กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
จดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ ปีมะโรงสัมฤทธิศก




....................................................................................................................................................


จดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ
ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณไว้แต่เมื่อปีขาลอัฐศกว่า ในปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ จะมีสุริยุปราคาจับหมดดวงเมื่อเดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ ซึ่งยากนักที่จะได้เห็นในพระราชอาณาจักร ด้วยวิธีโหราศาสตร์ได้ทรงสะสมมานานตามสารัมภ์ไทยสารัมย์มอญ แต่ตำราอเมริกันฉบับเก่าและตำราอังกฤษเป็นหลายฉบับได้ทรงคำนวณสอบสวนต้องกัน ได้ทรงกะการตามในแผนที่ว่าจะมีเป็นแน่ ทวิปขิยอุดร องศา๑๑ ลิปดา๔๑ พิลิปดา๔๐ เป็นตะวันตกกรุงเทพพระมหานครเพียงลิปดา๕๐ เวลากับในกรุงเทพพระมหานครเพียง ๓ นาทีกับ ๒๐ วินาที ได้ทรงพิจารณาละเอียดถ้วนถี่แล้วว่าพระอาทิตย์จะจับหมดดวง และจะเห็นบนหน้าแผ่นดินไปไกลถึงลิปดา๑๓๐ ต่อ ลิปดา๑๔๐ ที่ตำบลหว้ากอแขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ตรงเกาะจานเข้าไปเป็นท่ามกลางที่มืดหมดดวง ขึ้นมาข้างบนถึงเมืองปราณบุรี ลงไปข้างใต้ถึงเมืองชุมพร

ได้ทราบการเป็นแน่ดังนี้แล้ว จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหกลาโหม ให้จัดการจ้างคนในหัวเมืองเพชรบุรี เมืองปราณบุรี เมืองประจวบคีรีขันธ์ เมืองกำเนิดนพคุณ เมืองประทิว และนายงานหลายงาน ให้จัดการทำค่ายหลวงและพลับพลาที่ประทับแรมที่ตำบลหว้ากอ ตรงเกาะจานเข้าไปใต้คลองวาฬลงไปทาง ๒๔ เส้น แล้วโปรดให้แต่งคำประกาศตีพิมพ์แจกให้ทราบทั่วกัน

ในครั้งนี้พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสได้ทราบว่าสุริยุปราคาจะมีในพระราชอาณาจักรแผ่นดินสยาม มีหนังสือมาถึงกงสุลฝรั่งเศสที่อยู่ในพระนครนี้ ให้กราบทูลขอพระราชทานอนุญาตที่จะเข้ามาดูสุริยุปราคา ก็โปรดพระราชทานตามประสงค์ พวกฝรั่งเศสมาเที่ยวค้นหาที่จะดูเป็นหลายตำบล ค้นลงไปถึงเมืองชุมพรก็ไม่ได้ตำบลซึ่งจะชี้ให้ตรงกึ่งทางกลางพระอาทิตย์ ครั้นเมื่อท่านสมุหพระกลาโหมกะการให้ตั้งทำที่ค่ายหลวงที่ตำบลหว้ากอตรงเกาะจานเข้าไป พวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสจึงขอตั้งโรงที่จะดูนั้นแห่งหนึ่ง ต่ำลงไปข้างใต้พลับพลาที่ค่ายหลวงทาง ๑๘ เส้น ตั้งเครื่องกล้องใหญ่น้อยหลายแห่ง ประมาณ ๕๐ คันเศษ

ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาที เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ออกจากท่านิเวศวรดิษฐ ใช้จักรไปถึงเมืองสมุทรปราการเวลาเที่ยงแล้ว ๑๕ นาที ทอดสมออยู่ ๓ ชั่วโมงเศษ เวลาบ่าย ๔ โมง ๑๕ นาทีใช้จักรออกจากที่ทอดสมอ แล้วข้ามสันดอนตกน้ำลึก ๓ วา เย้น ๕ โมง ๔๓ นาทีแล้ว ยิงสลุตรับ ๓ นัด เรือสยามูปสดัมภ์ก็ยิงรับ ๑๒ นัด จนถึงเวลา ๖ โมง ๑๒ นาที

รุ่งขึ้นวันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว ถึงเขาสามร้อยยอด ใช้จักรไปเวลา ๔ โมงเช้าถึงเกาะหลัก เวลาเที่ยงถึงที่ทอดสมอหน้าค่ายหลวงตำบลหว้ากอ ที่ตรงนั้นน้ำลึก ๘ ศอก อยู่ใต้คลองวาฬเหนือเกาะจาน แต่อากาศมืดคลุ้ม มีแต่เมฆคลุมไปทุกทิศทุกแห่งไม่เห็นแดดและเดือนดาวเลย พระอาทิตย์พระจันทร์เห็นบ้างรางๆบาทนาฬิกาหนึ่งบ้างกึ่งบาทบ้าง และที่ทอดเรือหน้าค่ายหลวงที่ตรงหน้าตำบลหว้ากอนั้นคลื่นใหญ่ เรือโคลงอยู่เสมอ เรือพระที่นั่งทอดสมออยู่ที่หน้าค่ายหลวงประมาณ ๖ ชั่วโมง ครั้นเวลาย่ำค่ำมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ถอยเรือพระที่นั่งกลับไปทอดประทับแรมอยู่ที่อ่าวมะนาว อันเป็นที่ลับบังลมไม่มีคลื่นใหญ่ เหนือที่พลับพลาไปทางประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ ทอดประทับแรมอยู่ ๒ วัน

ณ วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ เวลาเย็น เสด็จพระราชดำเนินขึ้นจากเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชขึ้นฝั่งทรงม้าพระที่นั่ง ตั้งแต่อ่าวมะนาวลงไปถึงพลับพลาค่ายหลวงตำบลหว้ากอเวลาย่ำค่ำ เรือพระที่นั่งก็ถอยลงทอดอยู่ที่หน้าค่ายหลวงห่างฝั่งประมาณ ๒๐ เส้นเศษ เรืออัคเรศรัตนาศน์ เรือสยามูปดัมภ์ และเรืออื่นๆก็ทอดล้อมวงอยู่ชั้นนอกพร้อมกัน

รุ่งขึ้น ณ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ได้พระฤกษ์ยกเสาธงและฉัตร ชักธงพระจอมเกล้าขึ้นที่พลับพลาค่ายหลวง รับสั่งให้ประโคม แล้วทรงจุดปืนใหญ่ด้วยพระหัตถ์ สลุตธงสลับกันกับทหารปืนใหญ่ฝ่ายละนัดครบ ๒๑ นัดทั้ง ๒ จข้าง ปืนเรือสยามูปดัมภ์ได้ยิงอีก ๒๑ นัด รวมเป็น ๖๓ นัด เวลาบ่าย ๑ โมงพวกนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาเฝ้าที่พลับพลา ๘ นาย พระราชทานทองคำบางสะพานทุกนาย

รุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๙ ค่ำ เวลาย่ำค่ำ พวกออฟิเซอร์ในเรือรบ ๑๒ นาย ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลา พระราชทานทองคำบางสะพานทุกนาย

ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ เวลาเช้า กัปตันนายเรือรบฝรั่งเศสขอเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ให้เสด็จไปเที่ยวในเรือรบ โปรดเกล้าฯให้พณหัวเจ้าท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ลงไปด้วย กัปตันจัดการรับเสด็จเหมือนอย่างรับกษัตริย์ในประเทศยุโรป มีทหารทอดกริบและยืนเพลา แล้วยิงปืนใหญ่รับ ๒๑ นัด ทหารประจุปืนปัสตันลุกขึ้นลากกระชากเอาแขนขาดตายคน ๑ ครั้นเวลาค่อนเที่ยงทรงวัดแดดสอบแผนที่ที่ตั้งค่ายหลวง ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงเศษ เสด็จพระราชดำเนินไปที่โรงนักปราชญ์ฝรั่งเศสมาตั้งอยู่ เวลาจวนค่ำเสด็จกลับ

ณ วันศุกร์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ มิตเตอร์อัลบาสเตอร์ผู้ว่าราชการแทนกงสุลอังกฤษขึ้นไปเฝ้าที่พลับพลา โปรดให้ยิงปืนรับ ๗ นัด

ณ วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาเช้า เรือเจ้าพระยามาถึงค่ายหลวง ได้ทรงรับหนังสือข่าวต่างๆหลายฉบับ กับของที่สั่งไปจัดซื้อมาแต่เมืองลอนดอนสำหรับแจกในการพระราชพิธีโสกันต์(๑)อีกมาก

ณ วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ เซอแฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์มาด้วยเรือกลไฟ ๓ ลำ ถึงหว้ากอเวลา ๓ โมงเช้า โปรดให้หลวงพิเศษพจนการ(๒)เป็นข้าหลวงไปเยือน

ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขึ้นมาเฝ้าที่พลับพลาค่ายหลวง โปรดให้ยิงปืนสลุตรับ ๑๑ นัด ให้พระราชทานทองคำบางสะพานตั้งแต่เจ้าเมืองสิงคโปร์และพวกออฟิเซอร์ที่ขึ้นมาเฝ้าทุกคน แล้วให้ไปอยู่ที่เรือนพักซึ่งทำไว้รับเขา

