Group Blog
All Blog
### เคล็ดลับของสมเด็จพระวันรัต (ทิต อุฑโย) ....โดย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ###









เรื่องเล่าวันพระ: 
เคล็ดลับของสมเด็จพระวันรัต
สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย)
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล



พูดถึงสมเด็จพระวันรัต วัดมหาธาตุ 
คนเฒ่าคนแก่ที่ใกล้ชิดวัดสักหน่อย
 มักจะนึกถึงสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
ซึ่งเป็นผู้สนองงานคนสำคัญฝ่ายมหานิกาย 
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า 
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
แต่ที่จริงยังมีสมเด็จพระวันรัตอีกองค์หนึ่ง 
ซึ่งเจ้าคุณสมเด็จเฮง ถือเป็นอาจารย์ 
นั่นคือสมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย)



เมื่อเจ้าคุณสมเด็จฑิตล่วงสู่วัยชรา 
ท่านได้มอบอำนาจการบริหารและการศึกษาของวัด
ให้อยู่ในมือของเจ้าคุณสมเด็จเฮง
(ซึ่งตอนนั้นเป็นพระเทพเมธี)หมด 
แต่แม้อายุถึง ๘๐ ปี ท่านก็ไม่หลง 
มีอาจาระงดงาม 
เป็นที่เคารพนับถือของพระเณรในวัด



คราวหนึ่งมีพระหนุ่มขึ้นไปกราบเรียนถามท่านว่า
 ท่านทำอย่างไรจึงมีศีลาจารวัตร
และสติสัมปชัญญะบริบูรณ์แม้อายุปูนนี้แล้ว
แทนที่ท่านจะตอบ กลับเปรยขึ้นมาว่า 
“หมู่นี้เวลาพระตีระฆัง 
หมาหอนกันแปลกเหลือเกิน
มหาสงครามในยุโรป 
(สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) 
จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าประชวร 
จะหายหรือไม่ ก็ไม่รู้ได้
ถ้าพระองค์ท่านเป็นอะไรไป 
การพระศาสนาจะกระทบกระเทือนเพียงใด
 ก็เหลือที่จะเดาได้”



พระหนุ่มได้ฟังก็นึกว่า
เจ้าคุณสมเด็จท่านจะเริ่มหลงเสียแล้วกระมัง 
เพราะที่ท่านพูดมานั้น
ไม่เกี่ยวข้องกับคำถามที่ตรงไหน
แต่สักพัก ท่านก็หันมาแล้วพูดว่า 
“ที่เธอถามฉันว่ามีกิจวัตรอันใด ที่ช่วยค้ำจุนใจ
 ให้ประพฤติพรหมจรรย์มาได้จนทุกวันนี้นั้น
ฉันจะบอกให้ ว่าฉันถือหลักอยู่สามสูตร 
ท่องขึ้นใจอยู่เสมอ ถ้าอยู่คนเดียวแล้ว 
เป็นต้องท่องเอาไว้ 
ท่องถอยหน้าถอยหลังได้โดยตลอด
ถ้ามีแขกก็หยุดไว้ มีกิจอื่นต้องทำก็ทำ
 เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ เซ็นหนังสือ ตอบปัญหา 
เมื่อหมดกิจแล้ว ท่องค้างไวที่ไหน 
ก็ท่องต่อไปจากนั้น 
โดยรำลึกนึกตามข้อความนั้นไปตลอดเวลา”



สูตรทั้งสามได้แก่
๑)พระภิกขุปาฏิโมกข์ ท่านขยายความว่า
 ท่านท่องพระปาฏิโมกข์เป็นนิจ 
เพื่อตรวจตราดูว่าได้ล่วงสิกขาบทข้อใดบ้าง
เมื่อรู้ว่าผิดพลาด ก็ทรงจำไว้ แล้วนำไปปลงอาบัติ 
ถ้าไม่ถือตามพระปาฏิโมกข์อย่างเคร่งครัด
ก็เป็นพระอลัชชี
อยู่ในพรหมจรรย์ไม่ได้ ถึงอยู่ไป 
ก็เป็นคนลวงโลก



๒)มูลกัจจายน์ หรือตำราภาษาบาลี 
ท่านอธิบายว่า
 ท่านเรียนภาษาบาลีแบบเก่า 
อาศัยคัมภีร์นี้เป็นแม่บท
ที่รู้พระไตรปิฎกแตกฉาน ก็อาศัยคัมภีร์นี้ 
ท่านว่าท่านต้องท่องสูตรและแม่บท
แห่งภาษาบาลีให้คล่องแคล่ว
หากมีพระรุ่นใหม่มาถาม 
แล้วท่านตอบเขาไม่ได้ 
เขาก็จะหาว่าเจ้าคุณสมเด็จหลงแล้ว
 หรือความรู้สู้เขาไม่ได้แล้ว
ถ้าเขาเกิดความคิดเช่นนี้ จะเป็นบาปแก่เขา
 เพราะการไม่เคารพผู้ใหญ่



๓)มหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า 
สติปัฏฐานเป็นทางเอก
ที่จะช่วยให้เราพ้นจากวัฏสงสาร
ที่ท่านมาบวชก็เพื่อทำตนให้พ้นทุกข์ 
ดังนั้นจึงท่องพระสูตรนี้เป็นประจำ 
พร้อมกับพิจารณา กายเวทนา จิต ธรรม
 อยู่เป็นประจำ ท่านขยายความว่า 
ถึงแม้จะไม่ได้เป็นพระอริยบุคคล
 แต่ท่านก็เพียรพยายามตามนั้นอยู่ตลอดเวลา
“ยศถาบรรดาศักดิ์ อัครฐาน
 เพียงช่วยให้ฉันบริหารงานพระศาสนา
 เพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชนเท่านั้น
แต่ฉันก็ไม่ลืมที่จะทำหน้าที่
อนุเคราะห์ตัวเองด้วยเช่นกัน”



ท่านกล่าวกับพระหนุ่มว่า 
วัตรปฏิบัติดังกล่าวท่านทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ
 จนบัดนี้จึงยังไม่หลงใหล
โลกธรรมไม่อาจกล้ำกรายได้
 ที่ผ่านมายังไม่เคยบอกใคร
 เรื่องนี้ แต่เมื่อถูกถาม จึงบอกให้รู้



เคล็ดลับดังกล่าวประทับแน่นในใจ
ของพระหนุ่มรูปนั้น 
กาลเวลาล่วงเลยมาหลายสิบปี
จนพระหนุ่มได้กลายเป็นชายชรา
กลับไปครองเพศฆราวาสที่อุทัยธานีบ้านเกิด 
เรื่องราวดังกล่าวคงจะหายไป
พร้อมกับชีวิตของชายชราผู้นั้น
หากมิใช่เป็นเพราะมีชายหนุ่มคนหนึ่ง
มาสนทนาพูดคุยด้วย 
ชายหนุ่มรู้เรื่องวัดวาอารามดี
เมื่อคุยกันถึงเจ้าคุณสมเด็จเฮง
และเจ้าคุณสมเด็จฑิต 
ชายชราจึงเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
 นั่นเป็นปีพ.ศ. ๒๕๐๗
เวลาผ่านไป ๑๔ ปี 
เรื่องนี้จึงได้ถูกถ่ายทอดเป็นข้อเขียน
โดยชายหนุ่มผู้นั้น 
ซึ่งเวลานั้นได้กลายเป็นนักเขียนชั้นนำแล้ว 
มีนามปากกว่า ส.ศิวรักษ์



๓๐ กว่าปีผ่านไป 
ทุกวันนี้คงแทบไม่มีใครรู้จักข้อเขียนชิ้นนั้นแล้ว
 เพื่อไม่ให้เรื่องนี้สูญหายไป
จึงขอนำมาเล่าซ้ำอีกครั้ง




ที่มา....Fb...พระสุรินทร์ วัดป่าสุคะโต
 อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 
 ขอนำมาเสนอให้ได้อ่านได้รู้ทั่วกัน








Create Date : 17 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2557 9:14:14 น.
Counter : 1899 Pageviews.

0 comment
### จริยาของนักปกครอง ###








.เรื่องเล่าวันพระ : จริยาของนักปกครอง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
 กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล

ในบรรดาสมเด็จพระสังฆราช
สมัยรัตนโกสินทร์ 
มีพระองค์เดียวเท่านั้น
ที่เคยลาสิกขาไปอยู่ในเพศฆราวาส
ทั้ง ๆ ที่เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่แล้ว
 ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช 
(สา ปุสฺสเทว) ผู้แต่งปฐมสมโพธิ
ที่นักเรียนชั้นนักธรรมตรีทั้งหลาย
คุ้นเคยอย่างดี
 แต่ยังมีพระอีกองค์หนึ่งที่เกือบจะลาสิกขา
โดยได้ทูลลาออกจากตำแหน่ง
พระราชาคณะแล้ว
 หากแต่รั้งรออยู่พักใหญ่จนเปลี่ยนพระทัย
ภายหลังจึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์
กลับคืนตามเดิมพระองค์นั้นก็คือ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 
กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ 
ซึ่งต่อมาได้ทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์
 (อุปัชฌาย์)
 ของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า 
ยังเป็นที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ 
ทรงเป็นผู้ที่ใส่ใจในการคณะสงฆ์ 
แต่แม้จะทรงสมณศักดิ์ชั้นสูง
ก็ไม่ทรงถือพระองค์



เรื่องหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็น
ถึงพระจริยาดังกล่าวก็คือ
ตอนที่พระองค์ได้รับการทูลฟ้องว่า
มีพระป่านิกายธรรมยุตรูปหนึ่ง
ประพฤติตนไม่ถูกต้องตามพระวินัย
 พระรูปนั้นก็คือพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ
ซึ่งเป็นศิษย์พระอาจารย์ ภูริทตฺโต 
และภายหลังเป็นผู้ก่อตั้ง
วัดดอยธรรมเจดีย์ จังหวัดสกลนคร
ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า 
ยังเป็นที่สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
 และเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
จึงมีหน้าที่รับผิดชอบกับเรื่องดังกล่าวโดยตรง
 แต่แทนที่จะทรงบัญชาการ
ให้พระในตำแหน่งรอง ๆ ลงไป
หรือพระสังฆาธิการในพื้นที่ดูแลเรื่องนี้
 พระองค์กลับเสด็จไปสืบสวน
หาข้อเท็จจริงด้วยพระองค์เอง
โดยทรงไปพำนักอยู่กับพระอาจารย์กงมา
รวม ๒ ครั้ง ๒ ครา ที่วัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี
 ใน พ.ศ.๒๔๘๑ และ พ.ศ. ๒๔๘๒
ทั้งนี้โดยที่พระอาจารย์กงมาไม่ทราบวัตถุประสงค์
การมาเยือนของพระองค์เลย



ในระหว่างที่พระองค์อยู่วัดทรายงามนั้น 
ทรงกระทำวัตรเช่นเดียวกับหมู่คณะ
 เช่น ฉันหนเดียว
แม้พระอาจารย์กงมาจะให้บรรดาญาติโยม
นำภัตตาหารเพลมาถวาย พระองค์ก็ปฏิเสธ ตรัสว่า
“เราอยู่ที่ไหนก็ต้องทำตามระเบียบเขาที่นั่น”



ข้อหาแรกที่พระอาจารย์กงมาถูกร้องเรียนก็คือ
 สะพายบาตรเหมือนพระมหานิกาย
เมื่อพระองค์ได้เห็นการบิณฑบาตของวัดทรายงาม
 ก็ไม่ทรงเห็นเป็นเรื่องเสียหาย 
เพราะเป็นการสะพายบาตรไว้ข้างหน้า
ดูรัดกุม ตรัสว่า
 “สะพายบาตรอย่างนี้มันก็เหมือนกับอุ้มนั่นเอง 
ไม่ผิดหรอก เรียบร้อยดี”



ข้อหาที่ ๒ ก็คือ 
พระอาจารย์กงมาเทศน์ผิดแปลก
จากคำสอนของพระพุทธองค์ 
วิธีการของพระองค์
ในการสอบสวนเรื่องดังกล่าว
เป็นที่กล่าวขานสืบมาดังนี้ 
วันหนึ่งพระอาจารย์กงมา 
ได้ประกาศให้ญาติโยมมาฟังเทศน์
โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์จะเป็นองค์แสดง
 ประชาชนจึงแห่กันไปฟังกันล้นหลาม 
แต่เมื่อพระอาจารย์กงมาทูลอาราธนาที่กุฏิ
พระองค์ก็ปฏิเสธว่า 
“เราไม่สบาย เธอจงแสดงธรรมแทนเราเถอะ” 
เมื่อเป็นเช่นนี้ พระอาจารย์กงมา
จึงกลับขึ้นไปศาลาและแสดงธรรมแทนพระองค์
 เมื่อแสดงธรรมไปได้ประมาณ ๑๐ นาที
สามเณรผู้หนึ่งก็ลงมาจากศาลาเพื่อถ่ายปัสสาวะ
 ก็ได้พบพระองค์ทรงนั่งอยู่กับพื้นดิน
ข้างศาลานั่นเอง
สามเณรตกใจรีบกลับขึ้นศาลา 
แต่สุดวิสัยจะบอกพระอาจารย์กงมาได้ 
รุ่งเช้าพระองค์ได้กล่าวชมเชยพระอาจารย์กงมาว่า
“กงมานี่เทศนาเก่งกว่าเปรียญ ๙ ประโยคเสียอีก”



ข้อกล่าวหาที่ ๓ คือ
 พระอาจารย์กงมาเที่ยวตั้งตัวเป็นผู้วิเศษ
 แจกของขลังให้ประชาชนหลงผิด
วิธีการสอบสวนของพระองค์ก็คือ
ชวนพระอาจารย์กงมา
ไปธุดงค์ด้วยกันแบบ ๒ ต่อ ๒
ในการธุดงค์ครั้งนี้ทรงแบกกลด
สะพายบาตรเอง เพราะไม่มีผู้ติดตาม 
ครั้นพระอาจารย์กงมา
จะขอช่วยสักเท่าไรพระองค์ก็ไม่ยอม
โดยทรงเดินตามหลังพระอาจารย์กงมา 
หลังจากธุดงค์หนึ่งอาทิตย์เศษ 
พระองค์ก็ตรัสว่า
“การธุดงค์ของท่านกงมาและพระปฏิบัติกรรมฐานนี้
ได้ประโยชน์เหลือหลาย อย่างนี้ธุดงค์มาก ๆ 
ก็จะทำให้พระศาสนาเจริญยิ่งขึ้น”
นับแต่นั้นมาพระองค์ทรงให้การสนับสนุน
คุ้มครองและสรรเสริญพระอาจารย์กงมาโดยตลอด








Create Date : 10 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2557 8:57:54 น.
Counter : 1040 Pageviews.

0 comment
### พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร ###






วัดที่เป็นมงคลคู่แปดริ้วคือ
  วัดโสธรวรารามวรวิหาร 
 ตั้งอยู่บนถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง
  อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
เป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่
ยาวนานนับร้อยๆปี 
   และเป็นที่เคารพสักการะ
และเป็นที่พึ่งพาทางใจของชาวแปดริ้ว
มาแต่โบราณกาล
วัดโสธรวรารามวรวิหาร
 มีเนื้อที่ ๒๑ ไร่ ๔๒ ตารางวา
ทิศเหนือยาว ๖ เส้น ๖ วา
ทิศใต้ยาว ๕ เส้น ๑๐ วา
ทิศตะวันออกยาว ๔ เส้น ๓ วา
ทิศตะวันตกยาว ๓ เส้น ๑ วา


วัดนี้สร้างขึ้นในตอนปลายกรุงศรีอยุธยา 
 มีประวัติเล่าว่าเดิมมีชื่อว่า "วัดหงส์" 
 เพราะมีเสาหงส์อยู่ในวัด
เป็นเสาสูงมียอดเป็นตัวหงส์อยู่บนปลายเสา
  ต่อมาได้เกิดพายุใหญ่ 
 พัดให้หงส์บนยอดเสาตกลงมาเหลือแต่เสา
ชาวบ้านจึงแก้ไขโดยเอาธง
ขึ้นไปแขวนแทน ชื่อ "วัดหงส์" 
 จึงเปลี่ยนเป็น "วัดเสาธง"
ต่อมาก็เกิดพายุพัดเสาธงหักอีก
  "ชื่อวัดเสาธง" จึงเปลี่ยนเป็น " วัดเสาธงทอน"
ครั้นเมื่อหลวงพ่อพุทธโสธร
ได้เสด็จมาประทับที่วัดนี้
 "วัดเสาธงทอน" จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น
"วัดศรีโสทร" ตามชื่อขององค์พระ




แรกเริ่มเดิมที "วัดศรีโสทร" นี้
สะกดว่า "โสทร" ไม่ใช่ "โสธร" 
 ดั่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 เสด็จประพาสวัดนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๑ 
 และทรงมีพระราชหัตถเลขา
ถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อยังทรงพระอิสริยยศเป็นมกุฏราชกุมาร 
 ก็ยังได้ทรงเล่าถึงวัด "โสทร"
แต่เดี๋ยวนี้ชื่อวัดเปลี่ยนตัวสะกดเป็น "โสธร" แล้ว
  คำนี้มีความหมายว่าบริสุทธิ์ หรือ "ศักดิ์สิทธิ์"
คงจะเนื่องมาจากการที่หลวงพ่อโสธร
เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ 
 และมีรูปทรงสวยงามนั่นเอง
และผู้รู้บางท่านยังกล่าวอีกด้วยว่า
 "โสธร" เป็นนามศักดิ์สิทธิ์
  "โส" เป็นอักษรสำเร็จรูปป้องกัน 
 สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค
และ สรรพภัย ทั้วปวง
"ธ" เป็นพยัญชนะอำนาจ  มีตบะเดชานุภาพ
 และ "ร" เป็นอักษรมหานิยม
อันเป็นที่ชื่นชมของเทวดาและมนุษย์
แม้เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 
 เสด็จไปตรวจราชการคณะสงฆ์
ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘
และได้เสด็จที่วัดโสธร
  ก็ยังทรงวินิจฉัยว่า "ผู้ที่ใช้ชื่อวัดนี้ว่า วัดโสธร นั้น 
 ไม่ใช่เป็นคนไม่มีความรู้
เพราะชื่อนี้เป็นชื่อที่ไพเราะ
  ทั้งแปลก็ได้ความหมายดีด้วย"












ถ้าพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง 
 วัดโสธรวรารามวรวิหาร
เป็นวัดที่มีลักษณะดีเพราะตั้งอยู่บนแหลม
สถานที่ตั้งของวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
และเป็นที่ธรณีสงฆ์ในการรักษาศาสนาสืบต่อไป
ตามธรรมเนียมจีน 
 สถานที่ตั้งที่ดีเช่นนี้เรียกว่า "ที่มังกร" 
 ซึ่งมีคำทำนายทายทักว่า
  หากพระพุทธรูปได้ประทับ ณ สถานที่แห่งนี้
จะเกิดรัศมีบารมีและความศักดิ์สิทธิ์
ในอันที่จะรักษาบ้านเมือง 
  และสืบทอดพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
คงจะเป็นด้วยเหตุนี้ 
 หลวงพ่อพุทธโสธรจึงตัดสินใจขึ้นประทับ
ณ วัดหงส์ ในเดือนยี่ติดต่อเดือนสามตามตำนาน


แต่เดิม วัดโสธรเป็นวัดราษฏร์ 
 จนกระทั่งวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๑
  จึงได้รับพระราชทานจาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี 
 ชนิดวรวิหาร มีนามว่า
  "วัดโสธรวรารามวรวิหาร"





พระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร


วัดโสธรวรารามวรวิหาร
มีประวัติอันเก่าแก่ยาวนาน 
  ตามที่พงศาวดารว่าไว้
อายุของวัดน่าจะย้อนกลับไป
จนถึงปลายสมัยอยูธยา
อย่างไรก็ตาม หลักฐานเกี่ยวกับ
พระอุโบสถหลังแรกของวัด
ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก
ในจารึกแผ่นเงินที่พบที่วัดเจดีย์
อันแสดงว่า พระอุโบสถหลังแรกของวัด
น่าจะเป็นหลังที่พระยาวิเศษฤๅชัย (ช้าง)
เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖



ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ข้อความ
ในจารึกบางตอนที่พาดพิงถึง
การก่อสร้างพระอุโบสถ
ของวัดโสธรวรารามวรวิหาร ดังนี้

"ครั้นพระบาทพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ 
 พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ข้าพเจ้านายช้างได้เป็นพระวิเศษฤๅชัย เจ้าเมือง
นายเสือ ได้เป็นที่พระเกรียงไกรขบวนยุทธ 
 ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา เต็มวาสนาสมบัติบริบูรณ์
  ณ ปีระกา เบญจศกพุทธศักราช
ล่วงได้ ๒๔๑๖ พรรษา
   จุลศักราชล่วงได้ ๑๒๓๕ ปี 
 ข้าพเจ้าพระยาวิเศษฤๅชัย 
 ได้สร้างพระอุโบสถที่วัดโสธร
พูนดินเป็นถนนตั้งแต่เมืองฉะเชิงเทรา ๒๖ เส้น
  ถึงพระอุโบสถวัดโสธร มีภรรยาปลูกศาลา 
 ขุดสระ กึ่งกลางถนน
พระเกรียงไกรขบวนยุทธ ปลัด กับอินทร ภรรยา 
 สร้างเจดีย์ฐานที่เมืองสะแก บ้านสัมปทวน
 ครั้น ณ เดือนเจ็ด ปีกุน สัปตสก
การที่สร้างพระอุโบสถ ทำถนน ขุดสระ 
 ทำศาลา
  และการที่สร้างเจดีย์ฐานสำเร็จแล้วพร้อมกัน
คิดธุระทรัพย์ที่สร้างอุโบสถและทำถนน
ทำศาลา เป็นเงินตรา ๓๕ ชั่งเหมือนกัน









จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ 
 พอจะลำดับการสร้างพระอุโบสถ
วัดหลวงพ่อโสธรได้ดังนี้


พ.ศ. ๒๔๑๖ พระยาวิเศษฤๅชัย (ช้าง) 
 เป็นผู้ออกทุนทรัพย์และดำเนินการก่อสร้าง

พ.ศ. ๒๔๖๙ พลตรีพระยาสุรนารถเสนีย์ 
 ผู้บัญชาการทหาร
(ผบ.พล ๙ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในค่ายศรีโสธรปัจจุบัน)
เป็นผู้หาทุนดำเนินการก่อสร้าง 
  เพื่อขยายโบสถ์ให้กว้างและยาวกว่าโบสถ์เดิม 
 คือยาว ๑๒ วา ๓ ศอก กว้าง ๗ วารวมทั้งเฉลียงด้วย
มีหน้าต่าง ๖ ช่อง ขื่อ ๔ วา ๒ ศอก
ประตูด้านหน้าด้านหลังข้างละ ๒ ประตู
  หลังคามุงกระเบื้อง กำแพงและเสาก่อด้วยอิฐ 
 ช่อฟ้าใบระกาเป็นไม้สักปิดกระจก ๔ มี ๓ ลด
พระอุโบสถหลังนี้ได้รื้อไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗

พ.ศ. ๒๔๙๗ บ้านเมืองขยายตัวมากขึ้น
   การคมนาคมมีการพัฒนา
รวดเร็วกว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒
ประกอบกับประชาชนที่เดินทาง
มานมัสการหลวงพ่อเพิ่มมากขึ้น 
 โบสถ์เดิมไม่สะดวก เมื่อมีงานเทศกาล
คณะกรรมการทั้งฝ่ายวัดและราชการ
  จึงดำเนินการจัดสร้างอุโบสถขึ้นใหม่
จบแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๙๙

๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑
  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช 
 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี 
   มาทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์
พระอุโบสถหลังใหม่











รูปลักษณ์ของพระอุโบสถหลังใหม่


พระอุโบสถหลังใหม่
เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์
  มีขนาดกว้าง ๔๔.๕๐ เมตร 
 และยาว ๑๒๓.๕๐ เมตร
ลักษณะเป็นอาคารหลังคาประกอบเครื่องยอด
  ชนิดยอดทรงมณฑปแบบไทย 
 ต่อเชื่อมด้วยวิหารทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
ด้านข้างต่อเชื่อมด้วย
อาคารรูปทรงอย่างเดียวกันกับ
พระวิหารเป็นอาคารมุขเด็จ
  ซึ่งเมื่อประกอบกันเข้าแล้ว
จะเป็นอาคารมีหลังคาแบบจตุรมุข
อย่างอาคารประสาทแบบไทย 
 กำแพงของพระอุโบสถหลังใหม่นี้
ปูด้วยหินอ่อนจากเมืองคาร์ราร่า
ประเทศอิตาลีเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว 
 จะเป็นพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่
และงดงามที่สุดในโลก


พื้นที่ใช้สอยหลักของพระอุโบสถ
แบ่งออกเป็น ๔ ส่วนคือ


ส่วนกลาง คือ อาคารพระอุโบสถ 
 มีพื้นที่ใช้สอยได้ ๕ ชั้น 
 รูปอาคารชั้นล่างสูง ๒ ชั้น เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส
กว้างด้านละประมาณ ๒๙ เมตร 
 รวมพื้นที่ชั้นล่างประมาณ ๑,๓๗๐ ตารางเมตร
ตั้งแต่ชั้น ๓ ขึ้นไปเป็นอาคารทรงมณฑป
รูปแปดเหลี่ยมปาดมุม
ความสูงจากพื้นชั้นล่างของพระอุโบสถ
ถึงยอดสุดของหลังคาทรงมณฑป
ประมาณ ๘๕ เมตร
ความสูงของเพดานพระอูโบสถ
จากตรงหน้าฐานชุกชี 
 พระประธานหลวงพ่อพุทธโสธร
ถึงฝ้าเพดานทรงโดม ประมาณ ๒๙ เมตร


ส่วนหน้า คือ วิหารพระไตรปิฏก
หรือวิหารพระธรรม เชื่อมต่อกับอาคารส่วนกลาง
ของพระอุโบสถทางด้านทิศตะวันออก
มีความกว้างประมาณ ๒๐ เมตร
ยาวประมาณ ๕๒.๕๐ เมตร
ความสูงจากพื้นถึงสุดอกไก่สันหลังคา
ประมาณ ๒๔ เมตร 
 รวมพื้นที่่ทั้้งสิ้นประมาณ ๑,๐๕๐ ตารางเมตร


ส่วนหลัง คือ อาคารวิหารพระเดิม 
 ก่อสร้างแทนวิหารหลังเดิม 
 เชื่อมต่อกับอาคารส่วนกลางของพระอุโบสถ
ทางด้านทิศตะวันตก 
 มีความกว้างประมาณ ๒๐ เมตร 
 ยาวประมาณ ๔๕ เมตร
ความสูงจากพื้นถึงสุดอกไก่สันหลังคา
ประมาณ ๒๔ เมตร 
 รวมพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ ๙๐๐ ตารางเมตร


ส่วนข้างคือ อาคารมุขเด็จ 
 เชื่อมต่อกับด้านข้าง
ของพระอุโบสถทางทิศเหนือ
และเชื่อมต่อกับพระอุโบสถทางทิศใต้
เป็นอาคาร ๒ ชั้น 
 มีความกว้างประมาณ ๒๐ เมตร
 ยาวประมาณ ๙ เมตร
ความสูงจากพื้นถึงสุดอกไก่สันหลังคา
ประมาณ ๒๖ เมตร
รวมพื้นที่ของอาคารมุขเด็จด้านข้าง
ของพระอุโบสถ์ทั้งสองด้าน
ประมาณ ๓๕๐ ตารางเมตร









พระอุโบสถหลังใหม่มีความเป็นมา
ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึง
และจดจำ และอาจถือได้ว่า
เป็นหนึ่งในพระราชดำริของ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้นแก่ปวงชนชาวไทย


วันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๙ 
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต 
 พระบรมราชินีนาถ
และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตน์ราชกัญญา
  ได้เสด็จมายังวัดโสธรวรารามวรวิหาร
เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีวิสาขะบูชา
ตามขัตยราชประเพณี 
 เมื่อเสร็จภารกิจแล้ว
ได้เสด็จออกนอกพระอุโบสถ 
 และมีพระราชดำรัสว่า
 "ตั้งใจมานมัสการหลวงพ่อพุทธโสธรนานแล้ว
ทำไมสร้างพระอุโบสถแบบนี้ 
 ไม่สมเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร 
 ให้ปรับปรุงแก้ไขพระอุโบสถเสียใหม่"
และมีพระราชดำรัสถึงเรื่องโรงเรียน
และแหล่งเสื่อมโทรมหน้าพระอุโบสถ 
 ให้แก้ไขให้สมพระเกียรติหลวงพ่อพุทธโสธร


หลังจากนั้นทางวัดได้ดำเนินการปรับปรุง
แก้ไขบริเวณหน้าวัดให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้มอบหมายให้
นายประเวศ ลิมปรังษี เป็นสถาปนิค
ผู้ออกแบบพระอุโบสถหลังใหม่
หลังจากได้ร่างแบบแปลนแผนผัง
งานก่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้ว
  ก็ได้ส่งแบบแปลนแผนผัง
ของพระอุโบสถหลังใหม่
ให้สำนักราชเลขาธิการ
พระบรมมหาราชวัง
เพื่อทูลเกล้าฯถวายทอดพระเนตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชกระแสว่า
เรียบร้อยดีแล้ว ไม่ทรงมีข้อทักท้วงแก้ไข




วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑
  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
 พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์
ก่อสร้างพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 
 ทรงรับเป็นองค์ประธานในการก่อสร้างพระอุโบสถ
ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ
ที่ รล ๐๐๐๗/๑๔๑๖ 
 ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓

นับตั้งแต่วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕
   ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีบวงสรวง
ในการรื้อถอนพระอุโบสถหลังเดิมแล้ว 
 การดำเนินงานรื้อถอนพระอุโบสถหลังเดิม
และการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
จึงได้เริ่มดำเนินการ
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๕ เป็นต้นมา
และด้วยเป็นงานสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ 
 มีรายละเอียดปราณีตที่ต้องดำเนินการมาก
 จึงได้กำหนดให้งานแล้วเสร็จเป็นสองช่วง คือ

งานก่อสร้างเพื่อประกอบพิธี
ยกฉัตรยอดมณฑปทองคำ
  เพื่อเฉลิมพระเกียรติ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ที่ได้ทรงครองราชครบ ๕๐ ปี 
 กำหนดให้แล้วเสร็จ
ภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๙
งานตกแต่งส่วนที่เหลือและงานอื่นๆ 
 กำหนดให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ภายใน
วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑











งานก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่นี้
ดำเนินการโดยวัดโสธรวรารามวรวิหาร
และจังหวัดฉะเชิงเทรา
ซี่งมี นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ 
 ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา 
 เป็นผู้อำนายการสำนักงานอำนวยการ
และบริหารงานก่อสร้าง
งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้าง
พระอุโบสถหลังใหม่นี้ เป็นงบประมาณ
ที่ทางวัดโสธรฯ ได้รับบริจาคจากประชาชน
ที่ได้เดินทางไปนมัสการ
องค์หลวงพ่อพระพุทธโสธร 
 แต่เนื่องจากการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่นี้
ต้องใช้งบประมาณสูงมาก
คือประมาณ ๑,๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท 
 จึงต้องอาศัยผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ
ร่วมบริจาคอีกเป็นจำนวนมาก














การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


ในการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ 
 บนหลังคาพระอุโบสถได้ออกแบบ
ให้เป็นยอดมณฑปบุกระเบื้องเซรามิคเคลือบสี
เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมธาตุ พระสรีรธาตุ
และพระบรมสารีริกธาตุ 
 หมายถึงพระอัฐิธาตุหรือกระดูก
ของพระพุทธเจ้าอันถวายพระเพลิงแล้ว
เรื่องราวเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุนั้น
มีปรากฎในมหาปรินิพพานสูตรว่า
  เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
และมีการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนั้น
  เถ้าถ่านหรือเขม่าของสิ่งที่เรียกว่า 
 พระฉวี พระจัมมะ พระมังสา
พระมหารุ พระลิสิกา มิได้ปรากฎเลย
  คงเหลืออยู่แต่พระสรีรธาตุ
 หรือพระบรมสารีริกธาตุเท่านั้น

สำหรับการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 
 ในครั้งแรกนั้น ตามประวัติเล่าว่า 
 เมื่อข่าวพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน
และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
  ณ เมืองกุสินารา ทราบไปถึงเมืองอื่น 
 เจ้าเมืองที่เลี่อมใสในพระพุทธเจ้า
หลายเมืองด้วยกัน
ต่างได้ไปรับพระบรมธาตุ
เพื่อจะเชิญไปประดิษฐานไว้ให้มหาชนบูชา 
 ณ เมืองของตน และได้แบ่งพระบรมธาตุ
ออกเป็นเจ็ดส่วนและแจกไปยังที่ต่างๆ
 พระบรมธาตุแจกไปครั้งนั้น
  แต่ละเมืองที่ได้รับ ต่างก็สร้างพระสถูป
เป็นที่ประดิษฐานไว้เรียกว่า "พระธาตุเจดีย์"

คนไทยเมื่อรับนับถือพระพุทธศาสนาแบบมหายาน
ในสมัยทวาราวดี ก็มีความเคารพบูชา
พระบรมสารีริกธาตุ
ปรากฎพระธาตุเจดีย์อยู่ทั่วไปในแหลมทอง
  เช่น พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม 
 พระธาตุเมืองนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน 
  พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม เป็นอาทิ


ในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ มีผู้ขุดพบที่บรรจุอัฐิธาตุ
ที่เมืองกบิลพัสดุ์ 
 มีอักษรจารึกเป็นอย่างเก่าที่สุดในอินเดีย
บอกไว้ว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า 
 และได้ส่งพระบรมสารีริกธาตุนั้น
มาถวายพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของไทย
ครั้งนั้นพวกที่นับถือพระพุทธศาสนา
ในนานาประเทศ เช่น ญี่ปุ่น พม่า ลังกา และไซบีเรีย
ต่างแต่งทูตเข้ามาทูลขอพระบรมธาตุ 
  พระเจ้าอยู่หัวได้แบ่ง
พระราชทานให้ตามประสงค์ 
 และพระบรมธาตุที่เหลือนั้น
โปรดเกล้าให้สร้างพระเจดีย์ทองสำริด
เป็นที่บรรจุประดิษฐานไว้ในคูหา
 พระสถูปบนยอดบรรพต  วัดสระเกศ
 เป็นที่สักการะบูชาของมหาชนมาจนทุุกวันนี้


ในการบรรจุพระธาตุบนยอดมณฑป
  ของพระอุโบสถหลังใหม่
ของวัดโสธรวรารามวรวิหารครั้งนี้
พระพรหมคุณาภรณ์ 
 เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร
  และ เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา
ได้กราบบังคมทูลเชิญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
  เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในพิธี









ฉัตรทองคำ


บนยอดมณฑปของพระอุโบสถหลังใหม่ 
 เหนือเม็ดน้ำค้าง ครอบด้วยฉัตรทองคำ
  คือฉัตร ๕ ชั้นความสูงของตัวฉัตร
ประมาณ ๔.๙๐ เมตร 
 เส้นผ่าศูนย์กลางของฉัตรชั้นล่าง
ประมาณ ๑.๕๐ เมตร
ชั้นบนสุดประมาณ ๐.๓๐ เมตร
โครงสร้างเป็นโลหะแสตนเลส 
 ยอดฉัตรและระบายฉัตรทำด้วยแผ่นทองคำแท้ 
 ฉลุเป็นลายรวมน้ำหนักทองคำถึง ๗๗ กิโลกรัม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธี
ยกยอดฉัตรทองคำนี้
เพื่อถวายแต่องค์หลวงพ่อพุทธโสธร 
   ในวันพระราชพิธียกยอดฉัตรทองคำ
ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๓๙




















Create Date : 29 ตุลาคม 2556
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2557 22:55:50 น.
Counter : 8188 Pageviews.

0 comment
<<<<< หลวงพ่อพุทธโสธร>>>>>










ประวัติหลวงพ่อพุทธโสธร
ที่ฉันจะนำมาฝากท่านนี้
ฉันได้คัดลอกมาจากหนังสือ
"โสธรวรารามวรวิหาร มงคลคู่แปดริ้ว"
ซึ่งจังหวัดฉะเชิงเทราได้จัดทำขึ้น
เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระราชพิธีกาญจนาภิเษก
ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี
จังหวัดฉะเชิงเทรา
ได้จัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น
และได้กราบบังคมทูลเชิญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธาน
ในพระราชพิธียกยอดฉัตรทองคำ
ของพระอุโบสถหลังใหม่
เพื่อเป็นที่ระลึกในพระราชพิธี
อันถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง
ในประวัติศาสตร์ของเมืองฉะเชิงเทรา
หนังสือเล่มนี้จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ ๒๕๓๙
ขณะนั้นฉันยังรับราชการอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
จึงได้มีโอกาสได้รับเสด็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย
ถือว่าเป็นบุญของฉันยิ่งนัก
ยังจดจำไว้ไม่รู้ลืม
ฉันเห็นว่าเวลาได้ล่วงเลยมาเกือบยี่สิบปีแล้ว
จึงอยากนำบทความต่างๆในหนังสือเล่มนี้
มาถ่ายทอดให้ท่านทั้งหลายได้อ่านกัน








<<<<<<หลวงพ่อพุทธโสธร>>>>>>




ตำนานของหลวงพ่อพุทธโสธร 
 มีการเล่าขานกันสืบต่อมาว่า
  ในสมัยลานช้าง - ลานนา เศรษฐีพี่น้อง ๓ คน
ซึ่งอาศัยอยู่ทางเหนือ
  มีจิตเลื่อมใสศรัทธาจะสร้างพระพุทธรูป 
 เพื่อเสริมสร้างบารมีและเพิ่มพูนผลานิสงส์
จึงได้เชิญพราหมณ์ มาทำพิธี
หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามวันเกิด
  อันมีปางสมาธิ ปางสะดุ้งมาร และปางอุ้มบาตร
แล้วทำพิธีบวงสรวงชุมนุมเทวดา
ตามโหราศาสตร์เพื่อทำพิธีปลุกเสก
  แล้วอัญเชิญเข้าสู่วัด


ในกาลต่อมา ได้เกิดยุคเข็ญขึ้น 
 พม่าได้ยกทัพมาตีไทยหลายครั้งหลายหน
จนตรั้งสุดท้าย คือประมาณครั้งที่ ๗
ก็ตีเมืองแตก และได้เผาบ้านเผาเมือง
ตลอดจนวัดวาอารามต่างๆ
   หลวงพ่อ ๓ พี่น้องจึงได้ปรึกษากัน
  เห็นว่าเป็นสถานการณ์คับขัน
จึงได้แสดงอภินิหารลงแม่น้ำปิง 
 แล้วล่องมาทางใต้ตลอด ๗ วัน
จนกระทั่งมาถึงแม่น้ำเจ้าพระยา
ตรงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า "สามเสน" 
 จึงได้แสดงอภินิหาร
ลอยให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็น
    ชาวบ้านนับแสนๆคน
ได้ทำการฉุดหลวงพ่อทั้ง ๓ องค์
ถึง ๓ วัน ๓ คืน ก็ฉุดไม่ขึ้น
ตำบลนี้จึงได้ชื่อว่า "สามแสน"
ซึ่งได้เพี้ยนเป็น"สามเสน"ในภายหลัง


หลวงพ่อทั้ง ๓ องค์ ลอยเข้าสู่พระโขนง
  ลัดเลาะจนไปถึงแม่น้ำบางปะกง 
 ผ่านคลองซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "คลองชักพระ"
ก็ได้แสดงอภินิหาร
ลอยขึ้นมาให้ชาวบ้านเห็นอีกครั้ง 
 ชาวบ้านประมาณสามพันคน
พยายามชักพระขึ้นจากน้ำ ก็ไม่สำเร็จ
คลองนี้จึงได้นามว่า "คลองชักพระ"
  ต่อมาทั้ง ๓ องค์ได้ลอยทวนน้ำ
ต่อขึ้นไปทางหัววัดอีก
  สถานที่นั้นจึงเรียกว่า "วัดสามพระทวน"
ซึ่งต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น "วัดสัมปทวน" 
 หลวงพ่อได้ลอยต่อไปตามลำน้ำบางปะกง 
 เลยผ่านหน้าวัดโสธรไปจนถึงคุ้งน้ำใต้วัดโสธร
แล้วแสดงอภินิหารให้ชาวบ้านเห็นอีก 
  ชาวบ้านได้ช่วยกันฉุดก็ยังไม่สำเร็จ 
 จึงได้เรียกหมู่บ้านและคลองนั้นว่า "บางพระ"
ต่อจากนั้นก็ลอยทวนน้ำวนอยู่หัวเลี้ยว
ตรงกองพันทหารช่างที่ ๒ 
 สถานที่ลอยวนอยู่นั้นจึงเรียกว่า "แหลมหัววน"
และคลองก็ได้ชื่อว่า 
 "คลองสองพี่น้อง" มาจนทุกวันนี้


ต่อจากนั้น พระพุทธรูปองค์พี่ใหญ่
ได้แสดงอภินิหารลอยไปถึงแม่น้ำแม่กลอง
  จังหวัดสมุทรสงคราม
ชาวประมงได้ช่วยกันอาราธนาท่าน
ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ. วัดบ้านแหลม 
 มีชื่อเรียกกันว่า "หลวงพ่อบ้านแหลม"


อีกองค์หนึ่งได้แสดงปาฏิหาริย์
ล่องเข้าไปในตลองบางพลี 
 ชาวบ้านจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบางพลี
อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ 
 มีชื่อเรียกว่า "หลวงพ่อโตบางพลี"


ส่วนพระพุทธรูปองค์สุดท้าย
 หรือหลวงพ่อโสธรนั้น 
 ได้แสดงอภินิหารลอยมาขึ้นที่หน้าวัดหงส์
ชาวบ้านได้พยายามฉุดขึ้นฝั่ง
หลายครั้งหลายหน 
 แต่ก็ไม่สามารถอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากน้ำได้
จนกระทั่งมีอาจารย์
ซึ่งมีความรู้ทางไสยศาสตร์ท่านหนึ่ง
  ได้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวง
เอาสายสิญจน์คล้่องกับพระหัตถ์พระพุทธรูป
และเชิญชวนประชาชนทั้งชาวไทย
  และชาวจีน พร้อมใจกันจับสายสิญจน์
ถึงสามารถอาราธนาขึ้นฝั่งได้โดยง่าย
โดยใช้คนไม่กี่คน
และนำมาประดิษฐานที่วิหารวัดหงส์
ได้เป็นผลสำเร็จตามความประสงค์
  เมื่อวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๕
ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในราวปี พ.ศ. ๒๓๑๓ 
 อันเป็นสมัยต้นกรุงธนบุรี นั่นเอง









พระพุทธโสธร
เป็นพระพุทธปฏิมากรปางสมาธิ 
 ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ ๔ ชั้น
 ซึ่งปูลาดด้วยผ้าทิพย์
อันมีความหมายถึงการอยู่สูงสุด
  เป็นพุทธเหนือพระอริยบุคคล ๔ 
 คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี
   พระอนาคามี และพระอรหันต์


ตามตำนานกล่าวว่า 
 พระพุทธโสธรเดิม
เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดอย่างสวยงาม
แต่ต่อมาพระสงฆ์ในวัดเห็นว่า 
 กาลต่อไปภายหน้าคนที่มีกิเลสแรงกล้า
อาจจะลักขโมยไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
เพื่อความปลอดภัย 
 จึงพอกปูนเสริมให้ใหญ่หุ้มองค์จริงไว้ภายใน 
 พุทธลักษณะขององค์หลวงพ่อโสธร
ที่ปรากฎในปัจจุบันจึงเป็นแบบปูนปั้น
ลงรักปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป 
  พระพักตร์แบบศิลปะล้านนา 
 พระเกตุมาลาแบบปลี 
 อันหมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข
ตามคติของชาวจีน
ข้อพระกรข้างขวามีกำไลรัดตรึง 
 เป็นเครื่องหมายถึงความอาทรห่วงใย
ที่หลวงพ่อทรงมี่ต่อสาธุชน
ผู้เคารพบูชาในองค์ท่าน
ทรงจีวรแนบเนื้อ 
 มีความกว้างของพระเพลา ๓ ศอก ๕ นิ้ว
(๑ เมตร ๖๕ เซนติเมตร)
สูง ๑ เมตร ๙๘ เซนติเมตร
ขณะนี้ในวัดมีพระพุทธรูปบนแท่านฐานชุกชี
ทั้งหมด ๑๓ องค์ 
 องค์พระพุทธโสธร คือองค์ที่อยู่ตรงกลาง







Create Date : 23 ตุลาคม 2556
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2557 22:15:31 น.
Counter : 3875 Pageviews.

0 comment
### วาระสุดท้ายของท่านพุทธทาสภิกขุ โดย...พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ###





วาระสุดท้ายของท่านพุทธทาสภิกขุ
พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ
สวนโมกขพลาราม
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล

ปี ๒๕๓๔ ท่านพุทธทาสภิกขุ
มีอาพาธหนักด้วยโรคหัวใจ
ตอนนั้นท่านอายุ ๘๕ ปีแล้ว
 ลูกศิษย์มีความเป็นห่วงท่านมาก
โรงพยาบาลศิริราช
ถึงกับส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ
มารักษาท่าน
 เมื่อนายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล
ได้พบท่านเป็นครั้งแรก
อย่างแรกที่แปลกใจก็คือ
 "สีหน้าและท่าทางของท่านอาจารย์นั้น
ไม่ได้สัดส่วนกันกับอาการอาพาธที่เราตรวจพบ
" คือถ้าเป็นผู้ป่วยธรรมดา
และมีอายุมากขนาดนี้
จะต้องมีสีหน้าและท่าทางว่า
เจ็บป่วยอย่างชัดเจนกว่านี้
แต่ท่านอาจารย์กลับดูสงบ
ไม่มีอาการทุกข์ร้อน
เว้นแต่น้ำเสียงเท่านั้นที่อ่อนแรง
และสีหน้าที่อิดโรย....
"ผมยังไม่เคยเห็นการแสดงออก
ของผู้ป่วยแบบนี้มาก่อน"


เนื่องจากอาการของท่านหนักมาก
 แพทย์จึงขอให้ท่านเดินทางเข้ารับการรักษา
ที่โรงพยาบาล แต่ท่านปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า
“อาตมาอยากให้การอาพาธ
และการดูแลรักษานั้นเป็นไปแบบธรรมชาติ
 ธรรมดาๆ เหมือนกับการอาพาธ
ของพระสงฆ์ทั่วไปในสมัยพุทธกาล”
และ ...“ขอใช้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล”


คณะแพทย์พยายามชี้แจงว่า
อาการของท่านนั้นหนัก
จนสามารถทำให้ท่านมรณภาพ
ได้ตลอดเวลาและอย่างทันทีทันใด
หากทำการรักษาอยู่ที่วัด
ซึ่งขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์
แต่ท่านฟังแล้วก็ยิ้มๆ หัวเราะ หึ หึ ไม่ว่าอะไร
แล้วสักครู่ก็กล่าวปฏิเสธ
 คณะแพทย์ไม่ละความพยายาม
 ต่อรองว่าหากท่านเข้าโรงพยาบาล
ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน
จะไม่มีการใช้เทคโนโลยีที่เกินเลย
เช่นการเจาะคอหรือใส่สายระโยงระยางต่าง ๆ
แต่ท่านก็ยังปฏิเสธอย่างนิ่มนวลเช่นเคย
ด้วยการหัวเราะหึ หึ และพูดคำว่า
 “ขอร้อง ขอร้อง ขอร้อง”
“การรักษาตัวเองโดยธรรมชาติ
เป็นสิ่งที่เหมาะสม
อาตมาถือหลักนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ให้ธรรมชาติรักษา ให้ธรรมะรักษา
 ส่วนคุณหมอก็ช่วยผดุงชีวิต
ให้มันโมเมๆ ไปได้
อย่าให้ตายเสียก่อน
ขอให้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล
 แล้วธรรมชาติก็จะรักษา
การเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้เอง
 ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น
ไม่ควรจะมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า
ธรรมชาติจะเป็นผู้รักษา
ทางการแพทย์หยูกยาต่าง ๆ
 ช่วยเพียงอย่าเพิ่งตาย”
ท่านยังกล่าวอีกว่า
“การเรียนรู้ชีวิตใกล้ตาย
 ทำให้มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น
เราจะศึกษาความเจ็บ ความตาย
 ความทุกข์ ให้มันชัดเจน
ไม่สบายทุกที ก็ฉลาดขึ้นทุกทีเหมือนกัน”
ในที่สุดคณะแพทย์ก็ยอม
ตามความต้องการของท่าน
 โดยให้การรักษาท่านที่สวนโมกข์
ในที่สุดท่านก็มีอาการดีขึ้น
และสามารถเผยแผ่ธรรมได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่ถึงสองปี
 วาระสุดท้ายของท่านก็มาถึง


เช้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖
ท่านตื่นตามปกติ ประมาณ ๔.๐๐ น.
 จากนั้นก็ลุกขึ้นมานั่ง เตรียมงานเทศน์
ในวันเลิกอายุที่ ๒๗ พฤษภาคม
 แต่ทำไปได้เพียง ๑๐ นาที
 ท่านก็ล้มตัวลงนอน
และพูดกับพระอุปัฏฐากคือพระสิงห์ทองว่า
“ทอง วันนี้เรารู้สึกไม่สบาย”
หลังจากนั้นก็ฉันยาหอมแล้วก็นอนต่อ


ประมาณ ๖.๐๐ น.ท่านบอกพระสิงห์ทอง ว่า
“วันนี้ เรารู้สึกไม่ค่อยสบาย
ไปตามท่านโพธิ์(เจ้าอาวาสสวนโมกข์)
มาพบที
เธอไม่ต้องไป ให้คนอื่นไปตาม
เพราะเราไม่สบาย”
เมื่อท่านอาจารย์โพธิ์มาถึง
ท่านพูดด้วยน้ำเสียงปกติว่า
“น่ากลัวอาการเดิม จะกลับมาเป็นอีกแล้ว
ไปโทรศัพท์ ตาม"ยูร
 (นพ. ประยูร คงวิเชียรวัฒนะ) มาพบที”


ตอนนั้นท่านรู้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน
 จึงพูดกับพระเลขานุการคือพระพรเทพว่า
“เอากุญแจ (กุญแจตู้เอกสารหนังสือ)
ในกระเป๋านี้ไปด้วย
เราไม่อยากจะตาย คากุญแจ”
ตอนนั้นท่านพรเทพไม่คิดว่า
ท่านจะเป็นอะไรมาก จึงช่วยกันนวด
แล้ว ให้ท่านอาจารย์นอนพัก


ประมาณ ๘.๐๐ น.
 ท่านก็พูดกับพระสิงห์ทองว่า
“ทอง ทอง เราจะพูด ไม่ได้แล้ว
 ลิ้นมันแข็งไปหมดแล้ว”
ต่อจากนั้น ท่านพูดไม่ชัด
เมื่อพระอาจารย์โพธิ์มาพบท่าน
ท่านพยายามพูดกับอาจารย์โพธิ์
ประมาณ ๔-๕ ช่วง คล้ายจะสั่งเสีย
แต่ไม่มีใครฟังออก จับความไม่ได้
ไม่รู้เรื่อง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตก
ทำให้สมองที่ควบคุมการพูดเสียไป


เมื่อพระแสดงปฏิกิริยาว่า
 รับรู้ไม่ได้ ท่านก็หยุดพูด
จากนั้น ท่านก็สาธยายธรรม
 ซึ่งพระองค์อื่น ก็ฟังไม่ออก
แต่ท่านอาจารย์โพธิ์ พอจับความในช่วงที่สั้นๆว่า
ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วาโย,
ว่านี้คือ “นิพพานสูตร”
ท่านอาจารย์ ท่านสาธยาย
ทบทวนไป ทบทวนมา หลายครั้ง


หลังจากนั้นท่านก็ไม่รู้ตัว
 แพทย์จึงนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์
 และในที่สุดก็นำท่านไปที่โรงพยาบาลศิริราช
ทุกคนรู้ว่าการทำดังกล่าว
เป็นการขัดความประสงค์ของท่าน
แต่ก็จำยอมต้องทำ
เพื่อเชื่อว่าจะช่วยให้ท่านหายได้
แต่หลังจากใช้ความพยายามเต็มที่กว่า ๔๐ วัน
ก็ยอมรับความล้มเหลว
ในที่สุดจึงพาท่านกลับมายังสวนโมกข์
เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม
ไม่กี่นาทีที่ท่านถึงสวนโมกข์ ท่านก็หมดลม





วิธีทำไม่ให้ฉันตาย

แม้ฉันตาย กายลับ ไปหมดแล้ว
แต่เสียงสั่ง ยังแจ้ว แว่วหูสหาย
ว่าเคยพลอด กันอย่างไร ไม่เสื่อมคลาย
ก็เหมือนฉัน ไม่ตาย กายธรรมยัง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน นั้นไม่ตาย
ยังอยู่กับ ท่านทั้งหลาย อย่างหนหลัง
มีอะไร มาเขี่ยไค้ ให้กันฟัง
เหมือนฉันนั่ง ร่วมด้วย ช่วยชี้แจง

ทำกับฉัน อย่างกะฉัน ไม่ตายเถิด
ย่อมจะเกิด ผลสนอง หลายแขนง
ทุกวันนัด สนทนา อย่าเลิกแล้ง
ทำให้แจ้ง ที่สุดได้ เลิกตายกันฯ

พุทธทาสภิกขุ







Create Date : 12 กันยายน 2556
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2557 22:00:56 น.
Counter : 2313 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