กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ตำนานภาษีถั่วงาปลาทู


กาดหลวง



หนังสือเจ้าพระยาจักรีฯ มาถึงเมืองกรมการ กรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองสระบุรี

ด้วยจีนมีชื่อหลายพวกหลายราย ทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ให้กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ว่าราษฎรลูกค้าไทยจีนและภาษาต่างๆในพระราชอาณาเขต ชักชวนกันบรรทุกถั่วต้นตาย ถั่วเขียน ถั่วทอง ถั่วขาว ถั่วดำ ถั่วละสง รมตากแห้ง ๖ อย่าง งาเม็ด ๑ กุ้งน้ำเค็ม กุ้งตากแห้ง กุ้งเค็ม ๑ ปลาทูน้ำปลาทูแห้ง ๑ รวมของ ๙ สิ่งนี้ เข้ามาซื้อขายแก่กันเป็นประโยชน์แก่ราษฎรฝ่ายเดียว ยังหามีผู้ใดรับเรียกภาษีทูลเกล้าฯ ถวายช่วยราชการแผ่นดินไม่ จะขอเก็บเป็นภาษีสิบลดหนึ่ง ทูลเกล้าฯถวายเงินขึ้นท้องพระคลัง แต่เรื่องราวของจีนซึ่งยื่นไว้นั้น จำนวนเงินมากบ้างน้อยบ้างหาเสมอกันไม่ และเรื่องราวจีนมายื่นดังนี้มีมาหลายครั้งนานมาแล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสว่า ภาษีรายนี้ก็มีเจ้าภาษีเรียกภาษีอยู่กับลูกค้าผู้บรรทุกสำเภาเรือปากใต้ไปจำหน่ายนอกประเทศมีมาแต่ก่อนอยู่แล้ว ซึ่งจีนหลายรายมายื่นเรื่องราวจะขอเก็บภาษีในประเทศจะมิเป็น ๒ ซ้ำไปหรือ ให้คิดเรียกแต่ฝ่ายเดียว ถ้าเห็นว่าจะเรียกในประเทศดีกว่านอกประเทศก็ให้ยกเลิกภาษีนอกประเทศเสีย สิ่งของในประเทศจะมีมากน้อยประการใด ยังหาทรงทราบถนัดไม่ ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาตินรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ หาจีน พระหลวงขุนหมื่นเจ้าภาษีผู้ใหญ่ และจีนลูกค้ามีหน้ามาถามว่า สิ่งของซึ่งจีนหลายรายยื่นเรื่องราวจะขอเก็บเป็นภาษีนั้น สิ่งของทั้งนี้ลูกค้ามาซื้อขายแก่กันพอจะควรเก็บเป็นภาษีได้แล้ว ก็ให้เสนาบดีปรึกษากันคิดตั้งเป็นพิกัดเรียกภาษีลง แต่ให้ต่ำกว่าสิบลดหนึ่ง เพราะเป็นของยังไม่เคยมีภาษี

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ ๆได้หาจีนเจ้าภาษีและลูกค้าผู้ใหญ่มาถามได้ความแล้วจึงนำข้อความกับเรื่องราวจีน ซึ่งยื่นมาเป็นหลายฉบับไปกราบทูลปรึกษากรมสมเด็จพระเดชาดิศร และพระเจ้าพี่ยาเธอต่างกรมทุกพระองค์ กับได้กราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาล(น)นาถ และท่านเสนาบดี เจ้าพระยานิกรบดินทรมหินทรมหากัลยาณมิตร เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สมันตพงศพิสุทธมหาบุรุษรัตโนดม ผู้สำเร็จราชการในกรมพระกลาโหม เจ้าพระยาธรรมาธิกร(ณาธิ) บดี เจ้าพระยาผู้ช่วยสำเร็จราชการในกรมท่า เจ้าพระยาพลเทพ

ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ตั้งพระทัยทรงทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนา และอาณาประชาราษฎรให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วไปทั้งสิ้นด้วยกัน จึงทรงบริจาคพระราชทรัพย์ออกซ่อมแซมในการวัดเก่าซึ่งชำรุด กับทรงสร้างขึ้นใหม่อีกหลายพระอาราม แล้วทรงพระราชอุทิศถวายนิตยภัตแก่พระสงฆ์สามเณรซึ่งเล่าเรียนพระไตรปิฎก และให้ทานแก่คนชราคนพิการ ใช้สอยในการพระราชกุศลต่างๆ กับโปรดเกล้าฯชุบเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งมีกรมมาแต่ก่อนให้ยกเป็นกรมใหญ่ขึ้น เจ้าที่ยังไม่มีกรม ทรงตั้งเป็นกรมขึ้นโดยลำดับ ข้าราชการในพระบรมมหาราชวัง ในพระบวรราชวัง ที่ขาดตำแหน่งก็ตั้งแต่งขึ้นทุกหมู่ทุกกรม ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มเคิมขึ้นก็มาก แล้วให้ขุดคลองตั้งป้อมขยายกำแพงพระนครออกไปอีกชั้นหนึ่ง กับให้ฝึกหัดทหารปืนใหญ่น้อย พระราชทานเบี้ยเลี้ยงเงินเดือน และจับจ่ายใช้สอยเงินทำการพระนครต่างๆมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งจีนหลายพวกจะขอเก็บภาษีของ ๙ สิ่ง ซึ่งซื้อขายแก่กันนั้น ก็เห็นพร้อมกันว่า ควรอยู่ด้วยเป็นแบบอย่างแผ่นดินสืบๆมาแต่ก่อน สิ่งของอันใดเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตบริบูรณ์แล้ว ควรจะเรียกแต่ในพระราชอาณาเขต ขอให้ยกเลิกปากสำเภาปากใต้ ซึ่งบรรทุกออกไปนอกประเทศนั้นเสีย

ด้วยเหตุว่าเรียกภาษีหาเสมอกันไม่ จึงปรึกษาพร้อมกันตั้งเป็นพิกัดสิ่งของให้เรียกภาษีแต่ในประเทศ ตามราคาสิ่งของซื้อขายขึ้นลงแก่กัน ถั่วต้นตาย ๑ ถั่วเขียน ๑ ถั่วทอง ๑ ถั่วขาว ๑ ถั่วดำ ๑ ถั่วละสง ๑ งาเม็ด ๑ กุ้งแห้งกุ้งเค็ม ๑ ของ ๘ สิ่งนี้ ให้เรียกภาษีเหมือนกัน ๑๒ เก็บ ๑ แต่ปลาทูน้ำปลาทูตากแห้ง ลูกค้าซื้อขายกันในประเทศ ให้เรียกภาษี ๑๓ เก็บ ๑ ถ้าลูกค้าจะเอาปลาทูน้ำปลาทูตากแห้งบรรทุกสำเภาเรือปากใต้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ ให้เรียกภาษีเพิ่มขึ้นอีก ปลาหมื่นตัวเป็นภาษีสลึงหนึ่ง เจ้าภาษีเรียกภาษีกับผู้ซื้อผู้ขายเป็นสิ่งของหรือๆจะเรียกตามจำนวนเงินซึ่งซื้อขายแก่กัน ตามแต่จะยอมกัน ให้เรียกภาษีกับผู้ซื้อผู้ขายแต่ฝ่ายหนึ่ง อย่าให้เรียกภาษีเป็น ๒ ฝ่าย ถ้าราษฎรทำสิ่งของมาเลี้ยงบุตรภรรยาและเป็นเสบียงเดินทางไปกิจราชการ และเป็นของกำนัลของถวายบ้างเล็กน้อย ราคาเพียงกึ่งตำลึงเงินลงมา ถ้ามิได้ซื้อขายแล้วก็อย่าให้เรียกภาษีเลย จึงให้จีนเจ้าผู้ใหญ่ประกาศกับลูกค้าทั้งปวงว่า ผู้ใดมีภาคภูมิสติปัญญาที่ควรจะรับทำภาษีได้ ก็ให้ทำเรื่องราวมายื่นต่อเจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ตามคิดเห็นจะทำได้เท่าไรตามพิกัดนี้

จีนเนียมจะเป็นเจ้าภาษี จีนเชยจะเป็นผู้เข้าส่วน จึงทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าจำนวนกรมพระคลังสินค้า ให้กราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ ขอท่านได้นำเอาเรื่องราวจีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วน ขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า จีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วนจะขอรับพระราชทานเก็บภาษีถั่ว งาเม็ด กุ้งน้ำ ปลาทูแห้งกับลูกค้าไทย จีน ลาว เขมร มอญ และภาษต่างๆ ข้าส่วยกำนัลของถวายไพร่หลวงมีตราภูมิ ซึ่งบรรทุกเรือแพเลื่อนเกวียน และสัตว์ต่างๆหอบคอนมาซื้อขายแก่กันตามพิกัดสิ่งของนั้น ให้เรียกภาษีเป็นจำนวนเงินปีหนึ่งทูลเกล้าฯถวาย ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวังเงิน ๑๐๖ ชั่ง ขึ้นพระคลังเดิมเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าชาย(๑)เงิน ๒ ชั่ง ขึ้นหม่อมเจ้าพรรณรายเงิน ๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบวรราชวังเงิน ๓๐ ชั่ง รวมเงิน ๑๒๖ ชั่ง ถ้าและทำภาษีครบงวดครบปีมีกำไรอยู่ จะบวกเงินภาษีทูลเกล้าฯถวายขึ้นอีก เจ้าพนักงานกรมพระคลังสินค้า ได้นำคำปรึกษากรมสมเด็จพระเดชาดิศร กับพระเจ้าพี่ยาเธอทุกพระองค์ และคำท่านเสนาบดีผู้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดิน ซึ่งเห็นพร้อมกันกับเรื่องราวจีนเนียม จีนเชยทำนุบำรุงแผ่นดิน ซึ่งเห็นพร้อมกันกับเรื่องราวจีนเนียม จีนเชยผู้เจ้าส่วนขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งจีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วนจะขอเก็บภาษีของ ๙ สิ่งกับผู้ซื้อขายแก่กันนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่า สิ่งของที่ต้องอยู่ในพิกัดให้เรียกภาษีนี้จะแพงขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่มิได้เป็นอันลำเอียงกับผู้ใด ด้วยเป็นของใช้สอยกินอยู่ด้วยกับทั้งผู้ดีและไพร่ ใครใช้ใครกินก็ต้องเสีย ใครไม่ใช่ไม่กินก็แล้วไป ซึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า กาลบัดนี้ต้องใช้สอยเงินมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จะให้ยกเจ้าภาษีนอกประเทศเสีย จะเรียกภาษีแต่ในประเทศนั้นชอบอยู่แล้ว ควรจะให้จีนเนียม จีนเชยผู้เข้าส่วน ทำภาษีในประเทศตามแบบอย่างแผ่นดินมาแต่หลัง เก็บเงินภาษีเพิ่มเติมขึ้นใช้สอยจับจ่ายราชการนั้นก็ชอบอยู่ด้วย ครั้งนี้เมืองจีนเกิดศึกไม่เป็นอันซื้อขายแก่กัน ผู้ที่จะแต่งสำเภาออกไปค้าขายก็น้อยลง เจ้าภาษีซึ่งเคยเก็บภาษีปากสำเภามาแต่ก่อนก็ทำเรื่องราวมาร้องขอ ขาดเงินภาษีลงเป็นหลายราย ตัวเงินจะใช้สอยก็ขาดลงมาก ซึ่งเจ้าต่างกรมใหญ่และเสนาบดีผู้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดิน เห็นว่าสิ่งของเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขตทั้งนี้ ควรจะให้เรียกภาษีได้นั้นก็ชอบอยู่ จะต้องให้เรียกภาษีขึ้นใช้สอยไปก่อน ถ้าเมืองจีนซื้อขายแก่กันเป็นปรกติลงแล้ว ภาษีอากรเก่าใหม่มาแต่ก่อน สิ่งใดที่ราษฎรเสียอยู่เป็น ๒ ซ้ำ ๓ ซ้ำนั้น ก็จะโปรดเกล้าฯให้ลดหย่อนลงเสียบ้าง

จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรให้จีนเนียมเป็นที่ ขุนปัญจพีชากร เจ้าภาษีถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ ให้กรมพระคลังสินค้าทำตราตั้งไปตามซึ่งพระเจ้าพี่ยาเธอกับเสนาบดีเห็นพร้อมกันนั้นเถิด เจ้าจำนวนพระคลังสินค้าได้เรียกเอานายประกันจีนเนียมผู้เป็นที่ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วนไว้มั่นคงสมควรด้วยเงินภาษีของหลวงอยู่แล้ว จึงให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน ขึ้นมาเรียกภาษี ถั่งตันตาย ๑ ถั่วเขียว ๑ ถั่วทอง ๑ ถั่วละสง ๑ ถั่วดำ ๑ ถั่วขาว ๑ งาเม็ด ๑ กุ้งในน้ำเค็ม กุ้งตากแห้ง กุ้งต้มเค็ม ๑ รวมของ ๘ สิ่งนี้ ให้เรียกภาษีเหมือนกันทุกอย่าง เป็นถาษี ๑๒ ชัก ๑ ปลาทูน้ำ ปลาทูแห้ง ลูกค้าซื้อขายกันในประเทศ ให้เรียกภาษี ๑๓ เก็บ ๑ ถ้าลูกค้าจะเอาปลาทูน้ำปลาทูแห้ง บรรทุกสำเภาเรือปากใต้ออกไปจำหน่ายนอกประเทศ ให้เรียกภาษีเพิ่มอีก ปลาหมื่นตัวเป็นภาษีสลึง ๑

ถ้าผู้บรรทุกส่วยกำนัลของถวายและลูกค้าภาษีต่างๆ ซึ่งบรรทุกเรือแพเลื่อนเกวียนต่างๆหาบคอนมาเป็นส่วยกำนัลของถวาย และซื้อขายแก่กันตามพิกัดสิ่งของซึ่งต้องในภาษี ให้ขุนปัญจพีชากร จีนเชยผู้เข้าส่วน เรียกภาษีกับผู้ซื้อขายแต่ฝ่ายเดียว ตามแต่จะเลี้ยงบุตรภรรยา และเป็นเสบียงเดินทางไปมากิจราชการ และเป็นกำนัลของถวายบ้างเล็กน้อย ราคาเพียงกึ่งตำลึงเงินลงมา มิได้ซื้อขายแล้ว อย่าให้เรียกภาษีเลย ถ้าราษฎรลูกค้าได้เสียภาษีแล้วจะเอาของออกซื้อขาย ห้ามอย่าให้เจ้าภาษีเรียกภาษีต่อไป

ให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน ตั้งด่านเรียกภาษี ๙ อย่าง ในจังหวัดกรุงเทพพระมหานครและแขวงกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองอินทร์ เมืองพรหม เมืองลพบุรี เมืองสระบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสุพรรณบุรี เมืองปราจิณบุรี กำหนดให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน เข้ารับเรียกภาษีแต่ ณ วันเดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีขาลฉศก (พ.ศ. ๒๓๙๗) ไปจน ณ วันเดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก ครบ ๑๒ เดือนเป็นปีหนึ่ง เป็นเงินขึ้นในจำนวนปีขาลนักษัตรฉศก เงินขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวังเงิน ๑๐๖ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นหม่อมเจ้าพรรณราย ๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังสินค้าในพระราชวังบวรเงิน ๑๐ ชั่ง รวมเงิน ๑๒๖ ชั่ง

แล้วให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน ส่งเงินภาษียังเจ้าจำนวนพระคลังสินค้าปีละ ๕ งวด เป็นเงินขึ้นพระคลังสินค้าในพระบรมมหาราชวัง งวดเดือน ๗ เงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือน ๙ เงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือน ๑๑ เงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือนอ้ายเงิน ๒๒ ชั่ง งวดเดือน ๔ เงิน ๑๘ ชั่ง รวม ๑๐๖ ชั่ง ขึ้นพระคลังเดิมเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ๒ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าชายเงิน ๒ ชั่ง ขึ้นหม่อมเจ้าพรรณรายเงิน ๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังสินค้าในพระบวรราชวังเงิน ๑๐ ชั่ง รวมทั้งสิ้นเงิน ๑๒๖ ชั่ง จงทุกงวดทุกปีสืบไป อย่าให้เงินภาษีของหลวงขาดค้างล่วงงวดล่วงปีไปแต่จำนวนหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว ถ้าปีใดมีอธิกมาสก็ให้บวกเงินภาษีขึ้นทูลเกล้าฯถวายขึ้นอีกเดือน ๑ ตามจำนวนเงินมากและน้อย

และขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน จะขึ้นมาเรียกภาษีเองก็ดี จะแต่งให้เสมียนทนายผู้ใดขึ้นมาเรียกภาษีแทนตัวก็ดี ให้เรียกภาษีตามพิกัดแต่โดยสัจโดยธรรม ถ้าเรียกภาษีแล้ว ก็ให้เจ้าภาษีทำตั๋วตามสิ่งของมากและน้อย ให้ไว้กับเจ้าของให้หลายฉบับ จะได้แยกย้ายสิ่งของขายไปเป็นสำคัญของสิ่งใดที่ได้เรียกภาษีแล้ว ห้ามอย่าให้เจ้าภาษีเมืองใดๆ เรียกภาษีอีกเป็น ๒ ซ้ำ ๓ ซ้ำไปได้เป็นอันขาดทีเดียว

ถ้าผู้คุมของถวายส่วยกำนัลไพร่หลวงมีตราภูมิ และลุกค้าพาณิชภาษาต่างๆ จะเอาสิ่งของมาซื้อขายก็ให้แวะด่านเสียภาษีให้เจ้าภาษีตามพิกัดมากและน้อยเสียก่อนจึงจะให้ซื้อขายแก่กัน ห้ามอย่าให้คุมของถวายและส่วยกำนัลไพร่หลวง มีตราภูมิและลูกค้าพาณิชภาษาต่างๆ เอาสิ่งของในภาษีซึ่งยังมิได้เรียกภาษีไปลักลอบซื้อขายแก่กัน หมายจะฉ้อบังเอาเงินภาษีของหลวงไว้ ถ้าขุนปัญจพีชากร จีนเชยผู้เข้าส่วน และพรรคพวกไปทำภาษีด้วยกันจับได้ ให้ปรับไหมเอากับผู้ลักซื้อขาย ๒ ต่อตามสิ่งของมากและน้อย ซึ่งลักซื้อขายแก่กัน เงินปรับไหมนั้นให้เก็บกับเจ้าภาษี

อนึ่งเจ้าภาษีจะเรียกภาษีเป็น ๒ ครั้ง ๓ ครั้งให้เหลือเกินจากพิกัดขึ้นไปก็ดี และราษฎรจะขัดขืนไม่ยอมเสียภาษีให้กับเจ้าภาษีๆกับราษฎร จะวิวาทเกี่ยวข้องไม่ตกลงกันประการใด ก็ให้เจ้าเมืองกรมการตัดสินตามพิกัดในท้องตราซึ่งโปรดเกล้าฯขึ้นมา ถ้าว่ากล่าวไม่ตกลงก็ให้บอกส่งลงไปกรุงเทพฯ จะได้สั่งให้กรมพระคลังสินค้า เจ้าจำนวนตัดสินว่ากล่าวให้ตามผิดและชอบสำเร็จกัน

ถ้าสมัครพรรคพวกบ่าวและทาสขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน จะเกิดอริวิวาทแก่กันเป็นแต่เนื้อความเล็กน้อยเบ็ดเสร็จ ก็ให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน สมัครสมานว่ากล่าวให้สำเร็จแต่ในกันเอง ห้ามอย่าให้เจ้าเมืองกรมการแขวงนายบ้านนายอำเภอ เกาะกุมเอาไปเรียกค่าฤชาตระลาการ ซึ่งมิได้เป็นความมหันตโทษแก่เจ้าภาษี และสมัครพรรคพวกบ่าวและทาสซึ่งได้ทำภาษี ให้ได้ความยากแค้นป่วยการทำภาษีของหลวงแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ถ้าเป็นความมหันตโทษข้อใหญ่ จึงให้เจ้าเมืองกรมการแขวงบ้านนายอำเภอหมายให้เจ้าภาษีส่งตัวผู้ต้องคดีเอาไปพิจารณาว่ากล่าวให้ตามพระราชกำหนดกฎหมาย แล้วให้ผู้(เป็น)นายไปนั่งฟังผิดและชอบด้วย ถ้าราษฎรฟ้องหากล่าวโทษเจ้าภาษี ก็ให้เจ้าภาษีแต่งทนายไปว่าต่างแก้แทนกัน อย่าให้ขัดขวางคดีของราษฎรไว้

อนึ่ง ห้ามอย่าให้เจ้าเมืองกรมการ และข้าหลวงไปมากิจราชการแขวงนายบ้านนายอำเภอ เก็บเรือยืมเรือแจวจังกูดกรรเชียงถ่อพายเชือกเสาเพลาใบเครื่องสำหรับเรือ และเกาะกุมพรรคพวกบ่าวและทาสไปใช้ราชการงานโยธา ซึ่งมิได้เป็นพนักงาน ให้ป่วยการทำภาษีแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว

ถ้าถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน และพรรคพวกผู้ซึ่งไปทำภาษีอยู่บ้านใดเมืองใด ก็ให้ไปพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการ กราบถวายพระราชอุทิศรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัจจาปีละ ๒ ครั้งจงทุกปี

อนึ่ง ให้ขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน กำกับห้ามปรามพรรคพวกบ่าวและทาส อย่าให้คบหากันเป็นโจรผู้ร้ายฉกลักช้าง ม้า โค กระบือ ทรัพย์สิ่งของทองเงิน เครื่องอัญมณีของสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎรลูกค้าพาณิช และทำลายพระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ พระอุโบสถ พระวิหารการบุเรียนกุฏิศาลาอาราม ฆ่าช้างเอางาและขนาย ฆ่าสัตว์อันมีคุณ และซื้อขายสิ่งของต้องห้าม กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาดทีเดียว

ครั้นลุท้องตรานี้ไซร้ ถ้ามีตราเจ้าจำนวนตั้งขึ้นมาด้วย เรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้เจ้าเมืองกรมการลอกเอาท้องตรานี้ไว้ แล้วให้ประทวนส่งต้นตรานี้ให้กับขุนปัญจพีชากรเจ้าภาษี จีนเชยผู้เข้าส่วน แล้วให้หมายประกาศให้เจ้าภาษีชักภาษีตามพิกัดในท้องตรา และรับสั่งซึ่งโปรดเกล้าฯออกมาจงทุกประการ


หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีขาล (พ.ศ. ๒๓๙๗)


.........................................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) คือพระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




 

Create Date : 12 เมษายน 2550   
Last Update : 12 เมษายน 2550 10:31:59 น.   
Counter : 1605 Pageviews.  


ตำนานภาษีฝิ่น


ฝิ่น




หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงผู้ว่าราชการเมือง


ด้วยหลวงเสน่ห์วาณิช หลวงอนุรักษ์วาณิช ขุนศรีสมบัติ ขุนเทพอากร หลวงพิทักษ์ทศกร ขุนวิเศษภักดี ขุนทิพสมบัติ ทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าพนักงาน ขอได้นำขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า แต่ก่อนห้ามปรามมิให้ผู้ใดซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่น ถ้าผู้ใดมิฟังจับได้ให้ปรับไหม แล้วลงพระราชอาญาผู้ซึ่งลอบลักซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่น ลูกค้าไทยลูกค้าจีนก็ลักลอบซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่นก็มีอยู่เป็นอันมาก และผู้ซึ่งลักลอบซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่นนั้นเป็นพวกจีนมากกว่าภาษาอื่นๆ หลวงเสน่ห์วาณิช หลวงอนุรักษ์วาณิช ขุนศรีสมบัติ ขุนเทพอากร จะขอรับพระราชทานเป็นเจ้าภาษี หลวงพิทักษ์ทศกร ขุนวิเศษภักดี ขุนทิพสมบัติเป็นผู้เข้าส่วนทำภาษีฝิ่น ซื้อขายกันสูบแต่ตามพวกจีน ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯและหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือ พวกไทย และมอญ ลาว เขมร แขก ญวน พม่า ทวาย พราหมณ์ พุทธเกตเดิมจะไม่ขายให้ ถ้าและไทย มอญ ลาว เขมร แขก พม่า ทวาย ญวน พราหมณ์ ฝรั่ง พุทธเกตเดิม เป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ซึ่งห้ามไม่ให้สูบฝิ่นกินฝิ่น จะจ้างวานจีนให้ไปซื้อฝิ่นที่โรงภาษีไปกินไปสูบ ชำระได้ความจริงเป็นสัตย์แล้ว ขอให้เอาโทษเสียให้เข็ดหลาบ เจ้าภาษีจะขอซื้อขอขายเอง ทำภาษีทูลเกล้าฯถวายในแขวงกรุงเทพฯและหัวเมือง ปีหนึ่งเป็นเงินขึ้นเจ้าจำนวนในพระบรมมหาราชวัง ๑๘๐๐ ชั่ง ขึ้นในพระบวรราชวัง ๑๐๐ ชั่ง ขึ้นต่างกรม ๑๐๐ ชั่ง เข้ากันเป็นภาษีปีละ ๒๐๐๐ ชั่ง ทำภาษีครบปีมีกำไรจะบวกภาษีทูลเกล้าฯถวายขึ้นอีก

เจ้าพนักงานได้พาเอาเรื่องราวปรึกษา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนาถ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริวงศ์ เจ้าพระยานิกรบดินทร์ มหินทรมหากัลยาณมิตร และลูกขุน ณ ศาลา แล้วกราบทูลกรมสมเด็จพระเดชาดิศร กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท พิเคราะห์ดูความในเรื่องราวเห็นพร้อมกันว่า ฝิ่นเป็นของชั่ว ผู้ใดสูบฝิ่นกินฝิ่นติดแล้ว ให้เกิดโทษในสันดานกระทำการทุจริตต่างๆ สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ปางก่อน มีพระราชบัญญัติห้มปรามก็หลายแผ่นดินมาแล้ว ผู้ซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่น ก็มิได้ถดถอยน้อยลง ไทยจีนซึ่งเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็พากันสูบฝิ่น กินฝิ่นมากขึ้นทุกๆแผ่นดินจนฝิ่นแผ่พ่านไปทุกบ้านทุกเมือง ไทยจีนที่เป็นคนซื้อฝิ่น ขายฝิ่น ก็ลอบลักเอาเงินตราไปซื้อฝิ่นเข้ามา จนเงินในบ้านในเมืองร่อยหรอน้อยไปทุกที ซึ่งหลวงเสน่ห์วาณิช หลวงอนุรักษ์วาณิช ขุนศรีสมบัติ ขุนเทพอากร จะขอรับเป็นเจ้าภาษี หลวงพิทักษ์ทศกร ขุนวิเศษภักดี ขุนทิพสมบัติ เป็นผู้เข้าส่วนทำภาษีฝิ่น จะแบ่งเบิกทางซื้อขายกันแต่ตามพวกจีน จะมิได้ขายให้แก่ไทย และมอญ ลาว เขมร แขก ญวน พม่า ทวาย พราหมณ์ ฝรั่งพุทธเกตเดิม ซึ่งเป็นไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินอยู่ในพระราชอาณาเขต เป็นทแกล้วทหารสำหรับที่จะได้สู้รบกับข้าศึกศัตรูนั้นก็ชอบอยู่ กับประการหนึ่งเงินตราในบ้านเมือง ซึ่งไทยจีนลักลอบเอาออกไปซื้อฝิ่น เงินออกไปเสียนอกประเทศปีหนึ่งๆก็มีเป็นอันมาก ฝิ่นมีภาษีขึ้นแล้วเจ้าภาษีเอาสินค้าแลกผ่านกัน เงินตราในบ้านในเมืองก็จะได้คงอยู่ มีข้อความในเรื่องราวและคำปรึกษาเป็นหลายประการ

เจ้าพนักงานจึงนำเอาเรื่องราวและคำปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดีผู้ใหญ่ ลูกขุน ณ ศาลา ขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า ซึ่งหลวงเสน่ห์วาณิช หลวงอนุรักษ์วาณิช หลวงพิทักษ์ทศกร ขุนศรีสมบัติ ขุนเทพอากร ขุนวิเศษภักดี ขุนทิพสมบัติ ทำเรื่องราวยื่นแก่เจ้าพนักงาน จะขอรับทำภาษีฝิ่นตั้งโรงกงสีซื้อขายกันแต่พวกจีน พระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่ ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะไม่เกี่ยวข้องเป็นโทษกับแผ่นดินแล้ว ก็ให้ตั้งหลวงเสน่ห์วาณิช หลวงอนุรักษ์วาณิช ขุนศรีสมบัติ ขุนเทพอากร เป็นเจ้าภาษีฝิ่นไปตามเรื่องราวและคำปรึกษานั้นเถิด เจ้าพนักงานได้เรียกเอานายประกันไว้มั่นคง สมควรแก่เงินภาษีของหลวงอยู่แล้ว จึงตั้งให้หลวงเสน่ห์วาณิช หลวงอนุรักษ์วาณิช ขุนศรีสมบัติ ขุนเทพอากร เป็นเจ้าภาษี หลวงพิทักษ์ทศกร ขุนวิเศษภักดี ขุนทิพสมบัติ เป็นผู้เข้าส่วนเข้ารับทำภาษีฝิ่น ตั้งแต่ ณ วันเดือนยี่ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุนตรีศกสืบไป

ให้เจ้าภาษีส่งเงินภาษีแก่เจ้าจำนวน ๔ งวดๆเดือน ๔ งวดหนึ่งเงิน ๕๐๐ ชั่ง งวดเดือน ๗ งวดหนึ่งเงิน ๕๐๐ ชั่ง งวดเดือน ๑๐ งวดหนึ่งเงิน ๕๐๐ ชั่ง งวดเดือนอ้ายงวดหนึ่งเงิน ๕๐๐ ชั่ง ถ้าปีใดเป็นอธิกมาสก็ให้บวกเงินภาษีขึ้นอีกเดือนหนึ่งเงิน ๑๖๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๑ บาท ให้เจ้าภาษีส่งเงินภาษีของหลวงให้ครบจงทุกงวดทุกปี อย่าให้เงินภาษีของหลวงขาดค้างล่วงงวดล่วงปีไปแต่จำนวนหนึ่งได้ ถ้าทำภาษีครบปีมีกำไรก็ให้บวกภาษีทูลเกล้าฯถวายขึ้นอีก และภาษีฝิ่นแรกมีเป็นการใหญ่ต้องลงทุนรอนมาก อย่าให้ผู้ใดชิงแย่งเอาภาษีไปทำใน ๓ ปี ให้เจ้าภาษีตั้งโรงกงสีซื้อขายเอง ควรแก่ราคาจะซื้อขายกัน ห้ามอย่าให้เจ้าภาษีขายฝิ่นให้กับไทย มอญ ลาว เขมร ญวน พม่า ทวาย แขก พราหมณ์ ฝรั่งพุทธเกตเดิม มีผู้มาว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัตย์ จะเอาตัวเจ้าภาษีเป็นโทษตามกฎหมาย

ถ้าพวกไทย มอญ ลาว เขมร พม่า ทวาย แขก ญวน พราหมณ์ ฝรั้งพุทธเกตเดิม จะจ้างวานจีนผู้ใดไปซื้อฝิ่นที่โรงภาษีมาสูบ จับได้พิจารณาเป็นสัตย์ จะเอาตัวจีนผู้ไปซื้อฝิ่นเป็นโทษจงหนัก ตัวผู้จ้างจีนให้ไปซื้อฝิ่นนั้นจะกระทำโทษตามพระราชบัญญัติหมายประกาศห้าม

อนึ่งถ้าผู้ใดลักลอบเอาฝิ่นไปขายที่บ้านเรือนของตัว และเข้าแอบแฝงซื้อขายที่บ้านขุนนาง และวังเจ้าต่างกรมหากรมมิได้ เจ้าภาษีสืบจับได้ ให้เจ้าภาษีริบเอาฝิ่นเสีย แล้วให้เจ้าภาษีเอาตัวจำไว้ ณ โรงภาษีฝิ่นให้เข็ดหลาบ ถ้าจะมีผูรับสินบนนำเจ้าภาษีไปจับฝิ่น ถ้าจับฝิ่นมาได้ เจ้าของฝิ่นจะต่อสู้เถียงว่า ผู้นำจับและพวกเจ้าภาษีเอาฝิ่นไปใส่ไว้ และแกล้งพาลพาโลจับโดยสาเหตุต่างๆ ก็จะให้ตระลาการไปสืบพยานรังวัดเพื่อนบ้าน ถ้าพยานเบิกความว่า คนที่จับฝิ่นเป็นคนซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่นแล้ว ให้เจ้าภาษีปรับไหมเอาตัวทำโทษจำไว้กว่าจะเข็ดหลาบ ถ้าพยานเบิกความว่าเป็นคนดี ไม่เป็นคนซื้อฝิ่น ขายฝิ่น กินฝิ่น สูบฝิ่น จะเอาโทษปรับไหมผู้นำจับให้กับผู้ที่ต้องจับเสมอโทษลักลอบขายฝิ่น

ประการหนึ่งเจ้าภาษีจะต้องจ้างเรือและคน ให้ไปลาดตระเวนในท้องทะเลข้างฝั่งตะวันตกตะวันออก พบปะเรือเล็กมีแต่เงินตราเงินเหรียญออกไป ไม่มีหนังสือเบิกร่อง ไม่มีหนังสือนามเมือง และเงินมากกว่าหนังสือเบิกร่องนามเมืองเกินกำหนด ที่จะไปซื้อสินค้า ผิดประหลาด ก็ให้กองตระเวนจับเป็นเรือเอาเงินไปซื้อฝิ่น เอาตัวไปส่งต่อเจ้าพนักงานให้ชำระตามสัตย์ตามธรรม ชำระได้ความจริงว่าเอาเงินไปซื้อฝิ่นแล้ว ก็ให้ปรับไหมเอาเงินในลำ ซึ่งจับให้เป็นบำเหน็จแก่ผู้จับ ตัวจีนเจ้าของเงินนั้นให้ปล่อยเสีย ถ้าจับได้ฝิ่นในลำมากน้อยเท่าใด ก็ให้กองตระเวนเอาฝิ่นมาส่งเจ้าภาษี ให้เจ้าภาษีคิดราคาฝิ่นให้เป็นบำเหน็จแก่ผู้จับ ตัวเจ้าของฝิ่นนั้นให้เจ้าภาษีจำไว้ใช้การงานให้เข็ดหลาบ อย่าให้ผู้ใดลักลอบเอาเงินไปซื้อฝิ่นเข้ามาได้

ประการหนึ่ง เจ๊สัวเจ้าภาษีและขุนนาง แต่งสลุบกำปั่นสำเภาเรือปากใต้ไปค้าขายเมืองต่างประเทศ จะซื้อฝิ่นเข้ามาเป็นสินค้าโดยมากเพียง ๕ ปักลงมา เจ้าภาษีรับซื้อเอาฝิ่นไว้คิดราคาให้ปักละ ๑๐ ชั่ง ถ้าเรือลำใดซื้อฝิ่นมากกว่า ๕ ปักขึ้นไป ก็ให้เจ้าภาษีรับซื้อขึ้นไว้ทั้งสิ้น แต่ให้คิดเงินให้แต่ ๕ ปักก่อน ฝิ่นนอกจาก ๕ ปักขึ้นไปนั้นให้ค้างไว้ หนึ่งปีจึงให้เจ้าภาษีคิดเงินให้ครบ

ประการหนึ่ง ห้ามมิให้เรือปากใต้ซื้อฝิ่นเมืองใหม่ เมืองเกาะหมาก เข้ามาถ่ายลำบรรทุกสำเภาไปเมืองจีน ถ้าเจ๊สัวซึ่งแต่งสำเภาเรือปากใต้ ซื้อฝิ่นเข้ามาถ่ยลำบรรทุกไปเมืองจีน ก็ให้เจ้าภาษีปรับไหมเอาอย่างลูกค้าผู้ลักลอบซื้อฝิ่น ขายฝิ่นในท้องที่ และกำปั่นหลวง นายกำปั่นเป็นจีน จะซื้อฝิ่นเข้ามาก็ให้ซื้อมาแต่ในกำหนด ๕ ปัก ให้ขายแก่เจ้าภาษีตามราคาลูกค้าในกรุงเทพฯซื้อขายกัน อย่าให้เอาไปขายให้ลูกค้าอื่น แต่กะลาสรลูกเรือนั้นเป็นคนอยู่ในต้องห้าม อย่าให้ซื้อฝิ่นเข้ามาเป็นอันขาด ถ้านายกำปั่นหลวงกะลาสีลูกเรือมิฟัง เจ้าภาษีสืบจับได้ ให้เจ้าภาษีปรับไหม นายกำปั่นหลวงเหมือนอย่างลูกค้าในกรุงเทพฯ กะลาสีลูกเรือนั้นจะเอาโทษตามพระราชบัญญัติซึ่งห้าม

อนึ่ง กำปั่นลูกค้าชาติอังกฤษ วิลันดา พุทธเกต ฝรั่งเศส อเมริกัน ซึ่งเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯและหัวเมืองชายทะเล และอังกฤษ พม่า มอญ ตองซู่ ลูกค้าเมืองเมาะลำเลิง เข้ามาทางบกค้าขายเมืองฝ่ายเหนือ จะมีฝิ่นเข้ามามากน้อยเท่าใดให้บอกบัญชีกับเจ้าพนักงาน และกรมการเจ้าภาษีให้รู้ก่อน ถ้าเจ้าภาษีจะซื้อฝิ่นไว้ก็ให้เอาสินค้าแลกเปลี่ยนเอาฝิ่นไว้ อย่าให้ซื้อด้วยเงิน เจ้าของจะขายให้ก็ตามใจ ไม่ขายให้จะเอากลับออกไปก็ตามใจ ห้ามอย่าให้เอาฝิ่นไปขายกับลูกค้าทั้งปวง ห้ามอย่าให้ลูกค้าทั้งปวงไปลักลอบซื้อฝิ่นที่กำปั่นชาติอังกฤษ วิลันดา พุทธเกต ฝรั่งเศส อเมริกัน เรือจีนนอกประเทศและลูกค้าต่างประเทศมาทางบกเป็นอันขาด ถ้านายกำปั่นและลุกค้าคบหากันลักลอบซื้อฝิ่นขายฝิ่นให้แก่กัน เจ้าภาษีสืบจับได้ให้เอาไปส่งต่อเจ้าพนักงานกรมท่า ชำระได้ความจริงแล้วก็ให้ริบเอาฝิ่นในลำกำปั่นเผาไฟเสียให้สิ้น ตามหนังสือสัญญากะปิตันหันตรีบารนีทำไว้เมืองศักราชฝรั่ง ๑๘๒๐ ปีจออัฐศก พวกลูกค้าผู้ซื้อนั้นให้เอาโทษปรับไหมตามพิกัดลักลอบซื้อฝิ่นขายฝิ่น

อนึ่ง เจ้าภาษีจะแต่งให้จีนผู้ใดเป็นหลงจู รับช่วงรับตำบลไปซื้อฝิ่นขายฝิ่นในแขวงกรุงเทพฯ และหัวเมืองปากใต้ฝ่ายเหนือก็ดี ให้เจ้าภาษีเลือกสรรเอาที่ตนสัตย์คนธรรม อย่าให้เอาคนถ้อยหมอความสันดานเป็นพาลทุจริต โลภล้นเหลือประมาณมาตั้งเป็นเจ้าภาษีรับช่วงรับตำบลไป กับให้เจ้าภาษีกำชับกำชาจีนซึ่งจะรับช่วงรับตำบลไป อย่าให้คิดอุบายลักลอบขายฝิ่นให้แก่ไทย และมอญ ลาว เขมร แขก พม่า ทวาย ญวน พรหมณ์ ฝรั่งพุทธเกตเดิม ซึ่งมีพระราชบัญญัติห้าม

ถ้าและเจ้าภาษีเห็นแต่จะได้กำไรมาก คิดอุบายยักย้ายขายฝิ่นให้คนซึ่งอยู่ในพระบราชบัญญัติห้าม มีผู้ฟ้องร้องว่ากล่าวชำระเป็นสัตย์แล้ว ก็จะเอาราคาฝิ่นซึ่งขายให้กับคนต้องในพระราชบัญญัติห้ามไปมากน้อยเท่าใด ขึ้นตั้งปรับไหม ๑๐ ต่อ เป็นสินไหมกึ่งพินัยกึ่ง สินไหมให้เป็นบำเหน็จแก่ผู้เอาความมาว่ากล่าว พินัยนั้นเป็นหลวง แล้วให้มีโทษทวนแก่ผู้ลักลอบซื้อขายฝิ่นด้วยคนละ ๓๐ ที

อนึ่ง ลูกค้าวาณิชไพร่บ้านพลเมือง ซึ่งมิได้เป็นคนซื้อฝิ่น ขายฝิ่น กินฝิ่น สูบฝิ่น ก็อย่าให้เจ้าภาษีคิดอุบายเอาฝิ่นไปใส่จับกุมเอาตัวมากระโทษปรับไหม ให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นอันขาดที่เดียว แล้วให้เจ้าภาษีกำชับห้ามปรามเสมียนทนายหลงจู จีนเต็ง และจีนผู้รับช่วงรับตำบลไป อย่าให้คบหากันเป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมฉ้อกระบัดเอาพัศดุทองเงิน เคื่องอัญมณีของสมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎรลูกค้าพาณิชให้ได้ความยากแค้นเดือดร้อน กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่ แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ประการหนึ่งเจ้าภาษีสืบได้ความว่า มีผู้ลักลอบขายฝิ่นที่บ้านใดตำบลใดในแขวงกรุงเทพฯ ก็ให้เจ้าภาษีขอกำนันนายอำเภอต่อเจ้าพนักงานกรมเมือง ก็ให้บอกแก่เจ้าเมืองกรมการ ขอกำนันนายอำเภอกำกับไป ให้พระราชรองเมือง หลวงเทพผลู เจ้าเมืองกรมการ แขวงกำนัน นายอำเภอกำกับไปดูแลผิดและชอบ อย่าให้เกิดวิวาทกันได้

อนึ่ง ถึงเทศกาลพระราชพิธีตรุษสารท ก็ให้เจ้าภาษีไปพร้อมด้วยเจ้าเมืองกรมการ ณ พระอาราม กราบถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ ๒ ครั้ง อย่าให้ขาดได้

ครั้นลุสารตรานี้ไซร้ ถ้ามีตราพระคชสีห์ พระราชสีห์ ตราบัวแก้ว นำตั้งมาด้วยฉบับหนึ่ง เรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้พระราชรองเมือง หลวงเทพผลู เจ้าเมืองกรมการ ยึดเอาตรานำตั้งไว้ ส่งต้นตราตั้งให้กับเจ้าภาษีเข้ารับซื้อฝิ่น ขายฝิ่น ทำภาษีตามสารตรามานี้จงทุกประการ

แล้วให้หมายประกาศนายบ้าน นายอำเภอ ไทยจีนไพรบ้านพลเมือง วัดวาอารามพระสงฆ์เถรเณรศิษย์คฤหัสถ์ให้รู้ความในท้องตรา และหมายพระราชบัญญัติประกาศจงทั่ว ได้ส่งหมายพระราชบัญญัติประกาศให้ออกมาด้วยเมืองละฉบับ


สารตรามา ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ ปีกุนนักษัตรตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ (พ.ศ.๒๓๙๔)



..........................................................................................................................................................




 

Create Date : 11 เมษายน 2550   
Last Update : 11 เมษายน 2550 16:04:35 น.   
Counter : 1695 Pageviews.  


ตำนานอากรรักษาเกาะ


อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์




หนังสือหมื่นวิเศษอักษรนายเวรกรมท่าเจ้าจำนวน มายังท่านพระยาวิชยาธิบดี พระระนอง พระยาสาครสงคราม พระยาพิพิธสมัย พระพิไชยชลธี

ด้วยจีนกิมตุ๋นทำเรื่องราวยื่นให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เดิมจีนแป๊ะผู้เป็นที่ขุนรักษาสมุทรคิรี เป็นนายอากรเจ้าของเกาะในทะเลฝั่งตะวันออก ที่ขึ้นอยู่ในแขวงเมืองบางละมุง ระยอง จันทบุรี เมืองตราด เมืองปัจจันตคิรีเขต ระวังสลัดศัตรูเข้าพักอาศัยในเกาะ และหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะ ซื้อขายทำมาหากินแต่พรรคพวกของตัวฝ่ายเดียว ขอถวายกำไรที่ซื้อหาได้ให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินปีละ ๑๓ ชั่ง ขุรนรักษาสมุทรคิรีรับรักษาเกาะหาสิ่งของซื้อขายได้ ๒ ปีแล้ว มีกำไรหาบวกเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวายไม่ จีนกิมตุ๋นเห็นว่ายังมีกำไรอยู่ ขอประมูลเงินขึ้นทูลเกล้าฯอีก ๑๐ ตำลึง รวมเดิมประมูลเป็นเงิน ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ถ้ารักษาเกาะซื้อขายสิ่งของครบปีมีกำไรจะบวกเงินขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกนั้น

ได้หาตัวขุนรักษาสมุทรคิรีนายอากรรักษาเกาะคนเก่ามาว่ากล่าวให้สู้ประมูล ขุนรักษาสมุทรคิรีนายอากรคนเก่าว่าอากรสูงอยู่แล้วไม่รับประมูล ยอมให้จีนกิมตุ๋นรับทำตามเรื่องราวนั้น ได้นำเรื่องราวจีนกิมตุ๋นและคำขุนรักษาสมุทรคิรีนายอากรคนเก่าขึ้นกราบบังทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว

มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่า ได้เสด็จออกประพาสในทะเลฝั่งตะวันออกจนถึงเมืองตราด ฝั่งตะวันตกจนถึงเมืองสงขลา ได้ทอดพระเนตรเห็นฝั่งและเกาะในทะเลฝั่งตะวันตกตะวันออกทุกแห่ง ทุกตำบล และทรงพระราชดำริเห็นว่า เกาะในทะเลเป็นที่เปลี่ยว อ้ายสลัดศัตรูจะเข้าพักอาศัยแอบแฝงอยู่ได้ แต่เกาะในทะเลฝั่งตะวันตกนั้นมีรังนก นายอากรรังนกแต่งคนออกไประวังรักษาอยู่ ถ้ามีสลัดศัตรูมาเมื่อใดได้รู้เร็ว แต่เกาะในทะเลฝั่งตะวันออกนี้ แต่ก่อนมีนายอากรฟองเต่าตนุคอยระวังรักษาอยู่ อ้ายสลัดศัตรูไปมาอาศัยก็เป็นที่เกรงขาม

และเมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่า มีนายอากรเก็บฟองเต่ามาซื้อขาย เป็นการบาป โปรดฯให้ยกเลิกเสีย ตั้งแต่นั้นมาเกาะในทะเลฝั่งตะวันออกไม่มีผู้ใดระวังรักษา พวกสลัดศัตรูกำเริบเข้าอาศัยตีเรือลูกค้าได้ไปเนืองๆ ตัวเต่าที่อาศัยขึ้นถ่ายฟองในเกาะนั้น พวกจีนไหหลำมาตั้งกองจับฆ่าเอาเนื้อทำเค็มออกไปซื้อขายจนเป็นสินค้าได้ และคนในกรุงเทพฯ คนหัวเมืองพากันเอาอย่าง จับตัวเต่ากระฆ่ากินและซื้อขายบ้าง จนตัวเต่ากระในเกาะสาบสูญไปเกือบจะหมดอยู่แล้ว การก็ไม่เป็นประโยชน์สิ่งใดกับแผ่นดิน

จึงโปรดเกล้าฯให้ปรึกษาท่านเสนาบดีทั้งปวงว่า เกาะในทะเลนี้จะทิ้งไว้ให้เป็นที่เปลี่ยวดีหรือจะให้มีเจ้าของคอยระวังรักษาอยู่เหมือนอย่างแต่ก่อนดี ท่านเสนาบดีทั้งปวงก็ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า มีผู้รักษาเป็นเจ้าของนั้นดีมีคุณหลายประการ ทิ้งไว้ไม่มีเจ้าของระวังรักษานั้นไม่มีคุณและประโยชน์สิ่งใด และซึ่งขุนรักษาสมุทรคิรีรักษาเกาะมาถึง ๒ ปีแล้วมีกำไร ไม่บวกเงินขึ้นให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน จีนกิมตุ๋นเห็นว่าอากรยังมีกำไรอยู่ ขอรับรักษาเกาะและหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะซื้อขายตามพิกัดเดิม ประมูลเงินขึ้นอีก ๑๐ ตำลึง รวมเดิมประมูล ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึงนั้น มีความชอบอยู่ ให้ตั้งจีนกิมตุ๋นเป็นผู้รักษาเกาะ และให้หาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะต่อไปเถิด

แต่เกาะสีชังเป็นเกาะหน้าด่าน มีผู้คนระวังรักษามากอยู่แล้วให้ยกเสีย และไม้กฤษณาหวายพัศเดา ซึ่งเกิดในเกาะต่างๆเป็นของสำหรับไพร่ส่วยตัด ส่งส่วยทูลเกล้าฯถวายและใช้ราชการเบ็ดเสร็จจะห้ามเสียไม่ได้ ไพร่ส่วยจะร้องขาด และของอื่นๆที่มีในเกาะให้เป็นสิทธิ์แก่ผู้รักษาเกาะนั้น เจ้าจำนวนได้เรียกนายประกันจีนกิมตุ๋นไว้มั่นคง สมควรกับเงินของหลวงอยู่แล้ว จึงตั้งจีนกิมตุ๋นเป็นที่ขุนรักษาสมุทรคิรี ออกมารักษาเกาะในทะเลฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ ณ วันอังคาร ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ปีมะโรงยังเป็นนพศก สืบไป และให้ขุนรักษาสมุทรคิรีส่งเงินเข้าท้องพระคลัง เดือน ๔ งวดหนึ่งเงิน ๑๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ให้ครบจงทุกปี อย่าให้เงินหลวงค้างล่วงงวดปีแต่จำนวนหนึ่งได้นั้น

ให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการหมายให้กำนัน นายบ้าน นายอำเภอ ประกาศป่าวร้องราษฎรซึ่งอยู่ในแขวงบ้านแขวงเมืองให้รู้จงทั่ว ว่าเกาะในทะเลฝั่งตะวันออกนี้ ให้ขุนรักษาสมุทรคิรีรับอาสาเป็นเจ้าของระวังรักษา ส่งเงินเข้าท้องพระคลัง เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินแล้ว ห้ามอย่าให้ราษฎรคนใดคนหนึ่งไปหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะ และตัดฟืนไปซื้อขายตามอำเภอใจเหมือนแต่ก่อน ถ้าราษฎรคนใดจะไปทำมาหากินในเกาะ ทำไร่ทำสวนและตัดฟืน ซื้อขายเป็นอาณาประโยชน์ ก็ให้ไปว่ากล่าวต่อขุนรัษาสมุทรคิรีให้รู้ก่อน ขุนรักษาสมุทรคิรียอมให้ทำจึงทำได้ ถ้าไม่ได้ไปบอกกล่าวขุนรักษาสมุทรคิรีให้รู้ก่อน ไปลักลอบตัดฟืนและหาสิ่งของ ซึ่งเกิดในเกาะและจับตัวเต่าตัวกระและขุดฟองเต่าไปซื้อขาย ขุนรักษาสมุทรคิรีพบปะจับได้ ก็ให้เอามาส่งยังผู้ว่าราชการเมืองกรมการ คดีเช่นนี้ ฝ่ายจำเลยจะแก้ตัวว่าขุดฟองเต่ามาได้ที่หาด ที่ฝั่ง และจับตัวเต่าตัวกระในน้ำในหาดนั้นไม่ได้ ต้องปรับไหมให้แก่ขุนรักษาสมุทรคิรี เพราะเหตุนี้จะตัดสินไปเป็นอันยากไม่มีพยาน ต้องเอาสิ่งของที่จับได้เป็นสำคัญตั้งปรับ ๑๐ ต่อ และค่าสินบนด้วย

ประการหนึ่งของในน้ำ ราษฎรมีเครื่องมือได้เสียอากรน้ำแล้ว จะหากินในท้องทะเลที่แห่งใด ตำบลใด ห้ามมิให้ขุนรักษาสมุทรคิรีห้ามปรามเกาะกุม ประการหนึ่ง เรือลูกค้าและเรืออื่นๆจะไปมาอาศัยเข้าตักน้ำตัดฟืนในเกาะไปใช้สอยไม่ได้ซื้อขายเป็นอาณาประโยชน์ ก็อย่าให้ขุนรักษาสมุทรคิรีจับกุมเอาพัสดุทองเงินในราษฎรลูกค้าได้รับความเดือดร้อน ถ้าขุนรักษาสมุทรคิรีจับตัวผู้ลักลอบหาสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะและตัดฟืนได้แขวงเมืองใด ก็ให้เอาตัวไปส่งยังผู้ว่าราชการเมืองกรมการชำระว่ากล่าวตัดสิน อย่าให้ขุนรักษาสมุทรคิรีปรับไหมเอาเองตามอำเภอใจ และให้ขุนรักษาสมุทรคิรีตั้งใจรักษาเกาะโดยซื่อสัตย์สุจริต อย่าให้ขุนรักษาสมุทรคิรีและพรรคพวกซึ่งรักษาเกาะด้วยกัน จับตัวเต่าตัวกระซึ่งอาศัยที่ฝั่งและที่เกาะฆ่ากิน ซื้อขาย ให้ตัวเต่าตัวกระสาบสูญพืชพันธุ์ไปได้ ให้ทะนุบำรุงให้เกิดพืชพันธุ์ขึ้นให้มาก จะได้ผลประโยชน์กับแผ่นดินไปข้างหน้าอีก ถ้ามีผู้ฟ้องร้องว่า ขุนรักษาสมุทรคิรีและพรรคพวกฆ่าตัวเต่าตัวกระกิน และซื้อขาย พิจารณาเป็นสัจจะปรับไหมทำโทษจงหนัก ถ้าขุนรักษาสมุทรคิรีจะซื้อขายสิ่งของซึ่งเกิดในเกาะให้ผู้ใดไป ก็ให้ทำตั๋วฎีกาประทับตราให้ไว้แก่ผู้ซื้อเป็นสำคัญทุกราย อย่าให้เคลือบแฝงพาลพาโลจับกุมเป็นสองซ้ำได้ ถ้าผู้ใดซื้อของไปได้ตั๋วแล้ว ของนั้นไม่ได้ซื้อขายไปกลางทางเป็นเหตุต่างๆ ตั๋วเปียกน้ำก็ดีแลพหายไปก็ดี จะมาขอตั๋วใหม่อีก ถ้าของยังไม่ได้จำหน่ายจริง ก็ให้ขุนรักษาสมุทรคิรีทำตั๋วฎีกาให้ใหม่อีก อย่าให้ขัดขวาง และให้ขุนรักษาสมุทรคิรีกำชับว่ากล่าวห้ามปราบบุตรภรรยาบ่าวทาส และสมัครพรรคพวกซึ่งรักษาเกาะด้วยกัน อย่าให้คบหากันเป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมตีเรือลูกค้า ฉ้อกระบัดเอาพัสดุทองเงินแก่ลูกค้าพาณิชสมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร ซึ่งไปมาอาศัยอยู่ในเกาะ กระทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปราบเก่าใหม่ แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอันขาด

อนึ่ง ฝิ่นมีเจ้าภาษีรับผูกขาดส่งเงินเข้าพระคลังแล้ว ห้ามขุนรักษาสมุทรคิรีคบหากันลักลอบซื้อฝิ่น ขายฝิ่น กินฝิ่นที่เกาะเป็นอันขาดทีเดียว ประการหนึ่งราษฎรฟ้องหากล่าวโทษพรรคพวกขุนรักษาสมุทรคิรีซึ่งไปรักษาเกาะด้วยกันนั้น ด้วยข้อคดีสิ่งใดๆก็ให้ส่งตัวผู้ต้องคดีไปให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการชำระว่ากล่าวตามพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้าคดีต้องตัวขุนรักษาสมุทรคิรีก็ให้แต่งทนายไปว่าต่างแก้ต่าง อย่าให้ขัดขวางคดีของราษฎรไว้เนิ่นช้า

ถึงพระราชพิธีตรุษสารทก็ให้ขุนรักษาสมุทรคิรีไปพร้อมด้วยผู้ว่าราชการเมือง กรมการ กำนัน นายอำเภอ ณ พระอุโบสถอารามใดอารามหนึ่งซึ่งเคยกระทำสัตยานุสัตย์ ให้ไปพร้อมกันที่พระอารามนั้นแล้วบ่ายหน้าต่อกรุงเทพฯ ตั้งสัตยานุสัตย์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาปีละ ๒ ครั้ง จงทุกปีอย่าให้ขาดได้

ถ้าผู้ว่าราชการเมืองกรมการลุหนังสือนี้แล้วมีตราโกษาธิบดีตั้งมาด้วยฉบับหนึ่ง เรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้ยึดเอาต้นตราโกษาธิบดีไว้ แล้วให้หมายยกขุนรักษาสมุทรคิรีคนเก่าออกเสียจากที่ผู้รักษาเกาะ แล้วให้ประทวนส่งต้นหนังสือเจ้าจำนวนให้แก่ขุนรักษาสมุทรคิรีคนใหม่ เข้ารับรักษาเกาะตามท้องตราสืบไป

หนังสือมา ณ วันอังคาร ขึ้นค่ำ ๑ เดือน ๕ ปีมะโรงยังเป็นนพศก (พ.ศ. ๒๔๑๐)



..........................................................................................................................................................




 

Create Date : 11 เมษายน 2550   
Last Update : 11 เมษายน 2550 14:56:39 น.   
Counter : 1048 Pageviews.  


ตำนานอากรสวนใหญ่





หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงเจ้าเมืองกรมการ


ด้วยท่านอัครมหาเสนาบดีผู้ใหญ่ๆปรึกษาพร้อมกันกราบบังคมทูลพระกรุณา แก่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมราชาธิราชบรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าแต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดิน ซึ่งล่วงมาแล้ว เมื่อเสด็จขึ้นถวัลยราชาภิเษก เสวยสิริราชสมบัติ ครอบครองพระราชอาณาจักรอันนี้ได้ ๓ ปีแล้ว เคยโปรดเกล้าฯให้แต่ข้าหลวงออกไปรังวัดสวนนับต้นไม้มีผลในสวนของราษฎร จังหวัดกรุงเทพพระนครอมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา และเมืองนนทบุรี เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ เมืองนครไชยศรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสาครบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรีทำหน้าโฉนดเสียใหม่ เรียกเงินอากรส่งเข้ามายังพระคลังมหาสมบัติตามหน้าโฉนดเสียใหม่นั้น เป็นราชประเพณีมีมา ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกสำเร็จบรมราไชศวรรยาธิปัติ ครอบครองพระราชอาณาจักรมาถึงปีที่ ๓ ในปีฉลูเบญจศกนี้ เป็นกาลอันควรจะแต่งข้าหลวงออกเดินสวนทำหน้าโฉนดใหม่ตามโบราณราชประเพณีนั้น การอันนี้สุดแต่จะทรงพระกรุณาโปรดฯ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯดำรัสว่า(๑) การ ๒ อย่าง คือการสักเลขหมายหมู่ทำทะเบียนหางว่าวไว้ แล้วเกณฑ์ข้าราชการตามจำนวนหางว่างอันนั้นไปหลายปี และหักหนีตายเป็นคราวๆนานนั้นอย่างหนึ่ง การเดินสวนเดินนานับต้นไม้มีผลและกระทงนาให้แน่นอนแล้ว ทำหน้าโฉนดตราแดงให้ไว้แก่เจ้าของสวนเจ้าของนา แล้วเก็บอากรสวนและหางข้าวค่านา ตามจำนวนหน้าโฉนดตราแดงฉบับหนึ่งนั้นไปหลายปี จึงเดินสวนเดินนาใหม่ต่อกาลนานๆนั้นอย่างนึ่ง เห็นจะเป็นการบังเกิดเป็นอย่างธรรมเนียมมาแต่พระราชบัญญัติของพระมหากษัตริย์พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ที่ทรงพระสติปรีชาปัญญา และข่าราชการที่ปรึกษาอันเป็นปราชญ์ฉลาดในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เจริญเรียบร้อยง่ายสะดวก และการสักเลขหมู่มีทะเบียนหางว่าวตัวเลขตายหนีชราพิการหรือบวชเป็นภิกษุ เจ้าพนักงานยังไม่หักบัญชีจำหน่าย ก็คงเกณฑ์ราชการอยู่เสมอตามทะเบียนเดิมที่ลูกหมู่รุ่นฉกรรจ์ขึ้นก็มีมาก เจ้าหมู่ยังไม่ได้นำเข้ามาสักคงเหลืออยู่โดยมาก และนาของราษฎรที่เป็นนาคู่โค ข้าหลวงรังวัดแล้วทำตราแดงให้ไว้แก่เจ้าของนาเป็นสำคัญ เจ้าของนาจะได้ทำและมิได้ทำก็ดี มีอย่างธรรมเนียมว่าเมื่อถึงปีข้าหลวงเสนาก็คงเรียกหางข้าวค่านาเต็มตามตราแดงที่มีในบัญชี ที่เจ้าของนาเอาตราแดงไปเวนส่งแก่กำนันนายอำเภอแล้ว หรืออพยพทิ้งนาให้ร้างไว้ ถึงภายหลังบางแห่งจะแต่งอุบายให้ญาติพี่น้องเข้าทำในที่นาเวน ข้าหลวงเสนาก็ได้เรียกค่านาแต่ที่ทำได้ หรือแต่ตามตราแดงบัญชีตั้งคง ค่านาตกขาดจากภูมิตราแดงโดยมาก

และสวนของราษฎรนั้นเล่า ลางสวนต้นผลไม้หักโค่นตายเสีย เจ้าของสวนเกียจคร้าน หาปลูกซ่อมแซมเพิ่มเติมขึ้นไม่ เจ้าพนักงานก็คงเรียกอากรเต็มหน้าโฉนด ที่ปลูกต้นผลไม้ขึ้นใหม่กว่าหน้าโฉนดเดิมก็มิได้บวกเงินอากรขึ้น การทั้งนี้ที่แท้ก็ควรจะให้เจ้าพนักงานชำระบัญชีไล่ตัวเลขลูกหมู่เข้ามาสัก และหักบัญชีจำหน่ายแล้ว จึงเกณฑ์ข้าราชการตามตัวเลขที่มีจริงทุกคราวเกณฑ์ และแต่งข้าหลวงออกรังวัดนาเดินสวนของราษฎรให้เสมอทุกปีทุกคราวเก็บอากรสวน และหางข้าวค่านานั้นจึงจะชอบเป็นการเสมอทั่วหน้า แต่ถ้าทำอย่างนั้นก็จะเป็นการฟั่นเฝือจะต้องชำระบัญชีเก่าใหม่ซับซ้อนทบทวนมา เมื่อบ้านเมืองมีราชการทัพศึกหรือราชการอื่นใหญ่สิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น ก็จะค้างเดินไม่เรียบร้อยง่านสะดวก จะลำบากแก่เจ้าพนักงาสนนักจึงมีธรรมเนียมใช้แต่การที่ใกล้ต่อความเสมอสมานดังนั้น

แต่ครั้นถ้าการชำระเลขและเดินนาเดินสวนใหม่นั้นงดเสีย นานไปการที่ใกล้ต่อที่จริงเสมอนั้นจะห่างจะไกลไปทุกปี บัดนี้การสักเลขหมู่ลูกฉกรรจ์ขึ้นใหม่ กับชำระตัวเลขที่ต้องหักบัญชีจำหน่ายนั้น กรมพระสัสดีก็ได้ตั้งการดัดแปลง และชำระอยู่แล้ว และการเดินนาเดินสวนนั้น ก็ควรให้เป็นไปใกล้ความเสมอดุจการสักเลขเหมือนกัน เจ้าของนาเจ้าของสวนจะได้มีความอุตสาหะปลูกต้นไม้มีผลทำไร่นาให้มากขึ้น เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณแก่แผ่นดิน

และเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปีฉลูเอกศก (พ.ศ. ๒๓๗๒) โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงออกเดินสวนครั้งหนึ่ง ครั้น ณ ปีเถาะตรีศก (พ.ศ. ๒๓๗๔) น้ำท่วมต้นผลไม้ตายเสียมาก ได้ทรงพระกรุณาแก่ราษฎรเจ้าของสวนจะไม่ให้ได้ความเดือดร้อน ณ ปีมะโรงจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๗๕) จึงโปรดเกล้าฯให้เดินสวนอีกครั้งหนึ่ง แต่ปีมะโรงจัตวาศกมานั้นได้ ๒๐ ปีล่วงไปแล้ว ซึ่งเสนาบดีผู้ใหญ่ๆปรึกษาพร้อมกันเห็นว่ากาลนานมา จะขอให้แต่งข้าหลวงออกเดินสวนในปีฉลูเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๙๖) นี้นั้นก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว แต่ซึ่งจะถือเอาเป็นธรรมเนียมว่าเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ได้ ๓ ปีแล้ว จึงให้เดินสวนนาและชำระเลขนั้นไม่ควร เมื่อเหตุมีขึ้นหรือช้านานไปหลายปีแล้ว ก็ควรจะต้องจัดแจงการเสียใหม่ให้ใกล้จริงและเสมอเข้าครั้งนี้(๒)

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชภักดีศรีรัตนราชสมบัติพิริยพาหะ กับพระยาพิพิธโภไคยสวรรย์ จมื่นศรีสรรักษ์หัวหมื่นมหาดเล็กเป็นแม่กองชำระความ และชำระบัญชีต้นไม้ มีผลควรตรงอากรให้แน่นอน แล้วทำหน้าโฉนดแจกแก่ราษฎรเจ้าของสวนแขวงกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์ และหัวเมือง อย่าให้เกิดวิวาทแก่กันขึ้นได้ โปรดเกล้าฯให้แต่งข้าหลวงเดินสวนแขวงกรุงเทพมหานคร และเมืองนนทบุรี เมืองนครเขื่อนขันธ์ เมืองสมุทรปราการ

ฝั่งเหนือพระบรมมหาราชวัง พระยาสีหราชเดโชชัยอภัยพิริยบรากรมพาหุแม่กอง ๑ พระยาราชสงครามจางวางทหารในขวา ๑ พระยาสมบัตยาภิบาลเจ้ากรมพระคลังในขวา ๑ หลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก ๑ หลวงอภิบาลภูวนาถเจ้ากรมรักษาพระองค์ขวา ๑ จมื่นมหาสนิทปลัดกรมพลพันขวา ๑ รวม ๖ พระบวรราชวังนั้น พระยาประเสริฐสาตรธำรงจางวางกรมหมอ ๑ หลวงรัตนรักษาเจ้ากรมแสงในซ้าย ๑ รวม ๒ รวมฝั่งเหนือ ๘

ฝั่งใต้ข้าหลวงในพระบรมมหาราชวัง พระยาเพชรพิชัยจางวางล้อมพระบรมมหาราชวังแม่กอง ๑ พระยาสามภพพ่ายจางวางกรมทหารในซ้าย ๑ พระยากาญจนานุกิจ ๑ จมื่นสรรเพธภักดีหัวหมื่นมหาดเล็ก ๑ จมื่นจงรักษาอง๕เจ้ากรมพระตำรวจวังซ้าย ๑ หลวงวิจารณ์ราชารักษ์ปลัดจางงวางรักษาพระองค์ ๑ รวม ๖ พระบวรราชวัง พระยาวิเศษศักดาจางวางทหารปืนใหญ่ ๑ พระจำนงสรไกรปลัดจางวางเกณฑ์หัดปืนแดง ๑ รวม ๒ รวมฝั่งใต้ ๘

เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองนครชัยศรี เมืองสาครบุรี ข้าหลวงในพระบรมมหาราชวัง พระเทพาธิบดีเจ้ากรมพระสัสดีซ้าย ๑ พระจันทราทิตย์เจ้ากรมสนมพลเรือนขวา ๑ จมื่นราชาบาลปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑ หลวงมไหศวรรย์ ๑ หลวงสุวรรณภักดี ๑ หมื่นเสพสวัสดิ์ปลัดกรม ๑ ข้าหลวงในพระบวรราชวัง พระยาอร่ามมณเฑียรจางวางทหารใน ๑ พระฤทธิ์เดชะเจ้ากรมพระตำรวจนอกซ้าย ๑ รวม ๘ รวมทั้งสิ้น ๒๔ นาย และสวนเมืองฉะเชิงเทรานั้น เดินสวนแขวงกรุงเทพฯเสร็จแล้วจึงให้ข้าหลวง ๘ นายฝั่งเหนือ ออกไปเดินสวนแขวงเมืองฉะเชิงเทราต่อไปเหมือนอย่างกรุงเทพฯ ให้ข้าหลวงมีชื่อแต่งทนายนายละ ๘ คนกำกับกัน ให้นายระวางนำไปรังวัดสวนนับต้นไม้ของราษฎรให้สิ้นเชิงจงทุกสวน อย่าให้หลงเหลือเบียดบังไว้ได้เป็นอันขาด

และต้นผลไม้มีอากร หมาก มะพร้าว พลู มะม่วง มะปราง ทุเรียน มังคุด ลางสาด ๘ สิ่งนี้(๓) หมากเอกสูง ๓ วา ๔ วา เรียกต้นละ ๕๐ เบี้ย ๑๐๐ ละ ๓ สลึง ๒๐๐ เบี้ย หมากโทสูง ๕ วา ๖ วา เรียกต้นละ ๔๐ เบี้ย ๑๐๐ ละ ๒ สลึงเฟื้อง หมากตรีสูง ๗ วา ๘ วา เรียกต้นละ ๓๐ เบี้ย ๑๐๐ ละสลึงเฟื้อง ๖๐๐ เบี้ย หมากผการายออกดอกประปราย ให้เรียกเท่าต้นโทต้นละ ๔๐ เบี้ย ๑๐๐ ละ ๒ สลึงเฟื้อง หาก ๔ รายนี้มีหมากกรอกต้นละ ๑๑ ผล

มะพร้าวเล็กตั้งปล้องสูงศอกหนึ่งขึ้นไป ให้เรียกเท่าหมากเอกต้นละ ๕๐ เบี้ย ปีขาลฉศกจึงจะเรียกเงินอากร แต่หมากกรอกนั้นยังไม่เรียก ต้นสูงคอดคอเรียวชายเอนให้ยกอากรเสีย สูง ๘ ศอกขึ้นไปเอาเป็นใหญ่เรียกต้นละ ๑๐๐ เบี้ย ๘ ต้นเฟื้อง ๑ มีน้ำมันเฉลี่ย ตั้งปล้องสูงศอกหนึ่งขึ้นไปถึง ๗ ศอก อาเป็นปีขาลฉศกจึงเรียกอากร แต่น้ำมันเฉลี่ยนั้นยังไม่เรียก สูงคอดคอเรียวให้ยกเสีย แต่มะพร้าวมูลสีนาฬิเกหงสิบบาท สำหรับของทูลเกล้าฯถวาย และของกำนัลให้ยกอากรเสีย

พลูค้างทองหลางสูง ๗ ศอก ๘ ศอกขึ้นไปให้เอาเป็นใหญ่ ๔ ค้างเฟือง ๑ ร้อยละ ๓ บาทเฟื้อง สูง ๕ ศอก ๖ ศอกเอาเป็นเล็ก ปีขาลฉศกจะเรียกเงินอากร

ทุเรียน มะม่วง วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูง ๓ ศอก ยืนขึ้นไปเพียงตาโอบรอบ ๓ กำ เอาเป็นใหญ่ ทุเรียนต้นละ ๑ บาท มะม่วงต้นละเฟื้อง ใหญ่รอบไม่ถึง ๓ กำลงมาจนถึง ๒ กำเอาเป็นเล็ก ปีขาลฉศกจึงจะเรียกเงินอากร

มังคุด ลางสาด วัดแต่โคนต้นขึ้นไป สูงศอกคืบนั่งยองเพียงตา โอบรอบ ๒ กำเอาเป็นใหญ่ เรียกต้นละเฟื้อง ใหญ่รอบไม่ถึง ๒ กำลงมาจนกำหนึ่ง เอาเป็น เล็ก ปีขาลฉศกจึงจะเรียกอากร

มะปราง วัดแต่โคนต้นขึ้นไปสูง ๓ ศอก ยืนเพียงตาโอบรอบ ๓ กำเอาเป็นใหญ่ ๒ ต้นเฟื้อง โอบรอบ ๒ กำเป็นเล็ก ปีขาลฉศกจึงจะเรียกเงินอากร

แต่ส้มโอ ส้มแก้ว ส้มเกลี้ยง ส้มเทพรส ส้มมะแป้น ส้มจุก ส้มเปลือกบาง ๗ สิ่งนั้น โปรดเกล้าให้ยกไม่ให้เรียกอากร ถ้าเป็นโพรง ยอดตายมีแต่กิ่ง ๑ สองกิ่งให้ตั้งเป็นโคนหาอากรมิได้ ถ้าโคนต้น ๒ ต้น ๓ ต้น เคียงชิดกันให้เอาแต่ต้นหนึ่ง ถ้าห่างกันตัวโคลอดได้ให้เรียกเรียงต้น และถ้าสวนผู้จับทำสร้างขึ้นใหม่ หาต้นผลไม้มิได้ก็ดี และต้นไม้เก่ามีอยู่อากรต่ำกว่าเดิมจอง ให้เรียกแต่ปีเดิมจองเป็นหลวง ปีละสลึง ๖๐๐ เบี้ย ให้หน้าโฉนดตราแดงไว้

อนึ่ง ราษฎรรู้ว่าข้าหลวงจะเดินสวน และราษฎรบังอาจลักตัดต้นผลไม้มีอากร ซึ่งนายระวางประกาศห้ามแล้วให้ขาดอากรของหลวงไป ให้ปรับไหมอากรต้นหนึ่งเป็น ๓ ต้น สักหลังไว้ในโฉนดเป็นโทษไหม แล้วอย่าให้หักสิบลดให้กับราษฎรผู้กระทำผิดนั้นเลย ให้ผูกอากรกับไม้ใหญ่สืบไป อย่าให้ดูเยี่ยงอย่างกัน แล้วห้ามอย่าให้เรียกเอาค่าฤชาตลาการแก่ราษฎรผู้ลักตัดต้นไม้นั้นเลย

และห้ามอย่าให้ข้าหลวงกองเดินเอาเนื้อความแฝงอาญาอุทธรณ์นครบาล ซึ่งเป็นสินไหมพินัย ไว้พิจารณาว่ากล่าวเป็นอันขาดทีเดียว

และให้ข้าหลวงลงเส้นเชือกรังวัดสวนของราษฎร ให้รู้ว่ากว้างยาวลงไว้ในหน้าโฉนดจงทุกสวน

และเมื่อแรกวันจะลงมือรังวัดสวน ให้ราษฎรทำบายศรีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่สำรับหนึ่ง กรุงพาลีสำรับหนึ่ง ศีรษะสุกรคู่หนึ่งราคา ๕ สลึง เสื่ออ่อนผืนหนึ่งราคาเฟื้องหนึ่ง ผ้าขาวผืนหนึ่งราคาสลึงเฟื้อง รองเชือกรังวัดขันล้างหน้าใบหนึ่งราคาเฟื้องหนึ่ง สำหรับเสกน้ำปะพรมที่สวน ค่าเสกน้ำเฟื้องหนึ่ง ค่ารังวัดหัวเชือกสลึง หางเชือกเฟื้อง รวม ๒ บาทสลึงเฟื้อง แต่แรกลงมือแขวงกรุงเทพฯสวนหนึ่ง เมืองนนทบุรีสวนหนึ่ง และเมืองนครเขื่อนขันธ์สวนหนึ่ง เมืองสมุทรปราการสวนหนึ่ง เมืองนครไชยศรีสวนหนึ่ง เมืองสาครบุรีสวนหนึ่ง เมืองฉะเชิงเทราสวนหนึ่ง เมืองสมุทรสงครามสวนหนึ่ง แต่เท่านี้

และเงินของซึ่งราษฎรเสียไปกับข้าหลวงนั้น ให้นายระวางหักเงินอากรของหลวง ซึ่งจะเรียกในสวนนั้นหักให้แก้ราษฎรผู้เสียของและเงิน คิดเบ็ดเสร็จเงิน ๒ บาทสลึงเฟื้องนั้นแต่ปีเดียว

ถ้าข้าหลวงนับได้ไม้ใหญ่ไม้เล็ก สวนพระคลังสวนวัดได้เท่าใด ให้แม่กองเดินผู้ใหญ่เขียนหน้าโฉนดป่าปิดตราประจำต้นไม้ให้ไว้เป็นคู่มือราษฎรจงทุกสวน อย่าให้เรียกเงินค่าโฉนดป่าแก่ราษฎร ให้เรียกแต่มะพร้าว ๒ คู่ พลู ๒ กลุ่ม หมากทะลาย ๑ คิดเป็นเงินสลึงเฟื้อง เป็นหัวมือจงทุกสวน แล้วให้ราษฎรเจ้าของสวนและนายระวาง เอาโฉนดมาส่งแก่แม่กองผู้ชำระ จะได้สอบสวนจำนวนต้นผลไม้ให้ถูกตามบัญชี จะได้ทำโฉนดใหญ่ปิดตราให้ไว้กับเจ้าของสวนเป็นสำคัญ

แต่ก่อนนั้น ข้าหลวงได้เดินสวน ๕ ครั้งแล้ว และเมื่อข้าหลวงเดินสวนนั้น เป็นสวนของผู้ใด ให้ราษฎรเจ้าของสวนคิดให้เงินค่าหัวมือสวนละสลึงเฟื้อง เบี้ยเลี้ยงสวนละ ๒ สลึง สวนหนึ่งเป็นเงิน ๓ สลึงเฟื้อง ได้แก่ข้าหลวงนั้น ให้ข้าหลวงเดินสวนทำตามข้าหลวงเดินสวมมาแต่ก่อน

ครั้นถึงวันพระ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ให้ข้าหลวงมีชื่อกองเดินเอาบัญชีเดินทุ่งมาส่งให้กองบัญชี แล้วให้กองเดินกองบัญชีและทนายผู้นับต้นผลไม้พร้อมด้วยนายกองใหญ่ เข้าไป ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สาบานตัวเฉพาะพระพักตร์พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกต และพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ว่าจะนับต้นผลไม้ของราษฎรและบัญชีแต่ตามสัจตามจริง อย่าให้เอาของหลวงเป็นของราษฎรๆมาเป็นของหลวงมากเป็นน้อยๆเป็นมาก ไม้ใหญ่ว่าเล็กๆว่าใหญ่ และเบียดบังเอาสินจ้างสินบน เป็นอาณาประโยชน์ตนเป็นอันขาดทีเดียว

และให้กองบัญชีคิดอากรไม้ใหญ่และหมากกรอก ให้นายระวางเรียกเงินอากรค่าหมากกรอก ซึ่งขึ้นใหม่ในจำนวนปีฉลูเบญจศก ส่งเข้ายังพระคลังมหาสมบัติ ถ้าต้นผลไม้ชำรุดต่ำลงกว่าเดิม ให้หักเงินอากรและหมากกรอกลงเสีย ยังคงไม้ใหญ่และไม้เล็กเท่าใด หักสิบลดหนึ่งพระราชทานให้แก่ราษฎรเจ้าของสวน คงนายระวางเรียกอากรไม้ใหญ่ไม้เล็กหมากกรอกได้เท่าไร ให้นายระวางเรียกส่งพระคลังสวนๆส่งเข้าไปยังพระคลังมหาสมบัติ จำนวนปีขาลฉศกตามหน้าโฉนดสืบไป

ให้กองบัญชีเขียนโฉนดขึ้นกระดาษรายต้นไม้ จำนวนเงินเป็นอักษร อย่าให้บุบสลายปิดตราข้าหลวง ๘ นายไว้จงทุกสวน ครั้นเดินสวนเสร็จแล้ว ให้ราษฎรเอาโฉนดป่ามาสอบทานกับโฉนดใหญ่ต้องกันแล้ว ให้กองบัญชีเอาโฉนดป่าเก็บไว้ส่งโฉนดใหญ่ให้แก่ราษฎร แล้วให้นายระวางเรียกเงินค่าโฉนดไว้ใบละ ๑ บาท ๒ สลึงจงทุกสวนแต่ปีเดียว และเงิน ๑ บาท ๒ สลึงนั้น ให้แก่นายระวางเป็นค่าสมุด ค่ากระดาษ ค่าดินสอสำหรับทำบัญชีในการเดินสวน ๑ สลึง ให้แก่ผู้ตราทำบัญชีคู่โฉนด ๑ เฟื้อง ให้เเก่ผู้เขียนโฉนดเฟื้อง ๑ ยกเป็นค่าตรา ๑ บาท แล้วให้กองบัญชีทำบัญชีจำนวนสวน จำนวนไม้ จำนวนเงิน จำนวนหมากกรอกยื่นให้แม่กองใหญ่ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา แล้วให้พนักงานรักษาไว้ในพระคลังมหาสมบัติ

อนึ่ง มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ไม้ ๓ จำพวกคือไม้มะเกลือเป็นไม้ดำ ๑ ไม้ละมุดสีดาเป็นไม้แดงเนื้อละเอียด ๑ ไม้จันทน์เป็นไม้ขาวเนื้อละเอียด ๑ ไม้ ๓ จำพวกนี้ถึงมีผลราษฎรซื้อขายกันได้บ้าง ก็ไม่ได้เรียกอากรมาแต่ก่อน ครั้งนี้ต้องพระราชประสงค์จะใคร่ทรงทราบจำนวนไว้ และเมื่อตันหักโค่นประการใด จะต้องพระราชประสงค์แก่นมาเลื่อยจักตัดออกใช้ราชการ เพราะดังนั้นเดินสวนครั้งนี้ ให้ข้าหลวงและเจ้าพนักงานนับไม้ ๓ จำพวก คือ ไม้มะเกลือ ไม้ละมุด ไม้จันทน์ ให้รู้จำนวนตามเล็กและใหญ่ใส่หน้าโฉนดไว้ แต่อย่าให้เรียกเงินเอาค่าธรรมเนียม เมื่อนับและทำบัญชีต้นไม้ ๓ อย่างนี้ เป็นอันขาดทีเดียว เป็นแต่ให้ประกาศมอบหมายแก่เจ้าของสวน และผู้รับหน้าโฉนดไว้ว่า ถ้าต้นมะเกลือและต้นละมุดต้นจันทน์ที่มีแก่นแล้วจะล้มซวนเอง หรือคร่ำคร่าเจ้าของจะใคร่ฟันเสีย ก็ให้มาบอกแก่เจ้าจำนวนก่อน แล้วจึงตัดฟัน แล้วนำเอาลำไม้มีแก่นมามอบให้เจ้าจำนวนนำมาทูลเกล้าฯถวาย จะพระราชทานราคาให้ตามราคาไม้แก่นเสงเพรงโดยสมควรราชการ แล้วมอบไม้ให้รักษาไว้ในพระคลังในขวาสำหรับใช้ ถ้าเจ้าต่างกรมยังไม่มีกรม และขุนนางเจ้าขุนมูลนายของชาวสวน จะใคร่ตัดเอาไม้สามอย่างนี้ แต่อย่างใดอย่างหนึ่งไปใช้ราชการ ถ้าเจ้าของสวนจะยอมให้ตัดก็ให้ตัด แล้วเอามามอบแก่เจ้าพนักงานก่อนแล้วจึงมารับไป เมื่อเจ้าพนักงานได้รู้เห็นด้วยดังนี้แล้ว ก็ให้สลักหลังหน้าโฉนดลดบัญชีลง แต่ต้นเล็กน้อยยังไม่มีแก่นนั้น ถ้าล้มตายก็ให้เจ้าของปลูกซ่อมแซมขึ้นใหม่ล่วงหน้า ๑๐ ปี หรือ ๒๐ ปี จะบวกเป็นไม้ใหญ่

ห้ามอย่าให้ข้าหลวงมีชื่อเสมียนทนายบ่าวไพร่ ซึ่งไปด้วยกันนั้นทำข่มเหงแก่ราษฎรชาวสวน ขึ้นเก็บเอาผลไม้และสิ่งของในสวน และเครื่องอัญมณีต่างๆ กระทำให้ราษฎรได้ความยากแค้นเดือดร้อนแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าผู้ใดมิฟังกระทำผิดด้วยพระราชบัญญัตินี้ มีผู้มาร้องฟ้องว่ากล่าวมาพิจารณาเป็นสัจ จะเอานายและไพร่ผู้กระทำผิดเป็นโทษโดยโทษานุโทษ และให้ข้าหลวง เจ้าเมือง กรมการทำตามท้องตรา และรับสั่งมานี้จงทุกประการ


หนังสือมา ณ วันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก (พ.ศ. ๒๓๙๖)



..........................................................................................................................................................

(๑) ความต่อไปนี้เข้าใจว่า เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๒) เข้าใจว่าหมดพระราชนิพนธ์เพียงนี้

(๓) จำนวนที่เป็นเลข ๘ นี้ เป็นข้อระวัง มีหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ พระราชดำรัสห้ามไว้ว่าอย่าให้เป็นคำผวนที่หยาบได้ - กัมม์

ประกาศสรรพนามสำหรับช้างม้า
(คัดจากหมายรับสั่ง ณ วันจันทร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีขาลฉศก)

ด้วยขุนมหาสิทธิโวหาร รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า ให้หมายประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยฝ่ายทหารพลเรือน กรมฝ่ายหน้าฝ่ายใน แลพระบวรราชวังฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวง ให้จงรู้ทั่วกัน ว่าช้างม้านี้เป็นสัตว์มีชาติมีสกุลไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว ให้เรียกว่าช้างหนึ่งสองช้าง ม้าหนึ่งสองม้า แต่สัตว์เดียรัจฉานนอกจากช้างม้านั้นให้เรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว อย่าให้ว่าสองชะมด สองเต่า สองปลา กับคำจำเป็นคำผวน เหมือนหนึ่งต้นไม้ ๘ ต้น ๙ ต้น หรือแปดเต่า แปดตัว อย่างนี้ ถ้าจะกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาอย่างอื่น อย่าให้เป็นคำผวนได้ ให้กรมมหาดไทย กลาโหม สัสดี หมายให้รู้ทั่วกันตามรับสั่ง




 

Create Date : 10 เมษายน 2550   
Last Update : 11 เมษายน 2550 15:01:55 น.   
Counter : 1060 Pageviews.  


ตำนานอากรค่าน้ำ


กระชังที่ชาวบ้านใช้เลี้ยงหอย และปลา




หนังสือเจ้าพระยาจักรี มาถึงเมืองกรมการกรุงเก่า เมืองอ่างทอง เมืองพรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครไชยศรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองปราจิณบุรี เมืองนครนายก เมืองอินทบุรี เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และกรมการทั้งหลาย

ด้วยพระศรีชัยบานทำเรื่องราวมายื่นแก่เจ้าจำนวนพระคลังมหาสมบัติว่า อากรค่าน้ำจืดน้ำเค็ม มีนายอากรรับผูกขาดเก็บเงินส่งท้องพระคลังสืบมาแต่ก่อน ครั้นเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ยกเลิกอากรค่าน้ำเสีย หามีผู้ใดเป็นเจ้าของพิทักษ์รักษาบ่อ ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ไม่ ราษฎรทุกภาษาพากันทำปาณาติบาตทุกแห่งทุกตำบล ตั้งปิดทำนบบ่อวิดน้ำ บ่อห้วยหนองคลองบึงบาง ปลาเล็กน้อยก็พลอยตายสูญพันธุ์ไปเสียโดยมาก ราคาปลาซึ่งราษฎรซื้อขายกันทุกวันนี้จึงได้แพงกว่าแต่ก่อน แล้วก็ไม่เป็นประโยชน์แก่แผ่นดิน พระศรีชัยบานจะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำจืดน้ำเค็มในแขวงกรุงเทพฯ และหัวเมือง ๓๗ เมือ ๘ ตำบล เก็บค่าน้ำตามพิกัดเดิม ปีหนึ่งเป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๓๑๔ ชั่ง ขึ้นพระคลังเดิม ๒๐ ชั่ง ขึ้นพระบวรราชวัง ๓๐ ชั่ง กรมสมเด็จพระเดชาดิศร ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๑ ชั่ง ขึ้นกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง รวม ๓๗๐ ชั่ง

พระศรีชัยบานจะขอให้แต่จีนอ้นเป็นนายอากร เรียกค่าน้ำ ณ กรุงเทพฯตำบลบางแวก ๑ บางบอน ๑ บางวโทรัด ๑ หัวกระบือ ๑ แสนแสบ ๑ รวม ๕ ตำบล และเมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี เข้ากัน ๓ เมืองเป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๓๒ ชั่ง ขึ้นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง รวม ๓๖ ชั่ง

ขอแต่งให้จีนชุ่มเป็นนายอากร เรียกค่าน้ำ ณ กรุงเก่า อำเภอนคร อำเภอเสนา อำเภออุทัย รวม ๓ อำเภอ เมืองอ่างทอง เมืองอินทบุรี เมืองพรมหมบุรี เมืองสิงหบุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองลพบุรี เมืองชัยนาท เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสุพรรณบุรี เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี เข้ากัน ๑๗ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๑๕๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ขึ้นพระคลังเดิม ๒๐ ชั่ง ขึ้นพระบวรราชวัง ๓๐ ชั่ง รวม ๒๐๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

ขอแต่งให้จีนหนูเป็นนายอากรเรียกค่าน้ำ ณ เมืองสมุทรสงคราม เมืองสาครบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองประทิว เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ๘ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๕๘ ชั่ง ๕ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๓ ชั่ง รวม ๕๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

ขอแต่งให้จีนสีเป็นนายอากรเรียกค่าน้ำ เมืองนครนายก เมืองปราจิณบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสมุทรปราการ เมืองชลบุรี เมืองบางละมุง เมืองระยอง เมืองจันทบุรี เมืองตราด ๙ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๖๙ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง รวม ๖๙ ชั่ง

เข้ากัน ๒๗ เมือง ๘ ตำบล เป็นเงินอากรปีละ ๓๗๐ ชั่งก่อนแต่ในจำนวนปีชวดจัตวาศก (พ.ศ. ๒๓๙๕ อันเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๔) พระศรีชัยบานจะส่งเงินอากรให้ครบ ถ้าทำอากรครบปีเงินอากรมีภาษีจะบวกทูลเกล้าฯถวายขึ้นอีก

จึงได้นำเรื่องราวพระศรีชัยบาน ขึ้นปรึกษากรมสมเด็จพระเดชาดิศร กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ กรมพระพิทักเทเวศร์ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ วรุตพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนนาถ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ นรเนตรนาถราชสุริยวงศ์ และเสนาบดีข้าราชการปรึกษาพร้อมกันว่า พระราชทรัพย์ของหลวงซึ่งจะได้มาใช้สอยในราชการทำนุบำรุงกรุงเทพฯ และถวายนิตยภัตเงินเดือนใช้ในการพระราชกุศล และแจกเบี้ยหวัดพระประยุรวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วไป ได้มาแต่ภาษีอากรสมพักสร ซึ่งราษฎรทำมาหากินในพระราชอาณาเขต และราษฎรทำสวนปลูกต้นผลไม้ทำไร่ปลูกผักปลูกถั่วต่างๆ และทำนาทำกินหาผลประโยชน์ซื้อขายเลี้ยงชีวิตสัมมาชีพ ก็ต้องเสียหางข้าวค่านาอากรสมพักสรทั้งสิ้น ซึ่งราษฎรทำการปาณาติบาตหาประโยชน์เลี้ยงชีวิตโดยมิจฉาชีพจะไม่ต้องเสียอากรค่าน้ำนั้น เห็นว่าเหมือนหนึ่งยินดีด้วยคนทำปาณาติบาตหาควรไม่ ซึ่งพระศรีชัยบานทำเรื่องราวมาว่า จะขอรับพระราชทานทำอากรค่าน้ำนั้นก็ชอบอยู่แล้ว ผู้ซึ่งทำมาหากินในพระราชอาณาเขต จะได้เสียอากรเสมอกัน ที่ห้วยที่หนอง คลอง บึงบางมีนายอากรเป็นเจ้าของหวงแหนอยู่แล้ว การปาณาติบาตที่ราษฎรจะทำซื้อขายแก่กันก็เลือกทำเอาแต่ที่ควรจะซื้อขายกันได้ ปลาเล็กน้อยที่ไม่ควรจะซื้อขายกัน ก็จะได้มีชีวิตเหลืออยู่เป็นพืชพันธุ์ต่อไป

พระยาพิพิธโภไคย จมื่นศรีสรรักษ์ จึงนำเรื่องราวและคำปรึกษาพระบรมวงศานุวงศ์ และเสนาบดีข้าราชการ ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท สมเด็จพระบรมนาถราชบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯโดยพระราชดำริว่า(๑) อากรค่าน้ำนี้ก็เป็นทางที่ให้บังเกิดพระราชทรัพย์อย่างหนึ่ง สำหรับแผ่นดินในสยามประเทศนี้ มีมาแต่โบราณสืบๆกาลพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทุกๆพระองค์ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่ามาจะได้ยินว่า ในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่ง จะให้เลิกถอนเสียนั้นหามิได้ เพราะคนชาวประเทศไทยมีปรกติดังธรรมดา มีเนื้อและปลาเป็นกับข้าวเป็นนิจทุกตัวคน ทุกตำบล ทุกแห่ง จะเป็นของคนกินแต่ของเครื่องเค็มและเต้าหู้ ซึ่งเป็นสิ่งมิใช่เนื้อปลาเป็นกับข้าวดังจีนบางจำพวกก็ดี หรือเป็นคนกินนมเนยถั่วงาเป็นกับข้าวดังพราหมณ์และคนมัชฌิมประเทศโดยมาก็ดี หามีไม่ เพราะฉะนั้นท่านผู้ครองแผ่นดินมาแต่ก่อนจึงได้เก็บอากรแก่คนหากุ้งหาปลาเหมือนเก็บค่านาสมพักสรแก่ผู้ทำนา ทำไร่ ทำสวน เสมอกันไปทั้งพระราชอาณาเขต รวบรวมพระราชทรัพย์มาใช้จ่ายเป็นการทำนุบำรุงแผ่นดิน คุ้มครองราษฎรทั้งปวงไว้ให้อยู่เย็นเป็นสุข

ก็เห็นว่าสมควรแก่กาลและประเทศอันนี้อยู่แล้ว เพราะพระเจ้าแผ่นดินกรุงไทยสืบมาแต่โบราณองค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งจะมีบุญญาธิการเหลือล้นนัก จนถึงขุนคลังแก้วมีทิพจักษุเห็นทรัพยแผ่นดิน หยิบเอาทรัพย์ในแผ่นดินขึ้นมาถวายได้ทุกขณะทุกเวลา เหมือนขุนคลังแก้วของบรมจักรพรรดินั้นก็ดี และจะมีบุญฤทธิ์วิเศษยิ่ง จนบันดาลห่าฝนแก้ว ๗ ประการ ให้ตกลงมาได้พระหฤทัยปรารถนา หามีไม่แต่สักพระองค์หนึ่ง

ครั้นมาเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว มีพระบวรสันดานเพลิดเพลินในการพระราชกุศลทรงสดับเรื่องราวโบราณนิทานชาดก และอื่นๆมากแล้ว มีพระราชประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์และสัปบุรุษในพุทธศาสนาสร้องสรรเสริญนับถือว่า เป็นมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์มหัศจรรย์กว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ จึงทรงพระราชดำริตริตรองจะทรงปฏิบัติให้เหมือนพระโพธิสัตว์ที่มีเรื่องราวมาในชาดก ซึ่งกล่าวด้วยพระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติในเมืองพาราณสีและเมืองอื่นๆในมัฌชิมประเทศ ที่มีประชาชนกินนมเนยและถั่วงาเป็นกับข้าวนั้น เอามาเป็นพระอารมณ์ว่า พระโพธิสัตว์แต่ก่อนได้เสวยราชสมบัติแล้วพระราชทานอภัยให้แก่สัตว์ในป่า นกบินอยู่บนท้องฟ้า ปลาในน้ำทั้งสิ้น ไม่ให้ใครทำปาณาติบาตเลยทีเดียวได้อย่างไร การอย่างนั้นจะทรงปฏิบัติได้บ้าง

อนึ่ง ทรงระแวงแคลงไปว่า เมื่อตั้งนายอากรไปให้เป็นเจ้าของเขตแดนห้วยหนองคลองบึงบางและเกาะในชเล เมื่อนายอากรจะเก็บเอาทรัพย์ที่เกิดด้วยปาณาติบาตของราษฎรรวบรวมมาส่งเป็นพระราชทรัพย์แล้ว พระกษัตริย์จะทรงใช้สอยพระราชทรัพย์นั้น ก็จะเป็นมิจฉาชีพไปด้วย จึงโปรดให้เลิกอากรฟองจันละเม็ดในชเล และค่าน้ำเสียให่หมด แต่ครั้งปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ (พ.ศ. ๒๓๖๙) มา ในปีนั้นปีเดียวโปรดให้มีข้าหลวงขึ้นไปเปิดกระบังรังเผือก ซึ่งราษฎรรับแต่นายอากรปิดห้วยหนองคลองบึงไว้ ปล่อยปลาอยู่ในที่ขังให้พ้นไปแล้วทรงประกาศการอันนั้น ให้พระสงฆ์ราชาคณะอนุโมทนาสาธุการเป็นพระเกียรติยศครั้งหนึ่งเท่านั้น

(เมื่อปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๓๙๙ มีประกาศในรัชกาลที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องอากรค่าน้ำฉบับ ๑ ประกาศนั้นก็เป็นพระราชนิพนธ์ทรงบรรยายเรื่องอากรค่าน้ำครั้งรัชกาลที่ ๓ ทำนองเดียวกับความในท้องตราฉบับนี้ แต่มีพลความบางข้อ ซึ่งมิได้ปรากฏในท้องตราฉบับนี้ คือ

ข้อ ๑ ว่าเงินอากรค่าน้ำในรัชกาลที่ ๓ เมื่อก่อนจะเลิกอากรนั้น เป็นจำนวนเงินนายอากรนำส่งคลังปีละ ๗๐๐ ชั่ง

อีกข้อ ๑ ทรงสืบทราบว่านายอากรไปเก็บอากรค่าน้ำ แล้วตัดตอนขายหนองคลองบึงบางเป็นคลองเขิน ให้แก่ราษฎรเป็นเจ้าของที่ต่างๆ จึงผู้ซึ่งซื้อตอนทั้งปวงนั้นปิดพนบลงกระบังรังเผือกกั้นคลองบึงบาง รุกรวมเอาปลากักขังไว้ในส่วนของตัวๆ ปลาจะว่ายไปมาตลอดไปในที่มีน้ำทั้งปวงตามธรรมดาก็ไม่ได้ คนที่มีประโยชน์จะเดินเรือก็เดินไม่ได้ จึงทรงพระกรุณากับปลาว่าเป็นสัตว์มีชีวิต อย่าให้ต้องติดขังจำตายเลย และจะให้คนที่มีประโยชน์เดินเรือไปมาได้คล่อง ไม่ต้องเข็นข้ามพนบและเผือก เป็นเหตุให้มีทะเลาะวิวาทกันนั้นด้วย จึงโปรดให้มีข้าหลวงขึ้นไปเปิดกระบังรังเผือก ซึ่งราษฎรรับแต่นายอากรปิดห้วยหนองคลองบึงบางไว้ ปล่อยปลาอยู่ในที่ขังให้พ้นไป ให้นายอากรเก็บค่าน้ำต่อไป แต่โดยพิกัดตามเครื่องมืออย่างเดียว อย่าตัดทอนขายต่อไปเลย เมื่ออากรจะขาดสักเท่าไร ก็ให้นายอากรมาร้องขาดเถิด จะลดให้ ฝ่ายนายอากรก็มาร้องขาด ให้ลดเงินอากรลงปีหนึ่ง ๓๐๐ ชั่งเศษ คงเงินอากรอยู่แต่ปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษ ครั้นภายหลังมายังทรงรังเกียจกลัวบาปต่อไป ด้วยทรงแคลงว่าเพราะมีค่าน้ำ คนจึงหาปลามากขึ้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอีกครั้งหนึ่ง ให้ยกอากรค่าน้ำที่เคยเรียกได้เป็นเงินอากรเพียงปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษนั้นเสียทีเดียว)

ครั้นกาลภายหลังต่อมาทรงพระราชดำริว่า ครั้นจะห้ามการปาณาติบาตทุกแห่งทุกตำบล ด้วยพระราชอาญาหาเหตุและเขตบมิได้ก็ไม่ควร การจะไม่สำเร็จ จึงโปรดเกล้าฯให้มีตราออกไปให้กรมการหัวเมืองฝ่ายตะวันออกซึ่งขึ้นกรมท่า แต่งกองจับออกจับคนผู้หาฟองจันละเม็ดในชเล จับตัวได้ให้เอามาทำโทษและเรียกค่าปรับไหมโดยสมควร แต่การหากุ้งหาปลานั้นให้ห้ามแต่ในเขตเสาศิลา ซึ่งปักไว้แต่ก่อนเป็นอาถรรพ์กันปีศาจทุกทิศในเขตพระนคร ถ้าใครทำปาณาติบาตในเขตพระนครแล้วให้กรมเมืองจับปรับเอาทรายทำวัด การที่มีผู้ทำปาณาติบาตในที่อื่นๆนอกจากเสาศิลาเขตพระนครนั้น เป็นแต่ตรัสประภาษไว้ว่า เมื่อใครเป็นเจ้าของห้วยหนองคลองบึงบางแล้ว ราษฎรก็จะแย่งกันทำปาณาติบาตในที่นั้นๆก็จะเกิดวิวาทขึ้น แล้วจึงจะยึดเอาที่นั้นเป็นที่หลวงเสีย แล้วจึงจะได้ห้ามมิให้ใครทำปาณาติบาตในที่นั้นต่อไป ที่นั้นๆจะทำปาณาติบาตของราษฎรก็จะน้อยแคบเข้าทุกที ก็จะเป็นที่เจริญอภัยทานเป็นการพระราชกุศลเสมอไป ความข้อนี้เป็นแต่ตรัสประภาษไว้ตั้งแต่ปีจออัฐศก (พ.ศ. ๒๓๖๙) มาจนถึงปีจอโทศก (พ.ศ. ๒๓๙๓) เป็น ๒๕ ปี ก็ไม่มีใครซึ่งแย่งกันจนถึงความจนถึงได้ยึดเอาที่นั้นเป็นที่หลวง แม้ถึงจะเกิดวิวาทกันบ้างก็ชำระแล้วไปแต่ในเจ้านายเท่านั้น ไม่เป็นไปได้ตามพระราชประสงค์

ซึ่งมีพระราชโองการรับสั่งในกรมการหัวเมืองจับผู้หาฟองจันละเม็ดในชเล และให้กรมการจับผู้หากุ้งหาปลาในเขตเสาศิลานั้น เมื่อมีรับสั่งครั้งหนึ่งแล้ว ก็ทรงไปด้วยราชการอื่นๆ ด้วยว่ามีราชกิจเป็นการใหญ่ๆมาก มิได้ทรงตักเตือนตรวจตราประการใดอีก การนั้นก็จืดจางไป ผู้ที่ทำปาณาติบาตก็ได้ช่องที่จะกำเริบขึ้น

เพราะฉะนี้ที่จะเลิกอากรค่าน้ำเสียนั้นไม่เป็นคุณอันใดแก่แผ่นดินและพระพุทธศาสนาและตัวสัตว์คือกุ้งปลาในน้ำ กลับเป็นคุณแก่ผู้ที่ทำปาณาติบาตเป็นคนบาปนั้น ยิ่งกว่าคนที่เลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม คือทำไร่นาเรือกสวนทั้งปวงนั้นเสียอีก เป็นการไม่เสมอในการที่จะถือเอาส่วยแต่ราษฎรทั้งปวงไป ซึ่งเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ได้ปรึกษาพร้อมกันจะให้มีอากรค่าน้ำขึ้นตามเดิมที่เคยมีมาแต่ก่อน ตามธรรมเนียมบ้านเมืองนี้นั้นชอบแล้ว จามแต่เจ้านายผู้ใหญ่และเสนาบดีที่เป็นผู้ช่วยทำนุบำรุงแผ่นดินจะเห็นควรนั้นเถิด ก็ให้ตั้งพระศรีชัยบานเป็นนายอากรไปตามคำปรึกษาและเรื่องราวพระศรีชัยบาน และพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการเห็นพร้อมกัน(๒)

เจ้าจำนวนได้เรียกเอานายประกันพระศรีชัยบาน จีนอ้น จีนชุ่ม จีนหนู จีนสี ไว้มั่นคงสมควรแก่เงินอากรของหลวงอยู่แล้ว ตั้งพระศรีชัยบานเป็นนายอากรเรียกค่าน้ำ ณ กรุงเทพฯ และหัวเมือง ๓๗ เมือง ๘ ตำบล ตั้งแต่จำนวนปีชวดจัตวาศกเป็นเงินอากรจำนวนปีละ ๓๗๐ ชั่งสืบไป

พระศรีชัยบานแต่งให้จีนอ้นเป็นหมื่นเทพอากร ไปเรียกค่าน้ำ ณ กรุงเทพฯตำบลบางแวก บางบอน บางโทรัด หัวกระบือ แสนแสบ รวม ๕ ตำบล เมืองนนทบุรี เมืองปทุมธานี รวม ๓ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๓๒ ชั่ง ขึ้นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ๑ ชั่ง ขึ้นกรมขุนสรรพศิลป์ปรีชา ๑๐ ตำลึง รวม ๓๖ ชั่ง

แต่งให้จีนชุ่มเป็นหมื่นวิสูตรอากร ไปเรียกค่าน้ำ ณ กรุงเก่า อำเภอนคร อำเภอเสนา อำเภออุทัย รวม ๓ อำเภอ เมืองอ่างทอง เมืองอินทบุรี เมืองพรมหมบุรี เมืองสิงหบุรี เมืองสรรค์บุรี เมืองลพบุรี เมืองชัยนาท เมืองนครสวรรค์ เมืองพิจิตร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองสุพรรณบุรี เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองนครไชยศรี เมืองราชบุรี เข้ากัน ๑๗ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๑๕๔ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ขึ้นพระคลังเดิม ๒๐ ชั่ง ขึ้นพระบวรราชวัง ๓๐ ชั่ง รวม ๒๐๓ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

แต่ให้จีนหนูเป็นหมื่นอินทรอากร ไปเรียกค่าน้ำเมืองสมุทรสงคราม เมืองสาครบุรี เมืองเพชรบุรี เมืองประทิว เมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ๘ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๕๘ ชั่ง ๕ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ ๑๐ ตำลึง ขึ้นกรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๓ ชั่ง รวม ๕๙ ชั่ง ๑๕ ตำลึง

แต่งให้จีนสีที่หมื่นศรีอากร ไปเรียกค่าน้ำ ณ เมืองนครนายก เมืองปราจิณบุรี เมืองฉะเชิงเทรา เมืองสมุทรปราการ เมืองชลบุรี เมืองบางละมุง เมืองระยอง เมืองจันทบุรี เมืองตราด ๙ เมือง เป็นจำนวนเงินอากรขึ้นพระคลังมหาสมบัติ ๖๙ ชั่ง ขึ้นพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ ๑๐ ตำลึง รวม ๖๙ ชั่ง เข้ากัน ๓๗ เมือง ๘ ตำบล ปีหนึ่งเป็นเงินอากรจำนวนปีละ ๓๗๐ ชั่งสืบไป

ให้พระศรีชัยบาน หมื่นเทพ หมื่นวิสูตร หมื่นอินทร์ หมื่นศรี ส่งเงินอากรค่าน้ำคิดแต่จำนวนปีชวดจัตวาศก ส่งเงินอากรแก่เจ้าจำนวนปีละงวดๆ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ปีชวดจัตวาศกงวดหนึ่ง เป็นเงิน ๓๗๐ ชั่ง จงทุกงวดทุกปีสืบไป อย่าให้เงินอากรขาดค้างลวงงวดล่วงปีไปได้เป็นอันขาดทีเดียว และให้พระศรีชัยบาน หมื่นเทพ หมื่นวิสูตร หมื่นอินทร์ หมื่นศรีเรียกอากรค่าน้ำแก่ราษฎรตามพิกัดอัตรา ซึ่งสรรพากรในยื่นไว้ ให้นายอากรเรียกค่าน้ำแก่ผู้ทำกินน้ำจืด โพงพางละ ๓ ตำลึง เรือแหพานลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท เรือแหโปงลำละ ๑ ตำลึง ๒ บาท เรือแหทอดลำละ ๑ บาท ช้อนใหญ่ลำละ ๒ สลึง ช้อนเล็กลำละ ๑ สลึง สุ่มเรียกคนละ ๑ สลึง ดักชุดคนละ ๑ บาท ข่ายดักปลาตะเพียนคนละ ๑ บาท แทงตะกรบคนละ ๑ สลึง ฉมวกคนละเฟื้อง ลอบยืนคนละ ๑ บาท ๒ สลึง ลอบนอนคนละ ๑ บาท ดักตุมคนละ ๑ สลึง ดักไซคนละ ๒ สลึง ดักลันคนละ ๑ เฟื้อง เบ็ดราวคนละ ๒ สลึง ตกเบ็ดปลาช่อนปลาชะโดคนละ ๑ เฟื้อง สวิงกุ้งปลาคนละ ๑ เฟื้อง อวนลำละ ๒ ตำลึง ๒ ปลา ยกยอขันช่อปากกว้างตั้งแต่วาหนึ่งขึ้นไป ให้เรียกลำหนึ่งวาละ ๑ บาท เชงเลงให้เรียกคนละ ๑ บาท ยกยอเล็กปากกว้างต่ำกว่า ๔ ศอกลงมาให้เรียกคนละ ๑ สลึง ดักจั่นให้เรียกคนละ ๑ สลึง ฉะนางให้เรียกคนละ ๒ สลึง ตกเบ็ดทรง ๑๐๐ ละ ๒ สลึง

น้ำเค็มรั้วปะกักคอกลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท รั้วปะกักลาลำละ ๑ ตำลึง ๒ บาท เรือฉลอมอวนลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท เรือไซมานลำละ ๓ ตำลึง เบ็ดลากลำละ ๒ บาท ๒ สลึง ที่โพงพางปากน้ำ ๑ ตำลึง ที่โพงพางถัดขึ้นมา ๓ บาท ที่โพงพางถัดมา ๒ บาท รั้วกางเคยที่บางhearลำละ ๑ บาท ๒ สลึง ทอดแหทะเลลำละ ๑ บาท เบ็ดกุเรา ๑ สลึง แทงรั้วปู ๒ สลึง สองคนลากอวนคนละ ๑ บาท เบ็ดวางตับๆ ๒ สลึง ช้อนกุ้งช้อนปลาคนละ ๑ เฟื้อง รุนกุ้งทะเล ๒ บาท รั้วโพงพางลากปลาในคลองลำละ ๒ สลึง รั้วโพงพางลำละ ๑ ตำลึง รั้วดักปูลำละ ๒ ตำลึง ปะกักคอกล้อมฉนากยกนายเรือเสียนอกนั้นเอาคนละ ๑ บาท ไสกุ้งไสเคยคนหนึ่งปีละ ๒ บาท ๒ สลึง ครึ่งปี ๑ บาท ๒ สลึง เดือนหนึ่งเป็นเงิน ๒ สลึง เรือกางกุ้งกางเคยน้ำจืดน้ำเค็มรั้วละ ๑ บาท เบ็ดลากกระเบนลำละ ๓ บาท เบ็ดวาสายลากเบ็ดลำละ ๑ บาท ๒ สลึง เบ็ดล่อกระพงคนละ ๒ สลึง เบ็ดราวหางกิ่ว ๒ สลึง เบ็ดสายหางกิ่ว ๑ สลึง แทงปลาหมอน้ำลำละ ๑ สลึง อวนลากยกนายเรือนอกนั้นเอาคนละ ๑ บาท รั้วไซมานรองคลองละ ๓ ตำลึง รั้วไซมานริมคลองลำละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ฉลอมกุเรา ๑ ตำลึง ปะกักคลองกะพงลำละ ๑ ตำลึง ๒ บาท อีชุดน้อยใส่เคยริมฝั่งคนละ ๑ สลึง กระดานถีบหอยคนละ ๑ สลึง (กระดานล้วงปลา)หมึก ๒ สลึง ขุดหอยปากเป็ด ๒ สลึง ฉมวกคนละ ๑ สลึง สวิงตักกุ้งไม่มีคัน ๑ เฟื้อง เรือหาหอยกะพงคนหนึ่ง ๑ เฟื้อง เรือหาหอยแมงภู่คนหนึ่ง ๔๐๐ เบี้ย เรือหาหอยหลอดคนหนึ่ง ๔๐๐ เบี้ย

ซึ่งราษฎรชักหญ้ากร่ำลงกระบังรังเผือก ห้วยหนองคลองบึงบางบ่อหลุมเอาตัวปลานั้น บางทีทำบ่อหลุมน้อยก็มีบ้าง ใหญ่ก็มีบ้าง ที่ชักหญ้ากร่ำลงกระบังรังเผือก ที่ใหญ่ยาวกว้างบ้างเล็กบ้างไม่เสมอกัน นอกกว่าพิกัดนั้นเป็นอย่างธรรมเนียมสืบๆมา สุดแต่นายอากรกับราษฎรผู้ทำกินจะเห็นพร้อมยอมกัน แล้วแต่นายอากรจะเรียกราษฎร จะผูกแก่กันตามสมควรจะยอมกันนั้นเถิด ถ้านายอากรยอมให้ทำก็ได้ ถ้านายอากรไม่ยอมให้ทำก็อย่าให้ราษฎรลักลอบทำเป็นอันขาด จนกำหนดลงในพิกัดด้วยไม่ได้ ให้นายอากรเรียกอากรค่าน้ำตามพิกัดมีมากในท้องตราแต่เท่านี้ ห้ามอย่าให้นายอากรเรียกอากรค่าน้ำล่วงแขวงล่วงอำเภอให้ล้ำเหลือผิดด้วยพิกัดอย่างธรรมเนียมแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้

ประการหนึ่งถ้าพรรคพวกบ่าวและทาส ซึ่งไปทำการด้วยกันนั้น เกิดวิวาทแก่กันเป็นแต่เนื้อความเล็กน้อย ก็ให้นายอากรสมัครสมานว่ากล่าวให้สำเร็จแต่ในกันเอง ถ้าเป็นเนื้อความมหันตโทษข้อใหญ่ ก็ให้ส่งไปยังผู้รักษาเมืองกรมการพิจารณาว่ากล่าวตามพระราชกำหนดกฎหมาย ถ้าและราชษรฎรฟ้องหากล่าวโทษสมัครพรรคพวกนายอากร ก็ให้นายอากรส่งตัวผู้ต้องคดีให้ผู้รักษาเมือง ให้กรมการพิจารณาว่ากล่าว ถ้าคดีต้องตัวนายอากร ก็ให้แต่งทนายไปว่าต่างไปแก้ต่าง อย่าให้ขัดขวางคดีของราษฎรไว้

อนึ่ง ห้ามอย่าให้ผู้รักษาเมือง กรมการ แขวงนายบ้าน นายอำเภอ เกาะกุมนายอากรพรรคพวกบ่าวและทาส ซึ่งไปทำอากรด้วยกันนั้น กะเกณฑ์ไปใช้ราชการเบ็ดเสร็จ ซึ่งมิได้เป็นพนักงาน และเก็บยืมเรือจังกูดกรรเชียงถ่อพายเครื่องสำหรับเรือ ไปให้ป่วยการทำอากรแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ และให้นายอากรกำชับห้ามปรามว่ากล่าวแก่พรรคพวกบ่าวและทาส อย่าให้กระทำคุมเหงฉกชิงฉ้อกระบัดทำการข่มเหงราษฎร และเป็นโจรผู้ร้ายปล้นสะดมเอาพัสดุทองเงินเครื่องอัญมณีของสมณะชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร ไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าพาณิช ทำลายพระพุทธรูปพระสถูปเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ พระอุโบสถพระวิหารการบุเรียนวัดวาอาราม ฆ่าช้างเอางาและขนายฆ่าสัตว์อันมีคุณ และห้ามอย่าให้รับซื้อเอาฝิ่นขายฝิ่นให้แก่กรมการราษฎรไทย มอญ ลาว เขมร แขก ญวน พม่า ทวาย ฝรั่งพุทธเกตเดิม ซึ่งเป็นกำลังราชการและทหารสำหรับไปณรงค์สงครามนั้น ซื้อขายของสิ่งของต้องห้าม ทำให้ผิดด้วยพระราชกำหนดกฎหมายห้ามปรามเก่าใหม่ แต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ครั้นลุท้องตรานี้ไซร้ ถ้ามีตรานกวายุภักษ์ มีหนังสือเจ้าจำนวนนำตั้งมาตั้งมาด้วยฉบับหนึ่ง เรื่องราวจำนวนเงินต้องกันแล้ว ก็ให้เจ้าเมืองกรมการลอกท้องตรานี้ไว้ แล้วให้ประทวนส่งตรานี้ให้แก่พระศรีชัยบาน หมื่นเทพ หมื่นวิสูตร หมื่นอินทร์ หมื่นศรีผู้เป็นนายอากร เข้าเรียกอากรค่าน้ำจืดน้ำเค็ม แต่จำนวนปีชวดจัตวาศกสืบไป ตามท้องตราและรับสั่งมานี้จงทุกประการ


(สารตรามา ณ วันเสาร์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๑๔ (พ.ศ. ๒๓๙๕))




........................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) ความต่อไปนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๒) พระราชนิพนธ์หมดเพียงเท่านี้




 

Create Date : 10 เมษายน 2550   
Last Update : 11 เมษายน 2550 15:04:53 น.   
Counter : 1407 Pageviews.  


1  2  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com