Group Blog
All Blog
(•‿•✿) ♦♦♦ ทางสายกลาง ♦♦♦





วันนี้ขอเสนอพระธรรมเทศนา
ของท่านอาจารย์พระครูบัวเกตุ
เป็นพระธรรมเทศนาอบรมกรรมฐาน
เรื่อง "ทางสายกลาง"
ซึ่งท่านได้เทศอบรมญาติโยม
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2535
ณ ศาลาบำเพ็ญบุญแม่ปาง วัดป่าริมธาราวาส
 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวัดแม่ลาน้อยแล้ว)
อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
พระธรรมเทศนาเหล่านี้เราได้คัดลอกมาจากหนังสือ
ท่านพระครูวิบูลธรรมกิจ (บัวเกตุ ปทุมสิโร)
 มีอายุครบรอบ 60 ปี เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2537


เมื่อท่านต้้งใจอ่านและฝึกปฏิบัติ
ไปตามที่ท่านได้เทศได้สอนไว้แล้ว
 ท่านที่มีจิตประสงค์ที่จะฝึกกรรมฐาน
ก็จะสามารถฝึกได้อย่างดียิ่ง
 แต่หากท่านยังไม่พร้อมที่จะฝึก
ก็ขอให้ท่านได้อ่านจนจบเถิด
เพราะผลแห่งการอ่านบทเทศนาธรรมบทนี้
จะทำให้จิตใจท่านผ่องแผ้ว และจะได้รู้แจ้งว่า
 "ทางสายกลาง" นั้นคืออะไร
เรามั่นใจว่า จิตของท่านจะสงบลง ไม่ฟุ้งซ่าน
และเมื่อจิตสงบลงแล้ว สติก็จะมา ปัญญาก็จะเกิด อย่างแน่นอน



ซึ่งพระธรรมเทศนามีดังต่อไปนี้:-



ในโอกาสต่อไปนี้เป็นเวลาฟังธรรม ปฏิบัติธรรม
 ตามคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานี้
พระองค์ทรงแสดงไว้เด่นชัดว่า
ต้องปฏิบัติธรรมในสายมัชฌิมาปฏิปทา
ดังปรากฎในพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก
 คือ "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"
ที่พระองค์ทรงแสดงแก่พรหมณ์ทั้งห้า
คือ ปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันฯ
 แขวงเมืองพาราณสี เป็นพยานหลักฐานในแนวทางปฏิบัติ
เพราะในสมัยนั้นมีการปฏิบัติเอนเอียงไปทาง
 "กามสุขัลลิกานุโยก" คือหย่อนไป และ
"อัตตกิลมถานุโยค" คือ การตึงเกินไป
ทั้งสองทางพระองค์ได้ทรงแสดง ได้ทรงเห็นแล้วว่า
ไม่ใช่เป็นทางตรัสรู้อมตธรรม
จึงได้ทรงคัดค้านหนทางทั้งสอง
 และทรงแสดงแนวทางอีกอันเป็นอริยมรรคทั้งแปด
อันเป็นอริยมรรคที่จะพาให้บุคคลสูงถึงโลกุตตรภูมิ
หรือพ้นจากอาสวะกิเลสได้ในทางสาย มัชฌิมาปฏิปทา
มีอริยมรรคมีองค์แปด
เพราะฉะนั้นคำว่ามัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง
 เราก็ต้องพึงตีความหมายให้เข้าใจ
คำว่า "ทางสายกลาง " ในอริยมรรคมีองค์แปดนั้น
 เพราะในอริยมรรคมีองค์แปดนั้น พร้อมด้วยศีล
พร้อมด้วยสมาธิ พร้อมด้วยปัญญา
การปฎิบัติให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา
จึงต้องให้ศีลเป็นมัชฌิมาปติปทา
สมาธิเป็น มัชฌิมาปฏิปทา
ปัญญาเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
 ให้สมบูรณ์ดีแล้ว จึงจะถึงโลกุตตรภูมิ
หรือถึงซึ่งวิมุตติความหลุดพ้นจากกิเลสได้
ก็แล คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาสายกลางนี้ ซึ่งเราแปลกันว่า
ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป พอเหมาะพอดี
การที่เราจะถือเอาอะไรเป็นเขตว่า
อะไรพอเหมาะพอดีแก่ตัวเรา
คือการปฏิบัติอันใดเป็นไปเพื่อตัดกิเลสและกองทุกข์ได้
 หรือทำให้ดีขึ้นไม่ตกต่ำลง ทางนั้นเป็นทางที่ดี
เรียกว่าทางสายกลาง
เพราะถ้าหากว่าการปฏิบัติไม่เจริญขึ้น
 หย่อนเกินไปก็ตกต่ำ ตึงเกินไปก็ตกต่ำ


จึงสังเกตุตัวเองได้ว่า ถ้าหากว่าทางใดที่ปฏิบัติแล้ว
เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งธรรมนั้น
ทั้งศีล ทั้งสมาธิ ท้้งปัญญา
นั่นก็ถือแนวทางเป็นขอบเขตได้ว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เฉพาะอย่างยิ่ง อย่าเอาตัวเองเข้าไปวัด
ต้องเอาผลแห่งการปฏิบัติ
คือถ้าหากว่าเอาตัวเองเข้าไปวัดแล้ว
ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดได้
เช่นว่า นึกว่าพระพุทธเจ้าสอน
ให้ปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา
บำเพ็ญหรือปฏิบัติมากไป เกรงจะเหนื่อย
 เกรงจะลำบาก เหล่านี้
แล้วก็อ้างว่าไม่ใช่ม้ชฌิมาปฏิปทาเป็นต้น
อันนั้นก็ไม่ถูก จึงบอกว่าไม่ควรเอาตัวเองเข้าไปวัด
 ต้องพึงดูข้อที่เราปฏิบัติดูว่า
เป็นไปเพื่อความสลัดกิเลสและกองทุกข์หมดไปบ้าง
 บัดนี้ธรรมที่ปฏิบัตินั้นเจริญขึ้นหรือไม่
เช่น ศีลที่รักษา เราเกิดความดีใจ
เกิดความอิ่มใจ เกิดความอุ่นใจ เกิดความสบายใจ
เกิดความสุขใจ เกิดจากการรักษาศีลเพิ่มขึ้นหรือไม่
หรือว่าเป็นไปเรื่อยๆ
หรือว่าบางทีเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนกังวล เป็นต้น
นั่นหมายความว่ายังไม่มีอะไรแน่นอน


ต้องให้เห็นว่าศีลที่เราปฏิบัตินี้บริสุทธิ์ดีขึ้น
จึงมีความสบายใจขึ้น
นึกถึงศีลแล้วเกิดความสุขกายสุขใจ
เพราะเหตุที่ได้ประพฤติปฏิบัติดีแล้ว
 กิริยาที่ปฏิบัติอย่างนั้น
ชื่อว่าถูกทางแห่งความเป็นสายกลาง
แต่ว่าการที่จะปฏิบัติให้ถูกทางเป็นสายกลางนั้น
ต้องอาศัยความสม่ำเสมอด้วย
 ศีลต้องรักษาด้วยความสม่ำเสมอ
การอบรมจิตต้องทำด้วยความสม่ำเสมอ
การใช้สติปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริง
ต้องทำด้วยความสม่ำเสมอ
ในทางสายกลางนั้น ถ้าหากว่าทำมากบ้างน้อยบ้าง
มันเท่ากับว่าตึงเกินไปและหย่อนเกินไปเหมือนกัน
ต้องให้เกิดความสม่ำเสมอ เพราะฉะนั้น
ศีลต้องให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและสม่ำเสมอ
จิตต้องให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและสม่ำเสมอ
ปัญญาต้องให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทาและสม่ำเสมอ
ตลอดจนอิริยาบทที่มีความเป็นไปแต่ละวัน
คือ การกระทำ การพูด การคิดในสิ่งที่ไม่ใช่แนวทางก็ดี
และอื่นๆก็ดี  ต้องอยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม
 ทำไมวันนี้นั่งสมาธิแล้วจึงสบาย
รุ่งอีกวันหนึ่งความสบายอันเกิดจากสมาธิ
นั้นหายไปไหนหมด
วันหนึ่งความเป็นไปเราอาจจะต่างกัน
เพราะไม่มัชฌิมาปฏิปทา คือวันนี้พูด มากไป
 วันนี้นอนมากไป  วันนี้ฉันอาหารมากไป
หรือวันนี้ฉันอาหารน้อยไปจนอิดโรย
หรือวันนี้นั่งคิดนอนคิดอะไรไปจนเครียด
จิตใจจึงเกิดความฟุ้งซ่านเหล่านี้ เป็นต้น
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นกลาง


เพราะฉะนั้น พึงสังเกตุในความเป็นไป
ทุกๆอิริยบท ทุกๆความเป็นไปของเรา
เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการฉันอาหาร
 พอเหมาะพอดีและสม่ำเสมออยู่เรื่อยๆ
แล้วจะทำให้ ความเป็นกลางเกิดขึ้นได้ง่าย
ใจก็จะเข้าสู่ความสงบได้ง่าย
ถ้าหากว่าแต่ละวันเกิดความผันผวนไม่ปกติแล้ว
วันไหนที่อิ่มมากเกินไป
กิเลสชนิดหนึ่งคือ โกสัชชะ ความเกียจคร้านจะเกิดขึ้น
 วันไหนกินน้อยเกินไป ความอิดโรยของร่างกาย
ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจก็จะเกิดขึ้น
 เพราะฉะนั้น การถือเอาความเป็นกลางๆ
จึงต้องขยายความออกไปให้ทั่วถึงทุกๆอิริยาบท
ทุกๆในความเป็นไป
 และข้อที่สำคัญนั้นต้องพึงรู้ตัวเองว่า
 ที่เราปฏิบัตินี้ ควรกับความพอเหมาะพอดีหรือยัง
วันหนึ่งสิบสองชั่วโมง เรามีเวลาปฏิบัตินึกถึง
พุทโธ พุทโธ กี่ชั่วโมง
คืนหนึ่งอีกสิบสองชั่วโมงเป็นยี่สิบสี่ชั่วโมง
เรามีโอกาสนึกถึง พุทโธ พุทโธ หรือปฏิบัติกี่ชั่วโมง
พึงเปรียบเทียบกัน ถ้าหากปฏิบัติน้อยกว่า
 อันนั้นหมายความว่าเรายังย่อหย่อน ต้องเร่งขึ้นมา
ทำความเพียรขึ้นมาให้ได้มาก
 เท่าที่เรียกว่าไม่ให้เสียเปรียบในฝ่ายที่ไม่ได้ปฏิบัติ
จึงจะเข้าขีดมัชฌิมาปฏิปทา


แต่ถ้าหากว่าชั่วโมงแห่งการปฏิบัติน้อยมากเกินไป
จนเสียเปรียบชั่วโมงไม่ได้ปฏิบัติ
ถึงแม้เวลาปฏิบัติแต่ละครั้งจะเกิดความเหนื่อยยาก
 ก็ยังถือว่า ไม่ใช่ขีดแห่งมัชฌิมาปฏิปทาเพราะฉะนั้น
มัชฌิมาปฏิปทาของพระพุทธเจ้าจึงรวมความว่า
ปฏิบัติให้กิเลสต่างๆ สงบระงับ
และธรรมเจริญขึ้น ศีลเจริญขึ้น
สมาธิเจริญขึ้น ปัญญาเจริญขึ้น
จึงจะเรียกว่าเข้าสู่เขตแดนมัชฌิมาปฏิปทา
ตามคำสอน
เพราะการปฏิบัติเป็นมัชฌิมาปฏิปทาแล้วจะทำให้เสมอ
จะทำให้เกิดความพอดี
เมื่อเสมอและเกิดความพอดีแล้ว
ใจจะไม่กระวนกระวาย ใจจะไม่หงุดหงิด
 ใจจะตั้งมั่นได้ง่าย
เพราะชินต่อสภาพที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาที่พอดีอยู่
นี่เป็นส่วนหนึ่งแห่งการปฏิบัติ


ส่วนที่สองที่เราจะต้องปฏิบัติคือ
ทำสมาธิภาวนาให้จิตสงบได้ง่ายได้เร็ว
ข้อสำคัญก็ดังที่เคยกล่าวมาแล้วบ่อยๆ
คือ สติ เป็นตัวสำคัญ เวลาที่เรานึกว่าพุทโธนั้น
 ถ้าหากนึกอยู่ ให้จิตเป็นตัวผู้นึกว่า พุท ว่า โธ
และมีสติคุมอยู่ที่จิตที่นึกว่า พุท ว่า โธ นั้นอยู่ทุกคำที่นึก
 จะทำให้ใจเป็นกลางได้ง่าย ๆ
แต่มีข้อสังเกตอยู่ว่า
ถ้าหากว่าจิตใจของเรายังไม่ผ่องแผ้วเพียงพอ
 เราก็ต้องหาอุบายเช่น
นึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
 นึกถึงกรรมฐานต่างๆ ปราบนิวรณ์ให้ราบคาบกันก่อน
แล้วจึงหาจิต  คำที่หลวงปู่เทสก์ท่านสอนไว้ว่า
วิธีหาจิตให้พบก่อนนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องต่อการปฏิบัติมาก
เพราะจะเป็นเหตุให้เกิดความรวมหรือมีสติเข้าพุ่งสู่คุมจิต
ตรงที่จิตน้้นได้ดีที่สุด ถ้าหากว่ายังหาไม่ได้
หรือว่าเฉียดๆ ไม่เข้าจุดศูนย์กลาง
ความสงบก็ยังคลาดเคลื่อนได้ง่าย
 คือจิตแกว่งไปมาส่งส่ายได้ง่าย
เพราะฉะนั้น ที่ท่านบอกว่า จงกลั้นใจ อึดใจ
แล้วตรงไหนมีความรู้สึกอยู่ตรงนั้นคือใจ
และก็มีสติคุมตรงนั้นไว้
และเมื่อเวลาให้ใจตรงนั้นคิดนึกว่า พุท ว่า โธ
เวลานึก เวลาคิด ก็เป็นจิต เวลานิ่งๆก็เป็นใจ
เหมือนกับว่าใบไม้ที่ไม่โดนลมมันก็นิ่ง
 เวลาใบไม้มันโดนลมมันก็แกว่งไปแกว่งมา
 เปรียบเทียบกับใจที่มันนิ่งอยู่
ความที่มันคิดปรุงแต่งส่งส่าย
เหมือนกับใบไม้ที่มันโดนลม
 หรืออีกอย่างหนึ่งเหมือนกับคลื่นเวลา
มีระลอกคลื่นเหมือนกับจิต
น้ำที่นิ่งๆเหมือนคลื่นสงบแล้ว เหมือนกับใจ
หรืออีกประการหนึ่งเหมือนเราถือขันน้ำอยู่ในมือ
น้ำยากที่จะนิ่งได้มันย่อมกระเพื่อมบ้างเหมือนจิต
 เมื่อตั้งขันไว้เฉยๆ น้ำมันก็จะนิ่งเหมือนใจ
กิเลสเหมือนคลื่น กิเลสเหมือนลม
กิเลสเหมือนการถือขันน้ำที่เปรียบเทียบให้ฟังนั้น
เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าปราบกิเลสมันสงบ กามฉันท์สงบ
พยาบาทสงบ ถีนมิทธะสงบ อุทธัจจะสงบ
วิจิกิจฉาสงบ จิตมันก็สงบเป็นใจ คือ อยู่ส่วนกลาง
หมายความว่าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา
คือในส่วนเป็นกลางจิตมันก็จะสงบราบรื่นเป็นปกติ
 เพราะความพอเหมาะพอดี


จุดที่สำคัญในการเพ่ง
 ทำไมท่านจึงต้องให้สัมผัสเอาลมหายใจเข้าออกก็ดี
หรือบางขณะเช่นว่าให้เพ่งจุดนั้นบ้าง จุดนี้บ้าง
 เพื่ออะไร จุดสำคัญก็คือว่า ให้มีเป้าหมายในการเพ่ง
เฉพาะอย่างยิ่ง ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
มีสติคุมไว้ที่ปลายจมูก ทำความรู้สึกเวลาหายใจเข้า
ลมปะทะตรงไหนของปลายจมูก นึกอยู่ตรงนั้น
 ทั้งเข้าทั้งออก แล้วก็นึกว่า พุท แล้วนึกว่า โธ
อันนี้ก็เป็นอุบายอันหนึ่ง
หรือหาจิตได้แล้วนึกไว้ที่จิต
ที่จิตนึกว่า พุท ว่า โธ โดยไม่ต้องกำหนดลม
อันนี้ก็เป็นวิธีการอีกอย่างหนึ่ง
 แล้วแต่ว่าใครจะสะดวกอย่างไร
แต่ข้อที่สำคัญในการปฏิบัติที่แท้จริงก็คือ
เมื่อเวลาจิตนึกว่าพุท ว่า โธ นั้น
หาเครื่องหมายแห่งความรู้ว่าจิตอยู่ตรงนั้นอยู่ตรงนี้
ใจอยู่ตรงนั้น ใจอยู่ตรงนี้ให้ได้ แน่วแน่เสียก่อน
 การที่จะนึกถึงให้ใจว่าอยู่ตรงนี้แน่นอนนั้น
บางทีก็อาจจะมีวิจิกิจฉาอยู่บ้าง
เฉพาะอย่างยิ่งถ้านิวรณ์ยังไม่หมด
 จะกำหนดให้รู้ว่าจิตอยู่ตรงนี้ ความรู้สึกอยู่ตรงนี้
 และความรู้สึกที่อยู่ตรงนั้น
ต้องให้ความรู้สึกรวมเป็นจุดหนึ่ง
และมีสติเพ่งอยู่ตรงนั้น
ถ้าจับตรงนี้ได้ไม่ช้าไม่นานก็สงบ
 แล้วก็กำหนด พุทโธ พุทโธ
ตรงนี้อย่าให้คลาดเคลื่อนมีสติคุมไว้
ในขณะที่เมื่อย จับตรงนี้ได้คุมได้
เดี๋ยวเดียวก็หายเมื่อย
 ในขณะที่กายหนักคุมตรงนี้ได้ เจอตรงนี้ได้
เดี๋ยวเดียวกายก็เบาและเดี๋ยวเดียวก็สงบ
สงบนานหรือไม่นานนั่นขึ้นอยู่กับสติปัญญาอีกตอนหนึ่ง


เพราะฉะนั้น ท่านจึงสอนว่า
ให้หาจิตให้ได้ก่อนอันนั้นเป็นข้อที่สำคัญมาก
 ถ้าหากว่าไม่ถนัดอันนั้น
หาลมหายใจเข้าออก จุดลมหายใจเข้า ออก
แต่เมื่อหาจุดลมหายใจเข้า ออก นั่นพบแล้ว
มีจิตมีสติคุมได้แล้ว ลมหายใจหมดไปแล้วเบาแล้ว
 ลมหายใจมี แต่มันละเอียดเข้า
เขาเรียกว่าหมดไปแล้ว
จิตจะเกิดความสุข คือใจจะเกิดความสุข เป็นหนึ่งขึ้น
ก็ต้องมีสติไปคุมใจอีกต่อหนึ่งโดยทิ้ง พุทโธ เสีย
หรือเพ่งโดยจิตอย่างเดียวที่จิตว่า
พุทโธ พุทโธ ว่าไป ว่าไป ว่าไป ถ้าพบจุดของจิต
คือพบที่อยู่ของจิตของใจแล้วทิ้งคำว่า พุทโธ ออกไป
มีสติดูจิตดูใจอันนั้นไว้อย่างเดียวด้วยความมีสติ
ถ้าหากว่าเผลอและมันรวนเร จึงค่อยว่า พุทโธใหม่
เพื่อฝึกให้เกิดความชำนาญ
ถ้าหากว่าเวลาเพ่งที่จิตนั้น เพ่งที่ใจน้้น
 เพ่ง เพ่ง ไปจนจำได้ จุดดีแล้วถ้าหากว่าไม่ทิ้งพุทโธ
มันก็ไม่เดินหน้า ความสงบก็จะไม่เดินหน้า
และก็จะรวนเรเหมือนกัน
คือความปรานีตของจิตจะดิ่งลง
แต่ไม่ยอมลงเพราะพุทโธดึงอยู่
คือมีสติไปหน่วงเหนี่ยวอยู่กับพุทโธ


เพราะฉะนั้นจุดนี้ต้องฉลาด
เมื่อได้จุดแล้วเพ่งว่า พุทโธ พุทโธ จนสนิทดีแล้ว
 จึงค่อยๆห่างปล่อยวางพุทโธเสีย
ดูแต่จุดนั้นจุดเดียวด้วยความมีสติตั้งมั่น
 กายจะเบาลงความปรานีตละเอียดจะเกิดขึ้น
 ความปวดเมื่อยจะหายไปจะเบาขึ้นตามลำดับ
 และการที่กายค่อยๆเบาขึ้นจิตแน่วแน่ขึ้นนั้น
เป็นตัวสมาธิที่ดิ่งลงตามควร
แต่การที่จิตจะดิ่งลงตามควรนั้น
 ถ้าหากว่าไม่มีสติมั่นคงเพียงพอ
นิดเดียวก็ถอนตัวขึ้นมาอีก
เกิดความรู้สึกอื่นๆอีก มันจะเป็นอยู่อย่างนี้
 ต้องฝึกอาการเหล่านั้นให้เกิดความชำนาญ
เพราะฉะนั้น หลักการทื่สำคัญดังกล่าวมาแล้ว
 ปฏิบัติมัชฌิมาปฏิปทาในศีล ในสมาธิ ในปัญญา
และในความเป็นไป ตลอดจนฉลาดมีสติในการคุมจิต
 ดูจิต เพ่งจิต ภาวนาจิต สมาธิจึงจะเกิดขึ้นได้
เพราะฉะนั้นต่อนี้ไปจงตั้งใจภาวนา
ตามหลักการที่ได้บอกไว้แล้ว
เอาคำบอกเล่านั้น คำสอนนี้ไปฝึก
และเมื่อพบสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จำจุดที่ฝึกนั้นไว้
ดัดแปลงแก้ไขทดสอบดูให้เข้าใจ
จะเกิดความช่ำชอง ชำนาญ
และสามารถปฎิบัติได้ จงปฏิบัติต่อไป...........


♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦


ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ
ในการฝึกจิตของตนเองให้สงบ
และขอให้ได้พบกับความสุขกายสุขใจ
ตลอดไปและตลอดกาลเทอญ........



Create Date : 23 มีนาคม 2555
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2557 11:22:53 น.
Counter : 1133 Pageviews.

2 comments
  
สาธุ





*~..แวะมาทักทายจ๊ะ..ขอให้มีความสุข สดใส..หัวใจเบิกบาน..~*




..HappY BrightDaY..

โดย: *~ต้นกล้า...ของหัวใจ~* วันที่: 23 มีนาคม 2555 เวลา:22:00:53 น.
  
ที่ผ่านมา ผมมักจะตั้งสติอยู่หน้าจอคอมฯเป็นส่วนใหญ่ละครับคุณพี่
คงต้องพยายามทดลอง ตามหนทางของท่านอาจารย์พระครูบัวเกตุ ดูบ้าง
โดย: จักร์ IP: 115.87.144.185 วันที่: 24 มีนาคม 2555 เวลา:13:28:53 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

tangkay
Location :
ชลบุรี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 55 คน [?]



(•‿•✿) พออายุเลยเลขหกฉันยกเครื่อง
มอบทุกเรื่องที่เคยรู้คู่ความเห็น
มอบประสบการณ์ผ่านพบจบประเด็น
ไม่ยากเย็นเรื่องความรู้ตามดูกัน
ฉันคนเก่าเล่าความหลังยังจำได้
แต่ด้วยวัยที่เหลือน้อยค่อยสร้างสรร
ยอมรับเรื่องเนตโซเชียลเรียนไม่ทัน
อย่าโกรธฉันแค่สูงวัยแต่ใจจริง
ด้วยอายุมากมายอยากได้เพื่อน
หลากหลายเกลื่อนทุกวัยทั้งชายหญิง
คุยทุกเรื่องแลกเปลี่ยนรู้คู่ความจริง
หลากหลายสิ่งฉันไม่รู้ดูจากเธอ ....
สิบปีผ่านไป.......
อายุเข้าเลขเจ็ดไม่เผ็ดจี๊ด
เคยเปรี้ยวปรี๊ดก็ต้องถอยคอยเติมหวาน
ด้วยเคยเกริ่นบอกเล่ามาเนิ่นนาน
ก็ยังพาลหมดแรงล้าพากายตรม
ด้วยชีวิตผ่านมาพาเป็นสุข
ยังสนุกกับการให้ใจสุขสม
อยากบอกเล่ากล่าวอ้างบางอารมณ์
แม้คนชมจะร้องว้า....ไม่ว่ากัน
ปัจจุบันเขียนน้อยค่อยเหินห่าง
ระบบร่างเปลี่ยนแปลงเหมือนแกล้งฉัน
เราคนแก่ตามแก้ไม่ค่อยทัน
ยักแย่ยันค่อยศึกษาหาข้อมูล
แต่ด้วยคิดถึงแฟนคลับกระชับมิตร
จึงต้องคิดตามต่อไปไม่ให้สูญ
ส่งความรู้คู่ธรรมะทวีคูณ
เพื่อเพิ่มพูนให้รู้กันฉันสุขใจ