All Blog
พญาปลา : แก้วเก้า





พญาปลา


บทประพันธ์ : แก้วเก้า


ISBN 974-603-063-9 ฉบับปก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2538.

จำนวน 84 หน้า ราคา 55 บาท


รายละเอียด

นิมมาน ได้พบกับ บุรา อีกครั้ง หลังจากที่สองปีก่อน ชายหนุ่มนักสำรวจผู้ชื่นชอบการผจญภัยอย่างบุรา ได้เดินทางจากเมืองไทยไปพร้อมกับหัวใจของเธอ นิมมานไม่คิดว่าเขาจะย้อนกลับมา แต่แล้วจู่ๆ บุราก็มาถึงบ้านของเธอโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 

บุรานำภาพถ่ายและภาพวาดสัตว์ประหลาดจากอินโดนีเซียมาให้นิมมานดู เขาเรียกมันว่า “เดอะฟิช-คิง” หรือพญามัจฉา มีรูปร่างครึ่งคนครึ่งปลา นิมมานรู้สึกว่ารูปลักษณ์ของพญามัจฉาดูน่าเกลียด น่ากลัว แต่แล้วในคืนหนึ่ง นิมมานกลับฝันว่าถูกพญามัจฉาปลุกปล้ำ อาการคล้ายผีอำ แล้วในคืนต่อมา เธอก็ถูกพญามัจฉาเรียกตัวไปที่สระว่ายน้ำโดยไม่รู้ตัว บุราจึงต้องสืบหาว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับนิมมาน เป็นเพราะอาถรรพณ์ของพญามัจฉา หรือเป็นเพราะนิมมานปรารถนาจะเรียกร้องความสนใจจากเขาเท่านั้น


“...ฉันบอกว่าเขาน่าเกลียดมาก

เขาก็ย้อนว่าถ้าเขาใจแคบอย่างฉัน เขาคงเห็นว่าฉันน่าเกลียดเหมือนกัน

เพราะโลกของเขานั้นพวกเขาต่างหากที่สวยงาม

แต่เขาก็ใจกว้างพอจะเห็นว่าฉันสวย

ฉันว่าเขาพูดเหมือนมนุษย์ผู้ชายไม่มีผิดเลย เธอว่าอย่างนั้นไหม

ผู้ชายพูดกันเก่งทั้งนั้นไม่ว่าเป็นมนุษย์

หรือว่าเป็น...ปลา”

- พญาปลา


REVIEW

พญาปลา นิยายขนาดสั้นจากปลายปากกา แก้วเก้า เป็นหนึ่งเรื่องที่ต้องบอกความรู้สึกตามตรงว่า “กำลังอ่านติดลมอยู่ดีๆ ทุกอย่างก็จบสิ้นลงอย่างน่าเสียดาย” ต่อให้เรื่องราวจบบริบูรณ์ แต่ความรู้สึกมันช่างติดค้างมากๆ อยากให้เรื่องยืดออกไปอีก เพราะยอมรับว่าเรื่องราวสนุก ชวนให้ติดตามและสงสัย ว่าพญาปลาคืออะไร แล้วเกิดอาถรรพณ์ได้อย่างไร แต่ถึงจะจบไปอย่างดื้อๆ บทสรุปของเรื่องก็ยังคงชวนให้ขบคิด... 

พล็อตเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนมากนัก สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง น่าจะถูกสรุปย่อให้แล้วในข้อความที่ใช้โปรยอยู่บนปกหลัง ความว่า 


สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกของหัวใจอย่างเงียบงัน...มาเนิ่นนาน... 

คือการกลับมาของใครคนนั้น...คนที่ราวจะตายจากกันไปแต่เมื่อวันเก่าๆ โน้นแล้ว 

ทว่า... 

จะเป็นปาฏิหาริย์หรือมนตราลึกลับของพญามัจฉาในตำนาน 

ที่บังเอิญผ่านเข้ามาในชีวิตเธอก็สุดแท้ กลับทำให้หัวใจด้านชาดวงนี้ 

ได้พานพบกับปรากฏการณ์แห่งรักที่หวานล้ำอีกครั้ง... 


สรุปง่ายๆ ในความคิดเห็นของผม พญาปลาหรือพญามัจฉาในเรื่องเหมือนเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่เข้ามาพัวพันในชีวิตนิมมาน นางเอกของเรื่อง ทำให้นิมมานมีลักษณะเหมือนคนบ้าที่เพ้อฝันไปเอง ว่าพญาปลามาปลุกปล้ำและมารักมาหลงเธอ เป็นเหตุให้ "บุรา" ซึ่งไม่ค่อยเอาใจใส่ความรู้สึกของนางเอกมากนัก (ทั้งที่รู้แก่ใจว่านางเอกรักและรอตัวเองคนเดียว) ได้รู้ใจตัวเองว่าเป็นห่วงนางเอกมากๆ และเกิดอาการหึงพญาปลาขึ้นมาเสียอย่างนั้น หลังจากที่นางเอกได้สารภาพความในใจทำนองว่า เธอชักจะชอบๆ พญาปลาขึ้นมาเสียแล้ว 

ผมขอยกเนื้อเรื่องช่วงหนึ่งมาให้ลองอ่านกันดูนะครับ... 


“ฉันกำลังนึกถึง...เขา จริงอย่างที่เขาพูดไหม...ความสวยหรือความน่าเกลียดเป็นเพียงอุปทานของมนุษย์ ฉันเห็นเขาน่าเกลียดเพราะฉันไม่คุ้นเคยกับหน้าตาอย่างเขาต่างหาก แต่ลึกลงไป...เขาอาจจะไม่ได้ต่างจากมนุษย์ผู้ชายอื่น ๆ ก็ได้”

“นิม ตัวนั่นมันไม่ใช่มนุษย์นะ แล้วมันก็ทำเอานิมเกือบตายมาแล้ว” บุราท้วงเสียงแข็ง

“เขาบอกว่าเขาชอบฉัน...แล้วเขาก็ไม่เสแสร้งด้วยว่า เขารู้สึกอย่างไร” หล่อนพูดต่อไปเหมือนไม่ได้ยินคำท้วง “แปลก ตอนนั้นฉันไม่ค่อยกลัวเขาเท่าไหร่หรอก ก็คิดว่าพูดกันได้...ตอนฉันลงไปในน้ำ ฉันไม่รู้สึกหนาว เขาบอกว่าไม่ต้องกลัว...เขาจะไม่ทำอันตรายฉัน ถ้าหากว่าฉันไม่ชอบ...เขาก็ไม่ทำ”

เสียงหล่อนขาดหายไป พร้อมกับบุราเกิดความหงุดหงิดขึ้นมารำไร มีอย่างหรือ ผู้หญิง เขาห่วงหล่อนแทบเป็นแทบตายว่าหล่อนจะขวัญหนีดีฝ่อ เอาเข้าจริง หล่อนพูดเหมือนกับว่าหล่อนชักจะชอบมนุษย์ครึ่งปลานั่นขึ้นมาเสียแล้ว


ความปรารถนาของนิมมาน ตัวละครเอกของเรื่องคือ การได้ครองรักกับบุราชายหนุ่มที่เธอแอบรักมานาน พออ่านนิยายเรื่องนี้จบแล้ว ทำให้ผมคิดเล่นๆ ว่า “นางเอกแกล้งหลอกให้พระเอกสนใจรึเปล่านะ ?” แต่ก็คงเป็นไปไม่ได้หรอกครับ เพราะในเรื่องบอกไว้ชัดเจนแล้วว่า พญาปลามีอาถรรพณ์จริงๆ เคยมีผู้หญิงคนอื่นเจอดีแบบนางเอกมาแล้ว แบบนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนิมมานกับพญาปลาจะจบลงอย่างไร แล้วนิมมานจะได้สมหวังกับบุราไหม ลองไปตามอ่านกันต่อในเล่มนะครับ 


ตรงหน้าของปลาตัวใหญ่เห็นกระจ่าง

นัยน์ตากลมใสปราศจากหนังตามองเขม็ง ไม่มีจมูก

ปากกว้างเป็นเส้นโค้งเผยอน้อยๆ

มองเห็นฟันแหลมเรียงอยู่ภายในเพียงรำไร

เหนือหัวขึ้นไปมีครีบแข็งตั้งอยู่ มองคล้ายมงกุฎ...

นี่ละมัง เดอะฟิช-คิง...พญามัจฉา

- พญาปลา



พญาปลา

ฉบับปก สำนักพิมพ์เพื่อนดี


Jim-793009 

06 : 04 : 2017





Create Date : 06 เมษายน 2560
Last Update : 7 เมษายน 2560 9:39:22 น.
Counter : 3332 Pageviews.

5 comment
ความสุขของกะทิ : งามพรรณ เวชชาชีวะ





ความสุขของกะทิ


บทประพันธ์ : งามพรรณ เวชชาชีวะ


ISBN 978-616-18-1539-4 ฉบับปก แพรวสำนักพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 100. 2559.

จำนวน 112 หน้า ราคา 125 บาท


รายละเอียด

กะทิ เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ต้องผ่านประสบการณ์การสูญเสียครั้งสำคัญที่สุด เมื่อ แม่ ต้องจากไปก่อนวัยอันควร กะทิพานพบทั้งความสุขและทุกข์ ความผูกพันและการพลัดพราก ความสมหวังและความสูญเสีย ถึงกระนั้น กะทิก็ได้เรียนรู้ว่า ความทุกข์จากการสูญเสียไม่อาจพรากความสุขจากความรักและความผูกพันของแม่กับเธอได้ เด็กน้อยเติบโตขึ้นจากประสบการณ์นี้ ด้วยความเชื่อมั่นและกำลังใจในการดำรงชีวิตต่อไป จากบุคคลใกล้ชิดผู้ที่เธอรักและรักเธอ 

[ตัดตอนและเรียบเรียงจาก “คำประกาศของคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช 2549”]


กะทิชอบรูปในกรอบมากที่สุด

แม่ดูเหมือนมีชีวิต

และเฝ้าดูแขกที่มาอย่างเพลิดเพลิน

แม่คงหลุดพ้นจากการจองจำในร่างอันมีข้อจำกัด

และคงล่องลอยอย่างมีความสุขไปทุกหนแห่งที่ใจปรารถนา

และกะทิมั่นใจว่า ที่หนึ่งที่แม่ต้องมา

คือข้างกายของกะทินี่เอง

- ความสุขของกะทิ


REVIEW

ความสุขของกะทิ บทประพันธ์ของ งามพรรณ เวชชาชีวะ เป็นนวนิยายขนาดสั้น ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2549 ตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์แพรวเยาวชน เมื่อปี 2546 ปัจจุบัน ได้รับการแปลแล้ว 11 ประเทศ ฉบับที่ผมอ่านนี้ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ 10ผมทึ่งจนต้องซื้อมาอ่าน เพราะได้ยินชื่อเสียงมานาน แต่ไม่เคยเสาะหามาอ่านเลยสักครั้ง นับว่าเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ถ่ายทอดเรื่องราวเรียบง่าย สั้น หากแต่หนักหน่วงในอารมณ์ ลึกซึ้ง และเจือไว้ด้วยความสุข 

กะทิ อยู่กับ ตา และ ยาย ที่บ้านริมคลอง เธอโหยหาแม่ อยากให้แม่อยู่กับเธอ กระทั่งวันหนึ่งตากับยายก็พากะทิไปหา แม่ ที่บ้านชายทะเล แม่ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่นั่น เพราะป่วยหนักด้วยโรคเอแอลเอส (ALS - Amyotrophic Lateral Sclerosis) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเพราะโรคร้ายนี้ แม่จึงต้องทิ้งกะทิให้อยู่กับตายายมาตลอด เมื่อแม่ของกะทิจากไปอย่างสงบ ลุงตอง น้าฎา และ น้ากันต์ ช่วยพากะทิกลับไปที่บ้านกลางเมือง ซึ่งเป็นบ้านของแม่ ภายในบ้านแม่จัดห้องหับต่างๆ ให้กะทิใช้สืบค้นเรื่องราวชีวิตของแม่ หนึ่งในสิ่งที่กะทิได้รับรู้ คือเรื่องราวความรักของพ่อกับแม่ 

แม่ทิ้งจดหมายไว้ให้กะทิหนึ่งฉบับ หากว่ากะทิอยากพบพ่อ ก็ให้นำไปหย่อนตู้ไปรษณีย์ได้เลย กะทิทำตามเช่นนั้น แต่ทว่าจดหมายมิได้เดินทางไปถึงพ่อของเธอในอังกฤษ เพราะกะทิแอบส่งไป พี่ทอง เด็กชายที่กะทิสนิทสนมรักใคร่ และเคยช่วยชีวิตกะทิไว้ครั้งหนึ่ง กะทิคงยังไม่ต้องการพ่อ เพราะเวลานี้ชีวิตของกะทิได้รับความสุขจากคนรอบข้างมากพอแล้ว

ผมรู้สึกชอบสไตล์การเล่าเรื่องของความสุขของกะทิ คือเน้นการใช้บทบรรยายและพรรณนาเป็นหลัก แทรกด้วยบทสนทนาเพียงเล็กน้อย แต่ครอบคลุมเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครไว้ได้หมด แต่ละบทถ่ายทอดออกมาด้วยถ้อยคำสั้นๆ ไม่ซับซ้อน แต่ลุ่มลึก อบอุ่น ทำให้เราเห็นภาพความรักที่แม่มีต่อกะทิ และมิตรภาพที่ตัวละครภายในเรื่องมีต่อกัน

และอีกหนึ่งข้อดีที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ ทำให้เราเข้าใจและเห็นใจผู้ป่วยโรคเอแอลเอส (ALS)

ความสุขของกะทิ (เล่มแรก) ยังมีภาคต่ออีกสองเล่ม คือ ตามหาพระจันทร์ และ ในโลกใบเล็ก ตามมาด้วยภาคพิเศษในวาระตีพิมพ์ครั้งที่ 100 คือ เธอคือของขวัญ พิมพ์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2559

ใครยังไม่เคยหยิบเรื่องนี้มาอ่าน ลองดูนะครับ


Jim-793009

05 : 02 : 2017




Create Date : 05 กุมภาพันธ์ 2560
Last Update : 6 กุมภาพันธ์ 2560 10:01:03 น.
Counter : 12126 Pageviews.

4 comment
เด็กชายมะลิวัลย์ : ประภัสสร เสวิกุล






ด็กชายมะลิวัลย์


บทประพันธ์ : ประภัสสร เสวิกุล


ISBN 978-974-289-475-7 ฉบับปก แพรวสำนักพิมพ์. พิมพ์ครั้งที่ 30. 2559.

จำนวน 135 หน้า ราคา 130 บาท


รายละเอียด

มะลิ เด็กชายผิวพรรณขาวผ่อง จนเพื่อนๆ เติมสร้อยให้ว่า มะลิวัลย์ เขามีภูมิลำเนาอยู่แถวเสาชิงช้า กรุงเทพฯ แต่ช่างโชคร้ายที่เขาเกิดมาในยุคข้าวยากหมากแพง ทุกสิ่งอย่างอัตคัต ทั้งอาหารหยูกยา มะลิเลยป่วยเป็นโรคโปลิโอ พิการขาลีบ แต่ถึงอย่างนั้น มะลิก็ยังมีจิตใจที่เข้มแข็ง ซึ่งมีแม่คอยเฝ้าปลูกฝังให้เขาหยิ่งทะนงในเกียรติ และมี ติงฮั้ว เพื่อนรักลูกคนจีน ที่คอยเตือนสติให้มะลิค้นพบความกล้าที่แท้จริง “ขามันอยู่ส่วนขา นายอย่าเอามันไปใส่ไว้ในหัวให้เกะกะก็สิ้นเรื่อง” เรื่องราวของเด็กชายมะลิวัลย์ คือภาพสะท้อนชีวิตที่ตราตรึงใจ


แกยิ้มเมื่อเห็นผม

เป็นรอยยิ้มของคนที่รู้สึกว่า

ตนเองยังมีความหวังและศรัทธาต่อการมีชีวิต

ผมค่อยๆ วางเปลือกหอยลงบนมือที่เหี่ยวย่น

ตารองบีบมือผมไว้แน่นราวกับจะไม่ยอมให้หลุดไป

เรามองดูกันเงียบๆ

และเป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่า

คนเราสามารถพูดกันได้โดยไม่ต้องใช้ถ้อยคำ

- กระเช้าสวรรค์, เด็กชายมะลิวัลย์


REVIEW

เด็กชายมะลิวัลย์ บทประพันธ์ ประภัสสร เสวิกุล เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ประทับใจผมมาก ผู้เขียนนำเสนอออกมาในรูปแบบของนวนิยายกึ่งเรื่องสั้น (ตามความรู้สึกของผม) เพราะถึงแม้เนื้อหาตลอดทั้งเรื่องจะเป็นเรื่องราวของเด็กชายมะลิ แต่กลวิธีนำเสนอเป็นตอนๆ จบใจความสำคัญหรือแก่นเรื่องภายในตอน ดูเหมือนการเขียนเรื่องสั้น เมื่อนำมาร้อยเรียงเป็นเล่มเดียวกัน ก็ทำให้เรื่องสั้นหลายๆ เรื่องรวมกันเป็นนวนิยายที่ถ่ายทอดภาพชีวิตของมะลิได้อย่างงดงาม 

เด็กชายมะลิวัลย์ เปิดเรื่องด้วยการแนะนำตัวละครหลัก ส่วนใหญ่คือคนในครอบครัวของเด็กชายมะลิ แล้วจึงนำเสนอภาพวิถีชีวิตของผู้คนเมืองกรุงในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านมุมมองของเด็กชายมะลิ ที่เล่าย้อนถึงวัยเด็กของเขา ผู้เขียนไม่เพียงทำให้เราหลุดเข้าไปในถ้อยคำ ซึ่งบรรยายและพรรณนาถึงกรุงเทพฯ ในอดีตได้อย่างน่าเชื่อถือว่าเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่แค่เรื่องแต่ง อีกทั้งหลายสิ่งที่มะลิถ่ายทอดมาให้เราอ่าน ก็ไม่อาจเรียกกลับคืนมา หรือตามหาร่องรอยในปัจจุบันได้อีกแล้ว เช่น เรื่องจับแมงดาแถวพระบรมรูปทรงม้า (รัชกาลที่ 5) เชื่อว่าไม่มีใครจินตนาการออกแน่ๆ ว่า ย้อนกลับไปราวๆ เจ็ดสิบกว่าปี แถวลานพระบรมรูปทรงม้าจะสามารถดักจับแมงดามาทำอาหารได้ เรื่องนี้เล่าไว้ในตอน “ครัวคนยาก” ความว่า


บางวันที่พ่ออยากกินน้ำพริกแมงดา ก็จะบอกพี่โมกแต่เนิ่นให้ไปจับแมงดาที่ลานพระรูป...ลานพระบรมรูปทรงม้าในตอนนั้นดูช่างกว้างใหญ่เหลือเกินในความรู้สึกของผม ยามกลางคืนมีโคมแสงจันทร์นวลตาล่อแมงดาให้บินมาเล่นไฟ ทำให้เด็กๆ มาไล่จับแมงดากันคึกคัก


นอกจากนี้ เรายังได้เห็นถึงความสัมพันธ์ ทัศนคติของคนไทยและคนจีน ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในตรอกซอยเล็กๆ แห่งหนึ่ง เรื่องราวสนุกๆ จึงไม่ได้มีแค่วัฒนธรรมประเพณีแบบไทยเท่านั้น แต่ยังเล่าถึงประเพณีจีนด้วย เช่น ที่มาของความเชื่อและประเพณีไหว้พระจันทร์ ตรุษจีน ฯลฯ 

หรือในตอน “รถราง” ก็เป็นอีกหนึ่งตอนที่ผมชื่นชอบ เพราะเขายกเอาคำร้องเล่นของเด็กๆ มาให้เราได้อ่านกัน แถมด้วยเรื่องการเล่นว่าวของเด็กๆ และกลวิธีทำป่านคม สำหรับตัดเชือกว่าวของคู่แข่ง แม้ตอนนี้จะจบแบบสลดหดหู่ แต่ผมก็ยังรู้สึกชอบ โดยเฉพาะเพลงรถราง ลองอ่านแล้วเพลินดีครับ


“ปิ๊ด ปี้ ปิ๊ด...เสียงนกหวีดทำให้รถจอด

จอดจ้าจอด พอถึงสามยอดรถยอดทันที

อาเฮียอย่าเพิ่งขึ้น ขอให้คุณน้าแกลงก่อนซี

ขึ้นแล้วกระเถิบเข้าใน สตางค์เตรียมไว้อย่าได้รอรี

หลักเมืองถึง เอส.เอ.บี. ราคาเขามีห้าสิบสตางค์

ไว จ้า ไว ขึ้นแล้วเดินไปอย่าได้หยุดยั้ง

ท่านหญิงโปรดจงระวัง

กระเป๋าสตางค์ท่านจะหายไป...”


อีกหนึ่งตอนที่จบได้สะเทือนใจสุดๆ คือ “รั้วสังกะสี” เล่าถึงสภาพบ้านเมืองยุคสงครามโลกว่า มีอาชีพหนึ่งซึ่งมาพร้อมสงครามและภาวะข้าวยากหมากแพง คือ โสเภณี เมื่อหนุ่มๆ ยุคนั้นเอ่ยถึง ‘โบสถ์พราหมณ์’ ‘ตรอกไข่’ ‘ตึกดิน' จะเป็นการกล่าวอย่างมีเลศนัยหมายถึง สถานโสเภณีที่ล้อมรั้วด้วยสังกะสี ซึ่งเด็กๆ ยุคนั้นมักจะชอบวิ่งร้องเพลงที่พวกเขาไม่รู้ความหมายที่แท้จริงว่า “เดินดีๆ เป็นชีกะล็อก เดินด๊อกๆ เป็นช็อกกะลี”

เรื่องสะเทือนใจในตอนนี้ กล่าวถึงโสเภณีชื่อ ดวงจันทร์ ที่ยอมขายตัวเอง เพื่อนำเงินมาส่งเสียน้องชายให้เรียนหนังสือ พอน้องเรียนจบ ดวงจันทร์ก็จบชีวิตของเธอด้วยการผูกคอตาย อยู่ภายในสถานที่ที่ล้อมรั้วสังกะสีแห่งนั้นเอง...

ถ้าเป็นตอนที่ผมชอบมากที่สุด ผมขอยกให้ตอน “กระเช้าสวรรค์” ซึ่งเด็กชายมะลิเล่าถึง ตารอง ชายแก่ที่มักถูกเด็กๆ ล้อว่าเป็นผีปอป ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ แต่ตารองนี่แหละ คือคนแรกที่พามะลิขึ้นกระเช้าสวรรค์ และเกิดเป็นความประทับใจที่ตราตรึงเขาเสมอมา อยากรู้ว่าน่าประทับใจอย่างไร ลองหามาอ่านกันดูนะครับ

เด็กชายมะลิวัลย์ วรรณกรรมเยาวชนที่รับเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในความคิดของผม เด็กๆ วัยนี้น่าจะอ่านแล้วงุนงงบ้างแน่ๆ เพราะเรื่องราวและสำนวนนับว่าเกินกว่าเด็กๆ จะเข้าถึงได้ทั้งหมด แต่ถ้าเด็กโตขึ้นมาอีกสักนิด คิดว่าน่าจะพออ่านได้ไม่เบื่อหน่าย เรื่องต่างๆ ที่ผู้เขียนนำมาถ่ายทอดลงในหนังสือ มีทั้งจบด้วยความสุข ความประหลาดใจ และจบด้วยความเศร้า หากแต่แฝงไว้ด้วยข้อคิดให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงชีวิตในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะการครองตนอยู่ในความยากจนอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งเราเห็นเด่นชัดแล้วจากครอบครัวของเด็กชายมะลิ

แนะนำครับ สำหรับใครที่อยากอ่านงานเขียนขนาดสั้น แต่กินใจแทบทุกบรรทัด


“...ใน ‘เด็กชายมะลิวัลย์’

สิ่งหนึ่งนอกเหนือจากการบอกเล่าเรื่องราวของเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง

ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว (อ้างอิงฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2530)

ก็คือการบันทึกความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

และภาวะจิตใจของผู้คนที่แม้จะบอบช้ำจากพิษภัยของสงครามมาหมาดๆ

แต่ก็เปี่ยมไปด้วยน้ำจิตน้ำใจ ความอารีอารอบ

ความซื่อสัตย์สุจริต ความมีคุณธรรม รวมทั้งความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตนเอง

ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นับวันมีแต่จะเลือนหายไปจากสังคมไทย

…

ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความเคารพและศรัทธาต่อน้ำใจของคนไทย

ในสังคมไทยยุคนั้น และปรารถนาที่จะให้

‘เด็กชายมะลิวัลย์’

เป็นดั่งน้ำใสบริสุทธิ์สักหยาดที่หยาดลงบนหัวใจที่แห้งผาก

ของคนในสังคมยุคปัจจุบัน...”

- ประภัสสร เสวิกุล


Jim-793009

20 : 01 : 2017




Create Date : 20 มกราคม 2560
Last Update : 20 มกราคม 2560 9:18:47 น.
Counter : 26897 Pageviews.

9 comment
สาวสองวิญญาณ : แก้วเก้า






สาวสองวิญญาณ


บทประพันธ์ : แก้วเก้า


ISBN 978-974-253-541-4 ฉบับปก สำนักพิมพ์ทรีบีส์. พิมพ์ครั้งที่ 1. 2559.

จำนวน 336 หน้า ราคา 245 บาท


รายละเอียด

อวันตี วิญญาณหญิงสาวเข้าครอบครองสิงร่าง ฝนแก้ว หญิงสาววัยยี่สิบเอ็ดปีผู้มีจิตใจอ่อนแอ และชีวิตถูกโขกสับสารพัดจากแม่เลี้ยง อวันตีพาร่างของฝนแก้วกลับไปสืบหาความจริงว่าเธอตายเพราะอะไร เหตุใดจึงกลายเป็นผีไม่มีญาติเช่นนี้ แล้วสิ่งที่ซ่อนเร้นมานานนับสิบปี ก็ค่อยๆ คลี่คลาย เพราะความร่วมมือจาก ชวิน ลูกชายสุดที่รักของอวันตี จนความจริงเริ่มปรากฏชัดเจนในที่สุด


“...ของลักของขโมย เบียดเบียนฉ้อโกงเขามา

โบราณว่ามันเป็นของร้อน

ถึงทำให้รวย ก็รวยแบบไม่เป็นสุข

เหมือนนั่งบนกองไฟ

ร้อนกายร้อนใจอยู่เสมอ จนตายก็ตายไม่สงบ”

- สาวสองวิญญาณ


REVIEW

สาวสองวิญญาณ บทประพันธ์ของ แก้วเก้า เป็นเรื่องหนึ่งที่อ่านสนุก เพลินดี การดำเนินเรื่องโดยวางปริศนาให้ชวนสงสัยอยู่ตลอดเวลา ทำให้เวลาอ่านแทบวางไม่ลง อีกอย่างหนึ่งคือ แต่ละบทมีเนื้อหาค่อนข้างสั้น กระชับ เลยทำให้อ่านได้ไว และชวนลุ้นระทึกว่าอะไรจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าพล็อตเรื่องจะไม่ได้แปลกใหม่มากนัก เป็นเรื่องของดวงวิญญาณมายืมร่างคน เพื่อกลับไปสืบหาความจริงว่าตัวเองตายเพราะเหตุใดเท่านั้น แต่รายละเอียดปลีกย่อย ภูมิหลัง และปมเงื่อนงำของตัวละคร ช่วยขับให้นวนิยายเรื่องนี้มีสีสัน ชวนติดตามมากขึ้น แถมยังสอดแทรกทัศนคติดีๆ ไว้เพียบเลย

สาวสองวิญญาณ เริ่มเปิดปมของเรื่อง เมื่อ ฝนแก้ว กลับจากไปช่วยงานทำบุญล้างป่าช้าวัดขมิ้น หญิงสาวก็ได้พบกับวิญญาณของ อวันตี ซึ่งตายจากไปถึงสิบปี โดยไม่ทราบสาเหตุว่าตัวเองตายได้อย่างไร อวันตีจึงขอร้องให้ฝนแก้วช่วยนำทางวิญญาณหล่อนกลับไปยังบ้านแถวย่านเจริญนคร กรุงเทพฯ หากแต่คำขอของวิญญาณอวันตีไม่ได้สิ้นสุดเพียงเท่านั้น เมื่อคนในบ้านต่างไม่มีใครเชื่อว่าอวันตีตายแล้ว และกล่าวหาว่าฝนแก้วเป็นพวกสิบแปดมงกุฎมาหลอกต้มตุ๋ม เพราะทุกคนในบ้านเชื่อว่าอวันตีหนีตาม ปวิช ชายคนรักเก่าไปอยู่ด้วยกันที่เชียงใหม่ ทอดทิ้งให้ ชวิน ลูกชายคนเดียวอยู่กับ ชยุตม์ ผู้เป็นสามี รินรอง น้องสาวบุญธรรม และ ป้าพิณ แม่บ้านเก่าแก่ของครอบครัว โดยไม่ได้หวนกลับมาหาครอบครัวอีกเลย

สิ่งที่อวันตีเพิ่งได้รับรู้จากคนในบ้าน หล่อนรู้แก่ใจว่ามันไม่ใช่ความจริง หล่อนไม่เคยหนีไปกับปวิช หากแต่หล่อนตายไปแล้ว ตายอย่างปริศนา ว่าแต่อะไรกันล่ะ ที่ทำให้ทุกคนในบ้านคิดว่าหล่อนเป็นผู้หญิงไร้ศักดิ์ศรี ทิ้งลูกและสามีแล้วหนีไปกับชายชู้ ความคลางแคลงใจที่เกิดขึ้น ทำให้อวันตีขอร้องให้ฝนแก้วช่วยหล่อนสืบหาความจริง ฝนแก้วจึงถูกดึงเข้ามาพัวพันกับเงื่อนงำการตายของอวันตี โดยวิญญาณของหล่อนได้ขออาศัยร่างของฝนแก้ว เพื่อกลับมามีชีวิตอีกครั้งในยามค่ำคืน...กลายเป็นสาวสองวิญญาณ

อวันตีตายได้อย่างไร หรือมีใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ต้องลองไปหาคำตอบกันในเล่มแล้วล่ะครับ

ปมปริศนาของเรื่อง สำหรับผมถือว่าเดาทางได้ไม่ยาก แต่ตอนอ่านก็ทำเอาไขว้เขวอยู่เหมือนกัน เพราะผู้เขียนทอดความสงสัยเอาไว้ได้ดี ตรึงเราให้ตามอ่าน ตามสันนิษฐานไปเรื่อยๆ ตอนแรกผมปักธงไว้ในใจว่าปริศนาการตายของอวันตีอาจหักมุม หรือซับซ้อนซ่อนเงื่อน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสะเทือนอารมณ์กับเรื่องนี้ กลับกลายเป็นภูมิหลังของเหล่าตัวละคร ตัวอย่างเช่น ฝนแก้ว นางเอกของเรื่องเป็นคนอ่อนแอ ต้องติดแหงกอยู่กับพ่อที่เป็นคนอ่อน ยอมจำนนต่อเมียน้อย ไม่สามารถปกป้องลูกสาวได้ จนท้ายที่สุดชีวิตของพ่อเลยต้องชดใช้กรรมร่วมกับเมียน้อย ในขณะที่ฝนแก้วกลับเข้มแข็งขึ้น หลังจากได้เรียนรู้จากอวันตี อวันตีมีบุคลิกที่ต่างจากฝนแก้ว คือ หล่อนเข้มแข็ง คล่องแคล่ว มั่นใจ ไม่ยอมคน อวันตีน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้ฝนแก้วแกร่งขึ้น เหมือนอย่างที่หล่อนเคยบอกกับฝนแก้วว่า...


“โลกไม่ใช่ที่อยู่ของคนแพ้ จำไว้ ถ้าใจมันแพ้เสียก่อน ไม่ว่าเจอเรื่องเล็กหรือใหญ่ เธอก็จะไม่มีวันชนะ” 


ถือเป็นหนึ่งในคำพูดที่กระทบใจมากๆ เลยครับ ผมอ่านแล้วชักมีพลังฮึกเหิมขึ้นมาเลย

ขอเสริมอีกสักนิดว่าผมรู้สึกชอบชื่อ “อวันตี” ฟังดูแปลกหู แต่เพราะดีครับ พอลองค้นหาความหมายตามรูปศัพท์ ก็ยังไม่พบคำตอบว่าแปลว่าอะไรกันแน่ แต่พจนานุกรม ฉบับอ.เปลื้อง ณ นคร อธิบายว่า อวันตี (น.) ชื่อของแคว้นหนึ่งในมัชฌิมประเทศแห่งชมพูทวีป สมัยพุทธกาล มีเมืองหลวงชื่อ “กรุงอุชเชนี” เป็นที่สถิตของพระเจ้าวิกรมาทิตย์มหาราช

สรุปโดยภาพรวม สาวสองวิญญาณ เป็นเรื่องหนึ่งที่อยากให้ลองอ่าน ใครเป็นแฟนของแก้วเก้าอยู่แล้วคิดว่าไม่น่าพลาด นอกจากสนุกแล้ว สำนวนภาษาก็อ่านได้ลื่นไหล คมคาย อีกทั้งเรื่องนี้ทำให้ผมเห็นความร่วมสมัยของท่านผู้เขียน ซึ่งท่านได้สอดแทรกเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องด้วย เช่น สมาร์ทโฟน ไลน์ ฯลฯ อ่านแล้วอดอมยิ้มไม่ได้ เมื่อนึกเปรียบเทียบกับงานเก่าๆ ของท่าน น่ารักมากครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ สะท้อนแนวคิดอย่างหนึ่งของเรื่องที่ผมมองเห็น ว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เราไม่อาจยึดอดีตให้คงอยู่ ไม่อาจห้ามอนาคตไม่ให้ก้าวเดิน แต่เราสามารถเก็บความทรงจำดีๆ ไว้ได้เสมอ 

สวัสดีครับ


“...สิ่งที่ตรงข้ามกับความรัก ไม่ใช่ความเกลียด แต่เป็นความไม่สนใจไยดี...”

- สาวสองวิญญาณ




สาวสองวิญญาณ ปกฉบับ e-book

Cr. mebmarket.com


Jim-793009

01 : 12 : 2016




Create Date : 01 ธันวาคม 2559
Last Update : 11 ธันวาคม 2559 2:07:18 น.
Counter : 6536 Pageviews.

7 comment
บ่วงบรรจถรณ์ : กีรตี ชนา




บ่วงบรรจถรณ์


บทประพันธ์ : กีรตี ชนา


ISBN 978-616-90583-0-4 ฉบับปก สำนักพิมพ์ BE MINE. 2553

จำนวน 650 หน้า ราคา 350 บาท


รายละเอียด

กระแสกาล...ซ้อนสานด้วยจิตแห่งรัก เหตุเพราะเตียงโบราณซึ่งพ่อผู้ล่วงลับของ แพรนวล เก็บไว้รอผู้เป็นเจ้าของนานนับครึ่งศตวรรษ เมื่อหล่อนขึ้นไปนอน สิ่งแปลกประหลาดจึงได้เกิดขึ้นกับความฝันและจิตใจของหล่อน นับตั้งแต่ยามหลับถึงยามตื่น 

แพรนวลได้พบผู้คนและเหตุการณ์ในนครเชียงตุง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหล่อนไม่เคยนึกฝันว่าจะเป็นไปได้ ที่แห่งนั้นแพรนวลได้พบรักด้วยจิตผูกพันลึกซึ้งกับ หลาวเปิง หนุ่มไทยเขินผู้มีหัวใจมั่นคงด้วยศรัทธาต่อความรักที่เขาเฝ้ารอคอย และต่อเสรีภาพแห่งเชื้อชาติมาตุภูมิ 

ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น และพยานหลักฐานที่ถูกบันทึกไว้ ผสานกับปัจจุบันกาลอย่างน่าพรั่นพรึงพิศวง ยากที่แพรนวลจะบอกเล่าแก่ใครได้ แม้กระทั่ง เขตต์ สามีหนุ่มผู้ทำให้หล่อนผิดหวังกับชีวิตคู่ กาลเวลาที่แตกต่างกันกว่าห้าสิบปีมาบรรจบกันได้อย่างไร คือความจริง หรือเป็นเพียงความฝัน ที่ก่อขึ้นในดวงจิตของแพรนวลเท่านั้น...


“คุณรู้ไหมคุณเขตต์ จิตใจของคุณจะเข้มแข็งและอบอุ่น

ถ้าคุณเปลี่ยนความคิดถึงที่ทำให้เกิดความทุกข์

ให้เป็นความคิดถึงซึ่งทำให้มีความสุข

มันอาจจะยากเย็นเหลือเกิน แต่ถ้าเราทำได้

การพลัดพรากจากคนที่เรารักจะเป็นการเพิ่มคุณค่าของชีวิต

แทนที่จะเป็นการบั่นทอน”

- บ่วงบรรจถรณ์


REVIEW

บ่วงบรรจถรณ์ บทประพันธ์ของ กีรตี ชนา ต้องยกย่องให้เป็นเลิศในด้านการค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว หากไม่มีประเด็น เตียงอาถรรพณ์ เข้ามาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นางเอกของเรื่องย้อนกาลเวลาไปยังอดีตได้ ผู้อ่านหลายคนอาจหลงเชื่อผู้เขียนไปแล้วแน่ๆ ว่านวนิยายเรื่องนี้แต่งจากเค้าโครงเรื่องจริง ที่หยิบเอาประวัติศาสตร์เชียงตุงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาเรียงร้อยเป็นนวนิยาย เพราะตัวละครหลายตัวเป็นบุคคลซึ่งมีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ เช่น เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง เจ้าฟ้ากองไท เจ้านางแหลง (เจ้านางแดงหลวง) เจ้าพรหมลือ เจ้าฟ้าจ่ามทูน และนายบุญสิงห์ บุญค้ำ ฯลฯ 

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังแทรกบางฉากให้กลมกลืนไปกับเหตุการณ์หลายๆ เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์พม่าด้วย เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่คณะรัฐมนตรีและนายพลอองซาน (อูอองซาน) รัฐบุรุษคนสำคัญของพม่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1947 ณ เมืองย่างกุ้ง ถือเป็นโศกนาฏกรรมหนึ่งที่เลวร้ายมากในประวัติศาสตร์พม่า ซึ่งปัจจุบันทางการพม่ากำหนดวันดังกล่าวให้เป็น “วันแห่งวีรบุรุษ (Martyrs’Day)” แต่ในนวนิยายให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนเป็นวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ.1947 ไม่แน่ใจว่าเป็นการพิมพ์เดือนผิด หรือเป็นข้อมูลจากแหล่งใด เพราะข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผมลองค้นหาจากหลายๆ แหล่งจะเป็นเดือนกรกฎาคม และจากการค้นข้อมูล เลยได้รู้เพิ่มมาอีกว่า ในเหตุการณ์สังหารนายพลอองซานครั้งนั้น ทางการพม่าเชื่อกันว่าเป็นฝีมือของ อูซอ ซึ่งเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน ไม่รู้ว่า “อูซอ” คนนี้หรือเปล่า ที่ให้แรงบันดาลใจแก่ผู้เขียน นำไปตั้งชื่อตัวละคร “อูซอ” ซึ่งถือว่าเป็นตัวร้ายของเรื่องนี้...

บ่วงบรรจถรณ์ เปิดเรื่องที่ แพรนวล หนีจาก เขตต์ สามีหนุ่มหล่อจอมเจ้าชู้ ซึ่งแต่งงานอยู่กินกันได้เพียงปีกว่า มาอยู่บ้านพ่อของหล่อนที่เชียงราย ในห้องเก็บของภายในบ้านหลังนั้น แพรนวลได้พบกับเตียงไม้โบราณที่สลักเสลาอย่างวิจิตร หล่อนถูกใจมันมากจนต้องนำมาต่อเพื่อใช้นอน และนับตั้งแต่คืนแรกที่แพรนวลก้าวขึ้นไปนอนบนเตียงโบราณหลังนั้น หล่อนก็รู้สึกว่าตัวเองฝันไปตื่นในหอคำเชียงตุง นอนอยู่ใต้ต้นลั่นทมข้างหอคำของเจ้าฟ้าเชียงตุง เป็นฝันที่แปลกประหลาดยิ่ง เพราะหล่อนรู้สึกราวกับว่ามันคือความจริง ไม่ใช่ความฝัน และท่ามกลางความงุนงงสงสัยนั้น แพรนวลได้พบกับ จายหลาวเปิง หนุ่มไทยเขินบุตรบุญธรรมของเจ้ากองไท ผู้เข้ามาถามไถ่ว่าหล่อนเป็นใคร มาจากไหน ก่อนที่หล่อนจะคืนสู่กาลปัจจุบันอีกครั้ง

อำนาจอาถรรพณ์ของเตียงโบราณ ทำให้แพรนวลเกิดความสงสัย และคิดหาคำตอบว่าเรื่องประหลาดที่ได้เกิดขึ้นกลับหล่อนแล้ว มันคือความจริง หรือเป็นเพียงความฝัน แต่ฝันอะไรเล่าจะพาหล่อนย้อนไปสู่อดีตกาลของนครเชียงตุง สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่ประเทศไทยเข้ายึดนครเชียงตุงและเมืองแวดล้อม จัดตั้งเป็น “สหรัฐไทยเดิม” เรื่องราวเหล่านี้แพรนวลไม่เคยรับรู้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมาก่อน แล้วหล่อนจะเพ้อฝันไปได้อย่างไร จนในที่สุดหล่อนก็เชื่อมั่นอย่างสนิทใจ ว่าตัวเองสามารถย้อนกลับไปสู่กาลเวลาในอดีตได้จริงๆ และหล่อนเลือกบอกเล่าเรื่องประหลาดนี้แก่ แหลมทอง เด็กรับใช้วัยสิบสองขวบฟังเท่านั้น หลังจากนั้น แพรนวลก็เริ่มมีพฤติกรรมประหลาด คือชอบเข้านอนเร็ว ตื่นเอาตอนสายๆ หลับล่วงไปหลายชั่วโมง โดยมีแหลมทองคอยทำหน้าที่ปลุกให้ตื่นทุกวัน ด้วยเชื่อว่า หากไม่มีคนปลุกขึ้นจากเตียงหลังนี้ คนนอนก็จะหลับใหลอย่างไม่มีวันกลับ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ กิ่งแก้ว อดีตภรรยาคนแรกของ นายต่วน พ่อแท้ๆ ของแพรนวล

เมื่อแพรนวลย้อนกลับไปในเชียงตุง หล่อนได้รู้จักกับผู้คนในอดีตมากมาย และบางคนยังคงมีชีวิตมาถึงกาลปัจจุบัน อีกทั้งแพรนวลยังได้เข้าไปพัวพันในเหตุการณ์สำคัญ คือ งานแต่งงานระหว่าง เจ้านางตองริ้ว กับ ซานแปง สองหนุ่มสาวที่ต้องการสมหวังในรัก เพื่อหนีจาก อูซอ ผู้มีอิทธิพลชาวพม่าที่ปรารถนาอยากได้เจ้านางตองริ้วมาเป็นเจ้าสาวเช่นกัน เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้แพรนวลได้ค้นพบความจริงอีกหลายเรื่อง ทั้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่าหล่อนไม่ได้ฝันหรือบ้าคิดไปเอง และที่สำคัญยิ่ง คือหล่อนได้พบรักกับหลาวเปิง ชายหนุ่มที่รักปักใจในหล่อนเพียงผู้เดียว เขาทำให้หัวใจของแพรนวลได้อิ่มเอมและมีความสุขกับความรักอีกครั้ง หลังจากที่เขตต์เคยทำลายมันไปจนแทบหมดสิ้นศรัทธา แล้วแพรนวลก็พบคำตอบที่ทำให้หล่อนหมดรักเขตต์ และเลิกคิดถึงชีวิตในปัจจุบันกาล แต่เพราะอุปสรรคแห่งกาลเวลา ทำให้แพรนวลไม่อาจตัดสายสัมพันธ์จากคนที่หล่อนรู้จักทั้งสองห้วงเวลาได้ คนในอดีตเฝ้ารอให้หล่อนคืนกลับไปร่วมสุขกับเขา ส่วนเขตต์กับคนในปัจจุบันอีกหลายคนต่างก็ต้องการหล่อน แถมพวกเขายังมองพฤติกรรมประหลาดของแพรนวลว่า หล่อนกำลังกลายเป็นคนเสียสติ จิตวิปลาส...

แล้วแบบนี้ อนุภาพแห่งรักจะเชื่อมกระแสกาลเวลาให้มาบรรจบกันได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่ ต้องลองไปตามอ่านกันดูนะครับ เพราะเหตุการณ์ท้ายเรื่องเข้มข้น และลุ้นระทึกมากๆ

บ่วงบรรจถรณ์ นับเป็นนวนิยายที่นำเอาแนวแฟนตาซี มาผนวกกับแนวอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่พล็อตที่แปลกใหม่เสียทีเดียว เพราะนวนิยายไทยหลายเรื่องก็มีลักษณะเช่นนี้ แต่ความโดดเด่นของเรื่องนี้ คือผู้เขียนเลือกใช้ “เตียงโบราณ” เข้ามาเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกาลเวลา สมกับชื่อ บรรจถรณ์ ซึ่งแปลว่า เตียง นั่นเอง แล้วใช้การนอนหลับเป็นเทคนิคเคลื่อนย้ายมวลสาร โดยมีเงื่อนไขของเวลามาเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายสสารจากโลกปัจจุบันไปสู่โลกอดีตอย่างมีรูปแบบที่ชัดเจน ไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ อีกทั้งการหยิบเอาประวัติศาสตร์นครเชียงตุงมาเล่าประกอบการดำเนินเรื่อง ก็ยังไม่ค่อยมีใครหยิบมาใช้มากนัก ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชียงตุงไปในตัว อีกทั้งระหว่างบทผู้เขียนยังแทรกบทความสารคดีคั้นไว้ให้อ่านควบคู่กันไปด้วย เลยยิ่งทำให้เรื่องราวเกิดความสนุก น่าสนใจ และชวนติดตาม

ด้านสำนวนภาษา ผู้เขียนถ่ายทอดออกมาได้ดี โดยรวมอ่านแล้วลื่นไหล อาจมีบางท่อนบางสำนวนอ่านแล้วรู้สึกรูปประโยคคล้ายๆ การเขียนประโยคภาษาอังกฤษ จำไม่ได้ว่าอ่านเจอตรงไหนบ้าง อีกอย่างผมมักรู้สึกเหนื่อยหน่ายสักเล็กน้อย เวลาอ่านบทพรรณนาถึงความรู้สึกรักใคร่ที่ลุ่มลึกด้วยภาษาที่สละสลวย ซึ่งเป็นความรู้สึกส่วนตัวของผมเอง แต่ถ้าใครชื่นชอบการพรรณนาโวหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็คงยิ่งรักเรื่องนี้เข้าไปอีก

สุดท้ายนี้ ก็คงต้องบอกว่า “แนะนำเลยครับสำหรับเรื่องนี้” อ่านแล้วเต็มอิ่มด้วยสาระความรู้ ข้อคิดดีๆ แน่นอนครับ และอีกไม่นานละคร “บ่วงบรรจถรณ์” ฉบับรีเมค นำแสดงโดย มาริโอ้ และใหม่-ดาวิกา ก็จะออนแอร์ให้ชมกันทางช่องสามแล้ว หลังจากที่ฉบับก่อนหน้า คือ มาช่าและชาคริต ได้นำเสนอไว้ค่อนข้างดีทีเดียว




จายหลาวเปิง และ แพรนวล

ละคร บ่วงบรรจถรณ์ ทางช่อง 3 (พ.ศ.2559-2560)



Jim-793009

13 : 11 : 2016




Create Date : 13 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 1 ธันวาคม 2559 21:47:27 น.
Counter : 4675 Pageviews.

4 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments