กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
กำเนิดหัวเมืองในมณฑลอีสาน ตอนที่ ๒


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
ข้าหลวงต่างพระองค์มณฑลลาวกาว



....................................................................................................................................................


วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในรัชกาลปัจจุบันนี้



แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



ลุจุลศักราช ๑๒๓๑ ปีมะเส็งเอกศก พระยางสังฆะบุรีศรีนครอัจจะมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านกุดประไทยหรือบ้านจารพัดเป็นเมือง ขอหลวงไชยสุริยง(คำมี)บุตรหลวงไชยสุริวงศ์กองนอก(หมื่นคม)เป็นเจ้าเมือง และว่าตำแหน่งปลัดและยกกระบัตรเมืองสังฆะว่าง ขอพระสุนทรพิทักษ์บุตรพระปลัดคนเก่าเป็นปลัด ขอหลวงศรีสุราชผู้หลานเป็นยกกระบัตรเมืองสังฆะ

ครั้น ณ วันอังคาร ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีมะเส็งนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีตราพระราชสีห์ตั้งบ้านกุดประไทยหรือบ้านจารพัดเป็น เมืองสีขรภูมิพิสัย ตั้งให้หลวงไชยสุริยงกองนอกเป็น พระศรีขรภูมานุรักษ์ เจ้าเมือง ขึ้นเมืองสังฆะ พระราชทานเครื่องยศพระศรีขรภูมานุรักษ์คือ ถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ สัปทนเเพรหลิน ๑ กับเสื้อผ้าตามสมควร

เขตแดนเมืองศรีขรภูมิมีปรากฏตามตราพระราชสีห์ว่า ตั้งแต่ลำวังประปอ ลำคลองกุดประไทย ห้วยอังกันถึงห้วยตราฝั่งเหนือ ข้างห้วยอังกันมาบ้านตังโก คลองลำน้ำฉิงฝั่งใต้ขึ้นไปบ้านแขม บ้านตลาด บ้านป้อม ออกลำพมูล เป็นแขวงเมืองศรีขรภูมิพิสัย และมีความต่อไปว่า แล้วพระยาสังฆะ พระยาสุรินทร์ว่ากลับมาถึงบ้านเมืองแล้วจะพร้อมกันไปปักหลักที่ปลายห้วยตัดจุกแห่ง ๒ ที่ปลายคลองลำน้ำแห่ง ๑ ต้นคลองลำน้ำแห่ง ๑ บรรจบลำน้ำวังปอแห่ง ๑ เป็นแขวงเมืองศรีขรภูมิพิสัย

และเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ โปรดเกล้าฯตั้งให้พระสุนทรพิทักษ์เป็นพระไชยสงครามปลัด ให้หลวงศรีสุราชเป็นพระแก้วภักดียกกระบัตรเมืองสังฆะ พระราชทานปลัดคือ ถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพรหลิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดอก ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ พระราชทานยกกระบัตร เสื้อเข้มขาบริ้วยอ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เป็นเครื่องยศ

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เชียงเกศ บ้านโสงใหญ่ฝั่งโขงตะวันออกแขวงเมืองคำทองใหญ่ สมัครขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงตั้งบ้านโส้งใหญ่เป็นเมือง ขนานนามว่า เมืองสุวรรณคิรี ตั้งเชียงเกศเป็นที่ พระสุริยวงศา เจ้าเมืองสุวรรณคิรี ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมือง ๑

ในปีนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองกมลาศัยออกจากเมืองกาฬสินธุ์ ขึ้นกรุงเทพฯ เขตแดนเมืองกมลาศัยซึ่งปรากฏในเวลานั้นว่า ทิศเหนือตั้งแต่บ้านนาดี บ้านหลุบ ตลอดขึ้นไปถึงหนองสพังคำหมากม่าย หนองสพังคำปากอางรัง มิศตะวันออกตั้งแต่ห้วยหินทอดตกยัง ตลอดลงไปถึงปากยังตกซี ทิศใต้ตั้งแต่ปากยังตกซีตลอดไปถึงท่าประทาย ทิศตะวันตกตั้งแต่ท่าประทายตลอดไปถึงทุ่งแม่นางม้วน บรรจบกับบ้านนาดี

ฝ่ายทางเมืองขุขันธ์ ครั้นพระปลัด(แก้ว)ถึงแก่กรรมแล้ว วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ ปีนี้ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้พระมหาไทย(แอก)เป็นที่พระภักดีภูธรสงครามปลัด พระราชทานครอบเงินกลมถมตะทอง เครื่องในถมยาเขียวปริกทองคำ จอกหมาก ๒ ผอบ ๒ ซองบุหรี่ ๑ มีดหมาก ๑ คนโทเงินถมตะทอง ๑ ประคำทอง ๑๐๘ เม็ดสาย ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้ากำมะหริดห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ สัปทนปัสตูแดง ๑ เป็นเครื่องยศ และให้ท้าวแก้วเป็นที่พระบริรักษ์กองนอก ครั้งพระยกกระบัตร(อ้น)ถึงแก่กรรม จึงโปรดตั้งให้ท้าวบุญจันทร์บุตรพระปลัด(ศรีเมือง)เป็นที่พระแก้วมนตรียกกระบัตร พระบริรักษ์(แก้ว)ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวบุญเรืองบุตรพระปลัด(ศรีเมือง)เป็นที่พระเจริญกองนอกต่อไป

ระหว่างปีนี้ได้มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์คนเมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังวฆะ ศรีสระเกศ เดชอุดม ไปทำอิฐก่อกำแพงเมืองปราจีนบุรี

มีชาวฝรั่งเศสผู้หนึ่งชื่อมองซิเออร์ไซแง มาแต่ไซ่งอนทางนครจำปาศักดิ์ ถึงเมืองอุบลเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีนี้ ม.ไซแง ได้ไปหาเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ แจ้งว่ามาทำแผนที่ลำน้ำมูลและได้เอาสิ่งของต่างๆมาจำหน่ายด้วย เจ้าพรหมเทวาฯจึงให้กรมการจัดที่ให้ ม.ไซแง พักตามสมควร

ครั้นวัน อังคาร แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ม.ไซแงเอาแผนที่ไปให้เจ้าพรหมเทวาฯ ๒ แผ่น และพูดว่ามาอยู่เมืองนี้ต้องซื้อเสบียงอาหารรับประทาน ที่เมืองอื่นหาได้ซื้อไม่ เพราะเจ้าเมืองกรมการได้เกื้อหนุน เจ้าพรหมเทวาฯจึงตอบว่าถ้า ม.ไซแง ขัดขวางด้วยเสบียงอาหารอย่างไร ก็จะรับอนุเคาระห์ตามควร ให้ม.ไซแงไปรับเอาที่เพี้ยพันนา เพี้ยศรีสุนน ซึ่งอยู่ ณ บ้านอุปฮาดเถิด ม.ไซแงตอบขอบใจ และว่าได้ไปขอเสบียงอาหาร ณ บ้านอุปฮาดในวันพรุ่งนี้ แล้วก็ลากลับไปที่พัก

ในระหว่างนั้นเป็นเวลาที่เจ้าพรหมเทวาฯกับอุปฮาดกาถูกต้องปรองดองกันไม่ ฝ่ายกรมการผู้น้อยก็แยกเป็นพวกเป็นเหล่าตามหัวหน้า ครั้นกรมการฝ่ายข้างเจ้าพรหมเทวาฯได้ทราบว่าม.ไซแงจะไปบ้านอุปฮาดในวันพรุ่งนี้ ก็เห็นเป็นโอกาสที่จะเล่นสนุก จึงได้ไปเที่ยวพูดให้เข้าหูถึงกรมการฝ่ายอุปฮาดว่า พรุ่งนี้ฝรั่งจะมาจับอุปฮาดส่งไปไซง่อน ฝ่ายอุปฮาดทราบดังนั้นสำคัญว่าจริง จึงสั่งการว่า ถ้าพรุ่งนี้ฝรั่งมาถามหาอุปฮาดก็ให้บอกว่าไม่อยู่

ครั้นวัน พุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เวลาเช้า ม.ไซแงไปหาเจ้าพรหมเทวาฯ ขอให้กรมการพาไปบ้านอุปฮาดเพื่อขอเสบียงอาหาร เจ้าพรหมเทวาฯจึงให้เพี้ยขันอาสา เสมียนบง นายเหล็ก นำม.ไซแงไปถึงบ้านอุปฮาด ให้แต่นายเหล็กพาม.ไซแงเข้าไปถึงหอนั่งเรือนอุปฮาด พบท้าวสุริโยและท้าวสุวรรณเสนจึงถามหาอุปฮาด ท้าวสุริโยบอกว่าไม่อยู่ ม.ไซแงจึงถามหาเพี้ยศรีสุนน กรมการในที่นั้นบอกว่าไปรับประทานอาหารที่บ้านยังไม่กลับมา ม.ไซแงบอกกรมการให้ไปตามเพี้ยศรีสุนนมาหา กรมการยังหาทันแต่งให้ผู้ใดไปไม่

ขณะนั้นม.ไซแงจึงถามว่าใครเป็นผู้ใหญ่อยู่ในที่นี้ ท้าวสุริโยจึงชี้ไปที่ท้าวสุวรรณเสน และบอกว่าท้าวสุวรรณเสนเป็นผู้ใหญ่ ทันใดนั้น ม.ไซแงก็ลุกตึงตังเดินโครมครามตรงเข้าไปจับมือท้าวสุวรรณเสนสั่นๆ เป็นกิริยาคำนับตามธรรมดาของธรรมเนียมยุโรป ข้างฝ่ายท้าวสุวรรณเสนไม่รู้จักธรรมเนียมคำนับของฝรั่ง สำคัญใจว่าฝรั่งจะจบเอาตนไปก็ร้องเอะอะ และสลัดมือหลุดออกมาได้แล้วก็กลับชกเอาม.ไซแง ข้างฝ่ายท้าวสุริโยและกรมการ ซึ่งอยู่มในที่นั้นก็พร้อมกันเข้ากลุ้มรุมชกฝรั่งถูกร่างกายเป็นบาดเจ็บหลายแห่ง และจับม.ไซแงไปจำตรวนไว้

ข้างฝ่ายเจ้าพรหม และอุปฮาด ต่างก็มีบอกเหตุที่เกิดขึ้นนี้ไปยังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯให้ส่งม.ไซแงและกรมการซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องนี้มายังกรุงเทพฯ พิจารณาได้ความจริงว่ากรมการมีความผิด โปรดเกล้าฯให้ปรับกรมการเสียเงินทำขวัญให้ม.ไซแงเป็นเงิน ๖๐๐๐ บาท และให้ลงพระราชอาญาแก่กรมการผู้ผิดตามสมควร

และต่อนั้นมา อาการที่เจ้าพรหมกับอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร มิได้ร่วมสามัคคีรสกันนั้น ก็ให้ผลรุนแรงขึ้นโดยลำดับ จนถึงต่างคนก็ต่างกล่าวโทษซึ่งกันและกันต่างๆส่งมา ณ กรุงเทพฯมีต้นว่า ข้างฝ่ายเจ้าพรหมหาว่า อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ขัดขวางไม่ให้เก็บเงินส่วยแก่ตัวไพร่ ข้างฝ่ายอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ก็กล่าวโทษเจ้าพรหมว่าฉ้อบังพระราชทรัพย์ แล้วเจ้าพรหม กับราชวงศ์ ราชบุตร ก็พากันลงมาสู้ความกัน ณ กรุงเทพฯ ทางเมืองอุบลมีแต่อุปฮาดอยู่รักษาเมือง คดีความยังหาทันแล้วกันไม่ จนอุปฮาดผู้อยู่รักษาเมืองอุบล และราชวงศ์ ราชบุตร ซึ่งอยู่สู้ความกับเจ้าพรหม ณ กรุงเทพฯนั้น ก็พากันถึงแก่กรรมไปหมด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวไชยกุมาร(ท้าว)บุตรราชวงศ์เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวหนูคำบุตรราชบุตรเป็นราชบุตร ฝ่ายราชวงศ์ ราชบุตรก็พากันลงมาสู้ความกับเจ้าพรหม ณ กรุงเทพฯแทนบิดาของตนต่อไปอีก

ลุจุลศักราช ๑๒๓๒ ปีมะเมียโทศก โปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าราชวงศ์(บัวระพันธุ์)เป็นเจ้าอุปราช ให้เจ้าจุ่นบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย) เป็นเจ้าราชวงศ์เมืองนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเจ้าราชบุตร(อินทชิต)มีความผิดส่งมากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ถอดเสียแล้วเอาตัวจำไว้ แล้วโปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าศรีสุราช(พันธ์)บุตรเจ้าอุปราช(เสือ)เป็นเจ้าราชบุตร

ฝ่านนายทิดภูมี บ้านบึงจวงพรมแดนเมืองคงกับเมืองสพาด แขวงเมืองคำทองใหญ่ ฝั่งโขงตะวันออก โจทสมัครมาพึ่งเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงตั้งบ้านบึงจวงเป็น เมืองวาปีไพรบูรณ์ ตั้งนายทิดภูมิเป็น พระพิศาลสุรเดช เจ้าเมือง ขึ้นเมืองจำปาศักดิ์

พระยาสังฆะมีบอกขอตั้งหลวงจัตุรงค์เป็นปลัด ขุนจำนงเป็นยกกระบัตรเมืองศีขรภูมิ วันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีนี้ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งหลวงจัตุรงค์เป็นหลวงจัตุรงค์วงศาปลัด ให้ขุนจำนงเป็นหลวงประสิทธิ์เกรียงไกร ยกกระบัตรเมืองศีขรภูมิ พระราชทาน เสื้ออัดตลัดดอกเล็ก ๑ ผ้าโผกขลิบ ๑ ผ้าห่มนอน ๑ แพรขาว ๑ ผ้าลายนุ่ง ๑ เหมือนกันทั้งสองคน

เมื่อเดือนยี่ปีนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระพิไชยสรเดช หลวงทรงวิไชย ขุนมณีโอสถ หมื่นไชยสงคราม เป็นข้าหลวงขึ้นไปตรวจ(สักเลข)เมืองสังฆะและเมืองขึ้น

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทร์เห็นว่าพระยาสังฆะได้ขอบ้านกุดประไทยเป็นเมืองศีขรภูมิแล้ว ก็เกรงว่าพระยาสังฆะจะเอาบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย จึงได้มีใบบอกขอตั้งบ้านลำดวนเป็นเมือง ขอให้พระไชยณรงค์ภักดี(นาค)ปลัดเมืองสุรินทร์เป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมือง ปรากฏนามว่า สุรพินทนิคม ให้พระปลัด(นาค)เป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคม ขึ่นเมืองสุรินทร์มาแต่นั้น

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ท้าวมหาไชยเป็นราชบุตรเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานเสื้อเข้มขาบดอกกระจาย ๑ แพรตีขลิบ ๑ ผ้ากำมะหริด ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๘ โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวจันชมภูเป็นท้าวศรีวรราชผู้ช่วยเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานเสื้อเข้มขาบดอกกระจาย ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้ากำมะหริดห่มนอน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

ลุจุลศักราช ๑๒๓๓ ปีมะแมตรีศก เจ้านครจำปาศักดิ์ได้ตั้งบ้านแก่งไม้เฮียะ ในคลองจำปีฝั่งโขงตะวันออกเป็นเมืองขนานนามว่า เมืองมธุรศาผล ตั้งให้ท้าวอินนายครัวซึ่งเกลี้ยกล่อมมาจากเมืองตะโปน เป็นที่ พระจันทร์ศรีสุราช เจ้าเมืองมธุรศาผล ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์

ฝ่ายเมืองอำนาจเจริญ พระอมรอำนาจ(จันบรม)เจ้าเมือง และอุปราช(บุตร) ราชวงศ์(ศรีหาราช) ราชบุตร(สุริโย) ถึงแก่กรรมแล้วยังหาทันโปรดเกล้าฯให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่ มีแต่ท้าวมืดผู้รับตำแหน่งอุปฮาดได้พร้อมกันกับท้าวเพี้ยกรมการช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๓๔ ปีวอกจัตวาศก เจ้านครจำปาศักดิ์ให้ตั้งบ้านท่าคา(คือทุ่งบัวสีศิริจำปังเก่า)เป็น เมืองอุทุม(หรืออุทุมธารา) ตามนามที่ใช้บัดนี้ ตั้งให้เจ้าอ้นบุตรเจ้าแก้วเขมรเชื้อวงศ์ เป็นที่ พระสุริยวงศา เจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง

ฝ่ายพระยาสังฆะได้มีบอกขอตั้งบ้านลำพุกเป็นเมือง ขอพระมหาดไทยเมืองสังฆะเป็นเจ้าเมือง จึงโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านลำพุกขึ้นเป็น เมืองกันทรารมย์ ตั้งให้พระมหาดไทยเป็น พระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์ ขึ้นกับเมืองสังฆะ

โปรดเกล้าฯให้มีตราถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออกว่า ได้ให้ยกเลิกตั้งธรรมเนียมข้าหลวงกองสักมาสักเลขตามหัวเมือง และยอมอนุญาตให้ไพร่ยอมไปอยู่ตามใจสมัคร และให้ทำบัญชีสำมะโนครัวตัวเลขส่งกรุงเทพฯ

ในปีนี้ คนใช้ของพระยารัตนวงศา(คำผาย)เจ้าเมือง ไปแทรกโพนได้ช้างพลายสีประหลาดสูงสามศอก พระยารัตนวงศาจึงมีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วโปรดเกล้าฯให้พระเหมสมาหารเมืองนครราชสีมา เป็นข้าหลวงไปตรวจพิจารณาดูช้างนั้น แล้วพระยารัตนวงศาจึงพร้อมด้วยพระเหมสมาหาร นำช้างสีประหลาดมา ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้รับช้าง มีมหกรรมสมโภชขึ้นระวางขนานนามว่า พระเศวตสุวภาพรรณ ตั้งให้หมอช้างเป็นขุนเศวตสารศรี ให้ควาญช้างเป็นหมื่นกรีกำราบ และโปรดเกล้าฯให้พระราชทานเงินตราเสื้อผ้าแก่พระยารัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และหมอช้างควาญช้างตามสมควร

ท้าวเหม็นว่าที่อุปฮาด ท้าวโคตว่าที่ราชวงศ์ ท้าวสุริยว่าที่ราชบุตร ท้าวโพธิสารว่าที่ผู้ช่วยเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอตั้งท้าวโคตเป็นพระศรีสุวรรณเจ้าเมืองแซงบาดาล ขอตั้งท้าวหงส์เป็นราชวงศ์เมืองท่าขอนยาง วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งท้าวหงส์เป็นราชวงศ์ท่าขอนยาง พระราชทานเสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งท้าวหงส์เป็นราชวงศ์ท่าขอนยางว พระราชทานเสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาตร โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวโคตเป็น พระศรีสุวรรณ เจ้าเมืองแซงบาดาล พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพร ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรสีติดขลิลบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เป็นเครื่องยศ

ลุจุลศักราช ๑๒๓๕ ปีระกาเบญจศก ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(คำผาย)เป็นพระยารัตนวงศาเจ้าเมือง ให้ราชวงศ์(เง่า)เป็นอุปฮาด แล้วพระยารัตนวงศากับอุปฮาดต่างก็หามีสามัคคีรสต่อกันไม่

ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๒๓๔ ปีวอกจัตวาศก มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯไปว่าท้าวเพี้ยตัวเลขเมืองนี้จะไปสมัครขึ้นเมืองโน้นก็ได้ตามใจไพร่สมัคร ครั้นท้าวเพี้ยตัวเลขข้างพระยารัตนวงศาจะมาสมัครขึ้นกับอุปฮาด ท้าวเพี้ยตัวเลขข้างอุปฮาดจะไปสมัครขึ้นกับพระยารัตนวงศา พระยารัตนวงศาและอุปฮาดก็หาผ่อนปรนให้ท้าวเพี้ยตัวเลขไปสมัครไปมาตามกระแสตราพระราชสีห์ซึ่งโปรดเกล้าฯมีไปเมืองปีวอกจัตวาสก จุลศักราช ๑๒๓๔ นั้นไม่ ต่างถือเปรียบแก่งแย่งกันอยู่ ฝ่ายราชการเกิดมีขึ้นอย่างใดก็ต่างคนต่างหาได้ปรึกษาปรองดองกันไม่

ฝ่ายอุปฮาดจึงได้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านดอนเสาโรงเป็นเมือง ขอไปเป็นเจ้าเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านดอนเสาโรงเป็น เมืองเกษตรวิสัย ตั้งให้อุปฮาด(เง่า)เป็นที่พระศรีเกษตราธิไชยเจ้าเมือง ให้ท้าวสังบุตรท้าวสุริยเป็นอัคฮาด ให้ท้าวพรหมบุตรท้าวผายเป็นอัควงศ์ ให้ท้าวสาบุตรท้าวสุริโยเป็นอัคบุตร รักษาราชการเมืองเกษรวิสัย พระศรีเกษตราธิไชยกับกรมการกราบถวายบังคมลาพาท้าวเพี้ยกรมการไปตั้งเมืองอยู่ ณ บ้านกู่กระโดนแขวงเมืองสุวรรณภูมิ หาได้ไปตั้งที่ดอนเสาโรงตามโปรดเกล้าฯนั้นไม่ ครั้งนั้นท้าวเพี้ยตัวเลขในท้องแขวงเมืองสุวรรณภูมิ ได้พากันไปสมัครขึ้นเมืองเกษตรวิสัย มีจำนวนสี่พันแปดร้อยคนเศษ

ในปีนี้ ทิดคำหมอช้างชาวเมืองขอนแก่น นายแปรควาญคนเมืองสุวรรณภุมิ และนายจันหมอควาญชาวเมืองสุวรรณภุมิ ทิดบุญมาควาญชาวเมืองขอนแก่น ไปแทรกโพนช้างทางฝั่งโขงตะวันออก คล้องได้ช้างพังเผือกสูงสี่ศอกเท่ากัน ๒ ช้าง พระยารัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิได้มีบอกส่งมาถวาย ณ กรุงเทพฯ โปรดให้ขึ้นระวางเป็นพระเทพคชรัตนกิรินีช้าง ๑ พระศรีสวัสดิเศวตวรรณช้าง ๑ ในระหว่างนั้นพระยารัตนวงศา(คำผาย)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิก็ถึงแก่กรรมลง และยังหาทันโปรดเกล้าฯให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่

ทางเมืองสุพินทนิคม พระสุรพินท์เจ้าเมืองถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาสุรินทร์เห็นว่าหลวงพิทักษ์สุนทรบุตรพระปลัดกรมการเมืองสังฆะ ซึ่งสมัครมาอยู่เมืองสุรพินท์เป็นคนหลักฐานมั่นคงดี จึงได้ให้หลวงพิทักษ์สุนทรรับตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองสุรพินท์ แต่ยังหาทันได้มีบอกขอตั้งไม่ หลวงพิทักษ์สุนทรรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสุรพินท์ได้สามปีก็ถึงแก่กรรม แต่นั้นมาเมืองสุรพินท์ก็ยังหามีเจ้าเมืองไม่

ฝ่ายทางเมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมือง ได้บอกขอตั้งพระศรีสุพรหมเป็นอุปฮาด ขอท้าวบาเป็นที่ราชบุตรผู้ช่วยทำราชการขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ แต่เพี้ยเมืองแกมิได้ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงหาได้มีตราพระราชสีห์ตั้งไม่ เป็นแต่ได้รับตำแหน่งอุปฮาด ตามใบบอกพระยาไชยสุนทรเท่านั้น

ในปีนี้ ได้โปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตย์(ชื่น)เป็นข้าหลวงไปจัดราชการอยู่ ณ เมืองอุบล

เดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ ปีนี้ เวลาบ่ายโมงเศษมีสุริยอุปราคาจับมืดอยู่ครู่หนึ่งก็แจ้งสว่าง

ลุจุลศักราช ๑๒๓๗ ปีกุนสัปตศก เจ้านครจำปาศักดิ์ขอตั้งพระวิเศษสัจจาเป็นเจ้าเมืองเซลำเภา วันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้พระวิเศษสัจจาเป็น พระณรงค์ลำเภา เจ้าเมืองเซลำเภา ขึ้นเมืองจำปาศักดิ์

ปีนี้เกิดทัพฮ่อยกเข้ามาทางแขวงเมืองเวียงจันทน์และหนองคาย มีตราโปรดเกล้าฯถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออกว่าจะโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยามหินทร์ศักดิ์ธำรงเป็นแม่ทัพหน้า และให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระบำราบปรปักษ์เป็นแม่ทัพใหญ่ ออกไปปราบปรามพวกฮ่อ ให้หัวเมืองทั้งปวงจัดหาเสบียงอาหารขึ้นยุ้งฉาง และรวบรวมพาหนะเตรียมไว้ ในการปราบฮ่อครั้งนั้น โปรดให้พระยาพิไชย(ดิศ)ยกกองทัพขึ้นไปตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง ให้เจ้าพระยาภูธราภัยยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองพิชัย ให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา โปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตย์(ชื่น)ซึ่งเวลานั้นอยู่ ณ เมืองอุบลเกณฑ์กำลังคนในหัวเมืองตะวันออกยกไปก่อน พระยามหาอำมาตย์ได้รบพุ่งปราบปรามพวกฮ่อพ่ายแพ้ไป

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๓๘ ปีชวดอัฐศก พระยามหาอำมาตย์จึงกลับมาตั้งจัดราชการอยู่ ณ เมืองร้อยเอ็ด เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีนี้ นักองค์วรรดถาผู้น้ององค์สมเด็จพระนโรดม เจ้ากรุงกัมพูชาซึ่งอยู่ ณ กรุงเทพฯนั้น ได้พร้อมด้วยนักขำมารดาและบ่าว ๔ คน ลงเรือหนีไปจากกรุงเทพฯจะไปทำศึกกับองค์สมเด็จพระนโรดม ทรงพระราชดำริเกรงว่า นักองค์วรรดถาจะมาเกลี้ยกล่อมผู้คนตามหัวเมืองตะวันออก ก่อการจลาจลขึ้นกับเมืองเขมร จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาเจริญราชไมตรี(ตาด)และพระยาวิเศษลือไชยผู้ว่าราชการเมืองฉะเชิงเทรา หลวงศักดิ์เสนี หลวงเสนีพิทักษ์กรมมหาดไทย หลวงไชยเดช หลวงสรสำแดง กรมพระกลาโหม หลวงสุจริตวินิจฉัย ศาลต่างประเทศ ออกไปตั้งจัดรักษาราชการอยู่ ณ เมืองพระตะบองและเมืองนครเสียมราฐ ให้ทีอำนาจบังคับการเด็ดขาดตลอดถึงนครจำปาศักดิ์ และหัวเมืองตะวันออก และโปรดให้มีตราถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออกห้ามมืให้กรมการเข้าเกลี้ยกล่อมและส่งอาวุธเสบียงอาหารให้แก่นักองค์วรรดถาเป็นอันขาด

ในปีนี้ พระยาไชยสุนทร(หนู)เจ้าเมือง อุปฮาด(เหม็น ราชบุตร(สุริยมาตย์) เมืองกาฬสินธุ์ พระขัตติยวงศา(สาร)เจ้าเมืองร้อยเอ็ด พระสุวรรณภักดีเจ้าเมืองท่าขอนยาง และพระบำรุงราษฎรเจ้าเมืองพิบูลมังสาหาร ถึงแก่กรรม

พระยามหาอำมาตย์จึงตั้งอุปฮาด(พรหมา)รับราชการตำแหน่งพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง ให้ราชวงศ์(หงศ์)เป็นอุปฮาดเมืองท่าขอนยาง

ให้ราชบุตร(บุฮม)รับราชการตำแหน่งพระบำรุงราษฎรเจ้าเมือง ให้ท้าวรอดและท้าวมินบุตรพระยาบำรุงราษฎร(จุมมณี)เป็นอุปฮาดและราชวงศ์ ให้ท้าวแสงบุตรพระบำรุงราษฎร(บุฮม)เป็นราชบุตร เมืองพิบูลมังสาหาร

กับให้อุปฮาด(มืด)รับราชการตำแหน่งพระอมรอำนาจเจ้าเมืองอำนาจเจริญด้วย แต่ตำแหน่งเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ยังมิทันมีผู้ใดได้รับตำแหน่งไม่ เจ้าอุปราช(บัวระพันธุ์)เมืองจำปาศักดิ์และพระสุริยวงศาเจ้าเมืองอุทุมพรถึงแก่กรรม เจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์จึงตั้งเจ้าบัวบุตรพระสุริยวงศา รับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองอุทุมพรแทนที่บิดาต่อไป

เมื่อเดือน ๕ ปีฉลูยังเป็นอัฐศก จุลศักราช ๑๒๓๘ - ๑๒๓๙ พระยาเจริญราชไมตรี ได้มีบอกส่งตัวพระมโนจำนงผู้ว่าราชการเมืองมโนไพรมายังกรุงเทพฯ โดยหาว่าพระมโนจำนงได้ส่งเสบียงอาหารให้แก่นักองค์วรรดถา ซึ่งหลบหนีไปพักอยู่ที่บ้านลำจากแขวงเมืองมโนไพร พิจารณาได้ความจริง โปรดเกล้าฯให้เสนาบดีประชุมปรึกษาโทษลง พระราชอาญาพระมโนจำนง ๑ ยก ๓๐ ที และจำตรวนไว้ ๓ เดือน ครบแล้วได้โปรดเกล้าฯให้คงยศบรรดาศักดิ์กลับออกไปรักษาราชการบ้านเมืองตามเดิม

ลุจุลศักราช ๑๒๓๙ ปีฉลูนพศก พระยามหาอำมาตย์กลับกรุงเทพฯ ราชบุตร(เสือ)เมืองร้อยเอ็ด และราชวงศ์(คำสิง)บุตรพระรัตนวงศา(ภู) และหลวงรัตนวงศา(บุญตา)ผู้ช่วยบุตรพระยารัตนวงศา(คำผาย)กรมการเมืองสุวรรณภูมิ ได้ตามพระยามหาอำมาตย์ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งราชบุตร(เสือ)เมืองร้อยเอ็ด ผู้มีความชอบในราชการไปทัพฮ่อเป็น พระขัตติยวงศา เจ้าเมืองร้อยเอ็ด

ฝ่านราชวงศ์(คำสิง)ผู้อา และหลวงรัตนวงศา(บุญตา)ผู้ช่วย ผู้หลาน ต่างคนก็แย่งกันขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิแทนที่พี่ชายและบิดา จึงมีพระบรมราชโองการปรึกษาด้วยเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก ที่สมุหนายกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ควรจะให้ราชวงศ์(คำสิง)ได้เป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิแทนพระรัตนวงศา(คำผาย)ที่เป็นพี่ชาย ส่วนหลวงรัตนวงศา(บุญตา)ผู้ช่วยบุตรพระยารัตนวงศา(คำผาย)นั้น ควรให้แยกเป็นเจ้าเมืองเสียเมืองหนึ่งต่างหาก

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งราชวงศ์(คำสิง)เป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานถาดหมากปากกลีบบัวถมตะทองเครื่องในทอง ๑ คนโททอง ๑ กระโถนถม ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ เป็นเครื่องยศ

และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านโป่งแขวงเมืองสุวรรณภูมิเป็น เมืองพนมไพรแดนมฤค ให้หลวงรัตนวงศา(บุญตา)ผู้ช่าวเป็น พระดำรงฤทธิไกร เจ้าเมือง แล้วเจ้าเมืองทั้งสองก็กราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมือง

แต่พระดำรงฤทธิไกรนั้น ได้พาครอบครัวไปตั้งเมืองพนมไพรแดนมฤคอยู่ที่บ้านเมืองแสน เมื่อปีขาลสัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ทางห่างกันกับบ้านโป่งประมาณ ๓๐๐ เส้น หาได้ไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านโป่งตามโปรดเกล้าฯไม่ แล้วพระดำรงฤทธิไกรจึงให้ท้าวสุวรรณราชว่าที่อุปฮาด ให้ท้าวมหาราชเป็นที่ราชวงศ์ ให้เพี้ยมหาเสนาเป็นเมืองแสน ให้หลวงราชเป็นเพี้ยเมืองจัน รักษาราชการเมืองพนมไพรแดนมฤคอยู่ ณ ตำบลนั้นแต่นั้นมา

อนึ่งเมื่อเวลาพระรัตนวงศา(คำสิง)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิยังอยู่กรุงเทพฯ มิทันได้กลับขึ้นไปบ้านเมืองนั้น ท้าวเพี้ยกรมการเมืองเกษตรวิสัย ได้มีบอกขอตั้งอัคฮาด(สัง)เป็นที่ พระศรีเกษตราธิไชย เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ฝ่ายพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิทราบดังนั้น จึงได้กราบเรียนสมุหนายกว่า เมืองเกษตรวิสัยไปตั้งอยู่บ้านกู่กะโดนแขวงเมืองสุวรรณภูมิ หาได้ไปตั้งเมืองที่ตำบลดอนสำโรงตามนามเมืองไม่ สมุหนายกจึงบัญชาว่า ซึ่งเมืองเกษรวิสัยไปตั้งอยู่ ณ บ้านกู่กะโดนนั้นก็ล่วงมาถึง ๙ - ๑๐ ปีแล้ว แต่แรกเมื่อไปตั้งพระยารัตนวงศา(คำผาย)แต่ยังมีชีวิตอยู่ก็ไม่ห้ามปรามบอกล่าวเสีย บัดนี้ท้าวเพี้ยกรมการราษฎรก็ได้ตั้งภูมิฐานบ้านเรือนมั่นคงเสียแล้ว จะให้ย้ายเมืองเกษตรไปตั้งตามนามเมืองที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ก็จะเกิดความลำบากเดือดร้อนขึ้น สมุหนายกได้นำความทั้งนี้ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตั้งอัคฮาด(สัง)เป็นพระศรีเกษตราธิไชย เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ให้บ้านกู่กะโดนเป็นเมืองเกษตรวิสัยแต่นั้นมา

พระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ครั้นกราบถวายบังคมลากลับไปรักษาราชการบ้านเมืองแล้ว จึงได้มีบอกขอตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ด้วยอุปฮาด(จอม)นั้นต้องถูกถอดเสีย ส่วนราชวงศ์(สาร)ก็ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งท้าวก่ำบุตรราชวงศ์(หล้า)เป็นอุปฮาด ท้าวเชียงน้องท้าวก่ำเป็นราชวงศ์ ท้าวจักรหลานพระขัตติยวงศาเป็นราชบุตร ช่วยพระขัตติยวงศารักษาราชการเมืองร้อยเอ็ดสืบไป

ฝ่ายราชวงศ์(เชียงคำ) กลับมาถึงบ้านสนามแจง ถึงแก่กรรม

พระยาสุรินทร์ฯผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ พระยาสังฆะผู้ว่าราชการเมืองสังฆะ มีบอกมายังกรุงเทพฯว่าเกิดโจรผู้ร้ายปล้นลักทรัพย์สิ่งของๆราษฎรในท้องแขวงเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ แล้วหนีเข้าไปในเขตแขวงเมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง เมืองประโคนไชย เมืองขึ้นนครราชสีมา พระยาสังฆะ พระยาสุรินทร์ จะเอาตัวโจรผู้ร้ายนั้นมิได้ กรมการและราษฎรได้ความเดือดร้อน

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระศักดิ์เสนีเป็นข้าหลวงออกไปตั้งสืบสวนจับโจรผู้ร้าย อยู่ตามหัวเมืองตะวันออกในปีนั้น

ในปีนี้พระสุนทรราชวงศา(เหม็น)เจ้าเมืองยโสธร พระเจริญราชเดช(มหาไชย)เจ้าเมืองสารคาม พระราษฎรบริหาร(เกษ)เจ้าเมืองกมลาศัย พระพิไชยสุนทรเจ้าเมืองจงกัน อุปฮาด(พรหม)เมืองสหัสขันธ์ ถึงแก่กรรม พระราษฎรบริหารมีบุตรชาย ๖ คน คือ อุปฮาด(วันทอง) ๑ ราชวงศ์(บัว) ๑ หลวงชาญวิชัย(นวล) ๑ ท้าวทะ ๑ ท้าวเทพ ๑ ท้าวทำ ๑

ในระหว่างนี้มีตราโปรดเกล้าฯ ให้ส่งพิมพ์รูปพรรณสัตว์พาหนะไปให้บรรดาหัวเมืองฝ่ายตะวันออก เพื่อได้ซื้อขายให้ปันจะได้ทำรูปพรรณพิมพ์กันเป็นหลักฐานแต่นั้นมา

วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๔๐ พระเจริญราชเดชผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามถึงแก่กรรม

วันพุธ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีนี้ เจ้าพระยาภูธราภัยสมุหนายกถึงอาสัญกรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ทรงบังคับบัญชากรมมหาดไทยต่อไป

ในปีนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งอุปฮาด(สุพรหม)เมืองยโสธรเป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมือง ให้ราชบุตร(บา)เป็นอุปฮาด ให้พระศรีวรราช(แก)ผู้ช่วยเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวกันยาบุตรอุปฮาด(แพง)เป็ราชบุตร ให้ท้าวโอะบุตรราชบุตร(สุดตา)เป็นพระศรีวรราชผู้ช่วยรักษาเมืองยโสธร ส่วนเมืองมหาสารคามยังหาทันได้โปรดเกล้าฯให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่ อุปฮาดได้เป็นผู้รักษาเมืองต่อไป

ส่วนเมืองกมลาศัย โปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(วันทอง)เป็นพระราษฎรบริหารเจ้าเมือง ในราชวงศ์(บัว)เป็นอุปฮาด ให้หลวงชาญวิชัย(นวล)ผู้ช่วยเป็นราชวงศ์ ทั้ง ๓ คนนี้เป็นบุตรพระราษฎรบริหาร(เกษ)

ส่วนเมืองจงกัน พระศักดิ์เสนีซึ่งเวลานั้นโปรดเกล้าฯให้ไปเป็นข้าหลวงรักษาราชการอยู่เมืองสังฆะ พร้อมด้วยพระยาสังฆะ ได้จัดให้หลวงสุนทรนุรักษ์ ไปรักษาราชการแทนพระพิไชยสุนทรเจ้าเมืองจงกัน

พระประชาชนบาล(แสน)เจ้าเมืองสหัสขันธ์ และราชวงศ์(ท้าว)เมืองอุบล ซึ่งลงมาอยู่กรุงเทพฯ ถึงแก่กรรมในปีนี้

วันพุธ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีนี้ พระยาวิเศษภักดี(บุญจัน)ผู้ว่าราชการเมืองศรีสระเกศ ไปดูไร่ที่ฟากห้วยสำราญ เวลาค่ำพระยาวิเศษลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ดำน้ำครู่หนึ่งเป็นลมจมน้ำ บุตรภรรยาบ่าวไพร่ช่วยกันฉุดลากหาขึ้นไม่ กลับหลุดมือจมน้ำหายไป ต่อรุ่งขึ้นจึงพบศพพระยาวิเศษ

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ ตั้งแต่เจ้าอุปราช(บัวระพันธ์)ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังหามีผู้ใดได้รับตำแหน่งเจ้าอุปราชไม่ ครั้นมาในปีนี้เจ้านครจำปาศักดิ์จึงแต่งให้เจ้าราชบุตร เจ้าธรรมนุเรศ และแสนท้าวพระยาคุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการ และเงินส่วยมาทูลเกล้าฯถวาย กับได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งเจ้าอุปราชบุตร เป็นตำแหน่งเจ้าอุปราช เจ้าธรรมนุเรศเป็นเจ้าราชบุตรด้วย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าราชบุตร(พัน)บุตรเจ้าอุปราช(เสือ)เป็นเจ้าอุปราช ให้เจ้าธรรมนุเรศบุตรเจ้าอินทร์หลานเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)เป็นเจ้าราชบุตร

เมืองเชียงแตงมีบอกมายังกรุงเทพฯ ว่านายด่านแซแมรแจ้งว่า นักขำมารดานักองค์วรรดถา ๑ พระยาจักรี ๑ สมเด็จ ๑ มหาเทพ ๑ และครอบครัวชายหญิงใหญ่น้อยรวมร้อยเศษ พระสงฆ์ ๔ รูป ช้าง ๘ ม้า ๘ เกวียน ๒ หนีมาแต่บ้านไซมังมาตั้งอยู่บ้านด่านแซแมร เหนือบ้านแซอังกรอง แขวงเมืองเชียงแตง และนักขำได้แจ้งต่อเพี้ยมนตรีนายด่านบ้านแซแมรว่าจะไปกรุงเทพฯ ดังนี้ จึงโปรดเกล้าฯให้มีตราสั่งยังบรรดาหัวเมืองตะวันออกว่า ถ้าพบนักขำกับครอบครัวเขมรก็ให้ส่งมายังกรุงเทพฯ

ในระหว่างนั้น พระยาประเสริฐสุริยวงศ์แม่ทัพเมืองพนมเปญ ได้ยกกองทัพไปตามจับพระราชเดชะแม่ทัพของนักองค์วรรดถา กับสนองกุยซึ่งอยู่ ณ เมืองกะพงสวาย จับได้แต่สนองกุย ส่วนพระราชเดชะหนีไปได้ พระยาประเสริฐจึงตั้งให้สนองกุยเป็นมโนบริภาศ ใช้ให้ไปตามจับพระราชเดชะ มโนบริภาศกลับไปเข้ากับพระราชเดชะเสีย ครั้นพระยาประเสริฐทราบดังนั้นจึงยกกองทัพตามจับพระราชเดชะได้ฆ่าเสีย ส่วนมโนบริภาศ(กุย)จึงยกครอบครัวหนีกองทัพพระยาประเสริฐเข้ามาตั้งอยู่ที่ลำแสน แขวงเมืองสังฆะ จึงมีตราโปรดเกล้าฯให้พระศักดิเสนี ซึ่งเวลานั้นเป็นข้าหลวงอยู่เมืองสังฆะกับพระยาสังฆะ ให้จับมโนบริภาศ(กุย)ได้ ส่งตัวมา ณ กรุงเทพฯ

อนึ่งเมื่อปี ๑๒๓๗ ท้าวอินทิสาร(ทัน) ท้าวสุริยวงศ์(ยง) ท้าวทิศาราช(ทองดี) ซามาตย์(ภา)บ้านหัวดอนโขง กรมการเมืองสีทันดร ได้จดชื่อไพร่ ๒๕๐ คน ไปขอสมัครขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงตั้งให้ท้าวอินทิสาร(ทัน)เป็นพระอุทัยราชา นายกองนอก ตั้งท้าวสุรยวงศ์(ยง)เป็นท้าวศรีวรราช ตั้งท้าวทิศาราช(ทองดี)เป็นหลวงรามภักดี ตั้งซามาตย์(ภา)เห็นหลวงเสนาสงคราม ตั้งอยู่ ณ ห้วยหินห้วยโก

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๔๑ ปีเถาะเอกศก เจ้านครจำปาศักดิ์จึงมีบอกบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานตั้งบ้านห้วยหินห้วยโกเป็นเมือง ขอพระอุทัยราชา(ทัน)เป็นเจ้าเมือง

จึงโปรดเกล้าฯให้ขนานนามบ้านห้วยหินห้วยโกเป็น เมืองสพังภูผา ให้พระอุทัยราชา(ทัน)เป็น พระราชฤทธิบริรักษ์ เจ้าเมือง ตั้งท้าวศรีวรราช(ยง)เป็นอุปฮาด ตั้งหลวงเสนาสงคราม(ภา)เป็นราชวงศ์ ตั้งหลวงรามภักดี(ทองดี)เป็นราชบุตร เมืองสพังภูผาขึ้นนครจำปาศักดิ์

ระหว่างปีนี้ มีอ้ายขุนแสวงสุวรรณพันธนากร(อำภา) อ้ายขุนสุนทรภักดี ตั้งตัวเองว่าเป็นข้าหลวงเชิญท้องตราพระราชสีห์ขึ้นไปเที่ยวตามหัวเมืองตะวันออก อ้างว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มาชำระคดีถ้อยความของราษฎร แต่หนังสือที่ว่าเป็นท้องตรานั้นประทับตราเป็นรูปราชสีห์ถือเศวตฉัตรสองตัวเป็นเส้นลายทอง กับถือหนังสือขุนบันเทาทิพราชกรมมหาดไทย ว่าเป็นนายเวรสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ มาถึง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร กรมการเมืองมหาสารคามให้ชำระคดีเรื่องขุนสุนทรภักดี ท้าวจันชมภูด้วย ฝ่ายเมืองมหาสารคามได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีตราสั่งถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออก ให้ตรวจจับอ้ายขุนแสวงสุวรรณพันธนากร อ้ายขุนสุนทรภักดีส่งกรุงเทพฯ

ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศาเจ้าเมือง และกรมการได้มีบอกขอตั้งบ้านเมืองเสือเป็นเมือง ขอท้าวขัตติยบุตรพระรัตนวงศาเป็นเจ้าเมือง

โปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านเมืองเสือเป็น เมืองพยัคภูมิพิสัย ให้ท้าวขัตติยเป็น พระศรีสุวรรณวงศา เจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ

พระศรีสุวรรณวงศาเห็นว่าบ้านนาข่าแขวงเมืองสุวรรณภูมิเป็นทำเลพืชผลดี จึงขออนุญาตพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พาครอบครัวไปตั้งเมืองพยัคฆภูมิอยู่ ณ บ้านนาข่า หาได้ไปตั้งที่บ้านเมืองเสือตามขอไม่

ฝ่ายทางเมืองยโสธร พระศรีวรราช(โอธ)ผู้ช่วยถึงแก่กรรม พระสุนทรราชวงศาเห็ยว่าท้าวสุยบุตรราชบุตร(กันยา)เป็นคนซื่อสัตย์มั่นคง จึงมีบอกขอตั้งให้ท้าวสุยเป็นหลวงศรีวรราช ผู้ช่วยราชการต่อไป

อนึ่งหลวงจุมพลภักดีนายกอง บุตรพระปทุม อยู่บ้านบึงโดนเมืองยโสธร ซึ่งพระสุนทรราชวงศา(เหม็น)เจ้าเมืองยโสธรผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ได้ตั้งให้เป็นกรมการเมืองยโสธรนั้น จะขอทำส่วยผลเร่วแยกขึ้นกรุงเทพฯ ฝ่ายพระสุนทรราชวงศา(สุพรหม)เจ้าเมืองยโสธรไม่ยอมตามหลวงจุมพล หลวงจุมพลมีความขุ่นเคือง จึงเอาบัญชีรายชื่อตัวเลขไปสมัครขึ้นพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาศัย เจ้าเมืองกมลาศัยจึงได้มีบอกขอตั้งบ้านบึงโดนเป็นเมือง ขอตั้งหลวงจุมพลภักดีเป็นเจ้าเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านบึงโดนเป็น เมืองเสลภูมินิคม ให้หลวงจุมพลภักดีเป็น พระนิคมบริรักษ์ เจ้าเมือง ให้ท้าวสุริยเป็นอัคฮาด ให้ท้าวผู้ช่วยเป็นอัควงศ์ ท้าวสุทธิสารเป็นอัครบุตร รักษาราชการเมืองเสลภูมิ ขึ้นเมืองกมลาศัย

ฝ่ายเมืองสหัสขันธ์ ตั้งแต่พระประชาชนบาล(แสน)เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็มีราชบุตร(แสง)เป็นผู้รักษาเมืองอยู่ ครั้นมาปีนี้ราชบุตร(แสง)ถึงแก่กรรมลง จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งหลวงจุมพลพนาเวศบุตรนายบัวเมืองเชียงใหม่เป็นพระประชาชนบาลเจ้าเมือง รักษาราชการเมืองสหัสขันธ์ต่อไป กับโปรดเกล้าฯให้ตั้งอุปฮาด(บัวทอง)เมืองมหาสารคามเป็น พระเจริญราชเดช เจ้าเมืองมหาสารคาม

พระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ มีความบาดหมางกับพระไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ ร้องขอไม่สมัครทำราชการกับเมืองกาฬสินธุ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองกุดฉิมนารายณ์ไปขึ้นเมืองมุกดาหาร

ในปีนี้ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานี ได้พาพระปลัดซ้าย(เคน)บุตรท้าวมณฑาธิราชเมืองลำเนาหนองปรือ กับเพี้ยเมืองจันเมืองเขมราษฎร์ ซึ่งพาท้าวเพี้ยตัวเลขมาสมัครอยู่กับเจ้าพรหมเทวานั้น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานตั้งบ้านท่ายักขุและบ้านเผลาแขวงเมืองอุบลเป็นเมือง ขอตั้งพระปลัดซ้ายและเพี้ยเมืองจันเป็นเจ้าเมือง และขอตั้งท้าวบุตตะบุตรพระพรหมราชวงศาเป็นอุปฮาดเมืองตระการ

จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านท่ายักขุเป็น เมืองชาณุมานมณฑล ให้พระปลัดซ้ายเป็น พระผจญจัตุรงค์ เจ้าเมืองชาณุมานมณฑล

ให้ตั้งบ้านเผลาเป็น เมืองพนานิคม ให้เพี้ยเมืองจันเป็น พระจันทวงศา เจ้าเมือง ท้าวอินทิจักรเป็นอุปฮาด ท้าวไชยแสงบุตรพระจันทวงศาเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสิงทองเป็นราชบุตร ท้าวอุปไชยเป็นผู้ช่วยเมืองพนานิคม ในเมืองพนานิคมนี้มีพระพุทธรูปใหญ่ก่อด้วยอิฐองค์หนึ่ง ซึ่งเป็นของโบราณประมาณ ๑๕๐ ปีเศษ เมืองชาณุมานมลฑลและเมืองพนานิคมนี้ โปรดเกล้าฯให้ขึ้นเมืองอุบลทั้งสองเมือง

แต่เมืองชาณุมานมณฑลนั้น พระประจญได้พาท้าวเพี้ยกรมการไปตั้งเมืองอยู่ที่บ้านกระดาน หาได้ตั้งขึ้นที่บ้ายท่ายังขุตามโปรดเกล้าฯไม่

และส่วนท้าวบุตตะนั้น โปรดเกล้าฯให้มีสารตราตั้งให้เป็นอุปฮาดเมืองตระการตามเจ้าพรหมขอ

พระราชทานเครื่องยศให้พระประจญจัตุรงค์ และพระจันทวงศา คือ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนเเพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑

พระราชทานอุปฮาดเมืองตระการ คือ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรส่านวิลาศ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

อุปฮาด(ก่ำ)เมืองร้อยเอ็ดถึงแก่กรรม

ระหว่างปีนี้ มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออกว่า ถ้าคนสัปเยกต์ฮอลันดามาคต้าขายเป็นความกับคนไทย ให้เจ้าเมืองเรียกตัวมาว่ากล่าวตัดสิน แล้วแจ้งมายังกรุงเทพฯ ถ้าชำระตัดสินมิตกลง ก็ให้บอกส่งโจทก์จำเลยมายังกรุงเทพฯ

และได้โปรดเกล้าฯให้หลวงเทเพนทร์เป็นข้าหลวงขึ้นไปชำระความที่เมืองมหาสารคาม เรื่องมองคำมอตองซู่หาว่าผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามจับจำขื่อ ว่าคุมกระบือไม่มีพิมพ์รูปพรรณ เร่งเอาเงิน ๗ ชั่งได้แล้วปล่อยตัวไป

นายนู นายสีดา คนเมืองกุสุมาลมณฑลคล้องได้ช้างพลายเผือก ที่ตำบลเขาโองแขวงข่าระแด ฝั่งโขงตะวันออก ๑ ช้าง สูง ๒ ศอกคืบ ๔ นิ้ว นำมาส่งเจ้านครจำปาศักดิ์

ครั้นลุศักราช ๑๒๔๒ ปีมะโรงโทศก เจ้านครจำปาศักดิ์พร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพระยา จึงคุมช้างเผือกและต้นไม้เงินทองเครื่องราชบรรณาการและเงินส่วย มาถวาย ณ กรุงเทพฯ ช้างนี้เป็นช้างเผือกเอก โปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชพระราชทานนามช้างว่า พระเสวตสกลวโรกาศ และโปรดให้ตั้งนายนูหมอเป็นขุนเศวตสาร ตั้งนายสีดาควาญเป็นหมื่นประสานคชประสบ พระราชทานเงินตราและเสื้อผ้าโดยสมควร

แล้วเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์(แดง)บุตรพระเทพวงศา(ก่ำ) เจ้าเมืองเขมราษฎร์ ซึ่งโจทก์สมัคมาขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ์นั้นเป็นเจ้าเมือง ขอตั้งบ้านนากอนจอเป็นเมือง

จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งหลวงชำนาญไพรสณฑ์เป็น พระกำจรจตุรงค์ เจ้าเมือง ตั้งท้าวไชยบุตรพระเทพวงศา(บุญเฮา)เจ้าเมืองเขมราษฎร์เป็นอุปฮาด ให้ท้าวสิทธิจางวาง(อุทา)บุตรนายโสดาเป็นราขชวงศ์ ให้ท้าวจันทบุฮม(อัม)บุตรเพี้ยพรหมมหาไชยเป็นราชบุตร ตั้งบ้านกอนจอเป็นเมือง ขนานนามเมืองว่า วารินชำราบ ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์

ปีนี้ พระพิไชยอุดมเดช(เดช)เจ้าเมืองภูแล่นช้าง พระธิเบศร์วงศา(ดวง)เจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ ผู้ช่วย(อ่อม)ผู้ว่าการตำแหน่งเจ้าเมืองกันทรารักษ์(ราชบุตร(มหานาม))เมืองกมลาศัย ราชบุตร(กันยา) พระศรีวรราชผู้ช่วย(สุย)เมืองยโสธร ถึงแก่กรรม

ฝ่ายทางเมืองร้อยเอ็ด พระขัตติยวงศา(เสือ)เจ้าเมือง พร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการได้มีใบบอก ขอตั้งราชบุตร(จักร)เป็นอุปฮาด ขอท้าวสุริย(เภา)บุตรท้าวสุริยวงศ์เป็นราชวงศ์ ขอท้าวเคือบุตรพระขัตติยวงศา(เสือ)เป็นราชบุตรเมืองร้อยเอ็ด กับบอกขอตั้งบ้านท่าเสาธงริมลำน้ำพาชี แขวงเมืองร้อยเอ็ดเป็นเมือง ขอท้าวโพธิสารเป็นเจ้าเมือง ขอท้าวสุวอบุตรพระพิสัยสุริยวงศ์เป็นอุปฮาด ทั้งสองคนนี้เป็นน้องชายพระขัตติยวงศา(เสือ)

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเสาธงเป็น เมืองธวัชบุรี ตั้งท้าวโพธิราชเป็น พระธำนงไชยธวัช เจ้าเมือง และตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองร้อยเอ็ด เมืองธวัชบุรีนั้น ก็โปรดให้ตามใบบอกเมืองร้อยเอ็ด

ครั้นพระธำนงไชยธวัช(โพธิราช) กับอุปฮาด(จักร)เมืองร้อยเอ็ด และราชวงศ์ ราชบุตร กรมการเมืองร้อยเอ็ด เมืองธวัชบุรี กราบถวายบังคมลาไปถึงบ้านสาริกา อุปฮาด(จักร)กับพระธำนงไชยธวัชถึงแก่กรรมเสียตามทาง หาทันถึงเมืองไม่



Create Date : 25 มีนาคม 2550
Last Update : 25 มีนาคม 2550 9:48:19 น. 7 comments
Counter : 5947 Pageviews.  
 
 
 
 
....................................................................................................................................................

(ต่อ)


ครั้นจุลศักราช ๑๒๔๓ ปีมะเส็งตรีศก พระขัตติยวงศา(เสือ)เจ้าเมืองร้อยเอ็ด จึงได้มีบอกขอให้ราชวงศ์(เภา)เป็นอุปฮาด ขอราชบุตร(เคือ)เป็นราชวงศ์ ขอท้าวอุปชิตน้องชายพระขัตติวงศา(เสือ)เป็นราชบุตรเมืองร้อยเอ็ด ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คนทั้งนี้ได้รับตำแหน่งตามพระขัตติยวงศาบอกขอทุกคน

อนึ่งเมืองกาฬสินธุ์ ตั้งแต่พระยาไชยสุนทร(หนู)เจ้าเมือง และอุปฮาด(เหม็น) ราชบุตร(สุริยมาตย์) ถึงแก่กรรมแล้ว ก็มีแต่ราชวงศ์(เชียงโคต)เป็นผู้ใหญ่ได้ควบคุมท้าวเพี้ยกรมการ รักษาราชการบ้านเมืองต่อมา จนปีนี้ท้าวเพี้ยกรมการเมืองกาฬสินธุ์ จึงได้มีบอกให้ราชวงศ์นำเงินส่วยมาทูลเกล้าฯถวาย ณ กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ราชวงศ์(เชียงโคต)เป็นตำแหน่งพระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป

พระราษฎรบริหารผู้ว่าราชการเมืองกมลาศัย มีใบบอกมายังกรุงเทพฯว่า ตำแหน่งอุปฮาดเมืองสหัสขันธ์ไม่มีตัว ขอท้าวโพธิสารบุตรท้าวขุลูเป็นอุปฮาดเมืองสหัสขันธ์ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งท้าวโพธิสารเป็นอุปฮาดเมืองสหัสขันธ์ พระราชทานเสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

อุปฮาด(บา)เมืองยโสธรถึงแก่กรรมปีนี้

ฝ่ายทางเมืองพรหมกัน ตั้งแต่โปรดเกล้าฯให้หลวงสัสดี(สิน)เป็นพระวิชัยเจ้าเมืองพรหมกันแล้ว พระวิชัยรับราชการได้ ๗ ปีก็ถึงแก่กรรม ครั้นมาปีนี้ พระยาสังฆะจึงได้ให้พระสุนทรนุรักษ์ผู้หลานนำใบบอกมากรุงเทพฯ ขอให้พระสุนทรนุรักษ์เป็นพระทิพชลสินธูอินทรนฤมิต

ฝ่ายทางเมืองนครจำปาศักดิ์ ครั้นเจ้านครจำปาศักดิ์ได้บอกขอตั้งบ้านห้วยหินกองเป็นเมืองสพังภูผา ขอพระอุทัยราชาซึ่งจดชื่อไพร่เมืองสีทันดรมาสมัครขึ้น เป็นพระราชฤทธิบริรักษ์เจ้าเมืองได้แล้ว ฝ่ายเมืองสีทันดรทราบดังนั้นจึงได้มีใบบอกแต่งให้ท้าวสุริยวงศากรมการอยู่บ้านจาร ถือเข้ามาร้องด้วยเรื่องพระอุทัยราชา ผู้เป็นที่พระราชฤทธิบริรักษ์เจ้าเมืองสพังภูผา ลักเอาชื่อไพร่เมืองสีทันดรไปสมัครขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์นั้น แต่ท้าวสุริยวงศาเห็นจะรื้นถอนไม่ไหว จึงไปคิดอ่านกับเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ ซึ่งเวลานั้นยังพักอยู่กรุงเทพฯขอตั้งบ้านจารเป็นเมือง ขอตัวท้าวสุริยวงศาเป็นเจ้าเมือง

จึงโปรดให้ตั้งบ้านจารเป็น เมืองมูลปาโมกข์ ให้ท้าวสุริยวงศาบุตรท้าวศรีวรราชเป็น พระวงศาสุรเดช เจ้าเมือง ขึ้นเมืองสีทันดรในปีนี้ และเมืองมูลปาโมกข์นี้แทรกอยู่ทามกลางระหว่างเมืองสพังภูผา กับเมืองอุทุมพรขึ้นเมืองจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดรจึงได้มีเมืองขึ้นแต่นั้นมา

ฝ่ายพระยาวงศาสุรเดช เจ้าเมืองมูลปาโมกข์ ครั้นกลับไปถึงบ้านเมือง จึงมีบอกขอตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เต็มตามธรรมเนียม จึงโปรดให้ทั้งท้าวสุริยบุตรพระอภัยราชวงศาเจ้าเมืองสีทันดรเป็นอุปฮาด ให้ท้าวสีหราชบุตรท้าวจิตราชเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวจันทเสนบุตรท้าววรบุตรเป็นราชบุตร เมืองมูลปาโมกข์

ในระหว่างนี้ พระเจริญรัตนสมบัติ(บุณจัน)นายกองนอกเมืองขุขันธ์ มีความวิวาทบาดหมางกันกับพระยาขุขันธ์(วัง)พาสำมะโนครัวตัวเลขรวม ๔๖๑๑ คน ไปสมัครอยู่กับเมืองจำปาศักดิ์ มีตราโปรดเกล้าฯให้เมืองขุขันธ์กับเมืองจำปาศักดิ์หักโอนกันตามธรรมเนียม

อนึ่ง หลวงมหาดไทยกรมการเมืองเดชอุดม ได้พาครอบครัวตัวเลขโจทก์มาสมัครขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์ ตั้งอยู่บ้านจันลานาโดม แขวงเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์ได้ตั้งให้หลวงมหาดไทย เป็นพระรัตนเขื่อนขันธ์นายกองส่วยเป็นเจ้าเมือง ครั้นมาปีนี้ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงได้บอกขอตั้งบ้านจันลานาโดมเป็นเมือง ขอพระรัตนเขื่อนขันธ์นายกองส่วยเป็นเจ้าเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านจันลานาโดมเป็น เมืองโดมประดิษฐ์ ให้ตั้งพระรัตนเขื่อนขันธ์เป็น พระดำรงสุริยเดช เจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์

อนึ่ง ท้าวเลื่อนบุตรผู้ช่วยเมืองสาละวัน กับท้าวจันทร์ชมภู ท้าวอินทิแสงกรมการเมืองสาละวัน อยู่บ้านน้ำคำแก่งเสร็จ แขวงเมืองสาละวัน ฝั่งโขงตะวันออก โจทก์สมัครมาขอทำราชการขึ้นกับเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงยกบ้านน้ำคำแก่งเสร็จเป็น เมืองสูตวารี ขึ้นเมืองจำปาศักดิ์

พระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ และพระอุทุมพรเทศานุรักษ์เจ้าเมืองอุทุมพรถึงแก่กรรมในปีนี้

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระยาสุรินทรฯได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ตำแหน่งยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ว่าง ขอพระมหาดไทยเป็นพระยกกระบัตร วันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๘ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตร ตั้งให้พระมหาดไทยเป็นพระพิชัยนครบวรวุฒิยกกระบัตรเมืองสุรินทร์ ถือศักดินา ๕๐๐

มีตราโปรดเกล้าฯถึงหัวเมืองตะวันออกว่า ถ้าคนในบังคับต่างประเทศฟ้องคนใด ซึ่งอยู่ในบังคับสยามก็ให้บอกส่งฟ้องหรือตัวโจทก์จำเลยมายังกรุงเทพฯ

พระพรหมภักดี(โท)ยกกระบัตรบุตรหลวงวิเศษ กับท้าวคำปานผู้ช่วยบุตรพระยาวิเศษ(บุญจัน)เจ้าเมืองศรีสระเกศลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ เพื่อแย่งกันขอเป็นเจ้าเมือง ตั้งแต่ปีมะโรง จุลศักราช ๑๒๔๒ แต่ครั้นมาถึงกรุงเทพฯ ฝ่ายท้าวคำปานผู้ช่วยก็ถึงแก่กรรมเสีย ครั้นมาปีนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระพรหมภักดี(โท)บุตรหลวงวิเศษยกกระบัตรเมืองศรีสระเกศ เป็นพระยาวิเศษเจ้าเมือง ให้ท้าวเง่าบุตรพระยาวิเศษ(บุญจัน)เป็นพระภักดีโยธาปลัด ให้ราชวงศ์(ปัญญา)บุตรหลวงไชย(สุก)เป็นพระพรหมภักดียกกระบัตร และโปรดให้ท้าวเศษบุตรพระยาวิเศษ(โท)รับราชการตำแหน่งผู้ช่วยเมืองศรีสระเกศ และเมืองศรีสระเกศได้มีบอกขอตั้งบ้านโนนหินกอง ซึ่งเมืองสุวรรณภูมิว่าเป็นแขวงเมืองสุวรรณภูมิ นั้นเป็นเมือง ขอพระพล(จันศรี)บุตรหลวงอภัยกรมการเมืองศรีสระเกศเป็นเจ้าเมือง

โปรดเกล้าฯให้ยกบ้านโนนหินกองเป็น เมืองราศีไสล ให้พระพล(จันศรี)เป็น พระผจญปัจนึก เจ้าเมือง ขึ้นกับเมืองศรีสระเกศแต่นั้นมา และมีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯตั้งให้หลวงแสง(จัน)น้องชายพระผจญเป็นหลวงหาญศึกนาศปลัด ให้ท้าวคำเม็กบุตรพระผจญเป็นหลวงพิฆาตไพรียกกระบัตร เมืองราศีไสล ขึ้นกับเมืองศรีสระเกศแต่นั้นมา

ลุจุลศักราช ๑๒๔๔ ปีมะแมจัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น) แต่ยังเป็นพระยาศรีสิงหเทพ พร้อมด้วยข้าราชการหลายนายเป็นข้าหลวงขึ้นไปรักษาราชการหัวเมืองตะวันออก ตั้งอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์

ระหว่างนั้นข่าปะตงภูคล้องได้ช้างพลายเผือกตัวหนึ่ง ที่ฝั่งโขงตะวันออก พระยาศรีสิงหเทพพร้อมด้วยเจ้ายุติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้เอาเงินสำหรับบ้านเมือง ๓๐ ชั่ง ซื้อช้างพลายเผือกตัวนี้ไว้

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์เจ้าเมืองอุบล มีบอกขอตั้งท้าวพระไชย(จันดี)กรมการเมืองเขมราษฎร์ ซึ่งอพยพครัวมาตั้งอยู่บ้านที่ แขวงเมืองอุบล เป็นเจ้าเมือง ขอยกบ้านที่เป็นเมือง

ครั้นวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ โปรดเกล้าฯให้ตั้งท้าวพระไชยเป็น พระพิชัยชาญณรงค์ เจ้าเมือง ยกบ้านที่เป็น เมืองเกษมสิมา ขึ้นเมืองอุบล พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ ผ้าแพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑ แก่พระพิชัยชาญณรงค์เป็นเกียรตยศ แล้วเจ้าพรหมได้ตั้งให้ท้าวไชยแสง(เสือ)เป็นอุปฮาด ให้เพี้ยกรมเมือง(พรหม)เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวพรหมท้าวเป็นราชบุตร เมืองเกษมสิมา ครบตามตำแหน่ง

พระกำแหงสงครามเจ้าเมือง และราชวงศ์ ราชบุตร กรมการเมืองโขงเจียง ไม่พอใจทำราชการขึ้นกับเมืองเขมราษฎร์ โจทก์สมัครมาขอขึ้นเมืองอุบล เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์เจ้าเมืองอุบล จึงได้บอกมายังกรุงเทพฯมีตราโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองโขงเจียงออกจากเมืองเขมราษฎร์ มาขึ้นเมืองอุบลตามใจสมัคร

ระหว่างปีนี้ คนทางเมืองสุรินทร์ได้อพยพครอบครัวเป็นอันมาก ข้ามไปตั้งอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ มีบ้านทัพค่ายเป็นต้น (ซึ่งเมืองสุวรรณภูมิได้ร้องว่าเป็นแขวงเมืองสุวรรณภูมินั้น) ครั้นแล้วพระยาสุรินทร์ได้มีบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมือง ขอพระวิเศษราชา(ทองอิน)เป็นเจ้าเมือง และขอท้าวปรางบุตรเป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์เจ้าเมืองสุรพินทนิคม

วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านทัพค่ายเป็น เมืองชุมพลบุรี ให้พระวิเศษราชา(ทองอิน (นัยหนึ่งว่าหลวงราชรินทร์))เป็นพระฤทธิรณยุทธเจ้าเมือง พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑

และโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวปรางเป็นพระสุรพินทนิคมานุรักษ์เจ้าเมืองสุรพินทนิคม ตามพระยาสุรินทร์ขอ พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ พระยาสุรินทร์ได้ให้ท้าวเพ็ชรเป็นที่ปลัด ให้ท้าวกลิ่นเป็นที่ยกกระบัตร ทั้งสองคนนี้เป็นพี่ชายพระฤทธิรณยุทธ(ทองอิน) และให้ท้าวนุดบุตรพระฤทธิรณยุทธ(ทองอิน)เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี

หลวงจินดานุรักษ์บุตรพระศรีนครไชยคนเก่า กรมการเมืองรัตนบุรี ได้นำบัญชีหางว่าวกรมการขุนหมื่นตัวเลขของพระศรีนครไชยเจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านหนองสนมแขวงเมืองรัตนบุรี รวม ๕๐๐ คนเศษ มาร้องทุกข์ยัง ฯพณฯ ลูกขุน ณ ศาลา ว่าพระศรีนครไชยเจ้าเมืองรัตนบุรีคนใหม่กดขี่ข่มเหงได้ความเดือดร้อน จะขอสมัครไปขึ้นอยู่กับเมืองสุรินทร์ จึงมีตราโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรินทร์รับหลวงจินดาและขุนหมื่นตัวเลข ให้ทำราชการขึ้นกบเมืองสุรินทร์ตามใจสมัคร พระยาสุรินทร์จึงตั้งให้หลวงจินดาเป็นที่ พระภักดีพัฒนากร ควบคุมสำมะโนครัวตัวเลขเสียส่วยขึ้นเมืองสุรินทร์ตั้งอยู่ ณ โคกหนองสนม และต่อมาเมืองสุรินทร์ได้มีบอกขอตั้งบ้านหนองสนมเป็นเมืองสนม มีตราโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสิงหเทพ(หรุ่น)ข้าหลวง ณ เมืองจำปาศักดิ์ไต่สวนเขตแดนแผนที่อยู่ ยังหาทันได้โปรดให้เป็นเมืองตามที่เมืองสุรินทร์ขอไม่

พระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด มีบอกขอตั้งอุปฮาด(สุวอ)เมืองธวัชบุรี น้องพระธำนงไชยธวัช(โพธิราช)เป็นพระธำนงไชยธวัชบุรี เจ้าเมืองธวัชบุรี วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ อุตราสาท ทรงพระกรุณาฯโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(สุวอ)เป็นพระธำรงไชยธวัช เจ้าเมืองธวัชบุรี พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

พระขัตติยวงศา(เสือ)เจ้าเมือง ราชวงศ์(เคือ) ราชบุตร(อุปขิต) เมืองร้อยเอ็ดถึงแก่กรรมในระหว่างปีนี้ ยังคงอยู่แต่อุปฮาด(เภา)รักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด

พระรัตนวงศา(คำสิง)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกขอตั้งบ้านเมืองหงส์เป็นเมือง ขอหลวงพรหมพิทักษ์(พรหม)ผู้ช่วยผู้บุตรเป็นเจ้าเมือง และขอพระศรีวรราช(สอน)ผู้น้องเป็นอุปฮาดเมืองสุวรรณภูมิ วันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ ทรงพระกรุณาให้ยกบ้านหงส์เป็น เมืองจัตุรพักตร์พิมาน ให้หลวงพรหมพิทักษ์(พรหม)เป็น พระธาดาอำนวยเดช เจ้าเมือง ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานเครื่องยศตามบรรดาศักดิ์ แล้วพระธาราอำนวยเดชได้อพยพครอบครัวไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่ที่บ้านเปลือยหัวช้าง ทางห่างกันกับบ้านเมืองหงส์ประมาณ ๙๐ เส้น หาได้ไปตั้งที่ว่าการเมืองอยู่ที่เมืองหงส์ตามกระแสโปรดเกล้าฯไม่

และโปรดเกล้าฯตั้งให้พระศรีวรราช(สอน)เป็นอุปฮาดเมืองสุวรรณภูมิ ตามพระรัตนวงศาขอ

พระศรีเกษตราธิชัย(สัง)เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ถึงแก่กรรมในปีนี้ พระยาศรีสิงหเทพ(หรุ่น)ได้มีตราจุลราชสีห์ตั้งให้ท้าวสิลาบุตรพระศรีเกษตราธิชัย(สัง)เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ซึ่งไปฝากตัวรับราชการอยู่กับพระศรีสิงหเทพ ณ เมืองจำปาศักดิ์นั้น เป็นผู้รักษาเมืองเกษตรวิสัยต่อไป

ฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาชัยสุนทร(เชียงโคต)เจ้าเมืองถึงแก่กรรม พระพิชิตพลหาร และเมืองแสน เมืองจัน ท้าวเพี้ย กรมการจึงมีบอกขอให้ท้าวพั่วบุตรพระยาชัยสุนทรว่าที่เจ้าเมือง ให้ท้าวหนูบุตรพระยาชันสุนทร(ทอง)ว่าที่อุปฮาด ให้ท้าวโพธิสารบุตรพระยาชัยสุนทร(หล้า)ว่าที่ราชวงศ์ ให้ท้าวฮวดบุตรพระยาไชยสุนทร(หนู)ว่าที่ราชบุตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คนทั้งนี้รับราชการตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป ตามกรมการขอ แต่ยังหาทันได้โปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรไม่

พระปทุมวิเศษ(คำมูล)เจ้าเมือง และราชวงศ์(เมืองทอ) เมืองกันทรวิชัย ซึ่งลงมาเป็นความอยู่กับเพี้ยเมืองกลางเมืองมหาสารคาม ณ กรุงเทพฯ นั้นถึงแก่กรรม เมืองกันทรวิชัยคงมีแต่เวียงแกผู้รับราชการตำแหน่งอุปฮาด กับราชบุตร(ไชยสุริยา)อยู่รักษาบ้านเมือง แต่เวียงแก และราชบุตรเห็นว่าตนเป็นเป็นคนชรา จึงได้พร้อมด้วยกรมการมีบอกขอท้าวทองคำเมืองร้อยเอ็ดรับราชการในตำแหน่งเจ้าเมือง และขอหลวงศรีสงครามว่าที่ราชวงศ์ ขอท้าวสีทะว่าที่หลวงจำนงภักดีผู้ช่วย มีตราโปรดอนุญาตให้คนทั้งนี้รับราชการในหน้าที่ตามขอ รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

