กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๖ กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ


กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ



..........................................................................................................................................................


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตได้ ๓ ปี ถึงปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๓๐ พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญได้เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

การพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๕ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ทรงจัดการพิธี เอาแบบอย่างครั้งอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นตำรา คือปลูกพลับพลาที่ประทับของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญที่หน้าโรงละคร ริมวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามเคย แต่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญเสด็จมาประทับเฉพาะเวลาเมื่อจะแห่ หาได้มาประทับแรมที่พลับพลาไม่ การที่แห่ก็แห่จากพลับพลาไปยังพระราชวังบวรฯ ไม่ได้ไปทรงเครื่องและขึ้นพระราชยานที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ดังแต่ก่อน สองข้างทางแห่ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์ ตามเคย

ส่วนในพระราชวังบวรฯที่ทำพิธีจัดแต่ ๒ แห่ง คือ ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยตั้งทั้งพระแท่นมณฑลและเทียนชัย เป็นที่พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวดมนต์และสวดภาณวารแห่ง ๑ ในห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งวสันตพิมานจัดเป็นที่ทรงฟังพระสงฆ์ธรรมยุติกา ๕ รูป สวดพระปริตอีกแห่ง ๑

มีการต้องแก้ไขเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่ง คือ ตามประเพณีเดิม กรมพระราชวังบวรฯต้องเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรทีในพระบรมมหาราชวัง แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระสุพรรณบัตร เจ้านายตั้งกรมที่วังทุกๆพระองค์ อุปราชาภิเษกครั้งนี้จึงต้องเอาแบบการเสด็จพระราชดำเนินครั้งบวรราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นตำรา

เริ่มการพิธีวันแรกเดือนอ้าย ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนราบ ไปประทับที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศ แล้วกระบวนแห่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญตามขึ้นไป ผ่านหน้าพระที่นั่งถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วไปประทับพระราชยานที่เกยพระที่นั่งมังคลาภิเษก เปลี่ยนเครื่องแต่งพระองค์ทรงเขียนทองพื้นขาว ฉลองพระองค์ครุย ไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีลที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ซึ่งจัดเป็นที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ครั้นจุดเทียนชัยแล้วเสด็จเข้าไปทรงฟังสวดที่พระที่นั่งวสันตพิมาน จนสวดมนต์จบเสด็จพระราชดำเนินกลับ แล้วจึงแห่กลับ

รุ่งเช้ากรมหมื่นบวรวิไชยชาญเสด็จจากวังใหม่ไปเลี้ยงพระที่ในพระราชวังบวรฯ ครั้นสวดมนต์ครบ ๓ วัน ถึงวันพุธ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ เพลาเช้า กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเข้าที่สรง แล้วเสด็จมารับพระราชทานพระสุพรรณบัตรและเครื่องราชูปโภคที่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ครั้นเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว กรมพระราชวังบวรฯเสด็จออกโปรยทานที่พระที่นั่งคชกรรมประเวศ(๑) และเวลาบ่ายมีการสมโภชเวียนเทียน เป็นการเสร็จพิธีอุปราชาภิเษก

กรมหมื่นบวรวิไชยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระชนมายุได้ ๓๑ พรรษา ในเวลานั้นพระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆในวังหน้า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซ่อมแซมสร้างไว้ยังบริบูรณ์ดี ไม่มีสิ่งสำคัญซึ่งปรากฏว่าสร้างใหม่ ครั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ขึ้นเป็นที่ประทับ เป็นแต่ทรงสร้างพระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างค้างไว้ให้สำเร็จ เสด็จไปประทับอยู่ ณ ที่นั้นทรงขนานนามว่า "พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส" ส่วนที่วิมานเดิมนั้นโปรดให้เจ้าคุณจอมมารดาเอม พระชนนีขึ้นมาอยู่ที่มุขตะวันออก อันเรียกว่า พระที่นั่งบูรพาภิมุข

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอุปราชาภิเษกนั้น มีตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระบวรราชวังเพิ่มเติมขึ้นครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก และทั้งมีทหารบกทหารเรือก็จัดขึ้นเป็นของวังหน้า ผิดกับครั้งพระมหาอุปราชแต่ก่อนๆ ข้าราชการวังหน้ายังมีตัวอยู่มาก เพราะลงมาสมทบรับราชการวังหลวงเพียง ๓ ปี ครั้งนั้นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระเยาว์พระชนมายุอยู่ บัญชาสั่งให้บรรดาข้าราชการที่มีสังกัดวังหน้า กลับคืนไปอยู่ในกรมพระราชวังบวรฯ ตามแบบโบราณ รวมทั้งกรมทหารบกทหารเรือ ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดขึ้นใหม่ด้วยทั้งสิ้น ไม่ได้ดำริให้ลดลง ให้คงแต่ตามอย่างกรมพระราชวังบวรฯแต่ก่อนมา เพราะฉะนั้นที่งข้าราชการและกำลังไพร่พลฝ่ายวังหน้า ในเวลากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอุปราชาภิเษกจึงมีมากกว่าครั้งไหนๆที่เคยปรากฏมาแต่ก่อน

ดูเหมือนความประสงค์ในครั้งนั้น จะให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงรักษาระเบียบแบบแผนการงานทั้งปวงที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงจัดไว้ให้คงที่ถาวรสืบไป กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงทรงพยายามที่จะเจริญรอยรักษาแบบอย่างของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา ทั้งขนบธรรมเนียมในพระราชวังบวรฯ มีเสด็จออกที่โรงรถแทนท้องพระโรงเป็นต้น ตลอดจนการฝึกหัดจัดทหารบกทหารเรือก็จัดต่อมาอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่เพราะฐานะผิดกัน ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทีพระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดินและเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นแต่กรมพระราชวังบวรฯ และเป็นแต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอในชั้นราชตระกูล การที่สะสมกำลังพลทหารจะให้เหมือนแบบอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นเพราะเรียกระดมทหารวังหน้า เมื่อปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ พ.ศ. ๒๔๗ ต้องจัดวางกำหนดอัตราเป็นยุติที่กรมพระราชวังบวรฯจะมีทหารได้เพียงใด เมื่อเป็นยุติแล้วจึงเรียบร้อยเป็นปกติต่อมา

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญโปรดในการช่างต่างๆมาแต่เดิม ทรงจัดตั้งโรงงานการช่างขึ้นในวังหน้าหลายอย่าง ทั้งช่างหล่อ ช่างกลึง ช่างเคลือบ ของที่ประดิษฐ์คิดทำขึ้นล้วนเป็นฝีมืออย่างประณีต จะหาเสมอได้โดยยาก แต่โรงงานการช่างในครั้งกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ใช้แก้ไขสถานที่ซึ่งมีมาแต่เดิมแล้วโดยมาก ปลูกสร้างใหม่ก็แต่ของเล็กน้อย มาในตอนหลังทรงหัดงิ้วขึ้นโรงหนึ่ง ก็ใช้สถานที่ของเดิมให้เป็นที่พวกงิ้วอาศัย

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๑๗ ปี ประชวรพระโรควักกะพิการ เสด็จทิวงคตที่พระที่นั่งบวรบริวัติ เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๔๗ พ.ศ. ๒๔๒๘ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ประดิษฐานพระศพประกอบพระโกศทองน้อย ไว้ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย และโปรดฯให้ประกาศสั่งคนโกนหัวไว้ทุกข์เฉพาะที่สังกัดฝ่ายพระราชวังบวรฯ เหมือนอย่างครั้งกรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแต่ก่อนมา

ครั้นถึง เดือน ๗ ปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ พระเมรุที่ท้องสนามหลวงสร้างเสร็จแล้ว จึงแห่พระศพจากพระราชวังบวรฯมายังพระเมรุ มีการมหรสพสมโภชและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลตามพระราชประเพณี พระราชทานเพลิงเมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๓ ค่ำ แล้วให้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์กับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกัน

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตแล้ว ในปีจอ จุลศักราช ๑๒๔๘ พ.ศ. ๒๔๒๙ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนา สมเด็จพระโอรสาธิราช เป็นมงกุฎราชกุมาร อย่างสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าตามราชประเพณีเดิม(๑) จึงประกาศพระราชกฤษฎีกาเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าแต่นั้นมา

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะไม่ให้เป็นที่ร้าง จึงโปรดฯให้จัดที่ในเขตวังชั้นนอกมาเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ คือ ราบ ๑๑ ทุกวันนี้ ด้วยทหารบกวังหน้ามาสมทบอยู่ในกรมนั้น วังชั้นกลางโปรดฯให้จัดพิพิธภัณฑ์สถานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ส่วนชั้นในยังมีเจ้านาย ทั้งพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชธิดากรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จอยู่ด้วยกันมาก จึงโปรดฯให้คงจัดรักษาเป็นพระราชวัง ให้มีเจ้าพนักงานรักษาหน้าที่อยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายการปกครองให้พระองค์เจ้าดวงประภา พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวหัว ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในทั่วไป และโปรดฯให้เสด็จขึ้นมาประทับอยู่ที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอุตสาหเสด็จขึ้นไปเยี่ยมเยียนเนืองๆ ด้วยพระองค์ทรงเคารพนับถือในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก ทรงอุปการแก่พระราชบุตรพระราชธิดามาทุกพระองค์ ถึงลูกเธอในกรมพระราชวังบบวรวิไชยชาญซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่โดยมากนั้น ก็ทรงจัดให้เล่าเรียน และเป็นพระราชธุระทำนุบำรุงต่อมา ที่เป็นพระองค์ชายเมื่อทรงพระเจริญขึ้นได้มีตำแหน่งรับราชการแทบทุกพระองค์

เมื่อพระองค์เจ้าดวงประภาสิ้นพระชนม์ โปรดฯให้พระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรองลงมา ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าต่อมา เหมือนอย่างพระองค์เจ้าดวงประภา และโปรดฯให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ พระเจ้าน้องนางร่วมพระชนนีกับกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งบวรบริวัตรมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕


เมื่อเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรฯแล้ว ครั้นล่วงเวลามาหลายปี ป้อมปราการที่ในวังหน้าชำรุดทรุดโทรมลงโดยลำดับ ด้วยตั้งแต่ก่อสร้างซ่อมแซมครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ต่อมาหาได้บูรณปฏิสังขรณ์อีกไม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า สถานที่ต่างๆในวังหน้าที่ไม่เป็นสิ่งสำคัญ จะลงทุนบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นก็ไม่เป็นประโยชน์อันใด ควรรักษาไว้แต่ที่เป็นสิ่งสำคัญ จึงโปรดฯให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆ ส่วนชั้นนอกข้างตะวันออกลงเปิดที่ท้องสนามหลวง

ต่อมาเมื่อเสด็จกลับจากประพาสนานาประเทศในยุโรปครั้งแรก เมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๖ พ.ศ. ๒๔๔๐ ทรงจัดการตกแต่งพระนครให้ไพบูลย์ขึ้น โปรดฯให้ข้างตะวันออกทำถนนราชดำเนิน และท้องสนามหลวงขยายต่อขึ้นไปข้างเหนือ จึงรื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆต่อไปอีก คงไว้แต่พระอุโบสถวัดบวรสุทธาวาส แล้วจึงโปรดฯให้สร้างตึกในสนามข้างด้านเหนือ ๓ หลังเป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการ แล้วเปลี่ยนมาใช้ราชการกระทรงยุติธรรมอยู่จนบัดนี้ และสร้างโรงไว้พระมหาพิชัยราชรถต่อลงมาข้างใต้ ที่ริมน้ำข้างตะวันตกก็รื้อสถานที่ของเดิม สร้างโรงทหารราบที่ ๑๑ ขึ้นใหม่

ส่วนข้างในพระราชวังบวรฯนานมามีคนอยู่น้อยลง ตำหนักข้างในร้างว่างเปล่ามาก จึงโปรดฯให้กันตำหนักข้างใต้ออกเป็นข้างหน้าตอน ๑ ให้จัดเป็นคลังเครื่องสรรพยุทธ์ ทำประตูขึ้นใหม่ตรงมุมถนนพระจันทร์ และรื้อเขื่อนเพชรเดิมก่อเป็นกำแพงใบเสมาเหมือกำแพงเดิมต่อไปข้างตะวันออกจนจรดกำแพงรั้วเหล็ก ซึ่งทำใหม่ในตอนเขตพิพิธภัณฑ์สถาน ว่าโดยย่อ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ถึงรัชกาลปัจจุบัน(๓) เมื่อพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์สิ้นพระชนม์ โปรดฯให้พระองค์เจ้าวงจันทร์ทรงสำเร็จราชการฝ่ายในวังหน้าแทนพระองค์เจ้าสุดาสวรรค์ต่อมา จนปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์เจ้าวงจันทร์สิ้นพระชนม์ เจ้านายข้างในยังเหลืออยู่น้อยพระองค์ สมัครจะเสด็จไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯเสด็จลงมาอยูในพระราชวังหลวง และทรงพระราชดำริว่า พระราชมณเฑียรสถานในพระราชวังบวรฯซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯแต่ก่อนมา ชำรุดทรุดโทรมมากนัก ไม่สมควรจะเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิต่อไป จึงโปรดฯให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระอัฐิกรมพระราชวังบวรฯทั้ง ๔ พระองค์ แห่มาจากพระราชวังบวรฯ เมื่อ วันที่ ๒ เมษายน ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ มาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารพระธาตุ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ส่วนที่วังหน้านอกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานนั้น โปรดฯให้กลาโหมดูแลปกครองรักษาต่อมาจนทุกวันนี้


....................................................................................................................................................

(๑) ที่ทรงโปรยทาน คงมีทุกคราวอุปราชาภิเษกแต่ก่อนมา แต่หากในจดหมายเหตุกล่าวถึงบ้างไม่กล่าวบ้าง อนึ่ง เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก ปรากฏว่าเสด็จลงมาถวายดอกไม้ธูปเทียนที่พระราชวังหลวง แต่ครั้งนี้เข้าใจว่า กรมพระราชวังบวรฯเห็นจะทูลเกล้าฯถวายที่พระราชวังบวรฯ เมื่อรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรเหมือนอย่างตั้งกรมเจ้านายในครั้งรัชกาลที่ ๔

(๒) มีบางเสียงบอกว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ควรจะได้เป็นตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่ "ทรงลงให้ด้วยความเรียบร้อย" ที่จริงแล้วตำแหน่งรัชทายาทย่อมได้กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระมหาอุปราชทั้ง ๕ พระองค์ที่ผ่านมาแต่ก่อนนั้นเป็นเพราะมีเหตุจำเป็น หากได้ติดตามตั้งแต่แรกก็จะเข้าใจดี คลิกที่ ตำนานวังหน้า - ปฐมบท

(๓) รัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว


..........................................................................................................................................................

ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ




 

Create Date : 27 มีนาคม 2550   
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:15:06 น.   
Counter : 2709 Pageviews.  


ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว



..........................................................................................................................................................


ถึงปีกุน จุลศักราช ๑๒๑๓ พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้พระเกียรติยศเป็นอย่างพระเจ้าแผ่นดิน(๑) เหมือนเมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชามหาอุปราชครั้งกรุงเก่า จึงโปรดฯให้แก้ไขประเพณีการฝ่ายพระราชวังบวรฯให้สมกับพระเกียรติยศที่ทรงยกย่องสมเด็จพระอนุชาธิราชนั้นหลายประการ

เป็นต้นว่า นามวังหน้าซึ่งเคยเรียกในราชการว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" ให้เปลี่ยนนามเรียกว่า "พระบวรราชวัง" พระราชพิธีอุปราชาภิเษกให้เรียกว่า "พระราชพิธีบวรราชาภิเษก" พระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัตร แบบเดิมว่า "พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล" พระราชทานพระนามอย่างพระเจ้าแผ่นดินว่า "สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ ฯ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" และขานคำรับสั่งกรมพระราชวังบวรฯเคยใช้ว่า "พระบัณฑูร" โปรดฯให้เปลี่ยนเป็น "พระบวรราชโองการ" ว่าโดยย่อ เติมคำ "บรม" เป็นฝ่ายวังหลวง และคำ "บวร" เป็นฝ่ายวังหน้าเป็นคู่กัน เกิดขึ้นในคราวนี้เป็นปฐม

เพราะเหตุที่เปลี่ยนพระราชพิธีอุปราชาภิเษก (เป็นบวรราชาภิเษก) ดังกล่าวมาแล้วนี้ ลักษณะการพิธีจึงเอาแบบอย่างพิธีบรมราชาภิเษกทางวังหลวงไปแก้ไขลดลงเป็นตำราพิธีบวรราชาภิเษก ตั้งต้นแต่เชิญพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯ แต่ก่อนงานพระราชพิธีบวรราชาภิเษก เสด็จประทับแรมอยู่ในพระฉากที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เหมือนอย่างทางวังหลวงเสด็จประทับแรมอยู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยฉะนั้น ครั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้รื้อมณฑปพระกระยาสนานที่พระองค์ทรงมุรธาภิเษก ไปปลูกพระราชทานให้เป็นที่สรงของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนที่ทำการพระราชพิธีนั้น ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์(๒) จัดตั้งเทียนชัยและเตียงพระสงฆ์สวดภาณวาร (อย่างที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง) ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย จัดตั้งพระแท่นมณฑล และเป็นที่พระราชาคณะผู้ใหญ่สวดมนต์ (อย่างพระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระราชวังหลวง) แต่งดพระที่นั่งอัฐทิศและพระที่นั่งภัทรบิฐหาตั้งไม่ ที่พระที่นั่งวสันตพิมานในห้องบรรทม จัดเป็นที่ประทับทรงสดับพระสงฆ์ธรรมยุติกาเจริญพระปริต (อย่างพระทีนั่งจักรพรรดิพิมานในพระราชวังหลวง) โรงพิธีพราหมณ์ปลูกในสนามหน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ตามอย่างอุปราชาภิเษก แต่ไม่มีกระบวนแห่เสด็จอย่างพระมหาอุปราชาภิเษกแต่ก่อน เพราะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯแล้ว

