กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
กำเนิดหัวเมืองในมณฑลอีสาน ตอนที่ ๑

คำนำ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ เรื่องพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๘



หนังสือพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔ นี้ เป็นหนังสือใหม่ ทั้งการที่รวบรวมเรื่อง และการที่แต่ง หม่อมอมรวงศ์วิจิตร เป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบชั้นแรก ได้เรียนวิชาความรู้สอบได้เต็มที่แล้ว จึงออกไปรับราชการ มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงอื่นก่อน แล้วย้ายมาอยู่กระทรวงมหาดไทย สมัครออกไปรับราชการในมณฑลอีสาน คือที่แบ่งเป็นมณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ดทุกวันนี้ แต่ครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการรวมเป็นมณฑลเดียวกัน ได้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยขึ้นไปจนได้เป็นปลัดมณฑล ถ้าหากอยู่มาจนปานนี้ ไม่สิ้นชีพเสีย ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงจะได้รับพระราชทานเกียรติยศ และบรรดาศักดิ์สูงขึ้น

แม้กล่าวในเหตุที่หม่อมอมรวงศ์วิจิตรสิ้นชีพผู้อ่านก็จะแลเห็นได้ว่า หม่อมอมรวงศ์วิจิตรเป็นผู้มีอัชฌาสัยอย่างไร คือเมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๒๖๘ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดน ซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส เวลานั้นเป็นฤดูฝนทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย หม่อมอมรวงศ์วิจิตรรับอาสาออกไป ก็ไปเป็นไข้กลางทาง แต่ไม่ยอมกลับ ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเป็นไข้จนสำเร็จราชการแล้ว ขากลับมาหมดกำลังทนพิษไข้ไม่ได้สิ้นชีพในระหว่างทางที่มา เมื่อ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ. ๒๔๕๑

ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องความชอบของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร ทรงทราบฝ่าละออกธุลีพระบาทว่า เมื่อหม่อมอมรวงศ์วิจิตรมีชีวิตอยู่ ได้แบ่งเงินเดือนส่งเข้ามาเลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ผู้บิดาเสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ เท่าที่เคยได้รับจากหม่อมอมรวงศ์วิจิตรทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็พระราชทานต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนภรรยาของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร ก็ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามพระราชบัญญัติฐานที่สามีไปสิ้นชีพในเวลาทำราชการ ยังหม่อมหลวงอุรา (คเนจร ณ กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นบุตรชายใหญ่ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร บิดาได้ถวายเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมไว้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยง เวลานี้มียศเป็นจ่า มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระทรงพลราบ รับราชการอยู่ในกรมพระอัศวราช

หนังสือพงศาวดารมณฑลอีสานนี้ ไม่ได้มีผู้ใดสั่งให้หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่ หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่งโดยอำเภอใจในเวลาว่างราชการ ด้วยรักวิชาความรู้ และเจตนาจะให้เป็นประโยชน์ต่อราชการบ้านเมือง เที่ยวสืบถามตามผู้รู้ในเวลาเที่ยวตรวจหัวเมืองบ้าง ดูจากหนังสือราชการที่มีอยู่ในมณฑลบ้าง และอาศัยหนังสือพงศาวดารต่างๆที่จะซื้อหาได้บ้าง

เมื่อแต่งได้สักหน่อย ๑ หม่อมอมรวงศ์วิจิตรมีราชการเข้ามากรุงเทพฯ ได้พาหนังสือเรื่องนี้มามอบไว้ให้ข้าพเจ้าตรวจ ข้าพเจ้าตรวจแล้วส่งกลับไปให้หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่งต่อจนสำเร็จ ได้ส่งเข้ามาให้ข้าพเจ้าครั้งหลังเมื่อก่อนหม่อมอมรวงศ์วิจิตรจะสิ้นชีพสักหน่อยหนึ่ง ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะได้ทำอย่างไร เป็นแต่ให้เก็บรักษาหนังสือนี้ไว้ในกระทรวงมหาดไทย

ครั้นเมื่อได้ข่าวว่าหม่อมอมรวงศ์วิจิตรสิ้นชีพ มาระลึกขึ้นได้ถึงหนังสือเรื่องนี้ จำไม่ได้ว่าส่งเข้ามาแล้วหรือยัง ให้ค้นหาในกระทรวง บังเอิญหนังสือไปซุกอยู่เสียผิดที่หาไม่ได้ ให้ถามออกไปยังมณฑลก็ไม่ได้ความ จึงทอดธุระว่าจะสูญหาย มีความเสียดายมาช้านาน พึ่งมาพบหนังสือนี้เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกระทรวงมหาดไมยไม่ช้านัก จึงได้ส่งต้นฉบับมารักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อจะได้พิมพ์ในโอกาสที่สมควร มีโอกาสจึงได้พิมพ์ในครั้งนี้




ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง



....................................................................................................................................................


พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน
หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง



พระราชอาณาเขตสยามภาคหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างแลติจูดเหนือ ๑๓ ดีกรีเศษ ถึง ๑๖ ดีกรีเศษ ลองติจูดตะวันออก ๑๐๓ ดีกรี ถึง๑๐๕ ดีกรีเศษ ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯมหานคร(บางกอก) ซึ่งเรียกว่ามณฑลอีสานนั้น เป็นมณฑลใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งนับเข้าในมาตราเป็นมณฑลชั้นที่ ๑ เดิมมีอาณาเขตทางฝ่ายตะวันออก ข้ามแม่น้ำโขงไปจนถึงเขาบรรทัดต่อแดนญวน ครั้นมาเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒ ประเทศสยามได้ยกอาณาเขตทางฝั่งโขงตะวันออกหรือฝั่งซ้าย และทั้งเกาะดอนในลำน้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส

เพราะฉะนั้นอาณาเขตมณฑลอีสานข้างตะวันออกในปัจจุบันนี้จึงคงเพียงจดลำน้ำโขงฝั่งตะวันตกเท่านั้น (และในที่ดินพ้นฝั่งแม่น้ำโขง ตะวันตกหรือฝั่งขวาเข้ามา ๒๕ กิโลเมตร หรือ ๖๒๕ เส้นนี้ ประเทศสยามได้ทำสัญญาแก่ฝรั่งเศสว่า จะไม่ตั้งป้อมค่าย และมีกำลังทหารและเก็บภาษีสินค้าเข้าออกด้วย)

ส่วนอาณาเขตมณฑลอีสานฝ่ายทิศใต้นั้น จดแดนมณฑลบูรพา และแดนเขมรในบำรุงฝรั่งเศส ฝ่ายตะวันตกจดแดนมณฑลนครราชสีมา ฝ่ายทิศเหนือจดแดนมณฑลอุดร รวมที่ดินกว้างยาวประมาณ ๕๖,๐๐๐,๐๐๐ ตารางเส้น รวมหัวเมืองซึ่งอยู่ในมณฑลนี้ทั้งสิ้น ๑๔ เมือง อำเภอ ๗๘ อำเภอ ตำบล ๒,๓๖๗ ตำบล คนพื้นเมืองเป็นไทยเป็นพื้น นอกจากไทยมีเขมร ส่วย และละว้า และมีชนชาวประเทศอื่นคือ ฝรั่ง, ญวน, พม่า, ตองซุ่, จีน เข้าไปอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก รวมพลเมืองทั้งสิ้นในปี ๑๒๒ นี้ประมาณ ๙๒๔,๐๐๐ คนเศษ

เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวกาวนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ ๑๐๐๐ ปีก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของคนป่าอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่าพวกข่า, ส่วย, กวย ซึ่งยังมีอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ณ บัดนี้

ครั้นเมื่อชนชาติไทยซึ่งอยู่ประเทศข้างเหนือ มีเมืองศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทร์)เป็นต้น ได้แตกฉานซ่านเซ็นลงมาตั้งเคหสถาน โดยความอิสรภาพแห่งตนเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นหนามั่นคงขึ้นแล้ว จึงได้ยกย่องผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าแห่งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยประชุมชนสมมตเป็นเอกเทศส่วนหนึ่ง

ตลอดมาจนถึงกษัตริย์องค์ ๑ ได้สร้างเมืองขึ้นริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก ตรงกับเมืองที่พระเจ้ากรรมทาสร้างไว้ ณ เชิงเขา คือตำบลที่เรียกว่าบ้านกระตึบเมืองกลาง ณ บัดนี้นั้น ขนานนามเมืองว่า พระนครกาละจำบากนาคบุรีศรี เป็นทางไมตรีกันกับเจ้าเขมรกรุงกัมพูชา พระองค์มีโอรสองค์หนึ่งพอเจริญวัยขึ้นมา พระบิดาถึงแก่พิราลัย ท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์จึงได้เชิญกุมารขึ้นครองเมืองแทนพระบิดา ถวายนามว่า เจ้าสุทัศนราชา ปกครองประชุมชน ณ ที่นั้น เป็นความสุขเรียบร้อยตลอด

จนถึงจุลศักราช ๑,๐๐๐ ปี ปีขาลสัมฤทธิศก เจ้าสุทัศนราชาถึงแก่พิราลัย หามีเชื้อวงศ์ที่จะสืบตระกูลครองเมืองต่อไปไม่ ประชุมชนจึงได้ยกชายผู้มีตระกูลคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าบัญชาการเด็ดขาด ในอาณาเขตนครกาละจำบากนาคบุรีศรีนั้น โดยเรียบร้อยตลอดมาได้ ๖ ปีถึงแก่กรรม นางแพงบุตร นางเภาหลาน ได้เป็นผู้อำนวยการบ้านเมืองสืบต่อมาอีก ในจุลศักราช ๑๐๐๕ ปีมะแมเบญจศก

สมัยกาลครั้งนั้น ยังมีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระครูเจ้าวัด อยู่วัดโพนเสม็ด แขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต ประชุมชนเรียกพระภิกษุรูปนั้นว่า พระครูโพนเสม็ด มีสานุศิษย์ญาติโยมและประชาชนในแว่นแคว้นนั้นนักถือรักใคร่เข้าเป็นพรรคพวกมาก

ครั้นจุลศักราช ๑๐๕๐ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมีโอรสองค์หนึ่ง ชื่อเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี มารดาของเจ้าองค์หล่อผู้เป็นชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ยังมีครรภ์ค้างอยู่ด้วย ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต จะรับเอามารดาเจ้าองค์หล่อไปเป็นภรรยา นางหายินดีด้วยไม่ จึงพาเจ้าองค์หล่อหนีมาอยู่กับพระครูโพนเสม็ด พระครูโพนเสม็ดจึงให้นางชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตกับเจ้าองค์หล่อโอรสไปอยู่ ณ ตำบลภูฉะง้อหอคำ พอถึงกำหนดครรภ์ นางนั้นก็คลอดบุตรเป็นชาย คนทั้งหลายเรียกกันว่า เจ้าหน่อกษัตริย์

ฝ่ายเจ้าองค์หล่อผู้เป็นเชษฐานั้นมีความโกรธคิดแค้นพระยาเมืองแสน จึงพาบ่าวไพร่ของตนไปอยู่เมืองญวน ตั้งเกลี้ยกล่อมมั่วสุมกำลังผู้คน คอยหาโอกาสแก้แค้นพระยาเมืองแสนอยู่

ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครอบครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เห็นว่าพระครูโพนเสม็ดจะแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึงคิดเป็นความลับจะกำจัดพระครูโพนเสม็ดเสีย ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดรู้ระแคะระคายว่าพระยาเมืองแสนจะคิดทำร้าย เห็นว่าจะอยู่ในที่นี้ต่อไปไม่มีความสุข จึงได้ปรึกษาญาติโยมและสานุศิษย์เห็นว่า ควรจะไปตั้งอาศัยอยู่เสียให้พ้นเขตแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงรวบรวมบรรดาพวกพ้องได้ประมาณสามพันเศษ แล้วไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดามาพร้อมกันแล้ว ก็พากันอพยพออกจากแขวงกรุงศรีสัตคนหุต

ไปถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก พระครูโพนเสม็ดจึงให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาและสานุศิษย์ตั้งเคหสถานอยู่ในตำบลนั้นบ้าง เหลือจากนั้นพระครูโพนเสม็ดก็พากันเดินทางต่อไป เมื่อพระครูโพนเสม็ดไปถึงตำบลใด ก็มีผู้คนนับถือรับรองและยินดีเข้าเป็นพวกพ้องติดตามไปด้วยเป็นอันมาก ท่านพระครูห็พาครอบครัวไปถึงแดนเขมร แขวงเมืองบรรทายเพชร คิดว่าจะตั้งพักอาศัยอยู่ในแขวงกรุงกัมพูชานั้น

ฝ่ายเจ้ากรุงกัมพูชาจึงให้พระยาพระเขมรมาตรวจสำมะโนครัวพรรคพวกพระครูโพนเสม็ด พระยาพระเขมรจะเรียกเอาเงินแก่ครัวเหล่านั้นครัวละ ๘ บาท พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าจะเป็นความเดือดร้อนแก่พวกพ้องญาติโยม จึงได้อพยพกันเดินกลับขึ้นมาทางลำแม่น้ำโขง จนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรี หยุดตั้งพักอาศัยอยู่ในเมืองนั้น ฝ่ายพวกศิษย์และญาติโยมของพระครูโพนเสม็ด ซึ่งเป็นไทยฝ่ายเหนือบ้าง เป็นเขมรบ้าง ต่างก็ย้ายแยกไปตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ที่ตำบลต่างๆ คละปะปนอยู่กับพวกข่ากวย ตามภูมิลำเนาอันสมควร

ฝ่ายนางแพง นางเภา ผู้บัญชาการเมื่อแก่เฒ่าชราลง และตั้งแต่พระครูโพนเสม็ดเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองแล้ว นางก็มีความนิยมนับถือในท่านพระครูโพนเสม็ดมาก จึงได้พร้อมด้วยแสนท้าวพระยาเสนามาตย์ อาราธนาให้ท่านพระครูช่วยบำรุงรักษาพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรต่อไป และทั้งส่วนการบ้านเมืองซึ่งเป็ยนฝ่ายอาณาจักร ก็ได้มอบให้พระครูโพนเสม็ดเป็นผู้อำนวยการสิทธิ์ขาดด้วย แต่นั้นมาท่านพระครูก็ได้เป็นใหญ่โดยอิสรภาพขึ้นในเขตแขวงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีตลอดมา

จนถึงจุลศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก ประชาชนทั้งหลายเกิดการวิวาทวาทาพากันมีน้ำใจกำเริบขึ้น คบกันตั้งเป็นชุนนุมประพฤติเป็นโจรผู้ร้าย ราษฎรทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในความสุจริต ต่างก็มีความเดือดร้อนยิ่งขึ้นเป็นอับดับเกือบจะเป็นเหตุจลาจลใหญ่โต ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดได้ว่ากล่าวห้ามปรามโดยทางธรรม ก็หาเป็นเหตุให้สงบเรียบร้อยสมดังประสงค์ไม่ ครั้นจะใช้ปราบปรามเอาตามอาญาจักรก็เกรงจะผิดทางวินัย เป็นที่หม่นหมองแก่ทางสมณเพศ พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งให้ตั้งอยู่ตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก เจริญวัยและประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณพอจะเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองได้ จึงได้แต่งท้าวพระยาคุมกำลังไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดามายังนครกาละจำบากนาคบุรีศรี

ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบญจศก พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา จึงได้ตั้งพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ ถวานพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ครองสมบัติเป็นเอกราชตามประเพณีกษัตริย์ แล้วผลัดเปลี่ยนนามนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเป็นนามใหม่เรียกว่า นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงได้จัดการบ้านเมือง ตั้งตำแหน่งเจ้านาย แสนท้าวพระยาเสนาขวา พระยาเสนาซ้าย ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และตำแหน่งจตุสดมภ์ กรมอาสาหกเหล่า สี่เท้าช้าง ตำรวจมหาดเล็ก ชาวที่กรมแสง ตามจารีตแบบอย่างกรุงศรีสัตยาคนหุต(เวียงจันทร์) แต่นั้นมาครบทุกตำแหน่ง

และตั้งอัตราเก็บส่วยแก่ชายที่มีบุตรเขย ๑๐ เก็บพ่อตา ๑ บุตรเขย ๑ ถ้ามี ๕ เก็บเฉพาะพ่อตา ๑ กำหนดคนละ ๑ ลาด และข้างเปลือกหนักคนละ ๑๐๐ ชั่ง (ข้าวเวลานั้นหนักร้อยชั่งต่อบาท และลาดนั้นใช้กันเป็นอัตรา ๑๖ อันต่อบาทของเงินพดด้วงในพื้นเมือง ที่เรียกว่าเงินแป้งแปด น้ำหนัก ๑+๓ ส่วน เงินพดด้วงไทยนั้นเรียกว่าเงินแป้งเก้า เพราะเต็มบาท)

เจ้าสร้อยศรีสมุทสร้างอารามใหม่ขึ้นในเมืองวัดหนึ่ง เรียกว่าวัดหลวงใหม่ ซึ่งปรากฏมาจนกาลบัดนี้ แล้วได้อาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับอันดับสงฆ์มาอยู่ ณ วัดหลวงใหม่นั้น

เจ้าสร้อยศรีสมุทมีโอรส ๓ องค์ คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ แล้วมีราชสานแต่งให้แสนท้าวพระยานำเครื่องบรรณนาการไปขอธิดาเจ้าเขมร ณ เมืองบรรทายเพ็ชรมาเป็นบาทบริจา มีโอรสอีกองค์หนึ่งให้นามว่า เจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึงให้จารหวดเป็นอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (หรือของ)

คำที่เรียกว่าดอนโขงหรือน้ำโขงนี้ มีตำนานมาแต่โบราณว่า ครั้งเมื่อช้างเที่ยวทำร้ายคนอยู่ในเขตแขวงเมืองศรีสัตนาคณหุต พระยาโคตระบองได้ไปปราบฆ่าช้างตายเสียจั้งล้าน เมืองศรีสัตนาคนหุตจึงได้เรียกว่าเมืองล้านช้างมาก่อน ส่วนช้างที่ตายนั้นก็ลอยไปตามลำแม่น้ำ ติดอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งมีกลิ่นเหม็นโขลงตลบไปทั่วตลอดไปตามลำน้ำ อาการกลิ่นที่เหม็นอย่างนี้ภาษาทางนั้นเรียกว่าเหม็นโขง เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกลำน้ำนี้ว่าลำน้ำโขง ส่วนดอนที่ช้างตายลอยไปติดอยู่นั้นจึงเรียกว่า ดอนโขง กับได้พบอีกตำราหนึ่งว่า ดอนโขลง ไม่ใช่โขง คือแต่ก่อนเป็นที่ไว้โขลงช้าง ดอนนี้ต่อมาเรียกว่า สี่พันดอน คือมีดอนเกาะในที่เหล่านั้นมากมายตั้งสี่พัน ซึ่งต่อมาในปัจจุบันนี้เรียกว่า สีทันดร

ให้ท้าวสุดเป็นพระไชยเชษฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกวง ฝั่งโขงตะวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเป็นอำเภอรักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิเดี๋ยวนี้) ให้จันทสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพง เป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพน ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่น ตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาละวันเดี๋ยวนี้) ให้นายพรหมเป็นซาบุตรโคตร รักษาอำเภอบ้านแก้วอาเฮิม ซึ่งวมีเจดีย์อยู่ที่นั้นเรียกกันว่า ธาตุกำเดาทึก ภายหลังเรียกว่า เมืองคำทองใหญ่ (คือเมืองคำทองหลวงบัดนี้) ให้จารโสมรักษาอำเภอบ้านทุ่งอิ้ดกระบือ เป็นทำเลเมืองร้างมาก่อน เรียกว่า เมืองโสก เมืองซุง คือซองและเพนียด เพราะแต่ก่อนพวกเวียงจันทร์แทรกคล้องและฝึกหัดช้างเถื่อนที่นี้ คือ เมืองอัตปือ บัดนี้ให้ท้าวหลวงบุตรพระละงุมเป็นขุนนักเฒ่า รักษาอำเภอตำบลโขงเจียง

ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าวมาแล้วนี้นั้น ดูเหมือนจะให้เป็นอย่างเมืองออกกลายๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว ทางเมืองจำปาศักดิ์มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู่ล่วงลับไปนั้น ปกครองเป็นใหญ่ในตำบลนั้นๆสืบเชื้อวงศ์เนื่องกันต่อๆมา และตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฏนามโดยประชุมชนสมมุติเรียกกันว่าเมืองนั้นเมืองนี้ ดังเมืองมั่น(สาละวัน)เป็นต้นมาแต่เดิม เพราะฉะนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเป็นเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะได้ เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมันนั้นก็เป็นเอกราชโดยความใอสรภาพอยู่ส่วนหนึ่ง สมควรจะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรองๆขึ้นให้เป็นระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้น และทั้งอาศัยความที่มิได้มีปรากฏว่า ในตำบลเหล่านั้นได้เป็นอิสรภาพแห่งตน หรือตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบากด้วย และกำหนดเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น มีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลัดทอดยอดยาง ทิศตะวันออกถึงแนวภูเขาบรรทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตะวันตกต่อเขตแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยมา ลุศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ พระครูโพนเสม็ดอาพาธเป็นโรคชราถึงแก่มรณภาพที่วัดหลวงใหม่ อายุ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุทพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา กระทำการปลงศพพระครูโพนเสม็ดเสร็จแล้ว จึงสร้างพระเจดีย์ที่ตรงหอไว้ศพสามองค์ กับสร้างเจดีย์องค์นี้เรียกว่าธาตุฝุ่น ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นในที่นี้ จึงได้ปรากฏนามว่า วัดธาตุฝุ่น มาจนบัดนี้

ในปีนี้เจ้าสร้อยศรีสมุท ได้ให้เจ้าโพธิสารราชบุตร ซึ่งมารดามาแต่ฝ่ายเขมรนั้นไปเป็นเจ้าเมืองควบคุมคนเขมรอยู่ ณ บ้านทุ่งบัวศรี ยกบ้านทุ่งบัวศรีเป็นเมืองขนานนามว่าเป็นเมืองศรีจำบัง (คือตำบลที่ตั้งอยู่ฝั่งลำน้ำใต้เมืองเซลำเภาในปัจจุบันนี้) เมืองเขมรจึงได้ปันแดนให้เป็นเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ในทิศใต้ ตั้งแต่ริมน้ำโขงฝั่งตะวันตกปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลอง ถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองสทงกำพงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำปากคลองสะบา

ฝ่ายนักขุนเฒ่าอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงตั้งให้ท้าวสักโพผู้บุตร เป็นขุนนักสักโพรักษาที่ตำบลนั้นแทนบิดา

ลุศักราช ๑๐๘๖ ปีมะโรงฉศก มีพรานป่าคนหนึ่งนำความแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่า เห็นพรานทึง พรานเทือง ข่าบ้านส้มป่อยนายอน (คือที่เป็นเมืองสพาดเดี๋ยวนี้) ได้พระแก้วผลึกมาไว้ เข้าใจว่ารูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระศอให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณบิ่นไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุท จึงให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ ณ เมืองปาศักดิ์ มีการสมโภช ๓ วัน แล้วให้พวกข่าที่มาส่งพระแก้วนั้นตั้งอยู่บ้านขามเนิง เรียกว่าข้าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ และตั้งให้พรานทึง พรานเทือง เป็นนายบ้านควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อยนายอน ให้เป็นส่วยส่งขี้ผึ้งผ้าขาวถวายพระแก้วต่อมา จนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพฯ

จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมะเส็งสัปตศก จารแก้วอำเภอบ้านทงป่วยถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๔ ปี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อ ท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยุปราคา) ชื่อท้าวทน ๑ เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงตั้งให้ท้าวมืดบุตรเป็นตำแหน่งเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเป็นอุปฮาดปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไป ท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจันทน์ และกรมการขึ้น ณ ครั้งนั้น

ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลง จึงให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทน แล้วก็ออกจำศีลอยู่

จุลศักราช ๑๐๙๔ ปีชวดจัตวาศก ฝ่ายเจ้าองค์หล่อโอรสพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ผู้เป็นเชษฐาเจ้าสรอยศรีสมุท ซึ่งหนีไปอยู่เมืองญวนครั้งเมื่อพระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้ไปตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนได้เป็นกำลังมาขึ้นแล้ว จึงยกกำลังมายังกรุงศรีสัตนาคนหุตจับพระยาเมืองแสนฆ่าเสีย แล้วเจ้าองค์หล่อก็ขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๐๙๙ ปีมะเส็งนพศก เจ้าสร้อยศรีสมุทถึงแก่พิราลัย อายุได้ ๕๐ ปี ครองเมืองได้ ๒๕ ปี เสนาแสนท้าวพระยาจึงอภิเษกให้เจ้าไชยกุมารโอรสขึ้นครองราชสมบัติในนครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรีต่อไป มีนามปรากฏโดยสามัญชนเรียกว่า พระพุทธเจ้าองค์หลวง ให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเป็นเจ้าอุปราช และเจ้าไชยกุมารได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยเป็นไหมหนักคยละ ๑ บาท แก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้วทุกคน แต่นั้นมาส่วนข้าวเปลือกคงเก็บตามเดิม

ฝ่ายนักสักโพผู้รักษาอำเภอโขงเจียงถึงแก่กรรม เมืองปาศักดิ์จึงตั้งให้ท้าวโกษาบุตร เป็นพระนักโกษาครอบครองอำเภอนั้นต่อไป

จุลศักราช ๑๑๐๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก เจ้าไชยกุมารได้สร้างพระพุทธรูปทองเหลืององค์หนึ่งหน้าตักกว้าง ๑/๘ พระเศียรสูง ๒/๔ แท่นสูง ๑๐ นิ้วมีคำจารึกไว้ที่แท่นว่า "ลุศักราชราชาได้ ๑๑๐๐ ปี การศรีวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ มื้อกัดไส้ สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงเป็นผู้ศรัทธา กับทั้งน้องพระเจ้ามหาธรรมเทโวโพธิสัตว์ขัตติยราชขนิษฐา กับทั้งพระราชเทวีสร้างไว้ในพระพุทธศาสนา" พระพุทธรูปนี้ยังประดิษฐานปรากฏอยู่ ณ วัดสุมังจนบัดนี้

ลุศักราช ๑๑๒๐ ปีขาลสัมฤทธิศก เจ้าไชยกุมารกับเจ้าอุปราชธรรมเทโวผู้น้องวิวาทกัน เจ้าอุปราชจึงคบคิดกับศรีธาตุบุตรจารหวด ผู้รักษาอำเภอดอนโขงซ่องสุมผู้คนได้มากแล้วยกมาเมืองปาศักดิ์ เจ้าไชยกุมารก็มิได้คิดจะต่อสู้ จึงหนีไปอยู่ดอนมดแดง ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองปาศักดิ์ ในลำน้ำมูลแขวงปาศักดิ์ (บัดนี้เป็นเมืองอุบล)

ฝ่ายเจ้าอุปราชจึงเข้ารักษาเมืองปาศักดิ์อยู่ ครั้นรู้ว่าเจ้าไชยกุมารหนีไปตั้งอยู่ดอนมดแดง จึงเกณฑ์กำลังจะยกไปขับไล่ให้เจ้าไชยกุมารไปเสียให้พ้นเขตแขวงปาศักดิ์ ฝ่ายมารดาเจ้าอุปราชจึงห้ามเจ้าอุปราชไว้ มิให้ยกกำลังไปขับไล่เจ้าไชยกุมาร ฝ่ายเจ้าอุปราชก็มิกล้าจะขัด จึงได้แต่งให้แสนท้าวพระยาไปเชิญเจ้าไชยกุมารกลับคืนมาครองเมืองปาศักดิ์ตามเดิม

ระหว่างนั้นขุนนักโกษา ผู้รักษาอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าไชยกุมารจึงตั้งให้ท้าวจันหอมบุตร เป็นขุนนักจันหอมรักษาตำบลนั้นต่อมา

จุลศักราช ๑๑๒๑ ปีเถาะเอกศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือนัยหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (คือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๓๓ อยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เวลานั้นพระยาช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุงไปอยู่ในป่าดง ทางตะวันตกแขวงเมืองปาศักดิ์ โปรดให้สองพี่น้อง (ซึ่งผู้จดพงศาวดารเดิม เข้าใจว่าเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) คุมไพร่พลและกรมช้างออกเที่ยวติดตามพระยาช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย และเลยไปจนถึงดงฟากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้

จึงได้ข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมร, ส่วยป่าดง คือตากะจะแชยงขัน ซึ่งตั้งอยู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่ ๑ ตาฆะบ้านดงยาง ๑(หรือเรียกโคกอัจประหนึ่ง) เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองที่ ๑ เชียงสี(หรือตาพ่อควาน)บ้านกุดหวาย(หรือบ้านเมืองเตา ตามชื่อเชียงสีเมื่อเป็นหลวงศรีนครเตา) ๑ เป็นผู้นำสองพี่น้องและไพร่พลไปติดตามพระยาช้างเผือกมาได้ ตากะจะ เชียงขัน เชียงฆะ เชียงปุ่ม เชียงสี ก็ตามสองพี่น้องนำพระยาช้างเผือกกลับคืนไป ณ กรุงศรีอยุธยา

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดตั้งให้ ตากะจะเป็นหลวงแก้วสุวรรณ เชียงขันเป็นหลวงปราบ เชียงฆะเป็นหลวงเพชร เชียงปุ่มเป็นหลวงศรีสุรินทรภักดี เชียงสีเป็นหลวงศรีนครเตา ให้ควบคุมพวกเขมรส่วยป่าดงในตำบลบ้านที่ตนอยู่นั้นๆ ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย พวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้ง ๕ คนพากันกลับมายังบ้านแห่งตน ฝ่ายเมืองพิมายเห็นว่า บ้านเมืองซึ่งหลวงสุรินทรภักดีเป็นนายกองรักษาอยู่นั้นเป็นบ้าน้อย จึงให้ยกมาอยู่ ณ ตำบลคูปะทายสมัน

ภายหลังพวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้ง ๕ คนนี้ ได้นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นของส่วยไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้หลวงสุวรรณ(ตากะจะ)เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนเป็น เมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร(เชียงฆะ)เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครอัดจะเจ้าเมือง ยกบ้านโคกอัดจะ(หรือบ้านดงยาง)เป็น เมืองสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี(เชียงปุ่ม)เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมือง ตั้งบ้านคูปะทายเป็น เมืองปะทายสมัน(คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา(เชียงสีหรือตาพ่อควาน)เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย(หรือบ้านเมืองเตา)เป็น เมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย

ลุจุลศักราช ๑๑๒๕ ปีมะแมเบญจศก ฝ่ายทางเมืองทง ท้าวมืดผู้เป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวมืดมีบุตร ๒ คน ชื่อ ท้าวเชียง ๑ ท้าวสูน ๑ เมืองแสน เมืองจัน และกรมการจึงได้บอกไปยังเมืองจำปาศักดิ์ขอยกท้าวทน น้องท้าวมืดขึ้นเป็นอุปราชรักษาบ้านเมืองต่อไป

อยู่ได้ประมาณ ๔ ปี ฝ่ายท้าวเชียง ท้าวสูน บุตรท้าวมืดเจ้าเมืองผู้ถึงแก่กรรม มีความวิวาทบาดหมางหาถูกกันกับท้าวทนผู้อาไม่ จึงคบคิดกับกรมการพำกันไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ณ กรุงศรีอยุธยา ขอกำลังขึ้นมาปราบปรามท้าวทน โปรดให้พระยากรมท่า พระยาพรหม เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดการกับท้าวเชียง ท้าวสูน

ครั้นจวนจะมาถึงเมืองทง ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองรู้ข่าวเข้า ก็พาครอบครัวอพยพหนีไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก พระยาพรหม พระยากรมท่า เข้าตั้งพักอยู่ในเมืองแล้ว จึงบอกขอท้าวเชียงเป็นเจ้าเมือง ท้าวสูนเป็นอุปฮาด รักษาปกครองเมืองทงต่อไป แล้วพระยาพรหม พระยากรมท่า ก็ออกไปตั้งที่พักอยู่ ณ ทุ่งสนามโนนกระเบา เมืองทงก็เป็นอันขาดจากความปกครองของเมืองจำปาศักดิ์ เข้าอยู่ในอำนาจกรุงศรีอยุธยาแต่นั้นมา

จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก พระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรีสัตนคนหุตถึงแก่พิราลัย หามีโอรสที่จะสืบตระกูลไม่ แสนท้าวพระยาและนายวอ นายตา จึงได้พร้อมกันเชิญกุมารสองคน(มิได้ปรากฏนาม) ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคนเก่า(ไม่ปรากฏว่าคนไหน) อันได้หนีไปอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังจะมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วนายวอ นายตา จะขอเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายหน้า ราชกุมารทั้งสองเห็นว่า นายวอ นายตา มิได้เป็นเชื้อเจ้า จึงตั้งให้นายวอ นายตาเป็นแต่แหน่งพระเสนาบดี ณ กรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วราชกุมารผู้เชษฐาจึงตั้งราชกุมารผู้เป็นอนุชาให้เป็นมหาอุปราชขึ้น

ฝ่ายพระวอ พระตาก็มีความโทมนัส ด้วยมิได้เป็นที่มหาอุปราชดังความประสงค์ จึงได้อพยพครอบครัวพากันมาสร้างเวียงขึ้นบ้านหนองบัวลำภู แขวงเวียงจันทน์ เสร็จแล้วยกขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบเหตุดังนั้น จึงให้แสนท้าวพระยาไปห้ามปรามมิให้พระวอ พระตาตั้งเป็นเมือง พระวอ พระตาก็หาฟังไม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงได้ยกกองทัพมาตีพระวอ พระตา สู้รบกันอยู่ได้สามปี พระวอ พระตาเห็นจะต้านทานมิได้ จึงได้แต่คนไปอ่อนน้อมต่อพม่า ขอกำลังมาช่วย

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบดังนั้น จึงแต่งเครื่องบรรณนาการ ให้แสนท้าวพระยาคุมลงมาดักกองทัพพม่าอยู่กลางทาง แล้วพูดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาพวกพม่าเข้าเป็นพวกเดียวกันได้แล้ว พากันยกทัพมาตีพระวอ พระตาก็แตก พระตาตายในที่รบ ยังอยู่แต่พระวอกับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม ผู้เป็นบุตรพระตา และท้าวทิดก่ำผู้บุตรพระวอ แล้วจึงพาครอบครัวแตกหนีอพยพไปขอพึ่งอยู่กับพระเจ้าองค์หลวง เจ้าไชยกุมารเมืองปาศักดิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงดอนกลาง คือที่เรียกว่าบ้านดู่ บ้านแก แขวงเมืองปาศักดิ์ ณ บัดนี้

ในเวลานั้นเจ้าอุปราชธรรมเทโวเมืองจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรม พระเจ้าองค์หลวงได้กระทำการปลงศพเจ้าอุปราชตามฐานานุศักดิ์อุปราช เจ้าอุปราชธรรมเทโวมีบุตรชาย ๔ คือ เจ้าโอ ๑ เจ้าอิน ๑ เจ้าธรรมกิติกา ๑ เจ้าคำสุก ๑ บุตรหญิงชื่อ นางตุ่ย ๑

ลุจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบว่า พระวอแตกหนีมาตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกอง แขวงเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้แต่งให้อัคฮาดคุมกำลังยกตามมาถึงแขวงเมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายพระเจ้าองค์หลวงได้ทราบดังนั้น จึงได้แต่งให้พระยาพลเชียงสาคุมกองทัพขึ้นไปต้านทานไว้ แล้วมีศุภอักษรภึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขอโทษพระวอไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทีศุภอักษรตอบมาว่า พระวอเป็นคนอกตัญญูจะเลี้ยงไว้ก็คงไม่มีความเจริญ แต่เมื่อพระเจ้านครจำปาศักดิ์ให้มาขอโทษไว้ดังนี้แล้ว ก็จะยกให้มิให้เสียทางไมตรี แล้วก็มีคำสั่งให้อัคฮาดและนายทัพนายกองยกกำลังกลับไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต

ในปีนั้นพระเจ้าองค์หลวงดำริจะสร้างเมืองใหม่ ถอยไปจากเมืองเดิมที่ตำบลศรีสุมังทางประมาณ ๒๐๐ เส้น พระวอรับอาสาเป็นผู้สร้างกำแพงเมือง พระมโนสาราชและพระศรีอัคฮาดเมืองโขงรับอาสาสร้างหอคำ ถวายพระเจ้าองค์หลวงเสร็จแล้ว (ในจุลศักราช ๑๑๓๔ ปีมะโรง) เจ้านายแสนท้าวพระยาจึงเชิญพระเจ้าองค์หลวงแห่ไปอยู่ ณ เมืองใหม่ และมีการมหกรรมสมโภชเสร็จแล้ว

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าองค์หลวงออกว่าราชการ ณ หอราชสิงหาร พร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพระยา ประชุมอยู่ ณ ที่นั่น พระวอจึงได้ทูลพระเจ้าองค์หลวงว่า การที่พระวอได้สร้างกำแพงเมืองถวาย กับผู้ที่ได้สร้างหอคำถวายนั้น สิ่งใดจะประเสริฐกว่ากัน พระเจ้าองค์หลวงจึงตอบว่า กำแพงเมืองนั้นก็ดีด้วยเป็นที่กำบังสำหรับป้องกันศัตรูซึ่งจะมาทำร้าย แต่หอคำนั้นจะดีกว่าสักหน่อย ด้วยเป็นที่ได้อาศัยนั่งนอนมีความสุขสำราญมาก ฝ่ายพระวอได้ฟังพระเจ้าองค์หลวงตอบดังนั้น ก็บังเกิดความอัปยศโทมนัสขึ้น คิดเอาใจออกหากจากพระเจ้าองค์หลวง พาครอบครัวอพยพขึ้นไปตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ดอนมดแดง (อยู่ในลำน้ำมูลซึ่งเป็นแขวงเมืองอุบลเดี๋ยวนี้) แล้วมีบอกแต่ง ให้ท้าวเพี้ยพี่น้องคุมเครื่องบรรณาการมายังเมืองนครราชสีมา ให้นำสมัครขึ้นอยู่ในความปกครองของประเทศสยาม

ลุจุลศักราช ๑๑๓๘ ปีมะโรงจัตวาศก เมื่อเจ้าตากสินเสวยราชย์อยู่ ณ กรุงธนบุรี พระยาพรหม พระยากรมท่าเห็นว่าตำบลเมืองทงเป็นชัยภูมิไม่สมควรจะตั้งเป็นเมือง เพราะเป็นที่โนนลำเซน้ำไหลแทงแรงอยู่อันจะไม่ถาวรต่อไป จึงปรึกษาท้าวเชียง ท้าวสูน เห็นพร้อมกันว่า ที่ตำบลดงเท้าสารห่างไกลจากเมืองทงประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ เป็นที่ตำบลภูมิเมืองเก่าชัยภูมิดีจึงได้อพยพย้ายจากเมืองทงไปตั้งอยู่ยังดงเท้าสาร แล้วมีใบบอกมายังกรุงธนบุรี ขอตั้งดงเท้าสารเป็นเมือง จึงโปรดให้ตั้งดงเท้าสารขึ้นเป็นเมือง ขนานนามว่า เมืองสุวรรณภูมิ มาแต่ครั้งนั้น ท้าวเชียงได้สร้างวัดขึ้นสองวัด ชื่อวัดกลาง ๑ วัดใต้ ๑ สร้างวิหารกว้างห้าวา ยาวแปดวา สูงหกวา สร้างพระพุทธรูปด้วยอิฐปละปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างสี่ศอกคืบ สูปแปดศอกคืบ เหมือนกันทั้งสองวัด

ลุจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมะแมสัปตศก ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองทงคนเก่า ซึ่งหนีไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก จึงเข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่า พระยาพรหม พระยากรมท่าเห็นว่าท้าวทนมีผู้คนบ่าวไพร่ควบคุมอยู่มาก จึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมือง ขอยกบ้านกุ่มซึ่งเป็นที่เมืองร้อยเอ็ดเก่าเป็นเมือง จึงโปรดตั้งให้ท้าวทนเป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมือง ยกบ้านกุ่มขึ้นเป็น เมืองร้อยเอ็ด ตามนามเดิม

ครั้งนั้นเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิ และเมืองร้อยเอ็ดมีว่า ตั้งแต่ปากน้ำลำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดีย ขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้งภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปักศาลาหักมูลเดง ประจบปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูลนี้เป็นเขตเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชี ขึ้นไปภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อันสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพระยานาคภูเมง มาประจบหนองแก้วศาลาอีเก้งมาบึงกุยนี้เป็นอาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด

ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตรู้ข่าวว่าพระวอมีความอริวิวาทกันกับพระเจ้านครจำปาศักดิ์ ยกครอบครัวมาตั้งอยู่ ณ ดอนมดแดง จึงแต่งให้พระยาสุโพคุมกองทัพมาตีพระวอ พระวอเห็นจะสู้มิได้ จึงพาครอบครัวอพยพขึ้นหนีขึ้นมาตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกองตามเดิม แล้วแต่งคนให้ไปขอกำลังพระเจ้านครจำปาศักดิ์มาช่วย พระเจ้าจำปาศักดิ์ก็หาช่วยไม่ กองทัพพระยาสุโพก็ยกตามมาล้อมเวียงไว้ จับพระวอได้แล้วก็ให้ฆ่าเสียที่ตำบลเวียงดอนกอง (ที่ซึ่งพระวอตายนี้ ภายหลังท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตาได้เป็นที่เจ้าจำปาศักดิ์ได้สร้างเจดีย์สวมไว้ คำในพื้นเมืองเรียกว่า ธาตุพระวอ อยู่ ณ วัดบ้านศักดิ์ แขวงเมืองจำปาศักดิ์ตราบเท่าบัดนี้)

ฝ่ายท้าวก่ำบุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม บุตรพระตาหนีออกจากที่ล้อมได้ จึงมีบอกแต่งให้คนถือมายังเมืองนครราชสีมา ให้นำความกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีขอกำลังกองทัพมาช่วย

ลุจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้พระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปทางบก สมทบกับกำลังเกณฑ์เมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังฆะ และโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง (ในจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก)

ฝ่ายกองทัพพระยาสุโพรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไปเห็นจะต้านทานไว้มิได้ ก็ยกกองทัพกลับคืนไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต

ส่วนกองทัพกรุงธนบุรีทั้งสองก็ยกขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงเห็นว่าจะจะต่อสู้มิได้ จึงพาครอบครัวอพยพหนีออกจากเมืองไปตั้งอยู่ที่เกาะไชย กองทัพไทยตามไปจับได้ตัวพระเจ้าองค์หลวงเมืองจำปาศักดิ์ แล้วก็เลยยกตีเมืองนครพนมบ้านหนองคายได้แล้ว ยกไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตต้านทานมิได้ก็หนีไปทางเมืองคำเกิด กองทัพไทยยกเข้าเมืองได้แล้ว ตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รั้งเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วเชิญพระแก้วมรกต ๑ พระบาง ๑ ซึ่งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ กับคุมเอาตัวพระเจ้าองค์หลวง (คือเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร) ยกกองทัพกลับมายังกรุงธนบุรี

พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้เจ้าไชยกุมาร กลับไปครองเมืองจำปาศักดิ์ตามเดิม ทำราชการเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงธนบุรีแต่นั้นมา และโปรดให้ยกบ้านอิ้ดกระบือเป็นเมืองอิ้ดกระบือ (คือเมืองอัตปือตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกบัดนี้) ให้เจ้าโอบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเป็นเจ้าเมือง เจ้าอินน้องเป็นอุปฮาด ครอบครองเมืองอิ้ดกระบือ และโปรดให้เลื่อนเจ้าเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ ขึ้นเป็นตำแหน่งพระยาทั้งสามเมือง

ในปีนี้เจ้าสุริโย ราชวงศ์เมืองจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรม มีบุตรชื่อ เจ้าหมาน้อย ๑ และท้าวคำผงบุตรพระตาไปได้นางตุ่ยบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเป็นภรรยา เจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารเห็นว่า ท้าวคำผงมาเกี่ยวเป็นเขยและเป็นผู้มีครอบครัวบ่าวไพร่มาก จึงตั้งให้ท้าวคำผงเป็นพระประทุมสุรราช เป็นนายกองใหญ่ควบคุมครอบครัวตัวเลกเป็นกองขึ้นเมืองจำปาศักดิ์ ตั้งอยู่ ณ บ้านเวียงดอนกอง (คือที่เรียกว่าบ้านดู บ้านแกบัดนี้)

ภายหลังเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมีย พระประทุมจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ ณ ตำบลห้วยแจะละแม๊ะ คือตำบลซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือเมืออุบลบัดนี้ คำที่เรียกว่าห้วยแจะละแม๊ะนั้นมีตำนานว่า คนเดินทางผ่านห้วยนั้นไปมาก็มักจะแวะเข้าไปขอเกลือต่อผู้ต้มเกลือว่าขอแจะละแม๊ะ คือแตะกินสักหน่อยเถิด จึงได้มีนามว่าห้วยแจะละแม๊ะมาแต่เหตุนั้น แต่บัดนี้ฟังสำเนียงที่เรียกกันเลือนๆเป็นแจละแมหรือจาละแมไป พระประทุมสุรราชมีบุตรชื่อท้าวโท ๑ ท้าวทะ ๑ ท้าวกุทอง ๑ นางพิม ๑ นางคำ ๑ นางคำสิง ๑ นางจำปา ๑

ในปีนี้พระยาขุขันธ์(ตากะจะ)ถึงแก่กรรม โปรดให้หลวงปราบ(เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักด่ศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ เลื่อนมาตั้งบ้านแตระเป็นเมืองขุขันธ์

ลุจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก เจ้าโอเจ้าเมือง เจ้าอินอุปฮาดเมืองอิ้ดกระบือ กระทำการกดขี่ข่มเหงราษฎรได้ความเดือดร้อน ความทราบถึงเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมาร จึงให้เจ้าเชษฐ เจ้านูหลาน คุมกำลังไปจับเจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าอินรู้ตัวหลบหนีไปเสียก่อน ส่วนเจ้าโอนั้นรู้ว่าอันตรายจะมาถึงตัวจะหนีไปไม่รอด จึงหนีเข้าไปกอดคอพระปฏิมากรอยู่

เจ้าเชษฐ เจ้านูไปพบเข้า จึงให้ไปจับตัวเจ้าโอออกมาจากพระปฏิมากรแล้ว เจ้าโอขอผัดกับเจ้าเชษฐ เจ้านูว่า ถ้าโทษตนจะต้องประหารชีวิตแล้ว ขอให้รอไว้แต่พอได้บังสุกุลตัวเสียก่อน แล้วเจ้าโอก็เอาผลสะบ้ามาประมาณ ๑๐๐ เศษ ควักเอาไส้ในออกเสีย เอาทองคำทรายกรอกเข้าไว้แล้ว นิมนต์พระมาบังสุกุล ถว่ายปลสะบ้าทองคำทรายทุกองค์แล้ว จึงกล่าววาจาอธิษฐานว่า เราไม่มีผิด เจ้าเชษฐ เจ้านูมาจับเราจะฆ่า ขอให้บาปนี้จงเป็นผลสนอง อย่าให้เจ้าเชษฐ เจ้านูได้เป็นเจ้าเมืองสืบวงศ์ตระกูลต่อไปเลย

ทันใดนั้น เจ้าเชษฐ เจ้านู ก็สั่งให้ไพร่เข้าจับตัวเจ้าโอเข้ามัด แล้วเอาเชือกหนังเข้ารัดคอเจ้าโอถึงแก่กรรม เจ้าโอมีบุตร ๒ คน ชื่อเจ้านาค ๑ เจ้าฮุย ๑ ในตำบลที่เจ้าโอถึงแก่กรรมนั้น ถายหลังเจ้านาค เจ้าฮุยผู้บุตรได้ก่อเจดีย์ขึ้นไว้ คำในพื้นเมืองเรียกว่า ธาตุเจ้าโอ ปรากฏอยู่ในเมืองอัตปือมาจนทุกวันนี้


..........................................................................



Create Date : 24 มีนาคม 2550
Last Update : 24 มีนาคม 2550 16:05:49 น. 5 comments
Counter : 4945 Pageviews.  
 
 
 
 
.......................................................................................................................................................


แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ในจุลศักราช ๑๑๔๑ ปีกุนเอกศก ฝ่ายทางเมืองเขมรเกิดจลาจลด้วยฟ้าทะละหะ(มู) กับพระยาวิบูลยราช(ชู) คิดกบฏจับสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชา ไปถ่วงน้ำเสีย ยกนักองค์เองขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร

ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก เมืองเขมรกลับไปฝักใฝ่ขึ้นอยู่กับญวน ข่าวทราบมาถึงกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบปราม ยังมิทันราบคาบดี พอข้างฝ่ายในกรุงธนบุรี พระเจ้าแผ่นดินมีสัญญาวิปลาสทรงพประพฤติการวิปริตต่างๆ พระยาสรรค์คิดกบฏจับพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เอาจำไว้แล้ว พระยาสรรค์ก็ตั้งตนขึ้นเป็นผู้ว่าราชการกรุงธนบุรี บรรดาโจรผู้ร้ายทั้งหลายต่างก็กำเริบตั้งมั่วสุมกันขึ้นเป็นหมู่เป็นเหล่า เที่ยวตีชิงปล้นฆ่าฟันไพร่ฟ้าประชาชนได้ความเดือดร้อนแตกตื่นไปเป็นโกลาหล

เมื่อข่าวทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็เสด็จยาตราทัพรีบกลับคืนมายังพระนคร ทรงปราบปรามพวกทุจริต ระงับจลาจลราบคาบเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยา

ในจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก ครั้นทรงทราบว่าทางเมืองจำปาศักดิ์และเมืองอิ้ดกระบือเกิดฆ่าฟันกัน จึงโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปคุมเอาตัวเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมาร กับเจ้าเชษฐ เจ้านู เจ้าหมาน้อย ลงมากรุงเทพฯ ถึงกลางทางเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารป่วยลง จึงโปรดให้กลับคืนไปรักษาตัวยังบ้านเมือง แล้วข้าหลวงก็คุมเอาแต่เจ้าเชษฐ เจ้านู เจ้าหมาน้อย ลงมา ณ กรุงเทพฯ

ในปีขาลจุลศักราช ๑๑๔๔นั้น พระยาขุขันธ์(เชียงขัน)มีใบบอกขอตั้งท้าวบุญจันทร์บุตรเลี้ยง ซึ่งติดมารดามาแต่ครั้งเข้ากองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศกนั้น เป็นตำแหน่งพระไกรผู้ช่วย

อยู่มาพระยาขุขันธ์เรียกพระไกรว่าลูกเชลย พระไกรมีความโกรธ ครั้นภายหลังมีพวกญวนพ่อค้าประมาณ ๓๐ คนมาเที่ยวหาซื้อโคกระบือถึงเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์จัดที่ให้พวกญวนพักอยู่ศาลากลาง แล้วเกณฑ์คนทำทางไปทางช่องโพย ให้ญวนนำกระบือลงไปทางเมืองพนมเปญ ฝ่ายพระไกรผู้ช่วยมีความพยาบาทพระยาขุขันธ์ จึงบอกกล่าวโทษมายังกรุงเทพฯว่า พระยาขุขันธ์คบพวกญวนต่างประเทศจะเป็นกบฏ จึงโปรดให้เรียกพระยาขุขันธ์ไปพิจารณาได้ความตามมหา ต้องจำคุกอยู่ ณ กรุงเทพฯ

เวลานั้นท้าวอุ่นผู้เป็นที่พระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ลงมา ณ กรุงเทพฯ กราบบังคมทูลขอเป็นเจ้าเมือง เมืองหนึ่งแยกออกจากเมืองขุขันธ์ ไปตั้งอยู่ ณ บ้านโนนสามขาสระกำแพงใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงขึ้นเป็น เมืองศรีสระเกศ ตั้งให้พระภักดีภูธรสงครามปลัดเมืองขุขันธ์ เป็นพระยารัตนาวงษาเจ้าเมืองศรีสระเกศ แล้วโปรดตั้งให้พระไกร(บุญจันทร์)ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ให้ท้าวมะนะ เป็นที่พระภักดีภูธรสงครามปลัด ท้าวเทศเป็นที่พระแก้วมนตรียกกระบัตรเมืองขุขันธ์ เมื่อในจุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงฉศก

อยู่มาพระยาไกรภักดี แต่งให้กรมการออกไปจับพวกราษฎรในกองเจ้าเมืองนัน เจ้าเมืองนันเกณฑ์กำลังยกมาตีพระยาไกรภักดี พระยาไกรภักดีสู้มิได้หนีไปอยู่เมืองสังฆะ แล้วบอกลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงคุมกำลังไปเจ้าเจ้าเมืองนันได้ พาเอาตัวลงมากรุงเทพฯ

จุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบญจศกนั้น พระขัตติยวงศา(ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดป่วยถึงแก่กรรม พระขัตติยวงศา(ทน)มีบุตร ๓ คน ชื่อท้าวสีลัง ๑ ท้าวภู ๑ ท้าวอ่อน ๑ จึงโปรดตั้งให้ท้าวสีลังเป็นพระขัตติวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวภูเป็นอุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด

จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงฉศก โปรดตั้งให้นายเชียงแตง บ้านหางโคปากน้ำเซฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผู้ได้พาญาติพี่น้องพรรคพวกเข้าสามิภักดิ์รับอาสานำร่องเรือขบวนทัพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์แม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น เป็นที่พระอุดมเดชเจ้าเมือง ยกบ้านหางโคเป็น เมืองเชียงแตง มีกำหนดเขตแขวงทิศตะวันออกถึงตำบลแสพวก ทิศใต้ถึงเขาเชิงโดย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงห้วยม่วง ทิศเหนือถึงดอนตะแบง เป็นบริเวณเชียงแตง ขึ้นกรุงเทพฯ

จุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็งสัปตศก พระยารัตนวงษา(อุ่น) เจ้าเมืองศรีสระเกศถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวชมบุตรพระยารัตนวงษา(อุ่น เป็นพระวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสระเกศ

ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมียอัฐศก เมืองศรีสระเกศกับเมือขุนขันธ์เกิดวิวาทแย่งชิงเขตแดนกัน จึงโปรดเกล้าให้ปันเขตแดนเมืองศรีสระเกศกับเมืองขุขันธ์ดังนี้ ทิศใต้ตั้งแต่เขาบรรทัดช่องจันหอมมาบ้านหัวดอน ถึงทุ่งประทาย มาบ้านขาม มาบ้านคันร่ม ถึงบ้านลาวเดิม ไปตามลำน้ำห้วยทาด ไปบ้านเก่าศาลาบ้านสำโรง บ้านดอยกองไปวังขี้นาค ไปบ้านอแก่งเก่า ไปกุดสมอ ไปสระสี่เหลี่ยม ไปหลักหินลงท่าลำน้ำพาชี ไปลำน้ำมูล ไปบ้านหมากเยา ถึงบ่อพันขันธ์ ไปถึงท่าหัวลำพาชี ลงไปข้างใต้เป็นพรมแดนเมืองขุขันธ์ ข้างเหนือเป็นเขตแดนเมืองศรีสระเกศ

จุลศักราช ๑๑๔๙ ปีมะแมนพศก ท้าวเชียงผู้เป็นอุปราชเจ้าเมือง เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม มีบุตรสองคน ชื่อท้าวโอะ ๑ ท้าวเพ ๑ กับบุตรหญิง ๔ คน จึงโปรดตั้งให้ท้าวสูนน้องท้าวเชียงเป็นอุปราชเจ้าเมือง เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดตั้งให้ท้าวเพบุตรท้าวเชียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่า เป็นที่พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์เจ้าเมืองหนองหาร (เป็นเมืองเก่าอยู่ในแขวงมณฑลอุดร) แยกเอาไพร่เมืองสุวรรณภูมิไป ๖๐๐

ลุจุลศักราช ๑๑๕๓ ปีกุนตรีศก อ้ายเชียงแก้วซึ่งตั้งอยู่ตำบลเขาโอฝั่งโขงตะวันออก แขวงเมืองโขง แสดงตนเป็นผู้วิเศษมีคนนับถือมาก อ้ายเชียงแก้วรู้ข่าวว่า เจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารป่วยหนักอยู่ เห็นว่าเป็นโอกาสอันดี จึงคิดการเป็นกบฏยกกำลังมาล้อมเมืองจำปาศักดิ์ไว้ ขณะนั้นเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารทราบข่าวว่า อ้ายเชียงแก้วยกมาตีเมืองจำปาศักดิ์ก็ตกใจ อาการโรคกำเริบขึ้นก็เลยถึงแก่พิราลัย อายุได้ ๘๑ ปี ครองเมืองจำปาศักดิ์ได้ ๕๓ ปี มีบุตรชายชื่อ เจ้าหน่อเมือง ๑ บุตรหญิงชื่อเจ้าป่อมหัวขวากุมารี ๑ เจ้าท่อนแก้ว ๑

ฝ่ายกองทัพอ้ายเชียงแก้วก็เข้าตีเอาเมืองจำปาศักดิ์ได้ ความทราบถึงกรุงเทพฯจึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) แต่ครั้งยังเป็นพระพรหมยกกระบัตร ยกกองทัพขึ้นไปกำจัดอ้ายเชียงแก้ว แต่พระพรหมไปยังมิทันถึง ฝ่ายพระประทุมสุรราชบ้านห้วยแจละแมผู้พี่ กับท้าวฝ่ายหน้าซึ่งไปตั้งอยู่บ้านสิงทา (คือเป็นเมืองยโสธรเดี๋ยวนี้) ผู้น้อง จึงพากันยกกำลังไปตีอ้ายเชียงแก้ว อ้ายเชียงแก้วยกกองทัพออกต่อสู้ที่แก่งตนะ (อยู่ในลำน้ำแขวงเมืองพิมูลเดี๋ยวนี้) กองทัพอ้ายเชียงแก้วแตกหนี ท้าวฝ่ายหน้าจับตัวอ้ายเชียงแก้วได้ให้ฆ่าเสียแล้ว

พอกองทัพเมืองนครราชสีมายกไปถึง ก็พากันไปเมืองจำปาศักดิ์ และพากันยกเลยไปตีข่าชาติกระเสงสวายจะรายระแดร์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกจับได้มาเป็นอันมาก จึงได้มีไพร่ข้า และประเพณีตีข่ามาแต่ครั้งนั้น

แล้วโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตาผู้มีความชอบ เป็นเจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศาครองเมืองจำปาศักดิ์ โปรดให้เจ้าเชษฐ เจ้านู ขึ้นไปช่วยราชการอยู่ด้วยเจ้าพระวิไชยราช จึงได้ย้ายเมืองขึ้นมาตั้งอยู่ทางเหนือ คือที่เรียกว่าเมืองเก่าคันเกิง ณ บัดนี้ เจ้าพระวิไชยราชขัตตยวงศา จึงตั้งให้ท้าวสิงผู้หลานอยู่ ณ บ้านสิงทาเป็นราชวงศ์เมืองโขง(สีทันดร) และทูลขอตั้งให้ท้าวบุตรเป็นเจ้าเมืองนครพนม (อันเป็นเมืองเก่าแขวงมณฑลอุดร)

และโปรดเกล้าฯตั้งให้พระประทุมสุรราช(คำผง)เป็นเจ้าเมือง ยกบ้านห้วยแจละแมขึ้นเป็น อุบลราชธานี (ตามนามพระประทุม) ขึ้นกรุงเทพฯ ทำส่วยผึ้ง ๒ เลข ต่อเบี้ยน้ำรัก ๒ ขวด ต่อเบี้ยป่าน ๒ เลขต่อขวด พระประทุมจึงย้านมาตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านร้างริมลำน้ำพิมูล ใต้ห้วยแจละแมประมาณทาง ๑๒๐ เส้น คือที่ซึ่งเป็นเมืองอุบลเดี๋ยวนี้ และได้สร้างวัดหลวงขึ้นวัดหนึ่ง

เขตแดนเมืองอุบลมีปรากฏในเวลานั้นว่า ทิศเหนือถึงน้ำยังตกลำน้ำพาชี ไปยอดบังอี่ ตามลำน้ำบังอี่ไปถึงแก่งตนะ ไปภูจอกอ ไปช่องนาง ไปยอดห้วยอะลีอะลอง ตัดไปดงเปื่อย ไปสระดอกเกศ ไปตามลำกะยุง ตกลำน้ำมูล ปันให้เมืองสุวรรณภูมิ ฝ่ายเหนือหินสิลาเลขหนองกากวากเกี่ยวชี ปันให้เมืองขุขันธ์ แต่ปากห้วยทัพทัน ตกมูลภูเขาวงก์

ครั้งนั้นขุนนักจันหอมผู้ครองตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าพระวิไชยขัตติยวงศา จึงคตั้งท้าวอินทวงศ์ บุตรขุนนักจันหอม เป็นขุนนักอินทวงศ์ ครองตำบลโขงเจียงต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ มีคนลอบฟันท้าวสูนผูเป็นอุปราชเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวเพี้ยกรมการจับตัวทิดโคตรพิจารณาได้ความเป็นสัตย์ ว่าเป็นผู้ฟัน ทิดโคตรถูกเฆี่ยนตายอยู่กับคา แล้วเจ้าเมืองกรมการจึงมีหนังสือบอกลงมายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวอ่อนท้าว บุตรพระขัตติยวงศา(ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า ซึ่งได้มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ในกรุงเทพฯนั้น เป็นอุปราชเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานหมวกตุ้มปี่กระบี่บั้งทองเป็นเกียรติยศ

ในปีนั้นเมืองแสนสุวรรณภูมิไม่ถูกกับเจ้าเมือง อพยพมาตั้งอยู่บ้านหนองแก้ว สมัครทำราชการขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาจึงบอกกราบบังคมทูลขอตั้งให้เมืองแสนเป็นเจ้าเมือง ขอยกบ้านหนองแก้วขึ้นเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เมืองแสนเป็นที่พระจันตประเทศ ยกบ้านหนองแก้วขึ้นเป็น เมืองชนบท (แขวงมณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา แบ่งเอาที่ดินเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งแต่ตำบลบ้านกู่ทองไปจนถึงหนองกองแก้ว เป็นเขตของเมืองชนบทแต่ครั้งนั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก ท้าวโสมพมิตร ท้าวอุปชา ซึ่งเดิมอยู่บ้านผ้าขาวแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต และพาครอบครัวยกมาตั้งอยู่บ้านท่าแก่งสำโรงริมน้ำปาวนั้น ได้พาพวกญาติพี่น้องมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ควบคุมบ่าวไพร่ตัวเลขเก็บผลเร่วส่งทูลเกล้าฯถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวโสมพมิตรเป็นพระไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวคำหวาเป็นที่อุปฮาด ยกบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็น เมืองกาฬสินธุ์ ทำราชการขึ้นกรุงเทพฯ

อาณาเขตเมืองกาฬสินธุ์ครั้งนั้นมีว่า ทิศตะวันออกลำพยังตกลำน้ำชี ทิศเหนือเฉียงตะวันตกภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำไก่เขี่ย ตัดลงคูไชเถ้าเกาะ จนกระทั่งห้วยสายบาท ตกลำพวง ทิศเหนือเฉียงตะวันออกภูศรีถานยอดลำห้วยหลักทอด ตกลำพยังแต่ภูศรีถานเฉียงเหนือยอดห้วยก้านเหลืองลงน้ำก่ำเมืองหนองหาร เฉียงเหนือภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำน้ำยามถึงลำน้ำอุ่น ตัดมาหนองบัวส้างยอดน้ำลาด ตกน้ำหนองหาร

ครั้นพระยาไชยสุนทร(โสมพมิตร) อุปฮาด(คำหวา)ถึงแก่กรรมแล้ว จึงโปรดตั้งให้ท้าวหมาแพงบุตรท้าวอุปชาเป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหมาสุยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวหมาพวงเป็นราชวงศ์ ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรพระยาไชยสุนทร(โสมพมิตร) เป็นผู้รักษาเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป และโปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงขึ้นไปสักตัวเลข เป็นเลขขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ มีจำนวนครั้งนั้นรวม ๔๐๐๐ คน แบ่งเป็นส่วยขึ้นกับเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ตามสมควร

ฝ่ายราชวงศ์(พวง)นั้น กระทำการเกี่ยงแย่งหาเป็นสามัคคีกับพระยาไชยสุนทรไม่ จึงอพยพครอบครัวแยกไปตั้งอยู่ ณ บ้านเชียงชุม แล้วไปยอมสมัครขึ้นอยู่กับเมืองแขวงจันทน์(ศรีสัตนาคนหุต)

ลุจุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาลฉศก พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(เชียงปุ่ม) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม พระยาสุรินทร์(เชียงปุ่ม)มีบุตรชาย ๒ ชื่อท้าวตี ๑ ท้าวมี ๑ มีบุตรหญิง ๒ ชื่อนางน้อย ๑ นางเงิน ๑ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวตีบุตรพระยาสุรินทร์(เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ว่าราชการเมืองสุนรินทร์ต่อไป ครั้งนั้นอาณาเขตเมืองสุรินทร์ปรากฏว่า ทิศตะวันออกถึงห้วยทัพทัน ทิใต้ถึงเขาตก ทิศตะวันตกถึงห้วยลำสโดง ทิศเหนือถึงลำห้วยพลับพลา ข้างทิศอีสานต่อกับเมืองรัตนบุรีถึงหลักหินหัวห้วยปูน ไปหลักหินสร้างบด ไปหลักหินโสกสาวแอ ถึงหลักหินหนองหลักไปลำห้วยจริง

ในปีนั้นขุนนักอินทวงศ์ผู้รักษาตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม ขุนนักราชบาอินน้องได้เป็นใหญ่ รักษาในตำบลโขงเจียงต่อมา

วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ พระประทุมสุรราช(คำผง) เจ้าเมืองอุบลถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้ทิดพรหมบุตรพระตา เป็นพระพรหมราชวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวก่ำบุตรพระวอเป็นที่อุปฮาด รักษาเมืองอุบลราชธานีต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็งนพศก ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโล่นเมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับบัญชา ๓๐๐ เศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น เมืองขอนแก่น (มณฑลอุคร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา

ลุจุลศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก เพี้ยมุขเป็นบุตรพระศรีมหาเทพเขมร ซึ่งพาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านเมืองแสนในเมืองโขงนั้น ได้ไปเกลี้ยกล่อมชนชาติข่าซึ่งอยู่ตามฟากโขงตะวันออก ได้พวกข่าบ้านแคะ บ้านจาร บ้านตาปางเข้าเป็นพวกแล้ว ก็อพยพครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านตาปาง แล้วก็เกลี้ยกล่อมได้พวกข่าชาติระแว จะราย จุมพอน ซึ่งตั้งอยู่ตามตำบลห้วยสมอขึ้นไปจนถึงน้ำสระไทย มาเข้าเป็นพวกอีกเป็นอันมาก เพี้ยมุขจึงได้ส่งขึ้ผึ้งงาช้างและของป่าต่างๆเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เพี้ยมุขเป็นพระศรีมหาเทพเจ้าเมือง ตั้งท้าวอุ่นเมืองโขงเป็นอุปฮาด ยกบ้านปางตาขึ้นเป็น เมืองแสนปาง ขึ้นกรุงเทพฯ ให้ปันเขตแขวงเมืองเชียงแตงกับเมืองจำปาศักดิ์ เป็นเขตแขวงเมืองแสนปาง คือทิศตะวันออกถึงลำน้ำเซซาน ทิศตะวันตกถึงห้วยตลุน ทิศเหยือถึงแก่งสักแอก ทิศใต้ถึงแก่งบางเหยาะ

ลุจุลศักราช ๑๑๖๑ ปีมะแมเอกศก เพี้ยศรีปาก เพี้ยเหล็กสะท้อน เพี้ยไกรสร เมนาเมืองสุวรรณภูมิ คบคิดกันเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเป็นพวกพ้องตัวเลขได้ ๒๐๐ คนเศษ แยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปสมัครขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมา พระยานครราชสีมามีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เพี้ยศรีปากเป็นพระเสนาสงครามเจ้าเมือง ยกบ้านหมากเฟืองบ้านหนองหัวแรดซึ่งอยู่ริมเมืองพุดไทยสงเก่า เป็น เมืองพุดไทยสง ขึ้นเมืองนครราชสีมา (มณฑลนครราชสีมา) โปรดเกล้าฯให้เมืองสุวรรณภูมิปันเขตแขวงให้ ตั้งแต่ฟากลำพังชูทางตะวันตกไปถึงลำสะแอกเป็นเขตแดนเมืองพุดไทยสง

ในระหว่างปีนี้มีตราโปรดเกล้าฯขึ้นไปเกณฑ์กำลังเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองละ ๑๐๐ รวม ๓๐๐ คน เข้ากองทัพยกไปตีเมืองพม่า ซึ่งเข้ามาตั้งอยู่ในเขตแขวงเมืองนครเชียงใหม่ แต่กองทัพไทยมิทันยกไปถึง พอได้ข่าวว่ากองทัพพม่ายกเลิกถอยไปแล้ว ก็โปรดเกล้าฯให้ยกกลับมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ตี) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน

ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลูสัปตศก พระเจ้าวิไชยราชขัตติยวงศาผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงขอตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขนานนามว่า เมืองสพาด (อยู่ฝั่งโขงตะวันออก) ตั้งพระศรีอัคฮาดบุตรจารหวดเจ้าเมืองโขงเป็นเจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์

ลุจุลศักราช ๑๑๖๘ ปีขาลอัฐศก ทรงพระราชดำริว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เป็นเมืองเคยได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้งมีความชอบมาก ให้ยกเมืองทั้ง ๓ นี้ขึ้นกรุงเทพฯ อย่าให้ขึ้นอยู่ในบังคับเมืองพิมายเมืองนครราชสีมาเหมือนแต่ก่อนนั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก พระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน(ตี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม พระสุรินทร์มีบุตรชาย ๖ ชื่อท้าวสูน ๑ ท้าวแก้ว ๑ ท้าวทอง ๑ ท้าวยง ๑ ท้าวปรัง ๑ ท้าวสอน ๑ บุตรหญิงชื่อ นางไข ๑ นางคำ ๑ นางตี ๑ นางต้ม ๑ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวมีผู้เป็นหลวงวิเศษราชาน้องชายพระสุรินทร์(ตี) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน เจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป

วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามต่อมา


..........................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:15:49:51 น.  

 
 
 
......................................................................................................................................................


แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ลุจุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียโทศก พระยาเดโช(เมง) เจ้าเมืองกำแพงสวาย(เขมร) กับนักปรังซึ่งเป็นน้องชายมีความอริวิวาทกันกับนักพระอุไทยราชา(นักองค์จันทร์)เจ้ากรุงกัมพูชา พระยาเดโชกับนักปรังจึงอพยพครอบครัวเข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ ณ แขวงเมืองโขง เมืองนครจำปาศักดิ์ จึงมีบอกเข้ามา ณ กรุงเทพฯ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยากลาโหมราชเสนาเกณฑ์กำลังตามหัวเมืองตะวันออก ยกไปขัดตาทัพรับครัวเขมรอยู่ ณ ท่าม่อออมใต้ปากน้ำเซลำเภาลงไปถึงปากคลองเสียมโบก รับครัวพระยาเดโชมาตั้งอยู่บ้านลงปลา ครัวนักปรังตั้งอยู่เวินฆ้อง(เมืองเซลำเภา) จึงมีเขมรแทรกปนอยู่ในแขวงเมืองโขงแต่นั้นมา

ฝ่ายนักปรังนั้น ได้นางเตียงภรรยาเจ้าเมืองเชียงแตงมาเป็นภรรยา มีบุตรชื่อนักอินติดมาด้วยคนหนึ่ง ภายหลังนางเตียงเกิดบุตรกับนักปรังอีก ๓ คน ชื่อนักกม ๑ นักเมือง ๑ นักเต๊ก ๑ และในระหว่างนั้น นายพรหมคนเมืองสังฆะ ไปได้นางมกบุตรสาวพระยาเดโช(เมง)เป็นภรรยา พระยาเดโช(เมง)จึงตั้งนายพรหมให้เป็นที่หลวงจำนงเสมียนตรา

วันอังคาร ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ เจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา(หน้า) เจ้านครจำปาศักดิ์พิราลัย ครองเมืองได้ ๒๑ ปี มีบุตรชายชื่อเจ้าบุตร ๑ บุตรหญิง ๓ ชื่อนางแดง ๑ นางไทย ๑ นางก้อนแก้ว ๑ แสนท้าวพระยาจึงมีบอกเข้ามากราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงทราบใต้ฝ่าละลองธุลีพระบาทแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระยากลาโหมราชเสนาเป็นข้าหลวงนำหีบศิลาหน้าเพลิง เครื่องไทยทานไปปลงศพเจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศา และให้นำสุวรรณบัตรไปพระราชทานให้เจ้านู บุตรเจ้าหน่อเมืองหลานเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์

พอข้าหลวงเชิญตราไปถึงเมืองนครจำปาศักดิ์ได้ ๓ วัน วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแมตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ ยามเที่ยงคืนเจ้านครจำปาศักดิ์(นู)ก็ถึงพิราลัยในเมือง ที่เรียกว่าเมืองเก่าคันเกิงอยู่บัดนี้ พวกข้าหลวงและแสนท้าวพระยาจึงพร้อมกันกระทำการปลงศพเจ้าพระวิไชยขัตติยวงศา(หน้า)เสร็จแล้ว ได้ก่อเจดีย์บรรจุอัฐิเจ้านครจำปาศักดิ์(หน้า)ไว้ ณ วัดเหนือในเมืองเก่าคันเกิง คำลาวเรียกว่า ธาตุหลวงเฒ่ามาจนบัดนี้

ในปีนี้พระสุรินทรภักดีศรีประทายสมัน(มี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวสุ่นบุตรพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ตี) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีประทายสมัน เจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป

ครั้งจุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอกจัตวาศก พระยากลาโหมราชเสนาจัดราชการ ณ เมืองจำปาศักดิ์เรียบร้อยแล้ว จึงได้เชิญเอาพระแก้วผลึก ซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้มาแต่บ้านนายอนมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองจำปาศักดิ์นั้น นำลงมาทูลเกล้าฯถวาย ณ กรุงเทพฯ พระแก้วผลึกองค์นี้หน้าตักกว้าง ๙ นิ้วกึ่ง สูง ๑๒ นิ้วเศษ ซึ่งปรากฏนามในปัจจุบันนี้ว่า พระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิพิมลมณีมัย นั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๗๕ ปีระกาเบญจศก จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เจ้าหมาน้อยบุตรเจ้าราชวงศ์(สุริโย) หลานเจ้าสร้อยศรีสมุทเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้าธรรมกิติกาบุตรเจ้าอุปราช(ธรรมเทโว)เป็นเจ้าอุปราชรักษาเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อไป

ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย) กับเจ้าอุปราชมีความอริวิวาทกัน จึงคุมกันลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯให้แยกเจ้าอุปราชไว้เสียกรุงเทพฯ โปรดให้เจ้านครจำปาศักดิ์หมาน้อยกลับขึ้นไปครองเมืองนครจำปาศักดิ์ต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอฉศก ฝ่ายอุปฮาด(ก่ำ)เมืองอุบลราชธานี กับราชวงศ์(สิง)เมืองโขง ซึ่งเป็นญาติกันกับเจ้าพระวิไชยขัตติยวงศา เจ้านครจำปาศักดิ์เก่านั้น มิพอใจที่จะทำราชการกับเมืองนครจำปาศักดิ์ และเมืองอุบล

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านสิงทาเป็น เมืองยโสธร ให้ราชวงศ์(สิงห์)เมืองโขงเป็นที่พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธร ท้าวสีชาเป็นอุปฮาด ท้าวบุตรเป็นราชวงศ์ ท้าวแสนป็นราชบุตร ขึ้นกรุงเทพฯผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ย ป่านสองเลขต่อขวด

โปรดให้ตั้งบ้านโคกกงพะเนียง ริมน้ำฝั่งโขงตะวันตก เป็น เขมราษฎร์ธานี ให้อุปฮาด(ก่ำ)เมืองอุบลเป็นที่พระเทพวงศาเจ้าเมืองเขมราษฎร์ ขึ้นกรุงเทพฯ ผูกส่วยน้ำรัก ๒ เลขต่อเบี้ย ป่าน ๒ ขวดต่อ ๑๐ บาท และโปรดตั้งให้ท้าวกุทองบุตรพระประทุมสุรราชเป็นอุปฮาดเมืองอุบล

ครั้งนั้นจึงได้กำหนดเขตแขวงแบ่งปันเขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์ ฝ่ายเหนือเลื่อนลงมาถึงปากคลองนำโดมใหญ่ ไปถึงคลองเท้าสาร คลองตองแอก ตัดลงลำน้ำกระยุงต่อเขาบรรทัด ฝ่ายตะวันออกตรงปากคลองน้ำโดมใหญ่ ไปตามลำคลองทราบ ถึงคลองบางโกย ตัดลงปาดเซบังเหียงขึ้นไปเขาบรรทัด ต่อแดนเมืองญวน เป็นกำหนดเขตแดนเมืองนครจำปาศักดิ์

ในปีนั้น ฝ่ายเมืองสุวรรณภูมิ ท้าวอ่อนผู้เป็นอุปราชเจ้าเมืองสุวรรณภูมิเป็นคนมีภรรยามาก หลงรักภรรยาน้อย ฝ่ายนางแก้วภรรยาใหญ่มีความขัดใจ จึงได้ลงมาทำฎีกาทูลเกล้าฯถวาย กล่าวโทษท้าวอ่อนเจ้าเมือง ว่าประพฤติการทุจริตกดขี่ข่มเหงราษฎรได้ควางเดือดร้อนต่างๆ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หาตัวท้าวอ่อนเจ้าเมืองลงมาแก้คดี ณ กรุงเทพฯ พิจารณาได้ความจริงว่า ท้าวอ่อนเป็นผู้ประพฤติการทุจริตต่างๆ จึงโปรดเกล้าฯให้เอาตัวไปกักไว้ ณ บ้านหนองหอย แขวงเมืองสารบุรี

แล้วโปรดตั้งให้ท้าวโอ๊ะ บุตรท้าวเชียง หลานท้าวมืด เหลนจารแก้วเจ้าเมืองคนต้น เป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๑๗๙ ปีฉลูนพศก มีภิกษุอลัชชีรูปหนึ่ง ชื่อสา อยู่บ้านหลุบเลาเตาปูน แขวงเมืองสารบุรี เดินธุดงค์มาหยุดพักอาศัยอยู่ที่เขาเกียดโง้งฝั่งโขงตะวันออก ซึ่งเป็นแขวงเมืองจำปาศักดิ์แต่ก่อน อ้ายสาแสดงตัวว่าเป็นคนมีวิชาฤทธานุภาพต่างๆ เป็นต้นว่าเอาแว่นแก้วมาส่องกับแดดให้ติดเชื้อเป็นไฟลุกขึ้นแล้วอวดเรียกว่าไฟฟ้าได้ และสามารถที่จะเรียกให้ไฟนั้นมาเผาบ้านเมือง และมนุษย์ เดียรัจฉาน ให้ไหม้วินาศฉิบหายไปทั้งโลกก็ได้ ฝ่ายคนในประเทศเหล่านั้น มีพวกข่าเป็นต้น อันประกอบไปด้วยสันดานความเขลา มิรู้เท่าเล่ห์กลอ้ายสา ครั้นเห็นอ้ายสาแสดงวิชาดังนั้นก็พากันนิยมเชื่อถือ เข้าเป็นพวกอ้ายสาเกียดโง้งเป็นอันมาก

ครั้นอ้ายสาเห็นมีผู้คนกลัวเกรงเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวกมากแล้วก็มีใจกำเริบ จึงคิดกบฏยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีตามตำบลบ้านใหญ่น้อยต่างๆในเขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์ตามรายทาง แล้วมาลงเรือที่ปากคลองตะปุง แขวงเมืองสีทันดร ยกมา ณ เมืองจำปาศักดิ์

ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย)รู้ข่าว ว่าอ้ายสาเกียดโง้งยกทัพมาดังนั้น ก็ตกใจโดยมิทันได้เตรียมตัว จึงอพยพพาครอบครัวหลบหนีเข้าป่าไป วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ อ้ายสาเกียดโง้งก็พากองทัพเข้าเมืองนครจำปาศักดิ์ได้แล้ว ก็เที่ยวเก็บริบเอาทรัพย์สมบัติต่างๆ และทั้งเอาไปจุดเผาเมืองเสียด้วย

เวลานั้นเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน)กำลังเที่ยวกำจัดตีข่าพวกเสม็ดกันชา ข่าประไรนบประไรต่าง อยู่ ณ แขวงเมืองโขง จึงมีบอกลงมากรุงเทพฯ แล้วเจ้าพระยานครราชสีมากับพระศรีอัคฮาด พระโพสาราชเมืองโขง จึงเกณฑ์กองทัพยกมาตีกองทัพอ้ายสาเกียดโง้งแตก หนีไปตั้งอยู่ ณ เขายาปุ แขวงเมืองอัตปือ

ฝ่ายททางกรุงเทพฯก็โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์(ป้อม)(๑) กับพระศรสำแดงคุมกองทัพขึ้นไปตามจับอ้ายสาเกียดโง้ง หาได้ตัวไม่ พระยามหาอำมาตย์ พระศรสำแดงจึงได้คุมเอาตัวเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย)ลงมา ณ กรุงเทพฯ เจ้าจำปาศักดิ์(หมาน้อย)ก็ถึงพิราลัยอยู่ในกรุงเทพฯ ครองเมืองได้ ๙ ปี มีบุตรชาย ๙ คน ชื่อเจ้าอุ่น ๑ เจ้านุด ๑ เจ้าแสง ๑ เจ้าบุญ ๑ เจ้าจุ่น ๑ เจ้าจู ๑

แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าอนุเวียงจันทน์ ยกกำลังทัพเที่ยวตามจับอ้ายสาเกียดโง้ง กองเจ้าราชบุตร(โย่)บุตรเจ้าอนุเวียงจันทน์จับตัวอ้ายสาเกียดโง้งได้ ส่งลงมากรุงเทพฯ

ลุจุลศักราช ๑๑๘๓ ปีมะเส็งตรีศก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าราชบุตร(โย่)เมืองเวียงจันทน์ เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้าคำป้องเมืองเวียงจันทน์เป็นเจ้าอุปราช

เจ้านครจำปาศักดิ์(โย่)มาอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งเรียกว่าเมืองเก่าคันเกิงบัดนี้ แล้วก็เกณฑ์ไพร่พลให้ขุดดินพูนขึ้นเป็นกำแพงเมือง และก่อสร้างกำแพงวัง และสร้างหอพระแก้ว ไว้สำหรับเจ้านายแสนท้าวพระยาลาวได้รับน้ำพระพิพัฒน์สัตยาตามธรรมเนียม และได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยแก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้ว เป็นไหมหรือป่าน หรือผลเร่ว คนหนึ่งหนักชั่งห้าตำลึงแต่นั้นมา ส่วนข้างเปลือกก็เก็บตามเดิม

ในระหว่างนั้น ขุนนักราชบาอินทร์ผู้รักษาเมืองโขงเจียงมีความผิด เจ้านครจำปาศักดิ์(โย่)จึงเอาตัวทำโทษ แล้วจึงมีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอตั้งให้ท้าวมหาอินทร์บุตรขุนนักอินทวงศ์ผู้รักษาเมืองโขงเจียงเก่า เป็นพระกำแหงสงคราม ยกบ้านาค่อขึ้นเป็น เมืองโขงเจียง และขอยกบ้านช่างคูเป็น เมืองเสมียะ ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์แต่นั้นมา

ลุจุลศักราช ๑๑๘๕ ปีมะแมเบญจศก ฝ่ายทางเมืองยโสธร พระสุนทรราชวงศา(สิง)เจ้าเมืองถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(สีชา)เป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมือง ให้ราชวงศ์(บุตร)เป็นอุปฮาด เลื่อนราชบุตร(เสน)เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุดตาเป็นราชบุตร รักษาเมืองยโสธรต่อไป พระสุนทรราชวงศา(สีชา)เป็นเจ้าเมืองยโสธรได้ ๓ เดือนเศษ ก็ถึงแก่กรรม ยังหาทันโปรดเกล้าฯให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่ มีแต่อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร กรมการรักษาราชการอยู่

ครั้นวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยสวรรคต วันอาทิตย์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม


..........................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:15:56:12 น.  

 
 
 
......................................................................................................................................................


แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงขึ้นไปแยกย้ายกันตรวจสำมะโนครัว และตั้งกองสักอยู่ตามหัวเมืองมณฑลอีสานบางเมือง มีเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ดเป็นต้น และให้เรียกส่วยผลเร่วเป็นธรรมเนียมแต่นั้นมา ในระฟหว่างนั้นพระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศรีสระเกศถึงแก่กรรม

ครั้นวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ ปีระกาสัปตศก จุลศักราช ๑๑๘๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระภักดีปลัดเป็นพระยาวิเศษภักดี เจ้าเมือง ให้หลวงยกกระบัตรเป็นที่พระปลัด ให้ราชบุตรเป็นหลวงยกกระบัตร ให้ทิดอูดเป็นหลวงมหาดไทย ให้ขุนไชยณรงค์เป็นหลวงธิเบศร์

ลำดับนั้น ตั้งแต่เขตแขวงเมืองจำปาศักดิ์ ไปจนเมืองเวียงจันทน์อยู่ในอำนาจเจ้าอนุเวียงจันทน์กับเจ้าโย่บุตรที่ครองเมืองจำปาศักดิ์ พ่อลูกทั้งสองเห็นว่ามีเขตแขวงและกำลังผู้คนมากขึ้น ก็มีใจกำเริบคิดกบฏต่อกรุงเทพฯ เมื่อปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๑๘๘ เจ้าอนุก็แต่งให้เจ้าอุปราช(สีถาน) กับเจ้าราชวงศ์เมืองเวียงจันทน์ คุมกองทัพยกมาตีหัวเมืองรายทางเข้ามาถึงเมืองกาฬสินธุ์ จับพระยาไชยสุนทร(แพง)เจ้าเมือง และอุปฮาด(สุย)กับกรมการเมืองกาฬสินธุ์ฆ่าเสียแล้ว ให้กวาดเอาครอบครัวไพร่บ้านพลเมืองส่งไปเมืองเวียงจันทน์

แล้วเจ้าอุปราชราชวงศ์ก็ยกกองทัพเลยล่วงเข้ามาถึงเมืองเขมราษฎร์ จับพระเทพวงศาเจ้าเมืองเขมราษฎร์ได้ฆ่าเสีย แล้วยกทัพไปถึงเมืองร้อยเอ็ด พระยาขัตติยวงศาเจ้าเมืองเห็นว่าจะสู้รบต้านทานมิได้ และจะหนีก็ไม่ทัน จึงคิดกันกับกรมการ พาเอานางหมานุย นางตุ่ย นางแก้ว บุตรสาวพระยาขัตติยวงศายกให้เจ้าอุปราช

แล้วเจ้าอุปราชก็ยกกองทัพมาถึงเมืองสุวรรณภูมิ จับข้าหลวงกองสักได้ฆ่าเสีย แล้วจะเอาตัวพระรัตนวงศาเจ้าเมืองฆ่าเสียด้วย พระรัตนวงศาเจ้าเมืองจึงเอานางอ่อมบุตรสาวเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่า กับม้าผ่าน ๑ มายกให้เจ้าอุปราช จึงได้งดไว้มิได้ฆ่า แล้วกองทัพเจ้าอุปราช ราชวงศ์ ก็เลยยกตีหัวเมืองรายทางลงมาจนถึงเมืองนครราชสีมา(๒)

ฝ่ายทางเมืองจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์(โย่)ก็เกณฑ์กำลังยกเป็นกองทัพลงมาตีเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ แตกทั้ง ๓ เมือง จับพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(บุญจันทร์)เจ้าเมืองขุขันธ์ กับพระภักดีภูธรสงครามปลัด(มะนะ) พระแก้วมนตรี(เทศ)ยกกระบัตร กับกรมการได้ฆ่าเสีย แต่ส่วนพระยาสังฆะ สุรินทร์ ทั้ง ๒ นั้นหนีไปได้

แล้วกองทัพเจ้าจำปาศักดิ์(โย่)ก็ยกมาตั้งอยู่ ณ เมืองอุบล พระพรหมราชวงศายอมเข้าด้วยไม่ต่อสู้ เจ้าจำปาศักดิ์(โย่)จึงมิได้ทำอันตราย แล้วเจ้าจำปาศักดิ์(โย่)ก็ให้กวาดครอบครัวไทยเขมรส่งไปยังเมืองจำปาศักดิ์เป็นอันมาก

ครั้งนั้นกองทัพเวียงจันทน์และเมืองจำปาศักดิ์ตั้งค่ายอยู่ที่มูลเคง แขวงเมืองนครราชสีมาแห่ง ๑ ที่บ้านส้มป่อยแขวงเมืองขุขันธ์แห่ง ๑ ที่ทุ่งมนแห่ง ๑ ค่ายน้ำคำแห่ง ๑ ที่บกหวานแขวงเมืองหนองคายแห่ง ๑

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพเป็นทัพหลวง เจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์)แต่ครั้งยังดำรงยศเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นทัพหน้า ยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามศึกกบฏ(๓)

ครั้นกองทัพกรุงยกไปถึงเมืองนครราชสีมาก็ได้พบกับกองทัพเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ สู้รบกันเป็นสามารถ กองทัพเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ต้านทานกองทัพกรุงมิได้ ก็แตกร่นขึ้นไปถึงค่ายมูลเคง กองทัพกรุงก็ตามตีขึ้นไปค่ายมูลเคง แตกแล้วก็ยกตามตีไปถึงค่ายส้มป่อย ค่ายทุ่งมน ค่ายน้ำคำ แตกกระจัดกระจายไปทุกค่ายจนถึงกองทัพเจ้าจำปาศักดิ์(โย่)

ขณะนั้นฝ่ายพวกครัวไทยเขมรที่เจ้าจำปาศักดิ์(โย่)ให้กวาดส่งไปไว้ยังเมืองจำปาศักดิ์นั้น ครั้นรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไป ครั้นวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีกุนนพศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พวกครัวก็พากันเอาไฟเผาเมืองจำปาศักดิ์ลุกลามขึ้น ราษฎรไพร่บ้านพลเมืองก็พากันแตกตื่นเป็นอลหม่าน

ฝ่ายกองทัพเจ้าจำปาศักดิ์(โย่)ก็แตกหนีข้ามไปทางแม่น้ำโขง แต่เจ้าอุปราช(คำป้อง)เมืองจำปาศักดิ์นั้นหนีไปตายอยู่กลางป่า ส่วนกองทัพเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ก็แตกหนีร่นไปตั้งรวบรวมไพร่พลอยู่ ณ ค่ายบกหวาน

เจ้าพระยาราชสุภาวดี(๔) จึงได้ยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองยโสธร ผ่อนไพร่พลและจัดเกณฑ์กำลังหัวเมืองต่างๆมาเข้ากองทัพ และให้เจ้าโอ เจ้าเมืองอัตปือยกกำลังกองหนึ่งไปเที่ยวติดตามจับเจ้าจำปาศักดิ์(โย่) ณ ฟากโขงตะวันออก ให้เจ้านาคผู้พี่เจ้าฮุย คุมกำลังมาสมทบเข้ากองทัพพร้อมด้วยกองทัพหัวเมืองต่างๆพร้อมแล้ว ก็ยกไปตีกองทัพเวียงจันทน์ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลบกหวาน ได้สู้รบกันเป็นสามารถ

ครั้งนั้นมีเสียงว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพหลวง ได้ถูกเจ้าราชวงศ์แทงเอาด้วยหอกที่สีข้างข้างซ้าย แต่ถูกพลาดถลากไปเป็นแผลเล็กน้อยเมื่อถูกแทงนั้น บางข่าวว่ากำลังขี่สู้กันบ้าง บ้างก็ว่าขี่ม้า บ้างก็ว่าเจ้าพระยาราชสุภาวดีกำลังขี่ม้าไปในป่ากับนายทัพนายกองรองๆสองสามคน เพื่อจะไปหาตำบลชัยภูมิที่ตั้งค่าย ขณะนั้นพอมาถึงหัวเลี้ยวแห่งหนึ่ง ก็พบเจ้าราชวงศ์เวียงจันทน์ ซึ่งขี่ม้ามากับทหารสองสามคน จนหน้าม้าชนกันโดยต่างคนยั้งตัวมิทัน ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีนั้นหารู้จักเจ้าราชวงศ์ไม่ แต่ฝ่ายเจ้าราชวงศ์นั้นรู้จักเจ้าพระยาราชสุภาวดี ทันใดนั้นเจ้าราชวงศ์ก็เอาหอกที่ถืออยู่นั้นแทงเจ้าพระยาราชสุภาวดี เจ้าพระยาราชสุภาวดีหลบเบี่ยงตัว ปลายหอกจึงพลาดถูกสีข้างข้างซ้ายตกม้าลง บรรดานายทัพนายกองที่ขี่ม้าตามมาข้างหลัง ซึ่งรู้จักตัวเจ้าราชวงศ์จึงได้สะอึกเข้าต่อสู้กั้นกางไว้ พอเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นม้าได้แล้ว ก็พากันเข้าช่วยกลุ้มรุมสู้รบกับเจ้าราชวงศ์ ข้างฝ่ายพวกเจ้าราชวงศ์น้อยตัวกว่า ก็พากันควบม้าหนีไปทางฝั่งโขง กองทัพเวียงจันทน์ก็เลยแตกในวันนั้น กองทัพกรุงก็เลยยกไปตีเวียงจันทน์แตก(๕)

ฝ่ายเจ้าฮุยตามไปจับตัวเต้านครจำปาศักดิ์(โย่)ได้ที่ป่าปลายลำน้ำคลองบางเรียงฟากโขงตะวันออก แล้วก็คุมมาส่งเจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพ เจ้าพระยาราชสุภาวดีแม่ทัพหยุดพักไพร่พลและจัดหัวเมืองทางตะวันออก ฝ่ายเหนือทั้งปวง ในเวลานั้นเมืองอุบลปรากฏจำนวนคนมรอยู่ ๕๕๐๐ คน เจ้าพระยาราชสุภาวดีจึงให้แบ่งเป็นส่วนทำส่วยส่ง ๒๐๐๐ คน เป็นเงิน ๑๐๐ ชั่ง ให้ไว้ใช้ราชการสงคราม ๒๐๐ คน ไว้เลี้ยงข้าราชการ ๑๕๐๐ คน

ครั้งเจ้าพระยาราชสุภาวดีจัดการเรียบร้อยดีแล้ว ก็คุมเอาตัวเจ้าอนุ เจ้าจำปาศักดิ์(โย่) ยกกองทัพกลับกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเลื่อนยศเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นเป็น เจ้าพระยาบดินทรเดชา และโปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าฮุย เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้านาคผู้พี่เป็นเจ้าอุปราช ให้ตั้งเงินส่วยปีละ ๑๐๐ ชั่ง กำหนดให้เก็บแก่ชายฉกรรจ์ทุกคนๆละ ๔ บาทสลึง ถ้าชราพิการเก็บคนละ ๒ บาทสลึง เศษสลึงนั้นคือเป็นค่าเผาหรือที่เรียกว่าสูญเพลิง และเจ้าฮุยได้ปันตัวเลขให้แก่ญาตพี่น้อง เป็นเจ้าหมู่นายหมวดสำหรับไว้ใช้สอยการงาน ถ้าคนใดไม่อยากจะให้เจ้าหมู่นายหมวดใช้ ก็ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าหมู่นายหมวดคนละ ๔ บาท รวมเป็น ๘ บาทสลึง ส่วนข้าวเปลือกนั้นก็คงเก็บตามเดิม สำหรับขึ้นฉางไว้จ่ายใช้ราชการบ้านเมือง

และโปรดเกล้าฯให้เมืองนครจำปาศักดิ์ส่งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงเทพฯ คือต้นไม้ทองต้นหนึ่งทองหนก ๑๐ บาท งาช้างหนัก ๒ หาบ นอรมาดหนักสองชั่งจีน ผลเร่วหนัก ๔ หาบ กำหนด ๓ ปีครั้งหนึ่ง แบ่งเป็นส่วนเจ้านครจำปาศักดิ์ ออกต้นไม่ทอง ๑ เงิน ๑ นอรมาด ๑ ส่วนงาช้างแบ่ง ๓ ส่วน เจ้านครจำปาศักดิ์ออก ๒ ส่วน เจ้าอุปราชออก ๑ ส่วน ส่วนผลเร่วเจ้าอุปราชออกฝ่ายเดียว เป็นธรรมเนียมแต่นั้นมา

ขณะนั้นพระศรีเชียงใหม่เจ้าเมืองโขง พระเอกราชาเมืองมั่น ท้าวเง่าเมืองคำทอง พระคำแหงสงครามเมืองโขงเจียง อัคฮาดเมืองสพาด จารบุดดาเมืองคง ร้องไม่สมัครเต็มใจทำราชการขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์

ลุจุลศักราช ๑๑๙๐ ปีชวดสัมฤทธิศก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองโขงที่เกาะในแม่น้ำโขงเป็น เมืองสัทันดร แยกมาขึ้นกรุงเทพฯ ตั้งพระศรีเชียงใหม่เจ้าเมืองเป็น พระอภัยราชวงศา ปันเขตแขวงต่อกับแขวงจำปาศักดิ์ คือตะวันออกแต่บ้านม่วงหางนา ฝั่งฟากตะวันตกแต่บ้านใหม่นาโดน ยืนขึ้นไปถึงปะภูอาว ตั้งแต่หางดอนไทรขึ้นมาเป็นแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์

ให้ตั้งเมืองคำทองหลวงเป็น เมืองคำทองใหญ่ (อยู่ฝั่งโขงตะวันออก) ตั้งท้าวเง่าเป็นพระสุวรรณราชวงศาเจ้าเมืองคำทองใหญ่ขึ้นกรุงเทพฯ แยกเมืองคง เมืองสพาด ไปขึ้นเมืองคำทองใหญ่

ให้ตั้งเมืองมั่นเป็น เมืองสาละวัน (ฝั่งโขงตะวันออก) ตั้งเพี้ยเอกราชาเป็นพระเอกราชา เจ้าเมืองสาละวันขึ้นกรุงเทพฯ

โปรดตั้งท้าวบุญจัน บุตรพรเทพวงศา(ก่ำ)เจ้าเมืองเขมราษฎร์เป็น พระเทพวงศา เจ้าเมืองเขมราษฎร์ ยกเมืองโขงเจียง เมืองเสมียะ ขึ้นเมืองเขมราษฎร์

โปรดให้พระยาสังฆะ ไปเป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ให้พระไชยเป็นพระภักดีภูธรสงครามปลัด ให้พระสะเพื้อน(นวน)เป็นพระแก้วมนตรียกกระบัตร ให้ท้าวหล้าบุตรพระยาขุขันธ์(หลวงปราบ)เป็นพระมหาดไทย รักษาเมืองขุขันธ์ต่อไป

ให้ท้าว บุตรพระยาสังฆะเป็นพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจะ

เลื่อนพระสุรินทรภักดีศรีประทายสมัน(สุ่น)เจ้าเมืองสุรินทร์เป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมัน

ให้ท้าววรบุตร(เจียม) หลานพระยาพิไชยสุนทร(แพง)เจ้าเมืองกาฬสินธุ์เป็น พระยาพิไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหล้าบุตรแสนเมืองล้านช้างเป็นอุปฮาด ให้ท้าวอินทิสารบุตรอุปฮาดเมืองจันคนเก่า เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวพิมพ์บุตรจารเปียเป็นราชบุตร รักษาเมืองกาฬสินธุ์

และโปรดให้ราชวงศ์(พวง)ที่สมัครแยกไปขึ้นเวียงจันทน์นั้น พาครอบครัวไปตั้งอยู่ที่อ่างศิลาชายทะเลตะวันออก แขวงเมืองชลบุรี

ลุจุลศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลูเอกศก ครั้งนั้นหัวเมืองทางฝ่ายตะวันออกยังไม่เรียบร้อยดี จึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาออกไปตั้งจัดราชการทำสำมะโนครัว และตั้งกองกองสักอยู่ ณ กุดปะไทย (ซึ่งเป็นแขวงเมืองศีขรภูมิเดี๋ยวนี้)

ในปีนั้น พระรัตนวงศา(โอ๊ะ)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อท้าวบง ๑ ท้าวสาร ๑

ขณะนั้นอุปฮาด(ภู)เมืองร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นบุตรพระขัตติยวงศา(ทน)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า กับท้าวบง ท้าวสาร บุตรพระรัตนวงศา(โอ๊ะ)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิซึ่งถึงแก่กรรม และท้าวสินลา ท้าวเกษก็พากันไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ กุดปะไทย ต่างคนขอแย่งกันจะเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าบุตรพระรัตนวงศา(โอ๊ะ)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิยังเด็กหนุ่มนัก อุปฮาด(ภู)เมืองร้อยเอ็ดเป็นคนสัตย์ซื่อหลังบานมั่นคงดี และได้ช่วยรบทัพเวียงจันทน์แข็งแรง จึงได้มีบอกลงมายังกรุงเทพฯขอตั้งให้อุปฮาด(ภู)เป็นเจ้าเมืองและตั้งตำแหน่งอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองสุวรรณภูมิ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(ภู)เป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวเกษเป็นอุปฮาด ให้ท้าวบงเป็นราชวงศ์ ท้าวสินลาเป็นราชบุตร ท้าวสารเป็นท้าวสุริยวงศ์ พระรัตนวงศาได้แยกเอาตัวเลขมาจากเมืองร้อยเอ็ด ๗๐๐ เศษ

ในลำดับนั้น ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)ได้จัดราชการบ้านเมืองอยู่ ณ เมืองเก่าคันเกิง ตั้งตำแหน่งเจ้านายแสนท้าวพระยาขึ้นขึ้นครบตามธรรมเนียมแต่ก่อนเรียบร้อยดีแล้ว เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)เห็นว่าเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ลดน้อยลง ด้วยยกแยกหัวเมืองไปขึ้นกรุงเทพฯและเมืองอื่นๆเสียหลายเมือง จึงได้มีบอกกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านแก่งน้อยในลำน้ำเซโดนขึ้นเป็นเมืองคำทองน้อย ไว้เป็นคู่กับเมืองคำทองใหญ่ ผูกส่วยน้ำใจเงินปีละ ๕ ชั่ง ๑๒ ตำลึง

ลุจุลศักราช ๑๑๙๒ ปีขาลโทศก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านแก่งน้อยขึ้นเป็น เมืองคำทองน้อย (อยู่ฟากโขงตะวันออก) ตั้งท้าวสารนายบ้านเป็นพระพุทธพรหมวงศา เจ้าเมืองคำทองน้อย ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์

ฝ่ายทางเมืองยโสธร ตั้งแต่พระสุนทรราชวงศา(สีชา)เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังหาทันมีเจ้าเมืองไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวฝ่ายผู้มีความชอบแต่ครั้งรบทัพเวียงจันทน์ เป็นพระสุนทรราชวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวแพงเป็นอุปฮาด เลื่อนราชบุตร(สุดตา)เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวอินเป็นราชบุตร รักษาเมืองยโสธรต่อไป

โปรดเกล้าฯมให้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองมีอำนาจบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดในเมืองนครพนม(ในมณฑลอุดร)ด้วย พระสุนทรราชวงศาจึงได้ให้อุปฮาดรักษาราชการอยู่ทางเมืองยโสธร แล้วตนก็ไปจัดราชการอยู่ ณ เมืองนครพนม ได้เกลี้ยกล่อมพวกครัวเมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน เมืองมหาไชยกองแก้ว เมืองวัง มาขึ้นตั้งอยู่ในเขตแขวงเมืองนครพนมเป็นอันมาก และต่อมาได้มีบอกมาขอตั้ง เมืองสกล เมืองวานรนิวาศ เมืองเรณูนคร เมืองท่าอุเทน (ในแขวงมณฑลอุดร)ขึ้น

ในปีนั้น องแวนเถือ องเตียนกง เมืองภูซุน(๖) พากองทัพญวนล่วงเข้ามาตั้งอนู่ในชายพระราชอาณาเขตทางริมเขตเขมร โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา เกณฑ์กำลังทางหัวเมืองฝ่ายตะวันออก ไปสู้รบต้านทานกองทัพญวน กองทัพญวนก็ยอมแพ้เลิกทัพกลับไป ครั้งนั้นได้พวกญวนที่เข้าสามิภักดิ์ส่งเข้ามายังกรุงเทพฯเป็นอันมาก

ขณะนั้น ฝ่ายพระยาเดโช(เมง) กับนักปรังซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ตำบลลงปลาและเวินฆ้องแต่ก่อนนั้น พากันคิดหนีไปเมืองเขมร หลวงจำนงเสมียนตรา(พรหม)บุตรเขตพระยาเดโช(เมง) จึงฟ้องกล่าวโทษขึ้น โปรดให้กวาดต้อนครอบครัวพระยาเดโช(เมง) นักปรังลงมากรุงเทพฯ

ภายหลังเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย) จึงเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชา ขอครัวพระยาเดโช(เมง) นักปรัง เจ้าพระยาบดินทรเดชามีบอกกราบทูล จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานครัวพระยาเดโช(เมง) นักปรัง แก่เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย) เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)จึงได้ให้ครัวนักปรังไปตั้งอยู่ ณ เมืองเก่าปากเซโดน ให้ครัวพระยาเดโชไปตั้งบ้านกลันแยง จึงเรียกว่า ท่าเดโช มาเท่าบัดนี้

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๙๖ เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)ขี่ช้างไปนาพลัดตกช้าง ช้างแทงเอาบอบช้ำ เลยป่วยเป็นวัณโรคภายในมาแต่นั้น

ลุจุลศักราช ๑๑๙๗ ปีมะแมสัปตศก สนองอี่พาครัวเมืองสะโทง กำปงสวาย รวมหญิงชายใหญ่น้อย ๑๕๐๐ คนเศษ เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)จึงแต่งให้เพี้ยอุปชาหลานพระยาเดโช(เมง) ไปรับครัวสนองอี่ขึ้นมาไว้ที่บ้านท่าแสงใต้ปากน้ำบางขมวน แล้วมีใบบอกมากราบบังคมทูล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หักเงินส่วย ๑๒ ชั่ง ๑๕ บาท จัดซื้อเสบียงอาหารจ่ายให้ครัวสนองอี่

ลุจุลศักราช ๑๑๙๘ ปีวอกอัฐศก โปรดเกล้าฯให้พระยามหาอำมาตย์(ป้อม) และพระมหาสงครามเกณฑ์กำลังพลเมืองฝ่ายเหนือเฉียงตะวันออก ยกกองทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนม จัดราชการและปราบปรามบรรดาหัวเมืองฝั่งโขงตะวันออก มีเมืองมหาไชยเป็นต้น

ครั้งนั้น พระคำแดงซึ่งเป็นอุปฮาด และราชวงศ์ ท้าวขัตติย ท้าวสุริยเมืองคำมวน พระคำดวน(หรือคำกอน) และราชวงศ์ ราชบุตรเมืองคำเกิด พาครอบครัวอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระยามหาอำมาตย์ได้ให้ครัวพระคำดวนซึ่งมี ๒๘๕๙ คนตั้งอยู่ที่บ้านท่าขอนยาง ครัวพระคำแดงจำนวนคน ๙๓๓ คนตั้งอยู่ที่ตำบลบึงกระดาน เป็นแขวงเมืองกาฬสินธุ์ทั้ง ๒ ตำบล

ลุจุลศักราช ๑๑๙๙ ปีระกานพศก ฝ่ายเมืองกาฬสินธุ์ พระยาพิไชยสุนทร(เลื่อน)เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว โปรดเกล้าฯให้อุปฮาด(หล้า)เป็นพระยาพิไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้พระสุวรรณเป็นอุปฮาด ให้พันทองเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวทิดปัดสาเป็นราชบุตร รักษาปกครองเมืองกาฬสินธ์ต่อไป อุปฮาด(พระสุวรรณ)ถึงแก่กรรม จึงโปรดให้ราชวงศ์(พันทอง)เป็นอุปฮาด

ในปีนั้นเกิดเพลิงใหญ่ไหม้ในเมืองนครจำปาศักดิ์ บ้านเรือนเจ้านายแสนท้าวพระยาและราษฎรเสียไปในเพลิงครั้งนั้นเกือบทั้งหมด เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)จึงได้พาไพร่บ้านพลเมืองอพยพจากเมืองเก่าคันเกิง ย้ายลงไปตั้งเป็นเมืองอยู่ที่ตำบลหินรอด จึงเรียกว่าเมืองเก่าหินรอดมาจนทุกวันนี้

ลุจุลศักราช ๑๒๐๒ ปีชวดโทศก อาการป่วยเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)ทรุดลง ครั้นถึงวันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือย ๕ เจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)ก็ถึงพิราลัย(ณ เมืองเก่าหินรอด) อายุได้ ๖๓ ปี ครองเมืองได้ ๑๓ ปี มีบุตรชาย ๗ คนชื่อ ๑ เจ้าโสม ๒ เจ้าอินทร์ ๓ เจ้าคำใหญ่ ๔ เจ้าคำสุก ๕ เจ้าสุย ๖ เจ้าน้อย ๗ เจ้าพรหม บุตรหญิง ๗ คนชื่อ ๑ เจ้าพิมพ์ ๒ เจ้าเขม ๓ เจ้าทุม ๔ เจ้าคำสิง ๕ เจ้าไข ๖ เจ้าคำแพง ๗ เจ้าดวงจันทร์ รวมชายหญิง ๑๔ คน ได้พร้อมกันก่อเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดไชยเมืองเก่าหินรอด ชาวเมืองเรีบยกว่า ธาตุเจ้าย่ำขม่อม ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ลุจุลศักราช ๑๒๐๓ ปีฉลูตรีศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าอุปราช(นาค)เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ให้เจ้าเสือบุตรเจ้าอินทร์ หลานเจ้าอุปราช(ธรรมเทโว)เป็นเจ้าอุปราช เจ้าเสนเป็นเจ้าราชวงศ์ เจ้าสาเป็นเจ้าราชบุตร ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)

ในปีนี้ พระมหาสงครามและเจ้าอุปราชเวียงจันทน์ ยกกองทัพไปตีเมืองวังแตก เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร และท้าวเพี้ยราษฎรพาครอบครัวหนีกองทัพไทยระส่ำระสาย พระมหาสงครามได้จัดให้ท้าวเพี้ยเมืองวัง ไปเกลี้ยกล่อมได้ครอบครัวราชวงศ์(กอ)และท้าวคองบุตรเจ้าเมือง ท้าวตั้วบุตรอุปฮาดเมืองวังเข้าสามิภักดิ์ พาครัวข้ามมาฝั่งโขงตะวันตกจำนวนคน ๓๐๐๓ คน ตั้งอยู่ ณ บ้านกุดฉิมนารายณ์ แขวงเมืองกาฬสินธุ์

ลุจุลศักราช ๑๒๐๕ ปีเถาะเบญจศก เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งขัดตาทัพอยู่เมืองอุดงมีไชย ในกรุงกัมพูชา มีตราถึงเจ้านครจำปาศักดิ์(นาค) และหัวเมืองฝ่ายเหนือมีเมืองสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด ขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์เป็นต้น ให้เกณฑ์กำลังขึ้นไปสมทบทัพกรุงฯ ฝ่ายเจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)จึงแต่งท้าวพระยาคุมกำลังไปตั้งอยู่ ณ ตำบลเปี่ยมมะเหล็กแขวงเมืองพนมศก ได้ประมาณ ๘ เดือน ๙ เดือน ขัดเสบียงอาหารลง เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้กองทัพเมืองนครจำปาศักดิ์ยกกลับบ้านเมือง เป็นกองส่งลำเลียงและกองตระเวนตรวจตรารักษาด่านทางเเดนญวน เจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)จึงได้จัดส่งลำเลียงไปยังกองหลวงอาสาณรงค์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านหม้ออ้อม และแต่งท้าวพระยาคุมกำลังไปเที่ยวลาดตระเวน และเกลี้ยกล่อมพวกข่าผู้ไทยเมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง เมืองวัง ได้เป็นอันมาก

ลุจุลศักราช ๑๒๐๗ ปีมะเส็งสัปตศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้หมื่นเดชอุดม ซึ่งพาครอบครัวยกจากบ้านห้วยนายม เขวงเมืองวัง(ฝั่งโขงตะวันออก) มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งอยู่บ้านภูแล่นช้างนั้น เป็นพระพิไชยอุดมเดชเจ้าเมือง ให้เพี้ยโคตรหลักคำเป็นอุปฮาด ให้เพี้ยมหาราชเป็นราชวงศ์ ให้เพี้ยพรหมดวงสีเป็นราชบุตร ยกบ้านภูแล่นช้างซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาภูแล่นช้างขึ้นเป็น เมืองภูแล่นช้าง ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ตามความสมัครของพระพิไชยอุดมเดช

ให้ผูกส่วยผลเร่วส่งเงินแทนปีละ ๘ ชั่ง ในจำนวนเลข ๓๑๔ คน และโปรดเกล้าฯพระราชทานพระพิไชยอุดมเดช คือ เงินตรา ๒ ชั่ง ครอบเงินเครื่องในถม ๑ คนโทเงิน ๑ สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักทองมีซับผืน ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูมผืน ๑ พระราชทานอุปฮาด(โคตรหลักคำ)เงินตราชั่ง ๑ เสื้อเข้มขาบดอกถี่ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้ดำปักไหมมีซับ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑ พระราชทานราชวงศ์(มหาราช)เงินตรา ๑๕ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกสะเทิน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าเชิงปูม ๑ พระราชทานราชบุตร(พรหมดวงสี)เงินตรา ๑๐ ตำลึง เสื้ออัดตลัดดอกลาย ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าเชิงปูม ๑

กับโปรดเกล้าฯตั้งให้พระคำดวน(หรือคำกอน)เมืองคำเกิด ซึ่งตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง เป็นพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง ให้อุปฮาดเมืองคำเกิดเป็นอุปฮาด ราชวงศ์เมืองคำเกิดเป็นราชวงศ์ ราชบุตรเมืองคำเกิดเป็นราชบุตร ยกบ้านท่าขอนยางขึ้นเป็น เมืองท่าขอนยาง ผูกส่วยผลเร่วสี่สิบหาบ คิดหาบละ ๕ ตำลึง รวมเป็นเงินส่งแทนผลเร่วปีละ ๑๐ ชั่ง และพระราชทานพระสุวรรณภักดีเงิน ๑ ตำลึง สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ ผ้าโพกแพรขลิบ ๑ ผ้าดำปักทองมีซับ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑ พระราชทานอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตรเมืองท่าขอนยาง อย่างเดียวกันกับเมืองภูแล่นช้าง

กับโปรดให้ตั้งอุปฮาด(คำแดง)เมืองคำมวน ซึ่งตั้งอยู่ ณ บ้านบึงกระดานนั้น เป็นพระศรีสุวรรณเจ้าเมือง ยกบ้านบึงกระดานเป็น เมืองแซงบาดาล (อยู่ริมหนองแซงบาดาล) ให้ราชวงศ์(จารจำปา)บุตรท้าวศรีสุรราชเป็นอุปฮาด ให้ท้าวขัตติย(พก)บุตรพระคำรานเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุริย(จารโท)บุตรพระศรีสุวรรณ(คำแดง)เป็นราชบุตร

กับให้ราชวงศ์(กอ)เมืองวัง ซึ่งตั้งอยู่บ้านกุดฉิมนารายณ์เป็น พระธิเบศร์วงศา เจ้าเมือง ให้ท้าวควงเป็นอุปฮาด ท้าวตั้วเป็นราชวงศ์ ท้าวเนตรบุตรพระธิเบศร์วงศา(กอ)เป็นราชบุตร ยกบ้านกุดฉิมนารายณ์ซึ่งตั้งอยู่ริมโบสถ์นารายณ์เก่าขึ้นเป็น เมืองกุดฉิมนารายณ์ ทั้งสามเมืองดังกล่าวมาแล้ว ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ โปรดเกล้าพระราชทานเงินตราและเสื้อผ้าเครื่องยดบรรดาศักดิ์แก่ผู้เป็นเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เป็นอย่างเดียวกันกับเมืองท่าขอนยางฉะนั้น

อนึ่งเมื่อจุลศักราช ๑๒๐๒ ปีชวดโทศกนั้น พระพรหมราชวงศา(ท้าวทิดพรหม)เจ้าเมืองอุบลราชธานีป่วยถึงแก่กรรมแล้ว ครั้นถึงวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ จึงโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรตั้งให้อุปฮาด(กุทอง)เมืองอุบล เป็นพระพรหมราชวงศาเจ้าเมืองอุบลราชธานี เป็นลำดับที่ ๓ ให้ราชวงศ์เป็นอุปฮาด ให้ท้าวโพธิสารหลานพระพรหมราชวงศา(กุทอง)เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุริยบุตรพระพรหมราชวงศา(กุทอง)เป็นราชวงศ์ พระราชทานเครื่องยศให้พระพรหทมราชวงศา คือพานถมเครื่องในทองคำสำรับ ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนถม ๑ ลูกประคำทองคำ ๑ สายกระบี่บั้งถม ๑ เสื้อหมวกตุ้มปี่ ๑ สัปทนปัสตู ๑ ปืนคาบศิลาคอลาย ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วมะลิเลื้อย ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูม ๑

ส่วนอุปฮาด ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ ปืนคาบศิลา ๑ สัปทนแพร ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขอ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑

ส่วนราชวงศ์ ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพร ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ ผ้าดำปักทองมีซับ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ แพรขาวห่มนอน ๑ ผ้าปูม ๑

(ส่วนราชบุตร ไม่ปรากฏว่าได้รับพระราชทานสิ่งใดในที่นี้)
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:15:59:11 น.  

 
 
 
...................................................................................................................................................................


(ต่อ)


ในเวลานั้นพระพรหมวงศาเจ้าเมืองอุบล ได้นำพระศรีสุราชเมืองตะโปน ท้าวอุปฮาดเมืองชุมพร ท้าวฝ่ายเมืองผาปัง ท้าวมหาวงศ์เมืองคาง ซึ่งพาครอบครัวรวม ๑๘๔๗ คนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งอยู่บ้านช่องนางแขวงเมืองอุบลนั้น เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯด้วย

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้างช่องนางเป็น เมืองเสนางคนิคม ให้ท้าวจันศรีสุราชเมืองตะโพนเป็นที่ พระศรีสินธุสงคราม เจ้าเมือง ให้ท้าวฝ่ายเมืองผาปังเป็นอัคฮาด ท้าวมหาวงศ์เมืองคางเป็นอัควงศ์ รักษาเมืองเสนางคนิคมขึ้นกับเมืองอุบลราชธานี

และโปรดเกล้าฯให้พระราชทานเงินตราหนึ่งชั่ง ถาดหมากคนโทเงินสำรับ ๑ สัปทนแพรคัน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วขาวเสื้อ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบผืน ๑ ผ้าดำปักทองมีเชิงผืน ๑ แพรขาวห่มผืน ๑ ผ้าปูมผืน ๑ แก่พระศรีสินธุสงคราม

โปรดเกล้าฯพระราชทานอัคฮาด เงินตรา ๑๕ ตำลึง เสื้อเข้มขาบก้านแย่งเสื้อ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบผืน ๑ ผ้าดำปักไหมมีซับ ๑ ผ้าเชิงปูมผืน ๑

พระราชทานอัควงศ์ เงินตรา ๑๐ ตำลึง เสื้อเข้มขาบดอกสะเทินผืน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักไหมมีซับ ๑ แพรขาวห่มผืน ๑

ครั้นแล้วพระศรีสินธุสงครามเจ้าเมือง อัคฮาด อัควงศ์ เมืองเสนาคนิคมจึงกราบถวายบังคมลา พากันกลับขึ้นไปตั้งอยู่เสียที่บ้านห้วยปลาแดกแขวงเมืองอุบล ซึ่งเป็นแขวงเมืองอำนาจเจริญทุกวันนี้ หาได้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ บ้านช่องนาง ตามตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯไม่

ในระหว่างนั้น หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย หลวงอภัย กรมการเมืองศรีสระเกศ ร้องไม่สมัครที่จะทำราชการกับพระยาวิเศษภักดีเจ้าเมืองศรีสระเกศ จึงอพยพครอบครัวไปตั้งอยู่บ้านน้ำโดมใหญ่ ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างเมืองจำปาศักดิ์ อุบล ขุขันธ์ ศรีสระเกศต่อกัน มีจำนวนเลขฉกรรจ์ ๖๐๖ คน สำมะโนครัว ๒๑๕๐

ครั้นวันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๒๐๗ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านน้ำโดมใหญ่ขึ้นเป็น เมืองเดชอุดม ตั้งหลวงธิเบศร์เป็น พระศรีสุระ เจ้าเมือง ให้หลวงมหาดไทยเป็นหลวงปลัด ให้หลวงอภัยเป็นหลวงยกกระบัตร รักษาราชการเขตแขวงเมืองเดชอุดม ทิศเหนือตั้งแต่ลำน้ำห้วยเท้าสาร ฝั่งใต้ทิศตะวันตกแต่ลำน้ำห้วยเท้าสารไปถึงเชิงเขาเพียงลำน้ำชอง(หรือชอม) โอบตามเชิงเขาไปถึงโดมน้อยข้างทิศตะวันออก แต่ลำน้ำโดมน้อยฟากข้างวตะวันตกไปจนถึงลำน้ำพมูลฝั่งใต้ เป็นเขตแขวงเมืองเดชอุดม ขึ้นกรุงเทพฯ

ฝ่ายเจ้าแก้วเจ้าเมืองศรีจำปัง ซึ่วเป็นบุตรเจ้าสุวรรณสาร เจ้าสุวรรณสารเป็นบุตรเจ้าโพธิสาร เจ้าโพธิสารเป็นบุตรเจ้าสร้อยศรีสมุทนั้น กับนักเมืองบุตรนักปรัง ทั้งสองนี้เกลี้ยกล่อมได้เขมรป่าดงเป็นอันมาก เจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)จึงพาเจ้าแก้วกับนักเมืองไปหาเจ้าพระยาบดินทรเดชา ณ เมืองอุดงมีไชย เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีบัญชาให้เจ้าแก้วควบคุมพวกเขมรป่าดง ผูกส่วยน้ำใจเป็นขี้ผึ้งปีละหนึ่งหาบ

กับมีตราอนุญาตตั้งให้นักเมืองเป็น พระณรงค์ภักดี เจ้าเมือง ให้ท้าวอินทรบุตรท้าวบุญสารเป็นหลวงอภัยภูธรปลัด นักเต๊กเป็นหลวงแก้วมนตรียกกระบัตร ยกบ้านท่ากะสังปากน้ำเซลำเภาขึ้นเป็นเมือง ขนานนามว่า เมืองเซลำเภา กำหนดเขตแขวงฝั่งน้ำโขงตะวันตก แต่ปากห้วยละออกลงไปถึงห้วยชหลีกใต้เสียมโบกเป็นแขวงเมืองเซลำเภา ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์แต่นั้นมา

ในลำดับนั้น เจ้าเมืองจำปาศักดิ์(นาค)ได้มีบอกขอยกบ้านห้วยทรายขึ้นเป็น เมืองโพนทอง ตั้งให้ท้าวอินทร์นายครัวเป็นที่ พระอินทร์ศรีเชียงใหม่ กินน้ำคลองฉะแก ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง

ในปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านไพรตระหมัก(หรือบ้านสีดา)ขึ้นเป็น เมืองมโนไพร ให้หลวงภักดีจำนง(ทิดพรหม)เสมียนตรา กรมการเมืองขุขันธ์ ซึ่งเป็นบุตรเขยพระยาเดโช(เมง)เป็น พระมโนจำนง เจ้าเมืองมโนไพร ขึ้นเมืองขุขันธ์ ครั้งนั้นโปรดให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการหัวเมืองตะวันออก และจัดปันเขตแดนเมืองจำปาศักดิ์ และเมืองขุขันธ์ให้เป็นเขตแดนเมืองมโนไพร

ในระหว่างนี้ พระสีหนาท พระไชยเชษฐา นายครัวเมืองตะโปน ยกครอบครัวมาตั้งอยู่ ณ บ้านคำเมืองแก้วฝั่งโขงตะวันตกแขวงเมืองเขมราษฎร์ พระเทพวงศา(บุญจันทร์)เจ้าเมืองเขมราษฎร์จึงมีบอกลงมากรุงเทพฯ

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านคำเมืองแก้วขึ้นเป็น เมืองคำเขื่อนแก้ว ให้ตั้งพระสีหนาทเป็นที่ พระรามนรินทร์ เจ้าเมืองคำเขื่อนแก้ว ขึ้นเมืองเขมราษฎร์

เวลานั้นฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร(หล้า)เจ้าเมืองถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(พันทอง)เป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ราชวงศ์เป็นอุปฮาด ให้ท้าวกิ่งบุตรอุปฮาดเป็นราชวงศ์ รักษาราชการเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๐๘ ปีมะเมียอัฐศก วันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ พระยาขัตติยวงศา(สีลัง)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดป่วยถึงแก่กรรม อุปฮาด(สิง) ราชวงศ์(อิน) บุตรพระยาขัตติยวงศา จึงพาท้าวเพี้ยลงมากรุงเทพฯ พบกับพระพิไชยสุริยวงศ์เจ้าเมืองโพนพิสัยซึ่งเป็นพี่ชาย พระพิไชยสุริยวงศ์จึงพาอุปฮาด ราชวงศ์ ท้าวเพี้ย กรมการเมืองร้อยเอ็ดลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงโปรดเกล้าฯให้พระพิไชยสุริยวงศ์กลับขึ้นไปรักษาราชการเมืองร้อยเอ็ด

ครั้นพระพิไชยสุริยวงศ์ไปถึงเมืองร้อยเอ็ด จัดการเผาศพพระยาขัตติยวงศาบิดาเสร็จแล้ว คืนวันหนึ่ง อุปฮาด(สิง)ตั้งบ่อนโป นัดให้พระพิไชยสุริยวงศ์กับพวกนักเลงมาเล่นที่หอนั่งบ้านพระยาขัตติยวงศา ครั้นเวลาดึกมีคนมาลอบแทงพระพิไชยสุริยวงศ์ถูกที่สีข้างข้างซ้ายถึงแก่กรรม ได้ความว่าอุปฮาด(สิง)เกี่ยวในคดีนี้

ครั้นความทราบถึงกรุงเทพฯ จึงมีตราโปรดเกล้าฯให้พระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิส่งอุปฮาด(สิง)และบรรดาบุตรหลานพระยาขัตติยวงศาลงมากรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ตระลาการชำระอุปฮาด(สิง) พิจารณาได้ความเป็นสัตย์ว่า อุปฮาด(สิง)เป็นผู้ใช้ให้จีนจั้นแทงพระพิไชยสุริยวงศ์ อุปฮาด(สิง)เลยต้องจำตายอยู่ในที่คุมขัง และในระหว่างนั้นเมืองร้อยเอ็ดว่างอยู่ ยังหาทันได้โปรดเกล้าฯตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่

ลุจุลศักราช ๑๒๐๙ ปีมะแมนพศก เจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)เห็นว่าเขตแดนบ้านเมืองทางฝ่ายตะวันตก ลดน้อยแคบเข้า ด้วยเขตเมืองเดชก็ล่วงเข้ามาถึงบ้านดงกระชุ จึงได้ตั้งบ้านดงกระชุ(หรือบ้านไร่)ขึ้นเป็น เมืองบัว กันแขวงเมืองเดชไว้ ตั้งให้ท้าวโสเป็นที่ พระอภัยธิเบศร์วิเศษสงคราม เจ้าเมืองบัว ขึ้นเมืองจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง

ในปีนี้พระสุนทรราชวงศาเจ้าเมืองยโสธรแต่งให้หมอควาญช้างต่อ ไปแทรกโพนได้ช้างสีประหลาด ๒ ช้าง จึงมีบอกแต่ให้กรมการนำช้างนั้นลงไปถวาย ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ขึ้นระวางขนานนามช้างทั้ง ๒ นั้นว่า พระพิมลรัตนกิรินีช้าง ๑ พระวิสูตรรัตนกิรินีช้าง ๑(๗)

ลุจุลศักราช ๑๒๑๐ ปีวอกสัมฤทธิศก พระศรีสุวรรณ(พระคำแดง)เจ้าเมืองแซงบาดาลป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯให้ตั้งอุปฮาด(จำปา)เป็นพระศรีสุวรรณ ว่าราชการเมืองต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๑๑ ปีระกาเอกศก โปรดเกล้าฯให้ตั้งราชวงศ์(อินทร)เมืองร้อยเอ็ดเป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด ให้ท้าวจันบุตรราชบุตรเป็นอุปฮาด ให้ท้าวภูบุตรราชวงศ์(หล้า)เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวก่ำบุตรพระยาขัตติยวงศาเป็นราชบุตร พระขัตติยวงศ์เป็นเจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ ๙ เดือนถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนอุปฮาด(จัน)ขึ้นเป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ด เลื่อนราชวงศ์(ภู)เป็นอุปฮาด เลื่อนราชบุตร(ก่ำ)เป็นราชวงศ์ ตั้งให้ท้าวสารบุตรพระพิไชยสุริยวงศ์เจ้าเมืองโพนพิสัยเป็นราชบุตร อยู่ได้เดือนเศษ ราชวงศ์(ก่ำ)ถึงแก่กรรม พระขัตติยวงศาจึงบอกขอตั้งราชบุตร(สาร)เป็นราชวงศ์ ขอท้าวจอมบุตรพระขัตติยวงศา(สีลัง)เป็นราชบุตร

ลุจุลศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก เจ้าเมืองบัว เจ้าเมืองเดชเกิดวิวาทแย่งชิงเขตแดนว่ากล่าวมิตกลงกัน เจ้านครจำปาศักดิ์(นาค) กับพระศรีสุระเจ้าเมืองเดชจึงได้พากันลงมา ณ กรุงเทพฯ เพื่อขอให้กรมมหาดไทยตัดสินเรื่องวิวาทเขตแดนให้ตกลงกัน

ครั้นวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๙ ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ เจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)ป่วยเป็นอหิวาตกโรคถึงพิราลัยอยู่ ณ กรุงเทพฯ เจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)ครองเมืองจำปาศักดิ์ได้ ๙ ปี อายุได้ ๗๖ ปี มีบุตรชาย ๖ คน คือ ๑ เจ้าราชวงศ์(เสน) ๒ เจ้าราชบุตร(สา) ๓ เจ้าโพธิสาร(หมี) ๔ เจ้าอินทชิต(บุตร) ๕ เจ้าสิงคำ ๖ เจ้าคำน้อย มีบุตรหญิง ๔ คน ชื่อ ๑ นางดวงจัน ๒ นางอิ่ม ๓ นางเจียง ๔ นางเขม ในระหว่างนั้นยังมิทันโปรดเกล้าฯตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์

ฝ่ายทางเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ซึ่งมาแต่เมืองสังฆะถึงแก่กรรมแล้ว โปรดตั้งให้พระภักดีภูธรสงคราม(ใน)ปลัด เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง เลื่อนพระมหาดไทย(ลา)เป็นพระภักดีภูธรสงคราม พระภักดีภูธรสงครามถึงแก่กรรม โปรดให้ท้าวกึ่งบุตรพระยาขุขันธ์(หลวงปราบ)เป็นปลัด ท้าวศรีเมืองเป็นพระมหาดไทย

ครั้นต่อมาพระยาขุขันธ์(ใน)ถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้พระยกกระบัตร(นวล)เป็นพระยาขุขันธ์ เลื่อนพระมหาดไทย(ศรีเมือง)เป็นพระยกกระบัตรต่อมา

จนลุศักราช ๑๒๑๒ ปีจอโทศก พระยาขุขันธ์(นวล)ป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้พระภักดีภูธรสงคราม(กึ่ง)ปลัดเป็นพระยาขุขันธ์ เลื่อนยกกระบัตร(ศรีเมือง)เป็นพระปลัด ให้พระวิเศษ(พิมพ์)เป็นพระแก้วมนตรียกกระบัตร

วันพุธ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีกุนยังเป็นโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ - ๑๒๑๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สิ้นรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ บรมราชาภิเษกสืบสวริยาธิปัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามโดยลำดับรัชกาลที่ ๔ ต่อไป


..........................................................................



แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ในปีนั้นพระยาสุรินทรภักดีศรีประทายสมัน(สุ่น)เจ้าเมืองสุรินทร์ และพระยาไชยสุนทร(ทอง)เจ้าเมือง และราชบุตร(ปัดชา)เมืองกาฬสินธุ์ถึงแก่กรรม

จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ราชวงศ์(กึ่ง)เลื่อนเป็นอุปฮาด ให้ท้าวขัตติย(เกษ)เป็นที่ราชวงศ์เมืองกาฬสินธุ์

กับโปรดเกล้าฯให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการ และเร่งเงินส่วยอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์

ครั้นวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวดยังเป็นตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ - ๑๒๑๔ เจ้าอุปราช(เสือ)เมืองนครจำปาศักดิ์ป่วยถึงอนิจกรรม

ลุจุลศักราช ๑๒๑๔ ปีชวดจัตวาศก หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์จึงพาเจ้าบัวบุตรเจ้านู กับเจ้าราชวงศ์(เสน) เจ้าโพธิสาร(หมี) เจ้าแสงคุมเครื่องยศและเงินส่วยเมืองนครจำปาศักดิ์ ลงมาทูลเกล้าฯถวาย ณ กรุงเทพฯ

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เจ้าบัวเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ แต่ยังหาทันได้รับพระราชทานหิรัญบัตรไม่ เจ้าบัวป่วยถึงแก่กรรมอยู่ ณ บ้านแสงกรุงเทพฯ

ฝ่ายเจ้าราชวงศ์(เสน)กับเจ้าแสง ต่างชิงกันจะขอเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ ต่างคนก็ต่างกล่าวโทษซึ่งกันและกันอยู่

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ กับหลวงศักดิ์เสนี เป็นข้าหลวงขึ้นไปถามสมัครและจัดราชการอยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์

ในระหว่างปีนั้น พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมืองขุขันธ์ อุปฮาดว่าที่พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ พระรัตนวงศา(ภู)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระเทพวงศา(บุนจันทร์)เจ้าเมืองเขมราษฎร์ พระศรีสุระเจ้าเมืองเดชอุดม พระสุวรรณภักดี(คำกอน)เจ้าเมืองท่าขอนยาง ถึงแก่กรรม

ฝ่ายทางเมืองสุรินทร์ พระไชยณรงค์ภักดีปลัด พระพิไชยราชวงศาผู้ช่วย และกรมการเมืองสุรินทร์คุมเครื่องยศพระยาสุรินทร์(สุ่น)ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานิกรบดินทร์ที่สมุหนายกปรึกษาพร้อมด้วยกรมการเมืองสุรินทร์ หาตัวผู้เป็นเจ้าเมืองสุรินทร์ ขณะนั้นพระวิเศษ พระนรินทร์กรมการจึงกราบเรียนเจ้าพระยานิกรบดินทร์ว่าพระพิไชยราชวงศา(ม่วง)ผู้ช่วย ซึ่งเป็นบุตรพระยาสุรินทร์(สุ่น)เป็นผู้มีสติปัญญาชำนิชำนาญในราชการ และมีใจโอบอ้อมอารีแก่กรมการไพร่บ้านพลเมือง สมควรที่จะเป็นเจ้าเมืองสุรินทร์ได้ และฝ่ายพระไชยณรงค์ภักดีปลัดก็แสดงตัวว่าคนชรามิได้มีความรังเกียจในการที่จะให้พระพิไชยราชวงศาผู้ช่วยเป็นเจ้าเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสัญญาบัตรให้พระพิชัยราชวงศา(ม่วง)ผู้ช่วย เป็นพระสุรินทรภักดีศรีประทายสมันผู้ว่าราชการเมืองสุรินทร์ พระราชทานครอบถมเครื่องในเขียวปริกทอง ๒ จอกหมาก ๒ ตลับ ๑ ซองพลู ๑ มีด ๑ คนโทถม ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งถม ๑ สัปทนปัสตูคัน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วมะลิเลื้อย ๑ แพรโพกขลิบ ๑ ผ้าส่านบัวทอง ๑ ผ้าขาว ๑ ผ้าปูม ๑ เป็นเครื่องยศ เต่วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑ ปีชวดจัตวาศก ๑๒๑๔

ลุจุลศักราช ๑๒๑๕ ปีฉลูเบญจศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระวิชัย(วัง)บุตรพระยาขุขันธ์(หลวงปราบ)เป็นพระยาขุขันธ์ ให้อุปฮาด(กึ่ง)เป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหนูน้องพระยาไชยสุนทร(กึ่ง)เป็นอุปฮาด ให้ท้าวขีบุตรพระยาไชยสุนทร(ทอง)เป็นราชบุตร รักษาเมืองกาฬสินธุ์

ให้ท้าวศาลบุตรพระรัตนวงศา(โอ๊ะ)เป็นพระรัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ

ให้ท้าวบุญเฮาเป็นพระเทพวงศา เจ้าเมืองเขมราษฎร์

ให้หลวงปลัดเป็นพระศรีสุระ เจ้าเมืองเดชอุดม

ให้อุปฮาดเป็นพระสุวรรณภักดีเจ้าเมือง เลื่อนราชวงศ์เป็นอุปฮาด ให้ท้าวพรหทมาเป็นราชวงศ์ รักษาราชการเมืองท่าขอนยาง ครั้นราชวงศ์ ราชบุตรถึงแก่กรรม ท้าวหงส์ได้รับตำแหน่งเป็นราชวงศ์ต่อไป

ในระหว่างปีนั้น เจ้านายท้าวพระยาเมืองจำปาศักดิ์ มีบอกกล่าวโทษหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงเสนีพิทักษ์ ซึ่งโปรดเกล้าฯให้ไปจัดราชการอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์นั้นว่า ทำการกดขี่ลงเอาเงินราษฎร จึงมีตราให้หาตัวหลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ หลวงเสนีพิทักษ์กลับกรุงเทพฯ และให้นำตัวเจ้าคำใหญ่บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย) เจ้าจูบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย)มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

ลุจุลศักราช ๑๒๑๖ ปีขาลฉศก พระรัตนวงศา(ศาล)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม ยังหาทันได้โปรดให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่ อุปฮาดว่าที่พระยาไชยสุนทรเมืองกาฬสินธุ์มีบอกมายังกรุงเทพฯ ว่าราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายณ์ไม่มีตัว ขอพระราชทานท้าวขัตติยเป็นราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายณ์

วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวขัตติยเป็นราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายณ์ พระราชทานเสื้ออัดตลัดดอกสะเทิน ๑ แพรขาว ๑ ผ้าเชิงปูม ๑

ลุจุลศักราช ๑๒๑๗ ปีเถาะสัปตศก อุปฮาด ราชบุตรเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอตั้งราชบุตรเมืองกุดฉิมนารายณ์ เป็นราชวงศ์เมืองกุดฉิมนารายณ์

วันจันทร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ จึ่งโปรดให้ราชบุตรเป็นราชวงศ์เมืองกุดฉิมนารายณ์ตามขอ พระราชทานเสื้ออัดตลัด ๑ แพรขาวห่มเพลาะ ๑ ผ้าลายนุ่ง ๑ ในปีนี้โปรดเกล้าฯให้พระวัชรินทรารกษ์ พระมหาวินิจฉัยข้าหลวงนำเจ้าคำใหญ่ เจ้าจู กลับไปจัดราชการบ้านเมือง ณ เมืองจำปาศักดิ์ พระวัชรินทรารักษ์ป่วยถึงแก่กรรมอยู่ ณ เมืองจำปาศักดิ์ พระมหาวินิจฉัยจึงพาเจ้าคำใหญ่ เจ้าจู กลับมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ

ลุจุลศักราช ๑๒๑๘ ปีมะโรงอัฐศก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งเจ้าคำใหญ่เป็น เจ้ายุติธรรมสุนทร เจ้านครจำปาศักดิ์ ตั้งเจ้าจูเป็นเจ้าอุปราช ตั้งเจ้าหมีบุตรเจ้าราชบุตร(เกษ)เป็นเจ้าราชวงศ์ ให้เจ้าอินทชิตบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(นาค)เป็นเจ้าราชบุตร ให้เจ้าสุริย(บ้ง)น้องเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)เป็นเจ้าศรีสุราช กลับไปรักษาราชการเมืองนครจำปาศักดิ์ และโปรดเกล้าฯกำหนดให้เปลี่ยนธรรมเนียมส่งเครื่องราชบรรณาการเป็นปีละครั้งทุกปีแต่นั้นมา

ในปีนี้ พระศรีสินธุสงครามเจ้าเมืองเสนางคนิคมป่วยถึงแก่กรรม ท้าววรบุตรได้บัญชาการเมืองต่อไป ในระหว่างซึ่งยังไม่มีตัวเจ้าเมือง

ลุจุลศักราช ๑๒๑๙ ปีมะเส็งนพศก พระสุนทรราชวงศา(ฝ่าย)เจ้าเมืองอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร เมืองยโสธรถึงแก่กรรม ยังแต่พระศรีวรราชบุตรพระสุนทร และกรมการช่วยกันดูแลราชการบ้านเมืองอยู่

ลุจุลศักราช ๑๒๒๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก วันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ เจ้านครจำปาศักดิ์(คำใหญ่)ถึงแก่พิราลัย อายุได้ ๒๘ ปี ครองเมืองได้ ๓ ปี มีบุตรหญิง ๒ คน ชื่อนางคำผิว ๑ นางมาลา ๑ เจ้าอุปราช(จู)ได้บังคับบัญชาการเมืองต่อไป ยังหาทันโปรดเกล้าฯตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ไม่

ในปีนี้พระเทพวงศาเจ้าเมืองเขมราษฎร์ ได้มีบอกขอตั้งบ้านค้อใหญ่เป็นเมือง ขอตั้งท้าวจันทบรมเป็นพระอมรอำนาจเจ้าเมือง ตั้งท้าวบุตตะเป็นอุปฮาด ให้ท้าวสิงหราชเป็นราชวงศ์ ท้าวสุริโยเป็นราชบุตรรักษาราชการ เมืองอำนาจเจริญ ขึ้นกับเมืองเขมราษฎร์ ผูกส่วยเงินแทนผลเร่วปีละ ๑๒ ชั่ง ๑๘ ตำลึง

ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่พระรัตนวงศา(ศาล)เจ้าเมืองถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังหามีตัวเจ้าเมืองไม่ ท้าวเพี้ยกรมการเห็นว่า ท้าวมหาราช(เลน)บุตรอุปฮาด(อ่อน) ราชวงศ์(คำผาย)บุตรพระรัตนวงศา(ภู) ทั้ง ๒ นี้สมควรจะเป็นผู้รักษาราชการบ้านเมืองได้ จึงได้พากันมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ขอตั้งท้าวมหาราช ราชวงศ์ เป็นที่เจ้าเมืองและอุปฮาดรักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวมหาราชเป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมือง และเลื่อนราชวงศ์เป็นอุปฮาดเลื่อนราชบุตรเป็นราชวงศ์ ตั้งท้าวคำสิงเป็นราชบุตร กลับไปรักษาราชการ ณ เมืองสุวรรณภูมิ

ฝ่ายเมืองเดชอุดม พระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๒ ป่วยถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้หลวงวิเศษ(สาร)ผู้ช่วย บุตรพระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๑ เป็นพระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๒ ให้ท้าวแพงเป็นที่หลวงปลัด ท้าวแสงบุตรพระศรีสุระเจ้าเมืองที่ ๓ เป็นหลวงยกกระบัตร รักษาราชการเมืองเดชอุดมต่อไป

ลุจุลศักราข ๑๒๒๑ ปีมะแมเอกศก โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยายมราช(แก้ว)แต่ครั้งยังเป็นเจ้าพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา เป็นข้าหลวงแม่กองสัก ตั้งกองสักเลขหัวเมืองตะวันออกอยู่ ณ เมืองยโสธร บรรดาเลขในมณฑลอีสานได้สักหมายหมู่ไว้ ณ ครั้งนั้นเป็นอันมาก

ในปีนี้ คนใช้ของพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิไปแทรกโพนช้าง ได้ช้างพลายเผือก ๑ ช้าง สูง ๔ ศอก จึงบอกไปกราบเรียนเจ้าพระยกำแหงสงครามส่งบอกลงมา ณ กรุงเทพฯ มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯให้ส่งช้างพลายเผือกนั้นลงมา ณ กรุงเทพฯ พระรัตนวงศาเจ้าเมืองและอุปฮาด ท้าวเพี้ย กรมการเมืองสุวรรณภูมิ จึงได้นำช้างสำคัญมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ

โปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชขึ้นระวางขนานนามช้างพลายเผือกนั้นว่า พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ตั้งหมอช้างให้เป็นขุนประสบสารเศวต ตั้งควาญเป็นหมื่นวิเศษนัคราช และโปรดเกล้าพระราชทานเงินแก่พระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ๕ ชั่ง ให้ขุนประสบสารเศวตหมอ ๕ ชั่ง แหวนทองคำ ๓ สำรับ ให้หมื่นวิเศษนัคราชควาญ ๓ ชั่ง แหวนทองคำ ๒ สำรับ กับตราภูมิคุ้มห้าม และเสื้อผ้าตามสมควร

ลุจุลศักราช ๑๒๒๓ ปีระกาตรีศก คนใช้พระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคล้องได้ช้างเผือกอีกช้างหนึ่ง นำมาถวาย ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าให้มีการสมโภชตามธรรมเนียม พระราชทานนามช้างสำคัญนั้นว่า พระเศวตสุวรรณาภาพรรณ ตั้งหมอเป็นขุนสุวรรณเศวต ตั้งควาญเป็นหมื่นวิเศษกำราบ พระราชทานเงินและเสื้อผ้าให้หมอควาญตามธรรมเนียม กับพระราชทานเงินให้พระรัตนวงศาห้าชั่ง และทั้งเพิ่มเติมเครื่องยศให้ด้วย

เมื่อวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๘ ปีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระศรีวรราช(เหม็น)ผู้ช่วย บุตรพระสุนทรราชวงศา(ฝ่าย) เป็น พระสุนทรราชวงศา มหาขัตติยชาติ ประเทศราชดำรงรักษ์ ศักดิยศลือไกรศรีพิไชยสงคราม เจ้าเมืองยโสธร พระราชทานพานหมากเงินกลมถมตะทองปากจำหลักกลีบบัว ๑ เครื่องในทองคำ คือ จอกหมาก ๒ ผอบ ๒ ตลับขี้ผึ้ง ๑ ซองพลู ๑ ซองบุหรี่ ๑ มีดหนีบหมาก ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนทองคำ ๑ ประคำทองสาย ๑ กระบี่บั้งทอง ๕ บั้ง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อทรงประพาสหมวกตุ้มปี่กำมะหยี่สำรับ ๑ ปืนชนวนทองแดงต้นเลี่ยมเงิน ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดี ๑ เสื้อแพรจินเจา ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ส่านไทยปักทอง ๑ ผ้าปูมเขมร ๑ ผ้าลายเกี้ยว ๑ แพรขาวหงอนไก่ลาย ๑ แพรขาวโล่ ๑

และโปรดตั้งให้ท้าวแข้บุตรอุปฮาด(แพง)เป็นอุปฮาด ให้ท้าวอ้นบุตรพระจันทศรีสุราชเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวพิมพ์หลานอุปฮาด(แพง)เป็นราชบุตร ให้ท้าวสุพรหมบุตรพระสุนทรราชวงศา(เหม็น)เป็นพระศรีวรราช เป็นผู้ช่วยรักษาราชการเมืองยโสธร

ในปีนี้ พระศรีสุวรรณ(จำปา)เจ้าเมืองแซงบาดาลถึงแก่กรรม ราชวงศ์(พก)ได้รับราชการเป็นที่พระศรีสุวรรณเจ้าเมือง ท้าวบุญบุตรพระศรีสุวรรณ(จำปา)เป็นที่อุปฮาด ท้าวขีบุตรพระศรีสุวรรณ(พระคำแดง)เป็นราชวงศ์ ท้าวพรหมบุตรพระศรีเป็นราชบุตร รักษาบัญชาการเมืองแซงบาดาลต่อไป

ลุจุลศักราช ๑๒๒๔ ปีจอจัตวาศก เมืองกาฬสินธุ์มีบอกขออุปฮาด(ดวง)เป็นพระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ และเมืองอุบลมีบอกขอตั้งท้าววรบุตรเป็นพระศรีสินธุสงครามเจ้าเมืองเสนางคนิคม ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(ดวง)และท้าววรบุตร เป็นเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์และเจ้าเมืองเสนางคนิคม ตามเมืองกาฬสินธุ์และเมืองอุบลขอ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:16:03:56 น.  

 
 
 
...........................................................................................................................................................


(ต่อ)

ฝ่ายทางเมืองนครจำปาศักดิ์ ตั้งแต่เจ้านครจำปาศักดิ์(คำใหญ่)พิราลัยแล้ว เจ้าอุปราช(จู)ได้ว่าราชการเมืองต่อมา ก็หาถูกต้องกับแสนท้าวพระยาไม่ มีผู้ทำเรื่องราวกล่าวโทษเจ้าอุปราช(จู) ครั้นมาถึงปีนี้จึงโปรดเกล้าฯให้มีตราหาตัวเจ้าอุปราช(จู)มาแก้คดี ณ กรุงเทพฯ แล้วโปรดเกล้าฯให้มีตราพระราชสีห์ไปถึงเจ้าพระยากำแหงสงคราม ซึ่งตั้งกองสักอยู่ ณ เมืองยโสธรนั้น ให้เลือกหาบุตรหลานเจ้านครจำปาศักดิ์เก่า ซึ่งสมควรจะได้รับเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ต่อไป เจ้าพระยากำแหงสงครามจึงบอกขอเจ้าคำสุก บุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(ฮุย)เป็นเจ้านครจำปาศักดิ์

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๒๕ ปีกุนเบญจศก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าคำสุกเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ มีราชทินนามว่า เจ้ายุติธรรมธรเจ้านครจำปาศักดิ์ ระหว่างนั้นเจ้าอุปราช(จู)ป่วยถึงแก่กรรมอยู่ ณ บ้านช่างแสงกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าแสงบุตรเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย)เป็นเจ้าอุปราช ให้เจ้าหน่อคำบุตรเจ้าเสือหลานเจ้าอนุเวียงจันทน์ เป็นเจ้าราชวงศ์

พระพรหมราชวงศาเจ้าเมืองอุบล กราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงครามเจ้าเมืองนครราชสีมา ขอตั้งบ้านกว้างลำชะโด บ้านสะพือ บ้านเวินไชย เป็นเมือง ขอให้ท้าวจุมมณี ท้าวสุริยวงศ์(อ้ม) ท้าวคำพูนผู้บุตรเป็นเจ้าเมือง เจ้าพระยากำแหงสงครามเห็นชอบด้วย จึงมีบอกมากราบบังคมทูลพระกรุณา ณ กรุงเทพ

วันอาทิตย์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีนี้ พระพรหมราชวงศา(กุทอง)เจ้าเมืองอุบลถึงแก่กรรม ยังหาทันโปรดเกล้าฯตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองไม่ มีแต่อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ท้าวเพี้ยกรมการช่วยกันรักษาราชการบ้านเมืองอยู่เท่านั้น

วันอาทิตย์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านกว้างลำกะโดตำบลปากน้ำมูลเป็น เมืองพิบูลย์มังสาหาร ตั้งท้าวธรรมกิติกา(จุมมณี)เป็นพระบำรุงราษฎรเจ้าเมือง ให้ท้าวโพธิสาราช(เสือ)เป็นอุปฮาด ท้าวสีฐาน(สาง)เป็นราชวงศ์ ท้าวขัตติยเป็นราชบุตร

ให้ตั้งบ้านสะพือเป็น เมืองตระการพืชผล ตั้งท้าวสุริยวงศ์(อ้ม)เป็นพระอมรดลใจเจ้าเมือง ท้าวพรหมา(บุตร)เป็นอุปฮาด ท้าวสีหาจักร(ฉิม)เป็นราชวงศ์ ท้าวกุลบุตร(ท้าว)เป็นราชบุตร

ตั้งบ้านเวินไชยเป็น เมืองมหาชนะชัย ตั้งท้าวคำพูนเป็นพระเรืองไชยชนะเจ้าเมือง ท้าวโพธิราช(ผา)เป็นอุปฮาด ท้าววรกิติกา(ไชย)เป็นราชวงศ์ ท้าวอุเทนหอยเป็นราชบุตร

ขึ้นเมืองอุบลบราชธานีทั้งสามเมือง พระราชทานเครื่องยศส่วนเจ้าเมือง คือ ถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ สัปทนแพร ๑ ผ้าวิลาศห่มนอน ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ เสื้อเข้มขาบ ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ ส่วนราชวงศ์ เสื้ออัดตลดัดอก ๑ แพรขาวแถบ ๑ ผ้าลายนุ่ง ๑ ส่วนราชบุตร เสื้ออัดตลัด ๑ แพรขาวห่ม ๑ เหมือนกันทั้ง ๓ เมือง

และโปรดเกล้าฯให้แบ่งท้าวเพี้ยไพร่พลเมืองอุบล ไปอยู่เมืองละสองพันเศษ แต่เมืองมหาชนะชัยนั้นผู้ว่าราชการกรมการยกไปตั้งว่าราชการเมืองอยู่ ณ ตำบลฝั่งแดงริมลำน้ำพาชี หาได้ตั้งที่บ้านเวินไชยไม่

ลุจุลศักราช ๑๒๒๖ ปีชวดฉศก เจ้ายุติธรรมธร(คำสุก)เจ้านครจำปาศักดิ์ ได้ย้ายครอบครัวจากเมืองเก่าหินรอดมาตั้งอยู่ ณ ตำบลระหว่างโพนบกกับวัดละครริมแม่น้ำโขงตะวันตก เป็นเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งคงอยู่ในบัดนี้ และเวลานั้นเพี้ยเมืองโคตรบ้านคันซมซัวแขวงเมืองเจียมโจท สมัครขึ้นเจ้านครจำปาศักดิ์ เจ้านครจำปาศักดิ์จึงตั้งบ้านคันซมซัวเป็น เมืองนครเพ็ง (อยู่ฝั่งโขงตะวันออก) ให้เพี้ยเมืองโคตรเป็นเจ้าเมืองขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์อีกเมืองหนึ่ง (ภายหลังเมืองนี้กลับขึ้นเมืองเจียมดังเก่า)

วันศุกร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนอ้าย พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีหมายตั้งเจ้าขัตติยให้ว่าที่ราชวงศ์เมืองภูแล่นช้าง

และในปีนี้ หัวเมืองตะวันออกเกิดฝนแล้งข้างแพง ซื้อขายกันราคาสัดละตำลึง หรือ ๔ ทะนานต่อบาทบ้าง

ลุจุลศักราช ๑๒๒๗ ปีฉลูสัปตศก พระขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดมีบอกขอตั้งบ้านลาดกุดยางใหญ่(หรือนางใหญ่ หรือใย)เป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกบ้านลาดกุดยางใหญ่หรือนางใยเป็น เมืองมหาสารคาม ให้ท้าวมหาไชยบุตรอุปฮาด(สิง)เมืองร้อยเอ็ด เป็นพระเจริญราชเดชเจ้าเมือง ให้ท้าวบัวทองบุตรอุปฮาด(ภู)เป็นอัคฮาด ให้ท้าวไชยวงศา(ฮึง)บุตรพระยาขัตติยวงศาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดเป็นอัควงศ์ ให้ท้าวเถื่อนบุตรพระขัตติยวงศา(จัน)เจ้าเมืองร้อยเอ็ดเป็นอัคบุตร รักษาเมืองมหาสารคามขึ้นเมืองร้อยเอ็ด เมืองร้อยเอ็ดได้แบ่งเลขให้ ๔๐๐๐ คน ทั้งสำมะโนครัวประมาณ ๙๐๐๐ คน

ฝ่ายเมืองร้อยเอ็ด อุปฮาด(ภู)ถึงแก่กรรม และพระขัตติยวงศาเจ้าเมืองก็แก่ชรา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระขัตติยวงศาเป็นพระนิคมจางวาง ตั้งให้ราชวงศ์เป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมือง ตั้งให้ราชบุตรเป็นอุปฮาด ให้ท้าวก่ำเป็นราชวงศ์ ท้าวเสือบุตรพระวิสัยสุริยวงศ์เป็นราชบุตร

ในปีนี้เจ้าพระยานิกรบดินทรที่สมุหนายกถึงแก่อสัญกรรม ครั้นวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานสุวรรณบัตรตั้งให้เจ้าพระยายมราช(นุช)เป็นเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก แทนเจ้าพระยานิกรบดินทรต่อไป

ในปีนี้ฝ่ายเมืองยโสธร ไปแทรกโพนได้ช้างสีประหลาด บอกส่งมาถวาย ณ กรุงเทพฯ ๑ ช้าง

ฝ่ายทางเมืองเขมราษฎร์ พระเทพวงศา(บุญเฮา)ฝ่วยถึงแก่กรรม

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๒๘ ปีขาลอัฐศก โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวบุญสิงเป็นเจ้าเมืองเขมราษฎร์ กับโปรดเกล้าฯตั้ง เมืองพรหมกัน ใหหลวงสัสดี(สิน)เป็นที่ พระวิชัย เจ้าเมืองพรหมกัน ขึ้นกับเมืองสังฆะในปีนี้ด้วย

ในปีนี้ จีนหอยลูกค้าเมืองอุบลไปพักอยู่ที่ริมบ้านเหมือดแอห้วยกากวาก ถูกผู้ร้ายปล้นฆ่าตาย พี่น้องของจีนหอยได้ร้องไปทางเมืองสุวรรณภูมิ เมืองสุวรรณภูมิว่ามิใช่แขวงเมืองสุวรรณภูมิ พี่น้องจีนหอยจึงได้ไปกราบเรียนเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาจึงเรียกเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ เจ้าเมืองอุบล เจ้าเมืองศรีสระเกศไปพร้อมกัน แล้วมีบัญชาว่า เกิดความฆ่ากันตายในที่ใกล้บ้านแขวงเมืองอุบล เมืองศรีสระเกศ เมืองสุวรรณภูมิ ถ้าเมืองใดสืบผู้ร้ายได้จะยกตำบลนะนให้เป็นของเมืองนั้น ถ้าสืบไม่ได้จะให้เฉลี่ยเสียเงินให้แก่พี่น้องจีนหอย หรือถ้าเมืองใดอยากจะได้ที่ดินตำบลนั้นแล้ว ก็ให้เอาเงินเสียให้แก่พี่น้องจีนหอยห้าชั่ง จะยกที่ดินตำบลนั้นให้เป็นแขวงเมืองนั้น

เจ้าเมืองอุบลจึงยอมเสียเงินให้แก่พี่น้องจีนหอย เจ้าพระยานครราชสีมาจึงได้ตัดสินยกที่ดินตำบลนั้นให้แก่เมืองอุบล ตั้งแต่ห้วยกากวากถึงปากชีตกมูลตั้งแต่นั้นมา เมืองอุบลจึงได้ปักหลักเขตแดนไว้เป็นสำคัญ

ฝ่ายเมืองสุวรรณภูมิจึงบอกกล่าวโทษเมืองอุบลลงมากรุงเทพฯว่า เมืองอุบลปักหลักล่วงเขตแดนเมืองสุวรรณภูมิ จึงโปรดเกล้าฯให้เมืองทั้งสองส่งแผนที่ และให้ถามกรมการเมืองอุบล ซึ่งลงมาอยู่ที่กรุงเทพฯในเวลานั้น ได้ความในเรื่องจีนหอยตามที่เจ้าพระยานครราชสีมาตัดสินนั้นแล้ว จึงได้มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้าฯตัดสินขึ้นไปว่า ตั้งแต่ห้วยกากวากฝั่งตะวันออกไปถึงลำมูลลำชี ให้เป็นเขตแขวงเมืองชนะชัยขึ้นเมืองอุบล ตั้งแต่ห้วยกากวากฝั่งตะวันตกให้เป็นแขวงเมืองสุวรรณภูมิ

พระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ถึงแก่กรรม พระยาไชยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ มีบอกขอตั้งอุปฮาดเมืองกุดฉิมนารายณ์เป็นเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีนี้จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาดเป็นพระธิเบศร์วงศาเจ้าเมืองกุดฉิมนารายณ์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ สัปทนแพรหลิน ๑ เสื้อเข้มขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักไหมทอง ๑ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าปูม ๑ เป็นเครื่องยศ

ฝ่ายเมืองอุบลนั้น ตั้งแต่พระพรหมราชวงศา(กุทอง)ถึงแก่กรรมแล้ว ก็ยังไม่มีเจ้าเมืองมาจนถึงปีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เจ้าหน่อคำหลานเจ้าอนุเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นราชวงศ์อยู่เมืองจำปาศักดิ์นั้น ไปเป็นเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์เจ้าเมืองอุบลราชธานีต่อไป

ส่วนตำแหน่งเจ้าราชวงศ์เมืองจำปาศักดิ์นั้นโปรดเกล้าฯให้เจ้าพิมพิสาร(บัวพรรณ)บุตรเจ้านุด หลานเจ้านครจำปาศักดิ์(หมาน้อย)รับตำแหน่งเป็นเจ้าราชวงศ์นครจำปาศักดิ์

ในปีนี้ มีกอมมันดองลาครองเดียฝรั่งเศส มาเที่ยวตรวจตามลำแม่น้ำโขง และได้แวะยังเมืองจำปาศักดิ์

ลุจุลศักราช ๑๒๒๙ ปีเถาะนพศก เจ้านครจำปาศักดิ์ได้ยกบ้านด่านสองยางตั้งเป็น กุสุมาลย์มณฑล ตั้งทิดโมกเป็น พระนรินทรภักดีศรีสิทธิสงคราม เจ้าเมืองกุสุมาลย์ ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์ กินน้ำคลองบางขมวน ในปีนี้เจ้าอุปราช(แสง)เมืองนครจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรม ยังไม่มีผู้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอุปราช ระหว่างนั้นเงินส่วยเมืองจำปาศักดิ์คั่งค้างมาก จึงโปรดเกล้าฯให้ชำระและยกที่ค้างพระราชทานเสีย แล้วโปรดให้เปลี่ยนกำหนดเก็บเงินส่วยลดลงคงเก็บแต่คนละ ๒ บาท ส่งหลวงแต่นั้นมา ส่วนข้าวก็เก็บขึ้นฉางไว้จ่ายใช้ราชการตามกำหนดเดิม

ฝ่ายทางเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร(กิ่ง)เจ้าเมืองบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งบ้านสระบัวตำบลดงมะขามเฒ่า ปากน้ำห้วยกอก กับบ้านพันลำตำบลภูคนโทเป็นเมือง ขอราชวงศ์(เกษ)กับท้าวแสนบุตรอุปฮาดเป็นเจ้าเมือง

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านสระบัวดงมะขามเฒ่าเป็น เมืองกมลาศัย ให้ราชวงศ์(เกษ)เป็น พระราษฎรบริหารเจ้าเมือง ให้ท้าววันทองเป็นอุปฮาด ให้ท้าวบัวเป็นราชขวงศ์ ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรพระราษฎรบริหาร(เกษ) ให้ท้าวมหานามเป็นที่ราชบุตร

โปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านพันลำเป็น เมืองสหัสขันธ์ ให้ท้าวแสนเป็น พระประชาชนบาล เจ้าเมือง ให้ท้าวพรหมเป็นอุปฮาด ให้ท้าวคำไภยน้องพระประชาชนบาล(แสน)เป็นราชวงศ์ ให้ท้าวแสงเป็นราชบุตร ทั้งสองเมืองนี้โปรดเกล้าฯให้ขึ้นเมืองกาฬสินธุ์

เจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์เจ้าเมืองอุบลราชธานี ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งท้าวโพธิราชบุตรพระพรหมราชวงศาคนเก่าเป็นอุปฮาด ขอท้าวหอยเป็นราชบุตรเมืองมหาชนะชัย

ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งตามเจ้าพรหมขอ และพระราชทานเสิ้อเข้มขาบ ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ แพรขาวห่ม ๑ ผ้าม่วงจีน ๑ แก่อุปฮาด และราชบุตรเมืองมหาชนะชัย

ฝ่ายทางเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์(วัง)จับพระพล(รศ)น้องชายบอกส่งมาต้องจำถึงแก่กรรม ณ กรุงเทพฯ และพระยาขุขันธ์(วัง)ได้บอกกล่าวโทษพระปลัด(ศรีเมือง)เมืองขุขันธ์ว่า บังเงินหลวง โปรดเกล้าฯให้ส่งตัวพระยาปลัด(ศรีเมือง)มาพิจารณา ณ กรุงเทพฯ ตุลาการตัดสินให้พระปลัด(ศรีเมือง)ใช้เงินหลวง แล้วโปรดเกล้าฯให้พระปลัด(ศรีเมือง)กลับมารับราชการยังเมืองขุขันธ์ ครั้นพระปลัด(ศรีเมือง)มาถึงเมืองปราจีนก็ถึงแก่กรรม ฝ่ายท้าวอ้นบุตรพระปลัด(ศรีเมือง)เห็นว่าจะรับราชการอยู่ในเมืองขุขันธ์ดังแต่ก่อน เกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อน จึงกลับมากรุงเทพฯ ขอออกทำราชการเป็นกองนอก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เป็นพระบริรักษ์ภักดีกองนอก ทำราชการขึ้นเมืองขุขันธ์ และโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวบุนนาคบุตรพระยาขุขันธ์(วัง)เป็น พระอนันต์ภักดี ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ ตามซึ่งพระยาขุขันธ์(วัง)มีบอกขอมานั้นด้วย

กับพระยาขุขันธ์(วัง)ได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งตำบลห้วยลำแสนไพรอาบาล กับบ้านกันตวดตำบลห้วยอุทุมพรเชิงเขาตกเป็นเมือง ขอให้พระแก้วมนตรี(พิมพ์)ยกกระบัตร และท้าวบุตดีบุตรพระยาขุขันธ์(วัง)เป็นเจ้าเมือง

วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกห้วยอาบาลเป็น เมืองกันทรลักษณ์ ให้พระแก้วมนตรี(พิมพ์)ยกกระบัตรเป็น พระกันทรลักษณ์บาล เจ้าเมือง

ให้ยกบ้านกันตวดห้วยอุทุมพรเป็น เมืองอุทุมพรพิสัย ใท้วบุตดีเป็น พระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมือง

ขึ้นเมืองขุขันธ์ พระราชทานถาดหมากคนโทเงิน ๑ สำรับ ประคำทอง ๑ สัปทนปัสตู ๑ เสื้อเข้มขาบริ้วดอก ๑ แพรสีติดขลิบ ๑ ผ้าส่านวิลาศ ๑ แพรเพลาะ ๑ ผ้าลายเกี้ยว ๑ เป็นเครื่องยศเหมือนกันทั้ง ๒ เมือง

ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ พระรัตนวงศา(เลน)เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม

ครั้นลุจุลศักราช ๑๒๓๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก อุปฮาด(คำผาย) ราชวงศ์(เง่า) ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ต่างแย่งกันขอรับพระราชทานเป็นที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้อุปฮาด(คำผาย)เป็นพระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ให้ราชวงศ์เลื่อนขึ้นเป็นอุปฮาด กลับขึ้นมารักษาราชการบ้านเมืองต่อไป

กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองมหาสารคามจากเมืองร้อยเอ็ดมาขึ้นกรุงเทพฯ

แอดมิราลแม่ทัพฝรั่งเศสเมืองไซ่ง่อน แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า พระยาขุขันธ์มีหนังสือแจ้งยังเมืองกะพงสวายเขมรในบำรุงฝรั่งเศสว่า ได้โปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองเกราะ ครั้นความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชดำริสงสัยว่า เมื่อปีเถาะนพศก ศักราช ๑๒๒๙ เมืองขุขันขอตั้งบ้านลำแสนเป็นเมืองกันทรลักษณ์ และบ้านอุทุมพรเป็นเมืองอุทุมพรพิสัยขึ้นเมืองขุขันธ์ ไม่ได้ความชัดว่าเขตแขวงเมืองทั้งสองจะขนาบคาบเกี่ยวกับเขตแดนฝ่ายเขมรประการใด จึงโปรดเกล้าฯให้หลวงเดชอัศดร ขุนอินทร์อนันต์ เป็นข้าหลวงออกไปพร้อมด้วยพระยาทรงพลกรมการไต่สวน และตรวจทำแผนที่ส่งกรุงเทพฯ และให้ย้ายเมืองกันทรลักษณ์ เมืองอุทุมพรขึ้นมาตั้งเสียบนเขาก่อน เพราะฉะนั้นเมืองกันทรลักษณ์จึงได้ย้ายมาตั้งที่บ้านลาวเดิม และเมืองอุทุมพรมาตั้ง ณ บ้านปรือในปีนี้

พระยาไชยสุนทร(กิ่ง)เจ้าเมือง กับราชบุตร(ขี)เมืองกาฬสินธุ์ และราชวงศ์(คำไภย)เมืองสหัสขันธ์ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯให้อุปฮาด(หนู)เป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวเหม็นบุตรพระยาไชยสุนทร(ทอง)เป็นอุปฮาด ให้ท้าวเชียงโคตรบุตรอุปฮาดเป็นราชวงศ์ ให้ท้าวสุริยมาตย์บุตรราชบุตรเป็นราชบุตร รักษาเมืองกาฬสินธุ์

โปรดเกล้าฯให้ท้าวทองบุตรพระประชาชนบาล(แสน) เป็นราชวงศ์เมืองสหัสขันธ์

กับโปรดเกล้าฯให้เลื่อนตำแหน่งพระสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์(ม่วง) เป็น พระยาสุรินทรภักดีศรีไผทสมันต์ เจ้าเมือง(๑) ให้หลวงนรินทรราชวงศา(นาค)บุตรพระยาสุรินทร์(สุ่น)เป็นพระไชยณรงค์ภักดีปลัด ให้พระมหาดไทย(จันทร์)บุตรท้าวศร หลานพระยาสุรินทร์(สุ่น)เป็นพระพิชัยนครบวรวุฒิยกกระบัตร รักษาเมืองสุรินทร์

โปรดเกล้าฯตั้งให้พระจำนง(แก้ว)เป็นพระภักดีภูธรสงครามปลัด ให้พระบริรักษ์(อ้น)เป็นพระแก้วมนตรียกกระบัตร เมืองขุขันธ์ พระภักดีภูธรสงครามปลัด(แก้ว) ยังหาทันกลับบ้านเมืองไม่ ถึงแก่กรรม ณ กรุงเทพฯ

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสวยราชสมบัติในรัชกาลปัจจุบันนี้


....................................................................................................................................................

(๑) พระยามหาอำมาตย์ฯ(ป้อม) ต้นสกุล อมาตยกุล เวลานั้นจะเป็นตำแหน่งอะไรไม่ทราบ เมื่อเจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นกบฏในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระสุริยภักดี ต่อภายหลังนั้นมาจึงได้เป็นพระยามหาอำมาตย์ฯ

(๒) ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าอุปราชไม่ได้เป็นใจกบฏด้วย มากับเจ้าอนุโดยกลัวอาญา ได้อุปการส่งพระสุริยภักดี(ป้อม)เข้ามา และสั่งให้มากราบทูล เมื่อเสร็จสงครามก็ไม่ได้รับพระราชอาญา ครั้งนั้นเจ้าอุปราชไม่ได้ลงมาถึงเมืองนครราชสีมา

(๓) รายการพระราชสงครามคราวศึกเจ้าอนุเวียงจันทน์ มีปรากฏอย่างพิสดารในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "เทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" คราวเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๐๐ ปี

(๔) คือ เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)

(๕) ความที่กล่าวตรงนี้คลาดเคลื่อนอยู่ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เจ้าอนุเวียงจันทร์ลงมาตั้งอยู่เมืองนครราชสีมา ครั้นกองทัพกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพยกขึ้นไป เจ้าอนุฯเห็นว่าจะสู้กองทัพกรุงไม่ได้ จึงถอยกลับไปตั้งรับที่หนองบัวลำภู กองทัพกรุงตามไปตีกองทัพเวียงจันทน์แตก เจ้าอนุฯก็เลยทิ้งเมืองเวียงจันทน์หนีไปเมืองญวน กองทัพกรุงได้เมืองเวียงจันทน์ครั้งที่ ๑ ส่วนเจ้าพระยาบดินทร์ออกไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์ จับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ์(โย่) กองทัพกรุงปราบพวกเวียงจันทน์เรียบร้อยแล้ว กลับกรุงเทพฯโดยมากอยู่รักษาเมืองเวียงจันทน์แต่น้อย

ต่อมาโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเมื่อเป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีขึ้นไปรักษาเมืองเวียงจันทน์ ไปจวนจะถึงเมืองประจวบเวลาญวนให้ข้าหลวงพาเจ้าอนุฯกลับเข้ามาเมืองเวียงจันทน์ ว่าจะมาขออ่อนน้อมโดยดี ข้าราชการชาวกรุงที่รักษาเมืองเวียงจันทน์หลงเชื่อคำญวน ค่ำวันหนึ่งเจ้าอนุฯรวบรวมผู้คนเข้าปล้นฆ่าไทยที่อยู่เมืองเวียงจันทน์ตายเกือบหมด ที่เหลือหลบหนีข้ามมาได้ มาบอกเจ้าพระยาบดินทร์ๆกำลังผู้คนไม่พอที่จะต่อสู้ จึงถอยทัพหมายจะมาตั้งรวบรวมคนที่เมืองยโสธร ยกมาถึงบ้านบกหวานเมืองหนองคาย เจ้าอนุฯให้ราชวงศ์ยกกองทัพตามมาทัน ได้รบกันถึงตัวต่อตัว เจ้าพระยาบดินทร์ตีกองทัพเวียงจันทน์แตก เมื่อรวบรวมกำลังได้พอแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์จึงยกตามไปตีได้เมืองเวียงจันทน์เป็นครั้งที่ ๒ และจับเจ้าอนุฯได้ในคราวนั้น

(๖) ที่เรียกว่า เมืองภูซุน หมายความว่าเมืองเว้ เมืองหลวงของประเทศญวน

(๗) ช้าง ๒ ช้างนี้มาคนละคราว พระพิมลฯมาแต่ฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ พระวิสูตรฯมาทีหลังนั้น


....................................................................................................................................................

กำเนิดหัวเมืองในมณฑลอีสาน ตอนที่ ๑
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:16:05:07 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com