กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตำนานการสอบพระปริยัติธรรม


ภาพทรงศีล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเถระ)


................................................................................................................................................................


อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม

การศึกษาของพระภิกษุสามเณรกำหนดเห็น ๒ อย่างมาแต่ครั้งพุทธกาล เรียกว่า คันธุระ คือ ศึกษาพระธรรมวินับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ขึ้นปากเจนใจอย่าง ๑ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ คือ เรียนวิธีฝึกหัดของตนเองให้ปราศจากกิเลสอย่าง ๑ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์พุทธสาวกจึงประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งสอน กำหนดว่ามีจำนวน ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดไว้เป็น ๓ หมวด คือพระสูตรหมวด ๑ พระวินัยหมวด ๑ พระปรมัตถ์หมวด ๑ เรียกรวมกันว่า พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นตำราของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระไตรปิฎกนั้นเป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม เพราะเหตุที่ภาษาบาลีเป็นภาษาของชาวมัชฌิมประเทศที่พระสงฆ์พุทธสาวกทำสังคายนา ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปถึงนานประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ชาวประเทศนั้นๆ ไม่รู้ภาษาบาลีเรียนพระไตรปิฎกลำบาก จึงเกิดความคิดขึ้นต่างกันประเทศทางข้างเหนือมีธิเบตและจีนเป็นต้น แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาของตนโดยประสงค์จะให้เล่าเรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นพระไตรปิฎกเดิมไม่มีใครเล่าเรียนก็เลยสูญ สิ้นหลักที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ ลัทธิพระศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็ผันแปรวิปลาสไป

แต่ส่วนประเทศข้างใต้ มีลังกาทวีปเป็นต้น ตลอดจนประเทศพม่า มอญ ไทย ลาว และเขมร เหล่านี้ คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกไปเป็นภาษาอื่นทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฎกไว้ในภาษาบาลี การเล่าเรียนคันธุระ อุสาหะเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกต่อไป อาศัยวิธีนี้ ประเทศที่ถือพระพุทธศาสนาข้างฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิของพระพุทธสาวกยั่งยืนสืบมาได้ นำเรื่องเบื้องต้นมากล่าวพอให้แลเห็น ว่าเหตุใดพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติจึงต้องเรียนภาษาบาลี

แท้จริงการเรียนภาษาบาลีเป็นข้อสำคัญสำหรับสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่มีผู้รู้บาลี ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้พระพุทธวัจนะในพระไตรปิฎก ถ้าสิ้นความรู้พระไตรปิฎกเสียแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมทรามสูญไป เพราะเหตุนี้ พระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมา จึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้ให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงเกิดมีวิธีสอบพระปริยัติธรรม เพื่อจะให้ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้เพียงใด เมื่อปรากฏว่ารูปใดรอบรู้ถึงที่กำหนด สมเด็จพระรามาธิบดีทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปนั้นให้เป็นมหาบาเรียน ครั้นพรรษาอายุถึงเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามสมควรแก่คุณธรรมและความรอบรู้ เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมสืบๆ กันมาจนกาลบัดนี้

เพราะการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการเรียนทั้งภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยเหตุดังแสดงมา การสอบความรู้พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จึงสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยกัน คือให้นักเรียนที่เข้าสอบความรู้ อ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกอภิธานและทางไวยากรณ์ภาษาบาลี และรู้ความในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “แปลหนังสือ” หรือ “แปลพระปริยัติธรรม” มีหลักสูตรตั้งไว้ แต่โบราณกำหนดเป็น ๙ ประโยค คือ

ประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบท ต้องสอบได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค จึงนับว่าเป็นเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีบั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เปรียญชั้นสูงนับแต่ประโยค ๔ นี้เป็นต้นไป
ประโยคที่ ๕ ได้ยินว่า เดิมสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมถีร์สารัตถสังคหะ ครั้นภายหลังกลับสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยฯ อีก สอบได้นับเป็นเปรียญโท
ประโยคที่ ๖ สอบมังคลัตทีปนีบั้นปลาย สอบได้คงนับเปรียญโทอยู่เหมือนเปรียญ ๕ ประโยค เพราะฉะนั้นพวกนักเรียนจึงกล่าวว่าเป็นประโยคแปลบูชาพระ
ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา ที่เรียกกันโดยย่อว่า สามน สอบได้เป็น เปรียญเอก ส หมายความว่าชั้นเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็น เปรียญเอก ม หมายความว่าชั้นเอกมัชฌิมา
ประโยคที่ ๙ เดิมสอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ภายหลังเปลี่ยนเป็นคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้นับเป็น เปรียญเอก อุ หมายความว่าชั้นเอกอุดม

ยังมีหลักสูตรสำหรับสอบเปรียญมอญอีกอย่างหนึ่ง จะอนุโลมตามหลักสูตรซึ่งมีในรามัญประเทศแต่โบราณ หรือมากำหนดขึ้นใหม่ในประเทศนี้ ข้อนี้หาทราบไม่ กำหนดโดยนิยมว่าพระมอญนั้นศึกษาพระวินัยเป็นสำคัญ จึงสอบแต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก เดิมกำหนดเป็น ๓ ประโยค ภายหลังเพิ่มประโยค ๔ ขึ้นอีกประโยค ๑ จึงรวมเป็น ๔ ประโยค

ประโยคที่ ๑ สอบคัมภีร์อาทิกรรม หรือปาจิตตีย์ แล้วแต่นักเรียนจะเลือก เข้าใจว่าแต่เดิมถ้าแปลได้ประโยค ๑ ก็ได้เป็นเปรียญ ครั้นตั้งประโยค ๔ ขึ้น จึงกำหนดว่าต้องสอบประโยคที่ ๒ ได้ด้วย จึงนับเป็นเปรียญ
ประโยคที่ ๒ สอบคัมภีร์มหาวรรค หรือจุลวรรค แล้วแต่นักเรียนจะเลือก สอบได้นับเป็นเปรียญจัตวา เหมือนเปรียญไทย ๓ ประโยค
ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เสมอเปรียญไทย ๔ ประโยค
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญโท เสมอเปรียญไทย ๕ ประโยค

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรนับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้นต่อมีรับสั่ง สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกันสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแลตามตำแหน่งจนสำเร็จการ

เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ การสอบพระปริยัติธรรมยังหามีกำหนดปีเป็นยุติไม่ เพราะในสมัยนั้นเป็นเวลาแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเริ่มบำรุงการเล่าเรียน บ้านเมืองก็ยังมีศึกสงครามเนืองๆ เมื่อใดเป็นเวลาว่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนถุงภูมิรู้จะเป็นเปรียญได้มีมาก จึงโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพราะฉะนั้นนานๆ จึงได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริเห็นว่าการเล่าเรียนเจริญขึ้น จึงโปรดให้กำหนดการสอบพระปริยัติธรรม ๓ ปีครั้งหนึ่งเป็นยุติ ใช้เป็นแบบต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จนถึงในรัชกาลที่ ๕

ที่สอบพระปริยัติธรรมแต่เดิม โดยปรกติสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ต่อทรงพระราชศรัทธาจะทรงฟัง จึงโปรดให้เข้ามาประชุมสอบที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษเป็นครั้งเป็นคราว เพราะฉะนั้นชั้นเดิมจึงประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาที่วัดมหาธาตุ สอบที่วัดมหาธาตุตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา จนตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อรื้อโบสถ์วิหารและสถานที่ต่างๆ ในวัดนั้นลงทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ จึงโปรดให้ย้ายมาสอบพระปริยัติธรรมที่วัดพระเชตุพน

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงชำนาญพระไตรปิฎก ได้เป็นประธานในการสอบพระปริยัติธรรมเมื่อครั้งยังทรงผนวช มีพระราชประสงค์จะทรงฟังแปลพระไตรปิฎก จึงโปรดให้ประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่ในพระบรมมหาราชวังทุกคราวเป็นนิตย์ ประชุมสอบที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามบ้าง เสด็จออกทรงฟังจนตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลที่ ๕ ประเพณีสอบพระปริยัติธรรมคงทำตามแบบแผนครั้งรัชกาลที่ ๔ สืบมาช้านาน พึ่งมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อในชั้นหลัง แต่ในหนังสือนี้จะกล่าวแต่เฉพาะลักษณการชั้นแรกเสียก่อน ส่วนชั้นหลังจะของดไว้อธิบายในตอนอื่นต่อไป

ฤดูสอบพระปริยัติธรรมมักสอบเมื่อออกพรรษาแล้ว ต่อบางคราวจึงสอบในพรรษา โดยปรกติปีใดจะสอบพระปริยัติธรรม เจ้ากระทรวงธรรมการก็รับสั่งหมายบอกไปยังเจ้าคณะสงฆ์แต่ต้นปี ว่าในปีนี้เมื่อออกพรรษาจะโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร ฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ทั้งคณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง คณะธรรมยุติ และคณะรามัญ เมื่อได้รับทราบหมาย ก็บอกไปยังเจ้าอาวาสตามพระอารามใหญ่น้อยอันขึ้นอยู่ในคณะนั้นให้ทราบทั่วกัน เพื่อจะได้สอบซ้อมพระภิกษุสามเณร ซึ่งจะเข้าสอบพระปริยัติธรรม

ฝ่ายเจ้าอาวาสซึ่งครองพระอารามหลวงเมื่อทราบว่าจะมีการสอบพระปริยัติ ที่เป็นวัดมีนักเรียนมากก็ให้สอบซ้อม แล้วเลือกสรรผู้ซึ่งจะให้เข้าสนามเอาชื่อบัญชีส่งเจ้าคณะ วัดใดไม่มีนักเรียนทรงภูมิรู้ถึงจะเข้าสนามได้ เจ้าอาวาสก็ขวนขวายหานักเรียนวัดอื่นมาสำหรับจะได้เข้าสอบเป็นเปรียญของวัดนั้น เพราะมีคติถือกันมาแต่โบราณว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามหลวง ได้อยู่เสนาสนะของหลวง และได้พระราชทานนิตยภัตรเป็นค่าอาหารที่จะบริโภคทั่วทุกรูป คือว่าทรงอุปการะมิให้ต้องอนาทรร้อนใจในการอยู่กิน จะได้ตั้งหน้าเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนาเฉลิมพระราชศรัทธา ถ้าไม่มีเปรียญในวัดใดย่อมเป็นการเสียเกียรติยศสงฆ์วัดนั้น เพราะเหมือนไม่สนองพระราชศรัทธา จึงต้องขวนขวายที่จะให้ได้เปรียญ หรือแม้อย่างต่ำก็ให้มีพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรม ให้ปรากฏว่าเอื้อเฟื้อต่อพระราชศรัทธามิได้ละเลย

ก็แต่ความสามารถในการฝึกสอนไม่เสมอกันทุกพระอาราม ผู้รู้และนักเรียนมักมีมากแต่ในวัดสำคัญ คือที่วัดใหญ่ๆ หรือวัดซึ่งเจ้าอาวาสเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกจึงเป็นสำนักที่เล่าเรียนแข็งแรง ถ้ามิใช่วัดที่เป็นสำนักเล่าเรียนเช่นนั้น นักเรียนที่คงวามรู้ถึงภูมิเปรียญก็หายาก เพราะแต่ก่อนมีความเข้าใจกันในพวกนักเรียนอย่างหนึ่ง จะเท็จจริงเพียงใดข้าพเจ้าหาทราบไม่ เข้าใจกันว่าพระราชาคณะซึ่งเป็นผู้ไล่หนังสือ ท่านมักจะให้ได้เปรียญแต่พอสมควรแก่บรรดาศักดิ์ของวัด คือถ้าเป็นวัดใหญ่ คราวหนึ่งก็ให้ได้เปรียญ ๓ รูป ๔ รูป ที่เป็นวัดเล็กก็ให้ได้เปรียญแต่รูปหนึ่งสองรูป เพราะเข้าใจกันอย่างว่านี้ วัดใดมีนักเรียนมากด้วยกัน เกรงว่าถ้าเข้าไปสอบมากเกินจำนวนที่พระราชาคณะท่านต้องการ ก็จะไม่ได้เป็นเปรียญ จึงมีผู้สมัครไปเข้าบัญชีในวัดที่ไม่มีนักเรียน ด้วยเห็นท่วงทีจะได้เป็นเปรียญเพราะเหตุที่พระราชาคณะท่านคงอยากจะให้มีเปรียญสำหรับวัดนั้นดังนี้

ข้างฝ่ายเจ้าอาวาสอันเป็นสำนักเล่าเรียนในวัดนั้นเข้าสอบน้อยไป ดูจะเป็นที่เสียหายเหมือนหนึ่งไม่เอาใจใส่บำรุงการเล่าเรียน บางวัดมีนักเรียนความรู้ถึงภูมิเปรียญแต่ ๒ รูป ๓ รูป ก็มักจัดนักเรียนที่มีความรู้พอดีพอร้ายเพิ่มเติมเข้าบัญชีอีก ๔ รูป ๕ รูป ให้ได้จำนวนว่ามีนักเรียนวัดนั้นเข้าสอบถึง ๖ รูป ๗ รูป ดังนี้ก็มี พวกนักเรียนที่อยู่ในบัญชีเพิ่มเติมนี้มักเรียกกันว่า “พวกทัพผี” แต่ก็มีผู้สมัครเป็น เพราะบางทีพวกทัพผีถูกโชคดีได้เป็นเปรียญก็มี ถึงจะไม่ได้เป็นเปรียญก็ถือกันว่า เป็นประโยชน์ที่ได้คุ้นเคยสนาม รู้ว่าพระราชาคณะผู้ไล่หนังสือท่านทักท้วงอย่างนั้นๆ จะได้เตรียมตัวไว้สำหรับคราวหน้าต่อไป

เจ้าอาวาสหานักเรียนซึ่งจะเข้าสอบเป็นเปรียญสำหรับพระอารามได้แล้ว ก็ลงมือเตรียมการให้สอบซ้อม ลักษณะการสอบซ้อมเป็น ๒ อย่าง คือ ซ้อมประโยคอย่างหนึ่ง ซ้อมวิธีสนามอย่างหนึ่ง การซ้อมประโยคนั้น ผู้ที่เป็นอาจารย์เลือกคัดความในคัมภีร์เฉพาะตอนที่มักใช้เป็นประโยคสอบในสนามมาให้นักเรียนแปลซ้อม การซ้อมวิธีสนามนั้น ผู้เป็นเจ้าของมักพากไปฝากพระราชาคณะนั้นจึงได้โอกาสซ้อม นับถือกันว่าเป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียนมาก

การสอบซ้อมทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมานี้ สอบซ้อมกันมากแต่เมื่อแปลคัมภีร์พระธรรมบท และคัมภีร์มังคลัตถทีปนี คือชั้นแรกที่จะเป็นเปรียญ เพราะนักเรียนยังใหม่ไม่เคยสนาม และความรู้ก็ยังต่ำ ครั้นเมื่อได้เป็นเปรียญแล้ว ถึงแปลประโยค ๕ ประโยค ๖ การที่ต้องสอบซ้อมกับครูบาอาจารย์ก็น้อยลง ยิ่งถึงชั้นเปรียญเอกซึ่งอาจจะดูหนังสือเอาเองได้แล้ว ก็มักจะสอบซ้อมแต่กับท่านผู้ใหญ่ เพราะเปรียญเอกมีน้อยไม่กี่รูป

เมื่อเจ้าอาวาสทำบัญชีพระภิกษุสามเณรที่จะเข้าแปลพระปริยัติธรรมยื่นต่อเจ้าคณะ เจ้าคณะรวมส่งมาให้กระทรวงธรรมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็โปรดให้ลงมือสอบพระปริยัติธรรม มีหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ คราวสอบพระปริยัติธรรมเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ยังปรากฏอยู่ ได้คัดสำเนามาลงไว้ต่อไปนี้พอให้เห็นลักษณะการ


หมายรับสั่ง


พระยาประสิทธิศุภการรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระสงฆ์สามเณรเปรียญเอก โท ตรี จัตวา ซึ่งได้รับพระราชทานนิตยภัตไตรปีอยู่นั้น เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรม และสึกจากพระพุทธศาสนา ถึงแก่กรรมก็มีบ้าง พระสงฆ์สามเณรเปรียญน้อยไป ทรงพระราชศรัทธาให้กรมหมื่นบวรรังสีและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๒๓ รูป สอบไล่พระคัมภีร์พระสงฆ์สามเณร ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรยปราสาท กำหนด ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก เพลาเพลแล้วจะได้เสด็จทรงฟังด้วย ให้กรมวังจัดที่มาทอดและสั่งเจ้าพนักงานกระบวนเสด็จ เหมือนอย่างเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ให้พร้อมทุกพนักงานนั้น

สั่งให้สังฆการีเชิญเสด็จกรมหมื่นบวรรังสีนิมนต์หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระเทพกระวี พระธรรมไตรโลก พระพรหมมุนี พระเทพมุนี พระเทพโมลี พระอมรโมลี พระอโนมมุนี พระสาสนโสภณ พระอมราภิรักขิต พระรามัญมุนี พระวินัยมุนี พระประสิทธิสุตคุณ พระวิสุทธิโสภณ พระพินิจวินัย พระกระวีวงศ์ พระปริยัติบัณฑิต พระเมธาธรรมรส พระวรญาณมุนี พระปิฎกโกศล เป็นผู้สอบไล่ นิมนต์พระสงฆ์สามเณรมารับประโยคแปลวันละ ๕ รูป

วันแรกนั้นให้นิมนต์หม่อมเจ้าเฉิดฉายเปรียญ ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระหนูเปรียญ ๔ ประโยค วัดบรมนิวาสรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆังรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรขาว วัดราชบูรณะรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรเวียน วัดบพิตรพิมุขรูป ๑ มารับประโยคต่อพระราชาคณะ

และให้สังฆการีรับหมากรับพลูต่อวิเศษถวายพระราชาคณะผู้ไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๒๘ ซอง จัดขุนหมื่นให้อยู่ปรนนิบัติ กว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้พระยาพุทธภูมิภักดีมากำกับเมื่อเวลารับประโยคจนเลิกไล่ทุกวัน ให้ขุนหมื่นกรมธรรมการกำกับพระสงฆ์สามเณรผู้แปล เมื่อรับประโยคแล้ว อย่าให้ไปซักซ้อมต่อท่านผู้รู้ได้

ให้ศุภรัตน์จัดพรมเจียมผ้าขาวลาดเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน หมอนอิงไปแต่งที่ถวายกรมหมื่นบวรรังสี และพระราชาคณะผู้สอบไล่พระสงฆ์สามเณรผู้แปลให้พอ

ให้ราชบัณฑิตจัดพระคัมภีร์ไปตั้งวันละ ๙ ฉบับให้พอ ให้มีผ้าห่อพระคัมภีร์เทียนกากะเยียด้วย แล้วให้รับเทียนต่อท่านข้างในวันละ ๕ เล่ม มาถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลดูหนังสือเหมือนเพลาค่ำ

ให้สนมพลเรือนจัดพานหมากกระโถนขันน้ำเครื่องมาตั้งถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเพลา เบิกขี้ผึ้งต่อพระคลังในซ้ายไปส่งม่านข้างในฟั่นเทียนถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลหนังสือ วันละ ๕ เล่ม เล่มหนึ่งหนัก ๒ บาท เป็นขึ้นผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท

ให้มหาดเล็กจัดที่ชาเครื่องถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเวลา

ให้เจ้ากรมปลัดกรมโรงทานจัดที่ชาไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะ ๒๓ รูป พระสงฆ์สามเณรผู้แปล ๕ รูปเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ เบิกน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อต่อพระคลังในซ้าย เบิกถ่านต่อพระคลังมหาสมบัติวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวาไปเบิกยืมอ่างเขียว ๕ ใบ ที่พระคลังในซ้ายมาตั้ง แล้วตักน้ำใส่ให้เต็มอ่างเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ แล้วให้เอาอ่างเขียว ๕ ใบไปส่งคืนพระคลังในซ้าย

พระคลังในซ้ายจ่ายขี้ผึ้งให้สนมพลเรือนไปส่งท่านข้างในฟั่นเทียนดูหนังสือวันละ ๕ เล่ม เป็นขี้ผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ให้จ่ายน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อ ให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะพระสงฆ์สามเณรผู้ไล่ ผู้แปล จ่ายอ่างเขียว ๕ ใบ ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวายืมไปตักน้ำถวายพระสงฆ์สามเณร เลิกไล่พระคัมภีร์แล้วให้เรียกอ่างเขียว ๕ ใบคืน

ให้พระคลังราชการจ่ายเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน ให้ศุภรัตน์ไปแต่งที่ถวายพระสงฆ์สามเณรผู้แปล

ให้พระคลังมหาสมบัติจัดกระโถน ขันน้ำ ไปตั้งถวายพระราชคณะพระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๑๐ สำรับ จ่ายถ่านให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระสงฆ์สามเณรวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้คลังพิมานอากาศเอาโคมตั้งมาใส่เทียนให้พระราชาคณะดูหนังสือวันละ ๔ ใบ

ให้รักษาพระองค์ซ้ายขวาจัดตะเกียงมาตั้งวันละ ๔ ตะเกียง

ให้หลวงสิทธิสาร หลวงทิพจักร จัดหมอยามาประจำวันละคน หลวงราโชวาท หลวงราชรักษา จัดหมอนวดมาประจำวันละคน

ให้เจ้ากรม ปลัดกรม ให้กรมพระอาลักษณ์ กรมสังฆการี กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต มาพร้อมกันเมื่อเพลาแปลพระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้จัดการให้พร้อมทุกพนักงาน ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเพลแล้วเสมอทุกวันไป กว่าจะสั่งให้เลิกพระคัมภีร์ ถ้าสงสัยประการใดก็ให้ไปทูลถวายพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรังสี อย่าให้ขาดได้ทุกพนักงานตามรับสั่ง จบหมายรับสั่งเพียงนี้

…………………………………………….


หมายรับสั่งฉบับนี้ คิดเวลาล่วงมาจนบัดนี้ได้ถึง ๖๐ ปี พระราชาคณะผู้ไล่ และภิกษุสามเณรผู้แปลซึ่งปรากฏนามในหมายรับสั่งล่วงลับไปหมดแล้ว แต่ยังพอสืบทราบได้โดยมาก จึงได้จัดอธิบายไว้ต่อไป

พระราชาคณะผู้สอบไล่ครั้งปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

๑. กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ วัดบวรนิเวศ เป็นประธาน คือสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงชำนาญพระไตรปิฎก แต่หาได้เข้าสอบไล่
๒. หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ ๙ ประโยค นามเดิมว่า หม่อมเจ้ารอง ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ศุขวัฒนวิไชย ครองวัดบพิตรพิมุข
๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี) ๙ ประโยค วัดประยุรวงศาวาส
๔. พระพิมลธรรม (ยิ้ม) ๖ ประโยค วัดพระเชตุพน
๕. พระธรรมวโรดม (สมบูรณ์) ๔ ประโยค วัดราชบูรณะ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระวันรัต ครองวัดพระเชตุพน
๖. พระเทพกระวี (โต) วัดระฆัง ชำนาญพระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เข้าสอบเปรียญ ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์
๗. พระธรรมไตรโลก (รอด) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดโมลีโลก
๘. พระพรหมมุนี (ทับ) ๙ ประโยค วัดโสมนัสวิหาร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระพิมลธรรม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระวันรัต
๙. พระเทพมุนี (กัน) ๗ ประโยค ครองวัดสุวรรณาราม
๑๐. พระเทพโมลี (เนียม) ๘ ประโยค ครองวัดกัลยาณมิตร ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์
๑๑. พระอมรโมลี (นพ) ๙ ประโยค ครองวัดบุปผาราม
๑๒. พระอโนมมุนี (ศรี) ๙ ประโยค ครองวัดปทุมคงคา ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระพรหมมุนี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์
๑๓. พระสาสนโสภณ (สา) ๙ ประโยค วัดบวรนิเวศ ต่อมาครองวัดราชปะดิษฐ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ เลื่อนสมณศักดิ์เทียบที่พระธรรมวโรดม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระอริยวงศษคตญาณ เจ้าคณะเหนือ แล้วเป็นสมเด็จพระสังฆราช
๑๔. พระอมราภิรักขิต (เกิด) ๙ ประโยค ครองวัดบรมนิวาส
๑๕. พระรามัญมุนี (ยิ้ม) ๘ ประโยค ครองวัดบวรมงคล
๑๖. พระวินัยมุนี (บัว) ๘ ประโยค ครองวัดอมรินทราราม
๑๗. พระประสิทธิสุตคุณ (อ้น) ๘ ประโยค ครองวัดสุทัศน์ ภายหลังเป็นพระเทพกระวี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมไตรโลก แล้วเลื่อนเป็นพระพิมลธรรม มาครองวัดพระเชตุพน
๑๘. พระวิสุทธิโสภณ (เหมือน) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดมหรรณพาราม
๑๙. พระวินิจวินัย (จีน) ๗ ประโยค วัดราชโอรส ต่อมาเป็นพระธรรมไตรโลก ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์
๒๐. พระกระวีวงศ์ (ทอง) ๘ ประโยค วัดราชนัดดา ต่อมาเป็นพระเทพมุนี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์ ไปครองวัดอรุณ ต่อมาต้องลดลงเป็นพระเทพมุนีคราวหนึ่ง แล้วเป็นพระธรรมไตรโลก
๒๑. พระเมธาธรรมรส (ถิน) ..... ประโยค ครองวัดพิชัยญาติการาม
๒๒. พระปริยัติบัณฑิต (ครุฑ) ๗ ประโยค อยู่วัดกัลยาณมิตร
๒๓. พระวรญาณมุนี (น้อย) ๙ ประโยค ครองวัดจักรวรรดิราชาวาส
๒๔. พระปิฎกโกศล (ฉิม) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ อยู่วัดราชบูรณะ


หม่อมเจ้าราชวงศ์ผู้ที่เข้าแปลหนังสือ

๑. หม่อมเจ้าพระฉายเฉิด ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค แล้วลาผนวช ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด และเลื่อนเป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์
๒. หม่อมราชวงศ์พระหนู ๔ ประโยค วัดบรมนิวาส เป็นบุตรหม่อมเจ้าโสภณ ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยครวมเป็น ๗ ประโยค แล้วลาสิขา ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นขุนวิสุทธากร แล้วเลื่อนเป็นพระผดุงศุลกกฤตษ์ ต่อมาเป็นพระยาอิศรพันธ์โสภณ
๓. หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆัง เป็นบุตรหม่อมเจ้าน้อย ในกรมหมื่นนราเทเวศร์ ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค แต่จะได้คราวนี้กี่ประโยคไม่ทราบแน่
๔. หม่อมเจ้าสามเณรขาว วัดราชบูรณะ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ แปลตกไม่ได้เป็นเปรียญ แล้วลาผนวชมารับราชการ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์
๕. หม่อมเจ้าสามเณรเวียน วัดบพิตรพิมุข เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ แปลได้ ๓ ประโยค


ผู้อื่นที่ปรากฏในหมายรับสั่ง

๑. กรมหมื่นอุดมรังสี เวลานั้นได้ทรงกำกับกรมสังฆการีและธรรมการ
๒. พระยาพุทธภูมิภักดี สืบได้ความว่าชื่อใย เดิมเป็นเปรียญ แล้วลาสิกขาออกมาได้ภรรยาอยู่ทางโรงวิเสท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช เสด็จทรงบิณฑบาตมาถึงบ้าน มหาใยตักบาตรถวายแล้วอธิฐานว่า “ขอให้เป็นปัจจัยได้ถึงพุทธภูมิ” ดังนี้ คราวหลังเสด็จไปบิณฑบาตอีก แกตักบาตรถวายแล้วก็อธิฐานอย่างนั้นอีกทุกคราวจนทรงคุ้นเคย ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงตั้งให้เป็นหลวงทานาธิบดี เจ้ากรมโรงทาน ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระทานาธิบดี รับราชการอยู่จนแก่ชรา จึงทรงตั้งเป็นพระยาพุทธภูมิภักดี ตำแหน่งผู้กำกับถือน้ำ ที่โปรดให้เป็นผู้เปิดประโยคสอบพระปริยัติธรรม ดังปรากฏในหมายรับสั่งเห็นจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นเปรียญ และเป็นผู้ละอายต่อบาป คงจะไม่ลำเอียงแก่นักเรียน


ความที่ปรากฏในหมายรับสั่งว่า ให้พระภิกษุสามเณรผู้จะแปลพระปริยัติธรรมมาจับประโยค ข้อนี้เป็นเบื้องต้นของการสอบพระปริยัติธรรม คือพระราชาคณะผู้อำนวยการรูปหนึ่ง ชั้นเดิมจะเป็นตำแหน่งใดหาทราบไม่ แต่ในชั้นปลายรัชกาลที่ ๔ และต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์ มาตั้งแต่ท่านยังเป็นที่พระสาสนโสภณ เป็นผู้กะประโยคสอบพระปริยัติธรรมในคัมภีร์บทหนึ่ง จะเอาความตรงไหนเป็นประโยคสอบบ้าง ท่านเลือกแล้วให้เขียนเป็นฉลากบอกว่าคัมภีร์นั้น วัตถุนั้น ขึ้นตรงนั้นจบประโยคตรงนั้น แล้วพักใส่ซองผนึกไว้ จัดฉลากเหล่านี้ไว้เป็นประโยคๆ เช่นฉลากคัมภีร์พระธรรมบท จัดเป็นประโยคหนึ่งส่วย ๑ ประโยคสองส่วน ๑ ประโยคสามส่วน ๑

วันไหนถึงกำหนดพระภิกษุสามเณรรูปใดจะแปลประโยคไหน เวลาเช้าวันนั้นก็ไปจับฉลากประโยคนั้นที่วัดราชประดิษฐ์ แล้วถือฉลากของตนเข้ามายังสถานที่แปลพระปริยัติธรรมราวเวลา ๙ นาฬิกาก่อนเที่ยง ที่นั้นเจ้าคณะสงฆ์ผู้เป็นนายด้านกับพนักงานกรมสังฆการีสำหรับกำกับและราชบัณฑิตอยู่พร้อมกัน สังฆการีกับราชบัณฑิตพร้อมกันเปิดผนึกดูฉลากประโยคที่จะแปลจดลงบัญชีแล้ว แล้วเจ้าคณะนายด้านกับสังฆการีก็ควบคุมนักเรียนแต่เวลานั้นไป มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดลอบเข้ามาบอกใบ้ หรือให้เลศนัยอย่างหนึ่งอย่างใด ให้นักเรียนดูหนังสือเตรียมแปลแต่โดยลำพัง ครั้นถึงเวลาเพลมีสำรับของหลวงเลี้ยงทั้งนายด้านและผู้แปลด้วยกัน

การควบคุมตอนนี้ แต่ก่อนเห็นจะไม่สู้กวดขัน ปรากฏว่ามีเหตุเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเป็นในเวลาเมื่อกรมหมื่นอุดมรัตนราษีสิ้นพระชนม์แล้ว พระธรรมการ (ศุข) เป็นหัวหน้าในเจ้าพนักงานประจำการแปลพระปริยัติธรรม พระธรรมการ (ศุข) นั้นชำนาญพระปริยัติธรรม มีชื่อเสียงว่าหนังสือดีมาแต่เมื่อบวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เป็นเปรียญ ๙ ประโยค และเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต ครั้นลาสิกขามารับราชการในรัชกาลที่ ๔ จึงได้เป็นที่พระธรรมการ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เปรียญองค์ใดเป็นที่ชอบพอของพระธรรมการแล้ว พระธรรมการลอบซ้อมหนังสือให้ในเวลาที่คุมอยู่เนื่องๆ จนความทราบถึงพระราชาคณะผู้ไล่ แต่สิ้นรัชกาลที่ ๔ เสีย หาทันจะได้ว่ากล่าวกันอย่างไรไม่

มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชาคณะหวังจะแก้การที่ลอบซ้อมไล่หนังสืออย่างกวดขัน พระภิกษุสามเณรที่เข้าแปลพระปริยัติธรรมคราวนั้นตกเสียโดยมาก แล้วโปรดให้ประกาศสงฆ์ซ้ำลงมาเมื่อจะแปลประโยค ๔ อีกชั้นหนึ่ง ดังสำเนาที่จะปรากฏต่อไปข้างหน้า สอบพระปริยัติธรรมคราวนั้นได้แต่เปรียญ ๓ ประโยค ๑๒ รูป ชั้นประโยค ๔ ขึ้นไปตกหมด ไม่มีผู้ใดแปลได้สักรูปเดียว เลยเป็นเรื่องเลื่องลือกันมาช้านาน การควบคุมคงกวดขันมาแต่ครั้งนั้น

จำนวนพระภิกษุสามเณรเข้าแปลพระปริยัติธรรมแต่เดิมมา กำหนดวัน ๕ รูป ดังปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น มาลดลงเป็นวันละ ๔ รูปเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แต่จะลดมาแต่คราวแรกหรือจะมาลดเมื่อแปลคราวที่ ๑ หาทราบแน่ไม่ จัดลำดับให้เข้าสอบเป็นคณะๆ ไป ตั้งต้นสอบคณะกลางกับคณะธรรมยุติกา แล้วถึงคณะเหนือและคณะใต้ สังฆการีเป็นผู้วางฎีกากะให้รูปใดเข้าแปลวันใด พระภิกษุเข้าแปลก่อนแล้วถึงสามเณร จนหมดในคณะหนึ่ง แล้วก็วางฎีกาคณะอื่นต่อไป ในชั้นแรกให้พระภิกษุสามเณรที่ยังไม่ได้เป็นเปรียญเข้าแปลคัมภีร์พระธรรมบทก่อน กำหนดแปลวันละประโยค รูปใดแปลได้ประโยค ๑ วันแรก รุ่งขึ้นให้เข้าแปลประโยค ๒ ถ้าได้ประโยค ๒ ก็แปลประโยค ๓ ในวันต่อไป เมื่อแปลได้ครบ ๓ ประโยค นับว่าเป็นเปรียญชั้นสามัญแล้ว ให้พักเสียคราวหนึ่ง เผื่อรูปใดจะเข้าสอบประโยค ๔ ต่อไป จะได้มีเวลาฝึกซ้อมประโยค ๔

เมื่อสอบผู้แปลคัมภีร์ธรรมบทแล้ว แต่นี้ถึงเวลาสอบเปรียญชั้นสูง ตั้งแต่ประโยค ๔ เป็นต้นไป เปรียญที่มีประโยคแล้วจำนวนน้อย ไม่มากเหมือนนักเรียนที่แปลใหม่ จึงวางฎีกาคละกันทุกคณะ เป็นแต่กำหนดลำดับตามประโยค คือ ให้เปรียญเก่าชั้น ๓ ประโยค ที่สอบได้ในคราวก่อนๆ เข้าสอบประโยค ๔ ก่อน เมื่อเปรียญเก่าสอบประโยค ๔ หมดแล้ว ถ้ามีนักเรียนซึ่งสอบได้ ๓ ประโยคในคราวนั้นสมัครจะเข้าสอบประโยค ๔ ก็ให้เข้าสอบต่อไปจนหมดจำนวน แล้วตั้งต้นสอบประโยค ๕ ให้เปรียญเก่าเข้าสอบก่อนเปรียญใหม่ เป็นทำนองเดียวกันทุกประโยคไป เมื่อสอบเปรียญไทยหมดแล้วจึงถึงเวลาสอบเปรียญมอญ ก็จัดโดยทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

เวลาสอบพระปริยัติธรรม ลงมือประมาณบ่าย ๓ โมงทุกวัน แต่เวลาเลิกไม่เป็นยุติ แล้วแต่ผู้แปลจะได้หรือจะหนีเร็วช้าอย่างไร แต่คงได้เลิกในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๑๙.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐ นาฬิกาเป็นพื้น ถึงวันพระวันโกนหยุดพักรวมเดือนละ ๘ วัน การสอบพระปริยัติธรรมคราวหนึ่ง แต่เริ่มต้นจนเสร็จกินเวลาประมาณ ๒ เดือน

พระราชาคณะที่มาประชุมสอบพระปริยัติธรรม กำหนดเฉพาะพระราชาคณะผู้ใหญ่ และพระราชาคณะที่ชำนาญพระไตรปิฎก มีหมายรับสั่งกำหนดนามผู้เป็นประธานและรายนามพระราชาคณะที่ให้นอมนต์มาประชุมทุกคราว ทำนองอย่างปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น รวมพระราชาคณะประมาณ ๒๕ ไปหา ๓๐ รูปเป็นเกณฑ์ ผู้เป็นประธานมีหน้าที่สำหรับตัดสินปัญหาและข้อขัดข้องที่จะเกิดขึ้น ส่วนพระราชาคณะองค์อื่นนั้น ที่เป็นผู้สอบไล่เฉพาะท่านผู้ใหญ่ ๓ องค์ ๔ องค์ นอกจากนั้นเป็นแต่ผู้นั่งฟัง มีคำกล่าวกันมาว่า ที่ให้พระราชาคณะมาประชุมในการสอบพระปริยัติธรรมมากด้วยกันนั้น ที่จริงประสงค์จะให้มาฟัง เพื่อประโยชน์ในทางความรู้ของพระราชาคณะนั้นๆ เอง จะได้ฝึกสอนสานุศิษย์ หาใช่มาเป็นผู้สอบไล่ทั้งหมดไม่ เพราะฉะนั้นต่อพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้สอบไล่มาถึง จึงได้ลงมือสอบเสมอทุกวัน

วิธีสอบพระปริยัติธรรมนั้น ให้นักเรียนเข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะทีละรูป ชั้นนักเรียนแปลคัมภีร์พระธรรมบท แต่เดิมกำหนดให้แปลหนังสือ ๓ ลาย คือ ๓๐ บรรทัด ทีหลังเห็นว่ายากนัก ถ้าสอบอย่างกวดขัน นักเรียนไม่ใคร่สามารถจะแปลจบประโยคได้ทันกำหนดเวลา ในรัชกาลที่ ๕ จึงลดลง ๑๐ บรรทัด คงให้แปลแต่ ๒ บรรทัดเป็นจบประโยค (เริ่มลดแค่คราวแปลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามคราวแรก เมือง พ.ศ. ๒๔๒๗) แปลคัมภีร์อื่นตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไป คงให้แปล ๒๐ บรรทัด และประโยค ๙ แปล ๓๐ บรรทัดตามเดิม

การที่แปล นักเรียนบางรูปเข้าไปแปลพักเดียวจบประโยคก็มี แต่บางรูปเข้าไปแปลไปติดศัพท์แปลไม่ถูกบ้าง เรียงความเข้าประโยคไม่ถูกบ้าง แก้ไขไม่ไหวเห็นเหลือกำลังของดไม่แปลต่อไป เช่นนี้เรียกว่า “หนี” ก็มี บางรูปพยายามแก้ไขอยู่จนหมดเวลากำหนด ก็ไม่จบประโยคได้ เช่นนี้เรียกว่า “ตก” ก็มี เป็นอันแปลไม่สำเร็จทั้ง ๒ พวก แต่ท่านผู้ไล่มักสงเคราะห์นักเรียนโดยกรุณา เป็นต้นว่า ถ้าเห็นนักเรียนติดศัพท์แปลไม่ถูก ท่านมักให้วิเคราะห์ คือบอกให้เป็นภาษาบาลี ว่าศัพท์นั้นคือกิริยาอาการอย่างนั้นๆ หรือเป็นชื่อของนั้นๆ ถ้านักเรียนรู้ภาษาบาลีก็อาจจะแปลศัพท์นั้นถูกได้ แต่ถ้าความรู้ไม่พอจะเข้าใจอธิบายในภาษาบาลีก็เปล่าไป ถ้ารูปใดเข้าไปติดทางประโยคแปลไม่ถูกความเห็นจะแก้ไขให้ตลอดไปในขณะนั้นไม่ได้ ท่านก็ยอมให้กลับออกมาพักตริตรองเสียคราวหนึ่ง ถึงรูปที่ท่านให้วิเคราะห์แปลศัพท์ ถ้าเห็นยังฉงนก็ยอมให้กลับออกมาพักพิจารณาวิเคราะห์เสียคราวหนึ่งเหมือนกัน ในระหว่างนั้นให้นักเรียนรูปอื่นที่เป็นเวรแปลวันเดียวกันเข้าไปแปล ถ้านักเรียนรูปนั้นแปลจบ หรือเข้าไปติดต้องกลับออกมาแก้ ก็เรียกนักเรียนอื่นอีก จนบรรจบรอบจึงถึงวาระนักเรียนที่ออกมาแก้ทีแรกต้องกลับเข้าไปแปลอีก เป็นทางที่ท่านผ่อนผันให้นักเรียนมีเวลาพักพอตริตรองได้บ้างดังกล่าวมานี้

เวลาซึ่งกำหนดให้นักเรียนแปลหนังสือนั้น ประเพณีเดิมไม่ได้กำหนดด้วยนาฬิกา ใช้เทียนสัญญาณเป็นกำหนด คือลงมือแปลแต่เวลาบ่าย ๑๕.๐๐ นาฬิกาไปจนมืดค่ำ ก็จุดเทียนสัญญาณตั้งไว้ในสนาม พอเทียนหมดเป็นเลิกสอบพระปริยัติธรรมในวันนั้น ถ้ายังมีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่กี่รูปก็เป็นตกหมด วิธีใช้เทียนสัญญาณอย่างว่านี้ มักเกิดลำบากแก่ผู้แปลและผู้ไล่เนืองๆ ที่ลำบากแก่ผู้แปลนั้น คือในวันที่มีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่จนค่ำหลายรูปด้วยกัน บางรูปจวนจบประโยค แต่บางรูปแปลหนังสือไปได้น้อย รูปที่ยังแปลได้น้อยก็ตั้งหน้าพยายามจะแปลให้จบประโยคก่อนเทียนหมด ฝ่ายรูปที่แปลได้มากก็ไม่มีโอกาสจะเข้าแปล จนเทียนหมดก็พากันตกทั้งหมด ดังนี้มีเนืองๆ ผู้แปลต้องผ่อนผันกันเอง บางทีถ้าเกิดคั่งกันเช่นว่า นักเรียนที่ใจอารีต้องยอมหนีเสีย ให้เพื่อนกันได้โอกาสจึงแปลได้จบประโยค

แต่บางทีก็เกิดลำบากตรงกันข้าม เช่นวันใดนักเรียนที่เข้าแปล แปลจบไปเสียบ้าง หนีไปเสียบ้าง เหลืออยู่จนเวลาค่ำ แต่ผู้ที่แปลปลกเปลี้ยรูปเดียว จะแปลให้จบก็ติด แปลไปไม่ได้ จะออกแก้ไขตริตรองก็ไม่ได้ด้วยไม่มีตัวเปลี่ยน ถ้าผู้แปลไม่หนี ผู้ไล่ก็เลิกไม่ได้ ด้วยเทียนยังไม่หมด บางทีในวันนั้นต้องเสียเวลาเปล่านานๆ ทีเดียว ต่อมา (ในคราวแปลที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์คราวที่ ๒ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๕) จึงเลิกวิธีใช้เทียนสัญญาณ เปลี่ยนเป็นใช้นาฬิกาแทน กำหนดเวลาให้แก่นักเรียนแปลพระธรรมบทรูปละ ๖๐ นาที ถ้าแปลประโยคสูงขึ้นไปให้รูปละ ๙๐ นาทีเป็นกำหนด ถ้ารูปใดถูกประโยคยาก บางทีท่านผู้ไล่ยอมเพิ่มเวลาให้อีก ๓๐ นาทีก็มีบ้าง เวลาที่กำหนดนี้ นับเฉพาะแต่เวลาที่เข้าแปล ถ้าออกมาพักไม่นับเวลา อย่างนี้นักเรียนได้โอกาสเสมอกันทุกรูปไม่มีคั่งเหมือนแต่ก่อน

คงมีแต่ทางที่จะช่วยกัน ดังเช่นบางวันผู้แปลเหลืออยู่ด้วยกัน ๒ รูป รูป ๑ จวนจะจบประโยค อีกรูป ๑ หนังสือยังอยู่มากเช่นนี้ รูปที่แปลจวนจบอาจจะช่วยได้โดยทำติด แล้วขอออกมาแก้ คอยผลัดกันแปลกับรูปที่หนังสือยังอยู่มาก พอให้ผู้แปลรูปนั้นได้มีเวลาตริตรองมากขึ้น จนแปลได้จบประโยคด้วยกันทั้ง ๒ รูป วิธีผ่อนผันอย่างนี้บางทีท่านผู้ไล่ก็สั่งเอง ด้วยสงสารนักเรียนที่หนังสือยังเหลือมาก เพราะถ้าเหลือแปลอยู่แต่รูปเดียว ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พักตริตรองแก้ไข ขืนแปลตะบันไปก็หมดเวลาเปล่า

วิธีสอบพระปริยัติธรรมเป็นดังว่ามานี้เหมือนกันทุกประโยค แต่ประโยคสูงถึงชั้นเปรียญเอกนั้น ยอมให้ดูหนังสือซึ่งสำหรับแก้ความในคัมภีร์ที่สอบได้ คือถ้าแปลคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสิทิกาประโยค ๗ ยอมให้ดูหนังสือคัมถีร์โยชนาและคัมถีร์ฎีกาปฐมสมันตัปปาสาทิกาอีก ๒ คัมภีร์ ถ้าแปลคัมภีร์วิสุทธิมรรคประโยค ๘ ยอมให้ดูคัมภีร์มหาฎีกา คัมถีร์จุลฎีกาวิสุทธมรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรคคันถีด้วยอีก ๓ คัมภีร์ คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะประโยค ๙ ยอมให้ดูฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะได้ฉะนี้

วิธีสอบเปรียญมอญนั้นผิดกับสอบเปรียญไทย เหตุด้วยพระราชาคณะไทยไม่รู้ภาษามอญ แต่ฟังสำเนียงมอญอ่านภาษาบาลีเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นวิธีสอบ เมื่อพระมอญแปลภาษาบาลีเป็นภาษามอญ พระราชาคณะมอญเป็นผู้ไล่ แล้วผู้แปลต้องบอกสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ภาษบาลี สำหรับพระราชาคณะไทยสอบความรู้ อีกชั้นหนึ่ง ได้ทั้ง ๒ อย่างจึงนับว่าเป็นสำเร็จ


Create Date : 22 ธันวาคม 2550
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 7:57:56 น. 5 comments
Counter : 2830 Pageviews.  
 
 
 
 
ตำนานการแปลพระปริยัติธรรม ในรัชกาลที่ ๕

ก่อนที่จะกล่าวถึงการแปลพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัย จะต้องอธิบายถึงวิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่าเสียก่อน เพื่อจะได้ทราบลักษณะการว่าวิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่า กับวิธีแปลพระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัยผิดกันอย่างไร วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่าในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นมาดังนี้

ครั้งที่ ๑ แปลพระปริยัติธรรมที่พระมหาปราสาท เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทกำหนดให้แปลหนังสือ ๓ ลาน คือ ๓๐ บรรทัด ชั้นนักเรียนที่แปลประโยคสูงตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไปแปล ๒ ลาน คือ ๒๐ บรรทัด ประโยค ๙ คงแปล ๑๐ บรรทัดตามเดิม กำหนดนักเรียนที่เข้าแปลวันละ ๕ รูป ลงมือแปลแต่เวลาราวบ่าย ๑๕.๐๐ นาฬิกาไปจนเวลามืดก็จุดเทียนสัญญาณที่ตั้งไว้ในสนาม พอเทียนหมดเป็นเลิกการสอบพระปริยัติธรรมในวันนั้น ถ้ายังมีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่กี่รูปก็ตกหมด วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมนี้ เฉพาะนักเรียนที่แปลชั้นธรรมบทมีความลำบากอยู่อย่างหนึ่ง คือถ้าแปลได้ประโยค ๑ ตกประโยค ๒ หรือแปลประโยค ๒ ได้ ตกประโยค ๓ ถึงคราวหน้าต้องตั้งต้นแปลประโยค ๑ ไปใหม่ ต้องแปลให้ได้ ๓ ประโยคในคราวเดียว จึงนับเป็นได้เป็นดังนี้ ตลอดมาจนถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ แปลพระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์ฯ ครั้งที่ ๑๑ จึงยอมให้แปลประโยคไหนได้แล้วก็เป็นได้ ไว้ตามมหามกุฎราชวิทยาลัย ถึงคราวหน้าก็แปลต่อประโยคที่ได้ไว้แล้วทีเดียว วิธีนี้ใช้มาจนสิ้นรัชกาลที่ ๕

คราวที่ ๒ แปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ คราวนี้ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทลดหนังสือลง ๑๐ บรรทัด คงให้แปลแต่ ๒๐ บรรทัด เป็นจบประโยค ด้วยเห็นว่าแปลทางบรรทัดนั้นยาวนัก ถ้าสอบอย่างกวดขันนักเรียนไม่ใคร่สามารถจะแปลให้จบประโยคได้ทันกำหนดเวลา

คราวที่ ๓ แปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เมื่อปีมะเมียพ.ศ. ๒๔๒๕ คราวนี้กำหนดเวลาในตอนต้นๆ ยังใช้เทียนสัญญาณตามแบบเดิม แต่ตกมาในตอนปลายเปลี่ยนเป็นใช้นาฬิกาแทน เห็นจะเป็นเพราะเหตุที่ใช้เทียนสัญญาณนั้น มักเกิดลำบากแก่ผู้แปลและผู้ไล่เนืองๆ ที่ลำบากแก่ผู้แปลนั้น คือในวันที่มีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่จนค่ำหลายรูปด้วยกัน บางรูปจวนจบประโยค แต่บางรูปแปลหนังสือไปได้น้อย รูปที่ยังแปลได้น้อยก็ตั้งหน้าพยายามจะแปลให้จบประโยคก่อนเทียนหมด ฝ่ายรูปที่แปลได้มากก็ไม่มีโอกาสจะเข้าไปแปลได้ จนเทียนหมดก็พากันตกทั้งหมด ดังนี้มีเนืองๆ ผู้แปลต้องผ่อนผันกันเอง บางทีถ้าเกิดคั่งกันเช่นว่า นักเรียนที่ใจอารีต้องยอมหนีเสีย ให้เพื่อนกันได้โอกาสจึงแปลได้จบประโยค

แต่บางทีก็เกิดลำบากตรงกันข้าม เช่นวันใดนักเรียนที่เข้าแปล แปลจบไปเสียบ้าง หนีไปเสียบ้าง เหลืออยู่จนเวลาค่ำแต่ผู้ที่แปลปลกเปลี้ยรูปเดียว จะแปลให้จบก็ติดแปลไปไม่ได้ จะออกแก้ไขตริตรองก็ไม่ได้ด้วยไม่มีตัวเปลี่ยน ถ้าผู้แปลไม่หนี ผู้ไล่ก็เลิกไม่ได้ ด้วยเทียนยังไม่หมด บางทีในวันนั้นต้องเสียเวลาเปล่านานๆ ทีเดียว จึงเลิกวิธีใช้เทียนสัญญาณ เปลี่ยนเป็นใช้นาฬิกาแทน กำหนดเวลาให้แก่นักเรียนแปลพระธรรมบทรูปละ ๙๐ นาทีเสมอกันทุกรูป แต่บางครามกรรมการเห็นว่าหนังสือที่แปลนั้นยาก เพิ่มเวลาให้อีก ๓๐ นาทีเป็นพิเศษก็มีบ้าง

คราวที่ ๔ แปลพระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙ คราวนี้ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทแยกเป็น ๒ กอง เรียกว่า กองขวากอง ๑ กองซ้ายกอง ๑ ผู้แปลต้องจับฉลากกอง แต่จับฉลากเมื่อแปลประโยค ๑ คราวเดียว ประโยค ๒ – ๓ ก็เวียนไปไม่ต้องจับ คือ ถ้าประโยค ๑ ถูกกองขวา ประโยค ๒ ก็ต้องเวียนไปกองซ้าย ประโยค ๓ กลับมาแปลกองขวาอีก ต่อถึงตอนแปลประโยคสูงตั้งแต่ ๔ ขึ้นไป จึงรวมเป็นกองเดียวตามแบบเดิม

คราวที่ ๕ แปลพระปริยัติธรรมที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ คราวนี้เพิ่มนักเรียนชั้นแปลธรรมบทขึ้นอีกวันละ ๓ รูป แบ่งแปลในกองขาว ๔ รูป กองซ้าย ๔ รูป คงจับฉลากกองอย่างคราวที่ ๔ ต่อประโยค ๔ ขึ้นไปจึงรวมเป็นกองเดียว แปลวัน ๕ รูปตามเดิม

วิธีแปลพระปริยัติธรรมในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ก่อนตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัยรวม ๕ คราว เป็นดังกล่าวมานี้

ครั้นถึงปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสถานที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามศึกษาสถานนั้นว่า “มหามกุฎราชวิทยาลัย” ทรงพระราชอุทิศในพระบรมนามาภิไธยแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ทรงประดิษฐานและทำนุบำรุงธรรมยุตินิกายมาแต่ก่อน มีคำปรารภการตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย และการจัดระเบียบการศึกษา และระเบียบการสอบพระปริยัติธรรม พิมพ์ไว้ในหนังสือธรรมจักษุ ร.ศ. ๑๑๓ (พ.ศ. ๒๔๓๗) ซึ่งได้คัดมาลงไว้ดังต่อไป


การตั้งมหามกุฎราชวิทยาลัย

พระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมศาสดาของเราทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกแล้ว ทรงแนะนำสั่งสอนประชุมชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ให้ได้ดวงตาคือปัญญาเห็นสิ่งผิดสิ่งชอบแล้ว ปฏิบัติเว้นสิ่งที่ผิดเสีย ดำเนินในสิ่งที่ชอบด้วยกายวาจาใจ ได้บรรลุประโยชน์ทั้งสามคือประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ภายภาคหน้า ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพานซึ่งเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวงแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน ดุจดวงอาทิตย์อันอุทัยส่องโสลกให้ชัชวาลแล้วอัสดงคตแล้ว ฉะนั้น ช้านานประมาณได้ถึง ๒๔๓๗ ปีเศษแล้ว ยังได้นำสืบๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ แม้เราทั้งหลายที่เกิดในภายหลัง ยังได้ยินได้ศึกษาได้รู้ได้ปฏิบัติตาม ทราบความผิดและชอบ ก็เพราะท่านแต่ปางก่อนได้สั่งสอนกันเป็นลำดับสืบมา

จึงควรเห็นว่าการเล่าเรียนศึกษาพระคัมภีร์ เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนา สามารถจะนำพระพุทธศาสนาให้เป็นไปนานได้ เมื่อยังมีผู้ศึกษาเข้าใจแล้วปฏิบัติตามอยู่เพียงใด พระพุทธศาสนาก็ยังเป็นอยู่เพียงนั้น แม้ถึงพระพุทธเจ้า เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า อานนท์สักหน่อยท่านทั้งหลายจะคิดว่าศาสนามีพระศาสดาล่วงไปแล้ว บัดนี้พระศาสดาของเราทั้งหลายไม่มี ดังนี้ ข้อนี้ ท่านทั้งหลายไม่ควรเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยอันใดที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น เมื่อเราล่วงไปแล้ว จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย ดังนี้ การเล่าเรียนคัมภีร์ของภิกษุสามเณรจึงเป็นธุระสำคัญอย่างหนึ่งที่ควรจะทำนุบำรุงให้เจริญ

อีกประการหนึ่ง เหล่าชนที่นับถือพระพุทธศาสนา แม้ถึงมีมาก แต่จะหาผู้ที่เข้าใจชัดเจนในศาสนาที่ตนนับถืออยู่ได้โดยยากยิ่งนัก เพราะไม่ค่อยจะมีหนังสือแสดงคำสั่งสอน ซึ่งเป็นเครื่องจะชักนำให้เข้าใจชัดเจนดีเหมือนหนังสือสอนศาสนาอื่นๆ จะเข้าใจชัดเจนดีก็แต่ผู้ที่มีกำลังที่จะสะสมหนังสือไว้อ่านได้ กับคนที่ได้ไปมาหาสู่สนทนากับท่านผู้รู้และฟังธรรมเทศนาในวัดนั้นๆ คนสามัญนอกจากนี้ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจให้ชัดเจนได้ เป็นแต่นับถือไปตามกันเท่านั้น การแนะนำสั่งสอนประชุมชน ให้เข้าใจพุทธศาสนาชัดเจนจึงเป็นธุระสำคัญที่ควรจะเอาใจใส่

อีกประการหนึ่ง เป็นธรรมเนียมมาในประเทศของเราว่า วัดเป็นที่เล่าเรียนศึกษาวิชาหนังสือไทย และเลขของเด็กชาวเมืองทั้งหลาย บิดามารดาญาติผู้ใหญ่ของเด็ก เมื่อเห็นเด็กมีอายุสมควรเรียนหนังสือและเลขได้แล้ว ก็พาไปฝากพระในวัดนั้นๆ เพื่อให้ฝึกสอน แต่การฝึกสอนนั้น ต่างครูต่างอาจารย์กัน ถ้าครูที่เข้าใจในการฝึกสอนและเอาใจใส่ ทั้งเด็กก็เป็นเด็กฉลาดมีอุตสาหะก็เรียนรู้ได้ดี ถ้าครูไม่ฉลาดในการสอน หรือไม่เอาใจใส่ก็ดี เด็กเป็นคนโง่หรือเกียจคร้านก็ดี ก็รู้ไม่ได้ดี ข้อนี้ควรจัดการฝึกสอนเด็กชาวเมืองให้เป็นหลักฐาน เด็กทั้งหลายจะได้มีความรู้ดี ตามสมควรแก่ปัญญาและอุตสาหะของตน

เพื่อจะให้เป็นประโยชน์ทั้งสามที่กล่าวมานี้ สำเร็จบริบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นผู้บำรุงพระพุทธศาสนา ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่เล่าเรียนของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกายขึ้นที่วัดนิเวศวิหาร พระราชทานนามศึกษาสถานนั้นว่า มหามกุฎราชวิทยาลัย ทรงพระราชอุทิศในพระบรมนามาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าสยาม สมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐานและทำนุบำรุงธรรมยุติกนิกายมาแต่ก่อน และทรงบริจาคพระราชทานทรัพย์สำหรับบำรุงวิทยาลัยให้เป็นไปด้วย

พระเถระในธรรมยุติกนิกาย ได้เปิดมหามกุฎราชวิทยาลัย ให้เป็นที่ศึกษาของภิกษุสามเณรในคณะธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ซึ่งเป็นมหามงคลวารนับแต่กาลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบบรมขัติยราชสันตติวงศ์มาได้ ๒๕ ปีบริบูรณ์

เมื่อได้เปิดวิทยาลัยแล้วอย่างนี้ พระเถรานุเถระซึ่งเป็นผู้จัดการ ได้ดำริจะจัดการ ๓ ข้อข้างต้นนั้น โดยลำดับดังต่อไปนี้

๑. การเล่าเรียนของภิกษุสามเณรนั้น ประเพณีเดิมเคยเรียนมูลปกรณ์ก่อนแล้ว จึงเรียนอรรถกถาธรรมบท มังคลัตถทีปนี สารัตถสังคหะ เป็นต้น ถึงกำหนดสามปี มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้ง ๑ บางคราวขัดข้อง ก็เลื่อนออกไปถึงหกปีครั้ง ๑ หนังสือสำหรับสอนนั้นมีสองอย่าง สำหรับฝ่ายไทยอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายรามัญอย่าง ๑ สำหรับฝ่ายไทยนั้นจัดเป็น ๙ ชั้น อรรถกถาธรรมบทแบ่งเป็นสามชั้น คือชั้นที่ ๑ ชั้นที่ ๒ ชั้นที่ ๓ มังคลัถทีปนีบั้นต้นชั้นที่ ๔ สารัตถสังคหะชั้นที่ ๕ มังคลัตถทีปนีบั้นปลายชั้นที่ ๖ ปฐมสมันปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัยชั้นที่ ๗ วิสุทธิมรรคชั้นที่ ๘ สารัตถทีปนีฎีกาพระวินัยชั้นที่ ๙

ภิกษุสามเณรผู้จะสอบความรู้ จับประโยคแล้ว รับหนังสือตามประโยคมาดูเสร็จแล้ว เข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะด้วยปากตามเวลาที่กำหนดให้ ถ้าแปลได้ตลอดประโยคในเวลาที่กำหนดไว้นั้นจัดเป็นได้ ถ้าครบกำหนดเวลาแล้ว ยังแปลไม่ตลอดประโยคจัดเป็นตก ผู้ที่สอบได้ตั้งแต่ชั้นที่สามขึ้นไปนับว่าเป็นเปรียญ แม้สอบชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ได้แล้ว ถ้าตกชั้นที่สามก็นับว่าตก ถึงคราวหน้าจะเข้าแปลใหม่ ต้องแลตั้งแต่ชั้นที่ ๑ไปอีก

ฝ่ายรามัญนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น บาลีมหาวิภังค์คือ อาทิกรรม หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก เป็นชั้นที่ ๑ บาลีมหาวรรค หรือจุลวรรค อย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่จะเลือก เป็นชั้นที่ ๒ บาลีมุตวินับวินิจฉัยเป็นชั้นที่ ๓ ปฐมสมันตปาสาทิกาอรรถกถาพระวินัยเป็นชั้นที่ ๔ แปลเป็นภาษารามัญ แต่ต้องบอกสัมพันธ์ด้วย ถ้าแปลได้ตั้งแต่ชั้นที่ ๒ ขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญเปรียญเหล่านั้น ถ้ายังไม่ได้แปลถึงชั้นที่สุด หรือยังไม่ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะ แม้ถึงจะมีพรรษายุกาลมาก ก็ยังนับว่ายังมีหน้าที่จะต้องแปลชั้นสูงขึ้นไปอีก ต่อเมื่อแปลถึงชั้นที่สุดแล้วก็ดี ได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะในระหว่างนั้นก็ดี จึงนับว่าสิ้นเขตที่จะแปลหนังสืออีก

ภิกษุสามเณรผู้เริ่มเรียน กว่าจะเรียนจบมูลปกรณ์ก็ช้านาน มักเป็นที่ระอาเบื่อหน่ายแล้วละทิ้งเสีย แม้ถึงเรียนตลอดบ้าง ก็ไม่เข้าใจตลอดไปได้ เพราะธรรมดาคนเรียนไม่อาจเข้าใจฉบับเรียนที่พิสดารให้ตลอดไปได้ จะกำหนดจำได้ก็แต่เพียงพอแก่สติปัญญา เหมือนเด็กน้อยที่ผู้ใหญ่ป้อนอาหารคำโตกว่าปากขึ้นไป รับบริโภคได้พอประมาณปากของตนฉะนั้น ท่านผู้ชำนาญในวิธีสอนบางท่านจึงได้คิดวิธีสอนผู้เริ่มเรียนใหม่เรียกว่า บทมาลา ย่อบ่างพิสดารบ้างตามความประสงค์ของท่าน สำหรับสอนแทนมูลปกรณ์ เพื่อจะให้เวลาเรียนเร็วขึ้น

ส่วนการเรียนนั้น สถานหนึ่งก็มีครูคนหนึ่งสอนนักเรียนทุกชั้นไม่ได้ปันเป็นแผนก จึงหาครูที่มีความรู้พอจะสอนได้ตลอดเป็นอันยาก ทั้งเป็นที่ลำบากของครูผู้จะสอนนั้นด้วย ส่วนกำหนดเวลาสอบความรู้สามปีครั้งหนึ่ง หรือหกปีครั้งหนึ่ง นั้นเป็นกาลนาน ผู้ที่เรียนมีความรู้พอจะสอบได้ แต่ยังไม่ถึงสมัยที่จะสอบ หรือผู้ที่สอบตกแล้วมักสิ้นความหวังที่จะคอยคราวสอบข้างหน้าอีก และนักเรียนคนหนึ่งสอบคราวหนึ่ง ก็จะไม่ได้กี่ชั้นนัก จึงไม่ใคร่จะมีเปรียญประโยคสูง เมื่อไม่มีเปรียญประโยคสูง จะหาครูที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ ได้ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้ที่สอนหนังสือชั้นสูงๆ ได้ก็ยากเข้าทุกที ถึงจะมีผู้ที่สอบชั้นสูงได้บ่าง ก็คงได้รับตำแหน่งยศเป็นพระราชาคณะเสียในระหว่างยังไม่ทันได้สอบชั้นสูง ด้วยเหตุจำเป็นมีจะต้องเป็นเจ้าอาวาสเป็นต้น เมื่อเป็นฉะนี้ ก็ไม่ค่อยมีนักเรียนที่สอบได้ถึงชั้นที่สุด ตามแบบที่ตั้งไว้

ส่วนการแปลด้วยปากนั้น สอบวันหนึ่งได้ไม่กี่รูป กว่าจะจบเวลาสอบคราวหนึ่งถึงสามเดือน เมื่อเป็นเช่นนี้ จะกำหนดการสอบให้เร็วก็ไม่ได้อยู่เอง และเปรียญที่ได้สอบความรู้ได้ถึงชั้นนั้นๆ แล้ว ก็มีความรู้พออ่านหนังสือเข้าใจได้เท่านั้น ผู้สอบยังทราบไม่ได้ว่า เป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัยสมควรจะปกครองหมู่คณะแล้วหรือไม่ อาศัยเหตุผลที่กล่าวมานี้ การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณร จึงนับว่าเจริญดีแล้วยังไม่ได้

เพื่อจะคิดแก้ไขให้การเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของภิกษุสามเณรเจริญดีขึ้น ทันเวลาที่เป็นไปอยู่บัดนี้ วิทยาลัยจึงได้จัดวิธีสอนและสอบความรู้ดังนี้ ในเบื้องต้นให้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือชนิดเดียวกับบทมาลา แล้วจึงขึ้นคัมภีร์ต่อไป แบบที่สำหรับสอบความรู้นั้น บาลีไวยากรณ์ชั้นนักเรียนที่ ๓ อรรถกถาธรรมบทความนิทานชั้นเรียนที่ ๒ แก้คถาธรรมบทบั้นปลายเป็นชั้นนักเรียนที่ ๑ แก้คถาธรรมบทบั้นต้น เป็นชั้นเปรียญที่ ๓ (ต่อไปถ้ามีกำลังจะพิมพ์มังคลัตถทีปนีได้ จะใช้เป็นแบบสำหรับสอบชั้นเปรียญที่ ๓) บาลีพระวินัยมหาวิภังค์ และภิกขุนีวิภังค์ กับบาลีบางเล่มเป็นชั้นเปรียญที่ ๒ บาลีพระวินัยมหาวรรคและจุลวรรค กับบาลีพระอภิธรรมบางเล่มเป็นชั้นเปรียญที่ ๑ กำหนดการสอบไล่ทุกปี วิธีสอบไล่นั้นใช้เขียน แต่ยอมให้ผิดได้ไม่เกินกว่ากำหนด ถ้าได้ชั้นไหนแล้วเป็นอันได้ วิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาติให้สอบไล่ได้โดยวิธีจัดนี้เป็นส่วนพิเศษ

๒.การที่ประชุมชนจะเข้าใจในพระพุทธศาสนาให้ชัดเจนมีอยู่ ๓ ทาง คือ ด้วยได้ฟังพระธรรมเทศนา ด้วยได้สนทนาธรรม ด้วยได้อ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอน การเทศนานั้น มีที่วัดตามกำหนดวันพระนั้น จะได้ฟังก็แต่คนที่เข้าวัด ส่วนเทศนาในโรงธรรมนั้น ตั้งขึ้นที่ไหนก็มีแต่คนในจังหวัดนั้น และมักจะเทศน์แต่เรื่องนิทานนิยายอะไรต่างๆ ไม่เป็นทางที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาดีขึ้น การเทศนาด้วยกิจนิมนต์ในมังคลามังคลสมัยนั้น ก็มักมีแบบไว้สำหรับพิธีนั้น ใครเคยฟังเรื่องใดก็ฟังเรื่องนั้นซ้ำๆ อย่างนั้น ไม่ค่อยจะได้ฟังเรื่องที่แปลกจากนั้น ส่วนการสนทนาธรรมนั้น เป็นทางที่จะเข้าใจในพระพุทธศาสนาได้ชัดเจน เพราะผู้ฟังถามข้อที่ตัวไม่เข้าใจหรือสงสัยอยู่ได้ แต่จะหาผู้ที่เข้าใจในการสนทนานี้ยากยิ่ง ส่วนการอ่านหนังสือที่เป็นคำสั่งสอนนั้น เป็นที่เข้าใจพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟังเทศนา เพราะอ่านเองมีเวลาที่จะกำหนดตรึกตรองได้ตามชอบใจ และถ้าจำได้แล้วและลืมเสียกลับดูอีกก็ได้ แต่หนังสือที่สำหรับจะอ่านเช่นนั้นยังไม่มีแพร่หลายพอที่ประชุมชนจะแสวงหาไว้อ่านได้ หนังสือที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่ได้แสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาให้สิ้นเชิง เป็นแต่แสดงบางข้อตามความประสงค์ของผู้แต่งหนังสือนั้นๆ ความยินดีในธรรมของคนก็ต่างกัน บางคนยินดีในธรรมที่ลึกซึ้ง บางคนยินดีในธรรมที่ไม่ลึกซึ้ง ถ้าถูกอัธยาศัยก็พอใจอ่าน ถ้าไม่ถูกอัธยาศัยก็ไม่พอใจอ่าน หนังสือที่สำหรับสั่งสอนประชุมชนควรจะมีหลายอย่างตามอัธยาศัยของคนต่างๆ กัน

ในการที่จะแนะนำให้ประชุมชนเข้าใจพระพุทธศาสนาชัดเจนดีขึ้น เป็นกิจที่วิทยาลัยควรจัด ๒ ย่างคือ มีธรรมเทศนาที่วัดตามกำหนดวันพระอย่างหนึ่ง การจัดพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนอย่างหนึ่ง การมีเทศนากำหนดวันพระนั้น ได้เคยมีเป็นประเพณีของวัดมาแล้ว ส่วนการพิมพ์หนังสือแสดงคำสั่งสอนนั้น วิทยาลัยจะจัดขึ้นตามกำลังที่จะจัดขึ้นได้

๓. การฝึกสอนเด็กชาวเมืองนั้น วิทยาลัยจะจัดให้มีโรงเรียนสอนหนังสือไทยและเลข และฝึกกิริยาเด็กให้เรียบร้อย สอนให้รู้จักดีและชั่วตามสมควร

ใน ๓ ข้อที่กล่าวมาแล้วนี้ การเล่าเรียนของภิกษุสามเณร วิทยาลัยได้จัดแล้ว ส่วนอีกสองข้อนั้น อาจจัดได้เมื่อใด ก็จะจัดเมื่อนั้นตามลำดับ


เมื่อได้จัดระเบียบการศึกษาและการสอบไล่พระปริยัติธรรมขึ้นที่มหามงกุฎราชวิทยาลัยแล้ว การแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่าก็ยังให้คงแปลอยู่ตามเดิม ได้เริ่มการสอบไล่พระปริยัติธรรมที่สนามหมามกุฎราชวิทยาลัยตั้งแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๔๓ รวม ๘ คราวก็งด รวมนักเรียนที่ศึกษาในมหามกุฎราชวิทยาลัยมาสอบในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตามแบบเดิม จนสิ้นรัชกาลที่ ๕

การสอบไล่พระปริยัติธรรมในมหามกุฎราชวิทยาลัยครั้งแรก นับเป็นครั้งที่ ๖ แห่งการแปลพระปริยัติธรรมในรัชกาลที่ ๕ จำนวนเปรียญที่สอบไล่ได้ในมหามกุฎราชวิทยาลัย ๘ คราวซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ ปีใดพ้องกับการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเก่า ได้จดจำนวนเปรียญฝ่ายนั้นมารวมไว้ด้วย ดังต่อไปนี้

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๖ (ครั้งที่ ๑ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นคราวที่พึ่งเริ่มเปิดสนามมหามกุฎราชวิทยาลัยใหม่ๆ มีนักเรียนสอบไล่ได้เป็นนักเรียนเอก เทียบเท่า ๓ ประโยคแต่รูปเดียวเท่านั้น

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๗ (ครั้งที่ ๒ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามพ้องด้วย วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมคราวนี้ คงใช้วิธีอย่างคราวที่ ๕ ทั้งสิ้น รวมเปรียญทั้ง ๒ สนาม เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๒๙ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๓๗ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๘ (ครั้งที่ ๓ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘ เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๕ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๑๔ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๙ (ครั้งที่ ๔ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๑๓ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๒๗ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๐ (ครั้งที่ ๕ ในหมามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๔๐ เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๒๒ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๑๐ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๑ (ครั้งที่ ๖ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๔๑ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่ในพระอุโบสถวัดสุทัศน์พ้องด้วย วิธีแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมครั้งนี้ ชั้นนักเรียนที่แปลธรรมบทกำหนดให้แปลหนังสือเพียง ๑๐ บรรทัดเป็นจบประโยค กำหนดเวลาให้ ๕๐ นาที ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ว่า ยอมให้นักเรียนชั้นแปลธรรมบทได้ประโยค ๑ ตกประโยค ๒ ได้ประโยค ๒ ตกประโยค ๓ ไม่ต้องทวนมาแปลประโยค ๑ ต่อไปใหม่ในคราวหน้า ให้แปลต่อประโยคที่ได้ไว้แล้วทีเดียว รวมเปรียญทั้ง ๒ สนาม เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๓๕ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๗๘ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๒ (ครั้งที่ ๗ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่พระอุโบสถวัดสุทัศน์พ้องด้วย แต่สนามวัดสุทัศน์แปลได้เพียง ๓ วัน ไม่ทันนักเรียนที่แปลได้เป็นเปรียญก็งด ด้วยสมเด็จพระวันรัตผู้เป็นกรรมการชี้ขาดอาพาธ จึงมีแต่เปรียญในมหามกุฎราชวิทยาลัย เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๖ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๑๒ รูป

การแปลพระปริยัติธรรมครั้งที่ ๑๓ (ครั้งที่ ๘ ในมหามกุฎราชวิทยาลัย) แปลเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๔๓ คราวนี้มีการแปลพระปริยัติธรรมตามแบบเดิมที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามพ้องด้วย การแปลพระปริยัติตามแบบเดิมครั้งนี้ ชั้นนักเรียนผู้แปลธรรมบทเฉพาะประโยค ๓ เพิ่มหนังสือที่แปลเป็น ๒๐ บรรทัด กำหนดเวลาแปล ๙๐ นาทีอย่างเดิม รวมเปรียญทั้ง ๒ สนาม เปรียญเก่าแปลเพิ่มประโยคได้ ๒๗ รูป นักเรียนแปลได้เป็นเปรียญ ๔๑ รูป

นามเปรียญที่แปลได้ใน ๘ คราว มีแจ้งอยู่ในบัญชีหนังสือเรื่อง เปรียญรัชกาลที่ ๕ ภาค ๒


......................................................................................................................................................


คัดจาก
ประชุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 ธันวาคม 2550 เวลา:10:24:17 น.  

 
 
 
โอ้คุณพระช่วย นึกถึงรายการนี้เลยถ้าเรื่อง ไทยโบราญ
ขอบพระคุณขอรับกระผมที่กรุณานำมาให้รับทราบ

 
 

โดย: ปลอมตัวมาหารัก วันที่: 22 ธันวาคม 2550 เวลา:10:34:18 น.  

 
 
 
สวัสดีค่ะคุณกัมม์

ข้อมูลเยอะนะคะ

 
 

โดย: รักดี วันที่: 22 ธันวาคม 2550 เวลา:18:35:30 น.  

 
 
 
ขอบพระคุณครับ คุณ ปลอมตัวมาหารัก
ขอบพระคุณครับ คุณ รักดี

ในโอกาสปีใหม่นี้ ขอให้มีความสุขความเจริญ
ร่มเย็นเป็นสุข อายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพที่แข็งแรง
ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และภยันตรายทั้งปวงนะครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 27 ธันวาคม 2550 เวลา:18:10:23 น.  

 
 
 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him
 
 

โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:23:15:51 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com