All Blog
ไม้เมืองหนาว : สิริมา อภิจาริน







ไม้เมืองหนาว


บทประพันธ์ : สิริมา อภิจาริน


ISBN 974-272-823-2  ฉบับปก สำนักพิมพ์อรุณ. พิมพ์ครั้งที่ 4. 2548.

จำนวน 306 หน้า ราคา 198 บาท


รายละเอียด

ชีวิตของสาวน้อย ระริน ในเมืองและมหาวิทยาลัยเล็กๆ ของอเมริกา ในสายตาของคนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่ชิงทุนมาเรียนในเมืองนั้น ระรินเป็นสาวน้อยที่เปรี้ยวจี๊ดจนเข็ดฟัน หล่อนจึงมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบอยู่เสมอ ด้วยระรินมีเพื่อนหนุ่มชาวตะวันตกให้ควงอยู่ไม่ขาด ทว่าหล่อนก็ไม่คิดจริงจังกับใคร จนกระทั่งได้รู้จักหนุ่มไทย ผู้สุภาพและสุขุมอย่าง ภูรี ชายหนุ่มที่เลิกมองหาความรักมานานหลายปีแล้ว 

แต่กว่าทั้งคู่จะเข้าใจกัน และเข้าใจหัวใจตัวเอง พวกเขาต่างก็ต้องเจ็บปวดเพราะความเข้าใจผิดอยู่นานทีเดียว 

ความรักนั้น เมื่อมองผ่านสายตาและอารมณ์ความรู้สึกละเมียดละไม ย่อมงดงามเสมอ 

ใครที่กำลังสับสนกับตัวเอง กับความรัก กับการจะรักใครสักคน อาจได้คำตอบที่รอคอย หรือได้คำถามมากพอจะตรวจสอบความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง


กี่แล้งกี่หนาว...ไม้เมืองหนาวจะชื่นชมกับชีวิตของมันได้เสมอ

มันเพียงจะพักผ่อนเมื่อเวลาหนาวเย็นของชีวิตมาถึง

และจะผลิใบเขียวเมื่อชีวิตของมันอบอุ่น

เป็นอย่างนี้ต้นแล้วต้นเล่า...นิรันดร์

- ไม้เมืองหนาว


REVIEW

นับเป็นโอกาสดี ที่ผมได้รู้จักงานเขียนของ สิริมา อภิจาริน นักเขียนรุ่นเก่าที่ฝากงานเขียนและสำนวนกินใจไว้มากมาย ซึ่งนักอ่านหลายคนประทับใจกันมานานแล้ว เรื่องเด่นที่เคยสร้างเสียงฮือฮาในวงการวรรณกรรมไทยก็อย่างเช่น “ปลาหนีน้ำ” แต่เล่มที่ผมนำมารีวิวครั้งนี้ชื่อ ไม้เมืองหนาว น่าจะเป็นนวนิยายยุคแรกๆ ของนักเขียนชั้นครูท่านนี้ครับ

ไม้เมืองหนาว เป็นเรื่องราวของ ระริน สาวน้อยวัยสดใส ท่าทางน่ารัก เพียงแต่หล่อนไม่ใช่สาวน้อยพรหมจรรย์ อย่างนางเอกนิยายไทยแบบอุดมคติทั่วไป ชีวิตหล่อนเคยผ่านผู้ชายมาแล้ว แต่เป็นการผ่านที่เธอนิยามว่า “มีคุณภาพ” คือเธอเต็มใจมอบให้ เพราะเธอรักเขา ชายคนนั้นเป็นหนุ่มฝรั่งชื่อ เดฟ สก็อตต์ แต่การกระทำครั้งนั้นของระรินกลับทำให้ เขต เพื่อนชายชาวไทยคนสนิทของเธอ มองเธอราวกับของหวงแหนที่ได้แตกหักไปแล้ว เหมือนในประโยคที่ว่า...


เขตมองหล่อนนิ่งนาน หล่อนจำดวงตาของเขาได้ ดวงตาของคนเห็นของเปราะบางแตกหักไปต่อหน้าต่อตานั่นอย่างไร ทั้งๆ ที่เขตใจกว้างและทันโลกออกปานนั้น


ระรินถูกคุณป้าส่งตัวมาเรียนที่อเมริกา ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ที่นี่หล่อนได้รู้จักคนไทยกลุ่มเล็กๆ และความที่หล่อนคบหาใครอย่างไม่แคร์มาตลอด ทำให้ระรินถูกคนไทยด้วยกันนินทาในทางเสียหาย ว่าเป็นพวกผู้หญิงเปรี้ยวเข็ดฟัน ใจง่าย ชอบควงฝรั่ง ระรินชินชากับคำดูแคลนเหล่านั้น กระทั่งได้รู้จักกับชายหนุ่มชื่อ ภูรี เขาเรียนอยู่เมืองนอกมาเนินนาน จนลืมๆ วิถีชีวิตในไทย แต่มุมมองที่เขามีแต่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ความใจกว้าง ความเข้าใจโลก กระทั่งความเคารพต่อเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของบุคคล ทำให้ภูรีเป็นที่ประทับใจของระริน และความสดใส จริงใจของระริน ก็เป็นที่ถูกใจเขาเช่นกัน

แต่ถึงอย่างนั้น ความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างระรินกับภูรีก็ยังคงอยู่ท่ามกลางความเป็นเพื่อนที่ไว้วางใจกัน เพราะขณะนั้น ระรินมี มาร์ก หนุ่มอเมริกันผู้ชอบสาวเอเชียมาติดพันด้วย ส่วนภูรีเองก็ตัด แอนน์ ผู้เป็นทั้งเพื่อนและคนรักยังไม่ขาด แถมยังต้องอดทนกับปากของคนไทยช่างเม้าส์ในเมืองเล็กๆ ด้วย ความรักของทั้งสองจึงมีอุปสรรค อันเกิดจากความเข้าใจผิดสารพัด แง้มว่าผิดแบบนึกคิดกันไปเองเสียส่วนใหญ่ นี่ล่ะหนา เขาถึงว่าคนเราคิดหรือรู้สึกดีต่อใคร ก็ควรต้องแสดงออกให้เขารู้ๆ กันไปเลย

ถ้าใครคุ้นเคยกับนิยายรักหวานๆ แบบละครไทยหรือละครเกาหลี พูดได้เลย ไม้เมืองหนาว เป็นนิยายรักเหงาๆ หวานอมเปรี้ยว ที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน เพราะเนื้อเรื่องมีความสมจริง ตัวละครหลักและตัวประกอบต่างๆ ล้วนมีคาแร็คเตอร์โดดเด่นของตัวเอง สำนวนภาษาที่ผู้เขียนใช้ก็ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน แต่สะท้อนความจริงออกมาอย่างประทับใจ 

ผมยอมรับว่าอวยนิดหน่อยครับ แต่การได้อ่านนวนิยายของคุณสิริมา ทำให้รู้สึกถึงความแตกต่างจากนวนิยายรักไทยเรื่องอื่นๆ มาก อาจเพราะฉากชีวิตของตัวละครอยู่เมืองนอกด้วย เรื่องนี้เลยให้ความรู้สึกเหมือนนวนิยายรักสไตล์ตะวันตก 

อย่างมุมมอง-ความคิดของตัวละครหลายๆ ตัว น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลายคนชื่นชอบนวนิยายเรื่องนี้ เช่น มุมมองของพระเอกที่มีต่อผู้หญิง...


ภูรีเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง เพราะโตมาในสังคมซึ่งเน้นหนักในสิ่งเหล่านี้ ภูรีจำผู้หญิงทุกคนที่เขาเคยรักเคยนอนด้วย จำได้เป็นบางคนเฉพาะที่นอนด้วยเฉยๆ โดยไม่รัก ภูรีไม่คิดว่าเขาทำลายผู้หญิง หากผู้หญิงยินยอม เช่นเดียวกับไม่เคยคิดว่าเขาจะร่วมชีวิตกับผู้หญิงที่เคยถูกทำลายไม่ได้...ภูรีไม่คิดว่าเขาจะต้องแต่งงาน เขาคงจะร่วมชีวิตกับผู้หญิงสักคนหนึ่งในวันข้างหน้า ถ้าการแต่งงานมีความหมายตื้นๆ เพียงการอยู่กับผู้หญิง ภูรีคิดว่าเขาแต่งงานมาหลายหนแล้ว


และแน่นอนว่า ไม้เมืองหนาว ในนวนิยายเรื่องนี้ หมายถึง ระริน นางเอกของเรื่อง (ตามโค้ดใต้รายละเอียดด้านบน) เพื่อบอกถึงความเข้มแข็งของระรินอันเปรียบได้กับไม้เมืองหนาว ที่อดทนต่ออุปสรรคในชีวิต และชื่นชมต่อชีวิตของตัวเอง ไม่ว่ามันจะผ่านร้อน ผ่านหนาว ผ่านความเจ็บปวดมาเท่าไรก็ตาม มันก็พร้อมจะผลิบานได้อีกครั้ง

นอกจากนี้ ความที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกมาก่อน การดำเนินเรื่องและพฤติกรรมของตัวละครแต่ละตัว จึงค่อนข้างสมจริง ทั้งวิธีคิดและการแสดงออก เช่น คนไทยที่มาอยู่รวมกันในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ ล้วนแต่ขี้เหงา ดังนั้น บางคนจึงนิยมการจับกลุ่มนินทา โฟกัสชีวิตคนอื่นไปทั่ว เพื่อคลายความเหงาและว้าเหว่ในใจ พูดง่ายๆ คือ วางจัด ไม่รู้จะทำอะไรกันดี ก็คงไม่ผิด เช่นตัวละคร ประมวล และ ชฎิล สองหนุ่มที่ชอบนินทาและเย้าแย่ชาวบ้าน หรือจะเป็น ภาณี สาวทึนทึก วัยย่างสี่สิบปี ผู้กลัวว่าคนอื่นจะรักสามัคคีกันจนลืมหล่อน ฉะนั้น การสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่หล่อนชอบทำ ฯลฯ


คนไทยในเมืองเล็กๆ นี้เหงานัก ไม่ว่าจะเป็นข่าวเล็กน้อยแค่ไหน ก็ดูจะช่วยปลดเปลื้องความเหงาของคนที่นี่ไปได้ พอประทังให้ชีวิตมีรสชาติ


ความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้ คือผู้เขียนกล้านำเสนอชีวิตของนางเอกที่ไม่ได้ครองพรหมจารี แต่มีทัศนคติที่ดีต่อชีวิตของหล่อนเอง ให้มาพบรักของพระเอกที่ไม่ได้มองผู้หญิงอย่างฉาบฉวย และพร้อมจะรักผู้หญิงคนหนึ่ง จากตัวตนที่แท้จริงของหล่อน ไม่ใช่เชื่อเพียงลมปากคนอื่น มันเป็นความจริงของชีวิตที่อ่านแล้วอิ่มเอม แม้เรื่องจะดำเนินไปอย่างเอื่อยๆ แต่เราก็พอใจจะติดตามชีวิตของพวกเขาต่อไป และถึงแม้ตอนจบจะสั้นไปนิด ทำให้เราอยากเห็นฉากรักหวานชื่นของพระ-นางต่อ แต่ผู้เขียนก็พอใจจะให้เรามองชีวิตของทั้งคู่ด้วยความเข้าใจ มากกว่าจะสร้างภาพฝันให้จดจำ

แต่เชื่อว่า หลายคนต้องหลงรักภูรี ชื่นชมระริน และไม่ลืมคนน่าหมั่นไส้อย่าง ภาณี แน่นอน

ก่อนจากกัน ขอปิดท้ายด้วยคำอุทิศของผู้เขียน อ่านแล้วอมยิ้มเลยครับ


แด่พ่อ...

“พ่อภูมิใจที่ลูกเป็นผู้หญิง

ใครๆเขาว่ามีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน

แต่สำหรับพ่อลูกเป็นสวนดอกไม้

ที่มีแต่จะทำให้บ้านสดใสและหอมหวานไปทั่ว”


สวัสดีครับ


Jim-793009

01 : 05 : 2016





Create Date : 01 พฤษภาคม 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 16:14:46 น.
Counter : 3435 Pageviews.

5 comment
วังบัวขาว : ดาวจริยา






วังบัวขาว


บทประพันธ์ : ดาวจริยา


ISBN 974-603-064-7 ฉบับปก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.พิมพ์ครั้งแรก. กรกฎาคม 2538.


รายละเอียด

ชคดีภุช ธัญลักษณ์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีความสุขกับชีวิตต่างแดน จำต้องตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทย เพราะความรักที่มีต่อ พิณเสนาะ ปริพันธ์ เขาตั้งใจจะแต่งงานกลับหล่อน หลังจากทำพิธีหมั้นหมายได้ไม่นาน แต่แล้ว ขุนพิจิตรคดี ลูกน้องของบิดา ผู้รับหน้าที่ดูแลมรดกของชคดีภุช ก็ยื่นข้อเสนอให้ชายหนุ่มรับงานสำรวจ “วังบัวขาว” ก่อนแต่งงาน เพื่อที่เขาจะได้รับค่าตอบแทนก้อนโต พร้อมด้วยชื่อเสียงจากงานชิ้นแรก เพื่อสร้างฐานความเชื่อมั่นของสำนักทนายความธัญลักษณ์ที่เขาต้องสืบทอดจากบิดา 

ชคดีภุชจำใจรับงานนี้ตามคำอ้อนวอนของพิณเสนาะ เขาจึงเดินทางไปยังวังบัวขาวตามจดหมายที่ ปริษฐา ศิระโสภา นายจ้างของเขาชี้แจงเอาไว้ และที่นั่นเขาแทบไม่พบความงดงามใดๆ เลย นอกจากสถานที่รกร้างกลางดงประดู่กับ นายเอี่ยม ผู้ดูแลวังบัวขาว 

แล้วชคดีภุชจะได้ค้นพบอะไรที่นั่น เมื่อความแค้นแห่งอดีต คือบทบัญญัติแห่งความหายนะ นั่นคือภาระที่เขาต้องปลดเปลื้อง แม้จำต้องแลกด้วยชีวิต


“...ผมไม่ต้องการสร้างกรรมอีกต่อไป

ขอให้เราสิ้นสุดกันเพียงแค่นี้ หากคุณยินดีที่จะอภัยให้ผม

เราก็จะได้ช่วยกันคิดว่า จะทำประการใดดี

หากคุณปรารถนาจะต่อเรื่องให้ยาว

แล้วใครจะเป็นคนรับกรรมเกียรติยศก่อน คุณหรือผม...”

- วังบัวขาว


REVIEW

วังบัวขาว บทประพันธ์ของ ดาวจริยา เป็นนิยายขนาดสั้น จำนวน 129 หน้า และเป็นงานเขียนยุคเก่า เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อปี 2508 เล่าเรื่องราวจากมุมมองบุรุษที่หนึ่งของชคดีภุช ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งค่อยๆ ก้าวเข้าไปพัวพันกับวังบัวขาว

ความน่าดึงดูดใจของเรื่องนี้ อย่างแรกคือคำโปรยบนปก “นวนิยายสะเทือนขวัญจากผลพวงของความเคียดแค้นที่ไร้ขอบเขต” แล้วเนื้อเรื่องของวังบัวขาวก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือว่าด้วยเรื่องความแค้นระหว่างสองครอบครัว โดยมีวังบัวขาวเป็นสาเหตุของความแค้นที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น กระทั่งถึงรุ่นชคดีภุช ซึ่งไม่ได้รับรู้เรื่องราวความขัดแย้งเหล่านั้นมาก่อน แต่ต้องตกอยู่ในวังวนของการแก้แค้น จากนายจ้างลึกลับที่เขาไม่มีวันได้พบหน้าจนกระทั่งจบเรื่อง การสื่อสารระหว่างเขากับนายจ้างจึงผ่านทางจดหมายเท่านั้น

วังบัวขาว ที่ว่านี้ไม่ใช่ วังเจ้านาย แต่เป็นชื่อเรียก ห้วงน้ำลึกที่มีดอกบัวขาวขึ้นเต็มไปหมด (วัง น.ห้วงน้ำลึก) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถาปัตยกรรมโบราณ ในเรื่องบรรยายไว้วิจิตรอลังการมาก ทำนองว่างดงามเหมือนงานสลักหินในศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (ผมนึกไปถึงวัดถ้ำต่างๆ ในอินเดีย) ดูยิ่งใหญ่ไปหน่อยในความรู้สึกตอนอ่าน แต่ก็ไม่ได้ขัดใจอะไร เพราะผู้เขียนบรรยายและเลือกใช้ภาษาได้ดี สำนวนการเขียนก็ลื่นไหล เดาว่าคงใกล้เคียงวิธีการเขียนเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา แบบสำนวนนิยายเก่าๆ

การดำเนินเรื่องค่อนข้างเร็ว ความไม่รู้อะไรของชคดีภุชทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยไปด้วยว่า เรื่องราวจะเป็นยังไงต่อไป ใครดี ใครชั่ว ใครคอยหักหลังอยู่หรือเปล่า อย่างตอนเข้าไปสำรวจในวังบัวขาวนั้น นายเอี่ยมผู้ดูแลเคยบอกชคดีภุชไว้ว่า ที่นี่มีเขาอยู่แค่คนเดียว แต่พอชคดีภุชได้เข้าไปถึงใจกลางวังบัวขาว เขากลับผมตาแก่ผมหงอกท่าทางเลอะเลือน กับเงาของหญิงสาวปริศนาอีกคนหนึ่ง ลักษณะของการดำเนินเรื่องราวมีความลี้ลับแฝงอยู่แบบนวนิยายแนวโกธิค แล้วพอเรื่องดำเนินมาถึงจุดเฉลยปมทั้งหมด ว่าชคดีภุชมายังวังบัวขาวเพื่อสืบต่อมรดกความแค้น ก็ทำให้ผมนึกเห็นใจเขามากๆ เพราะความแค้นในอดีตเกิดจากความละโมบของบรรพบุรุษที่ต้องการครอบครองวังบัวขาว จนเป็นเหตุแห่งการฆาตกรรมลึกลับ ขณะที่ตัวชคดีภุชมองวังบัวขาวด้วยความชื่นชม มิใช่โลภอยากได้ นั่นคือจุดเปลี่ยนแปลงของเรื่อง

ชคดีภุชต้องการกลับไปแต่งงานกับพิณเสนาะมากกว่ามามัวหลงใหลวังบัวขาว แต่ในเมื่อภารกิจแก้แค้นของตระกูลยังต้องสืบทอดต่อไปราวกับพินัยกรรม ใครกันจะหยุดยั้งมัน นายจ้างอย่างปริษฐา หรือคนถูกจ้างอย่างชคดีภุช แล้วเขาจะกลับออกไปจากวังบัวขาวได้หรือไม่ต้อง ลองหาอ่านดูนะครับ

“...กรรมเก่า ไม่จริง ไม่ยุติธรรมเลยสักนิดเดียว ข้าพเจ้ายอมทุกอย่าง ขอแต่เพียงให้ข้าพเจ้าได้กลับไปหาคนที่ข้าพเจ้ารัก พิณเสนาะ...ดูซิ ข้าพเจ้าเขียน เขียน และเขียน อย่างรีบเร่งเหมือนคนบ้าคลั่ง เขียน แล้วหยุด แล้วเขียน เพียงเพื่อพิสูจน์ว่าข้าพเจ้ายังมีลมหายใจยังไม่ตาย ยังคอยเธออยู่พิณเสนาะ...”

ความรู้สึกหลังอ่าน ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้สนุกด้วยเนื้อเรื่องหรือพล็อต แต่ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้น ได้ค้นหา และคาดเดาสิ่งต่างๆ ในเรื่อง อาจมีบทบรรยายบางช่วงค่อนข้างยาว ทำให้จินตนาการภาพตามไม่ค่อยปะติดปะต่อ และขอแง้มไว้หน่อยว่า ตอนจบเรื่องเป็นแบบทิ้งให้คนอ่านคิดต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่อ่านแล้วมีความสุขกับสำนวนการเขียนของดาวจริยาพอสมควร ซึ่งตอนนี้ผมมีหนังสือของนักเขียนท่านนี้อยู่อีก 3 เรื่อง ไว้คงได้หยิบมารีวิวกันต่อไป

อีกอย่างหนึ่ง ผมอ่านชื่อตัวเอก “ชคดีภุช” แล้วนึกสงสัยว่าแปลว่าอะไร อันที่จริงมีแปลความไว้แล้วตามพจนานุกรมครับ แปลตามรูปศัพท์ คือ ผู้เสวยพระธรณี (ชคดี พระธรณี, แผ่นดิน / ภุช = ก. บริโภค, กิน) หมายถึง พระราชา หรือกษัตริย์ นั่นเอง

สวัสดีครับ


Jim-793009

19 : 04 : 2016





Create Date : 19 เมษายน 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 16:15:26 น.
Counter : 1419 Pageviews.

2 comment
ปราสาทรัตติกาล : วิษุวตา




ปราสาทรัตติกาล


บทประพันธ์ : วิษุวตา


ISBN 978-6-16-907840-1  ฉบับปก สำนักพิมพ์พลอยจันท์. 2554.


รายละเอียด

ปราสาทรัตติกาล ปราสาทเก่าแก่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย ถูกร่ำลือว่ามีอาถรรพณ์นับแต่เกิดคดีการตายปริศนาของ แม่เลี้ยงแสงคำ และการหายตัวไปอย่างลึกลับของ ประชัน กับหลานสาวคนหนึ่งของแม่เลี้ยงฯ เป็นเหตุให้ กัญญา พี่สาวของประชันตามมาสืบหาความจริงเกี่ยวกับน้องชาย โดยหล่อนว่าจ้าง ธร อดีตนายตำรวจหนุ่มมาเป็นบอดี้การ์ด พร้อมทั้งให้ ปถวี ฉายานักข่าวสาวจอมลุย ติดตามมาค้นหาความจริงที่ปราสาทรัตติกาลด้วย 

การมาเยือนปราสาทรัตติกาล ทำให้พวกเขาได้พบกับเรื่องราวปริศนา อาถรรพณ์ และสิ่งลี้ลับที่ไม่มีลมหายใจ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่อาจทำให้พวกเขายอมถอยกลับกรุงเทพฯ ง่ายๆ ซึ่งนั่นไม่เท่ากับว่า พวกเขาพยายามย่ำเข้าหาอันตรายโดยไม่รู้ตัว แต่ด้วยความเต็มใจ!


“...บางคนตายไปอย่างคุ้มค่า

เพราะได้ทำสิ่งที่ต้องการแล้วในชีวิต

แต่บางคนก็ดูไร้ค่า เพราะไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับสังคมเลย

ขณะที่บางคนตายก่อนแก่ แต่กลับคุ้มค่า

ไม่เสียดายชีวิต ไม่เสียใจ

เพราะได้ทำอะไรต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นและสังคมมามากพอแล้ว”

- ปราสาทรัตติกาล


REVIEW

ปราสาทรัตติกาล ผลงานประพันธ์ของ วิษุวตา หรือก่อนหน้านี้ใช้นามปากกาว่า แม่บรรเทา เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารกุลสตรี เมื่อปี 2543-2545 เป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งที่ถูกยกย่องเป็น “100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ (พ.ศ.2537-2548)” 

ปราสาทรัตติกาล เป็นเรื่องราวว่าด้วยปริศนาลึกลับของปราสาทเก่าแก่ ที่ถูกร่ำลือว่ามีอาถรรพณ์ มีวิญญาณเจ้าที่ผีร้ายแฝงกายอยู่ นับแต่ แม่เลี้ยงแสงคำ เจ้าของปราสาทตายจากไปอย่างเป็นปริศนา พร้อมกับการหายตัวไปของ ประชัน หนุ่มนักโบราณคดี คนรักของแม่เลี้ยงฯ ซึ่งคนในหมู่บ้านลือกันว่า เขากับหลานสาวแม่เลี้ยงแสงคำ ได้ลักลอบเป็นชู้กัน แล้วฆาตกรรมแม่เลี้ยงฯ ก่อนหนีความผิดไปด้วยกัน 

แต่ถึงอย่างนั้น ข่าวลือและคดีความก็ยังคงคลุมเครือ หาข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปไม่ได้ กัญญา จึงต้องขึ้นมาเชียงรายเพื่อสืบหาความจริง ด้วยหล่อนเชื่อมั่นว่า ประชันไม่มีทางหักหลังแม่เลี้ยงแสงคำเช่นนั้นแน่นอน และการเดินทางครั้งนี้ หล่อนมี ธร บอดี้การ์ดหนุ่มฝีมือดี กับ ปถวี นักข่าวสาวจอมลุยติดตามมาด้วย โดยเฉพาะปถวีนั้น หล่อนอยากได้ข่าวนี้กลับไปเขียนมากที่สุด 

การมาเยือนเชียงรายครั้งนี้ กัญญาและทุกคนได้รับการต้อนรับจาก รังสี เพื่อนของปถวี พร้อมทั้ง ผู้ใหญ่เขือง กับ บุญคุ้ม สองพ่อลูกผู้คอยดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน นับแต่คืนแรกที่ไปเยือน ทีมค้นหาความจริงก็ได้พบกับอาถรรพณ์ทันที และเจอติดๆ กันอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น ผีหัวขาด เสือดำตัวใหญ่ จระเข้ผี หรือมือผี ซึ่งมักวนเวียนอยู่แถวปราสาทรัตติกาล หลอกหลอนทุกคนที่พยามยามย่างกรายเข้าไปที่นั่น ซึ่งคนที่เจอดีบ่อยสุด ก็คือ ปถวี กับ ธร สองหนุ่มสาวขี้สงสัย ผู้ไม่ปักใจเชื่อเรื่องอาถรรพณ์ อีกทั้งพยายามสืบความจริงด้วยตัวเองมาตลอด 

ถึงกระนั้น ปถวีก็ไม่เคยปฏิเสธเรื่องโลกหลังความตาย เพราะหล่อนเชื่อว่าตัวเองได้เจอกับวิญญาณของแม่เลี้ยงแสงคำ ขณะที่กัญญาเองก็ได้พบกับวิญญาณของประชัน หลังจากพวกเขามีโอกาสย้ายเข้าไปพักอาศัยอยู่ในปราสาทรัตติกาล ซึ่งถูกซื้อโดย พ่อเลี้ยงหมื่นอิน ผู้อ้างตนว่าเป็นเพื่อนสนิทของแม่เลี้ยงแสงคำ และยินดีจะช่วยเหลือทุกคนสืบคดีความ จึงทำให้ทีมค้นหาฯ ก้าวเข้าไปสู่ความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ

ปราสาทรัตติกาลมีอาถรรพณ์จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นแค่ความลี้ลับที่ถูกร่ำลือเพราะความหวาดกลัวของชาวบ้าน แล้วเบื้องหลังการตายและหายตัวไปอย่างปริศนาของอดีตผู้อาศัยในปราสาทอีกนั่นล่ะ ขอทิ้งไว้ให้ลองติดตามกันต่อครับ

โดยภาพรวม ปราสาทรัตติกาลถือว่าไม่แย่ ด้วยสำนวนภาษาค่อนข้างดี การบรรยายใช้ได้ ดำเนินเรื่องรวดเร็ว และมีฉากให้ระทึกค่อนข้างมาก แต่เนื้อเรื่องค่อนข้างยืดเกินไป ความรู้สึกหลังอ่านเรื่องนี้ ส่วนตัวแล้วผมยังไม่ค่อยประทับใจเท่าไรนัก แต่ขอชมเชยก่อนว่า concept เรื่องค่อนข้างดีในแง่การวางปมปริศนา และการสืบสวนสอบสวน รวมทั้งการเปิดเรื่องในช่วงต้นก็น่าสนใจ ดึงดูดดี แต่พออ่านเนื้อเรื่องจนจบแล้วกลับคิดว่า “น่าจะดีกว่านี้ได้อีกนะ” 

หลายฉากหลายเหตุการณ์มักจะโผล่ขึ้นมาลอยๆ โดยไม่ค่อยมีเหตุจูงใจสำคัญมากพอ เช่น ปถวีชอบออกจากที่พักไปตามสืบเรื่องปราสาทรัตติกาลตอนดึกๆ ตามลำพัง แต่ยังไม่ทันได้เรื่องได้ราว ก็มักจะมีสิ่งลี้ลับหรืออันตรายจากผู้ร้ายเข้ามาขัดขวางเสมอ และจะมีเหตุการณ์อย่างเดียวกันนี้เกิดขึ้นติดๆ กัน ประมาณสองสามฉากเลย จนเราคิดว่า ทำไมตัวละครถึงกระทำแบบเดิมซ้ำๆ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่สำเร็จ ไม่ได้ความคืบหน้าอะไรขึ้นมาเลย ได้แต่รอดชีวิตกลับมาวันๆ แล้วตัวร้ายก็ไม่เคยจัดการเอาถึงตายสักที แต่ก็เข้าใจดีว่าผู้เขียนพยายามจะใช้เหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละครเอกเป็น “ปมปริศนา” ของเรื่อง ซึ่งเขาจะเก็บไว้เฉลยในตอนท้าย แต่การไม่ทิ้งปมให้ผู้อ่านคาดเดาอะไรไว้เลย มีแต่ปริศนาลอยๆ เลยทำให้เราไม่ค่อยสมใจสักเท่าไหร่

พอถึงท้ายเรื่อง ผู้เขียนเลือกใช้วิธีเฉลยเรื่องแบบ “ให้ตัวละครเอกถาม แล้วตัวผู้ร้ายเป็นคนอธิบาย (ตอบ) ให้ฟังทั้งหมด” ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าฉากนี้มันน่าเบื่อจังเลย ทั้งที่ควรจะเป็นฉากที่ลุ้นและสนุกที่สุด หลังจากวางเรื่องเป็นปริศนามาทั้งเรื่อง อาจเป็นความคิดส่วนตัวของผมเองก็ได้ ที่คิดว่า “ถ้าตัวละครเอกที่พยายามสืบหาความจริง สามารถเป็นคนคลี่คลายปมปริศนาได้เอง (อาจจะแค่บางส่วน)” น่าจะเรียกความประทับจากผู้อ่านกลับมาได้เลย แต่นี่เท่ากับว่า สิ่งที่ปถวีหรือธรพยายามสืบหามาทั้งเรื่องไม่ได้อะไรเลย (ทั้งที่ผู้อ่านพยายามเอาใจช่วยอยู่ตั้งนาน) ก็ถือเป็นความผิดหวังพอสมควร

ใครสนใจลองหามาอ่านได้ครับ บางทีอาจมองเห็นแง่มุมที่ต่างออกไปจากผมก็ได้

สวัสดีครับ




ปราสาทรัตติกาล ของ แม่บรรเทา

พิมพ์ครั้งแรก. 2546. สำนักพิมพ์ดับเบิ้ลนายน์

Cr. happybookonline


Jim-793009

27 : 02 : 2016





Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 29 กุมภาพันธ์ 2559 9:24:39 น.
Counter : 1756 Pageviews.

4 comment
ก่อนจะถึงทางแยก : มนันยา




ก่อนจะถึงทางแยก


บทประพันธ์ : มนันยา


หนังสือเก่า เล่มเดียวจบ ฉบับปก สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น, 2520.


รายละเอียด

อรวินทร์ หญิงสาวสมัยใหม่ ผู้มีความมั่นใจและเป็นกันเองกับชายหนุ่มทุกคนที่เข้ามาตีสนิท หรือพยายามสานความสัมพันธ์กับหล่อน แต่อรวินทร์กลับไม่เคยเลือกใครให้เข้ามาอยู่ในใจหล่อนจริงๆ สักที กระทั่งได้รู้จักกับ กรีน อัชฌาวัฒน์ ชายหนุ่มผู้มีลักษณะเป็นที่พึงปรารถนาของผู้หญิงหลายๆ คนเขาดูดี ท่าทางสุภาพ มีระเบียบ ทว่าน่าเสียดายที่กรีนมีคนรักอยู่แล้ว คือ สุวลักษณ์ เมตตาพล 

ถึงอย่างนั้น การที่กรีนได้สนิทสนมกับอรวินทร์มากขึ้น เขากลับมีใจไขว้เขว หลงใหลอรวินทร์มากเหลือเกิน แต่เพราะความไม่กล้าทำตามใจตัวเองของกรีน และความไม่มั่นใจในตัวชายหนุ่มของอรวินทร์ ความรู้สึกของเขาและหล่อนจึงไม่อาจก้าวข้ามความเป็นเพื่อนไปได้เลย กระทั่งในที่สุดมันก็ต้องมาถึงทางแยก ซึ่งทั้งคู่ต้องเลือกเสียที


“...เราต้องการสิ่งนั้นมากพอที่จะเสี่ยงหรือเปล่าล่ะ

เสี่ยงกับสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนไป เสี่ยงกับการถูกรังเกียจจากสังคม

เสี่ยงกับศีลธรรม ถ้าเราต้องการมากพอ เราก็ต้องกล้า

และถ้าเรากล้าเราก็จะชนะได้ไม่ยาก...”

- ก่อนจะถึงทางแยก


REVIEW

ก่อนจะถึงทางแยก บทประพันธ์ของ มนันยา นักเขียนหญิงมีชื่อคนหนึ่งของวงการวรรณกรรมไทย เจ้าของบทประพันธ์ ‘ชาวเขื่อน’ ซึ่งนักอ่านหลายคนคงรู้จัก ก่อนจะถึงทางแยกเป็นนวนิยายขนาดสั้นๆ รูปเล่มพ็อกเก็ตบุ๊ค ตัวเรียงพิมพ์ ความยาว 259 หน้า นวนิยายเรื่องนี้คาแร็คเตอร์ตัวละครโดดเด่น เป็นตัวสะท้อนชีวิตและให้แง่คิด ในขณะที่พล็อตเรื่องค่อนข้างธรรมดา เพราะพูดถึงความรู้สึกที่ต้องแอบซ่อนของคนสองคน ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่อาจพัฒนาไปเป็นความรักที่สมหวังได้ 

ก่อนจะถึงทางแยก เปิดเรื่องด้วยบทสรุปของเรื่อง คือ อรวินทร์ ได้รับการ์ดเชิญไปร่วมงานแต่งของ กรีน กับ สุวลักษณ์ แล้วหล่อนก็รำพึงนึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างหล่อนกับเขา ก่อนที่ทั้งคู่จะแยกจากกัน อันเป็นที่มาของชื่อเรื่อง ผู้อ่านเลยไม่ต้องคาดเดาแล้วว่า บทสรุประหว่างชายหญิงคู่นี้ลงเอยกันอย่างไร เนื้อหาในนวนิยายจึงเป็นการเล่าย้อน ตามหาสาเหตุก่อนจะถึงทางแยกนั่นเอง 

อรวินทร์ เป็นหญิงสาวทันสมัย แต่งตัวโก้ ท่าทางการพูดจามั่นใจ หล่อนมีเสน่ห์ต่อชายหนุ่มที่หวังพิชิตหัวใจผู้หญิงเช่นหล่อน ตามธรรมดาหล่อนจึงไม่ค่อยสนใจผู้ชายที่ตามจีบ แม้จะมีคนหนึ่งที่สนิทกับหล่อนที่สุดคือ ระวี แต่อรวินทร์ก็ให้เขาได้แค่ความเป็นเพื่อนเรื่อยมา ผิดกับกรีนที่เข้ามาตีสนิทหล่อน โดยไม่แสดงเจตนาหรือความตั้งใจว่าจะมาจีบ แต่เพราะต้องการชนะใจกรีนหรืออย่างไรไม่ทราบ อรวินทร์กลับรู้สึกพิเศษต่อเขามากกว่าทุกคน ทั้งที่รู้ว่าเขามีแฟนอยู่แล้ว...รึว่าบางทีการได้ครอบครองของที่ ‘ได้มายาก’ ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของมนุษย์ปุถุชน

กรีน ชายหนุ่มที่มองภายนอกดูเพียบพร้อม น่าชื่นชม แต่ตัวตนที่แท้จริงของเขาเป็นคนไม่หนักแน่น โลเล ขี้ขลาด และหวาดเกรงว่าตัวเองจะดูแย่ในสายตาคนอื่น เพราะนิสัยเช่นนี้เอง กรีนจึงตกกะไดพลอยโจนเป็นแฟนกับสุวลักษณ์ น้องสาวของเพื่อนสนิท ทั้งที่เขาไม่ได้มั่นใจด้วยซ้ำว่ารักสุวลักษณ์หรือเปล่า กระทั่งเขาชอบพออรวินทร์ และรู้สึกได้ว่าอรวินทร์ก็ชอบเขา เขาถึงรู้ว่าไม่ได้รักสุวลักษณ์ แต่เพราะความไม่กล้าหาญ ไม่กล้าตัดสินใจของกรีน เขาจึงไม่อาจตัดสัมพันธ์กับสุวลักษณ์ได้ และบางทีเขาก็รู้สึกว่า เขากับอรวินทร์อาจไปกันไม่รอด เลยทำให้เขายิ่งโลเลกับความรู้สึกของตัวเองเข้าไปอีก อรวินทร์เลยพลอยไม่มั่นใจในตัวเขาไปด้วย และอดทนจนถึงจุดจบของความสัมพันธ์ ซึ่งกล่าวไว้ในตอนท้ายเรื่อง ทำนองว่า “สุดท้ายก็แค่นี้เอง”

สุวลักษณ์ หญิงสาวธรรมดา ไม่ได้สะสวยอะไรมาก แต่หล่อนมีความเป็นกุลสตรีตามอุดมคติหญิงไทย ซึ่งตัวหล่อนเอง (รวมทั้งอรวินทร์ด้วย) รู้ดีว่า เป็นลักษณะของผู้หญิงที่กรีนต้องการ คือคอยตามใจเขา ยกย่องเขาให้เป็นที่หนึ่ง ทำตัวให้อ่อนแอกว่าเขา เพื่อให้เขาคอยปกป้องดูแล ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่มีอยู่ในตัวอรวินทร์เลย สุวลักษณ์จึงมั่นใจนักหนาว่า หล่อนไม่มีวันเสียกรีนไป ถึงแม้กรีนจะหลงใหลเสน่ห์ความสวยของอรวินทร์ แต่เอาเข้าจริงๆ เขาคงทนไม่ได้หรอก ถ้าจะเห็นว่าอรวินทร์เก่งและแกร่งกว่าเขา แถมยังสนิทสนมกับผู้ชายมากมาย ไม่ได้เชิดชูเขาเป็นชายเดียว และที่สำคัญสุวลักษณ์รู้ว่า กรีนไม่กล้าบอกเลิกหล่อน เขารอคอยให้หล่อนเป็นคนขอเลิกลาเอง เพราะไม่อยากให้ใครๆ มองว่าเขาทำร้ายจิตใจหล่อน สุวลักษณ์มั่นใจในข้อนี้มาก จึงยอมทนเจ็บปวดบ้างเมื่อกรีนปันใจให้อรวินทร์ แต่หล่อนนี่แหละคือผู้ชนะ คือคนที่ได้ครอบครองเขาในที่สุด 

ระวี ชายหนุ่มขี้เล่น ท่าทางเพลย์บอย ทว่ามีหัวใจดวงเดียวให้แก่อรวินทร์ เขากล้าแสดงออกให้อรวินทร์รู้ว่า 'เขารักหล่อน' และอยากได้หล่อนมาเป็นคู่ชีวิต แต่เพราะเวลานั้นหัวใจอรวินทร์คิดถึงแต่กรีน ระวีจึงทำได้แค่รอคอยอยู่เคียงข้างอรวินทร์เรื่อยมา ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็เห็นแล้วว่า คนอย่างกรีนเลือกรักอรวินทร์ไม่ได้ และอรวินทร์เองก็ได้รู้เช่นกันว่า ระวีรักและหวังดีต่อหล่อนที่สุด แต่หล่อนก็มองข้ามเขาไปเสมอ

เรื่องนี้ผมไม่รู้จะแนะนำเนื้อหายังไงดี แต่เพราะรู้สึกว่าคาแร็คเตอร์ของตัวละครค่อนข้างมีผลต่อเนื้อเรื่องมาก เลยหยิบยกเอาแต่ละตัวมาเล่าให้ฟัง โดยหวังว่าจะช่วยให้หลายคนเห็นภาพรวมและการดำเนินเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้ 

สรุปภาพรวม เรื่องนี้เป็นนวนิยายสะท้อนภาพชีวิต ดำเนินเรื่องเรื่อยๆ ไม่ได้ลุ้นระทึกอะไรมาก แต่ก็ไม่ได้น่าเบื่อ เพราะตัวละครค่อนข้างมีสีสัน สำนวนภาษาดี อ่านแล้วค่อนข้างรู้สึกร่วมไปกับตัวละคร เช่น เราอาจรู้สึกว่าอรวินทร์เป็นผู้หญิงมั่นๆ ชอบวางท่าตลอด ในขณะที่เราก็อาจรำคาญกรีน ซึ่งเป็นผู้ชายใจโลเล ไม่เด็ดขาด บางทีก็เยอะไม่เข้าเรื่อง หรือมองสุวลักษณ์ในแง่ร้ายที่ขัดขวางความรักของพระนาง ทั้งที่หล่อนไม่ได้ระรานใครทั้งนั้น แม้แต่กับอรวินทร์ และเราก็อาจรู้สึกสงสาร เห็นใจระวี คอยเอาใจช่วยเขา อยากให้อรวินทร์รักเขาเสียที 

ใครสนใจก็ลองหามาอ่านได้ครับ บางช่วงบทสนทนาก็เฮฮาดีนะ 

สวัสดีครับ


Jim-793009

14 : 02 : 2016




Create Date : 14 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2559 14:39:48 น.
Counter : 985 Pageviews.

4 comment
บ้านข้างโลงเคียง : ภาคินัย






บ้านข้างโลงเคียง (Neighbor)


บทประพันธ์ : ภาคินัย


ISBN 978-616-7112-24-4  ฉบับปก : สำนักพิมพ์โซฟา, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2556.


รายละเอียด

หากช่วงชีวิตคนเราเปรียบเสมือนฤดูฝน นิชา ก็คงอยู่ในฤดูมรสุม เธอพา ยี่หวา ลูกสาวคนเดียวหนีออกจากบ้าน หลังจากมีปากเสียงกับสามี บ้านเช่าท้ายซอยคือสถานที่ที่เธอเลือก เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่กับลูกสาว นิชาไม่ได้พบเจอเรื่องแปลกประหลาดในบ้านเช่าของตัวเองหรอก แต่เสียงเพลงโหยหวนที่เปิดคลอมากับเสียงร่ำไห้ของหญิงสาวข้างบ้านนั่นแหละ คือปริศนาคาใจ เมื่อแอบมองจากหน้าต่าง เธอเห็นผู้หญิงสวมชุดเจ้าสาวเดินไปเดินมา แล้วตะโกนด่าว่า “อย่าเสือก” 

บ้านเช่า จึงเหมือนเป็นสุสาน ที่ทำให้ยามรัตติกาลชวนขวัญผวา จะข่มตายังไงให้นิทรา ถ้าเพื่อนบ้านยังซ่อนปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่เจอ บ้านคือวิมานของเรา แต่ข้างบ้านอาจเป็นนรกของเขา ใครจะรู้!


อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคนรู้จัก อย่าเผลอทักบ้านข้างเคียง

- บ้านข้างโลงเคียง


REVIEW

บ้านข้างโลงเคียง ของ ภาคินัย เป็นเรื่องแรก (ศพที่ 1) ในนวนิยายสยองขวัญชุด “สิบศพ” ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าวิญญาณที่นอนตายตาไม่หลับ ผมเลือกอ่านแค่เรื่องแรก เพราะติดตามผลงานของภาคินัย ส่วนเรื่องอื่นๆ ในชุดเดียวกัน เขียนโดยนักเขียนอีกหลายคน แต่เพราะเรื่องราวไม่ได้ต่อเนื่องกัน เลยไม่ได้หามาอ่านต่อ 

บ้านข้างโลงเคียงเป็นเรื่องราวของ นิชา หญิงผู้พาลูกสาวชื่อ ยี่หวา หนีหน้าสามีมาเช่าบ้านอยู่ในซอยแห่งหนึ่ง บทบรรยายบอกสภาพค่อนข้างเปลี่ยว บ้านเช่าของนิชาตั้งอยู่เกือบท้ายซอย ขนาบด้วยบ้านสองหลัง หลังหนึ่งคือบ้านของ พี่ภา เพื่อนบ้านผู้แวะมาทักทาย เป็นเพื่อนคุยกับนิชาบ่อยๆ ส่วนอีกหลังเป็นบ้านสภาพค่อนข้างร้าง ในเวลาค่ำคืนก็มักจะมีเสียงโหยหวนของหญิงสาวดังมาจากบ้านหลังนั้น แถมในบ้านยังมีโลงศพสีขาวตั้งอยู่ด้วย

นิชาหนีเสือมาปะจระเข้แท้ๆ เธอพยายามหลบหนีจากสามีใจร้าย แต่แล้วกลับต้องมาเจอเรื่องลี้ลับของบ้านใกล้เรือนเคียง บางวันยี่หวาก็หายตัวไป ไม่สิเธอหาลูกสาวไม่เจอต่างหาก ไม่รู้ว่าลูกหายไปไหน หรืออาจข้ามไปเล่นบ้านข้างๆ ทำให้นิชายิ่งกระวนกระวายใจเข้าไปอีก เพราะละแวกนี้ไม่ได้มีแค่เธอ ลูกสาว และพี่ภา แต่ยังมีอีกหลายคนวนเวียนอยู่รอบข้าง ไม่ยอมไปไหน ทั้งที่ควรไปที่ชอบๆ ได้แล้ว

ปริศนาคาใจนิชา พาให้เธอมุ่งหาความจริง แต่จะคุ้มไหม ถ้าได้รู้ความจริงทั้งหมด ต้องลองหามาอ่านดูนะครับ เล่มเล็กๆ รับรองว่าสนุก ลุ้นระทึกมาก

ความหลากหลายของปม ทำให้เรื่องสนุกและชวนติดตาม แม้นิชาจะเป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่อง ต้องเผชิญกับสิ่งลี้ลับต่างๆ แต่เรากลับอยากรู้เรื่องของตัวละครอื่นมากกว่าตัวนิชาเสียอีก หลายตอนก็ทำเอาอึ้งทึ้งไปเลย ถ้าใครอ่านงานของภาคินัยบ่อยๆ คงพอเดาทางได้บ้าง แต่เรื่องนี้ขอยกนิ้วให้ว่าสนุก ลุ้น และทำให้ขนลุกได้จริงๆ 

ด้านภาษาและการเล่าเรื่องก็ลื่นไหลดี ตบท้ายด้วยข้อคิดสะกิดใจเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว การใช้อารมณ์นำสติ ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน และความรักของแม่ แม้ข้อคิดเหล่านี้จะไม่โดดเด่นนัก แต่ก็แฝงไว้ในเรื่องให้เราได้ตระหนักและไตร่ตรอง

ใครชอบแนวสยองขวัญแกมสืบสวน แนะนำเลยครับ 

สวัสดีครับ


Jim-793009

22 : 01 : 2016




Create Date : 22 มกราคม 2559
Last Update : 14 กรกฎาคม 2559 9:44:15 น.
Counter : 2826 Pageviews.

10 comment
1  2  3  4  5  6  7  8  9  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments