กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ว่าด้วยตำนานการเดินทางของฝรั่งมาสู่สยาม และมูลเหตุที่รับเป็นไมตรี

อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง

ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ มีเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร คือที่ได้ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับโปรตุเกต เป็นทีแรกที่กรุงสยามจะได้เป็นไมตรีกับฝรั่ง เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๙๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ ตรงกับ ค.ศ. ๑๕๑๘

ตำนานเหตุการณ์ที่ฝรั่งชาติโปรเกตมาเป็นไมตรีนั้น แต่เดิมมาทางที่ไปมาค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก (คือประเทศทั้งหลายตั้งแต่อินเดียตลอดไปจนเมืองจีน) ไปมากันแต่ ๓ ทาง คือ ทางสายเหนือเดินบกได้ตั้งแต่เมืองจีนมาข้างเหนือประเทศธิเบต ไปลงแม่น้ำอมุราหรือโอซุส มีทางจากอินเดียขึ้นไปบรรจบกันที่แม่น้ำนี้ ล่องน้ำลงไปแล้วต้องขึ้นเดินบกเลียบชายทะเลคัสเปียนไปลงท่าที่ทะเลดำทาง ๑ ทางสายกลาง ใช้เรือแต่เมืองจีนแล่นมาทางทะเลจีน (ความปรากฏว่า จีนรู้จักใช้เข็มทิศเดินเรือในทะเลมาแต่เวลาร่วมพุทธกาลแล้ว) ผ่านอ่าวสยามไปทางเกาะสุมาตรา แล่นเลียบไปจนถึงอินเดีย จากอินเดียก็ใช้เรือแล่นเลียบฝั่งไปทางอ่าวเปอร์เซีย จนถึงแม่น้ำติคริส แล้วขึ้นเดินบกไปลงท่าที่ทะเลเมดิเตอเรเนียน ทางสายกลางนี้ ถ้าเดินบกจากอินเดียไปทางประเทศเปอรเซียก็ได้เหมือนกัน


ภาพแผนที่แสดงเส้นทางการเดินทางติดต่อค้าขาย ในสมัยโบราณ


อยู่มาพวกอาหรับที่อยู่ตามเมืองชายทะเลแดง ซึ่งเคยแล่นเรือเลียบฝั่งมาอินเดียทางอ่าวเปอรเซียมาสังเกตรู้ลมมรสุม ว่ามีฤดูที่ลมพัดแน่วแน่อยู่ทางทิศเดียว จึงจับเวลาให้สบมรสุมแล่นเรือข้ามทะเลอาหรับไปมาอินเดียได้ เกิดพบทางเส้นใต้นี้อีกสายหนึ่ง รับสินค้าบรรทุกเรือไปทางทะเลแดงได้จนถึงประเทศอียิปต์ ต้องขึ้นเดินบกหน่อยหนึ่งก็ไปถึงท่าทะเลเมดิเตอเรเนียน พวกพ่อค้าที่ทำการค้าขายในระหว่างประเทศทางตะวันออกกับยุโรป เดินไปมาค้าขายตามทาง ๓ สายที่กล่าวมานี้

อนึ่ง แต่โบราณมีสิ่งสินค้าซึ่งเป็นของเกิดทางประเทศฝ่ายตะวันออก เป็นของดีมีราคาที่ต้องการใช้ในยุโรปมีหลายชนิด เป็นต้นว่า ผ้าแพรและถ้วยชามซึ่งส่งไปจากเมืองจีน ทองคำและเพชรนิลจินดาซึ่งเป็นของเกิดในสุวรรณภูมิประเทศและในอินเดีย ตลอดจนเครื่องเทศมีขิงและพริกไทยเป็นต้น ซึ่งปลูกเป็นแต่ทางตะวันออกนี้ บรรดาที่ซื้อขายใช้สอยกันในยุโรปเป็นของที่พ่อค้าหาไปจากประเทศทางตะวันออกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการค้าขายกับประเทศทางตะวันออก เป็นการที่เกิดกำไรแก่พวกพ่อค้า และเป็นผลประโยชน์แก่เมืองท่าที่รับส่งสินค้าเป็นอันมากมาแต่โบราณ

เมื่อ พ.ศ. ๕๔๓ เกิดพระเยซูขึ้นในหมู่ชนชาติยิว ในมณฑลปาเลสติน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของประเทศโรมในยุโรป พระเยซูประกาศตั้งคริสตศาสนามีผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเกิดขึ้น แต่พวกยิวที่เป็นศัตรูของพระเยซูมีมากกว่า จึงจับพระเยซูประหารชีวิตเสียที่เมืองเยรูซาเล็ม เมื่อ พ.ศ. ๕๗๔ แต่เหตุที่พระเยซูถูกประหารชีวิตนั้นเอง กลับทำให้พวกสานุศิษย์เชื่อมั่นในลัทธิศาสนาของพระเยซู จนคริสตศาสนาแพร่หลายไปถึงยุโรปจำเนียรกาลนานมา เป็นศาสนาที่ฝรั่งนับถือแทบทั่วไป

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๑๑๑๔ เกิดพระนาบีมะหะหมัดขึ้นในหมู่ชนชาติอาหรับที่เมืองเมกกะ พระนาบีมะหะหมัดประกาศตั้งศาสนาอิสลามขึ้นอีกศาสนาหนึ่ง นับศักราชศาสนาอิสลามตั้งแต่วันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๑๑๖๕ พระนาบีมะหะหมัดเที่ยวรบพุ่งแผ่ศาสนาอิสลามอยู่ ๑๐ ปี ก็กระทำกาลกิริยา เมื่อ พ.ศ. ๑๑๗๕ ต่อจากนั้นมามีกาหลิฟ (ภาษาอาหรับแปลว่ารัชทายาท) เป็นหัวหน้าศาสนาอิสลาม ทำการรบพุ่งแผ่นอาณาจักรและศาสนาอิสลามตามอย่างพระนาบีมะหะหมัด ได้บ้านเมืองในประเทศที่ใกล้เคียงไว้ในอำนาจตั้งแต่ต่อแดนอินเดียออกไปจนถึงยุโรป ทางค้าขายไปมาที่กล่าวมาแล้วทั้งสายใต้และสายกลาง ตกอยู่ในอำนาจของพวกอิสลาม อุมาและเห็นประโยชน์ที่อาจจะได้ในการค้าขาย มาเป็นกำลังและบำรุงการศาสนาอิสลาม จึงอุดหนุนให้พวกที่ถือศาสนาอิสลาม โดยมากเป็นพวกอาหรับ ให้เอาเป็นธุระทำการค้าขายพร้อมไปกับทำกิจในศาสนา แม้พวกที่ส่งไปเที่ยวสอนศาสนาตามเมืองต่างประเทศที่ยังไม่ได้ขึ้นแก่กาหลิฟ ก็สั่งให้เที่ยวตั้งทำการค้าขาย พร้อมกับการสั่งสอนศาสนาด้วย เหตุนี้พวกฝรั่งที่ถือศาสนาพระเยซูเป็นอริอยู่กับพวกอิสลามด้วยผิดลัทธิศาสนากัน จะค้าขายกับประเทศทางตะวันออกจึงไม่สะดวกดังแต่ก่อน ต้องคิดหาทางหลีกเลี่ยงอำนาจของพวกอิสลาม มาค้าขายกับประเทศทางตะวันออกโดยทางข้างสายเหนือ แต่ต่อมาเมื่อประเทศในทางสายนั้นตกอยู่ในอำนาจแขกอิสลาม ฝรั่งก็ต้องจำใจรับสินค้าพวกตะวันออกที่พวกอิสลามนำไปขายต้องยอมเสียกำไรให้แก่พวกอิสลามอีกชั้นหนึ่ง

ความคิดเห็นได้มีแก่ฝรั่งมานานแล้วว่า น่าจะแล่นเรือทางทะเลเลียบตามแนวฝั่งตะวันตกของทวีปแฟริกามาถึงอินเดียและเมืองจีนได้ แต่ในครั้งนั้นความรู้ภูมิศาสตร์ยังมีน้อย และกำลังติดการรบพุ่งกับพวกแขกอิสลามเสียช้านานหลายร้อยปี จน พ.ศ. ๑๖๔๓ เมื่ออำนาจพวกอิสลามถอยลง ฝรั่งตีคืนบ้านเมืองที่เป็นประเทศเสปญ และโปรตุเกตเดี๋ยวนี้ได้โดยมาก ได้ตั้งราชอาณาจักรโปรตุเกสขึ้นแล้ว มีราชโอรสของพวกพระเจ้าดองยวงพระเจ้าโปรตุเกสองค์ ๑ ทรงพระนามว่า ดองเฮนริก เป็นผู้มีอัธยาศัยนิยมในวิชาการเดินเรือ คิดพากเพียรจะเดินเรือมาให้ถึงอินเดีย จึงรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตตกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศ แสวงหาผลประโยชน์อย่างวิธีซึ่งพวกอิสลามเคยทำมาแต่ก่อนบ้าง คือเที่ยวสอนคริสตศาสนาให้แพร่หลายประการ ๑ เที่ยวค้าขายหากำไรเป็นผลประโยชน์ให้แก่เมืองโปรตุเกตประการ ๑ และถ้าพบบ้านเมืองควรเอาไว้ในอำนาจได้ ก็ขยายอาณาจักรโปรตุเกตให้กว้างขวางออกไปด้วยประการ ๑


ภาพแสดงตัวอย่างความรู้ทางภูมิศาสตร์แผนที่โลก ในสมัยโบราณ


พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตทรงพระดำริเห็นชอบด้วย จึงอนุญาตให้ดองเฮนริกลงมาจั้งอยู่ที่เมืองชายทะเลแห่ง ๑ ดองเฮนริกเกลี้ยกล่อมผู้ที่ชำนาญการเดินเรือและฝึกสอนผู้คนควบคุมเข้าได้เป็นพวก ลงทุนจัดหาเรือเดินทะเลบรรทุกสินค้าของยุโรป ส่งเรือเหล่านั้นไปค้าขายตามเมืองอาฟริกาข้างตะวันตก ได้สำเร็จประโยชน์มาก คือไปได้บ้านเมืองที่ฝรั่งยังไม่เคยไปแต่ก่อน เป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกตหลายแห่ง ในส่วนการค้าขายเอาสินค้ายุโรปไปเที่ยวแลกของดีมีราคาในอาฟริกา คืองาช้างและทองคำเป็นต้น ก็ได้กำไรมาก ส่วนการสอนคริสตศาสนานั้น นอกจากพาบาทหลวงไปเที่ยวสั่งสอน ดองเฮนริกยังไปเที่ยวรับซื้อพวกแขกดำซึ่งเป็นทาสเป็นเชลยอยู่ตามอาฟริกา พาบรรทุกเรือมาเมืองโปรตุเกต ขายต่อไปแก่พวกโปรตุเกตที่มีใจศรัทธาจะสั่งสอนพวกมิจฉาทิฐิ รับซื้อไว้ใช้สอยและสั่งสอนให้เข้ารีตคริสตศาสนา เกิดกำไรในการนี้ด้วยอีกประการ ๑

เมื่อการที่ดองเฮนริกทำได้ประโยชน์ดีเกินกว่าที่คาดหมายดังกล่าวมานี้ จึงเกิดความวิตกขึ้นว่าจะมีผู้อื่นมาทำการประชัน พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตจึงตั้งพระราชบัญญัติห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดแต่งเรือออกมาเที่ยวค้าขายทำการประชันกับดองเฮนริก และเพื่อห้องกันมิให้ฝรั่งชาติอื่นมาแย่งชิง ดองเฮนริกได้ไปทูลขออาชญาต่อโป๊ปผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ในคริสตศาสนาที่เมืองโรม โป๊ปก็ออกอาชญาอนุญาตให้แก่ดองเฮนริกว่า บรรดาเมืองมิจฉาทิฐิที่โปรตุเกตได้ไปพบปะให้เป็นอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกต ห้ามมิให้ชาติอื่นไปแย่งชิง แต่โปรตุเกตต้องทำการสอนคริสตศาสนาให้แพร่หลายในบรรดาเมืองที่ได้ไปพบปะนั้น จึงจะถืออำนาจตามอาชญาของโป๊ปได้

เมื่อดองเฮนริกทำการสำเร็จประโยชน์และได้อำนาจดังกล่าวมาแล้ว กิตติศัพท์ก็แพร่หลาย มีพวกฝรั่งทั้งชาติโปรตุเกตและชาติอื่น ขอเข้าเป็นพวกดองเฮนริกเป็นอันมาก ดองเฮนริกแต่งเรือไปเที่ยวตามเมืองต่างประเทศโดยอาการดังกล่าวมา คราวละ ๒ ลำบ้าง ๓ ลำบ้างทุกๆ ปี ตั้งแต่ดองเฮนริกได้เริ่มทำการมาตลอด ๔๐ ปี ตรวจทางทะเลตามฝั่งอาฟริกาลงมาได้เพียงแหลมเวอเด ด้วยการที่ใช้ใบในมหาสมุทรแอตแลนติกต้องฝ่าคลื่นฝืนลม เรือที่มีใช้อยู่ในเวลานั้นลงมาได้ด้วยยาก ดองเฮนริกสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๓ เพราะการที่ดองเฮนริกทำกลายเป็นการสำคัญของโปรตุเกต ทั้งที่ได้ทรัพย์และได้อำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตจึงจัดเอาเป็นราชการแผ่นดินต่อมา

ถึง พ.ศ. ๒๐๒๙ ในรัชกาลของพระเจ้าดองยวงที่ ๒ ครองประเทศโปรตุเกต พระเจ้าดองยวงแต่งให้บาโทโลมิวเดอดายส์คุมเรือกำปั่น ๒ ลำแล่นมาตรวจทาง บาโทโลมิวเดอดายส์แล่นก้าวในมหาสมุทรแอตแลนติกหลงเลยมาได้ถึงแหลมอาฟริกาใต้ ที่เรียกว่าแหลมกู้ดโฮ้ปในบัดนี้ ได้ความรู้ว่าได้พบทางที่จะมาอินเดียเป็นแน่แล้ว บาโทโลมิวเดอดายส์จะแล่นเรือเลยมาอินเดีย แต่พวกลูกเรือถูกลำบากกรากกรำเสียช้านาน ไม่ยอมแล่นต่อมาอีก จึงจำต้องกลับไปเมืองโปรตุเกต

ต่อมามีฝรั่งชาวเมืองเยนัวคนหนึ่งชื่อ คริสโตเฟอโคลัมบัส ได้ไปเดินเรืออยู่กับโปรตุเกตหลายปี ไปได้ความที่เกาะมะไดรา ซึ่งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้ฝั่งอาฟริกา ว่ามีไม้คลื่นซัดมาในมหาสมุทรจากทางทิศตะวันตกมาติดเกาะนั้น ไม้มีรอยคนแก่เป็นลวดลาย จึงเกิดความคิดเห็นว่า แผ่นดินอินเดียที่โปรตุเกตค้นหาทางไปอยู่นั้น จะเป็นแผ่นดินยาวแต่ตะวันออกไปจนทางตะวันตก ตลอดมหาสมุทรแอตแลนติก คริสโตเฟอโคลัมบัสจึงนำความเห็นทั้งนี้ทูลแก่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกต จะขอรับอาสาคุมเรือไปเที่ยวหาประเทศอินเดียถวายโดยทางตะวันตกอีกทางหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตให้ที่ประชุมผู้ชำนาญแผนที่และการเดินเรือปรึกษาความเห็นของคริสโตเฟอโคลัมบัส ที่ประชุมไม่เห็นด้วย คริสโตเฟอโคลัมบัสมีความน้อยใจ จึงลอบออกจากเมืองโปรตุเกตไปรับอาสาพระเจ้าแผ่นดินเสปญ


Christopher Columbus


ประเทศเสปญเวลานั้นยังแบ่งเป็น ๒ ราชอาณาจักรแต่ รวมกันด้วยพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ ฝ่ายได้ทำการวิวาห์กัน พระเจ้าแผ่นดินเสปญแต่งเรือให้คริสโตเฟอโคลัมบัสคุมไปเที่ยวหาประเทศอินเดียตามประสงค์ คริสโตเฟอโคลัมบัสแล่นเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก เพียรไปจนพบหมู่เกาะในทวีปอเมริกาเหนือ ที่ยังเรียกอยู่จนทุกวันนี้ว่า หมู่เกาะอินเดียตะวันตก โดยเข้าใจในครั้งนั้นว่าเป็นประเทศอินเดีย มิใช่ทวีปหนึ่งต่างหาก คริสโตเฟอโคลัมบัสถือเอาแผ่นดินที่ไปพบนั้นเป็นเมืองขึ้นของประเทศเสปญ จึงเกิดอำนาจแข่งโปรตุเกตขึ้นในทางเที่ยวหาเมืองขึ้นแต่ครั้งนั้น จนต้องไปขออาชญาโป๊ปให้ป้องกันการที่จะแย่งชิงเมืองขึ้นกันในระหว่างโปรตุเกตกับเสปญ โป๊ปจึงเอาแผนที่โลกเท่าที่รู้อยู่ในเวลานั้นมาขีดเส้นแต่เหนือไปใต้ และบอกอาชญาว่าบรรดาแผ่นดินข้างวตะวันตกของเส้นนั้น ถ้าพวกเสปญไปพบให้เป็นเมืองขึ้นของเสปญ ข้างตะวันออกของเส้นให้เป็นของโปรตุเกต แต่ทั้งสองประเทศต้องสอนคริสตศาสนาให้แพร่หลายในเมืองเหล่านั้น จึงจะมีอำนาจตามอาชญาของโป๊ป


Christopher Columbus กับชาวอินเดียตามความเข้าใจในสมัยนั้น



THE AGE OF DISCOVERY
Spain ang Spanish Discovries ==> Red
Portugal and Portuguese Discovries ==> Green


ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๙ ในรัชกาลของพระเจ้ามานูเอลครองกรุงโปรตุเกต พระเจ้ามานูเอลให้วัสโคดาคามาคุมเรือรบ ๓ ลำพร้อมด้วยศัสตราวุธ บรรทุกสินค้ายุโรปและเครื่องราชบรรณาการสำหรับที่จะถวายพระเจ้าแผ่นดินตามเมืองในประเทศตะวันออก แล่นอ้อมทวีปอาฟริกาออกมาให้ถึงอินเดียให้จงได้ วัสโคดาคามาแล่นเรือฝ่าคลื่นฝืนลมออกมาด้วยความลำบากเป็นอันมาก เรือมาเสียลงลำหนึ่งเหลืออยู่แต่ ๒ ลำ มาถูกพายุใหญ่พวกลูกเรือทนความลำบากกรากกรำ จะขอให้กลับหลายครั้ง วัสโคดาคามาไม่ยอมกลับ แต่เพียรแล่นเรือมาถึง ๑๑ เดือน จึงแล่นอ้อมทวีปอาฟริกามาได้ถึงเมืองเมลินเด ซึ่งอยู่ทางชายทะเลด้านตะวันออก มาหานำร่องได้ที่เมืองเมลินเด แล้วแล่นข้ามทะเลอาหรับมาถึงเมืองกาฬีกูฏที่อินเดีย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๐๔๑


Vasco da Gama


สมัยเมื่อโปรตุเกตแล่นเรือจากยุโรปออกมาถึงอินเดียได้นั้น ในประเทศอินเดียได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงมากกว่าแต่ก่อนเสียเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ตั้งแต่เกิดศาสนาอิสลามขึ้นในแว่นแคว้นแดนอาหรับ ถึงพวกอิสลามไม่ได้ยกกองทัพมารบพุ่งจนถึงแดนอินเดียก็จริง แต่ได้พากันออกมาเที่ยวตั้งทำการค้าขาย และมาเที่ยวสอนศาสนาอิสลามอยู่ตลอดเวลาถึง ๖๐๐ ปี มีผู้คนพลเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลามเป็นอันมาก บ้านเมืองในประเทศอินเดียในเวลานั้นก็ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่มีอานุภาพปกครองเป็นราชอาณาจักรใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งพระเจ้าอโศก แยกกันอยู่เป็นประเทศน้อยๆ เมืองทางอินเดียข้างฝ่ายเหนือมีคันธาราฐเป็นต้น ในเวลานั้นผู้คนพลเมืองก็เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามเสียแล้ว ข้างตอนทางกลางบางเมืองถือศาสนาอิสลาม แต่ที่ยังถือศาสนาพราหมณ์ก็ยังมีอยู่มาก แต่ตอนข้างใต้ยังถือศาสนาพราหมณ์


Vasco da Gama route map


เมืองกาฬีกุฏที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาถึงเป็นที่แรก ตั้งอยู่ทางชายทะเลข้างตะวันตกในแหลมมละบา เป็นราชธานีของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งถือศาสนาพราหมณ์ เรียกพระนามว่าพระเจ้าสมุทรินทร ส่วนการค้าขายตามหัวเมืองชายทะเลในอินเดียไม่ว่าในเมืองที่ศาสนาอิสลามหรือถือศาสนาพราหมณ์ มีพวกพ่อค้าแขกอิสลามไปตั้งทำการค้าขายอยู่ช้านานแล้วทุกแห่ง วิธีค้าขายของพวกเหล่านี้ ไปทูลขออนุญาตต่อพระเจ้าแผ่นดินตั้งห้างตามเมืองท่า รับซื้อสินค้าในพื้นเมืองบรรทุกเรือไปเที่ยวจำหน่ายตามนานาประเทศ ตลอดจนยุโรปและรับสินค้าต่างประเทศมาจำหน่ายในพื้นเมือง ส่วนพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองบ้านเมือง ตั้งแต่พวกอิสลามมาตั้งทำการค้าขายก็เกิดผลประโยชน์ทั้งในทางเก็บภาษีอากร และตั้งคลังสินค้าซื้อขายสิ่งขิงบางอย่างเป็นของหลวงได้กำไรอีกชั้น ๑ เมื่อว่าโดยย่อในเวลานั้นการค้าขายในระหว่างยุโรปกับประเทศทางตะวันออก คืออินเดียเป็นต้นอยู่ในมือพวกพ่อค้าแขกอิสลามทุกอย่าง ไม่มีผู้ใดสามารถจะแย่งชิง

เมื่อวัสโคดาคามาแล่นเรือถึงเมืองกาฬีกูฏ ให้ขึ้นไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่าเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการมาจากพระเจ้ากรุงโปรตุเกต ให้มาเจริญทางพระราชไมตรี ขอไปมาค้าข่ายกับเมืองกาฬีกูฏ ฝ่ายพระเจ้าสมุทรินทรเคยได้ผลประโยชน์อยู่ในการค้าขายดังกล่าวมาแล้ว เมื่อได้ทราบว่ามีฝรั่งโปรตุเกตจะมาขอทำการค้าขายอีกชาติ ๑ ก็ไม่มีความรังเกียจรับรองวัสโคดาคามาอย่างราชทูต และยอมอนุญาตให้โปรตุเกตซื้อขายสินค้าตามประสงค์

แต่ฝ่ายพ่อค้าแขกอิสลามในเมืองกาฬีกูฎเมื่อรู้ว่าโปรตุเกตแล่นเรือบรรทุกสินค้ามาถึงอินเดียได้จากยุโรป ก็คิดคาดการล่วงหน้าแลเห็นได้ตลอด ว่าถ้าพวกไปมาค้าขายกับอินเดียได้โดยทางเรือ ผลประโยชน์การค้าขายของตนจำจะต้องตกต่ำ ด้วยทางที่พวกพ่อค้าแขกขนสินค้าไปมาในระหว่างอินเดียกับยุโรป ต้องบรรทุกเรือแล้วขนขึ้นเดินบกไปลงเรืออีก ต้องเสียค่าขนสินค้ามาก ฝรั่งเอาสินค้าบรรทุกเรือแล่นตรงมาได้รวดเดียวเสียค่าขนน้อย คงจะขายสินค้ายุโรปได้ราคาถูกกว่า และอาจจะซื้อสินค้าพื้นเมืองได้ราคาแพงกว่าตน ถ้าขับเคี่ยวกันไป การค้าขายคงจะไปตกอยู่ในมือฝรั่งหมด พวกพ่อค้าแขกอิสลามคิดเห็นดังนี้ จึงตั้งใจกีดกันมาแต่แรก

เพื่อจะมิให้โปรตุเกตไปมาค้าขายในอินเดียได้ดังประสงค์ ในเบื้องต้นพวกพ่อค้าแขกอิสลามทำอุบายให้เกิดข่าวเล่าลือให้ราษฎรหวาดหวั่นต่างๆ จนไม่กล้ามาค้าขายกับฝรั่ง และไปบนบานเจ้าพนักงานให้แกล้งกีดขวางหน่วงเหนี่ยววัสโคดาคามามิให้ทำการได้สะดวก แต่เผอิญในเวลานั้นมีฝรั่งชาวเสปญคน ๑ ซึ่งแขกอิสลามเอาเข้ารีตแล้วพามาไว้ที่เมืองกาฬีกูฎ ได้ทราบความคิดของพวกพ่อค้าอิสลาม มีความสงสารพวกโปรตุเกตด้วยเป็นชาติฝรั่งด้วยกัน จึงลอบนำความไปแจ้งแก่วัสโคดาคามา วัสโคดาคามาจึงอุบายซ้อนกลพวกพ่อค้าแขก โดยแกล้งทำเป็นไม่รู้เท่าราษฎรในเชิงค้าขาย เมื่อเวลาเอาสินค้ายุโรปขึ้นไปค้าขาย แม้พวกชาวเมืองจะต่อตามจนถึงขาดทุนก็ยอมขาย ส่วนสินค้าที่ชาวเมืองนำมาขายให้ ถึงจะโก่งเอาราคาแพงวัสโคดาคามาก็ยอมซื้อ พวกชาวเมืองเข้าใจว่าฝรั่งโง่ ก็พากันมาซื้อขายกับวัสโคดาคามามากขึ้น พวกพ่อค้าแขกอิสลามเห็นดังนั้น จึงเอาความไปยุยงแก่ขุนนางผู้ใหญ่ให้กราบทูลพระเจ้าสมุทรินทร ว่ากิริยาที่พวกโปรตุเกตซื้อขาย ดูไม่คิดถึงทุนรอนตามทำนองค้าขาย เห็นจะเป็นคนสอดแนมที่ฝรั่งแต่งให้มาสืบสวนการงานบ้านเมือง เมื่อรู้กำลังแล้วฝรั่งคงจะยกกองทัพใหญ่มาตีเมืองเป็นแน่ พระเจ้าสมุทรินทรเห็นจริงด้วย จึงให้จับวัสโคดาคามากับพรรคพวกซึ่งขึ้นไปบนบกขังไว้

ฝ่ายน้องชายวัสโคดาคามาซึ่งอยู่ในเรือ เห็นพระเจ้าสมุทรินทรทำแก่พี่ของตนดังนั้น ก็จับขุนนางเมืองกาฬีกูฏซึ่งลงไปอยู่ในเรือไว้บ้าง จึงเข้าไปทูลพระเจ้าสมุทรินทรว่า วัสโคดาคามามาเป็นราชทูต มาแต่พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ ซึ่งพระเจ้าสมุทรินทรได้รับรองอย่างราชทูต ที่จะมาทำร้ายผู้เป็นราชทูตผิดราชประเพณี พระเจ้าสมุทรินทรจึงได้ปล่อยวัสโคดาคามา และว่ากล่าวไกล่เกลี่ยให้หายความเคียดแค้น วัสโคดาคามาได้ออกเรือจากเมืองกาฬีกูฏเมืองเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๐๔๑ แล่นไปแวะที่เมืองคานะนอ ซึ่งอยู่ชายทะเลฝั่งมละบาข้างเหนือเมืองกาฬีกูฏ พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองนั้นก็แกล้งอีก แต่เจ้าเมืองคานะนอไม่เชื่อฟังคำยุยงของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม ช่วยเป็นธุระแก่พวกโปรตุเกตหาสินค้าได้จนเหลือระวางเรือ วัสโคดาคามาสำเร็จความประสงค์แล้ว ก็แล่นเรือจากอินเดียกลับไปถึงเมืองโปรตุเกตเมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๐๔๒

การที่วัสโคดาคามาแล่นเรือมาได้ถึงอินเดียคราวนั้น เป็นประโยชน์อย่างสำคัญแก่โปนตุเกต ด้วยตั้งแต่โปรตุเกตพากเพียรตรวจทางทะเลมาได้เกาะและบ้านเมืองชายทะเลอาฟริกาตามรายทางไว้เป็นเมืองขึ้นบ้างเป็น ไมตรีบ้าง ขยายอำนาจและอาณาจักรออกมาโดยลำดับ มีที่พักเป็นระยะมาตลอดทางแล้ว พอรู้ทางว่ามาถึงอินเดียได้ ก็อาจจะจัดการเดินเรือไปมาค้าขายถึงอินเดียได้ทันที ส่วนผลประโยชน์ที่จะพึงได้ในการค้าขายกับอินเดียนั้น แต่เพียงไปเที่ยวแรกที่วัสโคดาคามามาด้วยเรือ ๒ ลำ ราคาสินค้าที่ได้ไปเมื่อไปคิดราคาเทียบกับทุนที่แต่งเรือออกมาครั้งนั้น โปรตุเกตได้กำไรถึง ๖๐ เท่า จึงเกิดความทะเยอทะยานยินดีกันอย่างใหญ่ในประเทศโปรตุเกต ด้วยแลเห็นทั่วกันว่าประเทศโปรตุเกตจะเป็นประเทศที่มีกำลังอำนาจและทรัพย์สมบัติต่อมา การก็เป็นจริงดังนั้นทุกประการ

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๐๔๓ พระเจ้ากรุงโปรตุเกตให้แต่งเรือออกมาอินเดียอีก คราวนี้คิดการเตรียมแก้ไขความขัดข้องมาเสร็จ ด้วยได้ความรู้แล้วว่าทางตะวันออกพวกถือศาสนาอิสลาม ซึ่งเคยเป็นข้าศึกกับฝรั่งมาหลายร้อยปียังมีอำนาจอยู่ และการค้าขายทางตะวันออกก็อยู่ในมือของพวกนั้น การที่พวกโปรตุเกตออกมาประเทศตะวันออกคงจะถูกพวกแขกที่ถือศาสนาอิสลามคิดร้าย เกียจกัน ทั้งการสอนคริสตศาสนาและการค้าขายมิให้โปรตุเกตทำการได้สะดวก ด่วยเหตุนี้พระเจ้ากรุงโปรตุเกตจึงให้แต่งเป็นกองทัพ มีจำนวนเรือรบ ๑๓ ลำ กระสุนดินดำและนายไพร่พลทหารประจำลำรวม ๑๕๐๐ คน ก็เลือกสรรแต่ล้วนที่กล้าหาญชำนาญการศึก ให้เปโดร อัลวเรส คาบรัล เป็นแม่ทัพและเป็นราชทูต คุมเครื่องราชบรรณาการออกมาเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินผู้ครองประเทศตามรายทางบรรดาที่เข้ากับโปรตุเกต และมอบอำนาจออกมากับคาบรัลในครั้งนั้น ว่าถ้าบ้านใดเมืองใด หรือบุคคลจำพวกใด ขัดขวางแก่การของโปรตุเกต ว่ากล่าวโดยดีไม่ตลอดแล้ว ก็ให้ใช้กำลังปราบปรามเอาไว้ในอำนาจให้จงได้


Pedro Alvares Cabral


คาบรัลยกกองทัพเรือออกจากเมืองโปรตุเกต เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๐๔๓ ใช้ใบเรือลงมาจนถึงแหลมเวอเด แล้วแล่นก้าวออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติก เรือไปถูกพายุซัดพัดข้ามมหาสมุทรไปพบเมืองบราซิลในอเมริกาใต้เข้า จึงได้เมืองบราซิลเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกตในคราวนั้น คาบรัลแล่นเรือกลับจากเมืองบราซิลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงเมืองเมลินเดในอาฟริกาข้างตะวันออก ซึ่งเป็นไมตรีกับโปรตุเกตมาแต่ก่อน เมื่อเดือนกรกฎาคม เรือที่ไปด้วยกัน ๑๓ ลำ ไปแตกกลางทางบ้าง ต้องกลับบ้าง พลัดกันบ้าง เหลืออยู่แต่ ๖ ลำ คาบรัลรับนำร่องที่เมืองเมลินเดแล้วก็แล่นข้ามทะเลอาหรับมา รวมเวลาตั้งแต่ออกจากเมืองโปรตุเกตได้ ๖ เดือน จึงถึงท่าเมืองกาฬีกูฏเมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม



แผนที่แสดงการเดินทางของ Pedro Alvares Cabral



แผนที่แสดงการเดินทางของ Vasco da Gama เทียบกับ Pedro Alvares Cabral


พระเจ้าสมุทรินทรเมื่อเห็นกองทัพเรือโปรตุเกตยกมาคราวนี้ ก็ให้ข้าราชการออกไปรับ พาคาบรัลขึ้นไปเฝ้าถวายเครื่องบรรณาการ และยอมทำสัญญาอนุญาตที่ดินให้พวกโปรตุเกตตั้งห้างค้าขายที่เมืองกาฬีกูฏตามประสงค์ แต่ครั้นเมื่อสร้างห้างสำเร็จแล้ว โปรตุเกตหาซื้อสินค้าอยู่ ๒ เดือนไม่ได้สินค้า จึงสืบสวนได้ความว่า เพราะพวกพ่อค้าแขกอิสลามอุบายชิงรับซื้อบรรดาสิ่งสินค้าซึ่งรู้ว่าพวกโปรตุเกตต้องการไว้เสียก่อน ไม่ให้พวกโปรตุเกตหาซื้อได้ คาบรัลไปทูลความต่อพระเจ้าสมุทรินทร พระเจ้าสมุทรินทรก็มิรู้จะทำประการใด

คาบรัลขัดใจจึงให้ไปแย่งเอาสินค้าของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม ซึ่งกำลังเอาลงบรรทุกเรือที่จอดอยู่ในอ่าว พวกพ่อค้าแขกอิสลามที่อยู่บนบก เมื่อเห็นพวกโปรตุเกตปล้นเอาสินค้าของตนดังนั้น ก็คุมพรรคพวกยกมาปล้นสินค้าที่ห้องของโปรตุเกตบ้าง พวกแขกอิสลามกับพวกโปรตุเกตเกิดรบกันขึ้นในเมืองกาฬีกูฏ พวกแขกอิสลามมากกว่าฆ่าพวกโปรตุเกตตาย ๕๔ คน และเผาห้างของโปรตุเกตเสียสิ้น พวกกองทัพเรือโปรตุเกตเห็นพวกแขกอิสลามทำร้ายพวกของตนที่อยู่บนบก ก็ยกกำลังไปตีปล้นเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลาม บรรดาที่จอดอยู่ในอ่าวเมืองกาฬีกูฏ ฆ่าพวกแขกล้มตายเป็นอันมาก แล้วเผาเรือเหล่านั้นเสียถึง ๑๐ ลำ แล้วเลยเอาปืนใหญ่ยิงเมืองกาฬีกูฏอยู่ ๒ ชั่วโมง แล้วจึงถอนสมอใช้ใบเรือไปจากเมืองกาฬีกูฏ ไปพบเรือแขกเข้าที่ไหน พวกโปรตุเกตก็ปล้นเรือแขกตลอดทางมา จึงเกิดสงครามขึ้นระหว่างพวกโปรตุเกตกับพวกแขกอิสลามขึ้นแต่ครั้งนั้น

เรื่องราวที่พวกโปรตุเกตทำอย่างไรต่อมาในอินเดีย มีมากมายเกินกว่าจะอธิบายได้โดยพิสดารในที่นี้ ตั้งแต่โปรตุเกตเกิดรบขึ้นกับพวกพ่อค้าแขกอิสลามที่เมืองกาฬีกูฏ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๔๓ แล้ว แต่นั้นมาการค้าขายของโปรตุเกตก็กลายเป็นเอากำลังเที่ยวแย่งชิงทรัพย์สมบัติ หาอำนาจและอาณาจักรทางตะวันออก เอาแต่ชื่อว่าเที่ยวสอนคริสตศาสนาและค้าขายขึ้นบังหน้า เพราะการใช้ปืนไฟใหญ่น้อยและวิธีรบพุ่งในทางทะเล พวกชาวตะวันออกยังไม่ชนาญเท่าโปรตุเกต โปรตุเกตน้อยๆ คนเคยรบชนะพวกอินเดียที่มากกว่าหลายคราว จึงได้ใจ แต่นั้นโปรตุเกตก็แต่งกองทัพเรือออกจากยุโรปทุกปี พบเรือพวกแขกเข้าที่ไหนก็ปล้นเอาทรัพย์สมบัติและทำลายเรือเสีย

ส่วนเมืองตามชายทะเลในอินเดีย เมืองไหนยอมเข้ากับโปรตุเกต โปรตุเกตก็ตั้งห้าง แล้วเลยทำห้างขึ้นเป็นป้อมเอากำลังทหารมารักษากดขี่เจ้าบ้านผ่านเมือง เอาเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกตบ้าง เมืองไหนไม่เข้าด้วยหรือไม่ค้าขายด้วย โปรตุเกตก็ถือว่าเป็นข้าศึก เที่ยวรบพุ่งทำร้ายต่างๆ ไม่ช้าเท่าใดเมืองอินเดียตามชายฝั่งทะเลมละบากก็ตกอยู่ในอำนาจโปรตุเกตหลายเมือง ส่วนการค้าขายเมื่อโปรตุเกตเที่ยวทำลายเรือของพวกพ่อค้าแขกอิสลามเสียเป็นอันมากแล้ว โปรตุเกตก็ได้สินค้าประเทศทางตะวันออก เมืองโปรตุเกตเกิดเป็นที่ชุมนุมการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกขึ้นใหญ่โตจนเมืองฝรั่งแถวทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งเคยร่ำรวยด้วยการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกตามเส้นทางเปอร์เซียและอียิปต์ ถึงความอัตคัดขัดสนไปหลายเมือง

เมื่อการค้าขายกับประเทศทางตะวันออกเปลี่ยนไปเฟื่องฟูเป็นตลาดใหญ่อยู่ที่เมืองโปรตุเกต ดังกล่าวมานี้ จึงมีชาวโปรตุเกตเป็นอันมากทะเยอทะยานอยากออกมาหาทรัพย์สมบัติทางตะวันออก พวกผู้ดีมีสกุลก็เข้าไปรับอาสาเป็นนายทหารบ้าง อกมาเป็นผู้สอนศาสนาบ้าง ที่เป็นฝรั่งเลวก็ไปอาสาเป็นลูกเรือและพลทหาร ด้วยความเข้าใจทั่วกันว่าเป็นช่องทางที่จะออกมาปราบปรามพวกอิสลาม เอาทรัพย์สมบัติของพวกมิจฉาทิฐิไปเป็นอาณาประโยชน์ อย่างพวกอิสลามได้เคยทำแก่ปู่ย่าตายายของตนมาแต่ก่อน ไม่ถือว่าเป็นบาปกรรมอันใด

เมื่อโปรตุเกตไปมาหาที่มั่นได้ที่ชายทะเลอินเดียแล้ว ได้ข่าวว่าทางตะวันออกต่อมามีเมืองมะละกา เป็นเมืองท่าสำคัญในทางรับส่งสินค้าระหว่างเมืองจีนกับอินเดีย และมีสินค้าตามเมืองที่ใกล้เคียงซึ่งมาขายที่เมืองมะละกามาก เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๘๗๐ พ.ศ. ๒๐๕๑ ตรงกับในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระเจ้ากรุงโปรตุเกตจึงแต่งให้โลเปสเดอสิไครา คุมเรือกำปั่นรบ ๔ ลำ เป็นราชทูตมาเจริญทางพระราชไมตรีกับเจ้าเมืองมะละกา ซึ่งเป็นแขกมลายูนับถือศาสนาอิสลามแล้วในเวลานั้น เจ้าเมืองมะละกาก็รับรองสิไคราอย่างราชทูต และยอมให้ที่ตั้งห้างตามประสงค์

แต่เมื่อพวกโปรตุเกตขึ้นไปซื้อขายสินค้าที่ห้างตั้งใหม่ ไปเกิดวิวาทขึ้นกับพวกชาวเมืองมะละกา สิไคราสงสัยว่าเจ้าเมืองมะละกาคิดกลอุบายเข้ากับพวกพ่อค้าแขกอิสลามจะทำร้าย สิไครามีความโกรธเป็นกำลัง จึงจับพวกชาวมะละกาที่ลงมาอยู่ในเรือ เอาลูกธนูเสียบหนังหัวประจานส่งขึ้นไปบอกเจ้าเมืองมะละกา ว่าถ้าไม่คบกับโปรตุเกตจะตีเอาเมืองมะละกาให้จงได้ ฝ่ายเจ้าเมืองมะละกาเห็นโปรตุเกตดูหมิ่นก็โกรธ จึงให้ขุนนางคนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นบันดาหรว่าการฝ่ายทหาร คุมกำลังไปล้อมจับโปรตุเกตที่ขึ้นไปซ้อขายอยู่บนบก ฆ่าฟันตายเสียบ้าง จับเป็นไว้ได้เป็นตัวจำนำก็หลายคน สิไคราไม่มีกำลังพอที่จะตีเอาเมืองมะละกาได้ในคราวนั้น ด้วยพวกพลเรือนขึ้นไปถูกชาวมะละกาฆ่าฟันและจับไว้เสียมาก จึงให้เผาเรือโปรตุเกต ๒ ลำ เอาคนมาลงเรือที่ยังเหลืออยู่ ๒ ลำแล่นกลับไป

เมื่อความทราบถึงโปรตุเกต ว่าเจ้าเมืองมะละกาทำร้ายแก่พวกโปรตุเกต ก็ให้เตรียมกองทัพจะยกมาตีเมืองมะละกา แต่ประจวบเวลาเกิดเหตุขึ้นในอินเดียและทางทะเลแดง ด้วยพวกเจ้าบ้านผ่านเมืองแขกที่ถูกโปรตุเกตรังแกกดขี่ต่างๆ หลายเมือง เข้ากันรบพุ่งโปรตุเกต โปรตุเกตต้องปราบปรามอยู่จนปีมะแม จุลศักราช ๘๗๑ พ.ศ. ๒๐๕๒ อัฟฟอนโสอัลบูเคอเด แม่ทัพใหญ่ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์ของพระเจ้าโปรตุเกต จึงยกกองทัพเรือมายังเมืองมะละกา กองทัพอัลบูเคอเคแล่นมาพบเรือแขกที่ไหนก็ตีชิงเรื่อยมาจนถึงเมืองมะละกา เมื่อเดือนมิถุนายน


Affonso d'Albuquerque


อุบายให้ไปบอกเจ้าเมืองมะละกาว่าเป็นราชทูตจะมาเป็นไมตรีโดยดีไม่รบพุ่ง ให้เจ้าเมืองมะละกาส่งตัวพวกโปรตุเกตที่จับไว้เป็นตัวจำนำลงมาให้ แล้วอัลบูเคดเคก็จะขึ้นไปหาเจ้าเมือง ข้างเมืองมะละกาก็ให้มาบอกว่า จะยอมเป็นไมตรีและจะส่งพวกโปรตุเกตคืนให้ แต่ขอให้อัลบูเคอเคขึ้นไปทำทางไมตรีเสียก่อน อัลบูเคอเคคอยอยู่เห็นการไม่ตกลงกัน ก็ยกกำลังขึ้นตีเมืองมะลพกา ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน ชาวมะละกาสู้ไม่ได้ต้องถอยออกไปนอกเมือง พวกโปรตุเกตเผาเมืองมะละกาเสียแล้วก็ถอยกลับลงเรือ พวกมะละกาก็กลับเข้ามาตั้งค่ายอยู่ในเมืองอีก ในเวลานั้นมีสำเภาจีนมาค้าขายอยู่ที่เมืองมะละกาประมาณ ๑๐๐ ลำ สำเภาจีนจะกลับเมือง อัลบูเคอเคจึงให้โปรตุเกตคน ๑ ชื่อเฟอนันเดถือหนังสือโดยสารเรือสำเภาจีนเข้ามากรุงศรีอยุธยา ขอเป็นไมตรีไปมาค้าขายกับไทย ด้วยได้ทราบว่าเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ก่อน

อัลบูเคอเคมาตระเตรียมการอยู่ที่เรือ พอพร้อมเสร็จก็คุมกำลังขึ้นตีเมืองมะละกาครั้งที่ ๒ ในเดือนสิงหาคม คราวนี้รบพุ่งกันเป็นสามารถ พวกเจ้าเมืองมะละกาสู้โปรตุเกตไม่ได้ก็แตกหนี เมืองมะละกาจึงได้อยู่ในอำนาจโปรตุเกตแต่นั้นมา

เมื่อโปรตุเกตได้เมืองมะละกาไว้เป็นที่มั่นแล้ว ถึงปีขาล จุลศักราช ๘๘๐ พ.ศ. ๒๐๖๑ พระเจ้ามานูเอล พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกตจึงแต่งให้ดวดเตโคเอลโลเป็นราชทูต เข้ามาทำสัญญามีทางพระราชไมตรีกับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ณ กรุงศรีอยุธยาในคราวๆ เดียวกับไปทำทางพระราชไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี ตามจดหมายของโปรตุเกตว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงยินดีรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกต พระราชทานอนุญาตให้โปรตุเกตตั้งห้าง ไปมาค้าขายที่กรุงศรีอยุธยาและที่เมืองปัตตานีได้ตามประสงค์ และจะรับแต่กองทัพไทยไปช่วยโปรตุเกตปราบปรามพวกแขกที่มาตีเมืองมะละกาด้วย ต่อมาปรากฏว่าโปรตุเกตดีรับอนุญาตให้ไปตั้งห้างค้าขายที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองมะริดอีก ๒ เมือง

ถึงปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ พ.ศ. ๒๐๖๒ โปรตุเกตไปขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็ยอมให้ไปมาค้าขายตามประสงค์ และให้โปรตุเกตตั้งห้างที่เมืองเมาะตะมะแห่ง ๑ โปรตุเกตจึงเป็นไมตรีกับไทยและมอญแต่นั้นมา

เรื่องที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เดิมเมืองมะละกาเป็นเมืองขึ้นของไทย ข้อนี้ไม่มีข้อสงสัย ด้วยหนังสือทั้งปวงทั้งของไทยของมลายูและของฝรั่งถูกต้องกัน และมีเนื้อความในพระราชพงศาวดารแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า ไทยได้ยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อปีกุน จุลศักราช ๘๑๗ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) พ.ศ. ๑๙๙๘ แต่จะมีผลอย่างไรไม่ได้กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าที่ไทยยกกองทัพลงไปตีเมืองมะละกาเมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนั้น เห็นจะเป็นด้วยเรื่องเจ้าเมืองเข้ารีตถือศาสนาอิสลาม เอาใจเผื่อแผ่พวกอาหรับที่มาเป็นครูบาอาจารย์สอนให้กระด้างกระเดื่องขึ้น แต่กองทัพไทยเห็นจะตีไม่ได้เมืองมะละกาในคราวนั้น เมื่อโปรตุเกตมาตีเมืองมะละกาเกรงจะวิวาทขึ้นกับไทย ซึ่งเป็นเจ้าของเมืองมะละกาอยู่แต่เดิม จึงแต่งราชทูลเข้ามาขอเป็นไมตรีกับไทย ในเวลานั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ยังไม่เสร็จสงครามกับเชียงใหม่ จึงรับเป็นไมตรีกับโปรตุเกต

การที่โปรตุเกตมาเป็นไมตรีกับไทยก็ดี กับมอญก็ดี ไม่มาเกะกะวุ่นวายเหมือนกับเมืองแขกในอินเดีย เพราะ ๒ ประเทศนี้ถือพุทธศาสนาไม่มีสาเหตุที่จะวิวาทกันด้วยเรื่องลัทธิศาสนาประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งเพราะ ๒ ประเทศเป็นประเทศใหญ่ ที่มีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้สิทธิ์ขาด โปรตุเกตจะทำร้ายไม่ได้เหมือนอินเดีย จึงมาค่าขายแต่โดยดี ใช่แต่เท่านั้นยังมีพวกฝรั่งโปรตุเกตที่คิดหาสินจ้างโดยลำพังตัว พากันเข้ามาอยู่ในบ้านเมือง มารับจ้างเป็นทหารทำการรบพุ่งให้ทั้งไทยและมอญ การค้าขายและเป็นไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศ ได้เริ่มต้นมีมาแต่ในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยมูลเหตุดังอธิบายมานี้


....................................................................................................................................................


คัดจาก
หนังสือ ชุมนุมพระนิพนธ์ เรื่อง อธิบายมูลเหตุที่ไทยมีไมตรีกับฝรั่ง
พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 21 สิงหาคม 2550
Last Update : 22 สิงหาคม 2550 14:56:33 น. 2 comments
Counter : 5116 Pageviews.  
 
 
 
 
ประทับนามไว้ก่อน....
แล้วก็กลับย้อนขึ้นไปอ่านค่ะ....ขอบคุณค่ะ นำความรู้มาฝาก
ยาวมากเลยค่ะรายละเอียด ..... เข้ามา Blog นี้บ่อยๆหลงรัก ประวัติศาสตร์ ซะแว๊วววว
 
 

โดย: naragorn วันที่: 22 สิงหาคม 2550 เวลา:15:15:32 น.  

 
 
 
ยินดีที่ได้ทำประโยชน์ต่อผู้อื่นบ้าง ถึงจะเล็กน้อย
ขอบพระคุณคุณ นารากร เช่นกันครับ
แค่นี้ก็ชื่นใจแล้ว มีแรงคัดต่ออีกเยอะ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 สิงหาคม 2550 เวลา:13:20:26 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com