All Blog
ศัตรูของเจ้าหล่อน : ดอกไม้สด




ศัตรูของเจ้าหล่อน


บทประพันธ์ : ดอกไม้สด


จัดพิมพ์โดย : หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ฉบับปก : สำนักพิมพ์บรรณาคาร, 2516.


รายละเอียด

ประสงค์ วิบูลย์ศักดิ์ บุตรชายพระยาบำรุงประชากิจ (ถนอม) เสียใจอย่างยิ่งเมื่อได้รับจดหมายจากพระยาไมตรีพิทักษ์ (ฉัตร์) ญาติและเพื่อนรักของบิดา มีใจความว่า มยุรี วิบูลย์ศักดิ์ คู่หมั้นของเขา บัดนี้ได้ปฏิเสธการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ความที่ฝ่ายหญิงผิดคำสัญญา เจ้าคุณไมตรีฯ จึงยินดีให้ประสงค์มีคู่ครองได้ตามใจ ส่วนมยุรีลูกสาวท่านจะแต่งกับใครไม่ได้ นอกจากประสงค์จะอนุญาตเท่านั้น 

ประสงค์รักปักใจมยุรีมาแต่เด็กแล้ว เขาจึงไม่อยากเสียหล่อนไป และเขาไม่เชื่อว่ามยุรีไม่ได้รักเขาเลย ดังนั้น ชายหนุ่มจึงวางแผนปลอมตัวเป็น “ลูกบุญธรรมและลูกจ้าง” ของเจ้าคุณบำรุงฯ ถูกส่งตัวจากสวรรคโลกลงมาช่วยกิจการของเจ้าคุณไมตรีฯ ที่กรุงเทพมหานคร และครั้งนั้นเขาได้เจอกับมยุรี หญิงสาวที่ทั้งสวยและโก้ตามสมัยนิยม 

เมื่อนางสาวมยุรีกับนายประสมได้พบเจอกัน ดูเหมือนว่าทั้งคู่จะไม่ค่อยลงรอยกันนัก ด้วยนายประสมมักแสดงกิริยาเย่อหยิ่งใส่หล่อน ทั้งที่เขาเป็นแค่ลูกจ้างแท้ๆ

ใช่แล้ว! เขานี่แหละ คือ “ศัตรูของเจ้าหล่อน”


หญิงงามไม่มีคู่เปรียบ เหมือนเพชรไม่มีเรือนแหวน

มยุรีเป็นหญิงงาม เมื่อไม่มีใครเคียงคู่ก็ไม่งามพร้อมบริบูรณ์

- ศัตรูของเจ้าหล่อน


REVIEW

ศัตรูของเจ้าหล่อน เป็นงานประพันธ์ชิ้นแรกของ ดอกไม้สด (ม.ล.บุบผา นิมมานเหมินทร์) เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ไทยเขษมรายเดือน เมื่อพ.ศ.2472 กระทั่งพ.ศ.2487 กองอาสากาชาดจึงได้พิมพ์รวมเล่ม จำหน่ายในงานสโมสรสันนิบาต ณ อุทยานสราญรมย์ กรุงเทพฯ 

ศัตรูของเจ้าหล่อน นับเป็นนวนิยาย (Novel) ยุคบุกเบิกของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ โดยขนบการแต่ง ผมเดาว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจและวิธีการดำเนินเรื่องตามอย่างนวนิยายโรแมนซ์ของตะวันตก เพราะเรื่องนี้พล็อตค่อนข้างคล้ายกับงานของศรีบูรพา อย่างเรื่อง “ปราบพยศ” ซึ่งเป็นนวนิยายยุคเดียวกัน (ไว้จะหยิบมาเล่าให้ฟังครั้งหน้านะครับ) 

เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของ มยุรี วิบูลย์ศักดิ์ และ ประสงค์ วิบูลย์ศักดิ์ ต้นเรื่องได้บอกไว้ชัดแล้วว่าทั้งสองเป็นญาติกัน เรื่องนี้จึงเป็นความรักของเด็กชายกับสาวน้อยที่รู้จักมักคุ้นกันมาก่อน เคยรักกันอย่างพี่อย่างน้อง จนพวกผู้ใหญ่เห็นดีเห็นงามจับหมั้นกันซะเลย คงอารมณ์เรือล่มในหนองนั่นแหละครับ เมื่อประสงค์โตขึ้น เขาก็เริ่มรู้สึกรักมยุรีในแบบคนรัก แต่ฝ่ายมยุรีกลับคิดเสมอว่า การหมั้นหมายเปรียบเสมือนเครื่องผูกมัดหล่อน อีกทั้งตลอดระยะเวลาหลายปีที่หล่อนหมั้นกับชายหนุ่ม เขาก็ไม่เคยติดต่อหล่อนเลย นั่นคงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่มยุรียืนกรานปฏิเสธการแต่งงานกับประสงค์ 

ประสงค์จึงปลอมตัวเป็น “นายประสม” เพื่อจะได้เข้าใกล้มยุรี เขาเลือกแสดงออกเป็นอีกคนที่มีนิสัยแข็งกระด้าง เย่อหยิ่งใส่หล่อน มยุรีจึงไม่ค่อยชอบหน้านายประสม ก็เพราะหล่อนเป็นคนสวย ชนิดที่ชายใดก็ต้องง้อเข้าหา มยุรีจึงรู้สึกขัดใจอย่างยิ่งที่นายประสมไม่ค่อยสุภาพต่อหล่อนอย่างชายอื่น กระทั่งความขัดใจก็เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความตราตรึงใจเรื่อยๆ จนมยุรีเองมารู้สึกตัวชัดเจนว่าหล่อนหมั่นไส้ (หรือไม่ก็หึง) นายประสม ก็ต่อเมื่อเขาชักสนิทสนมกับประภา เพื่อนสาวคนหนึ่งของหล่อน ซึ่งบังเอิญหลวงประเสริฐ พี่ชายของประภาก็ดันเป็นเพื่อนเกลอนายประสมซะด้วย 

ในเมื่อหมั่นไส้นายประสมมากนัก มยุรีจึงประชดด้วยการตามตัว นายละออ เพื่อนชายของหล่อนให้มาพบ นายละออนั้นหลงรักมยุรีอยู่แต่เดิม และคิดมาตลอดว่าหล่อนก็รักเขา แต่เมื่อได้รู้ความจริงว่ามยุรีไม่ได้คิดตรงกันอย่างนั้น ความกระสันอยากได้ตัวมยุรี จึงทำให้นายละออคิดรวบหัวรวบหางมยุรี แล้วนางเอกของเราจะรอดไหม ประสงค์กับมยุรีจะลงเอยกันอย่างไร ต้องลองอ่านกันดูครับ แต่ผมเชื่อว่าคอละครและนวนิยายไทยแท้ๆ น่าจะเดากันไม่ผิดอย่างแน่นอน เพราะพล็อตแบบนี้คุ้นมาก เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบการแต่งนวนิยายรักโรแมนติกของนักเขียนไทยสมัยหลังต่อมาเลยก็ว่าได้

ดอกไม้สด ใช้ภาษาประพันธ์ได้งดงามดี ความที่ใช้ฉากเหตุการณ์เป็นปัจจุบันในยุคสมัยของผู้เขียน (สมัยรัชกาลที่ 7) นวนิยายเรื่องนี้จึงค่อนข้างให้ภาพสังคม บ้านเมือง การสมาคม งานสโมสรของผู้คนยุคนั้นได้อย่างสมจริง แต่ถ้าคนยุคนี้อ่านคงรู้สึกเหมือนกับว่า “อ่านนวนิยายพีเรียด” อย่างไรอย่างนั้น เราจะค้นพบการใช้คำและภาษาไทยแบบเก่าๆ รวมถึงค่านิยมการพูดทับศัพท์ก็ปรากฏชัด

ตัวอย่างที่ผู้เขียนยกมากล่าวคือ “มาเยอรี่ มา ฟิยองเซ!” (Marjorie ma Fioncee) เป็นภาษาฝรั่งเศสที่พระเอกพูดกับนางเอกตอนท้ายเรื่องแปลว่า “คู่หมั้นของฉัน” (ในหนังสือเขียน Fioncee แต่ตามพจนานุกรมปัจจุบันเขียน Fiancée = คู่หมั้นหญิง ไม่แน่ใจว่าเกิดจากพิมพ์ผิดพลาด หรือเป็นไปตามหลักไวยากรณ์) โดยผู้เขียนใส่เชิงอรรถอธิบายไว้น่ารักทีเดียวว่า “ใช้คำฝรั่งเพื่อให้ขำขึ้น ออกจะโก้หร่านไปสักหน่อย ถ้าขัดหูโปรดให้อภัย”

นอกจากนี้ ในเนื้อเรื่องยังใส่ข้อคิดเห็นของผู้เขียนลงไปด้วย นวนิยายสมัยใหม่คงไม่มีใครทำกัน เด่นชัดสุดคือตอนที่ผู้เขียนพยายามจะอธิบายถึง “ธรรมชาติของผู้หญิง” โดยขึ้นต้นประโยคได้น่าสนใจว่า

“...ท่านผู้อ่านที่รักของข้าพเจ้าถ้าท่านเป็นเพศชายควรถามภรรยา หรือน้อง หรือพี่ที่เป็นหญิงดูว่า...”

ใครอยากรู้ต่อต้องลองหามาอ่านกันนะครับ

โดยสรุปศัตรูของเจ้าหล่อน เป็นนวนิยายที่อ่านเพลินดี ภาษางดงาม อ่านแล้วก็อมยิ้มไปด้วย เนื้อเรื่องไม่ยาว แต่ผมต้องค่อยๆเปิด เพราะอ่านจากหนังสือเก่า กลัวกระดาษฉีกขาดมากครับ อ่านจบแล้วก็รู้สึกอิ่มเอม ทำให้เราจินตนาการนึกย้อนไปว่า ถ้าเราเป็นคนไทยสมัยรัชกาลที่ 7 ที่เพิ่งเคยอ่านนวนิยาย ซึ่งถือเป็นของใหม่ในยุคนั้น คงสนุกและลุ้นมากทีเดียว

สวัสดีครับ


Jim-793009

24 : 09 : 2015





Create Date : 24 กันยายน 2558
Last Update : 8 ตุลาคม 2558 20:53:36 น.
Counter : 5919 Pageviews.

2 comments
  
ชอบชื่อเรื่องจังค่ะ ชื่อนามปากกานี้เคยได้ยินมาบ้าง น่าสนใจค่ะ
โดย: kunaom วันที่: 25 กันยายน 2558 เวลา:22:15:26 น.
  
คุณ kunaom --- ชื่อเรื่องดึงดูดจริงๆ ครับ นามปากกานี้เป็นนักเขียนเก่ายุคแรกๆ ของนวนิยายไทยเลย ท่านน่าจะเขียนนวนิยายไว้ประมาณ 12-15 เล่มนี่แหละครับ ไม่แน่ใจ กับเรื่องสั้นอีก น่าสนใจครับ ลองหาอ่านดูนะ :)
โดย: Jim-793009 วันที่: 29 กันยายน 2558 เวลา:10:28:44 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments