กิ่งไผ่ : สีฟ้า






กิ่งไผ่


บทประพันธ์ : สีฟ้า


ISBN 974-7107-65-1 ฉบับปก สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2541

2 เล่มจบ จำนวน 541 หน้า ราคา 280 บาท




รายละเอียด

จอห์น ลี ชายหนุ่มลูกจีนสัญชาติอเมริกัน ได้กลับมาเยือนเมืองไทยอีกครั้งหลังจากที่จากไปนานนับสิบปี จากอดีต จู๋ย์จื้อ เด็กชายชาวจีนกำพร้าที่ถูกส่งตัวมาพึ่งใบบุญของ หม่อมท่าน ภริยาเชื้อสายจีนของ ท่านองค์พระ เขาถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็นภาษาไทยว่า “จุลจิตต์” เด็กชายได้รับความรักและเอาใจใส่จาก นายจวง ผู้เป็นญาติห่าง ๆ รวมถึงพระเมตตาจากท่านองค์พระ จนความรู้สึกเคารพรักและผูกพันกับทุกคนในวังท่านองค์พระติดตรึงอยู่ในความทรงจำของเขาเรื่อยมา โดยเฉพาะกับ หม่อมราชวงศ์กำจรศักดิ์ หรือ คุณฟุ้ง หลานท่านองค์พระ ผู้ที่เขาผูกพันรักใคร่เป็นดังเพื่อน พี่ชาย และเจ้านาย 

แม้ต่อมาเด็กชายจะได้รับการอุปถัมภ์ดูแลจากพ่อเลี้ยงชาวอเมริกันจนเติบโตมีการศึกษาและฐานะทางสังคม แต่สำนึกกตัญญูที่มีแต่ท่านองค์พระและทุกคนในวัง เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เขาอยากกลับมาหาทุกคนในเมืองไทย โดยบุคคลที่เขาคิดถึงมากที่สุด คือ นายจวง กับ คุณฟุ้ง 

แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยจริง ๆ จุลจิตต์กลับไปกล้าเปิดเผยกับใครในวังท่านองค์พระ ว่าเขาคือเด็กลูกจีนในบ้านที่เคยมาพึ่งใบบุญท่านองค์พระ ด้วยกลัวว่าคนที่เขาเคยรู้จักจะดูแคลนและไม่ให้เกียรติ เขาจึงเป็นที่รู้จักของใคร ๆ ในฐานะจอห์น ลี นายช่างบริษัทฝรั่ง จนเมื่อเขาได้ก้าวเข้าไปใกล้ชิดกับ คุณหญิงพรรณพิลาศ ลูกสาวของหม่อมท่าน เขาจึงค่อยหาโอกาสบอกความจริงแก่นายจวง ว่าแท้จริงแล้วเขาคือ เด็กชายจุลจิตต์ แล้วโชคชะตาก็พาจอห์น ลีไปพบกับคุณฟุ้งอีกครั้ง หากแต่การพบปะกันครั้งนี้ กลับไม่ใช่เรื่องน่ายินดีอย่างที่เขาเฝ้าฝันถึง...


“ผมว่าผมเป็นโปรแตสแตนท์ เพราะพ่อเลี้ยงของผมนับถือนิกายนี้

แต่บางทีผมก็คิดว่าผมไม่ได้นับถือศาสนาอะไรเลย

พระเจ้าของผมคือคุณธรรมในใจเท่านั้นเอง”

- กิ่งไผ่ , หน้า 311


REVIEW

กิ่งไผ่ บทประพันธ์ของ สีฟ้า ถ้าจำข้อมูลมาไม่ผิด คิดว่านิยายเรื่องนี้น่าจะเป็นผลงานในยุคแรก ๆ ของนักเขียนชั้นครูท่านนี้ ในฐานะที่เป็นแฟนนิยายของท่าน ต้องบอกว่าแนวทางการประพันธ์หรือสไตล์ของท่านมีความชัดเจนมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะการนำเสนอภาพชีวิตอันเต็มไปด้วยเรื่องราวหลากหลาย ชวนติดตาม 

กิ่งไผ่ คือนิยายที่บอกเล่าเกี่ยวกับความกตัญญูกตเวทีของชายหนุ่มเชื้อสายจีนคนหนึ่ง ผู้เคยเข้ามาพึ่งใบบุญเจ้านายไทยในยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ต่อมาเขาจะกลายเป็นอเมริกันชนเต็มตัวแล้ว แต่สำนึกในบุญคุณและการอบรมสั่งสอนเพียง 4 ปีที่เขาได้รับในวังของท่านองค์พระ กลับเป็นเครื่องชี้นำความกตัญญูในจิตในของเขาเสมอมา 

ชื่อเรื่อง กิ่งไผ่ จึงหมายถึงตัวละครเอก คือ จอห์น ลี หรือ จุลจิตต์ อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะในอดีตเขาเคยมีชื่อจีนว่า จู๋ย์จื้อ แปลว่า กิ่งไผ่ ในภาษาจีนกลาง สื่อความหมายถึงความก้าวหน้า ความมั่นคง โดยในนิยายเรื่องนี้ เดาว่าผู้เขียนคงอยากให้พระเอกเป็นผู้มีความมั่นคงในคุณธรรมและความกตัญญู ดังโปรยปกที่บอกว่า “คือความรักยิ่งใหญ่ คือหัวใจกว้างไพศาล คือคนกตัญญูรู้คุณ คือกิ่งกอที่ตระหนักแน่นในคุณธรรม” ซึ่งเรื่องราวของจอห์น ลีก็เป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง 

จอห์น ลีกลับมาเมืองไทยในฐานะที่ต่างไปจากสมัยยังเป็นเด็กชายลูกจีน ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชมเขาเพราะเขาเป็นอเมริกัน และเป็นนายช่างใหญ่ที่บริษัทจากเมืองนอกส่งตัวมาช่วยงานสร้างทางในเมืองไทย เขาสนิทกับเพื่อนพนักงานสาวคนหนึ่งชื่อ มยุรี เธอช่วยเขาให้ได้ทำความรู้จักและใกล้ชิดกับ คุณหญิงพรรณพิลาศ และ คุณหญิงแก้วกัญญา หรือ คุณเฟื่อง น้องสาวของคุณฟุ้ง ซึ่งเขารู้จักคุ้นเคยมาแต่เด็กแล้ว เพียงแต่ยังไม่กล้าเปิดเผยตัว เพราะรู้ดีว่าการเป็นคนเชื้อสายจีนและเป็นเด็กในวังท่านองค์พระอาจทำให้เขาถูกดูแคลน หยามเกียรติ โดยเฉพาะคุณเฟื่องผู้ถือตัวและยศศักดิ์ ซึ่งไม่ชอบใจเขาเอามาก ๆ เมื่อรู้ว่าคุณหญิงพรรณฯ (ผู้มีศักดิ์เป็นน้าของคุณเฟื่องแต่อายุเท่ากัน) สนใจจอห์น ลี ดังบทสนทนาหนึ่งที่เธอกล่าวถึงจอห์น ลี ว่า


“นายจอห์นนี่ของเธอน่ะฝรั่งที่ไหนล่ะ เจ๊กแท้ ๆ เจ๊กลูกหลานกรรมกรจากซานฟรานซิสโกก็ไม่รู้ ช่างเอามาชื่นชมกันอยู่ได้”


การนำเสนอเรื่องราวดังกล่าว ช่วยขยายภาพสังคมไทยสมัยก่อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนไทยแต่เดิมนิยมเหยียดคนเชื้อสายจีนว่าด้อยกว่าตน เช่นการเรียกคนจีนว่า “เจ๊ก” ก็ดี หรือชาวจีนบางคนเมื่อได้ดีมีหน้ามีตาในเมืองไทย ก็พยายามจะเปลี่ยนชื่อและวิถีชีวิตให้เป็นไทยเสีย เพื่อมิให้ถูกเหยียดหยามในชาติกำเนิด แต่ผู้เขียนได้แสดงทัศนคติที่เห็นต่างออกไปให้เราได้รับรู้ ผ่านคำพูดของตัวละครท่านองค์พระที่รับสั่งกับเด็กชายจุลจิตต์ว่า


“การที่จะทำตัวเป็นคนไทยน่ะดี อย่างน้อยก็เป็นกำไรของเอ็ง แต่อย่าอายว่าเอ็งเป็นลูกเจ๊ก ไม่ว่าจะเป็นลูกเจ๊กลูกไทยถ้าเป็นคนดีก็ใช้ได้ คนโดยมากเขาไม่ดูถูกชาติกำเนิดของคนหรอกเฮ้ย เขาดูถูกคนที่ดูถูกชาติกำเนิดของตัวต่างหาก เอ็งเข้าใจไหม ?”


ทั้งนี้ นิยายยังบอกให้เราตระหนักว่า คนเราจะได้ดีหรือเป็นคนดีนั้น ไม่ใช่ด้วยสายเลือด แต่เป็นได้ด้วยการบ่มเพาะคุณธรรมในใจ โดยมีตัวละครคู่เปรียบคือ คุณฟุ้ง กับ จอห์น ลี คุณฟุ้งเป็นลูกหลานเจ้านาย แต่ไม่ตั้งใจเรียน เกเร และเลือกดำเนินชีวิตไปในวิถีนักเลง เสพยา ไม่คิดแสวงหาความมั่นคงในชีวิต เพราะผูกติดอยู่กับปมที่ว่า ตัวเองเกิดมาไม่มีใครต้องการ พ่อไม่รัก แม่ทิ้งไปมีสามีใหม่ และหม่อมยายก็เกลียดชังที่เขาเป็นคนดื้อ ถึงแม้ท่านองค์พระผู้เป็นท่านปู่จะรักเขามากที่สุด แต่ท่านก็จากไปตั้งแต่เขายังเด็ก คุณฟุ้งจึงทำตัวเสเพลเรื่อยมา ด้วยเขาเชื่อเสมอว่า ตัวเองไม่มีใครให้ยึดเหนี่ยวอีกแล้ว

ส่วนจอห์นลี ผู้เป็นกำพร้า ไม่มีญาติมิตร กลับยึดมั่นในคุณธรรมคำสอนของนายจวงและท่านองค์พระ เขาตั้งใจเรียนให้สูงจนได้ทำงานมีหน้ามีตา มีคนเคารพนับถือ เมื่อเขาได้พบคุณฟุ้งในสภาพที่ตกต่ำย่ำแย่ เขาก็ไม่ได้รังเกียจดูแคลน กลับพึงนึกถึงความผูกพันที่มีต่อคุณฟุ้งและคำสอนของนายจวง


“ต่อไปข้างหน้าถ้าแกไปพบปะคุณฟุ้งที่ไหน ถึงเธอจะยากดีมีจนยังไงก็อย่าไปเมินหน้าหนีเธอ ชั่วดีเธอก็เป็นหลานของท่านองค์พระ คนเราต้องมีกตัญญูถึงจะจำเริญ ชีวิตคนมันเอาแน่อะไรไม่ได้ แกอาจจะได้ดีเป็นขุนน้ำขุนนางต่อไปในภายหน้า ถ้าได้ดีจริง ๆ ละก็จำคำของป้าเอาไว้ อย่าไปลืมตัวเป็นอันขาด”


คำสอนของนายจวงครั้งเขายังเด็ก ทำให้จอห์น ลีเสนอตัวเขามาช่วยกอบกู้ชีวิตของคุณฟุ้งคืนจากยาเสพติด ทั้งที่คนในครอบครัวอย่างคุณเฟื่องกลับเห็นว่าเขาไม่ควรเข้ามายุ่งย่าม และคุณฟุ้งสมควรถูกตัดญาติขาดมิตร เพราะมีแต่จะนำความเสื่อมเสียมาสู่วงศ์ตระกูล แต่โชคดีที่จอห์น ลีได้รับกำลังใจจากนายจวง และ ศนิ น้องสาวต่างบิดาของคุณฟุ้งและคุณเฟื่อง ผู้เคยมีชีวิตสุขสบายในฐานะลูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่ แต่ต้องตกอับหลังจากบิดาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต แล้วพบว่าเธอไม่ได้รับมรดกจากบิดาเลย ศนิรักเคารพคุณฟุ้งในฐานะพี่ชายเสมอ เธอช่วยจอห์น ลีดึงชีวิตอันตกต่ำของพี่ชายกลับมา แต่เพราะจิตใจของคุณฟุ้งไม่อาจสลัดทิ้งปมเก่า ๆ ได้ เขาจึงกลับไปใช้ชีวิตในหนทางเดิม ก่อนจะฝากฝังให้จอห์น ลีดูแลศนิแทนเขาด้วย และแล้วจอห์น ลีก็ตัดสินใจเลือกศนิเป็นคู่ชีวิต ส่วนหนึ่งเพื่อตอบแทนคุณของผู้ที่เขาเคารพรัก และอีกส่วนหนึ่งมาจากหัวใจของเขาเอง 

นิยายเรื่องนี้ แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกคือชีวิตวัยเด็กของจุลจิตต์ และภาคสองคือชีวิตวัยผู้ใหญ่ของจอห์น ลี แนวเรื่องหลักคือการบอกเล่าถึงความกตัญญูของพระเอก ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแต่จะบอกเล่าถึงลักษณะของบุคคลตัวอย่างที่น่ายกย่องคนหนึ่ง ดังบทบรรยายที่กล่าวไว้ในตอนจบว่า


จอห์น ลี ผู้เป็นจีนแท้โดยกำเนิด เป็นอเมริกันโดยสัญชาติ มีการศึกษามีความรู้เช่นคนอเมริกัน แต่มีลักษณะที่ได้อบรมมาอย่างคนไทย โดยเฉพาะจิตใจที่ยึดมั่นอยู่ในความกตัญญูรู้คุณผู้มีพระคุณ


ด้านความซับซ้อนของนิยายน่าจะมาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติของตัวละคร รวมถึงการที่ผู้เขียนบอกเล่าถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครบางตัวแบบปลายเปิด ไม่ชี้ชัด เช่น คุณเฟื่องที่ตั้งท่ารังเกียจจอห์น ลีมาตลอด ดูเหมือนจะมีใจให้เขาอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ชัดเจน ผมอ่านแล้วก็ได้แต่เดา หรือศนิที่อ่านเผิน ๆ เหมือนเป็นแค่สาวน้อยคนหนึ่งซึ่งไม่ได้มีความสนิทสนมลึกซึ้งกับจอห์น ลีมากมายนัก แต่กลับกลายเป็นคนที่จอห์นเลือกจะแต่งงานด้วยในตอนท้าย ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้บอกให้ชัดเจนเช่นกันว่า ตกลงศนิตอบรับเขารึไม่

ในภาพรวมกิ่งไผ่เป็นนิยายที่อ่านสนุกมาก ภาษาดี ทำให้เราอยากติดตามตัวละครอยู่เรื่อย ๆ เพราะเดาไม่ค่อยออกว่าตัวละครจะนำเราไปในทิศทางไหน และเรื่องราวก็ค่อย ๆ เข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวละครที่น่าเวทนาที่สุด ผมคงต้องยกให้คุณฟุ้ง รู้สึกเอาใจช่วยตลอดและอยากให้เขาได้ดีกว่านี้ ส่วนตัวละครที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ นายจวง ผู้เข้ามาสร้างสีสันให้เรื่องนี้อย่างมาก อ่านแล้วรู้สึกรักนายจวงมากจริง ๆ

ใครชอบอ่านนิยายแนวชีวิต จรรโลงใจ กิ่งไผ่ของสีฟ้าถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดครับ เพราะไม่เพียงแต่คุณจะได้มุมมองชีวิตจากตัวละคร ยังมีภาพสะท้อนของสังคมไทยยุคเก่าให้เราได้หวนนึกถึงด้วย


Jim-793009

19 : 02 : 2019





Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2562
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2562 9:25:59 น.
Counter : 3342 Pageviews.

6 comment
เกิดแล้วเป็นคน : สีฟ้า





เกิดแล้วเป็นคน


บทประพันธ์ : สีฟ้า


หนังสือเก่า (เล่มเดียวจบ) ฉบับปก สำนักพิมพ์รวมสาส์น. 2521.

จำนวน 567 หน้า ราคา 100 บาท




รายละเอียด

ดอกคำ และ นำบุญ สองพี่น้องที่พยายามเอาชนะความยากจนด้วยความพากเพียร กระทั่งพี่สาวเรียนจบเป็นนางพยาบาล ส่วนน้องชายก็เป็นหมอ อนาคตของทั้งสองคงก้าวหน้าไปอีกไกล และคงทำให้พ่อแม่ รวมทั้งน้อง ๆ อีกหลายคนมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น หากไม่ใช่เพราะ แม่บัว เกิดป่วยเป็นโรคเรื้อน (Leprosy) โรคร้ายที่คนในสังคมต่างรังเกียจเดียดฉันท์ 

แม้ว่าทางการแพทย์จะยืนยันแล้วว่า โรคเรื้อนไม่ใช่โรคติดต่อทางพันธุกรรม แต่ความเกลียดความกลัวโรคเรื้อนที่มีมานมนาน ก็ทำให้คนทั่วไปมักเกิดอุปทานรังเกียจคนในครอบครัวของคนโรคเรื้อนตามไปด้วย เช่นเดียวกับดอกคำและนำบุญ ซึ่งต้องคอยปกปิดเรื่องของแม่บัวไม่ให้ใครต่อใครล่วงรู้ จนกระทั่งทั้งคู่ต่างก็มีคนรัก การตัดสินใจครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้นกับพวกเขา คนหนึ่งเลือกบอกความจริง อีกคนหนึ่งเรื่องปกปิดเป็นความลับ ชะตากรรมของพวกเขาจะเป็นเช่นไร...ก็สุดจะคาดเดาได้


เพราะวิสัยของมนุษย์ทั่วไปนั้น

หากความจริงมันน่าเกลียดน่ากลัวจนเกินไป

ก็ไม่อยากให้ใครมาล่วงรู้ความจริงอันเป็นความลับของตน

แม้แต่ตัวเอง

บางครั้งก็ยังไม่อยากเผชิญกับมัน

- เกิดแล้วเป็นคน


REVIEW

สิ่งสะดุดใจที่สุดจนต้องย่นหัวคิ้วสำหรับนิยายเรื่องนี้ของ สีฟ้า ก็คือชื่อเรื่อง เกิดแล้วเป็นคน เพราะชวนให้สงสัยว่าทำไมต้องเกิดแล้วเป็นคน ล่าสุดทางสำนักพิมพ์เพื่อนดี (ในเครือสำนักพิมพ์อักษรโสภณ) ได้นำนิยายเรื่องนี้กลับมาพิมพ์ซ้ำอีกครั้ง ผมเลยคิดว่าถึงเวลาหยิบออกจากกองดองมาอ่านสักที 

การที่ผู้ประพันธ์เลือกใช้นามปากกา “สีฟ้า” สำหรับนิยายเรื่องนี้ ช่วยบ่งชี้ให้นักอ่านทราบกราย ๆ แล้วว่า เนื้อหาของนิยายต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องราวชีวิตคน ซึ่งค่อนไปทางนิยายสะท้อนความจริงของสังคม แต่ถึงอย่างนั้น นักเขียนก็ซ่อนปมของเรื่องเอาไว้ให้เราลุ้นอยู่นานเหมือนกัน กว่าจะยอมบอกว่า ดอกคำ และ นำบุญ สองพี่น้องตัวละครเอกกำลังเจอปัญหาในชีวิต สืบเนื่องมาจาก แม่บัว ผู้ให้กำเนิดป่วยเป็นโรคเรื้อน เลยทำให้ชีวิตปกติของทั้งสองพลอยถูกคนในสังคมรังเกียจตามแม่ไปด้วย

ตอนอ่านเจอปมปัญหาของเรื่อง ผมถึงกับรู้สึกสลดหดหู่ไปเลย แอบคาดเดาในใจเหมือนกันว่า ผู้เขียนจะวาดเรื่องราวของสองพี่น้องไปทางไหน จะมีใครเข้าใจปมด้อยของพวกเขา หรือยอมรับในตัวพวกเขา ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ได้ป่วยตามแม่บ้างหรือไม่

ความสงสัยและลุ้นอยากรู้จุดจบ นำไปสู่ความสนุกในการอ่าน แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องราวมันเศร้าสลดใจในชะตากรรมของคนเราจริง ๆ ขณะเดียวกันเราก็มองเห็นทั้งความสุข พลังใจ ความรัก การให้อภัย ความหวัง และสำคัญที่สุดก็คือ “ความไม่ย่อท้อต่อชะตาชีวิต” นั่นคือที่มาของชื่อนิยายว่า “เกิดแล้วเป็นคน” ซึ่งมีความหมายทำนองว่า คนเราเมื่อได้เกิดมาเป็นคนแล้ว ไม่ว่าเจอปัญหาอุปสรรคใดใด ขอจงอย่าย่อท้อหรือยอมแพ้ต่อโชคชะตา ขอให้สู้ชีวิตต่อไป (เพราะพุทธศาสนาเชื่อว่าการจะมีบุญเกิดมาเป็นคนถือเป็นเรื่องยากยิ่ง) ดังโคลงสี่สุภาพที่ผู้เขียนยกมาสรรเสริญ คนสู้ชีวิต นำเสนอไว้ก่อนเข้าบทแรก ความว่า


.......อัญชลิตนรชนผู้....................เกิดมา 

ลำเค็ญชีวิตหนักหนา....................ยิ่งผู้ 

กายยากยิ่งทรมา..........................ใจยิ่ง เจ็บนอ 

ยังยืนยังหยัดสู้..............................เกิดแล้วเป็นคน


เมื่อดอกคำและนำบุญเติบโตเป็นหนุ่มสาว ก็มีคนรักที่อยากเข้ามาเป็นคู่ชีวิต แต่ถ้าใครคนนั้นรู้ว่าแม่ของทั้งสองเป็นโรคเรื้อน ก็ยากนักที่เขาหรือเธอจะยอมรับได้ ถึงไม่รังเกียจ ก็คงอดหวาดกลัวไม่ได้อยู่ดี ดอกคำจึงเลือกที่จะบอกความจริงเรื่องแม่ให้ ชูสกุล ผู้ชายจากตระกูลเศรษฐีที่มาชอบเธอทราบ เพราะเห็นเป็นความยุติธรรมต่อเขา ว่าจะตัดสินใจเดินหน้าสานสัมพันธ์ต่อหรือไม่ หากได้รู้ความจริงแล้ว แต่ด้านนำบุญกลับเลือกปกปิด เมลานี คนรักของตัวเองไม่ให้ทราบอาการป่วยของแม่ เขาตั้งใจจะบอกเธอเมื่อเขาพร้อมหรือกล้าพอ แต่แล้วชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป เพราะความลับที่เขาปิดเอาไว้ถูกเปิดเผยเสียก่อน 

บทสรุปของชีวิต ดอกคำ และ นำบุญ จะเป็นอย่างไร อยากให้ลองไปอ่านในเล่มกันดูครับ 

นิยายเรื่องนี้ทำให้ผมได้รู้ว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน โรคเรื้อนเป็นปัญหาหนึ่งของสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข ผมเองไม่เคยทราบมาก่อนว่าโรคเรื้อนจะเป็นที่รังเกียจของคนในสังคมมากขนาดนี้ ซึ่งผู้เขียนมองว่า “คนเราเกิดอุปทานกลัวคนป่วยโรคเรื้อนกันมานานจนยากจะแก้ได้” จนกระทั่งมีการตั้งนิคมผู้ป่วยโรคเรื้อนขึ้นมา เพื่อแยกคนป่วยออกจากคนปกติ โดยผู้เขียนสมมติสถานที่ตั้งนิคมแห่งนั้นว่าอยู่ใน แม่แจ้ง จังหวัดเชียงราย (แต่ตามข้อมูลที่ลองค้นหา ผมพบแค่นิคมโรคเรื้อนแม่ลาว)

วิถีชีวิตในนิคมแม่แจ้งน่าเวทนาสงสารก็จริง แต่ในความทุกข์ทรมานเพราะโรคร้ายนั้น ผู้คนในนิคมก็ยังคงมีความหวัง รู้จักสร้างความสุข และเห็นคุณค่าของชีวิตในแบบของเขา มีหลายตอนมากที่อ่านแล้วซาบซึ้งใจตามไปด้วย เหมือนอย่างตอน นายแสน หนุ่มโรคเรื้อนผู้มีอารมณ์ขัน กล่าวกับนำบุญว่า


“เศรษฐีก็มีเกียรติอย่างเศรษฐี คนจนก็มีเกียรติอย่างคนจน คนโรคเรื้อนก็มีเกียรติอย่างคนโรคเรื้อน อย่างน้อยก็มีเกียรติที่เกิดมาเป็นคนกับเขาเหมือนกัน จริงไหมครับ คุณหมอ”


นอกจากนี้ นิยายยังบอกเล่าถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่ ที่ยอมถูกลูกทอดทิ้ง ดีเสียกว่าให้ลูกต้องมาตกระกำลำบากไปกับตน ต้องทรมานใจจากความรังเกียจของสังคม รวมถึงแฝงการย้ำเตือนจรรยาบรรณของหมอและพยาบาล ที่พึงปฏิบัติต่อคนไข้อย่างเท่าเทียบในฐานะคนเหมือนกันด้วย 

โดยภาพรวมแล้ว เกิดแล้วเป็นคน ถือเป็นนิยายดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งสนุกด้วยการเอาใจช่วยตัวละคร ซึ่งทำให้เราเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจมาก อยากคอยเป็นกำลังใจให้จนกว่าจะจบเรื่อง และเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้ชื่นชอบผลงานของหม่อมหลวงศรีฟ้า คือ ท่านมักหยิบเอาสัจธรรมในชีวิตมาเขียน หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใดเลย เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไปนี่แหละ เพียงแต่คนเรามักหลงลืมใส่ใจ หรือเก็บมาครุ่นคิดพิจารณา แต่การได้อ่านเรื่องเหล่านั้นในนิยาย กลับช่วยให้เราได้ย้อนดูตัวเองมากขึ้น

อยากให้ได้ลองอ่านกันดูนะครับ


"คนเรามักจะดูคนอื่นในแง่ร้ายไว้ก่อนเสมอ...เป็นของธรรมดา

คนที่ทำอะไรซึ่งคนอื่น ๆ เขาไม่ทำกัน

ถ้าไม่ถูกมองดูอย่างประหลาดก็ต้องถูกหาว่าเอาเด่น

บางทีถึงจะจริงใจก็กลายเป็นดัดจริต"

- ดอกคำ, เกิดแล้วเป็นคน



ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม


ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 สำนักพิมพ์ เพื่อนดี


Jim-793009

10 : 11 : 2017




Create Date : 10 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 11 พฤศจิกายน 2560 9:05:34 น.
Counter : 2442 Pageviews.

6 comment
ใครกำหนด : ศรีฟ้า ลดาวัลย์






ใครกำหนด


บทประพันธ์ : ศรีฟ้า ลดาวัลย์


ISBN 974-602-272-5 ฉบับปก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2537.

จำนวน 734 หน้า ราคา 225 บาท




รายละเอียด

ทาริกา บุษบง หรือ แม่นิ่ม บุตรสาวคนสุดท้องของ มหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาบทมาลย์บำเรอรักษ์ ผู้มีแม่เป็นถึงหม่อมราชวงศ์ เชื้อสายราชนิกุล หล่อนงดงามกว่าพี่น้องผู้หญิงทุกคน จนเจ้าคุณบิดาเชยชมว่า “แม่หงส์ทอง” ใครๆ ต่างก็คิดว่าอนาคตของทาริกาคงสดใส และวาสนาดีกว่าพี่น้องคนอื่นๆ แต่ใครเลยจะคาดเดาอนาคตได้แน่ชัด เพราะเพียงแต่ทาริกาถูกจับแต่งงานกับ ไทยธชา บุตรชายของนักการเมืองไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งดูเหมือนจะก้าวหน้าไกล หล่อนก็ต้องผจญชะตากรรมตั้งมากมาย นับแต่เจ้าบ่าวประสบอุบัติเหตุเจ็บปางตายในวันส่งตัวเข้าหอ จนถึงเจ้าคุณบิดาล้มป่วยจนถึงแก่กรรม และเมื่อไร้บารมีของเจ้าคุณบิดา ชีวิตของทาริกาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พี่น้องร่วมยี่สิบชีวิตต้องบ้านแตก แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง ส่วนทาริกาเองก็ไม่อาจหาความสุขจากครอบครัวใหม่ได้เลย 

นับแต่นั้นมา พายุแห่งโชคชะตาก็พัดพาทาริกาล่องลอยไปตามยถากรรม หากเพราะการนับถือในเกียรติและศักดิ์ศรีของตัวเองเท่านั้น ที่ทำให้หล่อนผ่านพ้นชะตากรรมมาได้


...ชีวิตของทาริกานั้นหากลิขิตขึ้นด้วย ‘พระเจ้า’

อย่างบางคนเชื่อ ‘พระเจ้า’

ก็ดูออกจะรักสนุกจนเกินไปหน่อย

จึงไม่ยอมให้วิถีชีวิตของหล่อนราบรื่นได้ง่ายๆ

แต่ถ้าหากลิขิตขึ้นด้วย ‘กรรม’

อย่างที่บางคนอีกเหมือนกันเชื่อถือ

ทาริกาก็คงจะสร้างกรรมเอาไว้ซับซ้อนเสียเหลือเกิน...

- ใครกำหนด


REVIEW

ใครกำหนด บทประพันธ์ของ ศรีฟ้า ลดาวัลย์ เป็นอีกเรื่องที่ขอชมเชยท่านผู้เขียน ว่าเขียนออกมาได้ดี สนุก ชวนติดตาม และทำให้ผมคอยเอาใจช่วยนางเอกไปจนถึงวินาทีสุดท้ายจริงๆ แม้บางช่วงอาจเหนื่อยหน่ายกับความคิดของนางเอกบ้างก็ตาม แต่เชื่อเถอะว่า ความสมเหตุสมผล ความเข้าใจลึกซึ้ง ที่ผู้อ่านจะได้ร่วมรับรู้ไปกับชะตากรรมของนางเอก จะทำให้เราเกิดความเห็นอกเห็นใจ อยากให้หล่อนได้พบกับปลายทางชีวิตที่สดใส แต่ถึงอย่างนั้น ท่านผู้เขียนก็ไม่ได้ทำให้เรื่องราวของทาริกาจบแบบ Happy Ending เสียทีเดียว หากแต่ทิ้งเรื่องปลายเปิดเอาไว้ให้เราได้ตระหนักในสัจธรรมของชีวิต ว่ามีทั้งทุกข์และสุข ปะปนกันไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด


อันชีวิตเราไซร้ใครลิขิต..........................พระพรหมผู้เทวฤทธิ์หรือไฉน

หรือพระยมสมมติเทพองค์ใด...........................หรือตัวเราเองไซร้ลิขิตมัน ?

จึงหมุนเวียนเปลี่ยนไปมิได้หยุด............ประเดี๋ยวสุขทุกข์สุดจะแปรผัน

มีทั้งยิ้มทั้งเศร้าคลุกเคล้ากัน.............................ชีวิตนั้นกำหนดด้วยอะไร ?


ท่านผู้เขียนเปิดเรื่องด้วยบทกลอนที่ตั้งคำถามกับชีวิต โดยใจความทั้งหมดของกลอนบทนี้ เสมือนเป็นพล็อตย่อของเรื่อง ใครกำหนด ซึ่งว่าด้วยชีวิตอันรันทนของ ทาริกา บุษบง หญิงสาวผู้เกิดในตระกูลขุนนาง เคยใช้ชีวิตสุขสบาย ครอบครัวเป็นที่นับหน้าถือตาของวงสังคมในยุคหนึ่ง แต่แล้วหล่อนก็ได้ออกเรือนแต่งงานกับ ไทยธชา บุตรชายของ ร้อยเอกหลวงรณรงค์ยุทธการ ซึ่งเป็นคนสำคัญในคณะรัฐบาลยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อเมื่อสงครามโลกบังเกิดขึ้น ชะตาชีวิตของทาริกาก็มีอันพลิกผัน เพราะไทยธชาหนีไปแต่งงานใหม่กับบุตรสาวของนักการเมืองกลุ่มเสรีไทย ที่กำลังเฟื่องฟูขึ้นมาแทนที่กลุ่มท่านผู้นำในยุคหลังสงครามโลก เป็นเหตุให้ทาริกาขอหย่าขาดจากสามีคนแรก กลายเป็นแม่ม่ายร้างผัวทิ้ง ต้องระหกระเหินหาเลี้ยงชีวิตด้วยตัวเอง 

ทาริกาได้โอกาสเข้าทำงานในบริษัทรับออกแบบบ้านแห่งหนึ่ง ที่นี่หล่อนได้พบกับ ปริเยศ หัวหน้างานที่ให้ความสนใจหล่อนเป็นพิเศษ ถึงแม้เขาจะรู้แก่ใจว่าหล่อนเป็นแม่ม่ายก็ตาม ท่ามกลางความสัมพันธ์ของคนทั้งสองที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างเปราะบางนั้น พายุแห่งชะตากรรมก็พัดเข้าหาทาริกาอีกครั้ง เริ่มด้วยการที่ เทพทำนุ พี่ชายร่วมท้องคนเดียวของหล่อนมาขอยืมเงินไปหมุน กระทั่งมีส่วนชักนำ รัฐมนตรีอิทธิพล นักการเมืองวัยห้าสิบปีเข้ามาพัวพันในชีวิตของทาริกา จนใครต่อใครต่างนินทาหาว่าหล่อนเป็น ‘นางบำเรอ’ คนหนึ่งของเขา แม้แต่ปริเยศก็เริ่มคลางแคลงใจในตัวทาริกา เป็นเหตุให้ทาริกายิ่งทนทุกข์กับคำครหาหนักเข้าไปอีก เพราะขนาดคนใกล้ชิดอย่างปริเยศยังไม่เชื่อในความบริสุทธิ์ของหล่อน

ปัญหาความไม่เข้าใจที่เกิดขึ้น มักทำให้ปริเยศหัวเสียอยู่เสมอ กระทั่งวันหนึ่งขณะที่เขานั่งรถไปกับทาริกา เขาก็เกิดโมโหกับเรื่องของนายอิทธิพลจนประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรถชนจนปริเยศถึงแก่ความตาย ส่วนทาริกาได้รับบาดเจ็บหนักทั้งทางกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส หากแต่ความสูญเสียครั้งนี้ได้ชักนำ ปริวรรต พี่ชายต่างแม่ของปริเยศเข้ามาสู่ชีวิตหล่อนแทน 

ปริวรรตเป็นนักธุรกิจหนุ่มใหญ่วัยย่างสี่สิบปี ชีวิตเขาผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยกว่าทาริกา เขาจึงรู้สึกเห็นอกเห็นใจในโชคชะตาของหญิงสาว กระทั่งแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกผูกพันในเวลาต่อมา ทั้งที่ตลอดมาเขาไม่เคยจริงจังกับผู้หญิงคนไหน แม้กระทั่ง คุณหญิงรัชนีกร เศรษฐีนีสาวใหญ่ ที่คนในวงสังคมนินทาว่าเป็นคู่ขาของปริวรรต ซึ่งคบหากันในความสัมพันธ์แบบพลาโตนิก เฟรนด์ชิป (Platonic Friendship) แต่สุดท้าย เขาก็เลือกที่จะขอทาริกาแต่งงานมาเป็นคู่ชีวิต เพื่อตอบสนองความปรารถนาในใจ และลบล้างคำครหาของสังคม ถึงแม้หนทางความรักระหว่างปริวรรตและทาริกาจะไม่ราบรื่นนัก แต่ทาริกาก็พอใจที่จะเดินเคียงข้างเขา เพื่อพิสูจน์ความรักที่หล่อนมีต่อเขา และเขามีต่อหล่อน... 

ชีวิตของทาริกา หากดูผิวเผินอย่างสายตาคนทั่วไป หล่อนก็คงเป็นผู้หญิงที่ผ่านผู้ชายมามาก หากแต่ใครจะรู้ว่าเนื้อแท้แห่งคำนินทาว่าร้ายที่สังคมสาดเสียเทเสียใส่หล่อน ทาริกายังคงเป็นเพชรเม็ดงาม จนกระทั่งตกอยู่ในมือของคนที่มองเห็นคุณค่าของหล่อนจริงๆ 

ทาริกาต้องเผชิญวิบากกรรมอะไรมาบ้าง ใครกันเป็นคนกำหนดชีวิตหล่อน ลองไปหาคำตอบในนิยายกันดูนะครับ 

แรกทีเดียว ผมตั้งใจว่าจะไม่เล่าเรื่องย่อ แต่ก็อดไม่ได้จริงๆ เลยขอเล่าแบบย่อๆ (แล้วเหรอ) สักนิด แต่บอกได้เลยว่าในส่วนของรายละเอียดเนื้อหาในนิยายนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความสนุก จรรโลงใจ มีสาระมากมาย ซึ่งสะท้อนความจริงแห่งชีวิต และเป็นภาพแทนของประวัติศาสตร์สังคมไทยในหลายๆ ยุคสมัย ทั้งสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายและชนชั้นศักดินาพากันตกต่ำ พ่อค้าคนจีนเติบโตร่ำรวยเป็นเศรษฐี สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคท่านผู้นำเสื่อมอำนาจ กลุ่มเสรีไทย หรือยุคของผู้มีอิทธิพลที่นิยมมีนางบำเรอจนเป็นที่กล่าวขวัญ 

ถึงแม้ว่าชะตาชีวิตของนางเอกจะรันทน หรือน่าสงสารมากแค่ไหน แต่ก็เป็นความตกระกำลำบากอย่างที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตมนุษย์ปุถุชน ไม่ใช่แนวดราม่ากับความรักอันไม่สุขสมหวังเพียงอย่างเดียว ใครได้อ่านเรื่องนี้ แล้วเข้าใจสิ่งที่นักเขียนอยากบอกกับผู้อ่าน ผมเชื่อว่าหลายๆ คนต้องได้กำลังใจในชีวิต และเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้นแน่นอน

การสอดแทรกข้อคิดการใช้ชีวิตลงในเนื้อหาอย่างไม่ยัดเหยียดจนเกินไป คือสิ่งที่ผมรู้สึกชอบในนวนิยายของม.ล.ศรีฟ้า เพราะเป็นเหมือนลายเซ็นของท่านผู้เขียน ไม่ว่าผมจะอ่านงานของท่านเรื่องไหนๆ ก็อิ่มใจเสมอ รู้สึกว่าท่านเข้าอกเข้าใจโลกในทุกๆ ด้าน และในทุกๆ มุมมองจากตัวละครที่มีความคิดความอ่านแตกต่างไป อย่างเช่น คุณช้อย พี่สาวคนหนึ่งของทาริกา ซึ่งมองชีวิตของน้องสาวสองคนเปรียบเทียบกันว่า


เมื่อยายนิ่มแต่งงาน ยายนิ่มแต่งงานกับเกียรติยศ ส่วนยายแจ๋วแกแต่งงานกับเงิน ไปๆ มาๆ มันไม่จีรังสักอย่างเดียว ไม่ว่าเกียรติยศหรือเงิน ความดีต่างหากที่จีรังยั่งยืน...


นอกจากนี้ ยังมีคำพูดของตัวละครตัวหนึ่ง ที่สะท้อนแนวคิดของคนยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมองเห็นความเปลี่ยนไปของสังคมไทย ว่าไม่ได้เชิดชูกันด้วยเกียรติยศและศักดิ์ศรีอีกต่อไป แต่เชิดชูกันด้วยเงินทองแทนว่า


สมัยนี้เอาเงินไว้ก่อนดีกว่าลูกเอ๋ย เกียรติยศน่ะมันไม่ยั่งยืนอะไรได้นานหรอก มีเงินแล้วก็มีเกียรติเอง มีเงินมากพอขวนขวยหาเกียรติประดับตัวไว้ แต่ถ้ามีเกียรติหาเงินลำบาก เพราะเกียรติมันค้ำคออยู่


ส่วนความพีคของเรื่อง ผมคิดว่าน่าจะเป็นตอนปริเยศตาย เพราะทำให้เราคาดเดาว่าทาริกาคงต้องตกเป็นจำเลยของสังคม และคงไม่ทนทุกข์ไปกว่านี้อีกแล้ว แต่กระนั้น ท่านผู้เขียนก็ยังใจดีช่วยพาทาริกาไปพบกับพระเอกขี่ม้าขาว ผู้เห็นอกเห็นใจหล่อน และมอบความสุข (เล็กๆ น้อยๆ) ในชีวิตให้แก่ทาริกาสักที แถมเขายังเป็นผู้ชายที่ดีคนหนึ่ง ซึ่งโดยภาพรวมถือว่าโอเคกว่าผู้ชายทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของทาริกา 

ความประทับใจในเรื่องนี้ คือท่านผู้เขียนไม่ได้ปั้นแต่งชีวิตที่สมบูรณ์แบบให้แก่พระเอก-นางเอก มีความสมเหตุสมผลของการดำเนินเรื่องเสมอ และไม่พาฝันไปเสียทั้งหมด ส่วนด้านสำนวนภาษายังคงถ่ายทอดได้คมคายเช่นเคย อยากให้ลองอ่านกันดูครับ โดยเฉพาะคนชอบนิยายสายพีเรียด-ดราม่า 

สุดท้ายนี้ ผมขอหยิบเอาข้อเตือนใจที่ปริวรรตกล่าวปลอบโยนทาริกามาปิดท้ายการรีวิวครั้งนี้ หวังว่าทุกคนที่กำลังมีความทุกข์จะมีพลังใจก้าวเดินต่อไป เพื่อพบกับความสุขที่รอเราอยู่ข้างหน้า เพราะแท้จริงแล้วชีวิตของเรานั้น ‘ไม่มี’ ใครกำหนดได้ดีที่สุด เท่ากับตัวเราเป็นผู้กำหนดเอง 

สวัสดีปีใหม่ 2560 ครับผม


"...บางสิ่งบางอย่างในชีวิตของเรา

ถ้าคุณหนีมันอยู่เรื่อยไปโดยไม่กล้าสู้ไม่กล้าเผชิญหน้ากับมันตรงๆ

คุณอาจจะต้องหนีมันไปจนตลอดชีวิต

ไอ้การที่จะต้องวิ่งหนีอะไรต่ออะไรไปจนตลอดชีวิต

คงไม่ใช่ของสนุกนักดอก คุณทาริกา..."

- ปริวรรต, ใครกำหนด


Jim-793009

27 : 12 : 2016




Create Date : 27 ธันวาคม 2559
Last Update : 30 มิถุนายน 2560 20:50:11 น.
Counter : 5794 Pageviews.

4 comment
ริษยา : จุลลดา ภักดีภูมินทร์





ริษยา


บทประพันธ์ : จุลลดา ภักดีภูมินทร์


ISBN 978-974-253-200-0 ฉบับปก สำนักพิมพ์เพื่อนดี. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2553.

จำนวน 456 หน้า ราคา 320 บาท




รายละเอียด

เพราะความริษยาอาฆาตแต่หนหลัง หม่อมชุลี จึงขังตัวเองอยู่ภายในวังอโยธยา หลีกหนีจากโลกและสังคมภายนอก หากแต่ความชิงชังภายในใจยังคงคุเหมือนไฟสุม ทิฐิที่มีต่อบิดา มารดา ท่านชายวงศ์ราม ผู้เป็นพระสวามี กระทั่งถึงความเกลียดชังที่มีต่อ คุณนพ-คุณชวนชื่น กรกตพงษ์ น้องเขยและน้องสาว ทำให้หม่อมชุลีเลือกทำลายหัวใจคนทั้งคู่ด้วยการสู่ขอ ชนนี หลานสาวมาแต่งงานกับ ม.ร.ว.หริพันธุ์ รามพงศ์ ลูกชายของตัวเอง ด้วยหวังให้หญิงสาวทรมาน ขมขื่นใจอยู่ภายในวังอโยธยาเหมือนกับตน เพราะคุณชายหริพันธุ์นั้นมี อบสวาท ผู้เป็นทั้งพี่เลี้ยงและชู้รัก คอบปรนนิบัติบำเรออยู่แล้ว 

ไฟริษยาจะดับลงได้ฉันใด คนจุดไฟจะคิดดับเองได้ หรือปล่อยให้มันเผาผลาญใจจนถึงลมหายใจสุดท้ายของชีวิต


...ไฟแห่งความริษยาอาฆาตเผาผลาญหม่อมชุลีมาตลอดชีวิต

ให้มีแต่ความทุกข์ความกระวนกระวายเดือดร้อน

และแล้วในที่สุดก็เผาผลาญชีวิตของหม่อมชุลีให้มอดไหม้

โดยที่ไฟริษยานั้นยังคงลุกโพลงอยู่

หาได้ดับหรือสร่างซาลงไม่...

- ริษยา


REVIEW

ริษยา ผลงานในนามปากกา จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ยกให้เป็นนวนิยายอีกหนึ่งเรื่องของม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ ที่อ่านแล้วชอบมาก อ่านแล้วลุ้น เอาใจช่วยตัวละคร อีกทั้งเนื้อหาสาระเกี่ยวกับชีวิตปุถุชนก็ยังคงอัดแน่นเหมือนทุกๆ เรื่องที่ท่านเขียน อิ่มใจครับ 

จากชื่อเรื่อง ริษยา แน่นอนว่าเรื่องราวของนวนิยายเรื่องนี้ เล่าถึงชีวิตและความริษยาอาฆาตของ หม่อมชุลี ผู้หลงผิด คิดว่าสิ่งที่ตนยึดถือคือความถูกต้อง คือความดี เมื่อเห็นว่าคนที่หม่อมชุลีมองว่าเป็นคนผิด ทำผิด กำลังได้ดิบได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ความชิงชังอย่างไร้เหตุผลนั้น เลยกลายเป็นความริษยาอาฆาตไปเสีย โดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่รู้ตัวว่า ความเครียดแค้นในใจที่เกิดขึ้น แท้จริงแล้วมันเกิดจากความอิจฉา และทนเห็นคนที่ตนเหยียดหยามได้ดีกว่าตนไม่ได้

ความริษยาที่หม่อมชุลีมีต่อครอบครัวกรกตพงษ์ เริ่มต้นเมื่อ คุณชวนชื่น น้องสาวของเธอรักกับคุณนพ ซึ่งหม่อมชุลีดูถูกว่าเป็นลูกเจ๊ก ไม่มีสกุลผู้ดี ทั้งที่เธอกับคุณชวนชื่นเป็นถึงลูกเจ้าพระยา ทำให้หม่อมชุลีกีดกันความรักของคนทั้งคู่ แต่การกระทำนั้นกลับทำให้หลายคนมองว่าหม่อมชุลีใจดำ กลายเป็นความแค้นฝังใจ พอได้มาเจอกับ ชนนี ลูกสาวของคุณชวนชื่น หม่อมชุลีจึงวางแผนให้ชนนีแต่งเข้ามาเป็นสะใภ้ของเธอ เพราะรู้แก่ใจว่าชนนีมีใจให้ หริพันธุ์ จากนั้นหม่อมชุลีก็ทำร้ายจิตใจน้องสาวและน้องเขย ด้วยการสร้างความขมขื่น ทรมานใจให้แก่ชนนี แล้วก็ได้ผลเสียด้วย 

นอกจากพล็อตหลักว่าด้วยเรื่อง ความริษยาของหม่อมชุลี แล้ว อีกประเด็นที่ผู้เขียนพยายามเน้นย้ำก็คือ การรู้จักปล่อยวางและปรับตัวให้เข้ากับสังคม เพื่อให้เรามีความสุขกับปัจจุบัน ไม่ใช่ขังตัวเองไว้กับอดีตที่ผ่านไปแล้ว ตัวละครที่สะท้อนตรงนี้ได้ดีคือ ท่านหญิงนวล ท่านน้าหญิงของหม่อมชุลี ซึ่งมียศเป็นหม่อมเจ้า แต่เลือกใช้ชีวิตอย่างคนสามัญ เป็นตัวละครที่น่ารักดีครับ นอกจากนี้ก็ได้ฝากเรื่อง ความรับผิดชอบของสามีที่มีต่อภรรยา เอาไว้ด้วย

ในเรื่องมีตัวละครเด่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น คุณหญิงวรรศิกา รามพงศ์ ลูกเลี้ยงของหม่อมชุลี ความที่เธอเป็นลูกสาวที่เกิดจากเมียบ่าว เลยเป็นที่ชิงชังของหม่อมชุลีเช่นกัน วรรศิกาถูกกักขังให้อยู่แต่ในวังอโยธยา มีนิสัยตรงไปตรงมา และออกจะปากกล้าบ้าง ทั้งที่บางครั้งก็มีนิสัยเงียบขรึม เพราะช่วงชีวิตถูกหม่อมชุลีกดขี่มาตลอด แต่วรรศิกากลับมีใจให้ ชนก กรกตพงษ์ พี่ชายของชนนี ซึ่งมีนิสัยต่างกันมาก กว่าชนกจะเข้าใจความรู้สึกที่วรรศิกามีให้เขาก็ท้ายเรื่องแล้ว 

มองรวมๆ ชนก-วรรศิกา ดูจะเป็นคู่พระ-นางของเรื่อง แต่เรื่องราวไม่เด่นเท่าคู่ หริพันธุ์-ชนนี ซึ่งมีปมปัญหาผูกพันกับหม่อมชุลี ตัวละครเอกของเรื่อง นอกจากนี้ยังมี เจตน์ เพื่อนพระเอกที่มีบทบาทเด่นมาก เพราะเป็นผู้ช่วยให้เรื่องราวคลี่คลาย อีกทั้งเจตน์ยังเป็นคนนิสัยและจิตใจดี มีทัศนคติที่ดีเสมอ แม้ว่าเขาจะผิดหวังจากการหลงรักชนนี เพราะชนนีมีใจให้หริพันธุ์ แต่เขาก็กล้ายอมรับความจริงนั้น ไม่ได้คิดริษยาแต่อย่างใด เหมือนข้อคิดที่เจตน์ตระหนักได้ในตอนจบของเรื่องว่า 


...เขายังเป็นปุถุชนอยู่ ที่จะมิให้เกิดความเสียดายอาวรณ์ในสตรีที่เคยเฝ้ารักนั้นย่อมยากนัก แต่เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสัตว์สูงกว่าสัตว์ทั้งหลาย การบังคับใจ การเอาคุณธรรมเข้าข่มความปรารถนา ย่อมเป็นสิ่งประกอบสำคัญของมนุษย์ เจตน์พยายามข่มความเสียดาย ดับความอาวรณ์นั้นให้สงบลง... 


ในความคิดเห็นของผม เจตน์ น่าจะเป็นตัวละครหนึ่งที่ตรงกันข้ามกับ หม่อมชุลี เจตน์ไม่ใช่คนหล่อ หน้าตาดี และเขาก็มีความปรารถนาในใจเหมือนคนทั่วไป แต่เมื่อผิดหวัง เจตน์เลือกข่มใจและยอมรับความจริง ต่างจากหม่อมชุลีที่พยายามเอาชนะทุกคน ทั้งที่หม่อมชุลีมีชีวิตที่ครบพร้อมกว่าเจตน์ แต่กลับเปลี่ยนความรู้สึกพ่ายแพ้เป็นไฟริษยาไม่จบสิ้น อาจเพราะอย่างนี้ บทอวสานจึงจบด้วยความคิดคำนึงและข้อคิดที่เจตน์ได้รับ 

ใครกำลังเล็งๆ อยากอ่านเล่มนี้เหมือนกัน แนะนำเลยครับ 

สวัสดีครับ


“...โกรธไป หลงไป โลภไป

ในที่สุดก็หนีไม่พ้น ต้องลงไปนอนอยู่ในโลงแคบๆทุกคน...”

- ท่านหญิงนวล, ริษยา



ม.ร.ว.วรรศิกา และ ชนก

ละคร ริษยา ทางช่อง 7 (พ.ศ.2559-2560)

Cr. BUGABOO.TV


Jim-793009 

16 : 05 : 2016




Create Date : 16 พฤษภาคม 2559
Last Update : 28 พฤศจิกายน 2560 22:31:55 น.
Counter : 4313 Pageviews.

6 comment
เจ้าหล่อน : สีฟ้า






เจ้าหล่อน


บทประพันธ์ : สีฟ้า


ISBN 974-602-418-3  ฉบับปก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2537.




รายละเอียด

เรื่องราวชีวิตและความรัก ซึ่งโลดแล่นอยู่ในโลกความจริงของเหล่าเด็กหญิงที่ครั้งหนึ่งเคยร่ำเรียน เติบโตมาด้วยกัน โดยการอบรมของครูผู้อุทิศตนเพื่อความเป็นครูอย่าง ครูซ่อนกลิ่น ผู้เคยเปรียบเปรยลูกศิษย์สาวๆ ของหล่อนเป็นเหมือนดอกไม้นานาพันธุ์ในสวน 

น้ำฝน จิตรา ออมชื่น ยิ่งแข เมรี ญาดา ฤดีมล และ ชวนชม ลูกศิษย์สาวๆ รุ่นแรกของครูซ่อนกลิ่น เมื่อจบการศึกษาจากโรงเรียนไปแล้ว ก็มีเหตุให้ชีวิตของเจ้าหล่อนทั้งหลายพลิกผันไปต่างๆ นานา ก่อนจะย้อนกลับมาพบกันอีกครั้ง เพื่อบอกเล่าภาพชีวิตและความรักของพวกหล่อน ซึ่งต่างก็นิยามกันไปตามแต่ใจตน และตามแต่ประสบการณ์ชีวิตที่เจ้าหล่อนผู้นั้นได้พานพบ


“พวกเธอเปรียบเสมือนดอกไม้หลายชนิดภายในสวน

แม้จะต่างพันธุ์ ต่างกลิ่น ต่างสี แต่ก็เป็นดอกไม้

ขึ้นชื่อว่าดอกไม้มีความงามความน่ารักทั้งสิ้น ดอกไม้เหล่านี้กำลังเจริญเติบโต

และเตรียมพร้อมที่จะบานเบ่งความงาม

หากบานเต็มที่เมื่อใดก็คงจะมีผู้มาเด็ดไปทะนุถนอมเชยชม

อาจจะไปปักอยู่ในแจกันทอง แจกันดิน หรืออาจจะถูกเด็ดไปโยนทิ้ง

ไม่มีผู้ใดทราบโชควาสนาของตน

แต่ก็อาจจะระมัดระวังตนได้ด้วยสติ ด้วยปัญญา และด้วยความรอบคอบ”

- เจ้าหล่อน


REVIEW

เจ้าหล่อน บทประพันธ์ของ สีฟ้า เคยได้รับการตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสารเดลิเมล์วันจันทร์ เมื่อปี 2499 และรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “ครูซ่อนกลิ่น” โดยสำนักพิมพ์บรรณาคารเมื่อปี 2518 และได้รับการสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง ในชื่อ ครูซ่อนกลิ่น เช่นกัน ก่อนเปลี่ยนชื่อนวนิยายเป็น “เจ้าหล่อน” ในการพิมพ์ครั้งที่ กับสำนักพิมพ์ดอกหญ้า ซึ่งมีโปรยปกที่น่าสนใจว่า...

“สีสันของนิยามความรัก แต่งเติมดวงความคิด ให้ละเอียดลออต่อความรักยิ่งขึ้น”

เจ้าหล่อน เป็นนวนิยายที่ต้องการบอกเล่ามุมมองความรัก และการเลือกทางเดินในชีวิตของผู้หญิงที่แตกต่างกันไป ผ่านตัวละครหญิงหลักๆ คน ซึ่งเคยเป็นนักเรียนหญิงร่วมชั้นเรียนกันมา โดยแบ่งเรื่องราวในนิยายเป็นตอนๆ ตามชื่อตัวละคร จึงมีลักษณะเหมือนเป็นเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องรวมกัน เพราะเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวจะจบลงในตอนของตัวเอง แต่การเรียงร้อยทุกตอนเข้าด้วยกัน ทำให้นวนิยายมีพล็อตหลัก คือ “ชีวิตและความรักของผู้หญิง” บางคนสมหวังในรัก บางคนผิดหวัง บางคนก็ค้นพบทางสงบในแบบของตัวเอง และบางคนก็บูชาความรักด้วยชีวิต


ตัวอย่าง นิยามความรักของตัวละคร (จากปกหลังหนังสือ)

น้ำฝน ความรักของเธอดุจแก้วร้าว ไม่มีวันประสานสนิทได้ดังเดิม

ญาดา ไม่ว่าเธอมอบรักให้ใคร นั่นหมายถึงรักชีวิตและวิญญาณของเขาด้วย

ออมชื่น ความรักของเธอดั่งรากแก้ว ยึดฐานแห่งการครองคู่ไว้มั่นคง แข็งแรง

เมรี เธอมีกรอบแห่งความรัก แม้คนที่เธอรักก็ไม่สามารถก้าวพ้นกรอบนั้นเข้ามาได้


เจ้าหล่อน เป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ อ่านแล้วชวนติดตามมากๆ สีฟ้าเลือกหยิบแง่มุมชีวิตและนิยามความรักของผู้หญิงที่แตกต่างกัน มาเล่ารวมกันได้อย่างลงตัว และท่ามกลางความรักของพวกหล่อน ผู้เขียนได้แทรกให้เห็นมิตรภาพ ความผูกพัน นำเสนอเรื่องย้อนกลับไปในวัยเด็กของหญิงสาวแต่ละคน เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความนึกคิดของตัวละครมากขึ้น กระทั่งชีวิตของครูซ่อนกลิ่นเอง ก็ถูกนำเสนอร่วมกับลูกศิษย์ด้วย

ตัวอย่างเรื่องย่อตอน “น้ำฝน”

น้ำฝน เป็นเด็กเรียนเก่ง หน้าตาไม่สะสวย แต่หล่อนมีจิตใจที่งดงาม เมื่อเรียนจบแพทย์น้ำฝนก็ได้แต่งงานกับ รุกข์ ชายหนุ่มผู้หล่อเหลา ดูดี เขาเลือกน้ำฝนเพราะหัวใจของหล่อน ไม่ใช่หน้าตา แต่แล้วกิเลสตัณหาของรุกข์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อถูก แจ่มศรี น้องสาวของน้ำฝนให้ท่า ในตอนแรกที่ทราบเรื่องผิดศีลธรรมของทั้งคู่ น้ำฝนเลือกอยู่ร่วมกับทั้งคู่อย่างสงบ ชโลมพวกเขาเหมือนน้ำเย็น ด้วยหล่อนยังรักรุกข์มาก แต่ท้ายที่สุดความรู้สึกที่ร้าวรานของเจ้าหล่อน ก็ไม่อาจผสานคืนได้ดังเดิม ไม่ว่ากับรุกข์หรือแจ่มศรี

วิธีดำเนินเรื่องทำให้ชีวิตของตัวละครน่าติดตาม กระตุ้นให้เราอยากรู้ว่าเจ้าหล่อนทั้งหลายจะมีจุดจบยังไง แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอเรื่องเป็นตอนๆ ดังนั้นบทสรุปของเรื่องจึงย้อนกลับไปที่ “ฉากเปิดเรื่อง” ซึ่งเป็นฉากงานรวมรุ่นของสาวๆ ก่อนผู้เขียนจะพาเราย้อนไปดูชีวิตในวันวานของเจ้าหล่อน ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นการเล่าผ่านมุมมองของครูซ่อนกลิ่นเป็นหลัก ทำให้ครั้งหนึ่งผู้เขียนได้เลือกใช้ชื่อนวนิยายว่า “ครูซ่อนกลิ่น” ส่วนชื่อ “เจ้าหล่อน” เดาว่าน่าจะมาจากผู้เขียนใช้สรรพนามแทนตัวละครหญิงว่า เจ้าหล่อน เหมือนกันทุกคนนั่นเอง

แนะนำให้ลองอ่านกันดูครับ หลายคนอาจจะชอบเหมือนกับผมก็ได้

สวัสดีครับ


Jim-793009

20 : 02 : 2016




Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 2 กรกฎาคม 2560 22:05:06 น.
Counter : 1826 Pageviews.

2 comment
1  2  3  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments