All Blog
4 ปีนรกในเขมร : ยาสึโกะ นะอิโต






4 ปีนรกในเขมร


ผู้เขียน : ยาสึโกะ นะอิโต

ผู้แปล : ผุสดี นาวาวิจิต


ISBN 974-14-0000-4 ฉบับปก สำนักพิมพ์ผีเสื้อ. พิมพ์ครั้งที่ 7. 2540

จำนวน 264 หน้า ราคา 143 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

กัมพูชา มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า ‘กัมพูเจีย’

‘กัม’ หมายถึงการเสียเปรียบในตอนแรก ‘เจีย’ แปลว่าจะดีในตอนท้าย

สองคำนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชื่อประเทศโดยตรงหรอก

แต่ฉันก็หวังว่า

สันติภาพคงจะมาถึงประเทศกัมพูชาโดยเร็วที่สุด

- ยาสึโกะ นะอิโต, 4 ปีนรกในเขมร

---------------------------------------------------------------------------------


เมื่อพูดถึง ปีนรกในเขมร เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้คงเป็นที่รู้จักอย่างมาก และในแง่ของเอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็คงได้รับการกล่าวถึงอยู่บ่อย ๆ แม้ว่าเหตุการณ์ในหนังสือจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 40 ปี แต่ความน่ากลัวและสะเทือนใจที่เคยเกิดขึ้น ยังคงติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้คนยุคนี้ เพราะเหตุการณ์กองทัพเขมรแดงที่นำโดย พอล พต หรือ พลพต เข้าปกครองประเทศกัมพูชา นับตั้งแต่ช่วงต้นปี พ.ศ.2518-2522 อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่คนกัมพูชาเข่นฆ่ากันเอง อันเป็นผลมาจากความลุ่มหลงในอุดมการณ์ทางการเมืองแบบผิด ๆ และอาจซ่อนเร้นไว้ด้วยการกระหายอำนาจของบางคน บางกลุ่ม หากแต่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น กลับมาตกแก่ประชาชนกัมพูชาจำนวนมาก ดังที่หนังสือเล่มนี้บันทึก (เพียงบางส่วน) ไว้แล้ว




พลพต (Pol Pot) ผู้นำกองทัพเขมรแดง

ยาสึโกะ นะอิโต ผู้เขียน เป็นหญิงชาวญี่ปุ่นที่ได้แต่งงานกับทูตชาวเขมรชื่อ โศ ทันลัน ทั้งสองมีลูกชายด้วยกันสองคนชื่อ โทโมรี กับ โทนี่ จากหญิงชนชั้นกลางผู้เป็นถึงอดีตภริยาท่านทูต เคยใช้ชีวิตสุขสบาย หรูหรา ท่ามกลางสังคมชนชั้นนำเขมรและต่างประเทศ ชีวิตของยาสึโกะแทบจะเปลี่ยนแปลงในทันทีที่กองทัพเขมรแดง หรือ พวกอีกา มีชัยชนะเหนือรัฐบาลลอนนอล พร้อมทั้งบุกยึดพนมเปญและออกคำสั่งให้ชาวเมืองอพยพออกจากเมืองหลวงอย่างไร้จุดหมายปลายทาง คนในครอบครัวที่ออกเดินทางไปกับยาสึโกะ นอกจากสามีกับลูกชายทั้งสอง ก็ยังมี ตีนี่ ลูกสาวที่เป็นลูกติดสามีอีกหนึ่งคน (อันที่จริงยังมีลูกชายอีกสองคนที่เป็นลูกติดสามีแต่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารแล้วไม่เคยส่งข่าวมาอีกเลย) ใครเลยจะรู้ว่า ทันทีที่ก้าวออกจากพนมเปญ หนทางข้างหน้าตลอด 4 ปีหลังจากนั้น คือนรกที่แสนทุกข์ทรมาน มันไม่ใช่นรกของยาสึโกะเท่านั้น แต่เป็นของชาวกัมพูชาอีกนับแสนชีวิต


เมื่อคืนเรานอนค้างที่โรงงานปูนซีเมนต์เก่า

พวกเราทุกคนเหนื่อยมาก แต่ก็นอนไม่หลับ เพราะมีกลิ่นของอะไรบางอย่าง

เหม็นจนบอกไม่ถูก ในตอนเช้า สามีของฉันออกไปค้นหา

ก็ได้พบว่า ในเตาเผาอิฐมีกองศพของทหารรัฐบาลลอนนอลเป็นภูเขาเลากา

ฉันคิดถึงชานาลีและโทมี่

ลูกชายสองฅนของสามีที่เกิดจากภรรยาฅนก่อน

ทั้งสองถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารอยู่แนวหน้า ไม่เคยได้รับข่าวจากเขาเลย

จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้

สามีของฉันไม่พูดอะไรถึงลูกชายทั้งสองของเขาเลย

เขาคงปลงตกเสียแล้ว

- ยาสึโกะ นะอิโต, 4 ปีนรกในเขมร


4 ปีนรกในเขมร เกิดขึ้นจากการนำเอาบันทึกส่วนตัวของยาสึโกะ นะอิโต มาตีพิมพ์เป็นหนังสือรวมกับ “บันทึกของผู้ค้นหา” ซึ่ง มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการเป็นผู้เรียบเรียงเขียนขึ้นจากจดหมาย บันทึก คำบอกเล่า และหนังสารคดี เพื่อถ่ายทอดมุมมองของ โนริโมโต โมริ ผู้สื่อข่าวที่ได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือจากยาสึโกะ และติดตามหาตัวเธอจนเจอ ดังนั้น เนื้อหาในหนังสือจึงเป็นเรื่องราวส่วนตัวและเหตุการณ์เฉพาะที่ยาสึโกะได้ประสบพบเจอมาด้วยตนเอง ไม่ได้เป็นหนังสือที่เล่าถึงสถานการณ์ทางการเมืองกัมพูชาโดยตรง ผู้อ่านจะได้รู้เห็นเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองของเขมรแดงบ้าง ก็ต่อเมื่อยาสึโกะได้ยินข่าวจากวิทยุ หรือได้ยินใครบอกเล่าให้ฟัง หากแต่สิ่งที่มีค่ายิ่งกว่าการรับรู้สถานการณ์เหล่านั้น ก็คือผู้อ่านจะเห็นภาพความทุกข์ยากของประชาชนอันเป็นผลกระทบของสงครามและการปกครองโดยเขมรแดง ทั้งความขาดแคลน ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย และความไร้ซึ่งอิสรเสรี ต่างถูกเคลือบไว้ด้วยอุดมการณ์ความเท่าเทียม ซึ่งไม่เคยมีอยู่จริง




กองทัพเขมรแดง และทหารที่เรียกว่า "อีกา"
เข้ายึดอำนาจการปกครองและกรุงพนมเปญ ในปี พ.ศ.2518


การอพยพย้ายประชาชนจากในเมืองให้ออกไปอยู่ตามชนบทเพื่อทำการเกษตร
ตามอุดมคติของระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ (Communism)


ยาสึโกะน่าสงสารมาก เคราะห์กรรมที่เธอต้องพบเจอตั้งแต่เริ่มอพยพ คือ คนในครอบครัวค่อย ๆ ทยอยตายจากไปทีละคน จนเหลือแต่เธอตัวคนเดียวที่ต้องเอาชีวิตให้รอด ซึ่งโชคดีว่ายาสึโกะเป็นคนที่รู้จักปรับตัวได้ดี อีกทั้งคนเขมรส่วนใหญ่ก็มีน้ำใจเมตตาต่อเธอมาก จึงทำให้เธอสู้จนรอดมาได้ ตลอดจนความปรารถนาที่จะกลับไปญี่ปุ่นให้สำเร็จ ก็นับเป็นอีกแรงผลักดันที่ทำให้เธอไม่ย่อท้อต่อการใช้ชีวิตตามวิถีที่พวกเขมรแดงกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ครั้งหนึ่งที่ยาสึโกะกับสามีถูกเกณฑ์ให้ขึ้นรถไฟจากโพธิสัตว์อพยพไปยังศรีโสภณ ยาสึโกะบันทึกถึงความลำบากในการอพยพครั้งนั้นว่า


30 กันยายน 2518

เมื่อคืนนี้ เราขึ้นรถไฟตอนดึก รถออกตอนเช้ามืด เป็นตู้สินค้าที่ไม่มีหน้าต่าง เรารู้สึกเหมือนเป็นสัตว์เลี้ยง ต้องแออัดยัดเยียด ร้อนก็ร้อน ประตูตู้รถเปิดอยู่ แต่มีทหารถือปืนจ้องเราทั้งบนหลังคา และข้อต่อระหว่างตู้ ถึงหนีได้ก็ไม่รู้จะไปไหน

มีฅนฉี่ราด ถ้าไม่เปิดประตูทิ้งไว้คงมีฅนตายเยอะ ผู้หญิงสาว ๆ ที่นั่งอยู่ข้าง ๆ ฉันเป็นลม ฉันก็เลยช่วยนวดให้

รถไฟแล่นผ่านพระตะบองตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้

เขาจะพาเราไปไหนกัน


เมื่อกองทัพเขมรแดงยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จ ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาการเมืองและสงครามน่าจะยุติ ความย่ำแย่ของบ้านเมืองคงจะจบลง และกลับมาดีขึ้น ชาวเมืองพนมเปญหลายคนออกไปปรบมือตอนรับการมาถึงของกองทัพอีกา แต่แล้วกลับกลายเป็นว่า แนวคิดที่พวกเขมรแดงนำเข้ามาบริหารจัดการบ้านเมืองเป็นหนทางที่นำไปสู่การกดขี่ การเข่นฆ่า และการสังหารฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างทารุณ ซึ่งผมรู้สึกว่าสิ่งที่ยาสึโกะได้บันทึกเอาไว้ อาจเบาและน้อยกว่าความทุกข์ยากที่ชาวเขมรอีกจำนวนมากต้องประสบในช่วงเวลานั้น

เงินหรือธนบัตรถูกทำให้สูญค่า ทุกคนจึงต้องใช้ข้าวของเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน คนหนุ่มสาวถูกเกณฑ์แรงงานให้ไปทำงานในที่ห่างไกลหมู่บ้าน คนแก่ถูกจัดสรรหน้าที่ให้ช่วยกันทำงานใกล้บ้าน นานวันเข้าทุกคนก็ถูกสั่งไม่ให้สะสมหรือครอบครองทรัพย์สมบัติไว้เป็นส่วนตัว ถ้าทหารตรวจค้นแล้วพบก็จะริบหมด ซึ่งในระยะหลังพวกทหารก็ทำการตรวจค้นและริบข้าวของบ่อยขึ้น จนยาสึโกะเขียนไว้ในทำนองว่า “นับวันจะยิ่งทำตัวเหมือนโจรเข้าไปทุกที” เพราะแม้แต่ข้าวปลาอาหารก็ไม่ให้ใครมีไว้ในครอบครอง ต้องยกให้ส่วนกลางหมด กับข้าวในแต่ละมื้อจะต้องมาจากการปันส่วนจากส่วนกลาง ซึ่งอาหารการกินบางช่วงก็ย่ำแย่จนเหลือแค่น้ำข้าวต้ม เมื่อเสบียงเริ่มขาดแคลนและคนเริ่มหิวโหย ไร่นาที่ชาวบ้านช่วยกันหว่านไถเพาะปลูก พวกทหารก็สั่งห้ามไม่ให้เข้าใกล้ ถ้าขัดคำสั่งก็จะฆ่าทิ้งทันที ทุกชีวิตจึงดำรงอยู่บนความหวาดระแวง




เด็ก ๆ ที่ลี้ภัยสงคราม เข้าแถวรอรับอาหาร
ภายหลังกองทัพเขมรแดงเรืองอำนาจ


ช่วงท้ายยาสึกโกะได้รู้จักกับครอบครัวครูเรียง ครูเรียงเมตตาเธอถึงขนาดยก เจีย กิมลั้ง บุตรสาวคนโตที่สนิทสนมกับยาสึโกะให้เป็นลูกสาวบุญธรรม และยาสึโกะเองก็สัญญาว่าจะรับกิมลั้งไปอยู่ด้วยกันที่ประเทศญี่ปุ่น หากว่าเธอกลับญี่ปุ่นได้สำเร็จ และแล้วการรอคอยตลอด 4 ปีก็เป็นความจริง จากการช่วยเหลือของครูเรียงและเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศเวียดนาม หลังจากเดินทางกลับถึงญี่ปุ่นได้สองเดือน ยาสึโกะบันทึกถึงความหลังในกัมพูชาอีกครั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าช่วงเวลา 4 ปีในเขมรทำให้เธอได้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต และกลายเป็นผู้หญิงที่แกร่งขึ้นอย่างมาก ดังข้อความท้ายบันทึกที่ว่า


...คำพังเพย ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’ นั้น ฉันยึดถือว่าเมื่อไปอยู่เมืองอื่น ถ้ามัวแต่คิดว่าตัวเองเป็นฅนญี่ปุ่น และวางตัวเป็นฅนญี่ปุ่นก็จะอยู่ยาก ฉันจึงต้องพยายามใกล้ชิดกับฅนทุกชั้น เป็นมิตรกับทุกฅน และพยายามทำความเข้าใจพวกเขา แม้ตอนที่ฉันทำงานไม่ได้ ทุกฅนก็ยังแบ่งอาหารให้ ปฏิบัติต่อฉันราวกับเป็นญาติของเขาฅนหนึ่ง

ครอบครัวเล็ก ๆ ที่เป็นสุขของฉันสลายไปในเวลาไม่นานแทบจะชั่วพริบตา เพราะอะไรก็ไม่รู้

การเมืองของกัมพูชาและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์เป็นเรื่องไม่แน่นอน และยากจะเข้าใจ สิ่งแน่นอนที่สุดสำหรับฉันก็คือประสบการณ์ใน 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

การที่ฉันรอดชีวิตมาได้ อาจจะเป็นการบังเอิญ หรือเป็นชะตาชีวิตของฉัน ทางเลือกมีอยู่หลายทาง ฉันคงเลือกทางที่อับโชค แต่ฉันก็รอดชีวิตมา การเข้าไปอยู่ในหมู่บ้านในชนบทห่างไกลอาจเป็นสิ่งที่ช่วยให้รอดพ้นภัยสงคราม ถ้าเผื่อสามีและลูก ๆ ยังมีชีวิตอยู่ ฉันคงไม่คิดกลับญี่ปุ่น แต่จะหนีหัวซุกหัวซุนผจญชะตากรรมร่วมกับพวกเขาต่อไป

