กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา

ครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ ๕ เสด็จลงเรือพระที่นั่งพายในสระบางปะอินจะไปเที่ยวประพาส ตรัสเรียกพระยาโบราณฯ ให้ตามเสด็จ ให้นั่งอยู่หลังที่ประทับ พอเรือพายผ่านพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพอาสน์ ซึ่งปลูกอยู่กลางสระ ตรัสถามพระยาโบราณฯว่า "ปราสาทครั้งกรุงเก่ายอดประดับกระจกหรือไม่"

พระยาโบราณฯกราบทูลสนองทันที่ว่า "ประดับพ่ะย่ะค่ะ"

รัชกาลที่ ๕ ตรัสย้อนถามว่า "ทำไมเจ้าจึงรู้ว่าประดับกระจก"

พระยาโบราณฯกราบทูลสนองว่า "ในหนังสือพระราชพงศาวดาร แผ่นดินพระเจ้าปราสาททองกล่าวว่า ครั้งหนึ่งพระนารายณ์ราชกุมารเล่นอยู่บนเกยปราสาท อสุนีบาตลงต้องยอดปราสาทจนกระจกปลิวลงมาต้องพระองค์ พระนารายณ์ก็หาเป็นอันตรายด้วยสายฟ้าไม่"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "เออ จริงแล้ว" ฝ่ายบรรดาผู้คนที่ตามเสด็จทั้งหลายที่ไปในครั้งนั้น ต่างพากันชมความทรงจำของพระยาโบราณฯ กับชื่นชมที่ท่านสามารถตอบข้อทรงถามได้อย่างว่องไวด้วย ถ้าหากไม่เป็นคนรักรู้จริงๆแล้ว ก็คงไม่อาจกราบทูลได้โดยเร็วเช่นนั้นได้


(จากหนังสือ "เก็บตกกรุงสยาม" ของ เอนก นาวิกมูล)


จากเกร็ดต่างๆที่ปรากฏอยู่หนังสือต่างๆ เราได้ทราบถึงความรู้ ความรักรู้ในโบราณคดีของท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเป็นผู้ขุดบูรณะกรุงศรีอยุธยา และเป็นผู้เปิดเผยประวัติศาสตร์ ในคราวนี้ขอเสนองานนิพนธ์ ของ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) จากหนังสือ "ตำนานกรุงเก่า"


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๒ ภูมิสถานพระนคร

กรุงศรีอยุธยา


กรุงศรีอยุธยานั้น ตั้งอยู่ข้างฟากตะวันออกของกรุงเทพทวาราวดี คงจะอยู่ทางสเตชั่นรถไฟเก่า ออกไปในแถวที่วัดสมณโกษ วัดกุฎีดาว และวัดศรีอโยธยา ซึ่งมาภายหลังเรียกกันว่าวัดเดิม เมืองคงจะหันหน้าไปทางตะวันออกลงแม่น้ำหันตรา แต่กำแพงป้อมปราการเห็นจะไม่ใช่ก่อด้วยอิฐ คงเป็นเชิงเทินดิน เมื่อเมืองร้างแล้วก็มีคนถากถางเกลี่ยทำเป็นไร่นา และทั้งปราสาทราชฐานก็คงจะเป็นเครื่องไม้ จึงมิได้มีสิ่งใดเหลือ


กรุงเทพทวาราวดี

กรุงเทพทวาราวดีซึ่งเป็นเมืองหลวงภายหลัง ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองโสน ซึ่งเป็นที่แผ่นดินแหลมแม่น้ำลพบุรี ด้านเหนือด้านใต้ด้านตะวันตกจดแม่น้ำ แต่ด้านตะวันออกเป็นพื้นดินเดียวกันกับกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างกรุงแล้วจึงได้ปรากฏว่า ด้ารตะวันออกนี้มีแต่คู หาแม่น้ำมิได้ คูนี้เป็นคูแยกจากแม่น้ำลพบุรีแต่ตำบลหัวรอ ไปบรรจบแม่น้ำบางกะจะ ป้อมเพ็ชร์เรียกว่าคูขื่อหน้า แต่ชั้นเดิมคงจะแคบ มาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา เมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี จึงโปรดให้ขุดขยายออกไปเป็นกว้าง ๑๐ วา ลึก ๓ วา เพราะเข็ดเมื่อครั้งในแผ่นดินสมเด็จพระมหินทราธิราช คูขื่อหน้าแคบ ทัพหงสาวดีจึงถมถนนข้ามเข้ามาตีกรุงได้


กำแพงเมือง

กำแพงพระนครในชั้นแรกสร้างกรุงเห็นจะยังไม่ได้ก่อด้วยอิฐ เข้าใจว่าจะเป็นแต่เชิงเทินดิน ใช้ขุดดินทางริมน้ำกับข้างใยขึ้นถม คูที่ขุดเอาดินขึ้นมาทางข้างในกำแพงเดี๋ยวนี้ยังปรากฏอยู่ กำแพงอิฐจะมาก่อขึ้นต่อหลัง เพราะรากกำแพงอิฐที่พบในเวลานี้อยู่บนเชิงเทินดิน สูงกว่าระดับดินธรรมดาตั้งแต่วาหนึ่งถึง ๖ ศอก ตัวเชิงเทินดินที่เป็นพื้น ตั้งกำแพงกว้างอย่างน้อยราว ๘ วา กำแพงหนา ๒ วาเศษ ก่ออิฐ ๒ ข้างไว้ช่องกลางถมดินกับอิฐหัก ส่วนสูงตั้งแต่เชิงกำแพงถึงปลายใบเสมา คะเนว่าบางแห่งถ้าในที่ต่ำคงจะราว ๓ วา ถ้าที่สูงคงจะราว ๑๐ ศอกเศษ เพราะพบเศษกำแพงที่เหลือจากรื้ออยู่ที่วัดท่าทรายแห่งหนึ่ง สูงจากพื้นดิน ๙ ศอกเศษเกือบคืบ กับที่ใต้วัดจีนเยื้องหน้าวัดสุวรรณมีประตูช่องกุฏอยู่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง ตรงนั้นเป็นที่ดอนกำแพงสูง ๖ ศอกคืบมีเศษ ที่คิดว่ากำแพงตอนนั้นสูงเท่านี้ก็เพราะด้วยกำแพงที่เหลืออยู่นั้น สูงพ้นหลังประตูช่องกุฏขึ้นไปอีกศอกเศษ ซึ่งคะเนว่าเกือบจะถึงที่ตั้งใบเสมา เพราะธรรมดาประตูช่องกุฏก็อยู่ไล่เลี่ยหรือต่ำกว่าพื้นเชิงเทินำปเพียงนิดน้อย พ้นเชิงเทินขึ้นไปไม่กี่มากน้อยก็ถึงที่ตั้งเสมา กับได้ขุดพบเสมากำแพงเมืองยังเป็นรูปดีอยู่เสมาหนึ่ง กว้างศอกคืบ หนา ๒ ศอก สูง ๒ ศิกคืบ ถ้าเอาส่วนของใบเสมาบวกเข้ากับกำแพงตรงวัดท่าทราย ก็คงได้ราว ๓ วา กำแพงใต้วัดจีนราว ๑๐ ศอก ถึงจะยิ่งหย่อนกว่านี้ไปบ้างก็ไม่สู้มากนัก แต่ถ้าคิดเอาส่วนสูงของกำแพง ตั้งแต่ระดับดินไปจนขาดปลายเสมา คงจะสูงเสล ๔ วาทั้งหมด แนวกำแพงพระนครวัดได้ ๓๑๐ เส้น ในเมืองวัดตามกว้างในที่คอดได้ ๔๐ เส้น ตามยาวได้ ๙๘ เส้น


ขยายกำแพงเมืองด้านตะวันออก

กำแพงเดิมก่อนแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้านเหนือตั้งแต่หน้าพระราชวัง คงจะไปตามแนวถนนป่ามะพร้าวแล้วไปเลี้ยวมรามุมใต้ประตูหอรัตนชัย วกลงไปข้างในห่างจากถนนรอบกรุงเดี๋ยวนี้ถึงป้อมเพ็ชร แต่ป้อมเพ็ชรมาตามทางริมน้ำทิศใต้ทิศตะวันตกบรรจบ ทิศเหนือจดคลองท่อ ที่ซึ่งเป็นวังจันทรเกษมเดี๋ยวนี้อยู่นอกพระนคร จะได้กล่าวต่อไปในภายหลัง

และเหตุที่กำแพงเดิมอยู่หังวังจันทร์เกษมห่างจากแม่น้ำเดี๋ยวนี้เข้าไปมากนั้น ก็เห็นจะเป็นด้วยครั้งแรกสร้างกรุงที่แถวนั้นจะเป็นหาดทรายและลำลาบลุ่มมาก เพราะในเวลานี้เมื่อขุดดินลงไปลึกสักศอกเศษ ก็พบพื้นล่างเป็นทราย ครั้นมาภายหลังที่ดอนขึ้น ชานพระนครกว้างออกไป จึงได้สร้างพะเนียดที่จับช้างขึ้นระหว่างวังจันทร์เกษม กับที่ซึ่งเป็นวัดขุนแสนวัดซองเดี๋ยวนี้ และบางทีก็จะได้ใช้เป็นที่ทอดปล่อยเลี้ยงช้างหลวงด้วย

ครั้นมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เกิดศึกหงสาวดีติดพระนคร คงจะทรงเห็นว่า การที่ไว้ชานพระนครกว้าง ปล่อยให้กำแพงกับคูห่างกัน ย่อมเป็นทางให้ข้าศึกข้ามคูเข้ามาถึงกำแพงได้ง่าย เพราะไกลทางปืน จึงโปรดให้ขยายกำแพงพระนครออกไปตั้งถึงขอบริมน้ำ แต่ครั้งนั้นเห็นจะยังไม่แล้วเสร็จ

มาเมื่อจุลศักราช ๙๒๔ ปี ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา จึงปรากฏว่าได้ทำกำแพงอีกคราวหนึ่ง ก็เห็นจะทำเพิ่มเติมกำแพงที่ค้างมาในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้นเอง กำแพงใหม่ตอนที่ยกออกมานี้ แยกจากกำแพงเก่าที่ท่าสิบเบี้ย วงเอาวัดราชประดิษฐานและที่ซึ่งภายหลังเป็นวัดขุนแสน วังจันทร์เกษมไว้ข้างใน แล้ววกลงไปบรรจบป้อมเพ็ชร ซึ่งเป็นถนนรอบกรุงที่ใช้เดินกันไปมาอยู่ทุกวันนี้ ส่วนกำแพงเดิมที่อยู่ภายในหลังวังจันทร์เกษมเข้าไปคงจะรื้อปราบลงเป็นถนนในพระนคร คงเป็นถนนป่ามะพร้าวข้างวัดพลับพลาชัยแน่


ขุนหลวงหาวัดก่อกำแพงหน้าวัด

อนึ่งกำแพงเมืองข้างวัดหลวงด้านริมน้ำ เดิมมีชั้นเดียว และตอนนี้ก่อผิดกว่าที่อื่น เชิงกำแพงมีลายบัวคว่ำด้วย ครั้งศึกพระเจ้าอลองพราญีติดพระนคร ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ข้าราชการไปเชิญเสด็จขุนหลวงหาวัดลาพระผนวช ออกช่วยทรงจัดการป้องกันรนักษากรุง ขุนหลวงหาวัดโปรดให้ก่อกำแพงที่ข้างวังลงในที่ริมแม่น้ำ ต่ำกว่าที่กำแพงเดิมอีกชั้นหนึ่ง กำแพงสายนี้ก็ตรวจพบแล้ว แต่อยู่ในที่น้ำท่วมต่ำมาก ครั้นขุดวังคราวนี้ตั้งใจจะถมชายตลิ่งหน้ากำแพงเก่า ให้เท่ากับระดับถนนหน้าจวนมหารใน จะเอากำแพงสายนี้ไว้ ก็จะต้องแหวกดินเป็นคูจึงจะเห็น แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่น่าดูแลอย่างไร จึงได้ถมเสีย


ป้อมตามกำแพงเมือง

ตามแนวกำแพงมีป้อมเป็นระยะรอบพระนคร ตามที่ตรวจพบแล้วในเวลานี้มี ๑๖ ป้อม เข้าใจว่าจะมีมากกว่านี้ แต่ไม่มีเวลาพอที่จะขุดค้นได้ตลอด ภายหลังเมื่อตรวจตราได้ความอย่างไร จะได้เพิ่มเติมต่อไป ป้อมรนั้นถ้าอยู่ในที่สำคัญ เช่นตรงแม่น้ำหรือทางร่วม ก็เป็นป้อมใหญ่ก่ออย่างแข็งแรง แต่ป้อมเดหล่านี้ยังเหลือพอที่จะเห็นซวดทรงสัณฐานได้ ๒ แห้งคือ ป้อมเพ็ชรแห่งหนึ่ง เป็นป้อมใหญ่ก่อสำหรับป้องกันข้าศึกที่จะมาทางน้ำตรงมุมพระนครด้านใต้ ป้อมนี้ก่อยื่นออกไปจากแนวกำแพงหนา ๓ วามีเศษ กลางป้อมเป็นพื้นดินว่าง มีบันไดอิฐขึ้นเทิงเชินในป้อม ตามเหลี่ยมป้อมที่พื้นดินมีประตูคูหาก่อเป็นรูปโค้ง มีรอยติดบานที่จะใช้เปิดปิดเข้าออกได้ คูหากว้าง ๔ ศอก สูง ๕ ศอก บนหลังคูหามีช่องกลวงตลอดขึ้นไปถึงเชิงเทิน

กับป้อมริมประตูข้าวเปลือกอีกแห่งหนึ่ง เป็นป้อมคู่ตั้งอยู่ ๒ ฟากคลอง แต่เล็กกว่าป้อมเพ็ชร ก่อย่อเหลี่ยมเข้าเป็นท่าบรรจบกัน บนป้อมเป็นพื้นอิฐ ตลอดตามเหลี่ยมป้อมมีประตูคูหาโค้งเหมือนป้อมเพ็ชร เข้าใจว่าเมื่อมีข้าศึกมาติดพระนคร คงจะลากปืนใหญ่ออกตั้งยิงป้องกันตามช่องคูหา แต่ถ้าเมื่อเห็นจะเสียท่วงที ก็คงลากถอยปืนใหญ่ไปในป้อมเอาไม้แก่นปักลงในช่องว่างเป็นระเนียดปิดช่องคูหากันหน้าบานประตู ส่วนบนป้อมก็คงจะตั้งปืนใหญ่ได้ ด้วยมีที่กว้าง


ชื่อป้อม

ป้อมตามกำแพงเมืองซึ่งมีชื่อในพระราชพงศาวดาร ก็มีแต่ป้อมมหาไชย ป้อมเพ็ชร หอราชคฤห์ ป้อมนายการ(เห็นจะเป็นป้อมในไก่) ป้อมซัดกบหรือป้อมท้ายกบ กับป้อมจำปาพลอีกป้อมหนึ่ง พงศาวดารไม่ได้กล่าวให้เป็นเข้าใจว่าอยู่ที่ใด แต่ป้อมมหาไชยนั้นได้ความแน่นอนแล้วว่า เป็นป้อมอยู่มุมวังจันทร์เกษม อยู่ในที่ซึ่งเป็นตลาดหัวรอ ป้อมนี้ก็ทีจะเป็นป้อมใหญ่อย่างแข็งแรงเหมือนกัน เพราะตั้งอยู่ในที่เลี้ยว จากแม่น้ำหน้าวัดสามพิหาร ซึ่งจะเป็นทางเข้าไปถึงข้างพระราชวังหลวง

เมื่อครั้งพระเจ้าตะเบงซวยตี้กษัตริย์กรุงหงสาวดียกทัพเข้ามาติดพระนคร ครั้งทรงช้างที่นั่งมายืนอยู่ที่วัดสามพิหาร เร่งให้แม่ทัพนายกองต้อนพลเข้าหักพระนคร พระยารามเอาปืนนารายณ์สังหารลงสำเภาไม้รักแม่นาง ยิงขึ้นไปถูกกิ่งโพธิใหญ่ ๓ กำ หักลงมาใกล้ข้างช้างที่นั่งพระเจ้าตะเบงซวยตี้ ขณะนั้นชาวป้อมมหาไชยก็ยิงปืนใหญ่น้อยสาดเข้าไปถูกรี้พลมอญพะม่าตายมาก ทัพหงสาวดีต้องถอย

อนึ่งเมื่อแรกพระเพทราชาขึ้นเสวยราชสมบัติ กบฏธรรมเสถียรขี่ช้างพาพวกเข้ายืนอยู่ที่ตรงรอทำนบฟากตะวันออก พระพุทธเจ้าเสือเมื่อยังเป็นกรมพระราชวังบวร เสด็จขึ้นไปบนป้อมมหาไชย ทรงจุดปืนใหญ่ยิงไปถูกช้างซึ่งขบถธรรมเสถียรขี่มาล้มลงตายในที่นั้น แต่ขบถธรรมเสถียรกับอ้ายกุลาทาษผู้เป็นควาญหาถูกปืนไม่ เป็นแต่ตกช้างลงมาก็เจ็บป่วยสาหัส จึงตามจับตัวได้

และป้อมเพ็ชรนั้น เป็นป้อมตั้งตรงมุมพระนครด้านใต้ตรงแม่น้ำบางกะจะ เป็นป้อมสำหรับต่อสู้ข้าศึกที่จะมาทางเรือจากข้างใต้ ต่อป้อมเพ็ชรขึ้นไปทางขื่อหน้าก็มีป้อมใหญ่รายเรียงขึ้นไปอีก ๒ ป้อมในระยะที่ใกล้กัน ป้อมกลางจะมีชื่อเสียงอย่างไรไม่ได้ความ แต่ป้อมเหนือที่ตั้งอยู่ข้างวัดจีนหน้าวัดสุวรรณตรงมุมเกาะแก้วนั้น คงเป็นชื่อหอราชคฤห์ ซึ่งพระมหาธรรมราชาเสด็จไปประทับทรงบัญชาการศึกป้องกันทัพพระยาละแวก ที่ยกเข้ามาปล้นกรุงคราวมาตั้งอยู่ที่ขนอนบางตะนาวศรี

ครั้งนั้นป้อมนายการ(ในไก่)ก็ได้ยิงต่อสู้ข้าศึกด้วย ป้อมในไก่นี้ทีจะอยู่เหนือและใกล้ๆกับป้อมเพ็ชรทางลำน้ำสำเถาล่ม คือกันไม่ให้ทัพเรือขึ้นไปทางเหนือได้

ป้อมซัดกบหรือท้ายกบ เป็นป้อมอยู่มุมพระนครตรงลำน้ำหัวแหลม คืออยู่ในแถวที่ข้างเหนือโรงทหารทุกวันนี้ ที่คิดว่าป้อมนี้เป็นป้อมซัดกบ ก็เพราะมีความในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพะม่ายกมาตีกรุงในครั้งหลัง พระศรีสุริยภาค(น่าจะเป็นพระศรีสุริยพาห)นายป้อมซัดกบประจุปืนมหากาฬมฤตยูราช ๒ สัด ๒ นัด ยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง เพราะหน้าป้อมนี้ก็ตรงไปทางลำน้ำภูเขาทองด้วย

ป้อมจำปาพลนั้น กรมขุนราชสีห์ลงไว้ในแผนที่ของท่านว่า ป้อมที่ออกชื่อมาว่าเป็นป้อมซัดกบนั้นเป็นป้อมจำปาพล แต่ในจดหมายเหตุอีกฉะบับหนึ่งซึ่งอ้างว่าเป็นคำให้การขุนหลวงหาวัดว่า ป้อมจำปาพลอยู่ถัดประตูเข้าเปลือกเหนือวัดท่าทราย แต่เห็นว่าป้อมจำปาพลนี้หาใช่ป้อมตามกำแพงไม่ เป็นป้อมชั้นนอก

ข้อที่จะเห็นว่าป้อมนี้อยู่นอกพระนครนั้น คือมีความในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อครั้งพระเจ้ากรุงหงสาวดีตะเบงซวยตี้)ยกทัพเข้ามาติดพระนครในศักราช ๙๐๕ ปี ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้เจ้าพระยาจักรีออกไปตั้งค่ายตำบลลุมพลี เจ้าพระยามหาเสนาออกตั้งค่ายบ้านดอกไม้ป้อมท้องนาหันตรา พระยาพระคลังตั้งป้อมท้ายคู พระสุนทรสงครามตั้งค่ายป้อมจำปาพล ในการสงครามคราวนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิพร้อมด้วยพระสุริโยทัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี และพระราเมศวร พระมหินทราธิราชราชโอรส ทรงช้างพระที่นั่งยกพลออกไปต่อยุทธกับพระเจ้าหงสาวดีที่ทุ่งภูเขาทอง ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียทีเบนให้หลังแก่ข้าศึก พระสุริโยทัยก็ขับช้างพระที่นั่งสอึกเข้ารับไว้ ช้างพระเจ้าแปรรับได้ล่างถนัด ช้างพระสุริโยทัยแหงนหงายเสียที พระเจ้าแปรจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าว ต้องพระอังษาพระสุริโยทัยตะพายแล่งมาถึงราวพระถันสิ้นพระชนม์บนคอช้าง พระราเมศวร พระมหินทราธิราชก็ขับช้างพระที่นั่งเข้ากันพระศพพระราชมารดาเข้าพระนครได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดให้เชิญพระศพพระสุริโยทัยมาไว้ที่สวนหลวง ครั้นรุ่งขึ้นพระมหาอุปราชาแต่งพลเข้าตีค่ายพระสุนทรสงครามแตก เสียค่ายและป้อมจำปาพล ครั้นเลิกการสงครามแล้ว จึงโปรดให้แต่งการพระราชทานเพลิงพระศพพระสุริโยทัย และที่ซึ่งพระราชทานเพลิงนั้น โปรดให้สถาปนาเป็นพระอารามชื่อวัดสบสวรรค์ มีความดังนี้

ถ้าจะคิดว่าป้อมที่มุมพระนครตรงแม่น้ำหัวเเหลมเป็นป้อมจำปาพล ป้อมนั้นก็อยู่ข้างสวนหลวง ถ้าทัพหงสาวดีตีป้อมนี้ได้ก็คงเมืองแตก พระศพพระศรีสุริโยทัยก็คงจะไม่อยู่มาจนถึงเวลาพระราชทานเพลิง หรือจะคิดว่าป้อมเหนือวัดท่าทรายเป็นป้อมจำปาพล ตามที่จดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดกล่าว ก็ถ้าข้าศึกตีได้เมืองก็ต้องแตกอีก และทัพหงสาวดีคราวนี้ก็ตีพระนครไม่ได้ จึงเห็นว่าป้อมจำปาพลไม่ใช่ป้อมตามกำแพงเมือง เป็นป้อมนอกพระนคร คงจะเป็นป้อมที่อยู่ฟากตะวันตก เหนือวัดท่าวัดการ้องขึ้นไป ที่ตรงปากคลองภูเขาทองข้าม ซึ่งในเวลานี้ก็ยังมีซากป้อม และวัดที่อยู่ในบริเวณนั้นก็ยังเรียกชื่อว่าวัดป้อมอยู่

ที่พระสุนทรสงครามออกไปตั้งอยู่ที่ป้อมนี้ ก็สำหรับจะป้องกันข้าศึกที่จะมาทางขนอนปากคู เป็นป้อมชั้นนอกพระนครด้านตะวันตก และที่เจ้าพระยาจักรีไปตั้งค่ายเป็นทางป้องกันทางฝ่ายเหนือ เจ้าพระยามหาเสนาตั้งที่ป้อมท้องนาหันตรา ก็คือไปตั้งสกัดต่อสู้ข้าศึกที่จะมาทางลำน้ำสักด้านตะวันออก พระยาพระคลังตั้งป้อมท้ายคู ก็คือตั้งที่ริมแม่น้ำตรงตำบลบางกะจะ เป็นกองป้องกันข้าศึกซึ่งจะขึ้นมาจากทางใต้ เป็นป้อมค่ายชั้นนอก ๔ ทิศพระนคร คล้ายกับป้อมป้องปัจจามิตร์ ป้อมปิดปัจจนึก ป้อมผลาญสัตรูราบ ป้อมปราบสัตรูพ่าย ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ ป้อมหักกำลังดัษกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ทรงสร้างขึ้นเป็นป้อมรายชั้นนอกที่กรุงเทพมหานครนั้น


ประตูเมือง

ประตูเมืองที่เป็นประตูใหญ่ทำลายหมด พอจะเห็นได้แต่ช่องข้างล่าง กว่างราว ๖ ศอกเศษ ในหนังสือโบราณกล่าวว่าประตูใหญ่เป็นประตูยอด รูปทรงมณฑปทาแดง และได้พบรูปภาพที่พนังอุโบสถวัดยม ซึ่งนักปราชญ์ในทางวิชาช่างรับรองว่าเป็นฝีมือที่เขียนไว้แต่ครั้งกรุงเก่านั้น ประตูเมืองก็เป็นรูปยอดมณฑปทาแดง เห็นจะพอเอาเป็นที่เชื่อได้ว่า ยอดประตูเมืองกรุงเก่าไม่ได้เป็นอย่างอื่น แต่ประตูช่องกุดระหว่างประตูใหญ่นั้น ยังเหลือเป็นรูปร่างชัดเจนอยู่ที่แนวกำแพงใต้วัดจีน ก่อเป็นรูปโค้งคูหากว้าง ๔ ศอกคืบ สูง ๕ ศอกเศษ เข้าใจว่าคงจะเป็นรูปดังนี้ทั่วทุกประตู


ถนนในเมือง

อนึ่งในพระนครนั้น มีถนนรีถนนขวางและถนนซอยมากมายหลายสาย ถนนเหล่านี้ต้องพูนดินสูงกว่าระดับดินเดิมตั้งแต่ ๒ ศอกถึง ๔ ศอก เพราะพื้นดินในพระนครเป็นที่ลุ่ม ถึงฤดูน้ำๆคงท่วมทุกปีเหมือนทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องถมดินเสียชั้นหนึ่งแล้วปูอิฐตะแคง บางสายกว้าง ๖ วาบ้าง ๓ วาบ้าง ๑๐ ศอกบ้าง และที่เป็นแต่ถนนดินเปล่าไม่ได้ปูอิฐก็มี

จะออกชื่อฉะเพาะแต่ที่เป็นถนนอิฐสายใหญ่ คือถนนหน้าวัง เป็นถนนขวางไปหน้าศาลพระกาฬและป่าตอง ออกประตูชัยที่กำแพงพระนครด้านใต้ยาว ๕๐ เส้น ถนนสายนี้เป็นทางที่พระเจ้าปราสาททองครั้งยังเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ยกพลไปจับพระเชฏฐาธิราช และเป็นทางราชทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าถวายพระราชศาสน์ในวัง พระราชศาสน์คงจะแห่ด้วยกระบวนเรือ แต่เกาะเรียนหรือขนอนหลวงมาขึ้นบกที่ท่าประตูชัย เข้าวังที่ประตูข้างหน้าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ และที่พักราชทูตก็ให้อยู่ในย่านประตูเทพหมีใต้ประตูชัย ด้วยถนนรีคือถนนหน้าบางตรา ริมท่าสิบเบี้ยไปป่ามะพร้าวออกที่ประตูพระนครด้านตะวันออกใต้ประตูหอรัตนชัยยาว ๕๐ เส้น ถนนหน้าบางตรานี้เป็นที่ซึ่งเจ้าพระยามหาเสนาขี่ช้างเผือกเข้ารบกับพระศรีศิลป์ขบถในแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ ที่ข้างถนนแต่ท่าสิบเบี้ย ไปจนตรงข้างวัดพลับพลาชัย ข้างซ้ายมีแนวเนินโรงช้างยาวเรียงจตามถนนไป เห็นจะเป็นโรงช้างที่อยู่สุดหัวถนนป่ามะพร้าว ถัดเชิงสะพานช้างเข้ามาที่หมื่นราชสิทธิกรรม์บุตรปะขาวจันเพ็ชร์เจาะจั่ว เอาปืนใหญ่ตั้งยิงเข้าไปในวังจันทร์ถูกกิ่งสนหัก ในครั้งพระบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัยเจ้าฟ้าบรเมศร์ และที่พลับพลาชัยข้างถนนนั้นเป็นที่เจ้าอ้ายพระยามาตั้งทัพคราวจะชิงราชสมบัติกับเจ้าญี่พระยา กับในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เมื่อครั้งรบกับพระศรีสุธรรมราชา และส่งพระเป็นเจ้าถึงเทวสถานก็เสด็จทางนี้ แต่หัวถนนมาวัดพลับพลาชัยแล้วเลี้ยวซ้ายไปทางชีกุน แต่พระเพทราชาเมื่อตกพระทัยที่ได้ข่าวขบถธรรมเสถียร ก็ทรงช้างพระที่นั่งพลายมงคลจักรพาฬเสด็จมาตามทาง ภายหลังทรงนึกถึงพระแสงขอเจ้าพระยาแสนพลพ่ายของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ชนช้างชะนะมหาอุปราชาหงสาวดี จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญมาถวายทันที่สะพานช้าง คงจะเสด็จเกือบตลอดถนน

ถนนตลาดเจ้าพรหมที่เจ้าอ้ายพระยาเจ้าญี่พระยาชิงกันจะเข้าวัง จนเกิดรบกันถึงสิ้นพระชนม์ลงทั้ง ๒ พระองค์ที่เชิงสะพานป่าถ่านนั้น หัวถนนอยู่ต่อกำแพงพระราชวัง ตรงหน้าพระที่นั่งจัรกวรรดิตรงไปป่าถ่าน ออกประตูพระนครด้านตะวันออกที่เหนือบางเอียนตรงวัดจันทร์ ซึ่งเป็นท่าสะเตชั่นรถไฟกรุงเก่ายาว ๕๐ เส้น ที่วัดจันทร์นี้แผ่นดินพระมหินทราชาธิราช ทัพหงสาวดีถมถนนข้ามคูมาเข้าพระนครได้ แต่เวลานั้นคูคงแคบ ถ้ากว้างลึกเหมือนอย่างทุกวันนี้ เห็นทีจะไม่สำเร็จ เว้นแต่จะมีอินยิเนียวิลันดามาด้วย


ถนนนอกเมืองและลำคลอง

ถนนนอกกำแพงพระนคร ที่ปูอิฐพบสายเดียวแต่ถนนหน้าจวนทหารในริมกำแพงด้านริมน้ำ ซึ่งเป็นส่วนข้างพระราชวัง นอกจากนี้ก็เห็นจะเป็นแต่ทางหลวง เป็นตรอกซอกพอเดินไปมาตามละแวกหมู่บ้านเท่านั้น คลองในเมืองและมีคลองเล็กใหญ่ในพระนครก็หลายคลอง คลองใหญ่คือคลองท่ออยู่ท้ายวัง ไปออกทางแม่น้ำด้านใต้ตรงหน้าวัดพุทไธสวรรย์ ปากคลองทางโน้นเรียกว่าคลองฉะไกรใหญ่ คลองประตูข้าวเปลือกที่ตำบลท่าทรายตรงไปออกแม่น้ำด้านใต้ ปากคลองทางโน้นเรียกว่าคลองประตูจีน คลองนี้เมื่อปลายแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ในเวลาทรงพระประชวร พระบรมโกศกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ทำศึกชิงราชสมบัติกัน พระบรมโกศตั้งค่ายรายริมคลองฟากตะวันออก เจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ตั้งค่ายรายริมคลองตะวันตก เอาคลองเป็นเขตกั้น คลองประตูหอรัตนชัยอยู่ใต้วังจันทร์เกษมด้านตะวันออกไปออกแม่น้ำริมป้อมเพ็ชร ปากคลองทางโน้นเรียกว่าคลองในไก่ และที่ใต้สะพานช้างมีคลองแยกจากคลองประตูข้าวเปลือกไปทะลุคลองหลังวังจันทร์ จะไปออกคลองหอรัตนชัยหรือคลองในไก่ก็ได้ ด้านใต้เหนือคลองในไก่ขึ้นไปถึงคลองประตูจีน พ้นคลองประตูจีนก็ถึงคลองประตูเทพหมี ตอนปากึคลองเลี้ยวหัวหน่อยหนึ่ง แล้วตรงไปในบึงชีขัน คลองประตูเทพหมีนี้ ว่าเรียกตามชื่อหลวงเทพอรชุณ(หมี)ผู้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่นั้น เหนือคลองประตูเทพหมีก็มีคลองฉะไกรน้อย ไปทางข้างวัดบรมพุทธารามถึงวัดป่าใน แล้วเลี้ยวผ่านคลองประตูเทพหมีคลองประตูจีนไปบรรจบคลองประตูในไก่ ทางด้านตะวันตกมีคลองประตูท่าพระตรงมาทางตะวันออก ผ่านคลองฉะไกรใหญ่มาบรรจบคลองฉะไกรน้อย และยังมีคลองซอยคลองแยก ตามระหว่างคลองใหญ่เป็นหลายสาย

บรรดาคลองใหญ่ซึ่งออกแม่น้ำนั้นเห็นว่า ตามปากคลองคงจะมีทำนบกั้นน้ำไว้สำหรับราษฎร ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ในพระนครใช้สรอย เพราะว่ากรุงเก่าถึงจะเป็นเมืองลุ่มหน้าน้ำๆท่วมก็จริง แต่ถึงฤดูแล้งน้ำก็ลดต่ำกว่าตลิ่งลงไปเกือบ ๓ วา คลองในพระนครอย่างลึกก็คงจะ ๓ วาหรือไม่ถึง เมื่อเป็นเช่นนั้น ถึงหน้าแล้งน้ำในคลองในพระนครก็คงแห้งหมด จะมีน้ำใช้ก็แต่บึงชีขันแห่งเดียว

ข้อที่เห็นว่าจะมีทำนบกั้นน้ำตามปากคลองนั้น ก็ด้วยเมื่อครั้งหนึ่งมีผู้ขุดซ่อมคลองในไก่กับคลองหอรัตนชัย ได้พบไม้เต็งรังบ้าง ไม้ตะเคียนบ้าง หน้ากว้างราวคืบ ๔ เหลี่ยม ยาว ๖ ศอกบ้าง เกิน ๖ ศอกบ้าง จมขวางตามปากคลองเรียงไปตามแนวกำแพงอยู่เป็นอันมาก และทั้งมีเสาสั้นๆปักอยู่ด้วย จึงคิดว่าเสานั้นคงจะปักรายเต็มปากคลอง แล้วเอาไม้เหลี่ยมวางเรียงเป็นตับขึ้นไปทั้ง ๒ ข้าง ถมดินกลางให้แน่นเป็นทำนบ สูงเพียงสักครึ่งคลองถ้าถึงฤดูน้ำๆขึ้นมาท่วมเลยหลังทำนบ ก็ใช้เรือไปมาในพระนครได้ แต่เมื่อใดน้ำลดลงมาถึงทำนบก็เลิกใช้เรือ ขังน้ำไว้สำหรับราษฎรที่อยู่ในพระนครได้บริโภค


สะพานในเมือง

ตามข้างคลองเหล่านี้ ในที่ใดถ้ามีถนนผ่านมา ก็มีสะพานข้ามคลองทุกสาย ถ้าเป็นถนนใหญ่ก็เป็นสะพานเชิง ๒ ข้างก่ออิฐ กลางเห็นจะปูกระดาน เช่น สะพานป่าถ่าน สะพานชีกุน สะพานข้ามคลองในไก่ สะพานหน้าวัดบรมพุทธาราม สะพานรำเพย(เห็นจะเป็นสะพานหน้าหับเผย เพราะถนนนั้นมาหน้าคุก) แต่บางสะพาน เช่น สะพานประตูจีน สะพานประตูเทพหมีนั้น ก่ออิฐตลอด กลางคลองเจาะเป็นช่องโค้งคูหา กลางใหญ่ ๒ ข้างเล็ก เป็น ๓ ช่อง สำหรับให้เรือลอดไปมาได้

และยังมีอีกสะพานหนึ่งซึ่งว่าเป็นสะพานใหญ่ในพระนคร คือสะพานช้างต่อถนนป่ามะพร้าวข้ามคลองประตูข้าวเปลือก ตรงหน้าวัดพลับพลาชัย สะพานนี้เชิงก่อด้วยแลง และเมื่อครั้งพระนารายณ์เสด็จส่งพระเป็นเจ้า ว่าพวกวังหลังแอบซุ่มจะคอยทำร้ายในที่นี้ กับคราวเมื่อพระบรมโกศรบกับเจ้าฟ้าอภัย เจ้าฟ้าบรเมศร์ ขุนศรีคงยศ พวกเจ้าฟ้าอภัยตั้งค่ายปิดเชิงสะพานฝั่งตะวันตกไว้ จะไม่ให้พวกวังหน้าข้ามไปได้

กับอีกสะพานหนึ่งซึ่งมีชื่อมีชื่อแปลกกว่าสะพานเหล่านี้ เป็นสะพานข้ามคลองท่อเข้ามาในวังตอนข้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตยาสน์ แต่เยื้องออกไปข้างเหนือ เรียกว่า สะพานสายโซ่ เชิง ๒ ข้างก่ออิฐ ตัวสะพานจะเป็นอย่างไรตำราไม่ได้กล่าวไปถึง แต่ลองคิดดูน่าจะเป็นสะพานหกได้ดอกกระมัง เพราะสะพานหกก็ใช้สายโซ่ และเห็นเข้าทีที่ว่าเป็นสะพานเข้าใกล้วัง ถ้าทำเป็นสะพานช้างตายตัวและมีเหตุการณ์ขึ้น สัตรูจะข้ามเข้าประชิดวังได้ง่าย ถ้าเป็นสะพานหกเปิดได้แล้ว ถึงจะเกิดสัตรูและถ้ารู้ล่วงหน้าก็จะชักสะพานนั้นออกเสีย ไม่ให้เป็นทางเดินเข้ามาประชิดวังได้ แต่สะพานข้ามคลองอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ เห็นจะเป็นสะพานไม้ เพราะไม่ได้พบรากอิฐที่เชิงสองข้างนั้น


บึงชีขัน

ภายในพระนครตอนหน้าพระราชวังด้านใต้มีบึงใหญ่ บึงตอนเหนือเรียกว่า บึงญี่ขัน ตอนใต้เรียกว่า บึงพระราม เห็นว่าชื่อทั้ง ๒ นี้คงจะเป็นชื่อเพี้ยนชื่อหนึ่ง ชื่อใหม่ชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงญี่ขัน นั้นคงจะเป็น ชีขัน ซึ่งมีชื่อมาในกฎมณเฑียรบาลอีกชื่อหนึ่ง ที่เรียกว่า บึงพระราม นั้นก็คือเป็นบึงในบริเวณชีขันนั้นเอง แต่อยู่ตรงหน้าวัดพระราม แต่เดิมมาบางทีจะเรียกตอนนั้นว่า บึงหน้าวัดพระราม เพราะประสงค์จะให้เข้าใจที่ให้ง่ายขึ้น ภายหลังมาก็เรียกห้วนเข้าแต่ว่าบึงพระราม ทิ้งคำว่า หน้าวัด เสีย จึงเลยเป็นชื่อของบึงนั้นว่า บึงพระราม ต่อมา

บึงชีขันนี้พิเคราะห์ดูเห็นว่าเดิมจะเป็นหนองเป็นที่มีน้ำขังอยู่แล้ว หรือจะคิดให้สูงขึ้นไปจะว่าเป็นตัว "หนองโสน" ตามที่มีชื่อมาในพระราชพงศาวดารจะได้ดอกกระมัง แต่ไม่มีพะยานหลักฐานอะไรนอกจากลองนึกเดา บึงนี้เดิมทีก็จะเล็ก ต่อมาเมื่อสร้างกรุง คงจะขุดเอาดินในที่แถวนี้ขึ้นถมเป็นพื้นวังและพื้นวัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระราม จึงกลายเป็นใหญ่โตไป ดินที่เว้นไว้เป็นทางคนขนมูลดินเดิน ก็เลยทำเป็นถนนรีถนนขวางข้ามบึงปูอิฐตะแคงเสียทั้ง ๓ สาย เจาะช่องสำหรับให้เรือเดินไปมาได้ถึงกันตลอดบึง ตามหลังช่องนั้นคิดดูเห็นจะมีสะพานไม้ สำหรับให้คนเดินไปมาตามถนนได้ตลอด และมีทางน้ำที่จะเอาเรือนอกพระนครเข้าไปในบึงได้ ๒ ทาง ด้านใต้คลองประตูจีน คลองประตูเทพหมี คลองฉะไกรน้อย มารวมกันเข้าที่ข้างวัดสะพานนาคทางหนึ่ง ด้านตะวันออกเข้าช่องแยกจากคลองประตูข้าวเปลือก ข้างวัดมหาธาตุทางหนึ่งในบึงมีวัดอยู่ตามเกาะหลายวัด และตึกดินก็อยู่บนเกาะในบึงนี้ด้วย

ที่ขอบบึงตรงหน้าวัดพระรามออกไปมีตึกหลังหนึ่งเป็นตึกสองชั้น ตามช่องประตูหน้าต่างก่อเป็นโค้งคูหา มีทางขึ้นข้างหน้าและข้างๆตึก ตึกนี้ชาวบ้านบางคนว่าเป็นตึกพระราชาคณะผู้ครองอาวาสวัดพระราม แต่พิเคราะห์ดูเห็นจะไม่ใช่ของสำหรับวัด เพราะอยู่นอกกำแพงวัดเเละเป็นตึกสูง น่าจะเป็นพระที่นั่งสำหรับเสด็จขึ้นไปประทับทอดพระเนตรเรือ ซึ่งจะโปรดให้มีประชุมเล่นเพลงสักวาในคราวนักขัตฤกษ์ฤดูน้ำบ้างในบางปี


Create Date : 16 มีนาคม 2550
Last Update : 16 มีนาคม 2550 15:37:53 น. 6 comments
Counter : 3350 Pageviews.  
 
 
 
 
พระราชวังเก่า

พระราชวังหลวง ตั้งอยู่ในที่ต่อกำแพงพระนครด้านเหนือริมน้ำ หันหน้าวังไปทางทิศตะวันออก แต่ไม่ใช่อยู่ตรงกลาง ตั้งค่อนไปข้างตะวันตกหน่อยหนึ่งและสร้างเป็น ๒ คราว เมื่อครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๑ (อู่ทอง) เสด็จมาสร้างกรุงเทพทวาราวดี เมื่อจุลศักราช ๗๑๒ ปีนั้น ทรงสร้างพระราชวังในที่ซึ่งเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เดี๋ยวนี้ มีปรากฏว่าได้สร้างปราสาท ๓ องค์ คือ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งไอสวรรย์มหาปราสาท คิดว่าคงจะเป็นปราสาทไม้ ภายหลังมาในแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวรกล่าวว่า เสด็จออกทรงศีล ณ พระที่นั่งมังคลาภิเษก ทอดพระเนตรพระสารีริกธาตุเสด็จปาฏิหารย์ข้างทิศบูรพ์ จึงสร้างพระมหาธาตุลงในที่ตรงนั้น พระที่นั่งมังคลาภิเษกองค์นี้ไม่ใช่ปราสาท และไม่ใช่เป็นพระที่นั่งมังคลาภิเษกองค์ที่พระเจ้าปราสาทองเปลี่ยนชื่อเป็นพระวิหารสมเด็จ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๑ มีความว่า เพลิงไหม้พระที่นั่งตรีมุข ได้ชื่อพระที่นั่งในพระราชวังเดิมแต่เท่านี้ และในพระราชนิพนธ์กระแสพระราชดำริ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานข้าพเจ้าไว้มีว่า

"คะเนดูพระราชวังครั้งนั้น ปราสาท ๓ องค์ คือ พระที่นั่งไพฑูรย์มหาปราสาท พระที่นั่งไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งไอสวรรย์มหาปราสาท คงจะเป็นวิหารยอดซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างพระเจดีย์ ๓ องค์ ที่เห็นปรากฏอยู่จนบัดนี้ คงจะเป็นปราสาท ๔ เหลี่ยม ไม่ใช่ย่อเก็บอย่างย่อมๆเท่าที่เห็นอยู่นี้ ไม่สู้จะเป็นที่ประทับสบายนัก จึงได้มีพระที่นั่งตรีมุขพระราชมนเทียรและพระที่นั่งมังคลาภิเษก

ถ้าจะคะเนดูพระที่นั่งตรีมุขนั้น คงจะเป็นที่เสด็จออกมุขหน้าอีก ๒ มุขเป็นที่ประทับ พระราชมนเทียรอยู่หลังเข้าไป ลักษณะอย่างพระราชวังเดิมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพระราชวังกรุงธนบุรี หรือในพระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็นตรีมุข พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเป็นพระราชมนเทียร แต่ขนาดใหญ่เล็กเทียบดูปราสาท คงจะไม่ใหญ่เช่นหมู่จักรพรรดิพิมานเป็นแน่ น่าจะเท่าๆกับพระราชวังเดิม และที่ซึ่งตั้งนั้นที่ไหนไม่เหมาะเท่าที่พระวิหารใหญ่ด้านตะวันออก

พระที่นั่งมังคลาภิเษกในพระราชวังเก่านี้ เป็นที่ทรงศีลหรือเป็นที่ประทับสำราญ ไม่ใช่ประทับอยู่เป็นนิตย์ ที่ซึ่งควรจะตั้งมีอยู่ ๒ แห่ง คืออยู่แนวกำแพงแก้วพระที่นั่งตรีมุข เช่นหอพระปริตรศาสตราคม หรือพระที่นั่งเอกอลงกฏในพระราชวังบวรอย่างหนึ่ง หรือไม่เช่นนั้นก็อยู่ตรงมุขเหนือมุขใต้ของพระที่นั่งตรีมุข เช่น หอพระเจ้าพระอัฐิ ซึ่งต่อกับพระที่นั่งไพศาลทักษิณ จะออกไปตั้งอยู่ข้างหน้าที่เดียวไม่ได้ เพราะถ้าตั้งอยู่ข้างหน้าทีเดียว สมเด็จพระราเมศวรที่ไหนจะไปเห็นท้าวมนเทียรนั่งขวางทาง เพราะผิดตำแหน่งเป็นข้างหน้า แต่ถ้าหากว่าจะเป็นพระที่นั่งข้างในทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะพระราชวังหันหน้าตะวันออกที่ไหนจะทอดพระเนตรเห็นสารีริกธาตุลงในที่ซึ่งสร้างวัดมหาธาตุได้ จึงสันนิษฐานว่าจะตั้งอยู่เหมือนหอพระเจ้าพระอัฐิ ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อได้ความสันนิษฐานเช่นนี้ จึงเห็นเหมาะว่าพระที่นั่งตรีมุขและพระราชมณเทียร ตั้งอยู่ในที่พระวิหารหลวงด้านตะวันออก พระที่นั่งมังคลาภิเษกคงจะตั้งอยู่ที่พระวิหารหลังพระอุโบสถ เป็นตรงปลายตรีมุขข้างหนึ่ง และข้างเหนือคงมีอีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่มีเหตุจะกล่าวถึง

ถึงพระที่นั่งจอมทอง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงธรรมบอกหนังสือพระ ก็คงจะเป็นชื่อเก่า ไม่ใช่ตั้งใหม่ เป็นชื่อของพระที่นั่งเย็น เช่น สุดาภิรมย์อยู่มุมกำแพงท้องพระโรง แต่วิหารสามหลังเดี๋ยวนี้จะคลาดเคลื่อนจากที่เดิมก็เป็นได้ ด้วยพระวิหารใหญ่นั้นโตมาก คงจะต้องขยายที่ออกไป

ต่อพระราชมนเทียรไปตามแนวพระระเบียงวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์เดี๋ยวนี้ คงเป็นเรือนจันทร์ แล้วจึงมีกำแพงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งกันเป็นข้างหน้าข้างใน"


พระราชวังใหม่

ลุศักราช ๗๙๖ ปี สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระราชอุทิศยกวังเป็นวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เสด็จลงไปตั้งพระราชนิเวศน์ปีทับอยู่ริมน้ำ สร้างพระที่นั่งเบ็ญจรัตนมหาปราสาทองค์หนึ่ง พระที่นั่งสรรเพช็ญ์ปราสาทองค์หนึ่ง คือองค์ที่ปลูกขึ้นเป็นปราสาท สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ในงานพระราชพิธีรัชมงคล ซึ่งเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกมาได้ ๔๐ ปี เท่ารัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ นั้น แต่พระที่นั่งเบ็ญจรัตน์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะได้กล่าวต่อไปภายหลัง ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ปรากฏว่าได้มีพระที่นั่งมังคลาภิเษกในพระราชวังใหม่นี้อีกองค์หนึ่ง ซึ่งกล่าวในครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จออกรับแขกเมืองเชียงใหม่ พระที่นั่งองค์นี้ภายหลังเมื่อศักราช ๑๐๐๕ ปีในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต้องอสนีบาตเป็นไฟไหม้ โปรดให้ทำใหม่ให้ชื่อ พระวิหารสมเด็จ

พระวิหารสมเด็จ กับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาท ๒ องค์นี้มีกำแพงแก้ว และในกำแพงแก้วพื้นลานหน้าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ปูอิฐเกรียงปูน ข้างขวาพบแนวทิมดาบยังพอเห็นรูปดีอยู่ แต่ข้างซ้ายขุดกันเสียจนย่อยยับไม่เป็นรูปร่าง ในคราวที่ขุดวังทำปราสาทเป็นที่บำเพ็ญพระราชกุศลคครั้งนี้ เห็นว่าพื้นอิฐลานหน้าพระที่นั่ง มีเป็นหย่อมเป็นตอนลุ่มๆดอนๆไม่เสมอกัน ครั้งจะเอาพื้นเดิมไว้ก็ไม่น่าดูแลอะไร จึงได้ถมดินเกลี่ยให้เรียบแล้วปลูกหญ้าเป็นสนาม เพราะฉะนั้นขอให้ท่านผู้อ่านพึงสังเกตว่าสนามหญ้านั้นเป็นของที่ทำในครั้งนี้ จะได้เคยมีมาแต่ครั้งกรุงเก่ายังเป็นเมืองหลวงหามิได้

และพระที่นั่งทั้ง ๒ องค์นี้เห็นกันว่าเดิมจะมีมุขยาวแต่มุขหน้าด้านเดียว มุขหลังมุขข้างสั้น ภายหลังมาก่อเพิ่มเติมต่อมุขหลังให้ยาวออกไป รอยที่ก่อต่อก็ยังเห็นปรากฏอยู่ ถัดมุขมุขกลางออกมา มีโรงช้างเผือกข้างละโรง คงจะเป็นโรงที่เรียกโรงยอด หลังโรงช้างเผือกมีกำแพงสะกัดต่อจากกำแพงแก้วพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ ไปชนกำแพงเเก้วพระวิหารสมเด็จ ในกำแพงแก้วสะกัดเข้าไปตอนที่ใกล้ข้างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ มีที่น้ำขังก่ออิฐถือปูนกว้าง ๖ ศอก ๔ เหลี่ยม มุมข้างล่างมีท่อทองแดงที่สำหรับจะไขเปิดปิดน้ำได้ ต่อไปข้างพระวิหารสมเด็จข้างซ้ายมีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งยาวเกือบครึ่งพระวิหารสมเด็จ ก่อเป็นห้องหับชอบกล และมีบ่อน้ำกลมอยู่ที่ข้างผนังด้านเหนือด้วยบางทีก็จะสำหรับขังน้ำฝน ข้างขวาตอนถัดมุมมุขพระที่นั่งออกไปก็มีพระที่นั่งอีกองค์หนึ่ง แต่ย่อมกว่าองค์ข้างซ้ายตรงระหว่างด้านหลังพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ กับพระวิหารสมเด็จไปทางตะวันออก ขุดพบรากพระที่นั่งหมู่หนึ่งก่อฐานอิฐพื้นปูอิฐหน้าวัวลดหลั่นหลายชั้น มีเสาไม้เเก่นรายเรียงเป็นระยะกันไป เข้าใจว่าจะเป็นพระราชมนเทียรสถาน

มาในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อศักราช ๙๙๔ ปีนั้น โปรดให้สร้างพระที่นั่งอีกองค์หนึ่งให้ชื่อพระที่นั่งศรียศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ ภายหลังเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิ์ไพชยนต์มหาปราสาท พระที่นั่งองค์นี้อยู่บนกำแพงชั้นในด้านหน้าพระราชวังทิศตะวันออกห่างจากมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ๗ วา ห่างกำแพงชั้นนอก ๒ เส้น เป็นปราสาทตรีมุข ด้านหลังมีตำหนักใหญ่องค์หนึ่ง เล็ก ต่อไปข้างซ้ายอีก ๒ มีชาลาถมพื้นสูงเดินได้รอบตำหนักทั้ง ๓ องค์ บนชานพระมหาปราสาทด้านตะวันตกมีทิมดาบ ๒ หลัง เป็นพระที่นั่งสำหรับประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่

หน้าพระที่นั่งออกไปเป็นท้องสนามหลวงกว้าง ๒ เส้น ยาว ๗ เส้น ขุดลงไปพบแต่ทรายลึกลงไปจึงพบดิน เข้าใจว่าพื้นสนามคงโรยทราย ไม่ได้ปลูกหญ้าเหมือนทุกวันนี้ เมื่อคราวทำพิธีลบศักราช ก็โปรดให้ทำเขาพระสุเมรุราชขึ้นในที่แถวนี้ ครั้งเมื่อจุลศักราช ๑๐๐๒ ปี พระเจ้ากรุงอังวะแต่งทูตจำทูลพระราชสาส์น คัดค้านไม่ยอมใช้ศักราชที่ลบใหม่ คราวนั้นเสด็จออกรับแขกเมืองที่มุขพระที่นั่งจักรวรรดิ ครั้งสมเด็จพระนารายณ์รบกับพระศรีสุธรรมราชา ก็เสด็จทรงช้างพระที่นั่งมายืนในสนาม รับสั่งให้เอาปืนใหญ่ตั้งยิงเข้าไปในพระราชวังชั้นใน เมื่อแผ่นดินพระเพทราชา เจ้าพระขวัญโสกันต์แล้ว ก็เสด็จออกมาทรงหัดม้าอยู่ทุกวัน

หลังพระที่นั่งเข้าไปคงจะมีกำแพงคั่น และคงจะมีฉนวนออกไปบรรจบฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ทางสระแก้วฟากตะวันตกของฉนวนคงจะเป็นตำหนักและคลังต่างๆ ข้างฟากตะวันออกจะเป็นโรงพระแสง และห้องภูษามาลา โรงแสงที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็คงจะอยู่ในที่นี้

พระที่นั่งจักวรรดินั้น ถ้าจะเทียบกับแผ่นที่พระที่นั่งในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ ก็ทำนองพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ แปลกกันแต่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์อยู่บนกำแพงพระบรมมหาราชวังชั้นนอก และอยู่ด้านข้าง แต่พระที่นั่งจักรวรรดิอยู่บนกำแพงชั้นใน และอยู่ด้านหน้าวัง

พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ในพระราชพงศาวดารพึ่งออกชื่อในแผ่นดินพระเพทราชา เมื่อเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาจากเมืองลพบุรี ว่าเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งองค์นี้ แต่ครั้งนั้นยังเรียกว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์ตามนามเดิม แต่ไม่กล่าวว่าสร้างในแผ่นดินใด เมื่อศักราชเท่าใด แต่ได้พบในคำโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งพระมหาราชครูเป็นผู้แต่งในแผ่นดินนั้น ก็ออกชื่อพระที่นั่งสุริยามรินทร์มาแล้ว มาในแผ่นดินพระบรมโกศแปลงมาเป็นพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์ ก็คือจะให้คล้องต่อพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาท พระที่นั่งองค์นี้อยู่ริมกำแพงด้านริมน้ำ ทางทิศเหนือพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ แต่เห็นจะไม่สู้ใหญ่โตนัก และจะเป็นพระที่นั่งมีพื้นสูงกว่าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ ฐานพระที่นั่งตั้งสูงจากพื้น ๕ ศอกคืบ บนฐานยังมีผนังรักแร้ร่วมปราสาททั้ง ๔ ด้าน แต่รักแร้ด้านเหนือยังอยู่สูง ที่ผนังรักแร้พ้นจากพื้นล่างขึ้นไปอีก ๖ ศอกมีรูรอด ซึ่งคิดว่าจะมีพื้นบนอีกชั้นหนึ่ง คงจะเป็นที่ประทับสำหรับทอดพระเนตรข้ามกำแพงออกไปเห็นทางแม่น้ำข้างวังได้ ถ้าจะเทียบกับแผ่นที่กรุงเทพมหานครก็ทำนองกับป้อมทัศนานิกร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นบนกำแพงด้านตะวันตกริมน้ำ ใต้ป้อมอินทรรังสรรค์ลงไปไม่สู้มากนัก เป็นแต่ป้อมทัศนานิกรอยู่บนกำแพง และเหนือพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นไปมาก แต่พระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์อยู่ในกำแพง และอยู่ตรงพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ออกมา

ความเห็นว่าพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์องค์นี้ จะสร้างทีหลังแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แต่คงไม่เกินแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองขึ้นไป และไม่ใช่แผ่นดินพระเพทราชา ข้อที่เห็นว่าจะสร้างทีหลังแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถและก่อนแผ่นดินพระเพทราชานั้น คะเนว่าเวลาที่ควรจะสร้างมีอยู่ ๒ คราว คราวหนึ่งในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งกำลังทรงโปรดสร้างพระที่นั่งหลายแห่งและทั้งพงศาวดารในรัชกาลนั้น ก็กล่าวใกล้เคียงเข้ามาหรือมิฉะนั้นก็เป็นในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงโปรดในวิชาช่างอย่างใหม่ จะทำไว้สำหรับประทับในเวลาเสด็จเข้ามาพระราชวังหลวง ให้เป็นที่ทรงสบาย พระเพทราชาเห็นว่าพระที่นั่งองค์นี้เป็นของสมเด็จพระนารายณ์จึงเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานไว้เพื่อให้เป็นพระเกียรติยศด้วยพระองค์เป็นเจ้าของผู้สร้าง หรือเพื่อจะให้เหมาะกับที่ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาแต่ยังดำรงพระชนม์อยู่

ข้อที่เห็นว่าน่าจะสร้างในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั้น ก็ด้วยพงศาวดารกล่าวว่า ลุศักราช ๙๙๘ ปีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้รื้อเทวสถานพระอิศวร พระนารายณ์ขึ้นมาตั้งยังชีกุน ในปีนั้นให้ยกกำแพงพระราชวังออกไป ให้สร้างพระมหาปราสาทพระวิหารสมเด็จ มีความดังนี้ เห็นว่าคำที่ว่าสร้างพระวิหารสมเด็จนั้นเป็นคำเรียกก่อนมีชื่อพระวิหารสมเด็จ องค์ที่ยังเห็นฐานอยู่ทุกวันนี้ เพราะพระวิหารสมเด็จนี้ ในพงศาวดารกล่าวความชัดเจนว่า เมื่อศักราช ๑๐๐๕ ปีอสนีบาตตกลงเป็นเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษกที่ชื่อปราสาททอง ทรงโปรดให้ช่างจัดการก่อใหม่ปีหนึ่งสำเร็จให้ชื่อพระวิหารสมเด็จ ศักราชผิดกันถึง ๗ ปี และพระที่นั่งวิหารสมเด็จองค์ที่แปลงชื่อมาจากมังคลาภิเษกหรือปราสาททองนั้น ก็เป็นพระที่นั่งอยู่ในกำแพงชั้นใน เป็นแต่ทำใหม่ให้ดีขึ้นเท่านั้น หาต้องถึงขยายกำแพงวังไม่ หรือจะคิดว่าพงศาวดารตอนนั้นกล่าวคำฟั่นเฝือ คราวที่ขยายกำแพงวังเป็นคราวสร้างพระที่นั่งจักรวรรดิ แจ่พระที่นั่งจักรวรรดิก็สร้างเสียแล้วเมื่อศักราช ๙๙๔ ก่อนปราสาทที่กล่าวชื่อมาเมื่อศักราช ๙๙๘ ขึ้นไปอีก ๓ ปี และพระที่นั่งจักรวรรดินั้นก็หาต้องขยายกำแพงวังไม่ ด้วยตั้งอยู่บนกำแพงชั้นใน และอยู่ภายในกำแพงชั้นนอก ทั้งกำแพงข้างก็มีแล้ว จึงเห็นว่าตามพงศาวดารที่กล่าวว่า ปราสาทซึ่งสร้างเมื่อ ศักราช ๙๙๘ ปีที่ต้องยกกำแพงวังออกไปนั้น น่าจะเป็นพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์นี้เอง ด้วยมีรอยขยายกำแพงออกไปถึงสองหยัก แต่เมื่อเรียบเรียงพระราชพงศาวดารเป็นเวลาภายหลังมา จะเขียนชื่อคลาดเคลื่อนไว้ก็จะเป็นได้

พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ สร้างในแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อศักราช ๑๐๔๙ ปี พงศาวดารกล่าวความละเอียดว่า ได้ขุดสระเป็นคู่อยู่ซ้ายขวาแล้วก่ออ่างแก้วและภูเขา มีท่อน้ำไหลลงในสระแก้วและทำระหัดน้ำฝังท่อ ให้น้ำเดินเข้าไปผุดในอ่างแก้ว แล้วให้ทำพระที่นั่งทรงปืนที่ท้ายสระ เป็นที่เสด็จออก กลับเอาที่ท้ายสนมเป็นที่ข้างหน้า และทำศาลาลูกขุนในซ้ายขวา โปรดให้ขุนนางเข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งทรงปืน และเข้าทางประตูมหาโภคราช

พระที่นั่งองค์นี้ ตั้งอยู่ในวังด้านหลังทางตะวันตก เป็นปราสาทจตุรมุขอยู่บนเกาะ มีสระน้ำล้อมรอบ อิฐที่ก่อใช้ขนาดเดียวและก่อลักษณะอย่างเดียวกันกับพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ คือก่อมีแลงสลับเป็นชั้น คงจะทรงโปรดพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ว่าก่อแข็งแรงมั่นคงดี จึงโปรดให้เลียนอย่างมาทำบ้าง เป็นแต่เปลี่ยรูปและลวดลายให้ผิดกันไปเท่านั้น ที่ตรงมุขด้านหลังพระมหาปราสาทก่อเป็นแท่นอิฐมีชั้นลด เชิงแท่นมีลายบัวคว่ำทั้ง ๒ ข้าง ที่ข้างแท่นด้านในฝังท่อดิน ต่อแท่นเข้ามาข้างในก่อเป็นช่องเป็นตอนลึก เป็นที่ขังน้ำ เมื่อขุดลงไปในที่แถวนี้พบหินก่อเข้าหลายสิบก้อน คิดว่าในที่นี้เองจะเป็นอ่างแก้ว ที่จะก่อเขามอมีน้ำพุเป็นที่เลี้ยงปลาเงินปลาทอง แท่นสูงนั้นจะเป็นที่เสด็จขึ้นไปประทับทอดพระเนตรปลา ถ้าทอดพระเนตรไปทางตะวันตก ก็จะทรงเห็นปลาใหญ่ในสระ ถ้าทอดพระเนตรมาทางข้างใน ก็จะทรงเห็นอ่างแก้วปลาเงินปลาทอง และบนแท่นนี้จะเรียกพระที่นั่งโปรยข้าวตอกก็จะได้กระมัง ที่มุมสระด้านเหนือก็มีแท่นใหญ่อีกแท่นหนึ่ง กว้าง ๙ วา ๒ ศอก ยาว ๑๐ วาศอก สูง ๗ ศอก ข้างบนคะเนว่าจะมีผนังเป็นคันรอบ แต่เห็นจะถูกรื้อเสียแล้ว ที่ริมผนังข้างใน มีท่อดินเผาฝังลงมาที่พื้นดิน ห่างจากฐานอิฐใหญ่มาทางตะวันออก ๗ วา มีน้ำขังก่ออิฐเกรียงปูนกว้าง ๖ ศอก ยาว ๑๑ ศอกคืบ ลึก ๑ ศอก แท่นอิฐสูงนั้นคงจะเป็นที่ขังน้ำหรับไขไปพุในที่ต่างๆ แต่มีวิธีที่จะเอาน้ำขึ้นไปข้างบนได้อย่างไร ยังมองไม่เห็น ที่ท้านสระด้านตะวันตกมีสะพานข้ามไปพระที่นั่งทรงปืนกว้าง ๒ วา ปักเสาเรียง ๓ แถว เสานั้นทุกวันนี้ในระดูแล้ง น้ำในสระงวดก็ยังเห็นได้ และสะพานใหม่ซึ่งทำข้ามสระในครามนี้ ก็ทำตามแนวเดิมปักเสาริมเสาเก่า แต่ด้านตะวันออกที่จะข้ามจากพระที่นั่งบรรยงค์ มาหมู่พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาทพระวิหารสมเด็จนั้น ก็คงต้องมีสะพานอีกสะพานหนึ่งเป็นแน่ แต่จะอยู่ตรงที่ใดหายังไม่พบ สะพานที่ทำขึ้นใหม่ในด้านนี้เห็นจะไม่ตรงของเดิม แต่ถ้าต่อไปตรวจพบที่เดิมเมื่อใด ก็จะย้ายไปปลูกให้ตรงกัน

ที่ริมขอบสระด้านใต้นอกเกาะพระมหาปราสาทออกไปมีรากตึกเป็นหลังเรียงไปตามรูปสระ เห็นจะเป็นตำหนักตึกเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ พ้นบริเวณตำหนักตึกลงไปด้านใต้มีกำแพงกั้น แบ่งเขตข้างหน้าข้างใน ต่อจากกำแพงหลังวังด้านตะวันตก ตรงไปจนจดฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ กันเอาสระแก้วไว้ข้างนอก ที่ริมขอบสระแก้วตอนด้านตะวันตกมีรากตึก คงเป็นตำหนักสระแก้ว และตำหนักศาลาลวดก็จะอยู่ในแถวนั้น เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอในพระบรมโกศ พระตำหนักสวนกระต่ายที่ขุนหลวงหาวัดประทับมาแต่เดิม จนเป็นกรมพระราชวังบวรก็คงจะอยู่ต่อลงไปที่มุมพระราชวังตอนตะวันตก ด้านใต้วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ จะทำนองพระตำหนักสวนกุหลาบ แต่ยังไม่ได้ขุดยังบอก ยังบอกรูปไม่ได้ว่าเป็นอย่างไร

เหตุซึ่งพระเพทราชามาประทับอยู่ด้านหลังวังนั้น ก็จะเป็นด้วยวังตอนหน้าของเดิมทรุดโทรม และต่อมาจนถึงแผ่นดินพระบรมโกศก็ประทับอยู่ที่พระที่นั่งบรรยงก์ ด้านหน้าวังเก่าก็คงจะร่วงโรยมาก

ในพระราชวังชั้นใน มีฉนวนอยู่ที่หลังพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ตรงไปพระวิหารสมเด็จ แล้วเลี้ยวซ้ายไปนอกกำแพงแก้ว เกือบจะตรงที่มุขกลางพระวิหารสมเด็จ จึงเลี้ยวขวาไปเข้าวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ในระยะนั้นถ้าเลี้ยวซ้ายก็เป็นฉนวนทางไปหลังพระที่นั่งจักรวรรดิ เรียกว่าฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แต่ถ้าจะออกมาทางกำแพงด้านริมน้ำลงที่ขนานน้ำประจำท่า เรียกว่าพระฉนวนน้ำประท่าวาสุกรี เป็นท่าเสด็จลงเรือพระที่นั่ง ตัวสะพานท่าพระฉนวนน้ำนั้นเป็นรูปตรีมุขหลังคาซ้อน มุงกระเบื้องละบูรูปลูกฟูกถือปูนตามปั้นลม มีลายปั้นเป็นนาคราชศีรษะเลี้ยว เลิกพังพานลงมาจดเชิงกลอนแทนหางหงส์ ใบระกาปั้นเป็นกระจังรูปเทพพนมถวายกร บนหลังคาหน้าบันที่อกไก่ปั้นเป็นพรหมสี่หน้าแทนช่อฟ้า ลายหน้าบันด้านข้างเหนือที่เรือประทับปั้นเป็นรูปนารายณ์สี่กรทรงครุฑ หน้าบันด้านข้างปั้นเป็นรูปเทพสุริยมณฑลสถิตในบุษบกมหาพิชัยราชรถเทียมด้วยม้าอาชาไนย

ต่อหลังศาลาท่าฉนวนมีกำแพงฉนวน ๒ แถว เนื่องขึ้นไปจดประตูใหญ่ที่กำแพงพระนคร ราษฎรเรียกว่าประตูฉนวนชั้นนอก แต่ชื่อหลวงปรากฏว่า พระตูมหาไตรภพชลทวารอุทก ถัดประตูนั้นเข้าไปในพระนครก็เป็นกำแพงฉนวน ๒ แถว ไปจดประตูคูหาที่กำแพงเขื่อนเพ็ชรพระราชวังชั้นใน ชื่อประตูคูหาภพชล ที่คนเรียกว่า ประตูฉนวนใน ย่ายจ่าแว่นรักษาอยู่ที่ศาลาดินภายในประตู และที่กำแพงฉนวนทั้ง ๒ ข้างนั้น มีประตูหูช้างข้างละประตู สำหรับปิดกั้นกันคนไว้ ที่ๆปลูกสะพานพระฉวนในคราวนี้ ก็ปลูกออกตรงออกมาจากแนวท่าเก่า แต่ไม่ได้ตรงที่เดิมทีเดียว เพราะถมดินทำถนนใหม่ออกมาริมน้ำ ในที่นี้เดิมคงจะเป็นในแม่น้ำ สะพานใหม่นี้คงจะเกินที่สะพานฉนวนเก่าออกมามาก ที่เก่าคงจะราวมุมกำแพงวัดใหม่ ซึ่งพระยาไชยวิชิตสร้างไว้แต่รัชกาลที่ ๓ นั้น ต่อขนานน้ำประจำท่าลงไปทางท้ายสนมที่ริมน้ำ มีฐานอิฐก่อยื่นออกไป เข้าใจว่าเป็นที่ตั้งระหัด

อนึ่งในกฎมณเทียรบาลออกชื่อพระที่นั่งสนามไชย สนามจันทร์ และพิมานรัถยา ในพงศาวดารตอนแผ่นดินสมเด็จพระยอดฟ้ากล่าวว่า พระที่นั่งพิมานรัถยาเป็นหอพระข้างหน้า ท้าวศรีสุดาจันทร์ออกไปเที่ยวเล่นพบกับพันบุตรศรีเทพก็เกิดรักใคร่กันแต่นั้นมา จนถึงเลื่อนให้เป็นขุนวรวงษาธิราช และคิดอ่านกำจัดพระยอดฟ้า ยกราชสมบัติให้เป็นเจ้าแผ่นดิน

อนึ่งพระที่นั่ง ที่มีชื่อในบานแผนกกฎหมาย นอกจากพระที่นั่งมังคลาภิเษก หรือพระวิหารสมเด็จ กับพระที่นั่งเบ็ญจรัตน์แล้ว ยังทีชื่อพระที่นั่งมงกุฎพิมาน พระที่นั่งบุษบกมาลามหาปราสาท พระที่นั่งดิลกมาลามหาไพชยนต์มหาปราสวาท พระที่นั่งจัตุรมุขมหาปราสาท พระที่นั่งสุวรรณมหาปราสาท พระที่นั่งท้องพระโรงตรีมุขปังตรา พระเสาวคนธกุฎี แต่ชื่อพระที่นั่งที่ว่ามานี้บางชื่อจะเรียกเป็นพิเศษ ในส่วนพระมหาปราสาท บางชื่อก็จะเป็นชื่อเฉพาะพระที่นั่งย่อมๆก็จะมีแต่องค์ใดจะอยู่ที่ใด เหลือนิสัยที่จะเดาชี้


ตำหนักหนองหวาย

ตำหนักหนองหวาย ที่พระพุทธเจ้าเสือครั้งยังเป็นกรมพระราชวังบวร ลวงเจ้าพระขวัญไปสำเร็จโทษนั้น คงจะอยู่ริมสระหนองหวาย เห็นจะไม่สู้ห่างไกลกันนัก

ตำหนักน้อยใหญ่เรือโรงห้วยคลังต่างๆ คิดว่าจะเป็นเครื่องไม้เสียมากกว่าก่ออิฐ เมื่อขุดลงไปถึงระดับพื้นเดิม โดยมากพบแต่กระเบื้องมุงหลังคา กับมูลเถ้าและโคนเสาไม้แก่น ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นเครื่องเรือนไม้


ศาลาลูกขุนใน

ศาลาลูกขุนใน ชั้นแรกคงจะอยู่ตอนหน้าวังด้านตะวันออก เพราะปรากฏว่า เมื่อวันที่สมเด็จพระนารายณ์ยกไปจับพระศรีสุธรรมราชา สมเด็จพระนารายณ์ทรงช้างพระที่นั่งมาหยุดอยู่ที่หน้าพระที่นั่งจักวรรดิ พระศรีสุธรรมราชาทรงช้างออกมายืนอยู่หลังศาลาลูกขุน สมเด็จพระนารายณ์ขับช้างพระที่นั่งเข้าไปถึงนอกกำแพงหน้าศาลาลูกขุน ไพร่พลทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งกัน พระศรีสุธรนรมราชาต้องปืนที่พระพาหุ สมเด็จพระนารายณ์ต้องปืนที่หลังพระบาทซ้าย พระศรีสุธรรมราชากลับช้างพระที่นั่งหนีไปวังหลัง สมเด็จพระนารายณ์ก็เข้าพระราชวังได้ ตอนนี้คิดว่า ศาลาลูกขุนจะอยู่ในที่หน้ากำแพงชั้นใน แถวประตูมงคลสุนทร

ตั้งแต่แผ่นดินพระเพทราชาเสด็จลงไปประทับอยู่ท้ายวัง คราวเมื่อสร้างพระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ ได้โปรดให้สร้างศาลาลูกขุนในซ้ายขวาขึ้นที่ท้ายสระ คงจะอยู่ในที่นอกสระออกมาด้านเหนือ เพราะมีความในแผ่นดินพระบรมโกศว่า เมื่อคราวจะชำระกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ ซึ่งเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่มเจ้าฟ้าสังวาลย์ รับสั่งให้หากรมพระราชวังๆ ทรงเรือพระที่นั่งเสด็จมาจะขึ้นฉนวนวังหน้า มหาดเล็กที่ล่วงหน้ามารับเสด็จกราบทูลว่า ประตูเสาธงไชยปิด จึงล่องเรือไปประทับอยู่ที่ฉนวนน้ำประจำท่า ประตูฉนวนก็ปิด เรือพระที่นั่งล่องลงมาเสด็จขึ้นสะพานใต้ระหัดน้ำ ทรงเสลี่ยงมาถึงศรีสำราญ ทอดพระเนตรเห็นคนนั่งอยู่ที่ศาลาลูกขุนท้ายสระเป็นอันมาก จึงให้กลับพระเสลี่ยง หลวงศรีพวังกราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าจึงจะชอบ จึงเสด็จไปเฝ้าที่ทิมดาบ ในจดหมายเหตุซึ่งอ้างว่า เป็นคำให้การของขุนหลวงหาวัดว่า ศาลาลูกขุนในใหญ่ ๓ หลังแฝด มีช่อฟ้าหางหงส์ หน้ามุขชะโงกมีสระน้ำอยู่หน้าศาลาลูกขุน สำหรับพิสูจน์ลูกความให้ดำน้ำในสระนั้น แต่พื้นที่ในพระราชวังชั้นนอกก็หามีสระที่ควรจะดำน้ำได้ไม่ มีสระเดียวแต่สระหนองหวาย ก็เป็นสระอยู่ในกำแพงชั้นใน และเห็นว่าจะเป็นที่พิสูจน์ลูกความไม่ได้ เพราะพื้นในพระราชวังสูงกว่าระดับน้ำในระดูแล้ง ถ้าจะให้สระหนองหวายมีน้ำถึงแก่พอที่คนจะได้ ก็จะต้องลึกไม่ต่ำกว่า ๕ วา แต่พิเคราะห์ดูสระนั้นเห็นจะไม่สู้ลึกนัก จะเป็นแต่สระสำหรับขังน้ำไว้ใช้ในพระราชวัง การพิสูจน์ดำน้ำนี้ เข้าใจว่าพิสูจน์กันในแม่น้ำใหญ่ เพราะในคำโองการที่อาลักษณ์อ่าน ก็มีแต่แช่งให้ผีสางจระเข้เงือกงูเข้าทำอันตรายผู้กล่าวเท็จ ซึ่งเห็นว่าเป็นของที่มีประจำท้องที่

และมีเค้ามูลที่จะประกอบเหตุผลได้อีกอย่างหนึ่ง คือในเรื่องขุนช้างขุนแผน ถึงแม้ว่าท้องเรื่องจะเป็นนิทาน ไม่ใช่จดหมายเหตุที่เป็นหลักฐานก็จริง แต่หนังสือเรื่องนี้นักปราชญ์ทั้งหลายได้ยอมรับรองว่าเป็นสำนวนที่แต่งไว้แต่ครั้งกรุงเก่า กิริยาอาการของคนที่ออกชื่อมาในนิทาน หรือภูมิลำเนาซึ่งว่ามาในหนังสือเรื่องนั้น ผู้แต่งคงจะแต่งเทียบเอาตามที่ได้เห็นการเป็นอย่างไรในเวลานั้น ในตอนที่ว่าด้วยขุนช้างกับพระไวยพิสูจน์ตัว กล่าวว่าพิสูจน์ดำน้ำที่หน้าท่าฉนวน จึงเห็นว่าการพิสูจน์ดำน้ำไม่ได้ดำในวัง ถึงจะมีสระที่ใกล้ศาลลูกขุน ก็คงเป็นสระขังน้ำสำหรังใช้การอื่น


ศาลหลวง

ศาลาลูกขุนนอก คือศาลหลวง คงจะอยู่ภายในกำแพงชั้นนอกไม่สู่ห่างนัก คงจะอยู่มาทางตอนใกล้กำแพงด้านริมน้ำ ด้วยในที่นี้เมื่อขุดวังได้พบดินประจำผูกสำนวน มีตราเป็นรูปต่างๆ และบางก้อนก็มีรอยหยิกเล็บมือ ศาลหลวงคงจะถูกไฟไหม้เมื่อเสียกรุง ดินประจำผูกสำนวนจึงสุกเหมือนดินเผา
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:15:41:09 น.  

 
 
 
โรงราชยาน

ที่หน้ากำแพงชั้นในใต้ประตูมงคลสุนทรนั้น ขุดพบรากก่ออิฐอีกหมู่หนึ่ง กรมหลวงดำรงรับสั่งว่าเป็นโรงราชยาน ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระองค์ท่านเคยทรงเห็นโรงราชยานอยู่ในแถวนอกประตูพิมานไชยศรี ซึ่งบัดนี้เป็นห้องมหาดเล็กเวรสิทธิ


หอแปลพระราชสาส์น

ได้ขุดพบรากตึกหลังหนึ่ง อยู่ในกำแพงชั้นนอกกว้าง ๒ วา ยาว ๖ วา เป็น ๓ ห้อง ที่ตรงนี้น่าจะเป็นหอแปลพระราชสาส์น


โรงช้าง

อนึ่งในหนังสือโบราณหลายฉบับกล่าวว่า ริมสนามภายในกำแพงชั้นใน ระหว่างพระวิหารสมเด็จ กับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ มีโรงช้าง แต่เมื่อได้ตรวจดูก็ได้พบอิฐก่อขึ้นเป็นพื้นอยู่ริมกำแพงยาวเป็นแถวเนื่องกันไป บางทีจะเป็นพื้นโรงช้างก็ได้


โรงม้า

โรงม้าพระที่นั่งนั้น ว่าอยู่ในพระราชวัง แต่โรงม้าแซงม้าใช้ราชการ อยู่นอกกำแพงวังชั้นนอก ตั้งแต่หลังวัดธรรมิกราชไปจนตรงหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิ


กำแพงวัง

กำแพงวังชั้นนอกด้านหน้า กั้นต่อจากกำแพงเมืองที่ริมท่าคั่น ตรงไปหลังวัดธรรมิกราช เลี้ยวมุมไปบรรจบข้างวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วไปหักมุมที่วัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ พอหมดเขตวัดจึงเลี้ยวตรงไปทางตะวันตก หักมุมเลียบขึ้นไปริมคลองท่อบรรจบกำแพงเมืองที่ปากคลองท่อ

กำแพงชั้นในกั้นต่อจากกำแพงเมืองที่ใต้ประตูท่าปราบ ห่างหน้าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ ๒ เส้นเศษ ขึงตรงไปชนหลังพระที่นั่งจักรวรรดิ บรรจบกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์ อีกสายหนึ่งกั้นจากด้านตะวันตกตรงมาตะวันออก ถึงฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ เส้นนี้เป็นกำแพงแบ่งข้างหน้าข้างใน คือตอนเหนือเป็นข้างใน หมู่พระที่นั่งบรรยงก์ ตอนใต้เป็นข้างหน้า คือหมู่ตำหนักสระแก้วและสวนกระต่าย กำแพงสายนี้เมื่อถึงฉนวนวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์แล้วเลี้ยวขึ้นมาข้างเหนือ จวนจะใกล้ถึงพระที่นั่งข้างพระวิหารสมเด็จ จึงเลี้ยวไปทางตะวันออก บรรจบกำแพงวังชั้นในด้านตะวันออกด้านเหนือ ห่างจากกำแพงเมือง ๑๐ วาเศษ มีกำแพงกั้นต่อจากกำแพงวังชั้นในด้านหน้าอีกสายหนึ่ง ตรงไปในระหว่างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์กับพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ แล้วไปหักมุมเลี้ยวที่ข้างพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์บรรจบกำแพงเมือง

กำแพงวังชั้นนอกหนา ๖ ศอก เชิงเทินกว้าง ๓ ศอกคืบมีเศษ สูงขาดปลายใบเสมา ๘ ศอกคืบ กำแพงชั้นในคิดว่าจะสูงในราวนี้ แต่เห็นจะบางกว่า


ป้อมรอบวัง

ป้มที่มีชื่อมาในกฎมนเทียรบาลบ คือ ป้อมท้ายสนม ป้อมท่าคั่น ป้อมศาลาสารบาญชี ป้อมศาลาพระมงคลบพิตร ป้อมมุมวัดรามาวาศ ป้อมสวนองุ่น แต่ ๖ ป้อมเท่านั้น แต่เมื่อได้ตรวจดูพื้นที่พบเค้าป้อมที่ปากคลองท่อ เป็นป้อมกำแพงเมืองอยู่มุมวังด้านหลังข้างเหนือ คงเป็นป้อมท้ายสนมแน่ ต่อขึ้นมาที่ริมฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกี คิดว่าคงวจะเป็นอีกป้อมหนึ่ง แต่ที่นี้คตรวจไม่ได้ ด้วยพระยาไชยวิชิตในรัชกาลที่ ๓ สร้างวัดคร่อมไว้ ต่อขึ้นมาถึงป้อมริมท่าวัดธรรมิกราช คือที่ชื่อป้อมท่าคั่น เป็นป้อมมุมวังด้านหน้าข้างเหนือ ต่อไปด้านตะวันออกคงมีป้อมศาลาสารบาญชีอยู่กลางระยะกำแพง แต่ยังขุดค้นไปไม่ถึง พ้นจากป้อมนี้ไปก็ถึงป้อมมุมวังด้านหน้าข้างใต้ ตามลำดับในกฎมนเทียรบาลว่า พ้นป้อมศาลาสารบาญชีไปแล้วถึงป้อมศาลาพระมงคลบพิตร แต่ป้อมศาลามงคลบพิตร จึงถึงป้อมมุมวัดรามาวาศ เห็นว่าน่าจะเรียงชื่อไขว้ลำดับ ถึงแม้จะคิดว่าเดิมพระมงคลบพิตรอยู่ข้างหน้า ก็คงจะอยู่ในแถวข้างวัดพระราม คงไม่ใช่อยู่หน้าวัดพระราม เมื่อป้อมมุมวังเรียกว่าป้อมศาลาพระมงคลบพิตรแล้ว ป้อมต่อเข้าไปจะเรียกป้อมมุมวัดรามาวาศไม่ได้ เพราะหมดอาณาเขตวัดพระรามแล้ว จึงเห็นว่าป้อมมุมวังด้านหน้าข้างใต้คงเรียกป้อมมุมวัดรามาวาศเป็นแน่

ต่อมาข้างด้านใต้มีอีกป้อมหนึ่ง ซึ่งนับตามลำดับในกฎมนเทียรบาลก็จะต้องเรียกว่าป้อมมุมวัดรามาวาศ แต่โดยที่กล่าวมาแล้วว่า ในกฎมนเทียรบาลลำดับชื่อคลาดเคลื่อนจากแผนที่ จึงเห็นว่าป้อมนี้คงเป็นป้อมศาลามงคลบพิตร เพราะอยู่หน้าวิหารพระมงคลบพิตร ต่อมาถึงมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ก็มีป้อมอีกป้อมหนึ่ง แต่ไม่ได้พบที่มาว่าจะมีชื่อเสียงอย่างไร ต่อลงไปที่มุมวังด้านข้างหลังข้างตะวันตกก็มีป้อมอีกป้อมหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นป้อมสวนองุ่น รวมทั้งหมดคงจะมี ๘ ป้อม

รูปป้อมรอบพระราชวัง ถ้าเป็นป้อมมุมวังก็ก่อยื่นออกไปจากกำแพงทั้ง ๒ ข้าง ถ้าเป็นป้อมกลางวังก็ก่อยื่นออกไปเป็นเหลี่ยมรูปรี ในป้อมชั้นบนคิดว่าจะปูกระดาน เพราะพบรูรอดอยู่รอบข้าง แต่ชั้นล่างใต้พื้นคงโปร่ง มีช่องคูหาออกจากกำแพงวังเข้าไปในป้อมได้ ที่ใต้กำแพงป้อมลงมา สูงจากพื้นดินราวศอกมีช่องข้างในกว้างเกือย ๒ ศอก สูง ๒ ศอกเศษ เป็นรูปโค้งก่อเรียวไปถึงข้างนอกเป็นช่องกลม วัดผ่าศูนย์กลางได้ ๒๐ นิ้ว เข้าใจงว่าจะเป็นช่องสำหรับสอดปากกระบอกปืนออกมายิงข้าศึกข้างนอกในที่ต่ำอีกทางหนึ่งด้วย


ประตูวัง

ประตูพระราชวังตามที่มีชื่อมาในกฎมนเทียรบาล คือ ประตูฉนวนน้ำประจำท่า อีกชื่อหนึ่งเรียกประตูมหาไตรภพชลทวารอุทก ประตูเสาธงไชย ประตูช้างเผือก ๓ ประตูนี้เป็นประตูวังชั้นนอก และได้พบในจดหมายเหตุรายการพระศพเจ้าฟ้า กรมหลวงโยธาเทพ มีชื่อประตูท่าปราบอีกประตูหนึ่ง ใต้ประตูฉนวนลงไปท้ายสนม ก็คงจะมีประตูอีก ด้วยได้พบแผนที่ในหนังสือของเคมเฟอร์ ซึ่งมาในกรุงเก่าในแผ่นดินพระเพทราชาลงไว้ว่า มีประตูยอดแถวข้างวัดด้านริมน้ำ ๔ ประตู ประตูไม่มียอด ที่จะเป็นช่องกุด ๓ ประตู ด้านหน้าวังชั้นนอกในแผนที่ลงไว้มี ๒ ประตู

แต่ประตูทีแรกถึงคงจะเป็นประตูจักรมหิมา เพราะมีความในจดหมายเหตุ ครั้งราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปลังกาว่าดังนี้ "ณ วันศุกร์เดือนอ้ายขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๑๔ ปีวอกจัตวาศก เพลาย่ำฆ้องแล้ว ๖ บาท เชิญพระมณฑปพระพุทธรูป หีบพระธรรม และพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการ ลง ณ ฉนวนท่าขึ้นใหม่ ณ ท่าคั่น แล้วเชิญพระมณฑปในพระราชสาส์นเสด็จลงเรือพระที่นั่งศรีพิมานไชย พระอุบาลี ๑ พระอริยมุนี ๑ พระสงฆ์อันดับ ๑๕ รวม ๑๗ รูป ลงเรือศรีผ้าแดงไปบำรุงพระศาสนา ณ กรุงศิริวัฒนบุรี"

ต่อไปจนสุดมุมวังด้านหน้าข้างใต้ก็มีเค้าประตูอีก ๒ แต่ชื่อไรไม่ได้ความ เลี้ยวมาข้างวังด้านใต้คงจะมีประตูหนึ่ง แล้วถึงอีกประตูหนึ่ง ซึ่งอยูมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ ประตูนี้คงจะชื่อนครไชย ซึ่งเป็นฉนวนออกพระเมรุ ที่พระบรมโกศเสด็จในงานพระศพเจ้าฟ้า กรมหลวงโยธาเทพ ต่อลงไปในด้านข้างวัดพระศรีสรรเพ็ชย์ ก็มีประตูอีกประตูหนึ่ง ประตูนี้ไปออกหน้าวิหารพระมงคลบพิตร ถ้าเวลามีการพระศพ เห็จจะเป็นประตูฉนวนสำหรับข้างในไปพระเมรุ

ด้านหลังวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ก็มีประตู ซึ่งคิดว่าจะเป็นประตูหูช้างอีกประตูหนึ่ง ที่กำแพงวังต่อมุมวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ มีประตูหลังคาคูหาซ้อนสองชั้น เลี้ยวไปด้านตะวันตกท้ายพระที่นั่งบรรยงก์ ก็มีประตูมหาโภคราช ตามระยะที่กล่าวมานี้ คิดว่าจะมีประตูอื่นอีก แต่ยังขุดค้นตรวจไปไม่ทั่ว จะลงไว้ก่อนก็เกรงคลาดเคลื่อน

ที่กำแพงชั้นในตรงข้างพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ มาทางตะวันออกมีประตูหนึ่ง ที่กำแพงข้างระหว่างพระที่นั่
งสุริยาศน์อัมรินทร์ กับพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มีประตูหนึ่ง มาถึงตรงหน้าพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มีอีกประตูหนึ่ง ต่อมาถึงหน้าพระวิหารสมเด็จมีอีกประตูหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นประตูมงคลสุนทร เพราะเป็นประตูอยู่ทางใต้

ข้อที่เห็นว่าจะเป็นประตูมงคลสุนทรนั้น ก็ด้วยเมื่อคราวพระเจ้าทรงธรรมไปประชุมพรรคพวกอยู่ที่วัดมหาธาตุ ครั้งนั้นคงจะเดินมาทางถนนตลาดเจ้าพรหม เข้ากำแพงชั้นนอกได้คงจะเลี้ยวมาข้างขวา ก็ถึงประตูก่อน ถ้าเข้าประตูนี้ได้แล้ว ก็เป็นอันเข้าวังชั้นในได้ และเมื่อพระเจ้าปราสาททองครั้งยังเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริวงศ์ ยกพลมาจับพระเชษฐา ก็กล่าวว่าขึ้นที่ประตูไชยมาฟันประตูมงคลสุนทร เพราะฉะนั้นประตูกำแพงชั้นในประตูใดที่เป็นข้างเข้าข้างในได้และถึงก่อน ประตูนั้นต้องเป็นประตูมงคลสุนทร

ประตูแสดงราม ก็คงจะอยู่ต่อประตูมงคลสุนทรลงไป แต่คงอยู่นอกกำแพงคั่นสายใน ประตูอื่นที่มีชื่อมาเช่น ประตูพระพิฆเนตรศวร ประตูศรีสรรพทวาร ประตูพลทวาร ก็คงเป็นประตูชั้นใน ที่กำแพงคั่นท้องสนามหลวงมีปรระตู เรียกว่า ประตูตัดขวา และที่แถวสระแก้วก็มีประตูตัด คิดว่าจะเป็นประตูหูช้าง ไม่ใช่ประตูยอดหรือประตูซุ้ม

รูปประตูพระราชวังเห็นจะเป็น ๔ อย่าง ประตูชั้นนอกด้านข้างริมน้ำและด้านหน้า คงจะเป็นประตูยอดมณฑป เพราะเมื่อขุดตรวจดูในแถวเหล่านี้ พบเต่หลุมเสาประตูรี รอยปักล้ำเข้าไปทางข้างกำแพงข้างนอกข้างใน และไม่มีกระเปาะก่อย่อไม้ที่ช่อง ประตูกำแพงชั้นในด้านหน้าคงเป็นยอดปรางค์ ด้วยได้ขุดพบช่องประตูและซุ้มชั้นยอดก่ออิฐเป็นปรางค์ กะเปาะข้างประตูย่อไม่สิบหก และอีกรูปหนึ่งคงเป็นหลังคาคูหาซ้อนสองชั้น เหมือนประตูด้านข้างใต้ซึ่งยังเห็นอยู่ทุกวันนี้ ประตูตัดนั้นก็คงเป็นประตูหูช้าง เห็นจะ ๔ อย่างเท่านี้


ที่ทำพระเมรุในเมือง

ที่นอกกำแพงพระราชวังด้านใต้ในที่ว่างต่อพระวิหารแกลบออกไป เป็นที่ทำพระเมรุในเมือง ที่พระเมรุเดิม แต่ครั้งพระบรมศพสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง)ว่า ทำในที่ซึ่งเป็นวัดพระราม ครั้นมาถึงแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ทรงสร้างวัดพระรามขึ้นในที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง)แล้ว ตั้งแต่นั้นมาการพระเมรุคงจะยกมาตั้งทำในที่หลังวัดพระราม ในลานซึ่งได้กล่าวมานี้

ต่อที่ทำพระเมรุออกไปข้างใต้ มีคลองแยกมาจากคลองท่อ เรียกว่าคลองนครบาล เข้ามาตอนกลางเป็นบึงใหญ่ กลางบึงมีเกาะเป็นที่คุกขังนักโทษ พ้นเกาะคุกออกไปริมถนนแตลงแกงหน้าวัดเกษเป็นที่หอกลอง โคนเสาหอกลองยังเหลือจมดินอยู่เป็นเสาไม้แก่นขนาดใหญ่ ถนนข้างหอกลองตรงไปวังหลังมีสะพานข้ามคลองท่อ เดี๋ยวนี้เรียกสะพานรำเหย คิดว่าคงจะเป็นสะพานหน้าหับเผย เพราะถนนนั้นอยู่หน้าคุกน่าจะเรียกเพี้ยน


โรงเรือพระที่นั่ง

โรงเรือพระที่นั่ง ตามหนังสือโบราณกล่าวไว้ว่า อยู่ที่ใต้วัดเชิงท่า ในแผนที่ในหนังสือมองสิเออร์ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นพระเจ้าหลุยที่ ๑๔ กรุงฝรั่งเศสเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ลงไว้ในที่ตรงนั้น กับลงไว้ว่าที่เหนือป้อมเพ็ชรขึ้นมา ตรงหน้าวัดพนัญเชิงข้ามเป็นอู่เรือทะเลด้วย

อนึ่งในที่ระหว่างตั้งแต่วัดเชิงท่าไปวัดพนมโยงนั้น ชาวบ้านซึ่งอยู่ในเวลานี้ ผู้ที่ได้รับคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ก็ว่าเป็นที่โรงหลวง ยังทีลำรางอยู่ลำหนึ่ง ชาวบ้านเรียกกันว่าคูไม้ร้อง ก็คงจะเป็นอู่ที่เอาเรือหรือมาดเรือพระที่นั่งไว้ และจะมีเหตุอย่างไรซึ่งทำให้คนเข้าใจว่า นางไม้มาดเรือที่อยู่ในอู่นั้นร้อง จึงเลยเรียกว่า "คูไม้ร้อง" ต่อมา ที่ข้างคูไม้ร้องหลายปีมาแล้ว มีผู้ขุดหลุมจะปลูกเรือน ได้พบเรือจมอยู่ใต้ดิน ก็ไม่อาจปลูกในที่ตรงนั้น ต้องเลื่อนที่ไปใหม่

แต่เรือพระที่นั่งกับเรือกระบวนใหญ่น้อย เห็นจะเป็นอันตรายไปเสียก่อนกรุงแตกมาก ด้วยเมื่อครั้งพระเจ้าอลองพราญี ยกทัพเข้าตีกรุงในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์นั้น ทรงโปรดให้ถอยเรือพระที่นั่งกิ่ง, ไชย, ศรี, กราบ และเรือดั้งเรือกันเรือศีร์ษะสัตว์ทั้งหลายใหญ่น้อย กับทั้งเรือกำปั่นและเรือรบ ลงไปไว้ที่ท้ายคู พะม่ายกลงไปตีท้ายคูแตกแล้วเผาเรือพระที่นั่งกับกำปั่นและเรือรบเสีย เข้าใจว่าจะเหลืออยู่ไม่กี่ลำ

ครั้นเมื่อมังมหานรธากับเนเมียว ยกมาตีกรุงแตกในครั้งหลัง ได้ความว่าปะกันวุ่นแม่ทัพทางใต้เอาเรือพระที่นั่งกิ่งไปขึ้นตะเข้ที่ท่าดินแดง ชักเข็นไปลงลำน้ำสมิออกปากน้ำเมืองเมาะตะมะ ส่งไปถวายเจ้าอังวะลำหนึ่ง แต่ปืนพระพิรุณซึ่งพะม่าเอาไปพร้อมกับเรือพระที่กิ่งนั้น พะม่าเห็นว่าใหญ่นัก จะขึ้นบกชักลากไปไม่ไหว จึงเข็นขึ้นที่วัดเขมาเอาดินดำบรรจุเต็มกระบอกจุดเพลิงระเบิดเสียเก็บแต่ทองไป

อนึ่งโขนเรือพระครุฑพาห ซึ่งอยู่ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์ทุกวันนี้ ก็คงจะเป็นโขนที่ตัวเรือชำรุดจะอยู่ต่างหาก หรืออย่างไรจึงไม่เป็นอันตราย เมื่อกรุงแตกแล้วจึงมีคนเก็บเอามาทำศาลขึ้นไว้นับถือเป็นเทพารักษ์ เดิมว่าศักดิ์สิทธิ์นัก มีละครแก้บนกันไม่เว้นเดือน ครั้นมาเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๑ ศาลพัง จึงได้เก็บมารักษาไว้ในอยุธยาพิพิธภัณฑ์

ที่อู่เรือทะเลซึ่งมีในแผนที่หนังสือลาลูแบร์ ที่แถวนั้นบัดนี้มีทราบมูนขึ้นเป็นพื้นสูงถึงตลิ่ง แต่เมื่อสัก ๕ -๖ ปีมานี้ เจ้าของบ้านขุดบ่อที่หลังเรือน พบเรือทะเลใหญ่ลำหนึ่งกว้างเห็นจะราว ๑๐ ศอก หรือ ๓ วา แต่ยาวจะเท่าใดไม่ได้เห็นตลอด เพราะเรือนเจ้าของบ้านปลูกคร่อมอยู่มาแต่เดิม ที่เรือจมอยู่นั้น ถ้าถึงระดูแล้งน้ำในบ่องวดแล้ว ไปดูเมื่อใดก็ได้เห็นเสมอ


วังหน้า

ที่ประทับพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวร เดิมจะอยู่ที่ใดพงศาวดารไม่ได้กล่าว พึ่งมากล่าวในแผ่นดินพระศรีสุธรรมราชาเมื่อได้ราชสมบัติ โปรดให้สมเด็จพระนารายณ์ราชนัดดาเป็นอุปราช เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังบวรสถานมงคล ตามท้องเรื่องที่ว่าด้วยแผนที่พระราชวังบวร ก็เป็นที่พระราชวังวังจันทร์เกษมเดี๋ยวนี้

สมเด็จพระนารายณ์เสด็จประทับอยู่ในพระราชวังนี้ตลอดมาจนถึงเวลาที่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นมาในแผ่นดินพระเพทราชา โปรดให้หลวงสรศักดิ์เป็นมหาอุปราช เสด็จไปอยู่ ณ วังจันทร์ เฉลิมขึ้นเป็นพระราชวังบวร มาในแผ่นดินพระพุทธเจ้าเสือ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่คือเจ้าฟ้าเพ็ชร์ ประดิษฐานที่กรมพระราชวังบวร แต่มิได้ว่าให้ชัดว่าโปรดให้ไปประทับอยู่ที่ใด แต่ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่าคงประทับอยู่ที่วังจันทร์นี้ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ โปรดให้สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าพร ประดิษฐานในที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวร เสด็จมาประทับในพระราชวังจันทร์เกษม จนถึงเมื่อได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ก็ยังประทับอยู่อีก ๑๓ ปี ถึงจุลศักราช ๑๑๐๖ จึงเสด็จลงไปประทับอยู่ในพระราชวังหลวง

ข้อที่สมเด็จพระนารายณ์หรือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ยังคงประทับอยู่ในพระราชวังบวร ไม่เสด็จลงไปประทับที่วังหลวงนั้น ก็คงจะเป็นด้วยทรงกลัวพวกข้างวังหลวง เพราะเมื่อแรกได้ราชสมบัติ ได้ฆ่าพวกวังหลวงเสียมาก ต่อมาภายหลังตั้งขุนนางใหม่ขึ้นแทน และเห็นจะค่อยหายทรงกลัวแล้วจึงเสด็จเข้าไปประทับในวังหลวง

ในแผ่นดินพระบรมโกศ โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนเสนาพิทักษ์ เป็นกรมพระราชวังบวร ก็เสด็จประทับอยู่ในพระราชวังจันทร์เกษม ภายหลังกรมพระราชวังบวรต้องรับพระราชอาญาด้วยโทษเป็นชู้กับเจ้าฟ้านิ่ม เจ้าฟ้าสังวาลย์ จึงทรงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิจ เป็นกรมพระราชวังบวร แต่หาได้เสด็จไปประทับที่พระราชวังจันทร์เกษมไม่ คงประทับอยู่ที่ตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับมาแต่เดิม ได้ความตามพระราชพงศาวดารแต่เท่านี้ หาได้ความว่าพระราชวังจันทร์เกษมนี้มีมาแต่เมื่อใดและเหตุใดจึงชื่อวังจันทร์ไม่

ในคำให้การของขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า พระราชวังบวรสถานมงคลคือวังหน้าเก่านั้น ตั้งอยู่ใกล้พระราชวังหลวง วังหน้าเก่านั้นแคบ ภายหลังจึงยกวังจันทร์ขึ้นเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นพระราชฐานที่ดำรงของพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า มีความเพียงเท่านี้ แต่ก็มิได้ระบุบอกไปให้ชัดเจนว่า วังหน้าเดิมตั้งอยู่ที่ใดและวังจันทร์นั้นเดิมเป็นของใคร จึงมาเฉลิมขึ้นเป็นพระราชวังบวร

แต่เมื่อได้พิเคราะห์ตรวจค้นความในพระราชพงศาวดารให้ถ้วนถี่ จะเห็นได้ว่าตำแหน่งพระมหาอุปราชแต่เดิมมาเป็นเจ้าครองเมืองพิษณุโลกทุกพระองค์ หาได้ประทับอยู่ในพระนครเหมือนดังในชั้นหลังไม่ มาจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชา ก็ยังโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ไปครองเมืองพิษณุโลก และต่อมามีความปรากฏว่า เมื่อจุลศักราช ๙๒๕ ปีกุน เดือน ๑๑ สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาแต่เมืองพิษณุโลก สถิตอยู่ ณ วังใหม่ คำที่เรียกว่า "วังใหม่" ในที่นี้ คงจะหมายความว่าวังนั้นพึ่งแรกสร้าง และวังซึ่งจะเป็นของสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ผู้ครองเมืองพิษณุโลกนั้นจะเป็นวังเล็กน้อยก็ไม่ได้ คงต้องเป็นวังใหญ่โต และวังใหญ่โตเช่นนั้นจะสร้างในที่ใกล้วังหลวงก็ไม่ควร ด้วยข้าราชการไพล่พลที่ตามเสด็จมาก็คงไม่ใช่น้อย จะเที่ยวยุ่มย่ามละเล้าละลุมไปถึงข้างวังหลวง ก็จะพาให้มีเหตุคนสงสัย วังที่สร้างใหม่จึงต้องสร้างให้ห่างวังหลวง ที่ๆสร้างวังใหม่ที่ไหนไม่เหมาะเท่าด้านขื่อหน้า คือวังจันทร์เดี๋ยวนี้ จึงเห็นว่าพระราชวังจันทร์เกษมนี้เองที่เรียกว่าวังใหม่ในครั้งนั้น

เพราะในแถวนี้เดิมเป็นที่ชานพระนคร ซึ่งได้กล่าวมาแล้วว่าอยู่นอกกำแพงเมือง ภายหลังสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดให้ขยายกำแพงเมืองลงไปถึงขอบริมน้ำ แต่ก็ไม่สำเร็จ ด้วยเวลานั้นกำลังติดพันอยู่กับศึกหงสาวดี พึ่งมาสำเร็จในแหผ่นดินพระมหาธรรมราชา เมื่อได้ขยายกำแพงออกไปแล้ว ที่ในแถวนั้นก็คงจะเปลี่ยวว่างไม่ใคร่มีบ้านเรือนราษฎร และด้านขื่อหน้านี้เป็นด้านสำคัญ ทัพมอญพะม่าเขมรมาคราวใด ก็มักจะเข้าตีทางด้านนี้ เพราะฉะนั้นจึงต้องเอาวังเจ้าใหญ่นายโตเข้ามาตั้งสำหรับจะได้เป็นกำลังรับรองข้าศึก

และยังมีข้ออื่นที่จะประกอบให้สมเหตุผลได้อีก คือ เมื่อสมเด็จพระนเรศวร พามหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติ พระยาพระรามมาจากเมืองมอญนั้น พระมหาธรรมราชาโปรดให้พระมหาเถรคันฉ่องอยู่วัดมหาธาตุ ให้พระยาเกียรติพระยาพระรามอยู่บ้านขมิ้นวัดขุนแสน ซึ่งพระมหาธรรมราชาโปรดให้พระยาเกียรติพระยาพระรามมาอยู่ที่บ้านขมิ้นนั้น ก็ด้วยบ้านขมิ้นอยู่ใกล้พระราชวังสมเด็จพระนเรศวร พระยาเกียรติพระยาพระรามเป็นผู้มีพระคุณต่อสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเป็นผู้ทรงพาลงมา จะได้รับความอุปการะ หรืออีกอย่างหนึ่งถ้าว่าด้วยไม่ไว้ใจ ก็จะได้คอยระวังไหวพริบ คำซึ่งออกชื่อวัดขุนแสนในที่นี้ เห็นจะเรียกก่อนไปในเวลาที่ยังไม่มีวัด ด้วยพงศาวดารจะเรียบเรียงภายหลังเมื่อมีวัดแล้ว ผู้เรียบเรียงตั้งใจที่จะกล่าวให้รู้ว่าพวกพระยาเกียรติพระยาพระราม อยู่ในที่ซึ่งภายหลังเป็นวัดขุนแสนนั้นด้วย

ข้อที่วังจันทร์ต้องเป็นวังสำหรับตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวร ก็ด้วยเหตุดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชเดิมเป็นเจ้าผู้ครองเมืองพิษณุโลก มาจนถึงแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ก็ยังโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปครองเมืองพิษณุโลก ภายหลังเกิดศึกเขมรมารบกวนบ่อยเข้า และทั้งสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ก็ทรงพระดำริตั้งต้นที่จะต่อสู้ กระทำให้ขาดจากอำนาจกรุงหงสาวดี แต่เวลานั้นไพร่พลในพระนครเบาบาง ด้วยเมื่อเสียกรุงแก่พระเจ้าบุเรงนองกรุงหงสาวดีในแผ่นดินพระมหินทราธิราช พระเจ้ากรุงหงสาวดีกวาดต้อนเอาครอบครัวราษฎรไปเสียมาก เหลือไว้ให้อยู่ประจำพระนครแต่หมื่นหนึ่ง

ครั้นเมื่อพระมหาธรรมราชาได้เสวยราชสมบัติแล้ว ได้โปรดให้เกลี้ยกล่อมอาณาประชาราษฎร ซึ่งแตกฉานซ่านเซ็นอยู่ในที่ต่างๆเข้ามาไว้ในพระนคร แต่ก็คงจะไม่ได้มากมายเท่าใด จึงทรงเห็นว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือ ยังมีไพร่พลเมืองอยู่มาก แต่ถ้าละทิ้งให้คงท้องที่ไว้ แม้ศึกหงสาวดียกเข้ามา แต่ลำพังหัวเมืองฝ่ายเหนือก็จะรับรองไว้ไม่อยู่สู้กวาดต้อนเอาราษฎรลงมาไว้เป็นกำลังในกรุง คิดต่อสู้ป้องกันเอาแต่ที่กรุงแห่งเดียวจะเป็นประโยชน์กว่า จึงโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเทครัวอพยพราษฎรหัวเมืองฝ่ายเหนือมาไว้ในพระนคร

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าก็เสด็จลงมาสู่พระนคร และคงประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ตั้งแต่นั้นมาตำแหน่งพระมหาอุปราชก็คงประทับอยู่ในกรุงหาได้ไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลกเหมือนแต่เดิมไม่ ก็เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าซึ่งได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหาอุปราช ผู้ครองเมืองพิษณุโลกได้ประทับอยู่ที่พระราชวังนี้แล้ว วังนี้ก็ต้องนับว่าเป็นวังสำหรับตำแหน่งพระมหาอุปราช ต่อมาพระองค์ใดได้เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวร จึงต้องเสด็จมาประทับอยู่ที่พระราชวังจันทร์ ด้วยถือเป็นวังสำหรับตำแหน่งนี้

และที่มีชื่อว่าวังจันทร์นั้น ก็เห็นจะเอาชื่อวังเก่าที่เมืองพิษณุโลกมาสรวมเรียก เพราะวังเก่าที่เมืองพิษณุโลกชื่อวังจันทร์ มีคนรู้จักชื่อกันมาจนทุกวันนี้

อนึ่งชื่อที่เรียกพระราชวังบวรสถานมงคลว่าวังหน้า ก็มาจากเหตุที่พระราชวังบวรตรงอยู่ที่ขื่อหน้า และด้านหน้าของพระราชวังหลวงด้วย ในพงศาวดารกล่าวความว่า ในพระราชวังจันทร์มีพระที่นั่งจตุรมุข พระที่นั่งพิมานรัถยา และศาลาลูกขุน และคงจะได้มีโรงช้างโรงม้าพระที่นั่ง และห้วยคลังต่างๆด้วย

วังนี้เดิมชื่อพระราชวังจันทร์บวร เมื่อกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาทำลายแล้ว วังก็รกร้างว่างเปล่า ภายหลังมามีราษฎรทำไร่ปลูกต้นน้อยหน่า มาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีรัตนโกสินทรศก ๗๙ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ทำพระที่นั่งพิมานรัถยาขึ้นตามแนวรากเดิม กับทำพลับพลาจตุรมุขมีกำแพงล้อมรอบ เป็นพระราชวังที่ประทับสำหรับในเวลาเสด็จพระราชดำเนินขึ้นมาประพาสกรุงเก่า ทรงเปลี่ยนสร้อยชื่อเป็นพระราชวังจันทร์เกษม แต่กำแพงวังซึ่งโปรดให้ทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นั้นวงแคบกว่าวงกำแพงเดิมมาก

มาในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้ใช้ที่โรงลคร คือที่เป็นศาลมณฑลอยู่เดี๋ยวนี้เป็นโรงทหาร มาภายหลังเมื่อโปรดให้ตั้งมณฑลเทศาภิบาล จึงได้ย้ายให้กองทหารออกไปตั้งอยู่ที่โรงนอกกำแพงวัง โปรดให้ซ่อมพระที่นั่งพิมานรัถยากับพลับพลาจตุรมุขกับแถวทิมคต สำหรับใช้เป็นที่ว่าราชการ ครั้นเมื่อ ณ วันที่ ๒๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประทับบนพระที่นั่งพิมานรัถยา ทรงพระกรุณาพระราชทานพระฤกษ์ ทรงเปิดให้เป็นที่ว่าการมณฑลกรุงเก่า
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:15:46:54 น.  

 
 
 
วังหลัง

พระราชวังหลังตั้งอยู่ในกำแพงพระนครด้านตะวันตก ตรงหน้าวัดกษัตราข้าม วังนี้พึ่งมีชื่อปรากฏขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อคราวมอบราชสมบัติให้พระมหินทราธิราชเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเงียบไปไม่ได้ออกชื่อเสียงอีก จนถึงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์จึงมากล่าวความว่า พระไตรภูวนาทิตยวงศ์ประทับอยู่ ครั้งนั้นพระไตรภูวนาทิตยวงศ์ต้องถูกสำเร็จโทษด้วยถูกหาว่าเป็นกบฏ จึงทรงโปรดให้เจ้าฟ้าอภัยทศ (พงศาวดารว่าเป็นพระราชโอรสสมเด็จพระรานายณ์ แต่หนังสือของคนต่างประเทศ ซึ่งแต่งในรัชกาลนั้นว่าเป็นพระอนุชา) เสด็จไปประทับอยู่

มาในแผ่นดินพระเพทราชา โปรดให้นายจบคชประสิทธิ์ทรงบาศขวาในกรมช้าง ซึ่งเป็นคู่คิดเอาราชสมบัติด้วยนั้น เป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายหลังรับพระราชบัญชา ภายหลังมาทรงแคลงพระทัยว่าจะเป็นศัตรูราชสมบัติ จึงทำอุบายจับกรมพระราชวังหลังสำเร็จโทษเสีย ตำแหน่งวังหลังตั้งแต่นั้นมาก็เงียบ ในแผ่นดินหลังจะได้ทรงตั้งหรืองดอย่างไรไม่ได้ความ

มาในแผ่นดินพระพุทธเจ้าเสือว่า โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ (คือเจ้าฟ้าเพ็ชร์ ภายหลังได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีพระนามวิเศษเรียกว่า พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์น้อย (คือเจ้าฟ้าพร ภายหลังได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อสวรรคตแล้วเรียก พระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ) นั้นโปรดให้เรียกว่า พระบัณฑูรน้อย พระบัณฑูรน้อยจะได้เสด็จไปประทับอยู่ที่วังหลังหรืออย่างไรก็ไม่ได้ความ

แต่พระราชวังหลังนี้แต่เดิมมาจะเป็นอย่างไร พงศาวดารไม่ว่าไปถึง เป็นแต่ได้ความว่าอยู่ที่สวนหลวง จึงเห็นว่าสวนหลวงนี้ ทีจะเป็นพระราชอุทยานนอกพระราชวัง ดังหนังสือโบราณแทบจะทุกเรื่อง ซึ่งกล่าวด้วยกษัตริย์หรืออัครมเหสษีและพระราชธิดาเสด็จออกชมสวน แล้วก็ต้องทรงรถม้าพระที่นั่ง และยวดยานอย่างแบกหามสำหรับไปทางไกล เห็นว่าสวนหลวงนี้ก็คงจะเป็นสวนอย่างนั้น เพราะถนนไปแต่พระราชวังหลวงก็มี และทางก็ไกลถึง ๓๐ เส้นเศษ พอที่จะแห่แหนเป็นกระบวนไปเหมือนอย่างโบราณได้

อนึ่งเมื่อมีพระราชอุทยานไกลจากพระราชวังเช่นนี้ ก็ย่อมจะต้องมีพระราชวังเป็นที่ประทับในพระราชอุทยาน แต่ภายหลังมาการเสด็จประพาสพระราชอุทยานภายนอกคงจะงดเลิกไป จะเป็นด้วยเหตุกลัวภัยอันตรายหรือไม่ทรงสนุกเข้าอย่างไร สวนและวังนะนก็จะทิ้งเริดราอยู่ แต่ด้วยวังในสวนหลวงเคยเป็นพระราชวังที่ประทับ จะทอดทิ้งเสียทีเดียวก็เห็นจะออกทรงเสียดาย มาภายหลังเมื่อพระราชวงศ์พระองค์ใดมีความชอบยิ่งใหญ่จะให้เป็นตำแหน่งธรรมดา ก็เห็นว่าไม่สมควรแก่ความชอบ ครั้นจะให้เป็นถึงพระมหาอุปราชก็ไม่ได้ ด้วยที่ไม่ว่างหรือบารมีไม่ถึง จึงยกขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายหลัง และคำที่เรียกว่าวังหลังนั้น ก็ด้วยเหตุที่วังนี้อยู่ริมพระนครด้านตะวันตก เป็นด้านหลังของพระราชวังหลวง จึงได้เรียกกันว่า วังหลัง

วังหลังนี้เมื่อกรุงทำลายแล้ว วังก็คงร้างตามกันมา หรือบางทีจะร้างเสียก่อนกรุงแตกก็ว่าไม่ได้ มาภายหลังราษฎรเกลื่อนเกลี่ยที่ลงทำเป็นสวนปลูกต้นไม้มีผล เรียกว่าสวนมะม่วง ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๔ โปรดเกล้าฯ ให้จัดการมณฑลกรุงเก่า กรมยุทธนาธิการได้เลือกเอาที่วังหลัง ตลอดถึงวัดสวนหลวงสบสวรรค์เป็นโรงทหาร

วังเจ้านายก็จะเป็นตำหนักเครื่องไม้ กำแพงอิฐก็น่าจะไม่ใคร่มี คงจะเป็นรั้วเสาไม้แก่น เพราะตั้งแต่ได้ตรวจค้นมา ก็พบวังเดียวที่กำแพงก่ออิฐ และมีรากตำหนักเป็นตึก วังนั้นอยู่ริมคลองบ้านบาตร ตรงหลังวัดพิชัยออกไป และอยู่ใกล้กับวัดโพธาราม ได้พบแผ่นศิลาจารึกที่วัดโพธารามแต่แตกกระจาย ตัวอักษรกระเทาะ อ่านไม่ได้ความเสียมาก ที่อ่านได้ในตอนต้นมีความว่า วัดนี้เดิมชื่อวัดเพ็ชร แต่ชำรุด เจ้าฟ้ารัศมีศรีสุริยวงศ์ พงศ์กษัตริย์ทรงปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เรียกว่าวัดโพธาราม จึงเห็นว่าวังนั้นอยู่ใกล้กับวัด คงเป็นเจ้าของวังเป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดโพธาราม จึงได้ลงไว้ในแผนที่ว่าเป็นวังเจ้าฟ้ารัศมี

แต่ชาวบ้านเรียกกันว่าวังเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ คิดดูตามที่เขาว่าก็ชอบกล ด้วยเดิมขุนหลวงหาวัดเป็นกรมพระราชวังบวร ก็ประทับอยู่ที่ตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวง ครั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๑๐ วันก็ถวายราชสมบัติแด่พระเชษฐา เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี แล้วเสด็จออกไปทรงผนวชที่วัดเดิม ไปประทับอยู่วัดประดู่ เมื่อเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว โปรดตั้งนายปิ่นพี่เจ้าจอมเพ็ง เจ้าจอมแม้น พระสนมเอก เป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก ตั้งนายฉิมน้องชายของเจ้าจอมทั้ง ๒ เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ พระยาราชมนตรีบริรักษ์ทนงองอาจ ถือว่าตัวเป็นคนโปรดปรานเข้าออกในพระราชวังทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีใครว่ากล่าวห้ามปรามได้

ครั้นเมื่อศึกพระเจ้าอลองพราญีมาติดพระนคร ขุนนางและราษฎรไปกราบทูล ขอให้ขุนหลวงหาวัดลาพระผนวชออกช่วยป้องกันข้าศึก ขุนหลวงหาวัดจึงลาพระผนวชออกมาช่วยจัดการพระนคร ในครั้งนั้นมีรับสั่งให้จับพระยาราชมนตรี จมื่นศรีสรรักษ์มาจำไว้ ให้มีกระทู้ถามว่า เข้าไปในพระราชวังคบหาทำชู้ด้วยนางข้างในเป็นหลายคน ครั้นรับเป็นสัตย์แล้ว ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนคนละ ๕๐ ที จำครบไว้ อยู่ ๓ วันพระยาราชมนตรี(ปิ่น)ตาย ให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ ณ ประตูชัย แต่จมื่นศรีสรรักษ์อยู่มาจนถึงขุนหลวงหาวัดกลับทรงพระผนวชครั้งหลัง แล้วพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อัมรินทร์โปรดให้พ้นโทษ และโปรดให้คงฐานันดรศักดิ์เดิม จึงเห็นว่าที่พระยาราชมนตรีทำวุ่นวายขึ้นในครั้งนั้น ขุนหลวงหาวัดจะทรงระแวงและทรงย้ายข้างใน ในส่วนพระองค์ท่านออกไปรวมอยู่ที่วังเจ้าฟ้ารัศมีก็ได้ เพราะเจ้าฟ้ารัศมีก็เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในพระบรมโกศ


ตลาด

ตลาดสำคัญที่มีชื่อมาในพระราชพงศาวดาร ก็คือตลาดยอด พงศาวดารตอนแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาว่า เพลิงไหม้ในพระนครแต่ท่ากลาโหมลงไปถึงพระราชวังท้ายต่อตลาดยอด ลมหอบเอาลูกเพลิงไปตกแตลงแกง ไหม้ลามลงไปป่าตองโรงครามฉะไกร ๓ วันจึงดับ มีบัญชีเรือนโรงศาลากุฎีวิหารไหม้แสนห้าสิบจำนวนนี้เห็นจะมากเกินไป ด้วยที่ในพระนครถึงจะมีเรือถึงแสนคน คนหนึ่งอยู่เรือนหลังหนึ่ง จำนวนคนคงจะน้อยกว่าจำนวนเรือนมาก ในกฎมนเทียรบาลว่าด้วยแบ่งท้องที่มีความว่า แต่หอกลองถึงเจ้าไสยและตลาดยอด แขวงขุนธรณีบาล แต่ตลาดยอดจะอยู่ที่ใดในเวลานี้ก็หมดคนที่รู้จักที่เสียแล้ว แต่ได้พบในแผนที่ในหนังสือของมองสิเออร์ลาลูแบร์ ซึ่งเป็นราชทูตมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลงไว้กับที่ด้านใต้ต่อศาลพระกาฬลงไป ว่าเป็นตลาด แต่จะใช่ตลาดยอดหรือมิใช่ ก็ยังไม่มีใครรับรอง แต่อย่างไรก็ดีที่นั้นคงเป็นตลาดจริง และตลาดยอดนั้นถ้าจะคะเนตามตัวหนังสือ ก็คงอยู่ราวด้านตะวันตก เยื้องไปข้างทิศใต้พระราชวัง แต่คงเป็นตลาดโรงร้านเครื่องไม้ ยากที่จะพบหลักฐาน แต่ที่แถวถนนย่านประตูจีนมาประตูเทพหมี เห็นทีจะเป็นตลาดตึกบ้าง ด้วยมีเค้าอยู่ในย่านถิ่นที่ประชุมชนพลเมืองนอกจากที่ได้ว่ามานี้ก็คงจะมีตลาดบกตลาดน้ำอีก แต่ไม่มีเหตุอันใดที่จะกล่าวถึง


ท่า

ท่าที่มีชื่อในพระราชพงศาวดาร และกฎมนเทียรบาลก็คือ ขนานน้ำประจำท่า หรือถ้าเรียกตามชื่อฉนวนก็เป็น พระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรี เป็นที่ประทับเรือพระที่นั่ง สำหรับเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆโดยทางชลมารค พ้นขนานน้ำประจำท่าขึ้นไปก็ถึงท่าคั่น หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกท่าคอย เป็นท่าขึ้นที่มุมพระราชวังหลวงด้านหน้าไปเข้าในวัง และที่เรียกว่า ท่าคอย ก็คือเรือข้าราชการที่มาส่งนายขึ้นท่าเข้าวังแล้ว ต้องจอดคอยรับจนกว่านายจะกลับ

ต่อท่าคั่นหรือท่าคอยขึ้นไปถึงท่าสิบเบี้ย ท่านี้เล่าต่อกันมาว่า เป็นท่าเรือจ้างรับส่งคนข้ามฟากไปมา ต้องเสียค่าจ้างข้ามฟากไปมาเที่ยวละ ๕ เบี้ย ถ้าคนหนึ่งข้ามไปแล้วกลับมาก็ต้องเสีย ๑๐ เบี้ย จึงเอาชื่อ ๑๐ เบี้ยมาเรียกเป็นท่า พ้นท่าสิบเบี้ยขึ้นไปก็ถึงท่ากลาโหม ท่านี้เป็นท่าช้างดำลงอาบน้ำ ที่เรียกว่าท่ากลาโหมนั้นก็คงจะเป็นด้วยครั้งหนึ่งคราวใด บ้านเรือนเจ้าพระยากลาโหมจะได้อยู่ในที่แถวนั้น แต่เห็นจะไม่ใช่เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งภายหลังได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าปราสาททอง แต่จะเป็นพระยากลาโหมแผ่นดินใดก็ยากที่จะเดา ที่แถวท่ากลาโหมเป็นที่โรงช้าง ด้วยตำแหน่งกลาโหมเดิม เคยว่ากรมพระคชบาลรวมอยู่ด้วย พึ่งจะได้มายกในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง เพราะพระองค์ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ด้วยกำลังที่ได้เป็นตำแหน่งกลาโหมมา จึงทรงเกรงว่าตำแหน่งกลาโหมต่อไปจะมีกำลังวังชาอย่างพระองค์ท่าน และจะทำอย่างพระองค์ท่านบ้าง จึงแยกหน้าที่ให้ขาดกันเสีย

พ้นท่ากลาโหมขึ้นไปถึงท่าทราย ที่ท่านี้มีทรายจริงด้วย ถ้าขุดลงไปไม่กี่มากน้อยก็เป็นทรายทั้งพื้น ที่ท่าทรายนี้พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อศึกพม่ามาล้อมกรุงครั้งหลัง ข้างในกรุงให้ลากปืนปราบหงสาออกไปตั้งที่ท่าทรายยิงค่ายพม่าวัดศรีโพธิ์ ยิงกระสุนแรกประจุดินน้อย ต่ำไปถูกตลิ่ง ครั้นปรจุมากขึ้น กระสุนออกสูงข้ามเกินวัดศรีโพธิ์ไป และเมื่อจวนกรุงจะเสีย ไฟก็ไหม้ตั้งแต่ท่าทรายติดลามไปถึงสะพานช้างคลองประตูข้าวเปลือก แล้วข้ามไปติดป่ามะพร้าวและป่าโทน ป่าถ่าน ป่าทอง ป่ายา วัดราชบุรณ วัดมหาธาตุ เพลิงไปหยุดเพียงวัดฉัตรทันต์ จำนวนเรือนโรงกุฎีวิหารว่าไหม้ถึงหมื่นหนึ่ง เห็นจะมากเกินไป คำที่ว่าเอาปืนตั้งที่ท่าทรายยิงค่ายพม่าวัดศรีโพธิ์นั้น วัดศรีโพธิ์ซึ่งชาวบ้านเรียกกันทุกวันนี้ อยู่ในคลองสระบัว มีวัดอื่นบังหน้า ทางไกลหลายสิบเส้น แต่วัดซึ่งอยู่ตรงท่าทรายก็มีแต่วัดวิหารทอง วัดอินทาราม วัดโรงฆ้อง มีชื่อวัดโพธิ์อีกวัดหนึ่งก็อยู่ตรงท่าสิบเบี้ยข้าม เห็นว่าบางทีจะเรียกชื่อผิดไปก็เป็นได้ แต่อย่างไรก็ดีที่ว่าเอาปืนใหญ่ออกยิงพม่านั้น คงเป็นความจริง เพราะพม่าตั้งค่ายรายเรียงตามฝั่งแม่น้ำฟากเหนือ มาตั้งแต่วัดแม่นางปลื้มจนถึงวัดหน้าพระเมรุ แถวหลังบ้านหม้อต่อจากวัดแม่นางปลื้มลงมาเชิงเทินดินที่พม่าพูนขึ้น สำหรับเอาปืนตั้งจังกายิงพระนครก็ยังมีปรากฏอยู่


วัด

วัดพระศรีสรรเพชญ์เป็นวัดในพระราชวัง ไม่มีพระสงฆ์ เป็นที่ข้าราชประชุมกันรับพระราชทานน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่แรกยกวังทำเป็นวัดในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ จะได้ทรงสร้างอะไรไว้บ้างก็ไม่ได้กล่าว

มาถึงแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ เมื่อจุลศักราช ๘๓๖ ปี ว่าได้ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถเจ้า ไว้ในพระมหาสถูป น่าจะเป็นพระเจดีย์ใหญ่องค์หน้าหรือองค์กลาง และอีก ๒ องค์นั้นก็คงจะได้ประดิษฐานพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินไว้เหมือนกัน อนึ่งในแผ่นดินนั้นทรงพระราชศรัทธาให้หล่อพระพุทธรูปสูงถึง ๘ วาหุ้มทองคำทั้งพระองค์ ถวายนามว่าพระศรีสรรเพชญ์ ประดิษฐานไว้ในพระวิหารใหญ่หลังกลาง ครั้นเมื่อเสียกรุง พม่าข้าศึกเอาไฟสุมลอกทองคำพระพุทธรูปไปหมด ภายหลังผนังพระวิหารพังทับองค์พระก็ชำรุดแตกแยกร้าวราน ในรัชกาลที่ ๑ โปรดให้อัญเชิญลงไปกรุงเทพฯ จะทรงปฏิสังขรณ์ก็เหลือกำลังที่จะให้ดีได้ ด้วบยับเยินมาก จึงเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์ศรีสรรเพชญ์วัดพระเชตุพน

พระเจดีย์รายรอบในวัดนั้น ก็คงจะเป็นที่บรรจุพระอัฏฐิเจ้านายไว้ทุกองค์ ที่หลังพระระเบียงด้านตะวันตกมีมณฑปจตุรมุข ตามมุขทั้ง ๔ ประดิษฐานพระปรางค์ กลางมณฑปก่อเป็นชั้นเหมือนพระเจดีย์และมีช่องตามชั้น เข้าใจว่าสำหรับบรรจุพระอัฐิด้วย ในตอนหลังที่จะสร้างพระเจดีย์เต็มหมดจะก่ออีกไม่ได้ จึงเชิญไปรวมบรรจุไว้ในมณฑปนั้น

ที่คิดว่าพระเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์จะมีพระอัฐิทั่วทุกๆองค์นั้น ก็ด้วยหลายปีมาแล้วเห็นพระเจดีย์องค์หนึ่งเป็นพระเจดีย์ขนาดเล็กอยู่ในวัดด้านตะวันตก เจดีย์องค์นี้หักพังทำลายลงไปถึงฐานที่พื้นดิน จึงลองขุดดูก็ได้พบโกศดีบุกปิดทองบรรจุอัฐิเล็กๆ เข้าใจว่าเป็นพระอัฐิเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ ในตรุที่ตั้งโกศมีเบี้ยจั่นวางเรียงรายหลายสิบเบี้ยด้วย

ที่พระวิหารใหญ่มีท้ายจรณัม สำหรับเชิญพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดิน และพระอัฐิเจ้านายเข้าไปประดิษฐานไว้ แต่บางท่านเห็นว่าจะเป็นแต่เชิญเอาไปไว้ชั่วคราว เมื่อสร้างพระเจดีย์แล้วก็คงจะเชิญเข้าบรรจุไว้ในพระเจดีย์หมด หลังวัดพระศรีสรรเพชญ์ออกไปมีตึกหลังหนึ่ง รูปทรงสัณฐานคล้ายโบสถ์ กรมขุนราชสีห์ฯลงไว้ในแผนที่ของท่านว่าชื่อวัดระฆัง แต่เมื่อตรวจตราดูให้ละเอียดแล้วก็เห็นได้ว่า ที่นั้นไม่มีเค้ามูลเป็นวัดเลย ด้วยมีแต่ตึกหลังเดียว เจดีย์หรือฐานเสมาและสิ่งของอื่นหามีไม่ ชาวบ้านที่สูงอายุเล่าต่อกันมาว่า เป็นที่ประทับของเจ้านายทรงผนวช คิดดูก็น่าจะจริงเพราะอยู่ใกล้วัง

ที่ข้างกำแพงวัดพระศรีสรรเพชญ์ด้านใต้ มีพระวิหารใหญ่ประดิษฐานพระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐเป็นแกนข้างนอกหุ้มทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๔ วาเศษ พระมงคลบพิตรองค์นี้เดิมว่าอยู่ออกมาทางทิศตะวันออก ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม เมื่อจุลศักราช ๙๖๕ ปี โปรดให้ชักมาไว้ในทิศตะวัตตก คือที่ประดิษฐานอยู่เดี๋ยวนี้ และโปรดให้ก่อพระมณฑปสรวมไว้ด้วย ถึงแผ่นดินพระพุทธเจ้าเสือ เมื่อจุลศักราช ๑๐๖๒ ปี อสนีบาตรตกต้องยอดมณฑป ติดเป็นเพลิงไหม้เครื่องบนโทรมลงมาต้องพระเศียรพระพุทธรูปหักสบั้นตกลง ณ พื้นมณฑป จึงโปรดให้ช่างจัดการรื้อและก่อสร้างขึ้นใหม่ แปลงเป็นพระมหาวิหาร แต่เห็นจะไม่ทันสำเร็จ มาในแผ่นดินพระบรมโกศจึงปรากฏว่าไดทรงปฏิสังขรณ์ และยกพระเสียรพระพุทธรูปขึ้นต่อกับพระองค์อีก พระมงคลบพิตรองค์นี้มีอยู่เฉพาะแต่พระวิหาร ในกฎมนเทียรบาลเรียกศาลาพระมงคลบพิตร หาใช่เป็นวัดวาอารามไม่

พระอารามหลวง ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์ และที่มีชื่อมาในพงศาวดาร

๑. วัดพระราม สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถทรงสร้างในที่ถวายพระเพลิงพระบรมสศพสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) อยู่ต่อมุมพระราชวังด้านหน้าข้างใต้ ในทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาว่า พระเทพกวีเป็นเจ้าอาวาส

๒. วัดมหาธาตุ ซึ่งสมเด็จพระราเมศวรทรงสร้างในที่พระสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ อยู่ตรงหน้าพระราชวังด้านตะวันออก ถัดเชิงสะพานถ่านฟากถนนข้างใต้ สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี เจ้าคณะคามวาสีฝ่ายซ้าย สถิตเป็นประธานสงฆ์

๓. วัดราชบุรณ สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๒ ทรงสร้างในที่พระราชทานเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยาเจ้ายี่พระยา อยู่ฟากถนนต่อเชิงสะพานถ่านด้านข้างเหนือ ตรงกับวัดมหาธาตุ เจ้าอาวาสจะเป็นตำแหน่งไรไม่ได้ชื่อ

๔. วัดราชประดิษฐาน ซึ่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ(คือพระเทียรราชา) ประทับอยู่ในเวลาทรงผนวชนั้น อยู่ริมปากคลองประตูข้าวเปลือกฝั่งตะวันตก พระพรหมมุนีเป็นเจ้าอาวาส

๕. วัดวังชัย ซึ่งเป็นวังเดิมของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประทับอยู่แต่ก่อนทรงผนวช อยู่ริมพระนครด้านตะวันตกเฉียงใต้ พระนิกรมเป็นเจ้าอาวาส

๖. วัดสบสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พระราชทางเพลิงพระสุริโยทัยในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงสร้างขึ้นเป็นวัดนั้น อยู่มุมพระนครด้านตะวันตกข้างเหนือ คือในที่ซึ่งเป็นโรงทหารทุกวันนี้ ในทำเนียบสมณศักดิ์ ลงรวมเรียกว่าวัดสวนหลวงสบสวรรค์ พระธรรมเจดีย์เป็นเจ้าอาวาส เห็นพระธรรมเจดีย์จะปกครองอยู่ทั้ง ๒ วัด

๗. วัดวรเชษฐ์ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงสร้างถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อยู่หลังวัดวรโพธิ พ้นฝั่งคลองท่อฟากตะวันตก พระอริยวงศ์มนีเป็นเจ้าอาวาส

๘. วัดบรมพุทธาราม ซึ่งเป็นบ้านเดิมของพระเพทราชา อยู่ที่ป่าตองริมถนนฟากตะวันออก พระญาณสมโพธิ์เป็นเจ้าอาวาส

พระอารามนอกพระนคร


๙. วัดพุทไธสวรรย์ สมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๑ (อู่ทอง) ทรงสร้างขึ้นในที่ตำบลเวียงเหล็ก ซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาประทับ เมื่อเสด็จลงมาสร้างกรุง อยู่ริมแม่น้ำด้านใต้พระนครฟากตะวันตก พระพุทธโฆษาจารย์เป็นเจ้าอาวาส

๑๐. วัดภูเขาทอง พงศาวดารเหนือว่าเดิมเป็นของพระนเรศวร หงสาสร้างแต่พระเจดีย์ไว้ มาแผ่นดินสมเด็จสมเด็จพระราเมศวรทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระอาราม อยู่กลางทุ่งในทิศตะวันตกเฉียงเหนือแห่งพระนคร

๑๑. วัดมเหยงคณ์ เป็นวัดเดิมแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๒ กับพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์ อยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเก่าฟากตะวันออก พระธรรมกิจเป็นเจ้าอาวาส

๑๒. วัดชัยวัฒนาราม พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างในที่บ้านพระพันปีหลวง อยู่ริมแม่น้ำด้านใต้ฟากตะวันตก ตำแหน่งเจ้าอาวาสเดิมชื่อพระอชิตเถร ภายหลังเปลี่ยนเป็นพระวิเชียรเถร

๑๓. วัดชุมพลนิกายาราม พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้นที่เกาะบางปะอิน ใกล้กับพระราชนิเวศน์ที่ประทับ แต่เจ้าอาวาสครั้งกรุงเก่าจะเป็นตำแหน่งใดไม่ได้ชื่อ

๑๔. วัดพระยาแมน พระเพทราชาทรงปฏิสังขรณ์ถวายพระอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ทำนายพระลักษณะมาแต่เดิม อยู่ในครองสระบัว พระศรีสัจญาณมุนีเป็นเจ้าอาวาส

๑๕. วัดกุฎีดาว เป็นวัดครั้งกรุงศรีอยุธยา พระบรมโกศครั้งเมื่อเป็นกรมพระราชวังบวรทรงปฏิสังขรณ์ อยู่ฟากตะวันออกแถวหน้าสถานีรถไฟ แต่เยื้องไปข้างเหนือ พระเทพมุนีเป็นเจ้าอาวาส


ส่วนวัดราษฎรก็มีสลับซับซ้อนรายเรียงกันไป เกือบจะไม่มีผู้ใดรู้จำนวนจริงได้ ว่ามีเท่าใดทั้งหมดเมือง เพราะเหตุวัดเหล่านั้นหักพังทำลายเป็นโคก และอยู่ในป่ารกเสียมาก การสร้างวัดของกรุงเก่าเป็นที่นิยมสร้างขึ้นสำหรับไว้อัฐิในวงศ์ตระกูล เพราะธรรมเนียมครั้งนั้นใช้เก็บอัฐิไว้ทำบุญที่วัด หาได้เก็บไว้กับบ้านเรือนเหมือนดังทุกวันนี้ไม่ จึงเป็นว่าผู้ใดมีกำลังก็ต้องสร้างวัดไว้สำหรับตระกูลนั้น คงจะเป็นด้วยความข้อนี้ จึงมีคำปรับปราเล่าต่อกันมาว่า ครั้งกรุงเก่าคนเป็นเศรษฐีมีเงินมากถึงสร้างวัดให้บุตรเล่น ถ้าบุตรผู้ใดไปเล่นวัดผู้อื่นก็เป็นที่อับอาย คำที่เล่ามานี้ เห็นจะได้มาโดยเข้าใจความประสงค์ของคนชั้นเดิม และวัดในครั้งนั้นเข้าใจว่าจะร้างแล้วมาก ถ้าจะเป็นวัดดีทั้งหมดก็เห็นจะไม่มีจำนวนพระสงฆ์พอที่จะรักษาวัด คงเป็นวัดดีบ้าง ร้างบ้าง มาแต่ครั้งโน้นแล้ว
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:15:47:52 น.  

 
 
 
ตอน ๓ แม่น้ำลำคลองนอกพระนคร

แม่น้ำลพบุรี

แม่น้ำที่ไหลผ่านลงมาทางกรุงเก่า แรกเดิมคงจะมีแต่ลำน้ำลพบุรีสายเดียว ถึงลำน้ำลพบุรีเองก็คงจะไม่ได้มาทางหน้าวัดบรมวงศ์ลงที่แยกวัดตองปุ ซึ่งเป็นทางขึ้นล่องอยู่ทุกวันนี้ ลำน้ำเดิมคงจะลงลำน้ำบ้านม่วง แยกตรงหน้าวัดเข้าดินมาโพธิ์สามต้น อ้อมไปข้างวัดช้าง วัดสามประตู วัดตูม วัดศาสดา มาเหนือพะเนียดลงหน้าวัดสามวิหาร วัดแม่นางปลื้ม ไปข้างเกาะกรุงด้านเหนือ วงลงไปด้านตะวันตกด้านใต้ถึงป้อมเพ็ชรบางกะจะ

ภายหลังมาคงจะได้ขุดคลองลัดตอนบน ตั้งแต่วัดดาวคะนองลงมาบรรจบแม่น้ำที่เหนือพะเนียด เรียกว่าบางขวด เดิมก็คงจะเป็นคลองเล็ก ภายหลังน้ำเดินแรงจัดกว้างขึ้น แม่น้ำอ้อมเดิมทางวัดช้าง วัดสามประตู วัดตูม วัศาสดาก็ดอนเขินไป ลำน้ำข้างเมืองด้านเหนือ ซึ่งเรียกว่าคลองเมืองทุกวันนี้ ความจริงเป็นลำน้ำสายลพบุรีหาใช่คลองขุดใหม่ไม่ ถ้าจะตรวจตราให้ละเอียดแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าตลิ่งเดี๋ยวนี้เป็นของงอกใหม่ ด้วยไม่ได้มีต้นไม้ใหญ่เลย และวัดที่อยู่ในฝั่งฟากข้างเหนือลำคลองเมืองนั้น ตอนเหนือตั้งแต่วัดแม่นางปลื้ม วัดกุฎีทอง ตลอดไปจนวัดศาลาปูน โบสถ์วิหารตั้งอยู่ห่างจากแม่น้ำเดี๋ยวนี้เข้าไปมาก แต่ตอมใต้วัดขุนญวนออกไปตลิ่งฟากตะวันตกข้างเมืองทางใต้งอกออกไปมาก

ลำน้ำสายนี้ ตั้งแต่วัดแม่นางปลื้มไปจนป้อมเพ็ชรเป็นทางอ้อม ภายหลังเมื่อสร้างกรุงแล้ว ขุดคูขื่อหน้าแยกจากแม่น้ำที่เหนือป้อมมหาชัย ลงไปบรรจบป้อมเพ็ชร เห็นสายน้ำจะพัดลงทางคูขื่อหน้าแรง เกิดกลัวแม่น้ำข้างเมืองจะตื้น จึงทำรอทำนบกั้นไว้ที่ปากคูตรงหน้าป้อมมหาชัย (คือที่ตลาดหัวรอเดี๋ยวนี้) เพื่อจะกันให้น้ำไหลเข้าไปทางข้างเมืองให้แรง สำหรับจะได้กัดให้ลำน้ำลึกอยู่เสมอ

คลองสระบัวที่ขุดแยกจากแม่น้ำข้างเมือง ที่เหนือขนานน้ำประจำท่า ไปออกลำน้ำเดิมที่พะเนียดนั้นคิดว่า คงจะขุดในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อครั้งโปรดให้ขยายกำแพงพระนครด้านตะวันออกไปถึงริมน้ำ ซึ่งเลิกพะเนียดวัดซองย้ายไปตั้งที่ทะเลหญ้า คลองนี้จะสำหรับเป็นทางเสด็จออกไปพะเนียด


ลำน้ำแยกใหม่

ต่อมาเกิดมีสายน้ำแยกลงที่หน้าวัดเขาดิน มาหน้าวัดบรมวงศ์ ลงวัดตองปุ ทางนี้เป็นทางตรงน้ำไหลเชี่ยวจัด ก็ทำให้แม่น้ำเดิมทางบ้านม่วงโพธิ์สามต้น ซึ่งลงมาทางหน้าวัดสามวิหารตื้นขึ้น เมื่อกรุงเก่าจลาจลด้วยพม่าข้าศึก รอทำนบก็จะพังทำลายน้ำไหลไปทางข้างเมืองอ่อน ลำน้ำข้างเมืองด้านเหนือจึงตื้น ตลิ่งก็งอกออกมาทำให้เป็นที่แคบ จึงเห็นกันว่าเป็นคลองไป

ซึ่งเห็นว่าแม่น้ำตอนใต้วัดเข้าดินมาหน้าวัดบรมวงศ์เป็นแม่น้ำใหม่นั้น ก็ด้วยเหตุที่ได้พบหลัฐานในจดหมายเหตุโบราณ มีพระราชพงศาวดารและโคลงนิราศตามเสด็จนครสวรรค์ซึ่งแต่งแต่กรุงเก่ายังปกติ กล่าวแต่ทางลำน้ำโพธิ์สามต้นทางเดียว เมื่อครั้งพม่ามาตีกรุงในแผ่นดินพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ พม่าก็เอากองทัพมาตั้งไว้ที่โพธิ์สามต้น ถ้าหากมีแม่น้ำสายที่เป็นทางขึ้นล่องอยู่(อย่าง)ทุกวันนี้แล้ว เหตุใดพม่าจะไม่เอากองทัพไปตั้งปิดทางไว้บ้าง และทั้งยังมีหลักฐานที่จะประกอบเนื้อความในหนังสือได้อีกว่า คือว่าตาม ๒ ฝั่งทางใหม่นี้ จะได้มีวัดวาอารามซึ่งเป็นฝีมือโบราณแต่สักวัดเดียวก็หามิได้ ถึงวัดบรมวงศ์ ซึ่งเดิมชื่อวัดทะเลหญ้า เป็นวัดโบราณก็เป็นวัดของแม่น้ำสายเดิม จึงเห็นว่าแม่น้ำสายนี้คงจะเกิดมีขึ้นใน ๑๐๐ ปีเศษเท่านั้น


ลำน้ำบ้านใหม่

แม่น้ำอีกสายหนึ่งแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางแก้ว ลงบางนางร้า มาทุ่งบ้านนนทรีออกปากน้ำพุทเลา บรรจบแม่น้ำสายที่มาจากแม่น้ำลพบุรีที่มุมพระนครด้านตะวันตก ซึ่งเรียกว่าหัวเเหลมนั้น คงจะได้ขุดคลองหัวสะพานแยกจากแม่น้ำสานนี้ไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่เหนือกบเจา ใช้เป็นทางลัดสำหรับไปป่าโมกข์หรือบ้านเจ้าเจ็ดปากไห่ ปากคลองข้างแม่น้ำใต้บ้างใหม่ มะขามหย่อง เรียกว่าขนอนปากคู

และเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดี(นันทบุเรง)ยกกองทัพเข้ามาติดกรุง ในแผ่นดินพระมหาธรรมราชา ได้ตั้งค่ายมั่นอยู ณ ที่นี้ มังมอกพระราชโอรสพระเจ้าหงสาวดีกับพระยาราม ตั้งอยู่ตำบลมะขามหย่อง พระยานครตั้งปากน้ำพุทเลา นันทสุตั้งขนอนบางลาง พระมหาอุปราชากับพระยาตองอูยกมาทางลพบุรีและสระบุรี เข้าตั้งมั่นตำบลชายเคือง ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า เสด็จพระราชดำเนินออกไปตั้งทัพชัย ณ วัดช่องลม (ซึ่งเป็นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงรับพระป่าเลไลย์มากระทำพุทธสมโภช ที่พลับพลาเกาะลอย เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๑๒๕ นั้น) และในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้ามีพระราชดำรัสให้เอาปืนพระกาฬมฤตยูราช ลงสำเภาขึ้นไปยิงค่ายพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีเลิกทัพไปตั้งอยู่ ณ ป่าโมกข์

คลองหัวสะพานนั้นครั้งเดิมคงจะลึกและกว้างมากจึงมีเกาะ เรียกว่าเกาะพราหมณ์ คงจะได้มีพวกพราหมณ์มาตั้งบ้านอยู่ที่เกาะนั้น และเมื่อจุลศักราช ๙๐๖ ปี พระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระอนุชาพระยอดฟ้า และพระราชภาคินัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งทรงเลี้ยงไว้เป็นขบถยกพวกเข้าไปในพระราชวังได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่ทันรู้พระองค์ ลงเรือพระที่นั่งหนีขึ้นไปเกาะมหาพราหมณ์

ต่อมาในราว ๕๐ - ๖๐ ปีล่วงมานี้ มีทางน้ำเกิดขึ้นใหม่ แยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ข้างวัดจุฬา ตำบลบ้านกุ่ม สายน้ำพัดแรงจัดกัดคลองลึกกว้าง มาบรรจบแม่น้ำบ้านใหม่มะขามหย่องเป็นทางตรง ตั้งแต่นั้นมาน้ำในคลองหัวสะพานก็ไหลอ่อน ทำให้คลองตื้นและแคบเข้ากว่าเดิมมาก


ลำน้ำสัก

แม่น้ำสัก ชั้นเดิมคิดว่าคงจะลงมาเพียงเสมอบ้านอรัญญิก แล้วลงทางบ้านพระแก้วไปออกบ้านโพ ภายหลังมาคงจะขุดต่อจากบ้านอรัญญิกมาบ้านศาลาเกวียน ออกตลองปากข้าวสารตรงหน้าวัดสุวรรณกดารามข้าม เมื่อมีแม่น้ำเป็น ๒ สายเช่นนี้จึงพาให้มีความคิดขุดคลองแยกจากแม่น้ำใหม่ที่บ้านหันตราฝั่งตะวันออก ไปบรรจบแม่น้ำเก่าที่บ้านช่องสะเดา เรียกกันว่าคลองบ้านข้าวเม่าหันตรา เป็นทางไปมาระหว่าง ๒ แม่น้ำน้น ทุ่งชายเคืองที่พระมหาอุปราชาหงสาวดีมาตั้งทัพ ซึ่งสมเด็จพระนเศวรเป็นเจ้ากับสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกทัพเรือออกไปตีนั้น ก็อยู่ในคลองนี้ ต่อมาคงจะได้ขุดต่อจากบ้านศาลาเกวียนมาออกข้างวัดมณฑป ลงมาบรรจบคูขื่อหน้า เมื่อคูขื่อหน้าได้รับสายน้ำทั้งแควแม่น้ำสักและแควลพบุรี เป็น ๒ สาย รวมมาลงทางเดียวดังนี้ คูขื่อหน้าจึงกว้างลึก จนบัดนี้พากันเห็นว่าเป็นแม่น้ำเดิม เลยลืมนึกถึงที่เคยเป็นคูมาแต่ก่อนนั้นเสีย
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:15:48:48 น.  

 
 
 

ตอน ๔ การปกครองท้องที่

แบ่งแขวง

การปกครองท้องที่ในกำแพงพระนคร แบ่งเป็น ๒ หน้าที่ คือบริเวณพระราชวังเห็นหน้าที่กรมวัง พ้นนั้นออกไปจนหมดแขวงกรุงเป็นหน้าที่กรมพระนครบาล การแบ่งเขตในกำแพงพระนคร เหอกลองเป็นศูนย์กลาง คือส่วนหนึ่งตั้งแต่หอกลองถึงเจ้าไสยและตลาดยอด แขวงขุนธรณีบาล คิดว่าเป็นท้องที่แขวงตะวันตกไปถึงเฉียงใต้ ตั้งแต่หอกลองถึงป่ามะพร้าว ท่าชี ถึงบางเอียน แขวงขุนโลกบาล คิดว่าจะเป็นแขวงตะวันตกเฉียงเหนือ ตั้งแต่หอกลองไปถึงประตูชันและเจ้าไสย แขวงขุนธราบาล คิดว่าจะเป็นแขวงตะวันออกเฉีบงเหนือ แต่หอกลองมาถึงบางเอียนมาถึงจวนวัง แขวงขุนนรบาล คิดว่าจะเป็นแขวงตะวันออกเฉียงใต้

ท้องที่นอกกำแพงพระนครตามจำนวนที่มีมา เรียกว่าแขวงทั้ง ๔ แต่เมื่ออกชื่อนายแขวงมีแต่ ๓ ชื่อ คือ ขุนนคร ขุนอุไทย ขุนเสนา เป็นขุนแขวง แขวงขุนนครคงจะได้ว่าตั้งแต่ในลุ่มลำน้ำสักกับลำน้ำลพบุรีไปจดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นท้องที่แขวงเหนือ แขวงขุนอุไทยคงจะได้ว่าแต่ทิศเหนือต่อจากแขวงขุนนคร ทางใต้จดแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นท้องที่แขวงตะวันออก แขวงขุนเสนา คงจะได้ว่าในทิศตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากแขวงขุนอุไทยทิศตะวันออกเฉียงเหนือต่อแขวงขุนนคร เป็นท้องที่แขวงตะวันตก

แต่ให้สงสัยว่าจะมีนายแขวงว่าการท้องที่รอบกรุงหรือรอบพระนครอีกสักแขวงหนึ่ง แต่จะเป็นตำแหน่งไม่ได้พบที่มา ถ้ามีรอบกรุงอีกแขวงหนึ่งก็เป็น ๔ ครบตามจำนวนที่บอกไว้ในหนังสือโบราณ ต่อมาเมื่อประดิษฐานกนุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุทธยา และยกกรุงเก่าเป็นเมืองจัตวาแล้ว ชื่อนายแขวงชั้นต้นก็เห็นจะยังคงอยู่ ภายหลังคงจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงตัวกรมการ คือเอาคนตำแหน่งอื่นไปว่าแขวง เช่นเอาหลวงพลไปเป็นนายแขวงแทนขุนเสนา จะเรียกว่าหลวงพลนายแขวงขุนเสนาก็ขัดหู แต่ครั้นจะตั้งชื่อท้องที่ขึ้นใหม่ ก็คงจะเห็นกันว่าทำให้เข้าใจยาก เพราะราษฎรรู้จักชื่อขุนแขวงเดิมเคยเรียกมาช้านานแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเปลี่ยนชื่อตำแหน่งมาเป็นชื่อท้องที่ เรียกว่าแขวงนคร แขวงอุไทย แขวงเสนา กรมการตำแหน่งใดได้รับหน้าที่ก็เรียกว่านายแขวง และในขั้นนี้ได้ความว่ามีแขวงรอบกรุงขึ้นด้วย ว่าการเฉพาะแต่ในเกาะกรุงเท่านั้น

ต่อมาว่าเป็นผู้รักษากรุงในรัชกาลที่ ๓ แบ่งแขวงนครซีกซ้ายเป็นนครใหญ่ เอาซีกขวาเป็นนครน้อย แบ่งแขวงเสนาตอนเหนือเป็นเสนาใหญ่ ตอนใตเป็นเสนาน้อย แต่แขวงอุไทยคงตามเดิม รวมแขวงในชั้นนั้นมี ๖ อนึ่งแขวงรอบกรุงแต่เดิม ว่าอยู่แต่ในเกาะพระนคร ผลประโยชน์ที่ได้ของนายแขวงน้อยนัก ไม่พอเป็นกำลังราชการ ผู้รักษากรุงจึงได้ตัดเอาแขวงนคร แขวงเสนา แขวงอุไทย ที่อยู่ใกล้กรุงยกเป็นเขตแขวงรอบกรุง ขยายให้ท้องที่ใหญ่ขึ้น

ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯให้พระยาไชยวิชิต(สิงโต) เป็นผู้รักษากรุง ตอนใต้เป็นอุไทยน้อย ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๑๙ โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยน้อยเรียกเป็น อำเภอพระราชวัง

และเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๑๔ เป็นเวลาเริ่มจัดการปกครองท้องที่ตามระเบียบ ซึ่งภายหลังได้ตราเป็นพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ขึ้นนั้น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงพระรดำริเห็นว่าแขวงนครใหญ่ นครน้อย เสนาใหญ่ เสนาน้อย ผู้คนพลเมืองมากและท้องที่ก็กว้างขวาง เกินความสามารถของกรมการนายแขวงที่จะตรวจตราให้ทั่วถึง จึงมีรับสั่งให้ผู้รักษากรุงแบ่งแขวงนครใหญ่ข้างเหนือ คงเป็นนครใหญ่ แต่เปลี่ยนเรียกท้องที่เป็นอำเภอเรียกอำเภอนครใหญ่ แบ่งเขตข้างใต้เรียกเรียกว่าอำเภอนครใน แบ่งแขวงนครน้อยตอนเหนือเรียกอำเภอนครน้อย ตอนใต้เรียกอำเภอนครกลาง ต่อมาเมื่อรัตนโกสินทรศก ๑๒๒ โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนชื่ออำเภอนครกลาง เป็นอำเภอนครหลวง เพราะเหตุพระนครหลวงที่พระเจ้าปราสาททองทรงสร้างไว้อยู่ในท้องที่นี้ และแบ่งแขวงเสนาใหญ่ตอนข้างเหนือ เป็นอำเภอเสนาใหญ่ ตอนใต้เป็นอำเภอเสนากลาง แบ่งแขวงเสนาน้อยตอนเหนือกับเขตแขวงเสนาใหญ่ตอนตะวันออก เป็นอำเภอเสนาใน แขวงเสนาน้อยตอนใต คงเป็นอำเภอเสนาน้อย รวมท้องที่ในกรุงเก่า ๑๑ อำเภอ

อนึ่งในทุ่งหลวงหลังอำเภอพระราชวัง และอำเภออุไทยใหญ่ ซึ่งเป็นป่าพงสำหรับฝูงช้างอาศัยนั้น บริษัทขุดคลองและคูนาสยาม ขุดคลองเข้าไปถึง มีราษฎรไปตั้งทำไร่นาในทุ่งหลวงมากขึ้น และเป็นทางไกลที่กรมการอำเภออุไทยใหญ่จะตรวตรารักษาการ มาในรัตนโกสินทรศก ๑๒๖ นี้ จึงโปรดฯให้แบ่งท้องที่อำเภอพระราชวังด้านตะวันออก ท้องที่อำเภออุไทยใหญ่ด้านใต้ ยกขึ้นเป็นอำเภอ เรียกอำเภออุไทยน้อย รวมในเวลานี้(ร.ศ. ๑๑๖)ท้องที่ในกรุงเก่าเป็น ๑๒ อำเภอ


ขนอนหลวง

ขนอนหลวง คือด่านสำหรับคอยตรวตราสิ่งของต้องห้ามและผู้คนแปลกปลอม ซึ่งจะไปมาในพระนครแต่ครั้งกรุงเก่ายังเป็นปกตินั้น ข้างใต้ตั้งที่ข้างวัดโปรดสัตว์แห่งหนึ่ง ที่คลองบ้านกรดซึ่งเป็นทางแยกจากคลองบ้านโพ เป็นทางไปถึงกรุงแห่งหนึ่ง ตะวันออกคิดว่าจะมีในแถวบ้านข้างเม่า ข้างเหนือคงจะมีที่ลำน้ำสักตอนบ้านศาลาเกวียน ทางลำน้ำโพธิ์สามต้นอยู่ที่บางลาน ทางลำน้ำบ้านใหม่มะขามหย่ง ตั้งที่ปากคลองหัวสะพาน เรียกขนอนปากคู
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:15:49:52 น.  

 
 
 
ตอนที่ ๕ สำมะโนครัวพลเมือง

พลเมือง


จำนวนคนพลเมืองแต่ครั้งกรุงเก่ายังปกติ สำมะโนครัวเดิมจะมีเท่าใดก็ไม่มีจดหมายเหตุ แต่ได้พบในหนังสือมองสิเออร์ลาลุแบร์ซึ่งเป็นราชทูตกรุงฝรั่งเศส เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชลงไว้ มีคนแสนเก้าหมื่น มาในศก ๑๒๖ นี้ได้สำรวจสำมะโนครัวพลเมืองซึ่งใกล้ต่อความแน่นอนที่สุด ได้จำนวนคน ๑๙๓,๒๗๒ คน เมื่อจะคิดเทียบกับความเจริญของบ้านเมืองในสมัยก่อนกับเวลานี้ แม้แต่กรุงเก่าเป็นหัวเมืองแล้วก็ดี ยังมีพลเมืองมากกว่าครั้งกรุงเก่าเป็นพระนครราชธานีถึง ๓,๒๗๒ คน

ภูมิลำเนาบ้านเรือนของพลเมืองในเวลาโน้นคงจะอยู่ในที่ริมแม่น้ำลำคลอง และที่ใกล้กำแพงพระนครทั้งภายในและภายนอก แต่กลางเมืองเห็นจะเป็นที่ว่างเปล่า หรือถึงจะมีบ้างก็คงน้อย สังเกตดูความในพระราชพงศาวดาร ถ้าเกิดทัพศึกคราวใดก็ต้องกวาดต้อนราษฎรในแขวงจังหวัดทั้ง ๔ เข้าไปไว้ในพระนคร ถ้าบ้านเรือนแน่นหนาฝาคั่งอย่างกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยาในปัจจุบันนี้ เห็นจะกวาดต้อนเอาผู้คนข้างนอกเข้ามาไว้ไม่ได้ มีพะยานที่ได้เห็นประจักษ์ตาในเวลาที่ล่วงมาสัก ๑๐ วันนี้ กรมยุทธนาธิการระดมทหาร ๑๐,๐๐๐ เข้ามารับเสด็จพระราชดำเนินในกรุงเทพฯ จะหาที่ให้ทหารพักในกำแพงพระนครยังไม่ได้ ต้องไปปลูกโรงอาศัยอยู่กลางทุ่งปทุมวัน

อนึ่งบ้านเรือนพลเมืองในครั้งนั้น สังเกตดูตามพระราชพงศาวดารของชาติและหนังสือที่คนต่างประเทศแต่งไว้ว่า บ้านเรือนคนพื้นเมืองทำด้วยเครื่องไม้ (แต่ท่านผู้แต่งเห็นจะไม่ได้เห็นตึกสี่เหลี่ยมที่พระเพทราชาพระราชทานเจ้าพระยาสุรสงคราม กับตึกเจ้าพระยาคลัง ที่ป่าตะกั่ว จึงว่ามีแต่เรือนไม้) แต่ชาวยุโรป จีน แขกมัวร์(หมายความว่าพวกนับถือศาสนามหมัด) ชาวอาระเบียนคงจะเป็นชาติเปอร์เซียน (ไทยเรียกโครส่าน ตึกหลังหนึ่งอยู่ในวัดเสาธงทองเมืองลพบุรี หนังสือเดิมเขียนบอกว่า ตึกคชสารนั้นทีจะผิด ด้วยตึกหลังนั้นเป็นที่พักราชทูตเปอร์เซีย เดิมคงเรียก ตึกโครส่าน แต่นานมาแปลกันไม่ออกก็หันลงเป็นคชสาร) บ้านเรือนก่อเป็นตึกบ้าง แต่พวกญี่ปุ่นหากล่าวไม่ เห็นจะเป็นเรือนไม้ด้วยไม่เคยเห็นรากตึก บ้านเรือนตึกรามของชาวยุโรปซึ่งปรากฏในเวลานั้นว่า มีโปรตุเกตวิลันดากับญี่ปุ่น อยู่ที่ริมแม่น้ำตำบลปากน้ำแม่เบี้ยใต้ป้อมเพ็ชร์

แต่คนฝรั่งเศสเกี่ยวข้องกับรั้วงานราชการ เป็นชาติที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดปรานจึงทรงพระกรุณาพระราชทานที่ให้อยู่ใกล้พระนคร และพระราชทานพระราชานุญาตให้สร้างวัดลงในที่ปากคลองตะเคียนข้างเหนือ ซึ่งยังมีทรากติดต่อมาจนปัจจุบันนี้ พวกอังกฤษและชาติอื่นจะอยู่ที่ใดไม่ได้ความ แต่เห็นว่าจะอยู่แถวเดียวกับพวกวิลันดากระมัง ถ้าคิดเทียบบ้านเรือนผู้คนพลเมืองแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ ก็จะมีผิดกัน คือแต่เดิมบ้านเรือนผู้คนในจังหวัดพระนครมาก แต่แขวงนอกพระนครบ้านเรือนและคนคงจะน้อย ในปัจจุบันนี้ในพระนครร้างเป็นป่า มีคนแต่ริมลำน้ำเห็นจะน้อยกว่าครั้งก่อน แต่ท้องที่อำเภอต่างๆผู้คนพลเมืองมากขึ้น คงจะแปลกกันแต่เท่านี้


ตอนที่ ๖ ขุดวัง

รื้ออิฐกรุงเก่า


เมื่อกรุงเก่าร้างแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเป็นปฐมบรมราชาธิราชประดิษฐานกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา จะทรงสร้างพระนครใหม่ (คือกรุงเทพมหานครเดี๋ยวนี้) โปรดให้รื้ออิฐกำแพงกรุงเก่าไปใช้ในการสร้างกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ผู้ถูกเกณฑ์คงจะไม่รื้อแต่เฉพาะกำแพงป้อมปราการ คงจะรื้อเอาอิฐปราสาทราชฐานตำหนักน้อยใหญ่ห้วยคลังลงไปหมดแต่ในครั้งนั้น

และการที่โปรดให้รื้อป้อมกำแพงกรุงเก่าเสียนั้น ก็คงจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเกรงไปว่า ถ้าทิ้งไว้เกิดมีผีบุญเข้าไปทำบ้าแผลงฤทธิ์อยู่ในเมือง ก็จะต้องปราบปรามทำให้ต้องเสียชีวิตผู้คยและป่วยการเวลา ถ้ารื้อเอาออกเสีย ก็จะได้อิฐมาใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างพระนคร ทุ่นจำนวนที่จะต้องทำใหม่ได้อีกมาก และถึงแม้จะมีข้าศึกศัตรูเกิดขึ้นก็ไม่ต้องมีความวิตกเพราะอาจปราบปรามได้ง่าย ด้วยปราศจากที่กำบังแล้ว และที่พระราชวังตั้งแต่นั้นมาก็คงไม่มีสิ่งใดเหลือ และคงจะเป็นแต่โคกแต่เนินอิฐหักกากปูนทั่วไปทั้งวัง นานมาก็เกิดหญ้าและต้นไม้งอกขึ้นแล้วเหี่ยวแห้งตายทับถมอยู่บนกองอิฐหักกากปูนเกิดเป็นมูลดินขึ้นข้างบนอีกชั้นหนึ่ง ราษฎรเห็นเป็นที่ว่างก็พากันไปปลูกต้นไม้ทำสวนปกครองเป็นเจ้าของ ขุดคูเป็นร่องทำรั้วกั้นกันตามเขตเจ้าของที่ทำ ทำให้รากสถานที่ในพระราชวังยับย่อยทำลายลงไปอีก

และยังซ้ำเมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องพระราชประสงค์แลงมาก่อพระปรางค์ใหญ่ที่วัดสระเกศ (คือบรมบรรพตเดี๋ยวนี้) ที่บางแห่งที่ก่อด้วยแลงซึ่งยังเหลืออยู่สูงกว่าพื้นดอนมาจากถูกรื้อในคราวแรก ก็ถูกขุดรื้ออีกครั้งหนึ่งจึงเป็นอันที่จะเรียกได้ว่าเกือบสูญหมด


สร้างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระราชวังที่กรุงเก่าเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ควรจะให้มีที่ระลึกไว้ จึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมขุนสีหวิกรมเป็นแม่กอง เสด็จขึ้นไปทำปราสาทขนาดย่อม ก่อขึ้นบนโคกพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาท และได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงก่อพระฤกษ์ที่ปราสาทใหม่ ทรงพระราชดำริว่า เมื่อแล้วเสร็จจะได้จารึกพระนามสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ พระนครทวาราวดีศรีอยุธยาทุกพระองค์ ประดิษฐานไว้ในพระมหาปราสาท ให้เป็นที่เคารพแก่อาณาประชาราษฎรต่อไป แต่ปราสาทที่ก่อใหม่ยังหาทันสำเร็จไม่ก็พอสิ้นรัชกาล


ขุดวัง

ครั้นมาในรัตนโกสินทรศก ๑๒๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า ถึงรัตนโกสินทรศก ๑๒๖ เป็นปีที่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมาได้ ๔๐ พรรษา เสมอด้วยรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ ซึ่งยืนยาวกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่น เป็นเหตุให้ทรงพระปิติเต็มพระราชหฤทัย ที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระรามาธิบดีพระองค์ที่ ๒ กับสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชสมบัติในกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาทุกพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินกรุงธนบุรี และจะได้โปรดเกล้าฯให้จัดการพระราชพิธีรัชมงคลในพระราชวังโบราณกรุงเก่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ แล้วมีรับสั่งในพระยาโบราณบุรานุรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาล เป็นผู้ขุดพระราชวังให้ได้รูปลวดลายถึงระดับพื้นดินเดิม แล้วให้ปลูกพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาทและสถานที่บางแห่งตามรูปรากของเก่า

พระยาโบราณบุรานุรักษ์ จึงได้จัดนายงานคุมนักโทษเรือนจำมณฑลมาทำการในพระราชวัง เป็นทางไกลถึง ๘๐ เส้นเศษ เสียเวลาเดินไปมา ได้ทำการแต่น้อย จึงได้จัดสร้างกิ่งเรือนจำขึ้นที่ข้างจวนผู้รักษากรุงเดิม ตรงหน้าวัดธรรมิกราชซึ่งอยู่ใกล้ที่ทำงาน ส่วนตัวพระยาโบราณฯนั้น ได้มาตรวจสั่งการแล้วก็กลับไปมาเป็นเวลา และเห็นว่าการที่อยู่กับบ้านเรือนซึ่งเป็นทางไกลกับที่ทำงาน จะมาตรวจชี้แจงสั่งการก็ได้แต่เวลาที่เสร็จราชการที่ศาลว่าการมณฑลแล้ว หรือเวลาเช้าก่อนไปนั่งทำการที่มณฑล ได้เวลาแต่น้อย ถ้าไปนอนประจำอยู่กับที่ทำงานเช้าเย็นก็มีเวลาตรวจดูการ กลางวันก็มาสั่งราชการที่มณฑล ได้เวลาทั้ง ๒ ฝ่าย

ประการหนึ่งนักโทษที่ยกเข้าไปอยู่ที่กิ่งเรือนจำก็เป็นที่เปลี่ยว ด้วยบริเวณเหล่านั้นเป็นป่า ตำรวจภูธรกับผู้คุมซึ่งเป็นกองรักษาการก็ไม่มีกี่คน ถ้ามีหัวหน้าข้าราชการไปอยู่ในที่นั้นด้วยก็จะทำให้การควบคุมแข็งแรง และงานจะเปลืองขึ้นอีกมาก จึงได้ไปปลูกเรือนที่พักเครื่องไม้ไผ่หลังคามุงจาก อยู่ในกำแพงพระราชวังด้านหน้าตรงหลังป้อมท่าคั่น มีหลวงสุพรรณเขตร์ชโยดมพธำมะรงค์ กับหม่อมราชวงศ์เปรมพนักงานรักษาพระราชวังจันทร์เกษม นายจั่นผู้ช่วยพนักงานโยธาซึ่งเป็นนายด้านขุดวัง เข้าไปประจำอยู่ด้วย ที่พักหลังนี้ภายหลังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงวัง เสด็จขึ้นมาทรงตรวจการทำพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาท โปรดให้เรียกชื่อว่าโบราณศาลา

การขุดวังในชั้นแรกเป็นที่วิตกหนักในของผู้อำนวยการ ด้วยพระราชวังที่กรุงเก่า ตั้งแต่รกร้างและอิฐหักกากปูนมูลดินทับถมมากว่า ๑๐๐ ปีแล้ว ก็รู้กันได้แต่ว่า โคกนั้นเป็นพระที่นั่งองค์นั้นในบางองค์ แต่จะหาผู้รู้ว่าพระที่นั่งองค์ใดรูปลวดลายสัณฐานเป็นอย่างไร และมีอะไรต่อติดกับพระที่นั่งบ้างก็ไม่มีตัวที่จะชี้ ถ้าหากเดาขุดไปถูกของเก่าที่ยังเหลืออยู่เสียแม้แต่เล็กน้อยก็จะหาหลักฐานต่อไปอีกไม่ได้ จะกลายเป็นโทษไปยิ่งกว่าที่ไม่ได้ขุด จึงได้ตั้งใจระวังตรวจค้น ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมจะขุดลงในที่ใด ก็ได้พบรากแนวกำแพงผนังและพื้นระดับดินเดิมสมความประสงค์ทุกแห่ง ที่ซึ่งได้ขุดแล้วคราวนี้

พระวิหารสมเด็จ ขุดรอบองค์ลึก ๒ ศอกเศษจึงถึงพื้นเดิมพระที่นั่งองค์ขวาพระวิหารสมเด็จ ต้องขุด ๒ ศอกคืบจึงถึงพื้นแลเห็นรูปพระที่นั่งข้างซ้ายพระวิหารสมเด็จ ต้องขุด ๒ ศอกคืบ โรงช้างข้างพระวิหารสมเด็จขุดลึกแต่คืบเดียว โรงช้างข้างพระที่นั่งสรรเพ็ชญ์ขุดลึดศอกกำ พระที่นั่งสรรเพ็ชญ์มหาปราสาทต้องรื้อโครงอิฐที่กรมขุนราชสีห์ก่อขึ้นไว้บนโคก ซึ่งจวนจะพังแล้วนั้นลงและขุดลงไปอีก ๕ ศอกเศษ พระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ขุดชั้นบน ๓ ศอก ชั้นล่าง ๒ ศอกคืบ พระที่นั่งบรรยงก์รัตนาศน์ศอกเศษ พระที่นั่งทรงปืน ๒ ศอกเศษ พระที่นั่งจักรวรรดิขุดบนโคกถึงพื้นหลังฐาน ๒ ศอกเศษ จากหลังฐานถึงพื้นดิน ๓ ศอกเศษ พระราชมนเทีบรขุดบนโคกถึงพื้นบน ๒ ศอกคืบ จากพื้นบนถึงระดับพื้นดินศอกคืบ ช่องประตูและกำแพงวังชั้นในด้านหน้าและข้างเหนือข้างใต้ ๓ ศอกเศษ กำแพงวังชั้นนอกด้านหน้า ๒ ศอก ฐานสี่เหลี่ยมซึ่งเป็นที่ขับน้ำข้างสระล้อมพระที่นั่งบรรยงก์ ๕ ศอกเศษ และลานที่ว่างบางแห่งที่เป็นโคกสูง ก็ต้องขุดออกตั้งแต่คืบ ๑ ถึง ๒ ศอก และได้ถมร่องคูซึ่งราษฎรขุดคั่นเป็นคันเขตสวนก็หลายคู

อิฐหักกากปูนและดินที่ขุดจากพระราชวังในแปลงนี้ ได้เอาไปถมที่ชายตลิ่งริมน้ำ ตั้งแต่หน้าวัดธรรมิกราชถึงหลังวัดใหม่สูงจตั้งแต่ ๓ ศอกถึง ๕ ศอกเศษ กว้างตั้งแต่ ๑๐ วาถึง ๑๘ วา ยาว ๑๑ เส้น กว้างแต่ ๓ ถึง ๖ วา สูง ๔ ศอกถึง ๕ ศอกเศษ ยาว ๕ เส้น

วังที่จมอยู่นี้ เดิมมีบางคนคิดว่าเป็นด้วยดินงอกสูงขึ้น แต่ความจริงวังจมอยู่ในกองอิฐหักกากปูนที่รื้อทิ้งไว้ ซึ่งไม่ต้องการแล้ว มีดินดอนขึ้นแต่เล็กน้อย ถ้าจะประมาณถัวกันทั้งวัง อย่างมากใน ๑๓๙ ปีนี้ ที่ดินจะงอกขึ้นมาก็ไม่ถึงคืบ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:15:50:39 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com