All Blog
วังบัวขาว : ดาวจริยา






วังบัวขาว


บทประพันธ์ : ดาวจริยา


ISBN 974-603-064-7 ฉบับปก สำนักพิมพ์ดอกหญ้า.พิมพ์ครั้งแรก. กรกฎาคม 2538.


รายละเอียด

ชคดีภุช ธัญลักษณ์ หนุ่มนักเรียนนอกผู้มีความสุขกับชีวิตต่างแดน จำต้องตัดสินใจกลับมาอยู่เมืองไทย เพราะความรักที่มีต่อ พิณเสนาะ ปริพันธ์ เขาตั้งใจจะแต่งงานกลับหล่อน หลังจากทำพิธีหมั้นหมายได้ไม่นาน แต่แล้ว ขุนพิจิตรคดี ลูกน้องของบิดา ผู้รับหน้าที่ดูแลมรดกของชคดีภุช ก็ยื่นข้อเสนอให้ชายหนุ่มรับงานสำรวจ “วังบัวขาว” ก่อนแต่งงาน เพื่อที่เขาจะได้รับค่าตอบแทนก้อนโต พร้อมด้วยชื่อเสียงจากงานชิ้นแรก เพื่อสร้างฐานความเชื่อมั่นของสำนักทนายความธัญลักษณ์ที่เขาต้องสืบทอดจากบิดา 

ชคดีภุชจำใจรับงานนี้ตามคำอ้อนวอนของพิณเสนาะ เขาจึงเดินทางไปยังวังบัวขาวตามจดหมายที่ ปริษฐา ศิระโสภา นายจ้างของเขาชี้แจงเอาไว้ และที่นั่นเขาแทบไม่พบความงดงามใดๆ เลย นอกจากสถานที่รกร้างกลางดงประดู่กับ นายเอี่ยม ผู้ดูแลวังบัวขาว 

แล้วชคดีภุชจะได้ค้นพบอะไรที่นั่น เมื่อความแค้นแห่งอดีต คือบทบัญญัติแห่งความหายนะ นั่นคือภาระที่เขาต้องปลดเปลื้อง แม้จำต้องแลกด้วยชีวิต


“...ผมไม่ต้องการสร้างกรรมอีกต่อไป

ขอให้เราสิ้นสุดกันเพียงแค่นี้ หากคุณยินดีที่จะอภัยให้ผม

เราก็จะได้ช่วยกันคิดว่า จะทำประการใดดี

หากคุณปรารถนาจะต่อเรื่องให้ยาว

แล้วใครจะเป็นคนรับกรรมเกียรติยศก่อน คุณหรือผม...”

- วังบัวขาว


REVIEW

วังบัวขาว บทประพันธ์ของ ดาวจริยา เป็นนิยายขนาดสั้น จำนวน 129 หน้า และเป็นงานเขียนยุคเก่า เคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารศรีสัปดาห์ เมื่อปี 2508 เล่าเรื่องราวจากมุมมองบุรุษที่หนึ่งของชคดีภุช ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งค่อยๆ ก้าวเข้าไปพัวพันกับวังบัวขาว

ความน่าดึงดูดใจของเรื่องนี้ อย่างแรกคือคำโปรยบนปก “นวนิยายสะเทือนขวัญจากผลพวงของความเคียดแค้นที่ไร้ขอบเขต” แล้วเนื้อเรื่องของวังบัวขาวก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ คือว่าด้วยเรื่องความแค้นระหว่างสองครอบครัว โดยมีวังบัวขาวเป็นสาเหตุของความแค้นที่สืบทอดกันรุ่นสู่รุ่น กระทั่งถึงรุ่นชคดีภุช ซึ่งไม่ได้รับรู้เรื่องราวความขัดแย้งเหล่านั้นมาก่อน แต่ต้องตกอยู่ในวังวนของการแก้แค้น จากนายจ้างลึกลับที่เขาไม่มีวันได้พบหน้าจนกระทั่งจบเรื่อง การสื่อสารระหว่างเขากับนายจ้างจึงผ่านทางจดหมายเท่านั้น

วังบัวขาว ที่ว่านี้ไม่ใช่ วังเจ้านาย แต่เป็นชื่อเรียก ห้วงน้ำลึกที่มีดอกบัวขาวขึ้นเต็มไปหมด (วัง น.ห้วงน้ำลึก) ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถาปัตยกรรมโบราณ ในเรื่องบรรยายไว้วิจิตรอลังการมาก ทำนองว่างดงามเหมือนงานสลักหินในศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (ผมนึกไปถึงวัดถ้ำต่างๆ ในอินเดีย) ดูยิ่งใหญ่ไปหน่อยในความรู้สึกตอนอ่าน แต่ก็ไม่ได้ขัดใจอะไร เพราะผู้เขียนบรรยายและเลือกใช้ภาษาได้ดี สำนวนการเขียนก็ลื่นไหล เดาว่าคงใกล้เคียงวิธีการเขียนเรื่อง “ข้างหลังภาพ” ของศรีบูรพา แบบสำนวนนิยายเก่าๆ

การดำเนินเรื่องค่อนข้างเร็ว ความไม่รู้อะไรของชคดีภุชทำให้ผู้อ่านเกิดความสงสัยไปด้วยว่า เรื่องราวจะเป็นยังไงต่อไป ใครดี ใครชั่ว ใครคอยหักหลังอยู่หรือเปล่า อย่างตอนเข้าไปสำรวจในวังบัวขาวนั้น นายเอี่ยมผู้ดูแลเคยบอกชคดีภุชไว้ว่า ที่นี่มีเขาอยู่แค่คนเดียว แต่พอชคดีภุชได้เข้าไปถึงใจกลางวังบัวขาว เขากลับผมตาแก่ผมหงอกท่าทางเลอะเลือน กับเงาของหญิงสาวปริศนาอีกคนหนึ่ง ลักษณะของการดำเนินเรื่องราวมีความลี้ลับแฝงอยู่แบบนวนิยายแนวโกธิค แล้วพอเรื่องดำเนินมาถึงจุดเฉลยปมทั้งหมด ว่าชคดีภุชมายังวังบัวขาวเพื่อสืบต่อมรดกความแค้น ก็ทำให้ผมนึกเห็นใจเขามากๆ เพราะความแค้นในอดีตเกิดจากความละโมบของบรรพบุรุษที่ต้องการครอบครองวังบัวขาว จนเป็นเหตุแห่งการฆาตกรรมลึกลับ ขณะที่ตัวชคดีภุชมองวังบัวขาวด้วยความชื่นชม มิใช่โลภอยากได้ นั่นคือจุดเปลี่ยนแปลงของเรื่อง

ชคดีภุชต้องการกลับไปแต่งงานกับพิณเสนาะมากกว่ามามัวหลงใหลวังบัวขาว แต่ในเมื่อภารกิจแก้แค้นของตระกูลยังต้องสืบทอดต่อไปราวกับพินัยกรรม ใครกันจะหยุดยั้งมัน นายจ้างอย่างปริษฐา หรือคนถูกจ้างอย่างชคดีภุช แล้วเขาจะกลับออกไปจากวังบัวขาวได้หรือไม่ต้อง ลองหาอ่านดูนะครับ

“...กรรมเก่า ไม่จริง ไม่ยุติธรรมเลยสักนิดเดียว ข้าพเจ้ายอมทุกอย่าง ขอแต่เพียงให้ข้าพเจ้าได้กลับไปหาคนที่ข้าพเจ้ารัก พิณเสนาะ...ดูซิ ข้าพเจ้าเขียน เขียน และเขียน อย่างรีบเร่งเหมือนคนบ้าคลั่ง เขียน แล้วหยุด แล้วเขียน เพียงเพื่อพิสูจน์ว่าข้าพเจ้ายังมีลมหายใจยังไม่ตาย ยังคอยเธออยู่พิณเสนาะ...”

ความรู้สึกหลังอ่าน ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่ได้สนุกด้วยเนื้อเรื่องหรือพล็อต แต่ความสนุกอยู่ตรงที่ได้ลุ้น ได้ค้นหา และคาดเดาสิ่งต่างๆ ในเรื่อง อาจมีบทบรรยายบางช่วงค่อนข้างยาว ทำให้จินตนาการภาพตามไม่ค่อยปะติดปะต่อ และขอแง้มไว้หน่อยว่า ตอนจบเรื่องเป็นแบบทิ้งให้คนอ่านคิดต่อว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่อ่านแล้วมีความสุขกับสำนวนการเขียนของดาวจริยาพอสมควร ซึ่งตอนนี้ผมมีหนังสือของนักเขียนท่านนี้อยู่อีก 3 เรื่อง ไว้คงได้หยิบมารีวิวกันต่อไป

อีกอย่างหนึ่ง ผมอ่านชื่อตัวเอก “ชคดีภุช” แล้วนึกสงสัยว่าแปลว่าอะไร อันที่จริงมีแปลความไว้แล้วตามพจนานุกรมครับ แปลตามรูปศัพท์ คือ ผู้เสวยพระธรณี (ชคดี พระธรณี, แผ่นดิน / ภุช = ก. บริโภค, กิน) หมายถึง พระราชา หรือกษัตริย์ นั่นเอง

สวัสดีครับ


Jim-793009

19 : 04 : 2016





Create Date : 19 เมษายน 2559
Last Update : 25 กันยายน 2559 16:15:26 น.
Counter : 1421 Pageviews.

2 comments
  
สนุกดีครับเรื่องนี้ เล่มบางๆ แต่รายละเอียดเยอะมากของดาวจริยา ที่น่าอ่านจะอยู่ในชุดนี้หลายเรื่องเลยครับ อย่าง เดชานี พินัยกรรม ฯลฯ
โดย: สามปอยหลวง วันที่: 19 เมษายน 2559 เวลา:7:55:12 น.
  
คุณ สามปอยหลวง --- สนุกใช้ได้เลยครับ ชอบสำนวนของนักเขียนท่านนี้นะครับ อ่านแล้วรู้สึกเพลินดี
โดย: Jim-793009 วันที่: 19 เมษายน 2559 เวลา:9:57:05 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jim-793009
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



"เขียน" ถ้าสิ่งนั้นคือความสุขอย่างแรกที่เรามองเห็นและนึกถึง ^_^

วรรณกรรมจึงงามกว่าเพชร คมกว่าดาบ เป็นโอสถอันประเสริฐยิ่งของชาวโลก
- กฤษณา อโศกสิน

"หนังสือบางเล่มผมไม่ได้อ่านเพราะชอบหรือไม่ชอบ เมื่อเป็นนิยายรักยอดนิยม ถ้าไม่อ่านก็เสียโอกาสทำความเข้าใจคนอื่น...ดีสำหรับผม ไม่ได้หมายความว่าคุณอ่านแล้วจะเข้าใจ หรือชอบในระดับเดียวกัน"
- ประชาคม ลุนาชัย [ร้านหนังสือที่มีแต่นิยายรัก]

"...สำหรับนักอ่าน หนึ่งในการค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในชีวิต คือการพบว่าตัวเองเป็นนักอ่าน ไม่ใช่แค่อ่านออก แต่ตกหลุมรักมัน ตกหลุมรักอย่างถอนตัวไม่ขึ้น ตกหลุมรักหัวปักหัวปำ หนังสือเล่มแรกที่ทำให้เกิดผลเช่นนั้นจะไม่มีวันถูกลืม..."
- Finders Keepers, Stephen King
New Comments