ในขณะนี้ ชาวกัมพูชาก็คงจะยังอดอยาก หิวโหย ป่วยไข้อยู่ในภัยสงคราม มีฅนอีกมากต้องตายไป ครอบครัวครูเรียงซึ่งหนีข้ามไปฝั่งไทย และเป็นผู้มีส่วนช่วยให้ฉันได้กลับญี่ปุ่น ถูกส่งตัวกลับไปยังกัมพูชาอีกครั้ง กิมลั้งซึ่งฉันตั้งใจว่าจะได้พบอีกในกรุงเทพฯ ก็หายไป หลังจากได้พบเจ้าหน้าที่โทรทัศน์เอ็นเอชเค. ฉันยื่นเรื่องขอรับเธอเป็นลูกบุญธรรมอย่างเป็นทางการไว้กับทางสถานทูตญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ยังไม่รู้ว่าจะได้พบกันอีกเมื่อไหร่

...4 ปีที่ผ่านมา ฉันมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่ตอนนี้ต้องกลับมาอยู่ในประเทศซึ่งทุกสิ่งเป็นเงินไปหมด ฅนรอบข้างฉันต่างก็ถามฉันด้วยความเป็นห่วงว่า ฉันจะอยู่ได้อย่างไร จะทำอะไรเลี้ยงชีพ ฉันบอกตัวเองว่า จะทำเหมือนที่เคยทำมาแล้วคือ ‘เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม’


เวลาเพียง 4 ปีในเขมร ทำให้ชีวิตของยาสึโกะ นะอิโตพลิกผันไปอย่างมาก แต่เรื่องราวของเธอก็เตือนใจให้เรารู้ว่า ‘ต่อให้สิ่งเลวร้ายผ่านเข้ามาในชีวิต ตราบใดที่เราไม่ย่อท้อ เราย่อมพบหนทางสว่างอีกครั้ง’ ดังเช่นท้ายที่สุด ยาสึโกะก็ได้พบกับกิมลั้ง บุตรสาวบุญธรรมของเธออีกครั้ง และรับกิมลั้งมาอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ เรื่องราวของ เจีย กิมลั้ง เองก็ได้รับการบันทึกและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มชื่อ หนีไฟนรก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นทั้งภาคต่อและภาคขยายของเรื่อง 4 ปีนรกในเขมร ก็คงไม่ผิดนัก


Jim-793009

19 : 11 : 2017




Create Date : 19 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2560 15:47:54 น.
Counter : 11881 Pageviews.

10 comment
บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม





บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475

การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม


ผู้เขียน : ยาสุกิจิ ยาตาเบ

ผู้แปล : เออิจิ มูราชิมา และ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ISBN 978-974-323-977-9 ฉบับปก สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 2. 2557.

จำนวน 136 หน้า ราคา 145 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

สรุปแล้ว สาเหตุแท้จริง การปฏิวัติ ค.ศ.1932

ก็คือการใช้อำนาจตามอำเภอใจ และการไร้ความสามารถของการปกครอง

ของเจ้านายทั้งในทางการเมืองภายในประเทศ และในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ความไม่พอใจต่อปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำที่สะสมมามาก

และปัญหาการคลังก็เป็นชนวนระเบิด

ของการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันครั้งนี้

- ยาสุกิจิ ยาตาเบ

---------------------------------------------------------------------------------


หนังสือ บันทึกของทูตญี่ปุ่นผู้เห็นเหตุการณ์ปฏิวัติ 2475 การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม ของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผมอยากแนะนำให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้อ่าน เพราะเนื้อหาของหนังสือเป็นการมองสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศสยามยุคนั้นจากสายตาของคนนอก 

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เป็นอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยาม เข้ามารับตำแหน่งเมื่อราวปี พ.ศ.2471 เขาเล่าถึงความเป็นไปของเหตุการณ์การยึดอำนาจการปกครอง เปลี่ยนแปลงสยามจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบรัฐธรรมนูญ” และทำให้พระมหากษัตริย์กลายเป็น “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” อย่างฉับพลัน ด้วยมุมมองที่ผมรู้สึกว่า เขามองอย่างเป็นกลาง ประกอบไปด้วยข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อวิจารณ์ในประเด็นต่าง ๆ ตลอดจนเข้าใจถึงเหตุผลอันจำเป็นที่บีบคั้นให้กลุ่มหัวก้าวหน้ารีบยึดอำนาจ และเหตุผลที่ทำให้กลุ่มอำนาจเดิมเสื่อมอำนาจ ดังนั้น เรื่องราวที่นายยาตาเบบอกเล่า จึงไม่ได้แสดงความเห็นไปในทิศทางของฝ่ายอนุรักษ์นิยม หรือฝ่ายหัวก้าวหน้าแต่อย่างใด



อภิรัฐมนตรีสภา
ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูง มีหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ


แม้ว่าแรกเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะสร้างความขุ่นเคืองแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อย่างมาก แต่ความคิดเห็นส่วนตัวของนายยาตาเบ เขาเชื่อมั่นว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพอพระราชหฤทัยต่อการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นความตั้งใจของพระองค์ท่านอยู่ก่อนแล้ว ว่าจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน แต่ถึงอย่างนั้น การแย่งชิงอำนาจของคณะรัฐบาลชุดใหม่และนักการเมืองทั้งหลายก็นำไปสู่ความวุ่นวายอีกหลายครั้ง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่ถึงหนึ่งปีด้วยซ้ำ นั่นเพราะกลุ่มผู้ก่อการยึดอำนาจพระมหากษัตริย์ ทั้งทหารและพลเรือน มีหลายกลุ่มหลายความคิดมากเกินไป

การได้อ่านเรื่องราวเริ่มต้นการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญของไทย ช่วยทำให้ผมเข้าใจว่า เหตุใดสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทยจึงลุ่ม ๆ ดอน ๆ อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะให้ออกความคิดเห็น ผมคงเปรียบเทียบการเมืองยุคประชาธิปไตยของไทยว่าเปรียบเสมือนต้นไม้ที่รากเหง้าไม่แข็งแรงแต่แรก ลำต้นและใบจึงอ่อนแอ การผลิดอกออกผลเลยไม่สมบูรณ์ 

ยาสุกิจิ ยาตาบา ได้แบ่งเนื้อหาภายในหนังสือตามเหตุการณ์ปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม ซึ่งเขาได้พบเห็นออกเป็น 3 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 คือ การยึดอำนาจพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ และเจ้านายมีอำนาจทางการเมืองมากเกินไป



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม


ครั้งที่ 2 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทำการรัฐประหารปิดสภาผู้แทนราษฎร และประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา จากนั้น กระทำการบีบบังคับ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ให้เดินทางออกนอกประเทศ โดยอ้างความชอบธรรมว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นพวกหัวก้าวหน้ารุนแรง ซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของสยามไปในทิศทางของลัทธิคอมมิวนิสต์



พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย

ครั้งที่ 3 การยึดอำนาจและปฏิวัติคณะรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำการปฏิวัติ และมีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า โดยอ้างความชอบธรรมว่า คณะรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาพยายามทำลายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ด้วยการประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา และไม่จัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนด ซึ่งยาสุกิจิ ยาตาเบ แสดงความคิดเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้คณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาถูกโค่นล้มว่า


“สาเหตุหนึ่ง คือ รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดามีความผิดพลาดอย่างสิ้นเชิงในการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของพวกทหาร ข้อที่สอง รัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดาไม่สามารถประเมินจิตใจของประชาชน ความเข้าใจของรัฐบาลชุดเก่าที่ว่า ประชาชนไทยมีลักษณะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นนิสัยประจำชาติ ข้อสรุปอันนี้มีส่วนถูกต้องอยู่ หากตั้งแต่เมื่อมีการปฏิวัติปีที่แล้ว (พ.ศ.2475) จิตใจของประชาชนได้เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว...รัฐบาลปฏิกิริยาของพระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทั้ง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว...เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้หมดความหวังต่อประชาชนทั่วไป และทำให้เกิดความแค้นเคืองของฝ่ายคณะราษฎรอีกด้วย รัฐบาลชุดเก่าได้เลื่อนเวลาเลือกตั้ง มีความหมายเท่ากับเป็นการตีตราว่าตนเองเป็นผู้ทำลายรัฐธรรมนูญ...”




พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)
หนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ และนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย

ภายในหนังสือยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่น่าสนใจ เนื้อหาตลอดทั้งเล่มค่อนข้างอ่านสนุก ไม่ได้เต็มไปด้วยข้อมูลวิเคราะห์เชิงวิชาการเท่าใดนัก แต่เป็นเหมือนบันทึกที่เจ้าของเล่าให้ผู้อ่านฟังอย่างกันเอง ลำดับความเข้าใจง่าย น่าเสียดายที่นายยาตาเบเล่าเอาไว้ถึงแค่ตอนพระยาพหลพลพยุหเสนาเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเขามองว่า “มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งคณะรัฐบาลปกครองประเทศตามระบอบรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีการปรับเปลี่ยนอยู่หลายครั้ง แต่พระพหลพลพยุหเสนาก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับความไว้วางใจของประชาชนจนถึงปัจจุบันนี้ (พ.ศ.2479)” แต่ถ้าหากเขาได้เฝ้าสังเกตสถานการณ์ทางการเมืองของสยามต่อไปอีก ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าเขาจะถ่ายทอดความเปลี่ยนแปลงในสมัยต่อ ๆ มาว่าอย่างไรบ้าง

สำหรับใครที่อยากทำความเข้าใจสถานการณ์การปฏิวัติ พ.ศ.2475 ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งเล่มที่พลาดไม่ได้ จำนวนเนื้อหากำลังพอดี ไม่มากเกินไป เราสามารถนำไปต่อยอดได้อีก ท้ายเล่มมีบทแทรกสุนทรพจน์ของ อัตสุฮิโกะ ยาตาเบ บุตรของ ยาสุกิจิ ยาตาเบ ซึ่งกล่าวปาฐกถาเรื่องชีวิตและผลงานของยาสุกิจิ ยาตาเบ และความผูกพันที่เขามีต่อประเทศไทย เนื้อหาดี อ่านเพลิน และจบอย่างซาบซึ้งทีเดียว


Jim-793009

30 : 10 : 2017




Create Date : 30 ตุลาคม 2560
Last Update : 31 ตุลาคม 2560 5:59:11 น.
Counter : 2088 Pageviews.

7 comment
พระเจ้าตาก เบื้องต้น : ปรามินทร์ เครือทอง






พระเจ้าตาก เบื้องต้น


ผู้เขียน : ปรามินทร์ เครือทอง


ISBN 978-974-02-1247-8 ฉบับปก สำนักพิมพ์มติชน. 2557.

จำนวน 196 หน้า ราคา 150 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก

จึงเป็นแค่บทยุติเรื่องพระเจ้าตากในพระราชพงศาวดาร

แต่ประวัติศาสตร์ความสงสัยและปริศนาพระเจ้าตาก ยังคงดำเนินต่อไป

- พระเจ้าตาก เบื้องต้น

---------------------------------------------------------------------------------




เมื่อกล่าวถึง พระเจ้าตากสิน นอกจากในฐานะวีรบุรุษกู้กรุงศรี จนได้ขึ้นเป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็คงหนีไม่พ้นประเด็นที่พระองค์ทรงสติฟั่นเฟือน นำไปสู่ความโกลาหลวุ่นวายของบ้านเมือง กระทั่งเจ้าพระยาจักรีหรือเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) สั่งประหารชีวิต แล้วปราบดาภิเษกเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ สถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมาปกครองดินแดนสยามแทน ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วยรู้จักเรื่องนี้จากบทเรียนวิชาประวัติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ และจดจำเอาไว้แค่นั้น โดยไม่ได้กลับไปหาอ่านพระราชพงศาวดาร ซึ่งเป็นหลักฐานหลักสำคัญ เพื่อลำดับเรื่องราวความเป็นมาให้เข้าใจเรื่องพื้นฐานเสียก่อนจะปักใจเชื่อตามบทเรียนทั้งหมด 

หนังสือ พระเจ้าตาก เบื้องต้น ของ ปรามินทร์ เครือทอง เป็นหนังสือรวบรวมหลักฐาน และช่วยลำดับเรื่องราวโดยย่อเกี่ยวพระเจ้าตากสิน ที่ปรากฏชัดมาแต่ปลายกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงธนบุรี เพื่อปูพื้นฐานข้อมูล อันไม่ใช่ข้อสรุป ให้ผู้อ่านที่สนใจได้ทบทวน และติดตามปริศนากรณีพระเจ้าตากสินอย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งข้อดีที่ผมชอบมาก ๆ คือหนังสือช่วยสรุปใจความสำคัญ ทำให้เราเห็นความเป็นมาของพระเจ้าตากสินจากพระราชพงศาวดารชัดขึ้น โดยที่เราไม่ต้องไปหาอ่านพระราชพงศาวดารหลาย ๆ เล่มเอง แต่ถ้าใครอยากค้นคว้าให้ลึกซึ้ง ละเอียดยิ่งขึ้น ก็สามารถย้อนกลับไปสืบค้นตามแหล่งที่มาของข้อมูลได้



“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้ชาติ” วาดโดย สนั่น ศิลากรณ์

Cr. ขอบคุณภาพจาก matichonweekly.com


นอกจากนี้ ผู้เขียนค่อนข้างเก่งในการนำข้อความในพระราชพงศาวดารมาร้อยเรียงเป็นลำดับเรื่องราว แยกเป็นบท เป็นประเด็นให้เราค่อย ๆ ติดตามได้อย่างสนุก และลุ้นระทึก แทรกด้วยบทวิเคราะห์เปรียบเทียบหลักฐานชิ้นต่าง ๆ ที่ชวนให้ขบคิดอย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีพระเจ้าตากสินเป็นคนเชื้อสายจีน ก็มีหลายหลักฐานที่กล่าวถึงที่มาก่อนจะได้เป็นพระยาตาก (เจ้าเมืองตาก) แตกต่างกันออกไป 

กรณีพระเจ้าตากเคร่งครัดและเอาจริงเอาจังกับการทรงพระกรรมฐาน จนกลายเป็นคนสติฟั่นเฟือน ซึ่งชวนให้คิดว่า คำว่า สติฟั่นเฟือน ในเอกสารเก่า อาจไม่ได้แปลว่า “ทรงบ้า” ก็ได้ หากแต่ข้อกล่าวหาที่ตัดสินกันว่า พระเจ้าตากทรงเป็นบ้า เป็นการตีความของคนสมัยหลังแท้ ๆ

หรือจะเป็นกรณี กบฏพระยาสรรค์ ซึ่งนำไปสู่การปราบจลาจลของเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เกิดขึ้นจากการวางแผนการล่วงหน้า (ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน) หรือไม่ อย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด หากแต่ร่องรอยในพระราชพงศาวดารก็ชวนให้เราขบคิด สันนิษฐานกันไป




อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน จังหวัดจันทบุรี
เคยปรากฏอยู่บนธนบัตรไทย


ความน่าพิศวงของพระราชพงศาวดารและหลักฐานเอกสารต่าง ๆ นั้น คือเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจยึดเป็นข้อสรุปได้ในทันที แต่สามารถเป็นลายแทง ที่ซุกซ่อนข้อเท็จจริงต่าง ๆ เอาไว้มากมาย ทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุกไปอีกแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับ ‘กรณีพระเจ้าตาก’ ซึ่งพระราชพงศาวดารฟันธงแล้วว่า ทรงถูกประหารชีวิต ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ความว่า


“ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิต ตัดศีรษะเสียถึงแก่พิราลัย จึงรับสั่งให้เอาศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้ และเจ้าตากสินขณะเมื่อสิ้นบุญถึงทำลายชีพนั้น อายุได้สี่สิบแปดปี”


แต่ถึงกระนั้น ยังมีคนในสมัยหลังอีกมากมาย เชื่อถือกันว่า พระเจ้าตากมิได้ถูกประหารชีวิตจริง ๆ แต่ทรงหนีไปประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช และสิ้นพระชนม์ที่นั่น ซึ่งประเด็นดังกล่าวสามารถอ่านต่อกันได้ในส่วนของภาคผนวกท้ายเล่มครับ

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่อง “การยกสถานะความเป็นเจ้า” เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองแผ่นดิน เป็นที่ทราบกันว่าภายหลังกรุงศรีอยุธยาแตก มีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ของกรุงศรีอยุธยาและผู้คนจำนวนมาก (บางเอกสารว่านับแสนคน) ถูกเกณฑ์ไปอยู่พม่า และมีขุนนาง ผู้คน เจ้านายบางส่วนเท่านั้น ที่ยังคงอยู่ในแผ่นดินสยาม แล้วพยายามแยกตัวออกเป็นก๊ก บางคนก็สถาปนาตนขึ้นเป็นเจ้าปกครองดินแดนเล็ก ๆ ตามหัวเมืองสำคัญต่าง ๆ ทำให้ความเป็นปึกแผ่นของราชอาณาจักรแต่เดิมสูญสลาย




ภาพจิตรกรรม ตอนกรุงศรีอยุธยาแตก

มุมขวาของภาพ คือกองทัพพระยาตากกำลังตีฝ่าวงล้อมของข้าศึก หนีออกจากกรุงศรีอยุธยา

Cr. ขอบคุณภาพจาก อาคารภาพปริทัศน์อนุสรณ์สถานแห่งชาติ


น่าสังเกตว่าความเป็นเจ้าสมัยก่อน ดูเหมือนจะกระทำกันได้ง่าย ๆ หากแต่สถานะเจ้าจะคงอยู่ได้ หรือมีผู้คนเคารพน่านับถือ ก็ต่อเมื่อพิสูจน์ให้ผู้ใต้ปกครองเห็นว่า ตนมีความสามารถเป็นผู้นำ มีอำนาจบารมีเป็นที่น่ายำเกรง รบทัพจับศึกเก่งกาจ และยกยอพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ซึ่งผู้นำหลายคนในยุคหลังกรุงศรีอยุธยาแตกพยายามจะทำเช่นนั้น บ้างสำเร็จ บ้างก็ถูกปราบ พระเจ้าตากสินเองก็เป็นสามัญชน ถึงแม้จะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตาก กินตำแหน่งเจ้าเมืองตาก แต่โดยสถานะก็มิได้เป็นเจ้านาย แต่พระองค์ทรงตระหนักถึงความสำคัญว่า การจะรวบรวมแผ่นดินให้เป็นบึกแผ่นเหมือนสมัยกรุงศรีอยุธยา จำเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์ต้องตั้งตนเป็นเจ้า โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็น ‘พระเจ้า’ อย่างสมบูรณ์ ให้สมดังเช่นที่พระองค์ได้เคยประกาศเจตนารมณ์ว่าจะกู้กรุงศรีอยุธยา ความว่า


“ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข แล้วจะยกยอพระบวรพระพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย”


ใครสนใจประวัติศาสตร์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ ผมแนะนำให้ลองหาหนังสือ พระเจ้าตาก เบื้องต้น มาอ่านกันดูครับ น่าจะมีประโยชน์ในแง่ของการปูพื้นฐานความรู้จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ เพื่อให้เราไปเสาะหาหลักฐานอื่น ๆ ต่อยอดความสนใจออกไปได้อีกมาก


Jim-793009

11 : 10 : 2017




Create Date : 11 ตุลาคม 2560
Last Update : 11 ตุลาคม 2560 1:03:36 น.
Counter : 4099 Pageviews.

6 comment
ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน Thibaw’s Queen






ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน

Thibaw’s Queen


ผู้เขียน : H. Fielding

ผู้แปล : สุภัตรา ภูมิประภาส และ สุภิดา แก้วสุขสมบัติ


ISBN 978-974-02-1501-1 ฉบับปก สำนักพิมพ์มติชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2559.

จำนวน 254 หน้า ราคา 200 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

ใครก็ตามที่รู้จักพระนาง

จะรู้สึกได้เพียงสองประการเท่านั้น

ถ้าไม่รักตราบนิรันดร์

ก็จะชิงชังพระนางเหมือนที่บุรุษเกลียดและกลัวความตาย

เพราะพระนางทั้งทิฐิแรงและโหดเหี้ยม

- ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน

---------------------------------------------------------------------------------




ผมเชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ราชินีศุภยาลัต กันมาบ้างแล้ว จากหนังสือสารคดีที่โด่งดังมากเรื่องหนึ่งของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นั่นคือ พม่าเสียเมือง หรือถ้าใครสนใจงานศึกษาประวัติศาสตร์พม่าก็คงจะเคยเห็นพระนามของพระนางผ่านตากันมาบ้าง แต่ล่าสุดที่ทำให้พระนามของพระนางเป็นที่กล่าวถึงในเมืองไทยอีกครั้ง ก็คือ เพลิงพระนาง และ รากนครา ที่หยิบเอาคาแรคเตอร์บางอย่างของราชินีศุภยาลัตมาทำเป็นละคร นำเสนอถึงความโหดเหี้ยมอันเป็นที่ร่ำลือมานาน จนใครได้ฟังก็หวาดกลัว แต่พระนางทรงเป็นอย่างนั้นแน่หรือ ทรงโหดเหี้ยมอย่างไร้เหตุผล หรือทรงมีเหตุผลอะไรที่ทำให้พระนางถูกเล่าขานเช่นนั้น 

หนังสือ ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน (Thibaw’s Queen) ของ H. Fielding ก็บอกเล่าถึงความห้าวหาญและโหดร้ายของพระนางเหมือนกับหนังสืออื่น ๆ ผมเองเริ่มต้นอ่านด้วยความไม่ยอมรับตัวตนที่พระนางทรงเป็น ต่อเมื่อได้อ่านหนังสือจนจบเล่มแล้ว ผมกลับมีความรู้สึกที่แตกต่างออกไป คือ เข้าใจถึงเหตุผลและที่มาของความโหดร้ายของราชินีศุภยาลัต อีกทั้งรู้สึกสงสารพระนางมากกับวาระสุดท้ายในฐานะราชินี ทว่าภายใต้การตัดสินใจผิดพลาดที่นำไปสู่สงครามและการล่มสลายของอาณาจักรพม่า พระนางศุภยาลัตได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเลือดขัตติยะอย่างแท้จริง เพียงแต่น่าเสียดายที่พระนางไม่ทรงรู้เท่าทันโลกสมัยใหม่เลย ไม่อย่างนั้นพระนางอาจจะช่วยพระเจ้าธีบอรักษาบัลลังก์และอาณาจักรเอาไว้ได้



พระเจ้าธีบอ และ พระนางศุภยาลัต


พระนางศุภยาลัตประทับบนสีหบัลลังก์ร่วมกับพระเจ้าธีบอ

หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1899 (พ.ศ.2442) เขียนโดย นายแฮโรลด์ ฟีลดิ้ง-ฮอลล์ (Harold Fielding-Hall) ซึ่งเดินทางเข้ามาใช้ชีวิตในพม่าตั้งแต่ปี ค.ศ.1878 และทำงานอยู่ในเขตพม่าตอนบนจนถึงปี ค.ศ.1885 ซึ่งอังกฤษทำสงครามยึดกรุงมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ เขาจึงเป็นชาวต่างชาติคนหนึ่งที่มีชีวิตร่วมสมัยและได้รู้เห็นเหตุการณ์สำคัญในครั้งนั้น 

สิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจยิ่งขึ้น คือ ผู้เขียนได้เรียบเรียงบทสัมภาษณ์จากนางกำนัลคนหนึ่งของราชินีศุภยาลัต มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้เราได้อ่านกัน เพื่อให้ผู้อ่านได้สัมผัสตัวตนของพระนางในแบบที่นางกำนัลเคยสัมผัส สลับกับการเล่าเหตุการณ์สำคัญจากมุมมองที่นายฟีลดิ้ง-ฮอลล์พบเห็นและรับรู้มาด้วยตนเอง

หนังสือ Thibaw’s Queen จึงช่วยเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับราชินีองค์สุดท้ายของอาณาจักรพม่าให้เราได้ศึกษา และทำความรู้จักพระนางใหม่อีกครั้ง อันเป็นมุมมองจากคนใกล้ชิด ไม่ใช่มุมมองจากคนนอกที่มองเข้ามาเพียงอย่างเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ผมยังยืนยันว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงพูดถึงทิฐิและความเด็ดขาดของพระนางอยู่เช่นเดิม หากแต่เป็นการเล่าใหม่ ผ่านสายตาของอดีตนางกำนัลที่รักและชื่นชม “มิพญา” ของนางอย่างยิ่ง

เมื่อได้อ่านจนถึงบทสุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนอาจคิดเห็นตรงกันว่า แท้จริงแล้วพระนางศุภยาลัตมิได้โหดร้าย เพราะมุ่งหวังในพระราชอำนาจ หรือต้องการเป็นพระราชินี แต่ความโหดร้ายเด็ดขาดของพระนางเป็นผลสืบเนื่องมาจากความรักและภักดีต่อพระเจ้าธีบอ ผู้เป็นพระสวามีอย่างมาก ดังความเห็นของนางกำนัลที่บอกเล่าเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า


“...หากพระนางเกลียดผู้ใดก็จะไม่มีวันให้อภัยเด็ดขาด สองสิ่งที่พระนางจะไม่มีวันยอมโอนอ่อน นั่นคือความพยายามใด ๆ ที่จะพรากพระเจ้าอยู่หัวไปจากพระนาง และการจาบจ้วงใด ๆ ต่อพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว เมื่อใดก็ตามที่พระนางระแคะระคายว่ามีหญิงใดพยายามจะเข้ามาแทรกกลางระหว่างพระนางกับพระเจ้าอยู่หัว พระนางจะแสดงอาการเหมือนคนคลุ้มคลั่งและสามารถทำได้ทุกอย่าง เมื่อมีผู้ใดพยายามบั่นทอนพระราชอำนาจหรือพระเกียรติยศของพระเจ้าอยู่หัว พระนางจะไม่มีวันปล่อยให้เกิดขึ้นได้เด็ดขาด ทรงยอมตายเสียดีกว่าจะทนกับเรื่องเช่นนี้...”



พระนางศุภยากะเล พระนางศุภยาลัต และ พระเจ้าธีบอ

พระนางศุภยากะเลทรงเป็นพระขนิษฐาองค์เล็กร่วมพระราชชนนีกับพระนางศุภยาลัต

ทรงถูกพระพี่นางบังคับให้อภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าธีบอ

เพื่อทำลายแผนล้มล้างราชบัลลังก์ของพระนางซินผิ่วมะฉิ่นหรือพระนางอเลนันดอ (พระราชชนนี)

Cr. ขอบคุณภาพลงสีจากเพจ S.Phormma's Colorizations


ความเป็นไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในเล่ม มักเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นเพราะ “สองสิ่ง” ที่นางกำนัลบอกเอาไว้ คือความหึงหวงพระสวามี ไม่ปรารถนาจะให้พระองค์มีหญิงอื่นใด และความโกรธอันเนื่องมาจากมีคนคิดล้มล้างหรือบั่นทอดความมั่นคงของราชบัลลังก์พระเจ้าธีบอ ซึ่งผู้เขียนถ่ายทอดไว้อยากสนุก ชวนอ่าน ชวนติดตามตลอดทั้งเล่ม จนแถบวางไม่ลงเลยครับ



พระนางศุภยากะเล (เจ้าหญิงเล็ก)

ประทับบนตั่งร่วมกับพระนางศุภยาลัตและพระเจ้าธีบอ (พระสวามี)


แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่นำไปสู่การล่มสลายของอาณาจักรพม่า ก็มาจากความมุทะลุของพระนางศุภยาลัต ที่ทะนงว่ากองทัพพม่านั้นเกรียงไกร และพระนางไม่อาจทนเห็นอังกฤษหมิ่นพระเกียรติพระสวามีได้ นับแต่เรื่องโกงสัมปทานป่าไม้ ลามไปถึงข้อตกลงที่อังกฤษเตรียมกดขี่ข่มเหงพม่า พระนางจึงเห็นด้วยกับการทำศึกสงครามกับอังกฤษ (สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่สาม) ทว่าในทางกลับกัน ความร้ายกาจและพระราชอำนาจของพระนางที่นับวันจะอยู่เหนือพระเจ้าธีบอ ก็ทำให้ขุนนางข้าราชบริพารต่างหวาดกลัว จนไม่มีใครกล้ากราบทูลความจริงถึงแสนยานุภาพของกองทัพเรืออังกฤษ ที่กำลังเคลื่อนผ่านแม่น้ำอิรวดีเข้ามาโจมตีถึงกำแพงพระนคร และยึดเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จอย่างง่ายดาย กระทั่งพระนางศุภยาลัตได้ทราบความจริง ว่าอังกฤษได้นำกองทัพเข้าพระนครแล้ว จึงทรงตระหนักได้ถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจของพระนาง ซึ่งนางกำนัลบอกเล่าแก่ผู้เขียนเอาไว้อย่างน่าสงสารมากว่า


“...แล้วจู่ ๆ พระนางก็ทรุดพระวรกาย หมอบซบพระพักตร์ลงกับพื้น ทรงกันแสง พระเกศารุ่ยร่าย น้ำพระเนตรอาบพระพักตร์...พระนางหยัดตัวขึ้นมาอยู่ในท่าคุกเข่า ยกพระหัตถ์ทุบพระอุระ ร้องฟูมฟายเสียงดังว่าพระนางคนเดียวที่นำความหายนะมาสู่พระเจ้าอยู่หัวและแผ่นดิน ‘ข้า-ข้าคนเดียวที่นำความพินาศมาสู่พระเจ้าอยู่หัว พระสวามีของข้า และราษฎรของข้า เพราะข้า-ข้าคนเดียวเท่านั้น’ จากนั้นทรงทุ่มพระองค์ลงไปบนพื้นอีกครั้งและทุบพื้น พระวรกายสั่นเทาด้วยแรงสะอื้น...พวกเราใจสลายที่เห็นพระนางเป็นเช่นนี้...”


นี่คือ การปิดฉากพระนางศุภยาลัตในฐานะราชินีองค์สุดท้ายของราชวงศ์คองบองและอาณาจักรพม่า ซึ่งอยู่เคียงข้างราชบัลลังก์ของพระเจ้าธีบอได้เพียง 7 ปีเท่านั้นเอง หากต้องสรุปว่าพระนางโหดร้ายจริงหรือไม่ ส่วนตัวแล้วผมมองว่าพระนางเป็นหญิงที่ห้าวหาญ เด็ดขาด ถืออารมณ์และความต้องการส่วนพระองค์เป็นใหญ่มากกว่า ไม่ได้เข้าทำนอง “ราชินีกระหายเลือด” แต่อย่างไรเลย และที่ทรงตัดสินใจทำไปแต่ละอย่าง แม้กระทั่งคิดสู้กับอังกฤษ ก็เพราะทรงรักและภักดีต่อพระสวามีมากเหลือเกินนั่นเอง


บรรยากาศบริเวณท่าเรือ 
เมื่ออังกฤษนำเรือมารับพระเจ้าธีบอและราชินีศุภยาลัตเชิญเสด็จไปยังเมืองรัตนคีรี ประเทศอินเดีย

พระนางศุภยาลัตสิ้นพระชนม์อย่างสงบ ณ เมืองย่างกุ้ง
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ.1925 (พ.ศ.2468) ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา

ใครสนใจเรื่องราวของ ราชินีศุภยาลัต หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งเล่มที่พลาดไม่ได้ ยิ่งใครกำลังอินกับ รากนครา เมืองมัณฑ์ และ ราชินีปัทมสุดา ต้องลองมาอ่าน เพราะมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจมากมาย แล้วเราจะสังเกตเห็นเลยว่า ละครพยายามหยิบเกร็ดพระราชประวัติของพระนางออกมาถ่ายทอดให้มากที่สุด ตลอดจนเติมแต่งความน่ากลัว น่าเกรงขาม และความโหดเหี้ยมของพระนางให้ชัดเจน จนกลายเป็นกระแสฮือฮากันอีกครั้งต่อจากเพลิงพระนาง

สำหรับผม รู้สึกประทับใจมากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะทำให้เรามองพระนางศุภยาลัตอย่างเข้าใจ และเป็นกลางมากขึ้น ต่างจากแต่ก่อนที่รู้สึกไม่ชอบความร้ายกาจของพระนางเอาเสียเลย ซึ่งความรู้สึกดังกล่าว น่าจะตรงตามคำพูดของนางกำนัลเจ้าของเรื่องที่บอกว่า “...ใครก็ตามที่รู้จักพระนาง จะรู้สึกได้เพียงสองประการเท่านั้น ถ้าไม่รักตราบนิรันดร์ ก็จะชิงชังพระนางเหมือนที่บุรุษเกลียดและกลัวความตาย...”


Jim-793009

04 :10 : 2017





Create Date : 04 ตุลาคม 2560
Last Update : 5 ตุลาคม 2560 16:44:34 น.
Counter : 5020 Pageviews.

6 comment
เอลิซาเบธที่ 2 แน่วในปณิธาน ELIZABETH II: The Steadfast






เอลิซาเบธที่ 2 แน่วในปณิธาน

ELIZABETH II: The Steadfast


ผู้เขียน : Douglas Hurd

ผู้แปล ธงทอง จันทรางศุ และ นรชิต สิงหเสนี


ISBN 978-616-7982-12-0 ฉบับปก สำนักพิมพ์โอเพ่นโซไซตี้. 2559.

จำนวน 224 หน้า ราคา 265 บาท


---------------------------------------------------------------------------------

ในที่สุดแล้ว ด้วยวิถีประชาธิปไตย

สถาบันพระมหากษัตริย์จะธำรงอยู่ได้ก็ด้วยความภักดีของประชาชน

คำว่า ‘ภักดี’ นี้อาจมีความหมายได้หลายนัย

แล้วแต่สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง

เราสามารถที่จะภักดีต่อพ่อแม่ของเรา

ต่อพี่สาวน้องสาวของเรา ต่อลูกจ้างของเรา และต่อเพื่อนของเรา

ความภักดีที่เชื่อมโยงระหว่างเรากับสถาบันพระมหากษัตริย์มีลักษณะเฉพาะ

เพราะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์เชิงครอบครัว

หรือเชิงวัตถุแต่อย่างใด

- เอลิซาเบธที่ 2 แน่วในปณิธาน

---------------------------------------------------------------------------------




ในบรรดาสถาบันพระมหากษัตริย์ทั่วโลก ราชวงศ์อังกฤษน่าจะเป็นหนึ่งในราชวงศ์ที่ยืนยงมานานท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกและยุโรป เพราะในขณะที่สถาบันพระมหากษัตริย์ในดินแดนเก่าแก่ทั่วยุโรปล่มสลาย อังกฤษเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศ ที่สามารถดำรงสถานะพระมหากษัตริย์ให้คงเป็นประมุขสูงสุดของประเทศเอาไว้ได้ แม้ว่าพระราชอำนาจที่เคยมีมาแต่โบราณจะสูญสิ้น จนเหลือเพียงการเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของประเทศที่มีอารยธรรมมาอย่างยาวนาน แต่ถึงอย่างนั้น คุณค่าของการเป็น “พระราชวงศ์” ซึ่งมีความพิเศษต่างจากความเป็นสามัญชน กลับยังเป็นศูนย์รวมจิตใจอันสำคัญของประชาชนชาวอังกฤษเรื่อยมา

ผมสนใจเรื่องราวของราชวงศ์อังกฤษ ไม่น้อยไปกว่าราชวงศ์ไทยและเอเชียอื่น ๆ และที่สนใจยิ่งกว่าประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง ก็คือพระราชประวัติส่วนพระองค์ของเชื้อพระวงศ์ทั้งหลาย หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ซึ่งปกครองอังกฤษมานานกว่าหกทศวรรษ หนังสือ เอลิซาเบธที่ 2 แน่วในปณิธาน (ELIZABETH II: The Steadfast) ของ ดักลาส เฮิร์ด ถ่ายทอดเรื่องราวของพระองค์ผ่านมุมมองของอดีตนักการเมืองสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยม และรัฐมนตรีคนสำคัญในหลายกระทรวง ซึ่งนำเสนอพระราชประวัติและพระราชจริยวัตร ที่ผู้เขียนได้รับรู้ ได้สัมผัสมาด้วยตนเอง สิ่งแรกที่รู้สึกได้ตลอดการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ ผู้เขียนเป็นข้าราชบริพารที่รักและภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธอย่างยิ่ง 



พระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชินีเอลิซาเบธ และพระราชธิดาทั้งสองพระองค์


เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ และ เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเรต (พระขนิษฐา)

เนื้อหาในหนังสือ เริ่มต้นเล่าถึงพระชะตาอันพลิกผันของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ที่ต้องขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษแทนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ผู้เป็นพระเชษฐา ทำให้เจ้าหญิงน้อยเอลิซาเบธ หรือ ลิลิเบท ต้องกลายเป็นเจ้าหญิงรัชทายาทโดยปริยาย แล้วชีวิตอันแสนเรียบง่ายของพระองค์ก็เปลี่ยนไป จนกระทั่งถึงคราวสวมมงกุฎขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถสืบต่อจากพระราชชนก



เจ้าฟ้าหญิงเอลิซาเบธ ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ


เรื่องราวในหนังสือ ผู้เขียนหยิบยกเหตุการณ์สำคัญ ๆ มากมายอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระราชินีนาถมาเล่าร้อยเรียงกัน แบ่งความสำคัญเป็นบท ๆ เข้าใจง่าย แม้ว่าจะมีการเล่าสลับช่วงเวลากันบ้าง จนเกิดเป็นภาพรวมของรัชสมัยที่น่าสนใจ ผมคิดว่า ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ คือ ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ และความท้าทายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างมากมายตลอดรัชสมัย สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงดำรงพระองค์เช่นไร และแน่วแน่ในปณิธานอย่างไร จึงผ่านพ้นทุกช่วงเวลามาได้ จนกระทั่งผู้เขียนกล่าวสรุปในทำนองว่า ในยุคสมัยของพระองค์ ระบอบกษัตริย์ในฐานะที่เป็นสถาบัน ได้หยั่งรากลึกลงอย่างมั่นคงแล้วบนแผ่นดินอังกฤษผืนนี้



พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1953



สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ


การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราเข้าใจได้เลยว่า การเป็นพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งการเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญด้วยแล้ว ย่อมสูญสิ้นพระราชอำนาจที่แท้จริง คงไว้เพียงการถูกเคารพนับถือในฐานะกษัตริย์เท่านั้น และสำคัญยิ่งกว่า คือ การวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง ไม่แสดงท่าทีเลือกข้างจนกลายเป็นการชี้นำมวลชน เราเห็นถึงพระราชจริยวัตรเหล่านั้นแล้วอดชมเชยไม่ได้ว่า ทรงมีความอดทนยิ่งที่จะไม่ทำตามพระราชหฤทัย แต่จะทรงไตร่ตรองการตัดสินพระทัยในเรื่องต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วนเสมอ ทั้งนี้ ทุกคนทั่วโลกคงทราบดีแล้วว่า แผ่นดินอังกฤษในยุคที่ปกครองด้วยสมเด็จพระราชินีนาถ ล้วนแต่เป็นยุคทองของอังกฤษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ทรงดำรงพระองค์อย่างเหมาะสมและชาญฉลาด จนผู้เขียนชื่นชมผ่านข้อความตอนหนึ่ง ในบทที่ 11 A Time For Rejoicing สมโภชสมัย ความว่า 


พระราชวงศ์วินด์เซอร์เองก็ได้เรียนรู้บทเรียนหลายบท สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองมาตลอดอย่างแทบไม่มีใครสังเกตเห็น โดยพระอุปนิสัยตามธรรมชาติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธมิใช่นักปฏิรูป มิพักต้องเอ่ยถึงการเป็นนักปฏิวัติ หากแต่ทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่าต้องทรงปรับเปลี่ยนเมื่อถึงคราวจำเป็น ถ้าหากพระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงได้เรียนรู้บทเรียนเหล่านี้ก่อนหน้า บางทีอาจทรงรักษาอาณานิคมอเมริกาเอาไว้ได้ ถ้าหากพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ได้ทรงเรียนรู้บทเรียนนี้ทันเวลา พระองค์ก็อาจสามารถรักษาพระเศียรเอาไว้ได้เช่นกัน



ปกนิตยสาร TIME
ในวาระเฉลิมฉลองพระราชพิธีพัชราภิเษก หรือ Diamond Jubilee
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงครองราชย์ครบ 60 ปี


สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 
ทรงฉายพระรูปร่วมกับพระราชนัดดา และพระราชปนัดดา 
ในโอกาสฉลองครบรอบ 90 พรรษา เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ

อนาคตของพระราชวงศ์อังกฤษจะเป็นอย่างไร พระรัชทายาทจะได้สืบทอดบัลลังก์ต่อหรือไม่ คงไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ถ้าใครอยากรู้จักสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ให้มากขึ้น ผมแนะนำให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้กันครับ ถ้าอ่านแล้วยังงุนงง สงสัย หรือไม่เข้าใจ ผมแนะนำให้ดูซีรีส์เรื่อง The Crown ควบคู่ไปด้วย จะทำให้เห็นภาพของหนังสือเล่มนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นแน่นอนครับ สุดท้าย ผมขอจบการรีวิวด้วย คำนำของหนังสือ ซึ่งเป็นพระนิพนธ์จากเจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งเคมบริดจ์ ความว่า 


“...พวกเราทุกคน ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับสืบทอดมรดกจากรัชสมัยและยุคสมัยของทูลกระหม่อมย่า น่าจะได้เฉลิมฉลองและเรียนรู้จากพระราชประวัติของพระองค์ กล่าวเฉพาะตัวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์ยิ่งนักที่ได้มีสมเด็จพระราชินีนาถเป็นแบบอย่างของการมีชีวิตอยู่เพื่อสนองประโยชน์สาธารณะ”


Jim-793009

24 : 09 : 2017





Create Date : 24 กันยายน 2560
Last Update : 25 กันยายน 2560 9:00:39 น.
Counter : 4087 Pageviews.

2 comment
1  2  3  

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments