นิยาย สู่ นวนิยาย







นิยาย สู่ นวนิยาย



วันนี้นึกสนุกอยากหยิบเรื่อง “นิยาย” มาเล่าสู่กันฟังครับ ต้องขอออกตัวก่อนว่า ตัวผมเองไม่ได้จบการศึกษามาจากสายวรรณกรรมโดยตรง แต่อาศัยการอ่านและลองค้นคว้าไปเรื่อยๆ เลยอยากเอาสิ่งที่รับรู้มาเล่าดูบ้าง หลายๆ ประเด็นที่จะเล่าให้ฟังนี้ คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างแล้ว ก็ถือว่าเป็นการทบทวนความรู้ไปพร้อมกันอีกสักรอบนะครับ และหากมีข้อมูลใดผิดพลาด ไม่ถูกต้อง ผมก็พร้อมน้อมรับคำแนะนำจากทุกคน หรือถ้าใครมีข้อมูลอยากแชร์เพิ่มเติม ผมก็ยินดียิ่งครับ

ความอยากเล่าครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากได้อ่านเรื่องราวสั้นๆ เกี่ยว “นิยายน้ำเน่า-น้ำดี” ของคุณวินทร์ เลียววาริณ ในเพจเฟซบุ๊คของคุณวินทร์ โดยเขาได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า นิยายน้ำเน่า เอาไว้ให้อ่าน พร้อมแสดงความคิดเห็นถึงมุมมองของตัวเขาเองต่องานเขียนว่า ไม่ได้สนใจประเด็นการแบ่งแยกงานเขียนตระกูลน้ำดี-น้ำเน่า แต่เขาเลือกมองคุณค่าที่ควรได้จากงานเขียนมากกว่า ซึ่งผมได้เก็บมาฝาก (อ่าน) กันในครั้งนี้ด้วย...


บ้านเรานิยมแบ่งแยกงานเขียนโดยใช้คำ 'น้ำเน่า' กับ 'น้ำดี'

ผู้บัญญัติคำว่า ‘น้ำเน่า’ เป็นคนแรกน่าจะเป็นอาจารย์เปลื้อง ณ นคร

ความหมายของท่านคือ อะไรที่จำเจไม่เปลี่ยนแปลง (เหมือนน้ำที่ขังนิ่ง) ก็คือน้ำเน่า

แต่ความหมายที่ชาวเรานิยมใช้ก็คือ นิยายน้ำเน่าคือนิยายที่เป็นเรื่องแย่งชิงมรดก

พ่อแง่แม่งอน อะไรทำนองนั้น

ผมเห็นด้วยกับความหมายเดิมของอาจารย์เปลื้อง

ในความเห็นของผม อะไรที่ซ้ำซากก็คือน้ำเน่า ไม่ว่าดีแค่ไหน มันก็เป็นน้ำเน่า

หากทุกคนในโลกเขียนวรรณกรรมระดับรางวัลโนเบลซ้ำ ๆ กัน มันก็คือน้ำเน่า!

ผมเองไม่ค่อยสนใจกับการแบ่งตระกูลน้ำดีน้ำเน่า หรือวรรณกรรมดีกับวรรณกรรมขยะเท่าไหร่

เพราะมันเป็นเรื่องอัตวิสัย

ผมเองได้อะไรมากมายจาก ‘นิยายน้ำเน่า’ ที่เคยอ่านตอนเด็ก

คุณค่าของงานจึงขึ้นกับผู้อ่านด้วยในส่วนหนึ่ง

แต่โดยภาพรวมแล้ว งานที่ดีคืองานที่มีองค์ประกอบศิลปะลงตัว

และถ้ามีเนื้อหาที่ทำให้สมองเติบโตขึ้นอีกหลายเซลล์ ก็ยิ่งดี

ในความเห็นของผม ไม่มีเรื่องน้ำดีหรือน้ำเน่า มีแต่เขียนดีกับเขียนไม่ดี

- วินทร์ เลียววาริณ

Cr. facebook.com/winlyovarin


ก่อนจะย้อนกลับมาขยายความเรื่อง “นิยายน้ำเน่า” ให้ฟังเพิ่มเติม ผมขอเริ่มจากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคำว่า “นิยาย” กันก่อน หากพูดถึงนิยาย ทุกคนน่าจะเห็นภาพแรกตรงกันว่า คืองานเขียนหรือบทประพันธ์ที่แต่งขึ้นเป็นเรื่องยาว โดยมักอิงกับชีวิตของผู้คนจริงๆ หรือสร้างโลกในจินตนาการขึ้นมาใหม่ และมีความหลากหลายทางอารมณ์ ความรู้สึก ให้ผู้อ่านได้ร่วมสัมผัส 

แต่จริงๆ แล้ว คำว่า “นิยาย” (น.) หมายถึง เรื่องที่เล่าสืบต่อกันมา คนไทยเราน่าจะยืมคำนี้มาจากภาษาเขมรว่า “นิเยย" (និយាយ) แปลว่า พูด, กล่าว จะเห็นว่ารูปศัพท์เขียนเหมือนกัน แต่ออกเสียงต่างกันตามแต่ภาษา และแน่นอนว่านิยายในสมัยก่อนมักเป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาแบบมุขปาฐะ (เล่ากันปากต่อปาก) เป็นหลัก โดยนิยายจะมีความสมจริง รายละเอียด และความหนักแน่นลึกซึ้งของเรื่องราวมากกว่านิทาน เชื่อหรือไม่ว่า วรรณคดีไทยเรื่องยาว เช่น รามเกียรติ์ สามก๊ก ราชาธิราช อิเหนา พระอภัยมณี ขุนช้าง-ขุนแผน ฯลฯ เหล่านี้จัดเป็นนิยายรูปแบบหนึ่ง (แต่ไม่ใช่นิยายทุกเรื่องจะเป็นวรรณคดี) ซึ่งมีความล้ำขึ้นมาอีกตรงที่ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเท่านั้น แต่มีการเรียงร้อยเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ด้วย

ก่อนที่คนไทยจะรู้จักนิยายแบบที่เราคุ้นกันในปัจจุบัน ผมเคยสงสัยว่า คนไทยสมัยก่อนจะไปหานิยายจากไหนมาอ่าน อีกทั้งผู้คนส่วนมากก็ไม่ได้รู้หนังสือเหมือนกันทุกคน มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่อ่านออกเขียนได้ ผมจึงเชื่อว่า คนไทยระดับสามัญชนส่วนใหญ่ น่าจะมีโอกาสรู้จักนิยายเรื่องต่างๆ ผ่านการเล่าจากผู้รู้ อาจเป็นผู้รู้ที่เคยได้อ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ มาก่อน หรือเป็นผู้รู้ที่เคยได้ฟังเรื่องนั้นๆ แล้วเอามาเล่าต่อ ส่วนอีกทาง คือ การจดจำเรื่องราวจากละครที่ถูกหยิบมาแสดงให้คนดู อย่างโขน ละคร ลิเก ฯลฯ แล้วเอามาเล่าสู่กันฟัง

แล้วคนไทยรู้จัก “นิยายแบบที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน” ตั้งแต่เมื่อไร ?

เท่าที่เคยได้ลองค้นคว้า คนไทยเริ่มรู้จักนิยายแบบที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน มาตั้งแต่ช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ซึ่งเราเรียกกันว่า นวนิยาย หมายถึง นิยายแบบใหม่ (นว แปลว่า ใหม่) เป็นการแปลความหมายจากคำว่า Novel ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า "ของใหม่" เช่นกัน นวนิยายนี่เอง คือรูปแบบนิยายที่เป็นแบบแผนการแต่งร้อยแก้วเรื่องยาวแบบตะวันตก นับเป็นวรรณกรรมบันเทิงคดีร้อยแก้วขนาดยาวที่มีตัวละคร โครงเรื่อง เหตุการณ์ และสถานที่ ซึ่งเนื้อเรื่องมีความสมจริง มีบทพูดเจรจา บทพรรณนา และบทบรรยายที่ให้อรรถรส มีทั้งสาระและความบันเทิง แต่ถึงอย่างนั้น คนไทยก็ยังนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “นิยาย” เป็นภาษาปากอยู่ตามเดิม ไม่ได้นิยมเรียกชื่อเต็มๆ ว่า "นวนิยาย" สักเท่าไร



ความพยาบาท (Vendetta)

นวนิยายแปลเล่มแรกในวงการวรรณกรรมไทย โดย แม่วัน

ปัจจุบัน มีฉบับแปลสมบูรณ์ 

โดย ว.วินิจฉันกุล


ในยุคแรกนั้น คนไทยเริ่มรับนวนิยายของตะวันตกเข้ามาก่อน เรายังไม่ได้มีนักเขียนนวนิยายเป็นของตัวเอง แต่เรารู้จักรูปแบบนวนิยายจากงานแปล เชื่อกันว่า “ความพยาบาท” (Vendetta) ของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) ฉบับแปลภาษาไทยโดย แม่วัน (พระยาสุรินทราชา) น่าจะเป็นนวนิยายแปลเล่มแรกของวงการ ตีพิมพ์ในช่วงปี 2445 จนทำให้เกิดกระแสความนิยมอ่านนวนิยายแผ่ขยายออกไป โดยเฉพาะนวนิยายแปล จนมีการแปลเรื่องอื่นๆ ตามมา

ชื่อของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) คงกลับมาคุ้นหูนักอ่านนวนิยายยุคใหม่อีกครั้ง ด้วยเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ หลายคนคงได้ยินกระแสละคร “พิษสวาท” ที่มีนักวิชาการท่านหนึ่งออกมาบอกว่า ผู้เขียนเรื่องพิษสวาทได้นำเอาเค้าโครงเรื่อง (พล็อต) มาจากนวนิยายเรื่อง Ziska ของ มารี คอเรลลี เป็นนวนิยายอังกฤษ แต่งขึ้นราวพุทธศักราช 2429 และเรื่องนี้ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมานานแล้ว ใช้ชื่อว่า “กงเกวียน” แปลโดย อมราวดี นักแปลรุ่นเก่าและเก๋าคนหนึ่งแห่งวงการวรรณกรรมไทย ผมคิดว่าถ้าพล็อตจะซ้ำก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเนื้อแท้ของนวนิยายทั่วโลกมีพล็อตอยู่ไม่กี่แบบ แต่สิ่งที่ผมเห็นจากกระแสครั้งนี้ คือสะท้อนให้เห็นถึงแรงบันดาลใจและอิทธิพลของนวนิยายตะวันตก ที่มีต่อนักเขียนนวนิยายไทยในยุคหนึ่ง



มารี คอเรลลี

(1 พฤษภาคม ค.ศ.1855 – 21 เมษายน ค.ศ.1924)

นักเขียนหญิงแห่งยุควิกตอเรียนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอังกฤษ 

ไปจนถึงอเมริกา และเอเชีย

นวนิยายของเธอเป็นที่แพร่หลายมากตลอดช่วงปลายรัชสมัยวิกตอเรียน

อีกทั้งได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลก


เมืองไทยเราน่าจะเริ่มมีนักเขียนนวนิยายเป็นของตัวเองบ้างแล้ว นับแต่นวนิยายแบบตะวันตกนิยมกันไปทั่วเมือง แต่ยุคที่นวนิยายไทยมีวิวัฒนาการและเฟื่องฟูอย่างเป็นล่ำเป็นสัน น่าจะเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีเรื่องแต่งให้อ่านตามนิตยสาร-วารสารมากมาย และเมื่อคิดถึงนักเขียนนวนิยายไทยยุคนั้น ส่วนตัวแล้วผมนึกถึง ดอกไม้สด ศรีบูรพา และ ม.จ.อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ เรียกได้ว่าเป็นนักเขียนรุ่นบุกเบิกของวงการนวนิยายไทย ทั้งสามท่านนี้แทบไม่ต้องบอกว่าเขียนเรื่องอะไรมาบ้าง เพียงแต่เอ่ยชื่อนักเขียน เชื่อว่าแฟนๆ นักอ่านน่าจะนึกชื่อหนังสือของพวกท่านออก อาจสัก 1-2 เรื่องเป็นอย่างน้อย เช่น ศรีบูรพา เขียนเรื่อง “ลูกผู้ชาย” ราวปี 2471 ต่อมาในปี 2472 ดอกไม้สด ก็แต่งเรื่อง “ศัตรูของเจ้าหล่อน” ส่วนม.จ.อากาศดำเกิง แต่งเรื่อง “ละครแห่งชีวิต” ทั้งสามท่านได้รับการยกย่องมากทีเดียวว่า เป็นต้นแบบการริเริ่มขนบการเขียนนวนิยายไทยที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

แล้วคำว่า “นิยายน้ำเน่า” เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?

