กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
แผ่นดินพระร่วง




....................................................................................................................................................


เรื่อง พระร่วง

ในเมืองไทยนี้ เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นใหญ่ก่อนเกิดกรุงศรีอยุธยา เคยมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งเรียกพระนามว่า "พระร่วง" ในหนังสือพงศาวดารชั้นเก่าว่ามีบุญญาภินิหารและฤทธิเดชเลิศล้ำพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ครองเมืองไทยมาแต่ก่อน แม้ในหนังสือพงศาวดารของประเทศที่ใกล้เคียง เช่นในพงศาวดารมอญก็ดี พงศาวดารลานนาเชียงใหม่ก็ดี ก็กล่าวถึงพระร่วงเมืองสุโขทัย และยกย่องว่ามีอานุภาพมากด้วยกันทุกประเทศ พระร่วงจึงเป็นที่นับถือของชาวเมืองไทย ว่าเป็นพระเจ้ามหาราชของบ้านเมืองตนพระองค์หนึ่ง มาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยแลละสมัยกรุงศรีอยุธยา ตลอดมาจนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้ในปัจจุบันทุกวันนี้ ใครเป็นนักเรียนที่จะไม่เคยได้ยินพระนามและพระเกียรติของพระร่วงก็เห็นจะไม่มี แม้สิ่งของซึ่งอ้างว่าพระร่วงได้ทรงประดิษฐ์ไว้ก็ยังมีปรากฏอยู่หลายสิ่ง เช่น "ถนนพระร่วง" "หนังสือไตรภูมิพระร่วง" และ "สุภาษิตพระร่วง" เป็นต้น ตลอดจนเตาทำถ้วยชามเครื่องสังกะโลกซึ่งว่าเกิดขึ้นเมื่อครั้งพระร่วง ก็ยังมีซากอยู่เป็นพะเนินเทินทึก และที่สุดเรือรบเรียกว่า "พระร่วง" ก็ลำหนึ่ง ล้วนเป็นเครื่องประกอบกับคำที่เล่าเรื่องพระร่วงสืบกันมา

แต่ถ้าว่าตามทางประวัติศาสตร์ เรื่องพระร่วงที่เรารู้กันอยู่ทุกวันนี้ยังเป็นแต่นิทาน จะนับว่าเป็นเรื่องพงศาวดารยังไม่ได้ ด้วยขาดหลักฐานที่เป็นข้อสำคัญในทางพงศาวดารอยู่หลายอย่าง เป็นต้นแต่ชาติวงศ์ของพระร่วงมาแต่ไหน พระร่วงได้ครองเมืองสุโขทัยเมื่อใด พระร่วงมีอภินิหารอย่างไรจึงได้เป็นพระเจ้ามหาราช และเมื่อสิ้นองค์พระร่วงแล้ว ใครสืบราชวงศ์พระร่วงต่อมาหรือเปลี่ยนเป็นราชวงศ์อื่น อธิบายความข้อสำคัญเหล่านี้ ในหนังสือพงศาวดารชั้นเก่าไม่กล่าวถึง หรือกล่าวเป็นปาฏิหารย์จนเห็นว่าเป็นความจริงไม่ได้ นักปราชญ์แต่ก่อนไม่มีอะไรจะใช้เป็นความจริงเป็นอย่างไรก็มี บางข้ออ้างผิดธรรมชาติเหลือที่จะเชื่อได้ว่าเป็นความจริงก็มี จะคัดแต่บางข้อซึ่งอ้างในหนังสือ "พงศาวดารเหนือ" ที่เราถือกันเป็นตำราเรื่องพงศาวดารก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยามาชี้พอให้เห็นเป็นตัวอย่าง

ดังเช่นข้อที่ว่าด้วยชาติวงศ์ของพระร่วง ในหนังสือพงศาวดารเหนือ มีเรื่องพระร่วงเป็น ๒ เรื่องต่างกัน เรื่องหนึ่งเรียกว่า "เรื่องอรุณกุมาร" ( "อรุณ" นั้นก็คือเอาคำ "ร่วง" มาเรียกด้วยศัพท์ภาษามคธนั่นเอง ) เล่าเรื่องว่าพระยาอภัยคามะนีเจ้าเมืองหริภุญชัย (คือเมืองลำพูนบัดนี้)ไปจำศีลบนภูเขาแห่งหนึ่ง ไปพบนางนาคซึ่งจำแลงตัวเป็นมนุษย์มาเที่ยวเล่น เกิดสมัครรักใคร่ได้อภิรมย์สมรสอยู่ด้วยกัน ๗ วัน นางมีครรภ์กลับลงไปเมืองนาค เมื่อจวนจะคลอดลูกเห็นว่าถ้าคลอดในเมืองนาค ทารกจะไม่รอดเพราะเป็นเชื้อมนุษย์ จึงขึ้นมายังภูเขาที่เคยอยู่ด้วยกันกับพระอภัยคามะนี มาคลอดเป็นชายแล้วทิ้งไว้ที่ในป่าด้วยกันกับแหวนและผ้าห่มของพระอภันคามะนีประทานนางไว้ มีพรานป่าไปพบทารกนั้น พามาเลี้ยงไว้ก็เกิดอัศจรรย์ปรากฏที่ตัวเด็กต่างๆอย่างเป็นผู้มีบุญ ความทราบถึงพระยาอภัยคามะนี ตรัสเรียกไปทอดพระเนตร เมื่อได้ทรงทราบเรื่องที่พรานป่าไปพบและทอดพระเนตรเห็นของที่อยู่กับตัวเด็กก็ทราบชัดว่าเป็นราชบุตรเกิดด้วยนางนาค จึงประทานนามว่า "อรุณกุมาร" แล้วเลี้ยงไว้ในที่ลูกหลวง ต่อมามีราชบุตรเกิดด้วยนางอัครมเหสีอีกองค์หนึ่ง ประทานนามว่า "ฤทธิกุมาร" อยู่ด้วยกันมาจนเติบใหญ่ พระยาอภัยคามะนีปรารถนาจะหาเมืองให้อรุณกุมารครอบครอง ทราบว่าเจ้าเมืองศรีสุชนาลัยมีแต่ราชธิดา จึงสู่ขอนางนั้นให้อภิเษกสมรสกับอรุณกุมาร อรุณกุมารไปอยู่เมืองศรีสัชนาลัย ต่อมาก็ได้ครองเมืองนั้น (กับทั้งเมืองสุโขทัย) ทรงนามว่า "พระร่วง" ส่วนฤทธิกุมารนั้นเมื่อเติบใหญ่ก็ได้อภิเษกสมรสกับราชธิดาพระยาเชียงใหม่ แล้วเลยได้ครองเมืองเชียงใหม่เช่นเดียวกับพระร่วง ทรงนามว่า "พระลือ" ทั้งสองอาณาเขตมีเจ้าเมืองเป็นพี่น้องกัน บ้านเมืองก็เป็นสัมพันธมิตรสนิทสืบกันมาตามเรื่องอรุณกุมารที่กล่าวมานี้ อ้างว่าพระร่วงเป็นเชื้อมนุษย์กับนาคระคนกันเป็นเป็นวงศ์กษัตริย์วงศ์หริภุญชัยในลานนา

เรื่องพระร่วงในพงศาวดารเหนืออีกเรื่องหนึ่งนั้นเรียกว่า "เรื่องพระร่วงส่วยน้ำ" ว่ามีชายชาวเมืองละโว้คนหนึ่งชื่อ "คงเครา" เป็นนายกองคุมคนส่วยน้ำสำหรับตักน้ำในทะเลชุบศรส่งไปถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์เสวย ณ เมืองขอม อยู่มานายคงเครามีลูกชายคนหนึ่งให้ชื่อว่า "ร่วง" เด็กร่วงนั้นเกิดเป็นผู้มีบุญด้วย "วาจาสิทธิ์" คือ ถ้าว่าให้อะไรเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นมาแต่กำเนิด แต่ไม่รู้ตัวว่ามีฤทธิ์เช่นนั้น จนอายุได้ ๑๑ ปี วันหนึ่งพายเรือไปในทะเลชุบศร เรือทวนน้ำเด็กร่วงพายเหนื่อยจึงออกปากว่า "นี่ทำไมน้ำไม่ไหลกลับไปทางโน้นมั่ง" พอว่าขาดคำลงน้ำก็ไหลกลับไปอย่างว่า เด็กร่วงก็รู้ตัวว่ามีวาจาสิทธิ์ แต่ปิดความไว้มิให้ผู้อื่นรู้

ครั้นนายคงเคราตายไพร่พลพร้อมใจกันยกนายร่วงขึ้นเป็นนายกองส่วยน้ำแทนพ่อ พอประจวบเวลานักคุ้ม ข้าหลวงขอมคุมเกวียนบรรทุกกล่องสานสำหรับใส่น้ำเสวยมาถึงเมืองละโว้ สั่งให้นายร่วงเกณฑ์ไพร่ตักน้ำเสวยส่งส่วยตามเคย นายร่วงเห็นว่ากล่องน้ำที่ทำมานั้นหนักนัก จึงสั่งให้ไพร่สานชะลอมขึ้นเป็นอันมาก แล้วให้เอาชะลอมจุ่มลงในน้ำลั่นวาจาสิทธิ์สั่งน้ำให้ขังอยู่ในชะลอม ก็เป็นเช่นว่า นักคุ้มข้าหลวงเห็นเช่นนั้นก็กลัวฤทธิ์นายร่วง รีบรับชะลอมน้ำกลับไปยังเมืองขอม ทูลพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ว่ามีผู้วิเศษเกิดขึ้นที่เมืองละโว้ ก็ทรงพระวิตกเกรงว่าจะเป็นกบฏ จึงแต่งกองทหารให้มาจับตัวนายร่วง แต่นายร่วงได้ยินข่าวรู้ตัวก่อน จึงหนีออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปยังเมืองเหนือ ไปบวชเป็นภิกษุอยู่ ณ วัดแห่งหนึ่งในเมืองสุโขทัย คนจึงเรียกกันว่า "พระร่วง" เพราเหตุที่บวชเป็นพระ ฝ่ายทหารขอมมาถึงเมืองละโว้รู้ว่านายรู้ตัวหนีขึ้นไปทางเมืองเหนือ ตัวนายทหารขอมก็ตามขึ้นไป เที่ยวสืบเสาะได้ความแต่ว่านายร่วงหนีขึ้นไปอยู่ที่เมืองสุโขทัย มิรู้ว่าไปบวชเป็นพระ จึงดำดินลอดปราการเข้าไปในเมือง เผอิญไปโผล่ขึ้นในลานวัดที่พระร่วงบวชอยู่

เวลานั้นกำลังพระร่วงลงกวาดวัด เห็นเข้าก็รู้ว่าขอม แต่ขอมไม่รู้จักพระร่วง ถามว่า รู้หรือไม่ว่านายร่วงที่มาจากเมืองละโว้อยู่ที่ไหน พระร่วงก็ลั่นวาจาสิทธิ์สาปว่า "สูอยู่นั่นเถิด รูปจะไปบอกนายร่วง" พอว่าขาดคำขอมก็กลายเป็นหินติดคาแผ่นดินอยู่ที่ตรงนั้น ด้วยอำนาจวาจาสิทธิ์ของพระร่วง ชาวเมืองสุโขทัยรู้ว่าพระร่วงมีบุญ เมื่อพระเจ้ากรุงสุโขทัยสิ้นพระชนม์ พวกเสนาอำมาตย์จึงพร้อมใจกันเชิญพระร่วงขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศรีจันทราธิบดี" ตามพงศาวดารเหนือเรื่องพระร่วงส่วยน้ำว่า พระร่วงเป็นลูกราษฎรชาวเมืองละโว้ ได้ดีเพราะเกิดเป็นผู้มีบุญ

จะเชื่อว่าพระร่วงเป็นลูกนางนาคหรือเชื่อว่ามีวาจาสิทธิ์ดูก็ผิดธรรมดาทั้งสองสถาน ครั้นไปพิจารณาดูศักราชตามที่อ้างในพงศาวดารเหนือทั้งสองเรื่องนั้น ว่าเป็นรัชสมัยของพระร่วงนั้นก็เห็นแตกต่างห่างไกลกัน ในเรื่องอรุณกุมาร ว่าพระร่วงได้ครองบ้านเมืองราว พ.ศ. ๙๕๐ แต่ในเรื่องพระร่วงส่วยน้ำ ว่าพระร่วงได้ครองบ้านเมืองราว พ.ศ. ๑๕๐๐ ผิดกันตั้ง ๕๐๐ ปี ไม่มีอะไรเป็นหลักฐานที่จะเชื่อว่าศักราชไหนถูกต้องตามจริง ยิ่งมาถึงสมัยเมื่อได้ศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัยมาตรวจหาความรู้เรื่องพงศาวดารเหนือ หลักฐานที่มีอยู่เดิมในเรื่องพระร่วง ดูก็ยิ่งคลาดเคลื่อนมากขึ้น เป็นต้นว่าได้ความตามศิลาจารึกว่าไทยเพิ่งชิงได้อาณาเขตสุโขทัยจากพวกขอม มาตั้งขึ้นเป็นอิสระต่อเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ ภายหลังสมัยพระร่วงที่อ้างในพงศาวดารเหนือหลายร้อยปี

นอกจากนั้นในศิลาจารึกปรากฏว่าผู้ชิงอาณาเขตสุโขทัยได้จากขอมนั้น ทรงนามว่า "พ่อขุนบางกลางท่าว" เป็นเจ้าเมืองบางยางอยู่ก่อน เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศรีอินทราทิตย์" เป็นรัชกาลที่ ๑ ของราชวงศ์ไทยที่ครองกรุงสุโขทัย ต่อมา "พระเจ้าบานเมือง" ราชโอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ "พระเจ้ารามคำแหง" ราชโอรสองค์น้อยของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ "พระเจ้าเลอไทย" ราชโอรสของพระเจ้ารามคำแหง เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๔ และ "พระเจ้าลือไทย" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พระมหาธรรมราชา" ราชโอรสของพระเจ้าเลอไทย ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ครองราชสมบัติสืบต่อกันมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๘๐๐ จน พ.ศ. ๑๙๒๑ ช้านานถึง ๑๒๑ ปี กรุงสุโขทัยรบแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พงั่ว) จึงตกเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาแต่ พ.ศ. ๑๙๒๑ มา

ยังมีข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งมี่ในศิลาจารึกครั้งกรุงสุโขทัย ไม่มีพระนาม "พระร่วง" ปรากฏเลยสักแห่งเดียว จะเข้าใจว่าเรื่องพระร่วงเป็นแต่นิทาน ไม่มีตัวจริงก็ไม่ได้ด้วยประเทศอื่นที่มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับกรุงสุโขทัยเมื่อเป็นอิสระ เรียกพระเจ้ากรุงสุโขทัยว่า "พระร่วง" ทั้งนั้น ยกเป็นตัวอย่างดังเช่นในเรื่องราชาธิราช ก็อ้างว่าพระร่วงได้ชุบเลี้ยงมะกะโท และอุดหนุนจนได้เป็นพระเจ้าฟ้ารั่วครองเมืองมอญ ในพงศาวดารโยนกก็ว่าเมื่อพระยาเมงรายสร้างเมืองเชียงใหม่ได้เชิญ "พระยาร่วงเมืองสุโขทัย" กับ "พระยางำเมืองเมืองพะเยา" ผู้เป็นสหายไปปรึกษา หนังสือตำนานพระพุทธสิหิงค์ซึ่งพระโพธิรังษีแต่งเป็นภาษามคธที่เมืองเชียงใหม่ ก็แปลงคำ "พระร่วง" เป็น "รังคราช" กรุงศรีอยุธยาก็เรียกกันทั่วไปว่า "พระร่วง" ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

คิดหาอธิบายจึงเห็นว่าที่เรียกว่า "พระร่วง" นั้น คงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงสุโขทัยพระองค์หนึ่งพระองค์ใดใน ๕ พระองค์นั้น ซึ่งทรงอานุภาพเลิศล้ำยำเกรงในนานาประเทศที่ใกล้เคียงยิ่งกว่าพระองค์อื่น และคงเลื่อลือระบือพระเกียรติแต่ยังทรงพระนามว่า พระร่วง แล้วจึงได้เสวยราชย์ พวกไพร่บ้านพลเมืองจึงชอบเรียกตามพระนามเดิมว่า "พระร่วง" ไม่เปลี่ยนเรียกไปตามพระนามใหม่ที่ถวายเมื่อราชาภิเษก ตัวอย่างยังมีเหมือนกันต่อมาเมื่อภายหลัง เช่นพระเจ้าอู่ทองเมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นอิสระ ราชาภิเษกทรงพระนามว่า "สมเด็จพระรามาธิบดี" ไพร่บ้านพลเมืองก็เรียกว่าพระเจ้าอู่ทองอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้นการที่คิดวินิจฉัยเอาเรื่องพระร่วงเข้าในระเบียบพงศาวดารจึงอยู่ที่ต้องพิจารณา หาหลักฐานว่าพระองค์ไหนในพระเจ้ากรุงสุโขทัย ๕ พระองค์นั้นเป็น พระร่วง แล้วพิจารณาต่อไปว่าเหตุใดจึงเรียกว่า "พระร่วง" ทั้ง ๒ ข้อนี้เป็นวินิจฉัยที่ข้าพเจ้าจะเขียนในนิทานเรื่องนี้


อธิบายเรื่องพระร่วง

แผ่นดินในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ เมื่อก่อน พ.ศ. ๑๘๐๐ แม้มีชนชาติไทยลงมาอยู่เป็นอันมากแล้ว ยังอยู่ในอำนาจของพวกขอม ซึ่งแผ่อาณาเขตเข้ามาจากประเทศกัมพูชา แต่เมื่อแผ่นดินยังเป็นของพวกลาว (คือ ละว้า) พระเจ้าราชาธิราชเมืองขอมตั้งอุปราชมาปกครองอยู่ที่เมืองละโว้ (คือ เมืองลพบุรีเดี๋ยวนี้) และให้ข้าหลวงไปตั้งปกครองอยู่เป็นแห่งๆ ต่อขึ้นไป แดนดินเห็นจะเป็นของขอมตั้งแต่ชายทะเลขึ้นไปจนถึงเมืองเชียงแสน แต่พวกขอมกำหนดอาณาเขตที่เป็นเมืองไทยเดี๋ยวนี้เป็น ๒ ส่วน เรียกชื่อต่างกัน ส่วนข้างเหนือ (ดูเหมือนจะเป็นตั้งแต่ปากน้ำโพขึ้นไป) เรียก "อาณาเขตสยาม" ส่วนข้างใต้ลงมาเรียกว่า "อาณาเขตละโว้" มีจารึกชื่อปรากฏอยู่กับภาพที่นครวัด ทั้งชาวสยามและชาวละโว้

ครั้นถึงสมัยเมื่อขอมหย่อนกำลังลง พวกไทยลงมาอยู่ทางเมืองเชียงแสนมากขึ้น ก็ชิงอาณาเขตทางลุ่มแม่น้ำโขงได้จากขอม ตั้งประเทศลานนา (คือ มณฑลพายัพ) ขึ้นเป็นอิสระก่อน ต่อมาถึงราว พ.ศ. ๑๘๐๐ พวกไทยที่อยู่ในอาณาเขตสยามต่อลงมาข้างใต้มีกำลังมากขึ้นก็เป็นกบฏต่อขอมบ้าง ผู้เป็นหัวหน้าชื่อพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง ได้กำลังของพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด (เห็นจะอยู่ในประเทศลานนา) มาช่วยร่วมมือกันตีสุโขทัย ข้าหลวงขอมสู้ไม่ไหวก็ทิ้งอาณาเขตสยามหนีลงไปเมืองละโว้ พวกไทยจึงรวมเมืองในอาณาเขตสยามตั้งเป็นประเทศอิสระเอาเมืองสุโขทัยเป็นราชธานี และเชิญพ่อขุนบางกลางท่าวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัย ทรงพระนามว่า "พระเจ้าศรีอินทราทิตย์" เรียกนามราชอาณาเขตตามชื่อเมืองราชธานีว่า "กรุงสุโขทัย" แต่ชาวต่างประเทศที่อยู่ใกล้เคียงทั้งพวกขอม และพวกมอญยังเรียกว่า "สยาม" อยู่ตามเดิม ประเทศอื่นจึงเรียกตามอย่าง เช่นจีนเรียกว่า "เสียมก๊ก" และเรียกอาณาเขตตอนใต้ลงมาว่า "หลอฮอก๊ก" ตามคำ "ละโว้" ซึ่งเป็นนามของอาณาเขตมาแต่เดิม แต่ไทยหาใช้คำ "สยาม" เรียกเป็นชื่อบ้านเมืองของตนไม่

กรุงสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอิสระ อาณาเขตไม่กว้างใหญ่เท่าใดนัก ประมาณเขตแดนทางใต้เห็นจะลงมาเพียงปากน้ำโพ ใต้นั้นลงมายังเป็นอาณาเขตของขอมเมืองละโว้ ทางฝ่ายตะวันตกเขตแดนก็คงอยู่เพียงเขาบรรทัด ที่ปันน้ำพิงค์กับแม่น้ำอื่นที่ไหลลงทะเลตะวันตก ทางฝ่ายเหนือเขตแดนต่อกับประเทศลานนาซึ่งเป็นสัมพันธ์มิตรที่ภูเขาเขื่อน ทางฝ่ายตะวันออกเขตแดนก็เห็นจะอยู่เพียงเขาบรรทัดที่ปันแม่น้ำสักกับแม่น้ำน่าน เมืองใหญ่ในอาณาเขต ถ้าว่าตามสังเกตโบราณวัตถุที่ยังปรากฏอยู่ก็มีแต่เมืองสุโขทัย เมืองชะเลียง (คือ เมืองสวรรคโลกเก่า ตอนที่มีพระปรางค์) เมืองตาก เมืองชากังราว (อยู่ตรงเมืองกำแพงเพชรข้าม) เมืองพระบาง (อยู่ที่ปากน้ำโพ) เมืองสระหลวง (คือ เมืองพิจิตรเก่า) และเมืองสองแคว (อยู่ใต้เมืองพิษณุโลกเดี๋ยวนี้) กำลังรี้พลก็ยังน้อย เพราะฉะนั้น เจ้าเมืองใกล้เคียงที่ไม่เข้าด้วยจึงกล้ายกทัพเข้ามาตีบ้านเมืองชายราชอาณาเขต ดังเช่นครั้งหนึ่งขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด (เดี๋ยวนี้เรียกด่านแม่สอด) เข้ามาตีเมืองตาก

ครั้งนั้นพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ยกกองทัพไปต่อสู้ แต่เสียทีแตกพ่าย หากพระราชโอรสองค์น้อย ซึ่งพระชันษาเพียง ๑๙ ปี แกล้วกล้าขับช้างบุกพลเข้าชนช้างชนะขุนสามชน พวกเมืองฉอดจึงแตกหนีกลับไป พระเจ้าศรีอินทราทิตย์จึงพูนบำเหน็จสถาปนาราชโอรสพระองค์นั้นเป็น "พระรามคำแหง" แล้วให้เป็นขุนพล เที่ยวปราบปรามข้าศึกศัตรูจนตั้งราชอาณาเขตสุโขทัยได้มั่นคง

พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ครองกรุงสุโขทัยอยู่กี่ปีไม่ปรากฏในพงศาวดาร เมื่อสวรรคตราชโอรสพระองค์ใหญ่ได้รับรัชทายาท ทรงพระนามว่า "พระเจ้าบานเมือง" หนังสือเก่าใช้คำภาษามคธเรียกว่า "บาลเมือง" ก็มี เรียกว่า "ปาลราช" ก็มี เรื่องพงศาวดารในรัชกาลพระเจ้าบานเมืองปรากฏในจารึกแต่ว่า พระรามคำแหงราชอนุชามีความจงรักภักดี ช่วยปราบปรามศัตรูหมู่ปัจจามิตรต่อมา เหมือนอย่างในรัชกาลพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ บางทีจะขยายอาณาเขตกรุงสุโขทัยออกไปได้อีกบ้าง แต่คงไม่เท่าใดนัก พระเจ้าบานเมืองครองกรุงสุโขทัยอยู่กี่ปีก็ไม่ปรากฏ รู้ได้ด้วยศิลาจารึกเมื่อภายหลังแต่ว่า เวลารัชกาลพระเจ้าศรีอินทราทิตย์กับรัชกาลพระเจ้าบานเมืองรวมกันประมาณ ๒๖ ปี จึงควรนับว่าในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๐๐ จน พ.ศ. ๑๘๒๖ เป็น "สมัยตั้งกรุงสุโขทัย"

เมื่อพระเจ้าบานเมืองสวรรคต พระรามคำแหงราชโอรสพระองค์น้อยของพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ได้รับรัชทายาท ใช้พระนามตามที่สมเด็จพระปิตุราช ประทานเมื่อพูนบำเหน็จนั้น ต่อมาในเวลาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เรียกพระองค์เองในศิลาจารึกว่า "พ่อขุนรามคำแหง" แต่ในพงศาวดารเรียกว่า "พระเจ้ารามคำแหง" หนังสือเก่าเรียกตามภาษามคธว่า "รามราช" ก็มี แต่คนทั้งหลายชอบเรียกกันว่า "พระร่วง" มาแต่โบราณจนถึงทุกวันนี้ คงเป็นเพราะพระเจ้ารามคำแหงทรงพระนามเดิมว่า "ร่วง" (หมายความว่ารุ่งเรือง มิใช่หล่น) เห็นจะเรียกว่า "เจ้าร่วง" อยู่ก่อน ครั้นพระปิตุราชทรงสถาปนาเป็นพระรามคำแหง" คนทั้งหลายเปลี่ยนแต่คำหน้า เรียกว่า "พระร่วง" ตามสะดวกปาก หรือจะเรียกกันว่า "พระร่วง" มาแต่เดิมแล้ว และคงเรียกกันอยู่อย่างเดิมก็เป็นได้ แม้เมื่อเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ในหนังสือเก่ายังเรียกว่า "พระยาร่วง"ก็มี ดังเช่นในหนังสือพงศาวดารเชียงใหม่กล่าวว่า พระยาเมงรายสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ ปีชวด พ.ศ. ๑๘๓๕ (ศักราชตรงกับรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง) ได้เชิญพระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา (เมื่อเป็นอิสระ) กับ "พระยาร่วง" เจ้าเมืองสุโขทัย อันเป็นมิตรสหายไปปรึกษาหารือกัน เห็นได้เป็นหลักฐานว่า "พระร่วง" นั้นคือพระเจ้ารามคำแหง มิใช่พระองค์อื่น

พระเจ้ารามคำแหงเป็นอัจฉริยบุรุษทรงพระคุณวิเศษ โดยอุปนิสัยเลิศล้ำกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นหลายอย่าง เป็นต้นว่าแกล้วกล้าสามารถในการรบพุ่ง ปรากฏมาตั้งแต่พระชันษาได้ ๑๙ ปีดังกล่าวมาแล้ว และได้ทำศึกสงครามต่อมาในสมัยเมื่อเป็นขุนพลของกรุงสุโขทัย จนเลื่องลือระบือพระเกียรติไปถึงนานาประเทศ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินจึงสามารถแผ่ราชอาณาเขตกรุงสุโขทัยออกไปกว้างใหญ่ไพศาล จนได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชองค์แรกในพระเจ้าแผ่นดินที่ครองเมืองไทยนี้ อาณาเขตกรุงสุโขทัยในรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงพรรณนาไว้ในศิลาจารึกว่า ข้างใต้ได้เมืองแพรก (คือ เมืองสรรคบุรี) เมืองสุพรรณภูมิ (คือ เมืองอู่ทอง) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี (และเมืองอื่นๆในแหลมมะลายู) ลงไปจนเมืองนครศรีธรรมราช ข้างตะวันตกได้เมืองมอญทั้งปวงเป็นเมืองขึ้นจนถึงเมืองหงสาวดี ทางข้างเหนือได้เมืองแพร่ เมืองน่าน แผ่พระราชอาณาเขตไปจนต่อแดนเมืองชะวา (คือ เมืองหลวงพระบาง) ข้างตะวันออกก็แผ่พระราชอาณาเขตไปจนถึงแม่น้ำโขงต่อแดนเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำ แต่ทางตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งต่อแดนประเทศลานนา ราชอาณาเขตคงอยู่ตามเดิม เพราะเหตุที่พระเจ้ารามคำแหงเป็นสัมพันธมิตรกับพระยาเมงรายและพระยางำเมือง ไม่เบียดเบียนกัน

ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งที่ในศิลาจารึกไม่กล่าวถึงเมืองละโว้และเมืองอื่นๆ ที่เคยเป็นเมืองขึ้นของขอมอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ จึงสันนิษฐานว่าเมืองต่างๆทางนั้นตั้งแต่เมืองนครราชสีมาลงไปทางข้างใต้ เเละเมืองที่อยู่อยู่ในลุ่มลำน้ำสักทางข้างใต้ ตลอดไปจนเมืองปราจีนและเมืองตามชายทะเลทางฝั่งตะวันออก จะยังมิได้รวมเข้าในราชอาณาเขตกรุงสุโขทัยเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง เพราะพวกพลเมืองยังมีขอมอยู่เป็นพื้น ไทยยังมีน้อย เเม้เมืองละโว้ก็อาจจะยังเป็นอาณาเขตของขอมอยู่ตลอดสมัยนั้น

นอกจากขยายราชอาณาเขตได้กว้างขวางดังว่ามา พระปรีชาสามารถของพระเจ้ารามคำแหงในรัฏฐาภิปาลโนบาย ทำนุบำรุงภายในพระราชอาณาเขตก็เป็นอัศจรรย์ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกดังจะพรรณนาให้เห็นเป็นอย่างๆ เป็นต้นว่าทรงบำรุงวัฒนธรรม ด้วยคิดตั้งแบบหนังสือไทยให้มีขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ แต่นั้นจึงอาจทำศิลาจารึกและเขียนอักษรรักษาตำรับตำราวิชาความรู้เป็นภาษาไทยสืบกันมาจนทุกวันนี้ ทั้งทรงบำรุงการศึกษาด้วยเสาะหาพระสงฆ์ลังกาวงศ์ที่รอบรู้พระไตรปิฎกขึ้นมาจากเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งเป็นพระสังฆราชและพระครูสอนวิชาความรู้ทั้งคดีธรรมและคดีโลกแก่ประชาชนชาวกรุงสุโขทัย มูลของการสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเริ่มรุ่งเรืองเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง และอยู่ประจำเมืองไทยสืบต่อมาจนทุกวันนี้ คือการถือพระพุทธศาสนาอย่างแบบลังกา

แต่ก่อนมาเมื่อพวกขอมยังเป็นใหญ่นั้น ในเมืองไทยถือพระพุทธศาสนาตามคติมหายาน ซึ่งแผ่มาจากกรุงศรีวิชัยในเกาะสุมาตราอยู่เป็นพื้น ครั้นพระเจ้าปรักกรมพาหุฟื้นพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานให้รุ่งเรืองขึ้นในลักาทวีป ลัทธินั้นแพร่หลายมาถึงเมืองมอญก่อนแล้วจึงมาถึงเมืองไทย แต่นับถือกันอยู่เพียงเมืองนครศรีธรรมราช จนพระเจ้ารามคำแหงแผ่อาณาเขตลงไปถึงนั้นทรงเลื่อมใส จึงรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ขึ้นมาประดิษฐานในกรุงสุโขทัย แต่นั้นลัทธิมหายานก็เสื่อมลงจนสูญไป ถือแต่ลัทธิลังกาวงศ์อย่างเดียวสืบมา พึงเห็นได้ด้วยวัดและพระพุทธรูปสร้างครั้งกรุงสุโขทัยแบบเป็นอย่างลังกา คือว่าสร้างตั้งแต่รัชกาลพระเจ้ารามคำแหงมาเป็นพื้น ที่สร้างก่อนนั้นมีน้อย

ในทางเศรษฐกิจของบ้านเมือง พระเจ้ารามคำแหงก็ทรงทำนุบำรุงด้วยประการต่างๆอย่างน่าพิศวง เช่นให้เลิกเก็บภาษีจังกอบจากสินค้าเมื่อผ่านด่านตามระยะทางเป็นต้น เพื่อปล่อยให้ชาวกรุงสุโขทัยไปค้าขายถึงต่างประเทศที่ใกล้เคียง และปล่อยให้ชาวต่างประเทศเหล่านั้นเข้ามาค้าขายถึงพระนครได้โดยสะดวก และอาศัยเหตุที่พระราชอาณาเขตกว้างขวางออกไปกว่าแต่ก่อน จนอาจจะใช้เรือแต่ราชธานีออกทะเลไปยังประเทศอื่นที่ห่างไกล ทรงทำทางไมตรีให้มีการไปมาค้าขายในระหว่างเมืองไทยกับเมืองจีนและเมืองชวามลายู ตลอดจนกระทั่งลังกาทวีปและอินเดีย ก็เริ่มมีชาวต่างประเทศเข้ามาค้าขายและมาตั้งประกอบกิจการต่างๆ ดังเช่นพวกจีนเข้ามาตั้งทำเครื่องสังกะโลกเป็นต้น เกิดการส่งสินค้าเมืองไทยออกไปขายถึงประเทศต่างๆ และได้ของที่ต้องการมาจากต่างประเทศโดยสะดวก ในสมัยนั้นบ้านเมืองคงมีทรัพย์สินสมบูรณ์ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

แม้พระอัธยาศัยส่วนพระองค์ของพระเจ้ารามคำแหงก็ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ เช่นโปรดทรงสมาคมกับไพร่บ้านพลเมือง อย่างฝรั่งเรียกว่า Democratic เป็นต้นว่าถ้าใครจะทูลร้องทุกข์เมื่อใดก็อนุญาตให้เข้าเฝ้าได้ไม่เลือกหน้า แม้จนเวลากลางคืนก็มีกระดิ่งแขวนไว้ที่ประตูพระราชวัง สำหรับสั่นส่งเสียงให้ทรงทราบว่ามีผู้จะทูลร้องทุกข์ แล้วเอาเป็นพระราชธุระสอดส่องในการชำระถ้อยความให้เป็นยุติธรรม ให้ราษฎรสมบูรณ์พูนสุขประกอบด้วยเสรีภาพทั่วไป กรุงสุโขทัยเมื่อรัชกาลพระเจ้ารามคำแหงจึงเจริญรุ่งเรืองยิ่งกว่ารัชกาลอื่นทั้งแต่ก่อนหรือภายหลังสืบมา ควรนับในเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยเป็นสมัยอันหนึ่ง แม้เพียงรัชกาลเดียว เรียกว่า "สมัยรุ่งเรืองถึงสูงสุด" และควรเฉลิมพระเกียรติพระเจ้ารามคำแหงไว้ในพงศาวดารว่า "พระเจ้ามหาราช" พระองค์ ๑ ของเมืองไทยด้วยประการฉะนี้

พระเจ้ารามคำแหงครองราชสมบัติอยู่กี่ปีไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าเมื่อสวรรคตราชโอรสทรงพระนามว่า "เลอไทย" ได้รับรัชทายาท และในหนังสือเก่าว่าพระเจ้าเลอไทยนั้นเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัยเมื่อก่อนจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เช่นเดียวกับรัชทายาทในรัชกาลภายหลังมาก็เป็นพระมหาอุปราชขครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ก่อนเหมือนกัน ข้อนี้ชวนให้เข้าใจว่าพระเจ้ารามคำแหงเป็นผู้สร้างป้อมปราการ และย้ายสำนักรัฐบาลจากเมืองเชลียง ไปตั้งที่เมืองศรีสัชนาลัย (ดังวินิจฉัยในนิทานที่ ๑๘ เรื่องค้นเมืองโบราณ) สถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยให้เป็นราชธานีสำรองขึ้น จึงชอบใช้ชื่อเมืองศรีสัชนาลัยเป็นคู่กับเมืองสุโขทัยในศิลาจารึก เช่นว่า "พ่อขุนรามคำแหงเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยศรีสัชนาลัย" ดังนี้แทบทุกแห่ง เพราะเมืองศรีสัชนาลัยเป็นราชธานีสำรองจึงให้รัชทายาทไปอยู่รักษา และพระเจ้าเลอไทยเป็นพระมหาอุปราชองค์แรกที่ได้ครองเมืองศรีสัชนาลัย

ส่วนจำนวนปีรัชกาลของพระเจ้ารามคำแหงนั้นมีเค้าอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยสังเกตศักราชที่ปรากฏในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่าทรงตั้งแบบหนังสือไทยเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ และปรากฏในศิลาจารึกอื่นว่าสิ้นรัชกาลพระเจ้าเลอไทยเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๐ แสดงให้เห็นเป็นหลักฐานว่ารัชกาลพระเจ้ารามคำแหงกับรัชกาลพระเจ้าเลอไทยรวมกันเป็นเวลากว่า ๖๐ ปี จึงสันนิษฐานว่าพระเจ้ารามคำแหงเห็นจะครองราชสมบัติอยู่ยั่งยืนตั้ง ๔๐ ปี คล้ายกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ จึงมีเวลาสามารถแผ่ราชอาณาเขตและบำรุงบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรือได้ดังกล่าวมา แม้รัชกาลพระเจ้าเลอไทยซึ่งรับรัชทายาทพระเจ้ารามคำแหง ก็ต้องยืนนานตั้ง ๓๐ ปี จึงจะได้ระยะเลาที่ปรากฏในศิลาจารึก

พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ซึ่งครองกรุงสุโขทัยในรัชกาลที่ ๔ เรียกพระนามในหนังสือเก่าหลายอย่าง เรียกว่า "พระเจ้าเลอไทย" อย่างพระนามเมื่อก่อนเสวยราชย์ตามแบบพระเจ้ารามคำแหงก็มี เรียกว่า "พระเจ้าฤไทยไชยเชษฐ์" (เห็นจะเป็นพระนามถวายเมื่อราชาภิเษก) ก็มี และยังมีพระนามอย่างประหลาดเรียกในหนังสือซึ่งแต่งเป็นภาษามคธว่า "อุทกโชตถตราช" แปลว่า พระยาจมน้ำ ตามนิทานว่าสวรรคตด้วยจมน้ำหายไปอย่างหนึ่ง แต่เรื่องพงศาวดารรัชกาลนี้เป็นอย่างไร ไม่มีศิลาจารึกในกรุงสุโขทัยกล่าวถึงเลยทีเดียว แต่มีโบราณวัตถุเป็นที่สังเกต ดูเหมือนพระเจ้าเลอไทยจะย้ายเมืองสองแควซึ่งเดิมอยู่ข้างใต้ (ตรงวัดจุฬามณี) ขึ้นไปสร้างใหม่ที่เมืองพิษณุโลกตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้ารามคำแหงสร้างเมืองศรีสัชนาลัย แต่ยังเรียกว่าเมืองสองแควต่อมาตามเดิม

นอกจากนั้นมีแต่นิทานที่เล่ากันในพื้นเมือง กับปรากฏในพงศาวดารประเทศอื่นที่ใกล้เคียง พอเป็นหลักฐานถือเป็นยุติได้ว่าตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระเจ้ารามคำแหง กรุงสุโขทัยก็เสื่อมอานุภาพลง เช่นปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๘๗๓ เวลานั้นพระเจ้าเลอไทยแรกเสวยราชย์ไม่กี่ปีนัก หัวเมืองมอญเป็นกบฏ พระเจ้าเลอไทยให้กองทัพไปปราบปรามไม่สำเร็จ แต่นั้นรรดาเมืองมอญซึ่งเคยขึ้นกรุงสุโขทัยเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหงก็กลับเป็นอิสระหมด การที่เสียเมืองมอญครั้งนั้นคงเป็นเหตุให้พระเจ้าอู่ทอง (องค์พ่อตา) ซึ่งต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงสุโขทัยอยู่แต่ก่อน คิดเห็นช่องทางที่จะกลับตั้งเป็นอิสระ เหมือนอย่างเมืองละโว้เมื่อขอมครอบครอง แต่ยังไม่กล้าประกาศเเข็งเมืองต่อกรุงสุโขทัย เป็นแต่ตั้งต้นเตรียมการแต่ตอมต้นรัชกาลพระเจ้าเลอไทย ด้วยทำทางไมตรีกับพวกขอม แล้วพยายามขยายอาณาเขตและเกลี้ยกล่อมผู้คนด้วยอุบายต่างๆเป็นลำดับมา จนได้บังคับบัญชาเมืองอยุธยา อันเป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลกำลังเจริญอยู่แล้ว และบางทีจะได้เมืองละโว้จากขอมโดยดีด้วย พอถึง พ.ศ. ราว ๑๘๘๘ พระเจ้าอู่ทอง (องค์ลูกเขย)ก็ย้ายมาตั้งอยู่ ณ เมืองอยุธยา เห็นจะอ้างว่าหนีห่ามาพอเป็นเหตุ พระเจ้าเลอไทยไม่สามารถจะห้ามปราบก็ต้องนิ่งอยู่ พระเจ้าอู่ทองมาอยู่(ที่ตำบลเวียงเล็ก)เมืองอยุธยาได้ ๒ ปี พระเจ้าเลอไทยสวรรคต

พระราชโอรสของพระเจ้าเลอไทยทรงพระนามว่า "ลือไทย"หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งตามภาษามคธว่า "ลิทัย" ได้ครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ทรงพระนามเมื่อราชาภิเษกว่า "พระเจ้าศรีสุริยพงศราม มหาธรรมราชาธิราช" พึงสังเกตเห็นได้ว่า ความวรรคหน้าเอาพระนามพระเจ้าศรีอินทราทิตย์องค์ปัยกากับพระนามพระเจ้ารามคำแหงองค์พระอัยกามาเป็นศิริ

ส่วนความวรรคหลังแสดงพระเกียรติยศว่าเป็น "พระมหาธรรมราชาธิราช" แปลกกับพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน และเป็นครั้งแรกที่จะใช้พระเกียรติยศเช่นนั้นในพระเจ้าแผ่นดินไทย คงเป็นเพราะพระเจ้าลือไทยได้ทรงศึกษาในสำนักพระเถระชาวลังกา ซึ่งมาเป็นครูบาอาจารย์สอนกุลบุตรอยู่ในพระนครสุโขทัย ทรงทราบคติที่นับถือกันในลังกาทวีปแต่โบราณมา ว่าพระเจ้าแผ่นดินอาจจะมีพระเกียรติยศถึงสูงสุดด้วยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์อย่าง ๑ หรือเป็นพระเจ้าธรรมราชาอย่าง ๑ (ซึ่งไทยเรียกโดยย่อว่าเป็น "พระยาจักร" หรือ "พระยาธรรม")

และอ้างพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นตัวอย่าง ว่าเดิมทรงบำเพ็ญพระบารมีตามจักรวรรดิวัตรจนได้เป็นพระเจ้าราชาธิราชแล้ว เมื่อทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาเกิดสังเวชว่า การที่บำเพ็ญจักรวรรดิวัตรนั้นต้องรบพุ่งฆ่าฟันผูคนให้ล้มตายเป็นบาปกรรม แต่นั้นก็เลิกรบพุ่งหันมาทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยทางธรรม ด้วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ทำนุบำรุงพระราชอาณาเขตให้เจริญรุ่งเรืองด้วยประการต่างๆ จนได้พระนามว่า "พระเจ้าศรีธรรมาโศก" ทรงพระเกียรติเป็นพระเจ้าธรรมราชาปรากฏสืบมา

พระเจ้าลือไทยคงทรงเลื่อมใสในคติเช่นว่านั้นมาตั้งแต่ก่อนแล้ว ครั้นได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินต้องทรงพระราชดำริถึงทางที่จะบำเพ็ญพระบารมี เห็นว่ากรุงสุโขทัยเสื่อมอานุภาพมาแต่ในรัชกาลพระเจ้าเลอไทย ถ้าบำเพ็ญจักรวรรดิวัตรเหมือนอย่างเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง ก็จำต้องรบพุ่งตีบ้านเมืองเอากลับมาเป็นราชอาณาเขตดังแต่ก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็จะยิ่งซ้ำร้าย จึงหันไปบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระเจ้าธรรมราชา ด้วยอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงบ้านเมืองในพระราชอาณาเขตให้เจริญรุ่งเรืองโดยทางสันติภาพ ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช จึงประกาศพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าธรรมราชามาแต่แรกเสวยราชย์ ก็ได้พระนามเรียกในพงศาวดารว่า "พระมหาธรรมราชา" เป็นพระองค์ที่ ๑ ในพระเจ้าแผ่นดินที่ครองกรุงสุโขทัยสืบมา

เรื่องพงศาวดารในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ปรากฏ (ในตำนานพระพุทธสิหิงค์) ว่า เมื่อเสวยราชย์ได้ ๒ ปี เกิดทุพภิกขภัยผู้คนในเมืองเหนืออดอยากระส่ำระสาย พระเจ้าอู่ทองได้ทีด้วยเหตุนั้น จึงให้พระบรมราชา(พงั่ว) เจ้าเมืองสุพรรณบุรี คุมพลขึ้นไปยึดเมืองชัยนาท อันเป็นปลายแดนหัวเมืองชั้นในของกรุงสุโขทัยไว้ แล้วประกาศตั้งพระองค์เป็นอิสระ ณ เมืองอยุธยา เมื่อปีขาล พ.ศ. ๑๘๙๓ ชิงเอาเมืองฝ่ายใต้รวมเข้าในราชอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด พระมหาธรรมราชาไม่สามารถปราบปรามได้ จึงแต่งทูตให้มาว่ากล่าวกับพระเจ้าอู่ทอง ว่าถ้าคืนเมืองชัยนาทเสียโดยดีจะยอมให้เป็นอิสระ และเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาอย่างประเทศที่มีศักดิ์เสมอกัน (เหมือนอย่างเมื่อขอมยังครองเมืองละโว้)

ก็ในเวลานั้นพระเจ้าอู่ทองได้ทำทางไมตรีกับขอมได้เมืองละโว้ก่อนแล้ว แต่ยังไม่ไว้พระทัยเกรงพวกขอมจะ "แปรพักตร์" ไปเข้ากับกรุงสุโขทัย ช่วยกันตีกรุงศรีอยุธยาเป็นศึก ๒ ด้าน จึงรับทางไมตรีของพระมหาธรรมราชายอมคืนเมืองชัยนาทกลับไปให้เป็นของกรุงสุโขทัยอย่างเดิม แต่นั้นกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาก็สมัครสมานเป็นสัมพันธมิตรกันมาจนตลอดรัชกาลของพระเจ้าอู่ทอง และเป็นโอกาสให้พระมหาธรรมราชาบำเพ็ญพระบารมีโดยทางธรรมได้ดังพระราชประสงค์

พระมหาธรรมราชาทรงคุณวิเศษด้วยรอบรู้วิชาต่างๆหลายอย่าง อันเหมาะแก่การบำเพ็ญพระบารมีเป็นพระเจ้าธรรมราชา เป็นต้นว่ารอบรู้พระไตรปิฎกเชี่ยวชาญ ข้อนี้มีหลักฐานปรากฏว่าทรงสามารถค้นคัดข้อความในคัมภีร์ต่างๆออกมาแต่งหนังสือเรื่อง "ไตรภูมิ" ขึ้นใหม่ได้ทั้งคัมภีร์ ตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ หนังสือนั้นยังอยู่จนทุกวันนี้ กับทั้งรูปภาพเรื่องไตรภูมิตามอธิบายในหนังสือนั้นก็ยังชอบเขียนกันตามวัดสืบมาจนในกรุงรัตนโกสินทร์ พระเกียรติที่ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกคงเลื่องลือแพร่หลาย จึงเรียกพระนามเฉลิมพระเกียรติอีกพระนาม ๑ ว่า "พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก" แต่ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารเหนือหลงเอาไปอ้างว่าเป็นพระเจ้าเชียงแสน อันมิได้มีในเรื่องพงศาวดารของเมืองนั้นเอง หรือเมืองใดๆ นอกจากที่กรุงสุโขทัย แม้เรื่องที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารเหนือว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกกองทัพลงมาตีเมืองศรีสัชนาลัย แล้วสร้างเมืองพิษณุโลกกับพระพุทธรูปพระชินราช พระชินศรี ก็ตรงกับเค้าเรื่องพระราชประวัติของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ด้วยเมื่อเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ณ เมืองศรีสัชนาลัย พระปิตุราชสวรรคตเกิดจลาจลขึ้นในพระนคร ต้องยกกองทัพลงมาตีเมืองสุโขทัยปราบปรามพวกกบฏราบคาบแล้วจึงได้เสวยราชย์

ส่วนเรื่องสร้างพระชินราช พระชินศรีนั้น ในหนังสือพงศาวดารเหนือว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้หาพวกช่างที่มีฝีมือในเมืองต่างๆ มาประชุมช่วยกันปั้นหุ่น โดยประสงค์จะให้งามผิดกับพระพุทธรูปสามัญ ข้อนี้เมื่อพิจารณาดูลักษณะพระชินราช พระชินศรี ก็เห็นงามแปลกจริง แต่ผิดกับพระพุทธรูปอื่นในบางอย่างอันน่าพิศวง อย่างอื่นยกไว้จะอ้างเป็นอุทาหรณ์ แต่ที่พระหัตถ์พระพุทธรูปที่สร้างในเมืองไทยแต่ก่อนนั้น ทั้งทางเมืองเหนือและเมืองใต้ ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เป็นหลั่นกันเหมือนกับนิ้วมือคนสามัญ แต่พระหัตถ์พระชินราชกับพระชินศรีทำปลายนิ้วยาวเท่ากันทั้ง ๔ นิ้ว ผิดกับพระพุทธรูปแบบเก่า

ที่ทำเช่นนั้นน่าสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเมื่อพระศรีธรรมไตรปิฎก (คือพระเจ้าลือไทย) จะสร้างพระชินราชกับพระชินศรีได้ค้นคัมภีร์มหาปุริสลักษณะ เอาพระบาลีว่า "ทีฆงฺคุลี" ซึ่งแปลว่า "นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทยาวงาม" นิ้วพระหัตถ์ทั้ง ๔ นิ้วพระบาททั้ง ๕ มีประมาณเสมอกัน ไม่เหลื่อมไม่ยาวไม่สั้นดังสามัญมนุษย์ มาแนะนำให้ช่างปั้นหุ่นทำปลายนิ้วพระหัตถ์ยาวเท่ากันทั้ง ๔ นิ้ว เห็นจะเป็นแรกมีเมื่อสร้างพระชินราช พระชินศรี แล้วจึงเลยเป็นแบบพระหัตถ์พระพุทธรูปที่สร้างกันชั้นหลังสืบมาทุกวันนี้ และยังมีลักษณะอย่างอื่น เช่นทรวดทรงและชายจีวรยาวแบบลังกาเป็นต้น ซึ่งส่อให้เห็นว่าพระชินราชกับพระชินศรีนั้นพระเจ้าลือไทยสร้างเมื่อ พ.ศ. ในเรือน ๑๙๐๐ เป็นสมัยเมื่อนับถือพระสงฆ์ลังกาวงศ์แล้ว มิใช่เจ้าเมืองเชียงแสนลงมาสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๕๐๐ ดังกล่าวกันมาแต่ก่อน

นอกจากเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก พระเจ้าลือไทยยังทรงชำนิชำนาญวิชาไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และอักษรศาสตร์ มีหลักฐานทั้งในศิลาจารึกและหนังสือเก่าปรากฏอยู่ ในส่วนวิชาไสยศาสตร์นั้น สังเกตในศิลาจารึกครั้งพระเจ้ารามคำแหงยังเป็นแต่นับถือผี มาถึงพระเจ้าลือไทยจึงทรงทำนุบำรุงศาสนาพราหมณ์ เช่น ให้หล่อเทวรูป และสร้างเทวาลัย ทั้งจัดระเบียบพิธีพราหมณ์ซึ่งบางทีจะเป็นโครงของลักษณะพิธีทวาทศมาส ที่เอาขยายแต่เป็นคำของนางนพมาสในกรุงรัตนโกสินทร์ แม้รูปพระอิศวรกับรูปพระนารายณ์องค์ใหญ่ทั้งคู่ที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานฯ ในกรุงเทพฯ บัดนี้ ก็เห็นจะสร้างเมื่อครั้งพระเจ้าลือไทย

แม้อุบายที่ประสานพระพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ ด้วยถือเป็นคติว่าเทวดาในศาสนาพราหมณ์เป็นสัมมาทิฐิ ช่วยรักษาพระพุทธศาสนาก็น่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งนั้น ส่วนโหราศาสตร์นั้น ในศิลาจารึกสรรเสริญพระคุณวิเศษของพระเจ้าลือไทย ว่าทรงสามารถทำปฏิทิน และถอดลบเดือนปี ข้อนี้ตรงกับที่กล่าวกันในชั้นหลังว่า "พระร่วงลบศักราช" เป็นแต่อ้างผิดพระองค์ไป ข้อที่ว่าทรงชำนาญอักษรศาสตร์นั้น ก็เป็นธรรมดาของผู้เล่าเรียนคัมภีร์พระไตรปิฎก นอกจากนั้นยังสังเกตได้ในศิลาจารึกครั้งพระเจ้าลือไทย ได้แก้ไขทั้งรูปตัวพยัญชนะและที่วางสระเปลี่ยนแปลงจากแบบพระเจ้ารามคำแหง ให้อ่านเขียนสะดวกขึ้น ทั้งภาษาที่ใช้ในศิลาจารึกครั้งพระเจ้าลือไทย ก็เพริศพริ้งยิ่งกว่าแต่ก่อน ตามหลักที่กล่าวมา สมควรนับถือว่าพระเจ้าลือไทยเป็นนักปราชญ์ได้ทุกสถาน

ลักษณะการต่างๆ ที่พระเจ้าลือไทยทรงบำรุงบ้านเมืองเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ปรากฏในศิลาจารึกก็เห็นได้ว่าเอาแบบพระเจ้าอโศกมหาราชมาทำตาม เป็นต้นแต่อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาด้วยสร้างพระเจดีย์และสังฆาวาส ทั้งบำรุงการเล่าเรียนพระไตรปิฎก แม้จนประทานอนุญาตให้ใช้ราชมณเฑียรเป็นที่พระภิกษุสามเณรเล่าเรียนที่ในพระราชวัง อาจเป็นต้นแบบอย่างที่มีจนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระองค์ก็ทรงรับภาระสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนเพิ่มเข้าไปในราชกิจด้วย

แต่เพียงนั้นยังไม่พอแก่พระราชศรัทธา ถึง พ.ศ. ๑๙๐๕ เมื่อเสวยราชย์ได้ ๕ ปี ตรัสให้ไปนิมนต์พระมหาสามีสังฆราชเมืองลังกามาเป็นพระอุปฌาย์ แล้วเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่คราวหนึ่ง ตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอโสกมหาราช ครั้งนั้นเผอิญเกิดมงคลนิมิตรเมื่อวันทรงผนวช ในเวลาทรงรับพระไตรสรณคมน์บรรพชาที่ในพระราชมณเฑียร แผ่นดินไหวครั้งหนึ่ง เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรแล้วจะเสด็จออกไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ ณ ป่ามะม่วงในอรัญญิก พอลงจากพระราชมณเฑียรพระบาทเหยียบถึงพื้นดิน แผ่นดินก็ไหวอีกครั้งหนึ่ง คนทั้งหลายเห็นพระบารมีเป็นอัศจรรย์จึงให้จารึกศิลาไว้เฉลิมพระเกียรติทั้งในภาษาไทย ภาษเขมร และภาษามคธ (เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสภานฯ ทั้ง ๓ หลัก)

การอุปถัมภ์บำรุงบ้านเมือง พึงสันนิษฐานว่าพระเจ้าลือไทยคงรักษาความเจริญที่ได้มีมาแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหงดังกล่าวมาแล้วไว้อยู่อย่าง นอกจากนั้นปรากฏในศิลาจารึกว่าได้ทรงสร้างถนนหลวงตั้งแต่เมืองศรีสัชนาลัย ผ่านเมืองสุโขทัยไปจนเมืองกำแพงเพชร ยังมีรอยเรียกกันว่า "ถนนพระร่วง" อยู่จนบัดนี้ และคงมีการที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีด้วยประการอย่างอื่นอีก แม้จะไม่สามารถขยายราชอาณาเขตให้กว้างขวางใหญ่ได้เหมือนเมื่อครั้งพระเจ้ารามคำแหง บ้านเมืองในสมัยพระเจ้าลือไทยก็คงสมบูรณ์พูนสุขยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนทั่วพระราชอาณาเขต เพราะเช่นนั้นชาวกรุงสุโขทัยจึงนับถือพระเจ้าลือไทยเป็นพระเจ้ามหาราชเช่นเดียวกับพระเจ้ารามคำแหงอีกพระองค์หนึ่ง

ถึงรัชกาลภายหลังให้เอางาช้างเผือกทำรูปขึ้นไว้บูชาในเทวาลัย เป็นคู่กันทั้งสองพระองค์ แต่คนชั้นหลังเรียกกันว่ารูป "พระร่วง" กับ "พระลือ" มีในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นไปพบศรีสัชนาลัย ซึ่งในสมัยนั้นรวมเป็นเมืองเดียวกับเมืองเชลียง และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองสวรรคโลกแล้ว โปรดให้เชิญพระรูปนั้นลงมาไว้ในเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙ แต่พวกชาวเมืองสวรรคโลกก็ทำรูปพระร่วงกับพระลือขึ้นใหม่ หรือเอารูปภาพอื่นอันทำที่เตาเคลือบเครื่องสังกะโลกมาสมมติแทนพระรูปเดิม บูชากันสืบมายังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ดูน่าพิศวง

แต่พระเจ้าลือไทยได้ครองราชสมบัติอยู่โดยสันติภาพเพียง ๑๓ ปี ถึง พ.ศ. ๑๙๑๒ พระเจ้าอู่ทองสวรรคต พอสมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงั่ว) ขึ้นครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาก็ละทางไมตรี เริ่มตีกรุงสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๔ แต่พวกหัวเมืองเหนือสู้รบแข็งแรง รบกันมาถึง ๖ ปี สมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ตีขึ้นไปไม่ได้ถึงกรุงสุโขทัย แม้หัวเมืองตามชายแดนที่ตีได้ก็ไม่สามารถจะปกครองได้เหนือกว่าเมืองชัยนาทขึ้นไป แต่เมื่อถึง พ.ศ. ๑๙๒๑ พระเจ้าลือไทยครองราชสมบัติมาได้ ๒๒ ปี สวรรคตลงในเวลาบ้านเมืองกำลังมีการสงคราม จึงเป็นเหตุให้ร้ายแก่กรุงสุโขทัยในสมัยต่อมา

ราชโอรสของพระเจ้าลือไทยทรงพระนามเดิมว่า "ไสยลือไทย" ได้รับรัชทายาทครองกรุงสุโขทัยเป็นรัชกาลที่ ๖ ราชาภิเษกทรงพระนามว่า "พระเจ้าศรีสุริยวงศมหาธรรมราชาธิราช" รักษาพระเกียรติยศเป็นพระเจ้าธรรมราชาเหมือนอย่างพระปิตุราชต่อมา เพราะฉะนั้นในพงศาวดารจึงเรียกพระเจ้าลือไทยว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๑ เรียกพระเจ้าไสยลือไทยว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๒ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นที่ครองอาณาเขตสุโขทัยต่อมาภายหลัง ก็รักษาพระเกียรติยศเป็นพระมหาธรรมราชาเช่นเดียวกัน จึงได้พระนามเรียกว่า พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ที่ ๔ ต่อกันมาทุกพระองค์

เรื่องพงศาวดารตอนนี้ปรากฏว่า พอพระมหาธรรมราชาที่ ๑ สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงั่ว) ได้ทีก็ยกกองทัพขึ้นไปตีอาณาเขตกรุงสุโขทัยในปีนั้น เวลาชาวเมืองเหนือกำลังย่อท้อด้วยเจ้านายสวรรคต และบางทีจะมีเหตุด้วยเจ้านายไม่กลมเกลียวกันเหมือนแต่ก่อนด้วย พวกกรุงสุโขทัยต่อสู้ต้านทานกำลังกรุงศรีอยุธยาไม่ไหว พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ก็ต้อง "ออกมาถวายบังคม" ยอมแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงั่ว)ที่เมืองกำแพงเพชรเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๒

นับเวลาแต่ตั้งกรุงสุโขทัยมาได้ ๑๒๒ ปี มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองเป็นอิสระต่อกันมา ๕ พระองค์ ถึงรัชกาลที่ ๖ ก็เสียอิสรภาพแก่กรุงศรีอยุธยา เมืองไทยฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้จึงรวมเป็นประเทศเดียวกันแต่นั้นมา ตรงตามจดหมายเหตุจีนกล่าวว่าเสียนก๊กกับหลอฮกก๊กรวมกันเป็น "เสียมหลอฮกก๊ก" ประเทศอื่นก็เรียกประเทศที่รวมกันว่า "ประเทศสยาม" แต่ไทยเองชอบเรียกบ้านเมืองของตนว่า "เมืองไทย" เรียกอาณาเขตกรุงสุโขทัยแต่ก่อนว่า "เมืองเหนือ" เรียกอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนว่าว่า "เมืองใต้" สืบมา

แม้รวมอาณาเขตกรุงสุโขทัยกับกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศเดียวกันแล้ว การปกครองภายในบ้านเมืองยังเป็น ๒ อาณาเขต ต่างมีพระเจ้าแผ่นดินด้วยกันต่อมาอีกช้านาน เพราะเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชมีชัยชนะแล้ว ยอมให้เจ้านายในราชวงศ์พระร่วงตั้งแต่พระมหาธรรมราชาที่ ๒ เป็นต้น ครองอาณาเขตเดิมเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาต่อมา ดูมีข้อจำกัดเพียงว่าแม้ซื่อตรงต่อกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ให้มีอำนาจปกครองไพร่บ้านพลเมืองเหมือนแต่ก่อนทุกอย่าง เจ้าผู้ครองอาณาเขตอยู่เมืองเหนือจึงอยู่ในราชวงศ์พระร่วง และเป็นพระมหาธรรมราชาสืบต่อกันมาอีกหลายชั่ว

ลองคิดวินิจฉัยว่าเมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงั่ว)มีชัยชนะแล้ว เหตุไฉนจึงไม่รื้อราชอาณาเขตกรุงสุโขทัย เอาเมืองเหนือทั้งปวงเป็นหัวเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา เหมือนอย่างเมื่อพวกขอมเป็นใหญ่อยู่ ณ เมืองละโว้ กลับคืนให้พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ปกครองอาณาเขตกรุงสุโขทัยอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ลดศักดิ์ลงเป็นประเทศราช อธิบายข้อนี้พิจารณาดูตามเหตุการณ์ที่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารต่อมา ประกอบกับความสันนิษฐาน เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะมีเหตุ ๒ อย่างที่ขัดขวางมิให้สมเด็จพระบรมราชาธิราชรื้ออาณาเขตกรุงสุโขทัย คือ

อย่างที่ ๑ ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชมีชัยชนะครั้งนั้นมิได้เป็นเพราะตีกองทัพกรุงสุโขทัยแตกยับเยิน พระมหาธรรมราชายังมีรี้พลมาก เป็นแต่เห็นว่าจะสู้ต่อไปไม่ไหวจึงยอมแพ้ เมื่อพระมหาธรรมราชาให้ทูตไปเจรจาขอหย่าทัพ อาจจะมีข้อไขว่า ถ้าให้ครองอาณาเขตกรุงสุโขทัยอยู่อย่างแต่ก่อนจะยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ทรงพระดำริว่าถ้าไม่ยอมอย่างนั้น พวกเมืองเหนือคงพร้อมใจกันต่อสู้ด้วยจำเป็นป้องกันตัว จะเอาชัยชนะยาก จึงยอมตามคำขอของพระมหาธรรมราชา หรือมิฉะนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเองอาจจะให้ทูตเข้าไปว่ากล่าวก่อน ว่าถ้าหากพระมหาธรรมราชายอมแพ้เสียโดยดี จะให้ครองกรุงสุโขทัยต่อไป ถ้าไม่ยอมโดยดีตีบ้านเมืองได้ จะริบทรัพย์จับคนเป็นเชลยตามประเพณีการสงคราม พระมหาธรรมราชาเกรงภัย จึงยอมแพ้โดยดี

อย่างที่ ๒ ชาวกรุงสุโขทัยกับชาวกรุงศรีอยุธํยา แม้เป็นคนไทยด้วยกันก็ยังผิดกันหลายอย่าง ในสมัยนั้น ด้วยตามเมืองเหนือมีไทยมากกว่าชนชาติอื่น ภาษาที่พูดและขนบธรรมเนียมบ้านเมืองก็เป็นอย่างไทยแท้ แต่ไทยเมืองใต้เคยอยู่ปะปนกับพวกขอมและละว้ามาช้านาน ทั้งภาษาและขนบธรรมแปรไปเป็นอย่างขอมมากจนเป็นไทยต่างจำพวกกัน และยังมีข้อสำคัญที่ชาวเมืองเหนือตั้งแต่เจ้านายตลอดจนราษฎร รู้สึกว่าเคยเป็นนายของชาวเมืองใต้มาถึง ๓ ชั่วคนแล้ว ที่ต้องกลับเป็นบ่าวของชาวเมืองใต้ย่อมมีความรังเกียจกันอยู่ทั่วหน้า สมเด็จพระบรมราชาธิราชคงทรงพระดำริเห็นว่า ถ้าข้าราชการกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปปกครองอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ลดอำนาจลงเป็นอย่างประเทศราช

เรื่องพงศาวดารตอนกรุงสุโขทัยมีพระมหาธรรมราชาปกครองเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา มิใคร่มีรายการในหนังสือเก่า แต่มีพอพิจารณาจับรูปเรื่องได้ (ในตำนานพระพุทธสิหิงค์) ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชได้นารีมีศักดิ์สูงชาวกรุงสุโขทัยคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหม้ายอยู่เป็นพระชายา ทรงตั้งบุตรของนางนั้น ชื่อว่า พระยาญาณดิศ ให้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ปกครองหัวเมืองขึ้นกรุงสุโขทัยตลอดทางลำแม่น้ำพิงค์ สักแต่ว่าขึ้นอยู่ในพระมหาธรรมราชา แต่มาฝักฝ่ายอยู่ทางกรุงศรีอยุธยา คงเป็นเพราะสมเด็จพระบรมราชาธิราชได้กำลังเมืองกำแพงเพชรสมทบ จึงเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๓ แต่ขึ้นไปถึงเพียงนครลำปาง ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเจ้าเมืองนครลำปางยอมอ่อนน้อมแล้วก็เลิกทัพกลับมา

ต่อนั้นมาปรากฏว่าท้าวมหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพลงมาตีเมืองกำแพงเพชร ดูเป็นทำนองพระเจ้าเชียงใหม่ให้มาแก้แค้นที่พระยาญาณดิสนำกองทัพกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปตีเมืองนครลำปาง สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้กองทัพขึ้นไปช่วยไม่ทัน พระยาญาณดิศเห็นจะสู้ไม่ไหวก็ยอมอ่อนน้อมต่อท้าวมหาพรหม และยอมให้พระพุทธสิหิงค์ไปเมืองเชียงรายในครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชขัดเคืองพระยาญาณดิศเสด็จยกกองทัพขึ้นไปหมายจะตีเมืองกำแพงเพชร แต่ไปประชวรสวรรคตเสียกลางทาง เมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๑ ตลอดเวลาที่กล่าวมานี้ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ก็ครองอาณาเขตเมืองเหนืออยู่ แต่ไม่ปรากฏว่าทำอย่างไร สันนิษฐานว่าคงไม่ชอบสมเด็จพระบรมราชาธิราชเป็นธรรมดา ทั้งด้วยเหตุที่ไปตีบ้านเมืองและตั้งพระยาญาณดิศให้ครองเมืองกำแพงเพชร แต่จะทำอย่างอื่นไม่ได้ก็ต้องนิ่งอยู่

พอสมเด็จพระราเมศวรได้ครองกรุงศรีอยุธยาก็เปลี่ยนราโชบายให้เป็นไมตรีดีกันกับเมืองเหนือตามเยี่ยงอย่างพระเจ้าอู่ทอง เห็นจะรวมอาณาเขตทางแม่น้ำพิงค์ไปให้พระมหาธรรมราชาที่ ๒ บังคับบัญชาเหมือนอย่างเดิม พระมหาธรรมราชาก็สมัครภักดีต่อสมเด็จพระราเมศวร ประจวบกับมีเหตุเกิดขึ้นในประเทศลานนา ด้วยเมื่อพระยาสามฝั่งแกนขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เจ้ายี่กุมกามผู้เป็นพระเชษฐาครองเมืองเชียงราย หมายจะชิงราชสมบัติ ยกกองทัพลงมา แต่สู้พวกเมืองเชียงใหม่ไม่ได้ จึงให้ลงมาขอกำลังพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ไปช่วย พระมหาธรรมราชาเห็นได้ที จึงเชิญสมเด็จพระราเมศวรขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พระมหาธรรมราชารับเป็นทัพหน้า ครั้งนั้นได้ครอบครัวพวกไทยลื้อเป็นเชลยลงมาเป็นอันมาก โปรดให้ส่งออกไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามหัวเมืองในแหลมมลายู เป็นต้นวงศ์ของพวก "ชาวนคร" สืบต่อมา จึงพูดเป็นสำเนียงลื้อ และยังใช้ศัพท์ภาษาไทยลื้อปรากฏมาจนบัดนี้

เรื่องที่กรุงสุโขทัยยอมแพ้ ต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา ไม่มีศิลาจารึกสุโขทัยทีเดียว แต่ก็เป็นธรรมดาของฝ่ายแพ้ที่ไหนจะจารึกบอกไว้ ในจารึกสุโขทัยตอนสมัยนี้มีปรากฏแต่ว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ยกกองทัพไปตีเมืองใดเมืองเมืองหนึ่งทางแม่น้ำสัก แล้วกลับมาประทับอยู่ที่เมืองสองแคว (คือเมืองพิษณุโลก) ๗ ปี คงเริ่มสร้างเมืองสองแควเป็นราชธานีสำรองขึ้นอีกเมืองหนึ่ง จึงประทับอยู่นานถึงหลายปี แต่พระมหาธรรมราชาที่ ๒ จะอยู่มาอีกช้านานเท่าใดไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่ามีราชบุตร ๓ องค์ ๆ หนึ่งเกิดด้วยพระมเหสี ได้รับรัชทายาทเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๓ ราชบุตรอีก ๒ องค์ เกิดด้วยนางสนม ทรงพระนามตามอย่างพระบุรพการีราชว่า "พระยาบาลเมือง" องค์ ๑ "พระยาราม(คำแหง)" องค์ ๑ มีเค้าว่าเมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๓ ครองเมืองเหนือ ให้พระยาบาลเมืองครองเมืองสองแคว ให้พระยารามครองเมืองศรีสัชนาลัย


Create Date : 19 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:35:21 น. 1 comments
Counter : 3634 Pageviews.  
 
 
 
 
ครั้นถึง พ.ศ. ๑๙๖๒ พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ทิวงคต ไม่มีราชบุตรจะรับรัชทายาท พระยาบาลเมืองกับพระยารามชิงกันเป็นใหญ่ ถึงรบพุ่งกันจนเมืองเหนือเป็นจลาจล เวลานั้นสมเด็จพระอินทราชาธิราชครองกรุงศรีอยุธยา เสด็จยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพระบาง(ที่ปากน้ำโพ นครสวรรค์) พระยาบาลเมืองกับพระยารามเกรงพระเดชานุภาพ ต่างลงมาเฝ้าโดยดีทั้ง ๒ องค์ สมเด็จพระอินทราชาธิราชตรัสว่ากล่าวให้ปราณีประนอมกัน แล้วทรงสถาปนาพระยาบาลเมืองผู้เป็นพี่ให้เป็นพระมหาธรรมราชานับเป็นองค์ที่ ๔ ใช้พระนามในศิลาจารึกว่า "พระเจ้าศรีสุริยพงศบรมบาล มหาธรรมราชาธิราช" แต่ไปเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองสองแคว ๆ ก็เป็นราชธานีของเมืองเหนือแทนเมืองสุโขทัยแต่นั้นมา

เมื่อระงับจลาจลเรียบร้อยแล้วสมเด็จพระอินทราชาธิราชตรัสขอราชธิดาของพระมหาธรรมราชา (จะเป็นพระมหาธรรมราชาองค์ไหนไม่ทราบแน่ แต่สันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๔ นั่นเอง) ให้อภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยาราชบุตร ซึ่งโปรดให้ไปครองเมืองชัยนาท อันเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงสุโขทัยอยู่ต่อแดนเมืองใต้ และทำนองจะโอนมาเข้าอาณาเขตกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น เป็นแรกที่ราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์พระเจ้าอู่ทองจะเกี่ยวดองกัน พระราชประสงค์ของสมเด็จพระอินทราชาธิราช ในการที่ให้พระราชบุตรอภิเษกกับราชธิดาของพระมหาธรรมราชา ก็เห็นจะเพียงให้ปกครองเมืองชัยนาทได้สะดวกเท่านั้น แต่กลับมีผลอย่างสลักสำคัญในพงศาวดารโดยเผอิญเป็น

ด้วยต่อมาไม่กี่ปีสมเด็จพระอินทราชาธิราชก็สวรรคต เมื่อ พ.ศ. ๑๙๖๗ เจ้าอ้ายกับเจ้ายี่พระยาราชบุตรชิงราชสมบัติกัน แต่ชนช้างสิ้นพระชนม์ทั้งสองพระองค์ เจ้าสามพระยาก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ นางราชธิดาของพระมหาธรรมราชาก็ได้เป็นพระอัครมเหสี มีพระราชกุมารพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระราเมศวร พอทรงพระเจริญวัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชก็ให้ขึ้นไปครองเมืองเหนือทั้งปวงอยู่ ณ เมืองสองแคว เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ทิวงคต

ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งเป็นรัชทายาทขึ้นไปครองเมืองครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเป็นการกล้าอย่างน่าพิศวง ด้วยก่อนนั้นมา แม้เมืองสุโขทัยตกเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาแล้ว เจ้านายในราชวงศ์พระร่วงก็ยังปกครองกันสืบมา พวกพลเมืองทางฝ่ายเหนือก็ยังไม่นิยมกรุงศรีอยุธยานัก สมเด็จพระบรมราชาธิราชจะไม่ทรงพระราชดำริเห็นว่าเสี่ยงภัยแก่พระราชโอรสอยู่บ้างหรือ จึงให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือในครั้งนั้น

คิดวินิจฉัยข้อนี้ประกอบกับเหตุการณ์เมื่อครั้งสมเด็จพระอินทราชาธิราชทรงไกล่เกลี่ย ด้วยตั้งให้พระยาบาลเมืองผู้เป็นพี่ เป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ อยู่ ณ เมืองสองแคว คงให้พระยารามผู้เป็นน้องไปครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่อย่างเดิม น่าจะเข้าใจกันในสมัยนั้นว่าเมื่อสิ้นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ แล้วพระยารามก็ต้องได้เป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๕ จึงดีกันเป็นปกติต่อกันมา แต่ปรากฏในศิลาจารึกว่าพระยารามถึงพิราลัยเสียก่อนพระมหาธรรมราชาที่ ๔ และมีพระยายุทธิษฐิระครองเมืองศรีสัชนาลัยต่อมา สันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาที่ ๔ คงตั้งลูกชายของพระยารามให้เป็นที่พระยายุทธิษฐิระครองเมืองศรีสัชนาลัย ควบคุมพรรคพวกของพระยารามต่อมา

ครั้นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ทิวงคต มีปัญหาเรื่องผู้จะเป็นแทนเกิดขึ้น พระมหาธรรมราชาอาจจะไม่มีราชบุตรที่จะเป็นทายาท หรือมีแต่เป็นอ่อนแอ พระยายุทธิษฐิระก็ตั้งท่ากระด้างกระเดื่อง ด้วยประสงค์จะเป็นพระมหาธรรมราชา หรือว่าอีกอย่างหนึ่ง ครั้งนั้นพวกเมืองศรีสัชนาลัยคงอยากให้พระยายุทธิษฐิระเป็นพระมหาธรรมราชา แต่พวกเมืองสองแควซึ่งเป็นญาติวงศ์ใกล้ชิดและบริวารของพระมหาธรรมราชาที่ ๔ รังเกียจพระยายุทธิษฐิระ ปรึกษากันว่าพระราเมศวรก็เป็นพระราชนัดดาของพระมหาธรรมราชา ทั้งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช ก็คงไม่กล้าขัดแข็ง ด้วยเกรงอำนาจกรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพวกที่เป็นกลางกลัวเมืองเหนือจะเกิดจลาจลอีก ก็มาเข้ากับพวกเมืองสองแคว คงเป็นเพราะเจ้านายและท้าวพระยาเมืองเหนือโดยมากด้วยกัน ทูลขอให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ

สมเด็จพระบรมราชาธิราชแน่พระราชหฤทัยว่าจะมีกำลังพอปกครองป้องกันได้ และอาจจะทรงพระราชดำริเห็นประโยชน์ในภายหน้า ที่จะได้รวมเมืองเหนือกับเมืองใต้เป็นราชอาณาเขตอันเดียวกันด้วย จึงโปรดให้พระราเมศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ ฝ่ายพระชนนีก็ย่อมทรงยินดีเป็นธรรมดา ด้วยพระญาติวงศ์จะได้มีความสุขต่อไป คงถึงเสด็จขึ้นไปส่งและช่วยพระราชโอรสถึงเมืองเหนือด้วย พระราเมศวรก็ขึ้นไปครองเมืองเหนือได้โดยสะดวก

แต่พระราเมศวรเป็นรัชทายาทของกรุงศรีอยุธยา การที่ขึ้นไปครองเมืองเหนือ เป็นแต่เสด็จไปชั่วคราว แล้วจะต้องกลับลงมาครองกรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราช มิได้เป็นพระมหาธรรมราชาเหมือนอย่างเจ้านายในราชวงศ์พระร่วงซึ่งครองอาณาเขตกรุงสุโขทัยเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ต่อกันมา ๓ องค์ ตลอดเวลากว่า ๖๐ ปี ก็เป็นอัน "สิ้นสมัยกรุงสุโขทัย" เพียงเท่านั้น การปกครองเมืองเหนือแต่นี้ไปเปลี่ยนเป็นกรุงศรีอยุธยา ให้เจ้านายกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปครอง แต่ยังแยกกับเมืองใต้เป็น ๒ อาณาเขต และเจ้านายที่ขึ้นไปครองเมืองเหนือก็เลือกล้วนแต่ที่เป็นราชวงศ์ทั้งสองฝ่ายต่อมาอีกช้านาน

เรื่องพงศาวดารเมืองเหนือตั้งแต่พระราเมศวรเสด็จขึ้นไปครอง มีในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๑ สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้เกณฑ์กองทัพเมืองเหนือสมทบกับเมืองใต้ขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่(ในหนังสือยวนพ่ายว่า)สมเด็จพระบรมราชาธิราชไปประชวรสวรรคตกลางทาง พระราเมศวรเชิญพระบรมศพกลับลงมายังพระนครศรีอยุธยา แล้วขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ราชาภิเษกทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงกับราชวงศ์พระเจ้าอู่ทองทั้งสองฝ่าย.



ชุนนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แผ่นดินทอง แผ่นดินพระร่วง


...................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 19 มีนาคม 2550 เวลา:15:36:41 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com