พระศรีสุวรรณ(พก)เจ้าเมืองแซงบาดาลถึงแก่กรรม ราชวงศ์(ขี)ก็ถึงแก่กรรมลงอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท้าวจารโคตบุตรอุปฮาด(พรหม)เป็นพระศรีสุวรรณเจ้าเมือง ให้ท้าวเชียงทุมเป็นอุปฮาด รักษาราชการเมืองแซงบาดาลต่อไป

ฝ่ายทางเมืองมหาสารคาม พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองมีบอกขอตั้งบ้านนาเลาเป็นเมือง ขอท้าวสุริยวงศ์เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวมหาพรหมบุตรพระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเป็นอุปฮาด ขอเพี้ยละครบุตรเพี้ยราชโยธาเมืองร้อยเอ็ดเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุริยวงศานำใบบอกลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ

ครั้นวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสุริยวงศ์เป็น พระพิทักษ์นรากร เจ้าเมือง ยกบ้านนาเลาเป็น เมืองวาปีปทุม ขึ้นเมืองมหาสารคาม และส่วนตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์นั้นก็ได้โปรดเกล้าฯให้มีตราพระราชสีห์ตั้งตามพระเจริญราชเดชขอ พระพิทักษ์นรากรและอุปฮาด ราชวงศ์ ได้กราบถวายบังคมลากลับไป

ถึงบ้านสำโรงแขวงเมืองพุดไทยสง วันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ พระพิทักษ์นรากรป่วยถึงแก่กรรมอยู่ตามทาง เหลืออยู่แต่อุปฮาด ราชวงศ์ กลับไปถึงบ้านได้ ๔ เดือน ราชวงศ์ก็ถึงแก่กรรมลงอีก ยังเหลือแต่อุปฮาดจึงอพยพครอบครัวไปตั้งอยู่บ้านนาเลาได้ ๗ วัน เห็นว่าที่บ้านนาเลาเป็นที่กันดารด้วยเสบียงอาหาร จึงได้พาครอบครัวอพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านหนองแสง (ซึ่งเมืองร้อยเอ็ดร้องว่าเป็นแขวงของเมืองร้อยเอ็ดนั้น) เป็นที่ว่าราชการบ้านเมืองต่อมา

และในปีนี้ พระเจริญราชเดชเจ้าเมืองสารคาม ได้ขอตั้งบ้านวังทาหอขวางเป็นเมืองขึ้นอีกเมืองหนึ่ง ขอท้าวสุริโยบุตรท้าวโพธิสาร หลานพระขัตติยวงศาเมืองร้อยเอ็ด เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวเชียงน้องพระเจริญราชเดชเป็นอัคฮาด ขอท้าวราชามาตย์บุตรเวียงแกหลานพระเจริญเป็นอัควงศ์ ขอท้าวสายทองบุตรท้าวสุทธิสารเมืองร้อยเอ็ดเป็นอัคบุตร

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านวังทาหอขวางเป็น เมืองโกสุมพิสัย ให้ท้าวสุริโยเป็น พระสุนทรพิพิธ เจ้าเมือง ขึ้นเมืองมหาสารคาม ส่วนตำแหน่งอัคฮาด อัควงศ์ อัคบุตร ก็ได้โปรดให้มีตราพระราชสีห์ตั้งตามพระเจริญราชเดชขอ

ซึ่งเรียกว่าบ้านวังทาหอขวางนั้น มีตำนานว่า เดิมที่นั้นเรียกกันว่า ดงวังทา มาก่อน ภายหลังมีพราน ๒ คนมาพักนอนทำเลบ้านร้างแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในดงวังทานั้น หลับไป พรานคนหนึ่งนิมิตว่า เห็นผู้เฒ่าคนหนึ่งถือตระบองแก้วเข้ามาพูดขู่สำทับหยาบช้ากับพรานคนนั้นโดยอาการต่างๆ จนกระทั่งพรานคนนั้นตกใจตื่นขึ้น พรานคนนั้นเห็นว่าที่นั้นมีเทพารักษ์แรง จึงได้สร้างหอเทพารักษ์ขึ้นหลังหนึ่ง แต่หอนั้นขวางตะวัน เพราะฉะนั้นคนทั้งปวงจึงได้เรียกที่นั้นว่าดงวังทาหอขวาง ภายหลังคนเมืองร้อยเอ็ดและมหาสารคามได้อพยพครอบครัวไปตั้งภูมิลำเนาในที่นั้นมากขึ้น จึงได้เรียกกันว่า บ้านวังทาหอขวางตั้งแต่นั้นมา

ฝ่ายเมืองสหัสขันธ์ พระประชาชนบาลเจ้าเมืองไม่ถูกต้องกันกับเมืองกาฬสินธุ์ โจทก์ไปสมัครขอขึ้นกับพระราษฎรบริหารเจ้าเมืองกมลาสัย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองสหัสสขันธ์ไปขึ้นกับเมืองกมลาสัยตามใจสมัครตั้งแต่ปีนี้มา

ลุจุลศักราช ๑๒๔๕ ปีมะแมเบญจศก พระยาศรีสิงหเทพ(หรุ่น)ได้มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้หลวงอภัยภูธร(แย้ม)ปลัด ซึ่งออกไปเป็นกองนอกนั้น รับราชการตำแหน่งพระณรงค์ภักดี เจ้าเมืองเซลำเภา ให้หลวงแก้วมนตรี(เหมา)เป็นหลวงอภัยภูธรปลัด ปลัดแย้มรับราชการหน้าที่เจ้าเมืองได้ ๓ เดือน ก็ถึงแก่กรรม และพระยาศรีสิงหเทพ(หรุ่น)ได้ตั้งให้อุปฮาด(ทะ)เมืองแสนปางเป็นผู้รักษาเมืองแสนปาง

พระยาศรีสิงหเทพ(หรุ่น)กลับจากเมืองนครจำปาศักดิ์มากรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เป็นพระยามหาอำมาตยาธิบดี แล้วกลับออกไปเป็นข้าหลวงรักษาราชการอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์

และได้โปรดเกล้าฯให้พระวิภาคภูวดล(แมกคาที)เจ้ากรมแผนที่ พระยาพิชัยรณรงค์(ดิศ)แต่ยังเป็นหลวงกำจัดไพรินทร์ ขึ้นไปตรวจทำแผนที่ชายพระราชอาณาเขตฝ่ายบูรพทิศ ซึ่งติดต่อกับแดนญวนนั้นด้วย

ฝ่ายเมืองกาฬสินธุ์ พระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองมีบอกขอยกเมืองกุดฉิมนารายณ์ออกจากเมืองมุกดาหาร กลับมาขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ดังเดิม และขอท้าวกินรีว่าที่พระธิเบศร์วงศาเจ้าเมือง วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ จึงโปรดเกล้าฯให้ยกเมืองกุดฉิมนารายณ์มาขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ และให้ท้าวกินรีรับราชการตำแหน่งเจ้าเมือง ตามความประสงค์ของพระยาชัยสุนทร

ฝ่ายเมืองมหาสารคาม พระเจริญราชเดชได้มีบอกแต่งให้ท้าวโพธิสาร(อุ่น)บุตรอุปฮาดมหาสารคาม ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ขอเป็นที่พระพิทักษ์นรากรเจ้าเมืองวาปีปทุม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวโพธิสาร(อุ่น)เป็นพระพิทักษ์นรากรเจ้าเมืองวาปีปทุมในปีนี้ และพระประชาชนบาลเจ้าเมืองสหัสขันธ์ถึงแก่กรรม

เดือน ๗ ปีนี้ พระยาขุขันภักดี(วัง)ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ถึงแก่กรรมแล้ว ท้าวปัญญาบุตรพระยาขุขันธ์(วัง)กับพระยารัตนวงศา(จันลี)ได้นำช้างพังสีประหลาด ๑ ช้างพังตาดำ ๑ ลงมาถวาบย ณ กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ท้าวปัญญาว่าที่พระยาขุขันธ์ ให้พระรัตนวงศาว่าที่ปลัดกลับไปรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

อนึ่งพระเจริญราชสมบัติ(บุญจัน)นายกองนอกเมืองขุขันธ์ ซึ่งสมัครไปขึ้นอยู่กับเมืองนครจำปาศักดิ์แต่ก่อนนั้น ครั้นพระยาขุขันธ์(วัง)ถึงแก่กรรมแล้ว เจ้านครจำปาศักดิ์ก็ให้พระเจริญราชสมบัติกลับมาขึ้นยังเมืองขุขันธ์ตามเดิม

ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองขุขันธ์ ได้มีบอกขอให้ยกกระบัตร(วัด)เมืองอุทุมพรพิสัย เป็นพระอุทมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย วันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ยกกระบัตร(วัด)เป็นพระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรหลินแดง ๑ เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:9:50:20 น.  

 
 
 
....................................................................................................................................................

(ต่อ)


ลุจุลศักราช ๑๒๔๖ ปีวอกศก ฝรั่งเศสได้ประเทศเขมรอยู่ในความปกครองแล้ว นักองค์วรรดถามีหนังสือถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองสีทันดร เมืองแสนปาง เมืองเชียงแตง เมืองเซลำเภา เมืองมโนไพร ว่านักองค์วรรดถาจะยกกองทัพไปรบกับฝรั่งเศสในเดือนยี่ปีนี้ ถ้าครอบครัวของนักองค์วรรดถา ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านเสียมโบกเป็นอันตรายประการใด นักองค์วรรดถาจะเอาโทษแก่เจ้าเมืองกรมการเสมอเป็นกบฏต่อกรุงเทพฯ

ได้โปรดเกล้าฯให้มีท้องตราไปยังหัวเมืองฝ่ายตะวันออกว่า ซึ่งนักองค์วรรดถามีหนังสือมายังเมืองในพระราชอาณาเขตโดยแอบอ้างอำนาจกรุงเทพฯดังนี้ ก็ประสงค์จะให้เจ้าเมืองกรมการมีตวามยำเกรงเชื่อถ้อยฟังคำองค์วรรดถา ดูเป็นทีว่านักองค์วรรดถาหาได้มีความผิดต่อกรุงเทพฯไม่ และเจ้าเมืองกรมการจะได้ไม่จับกุมทำอันตรายแก่นักองค์วรรดถาตามที่ได้มีตราสั่งมาแต่ก่อน และทั้งนี้เพื่อจะได้เกลี้ยกล่อมคนได้ง่าย เพราะฉะนั้นอย่าให้เจ้าเมืองกรมการคนใดเชื่อฟังเป็นอันขาด

ระหว่างปีนี้ องแลงยิง องเถือเวียน องเผาะ ขุนนางญวนคุมกำลังและครอบครัวประมาณร้อยคนเศษ เข้ามาตั้งปลูกที่พักและยุ้งฉางอยู่ ณ ด่านดีงเหลา และเมืองพิน พระยาศรีสิงหเทพ(ทัด) แต่ยังเป็นหลวงภักดีณรงค์ข้าหลวงเมืองอุบล ได้แต่งให้ท้าวชัยวงศ์ไปทักถาม ขุนนางญวนเหล่านั้นแจ้งว่า จะมาตั้งด่านดีงเหลาเป็นเมืองพิน จะเอาเมืองพินเป็นด่านดีงเหลา และว่าจะเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ

หลวงภักดีณรงค์ได้มีบอกแจ้งเหตุทั้งนี้มายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้มีท้องตราแจ้งไปยังหลวงภักดีณรงค์ข้าหลวงอุบล และพระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ์ว่า ตามเหตุนี้ดูไม่สมต้นสมปลาย เกรงว่าจะเป็นด้วยพูดไม่เข้าใจภาษากัน ให้พระยามหาอำมาตย์และหลวงภักดีณรงค์ปรึกษาหารือกันจัดการ เพื่ออย่าให้เป็นที่บาดหมางต่อต่างประเทศได้ต่อไป

คราวนั้นมีผู้ร้ายฆ่ามองสิเออร์บุระเวนตายที่เมืองสมบุกในเขตเขมรในบำรุงฝรั่งเศส กงสุลฝรั่งเศสได้ขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบสวนจับผู้ร้าย ได้โปรดเกล้าฯให้มีตราถึงหัวเมืองตะวันออกให้สืบสวนจับผู้ร้ายรายนี้โดยแข็งแรง และทั้งให้กำกับมิให้เจ้าเมืองกรมการส่งเสบียงอาหารกระสุนดินดำและเข้าเป็นพวกองค์วรรดถา อันจะพาให้เป็นที่บาดหมางต่อทางพระราชไมตรีด้วย

มีตราสารห้ามมิให้คนทั้งปวงเล่นพนัน นอกจากวันนักขัตฤกษ์

ปีนี้ราษฎรลาวข่าบ้านสะดำ แขวงเมืองแสนปาง ได้พบบ่อทองคำที่ตำบลภูโงกริมห้วยเซซาน แขวงเมืองแสนปาง ร่อนได้ทองคำก้อนใหญ่หนัก ๔๐ บาท ๕๐ บาท กับทองทรายหนักประมาณสามชั่งเศษ พระยามหาอำมาตย์ได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ โปรดให้เก็บภาคหลวงเป็นภาษา พระยาจึงได้มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้ท้าวไชยราชว่าที่อุปฮาดเมืองแสนปางเป็นเจ้าภาษี มาตั้งแต่ปีระกาสัปตศก ๑๒๔๗ เป็นต้นไป

หลวงภักดีณรงค์(ทัด)ได้มีบอกมายังกรุงเทพฯว่า แต่ก่อนพวกลาวจับข่ามาซื้ขายเป็นทาสและผสมใช้เป็นทาสจยตลอดลูกหลานเหลน หลวงภักดีณรงค์ได้ตัดสินชั้นหลานและเหลนทาสให้เป็นพลเมืองเสียส่วยตามธรรมเนียมบ้านเมือง จึงมีตราโปรดเกล้าฯไปยังบรรดาหัวเมืองตะวันออก ห้ามมิให้จับข่ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนและใช้สอยการงานต่างๆ แต่ส่วนข่าที่ผู้ใดได้ซื้อหามาจากผู้ใดแต่ก่อน ก็ให้คงอยู่กับเจ้าหมู่มุลนายไป เพราะจะให้ข่าทาสเดิมนั้นพ้นค่าตัวไป ก็จะเป็นเหตุเดือดร้อนแก่มุลนายที่ได้เสียเงินซื้อไถ่แลกเปลี่ยนมาแต่ก่อนนั้น

พระสุวรรณภักดี เจ้าเมืองท่าขอนยาง ไม่พอใจทำราชการขึ้นกับเมืองกาฒสินธุ์ จึงอพยพครอบครัวออกจากเมืองท่าขอนยางไปสมัครทำราชการขึ้นกับเมืองท่าอุเทน ส่วนเมืองท่าขอนยางคงมีแต่อุปฮาดราชวงศ์ และกรมการรักษาราชการบ้านเมืองอยู่ อุปฮาด(ทุม)เมืองแซงบาดาลถึงแก่กรรม ท้าวหงส์ได้รับตำแหน่งเป็นอุปฮาดรักษาราชการต่อไป

วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ หลวงภักดีณรงค์(ทัด)เตรียมจะไปฟังราชการที่พระยามหาอำมาตย์ ณ นครจำปาศักดิ์ คืนวันนั้นเวลาย่ำค่ำเศษ เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ริมเรือนหลวงภักดีณรงค์ ลมพัดจัดไฟลุกลามไปไหม้เรือนหลวงภักดี และคุก และศาลา เสมียนตาย ๒ คน คนโทษตาย ๑๔๙ คน เงินส่วยของหลวงและหนังสือราชการเสียหายไปเป็นอันมาก ความทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินตรา ๒ ชั่ง เสื้อเยียรบับ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แพรขาวห่ม ๑ แก่หลวงภักดีณรงค์(ทัด) พระราชทานเงินตราชั้ง ๑ เสื้อเข้มขาบดอกริ้ว ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แพรขาวห่ม ๑ แก่พระยาณรงภักดี(สิน)เวลานั้นเป็นขุนพรพิทักษ์ พระราชทานเงินตราชั่ง ๑ เสื้อเข้มขาบดอกสะเทิน ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แพรขาวห่ม ๑ แก่นายเคลือบมหาดเล็ก พระราชทานเงินตรา ๑๐ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกเล็ก ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แก่นายรอดมหาเล็ก และได้พระราชทานปืนวินเชสเตอร์ ๒ กระบอก กระสุน ๒๐ โหล และปืนสไนเดอ ๕๐ กระบอก กระสุน ๑๐๐ โหล และทั้งพระบรมรูปทรงเครื่องต้นไปไว้สำหรับราชการด้วย

ปีนี้พระยาสังฆะผู้ว่าราชการเมืองสังฆะป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯพระราชทานหีบศิลาหน้าเพลิง ๑ ผ้าไตร ๒ ไตร ผ้าขาว ๕ พับ ร่ม ๕๐ คัน รองเท้า ๕๐ คู่ สำหรับปลงศพพระยาสังฆะ ส่วนเมืองสังฆะพระอนันตภักดีผู้ช่วย และกรมการได้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ได้มีตราอนุญาตให้หลวงภักดีณรงค์ ข้าหลวงเมืองอุบลเก็บเงินแทนเกณฑ์ใช้ราชการ แก่คนซึ่งอยู่เขตแขวงเมืองอุบลและเมืองขึ้น กำหนดคนละ ๓๒ อัฐ เป็นธรรมเนียมตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา

ลุจุลศักราช ๑๒๔๗ ปีระกาสัปตศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดทางโทรเลขแต่นครจำปาศักดิ์ไปเมืองขุขันธ์ แต่เมืองขุขันธ์ไปต่อกับนครเสียมราฐ พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ จึงได้แต่งให้หลวงเสนีพิทักษ์ หลวงเทเพนทร์ หลวงโจมพินาศ หลวงนคร มาเป็นข้าหลวงเกณฑ์คนเมืองขุขันธ์ เมืองสังฆะ ตรวจตัดทางโทรเลขอยู่ ณ เมืองขุขันธ์ อุทุมพร และมโนไพร และทั้งได้ให้หลวงพิชัยชาญยุทธไปเป็นข้าหลวงประจำอยู่ ณ เมืองมโนไพรด้วย หลวงภักดีณรงค์(ทัด)ได้ไปจัดตั้งด่านที่บ้านจะรับ และบ้านแสพอก เเขวงเมืองเชียงแตง และด่านบ้านคันกะโงกบ้านกรูด บ้านดองกำเป็ด แขวงเมืองเซลำเภา

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เลื่อนหลวงภักดีณรงค์(ทัด)ข้าหลวงเมืองอุบล เป็นพระยาราชเสนา ให้ขุนพรพิทักษ์(สิน)เป็นหลวงภักดีณรงค์ ให้นายเคลือบมหาดเล็กเป็นขุนพรพิทักษ์ ข้าหลวงเมืองอุบล และให้บังคับบัญชาพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ข้าหลวงใหญ่นครจำปาศักดิ์

และได้โปรดให้มีท้องตราให้ผู้ว่าราชการ กรมการหัวเมืองทั้งปวงฟังบังคับบัญชาอธิบดีกรมโทรเลข มีส่วนราชการไปรษณีย์โทรเลข และมีบอกในราชการที่เกียวกับไปรษณีย์โทรเลข ตรงยังอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขได้

โปรดเกล้าฯให้หัวเมืองหน้าด่าน ซึ่งขึ้นกับเมืองอุบลและเมืองเขมราษฎร์ เก็บภาษีร้อยชักสาม ภาษีเบ็ดเตร็จสินค้าเข้าออก ถึงสามเดือนให้งบบัญชีส่งครั้งหนึ่ง และโปรดให้จ่าสิบลดแก่ผู้เก็บทำภาษีนั้นด้วย

ในปีนี้รัฐบาลฝรั่งเศสได้ให้เยเนอราลดิดัวร์ชี เป็นราชทูตคุมทหารไปเมืองประเทศญวน เพื่อได้บังคับให้ญวนจัดราชการบ้านเมืองตามสัญญา คริสตศักราช ๑๘๘๓ และทำโทษผู้ซึ่งคบคิดกับพวกธงดำและทหารจีน ให้รบกวนพวกฝรั่งเศสนั้น ครั้นเยเนอราลดิดัวร์ชีไปถึงเมือญวน จึงได้เอาทหารพักไว้ที่เมืองท่าเรือ ๕๐๐ คน และได้เอาไปรักษาตัวที่เมืองเว้ ๕๐๐ คน และได้ปรึกษากันในการที่จะเข้าเฝ้าพระเจ้าญวนอยู่

เวลานั้นฝ่ายพระเจ้าญวนได้เรียกทหารมาประชุมไว้ที่เมืองเว้สามหมื่นคน โดยอุบายว่าจะรับราชทูตญวนให้เต็มเกียรติยศอันใหญ่ ครั้นถึงเวลา ๗ ทุ่ม ทหารญวนเอาเพลิงจุดเผาโรงทหารฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลนางคา ฝ่ายฝรั่งเศสไม่ทันรู้ตัวเพลิงไหม้เสียสิ่งขิงเป็นอันมาก แต่หากว่าเป็นผู้ชำนาญในการรบ และทั้งอาวุธก็ดีกว่าญวน จึงได้ต่อสู้เอาพวกญวรแพ้พ่ายหนีไป

พอรุ่งขึ้นเช้าฝรั่งเศสก็เข้าเมืองญวนได้ เวลานั้นพวกญวนตาย ๑๒๐๐ คนเศษ ฝ่ายฝรั่งเศสตาย ๑ ป่วย ๖๒ คน และฝรั่งเศสจับผู้สำเร็จราชการที่เรียกว่าริเยนต์ชื่อทูฮองได้ ส่วนพระเจ้าแผ่นดินญวนกับเสนาบดีนั้นหนีไปอยู่ที่ป้อมเขาตะวันตก

ครั้นความทั้งนี้ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำริว่า บางทีพวกญวนจะแตกหนีฝรั่งเศสเข้ามาในพระราชอาณาเขต จะพาเหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างญวนกับฝรั่งเศสเข้ามาเกี่ยวข้องถึงไทย จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ์ เกณฑ์กำลังหัวเมืองขึ้นไปตั้งขัดตาทัพอยู่ ณ เมืองเขมราษฎร์ แล้วให้สืบสวนดูพวกญวนที่มาตั้งอยู่ ณ ค่ายดีงเหลาแต่ก่อนนั้น จะตั้งอยู่นอกพระราชอาณาเขตล่วงล้ำเข้ามา ถ้าล่วงล้ำเข้ามาก็ให้บังคับให้ละวางอาวุธเสีย อย่ามาอาศัยแผ่นดินสยามก่อเหตุทำร้ายแก่ฝรั่งเศส ถ้าห้ามไม่ฟังก็ให้ขับไล่ไปให้พ้นพระราชอาณาเขต ถ้าดื้อดึงก็ให้ยกกองทัพไปปราบปรามให้พวกญวนเลิกถอนไปจากพระราชอาณาเขตจงได้ และให้จัดนายทัพนายกองแยกย้ายกันไปรักษาด่านทาง ระวังอย่าให้พวกญวนเข้ามาเกลี้ยกล่อมผู้คนในพระราชอาณาเขต และอาศัยกำลังอาวุธ เสบียงอาหารอย่างใด อย่าให้เป็นที่บาดหมางต่อทาวพระราชไมตรีแก่ประเทศฝรั่งเศสได้เป็นอันขาด ถ้าเจ้าเมืองกรมการราษฎรในพระราชอาณาเขตคนใดเข้าเป็นพวกญวน หรือส่งเสบียงอาหารอาวุธให้แก่ญวน ก็ให้จับทำโทษจงหนัก

ในปีนี้เจ้ายุติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์ ได้นำช้างพลายสำคัญตัวที่ ๓ ซึ่งซื้อจากข่าปะตงภู ลงมาถวาย ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชขึ้นระวาง พระราชทานนามว่า พระเศตรรุจิราภาพรรณ

เจ้านครจำปาศักดิ์ได้มีบอกขอหลวงนรา(คำผุย)ผู้ช่วยเมืองเซลำเภาบุตรพระณรงค์ภักดี(อิน)เจ้าเมืองเซลำเภา เป็นพระยาภักดีศรีสิทธิสงคราม เจ้าเมืองเซลำเภา โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนนามมืองเซลำเภาเป็น เมืองธาราบริวัตร ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์

พระยาภักดีศรีสิทธิสงครามได้ยกไปตั้งอยู่ ณ บ้านเดิมตำบลเวินฆ้อง ตรงฟากเมืองเชียงตุง แล้วตั้งตำแหน่งกรมการเป็นชุดเมืองธาราบริวัตรขึ้นใหม่อีกต่างหาก ส่วนเมืองเชลำเภาก็คงมีตำแหน่งผู้รักษาเมืองกรมการอยู่ตามเดิม

แล้วพระยามหาอำมาตย์จึงมีตราจุลราสีห์ตั้งหลวงภักดี(บุญจันบุตรพระณรงค์ภักดี(เต๊ก)เจ้าเมืองเซลำเภาเป็นพระภักดีภุมเรศ กองนอกส่วยผึ้ง มีตำแหน่งปลัด ยกกระบัตร มหาดไทย เมือง วัง คลัง นา เป็นชุดเมืองเซลำเภาอยู่ตามเดิม บังคับบัญชาปกครองเขตแขวง แยกจากเมืองธาราบริวัตร ฝ่ายละฟากห้วยตลาด ระยะทางเมืองธาราบริวัตรกับเมืองเซลำเภาไกลกันทางเดินเท้า ๓ วัน และเขตแขวงเมืองเซลำเภา ธาราบริวัตรในเวลานั้น ฝ่ายเหนือตั้งแต่ห้วยละอ๊อกต่อแขวงเมืองสพังภูผาลงไปถึงคลองเสียมโบก ต่อเขมรนอกพระราชอาณาเขต ฝ่ายใต้ทิศตะวันตกถึงตำบลหนองปรังสวาย ต่อแขวงเมืองมโนไพร

ปีนั้นโปรดเกล้าฯมีตราถึงหัวเมืองตะวันออกว่า ห้ามมิให้ทำหนังสือเดินทางให้แก่พ่อค้าที่ต้อนไล่สัตว์พาหนะไปขาย โดยไม่มีพิมพ์รูปพรรณสำหรับสัตว์พาหนะ

พระยามหาอำมาตย์ได้ให้หลวงศรีคชรินทร์ หลวงสุนทรบริรักษ์ยกกระบัตรเมือง กลับเป็นข้าหลวงไปตรวจพระราชอาณาเขตฝ่ายแขวงเมืองมโนไพร ที่ติดต่อกับเมืองกะพงสวายเขตเขมรในบำรุงฝรั่งเศส หลวงศรีคชรอนทร์ได้พบออกยาเสนาราชกุเชน และออกยาแสนพรหมเทพ ซึ่งอพยพครอบครัวมาอยู่ ณ บ้านชำกระสานในพระราชอาณาเขตได้ ๘ - ๙ ปีแล้วนั้น และออกยาเสนาราชกุเชน ออกยาแสนพรหมเทพ ได้ร้องขอสมัครเป็นข้าขอบขัณฑสีมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลวงศรีคชรินทร์จึงพาออกยาทั้งสองไปเมืองมโนไพร ให้ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แล้วมีบอกมายังพระยามหาอำมาตย์ พระยามหาอำมาตย์จึงมีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้ออกยาเสนาราชกุเชนเป็นพระภักดีสยามรัฐนายกอง ให้ออกยาแสนพรหมเทพเป็นหลวงสวัสดิ์จุมพลปลัดกอง ควบคุมญาติพี่น้องบ่าวไพร่ทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์

พระเทพวงศา(บุญจัน)เจ้าเมืองเขมราษฎร์ มีความชรา กราบถวายบังคมลาออกจากราชการ พระยามหาอำมาตย์ได้มีตราจุลราชสีห์ให้ท้าวขัตติยกรมการเป็นผู้รักษาเมืองเขมราษฎร์ต่อไป

ในปีนี้พวกฮ่อได้ยกเป็นกระบวนทัพมาเที่ยวตีปล้นบ้านเมืองในพระราชอาณาเขต ทางแขวงเมืองหนองคาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม แต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนยกขึ้นไปตั้งระงับปราบปรามอยู่ ณ เมืองหนองคาย มณฑลอุดร และได้โปรดเกล้าฯให้หัวเมืองตะวันออกบางเมืองเกณฑ์กำลังและพาหนะไปเข้าสมทบกองทัพที่ตั้งอยู่ ณ หนองคาย

พระรัตนวงศา(คำสิง)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม จึงมีตราโปรดเกล้าฯให้พระดำรงฤทธิไกร(บุญตา)ผู้ว่าราชการเมืองพนมไพร ไปเป็นข้าหลวงช่วยกำกับราชการอยู่ ณ เมืองสุวรรณภูมิ พร้อมด้วยอุปฮาด(ษร)และกรมการ

พระศรีสุระ(สาร)เจ้าเมืองเดชอุดม ถึงแก่กรรม พระยามหาอำมาตย์ได้ให้หลวงพรหมภักดียกกระบัตร(แสง)บุตรพระศรีสุระ(สาร)เป็นผู้รักษาราชการเมือง ให้ท้าวโทผู้น้องยกกระบัตร(แสง)ว่าที่ปลัด ให้ท้าวภูบุตรท้าวฝ้ายว่าที่ยกกระบัตร ให้ท้าวทองปัญญาน้องยกกระบัตร(แสง)ว่าที่ผู้ช่วย รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ในปีนี้บาทหลวงอาเล็ดซี โปรดม ฝรั่งเศส กับบาทหลวงอื่นอีก ๕ นาย ไปเที่ยวตั้งสอนศาสนาอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานี เมืองอำนาจเจริญ เมืองสกลนคร เมืองนครพนม โดยอ้างว่าสังฆราชฝรั่งเศสที่กรุงเทพฯจัดให้ออกไป บาทหลวงโปรดมกับบาทหลวงโยเซ เป็นผู้เที่ยวเกลี้ยกล่อมราษฎร และบาทหลวงเกรเมนต์เป็นผู้ตั้งสอนศาสนาอยู่ ณ เมืองอุบล

ลุจุลศักราช ๑๒๔๘ ปีจออัฐศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขุนมหาวิชัย เป็นข้าหลวงคุมเครื่องไทยทานไปส่งยังพระยาราชเสนา(ทัด)ข้าหลวงเมืองอุบล เพื่อได้ถวายพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย วัดเมืองอุบล เมืองพิบูลย์ เมืองมหาชนะชัย เมืองยโสธร เมืองสีทันดร รวม ๑๘๕ รูป ในการพระราชกุศลฉลองวัดราชประดิษฐ์ เมื่อเดือน ๔ ปีระกาสัปตศก ๑๒๔๗ นั้น

วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๖ เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ เจ้าเมืองอุบลซึ่งมาต้องคดีอยู่ ณ กรุงเทพฯ ป่วยเป็นอหิวาตกโรค ถึงแก่อนิจกรรม

วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีนี้ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ผู้สำเร็จราชการกรมมหาดไทย สิ้นพระชนม์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาพลเทพ(รอด)ว่าที่สมุหนายกบังคับบัญชาราชการกรมมหาดไทย ต่อมาได้รับพระราชทานสุพรรณบัตรเป็นเจ้าพระยารัตนบดินทร

วันจันทร์ แรมค่ำ ๑ เดือน ๑๐ พระเรืองชัยชำนะเจ้าเมืองมหาชนะชัยป่วยเป็นโรคเรื้อรังถึงแก่กรรม อายุได้ ๕๔ ปี อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ได้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

อุปฮาดเมืองโขงเจียง ทำเรื่องราวร้องยังข้าหลวงเมืองอุบลว่า เมื่อปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๒๓๗ ท้าวเพี้ยตัวไพร่บ้านบังพวน แขวงเมืองโขงเจียงโจทก์ไปสมัครขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ ครั้นมาปีนี้เมืองนครจำปาศักดิ์ ยกบ้านบังพวนเป็นเมือง ให้เพี้ยเมืองโคตรเป็น พระจันทสุริยวงศ์ เจ้าเมือง และตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ผู้ช่วยกรมการครบตำแหน่ง เงินส่วยขาดค้างกับคนบ้านบังพวนหลายจำนวน ข้าหลวงเมืองอุบลได้ส่งเรื่องราวและตัวอปฮาดผู้ร้องมายังพระยามหาอำมาตย์ ณ เมืองจำปาศักดิ์ พระยามหาอำมาตย์ได้ให้ตุลาการชำระตัดสินตกลงให้เมืองจำปาศักดิ์คืนคนบ้านบังพวนกลับขึ้นยังเมืองโขงเจียงตามเดิม

พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร มีบอกขอตั้งราชวงศ์(แก)เป็นอุปฮาด ขอท้าวฮูเป็นราชวงศ์เมืองยโสธร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งตามขอ

เมืองแสนและท้าวเพี้ยกรมการเมืองร้อยเอ็ด มีบอกมายังพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ข้าหลวง ขอให้ตั้งท้าวโสมบุตรพระขัตติยวงศา(เสือ)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดตนเก่า เป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมือง ขอเมืองกลางเป็นราชวงศ์ แล้วภายหลังกลับบอกขออุปฮาด(เภา)เป็นพระขัติยวงศา ขอท้าวชัยเสนเป็นอุปฮาด ขอท้าวสุเมเป็นราชวงศ์ ขอท้าวสุริย(อุทา)เป็นราชบุตร พระยามหาอำมาตย์ได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(เภา)เป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด แต่ส่วนตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรนั้น พระยามหาอำมาตย์ได้มีตราจุลราชสีห์ให้ว่าที่ตามที่กรมการขอ

และมีตราจุลราชสีห์ตั้งให้ท้าวโสมเป็นอุปฮาด เมืองกลางเป็นราชวงศ์ ท้าวพุดเป็นราชบุตร เมืองธวัชบุรี ตั้งให้ท้าวธรรมรังษีเป็นอุปฮาดเมืองเสลภูมิ

และตั้งให้อุปฮาด(ษร)ว่าที่พระรัตนวงศาเจ้าเมือง ให้ราชบุตร(อำคา)ว่าที่อุปฮาด ให้ท้าวชาลีว่าที่ราชวงศ์ ให้ท้าวภูว่าที่ราชบุตรเมืองสุวรรภูมิ

ข้างฝ่ายพระดำรงฤทธิไกร(บุญตา)เจ้าเมืองพนมไร ซึ่งกำกับราชการเมืองสุวรรณภูมิ เวลานั้นคิดจะแย่งเอาที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ จึงเข้ามากรุงเทพฯ แต่ก็หาสำเร็จไม่ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณ กรุงเทพฯ

ท้าวหนูว่าที่อุปฮาด และท้าวโพธิสาร ว่าที่ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์ถึงแก่กรรม เวลานั้นท้าวพั่วผู้ว่าราชการไปติดราชการอยู่ ณ เมืองหนองคาย พระวิชิตพลหารผู้ช่วยก็ไปติดราชการอยู่ ณ สำนักข้าหลวงเมืองนครจำปาศักดิ์ ที่เมืองกาฬสินธุ์คงมีแต่เมืองจันเป็นหัวหน้าบัญชาการบ้านเมืองพร้อมด้วยกรมการต่อไป จนถึงปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๒๕๒ รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ ท้าวพั่วและพระวิชิตพลหารจึงได้กลับมารักษาราชการบ้านเมืองตามเดิม

ราชทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯ แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า ผู้สำเร็จราชการไซ่ง่อนได้จัดทหารฝรั่งเศสออกต่อรบกับนักองค์วรรดถา ไปห่างประมาณอีกสัก ๒๐ ก้าวจะจับตัวได้ นักองค์วรรดถาพาพวกหนีเข้ามาเสียในเขตแขวงเมืองมโนไพร ทหารฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นพระราชอาณาเขตสยาม จึงหาติดตามต่อไปไม่ ดังนี้

จึงได้โปรดเกล้าฯให้มีท้องตราไปยังเมืองขุขันธ์ และเมืองมโนไพรว่า แต่ก่อนก็ได้มีท้องตราสั่งให้หัวเมืองปลายพระราชอาณาเขตคอยสืบจับนักองค์วรรดถาโดยแข็งแรง เพื่อมิให้นักองค์วรรดถาหลบหนีเข้ามาตั้งซ่องสุมในพระราชอาณาเขต มาบัดนี้รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งดังนี้ ดูเป็นประหนึ่งว่าเจ้าเมืองกรมการฝ่ายสยามไม่เอาใจใส่ระวังรักษาด่านทางให้มั่นคงแข็งแรง จะเป็นเหตุให้มีความบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี เพราะฉะนั้นให้เมืองขุขันธ์ และเมืองมโนไพร แต่งกรมการออกตรวจลาดตระเวนสืบจับนักองค์วรรดถาโดยแข็งแรง

ฝ่ายเมืองขุขันธ์ และเมืองมโนไพร จึงได้แต่งกรมการออกตรวจจับโดยกระแสตรา ก็หาได้ความว่านักองค์วรรดถาหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตไม่

อุปฮาด ท้าวเพี้ย กรมการเมืองภูแล่นช้าง มีบอกขอท้าวคำบุตรพระพิชัยอุดมเดชเป็นราชบุตรเมืองภูแล่นช้าง ได้โปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ตามขอ และพระราชทานเสื้ออัดตลัดดอกเล็ก ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าพื้นนุ่งผืน ๑
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:9:53:02 น.  

 
 
 
....................................................................................................................................................

(ต่อ)


ลุจุลศักราช ๑๒๔๙ ปีกุนพศก มีตราโปรดเกล้าฯไปยังหัวเมืองทั้งปวงว่า ให้บอกรายงานอาการป่วยเจ็บของราษฎรซึ่งเกิดขึ้น และรักษาหายไป และตาย ยังกรุงเทพฯ คือถ้าหัวเมืองที่อยู่ใกล้เดือนละครั้ง เมืองชั้นกลาง ๔ เดือนครั้ง ๑ ชั้นนอก ๖ เดือนครั้ง ๑ หัวเมืองปลายพระราชอาณาเขตและประเทศราชบอกเมื่อสิ้นปีๆละครั้ง ทั้งนี้ก็โดยอำนาจแห่งความที่ทรงพระมหากรุณาแก่สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎร เพื่อว่าจะได้ทรงพระราชดำริแก้ไขป้องกันให้ประชาชนลุถึงซึ่งความสุขต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎสยามชั้นที่ ๓ มัณฑนาภรณ์ แก่พระยาราชเสนา(ทัด)ข้าหลวงเมืองอุบลราชธสนี

พระยาราชเสนา(ทัด)ได้มีบอกมายังกรุงเทพฯว่า แต่ก่อนราษฎรเมืองอุบล ให้ลาดทองเหลืองซึ่งหล่อเอาเองเล็กบ้างใหญ่บ้าง ให้สอยซื้อสิ่งของต่างเบี้ยอัฐทองแดง คิดราคาตั้งแต่ ๓๐ ลาดจนถึง ๘๐ ลาดเป็นบาท โดยไม่เป็นอัตราแน่นอน ราษฎรมีความลำบากในการใช้สอยแลกเปลี่ยน ขอรับพระราชทานเบี้ยอัฐทองแดงไปจำหน่าย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จ่ายเบี้ยอัฐทองแดงไปจำหน่าย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จ่ายเบี้ยทองแดง ซีก เสี้ยว อัฐ โสฬศ ไปจำหน่ายในหัวเมืองตะวันออกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

วันอังคาร แรม ๖ ค่ำ เดือนอ้าย มองซิเออร์โตแปงฝรั่งเศส ภรรยาเขมร ๑ ล่ามเขมร ๑ มาจากไซ่ง่อน ถึงเมืองอุบล เชิญตราพระราชสีห์แจ้งต่อข้าหลวงเมืองอุบลว่า ผู้สำเร็จราชการเมืองไซ่ง่อนได้ให้มาเรียนหนังสือ และภาษาลาว ไทย ข้าหลวงได้จัดที่ให้พักและได้ให้ท้าวสุวรรณสารกรมการเมืองอุบลเป็นผู้สอนหนังสือและภาษาลาว ไทย แก่ม.โตแปง อยู่ ๗ เดือนม.โตแปงรู้หนังสือ และภาษาลาว ไทย ได้บ้างแล้วก็พากลับไป

วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนยี่ มองซิเออร์เซนเต็นร์ฝรั่งเศส ๑ ล่ามเขมร ๑ มาจากไซ่ง่อนโดยทางเมืองนครจำปาศักดิ์ ถึงเมืองอุบล แจ้งว่ามาตรวจสินค้า และเที่ยวชมบ้านเมือง พักอยู่เมืองอุบลจนวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ จึงกลับโดยทางเรือไปจำปาศักดิ์และไซ่ง่อน

วันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือนยี่ มุกเชียนมาริตินชาวสเปญ ๑ กับล่ามญวน ๒ มาแต่ไซ่ง่อนทางเสียมราฐถึงเมืองอุบล แจ้งว่ามาเที่ยวหาซื้อม้า ครั้นซื้อได้ม้า ๒๒ ม้าแล้วก็กลับไซ่ง่อนโดยทางเมืองนครจำปาศักดิ์

ในระหว่างเดือน ๗ ปีนี้ ฝรั่งเศสได้ยกกองทหารเที่ยวปราบปรามพวกกบฏซึ่งเกิดขึ้นในเขตแดนญวน และมีทหารฝรั่งเศสตนหนึ่ง ชื่อ โลศปีตาลิเย ซึ่งได้แตกไปเมื่อเวลาพวกกบฏตีตัดกองทัพฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสผู้นั้นจะกลับไปยังกองทัพของตนมิได้ เพราะเหตุพวกกบฏตั้งสกัดอยู่ ทหารฝรั่งเศสผู้นั้นเห็นว่าประเทศสยามเป็นพระราชไมตรีกับประเทศฝรั่งเศส จึงหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตสยาม ข้ามมาฟากโขงตะวันตกถึงบ้านเจียดพะไลแขวงเมืองเขมราษฎร์ ทหารฝรั่งเศสคนนั้นป่วยถึงแก่กรรม ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองเขมราษฎร์ได้พร้อมด้วยบาทหลวงโยดาแยง ซึ่งตั้งสอนศาสนาอยู่เมืองอุบล ได้จัดการฝังศพฝรั่งผู้นั้นไว้ที่บ้านเจียดพะไลตามสมควร และข้าหลวงเมืองอุบลได้มีบอกส่งสิ่งของๆฝรั่งผู้นั้นมายังกรุงเทพฯ

ครั้นเดือน ๑๒ ปีนี้ องถงถื้อ องเผาะ องกาย ญวนมาถึงเมืองพิน แจ้งว่าฝรั่งเศสผู้สำเร็จราชการเมืองภูซุน ใช้ให้มาสืบข่าวฝรั่งผู้ตาย ครั้นได้ทราบว่าฝรั่งนั้นตายแล้ว ญวนทั้งสามก็กลับไป

กรมโทรเลขได้จัดให้มิสเตอร์อัสซอนไลแมน ไปตรวจรักษาสายโทรเลขระหว่างเมืองจำปาศักดิ์ไปเมืองขุขันธ์ เมืองขุขันธ์ไปเมืองเสียมราฐ ครั้นมิสเตอร์อัสซอนมาถึงเมืองขุขันธ์ วันเสาร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๖ มิสเตอร์อัสซอนเป็นไข้ถึงแก่กรรม

พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ได้จัดให้หลวงเสนีพิทักษ์ เป็นข้าหลวงกำกับราชการอยู่ ณ เมืองขุขันธ์

เมืองวารินทร์ชำราบมิพอใจขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์ โจทก์มาสมัครขึ้นกับเมืองเขมราษฎร์ในปีนี้

พระรามนรินทร์เจ้าเมืองคำเขื่อนแก้ว มีความชรา ทุพพลภาพ กราบถวายบังคมลาขอออกจากราชการ และขอให้ท้าวพระศรีผู้บุตรเป็นผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

เมืองจันและกรมการเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกมายังกรุงเทพฯว่า ตำแหน่งพระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ว่าง โปรดเกล้าฯให้ท้าวกินรีว่าการแทนมาแต่ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช ๑๒๔๕ ก็ได้ว่าราชการเรียบร้อยดี ขอรับพระราชทานท้าวกินรีเป็นพระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวกินรีเป็นพระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ พระราชทานถากหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนปัสตูแดง ๑ เสื้อโหมดเทศริ้วเล็ก ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

ราชวงศ์(นวน)เมืองกมลาศัย ถึงแก่กรรม

หลวงพรหมภักดี(แสง)ผู้รักษาเมืองและกรมการเมืองเดชอุดม มีบอกวางเวรกระทรวงต่างประเทศ ขอตั้งนายร้อยคำนานตองซู่คนในบังคับอังกฤษ เป็นนายกองคุมพวกกุลาตองซู่คนในบังคับอังกฤษ มีตราโปรดเกล้าฯลงวันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีนี้ว่า คนสัปเยกต์มีหนังสือเดินทางสำหรับตัวไปมาค้าขายเพียงปีหนึ่ง หาได้ให้ไปตั้งทำสวนไร่นาในแขวงเมืองนั้นๆไม่ ถ้าพ้นกำหนดหนังสือแล้ว ต้องให้กลับหรือไปเปลี่ยนหนังสือเสียใหม่ จึงจะกลับมาค้าขายในพระราชอาณาเขตต่อไปได้ ไม่สมควรที่จะต้องตั้งนายกองให้ควบคุมคนซึ่งจะต้องไปๆมาๆให้ผิดด้วยแบบธรรมเนียมราชการ และให้ห้ามคนสัปเยกต์อย่าให้ตั้งและซื้อสวนไร่นาบ้านเรือให้ผิดสัญญาทางพระราชไมตรี

ท้าวนาคเมืองศรีสระเกศทำหนังสือเบิกล่องเดินทางให้แก่นายร้อยคำยี่ คำอ่อน เชียงน้อย ตองซุ่ซึ่งคุมกระบือไม่มีพิมพ์รูปพรรณไปจำหน่าย ผิดพระราชบัญญัติ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ลูกขุน ณ ศาลบาปรึกษาโทษท้าวนาค ตัดสินทวน ๕๐ ปี จำคุก ๓ ปี และให้ปรับพระยาวิเศษภักดี(โท)เจ้าเมืองศรีสระเกศ ซึ่งให้การอ้าวว่ามีตราพระราชสีห์อนุญาตว่า ถ้าราษฎรจะซื้อขายโคกระบือ ให้เจ้าเมืองทำเบิกล่องเดินทางให้ ให้ตรวจตำหนิรูปพรรณลงในใบเบิกล่องก็ได้ โดยไม่จริงนั้น เป็นเบี้ยละเมิดจัตุรคูณเป็นเงิน ๕ ชั่ง ๖ ตำลึงกึ่ง ๓ สลึง ๖๐๐ เบี้ย

ลุจุลศักราช ๑๒๕๐ ปีชวดสัมฤทธิศก พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น) และพระยาราชเสนา(ทัด)ได้มีหนังสือแนะนำบรรดาหัวเมืองซึ่งอยู่ในบังคับให้ทำการเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชเทวี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ตามกำหนดอันเป็นธรรมเนียมต่อมาจนทุกวันนี้

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ว่าที่นายพันตรี หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง) พร้อมด้วยนายร้อยนายสิบไปตั้งกองฝึกหัดทหารอยู ณ เมืองจำปาศักดิ์ และเมืองอุบล ครั้นฝึกหัดได้เรียบร้อยแล้ว พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ์ และพระยาราชเสนา(ทัด)ข้าหลวงเมืองอุบลจึงได้จัดให้กรมการ พร้อมด้วยนายสิบพลทหารและกำลังตามสมควร แยกย้ายกันไปตั้งรักษาอยู่ ณ ช่องด่านต่างๆ ซึ่งอยู่ ณ ชายพระราชอาณาเขตทางตะวันออกตามที่ได้รักษามาแต่เดิม

และได้โปรดเกล้าฯให้หลวงภักดีณรงค์(สิน) หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ไปตรวจจัดราชการ ณ เมืองสองคอนดอนดง เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองตะโปน เมืองลำเนาหนองปรือ ซึ่งอยู่ ณ ฝั่งโขงตะวันออก แล้วหลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ได้ไปตั้งพักจัดราชการอยู่ ณ เมืองตะโปน แต่หลวงภักดีนรินทร์(สิน)นั้นได้โปรดให้ขุนพรพิทักษ์(เคลือบ)ไปเปลี่ยนกลับมา ณ เมืองอุบล ขุนพรพิทักษ์(เคลือบ)จึงได้ไปตั้งพักจัดราชการอยู่ ณ เมืองนอง

และเมืองสองคอนดองดง เมืองพิน เมืองนอง เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองตะโปน เมืองลำเนาหนองปรือ รวม ๗ เมืองนี้ เดิมจะเป็นบ้านอะไร และจะได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองโดยเหตุผลอย่างไร แต่เมื่อใด และมีพงศาวดารเป็นมาอย่างไร เพียงไรนั้น ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงพงศาวดารนี้หาทราบถึงไม่ เพราะเมื่อขณะเรียบเรียงพงศาวดารนี้ เป็นเวลาที่เมืองทั้ง ๗ ได้ตกไปอยู่ในเขตของฝรั่งเศสเสียแล้ว และทั้งมิได้พบปะตำนานของเมืองทั้ง ๗ นี้ในที่แห่งใดด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถรู้ถึงกำเนิดของเมืองทั้ง ๗ นี้ตลอดได้

มีตราโปรดเกล้าฯไปยังหัวเมืองตะวันออกว่า บรรดาที่ดินซึ่งคนสัปเยกต์ซื้อหรือมีตั้งบ้านเรือนไร่นาสวนอยู่นั้น จะเป็นสิทธิ์ไม่ได้ เพราะมิได้แจ้งต่อกงสุลให้ขออนุญาตต่อรัฐบาลสยามให้ตกลงกันตามหนังสือสัญญา และให้เมืองทั้งปวงทำบัญชีที่ดินซึ่งคนสัปเยกต์ได้มาโดยเหตุอย่างไรนั้น ส่งยังกรุงเทพฯ

วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ พระศรีสุวรรณวงศาเจ้าเมืองพยัคฆภูมิพิสัยป่วยถึงแก่กรรม พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ได้มีตราจุลราชสีห์ ให้อุปฮาด(เดช)ผู้น้องพระศรีสุวรรณวงศา รักษาราชการเมืองพยัคฆภูมิพิสัยต่อไป

พระดำรงฤทธิไกร(บุญตา)เจ้าเมืองพนมไพร ซึ่งลงมา ณ กรุงเทพฯเพื่อจะขอเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ มิสำเร็จ เลยป่วยพักรักษาตัวอยู่ ณ กรุงเทพฯนั้น ครั้นอาการป่วยทุเลาแล้ว จึงกราบบังคมลากลับบ้านเมือง ครั้นไปถึงเมืองนครราชสีมากลับเป็นไข้หนักลงอีก ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ พระดำรงฤทธิไกร(บุญตา)ถึงแก่กรรม

พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น) จึงได้ให้ท้าวสุวรรณราชผู้เป็นอุปฮาดรักษาราชการเมืองพนมไพรต่อไป

อุปฮาดผู้รักษาเมืองภูแล่นช้างถึงแก่กรรม ท้าวทองสุกได้เป็นผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่อมา

ฝ่ายเมืองสหัสขันธ์ ตั้งแต่พระประชาชนบาลเจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็มีอุปฮาดว่าราชการต่อมา ครั้นถึงปีนี้อุปฮาดถึงแก่กรรม ยังคงมีแต่ราชบุตร(แสง) เมืองแสน เมืองจัน และกรมการ จึงได้พร้อมกันมีบอกมายังพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ขอราชบุตร(แสง)เป็นที่พระประชาชนบาล ฝ่ายข้างพระราษฎรบริหาร(ทอง)ผู้ว่าราชการเมืองกมลาศัย ทราบดังนั้น จึงรีบมีบอกล่วงหน้าไปยังพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ชิงขอให้อุปฮาด(บัว)เมืองกมลาศัยเป็นพระประชาชนบาล พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)จึงได้มีตราจุลราชสีห์ตั้งให้อุปฮาด(บัว)รับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองสหัสขันธ์ อุปฮาด(บัว)จึงได้ย้ายที่ว่าการเมืองสหัสขันธ์มาตั้งอยู่ ณ บ้านโคก

หลวงเสนีพิทักษ์ ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ไปตรวจราชการ ณ เมืองอุทุมพร ครั้นวันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๘ ป่วยถึงแก่กรรม ณ เมืองอุทุมพร

พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ได้จัดให้หลวงนครบุรี ไปรับราชการเป็นข้าหลวงอยู่ ณ เมืองขุขันธ์ต่อไป

พระทิพชลสินธุ์อินทนิมิตเจ้าเมืองพรหมกัน ป่วยถึงแก่กรรม พระอนันตภักดีผู้รักษาเมืองสังฆะ ได้ให้หลวงพินิจสมบัติเป็นผู้รักษาเมืองพรหมกันต่อไป

นายแก้วหมอ นายสีดาควาญ นำช้างต่อไปแทรกโพนได้ช้างเผือกพลายตัวหนึ่ง ที่แขวงข่าระแดฝั่งโขงตะวันออก ได้ส่งช้างนั้นมายังเมืองนครจำปาศักดิ์

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๕๑ ปีฉลู รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)จึงให้เจ้าราชวงศ์(จุ่น) และเจ้าราชบุตรนครจำปาศักดิ์ คุมช้างพลายสำคัญตัวที่ได้มานี้ มาถวาย ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ขึ้นระวางพระราชทานนามว่า พระเศวตวรนาเคนทร์

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเจ้าราชวงศ์(จุ่น)เป็นเจ้าประชากรเกษม จางวางนครจำปาศักดิ์

วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีนี้ หลวงภักดีณรงค์(สิน)ออกจากเมืองอุบลมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อได้กราบบังคมทูลพระกรุณาในข้อราชการต่างๆ

พระวงศาสุรเดชเจ้าเมืองมูลปาโมกข์ ซึ่งขึ้นกับเมืองสีทันดรนั้น มิถูกต้องเป็นสามัคคีรสกันกับผู้ว่าราชการกรมการเมืองสีทันดร และทั้งต้องไปเป็นความรายคดีวิวาทกับราชวงศ์เมืองสพังภูผา ต้องคุมขังพิจารณาอยู่ ณ สำนักข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ เสียทรัพย์สินยากแค้นลง เจ้านครจำปาศักดิ์เข้าทะนุบำรุงให้กู้ยืมทรัพย์สิน พระวงศาสุรเดชตกเป็นลูกหนี้เจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงให้พระวงศาสุรเดช และราชบุตร อพยพครอบครัวลงไปตั้งอยู่ ณ หนองไก่ป่าท่ากลันลำน้ำเซซาน แขวงเมืองแสนปาง เป็นเมืองใหม่ แต่ยังหาทันขนานนามเมืองไม่ ฝ่ายทางเมืองมูลปาโมกข์ก็คงมีแต่อุปฮาดและท้าวสุทธิสาร และกรมการอยู่รักษาราชการบ้านเมือง

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้ท้าวชัยผู้ว่าที่อุปฮาดเป็นอุปฮาด ให้ท้าวสุริย(อุทา)ผู้ว่าที่ราชบุตรเป็นราชบุตร เมืองร้อยเอ็ด

ราษฎรเมืองสหัสขันธ์ พากันทำเรื่องราวร้องทุกข์ไปถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ณ เมืองหนองคาย กล่าวโทษอุปฮาด(บัว)ผู้รักษาเมืองสหัสขันธ์ว่ากระทำการกดขี่ข่มเหงลงเอาเงินแก่ราษฎร และให้อุปฮาดออกจากตำแหน่งผู้รักษาเมืองสหัสขันธ์ กลับไปอยู่เมืองกมลาศัยตามเดิม ส่วนเมืองสหัสขันธ์ก็คงมีแต่ราชบุตร(แสง) และเมืองแสน เมืองจัน กรมการอยู่รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้ท้าวทองอินบุตรพระศรีเกษตราธิชัย(เง่า)เจ้าเมืองเกษตรวิสัย ซึ่งไปศึกษาราชการอยู่ ณ ที่ว่าการข้าหลวงนครจำปาศักดิ์นั้นเป็นอุปฮาดเมืองเกษตรวิสัย

อุปฮาด(หงส์)เมืองแซงบาดาล ถึงแก่กรรม

เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม องบาง ขุนนางญวน ที่สององภูผู้บังคับการเมืองลาดคำไล กับองเกลายเมืองลากคำไล องโดยเมืองกวางตี้ องเถอเบี้ยน องโดน พร้อมด้วยทหารญวนถือปืนชนวนทองแดง ปลายหอก ๔ ถือดาบ ๒ ถือธงนำหน้า ๒ ตีกลองนำหน้า ๑ ถือหีบหมาก ๒ ถือไม่เท้า ๑ ถือกล้องยาแดง ๑ ถือร่มสำหรับยศ ๑ มาหาหลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)

หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ได้ต้อนรับตามสมควร องบางถามหลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ว่า มาอยู่เมืองตะโปนด้วยเหตุประการใด หลวงพิทักษ์นรินทร์ตอบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรุงสยามโปรดเกล้าฯให้มาอยู่รักษา เพื่อปราบปรามโจรผู้ร้าย ให้ราษฎรได้รับความสุขสำราญ แล้วองบางก็ลากลับไป

โปรดเกล้าฯให้กรมยุทธนาธิการส่งนายร้อยเอก ขุนพิศลยุทธการ(ปึก) ๑ นายร้อยตรีชื่น ๑ นายร้อยตรีคำ ๑ นายร้อยตรีพลับ ๑ นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายร้อยตรีวาด ๑ นายร้อยตรีพรหม ๑ กับพลแตรเดี่ยว ๑ ขึ้นไปรับราชการกับว่าที่นายพันตรี หลวงพิทักนรินทร์(ผึ้ง) ขุนพิศลฯกับนายร้อย ๗ นาย ได้ไปถึงเมืองอุบลเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม แล้วหลวงพิทักษ์นรินทร์ได้จัดให้ขุนพิศลฯ ๑ นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายร้อยตรีคล้าย ๑ นายร้อยตรีคำ ๑ ไปรับราชการอยู่กับหลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง) ณ ด่านเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง และจัดให้นายร้อยตรีวาด ๑ นายร้อยตรีชื่น ๑ นายร้อยตรีพลับ ๑ นายร้อยตรีพรหม ๑ ไปรักษาราชการหน้าด่านเมืองนครจำปาศักดิ์

รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า มองซิเออร์เดอมาเรียนา หรือเลอ กอมเต เดอ ดะเร ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินเมืองซิดัง ได้หนีมาจากปารีส ไปเมืองซิดัง(แขวงข่าระแด ตั้งอยู่ตำบลที่เรียกว่าโปโล ปลายลำน้ำเซโขงหรือเซกอง ฝั่งโขงตะวันออก) กับคนยุโรป ๕ คน มีปืน ๔๘ หีบ ขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบจับ

และรัฐบาลอังกฤษแจ้งว่าเจ้าเมงกูนบุตรพระเจ้าแผ่นดินมินดงมิน เจ้าแผ่นดินเมืองพม่าคนเก่า ซึ่งอังกฤษได้เอาตัวไปขังไว้ประเทศอินเดีย หนีมาทางเมืองไซ่ง่อน รัฐบาลอังกฤษเกรงว่าเจ้าเมงกูนจะหนีเข้ามาในพระราชอาณาเขตสยามทางหัวเมืองลาวตะวันออก จึงขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบจับ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีตราสั่งยังบรรดาหัวเมืองตะวันออก ให้ช่วยสืบจับมองซิเออร์เดอมาเรียนา และเจ้าเมงกูน ตามความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษตามทางพระราชไมตรี โดยแข็งแรง ก็หาได้ความว่า มองซิเออร์เดอมาเรียนาและเจ้าเมงกูน ได้เข้ามาในพระราชอาณาเขตไม่

อุปฮาด(สุวรรณ) ราชวงศ์ และกรมการเมืองพนมไพรแดนมฤค ขึ้นเมืองสุวรรณภูมิ มีความวิวาทบาดหมางกับอุปฮาดผู้รักษาเมืองสุวรรณภูมิ มิพอใจจะสมัครขึ้นเมืองสุวรรณภูมิจึงพร้อมกันมีบอกไปยังพระพิเรนทรเทพ(ทองคำ)ข้าหลวงเมืองนครราชสีมา ขอสมัครขึ้นกับนครราชสีมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะเขตแขวงเมืองพนมไพรมิได้ติดต่อกับเขตแขวงนครราชสีมา ซึ่งเป็นทางสะดวกแก่การบังคับบัญชา จึงหาได้โปรดเกล้าฯให้การเป็นไปดังความประสงค์ของผู้รักษาเมืองกรมการเมืองพนมไพรไม่

ฝ่ายอุปฮาดผู้รักษาเมือง และกรมการเมืองสุวรรณภูมิ มีบอกกล่าวโทษเมืองมหาสารคาม เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสระเกศ ว่าแย่งชิงเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิไปขอตั้งเป็นเมืองขึ้น คือ เมืองมหาสารคามขอบ้านนาเลาเป็นวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ขอบ้านทัพค่ายเป็นเมืองชุมพลบุรี เมืองศรีสระเกศขอบ้านโนนหินกองเป็นเมืองราษีไศล ได้โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ และเมืองอุบลไต่สวนว่ากล่าวในเรื่องนี้ ก็รื้อถอนไม่ไหว เพราะเหตุเมืองทั้งนี้ ได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามมาได้หลายปีแล้ว เป็นอันโปรดเกล้าฯให้ตกลงคงเป็นเมืองขึ้นของเมืองทั้งสามอยู่ตามเดิม

รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งขออนุญาตต่อรัฐบาลสยามว่า จะแต่งให้มองซิเออร์ปาวีเป็นข้าหลวงหัวหน้า พร้อมด้วยม.เลเฟฟปอนตาลิศวัดเซ ๑ ม.กูเป็น ๑ ม.ปันเจต ๑ ม.กอยนาร์ ๑ ม.มาซิหมอ ๑ ม. เปนเคน ๑ ม.ลาซัน ๑ ม.นิลวน ๑ ม.สตาไวซ์ ๑ ม.มอเลอ ๑ ม.ลูกัน ๑ ม.มาซิ ๑ ม.กูดาศ ๑ ม.อาดลี ๑ รวม ๑๕ นาย แบ่งออกเป็นสามกอง ไปเที่ยวตรวจทำแผนที่เขตแดนชายพระราชอาณาเขตสยาม ซึ่งติดต่อกับเขตแดนญวนในบำรุงฝรั่งเศส เพื่อรัฐบาลทั้งสองจะได้ปรึกษาแบ่งปันให้เป็นที่ตกลงกัน รัฐบาลสยามได้อนุญาตให้ตรวจตามความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศส

และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมแผนที่ จัดให้หลวงสากลกิจประมวญ(ม.ว.เฉลิม) ๑ หลวงคำนวนคัคณานต์(สี) ๑ นายแถลงการวิธกิจ ๑ นายมานิตรัถยา(เอม) ๑ หม่อมราชวงศ์ชื่น ๑ นายเย็น ๑ นายปาน ๑ นายเสม ๑ นายถัด ๑ นายผิว ๑ นายเจริญ ๑ แยกกันเป็นกองๆออกไปพร้อมด้วยข้าหลวง ซึ่งรักษาหัวเมืองชายพระราชอาณาเขต ตรวจแผนที่ชายพระราชอาณาเขต และเพื่อต้อนรับชี้แจงแก่ข้าหลวงฝ่ายฝรั่งเศส วันที่ ๑ มีนาคม หลวงคำนวนคัคณานต์ไปถึงเมืองอุบล

พระธำนงชัยธวัช(สุวอ)ผู้ว่าราชการเมืองธวัชบุรี มีบอกมายังพระยาราชเสนา(ทัด)ข้าหลวงเมืองอุบล ว่ามีความชราทุพพลภาพ ขอกราบถวายบังคมลาออกจากเจ้าที่ราชการ และขอให้ท้าวเพี้ยเมืองขวาบุตรเขยเป็นผู้รักษาราชการเมืองแทน พระยาราชเสนา(ทัด)ได้อนุญาต และได้ให้เพี้ยเมืองชขวารับราชการหน้าที่ผู้รักษาเมืองธวัชบุรีแทนตามประสงค์ของพระธำนงชัยธวัช แล้วได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ

พระเจริญราชเดชผู้ว่าราชการเมืองมหาสารคามและพระขัตติยวงศาผู้ว่าราชการเมืองร้อยเอ็ด มีบอกมายังกรุงเทพฯว่า พระสุวรรณวงศาผู้ว่าราชการเมืองพยัคฆภูมิพิสัย ไปตั้งเมืองที่บ้านนาข่าแขวงเมืองมหาสารคาม และพระธาดาอำนวยเดชผู้ว่าราชการเมืองจัตุรพักตร์พิมานไปตั้งเมืองที่บ้านหัวช้างเปลือยกลาง แขวงเมืองร้อยเอ็ด หาได้ไปตั้งที่บ้านเมืองเสือ และที่บ้านกุดพิมาน ตามกระแสรับสั่งโปรดเกล้าฯไม่

ทั้งสองรายนี้ ได้มีท้องตราโปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงเมืองอุบลไต่สวน

มองซิเออร์โซแมน พ่อค้าฝรั่งเศสได้นำสินค้าต่างๆมาตั้งจำหน่ายที่เมืองอุบล

และในปีนี้ฝนแล้งถึงเกวียนละชั่ง ๘ ตำลึง

ได้มีประกาศโปรดเกล้าฯ ให้ใช้วันตามทางสุริยคติในปีนี้
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:9:54:53 น.  

 
 
 
....................................................................................................................................................

(ต่อ)


ลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ ปีขาลโทศก จุลศักราช ๑๒๕๒ มีตราสารโปรดเกล้าฯให้ปันหน้าที่ข้าหลวงเป็น ๔ กอง คือ

ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ได้บังคับการ และชำระตัดสินความอุทธรณ์เร่งรัดเงินส่วย เมืองนครจำปาศักดิ์ ๑ เมืองเชียงแตง ๑ เมืองแสนปาง ๑ เมืองสีทันดร ๑ เมืองอัตปือ ๑ เมืองสาละวัน ๑ เมืองคำทองใหญ่ ๑ เมืองสุรินทร์ ๑ เมืองสังฆะ ๑ เมืองขุขันธ์ ๑ เมืองเดชอุดม ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๑ เมือง เมืองขึ้น ๒๑ เหล่านี้ให้เรียกว่า หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก

ข้าหลวงเมืองอุบลราชธานี บังคับเมืองอุบล ๑ เมืองกาฬสินธุ์ ๑ เมืองสุวรรณภูมิ ๑ เมืองมหาสารคาม ๑ เมืองร้อยเอ็ด ๑ เมืองภูแล่นช้าง ๑ เมืองกมลาศัย ๑ เมืองยโสธร ๑ เมืองเขมราษฎร์ ๑ เมืองสองคอนดอนดง ๑ เมืองนอง ๑ เมืองศรีสระเกศ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๒ เมืองเล็ก ๒๙ เหล่านี้ให้เรียกว่า หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้าหลวงเมืองหนองคาย บังคับเมืองหนองคาย ๑ เมืองเชียงขวาง ๑ เมืองบริคัณหนิคม ๑ เมืองโพนพิสัย ๑ เมืองชัยบุรี ๑ เมืองท่าอุเทน ๑ เมืองนครพนม ๑ เมืองสกลนคร ๑ เมืองมุกดาหาร ๑ เมืองกมุทาสัย ๑ เมืองบุรีรัมย์ ๑ เมืองหนองหาร ๑ เมืองขอนแก่น ๑ เมืองคำเกิด ๑ เมืองคำมวน ๑ เมืองหล่มศักดิ์ ๑ รวมเมืองใหญ่ ๑๖ เมือง เมืองขึ้น ๓๖ เหล่านี้ให้เรียกว่า เมืองลาวฝ่ายเหนือ

ข้าหลวงเมืองนครราชสีมา บังคับเมืองนครราชสีมา ๑ เมืองชนบท ๑ เมืองภูเขียว ๑ รวมเมืองใหญ่ ๓ เมือง เมืองขึ้น ๑๒ เมือง เหล่านี้ให้เรียกว่า หัวเมืองลาวกลาง

และเมืองสองคอนดอนดงนั้น แต่ก่อนขึ้นกับเมืองอุบล ครั้นเมื่อท้าวหนูเป็นพระจันทรเทพสุริยวงศ์ เจ้าเมืองมุกดาหาร และเจ้าราชวงศ์หน่อคำเป็นเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ เจ้าเมืองอุบล ได้ยกเมืองสองคอนดอนดงไปขึ้นเมืองมกดาหารข้ามเขตแขวงเมืองอุบล และเมืองขึ้นไประยะทางไกลถึง ๔ วัน ๕ วัน

และเมืองคำเกิด เมืองคำมวน เดิมขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ ข้ามเขตแขวงเมืองธวัชบุรี เมืองท่าอุเทนเข้ามาหลายคืน แต่เป็นหน้าที่ข้าหลวงหนองคายจัดข้าหลวงไปรักษาราชการอยู่แล้ว

จึงโปรดเกล้าฯให้เมืองสองคอนดอนดงเมืองขึ้นเมืองมุกดาหารมาขึ้นเมืองอุบล ในบังคับข้าหลวงเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ

ให้ยกเมืองคำเกิด คำมวนเมืองขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ ไปขึ้นเมืองท่าอุเทน ในบังคับข้าหลวงหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ

และโปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี(หรุ่น)ข้าหลวงซึ่งอยู่ ณ นครจำปาศักดิ์ มีอำนาจบังคับว่ากล่าวข้าหลวงหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ฝ่ายเหนือ และลาวกลางได้ตามสมควรแก่ราชการ

และโปรดเกล้าฯพระราชทานตราประจำชาติสำหรับตำแหน่งข้าหลวงทั้ง ๔ กอง เป็นรูปอาร์มแผ่นดินใช้ประทับเป็นสำคัญในหนังสือราชการ

ขุนพรพิทักษ์(เคลือบ)ข้าหลวงตุลาการเมืองอุบล ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงโยธีบริรักษ์ และนายรอดมหาดเล็ก ข้าหลวงผู้ช่วยเมืองอุบล เป็นหลวงพิทักษ์สุเทพ ในเดือนเมษายนปีนี้

โปรดเกล้าฯให้พระพิศณุเทพ(ช่วง)ข้าหลวงที่ ๒ ขึ้นไปเปลี่ยนพระยาหมาอำมาตย์(หรุ่น) ณ เมืองจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯให้หลวงสุเทพนุรักษ์ หลวงเทเพนทรเทพ หลวงบุรินทรามาตย์ หลวงเทพนเรนทร์ ขุนมหาวิชัย ขุนวิชิตชลหาร เป็นข้าหลวงผู้ช่วยไปด้วยพระพิศณุเทพ พระพิศณุเทพกับข้าหลวงผู้วยไปถึงนครจำปาศักดิ์ เมื่อมิถุนายน ร.ศ. ๑๐๙

พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)มอบราชการเสร็จแล้ว ได้เดินจากนครจำปาศักดิ์ กลับมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๐๙

หลวงสุเทพนุรักษ์ ไปเป็นข้าหลวงรักษาราชการอยู่ ณ เมืองแสนปาง

หลวงเทพเนทรเทพ เจ้าพระยาศรีวิชัยฯเมื่อยังเป็นหลวงหลวงเสนีพิทักษ์ ขุนมหาวิชัย ไปเป็นข้าหลวงกำกับราชการอยู่ ณ เมืองสีทันดร

หลวงเทพนเรนทร์ นายร้อยโทพุ่ม เป็นข้าหลวงอยู่ ณ เมืองคำทองใหญ่ และเมืองสาละวัน

มองซิเออร์โกโรกือแร ลุตเตอร์แนนต์ฝรั่งเศส กับขุนนางญวน และทหาร ๑๕ คน มาแต่เมืองกวางบึ้ง กวางตี้ ถึงด่านบ้านห้วยสาร แจ้งต่อนายสิบโทเฟื่องผู้รักษาด่านพระราชอาณาเขตว่า ฝรั่งเศสผู้บังคับการเมืองเว้ ให้ม.โกโรกือแรมาตรวจด่านฝ่ายสยามซึ่งได้ตั้งไว้แล้ว ม.โกโรกือแร มีหนังสือแจ้งมายังหลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ข้าหลวงเมืองตะโปนว่า ซึ่งสยามมาตั้งกองทัพในที่ซึ่งเรียกว่า เชียงแกเมืองตะโปน บ้านห้วยสารนั้นผิดยุติธรรมและหนังสือสัญญา ให้รีบถอยกองทัพไปตั้งเสียในเมืองวัง เมืองผาบัง เมืองห้างถุย

หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)มีหนังสือตอบยังม.โกโรกือแรว่า รัฐบาลสยามยังมิได้มีคำสั่งออกมา หลวงพิทักษ์จะต้องอยู่รักษา เพื่อระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายให้ราษฎรมีความสุขไปก่อน แล้วม.โกโรกือแรก็กลับไปจากบ้านห้วยสาร

วันที่ ๑๘ กรกฎาคม หลวงพิทักษ์นรินทร์ข้าหลวงเมืองตะโปน และจมื่นศักดิ์บริบาล ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ออกไปเป็นข้าหลวงผู้ช่วย ณ กองข้าหลวงหัวเมืองลาวตะวันออกเฉียงเหนือไปถึงเมืองอุบล และที่เมืองตะโปนนั้น หลวงพิทักษ์นรินทร์จัดให้นายร้อยตรีพรหมรักษาราชการ

วันที่ ๕ สิงหาคม มองซิเออร์ปาวี หัวหน้าผู้ตรวจแผนที่กับพวกกอมิแซฝรั่งเศส ๕ นายมาถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒๒ ตุลาคม หม่อมราชวงศ์ชื่น ข้าหลวงตรวจการแผนที่ฝ่ายสยาม ถึงเมืองอุบล

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พระพิชัยสุริยวงศา(นาก)ผู้รักษาเมืองสุรินทร์ป่วยถึงแก่กรรม

วันที่ ๖ พฤศจิกายน มิงซิเออร์โกบา ๑ มองซิเออร์ลูกวง ๑ มองซิเออร์กือก๊าด ๑ มองซิเออร์กูเป ๑ ข้าหลวงตรวจแผนที่ฝ่ายฝรั่งเศสมาถึงเมืองอุบล แล้วไปนครจำปาศักดิ์ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน

วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พระภักดีณรงค์(สิน)ข้าหลวงเมืองอุบล ซึ่งลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯนั้น กลับถึงเมืองอุบลวันนี้

วันที่ ๑๐ ธันวาคม องโดนญวน ซึ่งอยู่บ้านดีงเหลาไปหานายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงเมืองตะโปน แจ้งว่าองภูเมืองลาดคำโลให้องโดนมาตามตัวผู้ว่าราชการเมืองตะโปน เมืองนอง เมืองพิน เมืองวังคำ ไปหาองภู องภูจะมาที่บ้านดีงเหลา นายร้อยตรีพรหมตอบว่า ถ้าคนต่างประเทศจะเข้ามาในพระราชอาณาเขต ต้องมีตราราชสีห์จึงจะเข้ามาได้ ให้องโดนกลับเสีย ครั้นรุ่งขึ้นองโดนก็ลากลับไป

มีท้องตราโปรดเกล้าฯให้พระยาราชเสนา(ทัด)ไปพิจารณาความโจรผู้ร้าย ณ เมืองนครราชสีมา พระยาราชเสนาได้ออกจากเมืองอุบลวันที่ ๑๒ ธันวาคม

มกราคม มองซิเออร์ปาวี และมองซิเออร์มะละแกว กับทหารญวน ๒๐ ไพร่ญวน ๑๕ คน ซึ่งตรวจแผนที่ชายพระราชอาณาเขตไปถึงด่านบ้านห้วยสาร แล้วออกจากด่านบ้านห้วยสารไปด่านเมืองตะโปน ผู้รักษาด่านฝ่ายสยามได้ต้อนรับและอุปการตามสมควร

มกราคม พระรามนรินทร์ผู้ว่าราชการเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราษฎร์มีบอกยังข้าหลวงเมืองอุบล ว่ามีความชราทุพพลภาพ ขอลาออกจากหน้าที่ราชการ และขอให้ท้าวจารจำปาผู้หลานเป็นผู้รักษาเมืองรับราชการฉลองพระเดชพระคุณแทน พระภักดีณรงค์(สิน)ข้าหลวงเมืองอุบลได้อนุญาตตามความประสงค์ของพระรามนรินทร์ และได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ

มีนาคม บริษัทสยามบุรพทิศสิทธิการ ซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองอุบล ได้เปิดโรงจักรเลื่อยไม้ต่างๆ นายอ.จ.ยัยเป็นผู้จัดการ

พระเจริญพลรบ ผู้ว่าราชการเมืองสองคอนดอนดงถึงแก่กรรม

ราชวงศ์บุตรพระเจริญพลรบ ได้เป็นผู้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

พระภักดีณรงค์(สิน)ได้ให้หลวงเทพนรินทร์(วัน)ไปเป็นข้าหลวงช่วยนำหลวงคำนวนคัคณานต์(สี)ตรวจทำแผนที่เขตแขวงเมืองตะโปน

พระพิชัยชาญณรงค์ผู้ว่าราชการเมืองเกษมสิมา ขึ้นเมืองอุบลถึงแก่กรรม

ผู้รักษาเมืองกรมการเมืองกาฬสินธุ์มีบอกขอท้าวทองคำเป็นพระประทุมวิเศษ ผู้ว่าราชการเมือง ขอราชวงศ์เป็นอุปฮาด ขอท้าวแฮดเป็นราชวงศ์ ขอท้าวสีทะเป็นราชบุตรเมืองกันทรวิชัย ท้าวทองคำได้นำใบบอกลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวทองคำเป็นพระปทุมวิเศษ ผู้ว่าราชการเมืองกันทรวิชัย ส่วนตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรนั้น ก็ได้มีตราพระราชสีห์ตั้งให้ตามเมืองกาฬสินธุ์ขอ

เมืองแสนเมืองจันและกรมการเมืองสหัสขันธ์ มีบอกขอท้าวขำบุตรพระประชาชนบาล ผู้ว่าราชการเมืองสหัสขันธ์ ให้ท้าวขำนำใบบอกลงมา ณ กรุงเทพฯ ฝ่ายอุปฮาด(บัว)เมืองกมลาศัยทาบความดังนั้น จึงชิงมีใบบอกขอท้าวขัตติยวงศา บุตรพระราษฎรบริหาร(เกษ)ผู้ว่าราชการเมืองกมลาศัย เป็นพระประชาชนบาล ให้ท้าวขัตติยวงศารีบนำลงมายังพระราษฎรบริบาล(ทอง) ซึ่งเวลานั้นมามีคดีพักอยู่ ณ กรุงเทพฯ ถึงกรุงเทพฯก่อนท้าวขำ พระราษฎรจึงนำตัวท้าวขัตติยวงศาและใบบอกวางเวรนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ท้าวขัตติยวงศา เป็นพระประชาชนบาล ผู้ว่าราชการเมืองสหัสขันธ์ ขึ้นเมืองกมลาศัย

พระสุรพินทนิคมานุรักษ์ผู้ว่าราชการเมืองสุรพินทนิคม ซึ่งตามพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ลงมาพักอยู่ ณ กรุงเทพฯ ถึงแก่กรรม

ลุรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ พระบาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า กรุงสยามได้ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศมาช้านาน บ้านเมืองก็เดินขึ้นสู่ความเจริญเป็นอันดับ และบัดนี้ฝรั่งเศสปราบปรามได้เมืองทางเขมรและญวนตังเกี๋ย อยู่ในอำนาจฝรั่งเศสได้จัดการทะนุบำรุงเขตแดนใกล้ชิดติดต่อกับชายพระราชอาณาเขต ตั้งแต่ทิศใต้ไปทิศตะวันออกจนโอบถึงทิศเหนือ และฝ่างอังกฤษก้ได้จัดการเขตแดนพม่า ติดต่อเข้ามากับเขตแดนสยามทางฝ่ายทิศใต้และทิศตะวันตกโอบถึงยางแดงเงี้ยวเขิน เชียงตุง

เขตแขวงทั้งสามพระนครนี้ ก็ยังมิได้ตัดสินแบ่งปันให้เป็นที่ตกลงกัน ผู้คนเขมร ข่า ป่า ดง ญวน ลาว เงี้ยว ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมากรุงเทพมหานคร อันตั้งคฤหสถานอยู่ตามปลายพระราชอาณาเขต ก็สับสนปะปนกันกับคนที่อยู่นอกพระราชอาณาเขต อันรัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษได้จัดการทะนุบำรุงอยู่นั้น จำเป็นที่รัฐบาลสยาม กับฝรั่งเศส อังกฤษจะต้องปรึกษาหารือแบ่งปันเขตแขวงบ้านเมืองให้เป็นที่ตกลงกัน แต่หัวเมืองในพระราชอาณาเขตที่ได้แบ่งปันไว้โดยกำหนดแต่ก่อนนั้น ยังหาสมควรแก่กาลสมัยไม่ ควจจะจัดข้าหลวงที่ทรงคุณวุฒิปรีชาสามารถออกไปประจำรักษาพระราชอาณาเขต ซึ่งติดต่อกับหัวเมืองต่างประเทศ เพื่อจะได้ปรึกษากันด้วยเรื่องผู้คนเขตแขวง แจ้งยังรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ได้จัดราชการบ้านเมืองให้เป็นที่เรียบร้อย เพื่อรักษาทางพระราชไมตรีให้มีความเจริญยิ่งขึ้น และจะได้รักษาด่านทางปราบปรามโจรผู้ร้ายให้ราษฎรไพร่บ้านพลเมืองได้ทำมาหากินเลี้ยงชีพเป็นความสะดวก จะได้เป็นความสุขสมบูรณ์แก่ผู้คนภายนอกในพระราชอาณาเขต อันจะได้ไปมาค้าขายได้โดยสำเร็จสะดวกสืบไป

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่พร้อมด้วยข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ออกไปตั้งรักษาอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์กองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวกาว

ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือน ตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคายกองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน

ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ พร้อมด้วยข้าราชการทหารพลเรือนตั้งอยู่ ณ เมืองหลวงพระบางกองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงขาว (แต่กองนี้ภายหลังเปลี่ยนมาประจำเมืองนครราชสีมา หาได้ไปเมืองหลวงพระบางไม่)

และให้คงมีข้าหลวงประจำอยู่ ณ เมืองเชียงใหม่ตามเดิมกองหนึ่ง ให้เรียกว่า ข้าหลวงหัวเมืองลาวเฉียง

ให้เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงแตง เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร เมืองสาละวัน เมืองอัตปือ เมืองคำทองใหญ่ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม เมืองศรีสระเกศ เมืองอุบล เมืองยโสธร เมืองเขมราษฎร์ เมืองกมลาศัย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแล่นช้าง เมืองสุวรรณภูมิ เมืองร้อยเอ็ด เมืองมหาสารคาม เมืองใหญ่ ๒๑ เมือง ขึ้น ๔๓ เมือง อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวกาว

ให้เมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง เมืองบริคัณหนิคม เมืองโพนพิสัย เมืองนครพนม เมืองท่าอุเทน เมืองชัยบุรี เมืองสกลนคร เมืองมุกดาหาร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มศักดิ์ เมืองใหญ่ ๑๓ เมือง ขึ้น ๓๖ เมือง ให้อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงหัวเมืองลาวพวน

ให้เหมืองหลวงพระบางราชธานี และพวกสิบสองปันนา ลื้อสิบสองจุไทย หัวพันห้าทั้งหก หัวเมืองขึ้นในพระราชอาณาเขต อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงหัวเมืองลาวพุงขาว

ให้เมืองนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน เมืองน่าน เมืองแพร่ เมืองเถิน และเมืองขึ้น อยู่ในบังคับบัญชาข้าหลวงเมืองลาวเฉียง

ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวพุงขาวนั้นหาได้เสด็จไม่ ที่เมืองหลวงพระบางคงมีแต่พระยาฤทธิรงค์รณเฉท(ศุข) เป็นข้าหลวงประจำนครอยู่ตามเดิม

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์ เป็นข้าหลวงใหญ่ตั้งชำระพิจารณาโจรผู้ร้ายหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต ตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา

โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม)เป็นแม่กองตรวจจับผู้ร้าย ส่งถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ชำระตัดสิน

วันที่ ๑๖ เมษายน พระยาภักดีณรงค์ข้าหลวงได้เปิดโรงเรียนอุบลวาสิกสถานสอนหนังสือไทย ณ เมืองอุบล

วันที่ ๑๘ เมษายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้ท้าวพระศรีผู้รักษาเมืองอำนาจเจริญ เป็นพระอมรอำนาจผู้ว่าราชการเมืองอำนาจเจริญ ขึ้นเมืองเขมราษฎร์ พระราชทานถาดหมาดคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อโหมดเทศ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีน ๑

วันที่ ๒๑ เมษายน พระราชทานสัญญาบัตรให้ท้าวสัมพันธวงศ์ ผู้ช่วยเมืองเขมราษฎร์ เป็นราชวงศ์เมืองเขมราษฎร์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อโหมดเทศ ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าม่วงจีนผืน ๑

วันที่ ๔ มิถุนายน ขุนพิศาลยุทธการ(ปึก)ออกจากเมืองอุบลกลับกรุงเทพฯ

วันที่ ๑๓ กรกฎาคม หลวงสากลกิจประมวญ(เฉลิม) นายแถลงการวิธกิจ นายมานิตรัถยา ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ออกไปตรวจทำแผนที่หัวเมืองลาวกาวเสร็จราชการแล้ว ออกจากเมืองอุบลกลับกรุงเทพฯ

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม พระอริยกระวี(อ่อน)ซึ่งโปรดให้เป็นเจ้าคณะใหญ่ ณ เมืองอุบล ไปถึงเมืองอุบล พักอยู่ ณ วัดสีทอง

วันที่ ๘ สิงหาคม พระอมรดลใจ ผู้ว่าราชการเมืองตระการพืชผล เป็นโรคเรื้อรังถึงแก่กรรม อายุ ๖๖ ปี

วันที่ ๑๕ สิงหาคม หลวงคำนวนคัคณานต์ซึ่งตรวจแผนที่เสร็จราชการแล้ว ออกจากเมืองอุบลกลับกรุงเทพฯ

กันยายน จมื่นศักดิ์บริบาล ขุนรักษ์หิรัญ ไปเป็นข้าหลวงรักษาราชการอยู่ ณ เมืองเขมราษฎร์

วันที่ ๑๖ กันยายน พระขัตติยวงศา ผู้ว่าราชการเมืองร้อนเอ็ดเป็นไข้จับถึงแก่กรรม อายุ ๔๙ ปี อุปฮาดเป็นผู้รักษาเมืองร้อยเอ็ดต่อไป

บริษัทสยามบุรพสิทธิการ ณ เมืองอุบล ได้สร้างเรือกลไฟจักรท้าย ๒ จักร ชื่อบำรุงบุรพทิศลำหนึ่ง ยาว ๔๕ ฟิต ปากกว้าง ๑๑ ฟิต ชื่อพานิชพัฒนาลำหนึ่ง ยาว ๕๐ ฟิต ปากกว้าง ๑๒ ฟิต สำหรับเป็นเรือรับจ้างบรรทุกสินค้าและโดยสาร เดินในลำน้ำมูลระหว่างเมืองอุบลไปท่าช้างแขวงเมืองนครราชสีมา และเรือลำที่ชื่อบำรุงบุรพทิศได้ใช้จักรออกเดินไปนครราชสีมาในตุลาคมปีนี้

วันที่ ๑ ตุลาคม ข้าหลวงเมืองอุบลได้จัดให้นายร้อยตรีพึ่ง ๑ นายสิบเอก ๑ พลหมาย ๑๒ คน ไปเปลี่ยนนายร้อยตรีเจริญซึ่งรักษาด่านเมืองนอง

และให้นายร้อนตรีพรหม ๑ นายสิบเอก ๑ พลทหาร ๑ ไปเปลี่ยนนายร้อยตรีคล้ายรักษาด่านเมืองตะโปน

และให้ข้าหลวงผู้รักษาเมืองเขมราษฎร์จัดกรมการเขมราษฎร์ไปเปลี่ยนหลวงชำนาญท้าวพรหมบุตร รักษาด่านเมืองพิน ตามกำหนด ๖ เดือนเปลี่ยนกันครั้งหนึ่ง

วันที่ ๒๔ ตุลาคม ราชบุตรเมืองอุบล เป็นไข้จับถึงแก่กรรมอายุ ๕๐ ปี

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พระสุนทรราชวงศา ผู้ว่าราชการเมืองยโสธร ป่วยเป็นอุจาระธาตุถึงแก่กรรม อายุได้ ๕๔ ปี

มีตราลงวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน โปรดเกล้าฯให้ว่าที่นายพันโทพระยาเทพาธิบดี(อิ่ม)เมื่อยังเป็นหลวงจำนงยุทธกิจ ไปเปลี่ยนว่าที่นายพันตรี หลวงพิทักนรินทร์(ผึ้ง) ผู้บังคับการทหารหัวเมืองลาวกาว

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน มองซิเออร์กุนซองฝรั่งเศส กับไพร่ญวนเขมรรวม ๔๐ คน มาระเบิดศิลาที่แก่งลีผี และตัดต้นไม้ทำทางที่แก่งลีผีกว้าง ๒ วา ตั้งแต่เกาะพะแพง ถึงแก่กระแจเวียน ข้าหลวงเจ้าหน้าที่ฝ่ายสยามเห็นว่าม.ดิแซมาทำโดยมิได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม จึงได้ให้คนออกไปห้ามปราม ม.ดิแซก็กลับไป

วันที่ ๒๗ ธันวาคม องกายญวนถือหนังสือองภูเมืองลาดคำโลมาด่านห้วยสาร แจ้งต่อผู้รักษาด่านฝ่ายสยามว่าองกงทือฝรั่งเศสกับองภูจะมาด่านดีงเหลา แล้วจะให้พวกข่าและภูไทยตัดทางแต่ด่านดีงเหลาไปทางฝั่งโขงทางหนึ่ง ไปทางเมืองวังคำทางหนึ่ง

วันที่ ๙ มกราคม ฝรั่งเศสกับองคำผายกวนกู่ ขุนนางญวนเมืองกงชุน ให้นายพ่อจิ๋วญวนมาแจ้งต่อผู้ว่าราชการกรมการเมืองนองว่าให้ตัดทางกว้าง ๖ วา แต่เมืองนองถึงดีงเหลา ด้วยฝรั่งเศสและขุนนางญวนจะเข้ามาเมืองนอง เมืองตะโปน เมืองพิน ในเดือนมกราคม ร.ศ. ๑๑๐ ฝ่านนายร้อยตรีผึ้งข้าหลวงเมืองนอง จึงได้กำชับห้ามปรามมิให้เชื่อฟังถ้อยคำนายพ่อจิ๋ว เพราะเป็นที่ในพระราชอาณาเขต และมิได้มีตราสั่งอนุญาต

มกราคม พระภักดีณรงค์(สิน)ข้าหลวงเมืองอุบล พร้อมด้วยขุนหมื่นท้าวเพี้ยกรมการเมืองอุบล ได้ประชุมปรึกษาจะจัดพาหนะไปรับเสด็จ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว ซึ่งได้เสด็จออกจากกรุงเทพฯไปแต่วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๑๑๐ แล้วนั้น

พระภักดีณรงค์จึงให้นายแจ้งไปหยิบปืนโค๊ตปืนแฝดมาชำระสนิม เพื่อเอาไปราชการด้วย นายแจ้งเอาปืนโค๊ตมาส่งให้พระภักดีณรงค์ พระภักดีณรงค์รับมารูดเอาปัสตันออก ๓ นัดแล้ว แต่ปัสตันยังหาออกหมดไม่ พระภักดีณรงค์จึงเอาปืนวางไว้ที่โต๊ะเขียนหนังสือ ขณะนั้นปืนลั่นออกไปถูกคอเพี้ยชาเนตร(บุญศรี)กรมการเมืองอุบลถึงแก่กรรม พระภักดีณรงค์ได้จัดเงิน ๕ ชั่ง กับยกเงินที่คิดค้างเพี้ยชาเนตร(บุญศรี)ชั่ง ๕ ตำลึง รวมเป็น ๖ ชั่ง ๕ ตำลึง ให้แก่บุตรภรรยาเพี้ยชาเนตร และกำหนดจะให้เงินสำหรับเลี้ยงบุตรภรรยาเพี้ยชาเนตรอีกปีละ ๑๐ ตำลึงทุกปี
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:9:56:44 น.  

 
 
 
.......................................................................................................................................................

(ต่อ)


วันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๒ ร.ศ. ๑๑๐ ท้าวสุทธิสารเมืองมูลปาโมกข์ให้นายมั่นหมอ นายตาควาญ เมืองสีทันดรนำช้างต่อไปคล้องได้ช้างพลายสีประหลาด ๑ ช้าง สูง ๔ ศอก ที่ป่าแขวงข่าพะนองฝั่งโขงตะวันออก ขุนมหาวิชัย ข้าหลวงเมืองสีทันดรได้ไปรับช้างพลายสีประหลาดตัวนี้มาเลี้ยงรักษายังเมืองสีทันดร และมีบอกมายังข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์บอกมายังกรุงเทพฯ

วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พระเจ้ายน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว พร้อมด้วยพระยาประชากิจกรจักร(แช่ม)เมื่อยังเป็นพระประชาคดีกิจ ๑ พระทิพจักษุสาตรธำรงแพทย์ ๑ หลวงธนสารสุทธารักษ์(หว่าง) ๑ หลวงพิพิธสุนทร(อิน) ๑ ขุนราชพัดถุพิธภาร ๑ ขุนไผทไทยพิทักษ์(เกลื่อน) ๑ ขุนกัมพุชพาจา ๑ ล่าม ๑ นายร้อยตรีถมยา ๑ นายผาดหมากเล็ก ๑ หมื่นภาษามิลักขุล่าม ๑ กับเสมียนพนักงานขุนหมื่นคนใช้ ทั้งข้าราชการฝ่ายทหารรวม ๒๐๐ คนเศษไปถึงเมืองอุบล

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีร.ศ. ๑๑๐ นายร้อยตรีพลับซึ่งโปรดเกล้าฯให้ไปฝึกหัดทหารอยู่ ณ เมืองแสนปาง เสียจริตเอาปืนยิงตัวเองถึงแก่กรรม

กุมภาพันธ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้หลวงธนสารสุทธารักษ์(หว่าง) ขุนกัมพุชพาจาไปเป็นข้าหลวงรักษาราชการ ณ เมืองสุรินทร์

โปรดให้หลวงจำนงยุทธกิจ(อิ่ม) ขุนผไทไทยพิทักษ์(เกลื่อน)เป็นข้าหลวงอยู่เมืองศรีสระเกศ

ให้นายสุจินดา เป็นข้าหลวงเมืองกาฬสินธุ์

วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ มองซิเออร์ดาวิด มองซิเออร์สาดแซงฝรั่งเศส กับองบาง องกายขุนนางญวน คุมทหารญวน ๑๒ คน ไพร่ญวน ๔๐ มาที่ด่านห้วยสาร แจ้งต่อผู้รักษาด่านฝ่ายสยามว่า จะมาตรวจเมืองตะโปน เมืองผาบัง เมืองวังคำ และหัวเมืองตามริมฝั่งโขง ข้าหลวงผ๔รักษาด่านฝ่ายสยามจึงห้ามปราบไว้ ฝรั่งและญวนก็หยุดอยู่ที่ด่านห้วยสาร และแจ้งต่อผู้รักษาด่านฝ่ายสยามว่า จะจัดให้ทหารตั้งรักษาอยู่ด่านดีงเหลา อย่าให้คนฝ่ายสยามข้ามด่านออกไปเหมือนกัน แล้วฝรั่งเศสได้ปลูกโรงทหารและยุ้งฉางขึ้นที่ด่านคดีงเหลา และจัดให้ฝรั่งเศสได้ปลูกโรงทหารและยุ้งฉางขึ้นที่ด่านดีงเหลา และจัดให้ทหารผลัดเปลี่ยนกันมาอยู่รักษาโดยแข็งแรง

วันที่ ๒๔ กุมภาพัน มิสเตอร์แบ๊กเกตผู้ช่วงกงสุลอังกฤษ ซึ่งขอตราพระราชสีห์ไปเที่ยวตามหัวเมืองลาวกลาง ลาวพวน ลาวกาว ไปถึงเมืองอุบล พักอยู่ ๓ วัน ออกจากเมืองอุบลไปนครจำปาศักดิ์เพื่อกลับกรุงเทพฯทางไซ่ง่อน

มีนาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้ถอนนายร้อยตรีพรหม ข้าหลวงรักษาเมืองตะโปนกลับเมืองอุบล และโปรดให้นายร้อยตรีเจริญข้าหลวงรักษาเมืองพิน ไปเป็นข้าหลวงรักษาเมืองตะโปน ส่วนเมืองพินให้นายร้อยตรีเจริญมอบให้นายสิบรักษาราชการแทนไปพลาง

วันที่ ๓ มีนาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสด็จจากเมืองอุบลไปตรวจราชการ ณ นครจำปาศักดิ์ ได้โปรดให้ยกเลิกธรรมเนียมเกณฑ์เลี้ยงข้าหลวง และเข้าเวรรับใช้ข้าหลวง ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาแต่ครั้งพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)นั้นเสีย

วันที่ ๑๕ มีนาคม การสายโทรเลขแล้วเสร็จ ได้เสด็จไปทรงเปิดออฟฟิศโทรเลข ระหว่างนครจำปาศักดิ์ กับกรุงเทพฯ ใช้การกันได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

แล้วโปรดให้ขุนวิชัย ข้าหลวงเมืองสีทันดร คุมกำลังไปตั้งรักษาอยู่ ณ แก่งลีผี ให้ออกประกาศห้ามมิให้ผู้ใดตัดไม้และระเบิดแก่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลสยาม

และโปรดให้หลวงบุรินทามาตย์ข้าหลวงเมืองเชียงแตง ตรวจรักษาด่านลำโขง เพื่อมิให้ผู้ใดนำเครื่องระเบิด และกระสุนดินดำของต้องห้าม ข้ามด่านล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต แล้วพระองค์ได้เสด็จไปตรวจเมืองสีทันดรและแก่งลีผี แล้วเสด็จกลับมาประทับ ณ เมืองอุบลตามเดิม

พระวงศาสุรเดชผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์ถึงแก่กรรม ส่วนอุปฮาดไปรับราชการอยู่เมืองสีทันดร ท้าวสิทธิสารจึงได้เป็นผู้รักษาราชการเมืองมูลปาโมกข์ต่อไป

ขุนอาจหมอ นายโสควาญ นคนครจำปาศักดิ์ คล้องได้ช้างพลายสำคัญ ที่ภูมืดแขวงข่าระแด ๑ ช้าง ข้าหลวงได้รับมาเลี้ยงรักษาไว้ยังเมืองนครจำปาศักดิ์

พระอมรดลใจ ผู้ว่าราชการเมืองตระการพืชผลถึงแก่กรรม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ทรงตั้งให้ท้าวสิทธิกุมาร ว่าที่ราชวงศ์เมืองยโสธร

พระศรีสินธุสงคราม ผู้ว่าเมืองเสนางคนิคมถึงแก่กรรม โปรดให้ท้าวศรีเมืองบุตรพระสินธุสงครามซึ่งถึงแก่กรรม เป็นผู้รักษาเมืองเสนางคนิคมต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตร ให้ท้าวศิลาผู้รักษาเมืองเกษตรวิสัย เป็นพระศรีเกตราธิชัย ผู้ว่าราชการเมืองเกษตรวิสัย

หลวงพรหมภักดี(แสง)ยกกระบัตร ผู้รักษาเมืองเดชอุดมถึงแก่กรรม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้ท้าวโท ผู้รับราชการตำแหน่งปลัด เป็นผู้รักษาเมืองเดชอุดมต่อไป

ลุรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ ปีมะโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๕๔ วันที่ ๑ เมษายน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์ สมุหนายกซึ่งมีความชราทุพพลภาพ พ้นจากหน้าที่ตำแหน่งราชการกระทรวงมหาดไทย แต่คงดำรงเกียรติยศอยู่ในที่สมุหนายกตามเดิม และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกระทรวงธรรมการซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยต่อไป

วันนี้สิบตรีนายเฟื่อง กับทหาร ๓ นาย ซึ่งรักษาด่านบ้านหัวยสาร ไปเที่ยวหาซื้อสิ่งของรับประทานที่บ้างเฟือง มองซิเออร์สาดแซงยึดตัวไว้ทั้ง ๔ คน นายร้อยตรีคล้ายข้าหลวงเมืองตะโปนมีหนังสือไปถามยังม.สาดแซง ม.สาดแซงหาตอบไม่ ครั้นรุ่งขึ้นม.สาดแซงจึงปล่อยนายสิบตรีเฟื่องแลพพลทหาร ๓ นายกลับมา และสั่งความมาว่าอีก ๒ - ๓ วัน ม.แจงตนเกวียน ม.ดาวิด ฝรั่งเศสจะคุมทหารมาตรวจทางให้ถึงฝั่งโขง

มีตราโปรดเกล้าฯส่งประกาศชักภาษีสัตว์พาหนะ ซึ่งพ่อค้านำไปขายต่างประเทศ กำหนดให้ใช้ในหัวเมืองลาวกาวตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ปีนี้เป็นต้นไป คือโค ล่อ ลา ชักตัวละ ๒ บาท กระบือตัวละ ๓ บาท ม้าตัวละ ๔ บาท ช้างตัวละ ๓๐ บาท

ภาษีฝิ่นมณฑลลาวกาวปีนี้ มีพวกจีนกะประมูลกันแต่เพียง ๘๐ ชั่ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร จึงทรงจัดการหน้าที่ภาษีฝิ่นให้เป็นของรัฐบาลทำ โปรดให้พระยาราชเสนา(ทัด) พระพิศณุเทพ พระศรีพิทักษ์(หว่าง) เป็นเจ้าหน้าที่จัดการภาษีฝิ่น

วันที่ ๒ เมษายน หลวงสุเทพนุรักษ์ข้าหลวงเมืองแสนปาง ถึงแก่กรรม

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ทรงจัดให้พระประชาคดีกิจ(แช่ม) พร้อมด้วยหลวงสุนทรอุทัยพิทักษ์ นายร้อยโทคร้าม นายร้อยตรีถมยา เป็นข้าหลวงออกไปตรวจจัดราชการเมืองสีทันดร เชียงแตง แสนปาง อัตปือ สาละวัน คำทองใหญ่

อุปฮาด(ทะ)ผู้รักษาเมืองแสนปาง คบคิดใช้ให้เพี้ยเทพมหาจักร ท้าวอินทิสาร อ้ายพิลา ฆ่าเพี้ยนาใต้เมืองแสนปางซึ่งเป็นผู้กล่าวโทษอุปฮาด(ทะ) ตาย โปรดเกล้าฯให้ประหารชีวิตอ้ายทะ อุปฮาด และลงพระราชอาญาคนอื่นๆซึ่งสมรู้ร่วมคิดโดยโทษานุโทษ

ส่วนเมืองแสนปางโปรดให้ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองสีทันดรรักษาราชการแทน

โปรดเกล้าฯให้พระภักดีณรงค์(สิน) หลวงบริรักษ์รัษฎากร นายบรรหารภูมิสถิตย์ และนายเพิ่มพนักงานแผนที่ ออกไปตรวจจักราชการ ณ เมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน เมืองลำเนาหนองปรือ เมืองพ้อง เมืองพลาน เมืองสองคอนดอนดง

ให้นายสุจินดาเป็นข้าหลวงเมืองกาฬสินธ์ กมลาศัย ภูแล่นช้าง ตั้งอยู่ ณ เมืองกาฬสินธุ์

ให้นายรองชิตเป็นข้าหลวงเมืองมหาสารคาม ร้อยเอ็ด ตั้งอยู่ ณ เมืองมหาสารคาม

ให้พระศรีพิทักษ์(หว่าง)เป็นข้าหลวงเมืองขุขันธ์ สุรินทร์ สังฆะ ตั้งอยู่ ณ เมืองขุขันธ์

ให้หลวงเทเพนทรเทพ ตั้งชำระเรื่องคดีจับคนขาย และเป็นผู้จัดการด่านชั้นใน ตั้งอยู่ ณ เมืองสีทันดร

ให้หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)เป็นข้าหลวงเมืองคำทองใหญ่ สาละวัน

ให้หลวงเทพนรินทร์(วัน)เป็นข้าหลวงเมืองตะโปน

ให้พันพิศณุราช เป็นข้าหลวงเมืองอัตปือ

จมื่นศักดิ์บริบาล นายร้อยโทเล็ก เป็นข้าหลวงเมืองสุวรรณภูมิ

รัฐบาลฝรั่งเศสแจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า จะให้พ่อค้าฝรั่งเศสออกมาตั้งเป็นเอเย่นค้าขายอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง ๑ เมืองท่าอุเทน ๑ เมืองนครจำปาศักดิ์ ๑ เมืองเชียงแตง ๑ เมืองพระตะบอง ๑

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้ให้บอกประกาศห้ามมิให้เจ้าหมู่เก็บเงินส่วยแก่ตัวไพร่ โดยไม่มีกำหนดอัตรา และไม่มีประมาณ ไม่มีฎีกาใบเสร็จให้เป็นคู่มือแก่ผู้เสียเงิน เหมือนดังแต่ก่อน

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรโปรดให้ราชวงศ์ว่าที่อุปฮาด ให้ราชบุตรว่าที่ราชวงศ์ ให้ท้าวภักดีนุชิตว่าที่ราชบุตร ให้ท้าวคำว่าที่ผู้ช่วย เมืองแสนปาง

วันที่ ๒๗ พฤษภาคม มองซิเออร์กุศตาว ดอมเร มองซิเออร์กุนซอง มาถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ มองซิเออร์ลุกัง ซึ่งพักอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้พาไปหาพระพิศณุเทพข้าหลวง แจ้งว่า มองซิเออร์กุนซองนั้นเป็นพ่อค้า ได้นำสินค้ามาตั้งจำหน่ายอยู่ที่เมืองเชียงแตง แต่ส่วนม.ดอมเรนั้นจะตั้งจำหน่ายสินค้าอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์ ขอให้ข้าหลวงช่วยจัดที่พักไว้สินค้า ข้าหลวงจึงให้ม.ดอมเร ขนสินค้าไปพักไว้ที่ออฟฟิศโทรเลขเก่า แล้วม.ดอมเรก็ได้ทำสัญญาเช่าที่พัก ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ ต่อข้าหลวงและเจ้านครจำปาศักดิ์ สำหรับจำหน่ายสินค้า ให้ค่าเช่าเดือนละ ๓๐ บาทแต่นั้นมา

วันที่ ๙ มิถุนายน เป็นวันแรกที่เรือกลไฟรับคนโดยสารชื่อ พานิชพัฒนา ของบริษัทสยามบุรพทิศสิทธํการ ณ เมืองอุบล ได้ออกเดินจากท่าเมืองอุบลมาท่าช้างนครราชสีมามาวันนี้

วันที่ ๑๔ มิถุนายน ปรินส์คอนสะแตนไตน์ เวียเซมสะกี ชาติรัสเซีย กับคนใช้รัสเซีย ๒ ล่าม ๑ และมองซิเออร์กานอย มองซิเออร์เกนิเย ฝรั่งเศสและญวน ๘ รวม ๑๔ คน ถือหนังสือพระยาศรีสิงหเทพเดินทางเข้ามาทางด่านดีงเหลา ถึงด่านบ้านห้วยสาร หลวงเทพนรินทร์(วัน)ผู้รักษาด่านได้ต้อนรับตามสมควร แล้วปรินส์เวียเซมสะกีกับคนใช้ ๒ ล่าม ๑ ออกจากบ้านห้วยสาร เดินมาทางแขวงเมืองนอง เมืองพิน เมืองพ้อง เมืองสองคอนดอนดง เมืองคำทองใหญ่ ลงเรือที่เมืองคงล่อน้ำเซโดนน้ำโขง ไปถึงนครจำปาศักดิ์ วันที่ ๕ กรกฎาคม ครั้นวันที่ ๙ กรกฎาคม ออกจากนครจำปาศักดิ์ไปพนมเปญ และเมืองไซ่ง่อนและกลับมาพนมเปญ เดินบกมาเมืองนครเสียมราฐ นครวัด เมืองสุรินทร์ ถึงเมืองอุบลวันที่ ๑๓ กันยายน พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้จัดการรับรองโดยสมควรแก่พระอัธยาศัยไมตรี ครั้นวันที่ ๒๕ กันยายน ปรินส์เวียเซมสะกีออกจากเมืองอุบลไปทางนครราชสีมา แจ้งว่าจะมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ

อ้ายตังแกโบ ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ่อทองคำ ตำบลภูโงก ลำน้ำเซซาน แขวงเมืองแสนปาง กระทำการขัดแข็งอำนาจและจัดแข็งไม่ยอมเสียภาษีแก่เจ้าภาษีซึ่งรัฐบาลตั้ง และจับเจ้าพนักงานจองจำ แล้วตั้งตัวเองเป็นเจ้าภาษี เก็บเอาทองแก่ผู้ขุดร่อนได้เดือนละ ๒ หุนครึ่ง ถ้าผู้ไม่ได้ส่งก็เก็บเอาเหล็กคนละ ๔ ดวง คิดราคาเหล็กดวงตามที่ใช้สอยกันอยู่ในตำบลนั้น และเวลานั้น ๘,๙,๑๐ ดวงต่อบาท และตั้งศาลเตี้ยบังคับความจับกุม ราษฎรข่าลาวชาวบ้านมาชำระปรับไหมลงเอาเงินและจับขังจองจำโดยอำนาจพลการ และคุมพรรคพวกไปเที่ยวปล้นตีจับเอาไพร่ข่าไปแลกเปลี่ยนซื้อขาย และตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนกระทำโจรกรรมต่างๆ กำเริบขึ้นโดยลำดับ

จนเมื่อที่สุด ได้จับเจ้าพนักงานและทหารซึ่งออกไปรักษาด่านปากน้ำสระไทย แขวงเมืองแสนปาง และจับกรมการของเจ้านครจำปาศักดิ์ ซึ่งเจ้านครจำปาศักดิ์ใช้ให้ถือหนังสือออกมาตามตัวอ้ายตังแกโบจำไว้ จนความนั้นทราบถึงพระประชาคดีกิจ(แช่ม)ข้าหลวงผู้จัดราชการหัวเมืองฝ่ายใต้

ครั้นวันที่ ๒๐ มิถุนายน พระประชาจึงพร้อมด้วยหลวงสุนทรอุทัยพิทักษ์ นายร้อยโทคร้าม นายร้อยตรีถมยา และพระยาเมืองแพนจำปาศักดิ์ ราชวงศ์เมืองศรีทันดร ราชวงศ์เมืองเชียงแตง คุมทหาร ๓๘ คนจู่ไปจับอ้ายตังแกโบถึงที่อยู่อ้ายตังแกโบ

เวลานั้นอ้ายตังแกโบรู้ตัวออกหลบอยู่นอกบ้าน พระประชาพูดโดยดี อ้ายตังแกโบไม่รับผิด พระประชาจึงให้นายร้อยตรีถมยาจับอ้ายตังแกโบ แต่พอจับข้อมืออ้ายตังแกโบ ทันใดนั้นพรรคพวกอ้ายตังแกโบประมาณ ๘๐ คนเศษ ซึ่งซุ่มอยู่ก็ยิงพวกพระประชาจะแย่งชิงอ้ายตังแกโบ ฝ่ายพวกทหารกองจับต้องสู้รบยิงถูกพวกอ้ายตังแกโบตายคนหนึ่ง และจับเป็นได้ ๒๐ คน พร้อมทั้งเครื่องศาสตราวุธเป็นอันมาก

แล้วพระประชาได้บอกส่งอ้ายตังแกโบและพรรคพวกที่จับได้มาถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ข้าหลวงใหญ่ ณ เมืองอุบล พิจารณาได้ความจริงโปรดให้ตัดสิน(ประหารชีวิต)ตามโทษานุโทษ

กรมไปรษณีย์โทรเลขได้จัดให้มิสเตอร์โทมัสปาเมอร์ มิสเตอร์แมกสมูลเลอร์ มิสเตอร์วิลเลี่ยม ไปจัดตั้งไปรษณีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว คือเมืองเขมราษฎร์ เมืองอุบล เมืองพิบูลมังสารหาร ด่านปากมูล เมืองปาศักดิ์เก่า เมืองนครจำปาศักดิ์ เมืองเดชอุดม เมืองขุขันธ์ เมืองศรีสระเกศ เมืองสังฆะ เมืองสุรินทร์ เมืองสุวรรณภูมิไปต่อกับหัวเมืองในมณฑลลาวกลาง มากรุงเทพฯ กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้ง

หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ซึ่งเป็นข้าหลวงเมืองสาละวัน เมืองคำทองใหญ่นั้นป่วยเป็นไข้ป่า อาการถึงเสียจริต จึงโปรดให้กลับมารักษาตัวยังเมืองอุบล ครั้นมาถึงเมืองโขงเจียง หลวงพิทักษ์นรินทร์(ผึ้ง)ผูกคอถึงแก่กรรม

ส่วนเมืองสาละวันและเมืองคำทองใหญ่นั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ได้โปรดให้ขุนจงรักษ์ราชกิจ ไปเป็นข้าหลวงรักษาราชการต่อไป

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ท้าวขัตติยผู้รักษาเมืองเขมราษฎร์ป่วยเป็นโรคท้องร่วง ถึงแก่กรรม

วันที่ ๓ สิงหาคม ขุนมหาวิชัยข้าหลวงเมืองสีทันดร เป็นไข้จับถึงแก่กรรม

วันที่ ๒๖ สิงหาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ออกประทวนตั้งให้ผู้รักษาราชการเมืองพินเป็น พระยาเจริญศักดิ์สยามกิติ ให้ผู้รักษาเมืองตะโปนเป็น พระยาอนุรักษ์สยามรัฐ ให้ผู้รักษาเมืองนองเป็น พระยาประเสริฐสัตย์สยามภักดิ์

และให้ท้าวขัตติย ว่าที่ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์

กันยายน โปรดให้ร้อยตรีพรหม พระดุษฎีตุลกิจ(สง) นายสวนมหาดเล็กเป็นข้าหลวงรักษาราชการ ณ เมืองสุวรรณภูมิ

และให้หลวงพิพิธสุนทร(อิน)เป็นข้าหลวงเมืองเชียงแตง

ให้ร้อยโทนายเล็ก ๑ พระสุจริตรัฐการี กรมการเมืองอุบล ๑ เป็นข้าหลวงรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด

วันที่ ๓๑ ตุลาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรทรงออกประกาศให้ราษฎรในมณฑลลาวกาวทำสารกรมธรรม์ต่างๆ ด้วยกระดาษพิมพ์หลวง ถ้าใครไม่ทำสารกรมธรรม์ด้วยกระดาษพิมพ์หลวงภายหลังวันออกประกาศนี้แล้ว ห้ามมิให้ข้าหลวงผู้ว่าราชการกรมการรับพิจารณา

วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน มองซิเออร์มาซี ฝรั่งเศสมาจากเมืองหลวงพระบาง พักอยู่ดอนแบงเมืองสีทันดร เป็นไข้ถึงเสียจริตเอาปืนยิงตนตาย

ธันวาคม มองซิเออร์ดอมเร พ่อค้าฝรั่งเศสเมืองนครจำปาศักดิ์นำเอาสินค้ามาจำหน่ายที่เมืองอุบล

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ให้พระพิษณุเทพ ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ และเจ้าอุปราชนครจำปาศักดิ์ ราชวงศ์ผู้รักษาเมืองสีทันดร ท้าวสุทธิสารผู้รักษาเมืองมูลปาโมกข์และหมอควาญช้าง คุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณการและช้างพลายเผือกของเมืองนครจำปาศักดิ์ และช้างพลายสีประหลาดของเมืองสีทันดรมาถวาย ณ กรุงเทพฯ

ส่วนหน้าที่ข้าหลวงนครจำปาศักดิ์ โปรดให้ถอนขุนวิชิตพลทหารข้าหลวงเมืองเดชอุดม เมืองโดมประดิษฐ์ ไปเป็นข้าหลวงนครจำปาศักดิ์

และให้หลวงเทพนเรนทร์ไปเป็นข้าหลวงเมืองเดชอุดม เมืองโดมประดิษฐ์

พระพิศณุเทพ และเจ้าอุปราชมาถึงกรุงเทพฯ ประจวบเวลาทรงพระประชวร จึงโปรดเกล้าฯให้พักช้างสีประหลาดไว้ที่บ่อโพงกรุงเก่า ส่วนช้างเผือกนั้นเป็นเผือกเอก ได้เอาลงแพมาขึ้นโรงสมโภชที่เกาะ(ช้างเผือก) ณ พระราชวังบางปะอิน แต่ยังหาทันได้ขึ้นระวางไม่ ช้างนั้นล้มเสีย

และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์ช้างเผือกสยามชั้นที่ ๔ ภูษนาภรณ์ และเสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เงินเบี้ยเลี้ยง ๓ ชั่ง ๔ ตำลึง แก่เจ้าอุปราช

พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเงินเบี้ยเลี้ยง ๑๑ ตำลึง เสื้ออัดตลัดดอกสะเทิน ๑ แก่ราชวงศ์ผู้ว่าที่พระอภัยราชวงศา ผู้ว่าราชการเมืองสีทันดร

พระราชทานเงินเบี้ยเลี้ยง ๑๑ ตำลึง เสื้ออัดตลัดดอกสะเทิน ๑ แก่ท้าวสิทธิสารผู้ว่าที่พระวงศาสุรเดช ผู้ว่าราชการเมืองมูลปาโมกข์

พระราชทานหีบถมตะทอง ๑ แหวนทองคำมรกต ๑ แหวนทองคำไข่ปลา ๒ เสื้ออัดตลัด ๑ เสื้อจีนเจา ๒ แพรเพลาะต่างสี ๕ ผ้าลายอย่าง ๔ ผ้าส่านวิลาศ ๒ ผ้าแดงน้ำมัน ๑ ผ้าขาว ๑ กระโถนทองเหลือง ๑ ขันน้ำมีฝาพานรองชุบเงิน ๑ สำรับ กานวมทองเหลือง ๑ ล่วมเยียระบับ ๑ เสื่ออ่อน ๑ หมอนอิง ๑ ที่นอน ๑ มุ้ง ๑ หีบหนังใหญ่ ๑ หีบหนังเล็ก ๑ ชามข้าวมีฝาพานรอง ๑ โต๊ะเท้าช้างคาว ๑ หวาน ๑ เหล่านี้แก่ขุอาจหมอ นายหงส์ควาญ

และพระราชทานเงินตราให้แก่ขุนอาจหมอ ๕ ชั่ง นายหงส์ควาญ ๓ ชั่ง และนายมั่นหมอ ๒ ชั่ง นายตาควาญชั่ง ๑

และพระราชทานเสื้อผ้าแกท้าวเพี้ยกรมการ นอกนี้ตามสมควร

และโปรดเกล้าฯให้พระพิศณุเทพ รับราชการอยู่ ณ กรุงเทพฯ

มีนาคม พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร โปรดให้จมื่นวิชัยยุทธเดชาคนี(อิ่ม)เป็นข้าหลวงตรวจจัดราชการเมืองมหาสารคาม และสุวรรณภูมิ

และโปรดให้ท้าวธรรมว่าที่ราชบุตรเมืองกมลาศัย และทรงตั้งท้าวสุวอว่าที่ราชบุตรเมืองสองคอนดอนดง และให้ราชบุตรเมืองอัตปือ เป็นอุปฮาด ให้ท้าวสุริยมาตย์เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุรินทร์ชมภูเป็นราชบุตรเมืองอัตปือ

และโปรดให้ย้ายที่ว่าการเมืองชาณุมานมณฑลซึ่งไปตั้งอยู่ ณ บ้านกระดาน มาตั้งอยู่อยู่ ณ บ้านท่ายังขุให้ตรงตามกระแสตราพระราชสีห์ซึ่งโปรดเกล้าฯนั้น

พระกันทรานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองกันทรารมย์ ขึ้นเมืองสังฆะ ถึงแก่กรรม หลวงสุนทรพิทักษ์ผู้บุตรได้รักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ในปีนี้เมืองรัตนบุรีกล่าวโทษเมืองสุรินทร์ว่าแย่งชิงเขตแดน มีท้องตราโปรดเกล้าฯว่า เมื่อปีมะเมียจุลศักราช ๑๒๔๔ หลวงจินดานุรักษ์บุตรพระศรีนครชัย เจ้าเมืองรัตนบุรีคนเก่า กับขุนหมื่นตัวไพร่ ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านหนองสนม แขวงเมืองรัตนบุรีรวม ๕๐๐ คนเศษ ร้องสมัครไปขึ้นเมืองสุรินทร์ เมืองสุรินทร์ได้ร้องขอหักโอนคนเหล่านั้นตามท้องตราประกาศเดิม ซึ่งอนุญาตให้ได้อยู่ตามใจสมมัครนั้น และต่อมาเมืองสุรินทร์ไปขอตั้งบ้านหนองสนมเป็นเมืองสนม ขึ้นเมืองสุรินทร์ ได้มีตราถึงพระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)ซึ่งเป็นข้าหลวงลาวกาวอยู่ในเวลานั้นให้ไตร่สวนแล้ว พระยามหาอำมาตย์(หรุ่น)จะได้ไตร่สวนหรือประการใด ก็หาได้บอกมายังกรุงเทพฯไม่ การก็ติดอยู่เพียงนั้น และบ้านหนองสนมก็ยังมิได้โปรดให้ยกขึ้นเมืองสุรินทร์ เพราะฉะนั้นเขตบ้านหนองสนมเพียงเดิมก่อน แล้วจึงให้ข้าหลวงปันเขตแดนสุรินทร์กับรัตนบุรีให้ตกลงกันต่อไป และส่วนคนซึ่งอยู่ในเขตบ้านหนองสนมเท่าใด ก็ให้เป็นคนสังกัดขึ้นอยู่กับเมืองรัตนบุรีตามเดิม


....................................................................................................................................................



กำเนิดหัวเมืองในมณฑลอีสาน ตอนที่ ๒
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:9:58:55 น.  

 
 
 
โอ้ยาวดีแท้ อ่านไม่จบเลย ว่าง ๆ จะมาอ่านใหม่
 
 

โดย: maxpal วันที่: 25 มีนาคม 2550 เวลา:17:13:11 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ maxpal
ยินดีที่ได้ต้อบรับครับ
และหวังว่าจะได้ต้อนรับต่อไปเรื่อยๆ นะครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:8:04:51 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com