รุ่งขึ้น ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑ เวลา ๒ โมงเช้า เจ้าพนักงานเตรียมกล้องใหญ่น้อย เครื่องทรงทอดพระเนตรสุริยุปราคาเวลาเช้า ๔ โมง ๓ นาที เสด็จออกทรงกล้อง แต่ท้องฟ้าเป็นเมฆคลุมไปในด้านตะวันออกไม่เห็นอะไรเลย ต่อเวลา ๔ โมง ๑๖ นาที เมฆจึงจางสว่างออกไปเห็นดวงอาทิตย์ไรๆแลดูพอรู้ว่าจับแล้ว จึงประโคมเสด็จสรงมุรธาภิเษก ครั้นเวลา ๕ โมง ๒๐ นาทีแสงแดดอ่อนลงมา ท้องฟ้าตรงดวงพระอาทิตย์สว่างไม่มีเมฆเลย ที่อื่นแลเห็นดาวใหญ่ด้านตะวันตกและดาวอื่นๆมากหลายดวง เวลา ๕ โมง ๓๖ นาที ๒๐ วินาทีจับสิ้นดวง เวลานั้นมืดมากเป็นเหมือนกลางคืนเวลาพลบค่ำ คนที่นั่งใกล้ๆก็แลดูไม่รู้จักหน้ากัน พระราชทานเงินแจกพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งตามเสด็จพระราชดำเนินออกไปทั่วกัน

รุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๒ ค่ำ เวลาเช้า ๓ โมงเศษ เจ้าเมืองสิงคโปร์ขอถ่ายพระรูป แล้วโปรดให้มีละครข้างในให้พวกอังกฤษและฝรั่งเศสดู ให้พาภรรยาเจ้าเมืองสิงคโปร์เข้าไปข้างใน ได้พระราชทานทองและก๊าศ(๓) พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทุกพระองค์ เลวาบ่าย ๓ โมง ๑๕ นาที เสด็จลงเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช พวกทหารปืนใหญ่ยิงสลุตส่งเสด็จ ๒๑ นัด ทหารที่ยิงปืนปัสตันลุกขึ้นลากพุ่งออกมากระชากเอาแขนขาดไปข้างหนึ่งตายในที่นั้น เรือพระที่นั่งออกจากที่ทอดหน้าค่ายหลวงใช้จักรมากรุงเทพมหานคร


เรื่อง เซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์
ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามในรัชกาลก่อน
ที่ตำบลหัววาน เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๘
(ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑)


สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม (คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) พระองค์นี้ คนทั้งหลายย่อมทราบกันดีว่า พระองค์ทรงเชี่ยวชาญในวิทยาศาสตร์ ทรงใฝ่พระราชหฤทัยอย่างยิ่งในเรื่องสุริยุปราคาอันได้ทรงคำนวณไว้ว่าจะปรากฏขึ้นในวันที่ ๑๘ สิงหาคม และโดยที่เส้นศูนย์ของสุริยุปราคาจะผ่านมาใกล้ที่สุด ณ ตำบลหัววาน เป็นหมู่บ้านอยู่ในพระราชอาณาเขตสยาม ทางฝั่งตะวันออกของแหลมมลายูตรงเส้นวิตถันดร(แลตติดจูต) ๑๑ องศา ๓๘ ลิปดาทิศเหนือ และเส้นทีรฆันดร(ลองติดจูต) ๙๙ องศา ๓๙ ลิปดาทิศตะวันออก อยู่เกือบชิดเชิงเขาหลวงสูง ๔๒๓๖ ฟิต อันเป็นที่บนพื้นโลกซึ่งสุริยุปราคาจะปรากฏหมดดวงนานที่สุดด้วย

พระองค์ตั้งพระราชหฤทัยจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่นั้น และทรงเลือกสรรสถานที่ประทับในที่ใกล้แถบนั้น เพื่อทอดพระเนตรสิ่งอันจะได้ปรากฏขึ้นในโลกนี้ จึงเสด็จพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทมุขมาตยมนตรีโดยเสด็จเป็นพระราชบริพาร เสด็จพระราชดำเนินยังหัววานในต้นเดือนสิงหาคม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งที่ประทับ(ค่ายหลวง) ที่ริมฝั่งทะเลลงไปทางทิศใต้ ๒ - ๓ ไมล์ ตรงเส้นศูนย์แห่งวิถีดวงอาทิตย์ และทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้รัฐบาลฝรั่งเศสส่งพวกตรวจการวิทยาศาสตร์อันได้จัดส่งมาจากกรุงปารีสมาเฝ้าที่นั้น เพื่อดูสุริยุปราคาให้ใกล้ที่สุดและซึ่งสุริยุปราคาจะจับนานที่สุดด้วย

สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยาม ยังทรงพระกรุณาเอื้อเฟื้อแนะนำนายอัลบาสเตอร์ ผู้รั้งตำแหน่งกงสุลของพระนางเจ้ากรุงเกรตบริเตนประจำกรุงสยามว่า บางทีท่านเซอร์แฮรี ออด ผู้ว่าราชการสเตรทเซทเติลเมนต์จะรู้สึกเต็มใจถือเอาโอกาส ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในระหว่างที่ไม่สู้ห่างไกลจากเมืองสิงคโปร์นัก มาเฝ้าที่ตำบลหัววาน จะได้ดูสุริยุปราคาได้เหมาะที่สุด และกระทำความคุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการด้วย และยังทรงพระกรุณามีพระราชดำรัสเพิ่มเติมว่า มีพระราชประสงค์ใคร่ทรงพบปะเซอร์แฮรี ออด และจะทรงต้อนรับเพื่อให้ได้รับความสุขสมแก่เกียรติยศทุกอย่าง

ก็ในขณะนั้นมีเรื่องที่เซอร์แฮรี ออด จะต้องไปพบกับรายาเมืองปาหังและเมืองตรังกานูทางฝ่ายตะวันออกแหลมมลายูอยู่ด้วย ครั้นทราบว่าถ้ายืดระยะทางของตนยาวออกไปอีกหน่อยก็จะสามารถดูสุริยุปราคาได้ชัดเจน และได้เฝ้ากระทำความคุ้นเคยกับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน และพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการกรุงสยาม เซอร์แฮรี ออดจึงตอบไปยังกงสุลทันที ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าท่านรู้สึกเป็นเกียรติยศในการที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้เชิญนี้ยิ่งนัก จะขึ้นไปเฝ้าตามพระราชประสงค์

การที่เซอร์แฮรี ออดจะไปหัววานครั้งนี้ มีเวลาที่จะจัดเตรียมตรวจการวิทยาศาสตร์ ในสิ่งที่จะปรากฏขึ้นในโลกเนื่องด้วยสุริยุปราคานี้น้อยนัก ได้อาศัยความช่วยเหลือของนายพันตรีแมกแนร์ นายช่างประจำเมือง(โคโลเนียลอินชิเนีย) จึงจัดหาได้เครื่องมือต่างๆเท่าที่พอจะหาได้ โดยตั้งใจว่าจะไม่ให้เสียโอกาสที่จะใช้เครื่องมือเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์

ครั้นถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม เวลาค่ำ ท่านเจ้าเมืองลงเรือ "ไปโห" เป็นเรือราชการประจำหัวเมืองประเทศราช ออกจากเมืองสิงคโปร์พร้อมด้วยนายพันตรีแมกแนร์ กรมทหารปืนใหญ่หลวง นายร้อยเอกมอยเสย์ กรมทหารช่างหลวง นาย ห.ฟ.เปลา เลขานุการส่วนตัว และนายร้อยโท ช.ท.คัมมิน์ส นายทหาคนสนิท คุณหญิงออดได้ตามท่านเจ้าเมืองมาด้วย ตั้งแต่ออกจากเมืองสิงคโปร์มาแล้วไม่มีคลื่นลม นับว่าได้เดินทางมาสะดวก

ในคืนวันที่ ๑๕ สิงหาคม เรือกลไฟท่านเจ้าเมืองขึ้นไปถึงได้ทอดสมอใต้หัววานลงมาประมาณ ๔๕ ไมล์ เช้าวันรุ่งขึ้นจึงเลื่อนขึ้นไปที่ตำบลหัววาน พบเรือหลวง(ฝรั่งเศศ)สารถิ์ และเรือเฟรลอง เรือหลวงสยามอิมเพรกนะบล(ยงยศอโยชฌิยา) เรือสยามสับปอรเตอร์(สยามมูปสดัมภ์) เรือเจ้าพระยา(ลำนี้ไม่ใช่เรือหลวง เป็นเรือค้าขายของพระยาพิสณฑ์ เจ้าสัวยิ้ม) เรือพระที่นั่ง(อรรราชวรเดช) เรือปืนขนาดเล็ก และเรืออื่นๆอีกหลายลำ เรือหลวง(อังกฤษ)สเตลไลต์ ในบังคับบัญชาของนายนาวาเอกเอดีย์ และเรือกราสฮอปเปอร์ ในบังคับบัญชาของนายเรือเอกฟิลปอต ก็ได้มาถึงในเช้ารุ่งขึ้น นายนาวาเอกเอดีย์ ซึ่งเดินทางจะไปเมืองฮ่องกงได้รับคำชักชวนของท่านเจ้าเมือง จึงแปรทางมาประสงค์ให้มีเรือรบอังกฤษมาอยู่ด้วยในโอกาสนั้น เพื่อชักธงแสดงความยินดียิงสลุตตอบ

สถานที่ซึ่งสร้างไว้เป็นที่พักอาศัยเป็นที่อยู่ริมหาดตอนหนึ่งซึ่งเป็นที่ป่าไม้อยู่ก่อน มาแผ้วโก่นโค่นสร้างในคราวนี้ แล้วปลูกพลับพลาและทำเนียบเป็นอันมากสำหรับข้าราชการต่างๆ ในราชสำนักและแขกเมืองชาวยุโรปพักอาศัย สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินประทับในค่ายหลวง ตำหนักที่ประทับทำด้วยไม้ชั่วคราวเป็นตำหนัก ๓ ชั้น ด้วยธรรมเนียมไทยผู้มีศักดิ์ต่ำจะอยู่ในที่สูงกว่าไม่ได้ หรือในส่วนพระเจ้าแผ่นดินจะอยู่ในที่เสมอกันกับใครๆก็ไม่ได้ ทำเนียบแห่งอื่นปลูกเป็นเรือนชั้นเดียว แต่ยกพื้นในประดนสูงพ้นจากพื้นดินสัก ๓ ฟิตทุกหลัง ทำเนียบเหล่านี้สร้างด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกแทบทั้งหมด มุงด้วยจากบ้างใบตาลแห้งบ้างตามนิยมของประเทศ ทำเนียบหมู่หนึ่งก็มีรั้วทำด้วยกิ่งไม้อย่างเรียบร้อยล้อมรอบมิดชิดมิงไม่เห็น และในบริเวณหรือลานทำเนียบมีโรงที่สำหรับคนใช้และบริวารเป็นอันมาก

ท่านเจ้าเมืองกับคณะที่มาด้วย มีนายพันตรีแมกแนร์ นายร้อยเอกมอยเสย์ กรมทหาช่างหลวง นายร้อยโทคัมมิน์ส นายทหารคนสนิท นายนาวาเอกเอดีย์ นายเรือเอกออสโบน กับนายทหารราชนาวีอังกฤษอื่นๆอีกหลายนาย ขึ้นบกเวลาเช้าวันที่ ๑๗ นั้น มีทหารกองปืนใหญ่สนามซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มาจากกรุงเทพฯ ตั้งยิงสลุตรับนายอัลบาสเตอร์ ผู้รั้งกงสุลของพระนางเอ้ากรุงเกรตบริเตนประจำกรุงเทพฯ กับคณะพวกกงสุลและข้าราชการสยามบางคนก็พากันมาต้อนรับ พาไปยังที่พักของท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)) หรืออย่างที่เรียกกันว่าอัครมหาเสนาบดี ตามธรรมเนียมกันของชาวสยาม แขกเมืองต้องไปหาเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศก่อน ภายหลังจึงไปเยี่ยมอัครมหาเสนาบดี ถ้าผู้มียศศักดิ์เพียงพอกันก็จะได้นำขึ้นเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน แต่โดยเหตุที่เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ(พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมขุนวรจักร ฯลฯ)พักอยู่ห่างที่พักกลาโหมไปไกล และด้วยความเอื้อเฟื้อของท่านกลาโหม ท่านได้จัดการต้อนรับเซอร์แฮรี ออดเสียพร้อมกันทั้งสองท่านในเวลาเดียว ณ บ้านที่พักของท่านสมุหพระกลาโหม

ท่านกลาโหมผู้นี้มีอายุประมาณ ๕๕ ปี (ตาม ความจริง ๖๐ ปี) รูปทรงออกจะเตี้ย ดวงตาคมมีสง่า อุปนิสัยใจคอของท่านผู้นี้ เซอร์จอห์น เบาวริงได้พรรณนาไว้ในหนังสือเรื่องที่เซอร์จอห์น เบาวริงเป็นราชทูตมากรุงสยามเมื่อ (ค.ศ.) ๑๘๕๕ ซึ่งว่า

"อัธยาศัยในส่วนตัวของท่านอัครมหาเสนาบดีนั้นน่าชมมาก ท่านเป็นคนสำคัญที่สุดของคหบดีสกุลมหาศาลในพระราชอาณาจักร เป็นคนสำคัญที่ยกย่องพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ขึ้นครองราชสมบัติ ป้องกันความมุ่งหมายของพระราชบุตรในรัชกาลก่อนมิให้สำเร็จได้ จึงได้ทรงพระกรุณาตั้งแต่งให้เป็นอัครมหาเสนาบดี ท่านได้กล่าวกับข้าพเจ้าหลายหนว่า ถ้าทางดำเนินการของข้าพเจ้าเป็นไปเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้หลุดพ้นจากความกดขี่บีบคั้น และให้ปรเทศพ้นจากการผูกขาดปิดประตูค้าแล้ว ท่านจะร่วมมือทำการด้วยข้าพเจ้า และถ้าข้าพเจ้าทำการไปสำเร็จ ชื่อเสียงของข้าพเจ้าก็จักปรากฏไปตลอดยุคกาล ท่านได้แสดงข้อเสียหายต่างๆให้ข้าพเจ้าฟังมิได้ปกปิดอย่างไร และมักกล่าวด้วยวาจาไพเราะเฉียบขาด ถ้าท่านเป็นผู้มั่นคงต่อหน้าที่จริงแล้ว ท่านก็เป็นผู้ที่รักชาติอย่างเอก และมีปัญญาสว่างอย่างยิ่ง อันจะได้เคยพบปะในโลกภาคบูรพทิศนี้" คำของเซอร์จอห์น เบาวริงนี้จะกล่าวให้ถูกต้องยิ่งกว่าได้โดยยาก

ท่านกลาโหมได้รับตำแหน่งบริบูรณ์ล่วงมา ๑๓ ปี นับตั้งแต่เวลาที่เวอร์จอห์น เบาวริงได้เขียนเรื่องที่อ้างนี้ ก็ต้องถือว่าท่านเป็นผู้รักชาติอย่างสูงและเรืองปัญญา ท่านมีอำนาจสิทธิ์ขาดเพราะเป็นที่ถูกพระอัธยาศัยของพระเจ้าแผ่นดิน ไม่ทรงจัดสิ่งไรก่อนที่ท่านลงความเห็นพ้องด้วย ท่านก็ได้รักษาราชการบ้านเมืองอย่างพอดีพองามและด้วยความปรีชาสามารถ คอยเอาใจใส่ในเรื่องต่างๆทั้งสิ้นที่เป็นไปในประเทศอื่นๆโดยละเอียด ท่านเป็นผู้ผูกพันรักใคร่ชาวอังกฤษอย่างประจักษ์แจ้ง พูดภาษานั้นได้คล่องแคล่วมากมีกิริยามารยาทสุภาพ และตรงไปตรงมาในที่ออกความเห็นของท่าน และแสดงวิริยะยอดยิ่งในเรื่องทำกิจธุระของมหาชน

ท่านกลาโหมเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศออกมาต้อนรับท่านเจ้าเมืองกับพวกในคณะ ณ ปากทางจะเข้าไปบริเวณบ้านและนำเข้าไปในบ้าน จัดหาที่นั่งให้พวกที่มา เลี้ยงน้ำชาและเครื่องดื่ม ท่านเสนาบดีกับผู้ว่าราชการได้สนทนากันอยู่นาน ระหว่างนั้นตระเตรียมการที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จออกรับเจ้าเมืองกับพวกที่มาจากสิงคโปร์ มิสเตอร์อัลบาสเตอร์ ผู้แทนกงสุลเป็นผู้พูดภาษาไทยได้คล่องนั้นเป็นล่าม แต่โดยมากท่านกลาโหมตอบเซอร์แฮรี ออดโดยไม่ต้องให้นายอัลบาสเตอร์ช่วย เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศนั้นได้เข้าสนทนาด้วยน้อย เรื่องที่สนทนาหารือกันเลยไปถึงเรื่องอาวุธปืน ท่านกลาโหมนำเอาตัวอย่างปืนสไนเดอร์ ปืนมอนต์สตอม และปืนที่บรรจุท้ายอย่างใหม่อื่นๆออกมา แสดงให้เห็นว่าตัวท่านเป็นผู้ชำนาญในเรื่องกลไกของอาวุธเหล่านั้นได้ดี

ในตอนนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้สังเกตเห็นการถือธรรมเนียมอย่างเคร่งครัดของชาวสยาม ในเรื่องผู้ที่มียศต่ำกว่าจะยืนอยู่ต่อหน้าผู้ที่มียศสูงกว่าไม่ได้ เพราะผู้น้อยทั้งหมดนั่งหรือหมอบอยู่กับพื้น และคนใช้เมื่อถือถาดน้ำเครื่องดื่มเข้ามาเลี้ยง ต้องเขยิบเลื่อนไปบนพื้นด้วยเข่า(คลานเข่า) เป็นการแปลกอยู่ที่ได้เห็นกิริยาอาการของชาวสยามเปลี่ยนได้ทันที เมื่อเวลาอยู่ภายนอกยังไม่ทราบว่าท่านผู้ใดอยู่ข้างใน ก็เดินไปมากันตามสบาย แต่พอเห็นท่านกลาโหมเข้า พวกผู้น้อยก็ยอบตัวลงท่าคุกเข่าทันที ประสานมือไว้ตรงหน้าอกและก้มหน้าลงกับพื้น หมอบอยู่ตามบรรดาศักดิ์ของตนนิ่งอยู่ ต่อเมื่อท่านพูดด้วย จึงตอบด้วยความเคารพและกราบกรานเช่นเดียวกัน เเม้เมื่อจะออกไป โดยธรรมดาต้องลุกขึ้นเดินจะยืดตัวให้ตรงก็ไม่ได้ ต้องระวังตัวให้ยอบอยู่เสมอ

เมื่อเจ้าเมืองสิงคโปร์รออยู่สักหน่อย ก็ได้รับคำบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกคอยต้อนรับอยู่ แล้วพวกเราก็พากันไปยังพลับพลาอันเป็นพระราชวังชั่วคราว

ตรงปากทางจะเข้าไปในบริเวณพระราชฐาน มีกองทหารเกียรติยศเข้าแถวกระทำคำนับ และเมื่อเข้าไปในพระราชฐานมีเจ้าพนักงานผู้ใหญ่สองสามนายออกมารับ แล้วพร้อมกับด้วยท่านกลาโหมและเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศและในพวกคณะได้นำหน้าเราเข้าไปยังท้องพระโรง ห้องนี้เห็นจะยาวราว ๘๐ ฟิต และกว้าง ๓๐ ฟิต เป็นด้านตะวันออกของวัง(พลับพลา) มีพระทวารสองข้างกับทั้งมีพระทวารที่ตรงกลาง ทางด้านยาวซึ่งเป็นทางที่ได้นำเราเข้าไปอีกช่องหนึ่ง เมื่อเข้าไปข้างในเห็นท้องพระโรงทั้งหมดเต็มไปด้วย (ข้าราชการ) ชาวสยามหมอบอยู่กับพื้น มือ(ประสาน)ตรงไปทางพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเสด็จประทับอยู่บนพระเก้าอี้อันตั้งอยู่บนราชบัลลังก์ ยกขึ้นสูงจากพื้นราว ๓ ฟิต และใกล้ชิดกับพระทวารทางที่จะเขาไปข้างในของวัง(พลับพลา) ที่ยกพื้นกับรั้วลูกกรงทั้งเสาและผนังห้องท้องพระโรงดาดาด้วยผ้าสีแดง และทางเบื้องพระหัตถ์ขวาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน มีโต๊ะเล็กเต็มไปด้วยหีบทองและภาชนะบรรจุพระศรี พระโอสถ พระสุธารส และสิ่งเครื่องราชูปโภคต่างๆ ทางในระหว่างพระทวารหน้าและที่ประทับกันไว้เป็นช่องว่างสำหรับแขกเมืองเฝ้า และสองข้างช่องนี้ในระยะประมาณครึ่งทาง ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่ทั้งสองท่านหมอบเฝ้าอยู่ ตามแบบประเพณีของพระราชฐานตำแหน่งที่เฝ้าของแขกเมืองอยู่ในแถวระหว่างข้าราชการเหล่านี้ เพราะไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินยิ่งไปกว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของพระองค์

ด้วยประเพณีเป็นฉะนี้ พวกเราจึงหยุดอยู่ที่นั้น แต่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดกวักพระหัตถ์ทันที ให้เซอร์แฮรี ออดเข้าไปเฝ้าถึงที่ประทับ และเมื่อพระราชทานพระราชหัตถ์มาสัมผัสแล้ว รับสั่งให้พวกของเซอร์แฮรี ออดเข้าเฝ้าถวายตัวต่อไป เจ้าพนักงานผู้หนึ่งเรียกว่าสนองพระโอษฐ์ของพระเจ้าแผ่นดินก็ดำเนินเรื่องกราบทูลเบิกด้วยเสียงดัง ถึงเรื่องราวและความประสงค์ของผู้ว่าราชการที่มาเฝ้า แต่ต่อมาสักครู่ พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งว่าพอแล้ว และตรัสเป็นภาษาอังกฤษว่าพระองค์ทรงพอพระราชหฤทัยที่ได้ทรงต้อนรับผู้ว่าราชการเมืองสิงคโปร์ และรับสั่งถึงทางพระราชไมตรีอันมีอยู่อย่างสนิทสนมในระหว่างประเทศของพระองค์และประเทศเกรตบริเตน และมีพระราชหฤทัยหวังว่าพระราชไมตรีนี้คงถาวรอยู่สืบไป

เมื่อจบกระแสพระราชดำรัสแล้ว พระเจ้าแผ่นดินเสด็จลงจากพระที่นั่ง ประทับยังพระที่อีกแห่งหนึ่ง(คือ เกย) ซึ่งยกขึ้นไว้นอกพระราชสถานหน้าพระทวารทางเข้า ทรงพระกรุณาโปรดให้ช่างถ่ยรูปที่เราพามาด้วยทั้งกล้องถ่ายรูป ครั้นเสร็จการเฝ้าฯแล้ว เมื่อจะกราบบังคมทูลลามา ก็มีพิธีอย่างเดียวกันกับเมื่อเข้าเฝ้าฯ แล้วพระเจ้าแผ่นดินทรงแสดงพระราชประสงค์จะให้ท่านผู้ว่าราชการเข้าเฝ้าเป็นพิเศษในตอนเย็นวันนั้นด้วย

ครั้นเฝ้าแล้ว เราก็กลับมายังทำเนียบซึ่งได้จัดเตรียมไว้สำหรับพวกเราพัก ได้พบคุณหญิงออกและนายเปลา ซึ่งขึ้นบกมาภายหลังเราในเวลาไม่ช้านัก คอยอยู่ที่ทำเนียบแล้ว ทำเนียบที่พักนี้ยาวประมาณ ๑๔๐ ฟิต และกว้าง ๕๐ ฟิต เป็น ๒ หลังโดด หลังใหญ่มีห้องโถงอยู่กับพื้น อาจจุคนในเวลาเลี้ยงกันได้ ๔๐ หรือ ๕๐ คน และสองข้างยกพื้นขึ้นสูงประมาณ ๓ ฟิต ทำเป็นห้องเล็กๆเป็นแถว เบ็ดเสร็จด้วยกัน ๑๒ ห้อง สำหรับเป็นที่พักอาศัยของพวกผู้ว่าราชการ มุมสุดเป็นสถานที่เล็กๆหลังหนึ่ง มีห้องนอน ๒ ห้อง และห้องแต่งตัว ๒ ห้อง มีระเบียงเป็นห้องนั่งเล่นสำหรับรับแขกเมืองได้สบาย เรือนตอนนี้ตีฝาและยกพื้นด้วยไม้จริง นอกนั้นทำด้วยไม่ไผ่ซีกทั้งสิ้น

เมื่อผู้ว่าราชการมาถึง พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ข้าราชการสยามกับนายเล่าพ่อยิ้ม(ที่จริงเป็นคนเดียวกัน) ซึ่งรับหน้าที่จัดอาหารเลี้ยงแขกเมืองมาคอยรับรองและแจ้งให้ท่านเจ้าเมืองทราบว่า ถ้าต้องการโต๊ะสำหรับเลี้ยงมากน้อยกี่คนสุดแล้วแต่จะเชิญมา จะได้จัดหามาให้ตามเวลาที่กำหนดไว้ และแสดงความหวังว่าคงไม่มีอะไรขาดเหลือในการปฏิบัติ เพื่อให้ท่านเจ้าเมืองและพวกได้รับความสบาย แล้วนำเอาพ่อครัวฝรั่งเศสเข้ามาให้รู้จัก พร้อมด้วยชาวอิตาลีหนึ่งและลูกมือชาวเมืองอีกหลายคน ซึ่งได้รับคำสั่งให้คอยระวังปฏิบัติความประสงค์ทุกอย่างของพวกแขกเมืองที่มา และการเลี้ยงดูได้จัดหามาเลี้ยงอย่างฟุ่มเฟือยบริบูรณ์ บรรดาของอร่อยที่อาจจะหามาถึงแถบประเทศแถวนี้ก็ได้พยายามสืบเสาะหามาจากเมืองสิงคโปร์และกรุงเทพฯ และการทำกับข้าวก็ทำอย่างปราณีต มีทั้งเหล้าและน้ำองุ่นต่างๆ น้ำแข็งก็บริบูรณ์ อาจจะกล่าวได้ว่าไม่มีอะไรที่ต้องการอีก นายนาวาเอกเอดีย์ กับนายทหารเรืออีกหลายนาย นายอัลบาสเตอร์ และนางอัลบาสเตอร์ นางแคมบ์เบลภรรยาหมอในสถานกงสุลกับทั้งพวกคณะกงสุลก้ได้มาเข้าพวกด้วยอย่างสนิทสนมกับพวกเรา แท้จริงพวกที่มาไม่มีใครได้นึกคาดว่าจะได้พบที่พักอาศัยอันอุดมเช่นนี้ในป่าแห่งประเทศสยามเลย

วันที่ล่วงไปวันนั้นเป็นเวลาจัดเตรียมการที่จะดูสุริยุปราคาในวันรุ่งขึ้น และท่านเจ้าเมืองได้รับเยี่ยมจากท่านกลาโหม และข้าราชการสยามผู้ใหญ่ในแผ่นดิน ในวันนั้นเมื่อเวลาค่ำประมาณ ๙ ล.ท.(๒๑.๐๐ น.) ท่านเจ้าเมืองกับพวกที่มาด้วยทั้งชายหญิงทั้งหมดได้รับเชิญให้ไปที่ค่ายหลวง เมื่อไปถึงตรงทางที่จะเข้าไปในท้องพระโรง พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดเสด็จออกมาทรงต้อนรับ และทรงพาเข้าไปในพระห้องรโหฐานแห่งหนึ่ง ทรงแนะนำให้รู้จักกับข้าราชการฝ่ายในและพระองค์เจ้าหญิงซึ่งยังทรงพระเยาว์

ในขณะนี้สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินไม่มีพระมเหสี พระมเหสีพระองค์ก่อนได้สิ้นพระชนม์เสีย เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๒ และแม้พระเจ้าแผ่นดินจะมีบาทบริจาริกาเป็นอันมาก ก็ยังไม่มีใครที่ได้ยกย่องตั้งขึ้นในตำแหน่งพระมเหสี ส่วนพระราชกุมารที่ทรงพระชนมพรรษาแก่กว่าทั้งหมด ๔ พระองค์ คือพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้ายิ่งเยาว์ลักษณ์ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าทักษิณชา และพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี มีพระชนมายุในราว ๑๖ พรรษาทุกพระองค์ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มีพระชนมายุราว ๑๕ พรรษา ย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่า พระองค์นี้จักได้เป็นผู้สืบราชสมบัติ ด้วยเวลานี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒

แต่ก็ยังไม่แน่ทีเดียวว่าเป็นเช่นนั้น เพราะในกรุงสยามแม้จะถือกันว่าพระราชโอรสผู้เป็นมกุฎราชกุมาร เป็นทายาทที่จะสืบพระราชวงศ์ก็ดี แต่ใช่ว่าตำแหน่งจักตกแก่พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เสมอไปหามิได้ พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะทรงเลือกตั้งแต่งใครเป็นรัชทายาทของพระองค์ก็ได้ ถึงกระนั้นที่พระองค์จักทรงกระทำไปโดยขัดต่อความนิยมของข้าราชการผู้เป็นมุขมนตรีก็ไม่ได้ มีตัวอย่างเช่นครั้งพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลที่ล่วงแล้วมา (หมายว่ารัชกาลที่ ๓) มีพระราชประสงค์จะให้พระราชบุตรของพระองค์เป็นผู้รับราชสมบัติ แต่พวกสกุลใหญ่ของท่านผู้สำเร็จราชการแผ่นดินทั้ง ๒ (คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ) ได้ขัดต่อการที่จะทรงตั้งแต่งนั้น และพระเจ้าแผ่นดินปัจจุบันนี้ อันเป็นรัชทายาทแท้ของพระราชบิดาของพระองค์ก็ได้ (ขึ้นรับราชสมบัติ) แทนที่ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนได้ทรงมุ่งหมายไว้ โดยมิได้เกิดจลาจลอย่างไร

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เป็นพระราชกุมารที่ทรงพระปัญญาเฉลียวฉลาดยิ่งนัก พระรูปทรงสูงและท่วงทีกล้าหาญเกินแก่พระชนมายุ ส่วนพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิง ๓ พระองค์ที่มีพระชนมายุสูงกว่าก็ทรงพระโฉมศุภลักษณ์ เสียแต่เสวยหมาก ถ้าไม่ย้อมพระทนต์(ให้ดำ)ตามธรรมเนียมของชาวสยามแล้วต้องชม ว่าเป็นสตรีที่ทรงกัลยาณีเลิศลักษณ์ทีเดียว พระกิริยามารยาทก็น่าชมและตรัสภาษาอังกฤษได้ทุกพระองค์ เพราะพระเจ้าแผ่นดินทรงจัดหาพระพี่เลี้ยงเป็นชาวอังกฤษไว้

เมื่อได้ทรงแนะนำให้ท่านเจ้าเมืองกับพวกผู้หญิงรู้จักกับฝ่ายในแล้ว โปรดให้พวกเรานั้งลงรอบโต๊ะที่กลางห้อง พระราชทานเลี้ยงน้ำชากาแฟและขนมหวาน เมื่ออยู่ได้สักพักครึ่งนาฬิกาพวกเราก็ลงจากห้อง (ซึ่งอยู่บนชั้นสูงของวังพลับพลา) กลับออกมายังท้องพระโรงซึ่งมีการเต็มรำ(ระบำ) วิธีออกจะคล้ายคลึงกับเต้นรำนัจ(นฤตย์)ในอินเดีย ผู้เต้นรำเป็นสตรีรุ่นๆของหลวงหลายคนแต่งตัวอย่างวิจิตร และได้รับความฝึกฝนพิเศษสำหรับการนี้ ดนตรีของใช้เครื่องของสยาม มีขลุ่ยกลองกระจับปี่ชนิดหนึ่งอย่างกระจับปีคีตา (เห็นจะเป็นจะเข้) และเครื่องดนตรีทำด้วยไม้แผ่นๆแบนๆตีด้วยไม้เป็นปุ่มเสียงดังฟังเพราะดี(ระนาด) ประมาณ ๑๑ ล.ท.(๒๓.๐๐ น.) พระเจ้าแผ่นดินทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานโอกาสให้พวกเรากราบบังคมลากลับมา

รุ่งเช้าวันที่ ๑๘ สิงหาคม เป็นวันที่จะมีสุริยุปราคา แต่ถ้ามีปรากฏเป็นก้อนหนามาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นอย่างนี้เรื่อยมาไม่ขาดจน ๙ นาฬิกา ก็มีฝนตกลงมาประปราย ดวงอาทิตย์ซึ่งขึ้นอยู่ถึงเวลานี้พยับมัวทีเดียว และอากาศก็ออกจะปรวยแปรมาก จนนึกกันว่ามีความหวังน้อย ในที่อากาศอาจจะเปลี่ยนไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้ก่อนเที่ยง

แต่อย่างไรก็ดี ล่วงมาประมาณนาฬิกา ๑ ก็มีลมพัดมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้แรงขึ้น ถึงเวลา ๑๐ นาฬิกา ๕ นาที สังเกตเห็นเมฆเกลื่อนออกจากกันทีละน้อยๆไปทางด้านตะวันตก ต่อมาไม่ช้าอากาศทางด้านนั้นเริ่มแจ่มกระจ่างขึ้น และถึงเวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๕ นาที ดวงอาทิตย์ซึ่งแต่แรกบดบังหมดดวงก็สว่างจ้า แต่ขณะนั้นสุริยุปราคาจับขอบทางตะวันตกไปเกือบส่วนหนึ่งของขนาดกว้างแห่งดวงอาทิตย์แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถจะจดเวลาแท้ที่สุริยุปราคาเริ่มจับ ซึ่งคาดไว้ว่าจะจับในเวลา ๑๐ นาฬิกา ๔ นาที อากาศแต่นั้นมาค่อยปรกติ เมฆที่ลงมาต่ำหรือเมฆฝน(นิมบัส)ก็สูญหายไปหมด และอากาศตอนส่วนสูงสุดในท้องฟ้าก็แจ่มสว่าง แต่เห็นเมฆบางตอนที่เหนือขอบฟ้าขึ้นมา ๓๐ องศา เป็นชนิดมีสัณฐานปุยยาวและเป็นก้อนโต(เฟอร์รูสกุมุลัส) เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นเป็นที่พอใจ ว่าอย่างน้อยอากาศคงจะแจ่มอยู่อีกนาน

เครื่องมือที่พวกเราพอจะหาเอามาได้ คือกล้องส่องดูไกลชนิดของคัลแคน มีปากช่องกว่า ๔ ๓/๔ นิ้วหนึ่งกล้อง กล้องส่องดูไกลที่ฉายกลับมีปากช่องกล้อง ๓ ๑/๔ นิ้ว กับมีแรงฉายดูได้ไกลกว้างขวางหนึ่งกล้อง เคครื่องกำหนดความหนักเบาของอากาศ(พาโรเมตร)สำหรับเขาอย่างประณีตหนึ่งเครื่อง เครื่องอันนิรอยด์พาโรเมตรอย่างดีที่สุด ๒ เครื่อง เครื่องวัดความหนาวร้อนขนาดต่างๆกัน ๓ เครื่อง และนาฬิกาอย่างเดินเที่ยงตรง ๑ เรือน

หน้าที่ซึ่งกะให้ในคณะส่วนฝ่ายอังกฤษ คือ นายพันตรีแมกแนร์ กรมทหารปืนใหญ่หลวงเป็นผู้ตรวจดูผลของสุริยุปราคาในเวลาใกล้จะหมดดวง หรือถ้าสามารถก็ให้สาวหาสิ่งที่ปรากฏขึ้นในท้องฟ้า ตามที่เรียกว่า "เบลลีเบกส" จะมีหรือไม่ และให้พรรณนาเรื่องสำหรับคราวประชุมของสมาคมดาราศาสตร์ นายร้อยเอกมอยเสย์ กรมทหารช่างหลวงมีหน้าที่สำหรับจดเวลาและหน้าที่กะวัดด้วยเครื่องวัดอากาศตลอดเวลาสุริยุปราคา ท่านเจ้าเมืองเองส่องกล้องดูไกลสองตา ตรวจดูสัณฐานและตำแหน่งของรัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาจากดวงอาทิตย์อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจเห็นด้วยตาได้ และเวลาที่ปรากฏเห็น ส่วนพวกในคณะนอกนั้นรับธุระสังเกตดูผลต่างๆ อันจักปรากฏขึ้นเนื่องด้วยสุริยุปราคาในทางอากาศ ทางทะเล และประเทศที่ใกล้เคียง

โอกาสครั้งแรกที่สุดที่ได้กำหนด คือสังเกตจุดดำในดวงอาทิตย์ซึ่งได้สังเกตเห็นในเวลา ๑๐ นาฬิกา ๔๕ นาที ดังแสดงไว้ในแผนที่แล้ว การกะจดเครื่องวัดอากาศซึ่งได้เริ่มจดเป็นระยะละ ๑ ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ขึ้น ก็ได้จดทุกๆชั่ว ๑๐ นาที ตั้งแต่เวลาสุริยุปราคาจับครั้งแรก กับได้ตกลงไว้ก่อนหน้ากับหมอลองฟิล์ด ประจำ ร.ร.ล. "เสตลไลต์" ให้เป็นผู้จดขนาดความหนาวร้อนของอากาศน้ำทะเลตลอดเวลาสุริยุปราคา

เพลา ๑๐ นาฬิกา ๑๐ นาที หรือก่อนสุริยุปราคาจะจับหมดดวง ๒๐ นาที สังเกตเห็นได้ชัดเจนมากถึงความเปลี่ยนแปลงแห่งสีท้องฟ้าในด้านทิศใต้ ซึ่งเดิมเป็นสีน้ำเงินใส ได้เปลี่ยนเป็นสีม่วงแก่แล้วแปรเป็นสีตะกั่วแก่ และมีเมฆชนิดมีสันฐานเป็นก้อนใหญ่ ซึ่งแตกออกจากกันหลายก้อนในทางนั้น ลอยเด่นอยู่ข้างยน ต่อมาสักครู่ขณะเงามืดของดวงจันทร์ค่อยบดบังดวงอาทิตย์หรือในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๐ นาที ท้องฟ้าทั้งหมดก็ดำคล้ำลงและวัตถุต่างๆซึ่งอยู่ไกลก็ปรากฏรูปมัวลง ทะเลก็เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงแก่ แลละเรือกำปั่นซึ่งทอดอยู่ห่างจากฝั่งในระยะ ๓ ไมล์ก็เห็นไม่ชัด เครื่องวัดอากาศในบัดนี้ลดลงได้ ๖ องศาจากขนาดความหนาวร้อนของอากาศ รู้สึกเย็นอย่างประจักษ์ด้วยกันทุกคน เวลา ๑๑ นาฬิกา ๒๕ นาที มีความมืดจัด วัตถุที่อยู่บนบกแต่ไกลแทบสังเกตไม่ได้ ต้นไม้ในที่ใกล้บ้านก็มืดเป็นก้อนดำ ดวงดาวก็ปรากฏขึ้นทางสูงสุดของขอบฟ้าทางโน้นทางนี้ เรือกำปั่นในทะเลก็หายไปมองไม่เห็น ในเวลาดวงอาทิตย์มืดหมดซึ่งปรากฏในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๐ นาที มีความมืดมากจนรูปหน้าคนซึ่งอยู่ในระยะ ๒ - ๓ ฟิตก็สังเกตไม่ได้ และการคาดคะเนระยะทางว่าใกล้ไกลเพียงไรก็ดูเหมือนหมดไปด้วย เครื่องวัดอากาศก็มองดูไม่เห็น นอกจากมีแสงไฟส่องให้ใกล้ ท้องฟ้ามีดาวพราวเหมือนในเวลาสนธยาอย่างจัดแห่งจารีต

นายพันตรีแมกแนร์ ได้คอยสังเกตอย่างละเอียด ดูขอบพระจันทร์ค่อยล้ำเข้าในมณฑลดวงอาทิตย์จนมืดหมดดวง และไม่สังเกตเห็นว่าดวงจันทร์หรือขอบดวงอาทิตย์จะหลุดเลื่อมออกเป็นดวงสว่างเล็กๆอย่างที่นายเบลลีได้พรรณนาไว้ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒๘ นาที ๓๐ วินาที นายพันเอกแมกแนร์ ได้เห็นรัศมีเป็นลำพุ่งออกมาจากขอบดวงจันทร์ ๒ แห่งเข้าไปยังขอบดวงอาทิตย์อย่างชัดดังได้แสดงไว้ในแผนที่ แต่รัศมีเป็นลำพุ่งออกมานี้ปรากฏอยู่ไม่นานกว่า ๒ หรือ ๓ วินาที แสงอาทิตย์ซึ่งเป็นรูปแหว่งแคบๆเล็กๆก็เห็นเป็นเส้นเดียวตลอดเรื่อยไป จนแสงสว่างของดวงอาทิตย์ครั้งหลังที่สุดได้หมดแล้ว

การสังเกตในตอนนี้ อย่างที่ได้ตกลงกันมาแต่แรกแล้ว ท่านเจ้าเมืองเป็นผู้รับธุระ ท่านได้สังเกตเห็นเมื่อดวงอาทิตย์มืดหมดดวง มีรัศมีสว่างปรากฏขึ้นโดยรอบดวงจันทร์ มีรัศมีเป็นลำพุ่งออกมาด้วยเป็นสีแดงจัด สว่างอยู่เสมอตรงที่ (ก) ดังแจ้งไว้ในแผนที่ต่อท้ายนี้(๔) แทบอยู่ในเส้นศูนย์ของดวงจันทร์เมื่อดูจากทิศใต้ ตรง (ข) มีแสงเป็นเส้นสีคล้ายคลึงกัน ในเบื้องสุดนั้นไม่ประจักษ์ชัดเจนเหมือนอย่าง (ก) นัก รัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาเหล่านี้ดูเหมือนจะพุ่งออกมาจากดวงจันทร์เข้าไปในรัศมีที่ล้อมรอบ

เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๑ นาที คือล่วงมาสักนาที ๑ รัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาที่ (ก) ลดขนาดความยาวลงบ้างเล็กน้อย แต่ออกจะดำจัดที่ (ข) มีรูปชัดดีกว่า และดูเหมือนจะปรากฏอยู่นานกว่า แต่สังเกตไม่เห็นแปรสี ถึงตอนนี้สังเกตเห็นว่ามีแสงดำคล้ำพุ่งออกมาจากมณฑลดวงจันทร์หลายแห่งแผ่ไปในระยะที่ว่างไกลมาก แลดูเหมือนเป็นอะไรดูไม่ชัด คล้ายกับเงาฉายเข้าไปในระยะที่ว่าง ได้สังเกตเห็นสิ่งเหล่านี้สิ่งหนึ่งตลอดเวลาสุริยุปราคาก็เพราะด้วยมีเวลาปรากฏอยู่นานเท่านั้น คือที่ (ข) เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๒ นาที ความยาวที่ (ก) ลดลง เบื้องสุดของ (ข) ก็กำหนดได้ชัดขึ้น (ฃ) มีอาการเปลี่ยนแปลงก็น้อยลง

เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๓ นาที (ก) สูญหายไป (ข) ลุถึงความเต็มเปี่ยมเป็นที่สุด ก็เริ่มลดหายไปในระหว่างระยะนั้น (ฃ) ถ้าจะเปลี่ยนไปบ้างก็ได้ทวีขึ้นเล็กน้อย เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๔ นาที (ข) ยังคงลดถอยลงอีก และสังเกตดูเหมือนว่าเข้าไปติดฝังอยู่กับดวงจันทร์ อันเป็นรูปที่สังเกตไม่เห็นในเวลา (ก) หายไป (ฃ) ยังอยู่อย่างเดิม ตรง (ค) รัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาซึ่งคู่กับ (ก) อย่างชัด ตรงที่เส้นศูนย์ได้แตกออกคล้าย (ก) มาก แต่ความยาวออกจะน้อยและเป็นสีจาง แท้จริงขาดความสว่างเรือง ความลึกและความแปรสีซึ่งมีปรากฏอยู่ที่ (ก) เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๕ นาที (ข) ยังคงลดถอยลงอีก และที่เข้าไปฝังอยู่ในดวงจันทร์ก็ออกลึกลง (ฃ) ลดลงแต่มีส่วนน้อย ส่วน (ค) ดูเหมือนจะทวีขึ้นแต่ว่าน้อยนัก และไม่ถึงขนาดอย่างที่สุดของ (ก) สักเวลาเดียว สีของ (ข) ดูไม่แปรคล้าย (ค) มากกว่า (ก) ตลอดไป

ระหว่างนี้นายอัลบาสเตอร์ รั้งกงสุลประจำกรุงสยามก็ได้เฝ้าตรวจดูดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดูไกล ๒ ตา ผลที่ได้สังเกตไว้ เมื่อเทียบกันดูเหมือนจะตรงกันในข้อใหญ่ที่ท่านเจ้าเมืองได้สังเกตไว้ แต่นายอัลบาสเตอร์คอดว่ารัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาที่ (ข) ไม่สว่างเรืองเท่ากับ (ก) เมื่อเห็นในตอนแรกมีสีเหลืองประจักษ์แจ้งมาก นายอัลบาสเตอร์เห็นว่าริมขอบปรากฏชัดเด่นกว่ารัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาอื่นๆ และดูเหมือนจะพุ่งออกมาจากดวงจันทร์คล้ายกับเขาสัตว์สั้นๆที่เป็นสี นายแคนเนดีแห่งสถานกงสุลซึ่งเป็นผู้สังเกตดูสุริยุปราคาด้วยเหมือนกัน ยืนยันการสังเกตตรวจดูเหล่านี้เกือบทุกอย่าง แต่นายแคนเนดีสังเกตว่า (ค) เมื่อปรากฏในตอนแรกเป็นสีเขียวจัด ซึ่งค่อยเปลี่ยนเป็นสีเนื้อคนอย่างอ่อน ลักษณะอันนี้ที่นายพันตรีแมกแนร์และผูอื่นก็ได้สังเกตเห็นด้วย

เป็นที่น่าเสียใจมากที่เราไม่มีเครื่องโปลาริสโคปหรือเครื่องอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับพิสูจน์แสงสว่างที่ฉายพุ่งลงมาถึงพิภพในระหว่างสุริยุปราคาหมดดวง อาศัยแต่กล้องส่องชนิดแก้วสามเหลี่ยมอย่างธรรมดา จึงสังเกตได้ว่าแสงสว่างในเวลา ๑๐ นาฬิกาที่ฉายเข้ามาในกระจกสามเหลี่ยมของกล้องส่องเป็นสีแดงสีน้ำเงินและสีเขียว ระหว่างสุริยุปราคาจับหมดดวงเป็นสีแดงอย่างเดียว สีจำปา(โอเรนช์)และสีเหลืองก็อาจสาวเห็นได้บ้าง แต่บางทีก็ไม่ควรจะยึดถือตามความสังเกตนี้

สุริยุปราคาจับหมดดวงในเวลานี้กินเวลาได้ ๖ นาที กับ ๔๕ วินาทีแล้ว ทันใดนั้นก็มีแสงสว่างพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์เหมือนแสงสว่างจัดพุ่งแปลบออกมาจากดวงอาทิตย์ เมืองแสงสว่างเรืองอย่างจัด รัศมีที่อยู่รอบดวงอาทิตย์และรัศมีที่เป็นลำพุ่งออกมาก็อันตรธานไปทันที

การที่ดวงอาทิตย์กลับปรากฏขึ้นอีก ก็คอยสังเกตดูอย่างถี่ถ้วนโดยใช้กล้องส่องขนาดใหญ่ แต่ถึงพิจารณาละเอียดที่สุดก็ไม่สามารถพบเห็นอะไรแปลกพิเศษในดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ในเวลานั้น

เรามีความเสียใจไม่สามารถสาววิถีของเงาแห่งสุริยุปราคา เพราะแม้จะไปทางด้านตะวันตกก็เห็นที่ขอบฟ้าเพียงเล็กน้อย แม้กระนั้นทางด้านตะวันออกอากาศจะให้โปร่งและแจ่ม และเป็นการแปลกที่ไม่สังเกตเห็น

แต่นี้สุริยุปราคาก็เริ่มคลาย และคลายไปจนโมกขบริสุทธิ์ ในเวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๗ นาที กับ ๔๕ วินาที

ในเย็นวันนั้น พวกเราพากันมีความแปลกใจด้วยได้รับข่าวอย่างปัจจุบันทันด่วนว่า พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระกรุณาโปรดเสด็จมาทรงเยี่ยมตอบท่านเจ้าเมือง ท่านกลาโหมซึ่งดูเหมือนจะได้รับข่าวเรื่องมีพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเวลาอันน้อยอย่างเดียวกับเซอร์แฮรี ออด และตกตะลึงมากเหมือนกับพวกเราในข้อที่ทรงประพฤติแปลกจากธรรมเนียมประเพณีของชาวสยามนี้ ก็เข้ามาอยู่ด้วยกับผู้ว่าราชการเพื่อคอยรับเสด็จ ไม่มีเวลาจะจัดเตรียมการอย่างไรได้ และพวกเราก็จำเป็นต้องแต่งตัวอยู่อย่างธรรมดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงเวลา ๕ ล.ท. ทรงพระเก้าอี้หรือแท่นสั้นมีคนหาม ๘ คน(พระราชยาน) เสด็จประทับไขว้พระบาทข้างหน้า(ขัดสมาธิ) มีพระเจ้าลูกเธอๆ ๒ พระองค์ประทับสองข้าง แตรวง ๑ วง และกองทหารเกียรติยศ ๑ กอง มีปืนใหญ่ภูเขา ๒ บอกนำเสด็จ สองข้างมีเจ้านายหลายพระองค์ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทตามเสด็จ กับมีพระเจ้าลูกเธอโดยเสด็จด้วยรถหลายพระองค์ มีข้าราชการและบริวารเป็นอันมาก ที่ตรงทางจะเข้าทำเนียบได้จัดตั้งพระเก้าอี้ไว้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเลยเข้าไปในทำเนียบทีเดียว เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องของผู้ว่าราชการตอนมุมเรือนชั้นบน และเสด็จประทับในที่ระหว่างเซอร์แฮรี กับคุณหญิงออด ข้าราชสการในสำนักก็หมอบเฝ้ากันอยู่บนพื้นต่ำ เว้นแต่ท่านกลาโหมนั้น(เอกเขนก)ตะแคงอย่างเคารพอยู่ ณ ขั้นบันไดข้างล่างที่จะขึ้นไปยังพื้นเรือนที่ยกไว้

พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชหฤทัยยินดี ด้วยทรงคำนวณเวลาสุริยุปราคาได้ถูกต้องแน่นอน มีรับสั่งสนทนาอยู่นาน ตรัสเป็นภาษาอังกฤษ ทรงแสดงความหวังพระราชหฤทัยว่าท่านเจ้าเมืองคงพอใจในการที่มาคราวนี้ และการต้อนรับที่บริบูรณ์ทุกอย่าง ส่วนพระเจ้าลูกยาเธอเล็กๆนั้น สาละวนเพลินด้วยทอดพระเนตรสมุดรูปถ่าย เมื่อเสด็จประทับอยู่สักครึ่งนาฬิกา พระบาทสมเด็จพระได้มานี้ แต่เครื่องถ่ายชำรุด ความพยายามแห่งคนฉายรูปของเราในคราวนี้จึงไม่สำเร็จประโยชน์เหมือนคราวอื่นๆ

แล้วพระเจ้าแผ่นดินพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เซอร์แฮรี กับคุณหญิงออด เข้าไปลาข้าราชการฝ่ายใน พระเจ้าแผ่นดินทรงนำไป นายนาวาเอกเอดีย์ และนายพันตรีแมกแนร์นั้นก็โปรดให้เข้าไปด้วย เมื่อเข้าไปถึงข้างในได้พบปะเหล่าผู้เป็นประธานฝ่ายใน แต่งกายด้วยผ้าทองอย่างงามมาก ประดับอาภรณ์แลพราวตา พระองค์เจ้าหญิงที่ทรงพระเจริญเป็นผู้ทรงเลี้ยงเครื่องดื่ม และพระเจ้าแผ่นดินได้มีพระราชดำรัสเป็นภาษาอังกฤษกับท่านเจ้าเมืองอยู่นาน ได้ทรงแสดงความพอพระราชหฤทัยบ่อยๆถึงที่ได้ทรงกระทำความคุ้นเคยกับเซอร์แฮรีและคุณหญิงออด ทรงหวังว่าพระราชไมตรีอย่างสนิทสนมในระหว่างสองประเทศคงจะดำรงอยู่สืบไป

แล้วทรงอธิบายตอบข้อที่เซอร์แฮรี ออดกราบทูลถามถึงเรื่องพระเจ้าแผ่นดินที่สองแห่งกรุงสยามว่าด้วยอย่างไร และเหตุไรจึงตั้งแต่งขึ้นไว้ ขณะเมื่อท่านเจ้าเมืองเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่นั้น พระเจ้าลูกเธอทั้งพระองค์หญิงและพระองค์ชายได้ทรงต้อนรับพวกที่ไปกับท่านเจ้าเมืองที่ในท้องพระโรง ทรงแจกการ์ดและพระรูปถ่ายแก่พวกเหล่านั้น และทรงแสดงความหวังในที่พระเจ้าแผ่นดินคงจะได้เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์

เมื่อพวกเรากราบถวายบังคมลามา พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงประทานพระหัตถ์ให้สัมผัสทั้งหมด และเมื่อท่านเจ้าเมืองทูลลาก็ทรงแสดงความหวังพระหฤทัยว่าเซอร์แอรีจะสามารถมาเฝ้าถึงในกรุงเทพฯสักวันหนึ่ง และมีรับสั่งถามว่าถ้าพระองค์จะเสด็จเมืองสิงคโปร์ ท่านเจ้าเมืองจะมีความยินดีต้อนรับหรือไม่ ท่านเจ้าเมืองกราบทูลสนองว่าไม่มีสิ่งไรจะทำให้มีความปลื้มใจยิ่งกว่าที่จะได้รับพระราชทานเกียรติยศในที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยือนเมืองสิงคโปร์

ครั้นพวกเราออกจากวัง(พลับพลา)มา พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งกลับกรุงเทพพระมหานคร ขณะเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จห่างออกจากฝั่งทะเลแล้ว บรรดาข้าราชการสยาม คณะกงสุลและชาวยุโรปอื่นๆต่างลงเรือกลไฟต่างๆที่จัดให้ไว้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมายังพระนครกรุงเทพฯ เรือสเตลไลต์ และเรือกราสฮอปเปอร์ ก็ออกไปเมืองฮ่องกง เรือเฟรลองไปเมืองไซ่ง่อน เรือสารถิ์ใช้เป็นเรือสำหรับบรรทุกพวกนักดาราศาสตร์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เรือไปโห มีท่านเจ้าเมืองกับพวกก็ออกจากอ่าวไปในเวลาก่อนมืดหน่อยหนึ่ง และฝั่งทะเลซึ่งในเวลาก่อนหน้านี้ ๒ - ๓ นาฬิกาเต็มไปด้วยฝูงชน ก็คืนคงสู่สภาพแห่งความเปลี่ยวเปล่าตามเคยในเร็วพลัน

ถ้าจะจบบรรยายเรื่องนี้เสียโดยมิได้ชมถึงการืที่พระเจ้าแผ่นดินสยามและข้าราชการของพระองค์ได้ละขนบธรรมเนียมเก่าอันเป็นเครื่องถ่วงความเจริญ เพื่อพระราชทานเกียรติยศแก่ท่านเจ้าเมืองในครั้งนี้ด้วยหาควรไม่ (อังกฤษ)ผู้ที่คุ้นเคยกับไทยและขนบธรรมเนียมของไทยได้สังเกตเห็นว่าที่ในราชสำนักจะได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหมดจด เช่น ทรงรับแขกเมืองครั้งนี้แต่ก่อนมามิได้เคยปรากฏ เป็นต้นว่า เป็นพระราชมนเทียรพระราชทานโอกาสให้แขกเมืองเข้าไปได้ไม่ห้ามหวง และโปรดให้พบปะกับฝ่ายในให้ออกมารับแขกเมืองโดยเปิดเผย ส่วนเจ้านายในราชสกุลที่ทรงพระเยาว์ก็ทรงยอมให้สมาคมกับแขกเมืองชาวอังกฤษได้อย่างกิริยาเป็นฉันทมิตรสนิทสนม เรื่องราวของคณะทูตต่างๆ และจดหมายเหตุของผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมเยือนกรุงสยามแต่ก่อน มีแต่บันทึกเรื่องร้องทุกข์ที่ถูกขัดขวางไม่ยอมให้กระทำความคุ้นเคยพูดจากับราชสำนัก และมีการหวงห้ามตามขนบธรรมเนียมและพิธีของชาวสยามมากมาย นายครอฟอร์ดก็ดี รายาปรุก และเซอร์จอห์น เบาริงก็ดี ก็ได้กว่างความเหล่านี้ไว้

และท่านเหล่านั้นได้เล่าเรื่องราวอย่างยืดยาว ว่าธรรมเนียมกีดกันต่างๆเช่นนั้นมีอยู่ทั่วไปแ จนกระทำความขัดข้องแก่พวกในคณะของท่านมากมาย แม้แต่เรื่องเหน็บกระบี่เข้าเฝ้าก็ต้องถูกห้ามปราม แต่ในคราวนี้ไม่มีการแสดงให้แขกเมืองรู้สึกอย่างเช่นนั้นเลย พระเจ้าแผ่นดินและขุนนางของพระองค์กลับสมาคมกับแขกเมืองอย่างยอมให้อิสระเท่ากับเป็นผู้เสมอกัน และดูเหมือนจะมุ่งให้คล้อยตามธรรมเนียมของแขกที่มาหา การเปลี่ยนแปลฝงเกิดขึ้นในชนชาติที่ไม่เคยยอมเปลี่ยนแปลงดังนี้ ดูเป็นเครื่องหมายว่าความไม่ยอมเขยื้อนออกจากที่ของพลเมืองนั้น ยังอาจมีทางได้รับความคล้อยไปตามชาติที่มีความเจริญ เพราะความคุ้นเคยกับประเทศที่มีความเจริญต่อไปในวันหน้า

ชาวสยามโดยปรกติเป็นคนมีอัธยาศัยสงบเสงี่ยมและน่าคบหา ทั้งเฉลียวฉลาดและว่องไว แต่ดูชอบสนุกมากกว่าทำการงาน ไม่เป็นผู้ชอบความวิวาทหรือจะเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลง และกล่าวกันว่านิสัยใจคอของชาวสยามเกลียดชังความไมสุจริต ชาวสยามมีรูปพรรณสัณฐานเตี้ย พวกผู้หญิงโดยมมากดูเหมือนหาที่สูงกว่า ๕ ฟุตขึ้นไปก็โดยยาก เครื่องนุ่งห่มผู้ชายใช้เสื้อกระบอกหลวมๆ (ที่จริงนิยมเสื้อที่คับ) มีแขนและตัวยาวลงมาถึงเอวและขัดดุมจนถึงคอ (ไม่เปิดแบะคอเสื้อ) กับมีนุ่งเป็นผ้าทอของพื้นเมืองยาวประมาณ ๓ หลา และกว้าง ๑ หลา พันรอบเอวแล้วม้วนเอามาไว้ในหว่างขา (โจงกระเบน) เพื่อให้ได้รูปอย่างกางเกง (นิกเกอร์บอกเกอร์) น่องและเท้าปล่อยไว้ให้เปลือย (ไม่สวมถุงน่องรองเท้า) แต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ ถ้าจะออกนอกบ้านมักใช้สวมรองเท้าหรือรองเท้าแตะ

พวกผู้หญิงแต่งตัวคล้ายพวกผู้ชายมาก ถ้าไม่ใช้เสื้อกระบอกก็ถนัดใช้ผ้าห่มคลุมพาดบ่า(สไบเฉียง) เป็นเครื่องคลุมร่างกายได้บางส่วนเท่านั้น ทั้งผู้หญิงผู้ชายโกนศีรษะเหลือไว้แต่เบื้องบนเป็นกระเปาะ (ผมมหาดไทยผมปีก) ประมาณยาวเท่ากันกับแปรงปัดผ้าธรรมดา ซึ่งดูก็แปลกอยู่ เขากล่าวกันว่าผู้ชายและผู้หญิงไว้ผมผิดกัน แต่ฝ่ายเราสังเกตไม่ออก เว้นแต่จะเป็นด้วยผู้ชายประจงในเรื่องโกนมากกว่า เด็กเล็กๆเอาผมไว้จนอายุได้ ๑๐ หรือ ๑๑ ขวบก็โกนเสีย ในการโกนผมมีพิธีใหญ่โต และถ้าเป็นเจ้าก็มีการสมโภชอย่างเอิกเกริก สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงชี้ให้เซอร์แฮรี ออดดูเจ้าชายพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระองค์มีรับสั่งว่าจะได้โกน(โสกันต์)ในปีหน้า(๕) และทรงเชิญให้หิสเอกซเลนซิมากรุงเทพฯ เพื่อดูพระราชพิธี ซึ่งทรงรับรองแก่หิสเอกซเลนซิว่าจะเป็นงานใหญ่น่าดูมาก

ประเพณีของกรุงสยามมีอย่างหนึ่ง คือมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์พร้อมกัน แต่ในเวลานี้ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ เพราะพระองค์หลังเสด็จสวรรคตเสียเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖ เหตุและพงศาวดารของการที่มีพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ นี้ดูเหมือนไม่ใคร่เข้าใจกันโดยมาก จึงเห็นควรจะนำพระบรมราชาธิบาย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้ทรงพระกรุณาพระราชทานเมื่อเซอร์แฮรี ออดกราบทูลถามนั้นมากล่าวไว้ด้วย ความว่า พระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ เป็นผู้ซึ่งคนทั้งหลายเข้าใจกันว่ามีสิทธิ์ในราชสมบัติถัดจากพระเจ้าแผ่นดิน ที่ได้พร้อมกันเสวยราชสมบัติ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ อยู่ในขณะนั้น ข้าราชการก็มักถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ และตั้งเจ้านายองค์ที่มีสิทธิ์ดีที่สุดขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒

ถ้าพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ เสด็จทิวงคต พระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ จะทรงตั้งผู้ใดเป็นแทนได้ แต่ไม่ใคร่จะเป็นธรรมเนียมที่จะต้องทำเช่นนั้น มักปล่อยตำแหน่งให้ว่างอยู่จนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ เสด็จสวรรคต อำนาจของพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ นั้นดูเหมือนแล้วแต่พระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินที่ ๑ จะพระราชทานอย่างไร แต่เดิมมาดูเหมือนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ มีอำนาจมากกว่าในชั้นหลังที่ล่วงมานี้ ความประสงค์ที่ตั้งแบบธรรมเนียมมีพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ นี้ แท้จริงคือจะป้องกันความแตกร้าวในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จสวรรคต เพราะการรับราชสมบัติต้องเป็นทางทายาทในพระราชวงศ์ และการเลือกผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็อาศัยความพร้อมเพรียงของขุนนางผู้ใหญ่ทั้งปวง จึงเห็นได้ชัดว่าเมื่อเลือกพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ถ้าตั้งรัชทายาทได้ด้วย ก็จะมิใคร่มีช่องทางน้อยที่จะเกิดการวิวาท อันจะเป็นภัยต่อสันติสุขของบ้านเมืองของชาติ


....................................................................................................................................................

(๑) คือ เตรียมการโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์

(๒) ชื่อ หวาด บุนนาค ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระยาอรรคราชนารถภักดี

(๓) คือ การ์ด

(๔) เรื่องนี้แปลจากหนังสือบางกอกกาลันเดอร์ ของหมอบรัดเล ไม่มีแผนที่ จึงมิได้ตีพิมพ์แผนที่มาตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรก

(๕) คือสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์



ประชุมพงศาวดารภาค ๑๙ เรื่องจดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ


Create Date : 19 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 16:15:36 น. 0 comments
Counter : 3857 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com