไปเรียกให้มารำอีกก็ไม่รำ

เวลาบ่ายวันนั้นทรงเรือมาด ๔ แจว เรือไฟเล็กลากล่องน้ำไปประพาสในแม่น้ำอ้อม เรือลำเดียวอยู่ข้างจะยัดเยียด จึงมีพระราชประสงค์จะหาซื้อเรือ ๔ แจว สำหรับตามเรือมาดพระที่นั่งสักลำหนึ่ง ช่วยกันเสาะหาไปตามทาง ไปเห็นที่บ้านแห่งหนึ่ง จึงแวะเข้าไปถามซื้อได้ความว่าเป็นเรือของกำนันเหม็น ที่จริงแกจะชื่อไรก็ไม่ทราบ แต่บ้านเรือนแกเหม็นเต็มที จึงสมมติกันว่าแกควรจะชื่อเหม็น ข้อนี้ฉันเห็นเป็นคติควรระวังอย่าให้บ้านเรือนสกปรก ถ้าเสด็จประพาสไปแวะพบจะได้รับสมมติชื่อว่าหลวงเหม็นพระเหม็นอะไรก็จะเป็นได้

ไปจนถึงวัดเพลง จึงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจวได้ลำหนึ่ง พระราชทานชื่อว่า เรือต้น ได้ยินรับสั่งถามให้แปลกันว่าเรือต้นแปลว่าอะไร บางท่านก็แปลว่าเรือเครื่องต้น บางท่านแปลว่าเรือทรงอย่างในเห่เรือว่า "ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย" ดังนี้ แต่บางท่านแปลเอาตื้นๆว่าหลวงนายศักดิ์(๑) เป็นคนคุมเครื่องมหาดเล็กตามเสด็จ หลวงนายศักดิ์ชื่อ อ้น รับสั่งเรียกว่าชื่อ ตาอ้น ตาอ้น เสมอ คำว่าเรือต้นนี้ก็จะแปลว่าเรือตาอ้นนั่นเอง แปลชื่อเรือต้นเป็นหลายอย่างดังนี้ อย่างไรจะถูกฉันก็ไม่ทราบแน่ แต่วันนี้กว่าจะเสด็จกลับมาถึงเมืองราชบุรีเกือบยามหนึ่งด้วยต้องทวนน้ำเชี่ยวมาก เหนื่อยบอบมาตามกัน เริ่มเรียกการประพาสวันนี้ว่า ประพาสต้น เลยเป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตในวันหลังๆว่าประพาสต้นต่อมา

วันที่ ๑๙ เสด็จเรือมาดแจวประพาสทุ่งทางฝั่งตะวันออก ฉันไปตามเสด็จไม่ทัน ต่อเวลาค่ำจึงไปพลับพลา ได้ยินโจษกันเป็นปัญหาขึ้นอย่างหนึ่งว่า ในเมืองไทยทุกวันนี้ก็มีรถไฟไปมาได้รวดเร็ว ถ้าจะไปเที่ยวกันในทางรถไฟสักวันหนึ่งสองวันไม่มีอะไรไปเลย มีแต่เงินติดกระเป๋าไปอย่างผู้ดีๆเช่นนี้ จะไปเที่ยวได้หรือไม่ บางคนว่าไปได้ บางคนมีนายวงศ์ตะวันเป็นต้น ซึ่งเคยไปอยู่เมืองนอกเมืองนาเห็นว่าจะไปไม่ได้ ขัดข้องด้วยไม่มีโฮเต็ลที่พักเป็นต้น ความทั้งนั้นทราบถึงพระกรรณ จึงตกลงว่าควรจะทดลองดูให้เห็นจริงในเที่ยวนี้ พรุ่งนี้จะเสด็จที่แห่งใดแห่งหนึ่งด้วยรถไฟแล้ว และกลับทางเรือจนถึงพลับพลาแรม ไม่มีอันใดนอกจากเงิน ลองดูสักทีจะมีติดขัดอย่างใดบ้าง ฉันได้รับคำสั่งให้ไปตามเสด็จด้วยมานึกดูก็ชอบกล ถ้าเป็นคนเลวจะขัดข้องอันใดมี เที่ยวซื้อข้างแกงตามตลาดหรือเที่ยวขอเขากินก็จะได้ ส่วนที่พักจะเที่ยวหาอาศัยบ้านเรือนเขา หรือแม้ที่สุดจะไปอาศัยนอนตามวัดก็ไม่เห็นจะขัดข้อง เขาเที่ยวกันเช่นนี้ถมไป ซึ่งรังเกียจกับข้าวของกินที่เขาวางแรขายไว้ตามตลาด และรังเกียจความโสโครก จะไปหาที่พักอาศัยให้สมควร ดูก็เป็นการยากที่จะหาได้ แต่อย่างไรคงจะได้เห็นกันในวันพรุ่งนี้

วันที่ ๒๐ กรกฎาคม เสด็จอาศัยรถไฟบ่ายที่จะไปกรุงเทพฯ ที่ใช้คำว่า "เสด็จอาศัย" ในที่นี้ เพราะเสด็จรถไฟชั้น ๓ ประทับปะปนไปกับราษฎร ไม่ให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร เพื่อจะใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร เจ้าพนักงานรถไฟก็เหลือดี มีอัธยาศัยรู้พระราชประสงค์ ที่จริงแกรู้แต่แกล้งทำเฉย มาเรียกติเก็ตตรวจพวกเราเหมือนกับราษฎรทั้งปวง ทำให้ไม่ผิดกันอย่างไร ต่อผู้ใดสังเกตจริงๆจึงจะพอเห็นได้ว่าหน้าแกออกจะซีดๆ และเมื่อไปเรียกติเก็ตพระเจ้าอยู่หัวมือไม้แกสั่นผิดปกติ

เรื่องทดลองเดินทางด้วยไม่มีอะไรนอกจากเงิน ตามที่ปรึกษากันเมื่อคืนนี้นั้น เป็นตกลงว่าจะเสด็จรถไฟไปลงโพธาราม หาเสวยเย็นที่นั่นแล้วหาเรือล่องกลับลงมาเมืองราชบุรี ได้แบ่งหน้าที่ผู้ที่ไปเป็นพนักงานพาหนะพวกหนึ่ง พนักงานครัวพวกหนึ่ง ต่างมีหน้าที่ที่จะต้องจัดทำการที่เกี่ยวด้วยแผนกนั้นๆให้ตลอดไป

รถไฟไปวันนี้ไม่สะดวกด้วยน้ำพัดสะพานที่บ้านกล้วยเซไป รถไฟข้ามไม่ได้ ต้องไปหยุดรถให้คนโดยสารลงเดินไต่ทางไปขึ้นรถพ่วงใหม่ฟากสะพานข้างโน้น ฝนก็ตกออกจะลำบากบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีประโยชน์อยู่บ้างที่เป็นเหตุให้พนักงานกองเสบียงได้เห็นปลาทูสด เจ๊กเอามาแต่เมืองเพชรบุรีกระจาดหนึ่ง จะเอาไปขายที่ไหนไม่ทราบ ว่าซื้อ ตกลงได้ปลาทูสดนั้นมาเป็นเสบียงสำหรับเวลาเย็น เป็นที่อุ่นใจว่าอาหารเย็นวันนี้จะไม่ฝืดเคือง ครั้นไปถึงโพธารามต่างกองต่างแยกกันเที่ยวทำการตามหน้าที่ที่กะไว้ พวกกองพาหนะก็เที่ยวหาเช่าเรือและที่อาศัยชุมนุมเลี้ยงกันเวลาเย็น พวกกองครัวก็เที่ยวหาซื้อหาอาหารเครื่องภาชนะใช้สอยต่างๆ คือหม้อข้างและถ้วยชามรามไหเป็นต้น ได้พร้อมแล้วก็หุงข้าวต้มแกงตามลำพังฝีมือพวกที่ไปตามเสด็จ สำเร็จได้เลี้ยงกันพอเวลาพลบค่ำ ที่คาดหมายไปว่าจะได้กินสนุกยิ่งกว่าอร่อย เป็นการคาดผิดทั้งสิ้น อาหารวันนี้อร่อยเหลือเกิน ดูเหมือนจะกินอิ่มจนเกือบเดินไม่ไหวแทบทุกคน

เวลาสัก ๒ ทุ่มออกเรือมี่เช่าเขา ๓ ลำ ล่องลงมาจากโพธาราม เรือเหล่านี้เป็นเรือประทุน ๒ แจวที่เขาบรรทุกของสวนขึ้นไปขาย เสร็จแล้วก็จ้างเจ้าของเขาแจวลงมาส่ง

ได้บอกข้างต้นว่าการเสด็จวันนี้ ไม่ได้ตั้งใจจะให้ใครรู้ว่าใครเป็นใคร แต่มาเกิดกลแตกเมื่อขาล่องเรือลงมา ในประทุนเรือลำพระที่นั่ง เจ้าของเขามีพระบรมรูปเข้ากรอบติดไว้ที่เครื่องบูชา ไปรับสั่งถามยายเมียเจ้าของเรือว่า รูปใคร ยายนั่นกราบทูลว่าพระรูปเจ้าชีวิต รับสั่งถามต่อไปว่า แกได้เคยเห็นเจ้าชีวิตหรือไม่ แกกราบทูลว่าได้เคยเห็น ๓ หน รับสั่งถามว่า ได้เห็นที่ไหนบ้าง แกกราบทูลว่า "ได้เห็นในบางกอก ๒ หน กับมาเห็นวันนี้อีกหนหนึ่ง"

ล่องมาถึงเมืองราชบุรีเวลา ๔ ทุ่ม เขียนมาถึงนี่ออกหาวนอนเต็มที ขอยุติเรื่องราวตอนนี้แต่เพียงเท่านี้


นายทรงอานุภาพ




....................................................................................................................................................

(๑) เจ้าหมื่นเสมอใจราช

..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๔


เมืองสมุทรสงคราม
วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อประดิษฐ์


ในจดหมายฉบับที่ฉันส่งไปจากเมืองราชบุรีได้เล่าถึงเรื่องที่ไปทำครัวปัจจุบันเลี้ยงกันที่โพธาราม บรรดาผู้ที่ได้ไปในวันนั้น ตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวลงมา พากันเห็นคุณในการทำครัวเลี้ยงกันในเวลาเที่ยวหาความสบายเช่นนี้ ว่าเป็นเหตุให้เจริญอาหารดีกว่าบริโภคอาหารซึ่งกุ๊กทำเป็นอันมาก จึงตกลงกะการให้มีเครื่องครัวปัจจุบันติดไปในเสด็จประพาสต้น คือมีหม้อข้าวเตาไฟ ถ้วยชามและเครื่องครัวบรรทุกไปในเรือมหาดเล็ก กำหนดว่าไปถึงตลาดจะมีที่ซื้อหาเสบียงอาหารได้เท่าใด จะแวะซื้ออาหาร และไปหาที่ทำครัวเลี้ยงกันในระยะทางทุกโอกาสที่จะมีจะทำได้ ส่วนพวกที่ตามเสด็จนั้นก็แบ่งหน้าที่กันตามถนัด ที่เป็นหน้าเตาสำหรับทำกับข้าวของกิน ที่หุงข้าวดีก็เป็นพนักงานหุงข้าว ส่วนตัวฉันนั้นอยู่ในพวกที่ทำอะไรไม่เป็น แต่ท่านไม่ยอมให้กินเปล่า จึงต้องรับหน้าที่เป็นกองล้างชาม กับคุณหลวงรัตนาวุธ นายอัษฎาวุธ และท่านมหาสม รวมสี่คนด้วยกัน ที่จริงนายวงศ์ตะวันก็ทำอะไรไม่เป็นควรจะมาเข้ากองล้างชามด้วยกัน แต่เข้าอาย ดูเหมือนจะเห็นว่าการล้างถ้วยชามนั้นเป็นหน้าที่เลวทรามนัก สู้ไปอาสาพวกหน้าเตาให้เขาใช้สอยขอดเกล็ดปลาและสับหั่นไปตามเพลง

ที่จริงหน้าที่กองล้างชามนั้นเป็นการปราณีตมาก เมื่อฉันเล่าให้ฟังพ่อประดิษฐ์ก็จะเห็นว่าไม่ใช่การเลวเลย คือในกองนี้มีสะบู่แปรงผ้าสำหรับเช็ดและส้มสำหรับฟอก จัดลงไว้ในหีบซึ่งเที่ยวซื้อเอาตามตลาด เหมือนกับหีบปิคนิคเป็นเครื่องมือสำหรับตัว เมื่อเสด็จไปถึงที่ใด ซึ่งกะว่าจะเป็นที่ทำครัวและเลี้ยงอาหาร หน้าที่ของพนักงานกองล้างชามเบื้องต้นจะต้องเที่ยวตรวจหา ว่าสถานที่ใดควรจะเป็นที่เลี้ยงและเป็นที่ทำครัวได้ ยกตัวอย่างดังว่าจะทำครัวเลี้ยงกันที่วัดแห่งหนึ่ง พอจอดเรือเข้าไปพนักงานกองล้างชามก็ต้องขึ้นก่อน ไปเที่ยวหาที่ว่าจะควรใช้การเปรียญหรือศาลาน้ำจะเหมาะดี เมื่อตกลงสมมติที่แล้ว กองล้างชามจะต้องเที่ยวหาโอ่งอ่างและน้ำสำหรับใช้ให้พอการ กระบวนการเที่ยวค้นหาเหล่านี้เกือบจะถูกหมากัดก็หลายครั้ง บางทีไปตกล่องบางทีหัวโดนชายคา มันอันตรายต้องการความกล้าหาญอยู่บ้าง ครั้งได้ที่แล้วต้องลงมือล้างถ้วยชามฟอกสะบู่ให้สะอาดหมดคาว และเรียบเรียงไว้จ่ายแก่พวกหน้าเตาให้ทันต้องการใส่กับข้าว ล้างชามเสร็จแล้วคราวนี้ต้องปูเสื่อปูพรมตั้งกระโถนคนที และยกกับข้าวไปเรียบเรียง เสร็จแล้วพนักงานล้างชามยังมีหน้าที่ที่จะต้องเชื้อเชิญบริษัทให้พร้อมกันมาบริโภคอาหารจึงเป็นเสร็จธุระ ที่ฉันพรรณนามาถึงหน้าที่กองล้างชามนี้อยู่ข้างจะยืดยาว แต่ถ้าไม่พรรณนาให้เข้าใจ พ่อประดิษฐ์ก็จะเห็นว่าหน้าที่ของฉันเลวทราม เพราะที่จริงชื่อกองล้างชามไม่สู้เพราะ มันไปเข้าสุภาษิตโบราณที่ว่า "อิ่มก่อนดูโขนดูหนัง อิ่มที่หลังล้างถ้วยล้างชาม" เรื่องล้างชามออกจะเสียชื่ออยู่ จึงอธิบายให้เข้าใจไว้

เมื่อว่าถึงระยะทางที่เสด็จต่อมา วันที่ ๒๑ กรกฎาคม เวลาเช้า เสด็จประพาสตลาดไปพบยายเจ้าของเรือที่แกเคยเห็นเจ้าชีวิต ๓ หน แกพาลูกมาเฝ้าทรงพระกรุณาพระราชทานเครื่องแต่งตัวแก่เด็กนั้นหลายอย่าง ประพาสตลาดแล้วออกเรือพระที่นั่งจากเมืองราชบุรี กระบวนเรือพลับพลาให้ล่องไปตามแม่น้ำใหญ่ไปคอยที่เมืองสมุทรสงคราม เสด็จเรือมาด ๔ แจว มีเรือต้นที่ซื้อใหม่เป็นเรือที่นั่งรองพ่วงเรือไฟเล็กเข้าทางแม่น้ำอ้อมไปแวะซื้อเสบียงอาหารที่ตลาดปากคลองวัดประดู่ พวกเราเดินชุลมุนขวักไขว่กันไปตามเพลงไม่มีใครรู้จัก เขากำลังเล่นลิเกกันหน้าโรงบ่อน ฉันเดินไถลไปดู ไปพบทหารเรือซึ่งเคยเป็นบ๋อยพระยาชลยุทธ รู้จักกันมาแต่ก่อน เห็นมันรู้จักจึงกระซิบบอกอ้ายหมอนั่นว่า เองอย่าอึกทึกให้ใครรู้ว่าเสด็จ ดูมันก็ทำนิ่งเฉยดีอยู่ ไม่เห็นผู้ใดรู้เห็นวี่แวว นกระทั่งเสด็จกลับลงเรือ พอเรือออกจากท่า เจ้าพิณพาทย์ลิเกก็ตีเพลงสรรเสริญพระบารมีส่งเสด็จ นี่แลจะเป็นด้วยเหตุบ๋อยพระยาชลยุทธไปโจษขึ้นหรืออย่างไรก็หาทราบไม่

ออกจากตลาดแจวเข้าคลองเล็กไปจนถึงวัดประดู่ หยุดพักทำครัวเสวยเช้าที่วัดนั้น กองล้างชามเที่ยวตรวจไปได้ความแปลกประหลาดที่วัดนี้ ว่าเป็นหมอน้ำมนตร์ มีผู้คนที่เจ็บไข้ไปคอยรดน้ำมนตร์รักษาตัวอยู่หลายคน ได้ความว่าเป็นโรคผีเข้าบ้าง ถูกกระทำย่ำยีบ้าง และเป็นโรคอื่นๆบ้าง เมื่อเลี้ยงกันเสร็จแล้วจึงพร้อมกันไปดูรดน้ำมนตร์ รดน้ำมนตร์อย่างนี้ฉันพึ่งเคยเห็น คนพูดจากันอยู่ดีๆพอเข้าไปนั่งให้รดน้ำมนตร์ก็มีกิริยาอาการวิปลาสไปต่างๆ บางคนก็เฝ้าแต่ขากเสลดพ่นน้ำลายดังขากปูๆ ไปจนพระหยุดรดน้ำมนตร์จึงหยุดขาก กลับหันมาบอกเราว่าสบายเบาในอกโล่งทีเดียว ยายแก่คนหนึ่งตาบอดลูกสาวพามาให้พระรดน้ำมนตร์ พอรดเข้าก็ร้องครวญครางและวิงวอนว่ากลัวแล้วจะไปแล้วเท่านั้นเถิด อย่างนี้จนพระหยุด ถามคนไข้ได้ความว่า ยายคนนี้เดิมมีผู้มาขอลูกสาวแกไม่ให้ เขาโกรธกระทำให้ผีสิงจนไม่เป็นสติอารมณ์ ต้องมารักษาตัวที่วัดประดู่พอได้สติค่อยยังชั่วขึ้นสักหน่อย นี่เเหละจะจริงเท็จเพียงใดก็ไม่ทราบ เล่าเท่าที่ตาเห็น แต่พวกเราที่ไปตามเสด็จไม่มีใครรับอาสาเข้าไปให้พระรดน้ำมนตร์ ถวายตัวจึงไม่มีพยานที่จะยืนยัน ถ้าหากพวกเราเข้าไปขากปูลงสักคน ก็เห็นจะน่าเชื่อขึ้นมาก

ออกจากวัดประดู่ล่องกลับออกมาได้ยินเสียงกลองละครชาตรีมีอยู่ในสวน รับสั่งให้แวะเรือพระที่นั่งเข้าไป จะใคร่ทรงทราบว่าเขามีงานอะไรกัน ไปพบละครชาตรีมีอยู่ที่บ้านตาหมอสี เป็นพลเรือนอย่างโบราณลงมาต้อนรับ เห็นตานี่นอนดูละครจนหลับ หน้าตายู่ยี่ตัวยังเป็นรอยเสื่อ แต่แกต้อนรับแข็งแรงพูดจาอย่างเก่าว่า ยังงั้นซีพะยังงี้ซีพะ ไม่ใช่ขอรับหรือจะจ๋า นานได้พบอย่างนี้น่าฟังดี(๑) ได้ความว่าลูกแกเจ็บได้บนบานไว้ ครั้นรักษาหายจึงได้มีละครแก้สินบน

ออกจากคลองวัดประดู่เย็นมากแล้ว เรือไฟลากล่องมาถึงแม่น้ำใหญ่จวนจะค่ำ หาที่ทำครัวเย็นก็ไม่ได้เหมาะ ล่องเรือลงมาเห็นบ้านแห่งหนึ่งสะอาดสะอ้านดี มีเรือนแพอยู่ริมน้ำ รับสั่งว่า ที่นี่เห็นจะพออาศัยเขาทำครัวสักครั้งหนึ่งได้ ให้กรมหลวงดำรง(๒)รับหน้าที่ขึ้นไปขออนุญาตต่อเจ้าของบ้าน กรมหลวงดำรงเสด็จขึ้นไปไต่ถาม ได้ความว่าเป็นบ้านนายอำเภอ นายอำเภอไปจัดฟืนเรือไฟที่ตรงบ้านข้ามอยู่แต่ภรรยา หารู้จักกรมหลวงดำรงไม่ ขออนุญาตทำครัวที่เรือนแพได้ดังปรารถนา พอขนของครัวขึ้นแพแล้ว กรมหลวงดำรงยังไม่ทันเสด็จลงมาจากบนเรือนใหญ่ นายอำเภอก็กลับมาถึง ไม่ทันเหลียวเห็นพระเจ้าอยู่หัวที่เรือนแพ มุ่งหน้าตรงขึ้นไปถวายคำนับเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยที่เรือนใหญ่ นายอำเภอเพ็ดทูลกรมหลวงดำรงอยู่ไม่ทันได้กี่คำ นายอัษฎาวุธก็คลานศอกนำหนังสือรับสั่งไปถวายกรมหลวงดำรงว่า ขอให้เขารู้จักแต่กรมหลวงดำรงพระองค์เดียว ฉันนั่งดูนายอัษฎาวุธคลานเข้าเฝ้ากรมหลวงดำรงทำท่าทางสนิทราวกับเป็นข้าไท แต่กรมหลวงดำรงนั้นพออ่านหนังสือรับสั่งแล้ว ดูพระพักตร์สลดเห็นประทับนิ่งไม่รับสั่งว่ากระไร เป็นแต่พยักพระพักตร์ให้นายอัษฎาวุธกลับลงมา อีกสักครู่หนึ่งจึงได้ยินรับสั่งกับนายอำเภอและกำนันผู้ใหญ่บ้านถึงราชการงานเมืองอะไรต่ออะไรอึงอยู่บนเรือน พวกกองครัวก็ทำครัวกันอยู่ที่เรือนแพ ทำเสร็จแล้วแต่งเครื่อง ให้คุณหลวงนายศักดิ์เชิญขึ้นไปตั้งถวายกรมหลวงดำรงเสวย พร้อมกับเครื่องเคราที่เจ้าของบ้านเขาหาถวาย ครั้นเสร็จแล้วเมื่อจะลาลงเรือ กรมหลวงดำรงเสด็จกลับมาจะลงเรือ นายอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านตามลงมาส่งเสด็จมารุมมาตุ้ม พวกที่ไปตามเสด็จรับกระแสรับสั่งไว้ให้หมอบกรานรับเสด็จกรมหลวงดำรงเป็นอย่างข้าในกรม ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จหลบออกไปบังอยู่เสียหลังเก๋งท้ายเรือ พระราชทานพระราชอาสน์ไว้สำหรับกรมหลวงดำรงประทับ กรมหลวงดำรงเลยทรงไถลว่าเดือนหงายสบายดีจะยืนอยู่หน้าเก๋ง รีบให้ออกเรือ แต่พอพ้นหน้าบ้านก็รับสั่งบ่นใหญ่ว่า เล่นอย่างนี้เต็มทีไม่สนุก แต่คนอื่นพากันหัวเราะกรมหลวงดำรงทั่วทั้งลำ เวลาสักยามหนึ่งจึงมาถึงที่ประทับเมืองสมุทรสงคราม

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลาเช้า เสด็จไปทอดพระเนตรวัดพวงมาลัยแล้วเสด็จขึ้นไปประพาสตลาด คลองอัมพวา เหมือนอย่างเสด็จประพาสต้นเหมือนเมื่อเสด็จวัดประดู่ แต่วันนี้เกิดเหตุขัดข้องประพาสไม่ได้สะดวก ด้วยในเมืองสมุทรสงครามนี้เขามีข้อบังคับกวดขัน ถ้าเรือหรือผู้คนแปลกประหลาดมาในท้องที่ ราษฎรบอกกำนันผู้ใหญ่บ้านๆต้องรีบลงเรือไปทักถามเป็นธรรมเนียมบ้านเมืองอยู่ดังนี้ วันนี้ไม่ได้บอกให้ใครทราบว่าเสด็จอัมพวา เขาคงจะทราบแต่ว่ามีเรือและคนแปลกประหลาดมา ก็ทำตามหน้าที่ จนเรารำคาญแจวกระดิกไปข้างไหนก็พบแต่เรือกำนันผู้ใหญ่บ้านออกมาถามว่าเรือใครไปไหน หลบลำนี้ไปเจอลำโน้นเหมือนกับจะถูกล้อมจับ ใช่แต่เท่านั้นเจ้านายที่ไปตามเสด็จ ๒ พระองค์ กับขุนสวรรค์วินิตมีญาติวงศ์พงศาและพวกพ้องอยู่ในแถวอัมพวานี้มาก ท่านพวกเหล่านี้พอเหลือบแลเห็นก็พากันชื่นชมยินดีเรียกร้องกันติดตามมารุมมาตุ้ม ยิ่งหนีก็ยิ่งตาม ลงที่สุดพระเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จลงเรือต้นแยกไปประพาสแต่ลำเดียว ปล่อยเรือพระที่นั่งมาดไว้ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวอัมพวาติดตอมให้พอใจ ฉันถูกอยู่กับเรือมาด นั่งนึกขันในใจที่พวกชาวบ้านบางช้างพากันยิ้มแย้มแจ่มใส ติดตามมาเฝ้าเจ้านายที่เป็นญาติและหมายจะพบปะขุนสวรรค์วินิต ไม่มีใครในพวกนั้นจะคิดเห็นเลยว่ามาทำความรำคาญแก่ท่านทั้ง ๒ นั้นสักเพียงใด เข้ามาดีๆจะโกรธขึ้งก็ยาก ขุนสวรรค์จึงออกปัญญาว่า ยายหนูแก่แล้ว แดดร้อนเอากลับไปบ้านเสียเถิด ยายหนูกลับไปประเดี๋ยวเรือลำนั้นกลับมาอีก ยายหมับแกไม่แก่เหมือนยายหนู และแกไม่กลัวแดดจะทำอย่างไร ช่วยกันคิดอ่านไล่พวกอัมพวาอยู่จนกระทั่งเสด็จกลับจากประพาสคลองอัมพวา แล้วจึงออกเรือเลยไปพักเสวยเช้าที่วัดดาวดึงส์ เสร็จแล้วแจวต่อไปบางน้อย ประพาสบ้านกำนันจัน แล้วกลับทางคลองแม่กลอง มาถึงที่ประทับเวลา ๒ ทุ่ม

วันที่ ๒๒ กรกฎาคม เวลาเช้า เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมืองแล้วเสด็จวัดอัมพวา กลับมาถึงที่ประทับเวลาค่ำ พรุ่งนี้กำหนดจะเสด็จเมืองเพชรในกระบวนใหญ่ เพราะจะต้องข้ามอ่าวทะเลจากปากน้ำแม่กลองไปเข้าบางตะบูน แต่น้ำมากเรือกระบวนจะออกอ่าวได้ต่อเวลาเที่ยง ได้ทราบว่าตอนเช้าจะเสด็จไปทอดพระเนตรจับปลาที่ละมุก่อน จึงจะเสด็จมาขึ้นเรือพระที่นั่งที่เมืองสมุทรสงคราม

แต่เดิมฉันตั้งใจว่า จะเขียนจดหมายต่อเมื่อเสด็จไปถึงเมืองเพชรบุรี แต่เมื่อมาถึงเมืองสมุทรสงครามได้ข่าวว่ามีเรือเมล์เดินถึงกรุงเทพฯ ประจวบเรือเมล์จะออกพรุ่งนี้เช้า จึงได้จดหมายฉบับนี้ส่งมา


นายทรงอานุภาพ




....................................................................................................................................................

(๑) คำว่า "ซิวะ" เช่น อย่างนั้นซิวะอย่างนี้ซิวะ แต่เดิมคงไม่ถือกันว่าเป็นคำหยาบเหมือนอย่างสมัยนี้ ภาษาไทยนี่แปลกดี หรือตัวเราเองที่แปลกเอง

(๒) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๕


เมืองเพชรบุรี
ณ วันที่ ๒๙ เดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อประดิษฐ์


จดหมายฉบับก่อนฉันส่งไปแต่เมืองสมุทรสงคราม บัดนี้ได้ตามเสด็จมาประพาสเมืองเพชรบุรีได้ ๖ วัน จะเสด็จจากเมืองเพชรบุรีพรุ่งนี้ มีเวลาว่างอยู่บ้างฉันจึงได้จดหมายฉบับนี้ส่งมาบอกข่าวคราว

วันที่ ๒๔ เวลาเช้า เสด็จลงเรือฉลอม(๑)แล่นใบออกไปประพาสละมุ(๒) ที่เขาไปจับปลาตามปากอ่าวแม่กลอง มีเรือฉลอมแล่นไปในกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน เที่ยวหาซื้อกุ้งปลาที่เขาจับได้ตามละมุ แล้วต้มข้าวต้ม ๓ กษัตริย์ขึ้นในเรือฉลอม ที่เรียกว่าข้าวต้ม ๓ กษัตริย์นั้นคือ ต้มอย่างข้าวต้มหมู แต่ใช้ปลาทูกุ้งกับปลาหมึกแซกแทนหมู เป็นของทรงประดิษฐ์ขึ้นเช้าวันนั้นเอง ตั้งแต่ฉันเกิดมาไม่เคยกินข้าวต้มอร่อยเหมือนวันนั้นเลย เฉพาะเหมาะถูกคราวคลื่นราบลมดี เรือฉลอมแล่นใบลมฉิวราวกับเรือไฟ เสด็จพระองค์อาภา(๓)เป็นกัปตันถือท้ายเรือพระที่นั่ง แล่นลิ่วออกไปจากปากน้ำแม่กลอง แต่อย่างไรแล่นไกลออกไปทุกทีๆ นานเข้าพวกเจ้าของเรือเห็นจะออกประหลาดใจแลดูตากันไปมา ท่านก็ทอดพระเนตรเห็นแต่เห็นท่านยิ้มๆกัน ฉันออกเข้าใจว่าเห็นจะแล่นใบเลยไปเมืองเพชรแน่แล้ว ดูใกล้ปากน้ำบ้านแหลมเข้าทุกที พอแล่นเข้าไปก็พบกรมหมื่นมรุพงศ์(๔)ทรงเรือไฟศรีอยุธยามาคอยรับเสด็จอยู่ที่ปากน้ำ เป็นอันเข้าใจได้ว่ามีอะไรที่จะเล่นกันสักอย่างหนึ่งซึ่งท่านได้ทรงนัดแนะกันไว้แล้วเป็นแน่ ได้ยินแต่กรมหมื่นมรุพงศ์กราบทูลว่าสำเร็จสนิททีเดียว

เสด็จลงเรือศรีอยุธยาแล่นขึ้นไปตามลำแม่น้ำเมืองเพชรบุรี พอจวนจะถึงเมืองรับสั่งเรียกพวกที่ไปตามเสด็จให้เข้าซ่อนตัวอยู่ในเก๋ง มีแต่กรมหมื่นมรุพงศ์ประทับอยู่หน้าเรือพระองค์เดียว ฉันแอบมองตามช่องม่าน เมื่อแล่นผ่านพลับพลาเห็นเจ้าพระยาสุรพันธ์นั่งอยู่ที่นั้น ได้ยินเสียงกรมหมื่นมรุพงศ์ร้องรับสั่งขึ้นไปแก่เจ้าพระยาสุรพันธ์ว่า "เห็นจะเสด็จถึงค่ำละเจ้าคุณ ให้เตรียมคบไฟไว้เถิด ฉันจะขึ้นไปหาเสบียงที่ตลาดสักประเดี๋ยวจะกลับลงมา" แล้วเรือศรีอยุธยาก็แล่นลอดสะพานช้างชึ้นไปจอดหน้าบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ เสด็จขึ้นประทับในบ้านเจ้าพระยาสุรพันธ์ แล้วรับสั่งให้กรมหมื่นมหิศร(๕)ไปตามเจ้าพระยาสุรพันธ์ ประเดี๋ยวใจเจ้าพระยาสุรพันธ์วิ่งตุบตับมาหน้านิ่วถวายคำนับ แล้วยืนถอนใจใหญ่ มีรับสั่งว่า มาตอบแทนที่เจ้าพระยาสุรพันธ์ล่วงหน้าไปรับถึงบ้านปากธ่อเมื่อเสด็จคราวก่อน เจ้าพระยาสุรพันธ์ก็ไม่เพ็ดทูลว่ากระไร พวกเราก็สิ้นเกรงใจลงนั่งหัวเราะเจ้าพระยาสุรพันธ์งอๆไปตามกัน พอลับหลังพระที่นั่งเจ้าพระยาสุรพันธ์ไพล่มาโกรธเอาพวกเราไม่เลือกหน้าว่าใคร กรมหมื่นมรุพงศ์เป็นผู้ถูกตัดพ้อต่อว่ากว่าผู้อื่น แต่ท่านยิ่งโกรธเท่าใด ก็ยิ่งทำให้พวกเราหัวเราะยิ่งขึ้นจนหายโกรธไปเอง

เสด็จประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรีนี้ ไม่ใคร่มีโอกาสได้เสด็จประพาสต้น เพราะไม่มีทางที่จะเล็ดลอดหลีกไปได้เหมือนแถวแม่น้ำราชบุรี และสมุทรสงคราม ความสนุกแปลกประหลาดไม่ใคร่จะมี จะเล่าระยะทางที่เสด็จให้พ่อประดิษฐ์ทราบแต่พอเป็นเลาๆคือ วันที่ ๒๕ เสด็จประพาสทางเรือข้างเหนือน้ำ วันที่ ๒๖ เสด็จทางเรือไปประพาสบางทะเล ประทับแรมที่บางทะลุคืนหนึ่งยุงชุมพอใช้ วันที่ ๒๗ เสด็จเรือฉลอมแล่นใบจากบางทะลุมาทางทะเลเข้าบ้านแหลม น้ำงวดเรือติดปากอ่าว พายุก็ตั้งมืดมาจะรออยู่ช้ากลัวจะถูกพายุ ผู้ไปตามเสด็จจึงพร้อมใจกันอาสาลงลุยเลนเข็นเรือกับพวกเจ้าของเรือ สงสารแต่นายอัษฎาวุธเข้ายอมยกให้แล้วว่าไม่ต้องลงไปก็ไม่ฟัง พอเรือพ้นตื้นเข้าปากน้ำได้ก็ถูกฝนใหญ่เปียกกันมอมแมม กลับมาถึงเมืองเพชรบุรีสักทุ่มหนึ่ง วันที่ ๒๘ เสด็จประพาสพระนครคีรี ถวายพุ่มพระสงฆ์เข้าพรรษาด้วย วันที่ ๒๙ เช้าเสด็จประพาสวัดต่างๆในเมืองเพชรบุรี บ่ายวันนี้จะออกกระบวนเรือใหญ่ล่องลงไปประทับแรมที่บ้านแหลม พรุ่งนี้จะออกจากบ้านแหลมเสด็จไปประทับแรมที่เมืองสมุทรสาคร


นายทรงอานุภาพ




....................................................................................................................................................

(๑) "ฉลอม" เป็นชื่อประเภทของเรือนี่เอง ท่าฉลอมก็หมายถึง ท่าที่มีเรือประเภทหนึ่งชื่อว่าเรือฉลอมอยู่มาก

(๒) ละมุ คือ โป๊ะเล็กๆ ที่ทำไว้สำหรับจับปลาตามชายฝั่งทะเล ห่างฝั่งออกไปไม่มากนัก

(๓) พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๕ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

(๔) พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงษศิริพัฒน์

(๕) พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย

..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๖


บ้านปากไห่
วันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อประดิษฐ์


พรุ่งนี้ฉันจะกลับถึงบ้านแล้ว วันนี้เขียนจดหมายเล่าเรื่องตามเสด็จให้พ่อประดิษฐ์ฟังเสียอีกฉบับ ถ้ามีเรื่องราวอะไรต่อนี้ไป จะเล่าให้ฟังเมื่อไปพบกับพ่อประดิษฐ์ในกรุงเทพฯทีเดียว

ตั้งแต่ฉันจดหมายไปถึงพ่อประดิษฐ์จากเมืองเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม บ่ายวันนั้นออกกระบวนใหญ่ล่องลงมาประทับแรมที่บ้านแหลม ทอดพระเนตรเห็นเรือเป็ดทะเลทอดอยู่ที่นั่นหลายลำ รับสั่งว่า เรือเป็ดทะเลมีประทุนน่าจะสบายดีกว่าเรือฉลอม ใครกราบทูลไม่ทราบ ว่าเรือเป็ดแล่นใบทะเลเสียดดีกว่าเรือฉลอมด้วย จึงตกลงว่าจะลองเสด็จเรือเป็ดทะเลแล่นใบจากบ้านแหลม ลงมาปากน้ำท่าจีน เพราะเมืองสมุทรสงครามและคลองสุนัขหอนก็ได้เคยเสด็จประพาสแล้ว ตระเตรียมเรือเป็ดทะเลกัน ๓ ลำ

พอเวลาเช้าก็แล่นใบออกจากปากน้ำบ้านแหลม ฉันตามเสด็จมาในเรือพระที่นั่ง ตอนเช้าคลื่นราบได้ลมดี ได้เห็นเรือเป็ดทะเลแล่นเสียดรวดเร็วดีกว่าเรือฉลอม จริงดังเขาว่า มาได้สัก ๒ชั่วโมง พอพ้นปากน้ำแม่กลองมาตรงบ้านโรงกุ้งออกๆจะมีคลื่น เรือโยนแรงขึ้นทุกทีๆมีคนที่ไปตามเสด็จด้วยกันเมาคลื่นลงหลายคน แต่ฉันมั่นใจว่าตัวเองคงไม่เมา เคยไปตามเสด็จทะเลมา ถ้าจะนับเที่ยวก็แทบจะไม่ถ้วน ไม่เคยเมาคลื่นกับใครง่ายๆ แต่อย่างไรวันนี้ออกจะสวิงสวายใจคอไม่สู้ปกติ แต่แข็งใจทำหน้าชื่นมาได้สักชั่วโมงหนึ่ง คลื่นเจ้ากรรมก็หนักขึ้นลงปลายฉันเองก็ล้มขอนกับเขาอีกคนหนึ่ง ข้าวต้มสี่กษัตริย์ห้ากษัตริย์ อะไรที่ทรงทำในวันนี้รับพระราชทานไม่ไหว ลงนอนแหมะอยู่หน้าเสาตอนศีรษะเรือ นึกน้อยใจนายมานพเห็นเพื่อนกันเมาคลื่น ชอบแต่ว่าจะหาน้ำหาข้าวมาช่วยหยอด นี่กลับกล้องมาถ่ายรูปกันเล่นเห็นเป็นสนุก แต่จะตอบแทนอย่างไรเราก็เมาคลื่นเต็มทน ต้องนิ่งนอนเฉยจนเรือแล่นใบเข้าปากน้ำท่าจีน จึงลุกโงเงขึ้นได้ หิวเหมือนไส้จะขาด เที่ยวค้นคว้าหาอะไรกิน ได้แต่ข้าวต้มซึ่งทรงพระกรุณาโปรดให้เก็บรักษาไว้พระราชทานชามหนึ่ง นอกจากนั้นจะเป็นลูกหมากรากไม้อะไรไม่มีเหลือ เพราะพวกที่เขาไม่เมาคลื่นว่ากันเสียชั้นหนึ่งแล้ว เหลืออยู่เท่าใด พวกที่หายเมาคลื่นก่อนฉันช่วยกันซ้ำเสียหมด เพราะฉันออกมานอนแน่วอยู่ทางหัวเรือ ลุกไปไม่ทัน ที่ได้กินข้าวต้มชามหนึ่งก็เพราะรับสั่งให้รักษาไว้พระราชทานฉันโดยเฉพาะ ถ้าหาไม่ข้าวต้มชามนั้นก็คงจะพลอยสูญไปด้วย อย่างไรก็ตามเถิด พอเข้าแม่น้ำได้ก็นึกสาปส่งว่าขึ้นชื่อว่าเรือเป็ดทะเล ถึงจะแล่นใบเสียดดีกว่านี้อีกสักเท่าใดๆ ก็เห็นจะไม่ยอมไปเรือเป็ดทะเลอีกแล้ว

เสด็จมาถึงท่าจีน พอเวลาบ่ายแวะขึ้นซื้อเสบียงที่ตลาดบ้านท่าฉลอมแล้ว เรือกระบวนใหญ่ยังมาไม่ถึงจึงไปพักทำครัวเย็นที่วัดโกรกกราก ตัวฉันเองยังรู้สึกบอบช้ำเรื่องเมาคลื่นไม่หาย นึกว่าถ้าได้อาบน้ำเสียสักทีเห็นจะสบาย จึงขึ้นไปขออาบน้ำบนกุฏิพระ ไปเห็นตุ่มน้ำตั้งเรียงกันอยู่บนนอกชานเป็นแถวเหมือนที่วัดประดู่ เข้าใจว่าท่านเจ้าของกุฏิคงเป็นพระหมอน้ำมนตร์ การก็จริงดังคาด พอฉันไปขออาบน้ำ ท่านก็เข้าใจว่าฉันจะไปขอรดน้ำมนตร์ชี้มือให้ไปนั่งข้างตุ่ม ฉันได้เคยเห็นเยี่ยงอย่างที่วัดประดู่มาแล้ว จึงผลัดผ้าเข้าไปนั่งที่ข้างตุ่ม ทำท่าทางเอาอย่างตาขากปูที่เคยได้เห็นมาแล้ว ท่านพระก็เอาขันมาตักน้ำเสกเป่ารดน้ำมนตร์ให้ ฉันนึกๆในใจว่าน่าจะลองขากปูหรือดิ้นปัดๆถวายพระสักที แต่ก็มายั้งใจเห็นไม่ได้การ บาปกรรม และถ้าคนแถวนี้มีคนรู้จักว่าฉันเป็นใครก็เกิดเสียชื่อขึ้นจะเลยเห็นกรรมทันตา แต่น้ำมนตร์ของท่านองค์นี้ดีจริง ตั้งแต่รดแล้วรู้สึกโล่งใจหายเมาคลื่นสนิททีเดียว

วันที่ ๓๑ กรกฎาคม เวลาเช้า เสด็จกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสาครขึ้นไปตามลำน้ำ ไปพักทำครัวเช้าที่วัดบางปลา ส่วนกระบวนเรือใหญ่ให้ตรงขึ้นไปจอดที่บ้านงิ้วรายแขวงเมืองนครไชยศรี ระยะทางวันนี้ไกลด้วยไม่มีอะไรสนุกด้วย ที่สุดเมื่อเสด็จไปแวะทำครัวเย็นที่วัดตีนท่าก็เป็นวัดศาลารวนเร จวนจะหักพังซ้ำถูกฝนถูกพายุ จนกลางดึกจึงได้ออกเรือแจวคลำขึ้นมามืดๆ รอดตัวที่ได้น้ำขึ้นมาจนใกล้บ้านท่านา พบเรือไฟได้พ่วงต่อขึ้นมาถึงพลับพลาแรมเกือบ ๕ ทุ่ม


Create Date : 21 มีนาคม 2550
Last Update : 21 มีนาคม 2550 9:39:16 น. 7 comments
Counter : 9535 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


วันที่ ๑ สิงหาคม เสด็จรถไฟไปประพาสพระปฐมเจดีย์ ทำครัวเช้าที่ลานพระ เจ้าคุณสุนทรเทศา(๑)แกงไก่ดีพอใช้ เพราะไก่พระปฐมเป็นที่เลื่องลืออยู่ด้วย แล้วลงเรือล่องมาประพาสที่พระประโทน มาพบมิวเซียมใหญ่ซึ่งโจษกันว่ามีอยู่นั้น คือท่านสมภารวัดพระประโทนเป็นผู้เก็บรวบรวมสะสมของโบราณที่ขุดได้ในแถววัดพระปฐมพระประโทนไว้มาก แต่ข่าวว่าเก็บซุกซ่อนมิยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใดดูเป็นอันขาด ครั้นเสด็จไปถึง ไปถามถึงเรื่องของเก่า ท่านสมภารก็ยินดีเชิญเสด็จเข้าไปในกุฏิ แล้วยกหีบห่อของโบราณที่ได้สะสมไว้มาถวายให้ทอดพระเนตร และยอมให้ทรงเลือกแต่จะพอพระราชประสงค์ ทรงเลือกได้เครื่องสัมฤทธิ์ของโบราณ คือพระพุทธรูปเป็นต้น ซึ่งเป็นของแปลกดีหลายอย่าง ออกจากพระประโทนมาประทับทำครัวเย็นที่บ้านซึ่งพระเวียงไนยออกไปตั้งผสมม้าอยู่ที่ธรรมศาลา แล้วเสด็จกลับมาทางเรือถึงบ้านงิ้วรายเวลาสัก ๒ ทุ่ม

วันที่ ๒ สิงหาคม ฉันล่วงหน้าขึ้นมาก่อน ทราบว่าเสด็จแวะประพาสที่คลองภาษี แล้วเสด็จต่อมาถึงสองพี่น้อง

ตามกำหนดเดิมกะว่าจะเสด็จถึงสองพี่น้องราวเวลาบ่ายสัก ๒ โมง จะประพาสบ้านสองพี่น้องและบ้านบางลี่ในเย็นวันนั้น รุ่งขึ้นจะออกกระบวนจากสองพี่น้องแต่เช้าไปประทับแรมที่เมืองสุพรรณทีเดียว แต่เสด็จมาถึงเย็นเวลาไม่พอประพาส จึงต้องกะระยะทางแก้ใหม่ คือวันที่ ๓ เช้าจะประพาสบ้านสองพี่น้องต่อ เวลากลางวันจะไปถึงเมืองสุพรรณไม่ได้ จะต้องจัดที่ประทับแรมกลางทางระหว่างสองพี่น้องกับเมืองสุพรรณอีกแห่งหนึ่ง รับสั่งให้กรมหลวงดำรงเสด็จไปเลือกและจัดที่สำหรับประทับแรม ฉันถูกมีหน้าที่ไปตามเสด็จกรมหลวงดำรง จึงได้ออกเรือล่วงหน้ามาแต่เช้ามืด กรมหลวงดำรงทรงเลือกเห็นที่วัดบางบัวทองเป็นที่สมควรดี ตกลงจะให้จัดที่ประทับแรมที่หน้าวัดนั้น

ฉันออกนึกหนักใจว่าเวลามีเพียงราว ๘ ชั่วโมง ไม้ไล่ผู้คนและเครื่องมือก็ไม่มี จะทำอย่างไรจึงจะมีที่ประทับทันเสด็จ ฉันทูลถามกรมหลวงดำรง ท่านรับสั่งว่ามีมากันเท่านี้ก็ลองดูว่าจะทำได้อย่างไร มีรับสั่งให้เรียกประชุมอำเภอกำนันผู้ใหญ่บ้านพร้อมกัน แล้วรับสั่งว่า วันนี้เจ้านายของพวกเราจะเสด็จมาประทับแรมที่ตรงนี้ เราต้องช่วยกันแผ้วถางและทำสะพานที่จะจอดเรือพระที่นั่งให้ทันเสด็จ พวกแกและชาวบ้านแถวนี้ยังไม่ได้เคยรับเสด็จเลย และที่ยังไม่ได้เคยเห็นเจ้านายของพวกแกเองก็จะมีเป็นอันมาก ให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปเที่ยวป่าวร้องราษฎรในแถวนี้มาช่วยกันรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว มีมีดพร้าเครื่องมือให้เอามาด้วย ช่วยกันทำรับเสด็จสักทีจะได้หรือไม่ พวกกำนันผู้ใหญ่บ้านพากันรับอาสาแข็งแรง ต่างคนต่างติดตามเรียกลูกบ้าน และหาไม้ไล่มาทำการตามรับสั่ง ใน ๒ ชั่วโมงมีคนมาช่วยทำงานสักสามสี่ร้อย ดูเต็มใจแข็งข้อที่จะทำการรับเสด็จด้วยกันทุกคน แม้แต่พวกผู้หญิงที่ไม่ได้ถูกขอแรงทำงาน ก็พากันมารับอาสาตั้งเตาหุงข้าวทำครัวเลี้ยงคนงาน ประเดี๋ยวมีคนเอาข้าวมาให้ ประเดี๋ยวมีใครเอาปลามาเติม ตลอดลงไปจนผักหญ้า หมากบุหรี่ ก็มีผู้เอามาช่วย กรมหลวงดำรงจะขอใช้เงินค่าเสบียงอาหารให้ก็ไม่มีใครยอมรับ ว่าอยากจะช่วยกันรับเสด็จ พอบ่าย ๔ โมงการแล้วเสร็จ เลี้ยงกันเอิกเกริกสนุกสนานราวกับงานไหว้พระอย่างใหญ่ ใครได้เห็นแล้วก็ต้องยินดีด้วยเห็นได้ว่า ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมีความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าอยู่หัวเพียงใด

ส่วนข้างทางที่เสด็จนั้น ได้ยินว่าเสด็จไปประพาสข้างปลายคลองสองพี่น้อง จะประพาสที่ใดบ้างหาทราบไม่ ได้ความว่านายวงศ์ตะวันไปถูกหมากัด ประพาสคลองสองพี่น้องแล้วเสด็จมาพักทำครัวเย็นที่วัดบางสาม เมื่อทำครัวอยู่นั้นพวกเราใครตกเบ็ดได้ปลาเทโพตัว ๑ ทราบว่าแกงเทโพนั้นอร่อยนัก แต่นายอัษฎาวุธเคราะห์ร้ายไปตกล่องที่วัดบางสามฟกช้ำไปหน่อยหนึ่ง เสด็จมาถึงที่ประทับวัดบางบัวทองเวลาประมาณสัก ๒ ทุ่ม

วันที่ ๔ เวลาเช้า ออกกระบวนเรือไฟจูงขึ้นได้เพียงบางปลาม้าถึงที่น้ำตื้น ต่อนั้นต้องแจวขึ้นไปจนถึงเมืองสุพรรณบุรี จอดเรือพระที่นั่งประทับที่สุขุมาราม ชื่อสุขุมารามที่เรียกกัน เรียกตามได้ยินรับสั่ง เห็นจะเป็นชื่อพระราชทาน ไม่ได้ยินพวกชาวสุพรรณเขาเรียก ความจริงนั้นที่ตรงนั้นเป็นบ้านเดิมของเจ้าคุณสุขุม(๒) ญาติวงศ์ของท่านยังอยู่หลายคน ได้พากันมารับเสด็จเฝ้าแทน ดูทรงพระกรุณามาก แต่คำว่าอารามๆเคยได้ยินเป็นชื่อวัด นี่ทำไมจึงเอามาพระราชทานต่อท้ายชื่อบ้านเจ้าคุณ ข้อนี้ฉันตรองไม่เห็น

เสด็จเมืองสุพรรณ(๓)คราวนี้เป็นที่น่าเสียดายอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยไม่ถูกฤดูเหมาะ ในเวลานี้น้ำแม่น้ำยังน้อยจะไปเที่ยวทางเรือก็ขัดข้อง ส่วนทางบกฝนก็ตกพอแผ่นดินเป็นหล่มเป็นโคลน จะไปไหนก็ยาก เพราะฉะนั้นจึงเสด็จประพาสได้ใกล้ๆในบริเวณเมือง ในวันที่ ๔ นั้นเสด็จไปประพาสเหนือน้ำประทับเสวยที่วัดแค วันที่ ๕ เสด็จทอดพระเนตรที่ว่าการเมือง เวลาบ่ายออกกระบวนล่องลงมาประทับแรมที่บางปลาม้า ถึงยังวันอยู่ จึงทรงเรือพระที่นั่งเล็กล่องลงมาประพาสข้างใต้ ประทับเสวยเย็นที่วัดบางยี่หน

วันที่ ๖ สิงหาคม เวลาเช้า ออกเรือเสด็จในกระบวนใหญ่ เรือไฟจูงเข้าคลองบางปลาม้ามาทางคลองจระเข้ใหญ่ เวลากลางวันถึงบ้านผักไห่ จอดเรือประทับแรมที่หน้าบ้านหลวงวารี เวลาบ่ายทรงเรือเมล์ของหลวงวารีขึ้นไปประพาสข้างเหนือน้ำ เสด็จกลับมาถึงพลับพลาแรมสัก ๒ ทุ่ม

การเสด็จคราวนี้ เป็นการเรียบร้อยมีความสุขสบายทั่วกัน คือพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะเวลานี้นับว่าทรงสบายหายประชวรเป็นปกติได้แล้ว


นายทรงอานุภาพ




....................................................................................................................................................

(๑) เดาว่าคือ เจ้าพระยาศรีวิชัยชนินทร์(ชม สุนทรารชุน) ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ รับราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯเป็นจมื่นมณเฑียรพิทักษ์ ปลัดกรมตำรวจ ครั้นกรมพระราชวังทิวงคต มารับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นหลวงเสนีย์พิทักษ์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครไชยศรี แล้วได้โปรดฯให้เลื่อนเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ได้เป็นเจ้าพระยาศรีวิไชยชนินทร์ในรัชกาลที่ ๖

ท่านเจ้าคุณมีชื่อเสียงและสติปัญญามาก ในการสืบจับปราบโจรผู้ร้าย และการไตร่สวนคดี ครั้งหนึ่งสามารถสืบสวนจับกุมมหาโจรจันทรเจ้าได้ การสืบจับและไตร่สวน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ ๑๑ โจรประหลาด

(๒)คือ เจ้าพระยมราช(ปั้น สุขุม) บิดามารดาใส่กัณฑ์ถวายพระเข้ามาในกรุงเทพฯ ได้บวชเป็นเปรียญแล้วลาสิกขามารับราชการที่ขุนวิจิตรวรสาสน์ กรมอาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นครูพระเจ้าลูกเธอในโรงเรียนสวนกุหลาบ และได้ตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอไปต่างประเทศ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นหลวงวิจิตรวรสาสน์ พระวิจิตรวรสาสน์ พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต เมื่อจัดการปกครองเมืองสงขลาและนครศรีธรรมราชตามระเบียบใหม่สำเร็จ และได้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาล และคิดจัดการปกครองมณฑลปัตตานี(เจ็ดหัวเมืองแขก)สำเร็จ อีกทั้งทำการในราชการส่วนพระองค์อีกหลายอย่าง พ.ศ. ๒๔๕๑ โปรดฯให้เป็นเจ้าพระยายมราช ฯ

(๓) แต่ก่อนมา มีคติความเชื่อโบราณถือกันว่า ห้ามไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณบุรี หาไม่อาจถึงอันตรายหรือเสียพระสติ คติความเชื่อนี้ถูกสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทำลายลงเมื่อครั้งเสด็จตรวจราชการหัวเมือง มีเรื่องโดยพิสดารในหนังสือ "นิทานโบราณคดี"

..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๗


บ้านถนนเจริญกรุง
วันที่ ๑๐ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๓

ถึง พ่อประดิษฐ์


ฉันตามเสด็จกลับมาถึงกรุงฯ เมื่อวันที่๗ สิงหาคม ต่อมาอีกสองวันฉันก็จะไปบ้านพ่อประดิษฐ์ หมายว่าจะไปเยี่ยมเยียนถามข่าวคราว คนที่บ้านบอกว่าพ่อประดิษฐ์ออกไปเมืองสงขลาเสียแต่เทื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม และไม่ทราบกำหนดว่าจะกลับเมื่อใดแน่ ฉันเสียดายที่มาแคล้วคลาดกับพ่อประดิษฐ์เสียดังนี้ เมื่อกำลังไปตามเสด็จฉันได้รับจดหมายพ่อประดิษฐ์หลายฉบับ พ่อประดิษฐ์จะได้รับทั้งหมดหรือพลัดพรายหายสูญไปเสียบ้างก็ไม่ทราบ ฉันได้บอกมาในจดหมายฉบับหลังที่ส่งมาจากบ้างผักไห่ ว่าถ้ามีข่าวคราวในการเสด็จต่อมาอย่างใด จะไว้มาเล่าให้ฟังเมื่อถึงบ้าน มาไม่พบกันเสียเช่นนี้ ยังมีข่าวคราวอีกเล็กน้อย จึงบอกมาให้ทราบในจดหมายฉบับนี้

วันที่ ๗ สิงหาคม กำหนดระยะทางเสด็จตามที่กะไว้ในวันนั้น กระบวนเรือใหญ่จะล่องลงมาทางบ้านเจ้าเจ็ดและบางไทร ไปรอเสด็จที่บางปะอิน แต่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกระบวนต้นแยกขึ้นทางโผงผาง เข้าคลองบ้านกุ่มมาออกภูเขาทอง ล่องมาบรรจบกระบวนใหญ่ที่บางปะอิน แต่ไปเกิดเข้าใจผิดกันด้วยเหตุใดไม่ทราบ พวกหัวเมืองเข้าใจว่า กระบวนเรือใหญ่จะแยกขึ้นทางบางโผงผางแล้วไปล่องลงทางลำน้ำสีกุก พวกนำร่องนำเรือกระบวนใหญ่ไปทางบางโผงผาง เรือกระบวนต้นตามาภายหลังติดกระบวนใหญ่ ถูกทั้งคลื่นและเครื่องบูชาชยันโตรับเสด็จทั้งสองฟาก เป็นเหตุให้ลำบากและข้องแก่การประพาสเป็นอันมาก จะรีบไปก็จะเข้าไปถูกคลื่นอยู่ระหว่างกลางกระบวนใหญ่จึงจำเป็นต้องรอเรือลากตุบๆตามมา จะหาที่แวะทำครัวเช้าที่วัดวาแห่งไร พระก็ลงมานั่งสวดชยันโต ตั้งเครื่องบูชาเสียทุกวัด

แต่เสาะแสวงหาที่ทำครัวมาจนหิวอ่อน จึงมาพบบ้านแห่งหนึ่งที่บางหลวงอ้ายเอียง ดูท่าทางชอบกลมีสะพานและโรงยาวอยู่ริมน้ำ หน้าเรือนฝากระดาน เจ้าของบ้านเห็นจะอาศัยทำครัวเลี้ยงกันที่นั้นได้ จึงแวะเรือเข้าไปไต่ถามได้ความว่าเป็นบ้านกำนัน แต่ตัวกำนันไปค้าขายอยู่ แต่นายช้าง อำแดงพลับ พ่อตาแม่ยายออกมาต้อนรับแข็งแรง ตัวนางพลับเองมาช่วยทำครัวด้วย

ดูท่าทางนายช้างจะรู้จักผู้ลากมากดีกว้างขวาง พอเห็นพวกเราก็ไม่ต้องไต่ถามว่าใครเป็นใคร เข้าใจเอาทีเดียวเราเป็นพวกขุนนางที่ตามเสด็จมาข้างหลัง บอกว่าเสด็จไปเมื่อสักครู่นี้เอง เชิญให้พวก้ราเข้าไปนั่งบนแคร่ในโรงยาว หาน้ำร้อนน้ำชามาตั้ง แล้วเข้าไปนั่งเคียงไหล่สนทนากับพระเจ้าอยู่หัว มิได้มีรู้สึกสงสัย ที่เราคาดว่าแกกว้างขวางทางรู้จักผู้ลากมากดี ก็สมดังคำที่แกเล่า ว่าแกเคยลงไปบางกอกบ่อยๆ และบุตรชายของแกก็บวชเป็นเณรอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร แกรู้จักขุนน้ำขุนนางมาก ถึงพระเจ้าอยู่หัวแกก็เคยเฝ้า มีใครสอดเข้าไปตรงนี้ว่า แกจำพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่ แกกลับขู่เอาว่า ทำไมจะจำไม่ได้เคยเฝ้าแล้ว และพระรูปก็ยังมีติดอยู่บนเรือน เลยชวนพวกเราขึ้นไปบนเรือน ไปนั่งคุยที่หอนั่งอีกพักหนึ่ง

ประเดี๋ยวได้ยินเสียงยายพลับเอะอะขึ้นในครัว ได้ความว่าแกเอ็ดหมื่นสรรพกิจเรื่องชิมแกง แกว่าเป็นผู้ลากมากดีทำไมชิมแกงด้วยจวักเขาถือกันไม่รู้หรือ เลยฮากันใหญ่ การทำครัวที่บ้านนายช้างวันนี้สนุกยิ่งกว่าที่ได้เคยทำมาในที่อื่นๆ ด้วยเจ้าของบ้านทั้งผัวเมียรับแรงแข็งขอบ มิได้มีความสงสัยว่าผู้ใดเป็นใครเลย

เมื่อเลี้ยงดูกันเสร็จแล้ว นายช้างปรารภว่าอยากจะได้ปืนเมาเซอร์สักกระบอกหนึ่ง เขาว่าจะสั่งเสียซื้อหาต้องขออนุญาต แกไม่รู้จะไปขออนุญาตที่ไหนขอให้คุณ (คือพระเจ้าอยู่หัว) ช่วยเป็นธุระหาซื้อให้แกสักที ส่วนเงินทองราคาปืนจะสิ้นยังเท่าใดไม่เป็นไรแกจะคิดให้ ให้เต็มราคาอย่าวิตก "คุณ" ก็ยินดีรับเป็นพระธุระที่จะให้นายช้างได้ปืนเมาเซอร์ดังประสงค์

เมื่อก่อนจะออกเรือจากบ้านนายช้าง พระราชทานกระดาษธนบัตรซองหนึ่ง ดูเหมือนเป็นเงินสักสามสี่ร้อยบาทตอบแทนที่นายช้างรับเสด็จ บางทีนายช้างจะรู้ได้ว่าใครเมื่อตรวจธนบัตรดู รู้ว่าจำนวนเงินมากผิดปกติที่ผู้อื่นจะให้ในการเช่นนั้น

เมื่อเสด็จประพาสบ้านนายช้าง ใครๆสนุกหมดเว้นแต่พระยาโบราณผู้แทนเทศากรุงเก่า(๑) ซึ่งไปในท้ายเรือพระที่นั่ง ถูกบังคับให้ซ่อนอยู่ในประทุน เพราะคนแถวนั้นรู้จัก ต้องส่งข้าวส่งน้ำพระยาโบราณเหมือนกับคนโทษ ต่อเรือออกแล้วจึงพ้นทุกข์ เสด็จมาถึงบางปะอินเวลาบ่าย ๕ โมง ทรงรถไฟพิเศษกลับกรุงเทพฯในวันนั้น เป็นจบเรื่องระยะมทางเสด็จประพาสต้นเท่านี้


นายทรงอานุภาพ




ป.ล. เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯแล้ว รุ่งขึ้นนายช้างกับยายพลับพาลูกหลานลงมาเกือบหมดครัว แกเที่ยวสืบถาม เมื่อได้ความว่าใครได้ไปตามเสด็จที่บ้านแกบ้าง ก็เที่ยวไปกราบไหว้ขอขมาไม่เลือกหน้า ดูน่าสงสาร ฉันถามแกว่าทำไมจึงได้รู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว แกบอกพอเสด็จแล้วพวกเพื่อนเขาพากันถามข่าว มีผู้ที่จำพระเจ้าอยู่หัวได้มาบอกยืนยันว่าพระเจ้าอยู่หัวแน่ แกเห็นสมด้วยเงินที่พระราชทานถึง ๔๐๐ บาท เกินกว่าผู้ใดนอกจากพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทาน ก็ยิ่งตกใจ จึงรีบจัดเรือพาลูกหลานล่องลงมากรุงเทพฯ ขอให้พาเข้าเฝ้า จะไปกราบทูลขอขมาพระเจ้าอยู่หัวด้วย แต่จะได้เฝ้าแล้วหรือยังฉันยังไม่ทราบ



....................................................................................................................................................

(๑) พระยาโบราณราชธานินทร์(พร เดชะคุปต์)

..........................................................................


จดหมายฉบับที่ ๘


บ้านถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ
วันที่ ๒๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๑

ถึง พ่อประดิษฐ์


ด้วยเมื่อศก ๑๒๓ ฉันไปตามเสด็จประพาสต้น ได้มีจดหมายเล่าเรื่องประพาสต้นครั้งนั้นไปยังพ่อประดิษฐ์เป็นจดหมาย ๗ ฉบับ จดหมายเรื่องนี้ได้ลงพิมพ์ในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๕ เดือนละฉบับจนจบเรื่อง บัดนี้คิดจะรวมจดหมายเรื่องประพาสต้นเข้าพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน ฉันเที่ยวหาต้นฉบับั้งที่ลงในหนังสือทวีปัญญา และที่มีต้นร่างอยู่รวบรวมได้จดหมายแต่ ๖ ฉบับ หาต้นฉบับไม่ได้จึงต้องมีจดหมายฉบับนี้มายังพ่อประดิษฐ์ ขอให้ช่วยค้นต้นฉบับจดหมายเหล่านั้น ถ้ายังมีอยู่ที่พ่อประดิษฐ์ ขอจงสงเคราะห์คัดสำเนาจดหมายฉบับที่ ๓ ทิ้งไปรษณีย์ส่งมาให้ด้วยถ้าได้สำเนาดังประสงค์ ฉันจะขอบคุณพ่อประดิษฐ์เป็นอันมาก

บางทีพ่อประดิษฐ์ได้เห็นจดหมายฉบับนี้ จะนึกฉงนว่าจดหมายเรื่องประพาสต้นก็ได้ลงพิมพ์เป็น ๕ -๖ ปีมาแล้ว เหตุใดจึงพึ่งจะมาคิดรวมเป็นเล่ม ต่อเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตล่วงไปแล้ว คำอธิบายในข้อนี้ขอชี้แจงว่า เมื่อพิมพ์เรื่องประพาสต้นลงในหนังสือทวีปัญญารายเดือน ผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ที่ได้ตามเสด็จไปด้วยในคราวนั้น พากันชอบว่าเป็นหนังสืออ่านสนุกดี มีผู้อยากจะให้พิมพ์รวมเป็นเล่มแต่ครั้งนั้นแล้ว เพราะเรื่องประพาสต้นเป็นเรื่องที่สำหรับเล่ากันเล่นอยู่เรื่องหนึ่ง แต่ฉันไม่เห็นสาระพอถึงแก่ควรจะพิมพ์ใหม่ จึงได้เพิกเฉยเลยมา

ครั้นเมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็ตสวรรคตแล้ว เรื่องราวต่างๆในรัชกาลที่ ๕ กลายเป็นเรื่องเก่า "เมื่อกระนั้น" สำหรับชอบเล่าชอบคุยกัน เรื่องประพาสต้นนี้เป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งกลับเป็นเรื่องชอบเล่ากันขึ้น มีเพื่อนฝูงชักชวนให้พิมพ์รวมเป็นเรื่องขึ้นใหม่มากกว่าแต่ก่อน ฉันใคร่ควรดูมาคิดเห็นว่า เรื่องประพาสต้น แม้จดหมายเดิมแต่งเป็นเรื่องสำหรับอ่านเล่นสนุกๆก็จริง แต่ถ้าได้อ่านในเวลานี้โดยตั้งใจใคร่ครวญก็อาจจะแลเห็นความกว้างขวางออกไป เป็นต้นว่าเหตุใดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นที่รักใคร่ของอาณาประชาราษฎรทั่วหน้า สมกับที่ได้ถวายพระนามจารึกไว้ในฐานพระบรมรูปทรงม้าว่า "ปิยมหาราชาธิราช" ที่จริงพระองค์ทรงรักใคร่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เหมือนกับบิดารักบุตร พอพระราชหฤทัยที่จะคุ้นเคยคบหา และถึงเล่นหัวกับอาณาประชาราษฎรโดยมิได้ถือพระองค์ ยกตัวอย่างดังจะเห็นได้ในเรื่องประพาสต้นนี้เป็นพยาน

การที่พระองค์ทรงสมาคมกับราษฎร ไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงจะรู้จัก หรือสนทนาปราศรัยให้คุ้นเคยกันเท่านั้น ย่อมทรงเป็นพระราชธุระไต่ถามถึงความทุกข์สุข และความเดือดร้อนที่ได้รับจากผู้ปกครองอย่างใดๆบ้างทุกโอกาส ผู้ที่เคยตามเสด็จย่อมเคยได้ยินและทราบความอันนี้ ฉันได้เคยเห็นบางทีราษฎรกราบทูลร้องทุกข์ เป็นข้อความซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นความทุกข์ร้อนจริงทรงรับธุระมาต่อว่าเอาเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้ความรำคาญใจหลายคราว บางทีถึงต้องผลัดเปลี่ยนพนักงานปกครองก็มีบ้าง เป็นเหตุให้การเสด็จประพาสเป็นคุณเป็นประโยชน์แก่ความสุขสำราญของราษฎรที่ได้อีกเป็นอันมาก

ใช่แต่เท่านั้น บรรดาราษฎรที่ได้เสด็จไปทรงคุ้นเคย ในเวลาเสด็จประพาส พระองค์มิได้ทรงละลืม ในเวลาต่อมาเมื่อคนเหล่านั้นเข้ามากรุงเทพฯ จะเข้าเฝ้าแหนก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ตามความปรารถนา บางทีถึงรับสั่งให้เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระราชวัง รับสั่งเรียกพวกที่คุ้นเคยเหล่านี้ว่า "เพื่อนต้น" มีอยู่ทั้งชายหญิงแทบทุกหัวเมืองที่ได้เสด็จประพาส เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรป ร.ศ. ๑๒๖ ได้ทรงหาของฝากมีไม้เท้าเป็นต้น เข้ามาฝากพวกเพื่อนต้น เมื่อพวกเหล่านี้ได้ข่าวว่าเสด็จกลับ เข้ามาเฝ้าเยี่ยมก็ได้พระราชทานของฝาก ไม้เท้าพระราชทานจึงเป็นเครื่องยศสำหรับพวกเพื่อนต้นถือเข้าเฝ้า ทั้งเวลาเข้ามาในกรุงเทพฯ และเข้าเฝ้าตามหัวเมืองเวลาเสด็จประพาสไม่ว่าที่ใดๆ

เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงเคารพต่อพระราชนิยมของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานอนุญาตให้พวกเพื่อนต้นเข้ามาทำบุญให้ทานในงานพระบรมศพ และถวายพระเพลิงเหมือนกับเป็นข้าราชการ และยังพระราชทานเครื่องประดับไม้เท้าสลักอักษรพระนาม จ.ป.ร. ให้ติดไว้เป็นที่ระลึก ทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าแหนเพ็ดทูลพระองค์ได้ต่อไป เหมือนครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกประการ ส่วนราษฎรซึ่งพระองค์ได้ทรงคุ้นเคยมาในเวลาเสด็จประพาสแต่ยังเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้รับพระราชทานไม้เท้า และพระบรมราชานุญาตเหมือนกับพวกเพื่อนต้น ในรัชกาลนี้อีกหลายคน ฉันเข้าใจว่าธรรมเนียมประพาสต้น และเพื่อนต้นจะยังมีต่อไปในรัชกาลนี้เหมือนกับรัชกาลที่ล่วงแล้ว

ตั้งแต่เสด็จประพาสต้นคราว ร.ศ. ๑๒๓ แล้ว สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงยังเสด็จประพาสทำนองเดียวกันอีกหลายคราว บางทีเสด็จประพาสในจังหวัดกรุงเทพฯนี้เองบ้าง ประพาสตามมณฑลหัวเมืองบ้าง ครั้งหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๔เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองสระบุรี แล้วขึ้นมาทางลำแม่น้ำใหญ่ไปจนถึงเมืองกำแพงเพชร คราวนี้สนุกพอใช้ แต่พ่อประดิษฐ์ออกไปอยู่เสียหัวเมือง ฉันจึงไม่ได้จดหมายรายการบอกไปให้ทราบ อีกคราวหนึ่งใน ร.ศ. ๑๒๗ เสด็จประพาสเมืองนครสวรรค์ ขากลับล่องลงทางคลองมะขามเฒ่า มาเมืองสุพรรณบุรี บ้านผักไห่ อ่างทอง แล้วเสด็จกลับทางบางแล้วเข้ากรุงเก่า อีกคราวหนึ่งในศกเดียวกันนั้นเสด็จทางคลองรังสิตไปประพาสถึงเมืองปราจีน แล้วกลับออกทะเลมาเข้าปากน้ำเจ้าพระยา

แต่ประพาสคราวหลังๆนี้ ความขบขันน้อยไปกว่าคราวแรกๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือราษฎรรู้เสียมากว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จอย่างคนสามัญ ถ้าเห็นใครแปลกหน้าเป็นผู้ดีชาวบางกอก ก็ชวนจะเข้าใจไปเสียว่าพระเจ้าอยู่หัว บางทีมหาดเล็กเด็กชาพากันไปเที่ยว ไปถูกราษฎรรับเสด็จเป็นพระเจ้าอยู่หัวก็มี เพราะฉะนั้นในตอนหลังจะหาใครไม่รู้จักพระองค์สนิทอย่างนายช้าง ยายพลับ ไม่มีอีก อีกประการหนึ่งตั้งแต่เสด็จกลับจากยุโรปคราวหลัง มีเรือยนตร์เข้ามาใช้ในกระบวนเสด็จ ประพาสด้วยเรือยนต์เสียโดยมาก เมื่อเสด็จประพาสด้วยเรือยนต์แล้วก็ต้องเป็นอันรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เอง จึงไม่ใคร่มีเรื่องขบขันอย่างคราวแรก

วันนี้เป็นวันทำบุญถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ในวันตรงกับวันสวรรคตครบ ๒ ขวบปี ดูคนในกรุงเทพฯตั้งแต่เจ้านายตลอดลงจนราษฎร ทำบุญให้ทานกันมาก ที่สำคัญนั้นฉันเห็นว่า ที่พากันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าที่หน้าพระลาน ไม่ว่าใครต่อใคร ดูผู้คนล้นหลามตั้งแต่เช้าจนกลางคืน เห็นจะเป็นธรรมเนียมปีดังนี้เสมอไป

ที่จริงพระบรมรูปทรงม้าองค์นี้ควรนับว่าเป็นของวิเศษได้ ไม่เฉพาะแต่ที่เป็นของงดงามสง่าพระนคร หรือเป็นพระบรมรูปสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเท่านั้น ถ้าผู้รู้เรื่องราวของพระบรมรูปนี้ว่า เป็นของชาวสยามทุกชั้นบรรดาศักดิ์ทั่วทุกหนแห่งได้เข้าเรี่ยรายตามกำลังและใจสมัคร อย่างต่ำคนละ ๑๐ สตางค์ก็มี สร้างขึ้นด้วยความรักใคร่เป็นใจเดียวกันถวายสมโภชสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รวมเงินได้กว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เกินราคาพระบรมรูปนี้สัก ๕ เท่า ใช่แต่เท่านั้น พระบรมรูปนี้ได้แล้วสำเร็จทันถวายพระองค์ได้ทรงอนุโมทนาและประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า ความรักใคร่สวามิภักดิ์ของคนทั้งหลายมีมากมายกว้างขวางทั่วไปเพียงใด ผู้ใดรู้เรื่องที่กล่าวมานี้ก็จะเข้าใจได้ว่าพระบรมรูปทรงม้านี้ผิดกับอนุสาวรีย์ หรือวัดวาที่จะสร้างถวายเฉลิมพระเกียรติยศ เมื่อพระองค์ล่วงลับไปเสียแล้ว อันจะเป็นที่ระลึกและปรากฏแต่แก่ผู้อื่น แต่ส่วนพระองค์เองมิได้ทันทอดพระเนตรเห็น

ฉันได้ไปถวายบังคมพระบรมรูปแล้ว กลับมาก็เขียนจดหมายฉบับนี้ มาเกิดนึกขึ้นว่า บางทีการพิมพ์หนังสือเรื่องประพาสต้นครั้งนี้ จะมีส่วนกุศลบ้างกระมังเพราะเหตุที่จะให้ผู้อ่านเจริญความระลึกถึงในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ถ้าจะมีส่วนกุศลเพียงไรในการพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ ฉันตั้งใจอุทิศส่วนกุศลนั้นถวายสนองพระเดชพระคุณ แด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตามสติกำลัง ขอให้พ่อประดิษฐ์จงอนุโมทนาด้วยเทอญฯ


นายทรงอานุภาพ




..........................................................................



พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ชีวิตและผลงาน เรื่อง เสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓


...................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 21 มีนาคม 2550 เวลา:9:39:43 น.  

 
 
 
คุณกัมม์พอจะมีรายชื่อข้าราชบริพารสนิทที่ร่วมเดินทางในการเสด็จประพาสต้นกับพระพุทธเจ้าหลวงเกือบทุกครั้งมั้ยคะ...


พอดีว่า จุอ่านในบล็อกนี่ยาวมากๆ ยังตรวจจากสายตาไม่เจอ เวลาอ่านที่เหมือนรื้อความทรงจำอ่าน แต่คงไม่ละเอียดทั้งหมด เนื่องจากเวลาและหน้าที่ค่ะ

ขอบคุณนะคะ




เพิ่มเติมว่า พระพุทธเจ้าหลวงนี่โปรดเพลง เขมรไทรโยคมาก ส่วนคำว่า ซิวะ.. ในสมัยนั้นไม่หยาบพอๆ กับที่ ที่ชาวบ้านพูด กูๆๆ มึงๆ นี่ล่ะคะ
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 21 มีนาคม 2550 เวลา:9:59:35 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ กระจ้อน

เสด็จประพาสต้น ร.ศ. ๑๒๓
ที่คัดมาลงนี้เป็นคราวเดียวนะครับ
ผู้ตามเสด็จคราวนี้มีชื่อ(พระนาม)ในเชิงอรรถแล้วครับ

มีเสด็จปรถะพาสต้นอีกคราวหนึ่ง
เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๕ เอง

ผู้ตามเสด็จประพาสต้นทุกคราว เห็นจะเป็นตาอ้นกระมังครับ


เว็บไซต์แจ้งแบน คำในความคิดเห็น
ผมคิดว่า ไม่เห็นจะหยาบตรงไหน จึงกู้คืนมาแล้วครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 21 มีนาคม 2550 เวลา:12:46:48 น.  

 
 
 
ค่ะ ในเชิงอรรถ ยังไม่เห็นชื่อที่คุ้นเคยน่ะคะ เลยถามว่า มีข้าราชการบริพารสนิทมั้ย

จุรู้แต่เพียงว่า คนที่ร่วมเสด็จเกือบทุกครั้ง คงเป็น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ

ส่วนคนที่อยู่ในเชิงอรรถนั้น ก็แล้วแต่ว่า เสด็จไปที่ใด

เท่าที่จุอ่านเจอในการบรรยายภาพถ่ายในครั้งเสด็จประพาสต้น อย่าง จังหวัดกาญจน์ หรือเมืองเหนือ ( ถึงกำแพงเพชร)พบว่า คนที่ไปด้วยบ่อยๆ เช่น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เจ้าอุรุพงษ์(ทรงพระเยาว์) แล้วก็อีก 3-4 คน คนหนึ่งเป็นต้นราชสกุลไกรฤกษ์

ก็เลยนึกว่า คุณกัมม์พอจะมีข้อมูลนะคะ

ปล. อีกนิดนึง วันนึงอัพกี่บล็อกคะ จุตามอ่านไม่ทัน กว่าจะหาบล็อกเก่าเจอ


ยังงัยอย่าใจร้อนลงหมดทีเดียวค่ะ ทะยอยลง คนตามอ่านมึนกันพอดี
 
 

โดย: ju (กระจ้อน ) วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:10:53:08 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ จุ

ช้าสักหน่อยขออภัยนะครับ
เพิ่งค้นเจอ ข้อความที่น่าจะเป็นประโยชน์


บอกพระนามและชื่อที่ได้ใช้คำพรางไว้
ในจดหมายนายทรงอานุภาพ

- นายอัษฎาวุธ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์วุธ กรมหลวงนครราชสีมา
- นายทรงอานุภาพ คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
- นายวงศ์ตะวัน คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค)
- หลวงรัตนาวุธ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยุ่หัว รัชกาลที่ ๖
- ท่านมหาสม คือ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
- เจ้านายที่ไปตามเสด็จ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร
- ขุนสวรรค์วินิต คือ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
- นายมานพ คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
- หมื่นสรรพกิจ คือ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ


สำหรับกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ได้เป็น ลอร์ด โปรเจคต์ เมกเกอร์
ตั้นแต่นั้นมา จนถึงรัชกาลที่ ๗ อย่างที่คุณ จุ ว่านั่นแล

(แต่ว่าพระองค์ไม่ได้ตามเสด็จ ส่วนใหญ่จะนำเสด็จเสียมากกว่า อิอิอิ)
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 3 เมษายน 2550 เวลา:20:35:29 น.  

 
 
 
สวัสดีครับคุณ จุ

พอดีได้ภาพนี้มา คงจะพอตอบคำถาม
ท่านผู้ใดได้ตามเสด็จประพาสต้นทุกครั้ง

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 6 มิถุนายน 2550 เวลา:9:30:24 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากค่ะ

ภาพนี้ไม่ใช่เมืองกาญจน์หรอกเหรอคะ จุเข้าใจว่าเมืองกาญมาซะเนิ่นนานเลย
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 13 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:57:02 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com