พระราชพิธีบวรราชาภิเษกตั้งสวดเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำ เป็นวันแรก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราแห่สี่สาย ขึ้นไปยังพระบวรราชวังในเวลาบ่ายทั้ง ๓ วัน ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๖ แรม ๑๓ ค่ำ เป็นพระฤกษ์บวรราชาภิเษก เสด็จขึ้นไปในเวลาเช้า พระราชทานน้ำอภิเษกและพระสุพรรณบัตร กับทั้งเครื่องราชูปโภคแก่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเสด็จกลับแล้ว (ในจดหมายเหตุของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่า) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาถวายดอกไม้ธูปเทียนที่ในพระบรมมหาราชวัง และวันรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปพระราชทานดอกไม้เงินทองของขวัญ ในการเฉลิมพระราชพิธีที่พระบวรราชวังอีกครั้งหนึ่ง

และในการเฉลิมพระราชมณเฑียรครั้งนั้น โปรดฯให้พระบรมวงศานุวงศ์เสนาอำมาตย์ราชเสวกทั้งฝ่ายวังหลวงวังหน้า ถวายดอกไม้ธูปเทียนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงประพฤติตามแบบอย่างเจ้านายรับกรม คือ ถวายดอกไม้ธูปเทียนแก่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเจริญพระชนมายุยิ่งกว่าทุกๆพระองค์ ครั้นเสร็จการพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรแล้ว โปรดฯให้แห่เสด็จพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเลียบพระนครทางสถลมารคอีกวันหนึ่ง จึงเสร็จการพระราชพิธีบวรราชาภิเษก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก พระชนมายุได้ ๔๓ พรรษา เสด็จขึ้นไปประทับที่พระบวรราชวังเวลากำลังปรักหักพังทรุดโทรมทั่วไปทั้งวัง ข้าราชการวังหน้าที่ได้ตามเสด็จไปแต่แรกเล่ากันว่า ถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวออกพระโอษฐว่า " เออ อยู่ดีดีก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง " ความข้อนี้สมกับคำพระครูธรรมวิธานาจารย์(สอน)(๓)เล่าว่า เมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับวังหน้านั้น วังหน้ารกร้างหักพังมาก ซุ้มประตูและหลังคาป้อมปราการรอบวังหักพังเกือบหมด กำแพงวังชั้นกลางก็ไม่เห็นมี ท้องสนามในวังหน้าชาวบ้านเรียกว่า "สวนพันชาติ" เพราะพันชาติตำรวจ ปลูกเหย้าเรือนอาศัย ขุดร่องทำสวนเต็มตลอดไปจนหน้าพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ สถานที่ต่างๆเช่นศาลาลูกขุนและโรงช้างเป็นต้น ของเดิมหักพังหมด มีแต่รอยเหลืออยู่ตรงที่ที่สร้างขึ้นใหม่

พระครูธรรมวิธานาจารย์ว่าสถานที่ต่างๆที่เห็นกันในชั้นหลัง เป็นของสร้างครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทั้งนั้น ความที่พระครูธรรมวิธานาจารย์กล่าวนี้ ยุติต้องด้วยเหตุการณ์ คิดดูแต่สร้างวังหน้ามาจนเวลานั้นได้ถึง ๖๙ ปี ปรากฏว่าได้ซ่อมแซมปฎิสังขรณ์แต่พระราชมณเฑียรเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นอกจากพระราชมณเฑียรเห็นจะชำรุดทรุดโทรมทั่วไปทั้งวัง และคงเป็นด้วยเหตุที่วังหน้ารกร้างทรุดโทรมนี้เอง จึงมีหมายรับสั่งปรากฏอยู่ว่า เมื่อก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จขึ้นไปประทับที่วังหน้านั้น ให้ทำพิธีฝังอาถรรภ์ใหม่ เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ค่ำ ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้แห่พระพุทธสิหิงค์กลับไปสถิตประดิษฐานในพระบวรราชวังฯ และในวันนั้นเวลาบ่ายพระสงฆ์ ๒๐ รูปสวดมนต์ที่ในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย รุ่งขึ้นวันขึ้น ๒ ค่ำ เวลาเช้า พราหมณ์ฝังอาถรรภ์ทุกป้อมและประตูพระราชวังบวรฯรวม ๘๐ หลัก เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปประทับที่พระราชวังบวรฯในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๖ นั้น

ตามที่ได้ความในจดหมายเหตุและที่พระครูธรรมวิธานาจารย์เล่าให้ฟังดังกล่าวมา เป็นอันยุติได้ว่า พระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆที่ปรากฏอยู่ในแผนที่วังหน้า เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาใหม่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ โดยมาก แต่การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนานั้น ถ้าจะกำหนดโดยเหตุต่างกัน เป็น ๓ ประการคือ ก่อสร้างเฉลิมพระเกียติยศที่เสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินนั้นประการ ๑ ก่อสร้างแทนของเดิมซึ่งปรักหักพังไปให้บริบูรณ์ดังแต่ก่อนประการ ๑ ก่อสร้างตามลำพังพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกประการ ๑ จะอธิบายต่อไปนี้ทีละอย่าง

สิ่งซึ่งสร้างขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเกือบจะทั้งนั้น ทั้งพระราชมณเฑียรสถานและเครื่องราชูปโภคทั้งปวง ตลอดจนตำแหน่งขุนนาง ยกตัวอย่างเช่นว่าจ่าตำรวจ ทรงตั้งขึ้นใหม่ในทำเนียบข้าราชการวังหลวง ก็โปรดฯให้ตั้งขึ้นใหม่ในทำเนียบข้าราชการวังหน้าด้วย ฉะนี้เป็นต้น ว่าโดยย่อ เครื่องเฉลิมพระเกียรติยศสำหรับวังหลวงมีอย่างไร ก็ทรงพระราชดำริให้มีขึ้นทางวังหน้าในครั้งนั้นโดยมาก จะกล่าวแต่เฉพาะพระราชมณเฑียรก่อน คือ

ข้อสำคัญ ปราสาทไม่เคยมีในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดฯให้สร้างปราสาทขึ้นหน้ามุขพระที่นั่งพุทไธสวรรย์องค์ ๑ ขนาดและรูปสัณฐานอย่างพระที่นั่งอาภรณพิโมกข์ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่า "พระที่นั่งคชกรรมประเวศ" มีเกยสำหรับขึ้นทรงช้างอยู่ข้างหน้า

สร้างพระที่นั่งโถง ทำนองพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ในพระราชวังหลวง ตรงมุมกำแพงบริเวณหน้าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย มุมข้างใต้องค์ ๑ มุมข้างเหนือองค์ ๑ มีเกยสำหรับทรงพระราชยาน ขนานนามว่า "พระที่นั่งมังคลาภิเษก" องค์ ๑ "พระที่นั่งเอกอลงกฏ" องค์ ๑ ยังอยู่จนทุกวันนี้ทั้ง ๒ องค์

ในชาลาข้างท้องพระโรง สร้างพระที่นั่งโถงองค์ ๑ เหมือนอย่างพระที่นั่งสนามจันทร์ และเรียกว่า "พระที่นั่งสนามจันทร์" อย่างเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งองค์นี้ยังอยู่ แต่ชำรุดจวนพังอยู่แล้ว

สร้างพลับพลาสูงที่ทอดพระเนตรฝึกซ้อมทหารบนกำแพงพระบวรราชวังด้านตะวันออกองค์ ๑ อย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ในพระราชวังหลวง แต่เป็นพลับพลาโถงเสาไม้หลังคาไม่มียอด เข้าใจว่าจะเหมือนอย่างพระที่นั่งสุทไธสวรรย์เมื่อแรกสร้าง ก่อนแก้เป็นปราสาทเมื่อในรัชกาลที่ ๓

สร้างพระตำหนักน้ำที่ท่าตำหนักแพองค์ ๑ เป็นเครื่องไม้ทำนองพระที่นั่งสร้างที่ท่าราชวรดิฐเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ขนานนามว่า "พระที่นั่งนทีทัศนาภิรมย์" ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติสร้างถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

สิ่งซึ่งสร้างขึ้นแทนของเก่า แต่ถ่ายแบบอย่างของในพระราชวังหลวงไปสร้างเฉลิมพระเกียรติก็มีหลายอย่าง เช่น โรงช้างต้น ม้าต้น และประตูมหาโภคราช สร้างใหม่เป็นประตูชั้นกลาง ทำเป็นประตูสองชั้นอย่างประตูพิมานชัยศรีในพระราชวังหลวงนั้นเป็นต้น

การชักธงตราแผ่นดินที่ในพระราชวังมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในพระราชวังหลวงตั้งเสาชักธงพระมหามงกุฎ ที่พระบวรราชวังก็โปรดฯให้ตั้งเสาธงพระจุฑามณีอย่างเดียวกัน

สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้นให้บริบูรณ์ตามของเดิมนั้น เช่น สร้างทิมดาบ เขื่อนเพชร โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุนเป็นต้น ตลอดจนก่อสร้างป้อมประตูที่ปรักหักพังให้กลับดีขึ้นดังเก่า ของเหล่านี้ที่ของเดิมเป็นเครื่องไม้ สร้างใหม่เป็นเครื่องก่ออิฐถือปูนโดยมาก ตำหนักข้างในก็ซ่อมใหม่ทั้งหมดในครั้งนั้น

สิ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างตามพระราชหฤทัยของพระองค์เองนั้น คือ พระราชมณเฑียรที่เสด็จประทับในพระบวรราชวัง ไม่พอพระราชหฤทัยที่จะประทัพระวิมานของเดิม จะสร้างพระราชมณเฑียรใหม่เป็นที่ประทับ แต่ที่พระบวรราชวังชั้นในคับแคบจึงโปรดฯให้ขยายเขตชั้นในขึ้นไปข้างด้านเหนือ (เขตเดิมอยู่ตรงแนวถนน แต่ประตูสุดายุรยาตรมาทางตะวันออก) และให้รื้อโรงละครซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงสร้างไว้แต่เดิมนั้นเสีย แล้วสร้างพระราชมณเฑียรใหม่ในที่บริเวณนั้นองค์ ๑ สร้างเป็นเก๋งจีนโดยฝีมืออย่างปราณีตบรรจง ครั้นสร้างเสร็จเสด็จขึ้นประทับ เผอิญประชวรเสาะแสะติดต่อมาไม่เป็นปรกติ จีนแสมาดูกราบทูลว่าเพราะพระที่นั่งเก๋งที่ประทับนั้น สร้างในที่กวงจุ๊ยไม่ดีเป็นอัปมงคล(๔) จึงโปรดฯให้รื้อพระที่นั่งเก๋งนั้นไปปลูกเสียนอกวัง (ตรงที่สร้างโรงกระสาปน์เดี๋ยวนี้)

ถึงรัชกาลที่ ๕ เก๋งนี้ก็ว่างอยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทอดพระเนตรเห็นแต่ยังทรงพระเยาว์ โปรดว่าฝีมือทำปราณีตน่าเสียดาย จึงให้ย้ายเอาไปปลูกไว้ในพระราชวังดุสิต เป็นที่สำหรับเจ้านายวังหน้าไปประทับเวลาเสด็จขึ้นไปเฝ้าฯ ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

ครั้นเมื่อรื้อพระที่นั่งเก๋งออกไปจากพระบวรราชวังแล้ว จึงทรงสร้างพระที่นั่งอีกองค์ ๑ ในบริเวณอันเดียวกัน เป็นแต่เลื่อนไปข้างตะวันออกหน่อยหนึ่ง พระที่นั่งองค์ใหม่นี้ทำเป็นตึกอย่างฝรั่ง สร้างโดยประณีตบรรจงเหมือนกัน ขนานนามว่า "พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์" พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระที่นั่งองค์นี้ตลอดมาจนเสด็จสวรรคต พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ยังอยู่จนทุกวันนี้

อีกอย่างหนึ่ง โปรดฯให้รื้อพระตำหนักแดงที่พระราชวังเดิม มาปลูกไว้ในพระบวรราชวังข้างด้านตะวันตกตรงมุมวังที่ขนานใหม่ พระตำหนักแดงนี้เข้าใจว่าเป็นพระตำหนักเดิมของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเรื่องตำนานจะกล่าวที่อื่นต่อไปข้างหน้า

อนึ่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบังคับบัญชาทหารปืนใหญ่(๕) จึงทรงศึกษาวิชาทหารอย่างยุโรป แล้วเอาเป็นพระธุระฝึกหัดจัดทหารตลอดมา และอีกประการหนึ่งโปรดวิชาต่อเรือกำปั่นรบ ได้ทรงศึกษาตำราเครื่องจักรกลกับมิชชันนารี จนทรงสร้างเครื่องเรือกลไฟขึ้นได้ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก จึงเป็นเหตุให้โปรดทั้งวิชาการทหารบกทหารเรือมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ครั้นเสด็จเฉลิมพระยศบวรราชาภิเษกแล้ว ก็ทรงจัดตั้งทหารวังหน้าขึ้นทั้งทหารบกทหารเรือ จ้างนายร้อยเอกนอกส์นายทหารอังกฤษ ซึ่งภายหลังได้เป็นกงสุลเยเนอราลอังกฤษในกรุงเทพฯ และเป็นเซอร์ ธอมมัส นอกส์ นั้น มาเป็นครูฝึกหัดตามแบบอังกฤษ

ส่วนทหารเรือก็ให้พระเจ้าลูกเธอเป็นนายทหารเรือหลายพระองค์ และทรงต่อเรือรบกลไฟ มีเรืออาสาวดีรศ และเรือยงยศอโยชฌิยา เป็นต้น ส่ำสมปืนใหญ่น้อยและเครื่องศัสตราวุธยุทธภัณฑ์สำหรับการทหารนั้นมากมาย จึงต้องสร้างสถานที่เพิ่มเติมขึ้นในวังหน้า เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพยุทธ์ และตึกดินที่ปรากฏในแผนที่วังหน้า ล้วนเป็นของสร้างขึ้นในครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้งนั้น ส่วนโรงทหารเรือนั้นจัดตั้งที่ริมน้ำข้างใต้ตำหนักแพ ตรงที่เป็นโรงทหารเดี๋ยวนี้

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวังใหม่วัง ๑ ที่ริมคลองคูเมืองเดิมข้างฝั่งเหนือ ตรงที่เป็นโรงพยาบาลทหารทุกวันนี้ ทำทางฉนวนออกจากพระบวรราชวังข้ามคลองไปจนถึงวังใหม่ วังใหม่นี้สร้างเป็นอย่างตึกฝรั่งทั้งวัง ว่าจะไว้เป็นที่เสด็จแปรสถานไปประทับสำราญพระราชอิริยาบถ แต่ทำยังไม่ทันแล้วเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานให้เป็นวังกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมา

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เล่ากันมาว่าพระอัธยาศัยไมโปรดที่จะแสดงยศศักดิ์ โดยปรกติเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าก็เสด็จออกที่โรงรถ ต่อเวลามีพิธีจึงเสด็จออกท้องพระโรง จะเสด็จที่ใด ถ้ามิได้เป็นราชการงานเมือง ก็มักจะเสด็จแต่โดยลำพังพระองค์ บางทีทรงม้าไปกับคนตามเสด็จคนหนึ่งสองคน โดยพอพระราชหฤทัยที่จะเที่ยวประพาสมิให้ใครรู้ว่าพระองค์เสด็จ

แม้จะเสด็จไปตามวังเจ้านายก็ไม่ใคร่ให้รู้พระองค์ก่อน พระองค์เจ้าประดิษฐวรการเคยตรัสเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เมื่อแรกได้บังคับช่างสิบหมู่แต่ยังเป็นหม่อมเจ้าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเวลาค่ำแล้วได้ยินเสียงคนมาร้องเรียกที่ประตูวัง ให้คนเปิดประตูออกมา พบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปที่วัง พระองค์เจ้าประดิษฐฯตกพระทัย ออกไปเชิญเสด็จมาประทับบนหอนั่ง เวลานั้นมีแต่ไต้จุดอยู่ใบหนึ่ง จะเรียกพรมเจียมมาปูรับเสด็จก็รับสั่งห้ามเสีย ประทับยองๆดำรัสเรื่องที่โปรดให้ทำสิ่งของถวายไปพลางและทรงเขี่ยไต้ไปพลาง จนเสร็จพระราชธุระ จึงเสด็จกลับไปพระบวรราชวัง

อันเรื่องทรงม้า เล่ากันว่าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดนัก ประทับอยู่พระบวรราชวังเสด็จทรงม้าเล่นในสนามไม่ขาด บางทีก็ทรงคลี บางทีเวลากลางคืนให้เล่นขี่ม้าซ่อนหา วิธีเล่นนั้น ให้มีคนขี่ม้าตะพายย่ามติ้ว แต่งตัวเหมือนกับคนอยู่โยงอีกคนหนึ่ง คนขี่ม้าหนีต้องได้ติ้วก่อนจึงจะเข้าโยงได้ ความสนุกอยู่ที่รู้ไม่ได้ว่าม้าตัวไหนเป็นม้าติ้ว และม้าไหนเป็นม้าอยู่โยงเพราะแต่งตัวเหมือนกัน บางทีคนขี่ม้าติ้วแกล้งไล่ ผู้ที่ไม่รู้หลงหนี เลยเข้าโยงไม่ได้ก็มี เล่ากันว่าสนุกนัก

บางทีก็ถึงทรงม้าเข้าล่อช้างน้ำมัน ครั้งหนึ่งว่าทรงม้าผ่านตัวโปรด ขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาด เข้าล่อช้างพลายแก้วซึ่งขึ้นระวางเป็น พลายไฟภัทกัลป์ เวลาตกน้ำมัน พอช้างไล่ ทรงกระทบแผงข้างจะให้ม้าวิ่ง ม้าตัวนั้นเป็นม้าเต้นน้อยดี ไปเต้นน้อยเสีย เล่ากันว่า วันนั้นหากหมออาจซึ่งเป็นหมอตัวดีขี่พลายแก้ว เอาขอฟันที่สำคัญเหนี่ยวพลายแก้วไว้อยู่โดยฝีมือ อีกนัยหนึ่งว่าปิดตาช้างแล้วเบนไปเสียทางอื่นทัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงไม่เป็นอันตราย

เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่โปรดการทะแกล้วทหารและสนุกคะนองต่างๆดังกล่าวมานี้ จึงเกิดเสียงกระซิบลือกันว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิชาอาคม บางคนว่าหายพระองค์ได้ บ้างว่าเสด็จลงเหยียบเรือกำปั่นฝรั่งเอียงก็มี กระบวนทรงช้างก็ว่าแข็งแรงนัก ของที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงเล่น ที่เล่าลือกันอีกอย่างหนึ่งก็ "แอ่วลาว" ว่าทรงได้สันทัดทั้งแคนทั้งแอ่ว คำแอ่วเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีปรากฏอยู่จนบัดนี้หลายเล่มสมุด เซอร์จอนห์น เบาวริ่ง ราชทูตอังกฤษเข้ามากรุงเทพฯ แต่งหนังสือกล่าวไว้ว่า เมื่อวันพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเลี้ยงนั้น เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้ว ทรงแคนให้ฟัง เซอร์จอห์น เบาวริ่ง ชมไว้ในหนังสือว่าทรงเพราะนัก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จดำรงพระราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี ในตอนปลายเกิดวัณโรคขึ้นภายในพระองค์ มีพระอาการประชวรเสาะแสะมาหลายปี จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมืองเนืองๆ กล่าวกันว่ามักจะเสด็จไปประทับตามถิ่นที่มีบ้านลาว เพราะโปรดฯแอ่วลาว เสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะทวน แขวงจังหวัดนครชัยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่ไปประทับที่ตำหนักบ้านสีทา แขวงจังหวัดสระบุรีโดยมาก

จนปีฉลู จุลศักราช ๑๒๒๗ พ.ศ. ๒๓๑๘ พระอาการที่ประชวรหนักลง ต้องเสด็จกลับกรุงเทพและในเดือนยี่ ปีฉลูสัปตศกนั้น เป็นกำหนดพระฤกษ์จะได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยูหัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมากอยู่ จะโปรดฯให้เลื่อนงานโสกันต์ไป ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลขออย่าให้เลื่อนงาน ว่าพระองค์ประชวรมากอยู่แล้วจะไม่ได้มีโอกาสสมโภช จึงต้องโปรดฯให้คงงานไว้ตามพระฤกษ์เดิม

ครั้นถึงงาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้เจ้าพนักงานเตรียมกระบวนจะเสด็จลงมาจรดพระกรรไกรพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ต้องรับสั่งให้ทอดที่ราชอาสน์เตรียมไว้รับเสด็จตามเคย ทั้งทรงทราบอยู่ว่าพระอาการมากจะไม่เสด็จลงมาได้ โดยจะมิให้สมเด็จพระอนุชาธิราชโทมนัสน้อยพระทัย ด้วยพระบาทสมเด็พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก รับสั่งเล่าว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น เสด็จขึ้นไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อใด มักดำรัสเรียกเข้าไปใกล้แล้วยกพระหัตถ์ลูบ รับสั่งว่า "เจ้าใหญ่นี่แหละ ต่อไปจะเป็นที่พึ่งของญาติได้"

ในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปทรงรักษาพยาบาลทั้งกลางวันกลางคืน ประชวรมาจนวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ พอเป็นวันสุดงานพระราชพิธีโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ พระชนมายุได้๕๘ พรรษา การพระศพโปรดฯให้เรียกว่าพระบรมศพ จัดเหมือนอย่างพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกอย่าง เว้นแต่มิได้ทรงพระลองเงินกับประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์แต่ทีมีสังกัดในพระบวรราชวัง เหมือนอย่างกรมพระราชวังบวรฯ มิได้ให้โกนหัวทั้งแผ่นดิน

ครั้นถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๑๙ โปรดฯให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง ตามแบบอย่างพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และจัดการแห่พระเมรุพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนองกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ในรัชกาลที่ ๒ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นเป็นหลายประการ

ปรากฏรายการงานพระเมรุครั้งนั้นว่า ณ เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำ เชิญพระบรมธาตุแห่แต่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยในพระบวรราชวัง ออกประตูมหาโภคราช และประตูบวรยาตราด้านตะวันออก มาสมโภชที่พระเมรุวันกับคืนหนึ่ง แห่พระบรมธาตุกลับแล้ว ถึงเดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ เพลาบ่าย ๒ โมง เชิญพระบรมศพแห่ออกประตูโอภาษพิมานชั้นกลางด้านเหนือ และประตูพิจิตรเจษฎาด้านตะวันตกพระบวรราชวัง ไปถึงตำหนักแพ เชิญพระบรมโกศประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งกิ่งไกรสรมุข แห่ล่องมาประทับที่พระราชวังเดิม ด้วยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่ตลอดในรัชกาลที่ ๓ มีมหรสพสมโภชคืนหนึ่ง ครั้นเวลาดึกเคลื่อนเรือพระบรมศพมาประทับที่ท่าฉนวนวัดพระเชตุพนฯ รุ่งขึ้น ขึ้น ๖ ค่ำ เวลาเช้าแห่กระบวนน้อยไปยังที่ตั้งกระบวนใหญ่ที่สนามชัย เชิญพระบรมโกศขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่ไปยังพระเมรุมาศ ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๗ วัน แล้วพระราชทางเพลิงเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ เมื่อเสร็จการสมโภชพระบรมอัฐิแล้ว โปรดฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ที่ในพระบวรราชวัง

เมื่อพระบาสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตนั้น วังหน้าผิดกับเวลาเมื่อกรมพระราชวังบวรฯ รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ สวรรคตหลายอย่าง เป็นต้นว่า พระราชวังบวรฯที่เคยชำรุดทรุดโทรม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์ให้กลับบริบูรณ์ดีแล้วทั้งข้างหน้าข้างในทั่วไป และเจ้านายฝ่ายในพระบวรราชวังก็มีมากขึ้น มีพระองค์เสด็จอยู่ทั้ง ๔ รัชกาล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ไม่ควรจะทิ้งพระบวรราชวังให้เป็นวังร้างว่างเปล่าเหมือนอย่างแต่ก่อน และตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปประทับอยู่วังหน้าก็เคยมี ดังกล่าวมาแต่ก่อนแล้ว จึงเสด็จขึ้นไปประทับเป็นประธานในพระบวรราชวังเนืองๆ บางทีก็เสด็จไปเยี่ยมเยียนเฉพาะเวลา บางทีประทับแรมอยู่ก็มีบ้าง

และเวลานั้นมีเก๋ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระวิสูตรวารี(มะลิ) สร้างถวายตรงหน้าพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ยังค้างอยู่ จึงโปรดฯให้สร้างต่อมาจนสำเร็จ ขนานนามว่า "พระที่นั่งบวรบริวัติ" เป็นที่ประทับเวลาเสด็จไปอยู่พระบวรราชวัง ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ แต่ต่อมา ดำรัสว่าพระที่นั่งบวรบริวัติถูกแดดบ่ายร้อนจัดนัก โปรดฯให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งต่อไปข้างเหนือ การยังไม่สำเร็จจนตลอดรัชกาลที่ ๔

ตรงนี้ควรจะกล่าวถึงเรื่องข้าราชกาลวังหน้าแทรกลงสักหน่อย ด้วยเนืองในเรื่องตำนานของวังหน้าแต่ครั้งกรุงเก่า ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯไม่ปรากฏทำเนียบในกฏหมายเดิม (ที่พิมพ์เป็นเล่มนั้น) แต่มีข้าราชการบางตำแหน่งในทำเนียบเดิม เช่น หลวงมหาอำมาตย์ ว่าเป็นสมุหมหาดไทยฝ่ายเหนือ หลวงธรรมไตรโลก ว่าเป็นสมุหพระกลาโหมฝ่ายเหนือ คำว่า "ฝ่ายเหนือ" ที่กล่าวในทำเนียบหมายความว่าราชธานีฝ่ายเหนือคือ เมืองพิษณุโลกเป็นแน่ไม่มีที่สงสัย คือเป็นอัครมหาเสนาบดีของเจ้าที่ครองเมืองพิษณุโลก ถึงเจ้ากรมพระตำรวจ ตำแหน่งขุนราชนรินทร์ ขุนอินทรเดช ที่เรียกว่า "กรมพระตำรวจนอก" นั้น ก็เป็นตำแหน่งตำรวจฝ่ายเหนืออย่างเดียวกัน ด้วยมีปรากฏในเรื่องพระพงศาวดารว่า เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีมาล้อมกรุงเก่าไว้ พระมหาธรรมราชาที่ครองเมืองพิษณุโลกมาในกองทัพพระเจ้าหงสาวดี เสด็จเข้ามาว่ากล่าวชาวเมืองให้ยอมแพ้ ชาวเมืองไม่เชื่อกลับเอาปืนยิงพระมหาธรรมราชา ขุนอินทรเดชเข้าอุ้มพระองค์พาหนีปืนไป ความอันนี้เป็นหลักฐานว่า ตำแหน่งขุนอินทรเดชเป็นตำรวจพิษณุโลก

เลยส่อให้เห็นต่อไปว่าที่เรียกในทำเนียบว่า "ตำรวจสนม" ซึ่งขุนพรหมบริรักษ์ ขุนสุริยภักดีเป็นเจ้ากรมนั้น เดิมเห็นจะเป็นตำรวจสำหรับพระอัครมเหสี ตำรวจสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน เดิมมีแต่ ๔ ตำรวจเท่านั้น ตำแหน่งข้าราชการฝ่ายเหนือที่กล่าวมานี้ เห็นจะรวมสมทบเข้าในทำเนียบข้าราชการวังหลวง เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉะนั้นก็ในแผ่นดินสมเด็จพระนเศวรมหาราช ที่จริงตำแหน่งข้าราชการตามทำเนียบฝ่ายพระราชวังบวรฯ ที่ปรากฏในชั้นหลัง เช่นพระยาจ่าแสนยากร และพระยากลาโหมราชเสนาเป็นต้น น่าจะเกิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช ด้วยมีพระเกียรติยศเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานในหนังสือพระราชพงศาวดาร มามีชื่อขุนนางวังหน้าตามทำเนียบใหม่ บางตำแหน่งปรากฏต่อเมื่อสมเด็จพระเจ้านารายณ์มหาราชเป็นพระมหาอุปราชในแผ่นดินสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา จึงสันนิษฐานว่าจะพึ่งตั้งทำเนียบข้าราชการวังหน้าสังกัดเป็นหมวดหมู่ เมื่อตั้งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาเป็นเดิมมา ข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯที่ตั้งในกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น เอาทำเนียบอย่างครั้งกรุงเก่ามาตั้ง แล้วมาให้เพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ตรงกับทำเนียบวังหลวง เหตุด้วยมีพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งข้าราชการวังหน้าจึงมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

อนึ่ง ตามประเพณีมีแต่โบราณมา เวลาว่างพระมหาอุปราช จะเป็นด้วยเหตุพระมหาอุปราชเสด็จผ่านพิภพเก็นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ดี หรือพระมหาอุปราชสวรรคตก็ดี ข้าราชการวังหน้าต้องมาสมทบเป็นข้าราชการวังหลวง ผู้ที่รับราชการในกรมไหนในวังหน้า ก็มารับราชการในกรมนั้นในพระราชวังหลวง แต่นั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงตั้งทั้งตำแหน่งข้าราชกาลฝ่ายวังหลวงและวังหน้า จนทรงตั้งพระมหาอุปราชเมื่อใด ข้าราชการที่ตำแหน่งเป็นฝ่ายพระราชวังบวรฯ ก็กลับไปรับราชการในพระมหาอุปราช เป็นประเพณีมีมาดังนี้

พิเคราะห์ในทางพงศาวดารของข้าราชการวังหน้าในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อแรกตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเลือกสรรผู้ซึ่งทรงคุ้นเคยใช้สอยในพระองค์มาก่อน มาตั้งเป็นข้าราชการวังหน้าตามพระอัธยาศัย ข้าราชการวังหลวงกับวังหน้าครั้งนั้นเสมอเป็นต่างพวก มาในตอนปลายจึงมีเหตุเกิดอริกันดังอธิบายมาแล้ว เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว ข้าราชการวังหน้ามาสมทบอยู่ในพระราชวังหลวง ๓ ปี ขุนนางครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่ร้ายก็ถูกกำจัดไป ที่ดีก็ย้ายไปรับราชการตำแหน่งในพระราชวังหลวง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ข้าราชการวังหน้าเดิมเห็นจะเหลืออยู่น้อย จึงปรากฏว่าทรงตั้งข้าหลวงเดิมเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯโดยมาก ครั้งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระราชประสงค์ตัวคนที่ได้ทรงตั้งเป็นตำแหน่งขุนนางวังหน้าไว้รับราชการในพระราชวังหลวง จึงต้องจัดหาข้าราชการวังหน้าขึ้นใหม่สำหรับสมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย ที่ได้อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในครั้งนั้นเห็นจะทรงพระราชดำริปรึกษากัน จะป้องกันมิให้ข้าราชวังหน้ากับวังหลวงเกิดเป็นต่างพวกต่างเหล่าดังแต่ก่อน จึงโปรดฯให้จัดบุตรหลานข้าราชการผ้ใหญ่ในพระราชวังหลวง แบ่งไปรับราชการมีตำแหน่งในฝ่ายพระราชวังบวรฯทุกๆตระกูล ยกตัวอย่างเช่นในตระกูลเจ้าพระยามหาเสนา(บุนนาค) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ผู้พี่ ได้เป็นจมื่นไวยวรนาถในพระราชวังหลวง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ผู้น้อง ได้เป็นจมื่นเด็กชายในพระราชวังบวรฯเป็นต้น ในสกุลอื่นๆก็แบ่งไปโดยทำนองเดียวกัน

ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สวรรคต ข้าราชการวังหน้ามาสมทบในพระราชวังหลวง ก็เข้ากันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ได้ย้ายมาเป็นตำแหน่งข้าราชการฝ่ายวังหลวงในระหว่างเวลาว่างพระมหาอุปราชอยู่ ๗ ปีนั้นโดยมาก ยกตัวอย่างเช่นสมเด็จเจ้าพระยาทั้ง ๒ องค์ที่กล่าวมาแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ได้เป็นพระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็ได้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์จางวางมหาดเล็ก

ถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อข้าราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯกลับไปรับราชการในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เห็นจะเหลือข้าราชการวังหน้าครั้งกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ กลับไปไม่เท่าไร แต่ต่อมาไม่ช้าเมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ กรมพระราชวังบวรฯก็จำเป็นต้องเสด็จเป็นจอมพลไปปราบเมืองเวียงจันทน์ เห็นจะโปรดฯให้เลือกผู้ทีมีความสามารถไปเป็นขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายพระราชวังบวรฯคราวไปทัพนั้นหลายคน ปรากฏข้าราชการผู้ใหญ่ในตารางเกณฑ์ทัพหลายตำแหน่ง แต่ชั้นผู้น้อยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงจัดคนพระราชทานอย่างเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ กรมพระราชวังบวรฯต้องทรงเลือกหาเอง ได้ยินเล่ากันว่า ครั้งนั้นพวกข้าราชการวังหลวงไม่ใคร่มีใครสมัครขึ้นไปอยู่วังหน้า ได้แต่ผู้ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯทรงคุ้นเคยชอบพอในส่วนพระองค์มาแต่ก่อน หรือที่ไม่ใคร่มีช่องทางที่จะได้ดีทางวังหลวง ไปเป็นข้าราชการวังหน้า

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตแล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชว่างอยู่ถึง ๑๘ ปี ข้าราชการวังหน้าที่มาสมทบในพระราชวังหลวงก็หมดตัว แต่ในรัชกาลที่ ๓ ครั้งมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราชบวรราชาภิเษก เป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องหาข้าราชการวังหน้าใหม่ทั้งชุด จึงโปรดฯให้จัดบุตรหลานข้าราชการผู้ใหญ่ในพระราชวังหลวง แบ่งไปรับราชการฝ่ายพระราชวังบวรฯ เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ ข้าราชการวังหน้าครั้งรัชกาลที่ ๔ จึงอยู่ในสกุลเดียวกับข้าราชการวังหลวงโดยมาก

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้ว ข้าราชการฝ่ายพระบวรราชวังก็ลงมาสมทบรับราชการในพระราชวังหลวง ตำแหน่งสังกัดกรมไหนก็ไปรับราชการในกรมที่ตรงกัน ตามประเพณีโบราณทุกๆกรม มีที่ต้องจัดเป็นพิเศษอยู่ ๒ กรม คือกรมทหารบกกับทหารเรือ ด้วยพึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ในครั้งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และในครั้งนั้นการบังคับบัญชาทหารอย่างยุโรปยังไม่ได้รวมขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหมทุกกรมทั่วไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการทหารบกวังหน้า และโปรดฯให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญชาการทหารเรือวังหน้าต่อมา.


....................................................................................................................................................

(๑) สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ถึงพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงอ้างถึงพระชะตาของสมเด็จพระอนุชาธิราชว่า "ถ้าฉันไม่ให้เธอเป็นพระเจ้าแผ่นดินคู่กับฉัน เธอนั้นก็น่าจะต้องได้เป็นเพียงพระองค์เดียวโดยแน่แท้"

(๒) เดิมเรียกพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เข้าใจว่าเปลี่ยนเป็นพุทไธสวรรย์ เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

(๓) พระครูธรรมวินาจารย์ได้อยู่วัดมหาธาตุมาแต่เป็นเด็กศิษย์วัด เดี๋ยวนี้อายุได้ ๘๐ ได้เคยผ่านไปมาทางวังหน้าเสมอตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๓

(๔) มีนิทานเรื่องหนึ่งเล่ากันมาว่า
มีผู้มาลองดีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยส่งสิงโตศิลาคู่ ๑ มาถวาย โปรดฯให้ตั้งไว้หน้าพระทวาร ตกกลางคืนก็สำแดงฤทธิ์ ส่งเสียคำรามอาละวาด พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบก็ทรงปราบด้วยอาคม สิงโตตัวผู้เผ่นหนีลงน้ำไปได้ (รู้สึกว่าจะปรากฏตัวอีกครั้งในประวัติตี๋ใหญ่) ส่วนตัวเมียหนีไม่รอดจึงต้องอยู่ในวังหน้าต่อมา ต่อมาจึงได้เป็น "เจ้าพ่อสิงโต" ที่ศาลริมน้ำในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

พิจารณาดูที่ตั้งวังหน้านั้นอยู่ในที่ที่เรียกกันว่า "สามแพร่ง" พอดี คือ คลองบางกอกน้อยพุ่งตรงเข้าหาวังหน้า มีลำเจ้าพระยาขวาง เป็นสามแพร่ง ที่เอาสิงโตมาไว้ที่ริมน้ำบริเวณนั้น คิดว่าน่าจะเป็นการแก้กวงจุ๊ย (ฮวงจุ้ย) ที่เนืองมากับจีนแสแก้กวงจุ้ยพระที่นั่งเก๋งครั้งนี้

(๕) นี่เป็นหลักฐานอีกข้อ ที่พิสูจน์น้ำพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่ามิได้ทรงระแวงในสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชอนุชาทั้ง ๒ พระองค์เลย


..........................................................................................................................................................

ตำนานวังหน้า - พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว




 

Create Date : 27 มีนาคม 2550   
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:14:17 น.   
Counter : 8034 Pageviews.  


ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๔ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ


วัดบวรสถานสุทธาวาส



..........................................................................................................................................................


เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์สวรรคตแล้ว วังหน้าว่างมาอีก ๗ ปี ด้วยไม่ได้ทรงตั้งพระมหาอุปราชมาจนตลอดรัชกาลที่ ๒ ในระหว่างนั้นเจ้านายฝ่ายในพระราชวังบวรฯ ทั้งที่เป็นพระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เสด็จลงมาอยู่ตำหนักในพระราชวังหลวงหลายพระองค์ แต่พระองค์เจ้าดาราวดีพระราชธิดากรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ นั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพทูลขอไปเป็นพระชายา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จสวรรคตเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๑๘๖ พ.ศ. ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ราชสมบัติ ทรงพระราชดำริว่ากรมหมื่นศักดิพลเสพมีบำเหน็จความชอบมาก จะโปรดฯให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และมีรับสั่งว่าวังหน้าเป็นพระราชวังใหญ่โต หาควรจะทิ้งไว้ให้เป็นวังร้างไม่ กรมหมื่นศักดิพลเสพก็เป็นพระราชบุตรเขยของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พ้นข้อรังเกียจที่กล่าวกันว่า ทรงแช่งสาปไว้แต่ก่อน จึงโปรดฯให้เสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับอยู่ในพระราชวังบวรฯ

ได้ทำการอุปราชาภิเษกเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ ลักษณะการพิธีที่ทำครั้งรัชกาลที่ ๓ คราวนี้ โดยยุติว่าครั้งกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นตำราอุปราชาภิเษก จึงปลูกพลับพลาข้างโรงละคร ให้กรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จเข้ามาประทับแรมอยู่ในพระบรมมหาราชวังตลอดเวลาพิธี และเสด็จไปทรงเครื่องที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ แล้วแห่ขึ้นไปทรงฟังสวดที่พระราชวังบวรฯเหมือนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ แปลกกับอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๒ แต่ที่พระสงฆ์สวดในพระราชวังบวรฯเป็น ๔ แห่ง คือ พระที่นั่งวสันตพิมานแห่ง ๑ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศแห่ง ๑ พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์แห่ง ๑ และพระที่นั่งสุทธาสวรรค์อีกแห่ง ๑ กับดูเหมือนจะลดถาดทองและตั่งไม้มะเดื่อที่ที่สรง และลดกระบวนที่แห่เสด็จลงบ้าง ด้วยปรากฏในหมายกรมวังตรง ๒ ข้อนั้นว่า "ให้ไปทูลถามกรมหมื่นรักษ์รณเรศ" แต่จะยุติเป็นอย่างไรหาทราบไม่ กรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเมื่อพระชนมายุได้ ๔๐ พรรษา

กรมพระราชวังมหาศักดิพลเสพได้ทรงสถาปนาการในพระราชวังบวรฯหลายอย่าง ทราบได้โดยจดหมายเหตุบ้าง โดยสังเกตฝีมือช่างบ้าง เวลานั้นพระราชมณเฑียรสถานเห็นจะชำรุดทรุดโทรมมาก เข้าใจว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงซ่อมแซมพระวิมานทั้ง ๓ หลัง และในคราวที่ซ่อมแซมนี้ ทรงสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ด้วย คือ

ในหมู่พระวิมาน ต่อมุขหลังตรงพระวิมานองค์กลางออกไปเป็นท้องพระโรงหลังมุข ๑ ขนานนามว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข ส่วนมุขหน้าของเดิมแปลงเป็นมุขกระสัน นานนามว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร

ให้รื้อทิมมหาวงศ์ด้านตะวันออกเสียทั้งด้าน แล้วสร้างพระที่นั่งเป็นท้องพระโรงขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ต่อจากมุขของเดิม ให้พระที่นั่งบุษบกมาลาที่มุขเด็ดเดิมอยู่เป็นประธานในท้องพระโรงนั้น หน้าท้องพระโรงพอต่อถึงบริเวณพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ท้องพระโรงที่ทำใหม่นี้ เอาอย่างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระราชวังหลวง ขนานนามว่า พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

สร้างหอพระขึ้นสองข้างมุขกระสันที่ต่อกับท้องพระโรง รูปหลังคาเป็นทรงเก๋งจีน หอหลังเหนือเป็นที่ไว้พระอัฐิเหมือนอย่างหอพระธาตุมณเฑียรในพระราชวังหลวง หอหลังใต้เป็นที่ไว้พระพุทธรูปเหมือนอย่างหอพระสุลาลัยพิมานที่เป็นคู่กัน

พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เครื่องบนซ่อมใหม่ ต่อเฉลียงเสาลอยรอบ และทำซุ้มพระแกลใหม่ อย่างที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้

พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน ที่เป็นห้องพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้ เข้าใจว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้รื้อของเดิมทำให้ใหม่ทั้งหลัง ด้วยของที่ยังปรากฏอยู่เป็นฝีมือช่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ทั้งนั้น ของเดิมเห็นจะเล็กขนาดเท่าพระที่นั่งทรงปืนที่กรุงเก่า และบางทีจะสร้างเป็นเครื่องไม้ด้วยซ้ำไป

ที่กลางสระซึ่งรื้อพระที่นั่งพิมานดุสิดาเสียเมื่อในรัชกาลที่๒ นั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่อีกองค์ ๑ ขนานนามว่า "พระที่นั่งรังสรรค์จุฬาโลก" แต่เห็นจะสร้างเป็นเครื่องไม้ ต่อมาจึงหักพังเสียหมด ทราบไม่ได้ในเวลานี้ว่ารูปสัณฐานเป็นอย่างไร ที่ทราบว่าสร้างพระที่นั่งขึ้นใหม่ตรงนั้น เพราะนามพระที่นั่งยังปรากฏอยู่เท่านั้น

สิ่งสำคัญที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังบวรฯมีอีกสิ่งหนึ่ง คือ วัดบวรสถานสุทธาวาส(๑) เรียกกันเป็นสามัญแต่ก่อนว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" เพราะอยู่ในวังเหมือนกับวัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระราชวังหลวง ทรงอุทิศที่สวนกระต่ายเดิมสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา เหตุที่จะสร้างวัดบวรสถานสุทธาวาสเล่ากันมาเป็นหลายอย่าง แต่ไม่ยุติว่าจะเป็นความจริงได้แน่ กล่าวกันว่าทรงสร้างแก้บนครั้งเสด็จยกทัพไปปราบกบฏเวียงจันทน์ เล่ากันอีกอย่างหนึ่งว่า แต่เดิมจะทรงสร้างเป็นยอดปราสาท จนปรุงตัวไม้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ มีรับสั่งให้ไปห้ามว่า ในพระราชวังบวรไม่มีธรรมเนียมที่จะมีปราสาท กล่าวกันว่าเป็นเหตุให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพน้อยพระทัยมาก จึงโปรดให้แก้เป็นหลังคาจตุรมุขอย่างเช่นปรากฏอยู่ทุกวันนี้

มีสิ่งต่างๆที่ทรงสร้างในวัดบวรสุทธาวาสโดยปราณีตบรรจงหลายอย่าง แล้วเสาะหาพระพุทธรูปที่เป็นของงามของแปลก และเครื่องศิลาโบราณต่างๆมาตกแต่ง พระเจดีย์ก็ถ่ายแบบอย่างพระเจดีย์สำคัญ เช่นพระธาตุพนมเป็นต้น มาสร้างขึ้นหลายองค์ แต่การสร้างวัดบวรสุทธาวาสไม่ทันแล้วเสร็จ ที่เล่ากันมาเป็นแน่นอนนั้น ว่ากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง สำหรับที่จะประดิษฐานที่ในพระอุโบสถ ยังไม่ทันแล้วพอประชวรหนักใกล้จะสวรรคต จึงทรงจบพระหัตถ์ผ้าห่มประทานพระองค์เจ้าดาราวดีไว้ ดำรัสสั่งว่าต่อไปถ้าท่านผู้ใดเป็นใหญ่ได้ทรงบูรณะวัดนั้น ให้ถวายผ้านี้ ทูลขอให้ช่วยทรงพระให้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับผ้าผืนนั้น ทรงพระพุทธรูปถวายสมดังพระราชอุทิศของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ จึงได้ปรากฏความที่กล่าวมานี้

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี ประชวนโรคมานน้ำ สวรรคตเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๙๔ พ.ศ. ๒๓๗๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา พระศพประดิษฐานไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ถึงเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ เชิญพระศพแห่ออกพระเมรุที่ท้องสนามหลวง(๒) มีงานมหรสพ วัน (ลดลงกว่าครั้งรัชกาลที่ ๒) พระราชทานเพลิงเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ แล้วเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ในพระราชวังบวรฯ แต่นั้นวังหน้าก็ว่างมา ว่างคราวนี้ถึง ๑๘ ปี .


..........................................................................................................................................................

(๑) นานว่า "บวรสถานสุทธาวาศ" นี้ สงสัยว่าจะพระราชทานต่อในรัชกาลที่ ๔

(๒) การแห่พระศพกรมพระราชวังบวรฯรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เข้าใจว่า แห่จากวังหน้าลงมาพระเมรุ เหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๕ แต่ยังไม่พบจดหมายเหตุที่จะสอบ


..........................................................................................................................................................


ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ




 

Create Date : 27 มีนาคม 2550   
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:13:34 น.   
Counter : 3450 Pageviews.  


ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๓ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์


พระราชวังบวรสถานมงคล



..........................................................................................................................................................


กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว ๓ ปี ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ กรมพระราชวังหลังทิวงคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงพระราชทานอุปราชาภิเษกแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ความปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ครั้นนั้นคุณเสือ(๑) กราบทูลว่าพระราชวังบวรฯร้างไม่มีเจ้าของ ทรุดโทรมยับเยินไป เหย้าเรือนข้างในก็ว่างเปล่ามาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่ขึ้นไปทรงครอบครองจึงจะสมควรพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกดำรัสว่า "ไปอยู่บ้างช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกเต้าของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักเป็นหนา" และมีรับสั่งว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว กรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่อย่าต้องเสด็จไปอยู่พระราชวังบวรฯเลย คอยเสด็จอยู่พระบรมมหาราชวังทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย เมื่อทำพระราชพิธีอุปราชาภิเษกแล้ จึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จคงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม(๒) ในที่ใต้วัดอรุณราชวราราม ต่อมาจนสิ้นรัชกาลที ๑

ตรงนี้จะต้องกล่าวถึงเรื่องพระราชพิธีอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยให้พิสดารออกไปสักหน่อย ด้วยเกี่ยวเนื่องถึงตำนานวังหน้าในรัชกาลหลังๆต่อไป คือเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นั้น แบบตำราราชประเพณีสำหรับราชกาลครั้งกรุงเก่า เป็นอันตรายหายสูญไปเสียเมื่อกรุงเสีย แม้การพระราชพิธีปราบดาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ต้องทำแต่พอเป็นสังเขป ส่วนพระราชพิธอุปราชาภิเษกกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็ต้องทำแต่อย่างสังเขปเหมือนกัน

ลักษณะการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งนั้น ถึงไม่มีจดหมายเหตุปรากฏ ก็มีหลังสันนิษฐานพอคาดได้ไม่ห่างไกลว่าทำอย่างไร เพราะเนื่องด้วยพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯที่สร้างใหม่ ในเวลานั้นกรมพระราชวังบวรประดับอยู่ที่พระนิเวศน์เดิม ตรงป้อมพระสุเมรุเดี๋ยวนี้ คงเสด็จโดยกระบวนแห่ทางชลมารค มาทรงสดับพระปริตที่พระราชมณเฑียรใหม่ในพระราชวังบวร ๓ วัน ถึงวันพระฤกษเสด็จมาสรงอภิเษกในพระราชวังบวรฯ แล้วเสด็จลงมารับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระราชวังหลวง แล้วจึงเสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมณเฑียร รูปการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งแรกคงจะเป็นเช่นว่ามานี้ ไม่ผิดไปนัก

แบบอย่างพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งกรุงเก่า ที่พระมหาอุปราชเฉลิมพระราชมณเฑียรที่วังจันทรเกษมด้วย ก็เป็นทำนองเดียวกับที่กล่าวมานี้ คือทำการพิธีที่วังหน้า เสด็จไปทรงฟังสวด ๓ วัน เช้าวันที่ ๔ สรงอภิเษกแล้วเสด็จลงมารับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระราชวังหลวง แล้วจึงกลับไปเฉลิมพระราชมณเฑียร

สันนิษฐานว่าจะพึ่งมามีแบบแปลกขึ้นเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ครั้งพระราชทานอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวรฯ ด้วยเวลานั้นสมเด็จพระเจ้าบรมโกศประทับอยู่วังจันทรเกษม เจ้าฟ้ากรมขุนเสนาพิทักษ์เสด็จอยู่ในพระราชวังหลวง (เข้าใจว่าที่พระตำหนังสวนกระต่าย) จึงโปรดฯให้ทำการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกในพระราชวังหลวง แล้วให้เสด็ประทับอยู่ตำหนักเดิมต่อไป ไม่มีพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรด้วย

ต่อมาในแผ่นดินนั้นเอง เมื่อจะพระราชทานอุปราชาภิเษกแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ครั้งหลังนี้เป็นเวลาวังจันทรเกษมว่าง ด้วยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเสด็จไปประทับอยู่พระราชวังหลวงแล้ว แต่มีเหตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่พอพระราชหฤทัยจะให้เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับที่วังหน้า และเวลานั้นเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตก็ประทับอยู่ที่ตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวง จึงโปรดฯให้ทำการพิธีอุปราชาภิเษกในพระราชวังหลวงเป็นครั้งที่ ๒ จัดพระที่หน้าสรรเพ็ชญ์ปราสาทเป็นที่ทำการพิธี ตั้งพระแท่นสรงในบริเวณพระมหาปราสาทนั้น แล้วจัดทางเดินแห่ ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายแต่ตำหนักสวนกระต่ายมาจนถึงบริเวณที่ทำการพิธีอย่างพิธีโสกันต์ใหญ่ ครั้นถึงวันงาน เวลาบ่ายแห่เจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตมาทรงฟังสวด ๓ วัน เช้าเสด็จมาทรงเลี้ยงพระแต่ลำพังพระองค์ ถึงวันที่ ๔ เวลาเช้าแห่เสด็จมาสรงอภิเษกแล้ว เข้าใจว่าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระที่นั่งบรรยงค์รัตนาศน์ อันเป็นที่สมเด็จพระเจ้าบรมโกศประทับเป็นพระราชมณเฑียร แล้วก็แห่เสด็จกลับไปยังตำหนังสวนกระต่าย

การอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เหตุการณ์เหมือนกับอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ทั้งที่เป็นสมเด็จพระราชโอรส และที่จะไม่โปรดฯให้เสด็จไปอยู่วังหน้าอย่างเดียวกัน จึงโปรดฯให้ถ่ายแบบอย่างครั้งการอุปราชาภิเษกเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตมาเป็นตำราในครั้งนี้ ให้ทำพิธีในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งพระแท่นมณฑลเหมือนอย่างบรมราชาภิเษก และตั้งพระแท่นสรงที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างด้านตะวันออก แต่ต้องแก้ไขที่ผิดกัน มีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเมื่อครั้งกรุงเก่าเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตประทับที่ตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวง แต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมฟากข้างโน้น จึงปลูกพลับพลาเป็นที่ประทับชั่วคราวขึ้นที่สวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังด้านตะวันออก แทนตำหนักสวนกระต่าย ให้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในเวลามีงานอุปราชาภิเษก แต่งทางเสด็จจากพลับพลาสวนกุหลาบมาทางถนนริมกำแพงพระราชวังเข้าประตูสุวรรณบริบาล ตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายตลอดทาง เวลาบ่ายแห่เสด็จมาทรงฟังสวดที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ครั้นเวลาเช้าเสด็จทรงพระเสลี่ยงน้อยมาเลี้ยงพระ

ครั้นถึงฤกษ์วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๖๘ พ.ศ. ๒๓๔๙ เวลาเช้าแห่เสด็จมาสรงอภิเษก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จออกพระราชทานน้ำมุรธาภิเษก ครั้นเลี้ยงพระแล้วโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเข้าไปรับพระราชทานพระสุพรรณบัตรที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เมื่อเสด็จกลับออกมาจึงแห่เสด็จเป็นกระบวนสถลมาครไปถึงท่าตำหนักแพ แล้วมีกระบวนเรือพระที่นั่งดั้งกันตามพระเกียรติยศอย่างพระมหาอุปราช รับเสด็จส่งไปที่พระราชวังเดิม รายการโดยละเอียดของพระราชพิธีอุปราชาภิเษกที่กล่าวมานี้ มีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ และจดหมายเหตุเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พิมพ์แล้วทั้ง ๒ เรื่อง เอาเนื้อความมากล่าวไว้ในที่นี้ ด้วยลักษณะการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกที่ทำต่อมา ถ่ายแบบอย่างจากครั้งนี้ แต่ต้องแก้ไขตามเหตุการณ์มากบ้างน้อยบ้าง จะปรากฏต่อไปในตำนานวังหน้าในตอนอื่น เมื่ออ่านถึงตรงนั้นจะได้เข้าใจมูลเหตุเดิมของการที่ต้องแก้ไขนั้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานอุปราชาภิเษกแก่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดฯให้สถาปนาพระเกียรติยศแก่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็นพระบัณฑูรน้อย แต่การทรงสถาปนาพระบัณฑูรน้อยไม่ปรากฏว่ามีพิธีอย่างใด พระนามที่ขานในราชการก็ยังคงขานว่า สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเสนานุรักษ์ เป็นแต่เติมคำ "พระบัณฑูรน้อย" ต่อเข้าข้างท้ายพระนาม และไม่ปรากฏว่ามีข้าราชการในทำเนียบพระบัณฑูรน้อยอย่างไร ที่ทราบได้เป็นแน่แต่ว่า เวลามีบัตรหมายอ้างรับสั่งของพระบัณฑูรน้อยใช้ว่า "มีพระบัณฑูร" เหมือนอย่าง กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๓ ปี ถึงปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จผ่านพิภพ จึงโปรดฯให้สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย เป็นพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เวลานั้นที่วังหน้าว่างมา ๗ ปี ทรงพระราชดำริว่า เป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราชสร้างไว้ใหญ่โต เป็นของสำคัญสำหรับแผ่นดิน หาควรจะทิ้งให้ร้างอยู่ไม่ ควรจะให้พระมหาอุปราชพระองค์ใหม่เสด็จขึ้นไปครอบครองรักษาพระราชวังบวรฯ

มีคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ากันมาว่า เมื่อทรงพระราชดำริจะให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จขึ้นไปอยู่วังหน้าครั้งนั้น มีเสียงผู้โต้แย้งอ้างถึงความเก่าที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงแช่งสาปไว้ และมีเสียงผู้ที่คิดแก้กล่าวว่า ถ้ากรมพระราชวังบวรฯพระองค์ใหม่คิดอ่านให้เกี่ยวดองในพระวงศ์ของกรมพระราชวังบวรฯพระองค์แรกไว้แล้ว ก็เห็นจะพ้นพระวาจาที่ทรงสาปนั้น ความอันนี้สมด้วยพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้ว่า เมื่อกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ เสด็จขึ้นไปประทับอยู่ที่พระราชวังบวรฯ มีผู้คิดอ่านจะให้อภิเษกกับเจ้าฟ้าพิกุลทอง พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่เผอิญเจ้าฟ้าพิกุลทองประชวรสิ้นพระชนม์เสีย จึงได้แต่พระราชธิดาพระองค์อื่น

การอุปราชาภิเษกพระบัณฑูรน้อยเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เหตุการณ์ไม่เหมือนครั้งอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชและจะเสด็จไปอยู่พระราชวังบวรฯ เหตุการณ์ที่แท้เป็นอย่างเดียวกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท และเวลานั้นพระบัณฑูรน้อยเสด็จประทับอยู่พระราชนิเวศน์เดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่ริมอู่กำปั่นตรงหน้าตำหนักแพข้าม ที่เป็นโรงทหารเรือทุกวันนี้(๑) ถ้าแห่เสด็จโดยกระบวนเรือพระที่นั่งไปยังกรมพระราชวังบวรฯในการพิธีก็ดูจะเป็นการสะดวกดี แต่คงเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสิริมงคลและเป็นพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระอนุชาธิราชพระบัณฑูรน้อย จึงโปรดฯให้จัดการพระราชพิธีตามแบบอย่างครั้งพระองค์ทรงรับอุปราชาภิเษก ให้แก้ไขลักษณะการแต่ที่จำเป็น

จึงให้ปลูกพลับพลาที่ริมโรงละครข้างด้านตะวันตกวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นที่สนามอยู่บัดนี้ เชิญเสด็จพระบัณฑูรน้อยเข้ามาประทับแรมอยู่ที่พลับพลาในพระบรมมหาราชวังเวลามีงานอุปราชาภิเษก ถึงเวลาบ่ายโปรดฯให้เสด็จเข้าไปทรงเครื่องที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ แล้วทรงพระยานุมาศแห่ออกประตูวิเศษชัยศรี ขึ้นไปพระราชวังบวรฯ สองข้างทางตั้งราชวัตรฉัตรเบญจรงค์รายตลอด ส่วนพระที่นั่งบวรฯนั้น ปรากฏว่าจัดที่ทำพิธี ๓ แห่ง ตั้งพระแท่นมณฑลเหมือนอย่างครั้งอุปราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่พระที่นั่งสุธาสวรรย์(๒) เป็นที่พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวดมนต์แห่ง ๑ ที่ในห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์(๕) จัดเป็นที่พระสงฆ์ฝ่ายสมถะสวดภาณวารอีกแห่ง ๑

การพระราชพิธี ตั้งต้น ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ เวลาบ่ายแห่เสด็จพระบัณฑูรน้อยจากพระบรมมหาราชวังขึ้นไปยังพระราชวังบวรฯ ทรงจดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ และทรงศีลแล้ว เสด็จเข้าไปประทับทรงสดับภาณวารในห้องพระบรรทมที่พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ ครั้นพระสงฆ์สวดมนต์จบ แห่เสด็จกลับมายังพระบรมมหาราชวัง รุ่งเช้าทรงพระเสลี่ยงเสด็จโดยกระบวนน้อยขึ้นไปเลี้ยงพระที่พระราชวังบวรฯ ครั้นสวดมนต์ครบ ๓ วัน ถึงวันศุกร์ เดือน ๑๐ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า พระบัณฑูรน้อยเสด็จโดยกระบวนแห่ขึ้นไปพระราชวังบวรฯ สรงอภิเษกแล้วเลี้ยงพระ แล้วแห่เสด็จลงมายังพระบรมมหาราชวัง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับพระราชทานพระสุวรรณบัตรที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถวายดอกไม้ธูปเทียนแล้ว แห่เสด็จกลับขึ้นไปเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯ เวลาบ่ายมีสมโภชเวียนเทียนแล้วเป็นเสร็จการ ลักษณะการพระราชพิธีอุปราชาภิเษกครั้งรัชกาลที่ ๒ ตามที่กล่าวมานี้ เลยเป็นตำราอุปราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์ได้ทำต่อมาในรัชกาลที่ ๓ และที่ ๕ เป็นแต่แก้ไขบ้างเล็กน้อยดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า


กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ เมื่ออุปราชาภิเษกพระชนมายุได้ ๓๖ พรรษา เมื่อเสด็จไปประทับอยู่พระราชวังบวรฯไม่ปรากฏว่าได้ทรงสถาปนาการอย่างใดเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในวังหน้า ถ้าจะมีก็เห็นจะเพียงซ่อมแซมพระราชมณเฑียรบ้างเล็กน้อย ด้วยพระราชวังบวรฯว่างมาเพียง ๗ ปี สิ่งของที่สร้างไว้ในครั้งรัชกาลที่ ๑ เห็นจะยังบริบูรณ์อยู่โดยมาก ปรากฏในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่การที่กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ ทรงแก้ไขรื้อถอนของเก่าเสียบางอย่างคือ

พระพิมานดุสิดาที่สร้างไว้เป็นหอพระแทนปราสาทที่กลางสระเห็จจะชำรุด โปรดให้รื้อทั้งพระวิมานและพระระเบียง เอาตัวไม้ที่ยังใช้ได้ไปทำวัดชนะสงคราม ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑ ได้ทรงสถาปนาไว้ สะพานข้ามสระ ๔สะพานก็รื้อเหมือนกัน ที่นั้นทำสวนเลี้ยงนกเลี้ยงปลาเป็นที่ประพาส

ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งตรงที่ตั้งพระสัมพุทธพรรณีทุกวันนี้ ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ยังเหลือแต่ปราสาทปรางค์ ๕ ยอด ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ กรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ย้ายปราสาทนั้นไปเสีย ตั้งพระที่นั่งเศวตฉัตรแทน เป็นที่เสด็จออกแขกเมืองและพระสงฆ์ถวายพระธรรมเทศนา

ปราสาททองสรงพระพักตร์ของกรมพระราชวังบวรฯในรัชกาลที่ ๑ ซึ้งสร้างไว้ที่มุขพระวิมานก็ย้ายไปเสียเมื่อในรัชกาลที่ ๒

เขาไกรลาสยอดมีบุษบกสร้างไว้เป็นที่สรงลูกเธอโสกันต์ รื้อเสียอีกอย่าง ๑

เขาศาลพระภูมิ ข้างพระราชมณเฑียรทางด้านเหนือ เมื่อในรัชกาลที่ ๒ รื้อกำแพงแก้วรอบบริเวณ ปลูกโรงละครขึ้นแทนตรงนั้น

ที่วัดหลวงชี ครั้งรัชกาลที่ ๑ ทำนองจะไม่มีหลวงชีอยู่ดังแต่ก่อน กุฏิหลวงชีร้างชำรุดทรุดโทรม จึงโปรดให้รื้อกุฏิหลวงชีเสียหมด ทำที่นั้นเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เข้าใจว่าตรงนี้แต่เดิมก็เห็นจะเป็นสวนเลี้ยงกระต่าย เอาอย่างพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า จึงปรากฏว่ามีตำหนักอยู่ในนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเห็นจะทรงพระราชอุทิศพระราชทานให้เป็นวัดหลวงชีต่อภายหลัง

กรมพระราชวังบวรฯมหาเสนานุรักษ์เสด็จดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชมาได้ ๘ ปี ถึงปีฉลู จุลศักราช ๑๑๗๙ พงศ. ๒๓๖๐ ประชวรเป็นพระยอดตรงที่ประทับ ให้ผ่าพระยอดนั้นเลยเกิดบาดพิษ อาการพระโรคกำเริบขึ้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรทุกๆวัน ด้วยกรมพระราชวังบวรฯพระองค์นี้ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มา พระอัธยาศัยทรงชอบชิดสนิทเสน่หากับสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชยิ่งนัก ถึงเมื่อเป็นพระมหาอุปราชแล้ว ก็เสด็จลงมารับราชการในพระบรมมหาราชวังหลวง ไม่เปลี่ยนแปลงพระอัธยาศัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดฯให้ทรงกำกับตรวจตราราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป เล่ากันว่าครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรฯเสด็จลงมาพระราชวังหลวงเพลาเช้า ประทับที่โรงละครเก่า ที่อยู่ข้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงตรวจตราข้อราชการต่างๆแล้ว จึงเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทุกวันมิได้ขาด แม้จนในการเล่นหัวเครื่องสำราญพระราชอิริยาบทก็โปรดที่จะทรงด้วยกัน เป็นต้นว่า ในฤดูลมสำเภา ถ้าปีใดทรงว่าว วังหลวงทรงว่าวกุลาชักที่สนามหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วังหน้าทรงว่าวปักเป้าชักที่สนามหลวง เล่ากันมาแต่ก่อนดังนี้

ครั้นพระอาการกรมพระราชวังบวรฯประชวรหนักลง พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นไปประทับแรมที่ในพระราชวังบวรฯ ทรงรักษาพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่หลายราตรี ถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ อุตราสาฒ ขึ้น ๓ ค่ำ เพลาเช้า ๕ โมงเศษ(๑๑ ก.ท.) กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ประชวรมาเดือนเศษ เสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ พระชนมายุได้ ๔๔ พรรษา พระราชทานน้ำสรง ทรงเครื่องพระศพเสร็จแล้วเชิญลงพระลองประกอบพระโกศทองใหญ่ แห่มาประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

แต่หมายประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์คราวนี้ ให้เอาแบบอย่างครั้งกรุงเก่า โกนแต่ผู้ที่มีสังกัดฝ่ายพระราชวังบวรฯเท่านั้น มิได้ให้โกนทั้งแผ่นดินเหมือนอย่างครั้งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ต่อมาถึงเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๘๐ พ.ศ. ๒๓๖๑ พระเมรุที่ท้องสนามหลวงสร้างสำเร็จ และเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสมโภชตามประเพร๊งานพระเมรุใหญ่เสร็จแล้ว ถึง ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ จึงโปรดฯให้เชิญพระศพกรมพระราชวังบวรฯแห่โดยกระบวนน้อยจากพระราชวังบวรฯลงมายังหน้าวัดพระเชตุพนแล้วเชิญขึ้นพระมหาพิชัยราชรถ แห่โดยกระบวนใหญ่ไปยังพระเมรุ มีงานมหรสพสมโภชและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครบ ๗ วัน ถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ จึงพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวร

ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพเสร็จแล้ว โปรดฯให้เชิญพระอัฐิมาไว้ในหอพระธาตุมณเฑียรที่ในพระราชวังหลวง ด้วยทรงพระเสน่หาอาลัยในสมเด็จพระอนุชาธิราช พระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่ในพระบรมมหาราชวังมาจนในรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดฯให้เชิญไปประดิษฐานไว้ที่พระวิมาน อันเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในพระราชวังบวรฯ.



....................................................................................................................................................

(๑) คุณเสือนี้ ชื่อเจ้าจอมแว่น เป็นบาทบริจาริกามาตั้งแต่ยังไม่ได้เสด็จเถลิงราชสมบัติ ครั้นเสด็จผ่านพิภพเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ได้รับราชการในหน้าที่ราชูปฐากจึงได้เป็นพระสนมเอก เป็นผู้อุปการแก่พระบาทสมเด็จพระพุทเลิศหล้านภาลัยมาแต่ก่อน ที่เรียกว่าคุณเสือ เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยๆ เวลาเสด็จขึ้นไปเฝ้าอยู่ในความดูแลของเจ้าจอมแว่น ถูกว่ากล่าวรบกวน เห็นว่าดุจึงเรียกว่า "คุณเสือ" จึงเลยเป็นนามที่เรียกกันอย่างนั้นทั่วไป แม้ในโคลงพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จารึกไว้ที่ผนังวิหารพระโลกนาถวันพระเชตุพน ก็เรียกคุณเสือ

...รจนาสุดารัตนแก้ว................กุมารี หนึ่งฤา
เสนออธิบายบุตรี.....................ลาภไซร้
บูชิตเชษฐชินศรี......................ฉลักเฉลา หินเฮย
บุญส่งจงลุได้.........................เสร็จด้วยดั่งถวิล ฯ
...กุมารหนึ่งพึงฉลักตั้ง.............ติดผนัง
สถิตย์อยู่เบื้องหลัง..................พระไว้
คุณเสือสวาดิหวัง....................แสวงบุตร ชายเฮย
เฉลยเหตุธิเบศร์ให้..................สฤษดิแสร้งแต่งผล ฯ

ในสาส์นสมเด็จมีพระดำริว่าเป็นพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มีพระดำริว่า "เห็นจะไม่ใช่ฝีพระโอษฐกรมพสมเด็จพระปรมานุชิตฯ คงจะทำขึ้นที่หลัง"

(๒) ที่เรียกว่าพระราชวังเดิม มีบางคนเข้าใจว่าเพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จประทับอยู่ที่นั่นก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า ที่จริงเขาหมายความว่า เป็นพระราชวังครั้งกรุงธนบุรี

(๓) เมื่อสร้างกำแพงโรงทหารเรือในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสสั่งให้ทำเป็นกำแพงใบเสมาไว้เป็นที่ระลึกว่า เป็นพระราชนิเวศน์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

(๔) พระที่นั่งองค์นี้ภายหลังเรียกว่า พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

(๕) ในหมายรับสั่งเรียกพระที่นั่งพรหมพักตร์ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระที่นั่งพรหมพักตร์นั้นเป็นมุขหน้าหาใช่ที่พระบรรทมไม่ พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ คือพระวิมานองค์เหนือ เห็นจะจัดที่บรรทมที่นั่น


..........................................................................................................................................................

ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์




 

Create Date : 27 มีนาคม 2550   
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:12:49 น.   
Counter : 4650 Pageviews.  


ตำนานวังหน้า ตอนที่ ๒ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท


กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท
พญาเสือ



..........................................................................................................................................................


เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ โปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราชแล้ว ทรงสร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งแม่น้ำฟากตะวันออก จึงสร้างพระราชวังหลวงและพระราชวังบวรฯขึ้นใหม่ เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ พร้อมกันทั้งสองวัง แต่ที่ซึ่งจะสร้างพระราชวังใหม่เป็นที่มีเขตจำกัด เพราะแผนที่กรุงธนบุรีเอาแม่น้ำไว้กลาง ตั้งกำแพงเมืองที้งสองฟาก คลองตลาดทุกวันนี้เป็นคูเมืองข้างฟากตะวันออก พื้นที่ในบริเวณกำแพงเมืองเดิมข้างฝั่งตะวันออกมีที่พื้นใหญ่พอจะสร้างพระราชวังได้แต่ ๒ แปลง คือที่แต่วัดโพธารามยืนมาข้างเหนือวัดสลักแปลง ๑ แต่วัดสลักขึ้นไปจนถึงปากคลองคูเมืองข้างเหนืออีกแปลง ๑ ไม่มีที่อื่นที่จะสร้างพระราชวังนอกจากที่ ๒ แปลงนี้ จึงได้ตั้งพระราชวังหลวงในที่แปลงใต้ และตั้งพระราชวังบวรฯสถานมงคลในที่แปลงข้างเหนือ เพราะเหตุนี้พระราชวังหลวงกับวังหน้าในกรุงรัตนโกสินทร์จึงอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่เหมือนที่กรุงเก่า

ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นกรมพระราชวังหลัง พระราชวังหลังต้องไปตั้งปากคลองบางกอกน้อยฟากข้างโน้น ผิดแผนที่ครั้งกรุงเก่า เป็นแต่เอาชื่อมาเรียกว่าวังหลังให้เหมือนประเพณีครั้งกรุงเก่า

พระราชวังที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ถ่ายแบบอย่างพระราชวังกรุงเก่ามาสร้างทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้า มีคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ามาว่า พระราชวังหลวงสร้างหันหน้าวังขึ้นเหนือน้ำ เอาพระฉนวนน้ำไว้ข้างซ้ายวัง ตามแผนที่พระราชวังหลวงที่กรุงเก่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทดำรัสว่าไม่ถูก พระราชวังที่กรุงเก่าหันหน้าวังไปทางทิศตะวันออก ให้สร้างพระราชวังบวรฯหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระฉนวนน้ำวังหน้าจึงกลับไปอยู่ข้างหลังวัง เพราะแม่น้ำที่กรุงเก่าอยู่ทางทิศเหนือพระราชวังหลวง และอยู่ทางทิศตะวันออกวังจันทรเกษม แต่แม่น้ำที่กรุงรัตนโกสินทร์อยู่ข้างทิศตะวันตกของที่สร้างพระราชวัง จึงเป็นเหตุให้แตกต่างกันไปได้ดังกล่าวมา

แต่ส่วนแผนที่ข้างภายในพระราชวัง ถ้าใครเคยได้ไปเดินดูในพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า ตั้งแต่เมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์ได้ขุดที่ตกแต่งมาแล้ว สังเกตดูก็จะเห็นได้ว่า พระบรมมหาราชวังในกรุงเทพฯนี้ ถ่ายแผนที่ข้างตอนหน้ามาสร้างเหมือนกันไม่เพี้ยนผิด คือวัดพระศรีรัตนศาสดารามอยู่ตรงที่วัดพระศรีสรรญเพ็ชญ์ หมู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยอยู่ตรงพระวิหารสมเด็จ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทอยู่ตรงพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปราสาท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๑ เว้นเสียองค์ ๑ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอยู่ตรงพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ถึงศาลาลูกขุนและที่ปันเขตกำแพงพระราชวังชั้นกลาง ชั้นใน ก็ตรงกัน

ส่วนพระราชวังบวรฯนั้น จะถ่ายแบบวังหน้าที่กรุงเก่าบ้างหรือไม่อย่างไรหาทราบไม่ ด้วยของเดิมไม่มีอะไรเหลืออยู่พอจะตรวจเทียบ แต่ทราบได้แน่ว่า ที่ตรงสิ่งสำคัญนั้นถ่ายแบบพระราชวังหลวงกรุงเก่าตอนข้างด้านหลังมาสร้าง ถ้าสังเกตดูในแผนที่วังหน้าที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ที่ตรงสระเหลี่ยมมีเกาะกลาง จะเห็นได้ว่าถ่ายแบบสระพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์มาสร้าง และพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน(อันเป็นพิพิธภัณฑสถานทุกวันนี้)อยู่ตรงกับแผนที่พระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า และยังมีคนเรียกพระที่นั่งศิวโมกข์ ว่า พระที่นั่งทรงปืน อยู่จนทุกวันนี้

ความที่กล่าวมาว่าตามทีแลเห็นหลักฐานเป็นที่สังเกตได้แน่นอนในปัจจุบันนี้ แต่เมื่อแรกสร้างเห็นจะมีอะไรที่ถ่ายแบบอย่างมาอีกหลายวิ่ง แต่รื้อและแปลงไปเสียแล้วก็รู้ไม่ได้

การสร้างพระราชวังในกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้าไม่ได้สร้างสำเร็จในคราวเดียว แรกลงมือสร้างเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นการเร่งรัด ด้วยจะทำพระราชพิธีปราดาภิเษก กำแพงพระราชวังใช้แต่ปักเสาไม้ระเนียด พระราชมณเฑียรก็ทำแต่ด้วยเครื่องไม้มุงจากพอเสด็จประทับชั่วคราวทั้งพระราชวังหลวงวังหน้า พระราชวังหลวงเวลาปลูกสร้างไม่ถึงสองเดือนก็ถึงฤกษ์พระราชพิธีปราบดาภิเษก เสด็จมาเฉลิมพระราชมฯเฑียร เมื่อ ณวันพฤหัสบดี เดือน ๘ บุพพาสาฒ ขึ้น ๔ ค่ำ พระมหาอุปราชจะได้เสด็จจากพระราชนิเวศน์เดิม(อันอยู่ตรงป้อมพระสุเมรุทุกวันนี้) มาเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรสถานมงคลที่สร้างใหม่เมื่อวันใด ยังไม่พบจดหมายเหตุ แต่มีหลักฐานยุติเป็นแน่ ว่าเสด็จมาภายในเดือน ๘ บุพพาสาฒ ปีขาลจัตวาศกนั้นเอง ด้วยมีจดหมายเหตุปรากฏว่า ปรึกษาความชอบตั้งกรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ หลานเธอ และตั้งข้าราชการทั้งหลายเมื่อเดือน ๘ อุตราสาฒ การอันนี้ต้องอยู่ภายหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษก

ครั้นเสด็จมาประทับอยู่ในพระราชวังใหม่แล้ว จึงลงมือปลูกสร้างสิ่งซึ่งเป็นของถาวรต่อมา ทั้งพระราชวังหลวงและวังหน้าด้วยกัน ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า การสร้างพระนครอมรรัตนโกสินทร์และพระราชวังหลวง สร้างอยู่ ๓ ปี สำเร็จในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๒๘ จึงทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วสมโภชพระนครต่อกันไป เชื่อได้ว่าพระราชวังบวรฯก็คงสร้างสำเร็จ และได้มีการฉลองเนื่องในงานสมโภชพระนครคราวนั้นด้วย แต่หากไม่ปรากฏจดหมายเหตุรายการแก่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารจึงมิได้พรรณนาไว้ด้วย

แต่การก่อสร้างในชั้นนั้น ทั้งพระนครฯและพระราชวัง สิ่งซึ่งก่อสร้างเป็นของก่ออิฐถือปูน เฉพาะแต่ป้อมปราการสำหรับป้องกันข้าศึกศัตรู ส่วนพระราชมณเฑียรและสถานที่ นอกจากนั้นทำด้วยเครื่องไม้แทบทั้งนั้น แม้ซุ้มพประตูเมืองและประตูพระราชวังก็เป็นเครื่องยอดทำด้วยไม้ ที่สุดจนพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทในพระราชวังหลวง ซึ่งสร้างขึ้นแต่แรกก็เป็นปราสาทไม้ เพราะในเวลานั้นอิฐปูนยังหายาก ป้อมปราการที่สร้างในกรุงรัตนโกสินทร์ต้องไปรื้อเอาอิฐกำแพงกรุงเก่ามาสร้างแทบทั้งหมด เพราะฉะนั้นสิ่งซึ่งสร้างเป็นของก่ออิฐถือปูน นอกจากป้อมปราการวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นแล้ว เป็นของก่อสร้างต่อทีหลังเป็นลำดับมาทั้งนั้น

จะกล่าวเฉพาะตำนานการสร้างพระราชวังบวรฯต่อไป ที่เกาะกลางสระซึ่งได้กล่าวมาแล้ว เดิมกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทรงสร้างปราสาทเหมือนอย่างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ที่กรุงเก่า สร้างยังไม่ทันสำเร็จก็มีเหตุเกิดขึ้น เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๖ อ้ายบัณฑิต ๑ คนคิดกบฏลอบเข้าในวังหน้า ไปแอบพระทวารด้านหลังพระราชมณเฑียร คอยจะทำร้ายกรมพระราชวังบวรฯ เวลาเสด็จลงทรงบาตร แต่เผอิญเช้าวันนั้นจะเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชที่พระราชวังหลวง เสด็จออกทางพระทวารด้านหน้า อ้ายกบฏทำร้ายไม่ได้ ครั้นเสด็จลงมาพระราชวังหลวงแล้ว ทางโน้นนางพนักงานในวังหน้าไปพบอ้ายกบฏร้องอื้ออึงขึ้น เจ้าพนักงานผู้รักษาหน้าที่พากันเข้าไปจับได้คน ๑ ไล่ไปฟันตายลงตรงที่สร้างปราสาทคน ๑ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีรับสั่งว่า ที่วังจันทรเกษมซึ่งเป็นวังหน้าครั้งกรุงเก่าไม่มีปราสาท พระองค์มาสร้างปราสาทขึ้นในวังหน้าเห็นจะเกินวาสนาไปจึงมีเหตุ จึงโปรดฯให้งดการสร้างปราสาทนั้นเสีย ให้เอาตัวไม้ที่ปรุงไว้ไปสร้างพระมณฑป(เก่า)ที่วัดนิพพานาราม คือวัดมหาธาตุทุกวันนี้

ส่วนที่ซึ่งกะไว้ว่าจะสร้างปราสาทนั้น โปรดฯให้สร้างพระวิมานถวายเป็นพุทธบูชา ขนานนามว่า "พระพิมานดุสิคา"(๑) เป็นที่ไว้พระพุทธรูป พระวิมานนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทันทอดพระเนตรเห็น ทรงพรรณนาไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องสถานที่ ซึ่งกรมพระราชวังบวรฯทรงสร้าง(หอพระสมุดพิมพ์ในประชุมพระบรมราชาธิบาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗) ว่าตัววิมานกลางที่เป็นหอพระ หลังคาดีบุก ฝากระดาน ข้างนอกประกอบเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ปิดทองประดับกระจก ข้างในเขียนลายรดน้ำมีราชวัตรฉัตรรูปอย่างฉัตรเบญจรงค์(ปักรายรอบ) เป็นเครื่องปิดทองประดับกระจกทั้งสิ้น นอกพระวิมานออกมามีพระระเบียง ฝาข้างในเรื่องพระปฐมสมโพธิและเรื่องรามเกียรติ์ "งามนักหนา" ข้างนอกมีลายประกอบปิดทองประดับกระจก เสาและหูช้างพนักข้างในก็ล้วนลายสลักปิดทองประดับกระจก มีตะพานพนกสลักปิดทองเป็นทางข้ามสระเข้าไปทั้งสี่ทิศ

ตรงสระมาทางตะวันออกสร้างท้องพระโรงหลัง ๑ เป็นพระที่นั่งโถง วางแผนที่ตามอย่างพระที่นั่งทรงปืนในพระราชวังหลวงที่กรุงเก่า จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลายเรียกว่า พระที่นั่งทรงปืน มาจนทุกวันนี้ แต่ที่จริงขนานนามว่า "พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน" ในจดหมายเหตุเก่าเห็นเรียกพระที่นั่งทรงธรรมก็มี

พระราชมณเฑียรที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับในชั้นแรก รูปสัณฐานจะเป็นอย่างไรทราบไม่ได้ แม้ที่จะสร้างอยู่ตรงไหนก็สงสัยอยู่ พระราชมณเฑียรที่สร้างเป็นตึก เป็นที่เสด็จประทับต่อมาเป็นของสร้างในชั้นหลัง ประมาณว่าราวปีระกา จุลศักราช ๑๑๕๑ พ.ศ. ๒๓๓๒ ในคราวๆเดียวกับสร้างหอพระราชมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วยแบบอย่างลวดลายคล้ายคลึงกัน ส่อให้เห็นว่าสร้างในคราวเดียวกัน พระราชมณเฑียรที่สร้างใหม่นี้ สร้างเป็นพระวิมาน ๓ หลังเรียงกัน เข้าใจว่าจะมีแบบในกรุงเก่ามา แต่คติที่ว่าปราสาทเป็นที่ประทับ ๓ ฤดูกาล

แม้ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชครั้งกรุงเก่าก็ทำเป็น ๓ หลัง จึงเรียกว่า "ไตรโลกมณเฑียร" ในศุภอักษรที่มีไปเมืองลังกาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แต่ข้าพเจ้าได้ไปเดินตรวจดูในพระราชวังกรุงเก่ากับพระยาโบราณราชธานินทร์ด้วยกันหลายครั้ง ยังไม่พบที่สร้างพระวิมาน ๓ หลังที่ตรงไหน มีปรากฏแต่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า(ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์แล้ว เมื่อปีขาล พ.ซศง ๒๔๕๗)ว่า พระวิมาน ๓ หลังมีที่วังจันทรเกษม ตรงพระที่นั่งพิมานรัถยา ที่สร้างเป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่าทุกวันนี้

ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระราชมณเฑียรที่ประทับสร้างเป็นพระวิมาน ๓ หลัง ทั้งในพระราชวังหลวงและที่วังหน้า ในพระราชวังหลวง คือ หมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานนั้น แต่สร้างผิดกัน พระวิมานวังหลวงสร้างติดกันทั้ง ๓ หลัง พระวิมานวังหน้าสร้างห่างกันมีชาลาคั่นกลาง

จะกล่าวเฉพาะพระวิมานวังหน้า ตัววิมาน ๓ หลังทำเป็นสองชั้น หลังใต้ขนานานามว่า " พระที่นั่งวสันตพิมาน" ทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูฝน หลังกลางขนานนามว่า "พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ" ทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูหนาว แต่หลังเหนือขนานนามว่า "พระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์" ทำนองความแปลกไป จะเป็นด้วยเหตุใดไม่มีเค้าเงื่อนที่จะทราบ ได้แต่สันนิษฐาน สันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะมีนามอื่นซึ่งทำนองความว่าเป็นที่ประทับฤดูร้อน แต่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งจึงเปลี่ยนนามนั้นเสีย

ถ้าจะสันนิษฐานต่อไปถึงเหตุ เห็นมีเหตุทำนองเดียวกับครั้งกรุงเก่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างพระที่นั่งองค์ ๑ ขนานนามว่า "พระที่นั่งศรียโสธร" แล้วทรงพระสุบินไปว่า พระอินทร์มาทูลจักรพยุหะถวาย จึงเอานิมิตนั้นเปลี่ยนนามพระที่นั่งศรียโสธรนั้นเป็น พระที่นั่งจักรวัติไพชยนต์ น่าจะมีนิมิตอันใดเป็นเหตุให้เปลี่ยนนามพระวิมานหลังเหนือเป็นพระที่นั่งพรหเมศรังสรรค์ ก็เป็นได้

ที่ชาลาระหว่างพระวิมานข้างหนึ่งมีตึกห้องสรง อีกข้างหนึ่งมีตึกลงพระบังคน สร้างต่างหากข้างละหลัง ต่อพระวิมานออกมาทั้งข้างหน้าข้างหลัง สร้างพระราชมณเฑียรชั้นเดียว เป็นหลังขวางตลอดแนวพระวิมานทั้งสองด้าน ตรงพระวิมานหลังกลางทำเป็นมุขผ่านหลังขวางตรงออกไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

ที่สุดมุขด้านหน้ามีพระที่นั่งบุษบกมาลาเป็นที่เสด็จออกแขกเมือง มุขนี้เรียกว่าท้องพระโรงหน้า และมีปราสาททองสร้างไว้ที่มุขหลังหนึ่งเป็นที่สรงพระพักร์ เล่ากันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทนั้น มีที่พระบรรทมทั้งที่บนพระวิมาน และที่ห้องพระราชมณเฑียรหลังขวางหลายแห่ง ไม่บรรทมที่ใดแห่งเดียวเป็นนิตย์ แต่ถึงจะบรรทมที่ใด คงจะเสด็จมาสรงพระพักตร์ที่ปราสาททองนั้น กล่าวกันมาดังนี้

พระราชมณเฑียรหลังขวาง ข้างหน้าข้างหลังพระวิมานที่กล่าวมานี้ มีขนานนามเรียกเป็นมุข ด้านตะวันออกเฉียงเหนือเรียก พระที่นั่งบุรพาภิมุช ตะวันออกเฉียงใต้เรียก ทักษิณาภิมุข ตะวันตกเฉียงใต้เรียก ปัจฉิมาภิมุข ตะวันตกเฉียงเหนือเรียก อุตราภิมุข นามเหล่านี้สงสัยว่าจะมาขนานต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พร้อมกับขนานนามมุขหน้าว่า พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร และมุขหลังว่า พระที่นั่งปฤษฎางค์ภิมุข ก็เป็นได้

มุขหน้าเมื่อเป็นท้องพระโรงเเรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เข้าใจว่าเรียก พระที่นั่งพรหมพักตร์ ตรงหน้าพระที่นั่งบุษบกมาลาออกมาข้างนอก เดิมเป็นชาลาที่แขกเมืองเฝ้า พ้นชาลาออกมามีทิมคด บังหน้ามุขท้องพระโรงทั้งสามด้าน ทิมคตนี้ต่อมามีชื่อว่า "ทิมมหาวงศ์" เพราะประชุมนักปราชญ์แปลหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกา ที่ตรงนั้นเล่ากันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทโปรดเสด็จออกที่รโหฐานทีทิมมหาวงศ์นี้

เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่ ซึ่งร้างมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จกลับ เชิญพระพุทธรูปพระพุทธสิหิงค์อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญในพระราชพงศาวดารลงมาด้วย

เรื่องตำนานของพระพุทธสิหิงค์นี้ ว่าเดิมพระเจ้ากรุงลังกาองค์ ๑ ทรงสร้างขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชไปขอมาถวายพระร่วง(รามราช)พระเจ้ากรุงสุโขทัย พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงปฏิบัติบูชามาหลายรัชกาล จนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ กรุงศรีอยุธยาได้เมืองสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา อยู่ได้หน่อย ๑ พระมเหสีคิดอุบายขอให้พระยาญาณดิศผู้เป็นบุตรไปไว้ ณ กำแพงเพชร อยู่นั่นไม่ช้า พระยามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพมาตีเมืองกำแพงเพชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเป็นไมตรี พระยามหาพรหมจึงขอพระพุทธสิหิงไปไว้เมืองเชียงราย ต่อมาพระมหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นหลาน จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากับพระแก้วมรกฏด้วยกัน พระพุทธสิหิงค์มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ จนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อปีขาล จุลศักราช ๑๐๒๔ พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงได้เชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานไว้ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธสิหิงค์อยู่ในกรุงศรีอยุธยาต่อมาตลอดเวลา ๑๐๕ ปี จนเสียพระนครแก่พม่าข้าศึก สมัยนั้นชาวเชียงใหม่ยังเป็นพวกพม่า จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปไว้เมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชดำริว่า พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปสำคัญในกรุงศรีอยุธบยา โดยมีตำนานดังแสดงมา จึงได้โปรดฯให้เชิญลงมายังกรุงเทพฯ

ประจวบเวลากำลังทรงสร้างพระราชมณเฑียรดังกล่าว จึงโปรดฯให้สร้างพระวิมานถวายเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์องค์ ๑ ต่ออกมาข้างด้านหน้าพระราชมณเฑียรทางตะวันออก ขนานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ฝาผนังข้างในเขียนรูปเทพชุมนุม และเรื่องพระปฐมสมโพธิ เป็นพุทธบูชายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์นี้เป็นที่สำหรับทำการพระราชพิธีตรุษสารท และโสกันต์ลูกเธอด้วย

ในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างเขาไกรลาศ บนยอดเขามีบุษบก สำหรับเป็นที่ลูกเธอสรงเวลาโสกันต์อีกสิ่ง ๑ เรียกในหนังสือนิพพานวังหน้าว่าเขาแก้ว แต่จะอยู่ที่ตรงไหนไม่ปรากฏในพระราชนิพนธ์ และว่ามีเขาก่อเป็นฐานรองหอแก้วศาลพระภูมิอีกเขา ๑ ยังอยู่ข้างหลังพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์จนทุกวันนี้ กระบวนพระราชมณเฑียรในพระราชวังบวรฯที่สร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๑ ได้ความดังกล่าวมานี้

สถานที่ต่างๆในพระราชวังบวรฯนอกพระราชมณเฑียรจะมีสิ่งใดสร้างเมื่อในรัชกาลที่ ๑ บ้างทราบไม่ได้แน่ ด้วยของที่สร้างในครั้งนั้นสร้างด้วยเครื่องไม้ หักพ้งรื้อถอนและสร้างใหม่เปลี่ยนแปลงในชั้นหลังเสียแล้วแทบทั้งหมด ได้แต่ประมาณว่าบรรดาสถานที่สำหรับราชการ อย่างใดมีในพระราชวังหลวงก็คงมีในวังหน้าทำนองเดียวกัน คือ โรงช้าง โรงม้า ศาลาลูกขุน คลัง เป็นต้น ที่ทราบว่าผิดกับพระราชวังหลวงมีอยู่บางอย่าง คือ ตำหนักข้างใน ในพระพระราชวังหลวงสร้างเป็นตำหนักเครื่องไม้ทั้งนั้น เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นตึกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่ตำหนักในวังหน้าสร้างเป็นตึกมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ และมีตำหนักหมู่หนึ่ง ยกหลังคาเป็นสองชั้นคล้ายพระวิมาน เป็นที่ประทับของเจ้ารจจาผู้เป็นพระอัครชายา และเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้าพิกุลทอง

อีกอย่างหนึ่งนั้น มีปรากฏในจดหมายเหตุเก่าว่าที่ ลานพระราชวังบวรฯชั้นนอกข้างด้านเหนือ ตรงที่สร้างวัดบวรสถานสุทธาวาส เมื่อในรัชกาลที่ ๓(และยังปรากฏ เรียกว่าพระเมรุพิมานอยู่บัดนี้) เมื่อแต่แรกเป็สวนที่ประพาสของกรมพระราชวังบวรฯ มีตำหนักสร้างไวในสวนนั้นหลัง ๑ ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงพระราชอุทิศให้เป็นบริเวณที่หลวงชีจำศีลภาวนา เหตุเพราะมารดาของนักองค์อี ธิดาสมเด็จพระอุไทราชาพระเจ้ากรุงกัมพูชา ซึ่งเป็นพระสนมเอกชื่อนักนางแม้น บวชเป็นรูปชี เรียกกันว่านักชี มาอยู่ในกรุงฯ จึงโปรดฯให้มาอยู่ในพระราชวังบวรฯกับพวกหลวงชีที่เป็นบริษัท ที่ตรงนั้นจึงเลยเรียกกันว่า "วัดหลวงชี"

ว่าด้วยเขตพระราชวังบวรฯ เขตวังปันเป็นชั้นในชั้นกลางชั้นนอก เหมือนอย่างพระราชวังครั้งกรุงเก่าแต่เดิม แต่เขตพระราชวังบวรฯชั้นในกับชั้นกลาง เมื่อในรัชกาลที่ ๑ จะอยู่เพียงไหนจะทราบโดยแผนที่ที่มีอยู่ไม่ได้แน่ ด้วยในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าทรงขยายเขตวังชั้นกลางออกไปข้างด้านตะวันออก เขตวังชั้นในก็ขยายออกไปข้างด้านเหนือ แต่มีของควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่าที่ในพระราชวังบวรฯ ไว้ที่เป็นสนามใหญ่กว่าในพระราชวังหลวงทั้งชั้นกลางและชั้นนอก คงจะเป็นเช่นนี้มาแต่เดิม เพราะมีการฝึกหัดช้างม้าผู้คนพลทหารฝ่ายพระราชวังบวรฯมักต้องฝึกหัดอยู่ได้แต่ในบริเวณวังวหน้า จะออกมาฝีกหัดตามท้องถนนเละสนามหลวงเหมือนอย่างข้างวังหลวงไม่ได้ แต่เขตพระราชวังบวรฯชั้นนอกตามแนวป้อมปราการที่ปรากฏในแผนที่ เป็นของคงตามเมื่อแรกสร้างครั้งรัชกาลที่ ๑ มิได้เปลี่ยนแปลงในชั้นหลัง

ป้อมรอบพระราชวังบวรฯมี ๑๐ ป้อม เป็นของสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทั้งนั้น รูปป้อม ๔ มุมวัง ทำเป็นแปดเหลี่ยม หลังคำกระโจม นอกนั้นทำเป็นรูปหอรบ มีป้อมซึ่งมีเรื่องตำนานอยู่ป้อม ๑ ชื่อ ป้อมไพฑูรย์ อยู่ข้างทิศใต้ ทำรูปหอรบยาวตามแนวกำแพงวัง ทางปืนตรงเฉพาะพระราชวังหลวง ประหนึ่งว่าสร้างไว้สำหรับยิงพระราชวังหลวง เหตุใดจึงได้สร้างป้อมนี้ก็หาปรากฏไม่ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า เคยเป็นเหตุถึงใหญ่โตครั้งหนึ่งเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๓๙ คราวนั้นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเกิดขัดพระทัยกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงไม่เสด็จลงมาเฝ้า ความปรากฏในหน้าหนังสือนิพพานวังหน้า ว่ามีข้าราชการวังหน้ากราบทูลกรมพระราชวังบวรฯว่า พวกวังหลวงให้เอาปืนขึ้นป้อมจะยิงวังหน้า กรมพระราชวังบวรฯรับสั่งให้นักองค์อี แต่งข้าหลวงลอบลงมาสืบพวกเขมรที่ลากปืนที่วังหลวง ก็ได้ความว่าเอาปืนขึ้นป้อมเมื่อยิงอาฏนาพิธีตรุษ กรมพระราชวังบวรฯจะมีรับสั่งอย่างไรหาปรากฏไม่ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารแต่ว่า พวกข้าราชการวังหน้ามีพระเกษตร(บุญรอด)เป็นต้น ให้เอาปืนขึ้นป้อมไพฑูรย์นี้ และตระเตรียมจะต่อสู้วังหลวง พร้อมข้าราชการวังหลวงเห็นข้างวังหน้าตระเตรียมกำลังก็ตระเตรียมบ้าง เกือบจะเกิดรบกันขึ้น ความทราบถึงสมเด็จพระพี่นางเธอทั้งสองพระองค์ จึงเสด็จขึ้นไปวังหน้ามีรับสั่งเล้าโลมสมเด็จพระอนุชาธิราชจนสิ้นทิฐืมานะ แล้วพาพระองค์ลงมาเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช การที่ทรงขัดเคืองกันจึงระงับไปได้

ภายนอกบริเวณกำแพงพระราชวังบวรฯด้านใต้และด้านตะวันออก แต่เดิมมีคูทั้งสองด้าน คูไม่ลึกและกว้างเท่าใดนัก พอน้ำไหลขึ้นขังอยู่ได้ พ้นคูออกมาถนนรอบวัง ถนนด้านใต้ คือถนนพระจันทร์ทุกวันนี้ ยืนขึ้นไปทางตะวันออกจนจดถนนหน้าวังใกล้ถนนราชดำเนินในทุกวันนี้ ส่วนด้านเหนือเพราะคลองคูเมืองเดิมเป็นคู ถนนอยู่ข้างใน ใกล้แนวถนนราชินีทุกวันนี้ ปลายไปลงท่าช้างวังหน้า ด้านตะวันตกเป็นลำแม่น้ำ เอากำแพงพระนครเป็นกำแพงวังชั้นนอก

ยังมีถนนผ่านพระราชวังบวรฯตามยาวเหนือลงมาใต้อีกสามสาย คือ ริมกำแพงข้างในพระนครสาย ๑ ข้างเหนือวังมีสะพานช้างข้ามคลองคูเมืองเดิม ตรงสะพานเจริญสวัสดิ์ทุกวันนี้ ถนนสายกลางคือถนนหน้าพระธาตุทุกวันนี้นั้นเอง ตรงประตูพรหมทวารวังหน้า เป็นทางเสด็จลงมาพระราชวังหลวง ถนนสายตะวันออกคือถนนราชดำเนินในทุกวันนี้ แต่อยู่ค่อนมาทางตะวันตก ต่อจากถนนสนามไชยตรงไปหาสะพานเสี้ยว ซึ่งเป็นสะพานช้างวังหน้าอีกสะพานหนึ่ง

พ้นถนนรอบพระราชวังบวรฯออกมา ข้างด้านใต้ต่อเขตวัดมหาธาตุ เดิมชื่อวัดสลัก กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสถาปนาในคราวเดียวกับสร้างวังหน้า แต่แรกทรงขนานนามว่า วัดนิพพานนาราม ครั้นจะทำสังคายนาพระไตรปิฎก เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๓๑ เปลี่ยนนามว่า วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และได้เสด็จออกทรงผนวชอยู่คราวหนึ่ง ๑๕ ราตรี เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘ ต่อมากรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตแล้วจึงเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า วัดมหาธาตุ หน้าวัดมหาธาตุเป็นท้องสนามหลวง อยู่ระหว่างพระราชวังหลวงกับพระราชวังบวรฯ เวลาทำพระเมรุในท้องสนามหลวง พระเมรุอยู่กลาง พลับพลาวังหน้าตั้งข้างเหนือ เครื่องมหรสพของวังหลวงกับวังหน้าเล่นกันคนละฝ่ายสนามหลวง

ทางด้านตะวันออกตรงหน้าวังข้ามถนนไป สร้างวังลูกเธอ (ตั้งแต่ถนนพระจันทร์ไปจนน้ำพุนางพระธรณี) ๔ วัง เรียงแต่ข้างใต้ไปข้างเหนือ คือ วังพระองค์เจ้าลำดวนวัง ๑ วังพระองค์เจ้าอินทปัตวัง ๑ วังพระองค์เจ้าอสนีภายหลังได้เป็นกรมหมื่นเสนีเทพวัง ๑ วังพระองค์เจ้าช้างวัง ๑

ด้านเหนือข้างฟากถนนไปริมคลองคูเมืองเดิมเป็นโรงไหมและโรงช้าง ตลอดท่าช้างฟากคลองข้างเหนือสร้างวังกรมขุนสุนทรภูเบศร์ (ทีหลังเป็นวังเจ้าฟ้าอิศราพงษ์ อยู่ตรงระหว่างโรงกระสาปน์กับโรงพยาบาลทหารทุกวันนี้)

ด้านตะวันตกพระราชวังบวรฯ ประตูวังลงท่าทำเป็นประตูยอดปรางค์เรียกประตูฉนวน(วังหน้า)ประตู ๑ ที่ท่าพระฉนวนมีแพจอดเป็นที่ประทับประจำท่า และเรียกว่า ตำหนักแพ เหมือนวังหลวง ข้างใต้ท่าพระฉนวนเป็นโรงเรือและสรีรสำราญของชาววัง มีอุโมงค์เป็นทางเดินออกไปได้แต่ในวัง ใต้อุโมงค์ลงไปเป็นโรงวิเศษจนสุดเขตวัง ข้างเหนือตำหนักแพเป็นโรงฝีพาย และเข้าใจว่าท่าตำรวจต่อขึ้นไป แล้วมีโรงช้างอยู่ริมน้ำโรง ๑ ต่อโรงช้างถึงประตูท่าช้างวังหน้า

เหนือประตูว่าเป็นบ้านข้าราชการจนปากคลองคูเมืองเดิม เหนือคลองคูเมืองเดิมขึ้นไปทางริมน้ำนอกกำแพงเมืองเป็นบ้านรับแขกเมือง และบ้านขุนนาง ตอนในกำแพงเมืองเป็นบ้านเสนาบดีวังหน้า และมีคุกวังหน้าอยู่ตรงหน้าวัดชนะสงครามแห่ง ๑ ด้วยท้องที่กำหนดเป็นแขวงอำเภอพระราชวังบวรฯกึ่งพระนครตามแบบครั้งกรุงเก่า มาจนถึงราววัดเทพธิดาภูมิแผนที่วังหน้าเป็นดังพรรณนามาฉะนี้

มีคำกล่าวกันมาแต่ก่อนว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชมณเฑียรและสถานที่ต่างๆในพระราชวังบวรฯ ทรงทำโดยปราณีตบรรจงทุกๆอย่าง ด้วยตั้งพระราชหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชสิ้นพระชนมายุขัยสวรรคต ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวรฯตามแบบอย่างสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง เป็นคำเล่ากันมาดังนี้ แต่พระราชประวัติมิได้เป็นไปตามธรรมดาอายุขัย กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จดำรงพระยศมาได้ ๒๑ พรรษา ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ มีพระอาการประชวรเป็นนิ่วในเวลาเมื่อเสด็จเป็นจอมพลไปรบพม่าที่มาตีเมืองเชียงใหม่ เสด็จขึ้นไปถึงกลางทางประชวรลงในเดือน ๓ ต้องประทับอยู่ที่เมืองเถิน ให้กรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปบัญชาการรบแทนพระองค์

เมื่อมีชัยชนะข้าศึกสงครามเสด็จกลับลงมาถึงกรุงเทพฯ พระอาการค่อยทุเลาขึ้นคราวหนึ่ง ครั้นถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระโรคกลับกำเริบอีก คราวนี้พระอาการมีแต่ทรงอยู่กับทรุดลงโดยลำดับมา จนถึงเดือน ๑๒ ประชวรหนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปช่วยรักษาพยาบาล(๒) มาจนถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ เพลาเที่ยงคืน กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเสด็จสวรรคตในพระที่นั่งบุรพาภิมุข คำนวนพระชนมายุได้ ๖๐ พรรษา ครั้นรุ่งขึ้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปพระราชทานน้ำสรงพระศพพร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์ ทรงเครื่องพระศพตามพระเกียรติยศเสร็จแล้ว เชิญลงพระลองประกอบด้วยพระโกศไม้สิบสองหุ้มทองคำ(๓) ซึ่งโปรดฯให้สร้างขึ้นใหม่ แห่ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน พร้อมด้วยเครื่องประดับตามสมควรแก่พระเกียรติยศพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯให้มีหมายประกาศให้คนโกนหัวไว้ทุกข์ทั่วพระราชอาณาจักร(๔)

ตรงนี้จะต้องกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯทรงพระประชวรจะสวรรคต ด้วยเกี่ยวข้องเนื่องกับตำนานวังหน้าในชั้นหลังต่อมา เรื่องราวเหตุการณ์ทั้งปวงนั้นมีปรากฏอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร และพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับทั้งในเรื่องนิพพานวังหน้า พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรพระราชธิดากรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งนักองค์อีเป็นเจ้าจอมมารดาได้ทรงนิพนธ์ไว้ พิมพ์แล้วทั้ง ๓ เรื่อง พิเคราะห์เนื้อเรื่องที่ยุติต้องกัน ได้ความดังนี้

เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสังเกตเห็นอาการที่ทรงพระประชวร มีแต่ทรงอยูกับทรุดลงเป็นอันดับมา จนพระสิริรูปซูบผอมทุพพลภาพ ทรงรำคาญด้วยทุกขเวทนาที่มีในอาการพระโรค วันหนึ่งจึงทรงอธิษฐานเสี่ยงทายพระสุธารสว่า ถ้าหากพระโรคที่ประชวรจะหายไซร้ ขอให้เสวยพระสุธารสนั้นให้ได้โดยสะดวก พอเสวยพระสุธารสเข้าไปก็มีอาการทรงพระอาเจียน พระสุธารสไหลกลับออกมาหมด แต่นั้นกรมพระราชวังบวรฯก็ปลงพระราชหฤทัยว่าคงจะสวรรคต มิได้เอาพระทัยใส่ที่จะเสวยพระโอสถรักษาพระองค์ และทรงสั่งเสียพระราชโอรสธิดา ข้าราชการในวังหน้า ตามพระอัธยาศัยให้ทราบทั่วกันว่า พระองค์คงจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้าแล้ว

อยู่มาในกาลวันหนึ่ง ทรงระลึกถึงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ซึ่งไฟไหม้เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๔๔ ทรงสถาปนาใหม่การยังค้างอยู่ จึงดำรัสสั่งให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลื่ยง เสด็จออกมายังวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ว่าจะทรงนมัสการพระพุทธรูป ครั้นเสด็จถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ ดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นพนักงานถวายพระแสงเข้าไป ทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาครู่หนึ่ง ขณะนั้นพออาการพระโรคเกิดทุกขเวทนาเสียดแทงขึ้นเป็นสาหัส ก็ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายเป็นพุทธบูชา พระองค์เจ้าลำดวนลูกเธอองค์ใหญ่ที่ตามเสด็จไปด้วยเข้าแย่งพระแสงเสียไปจากพระหัตถ์ กรมพระราชวังบวรฯทรงโทมนัสทอดพระองค์ลง ทรงกันแสงแช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวนต่างๆ ในที่สุดเจ้านายและข้าราชการที่ไปตามเสด็จ ต้องช่วยกันปล้ำปลุกเชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงกลับคืนเข้าพระราชวังบวรฯ

ต่อนั่นมาในไม่ช้าอีกวันหนึ่ง กรมพระราชวังบวรฯมีรับสั่งว่า พระราชมณเฑียรสถานได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของปราณีตบรรจง ประชวรมาช้านานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นให้รอบคอบ จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงโปรดฯให้เชิญพระองค์ขึ้นทรงพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนย เชิญเสด็จไปรอบพระราชมณเฑียร กระแสรับสั่งของกรมพระราชวังบวรฯเมื่อเสด็จประพาสพระราชมณเฑียรครั้งนี้เล่ากันมาเป็นหลายอย่าง บางคนเล่าว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงบ่นว่า "ของนี้อุตส่าห์ทำขึ้นด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนานๆ ก็ครั้งนี้จะไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นวันนี้เป็นที่สุด ต่อนี้ไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น" เล่ากันแต่สังเขปเท่านี้ก็มี เล่ากันอีกอย่างหนึ่งยิ่งไปกว่านี้ว่า กรมพระราชวังบวรฯรับสั่งบ่นว่า "ของใหญ่ของโตดีดีของกูสร้าง ใครไม่ได้ช่วยเข้าทุนอุดหนุนให้แรง ก็สร้างขึ้นด้วยกำลังข้าเจ้าบ่าวนายของกูเอง นานไปใครมิใช่ลูกกู ถ้ามาเป็นเจ้าของเข้าครอบครอง ขอให้ผีสางเทวดาจงบันดาลอย่าให้มีความสุข" ตามพระหฤทัยที่โทมนัส เล่ากันอย่างหลังนี้โดยมาก(๕)

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กรมพระราชวังบวรฯประชวรครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมพระประชวร เมื่อแรกเสด็จกลับลงมาจากเมืองเถินครั้ง ๑ ต่อมาเมื่อทรงทราบว่าพระอาการมาก จะเสด็จขึ้นไปรักษาพยาบาล ครั้งหลังนี้พวกข้าราชการวังหลวงจะขึ้นไปตั้งกองรักษาพระองค์ พวกวังหน้ามากีดกันห้ามปราม ไม่ยอมให้พวกวังหลวงเข้าไปตั้งกองล้อมวงลงได้ เจ้าพระยารัตนาพิพิธที่สมุหนายกต้องเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จขึ้นไปเป็นประธานจัดตั้งกองล้อมวง เจ้าพระยารัตนาพิพิธกับเจ้าพระยายมราช เดินตามเสด็จไปสองข้างพระเสลี่ยง พวกวังหน้ายำเกรงพระบารมีจึงยอมให้ตั้งกองล้อมวง

เรื่องตั้งกองล้อมวงที่ปรากฏตรงนี้ บางทีท่านผู้อ่านจะมีความสงสัยว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรกรมพระราชวังบวรฯถึง ๒ ครั้ง ครั้งก่อนก็เป็นการเรียบร้อย เหตุใดจึงมาเกิดการเกี่ยงแย่งเรื่องล้อมวงขึ้นต่อครั้งหลัง ข้อนี้อธิบายว่าที่จริงการที่วังหลวงเสด็จขึ้นไปวังหน้านั้น โดยปกติย่อมมีเนืองๆ เหมือนดังเช่นเสด็จในงานพระราชพิธีโสกันต์ลูกเธอวังหน้าเป็นต้น แต่การเสด็จโดยปกติจัดเหมือนอย่างเสด็จวังเจ้านายต่างกรม ไม่มีจุกช่องล้อมวงเป็นการพิเศษอย่างใด แต่ครั้งหลังนั้น เพราะจะเสด็จขึ้นไปรักษาพยาบาลกรมพระราชวังบวรฯซึ่งประชวรหนักจวนสวรรคต จะประทับอยู่เร็วหรือช้าหรือจนถึงแรมค้างคืนวันก็เป็นได้ เป็นการผิดปกติ จึงต้องจัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระองค์ให้มั่นคงกวดขัน ฝ่ายข้างพวกวังหน้าถือว่าพวกวังหลวงเข้าไปทำละลาบละล้วงในรั้ววังลบหลู่เจ้านายของตน จึงพากันขัดแข็งเกะกะ เพราะพวกข้าราชการวังหลวงกับวังหน้ามีทิฐิถือเป็นต่างพวกต่างฝ่ายกันอยู่แล้ว

และในครั้งนั้นยังมีเหตุอื่นอีก ซึ่งทำให้พวกวังหน้ากระด้างกระเดื่อง เนื่องมาแต่ครั้งรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๔๐ คราวนั้นโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จเป็นจอมพล เจ้านายไปตามเสด็จมีกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ และกรมขุนสุนทรภูเบนทร์(๖) กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ๒ พระองค์นี้เป็นลูกเธอชั้นผู้ใหญ่ของกรมพระราชวังบวรฯ พึ่งจะออกทำสงครามในครั้งนั้น กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน ทรงจัดกองทัพที่จะยกไปรบพม่าที่มาตั้งล้อมเมืองเชียงใหม่เป็น ๔ ทัพ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงหริรักษ์ กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกไปทัพ ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบนทร์กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตคุมกองทัพวังหน้ายกไปทัพ ๑ ให้เจ้าอนุอุปราชซึ่งยกกองทัพเมืองเวียงจันทน์มาช่วยยกไปทัพ ๑ แล้วให้กรมพระราชวังหลังยกไปเป็นทัพหนุนอีกทัพ ๑ การสงครามครั้งนั้นต่างทัพต่างทำการรบพุ่งประชันกัน มีชัยชนะตีกองทัพพม่ายับเยิน จนจับได้อุบากองนายทัพพม่าคน ๑

ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ พม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่อีก จึงโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จเป็นจอมพล และจัดกองทัพให้เหมือนครั้งก่อน เว้นแต่กรมพระราชวังหลังไม่ได้เสด็จขึ้นไปในชั้นแรก กรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน ไปประชวรในคราวที่จะสวรรคตนี้ กองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ก็ยกมาไม่ทันกำหนด กรมพระราชวังบวรฯจึงทรงจัดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์กับพระยายมราชคุมกองทัพวังหลวงยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทางเมืองลี้ทัพ ๑ ให้กรมขุนสุนทรภูเบนทร์กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตและพระเสน่หาภูธร ชื่อทองอิน ภายหลังได้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา เป็นคนซึ่งกรมพระราชวังบวรฯทรงพระเมตตาเหมือนอย่างพระราชบุตรบุญธรรม คุมกองทัพวังหน้าขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ทางเมืองนครลำปางอีกทัพ ๑

ข้างฝ่ายกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงทราบข่าวกรมพระราชวังบวรฯประชวร โปรดฯให้กรมพระราชวังหลังเสด็จตามขึ้นไป กรมพระราชวังบวรฯจึงให้กรมพระราชวังหลังคุมกองทัพหนุนขึ้นไปอีกทัพหนึ่ง กองทัพที่ยกขึ้นไปเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ทัพหลวงที่ไปทางเมืองลี้ไปเข้าใจผิดถอยลงมาเสียคราวหนึ่ง จนทัพวังหน้าตีได้เมืองลำพูนจึงยกตามขึ้นไปตั้งประชิดค่ายพม่าที่ล้อมเมืองเชียงใหม่ ครั้นกรมพระราชวังหลังเสด็จขึ้นไปถึง มีรับสั่งให้กองทัพยกเข้าระดมตีค่ายพม่าพร้อมกัน กองทัพวังหน้าก็ตีได้ค่ายพม่าก่อน ต่อพวกวังหน้าชนะแล้วทัพวังหลวงจึงตีค่ายได้

กรมพระราชวังบวรฯทรงขัดเคืองกองทัพวังหลวง ดำรัสบริภาษติเตียนต่างๆแล้วปรับโทษให้ขึ้นไปตีเมืองเชียงแสนแก้ตัว ด้วยกันกับกองทัพเจ้าอนุเวียงจันทน์ซึ่งยกมาไม่ทันรบพม่าที่เมืองเชียงใหม่ การสงครามคราวนี้จึงเป็นเหตุให้พวกวังหน้าที่เป็นตัวสำคัญ คือพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต และพระยากลาโหมทองอิน ซึ่งเป็นพวกรุ่นหนุ่มไปมีชื่อเสียงมาในคราวนี้ เกิดดูหมิ่นพวกวังหลวงว่าในการรบพุ่งทำศึกสงครามสู้พวกวังหน้าไม่ได้ ข้างพวกวังหลวงเมื่อเห็นพวกวังหน้าดูหมิ่นก็ต้องขัดเคือง จึงเลยเป็นเหตุให้ไม่ปรองดองกันในเวลาเมื่อจะตั้งกองล้อมวงเตรียมรับเสด็จ

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปถึงพระราชวังบวรฯ ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระอนุชาธิราชประชวรมาก ก็ทรงพระอาลัยและทรงพระกันแสงรำพรรณต่างๆ พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรเฝ้าอยู่ในที่นั้น ได้ทรงพรรณนาไว้ในกลอนเรื่องนิพพานวังหน้าเป็นน่าจับใจ จึงคัดมาลงไว้ต่อไปนี้

"พระปิตุลาปรีชาเฉลียวแหลม
ขยายแย้มสั่งให้ห้อยมณฑาหอม
พระโองการร่ำว่านิจาจอม
ถนอมขวัญตรัสโอ้พระอนุชา

ว่าพ่อผู้กู้ภพทั้งเมืองพึ่ง
จงข้ามถึงพ้นโอฆสงสาร์
ดำรงจิตคิดทางพระอนัตตา
อนาคตนำสัตว์เสวยรมย์

ครั้งทรงสดับโอวาทประสาทสอน
ค่อยเผยผ่อนเคลื่อนคล้อยอารมณ์สม
แต่หนักหน่วงห่วงหลังยังเกรงกรม
ประนมหัตถ์ร่ำว่าฝ่าละออง

บุญน้อยมิได้รองยุคลคืน
ยิ่งทรงสะอื้นโศกสั่งกันทั้งสอง
จึงทูลฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง
ประสิทธิ์ปองมอบไว้ใต้ธุลี

ฝากหน่อขัตติยานุชาด้วย
จงเชิญช่วยโอบอ้อมถนอมศรี
แต่พื้นพงษ์จะพึ่งพระบารมี
จงปรานีนัดดาอย่าราคิน

เหมือนเห็นแก่นุชหมายถวายมอบ
จะนึกตอบแต่บุญการุญถวิล
ก็จะงามฝ่ายุคลไม่มลทิน
ก็เชิญผินนึกน้องเมื่อยามยัง

อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง
โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
อย่าบำราศให้นิราแรมวัง
ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ

จึงตรัสปลอบพระบัณฑูรอาดูรด้วย
ว่าจะช่วยเอาธุระแสนสงสาร
เป็นห่วงไปไยพ่อให้ทรมาน
จะอุ้มหลานจูงลูกไม่ลืมคำ

อันเยาวยอดสืบสายโลหิตพ่อ
พี่ตั้งต่อสุจริตอุปถัมภ์
ครั้นทรงสดับแน่นึกสำเนาคำ
ก็คลายร่ำทุกข์ถ้อยบรรเทาทน"


เนื้อความตามที่ปรากฏในกลอนของพระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตร ก็ตรงกับคำที่เล่ากันมา ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวร กรมพระราชวังบวรฯกราบทูลฝากพระโอรสธิดา แล้วกราบทูลขอให้ได้อยู่อาศัยในวังหน้าต่อไป บางทีความข้อหลังนี้เองจะเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าลำดวน และพระองค์เจ้าอินทปัตเข้าพระทัยไปว่า พระราชบิดาได้ทูลขอให้ลูกเธอได้ครองวังหน้า อย่างรับมรดกกันในสกุลคนสามัญ ไม่รู้สึกว่าเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรฯเสด็จสวรรคตแล้ว ไม่ได้เข้าไปครองวังหน้าดังปรารถนา จึงโกรธแค้นคบคิดกันช่องสุมหากำลังจะก่อการกำเริบ

ในชั้นแรกมีความปรากฏทราบถึงพระกรรณแต่ว่า พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต เกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาอยู่คง ไปลองวิชากันที่ในวังในเวลากลางคืนเนืองๆ บางทีลองวิชาพลาดพลั้งถึงผู้คนล้มตายก็เอาศพซ่อนฝังไว้ในวังนั้น เพื่อจะปิดความมิให้ผู้อื่นได้รู้

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังทรงแคลงพระทัยอยู่ ให้แต่งข้าหลวงปลอมไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกของพระองค์เจ้าทั้งสองนั้น ก้ได้ความสมจริงดังำที่กล่าว จึงโปรดฯให้จับมาชำระ ได้ความว่าคบคิดกับพระยากลาโหมทองอินด้วย ครั้นจับพระยากลาโหมกับพรรคพวกที่เข้ากันมาชำระ จึงให้การรับเป็นสัตย์ว่าคบคิดกันจะทำร้ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันเสด็จพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ

และทำนองถ้อยคำซึ่งกรมพระราชวังบวรฯได้ตรัสว่าประการใดเมื่อเวลาทรงพระประชวร ก็เห็นจะปรากฏขึ้นในเวลาชำระกันนี้ จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงน้อยพระทัยในสมเด็จพระอนุชาธิราช ว่าเพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ แต่แรกดำรัสว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯ

แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดฯให้ทำพระเมรุใหญ่ตามเยี่ยงอย่างพระเมรุพระมหาอุปราชครั้งกรุงเก่า แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุเป็นพุทธบูชาเสียก่อน ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวรฯ ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพกรมพระราชวังบวรฯแล้ว จึงโปรดฯให้เชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ในพระที่นั่งวายุสถานอมเรศ อันเป็นพระวิมานกลางในหมู่มหามณเฑียรในพระราชวังบวรฯ จึงเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิแต่นั้นมา ส่วนการพระเมรุแต่นั้นก็เลยเป็นประเพณี เวลามีงานพระเมรุท้องสนามหลวงจึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชก่อนงานพระศพ สืบมาจนรัชกาลหลังๆ



....................................................................................................................................................



(๑) พบนามพระพิมานที่กล่าวนี้ในหนังสือ "นิพพานวังหน้า"

(๒) ในหนังสือพระราชพงศาวดารที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นประทับแรมอยู่ ๖ ราตรี ข้าพเจ้าสงสัยว่าจะเอาคราวรัชกาลที่ ๒ มาลงผิด ด้วยในหนังสือยนิพพานวังหน้าไม่ปรากฏว่าเสด็จขึ้นไปประทับแรม

(๓) ไขว้กันไปควรจะเป็น "เชิญลงพระโกศประกอบด้วยพระลองไม้สิบสองหุ้มทองคำ"
ดูที่ ตำนานพระโกศ

(๔) เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้มีประกาศห้ามมิให้ผู้สังกัดวังหน้าโกนหัวไว้ทุกข์ เนืองในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าคติการไว้ทุกข์ด้วยโกนหัวนั้นมีคติเดิมว่าข้าบริวารของผู้ตายเท่านั้นที่โกนหัว หากโกนหัวทั้งแผ่นดินหมายถึงว่าพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต

(๕) ความตรงนี้มีในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๖) พระองค์นี้มีประวัติแปลกพิสดารออกไป กล่าวว่าเดิมเป็นสามัญชนชื่อ หม่อมเรือง ได้สาบานเป็นพี่น้องกับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเมื่อครั้งยังทำสงครามกูชาติกับพม่าข้าศึก ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกสถาปนาพระบรมราชวงศ์จักรีแล้ว จึงโปรดฯให้สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าราชนิกูล ชื่อเจ้าบำเรอภูธร ภายหลังโปรดฯให้มีอิสริยยศเป็นต่างกรม นาม กรมขุนสุนทรภูเบนทร์


..........................................................................................................................................................


ตำนานวังหน้า - กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท




 

Create Date : 27 มีนาคม 2550   
Last Update : 27 มีนาคม 2550 14:12:12 น.   
Counter : 9386 Pageviews.  


1  2  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com