กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
วิจารณ์ว่าด้วยหนังสือ “พราหมณศาสตร์ทวาทสพิธี”


พระราชพิธีลงสรง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร



วิจารณ์ว่าด้วยหนังสือ “พราหมณศาสตร์ทวาทสพิธี”


หนังสือเรื่องนี้ต้นฉบับที่หอพระสมุดได้มา ว่าเป็นคัมภีร์ใบลาน จารภาษาไทยด้วยอักษรขอม แต่สำเนาที่ส่งมาคัดเขียนเปลี่ยนเป็นภาษาไทย พิจารณาดูเห็นเป็นตำราพิธี ๒ ประเภท เอารวบรวมมาไว้ด้วยกัน ข้างต้นเป็นประเภทพิธี “สมโภชลูกหลวง” ต่อนั้นไปเป็นประเภทพิธีทำประจำปีครบทั้ง ๑๒ เดือน เรียกว่า “พิธีทวาทสมาส” จึงเขียนคำวิจารณ์แยกกันเป็น ๒ ภาค ตามประเภทของพิธี

วิจารณ์พิธีสมโภชลูกหลวง

พิธีสมโภชลูกหลวงมีที่สอบอยู่ในหนังสือ “คำให้การกรุงเก่า” ซึ่งหอพระสมุดฯ พิมพ์ (ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘) ในหนังสือนั้นว่า เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มีการพิธีสมโภชลูกหลวง คือพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ละ ๑๐ ครั้ง เป็นประเพณีคือ

ครั้งที่ ๑ สมโภชเมื่อประสูติได้ ๓ วัน (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ครั้งที่ ๒ สมโภชเมื่อพระชันษาได้ ๑ เดือน คือพิธีขึ้นพระอู่ ที่พรรณนาในตำราฉบับนี้ (ยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ครั้งที่ ๓ สมโภชเมื่อแรกพระทนต์ขึ้น พระชันษาราว ๗ เดือน หรือ ๘ เดือน (ไม่เคยได้ยินว่าทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ครั้งที่ ๔ สมโภชเมื่อแรกทรงพระดำเนินได้ พระชันษาราวขวบปี ๑ เรียกว่า พิธีจรดปัถพี ที่พรรณนาไว้ในตำรานี้ (ดูเหมือนจะเคยทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เลิกเสียนานแล้ว)

ครั้นที่ ๕ สมโภชเมื่อลงสรงที่ท่าน้ำ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พิธีลงท่า” ทำเมื่อพระชันษาล่วง ๓ ขวบแล้ว (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เคยทำพิธีลงสรงแต่ ๒ ครั้ง ทำเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ลงสรงในรัชกาลที่ ๒ ครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ลงสรงในรัชกาลที่ ๕ อีกครั้งหนึ่ง ทำเป็นการใหญ่โตทั้ง ๒ ครั้ง เจ้าเจ้าฟ้าองค์อื่นนอกจาก ๒ พระองค์นั้นทำแต่พิธี “รับสุพรรณบัฏ” (ขนานพระนาม) อันเป็นส่วนที่ทำบนบกในพิธีลงสรง ทำเมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี เป็นกำหนดทั้งลงสรงและรับพระสุพรรณบัฏ)

สมโภชครั้งที่ ๖ เมื่อโสกันต์ พระชันษา ๙ ขวบบ้าง ๑๐ ขวบบ้าง ๑๑ ขวบบ้าง (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยปรกติพระองค์ชายโสกันต์เมื่อพระชันษา ๑๓ ปี พระองค์หญิงโสกันต์เมื่อพระชันษา ๑๑ ปี เป็นกำหนด)

สมโภชครั้งที่ ๗ เมื่อทรงผนวช พระองค์ชายทรงผนวชเมื่อพระชันษา ๑๔ ปี และว่าพระองค์หญิงทรงผนวชเป็นรูปชี (เมื่อพระชันษา ๑๒ ปี) แต่ว่าพระองค์หญิงผนวชเป็นรูปชีแต่ยังทรงพระเยาว์ ไม่เคยได้ยินหรือได้เห็นในหนังสืออื่นนอกจากในคำให้การชาวกรุงเก่า จึงสงสัยว่าจะผิด ถ้าหากว่าเจาะพระกรรณเพื่อทรงพระกุณฑล อาจจะเป็นได้ (ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีแต่พระองค์ชายทรงผนวชเป็นสามเณร)

สมโภชครั้งที่ ๘ เมื่ออภิเษกสมรส

สมโภชครั้งที่ ๙ มีแต่เฉพาะพระองค์ชาย เมื่อพระชันษา ๒๑ (ทรงผนวชเป็นพระภิกษุยังทำในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

สมโภชครั้งที่ ๑๐ ทำพิธี “มงคลเบญจาภิเษก” (เรียกกันเป็นคำสามัญว่า เบญจเพส) เมื่อพระชันษาได้ ๒๕ ปี (ยังทำกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)

ในตำราฉบับที่หอพระสมุดฯ ได้มาใหม่มีแต่พิธีสมโภชครั้งที่ ๒ เมื่อขึ้นพระอู่กับพิธีสมโภชครั้งที่ ๔ เมื่อจรดปัถพี ๒ อย่างเท่านั้น ขาดอยู่ถึง ๘ อย่าง พิจารณาต่อไปถึงลักษณะการทำพิธีตามที่กล่าวในหนังสือนี้ ก็ผิดกับที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์หลายประการ จะเปรียบเทียบลักษณะพิธีสมโภชขึ้นพระอู่ให้เห็นข้อผิดกัน

วิจารณ์พิธีสมโภชขึ้นพระอู่

๑. ตำราฉบับนี้ว่าทำพิธีวันเดียว และทำเป็นพิธีพราหมณ์ แต่ตามแบบที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ทำพิธี ๒ วัน คือก่อนวันขึ้นพระอู่ พระสงฆ์สวดมนต์ในเวลาเย็น และเลี้ยงพระเวลาเช้าในวันฤกษ์ขึ้นพระอู่ คือ มีทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์

๒. ในตำราฉบับนี้กล่าวถึงการโกนผมไฟไว้จุกให้ ชวนสันนิษฐานว่า แต่ก่อนเห็นจะไม่ได้ทำการนั้นเป็นส่วนหนึ่งในพิธีขึ้นพระอู่ แต่ตามแบบในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีพิธีจรดพระกรรบิดกรรไกร ไว้พระเกศาจุกพระราชกุมารตอนเช้าในวันฤกษ์ขึ้นพระอู่

๓. ตามตำราฉบับนี้ เริ่มการพิธีด้วยพระครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่ พี่เลี้ยงนางนมเห่กล่อมเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี แล้วจึงเวียนเทียนสมโภชก่อน แต่ตามแบบที่ทำในกรุงรัตนโกสินทร์ พระครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารลงสรง และเวียนเทียนสมโภชก่อน แล้วจึงเชิญขึ้นพระอู่

๔. ลักษณะการเห่กล่อมพระราชกุมารเมื่อขึ้นพระอู่แล้วก็ผิดกัน ในตำราฉบับนี้ว่า พระพี่เลี้ยง พระแม่นมช้าข้างละ ๗ ท่า ช้ากล่อมข้างละ ๗ คำ บทต้นว่าคนละคำ (และลงบทกล่อมไว้ในตำราด้วย)
บทที่ ๑ ว่า “หลับไม้หลับไล่ หลับพระไพรใบเขียว เอย”
บทที่ ๒ ว่า “หลับพระเนตรผู้บุญเรือง หลับเขาพระสุเมรุราช เอย”
บทที่ ๓ ว่าเหมือนอย่างบทที่ ๑ ซ้ำอีกครั้ง
บทที่ ๔ ว่า “หลับพระเนตรแต่องเดียว หลับพระสุเมรุราช เอย”
ตามแบบกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระครูพราหมณ์เชิญพระกุมารขึ้นพระอู่แล้ว ตัวพระครูพราหมณ์เองเป็นผู้ชักสายไกวพระอู่ และเห่กล่อมพระราชกุมารด้วยมนตร์ภาษาสันสกฤต ๓ ลา ถ้าพระกุมารเป็นเจ้าฟ้า มีพวกขับไม้ (ล้วนผู้ชาย) ขับต่อไปอีกตอนหนึ่ง จึงเสร็จการพิธี

ที่นี้จะว่าด้วยวินิจฉัยต่อไป (ขอบอกไว้เสียก่อนว่าเป็นวินิจฉัยตามความสันนิษฐาน ซึ่งอาจจะผิดได้) สังเกตสำนวนที่แต่งตำราฉบับนี้ดูไม่เก่านัก น่าจะแต่งในสมัยเมื่อแรกกลับตั้งบ้านเมืองเป็นอิสระ ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาไม่ช้านัก ในพงศาวดารก็ว่าสมัยนั้นหนังสือตำรับตำราสำหรับการพิธีต่างๆ เป็นอันตรายสูญไปเสียเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาโดยมาก ต้องพยายามสืบสวนสร้างขึ้นใหม่ ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ลักษณะการสร้างตำราขึ้นใหม่ในครั้งนั้น มีเค้าเงื่อนอยู่ในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “เรื่องลงสรงโสกันต์” (หอพระสมุดฯ พิมพ์ไว้ในหนังสือ “ประชุมพระบรมราชาธิบาย” ภาค ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓) ว่า เจ้าฟ้าหญิงพินทวดีพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งอยู่มาในสมัยกรุงธนบุรีจนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ ตรัสบอกรายการพิธีสมโภชลูกหลวงให้ทำตำรา เพราะพระองค์ท่านเคยได้เข้าพิธีเอง และไดเคยเห็นการพิธีสมโภชเจ้านายพี่น้องของท่านมาแต่ก่อน นอกจากนั้นยังมีในบานแผนกตำราพิธีอื่นที่ผู้หญิงฝ่ายในไม่รู้ เช่น พิธีบรมราชาภิเษกเป็นต้น เลือกหาผู้เคยรู้เคยเห็นขนบธรรมเนียมครั้งกรุงศรีอยุธยาซึ่งยังมีตัวเหลืออยู่มารวมกันเป็นคณะ ถ้าเรียกตามคำที่ใช้ในชั้นหลังก็คือ เป็น “กรรมการ” ปรึกษาหาหลักฐานแต่งตำราใหม่

ยังมีข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ด้วยพิธีสมโภชพระราชกุมารตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยามี ๑๐ อย่าง เหตุไฉนจึงมีในตำรานี้แต่ ๒ อย่าง ข้อนี้ ถ้าจะสันนิษฐานว่าเพราะหาตำราพิธีสมโภชอย่างอื่นไม่ได้ ได้มาแต่ ๒ พิธีก็เขียนไว้เพียงเท่านั้น ดูก็น่าพิศวง อนึ่งลำดับที่ขาดนั้นก็แปลกอยู่เพราะขาดพิธีที่ ๑ (สมโภช ๓ วัน) ได้พิธีที่ ๒ (สมโภชขึ้นพระอู่) ขาดพิธีที่ ๓ (สมโภชเมื่อพระทนต์ขึ้น) ได้พิธีที่ ๔ (สมโภชเมื่อจรดปัถพี) เหตุใดจึงได้ตำราสลับกันเช่นนั้น ข้อนี้ส่อให้เห็นทางสันนิษฐานอีกทางหนึ่ง ว่าพิธีที่ ๑ กับพิธีที่ ๓ มีแต่การเวียนเทียนสมโภช ซึ่งเป็นประเพณีรู้กันแพร่หลายอยู่แล้ว แต่พิธีที่ ๒ กับที่ ๔ มีการอย่างอื่นที่ต้องทำอีกหลายอย่างไม่ใช่แต่เวียนเทียนสมโภชอย่างเดียว

มูลเหตุอาจจะเกิดขึ้นด้วยมีพระราชกุมารประสูติใหม่ จะต้องทำพิธีขึ้นพระอู่เมื่อพระชันษาได้ ๑ เดือน และพิธีจรดปัถพีเมื่อพระชันษาได้ขวบปี ๑ ตามราชประเพณี จึงแต่งตำราพิธีสมโภชซึ่งต้องการโดยด่วนแต่ ๒ อย่างก่อน ความที่ว่านี้มีเค้าเงื่อนประกอบอยู่ในตำรานี้เอง ที่เรียกพระราชกุมารว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” หมายความว่าเป็นเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าที่ “เกิดในเศวตฉัตร” คือประสูติเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสวยราชย์แล้วนั้น เมื่อสมัยกรุงธนบุรีมีเจ้าฟ้าชายสุพันธวงศ์ (พระราชนัดดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ พระองค์หนึ่ง เมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลกรุงธนบุรีอยู่แล้ว ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ ไม่มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ “เกิดในเศวตฉัตร” เลย เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเมื่อประสูติก็เป็นแต่พระองค์เจ้า ทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าต่อเมื่อพระชันษาได้ ๖ ปีแล้ว ความที่กล่าวมาชวนให้เห็นว่าลักษณะพิธีเจ้าฟ้าขึ้นพระอู่กับตำราพิธีเจ้าฟ้าจรดปัถพีที่ปรากฏในตำราฉบับนี้ เห็นจะแต่งขึ้นเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ตำราพิธีอย่างอื่นในเรื่องสมโภชพระราชกุมารจะมาแต่งต่อในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์

แต่พิธีเจ้าฟ้าขึ้นพระอู่กับพิธีเจ้าฟ้าจรดปัถพีอย่างพรรณนาในตำรานี้ เมื่อล่วงสมัยกรุงธนบุรีแล้วไม่ได้ทำกว่า ๓๐ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๒ มีเจ้าฟ้าประสูติในเศวตฉัตร ๔ พระองค์ คือเจ้าฟ้าอาภรณ์ เจ้าฟ้ากลาง(สมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์) เจ้าฟ้าปิ๋ว และเจ้าฟ้าหญิงซึ่งสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อีกพระองค์ ๑ จึงได้ทำอีก ถึงรัชกาลที่ ๓ ก็ไม่มีสมเด็จพระเจ้าลูก แม้พระเจ้าลูกเธอก็มีประสูติเมื่อเสวยราชย์แล้วเพียง ๔ ปี แต่นั้นขาดพระราชกุมารประสูติใหม่ ไม่ได้ทำพิธีสมโภชขึ้นพระอู่และจรดปัถพีว่างมากว่า ๒๒ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๔ จึงกลับมีเจ้าฟ้าเกิดในเศวตฉัตร เมื่อการพิธีสมโภชขึ้นพระอู่และจรดปัถพีเรื้อมาเสียช้านาน จึงเป็นมูลเหตุที่จะแก้แบบพิธีมาเป็นอย่างที่ทำในชั้นหลังดังพรรณนามาแล้ว พิจารณาลักษณะการที่แก้นั้นเห็นได้ว่า ผู้ที่แก้ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยพระองค์ทรงเป็นอุดมบัณฑิตทั้งทางพระพุทธศาสนาและไสยศาสตร์ อาจจะค้นตำรับตำรามาปรับปรุงเป็นระเบียบใหม่ พึงเห็นได้ในรายการพิธีสมโภชขึ้นพระอู่ดังจะกล่าวต่อไปนี้
๑. ให้มีพิธีสงฆ์สวดมนต์เลี้ยงพระเพิ่มขึ้นใหม่ ให้สมกับที่เป็นพุทธศาสนิกชน
๒. เอาการโกนผมไฟไว้จุก ซึ่งเดิมทำต่างหากจากการพิธีเข้ามาต่อพิธีสงฆ์ตามเค้าพิธีโกนจุก
๓. พิธีโกนจุกมีการรดน้ำทำขวัญ ในพิธีขึ้นพระอู่ทรงอนุโลมเอาระเบียบพิธีลงสรงมาใช้ แต่ให้พระราชกุมารลงสรงในขันสาคร ข้อนี้เห็นได้ด้วยทำกรงและรูปกุ้งปลายลอยในน้ำเหมือนกันกับพิธีลงสรง
๔. ตามตำราเก่า ขึ้นพระอู่เห่กล่อมแล้วจึงเวียนเทียนสมโภช เห็นจะทรงพระราชดำริว่าเหมือนสมโภชพระราชกุมารบรรทมหลับเสียแล้ว จึงแก้ระเบียบให้เวียนเทียนสมโภชแต่ยังบรรทมตื่นแล้วจึงเชิญขึ้นพระอู่
๕. ที่พระครูพราหมณ์เชิญพระราชกุมารขึ้นพระอู่โปรดฯ ให้คงไว้ตามเดิม แต่พี่เลี้ยงนางนมไกวพระอู่เห่เข้าในพิธีโปรดฯให้เลิกเสีย อาจจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริว่าบทเห่ไม่เป็นแก่นสาร จึงเปลี่ยนให้พระครูพราหมณ์ไกวพระอู่ขับกล่อมด้วยมนตร์ภาษาสันสกฤต ตามเค้าพิธีไกวเปลเห่ช้าเจ้าหงส์ สังเกตรายการที่เปลี่ยนแปลง เห็นได้ว่าต้องเป็นความคิดของผู้รอบรู้อย่างยิ่งทั้งนั้น

วิจารณ์พิธีสมโภชจรดปัถพี

ลักษณะพิธีจรดปัถพีไม่มีในหนังสืออื่น หรือแม้เค้าความรู้เห็นที่จะใช้เทียบทานเหมือนอย่างพิธีสมโภชขึ้นพระอู่ เพราะเป็นพิธีที่เลิกเสียช้านานแล้ว มีแต่เค้าเงื่อนที่จะสันนิษฐานว่าเพราะเหตุไรจึงเลิกพิธีสมโภชจรดปัถพีเสียด้วยกันกับพิธีสมโภชเมื่อพระทนต์ขึ้นด้วย พิเคราะห์ดูพิธีสมโภชพระราชกุมารอีก ๘ อย่าง ที่ยังทำต่อมา ล้วนมีเหตุเนื่องกับประเพณีบ้านเมืองดังจะพรรณนาต่อไป

๑. เหตุที่ทำพิธีสมโภชเมื่อประสูติได้ ๓ วันนั้น เพราะแต่โบราณทารกที่คลอดใหม่มักตายภายใน ๓ วันโดยมาก จนมีคำภาษิตว่า “๓ วันลูกผี ๔ วันลูกคน” ด้วยเชื่อว่าผีปั้นรูปให้มาเกิด เมื่อเกิดแล้วถ้าผีชอบรูปโฉมอยากจะเอาไปเลี่ยงเองก็บันดาลให้ตาย ถ้าไม่ชอบก็ทิ้งไว้ให้มนุษย์เลี้ยง เพราะเชื่ออย่างนั้น เวลาทารกคลอดจึงมีอุบายกีดกันผีด้วยประการต่างๆ เช่นวงสายสิญจน์แขวนยันต์กันผีมิให้เข้ามาใกล้ทารกเป็นต้น และยังมีอุบายอย่างอื่นอีกมาก เมื่อทารกคลอดมาได้พ้น ๓ วัน ถือว่าพ้นเขต “เป็นลูกผี” จึงทำขวัญ แต่ทำกันเพียงในครัวเรือน ด้วยยังไม่วายหวาดหวั่น

๒. เหตุที่สมโภชขึ้นพระอู่เมื่อประสูติได้เดือน ๑ เกิดมาแต่ความมั่นใจว่าทารกนั้นจะรอดอยู่ได้จนโต จึงตั้งตนเลี้ยงอย่างสามัญ เช่น เอาขึ้นนอนเปลเป็นต้น และปลดสายสิญจน์กันผีที่วงเสีย ทั้งบอกกล่าวแก่ญาติเหมือนอย่างขึ้นทะเบียนสมาชิกใหม่ในสกุล พวกญาติจึงพากันมาทำขวัญ

๓. เหตุที่ทำพิธีสมโภชลงสรง (หรือว่าลงท่า) นั้น น่าสันนิษฐานว่าเนื่องกับหัดว่ายน้ำ แต่มีการให้ชื่ออยู่ในพิธีด้วย

๔. เหตุที่ทำพิธีโสกันต์ เกิดแต่เจริญวัยเปลี่ยนสภาพพ้นจากเป็นเด็กเข้าเขตหนุ่มสาว

๕. เหตุที่จะสมโภชเมื่อผนวชเป็นสามเณร เกิดด้วยประเพณีการศึกษาแต่โบราณ เด็กชายเมื่ออายุพอรักษาตัวเองได้ ให้ไปศึกษาวิชาการต่อพระภิกษุสงฆ์ที่วัด และบวชเป็นสามเณรอยู่ในเวลาศึกษานั้น

๖. เหตุที่สมโภชเมื่ออภิเษกสมรส ก็คือทำพิธีแต่งงานบ่าวสาวนั้นเอง

๗. เหตุที่สมโภชเมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เกิดแต่การที่ละเพศคฤหัสถ์ออกเป็นสมณะเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยช่วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

๘. เหตุที่สมโภชเบญจเพส เกิดแต่เชื่อกันตามโหราศาสตร์ว่าเมื่อถึงอายุถึง ๒๕ ปี เป็นเขตเคราะห์ร้าย อาจจะมีภัยพิบัติจึงทำพิธีเพื่อสะเดาะเคราะห์

พิธีสมโภช ๘ อย่างที่กล่าวมาแล้ว ล้วนมีเหตุประกอบ แต่การพิธีสมโภชเมื่อพระมนต์ขึ้นกับพิธีจรดปัถพีไม่มีเหตุอื่น นอกจากฟันขึ้นหรือเดินได้ตามธรรมดาเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นจะทรงพระราชดำริว่าไม่มีแก่นสาร จึงโปรดให้เลิกเสีย หรือจะเลิกมาแต่ก่อนรัชกาลที่ ๔ แล้วก็เป็นได้

การพิธีสมโภชที่วิจารณ์มานี้ ในต้นฉบับเรียกว่า “พิธีสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” อันหมายความว่า เฉพาะแต่ที่เป็นเจ้าฟ้าลูกเธอ ถ้าเป็นพระองค์เจ้าลูกเธอจะทำพิธีสมโภชผิดกันอย่างไร อธิบายตามความรู้เห็นมาก็ทำทุกอย่างหมด เป็นแต่ลดหลั่นลงกว่าเจ้าฟ้า แต่พิธีลงสรงรับพระสุพรรณบัฏนั้นหาทำสำหรับพระองค์เจ้าไม่.


.........................................................................................................................................................





Create Date : 13 กรกฎาคม 2550
Last Update : 18 กรกฎาคม 2550 18:00:57 น. 0 comments
Counter : 3808 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com