กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ว่าด้วยหน้าที่และพระอัธยาศัยในกรมพระราชวังบวรฯ กรุงรัตนโกสินทร์


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
(สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรร)



ว่าด้วยหน้าที่ของพระมหาอุปราช พระมหาอุปราชมีหน้าที่ในการศึกตรงกับคำที่เรียกว่า "ฝ่ายหน้า" เป็นสำคัญกว่าอย่างอื่น พึงเห็นอธิบายได้แม้ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ ๑ พระมหาอุปราชก็ต้องทำศึก ทั้งที่โดยเสด็จและเสด็จไปโดยลำพังพระองค์มาจนตลอดพระชนมายุ ถึงรัชกาลที่ ๒ พม่าตีหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก ถึงรัชกาลที่ ๓ เกิดกบฏเวียงจันทน์ พระมหาอุปราชก็เสด็จไปบัญชาการศึกทั้ง ๒ คราว แต่ถึงรัชกาลที่ ๔ จะยกกองทัพไปตีเมืองเชียงตุง พระมหาอุปราชทรงศักดิ์อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดฯให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเสด็จไปบัญชาการศึกต่างพระมหาอุปราช(๑)เป็นตัวอย่างมาดังนี้

นอกจากทำศึก พระมหาอุปราชยังมีหน้าที่ตลอดไปถึงการป้องกันพระราชอาณาเขต ข้อนี้มีมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เช่นในการสร้างป้อมปราการที่เมืองพระประแดงและเมืองสมุทรปราการ พระมหาอุปราชก็ทรงบัญชาการทั้งในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ ถึงรัชกาลที่ ๔ ที่โปรดฯให้พระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดทหารบกทหารเรือขึ้นทางฝ่ายวังหน้า ก็เนื่องมาแต่หน้าที่ของพระมหาอุปราชในการป้องกันพระราชอาณาเขตนั่นเอง เมื่อว่าโดยย่อหน้าที่ของพระมหาอุปราชเป็นฝ่ายทหาร เนื่องด้วยการทำสงคารมมาแต่โบราณ จึงมีผู้คนทั้งนายและไพร่ขึ้นอยู่ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลมากกว่ากรมอื่นๆ เพื่อเกิดสงครามเมื่อใดพระมหาอุปราชจะได้เรียกรี้พลได้ทันที ข้อนี้เป็นมูลเหตุที่มีขุนนางวังหน้า เรียกว่า "ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวร" ขึ้นเป็นจำนวนมากอีกแผนก ๑

แต่ในเวลาว่างศึกสงครามพระมหาอุปราชมีหน้าที่ในการปกครองพระราชอาณาเขตอย่างใดไม่ คำซึ่งกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า "พระมหาอุปราชเสวยราชย์กึ่งพระนคร" นั้น มีมูลมาแต่การแบ่งเขตรักษาท้องที่ในบริเวณพระนคร อันเป็นแบบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่ในกรุงเทพฯ นี้ปันเขต (ว่าตามแผนที่ในปัจจุบันนี้) ตามแนวถนนพระจันทร์ ตั้งแต่ท่าน้ำตรงไปทางตะวันออกจนถึงประตูสำราญราษฎร์ (ถนนบำรุงเมือง) ท้องที่ข้างใต้เป็นอำเภอวังหลวง กรมนครบาลวังหลวงรักษา ท้องที่ข้างเหนือเป็นอำเภอวังหน้า กรมนครบาลวังหน้ารักษา แต่ปันเขตเพียงถึงคูพระนครเท่านั้น ท้องที่นอกออกไปเป็นอำเภอวังหลวงทั้งนั้น

ที่ไม่ให้พระมหาอุปราชเกี่ยวข้องในการปกครองบ้านเมือง น่าจะมีเหตุทำให้เห็นจำเป็นมาแต่โบราณ ด้วยพิเคราะห์ตามเรื่องพงศาวดาร แม้พระมหาอุปราชเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่พ้นมีเหตุร้ายได้ทุกรัชกาล ยิ่งพระมหาอุปราชมิได้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินแล้ว มักเกิดเหตุร้ายยิ่งกว่าที่จะเรียบร้อย มีตัวอย่างมาหลายคราว ฐานะของพระมหาอุปราชจึงมาความลำบากอยู่ไม่น้อย(๒)

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาพระมหาอุปราชจะทรงประพฤติอย่างไรหาทราบไม่ แต่ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ประพฤติผิดกันทุกพระองค์ ในรัชกาลที่ ๑ เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นพระมหาอุปราช พระอัธยาศัยอยู่ข้างจะมีทิฐิมานะ เกิดบาดหมางกับพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหลายครั้ง แทบถึงจะรบกันก็มี จนที่สุดเมื่อสวรรคตพวกวังหน้าที่เป็นคนใกล้ชิดก็กำเริบ ถึงต้องปราบปรามกัน บางทีเหตุที่มีในรัชกาลที่ ๑ นั้น จะเป็นตัวอย่างให้พระมหาอุปราชระวังพระองค์ต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เป็นพระมหาอุปราชในตอนปลายรัชกาลที่ ๑ ก็ไม่ปรากฏว่าประพฤติพระองค์ให้ผิดกับเมื่อยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออย่างใด เมื่อถึงรัชกาลที่ ๒ พระมหาอุปราชทรงชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชมาแต่เดิม ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีรับสั่งให้ทรงช่วยว่าราชการ ก็เสด็จลงมาประทับที่โรงละครหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตรวจตราข้อราชการต่างๆ ก่อนเสด็จเข้าเฝ้าในท้องพระโรงเป็นนิจจนตลอดพระชนมายุ

ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ปรากฏว่าถ่อมพระองค์มาก เป็นต้นว่าประทับอยู่เพียงที่มุขไม่เสด็จประทับบนพระพิมานวังหน้า พระราชยานก็ไม่ทรงเสลี่ยงอย่างเป็นต่างกรม(๓) เรือพระที่นั่งก็ทรงเรือกราบกันยาหลังคากระแซงอย่างพระองค์เจ้า(๔)ไม่ดาดสีเหมือนเรือเจ้าฟ้า และไม่เข้าเกี่ยวข้องในราชการบ้านเมืองเหมือนพระมหาอุปราชในรัชกาลที่ ๒

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในฐานะที่พระมหาอุปราชให้มีพระยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน(๕) พระราชทานเครื่องราชูปโภคต่างๆ กับทั้งตำแหน่งข้าราชการวังหน้าเพิ่มขึ้นให้เป็นทำนองเดียวกับวังหลวง เป็นแต่ลดลงบ้างเล็กน้อย ถึงกระนั้นพระบาทสมเด็จฯพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถ่อมพระองค์ ไม่โปรดในการแสดงยศศักดิ์ เป็นต้นว่าไม่เสด็จออกให้ขุนนางเฝ้าในท้องพระโรงนอกจากเวลามีงานพิธี โดยปกติเสด็จออกให้เฝ้าที่โรงรถ การที่เสด็จไปไหนด้วยกระบวนแห่เสด็จก็เฉพาะแต่ในงานพิธี หรือเสด็จลงมาเฝ้าตามตำแหน่ง ถ้าโดยปกติเสด็จไปตามวังเจ้านายที่ชอบชิด ก็ทรงม้ามีคนตามเสด็จคนหนึ่งหรือสองคน(๖) และยังทรงโปรดดำเนินเที่ยวเตร่ตามบ้าน เหมือนเมื่อยังเป็นกรมอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เสด็จอยู่วังหน้าโดยปกติโปรดทรงฝึกซ้อมหัดทหาร หรือมิฉะนั้นก็นัดคนไปขี่ม้า ถ้ากลางวันเล่นคลีกลางคืนเล่นซ่อนหา แต่ส่วนการบ้านเมืองนั้นไม่ทรงเอาเป็นพระราชธุระทีเดียว แม้เมื่อฝรั่งต่างชาติเข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ก็ไม่ทรงเกี่ยวข้องในการปรึกษาหารือ

ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นมหาอุปราช เป็นเวลาว่างการทัพศึก แต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินประสงค์จะรักษาหน้าที่ของพระมหาอุปราชตามประเพณีเดิมไว้ จึงจัดให้เสด็จไปตรวจตราป้อมที่เมืองสมุทรปราการและเมืองจันทบุรี และต่อมาให้ทรงบัญชาการซ่อมแซมป้อมเสือซ่อนเล็บ ที่เมืองสมุทรปราการด้วย แต่ส่วนพระองค์กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญนั้น โดยปกติก็ถ่อมพระองค์ทรงพยายามที่จะประพฤติตามเยี่ยงอย่างพระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นว่าเสด็จลงมาเฝ้าในเวลาเสด็จออกขุนนางและในงานพระราชพิธีเสมอเป็นนิจ แต่ไม่เข้าเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง เวลาเสด็จประทับอยู่ในพระราชวังบวร ก็ไม่โปรดเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรง คงออกขุนนางที่โรงรถเหมือพระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เลิกการเล่นกีฬาและไม่เสด็จไปเที่ยวเยี่ยมเยือนเจ้านาย แม้การฝึกหัดทหารก็เพียงรักษาแบบแผนให้คงอยู่.


...............................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) เคยได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจำนงว่า ถ้าตีเมืองเชียงตุงได้สำเร็จ จะทรงสถาปนากรมหลวงวงศาฯ เป็น กรมพระราชวังหลัง

(๒) เจ้าฝรั่งองค์หนึ่งเคยตรัสกับข้าพเจ้าถึง เรื่องเจ้ารัชทายาทในประเทศยุโรป เธอชี้แจงว่าเจ้ารัชทายาทนั้นอยู่ในที่ยาก เพราะถ้าไม่เอาใจใส่ในการบ้านเมืองเลย คนทั้งหลายก็ดูหมิ่นว่าโง่เขลาหรือเกียจคร้าน ถ้าเอาใจใส่เกินไปก็เป็นแข่งบารมีพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นต้องระวังวางพระองค์แต่พอเหมาะอยู่เสมอ

(๓) พระเสลี่ยงของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ เดิมแก้เป็นธรรมาสน์ไว้ที่วัดบวรนิเวศ เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร

(๔) กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญเสด็จทอดกฐิน ก็ทรงเรืออย่างเดียวกันในบางวัน แต่บางวันทรงเรือสีตามอย่างพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๕) เรียกตามภาษาอังกฤษว่า Second King พระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ฝรั่งเลยเรียกพระมหาอุปราชว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ มาจนกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ

(๖) พระองค์ประดิษฐวรการ อธิบดีช่างหล่อ (อยู่ข้างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตรงที่สร้างสวนสราญรมย์เดี๋ยวนี้) เคยตรัสเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงม้ามีมหาดเล็กตามเสด็จคนหนึ่ง ไปเคาะประตูเรียก พระองค์ประดิษฐฯออกมารับเชิญเสด็จไปประทับที่ท้องพระโรง เป็นเวลาค่ำมีแต่ไต้จุดอยู่ดวงหนึ่ง พระบาทสมเด็จ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับสนทนา และทรงเขี่ยไต้ไปพลางจนเสด็จกลับ

...............................................................................................................................................

พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




Create Date : 19 กันยายน 2550
Last Update : 27 ธันวาคม 2550 18:17:04 น. 2 comments
Counter : 3181 Pageviews.  
 
 
 
 
บางส่วนของประวัติศาสตร์ นี่ มันก็ตลกๆ ดีนะคะ

วังหน้า... วังหลวง ..วังหลัง

บางทีพี่น้องทะเลาะกัน หญ้าแพรกก็แทบจะแหลกราญ
 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 19 กันยายน 2550 เวลา:16:52:36 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ กระจ้อน
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:14:34:16 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com