นิยายน้ำเน่า จากที่ผมรู้มาไม่ผิดจากที่คุณวินทร์กล่าวไว้ในข้างต้น คือเป็นคำกล่าวของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร นักวิชาการด้านภาษาไทย คำว่า “นิยายน้ำเน่า” สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ราวๆ ปี 2500 เป็นต้นมา) ซึ่งยุคนั้นมีการปิดกั้นสื่อและวงการวรรณกรรม ไม่ให้เขียนเรื่องการเมือง หรือเสียดสีการเมือง นักเขียนนวนิยายยุคนั้นเลยนิยมเขียนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชิงรักหักสวาท พ่อแง่แม่งอน ความรักต่างชนชั้น แย่งชิงมรดก ฯลฯ แบบที่ทุกคนคุ้นเคยและรู้จักกันดี การที่เขียนนวนิยายวนๆ จำเจอยู่แต่ในพล็อตรูปแบบนี้ จึงเปรียบได้กับ “น้ำเน่า” ที่ขังนิ่งอยู่นั่นเอง

จะเห็นว่าอาจารย์เปลื้อง ท่านไม่ได้ใช้คำว่า นิยายน้ำเน่า ในความหมายว่าเป็นนิยายไร้สาระ ไม่มีคุณค่า แต่ท่านต้องการสื่อถึงความจำเจของพล็อตเรื่อง อีกทั้งพล็อตสไตล์นี้ถูกผลิตซ้ำๆ แถมยังนิยมนำไปสร้างหนังและละครไทยก็มากมาย เลยถูกประทับตราติดตัวไปด้วยในฐานะ “นิยายน้ำเน่า” หรือ “ละครน้ำเน่า” ที่เพียงแต่บอกว่า “น้ำเน่า” คนก็เดาออกเลยว่าเรื่องราวมาทำนองไหน ต่อมาได้มีการบัญญัติคำว่า “ละครน้ำดี” “นิยายน้ำดี” ขึ้นมาเป็นคู่เปรียบ จึงทำให้ความหมายของนิยายน้ำเน่าเปลี่ยนแปลงไปเป็น “นิยายไร้สาระ” เสียอย่างนั้น

ยอมรับครับว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดนิยายน้ำเน่า อาจเพราะดูละครไทยมากไปหน่อยหรือเปล่าก็ไม่รู้ ถึงได้นิยมอ่านเรื่องทำนองนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องลองเลือกสรรสักหน่อยครับ เพราะสิ่งหนึ่งที่นักอ่านควรได้รับจากการอ่านนวนิยาย คือ คุณค่าที่ผู้เขียนได้สอดแทรกให้เราได้อ่าน หรืออาจสะท้อนให้เห็นผ่านเรื่องราว มีข้อคิดจรรโลงใจ เตือนใจ หากนิยายเรื่องใดไม่ได้แฝงสิ่งเหล่านี้ไว้เลย ก็น่าคิดครับว่า “เราจะอ่านเอาอะไร” นอกจากความบันเทิงเริงอารมณ์

พูดถึงตรงนี้แล้ว ทำให้ผมนึกถึงพระบรมราโชวาทของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแก่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ณ พระตำนักจิตรดารโหฐาน วันศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2515 ความว่า...


“...นักเขียน นักประพันธ์ งานสำคัญก็คือแสดงความคิดของตนออกมาเป็นเรื่องชีวิตหรือเรื่องแต่งขึ้นมา เพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์ คือความรู้บ้าง บันเทิงบ้าง นักแสดงความคิดสำคัญมาก เพราะว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตของมวลมนุษย์ อาจทำให้เกิดความคล้อยตามไป และตัวท่านเขียนดีก็ยิ่งคล้อยตามกันมาก ฉะนั้น นักประพันธ์ต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะท่านเป็นผู้ปั้นความคิดและความบริสุทธิ์ในความคิดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังบทความกลั่นกรองไว้ในสมอง ว่าสิ่งที่จะเขียนออกมาจะไม่แสลง ไม่ทำลายความคิดของประชากร ไม่ทำลายผู้อื่น และตนเอง คือมีเสรีภาพในการเขียนอย่างเต็มที่ ในขอบเขตของศีลธรรม...”


ขอให้ทุกคนมีความสุขกับการอ่านนวนิยายนะครับ

สวัสดีครับ


Jim-793009

24 : 11 : 2016




Create Date : 24 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 16 กรกฎาคม 2560 18:35:50 น.
Counter : 4158 Pageviews.

2 comment
ชวนอ่าน การพิมพ์ในโลก





ชวนอ่าน “การพิมพ์ในโลก”


หลายครั้งที่การค้นหาหนังสือเก่าๆ มาอ่านเล่น ก็ทำให้เราได้ค้นพบขุมทรัพย์ความรู้อย่างคาดไม่ถึง เช่นเดียวกับเรื่องที่ผมจะเอามาฝากอ่านกันวันนี้ เป็นเรื่องราวว่าด้วย “การพิมพ์ในโลก” ฟังดูอาจเป็นเรื่องที่ใครๆ เขาก็รู้กันทั่วแล้ว แต่ความพิเศษที่ได้จากการอ่านเรื่องนี้ คือ เขาบอกเล่าถึงประวัติการทำสมุดหนังสือของไทยโบราณ ก่อนที่จะพัฒนามาสู่ยุคแท่นพิมพ์ ซึ่งเขาให้รายละเอียดการจารใบลาน การทำสมุดข่อยไว้ค่อนข้างน่าชื่นชม อ่านได้เข้าใจง่าย และที่สำคัญคือ เรื่องนี้ถูกพิมพ์ลงในหนังสือ “ดรุณศึกษา ชั้นป.4” 

น่าดีใจที่เด็กๆ ยุคหนึ่งซึ่งมีโอกาสได้เรียนตำราเล่มนี้ จะได้รับรู้สาระความรู้เหล่านี้ไว้ เพราะหนังสือเรียนสมัยนี้มักเป็นเรื่องแต่งเสียเยอะ แต่เรื่องแนวสารคดีเช่นนี้ก็นับว่าหาอ่านในหนังสือของเด็กได้ยากเต็มทีแล้ว 

ข้อดีอีกอย่างของหนังสือเล่มนี้ คือ เขาใช้วิธีพิมพ์แบบวรรคคำ เพื่อให้เด็กค่อยๆ อ่านไปทีละคำๆ จดจำคำต่างๆ ได้ดี และน่าจะง่ายต่อการฝึกอ่าน ไม่ใช่การวางตัวอักษรเป็นพืดแบบที่ให้ผู้ใหญ่อ่านกัน นี่อาจเป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยให้เด็กอ่านหนังสือได้ดีขึ้น จึงน่าจะถูกนำมากลับมาลองใช้กันดูอีกสักครั้ง แต่ในที่นี้ผมจะนำมาพิมพ์เรียงกันแบบปกติ เลยอยากชวนให้ลองอ่านกันดูนะครับ



“นายไม่อ่านหนังสือ

นายจะรู้อะไร”

- ศ.ศิลป์ พีระศรี



บทที่ ๑๒ การพิมพ์ในโลก


เจ้าเอ๋ยเจ้านักเรียน เจ้าเคยได้คิดบ้างหรือไม่ว่า ถ้านักเรียนครั้งโบราณ เขาได้มีหนังสือเรียนที่พิมพ์อย่างงดงาม อ่านชัดเจนเหมือนหนังสือที่เจ้าอ่านอยู่นี่แล้ว เขาจะดีใจสักเพียงไร 

นี่แนะเราจะบอกให้ คนครั้งก่อนโน้นเขายังพิมพ์หนังสือไม่เป็นเหมือนอย่างทุกวันนี้ หนังสือของเขาต้องเขียนด้วยมือทั้งนั้น

ไทยเราแต่โบราณมา มีหนังสือที่เขียนด้วยมือเป็นสองชนิด ชนิดหนึ่งจารลงในใบลาน และอีกชนิดหนึ่งเขียนลงในสมุดข่อย หนังสือใบลานนั้น คือเขาเอาใบลานมาตัดให้สม่ำเสมอกันดี ยาวประมาณสักศอกหนึ่งและกว่าศอกบ้าง กว้างประมาณสักเท่าฝ่ามือหนึ่งบ้าง หย่อนกว่าบ้าง แล้วเขาเอาเหล็กมาตอกลงในไม้ที่ทำเป็นรูปคล้ายดินสอโตเล็กพอเหมาะแก่มือผู้เขียน เรียกว่า เหล็กจาร ใช้ขีดลงไปในเนื้อใบลาน เป็นรอยตัวหนังสือแต่เห็นไม่ชัด เขาจึงเอาเขม่ามาละลายกับน้ำมันยางทาใบลานที่จารตัวหนังสือ แล้วลบถูด้วยทรายซึ่งต้องตากไว้ที่แดดจนร้อน ให้หมดน้ำมันยางที่ทาไว้ ทีนี้ก็คงเห็นตัวหนังสือชัดเจนดี แล้วเขาเอาใบลานเหล่านั้นมาลำดับกันเข้ามากบ้างน้อยบ้างตามแต่เรื่อง เรียกว่า หนังสือผูกหนึ่ง หลายผูกรวมกันเข้าเป็นคัมภีร์หนึ่ง คือ หนังสือชุดหนึ่งของโบราณทำมาดังนี้ 

ส่วนหนังสือที่เรียกว่า สมุดข่อย นั้นเขาเอาเปลือกข่อยมาทำเป็นกระดาษ สีดำบ้างขาวบ้าง ใบหนาๆ เท่ากับกระดาษปกสมุดแข็งที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ พับไปพับมาคล้ายผ้าจีบเป็นพืดติดเป็นผืนเดียวกันไปตลอดเล่ม เวลาเขาจะอ่านเขาก็พลิกออกทีละหน้าๆ อย่างเดียวกับคลี่ผ้าจีบออกทีละกลีบฉะนั้น สมุดข่อยนี้เขาใช้เขียนกันหลายอย่าง อย่างหนึ่งเขียนด้วย หรดาล คือยางสีเหลืองๆ ปนกันกับยางมะขวิด และอีกอย่างหนึ่งเขาใช้เขียนด้วยฝุ่นขาวละลายน้ำคล้ายดินสอพอง แล้วเขาเอาปากกาไม้จิ้มลงไปในน้ำฝุ่นขาวนั้น อย่างเดียวกับที่เขาเอาปากกาจิ้มหมึกฉะนั้น ถ้าสมุดสีขาวเขาก็เขียนด้วยหมึก

นี่แหละ หนังสือของนักเรียนไทยครั้งโบราณ เจ้าลองนึกดูทีหรือว่า ถ้าเจ้าได้หนังสือเรียน แต่ที่ขีดเขียนเอาเองแล้วจะน่าอ่านเหมือนกับหนังสือที่เจ้ากำลังถืออยู่นี้หรือไม่ ? ข้อต้นที่จะรู้เห็นได้ง่ายๆ ก็คือ ถ้าผู้เขียนลายมืองามก็น่าอ่านหน่อย แต่ถ้าลายมือไม่งามก็อ่านไม่ค่อยออก เลยไม่อยากอ่านทีเดียว 

ส่วนนักเรียนเมืองนอกครั้งโบราณก็ลำบากแสนเข็ญเหมือนกัน ซ้ำใบลานในเมืองของเขาก็ไม่มี เขาจึงต้องหันเข้าหาหนังแพะและหนังแกะ เอามาซักฟอกให้สะอาดใช้แทนแผ่นกระดาษและใบลาน หนังสือทำด้วยหนังสัตว์นี้ เจ้านึกดูบ้างเถอะว่าถ้าหนังสือนั้นมีจำนวนหน้าเท่ากับเล่มที่เจ้ากำลังเรียนอยู่นี้แล้ว เขาจะต้องใช้หนังแพะหนังแกะสักกี่สิบตัวจึงจะพอ ซ้ำหนังสือที่ต้องเขียนด้วยมือเหล่านี้ กว่าจะเขียนให้จบเล่มหนึ่งๆ ก็ต้องนับเวลาตั้งปีตั้งศกทีเดียว จะไม่แพงอย่างไรได้ ก็ต้องแพงเป็นธรรมดาอยู่เอง หนังสือเรียนที่ซื้อหากันในสมัยนี้ ราคาก็ไม่แพงนัก แต่โบราณนั้น แต่ละเล่มเขาต้องซื้อหากันเป็นราคาตั้งหลายๆ ชั่ง เพราะฉะนั้นคนสมัยโบราณจะซื้อหนังสือเล่าเรียนได้ก็แต่พวกเศรษฐีที่มั่งมีศรีสุขเท่านั้น คนจนไม่มีทุนจะซื้อหนังสือ จึงไม่สามารถจะเล่าเรียนได้ และเล่ากันว่านักเรียนในปัจจุบันนี้ มีหนังสืออ่านหนังสือเรียน มากกว่ากษัตริย์ครั้งโบราณบางพระองค์เสียอีก 

สมัยโบราณนั้น หนังสือและตำราเรียนต่างๆ ก็ตกอยู่แก่วัดวาอารามทั้งนั้น ถ้าหากว่าไม่ได้มีพระสงฆ์และนักบวชเอาธุระรวบรวมคัดลอกดูแลรักษาสรรพตำรับตำราโบราณสืบๆ กันมาเป็นลำดับแล้ว ป่านนี้ศิลปวิทยาความรู้ของปู่ย่าตาทวดแต่ครั้งบรมโบราณก็จะเสื่อมสูญเสียนานแล้ว อาศัยพระสงฆ์การศึกษาจึงได้เจริญคงอยู่ไม่สาบสูญ 

อนึ่ง ใช่ว่าท่านพระสงฆ์เหล่านั้น จะเป็นแต่เพียงคัดลอกตำราเรื่อยอยู่อย่างเดียวก็หามิได้ ท่านยังอุตส่าห์ค้นหาวิธีคัดลอกที่รวดเร็วกว่าการเขียนด้วยมืออยู่เสมอด้วย ขั้นแรกที่ท่านจะคิดค้นหาวิธีได้ก็คือ ท่านเอากระดานมาแผ่นหนึ่งแกะเป็นตัวหนังสือให้เต็มทั้งหน้ากระดานนั้นแล้วเอาหมึกเท และเอากระดาษทับเอาไว้ตัวหนังสือที่แกะพิมพ์ไว้ในไม้กระดานนั้น ก็เลยติดในหน้ากระดาษอ่านได้ชัดเจน จะอัดพิมพ์ซ้ำๆ สักกี่แผ่นๆ ก็ได้ แล้วต่อไปถ้าจะพิมพ์ให้เป็นเล่มทีเดียว ก็ต้องแกะและพิมพ์หน้าสองหน้าสามตามลำดับต่อๆ กันไปทุกหน้ากว่าที่จะครบเล่ม วิธีพิมพ์ชนิดนี้ควรนับว่าเป็นวิธีที่ดีอยู่โดยพิมพ์แล้วอ่านง่าย และพิมพ์ซ้ำๆ หลายๆ ฉบับก็ได้ ทุกวันนี้ตามโรงพิมพ์จีนและญวนเขาก็คงใช้อยู่เสมอ แต่กระนั้นก็มีที่เสียอยู่อย่างหนึ่ง เพราะแกะช้ากับใช้พิมพ์ได้เพียงแต่เรื่องหนึ่งเรื่องเดียวเท่านั้น 

ภายหลังมา เมื่อลุคริสต์ศักราช ๑๔๔๐ (พ.ศ.๑๙๘๓) ที่เมืองมายังส์ในประเทศเยอรมนี มีศิษย์วัดคนหนึ่งชื่อ คูแตงแบรค์ คิดหาอุบายแก้ไขวิธีพิมพ์หนังสือที่พระสงฆ์ใช้อยู่ก่อนนั้นให้เจริญบริบูรณ์ขึ้น คือท่านเอาตะกั่วมาหล่อเป็นตัวหนังสือ เฉพาะเป็นตัวๆ แยกไม่ให้ติดกันหล่อเอาอย่างละหลายร้อยตัว แล้วก็หยิบเอามาเรียงกันทีละตัวตามตามใจความ พอเรียงได้หน้าหนึ่งก็เอาขึ้นแท่นพิมพ์ทาหมึก แล้วเอากระดาษทับไว้อัดให้แน่น ตัวหนังสือก็จะติดอยู่ในหน้ากระดาษดังนี้สักกี่แผ่นๆ ก็ได้แล้วแต่ความประสงค์ พอพิมพ์เสร็จแล้วก็รื้อเอาตัวหนังสือนั้นออกแล้วก็เอามาจับเรียงขึ้นใหม่เป็นเรื่องอื่นต่อไป วิธีพิมพ์ใหม่นี้ดีกว่าวิธีต้นเป็นอันมาก ในชั้นแรกนิยมใช้ก็แต่พระสงฆ์ สำหรับพิมพ์พระคัมภีร์ในศาสนา แต่ไม่ช้าคฤหัสถ์ก็เอาอย่างบ้าง จนได้แผ่ไพศาลไปในนานาประเทศ และทุกวันนี้ไม่ว่าชาติใดภาษาใดก็ใช้วิธีพิมพ์อย่างนี้ทั้งนั้น



เก็บมาฝาก(อ่าน) จาก…

หนังสือ ดรุณศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4. พิมพ์ครั้งที่ 43. ไทยวัฒนาพินิช : 2556.


Jim-793009

26 : 09 : 2016 







Create Date : 26 กันยายน 2559
Last Update : 26 กรกฎาคม 2560 22:05:39 น.
Counter : 1470 Pageviews.

2 comment
อ่านเยอะให้มีความสุข





อ่านเยอะ...ให้มีความสุข


สำหรับนักอ่านทุกคน “การอ่าน” คือความสุขเสมอ

แต่เราเคยตั้งคำถามหรือเป้าหมายกับตัวเองบ้างหรือยัง ?

ว่าเราควรต้องอ่านอะไรบ้าง อ่านเพื่ออะไร

แล้วจะอ่านให้ได้มากสุดเท่าไร

หลายคนอาจมีเป้าหมายแล้ว แต่หลายคนก็อาจยังไม่เคยตั้งเป้าไว้เลย

วันนี้ผมไปเจอบทความดีๆ มาหนึ่งบทความ

ซึ่งแนะนำ ๑๐ วิธีที่จะทำให้เราอ่านหนังสือได้มากขึ้น หลากหลายขึ้น และมีความสุขอย่างแน่นอน

บทความนี้แปลและดัดแปลงมาจากบทความ

“10 Tips to Read More and Read Better” ของ Tim Challies

ใครสนใจติดตามเข้าไปอ่านฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ “challies.com”

หวังว่าบทความที่ยกมาแนะนำกันวันนี้ จะมีประโยชน์ต่อเพื่อนๆ นัก (อยาก) อ่านทุกคนนะครับ



"I read my eyes out and can't read half enough

The more one reads the more one sees we have to read."

- John Adams


--- ฉันจดจ่อกับการอ่านหนังสือ และอ่านไม่เคยพอ

ยิ่งคนเราอ่านหนังสือมากเท่าไร เราก็ยิ่งมองเห็นว่า เราจำเป็นต้องอ่านมากเท่านั้น ---



๑. อ่าน

แน่นอนอยู่แล้วว่าการจะอ่านให้ได้มากและมีความสุขก็ต้องเริ่มจากการอ่านก่อน

ถ้าคุณอยากอ่านแต่ดันรู้ตัวว่า “การอ่านไม่ใช่สิ่งน่าอภิรมย์ที่สุดในชีวิต”

การบังคับตัวเองในช่วงแรกๆ ถือว่าจำเป็น ลองตั้งเป้าหมายว่าสัปดาห์นี้ หรือเดือนนี้จะอ่านกี่เล่มดี

การเลือกหนังสือที่มีหัวข้อน่าสนใจไปจนถึงปกที่ดึงดูดสายตาก็จะช่วยได้อีกทางหนึ่ง

เพราะปกสวยๆ ย่อมเรียกร้องให้เราเปิดอ่านข้างในอยู่ตลอดเวลา


๒. อ่านให้กว้าง

เหตุผลหนึ่งที่คนอ่านหนังสือน้อยเพราะอ่านไม่กว้างพอ

ไม่ว่าคุณจะสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากแค่ไหน สักวันมันก็ต้องหมดความท้าทายอยู่ดี

ดังนั้น “จึงควรอ่านให้กว้างขวาง” ครอบคลุมหัวข้อหลากหลาย เรื่องจริง เรื่องแต่ง

ศาสนา ชีววิทยา เหตุการณ์ปัจจุบัน ไปจนถึงประวัติศาสตร์

มันสำคัญมากที่คุณจะโฟกัสเรื่องที่สนใจจริงๆ

แต่การเพิ่มความหลากหลายให้อาหารสมองก็สำคัญไม่แพ้กัน


๓. รู้จักเลือกหนังสือ

คล้ายๆ กับข้อข้างบน คือ “เลือกอ่านหนังสืออย่างตั้งใจ”

พยายามแบ่งหนังสือที่คุณคิดว่าตัวเองควรอ่านออกเป็นประเภทๆ

แต่ต้องตรวจสอบตัวเองว่าอ่านครบทุกประเภทอย่างสม่ำเสมอตามที่แบ่งไว้หรือไม่

ในหนังสือแต่ละประเภทที่แบ่งไว้ คุณควรวางแผนว่าอ่านเล่มนี้จบจะอ่านเล่มไหนต่อด้วย

เพราะการทำแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้คุณอ่านเล่มเก่าจบเร็วขึ้นไปอีก


๔. ตอบโต้กับนักเขียน

หากมีคำถามที่ไม่เข้าใจนักเขียน “คุณอาจจะโน้ตไว้”

และหากอ่านจบแล้วยังไม่ได้คำตอบที่น่าพึงพอใจก็ควรอ่านอีกรอบ

หรือแม้แต่ติดต่อนักเขียนโดยตรงเลยก็ได้


๕. รู้ทันเล่ห์กลหนังสือ

หนังสือมีพลังในด้านบวกเยอะ แต่ก็สามารถกระตุ้นให้ผู้อ่านทำสิ่งเลวร้ายได้เช่นกัน

“คนมากมายชีวิตเปลี่ยนเพราะหนังสือ และอีกมากที่ชีวิตพังเพราะหนังสือ”

เพราะฉะนั้น คุณต้องอ่านอย่างรู้เท่าทันมัน โดยเฉพาะหนังสือที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม

ลองหาข้อมูลอ้างอิงเปรียบเทียบกับสิ่งที่อยู่ในหนังสือเสมอ

อย่างไรเสีย คุณก็ไม่ควรกลัวการอ่านหนังสือแย่ๆ ไปเลย

แต่ควรอ่านมันอย่างมีเหตุผลมากกว่า


๖. อ่านหนังสือหนัก

การอ่านหนังสือเล่มหนาเตอะ หรือหนังสือที่มีหลายตอนต่อกันดูเป็นเรื่องน่ากลัว

แต่จงจำไว้ว่า “คุณจะเติบโตได้” ก็เพราะหนังสือพวกนี้นี่แหละ

ลองหาหนังสือหนาๆ เนื้อหาหนักๆ อย่างเชิงเทววิทยามาอ่านเป็นระยะๆ

นานเข้าคุณจะเริ่มเห็นผลเองว่ามันมีประโยชน์


๗. อ่านหนังสือเบา

หนังสือเล่มหนา คือของโปรดสำหรับนักอ่านที่เอาจริงเอาจัง

แต่การอ่านหนังสือเนื้อหาเบาก็สำคัญมากเช่นกัน

หลังจากอ่านหนังสือเนื้อหาหนักได้ 2-3 เล่มแล้ว คุณก็ลองหานิยายเบาสมอง

หรืออะไรก็ได้ที่ไม่มีผลต่อชีวิตมาอ่านคั่นเล็กน้อย

“เพราะมันจะทำให้คุณสดชื่นอีกครั้ง และพร้อมสำหรับหนังสือหนักเล่มต่อไป”


๘. อ่านหนังสือใหม่

ติดตามเทรนด์หนังสือเป็นประจำ

เล่มไหนมาใหม่ เล่มไหนกำลังดัง และคนใกล้ตัวกำลังอ่านอะไรกันบ้าง

“การอ่านหนังสือขายดีทำให้คุณได้พยายามทำความเข้าใจ ว่าทำไมผู้คนในสังคมถึงชื่นชอบ”

ยิ่งไปกว่านั้น คุณยังสามารถเอาเรื่องที่อ่านไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นได้อีกด้วย


๙. อ่านหนังสือเก่า

กฎเหล็กข้อหนึ่ง คือ “คุณต้องไม่อ่านแค่เฉพาะหนังสือใหม่”

แม้จะต้องตามเทรนด์หนังสือตลอด

แต่ก็อย่าปล่อยให้ตัวเองอ่านหนังสือใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่อ่านหนังสือเก่าคั่นเลย

ซึ่งหนังสือเก่าในที่นี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเล่มดังหรือคลาสสิกอะไรหรือเก่าแค่ไหน

เพราะหนังสือทุกยุคมีเอกลักษณ์ของตัวเอง

และประวัติศาสตร์ย่อมทำให้เข้าใจอนาคตได้ดีขึ้น


๑๐. อ่านตามไอดอล

หาบุคคลตัวอย่างที่เป็นแรงบันดาลใจของคุณ

“ลองสังเกตว่าเขาหรือเธออ่านอะไรแล้วอ่านตาม”

โดยเฉพาะหนังสือที่คุณคิดว่ามีอิทธิพล จนทำให้เขาหรือเธอกลายเป็นไอดอลของคุณได้ในวันนี้

หากไม่แน่ใจ การถามตรงๆ และพูดคุยกับพวกเขาเมื่อมีโอกาส

ก็ดูจะเป็นวิธีที่น่าสนใจไม่น้อยเช่นกัน



เก็บมาฝาก (อ่าน) จาก…

บทความ อ่านได้เยอะและอ่านอย่างมีความสุข. ของ TK park อุทยานการเรียนรู้

Cr. tkpark.or.th



      Jim-793009

      04 : 06 : 2016




Create Date : 04 มิถุนายน 2559
Last Update : 6 มิถุนายน 2559 9:48:05 น.
Counter : 1390 Pageviews.

2 comment
วิพากษ์ หรือ วิจารณ์







วิพากษ์ หรือ วิจารณ์


วันนี้ผมได้อ่านบทความชวนฉุกคิดของนักเขียนรางวัลซีไรต์ท่านหนึ่ง แล้วทำให้ผมอยากกลับมา Recheck ตัวเองในฐานะนักอ่าน และคนๆ หนึ่งในสังคม ว่าความคิดเห็นของเราต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวทุกวันนี้ เข้าข่าย วิพากษ์ หรือ วิจารณ์ มากกว่ากัน

แน่นอนว่า หลายคนอาจเคยสับสนว่า วิพากษ์วิจารณ์ มีความหมายเดียวกัน แต่โดยนัยความหมายของคำศัพท์สองคำนี้ต่างกัน บทความนี้ นอกจากจะช่วยให้เราสำรวจตัวเองแล้ว ยังอาจมีประโยชน์ต่อเราในแง่การแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งต่างๆ ที่เราประสบพบเห็นด้วย

ผมเชื่อว่าสังคมโลกยังต้องการ การวิจารณ์มากกว่าการวิพากษ์ แต่เพราะคนเรามักเชื่อสิ่งที่เห็นตรงหน้า และยึดเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้งก่อนเสมอ เราจึงมักวิพากษ์มากกว่าวิจารณ์ แต่ลองเปิดใจให้กว้าง อ่านบทความนี้ดู แล้วลองวิจารณ์ในแบบของคุณดูครับ


“หนังสือที่ดี บอกไม่ได้จากหน้าปก

ใจที่สกปรก ก็บอกไม่ได้จากหน้าตา”

- Rachata


การเป็นนักเขียนหนีไม่พ้นการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่นักเขียนก็เป็นมนุษย์มีเลือดเนื้อเหมือนคนอื่น ได้ยินได้อ่านคำที่ตัวเองไม่ชอบก็อาจเถียงกลับ บ่อยครั้งเราจึงเห็นการวิวาทะตามสื่อ ตอบโต้กันไปมา ถ้าเจตนาของการตอบโต้ คือสร้างเรทติ้ง ก็ว่าอย่าง แต่ถ้าตอบโต้เพราะอารมณ์ ก็เสียเวลาสร้างสรรค์งานเปล่าๆ

ริเป็นนักเขียน นักสร้างสรรค์งาน ก็ต้องยอมรับแพ็คเกจที่มาด้วยกัน นั่นคือ คำชมกับคำด่า

จากประสบการณ์การถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหนักหน่วง ในช่วงสามสิบปีนี้ ไม่ได้ทำให้เป็นพระอิฐพระปูนก็จริง แต่ก็เกิดภูมิต้านทานแห่งอุเบกขาเพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์ และลดความฟูมฟายลงไปได้มาก

สิ่งแรกที่นักเขียนหรือคนในวงการอื่นต้องทำ คือวิเคราะห์ให้ออกว่า อะไรคือวิพากษ์ อะไรคือวิจารณ์

อ้าว! ไม่เหมือนกันหรอกหรือ ?

สื่อบ้านเราใช้คำสองคำนี้รวมกันจนได้ยินคู่กันตลอด นั่นคือ “วิพากษ์วิจารณ์” แต่สองคำนี้เป็นคนละคำ คนละความหมายกัน และเรามักใช้กันผิดความหมาย

วิพากษ์ (judge) = พิพากษ์ = พิพากษา = ตัดสิน (ว = พ)

วิจารณ์ (comment) = พิจารณ์ = พิจารณา คือ การดูงานแล้วว่าตามเนื้อผ้า

วิพากษ์ มีนัยของการใช้อารมณ์ความรู้สึกไปตัดสิน มักมีนัยทางลบ เช่น “หนังสือเฮงซวย เขียนโดยพวกขวาตกขอบ” ข้อความนี้ไม่ได้วิจารณ์หนังสือเลย ด่านักเขียนอย่างเดียว นักเขียนอ่านแล้วก็เหมือนเดิม ไม่สามารถนำไปใช้พัฒนาตัวเอง

ส่วน วิจารณ์ วิเคราะห์งานชิ้นหนึ่งๆ โดยรองรับด้วยเหตุผล ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง เช่น "หนังสือเล่มนี้เขียนไม่ดีนัก เพราะมันแสดงความเห็นเฉพาะด้านอนุรักษ์นิยม ไม่แสดงอีกมุมหนึ่ง ทำให้ผู้อ่านรับข้อมูลไม่ครบด้าน" อย่างนี้นักเขียนนำไปพัฒนาตัวเองได้

ผมบอกนักเขียนรุ่นน้องเสมอว่า อย่าไปใส่ใจกับคำวิพากษ์ ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น เสมือนฟังคนบอกว่า "รถติดชิบหาย" แล้วยังไงหรือ ? มันแก้อะไรได้หรือ ?

แต่หากเป็นคำวิจารณ์ ให้รับฟังอย่างสงบเงี่ยม หลังจากนั้นให้วิเคราะห์ว่ามันจริงหรือไม่จริง ถ้าจริงก็น้อมรับและขอบคุณผู้วิจารณ์ ถ้าไม่จริงก็อยู่เฉยๆ ไม่ต้องประกาศที่ไหนว่าเราฉลาดกว่าเขา

หน้าที่นักเขียนคือ เขียน ไม่ใช่เถียง ไม่งั้นคงเรียกว่านักเถียง

ต่อให้เป็นคำชม ก็ต้องวิเคราะห์ว่ามันจริงหรือเปล่า เพราะบ่อยครั้งคำชมก็เป็นรูปหนึ่งของ 'วิพากษ์' นั่นคือทำด้วยอารมณ์ เช่น ชื่นชมนักเขียนมาก เขียนอะไรมาก็ดีไว้ก่อน อย่างนี้ก็มี นักเขียนจึงต้องอ่านระหว่างบรรทัดให้ออก และบ่อยครั้งคำชมก็ผิดประเด็น

คำว่า วิพากษ์ และ วิจารณ์ ยังกินพื้นที่อื่นๆ นอกจากคนทำงานศิลปะด้วย นั่นคือการใช้ชีวิต เราพบการวิพากษ์-วิจารณ์เสมอ

แต่งตัวแบบนี้ก็ถูกวิพากษ์-วิจารณ์ว่าไม่สวย ไม่เหมาะสม ไม่มีความเป็นไทย แต่งตัวแบบนั้นก็ถูกหาว่าเชย

ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้


วิพากษ์ : "ชุดนี้เธอใส่แล้วดูเหมือนยายบ้า"

วิจารณ์ : "ชุดที่เธอใส่นี้ไม่เข้ากับเธอ เพราะเธอรูปร่างท้วม ใส่ชุดที่มีเส้นขวางมากๆ ยิ่งทำให้ดูท้วมกว่าเดิม"


อย่างแรกฟังแล้วลมออกหู อย่างที่สองฟังแล้วนำไปปรับปรุงตัวได้


วิพากษ์ : "คุณเขียนเรื่องนี้ห่วยแตกจริงๆ"

วิจารณ์ : "คุณเขียนเรื่องนี้ไม่ดี เพราะองค์ประกอบมากไป ทำให้เรื่องรุงรัง ถ้าตัดองค์ประกอบที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องออก น่าจะดีขึ้น"


ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือไม่ ก็ต้องรู้จักวิเคราะห์ให้ออก มิเช่นนั้นก็จะต้องเต้นแร้งเต้นกาไปตามจังหวะที่คนอื่นกำหนด ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรอีก แล้ววันๆ ได้แต่ตั้งรับ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมวิพากษ์



เก็บมาฝาก (อ่าน) จาก...

บทความ “วิพากษ์กับวิจารณ์ ต่างกันอย่างไร” ของ วินทร์ เลียววาริณ

Cr. facebook.com/winlyovarin



Jim-793009

11 : 05 : 2016








Create Date : 11 พฤษภาคม 2559
Last Update : 11 พฤษภาคม 2559 17:27:45 น.
Counter : 27813 Pageviews.

7 comment
วรรณกรรม อาภรณ์ชิ้นงามของโลก




วรรณกรรม อาภรณ์ชิ้นงามของโลก


วันนี้ขอหยิบสุนทรพจน์ดีๆ ของนักเขียนชั้นครูมานำเสนอ ผมได้เข้าไปอ่านตัวอย่างหนังสือเรื่อง “ปูนปิดทอง” นวนิยายรางวัลซีไรต์ ของคุณกฤษณา อโศกสิน ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ว่านวนิยายเรื่องนี้ดีเด่นในด้านใดบ้าง เพราะเพียงชื่อเรื่อง ได้ฟังแล้วก็ค่อนข้างจรรโลงใจ 

“ปูนปิดทอง” ผมได้ยินชื่อนี้แล้วนึกถึงองค์พระพุทธรูป คนโบราณมักจะหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะเนื้อดี ตั้งแต่สำริด ทองแดง ทองเหลือง ทองคำ ฯลฯ แล้วพอกทับไว้ด้วยปูนปั้น ถ้ามองในแง่เทคนิคช่าง การทำเช่นนั้นคงเผื่อซ่อนองค์พระพุทธปฏิมาไว้ด้านใน แต่ถ้าลองมาอย่างแก่นธรรมะ มันสอนให้เราพิจารณาคุณค่าจากภายใน มากกว่าภายนอก คนเราก็เช่นกัน จะดีจะงามต้องมาจากภายใน แม้ภายนอกเราจะเป็นแค่ปูน แต่เมื่อกระเทาะแล้ว เนื้อในเราควรมีคุณค่าดั่งทองคำ ดูอย่างตำนาน “พระแก้วมรกต” กว่าจะมีผู้คนเห็นค่าความศักดิ์สิทธิ์ ก็ต่อเมื่อเนื้อปูนที่หุ้มไว้กระเทาะออกจนเห็นเนื้อหินสีเขียวด้านใน

แนวคิดเดียวกันนี้ผมเห็นจากเรื่อง “ไผ่แดง” ของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เช่นกัน กล่าวถึงพระประธานบนศาลาการเปรียญของหมู่บ้านไผ่แดง ซึ่งมีพุทธศิลป์บิดเบี้ยว ไม่งาม แต่พอวันหนึ่งเนื้อปูนกระเทาะออก จึงเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปงามๆ องค์หนึ่งซ่อนอยู่ข้างใน

ผมไม่รู้ว่า เรื่องปูนปิดทองของคุณกฤษณา อโศกสิน จะซื่อความนัยแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะตัวผมเองยังไม่ได้อ่าน แต่ที่เก็บมาฝากอ่าน ก็ด้วยชื่นชอบสุนทรพจน์ว่าด้วย ‘วรรณกรรม’ ตามทัศนะของท่านนักเขียนอาวุโส อ่านแล้วกินใจดีครับ ทำให้อยากอ่านเรื่องปูนปิดทองตามไปด้วยทีเดียว


“ผู้อ่านนวนิยายจะสามารถแยกแยะความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ จิตใจ

และการแก้ปัญหาต่างๆ ต่อคนรอบข้างอย่างอ่อนโยน ลุ่มลึก

และชัดเจนกว่าคนที่ไม่อ่านนวนิยายและหนังสืออื่นเลย”

-ผลวิจัยและการทดลองทางจิตวิทยา 

ประเทศแคนาดา


สุนทรพจน์ของ กฤษณา อโศกสิน เนื่องในวันรับพระราชทานรางวัลซีไรต์ วันที่ 8 ตุลาคม 2528 

“...นานนับพันปีมาแล้ว โลกได้เป็นเจ้าของอาภรณ์ล้ำค่าชิ้นหนึ่ง...ชนชาติทุกเผ่า ทุกระดับการปกครองต่างมีอาภรณ์ชิ้นนี้เป็นของคู่แผ่นดิน เมื่อการสื่อสารระหว่างมนุษย์ที่แตกต่างกันทั้งภาษา วัฒนธรรม และแนวคิดเป็นสิ่งจำเป็น ต่างก็ใช้อาภรณ์สำคัญของตนเป็นบรรณาการหยิบยื่นแลกเปลี่ยนความซาบซึ้งชื่นชมแก่กันและกัน นับแต่บรรพกาลสืบมาจนปัจจุบัน อาภรณ์งามชิ้นนั้นมีชื่อว่า วรรณกรรม 

ภาษาและอักษร คือเครื่องประดับอันวิจิตรของชาวโลก ได้รับการเจียระไนตกแต่งให้แพรวพราวเป็นลำดับมา มนุษย์จับมือกันด้วยน้ำใจปรองดองสมานฉันท์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีวรรณกรรมเป็นเครื่องร้อยรัด ประกายวรรณกรรมอันเรืองรอง ได้ชัยชนะต่อทุกสิ่งมาแล้วนับไม่ถ้วน เมื่อโลกร้อนระอุด้วยไฟสงครามและความขัดแย้ง วรรณกรรมเป็นสิ่งเดียวที่ยังเหลือสำหรับปลอบโยน ช่วยเล้าโลมดวงใจอันเร้าร้อนให้เย็นลง เมื่อน้ำใจมนุษย์เยือกเย็น สิ่งที่ตามมาย่อมบริสุทธิ์สุขุมเพิ่มพูนคุณค่า น้อมนำชีวิตทั้งมวลให้ดำรงมั่นคงอยู่ในสุนทรียภาพและสันติสุขชั่วกาลนาน

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก...”


เก็บมาฝาก(อ่าน) จาก... 

กฤษณา อโศกสิน. ปูนปิดทอง. พิมพ์ครั้งที่ 12. เพื่อนดี : กรุงเทพฯ, 2558.

Jim-793009 

15 : 09 : 2015




Create Date : 15 กันยายน 2558
Last Update : 11 พฤษภาคม 2559 22:17:09 น.
Counter : 1265 Pageviews.

2 comment
1  2  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments