Group Blog
All Blog
(•‿•✿)<< กรรม 4 อย่าง >><<บุคคล 4 ประเภท>>





วันนี้อยากหยิบยกพระธรรมเทศนา
อบรมกัมมัฏฐาน
ซึ่งพระอาจารย์พระครูบัวเกตุ
(ท่านพระครูวิบูลธรรมกิจ)
ท่านได้เทศนาแสดงธรรมไว้
เรื่อง กรรม 4 อย่าง ณ ศาลาบำเพ็ญบุญแม่ปาง
  วัดป่าริมธาราวาส
(ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแม่ลาน้อย)
อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 
 พระธรรมเทศนานี้ท่านแสดงไว้
เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2534
ซึ่งเราได้อ่านมาหลายครั้งแล้ว
  จึงอยากจะให้ทุกท่านที่สนใจในพระพุทธศาสนา
และต้องการฝึกจิตทำกัมมัฎฐานได้อ่าน
และได้รู้ไปด้วย 
 สำหรับท่านอาจารย์พระครูบัวเกตุนี้
ปัจจุบันท่านอายุประมาณ 78 ปี
และได้บวชมาแล้ว ประมาณ 58 พรรษา
ท่านนับว่าเป็นเกจิอาจารย์ที่น่าเคารพสักการะยิ่งนัก
ณ. วันนี้ดิฉันขออนุญาตนำพระธรรมเทศนา
ของพระอาจารย์มามอบให้แก่ผู้แสวงหา
ความสุขในชาตินี้และในชาติหน้า
ให้ได้เรียนรู้และนำไปปฎิบัติตน
ให้ได้พบกับความสุขต่อไปด้วยเทอญ....


เนื้อหาแห่งพระธรรมเทศนามีดังนี้



วันนี้จะแสดงธรรมเกี่ยวกับเรื่องกรรม 
 ที่องค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า
เปรียบเทียบไว้เป็นบุคคล 4 ประเภทในโลกนี้
ซึ่งในพระบาลีมีแสดงไว้ว่า
"ตโม ตมปรายโน" ผู้มืดมามืดไป อย่างหนึ่ง
"ตโม โชติปรายโน" ผู้มืดมาสว่างไปอย่างหนึ่ง
"โชติ ตมปรายโน" ผู้สว่างมามืดไปอย่างหนึ่ง
"โชติ โชติปรายโน" ผู้สว่างมาสว่างไปอย่างหนึ่ง
ทั้ง 4 ประเภท เปรียบเทียบคนเราทั้งหมด
จะเป็นหญิงก็ตาม  ชายก็ตาม 
 เกิดมาแล้วในโลกมีลักษณะเป็น 4 ประการ



ข้อ 1. ที่ว่าผู้มืดมามืดไป คือคนทั้งหลายเหล่าใด
เกิดมาเป็นชายก็ตามหญิงก็ตาม อยู่ในสกุลใดก็ตาม
แต่เกิดมาแล้วไม่ได้มีความคิดอ่าน
ดำริชอบที่เป็นกุศล มีแต่ความดำริคิดอ่าน
สิ่งที่เป็นอกุศล 
 ตั้งแต่ต้นในชีวิตและบั้นปลายในที่สุด
เช่นว่า ตั้งแต่เป็นเด็กๆชอบเกเร
ไม่เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ครูบาอาจารย์ 
 ให้ประพฤติดีก็ไม่ทำ ให้เล่าเรียนศึกษาอบรมก็ไม่ทำ
เอาแต่ตามใจของตนจนตลอดชีวิตอย่างนี้ 
 โดยไม่กลับเนื้อกลับตัว 
 แม้มีอายุมากแล้วก็ยังไม่กลับเนื้อกลับตัว
ประพฤติตนอยู่อย่างนั้น 
 หาความราบรื่นอะไรในชีวิตที่เป็นธรรมไม่ได้
ครั้นสิ้นชีพไปแล้วก็ไปสู่อบายภูมิ
อันนี้ท่านเรียกว่า "ผู้มืดมามืดไป" 
 คือในชีวิตไม่มีสว่างเป็นกุศลเลย
ไม่มีสว่างแห่งความดีเลย
หรือความดีที่มีแสงสว่างอยู่บ้าง
ไม่สามารถกระจายความมืดแห่งอกุศลได้ในชีวิตนี้
ท่านเปรียบไว้กับบุคคลอย่างนี้ว่า 
 "ต้นก็คด ปลายก็คด " ในชีวิตหาความดีไม่ได้



ประการที่ 2 "โชติ ตมปรายโน"
  ผู้ที่สว่างมาและมืดไป บุคคลบางคนที่เกิดมาแล้ว
ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากสิ่งแวดล้อมดี
หรือดีพอสมควรและมีความดำริคิดอ่านเบื้องต้น
มีความประพฤติดี ตามคลองธรรม 
  มีจิตใจเป็นกุศล แต่บั้นปลายแห่งชีวิต
ทิ้งกุศลไปประพฤติในอกุศล คือละบุญไปบำเพ็ญบาป
ครั้นสิ้นชีพแล้ว จิตใจก็เศร้าหมองสู่อบายภูมิ
  นี้เรียกว่า "สว่างมามืดไป" 
 ชายก็ตาม หญิงก็ตาม เกิดในสกุลใดๆก็ตาม 
 ไม่เลือกชั้นไม่ว่าวรรณะใดๆ
เกิดมาแล้วได้รับความอุปถัมภ์ค้ำชู
ได้รับการอบรม  ได้รับการศึกษาเล่าเรียนดี 
 อย่างน้อยก็พอสมควร 
 มีความประพฤติดีในปฐมวัยเบื้องต้น
แต่ในวัยสุดท้ายประพฤติตรงกันข้าม
  คือสิ่งที่เคยน่าเชื่อถือมากลับไม่น่าเชื่อถือ
ประพฤติเหลวไหลไม่ชอบด้วยคลองธรรม
ไม่กลัวบาปไม่กลัวโทษเหล่านี้เป็นต้น
ครั้นสิ้นชีพไปแล้วด้วยเหตุแห่งอกุศลเศร้าหมองนั้น 
  จึงพาไปสู่อบายภูมิ
จึงเรียกผู้นี้ว่า "ผู้สว่างมามืดไป"
หรือ "ต้นตรงปลายคด" 
  ต้นไม้มีไม้ไผ่เป็นต้น เมื่อมันผลิขึ้นมาแล้ว
ลำต้นมันอ้วนล่ำตรงดี
แต่ตอนปลายกลับคดด้วยถูกแมลงด้วงกัดก็ตาม
คดเองก็ตาม ซึ่งก็ไม่เป็นที่นิยม 
  คนก็เช่นเดียวกัน   ประพฤติอกุศล
ในวัยบั้นปลายในชีวิตของตน
เป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมอง
ติดตัวไปจึงไปสู่ ทุคติอยายภูมิ



ประการที่ 3 "ตโม โชติปรายโน"
  ผู้มืดมาแต่สว่างไป ชีวิตของบุคคล
ชายก็ตามหญิงก็ตาม
บางคนในโลกนี้เกิดมาแล้วเป็นต้นว่า 
 ได้รับความทุกข์ยากลำบาก 
 หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อม
ด้วยความไม่ผ่องใสด้วยประการต่างๆ
แต่เมื่อมีชีวิตเติบโตขึ้นได้รับการศึกษาพอสมควร
หรือได้รับคำแนะนำพร่ำสอน 
 หรือได้เห็นสิ่งที่ดีงามก็กลับไปนึกคิด
และพิจารณากลับตนเสียใหม่จากมืดให้เป็นสว่าง 
  หมั่นประกอบคุณงามความดีที่ยังไม่มี ให้มีขึ้น
กุศลเจตนาใดๆที่มีอยู่แล้ว
เพราะเพิ่มเสริมสร้างให้มากแข็งแกร่งยิ่งขึ้่น 
 บริบูรณ์ยิ่งขึ้น สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
จนเกิดความร่มเย็นเป็นสุข
ในบั้นปลายในชีวิตของตน
  ได้รับความผาสุกด้วยประการต่างๆ
ครั้นเมื่อสิ้นชีพไปแล้วก็ไปสู่สุคติ 
 ซึ่งท่านเปรียบเทียบบุคคลเช่นนี้ไว้ว่า
"ต้นคดแต่ปลายตรง"
เรียกว่าในชีวิตนี้เกิดมาใช้ได้ไม่เสียที



ส่วนประการที่ 4 "โชติ โชติปรายโน" 
 ผู้ที่สว่างมาสว่างไป บุคคลนี้กล่าวโดยสั้นๆก็คือ
ผู้มีบุญญาธิการถึงแม้เกิดมาแล้วจะมีภาวะอย่างไร
   ครอบครัวจะตกอยู่ในสภาวะยากจนอย่างไร
แต่ก็ไม่ท้อถอย มีสติปัญญา มีมานะอุตสาหะ
รู้จักประมาณในสิ่งต่างๆได้ดี 
 ทำให้ชีวิตของตนได้รับ
ความราบรื่นร่มเย็นเป็นสุข 
 มีแก่นสารในชีวิตบั้นปลาย
ทั้งในฐานะและในคุณธรรม
สร้างสมคุณงามความดี
ให้เป็นประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมเป็นต้น
  บุคคลเช่นนี้ ชื่อว่าหายากที่สุด
ได้นามว่า "โชติ โชติปรายโน"
หรือ"ต้นก็ตรงปลายก็ตรง



พระผู้มีพระภาคเจ้าเปรียบเทียบ
บุคคลทั้ง 4 ประการนี้
  ก็เพื่อแสดงเครื่องหมายปรากฎแห่งกรรม
ที่กระทำไว้ในปัจจุบันบ้างในกาลก่อนบ้าง 
 คนเราเกิดมาสิ่งที่จะเห็นไปต่างๆ
ก็ด้วยอำนาจแห่งกรรม 
  คนเราเกิดมาหวังปรารถนาความดีความสุข
    และตายแล้วอยากขึ้นสวรรค์
อยากไปสวรรค์ อยากไปเกิดบนสวรรค์ 
  หรือเรียกว่าสุคติภพด้วยกันทั้งนั้น 
  คือจะไปที่ไหนก็แล้วแต่
ขอให้เป็นสุคติอย่าให้เป็นทุคติ
มีความนึกมีความปรารถนาเหมือนกัน
   แม้ผู้นั้นจะเป็นโจรผู้ร้ายก็ดี
ก็หวังความปรารถนาเป็นสุข
   แม้ผู้นั้นจะเป็นสมณะพราหมณ์
ออกบวชในพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน
ย่อมมีความปรารถนาเหมือนกัน 
 แต่ย่อมเป็นไปได้หรือไม่ได้ 
  สิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปได้ตามความประสงค์
ก็ต้องกระทำให้เกิดมีขึ้นให้ถูกต้อง
  ไม่ใช่แต่เพียงปรารถนา นึก หรือคิด 
 หรืออ้อนวอน หรือ บวงสรวง
การนึกหรือการคิด
ก็เป็นมโนกรรมอย่างหนึ่ง
   ซึ่งเป็นเหตุให้เป็นบุญ
และเป็นบาปได้เหมือนกัน
แต่การที่จะปรารถนาเพียงนึกคิด
ให้ได้สุคติดังกล่าวมาแล้วนั้น 
 ยากที่จะเป็นไปได้
เหมือนชาวนามีนาอยู่ 
  พอถึงหน้านามีฝน 
 เขาไถ เขาหว่าน เขาดำ 
 แต่ตัวเองเพียงนึกว่าให้นาของเรามีข้าว
ได้หว่านแล้ว ปลูกแล้ว มีผลแล้ว
   เพียงแต่นึกย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันใด
  ผลแห่งความปรารถนา 
  คือมีสุคติภพเป็นต้น
  ก็เช่นเดียวกันฉันนั้น 
 เพราะฉะนั้นคนเราจะได้ดิบได้ดี 
  ได้บุญ ได้กุศล
ก็ต้องกระทำความดีให้เกิดมีขึ้น 
  ถ้าไม่ทำความดีให้เกิดมีขึ้น 
  ผลแห่งความดีก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
ไม่มีใครที่จะช่วยเหลือได้ 
  ไม่มีอะไรที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์
ที่ว่าเหนืออะไรก็แล้วแต่
แม้แต่ ฤาษี ชีไพร ดาบส ในสมัยนั้น
   เรียกว่าบางคนมีตาทิพย์ หูทิพย์
ก็ไม่สามารถจะช่วยใครๆในเรื่องเหล่านี้ได้ 
  นอกจากตัวของตัวเอง
ที่จะต้องกระทำให้เกิดมีขึ้นเท่านั้น
เพราะฉะนั้น กรรมดี คือ การกระทำชอบ 
 ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ 
 เรียกกันสั้นๆว่าความดี
ย่อมเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดมีขึ้นทุกเพศทุกวัย
   เพราะความดีเมื่อทำขึ้นแล้ว ให้ผลก็คือความสุข
ความสุขนั่นแหละคือสุคติภพในปัจจุบัน 
  ตรงกันข้ามกับความไม่ดี คือความชั่วทำขึ้นแล้ว
ให้ผลก็คือความทุกข์ 
   ความทุกข์นั่นแหละคือนรกในปัจจุบัน 
 ซึ่งเป็นข้อเปรียบเทียบเป็นอุปมาอุปมัย



เพราะฉะนั้นควรทำความดีให้เกิดมีขึ้น 
 มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า "ยสยาโลกวตฺถโน"
เกิดมาแล้วควรทำแต่ความดี แปลอย่างนี้ก็ได้ 
 เกิดมาแล้วอย่าเป็นคนรกโลกก็ได้
คำว่ารก เช่นป่าเป็นต้นก็ดี
มันรกแล้วไม่มีพิษไม่มีภัย
ย่อมเป็นที่อาศัยของสรรพสัตว์
และยังทำให้ธรรมชาติ
เกิดความอุดมสมบูรณ์แผ่นดินชุ่มชื้น
   หรือเมื่อมนุษย์ปรารถนา
จะถากจะถางจะโค่นจะฟัน
ก็ยังนำสิ่งเหล่าน้้นไปเป็นประโยชน์ 
  อย่างน้อยเผาขึ้นแล้วก็เป็นปุ๋ย
ให้มีคุณประโยชน์บ้าง
แต่ถ้าเกิดมาแล้วเป็นคนรกโลก 
 ก็ย่อม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน 
  ความรกของมนุษย์จึงไม่มีประโยชน์เลย
เพราะเกิดขึ้นมาแล้วเป็นคนรกนั้น
ทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน 
  ทำให้คนที่เขาจะได้ความสุข
กลับได้ความทุกข์
ทำให้คนที่เขาจะกระทำความดี
ย่อมให้เขาทำความไม่ดี 
   ทำให้อำนาจแห่งความดีเสียไป
ทำให้ความสดชื่นเป็นความอับเฉา
  ทำให้ความดีเป็นความไม่ดี 
   เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลเหล่านี้
เกิดขึ้นมามากเพียงใด
   โลกคือหมู่สัตว์ก็ยิ่งรกมากขึ้นเพียงนั้น 
  โลกที่รกและมืดย่อมเป็นอันตราย
คือย่อมประหัตถ์ประหาร
ล้างผลาญซึ่งกันและกัน
   ส่วนป่ารกย่อมมีคุณมีประโยชน์
แม้แก่สรรพสัตว์
เพราะฉะนั้นเกิดมาแล้ว
จึงควรทำความดีให้เกิดมีขึ้น
   คือบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา



พระพุทธเจ้าทรงมีเมตตา
ต่อสรรพสัตว์ในโลก 
 ทรงบัญญัติ แสดงธรรม 
แสดงหนทางแห่งความดี
   ทางใดที่เป็นทางบาป 
 เช่น โลภะ โทสะ โมหะ
ก็ทรงแสดงให้เห็นให้รู้ให้เข้าใจ
    ทางใดที่เป็นทางดีคือ ทาน ศีล ภาวนา 
 เป็นหนทางที่ไปสู่สวรรค์ 
  เป็นหนทางที่ไปสู่สุคติ 
  เป็นหนทางที่ให้บุคคลสมความปรารถนา 
 พระองค์ก็ทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ตาม
สภาวะธรรมที่เป็นจริง 
 จึงควรไตร่ตรองพิจารณาให้รอบคอบ
การทำความดี
ย่อมยังความสุขให้แก่ตนและผู้อื่น
และแก่โลก โลกจะไม่ลืมผู้นั้น
แม้ล่วงลับดับชีพดับขันธ์ไปแล้วก็ตาม 
  แต่ความดีไม่ดับ ความดีไม่เสื่อม
   ความดีไม่เน่า   ความดีไม่สลาย 
     ความดีตั้งอยู่ในฐานะแห่งความมั่นคง 
  ไม่สูญสลายไปจากโลก
ดังมีพุทธภาษิตว่า
 " รูปํ ชีวติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ นชีวติ" 
  รูปร่างสรีระร่างกายแตกสลายไปได้
แต่ความดียังคงไว้ 
 เพราะฉะนั้นความดีชื่อว่า
เป็นแก่นสารในชีวิตของเรา
ถ้าทำความดีก็ชื่อว่า
ให้แก่นสารแก่ในชีวิต 
   สรีระร่างกายของเรา 
 มีธาตุ 4 ดิน น้ำ ไฟ ลม
มีกระดูก มีเนื้อ มีเลือด มีเอ็น 
 เหมือนกันด้วยกันทุกๆคน
   สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สาระ
แก่นสารของชีวิตที่แท้จริง
เป็นแต่เพียงเครื่องอาศัย
ในความเป็นไปแห่งชีวิตของตน
  สารแก่นสารที่มั่นคงคือความดี
ได้แก่คุณธรรม มีทาน ศีล ภาวนา 
  อันเป็นหนทางอันประเสริฐ
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้
เพราะฉะน้้น ความดีเป็นความหมายที่กว้าง
ควรสั่งสมให้เกิดมีขึ้น
  เมื่อสร้างความดีให้เกิดมีขึ้น
ถึงแม้เราจะไม่ปรารถนา
ได้รับผลดีก็ต้องได้ดี
   ไม่ปรารถนาสุคติ ก็ต้องได้สุคติ 
 เพราะเหตุแห่งความดีด้วยประการฉะนี้



เพราะฉะนั้นต่อนี้ไป
จงตั้งใจอบรมความดี
คือภาวนามัย
   บุญสำเร็จด้วยการอบรมภาวนา
คืออบรมใจให้เป็นสมถะภาวนา
  ทำใจให้เป็นสมาธิ 
 การทำสมาธิคือการทำใจให้ตั้งมั่น
การงานที่ทำอะไรทางกายที่เราเห็น
เรียกว่าสิ่งที่เป็นวัตถุไม่ใช่รูป
นั้นถึงจะยากอย่างไร
แข็งแกร่งอย่างไรก็ไม่ยากเกินไป 
  ซึ่งปุถุชนก็สามารถทำได้ 
 เช่น ภูเขาหินจะใหญ่โตจะแข็งแกร่ง
ก็ยังสามารถเจาะ 
  สามารถทำลายกันได้โดยไม่ยาก 
  เหล็กจะเป็นแท่งใหญ่ที่ว่าแข็ง
ก็สามารถงอได้ตามความประสงค์ 
    แต่ใจซึ่งเป็นนามธรรมมีแต่ความรู้สึก 
 แต่การจะดัดใจให้ตรง
ต้องอาศัยกาลเวลานานๆ 
  จะทำเล็กๆ น้อยๆ
 ให้เกิดความประสงค์ให้ตรง
เหมือนกับสิ่งของวัตถุไม่ได้
จำต้องอาศัยกาลเวลานาน ๆ
    เพราะใจซึ่งถ้าหากจะกล่าวตามบท
ก็เรียกว่าวิญญานเดิม
คือวิญญานปฎิสนธินั่นแหละ
แล้วเราก็มาเรียกกันเป็นใจ
  วิญญานเดิมนั้นย่อมเวียนว่าย
ตายเกิดมาในสังสารวัฎ
ด้วยกิเลสกรรมวิบาก
ผ่านหลายภพหลายชาติ 
  เป็นอะไรต่ออะไร
ามากมายหลายประการ
ก็ย่อมได้รับการอบรมในสิ่งเหล่านั้นมา
   ครั้นเมื่อจะมาดับให้จิตสงบ
ให้ทิ้งอารมณ์เดิมเสีย
จึงชื่อว่าเป็นของที่ยากมาก
  แต่ก็ไม่ใช่ว่าสิ่งเหล่านั้นสุดวิสัย 
 ทรงสอนให้ใช้สติและปัญญา
ความพากเพียร ความพยายาม 
 ให้เกิดมีขึ้นจะสำเร็จตามความปรารถนา
   ดังตรัสสรรเสริญไว้ว่า
"ยาวเม เถวปริโส" 
  เกิดเป็นบุรุษพึงพยายามร่ำไป 
 " วิริเยนทุกฺขมจฺเจติ" คนจะล่วงทุกข์ได้
ก็เพราะความเพียรดังนี้



เพราะฉะนั้นการพากเพียร
พยายามด้วยสติปัญญา
  ดูจิตให้รู้จัก ดูใจให้รู้จัก ให้เข้าใจ
จิตมันส่งส่ายอย่างไร
ควรหาอุบายอย่างไรจึงจะสงบได้
  ก็ต้องเข้าใจและหาวิธีปราบปราม
ข่มใจที่ฟุ้งซ่านให้เกิดความสงบ
ด้วยการนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นต้น 
    ตามอนุสสติสมัยใด
ใจแข่นแข็งฟุ้งซ่านมากนัก
พึงปราบ เรียกว่าข่ม
สมัยใดจิตใจอ่อน
พึงประคองหรือยกย่องหรือปลอบ 
  เพื่อให้เกิดความพอเหมาะพอดี
ท่านเปรียบเทียบการอบรมใจ
ให้เหมือนกับการเลี้ยงเด็กเล็กๆ ทารก
   สมัยใดเด็กนั้นดูกระด้างนัก
ก็ต้องปราบต้องข่ม
     ถ้าสมัยใดอ่อนแอเกินไปก็ต้องปลอบ 
 ต้องเอาใจให้ดี ให้พอเหมาะพอดี
ถ้าหากว่าไม่พอเหมาะพอดี 
  เด็กก็จะเจริญเติบโตไม่ได้ ใจก็เช่นเดียวกัน 
 สมัยใดข่มก็ต้องข่ม
สมัยใดปลอบต้องปลอบ 
  กริยาที่จะข่มและปลอบใจนั้น
ก็ต้องอาศัยสติปัญญานั่นเอง



เพราะฉะนั้นสติปัญญาจึงเป็นธรรม
สำหรับเป็นเครื่องดับใจ เป็นเครื่องปราบใจ 
  เป็นเครื่องประคองใจหรือเป็นนายของใจ
  ใจจะสงบหรือไม่สงบก็มีสติเป็นตัวคุม
ดังที่เคยกล่าวมา การคุมใจด้วยสตินั้น
ก็จะต้องมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า 
 ใจที่จะหันเหไปทางไหนเมื่อถูกฝึก 
  จะลงอยู่ในความสงบหรือจะหันเหไปทางอื่น 
 ก็เหมือนกับคนฝึกทารกกับฝึกเด็ก
  ข่มแล้ว ปราบแล้ว ดูใจเขาว่า
เขาจะเชื่อฟังหรือเขาจะหาอุบายอย่างอื่น
หันเหไปทางอื่นควรแก้ไขอย่างใด 
 ฉันใด จิตก็เหมือนกัน


เพราะฉะนั้นการอบรมจิต
จึงเป็นงานที่ปราณีตละเอียดอ่อน 
  จะอาศัยเครื่องมือในทางวัตถุไม่ได้
จะต้องอาศัยคุณธรรม
ซึ่งเป็นนามธรรมด้วยกัน
    และโดยสภาวะธรรมที่แท้จริงแล้ว
จิตที่ยังไม่เคยอบรมมา
ก็ต้องอาศัยสติเป็นนายเข้ากำกับดังกล่าวมา 
   จิตที่จะสงบฝึกๆเข้าจะรู้สึกได้ด้วยตนเอง
คือไม่หนี ไม่เที่ยว ไม่ส่งส่าย เมื่อสงบแล้ว
ความรู้สึกทางใจนั้น
แตกต่างจากความไม่สงบคือ
ตอนไม่สงบนั้นก็มีอาการ
ไม่สม่ำเสมอทางจิตใจ 
 แม้การหายใจเข้าออกก็ไม่เสมอ
  ความรู้สึกก็ไม่ราบรื่น ไม่อุ่นใจ
   ไม่อิ่มใจ ไม่สบายใจ
  "ความสุขอันใดจะมีความสุขเปรียบเทียบ
เท่ากับสุขเกิดจากความสงบยากมาก
เพราะความสุขที่เกิดจากความสงบ
เป็นสุขที่ปราณีต เป็นสุขที่ละเอียดอ่อน 
 เป็นสุขของวิญญูชน
ผู้ที่ไม่ใช่วิญญูชนคือผู้ที่ยังไม่ถึง 
  ไม่สามารถจะได้รับรส
ได้รับรู้ในสิ่งนั้นได้โดยสมบูรณ์
จะรู้ได้ก็แต่เพียงปริยายเล็กๆน้อยๆเท่านั้น 
  ก็ไม่สามารถจะพบสุขได้"


เพราะฉะนั้นจึงต้องทำให้เกิดมีขึ้น 
  ดังนั้นต่อนี้ไปจงตั้งใจอบรมภาวนาจิตของตน
ด้วยบทภาวนา "พุทโธ" ที่เคยปฎิบัติมา 
  เพื่อรักษาจิตใจให้สงบ ให้เป็นสมาธิ ให้ตั้งมั่น
เพื่อเป็นพื้นฐานแห่งปัญญา 
 จะได้รู้ตามสภาวะธรรมที่เป็นจริงด้วยจิตใจที่แท้จริง 
 จงตั้งใจปฏิบัติต่อไป...



ขออนุโมทนาบุญกับผู้ที่มุ่งปฏิบัติฝึกจิตกัมมัฏฐาน
  ขอให้ท่านประสบความสำเร็จตามความประสงค์ 
  ขอให้พบหนทางไปสู่ความสุข สงบ ตลอดไป.......










Create Date : 16 มีนาคม 2555
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2557 11:36:04 น.
Counter : 7017 Pageviews.

2 comment
♦♦♦ อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ โดย พระไพศาล สาทโร ♦♦♦








เราได้รับแจกหนังสือของพระไพศาล สาทโร 
  สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา
เรื่อง อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ 
 อ่านแล้วดีมากเลยอยากจะให้ท่านได้อ่านบ้าง
จึงได้คัดลอกนำมาเสนอแต่ทุกท่าน 
 และ พร้อมนี้ก็ขออนุญาตต่อ ท่านพระไพศาล สาทโร
มา ณ โอกาสนี้ด้วย 
 เรื่องนี้เหมาะสำหรับทุกท่านที่คิดจะบวช 
 หรือ กำลังบวช หรือมีญาติจะบวช
จะได้ช่วยแนะนำกันไป 
 เมื่อคิดจะบวชแล้วก็อย่าให้เสียเวลาไปเปล่าๆ
  ควรจะได้อานิสงส์จากการบวชบ้าง ...


อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

วันนี้ ที่ 24 สิงหาคม 2553 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล

พระธรรมเทศนาในค่ำคืนนี้ 
 เป็นพระธรรมเทศนาตามปกติ
ในพรรษาเป็นประจำของทุก ๆ ปี
เพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าและวิริยะ
ความภาคเพียรของท่านทั้งหลาย ที่มาประชุมพร้อมกัน
ณ. สวนโมกข์วัดธารน้ำไหลแห่งนี้
ให้มีความเจริญก้าวหน้าในพระธรรม
ขององค์สมเด็จพระบรมศาสดายิ่งๆ ขึ้นไป
จนกว่าจะยุติลงด้วยเวลา

เพื่อความสะดวกของกระผมหรืออาตมา
   จึงขอปาฐกถาธรรมแทนการเทศนา
และท่านทั้งหลายไม่ต้องพนมมือ

เรื่องที่จะบรรยายปาฐกถาธรรมคือ
  เรื่องอานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ
ซึ่งคนเราส่วนใหญ่มีความเข้าใจในคำว่า
อานิสงส์ของผู้บวชน้อยมาก
คำว่า อานิสงส์ หมายถึง ผลบุญกุศล ผลดี 
 ที่ผู้บวชจะพึงได้รับ รวมทั้ง พ่อ - แม่ - ปู่ -ย่า-ตา-ยาย 
 ญาติพี่น้องของตน
อีกทั้งยังมีอานิสงส์ต่อการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา 
 ให้ยั่้งยืนมั่นคงเป็นมรดกให้กับลูกหลานต่อ ๆ ไป
นี่แหละคือ อานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ
 ดังจะได้กล่าวในตอนต่อไป

ปัจจุบันนี้มีผู้บวชอยู่นานๆ มีน้อยมาก
  จะมีแต่ผู้สูงอายุที่จะบวชอยู่นาน ๆ หรือบวชตลอดชีวิต
ส่วนคนหนุ่มหรือผู้มีอายุน้อยส่วนใหญ่
จะถือบวชกัน 7 วัน 15 วัน 1 เดือน หรือ 1 - 2 พรรษา
  ตามแต่โอกาสจะอำนวย

ส่วนใหญ่บวชกันตามประเพณี 
 หรือบวชเพื่อตอบแทนบุญคุณของมารดา - บิดา
จึงมีผู้สนใจในอานิสงส์ผลบุญกุศล
ที่ผู้บวชพึงจะได้รับน้อยมาก 
 เพราะคนเราจะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงชีพ
และหันไปนิยมวัตถุที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา
  เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย
จะใช้จะเดินทางไปที่ไหนก็สะดวกสบาย รวดเร็วท้นใจ
  การติดต่อสื่อสารก็สะดวก เช่น โทรศัพท์
จะโทรฯ ติดต่อกันเพียงแค่ใช้ปลายนิ้วสัมผัสเลขหมาย
ตามที่ต้องการก็สามารถพูดคุยกันได้ทันที
จะอยู่ที่ไหนๆ คนละประเทศ คนละซึกโลก คนละทวีป 
 ก็สามารถพูดคุยกันเห็นหน้าตากัน เสมือนอยู่ใกล้ๆกัน
แต่มนุษย์ก็ยังไม่พอ ยังหาความสุขไม่ได้ตามที่ตนต้องการ 
 จะกินจะนอนจะเสพกาม จะมีชื่อเสียง มีเกียรติยศ
  เป็นเศรษฐีมีเงินร่ำรวยเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน 
 เขาเหล่านั้นก็ยังหาความสุขให้เป็นที่พอใจไม่ได้
เพราะวัตถุ ทรัพย์สิน เงินทองเหล่านั้น
เป็นเพียงสิ่งอำนวยความสะดวกสบายทางร่างกาย
จะซื้อจะกินจะใช้จ่ายอะไรก็ได้ 
   จะเดินทางไปไหนก็สะดวกสบายได้ตามความปรารถนา
แต่ไม่สามารถดับความทุกข์ได้ 
 เป็นเพียงช่วยบรรเทาความทุกข์ลงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

และวัตถุสิ่งของเหล่านั้นยังเอื้ออำนวยประโยชน์
ให้กับกิเลสตัณหา ความอยาก ความโลภ ความโกรธ
  ความหลงของอวิชา ทำให้คนเรามีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น
 ขาดความสามัคคี  ไม่มีศีลธรรมมีแต่ความเห็นแก่ตัว
  แบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งสีกันดังที่ปรากฎให้เห็นกันอยู่ 
 หาความสงบสุขไม่ได้

เพื่อความสงบมีสันติสุข คนเราจึงต้องอาศัยธรรมะ
ของพระพุทธเจ้า ที่ท่านนำมาสั่งสอน
และได้บัญญัติไว้แล้วเท่านั้น จึงจะช่วยให้เรา
ได้พบกับความสุขที่แท้จริง และมีสันติสุข

ทีนี้จะพูดถึงอานิสงส์ของผู้บวช 
 และพระภิกษุผู้บวชใหม่ ถ้าภิกษุมีความตั้งใจจริง
บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง ตามธรรมวินัย
กล่าวโดยย่อ ข้อวัตรในการปฏิบัติเบื้องต้นคือ
1. ลงอุโบสถฟังปาฎิโมกข์
2. บิณฑบาตเลี้ยงชีพ
3. สวดมนต์ไหว้พระ ทำวัตรเช้า - เย็น
4. กวาดอาวาสวิหารลานวัด
5. รักษาผ้าครองไตรจีวร
6. อยู่ปริวาสกรรม
7. โกนผม ปลงหนวด ตัดเล็บ
8. ศึกษาสิกขาบท และปฎิบัติต่ออาจารย์
9. เทศนาบัติ
10. พิจารณาปัจจเวกขณะทั้ง 4
เป็นต้น และเป็นผู้มักน้อย รักสันโดษสงัดเงียบ 
 พอใจในเสนาสนะ และปัจจัย 4 ตามพึงมีพึงได้
ฉะนั้น ภิกษุผู้บวชจะต้องเป็นผู้เสียสละสิ่งของ
 อันเป็นวัตถุต่าง ๆ ที่มีอยู่ทางโลก
ออกเสียด้วยความอดกลั้นอดทน
มีความสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เป็นผู้บริสุทธิ์สุจริตจริง
  เหมาะแก่การกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป
ผู้บวชย่อมจะได้รับอานิสงส์อันใหญ่หลวง



อานิสงส์ข้อแรก ของผู้บวชเป็นพระภิกษุ
โดยส่วนมากผู้บวชมีความมุ่งหวัง
เพื่อตอบแทนคุณของมารดา - บิดา
และเพื่อดับไฟกิเลสไฟทุกข์
 เพื่อเราจะได้พ้นจากความทุกข์ท้้งปวง
  คือ บรรลุ มรรคผล นิพพาน เป็นที่ตั้ง
หากไม่ได้ถึงน้้นก็ย่อรองลงมา
เป็นการเผาผลาญไฟกิเลสไฟทุกข์ให้เบาบางลง
แล้วแต่ความสามารถของตน
ในการประพฤติปฎิบัติธรรมวินัยให้ได้ผลดี
มากน้อยเพียงไร กล่าวย่อโดยสรุป 
 ผู้บวชจะได้เรียนรู้ศาสนาที่ตนได้นับถืออย่างใกล้ชิด 
 จักได้ลองชิมการปฎิบัติธรรมะ และวินัย
ด้วยการบวชจริง เรียนจริง ปฎิบัติจริง
เพื่อความพ้นทุกข์เท่าที่ตนจะสามารถปฎิบัติได้
  เมื่อลาสิกขากลับออกไปสู่ความเป็นฆราวาส
จะได้เป็นคนที่ดีกว่าเก่า
เหมาะที่จะเป็นผู้นำ หรือหัวหน้าครอบครัว 
 นี่คืออานิสงส์ข้อแรกที่ผู้บวชพึงจะได้รับ
  ด้วยการปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ ถูกต้อง
เหมาะแก่การกราบไหว้ของบุคคลทั่วไป 
 จะได้ไม่เสียทีที่ได้บวชมาในพระพุทธศาสนา
จะไม่เป็นหมันเปล่า



อานิสงส์ข้อที่ 2 ได้แก่มารดาบิดา 
 ผู้บวชย่อมมุ่งตอบแทนบุญคุณ
ของผู้มีพระคุณเป็นที่ตััง
 คือมารดา - บิดา
เพราะเราเกิดมายังไม่ทันลืมตาดูโลก 
 เราก็เป็นหนี้บุญคุณท่านก่อนแล้ว 
 ทุก ๆ ท่านย่อมประจักษ์กันดีอยู่แล้ว
ถ้าบุตรคนใดทำให้มารดา - บิดา
ที่เป็นมิจฉาทิฎฐิเป็นสัมมาทิฎฐิ 
 หรือทำให้มารดา - บิดา
ที่มีสัมมาทิฎฐิมีสัมมาทิฎฐิมากขึ้น
มีความศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนายิ่ง ๆ ขึ้นไป
จนถึงกับมารดา - บิดา ออกพ้นจากกองทุกข์
ได้หมดสิ้นเชิงจึงจะสมกับบุญคุณที่ท่านมีต่อเรา
และยังมีอานิสงส์แก่ญาติพี่น้องเพื่อนสนิทมิตรสหาย
และบุคคลอื่นที่เป็นมิจฉาทิฎฐิให้เป็นสัมมาทิฎฐิ
มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประพฤติปฎิบัติธรรมวินัย
เรียนรู้ธรรมะอันลึกซึ้งมั่นคงไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย
  จึงจะนับว่าเป็นการบวชที่ถูกต้อง
และตอบแทนบุญคุณของ มารดา - บิดา ได้จริง 
 ได้รับผลแห่งพรหมจรรย์นี้จริง แล้วตั้งหน้าสอนผู้อื่นจริง
เป็นที่ศรัทธาของมหาชนทั่วไป 
  ให้เขากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจไม่เป็นขบถ
หรือหลอกลวงต่อความหวังดีของมารดา - บิดา
และญาติสนิทมิตรสหาย ซึ่งเป็นผู้หวังดี
 แต่ประการใดเลย อันนี้แหละเรียกว่าอานิสงส์ของผู้บวช



อานิสงส์ข้อที่ 3 ประการสุดท้าย
 อันพึงได้แก่พระศาสนาจากการบวชของเรา
เป็นการสืบอายุพระศาสนาให้มั่นคงสืบไป
เหตุที่เราได้บวชกันเพราะพระพุทธศาสนามีอยู่ก่อนแล้ว 
 ถ้าเราไม่มีศาสนาเราก็คงไม่ได้บวชดังที่ปรากฎนี้
ฉะนั้น เราจึงต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณของพระศาสนา
ระลึกถึงคุณของอุปัชฌาย์อาจารย์
ที่สืบทอดอายุพระพุทธศาสนากันมาตามลำดับ ๆ
นับตั้งแต่สมัยพุทธกาล จนมาถึงปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 2500 ปีมาแล้ว
เราจึงได้บวชกันเราจึงต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
  ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน
สืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนมั่นคงอยู่ในโลกนี้
เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของท่าน
และเพื่อประโยชน์ของสัตว์โลกทั้งหลายสืบไป


ธรรม หมายถึง หลักความจริงของธรรมชาติ 
 ซึ่งไม่มีใครตั้งขึ้นหรือบัญญัติขึ้น
แต่เป็นกฎธรรมดาของธรรมชาติ หรือของสิ่งทั้งปวง
   ซึ่งมีอยู่อย่างตายตัว อยู่ในตัวของมันเอง
ธรรมช่วยส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติธรรมออกพ้นจากกองทุกข์
เป็นผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา รู้แจ้งเห็นจริง
ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์เป็นตถตา 
 คือความเป็นเช่นนั้น 
  อิทัปปัจจยตา คือความที่เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้เป็นปัจจัย
สิ่งนี้สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น


วินัยเป็นสิ่งที่บังคับ มนุษย์เป็นผู้บัญญัติ
วางกฎขึ้นเพื่อใช้สำหรับบุคคลหรือหมู่คณะนั้นๆ
ให้ปฏิบัติตามวินัยอยู่ร่วมกันอย่างถูกต้อง
  และเหมาะสมทั้งธรรมะและวินัยทั้ง 2 อย่าง
มีความสัมพันธ์กัน
คือวินัยบัญญัติขึ้น ก็อนุโลมเพื่อให้ได้ผลตามธรรมะสูงสุด
 คือ มรรค ผล นิพพาน


วินัยเป็นเครื่องหมายของการทำคนให้เป็นคนดีมีระเบียบ
 ทำให้หมู่คณะมีระเบียบมีวินัยเรียบร้อย
มีความสามัคคีกลมเกลียวกันมีความไว้วางใจกัน
  มีความเคารพในภันเต(ผู้บวชก่อน) ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ทำให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันเข้ากันได้ด้วยดี 
 ไม่มีการเบียดเบียนกัน 
 เสมือนหนึ่งน้ำนมกับน้ำย่อมเข้ากันได้หมด


เช่นเดียวกับพระภิกษุมาจากต่างถิ่น ต่างสถานที่ 
 ต่างความคิด ต่างความเห็น
ทุกคนต้องปฏิบัติตามพระวินัย 
  ย่อมทำให้ทุกคนมีระเบียบ เรียบร้อย มีความสามัคคี
อยู่ร่วมกันมีความสุขสงบเปรียบเสมือนดอกไม้หลากหลาย 
 หลายๆสี เมื่อจัดมารวมกันไว้ให้อยู่ในแจกันเดียวกัน
ก็จะดูสวยงามเป็นที่ชื่นชมเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส
ของมหาชนทั่วไป เป็นเนื้อนาบุญของโลก
คือผู้บวชจะต้องปฏิบัติดีถูกต้อง
นับว่าเป็นโชคดีของมหาชนทั่วไป
วินัยเปรียบเสมือนหนึ่งรากแก้วที่หยั่งลึกลงใต้ดิน 
 ทำให้ต้นไม้ใหญ่แข็งแรงมั่นคง
สามารถต่อต้านพายุได้ (พายุคือกิเลสตัณหา)
ต้นไม้ใหญ่คือพระธรรม ที่พระพุทธองค์
ได้ทรงนำมาสั่งสอนพระภิกษุสามเณร
และชาวโลกทั้งหลายทั่วไป
ส่วนรากฝอยเป็นรากหาอาหารมาหล่อเลี้ยงลำต้น
ให้ออกดอกออกผล คือ มรรค ผล นิพพาน
นี่คืออานิสงส์ของผู้ปฏิบัติธรรมวินัย 
  เพื่อให้ตนออกพ้นจากกองทุกข์


ฉะนั้น การบวชของพระภิกษุจะต้องเป็นผู้เสียสละ
สิ่งของอันเป็นวัตถุที่มีอยู่ทางโลกออกเสีย
ด้วยการอดกลั้น อดทน บวชจริง เรียนจริง ปฏิบัติจริง 
 และสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติตามสืบต่อไปได้จริง
และปฏิบัติตามพระวินัยอันเป็นเครื่องนำพา
ไปสู่สภาวะอันวิเศษ ประเสริฐแก่หมู่คณะ
ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
ด้วยการทำปาฏิโมกข์ทุก 15 วัน 
 นี่แหละอานิสงส์ 3 ประการที่ผู้บวชพึงได้จากการบรรพชา 
 จึงจะไม่เป็นหมันเปล่า แต่จะมีผลเป็นกำไร


สรุป พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาส
ท่านกล่าวไว้ในคำสอนผู้บวชพรรษาเดียวว่า
ผู้บวชที่ประสงค์จะได้รับอานิสงส์ผลแห่งการบวช 
  จะต้องระลึกหรือสำเนียกถึงความรับผิดชอบในความล้มเหลว
หรือความประสบผลสำเร็จในการบวชของตนด้วยตนเอง 
 เพราะตนขอบวชด้วยความสมัครใจของตนเอง
เพื่อเป็นเครื่องเตือนตนไม่ให้เป็นผู้เสียหาย
ในการปฏิบัติของตน 
 จะต้องระลึกถึงข้อที่ตนได้ทำพิธีบวชของตน
ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ในโอกาสอันศักดิ์สิทธิ์
  ในท่ามกลางหมู่สงฆ์ที่ประชุมกันในนามของพระรัตนตรัย
ตนจะต้องมีหิริและโอตัปปะ ในการรักษาเกียรติยศของตน
  ตามที่ได้ปฏิญาณในการบวชของตนไว้อย่างไร
เป็นผู้สำนึกในลักษณะของการบวชอันแท้จริง
  กล่าวคือ การไปหมดจากเรือน จากการกินอยู่นุ่งห่ม
การใช้สอย การทำ การพูด และความรู้สึกนึกคิด
อย่างฆราวาสโดยสิ้นเชิง และเป็นผู้เว้นหมด
จากสิ่งที่ควรเว้น ควรละ ตามธรรมตามวินัยในพระศาสนานี้ 
 ทำการบวชของตนให้เป็นการบวชที่บริสุทธิ์ และถูกต้อง
ไม่นำมาซึ่งอันตรายแก่ตน 
 เพราะการบวชของตนมีพระรัตนตรัย 
 ซึ่งมีใจความสำคัญรวมอยู่ที่ความสะอาด สว่าง สงบ
เป็นวัตถุที่ตั้งอยู่อาศัยของตน
ตลอดถึงผลที่พึงได้แก่ตน แก่ผู้มีพระคุณของตน
  ตลอดถึงผลอันจะพึงได้แก่พระศาสนา
ความเป็นอย่างนี้ย่อมสำเร็จประโยชน์ได้ถึงที่สุด 
 เพราะตนมีอาวุธอันประเสริฐของบุคคลซึ่งบวชแล้ว
กล่าวคือ กัมมัฎฐานอันเป็นประธาน 
 มีอสุภกัมฐานเป็นต้น 
 และประกอบด้วยกัมมัฎฐานอันเป็นบริวาร
มีการพิจารณาจตุปัจจ้ย
 เครื่องอาศัย 5 อย่าง ของบรรพชิต
แล้วบริโภคสำเร็จประโยชน์ ได้อย่างบริสุทธิ์
นับว่าเป็นอาวุธและเป็นเครื่องป้องกัน
ในการบำบัดอันตราย
  อันจะพึงเกิดขึ้นแก่บรรพชาของตน
จนทำให้ตนมีสิทธิ์อันชอบธรรม
ที่จะรับทักษิณาทาน และการกราบไหว้บูชา
ท้้งของเทวดาและมนุษย์
รู้จักถือเอาประโยชน์อันสูงสุด
ซึ่งเป็นความมุ่งหมายอันแท้จริงแห่งการบวช 
 กล่าวคือ ความเร็วในการบรรลุมรรคผล
และโอกาสที่ตนสามารถบำเพ็ญประโยชน์ตน
  และประโยชน์ผู้อื่นได้กว้างขวางไพศาลสูงสุด
อย่างไม่มีขอบเขต
สมกับบาลีที่ว่า อปิ เจ ปตฺตมาทาย อนาคาโร
  ปริพฺพเช อญฺญํ อหึสย โล เก อปิ รชฺเชน ต วรํ
(อ่านว่า อิปิ เจ ปัตตะมาทายะ อะนาคาโร
ปะริพพะเช อัญญัง อะหึงสะยัง โล เก อะปิ รัชเชนะ ต้ง วะรัง)
ซึ่งมีใจความว่า แม้บวชเป็นคนไม่มีเหย้าไม่มีเรือน 
 มีแต่ภาชนะแห่งคนขอทานถืออยู่ 
 ก็ไม่ทำใคร ๆในโลกให้เดือดร้อน
การบรรพชานั้นยังประเสริฐกว่าความเป็นจักรพรรดิ 
  ดังนี้โดยไม่ต้องสงสัยเลย

และนี่คือ คำสอนที่พระเดชพระคุณ
หลวงพ่อพุทธทาสท่านกล่าวไว้ในคำสอนผู้บวชพรรษาเดียว


และทั้งหมดนี่คือ ปาฐกถาธรรม
เรื่องอานิสงส์ของผู้บวช 3 ประการ 
 ของท่านพระไพศาล สาทโร
ซึ่งเราได้นำมาเสนอเฉพาะเรื่องนี้ 
 ซึ่งท่านยังมีช่วงที่ยกนิทานชาดกมาเล่าด้วย 
 แต่เห็นว่าจะยาวเกินไป
เลยขออนุญาตตัดทอนมาเพียงนี้ก่อน
  สำหรับนิทานชาดกนั้นวันหน้า
จะนำมาเสนอให้ท่านต่อไปหากมีผู้สนใจ

ขอให้ทุกท่านที่อ่านเรื่องนี้จงมีแต่ความสุข
   สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ ปราศจากโรคภัย
  ภยันตรายทั้งหลายทั้งปวงด้วยเทอญ.












Create Date : 09 มีนาคม 2555
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2557 10:56:56 น.
Counter : 15436 Pageviews.

3 comment
♥♥♥ จิตสั่ง ♥♥♥






ฝึกปฎิบัติไปเรื่อยเรื่อยไม่เหนื่อยหรอก
"สติ"พอกพูนเพิ่มเติมจิตสม
จิตนิ่งนิ่งวิ่งสั้นสั้นปั้นอารมณ์
ตามทุกลมหายใจเข้า-ออกก็รู้ ดูนานนาน
อัน"สัญญา"อยากห้ามคิดแต่จิตสั่ง
"สังขาร"ยังตามต่อพอเล่าขาน
"เวทนา"นั้นไซร้อยากได้นาน
"รูป"เที่ยบปาน"สติ"ครองต้องลองทำ
ที่ว่า"จิต" เกิดดับจับให้ได้
ตามดูไปให้ตนรู้ดูขำขำ
จิตย้ำคิดจิตย้ำบอกหลอกให้จำ
อย่าถลำทำตามจิตอย่าคิดลอง
"สติ"คือการระลึกรู้ดูให้ออก
สิ่งที่บอกว่าคือสุขนั้นทุกข์สนอง
"อนิจจัง" "ทุกขัง" "อนัตตา"หามาครอง
แม้ไม่มองจิตก็รู้ดูตามไป
อย่าให้จิตสั่งการจะพาลเศร้า
จิตจะเคล้าเพิ่มให้คิดจิตลื่นไหล
ตามไปเรื่อยดูติดติดคิดอะไร
จิตหลอกไปใจเรารู้อยู่ไม่นาน









Create Date : 22 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 9 มีนาคม 2555 8:33:19 น.
Counter : 824 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