ความจริง-ความดี-ความงาม.........พยายาม-ส่งมอบ-ให้ปวงชน <<<<<<<<<<<<<<<<<
Group Blog
 
All blogs
 

นิทรรศการภาพเขียนจีนที่ Freer Gallery : รูปถ่ายจาก SevenDaffodils



แจ้งความ :
พอดีไปอ่านหนังสือ 2 เล่ม เจอข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับภาพเขียน
ที่อยู่ในบล๊อกนี้ 3 ภาพ คือภาพที่ 1, 6 และ 16...จึงนำมาเพิ่มเติมครับ
(ที่เพิ่มเติม จะพิมพ์ด้วยสีดำครับ)




.
.
.
.


ของดีจากต่างแดน............เชิญแควนๆขอรับกระผม

หาดูไม่ได้ง่ายๆ................เพราะคนทั้งหลายไม่ค่อยนิยม

ของแก่ๆเก่าๆ...................ฝรั่งแห่เอาไปเก็บในกรุ

วันนี้กุดังมันดันทะลุ...........จึงใส่กระชุเอามาให้ชม


เตร็ง เตรง เตร่ง เตร้งงง...เตรง เตร่ง เตร้ง เตรง เตร่งงง


ไม่รู้มั่วเกริ่นกลอนอะไรก็ขออภัยนะคร้าบ
คนวัยเกินจ๊าบจะพาไปเที่ยว 'เมกา 5555 ตามผมมาขอรับ




วันนี้ไม่ได้มาคนเดียวหร็อก เอ้า เชิญครับ...
Foto artist & poetess แห่งบล๊อกแกงค์ แขกรับเชิญของผม
"คุณแป๋ว (SevenDaffodils = 七水仙 ชิสุ่ยเซียน)" ออกฉากได้แระคร้าบ




สวัสดีค่ะ วันนี้แป๋วมาโชว์ตัวแป๊บนึงนะคะ..พอดีแวะมาส่งรูปให้ลุงดิ่ง
แป๋วขอตัวอยู่หลังม่านนะค้า แอบดูว่าศิษย์พี่จะโม้มากแค่ไหน บาย !



..................................................................



ต้นเดือนนี้(พย.53) คุณแป๋วส่งข่าวมาว่า


"........................................
ครั้งหลังสุดที่ไป Freer Gallery
มีนิทรรศการภาพเขียนจีน.......
ดีใจมากๆค่ะ ได้ดูสมใจปรารถนา
ถ่ายรูปมาไว้พอสมควร
.....................................
เลยอยากถามศิษย์พี่เล่นๆหากมีเวลาว่าง
ว่าสนใจบรรยายภาพเขียนจีนชุดนี้ไหมคะ
แล้วโพสต์ที่บล็อกของพี่เลย................"



ผมได้รับเกียรติจากศิลปินภาพถ่ายระดับสายสะพาย
ของบล๊อกแกงค์ มีหรือจะไม่ปลื้ม แต่จะรับปากเลยก็
เกรงว่า...เอ งานนี้ยากหรือหมูหวาน เลยต้องบอกว่า
ขอดูก่อนละกัน พอด้นดั้นไม่ลำบากนัก จึงตอบโอเช

ออกมาขรุขระบ้าง เรียบบ้าง เป็นหลุมบ่อบ้าง
บางรูปก็ยาก บางรูปก็ง่าย......เชิญทัศนาครับ








1

โปสเตอร์บอกชื่อ "นิทรรศการแสดงภาพเขียนจีนชิ้นเอก"
เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มิย. - 28 พย. 2010 ที่ Freer Gallery
แปะไว้ตรงหน้าทางเข้าห้อง
คนจูงม้ารูปนี้วาดลอกเลียนมาจากเซียนภาพม้า หลี่กุงหลิน
ภาพนี้งดงามสมบูรณ์ดีมาก เป็นฝีมือท่าน เจ้าหย่ง (趙雍)
ลูกชายรองของเจ้าเมิ่งฝู่ จิตรกรนักเขียนลายมีอสมัยหยวน



ม้าตัวนี้ชื่อว่า "อาชาศีรษะหงษ์" วาดก๊อปปี้จากภาพม้าตัวแรก(ใน 5 ตัว)
ของหลี่กุงหลิน และม้า 5 ตัวนี้เป็นบรรณาการจากชนเผ่านอกกำแพงแด่
จักรพรรดิซ่งเจ๋อจง (ครองราชย์ 1086-1100) ภาพนี้เคยอยู่ในคลังสะสม
ของจักรพรรดิราชวงศ์ชิง เจ้าหย่งผู้วาดได้เขียนคำอธิบายว่า "ในจำนวน
5 (ภาพ)ม้าของหลี่ป๋อซื่อ ข้าฯชอบม้าชื่อ อาชาศีรษะหงษ์ เพียงตัวเดียว
น้องชายข้าฯนามจุงกวาง(เจ้าอี้)ก็คิดเช่นเดียวกัน ข้าฯจึงก๊อปปี้ภาพนี้ให้
เขา ข้าฯยินดีและมีความสุขมากเพราะ........บันทึกโดยเจ้าจุงมู่(เจ้าหย่ง)
เมื่อ วันที่ 15 เดือน 8 นับเป็นปีที่ 3 ในรัชกาลจื้อเจิ้ง(4 กันยายน 1343)"
และในม้วนภาพนี้ยังมีบันทึกของเจ้าอี้ น้องชายของจิตรกรที่เป็นเจ้าของ


ลิ้งค์ไปบล๊อก เชิดจีน..อาชาไนย ข้างล่างนี้ครับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=01-2010&date=26&group=2&gblog=10




2

ไผ่สมัยหยวน วาดโดย หนีจ้าน(倪瓚)
จิตรกรเอกผู้เรืองนามในด้านประหยัดองค์ประกอบ
มีลายมือเขียนชื่อไว้ชัดเจนที่มุมล่างขวาของภาพ
ตรงมุมบนซ้ายของภาพมีบทกวีโดยเฉียนเว่ยซาน
เขียนทำนองไว้อาลัยสหายผู้ล่วงลับ.......ความว่า

เพื่อนเก่าข้า.....ชำนาญ.....การวาดไผ่
แบบอย่างไซร้...ได้จาก...ท่านเหวินถง
สงบจิต.......จ้องแกลทิศ....ด้านอัสดง
ลมเย็นคง..พัดโชยผ่าน..วารศารทกาล

(ผมเคยเขียนบล๊อกเกี่ยวกับเหวินถงไว้แล้ว ถ้าลืมกลับไปดูได้ที่ข้างล่างนี้)
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=06-2010&date=19&group=2&gblog=21




3

หวางเหมิง(王蒙)น้องเล็กใน "4 จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่ปลายสมัยหยวน"
(ซึ่งอีก 3 คน ได้แก่ หวงกุงว่าง หนีจ้าน และหวูเจิ้น)
เกิดที่หวูซิง เขาเป็นหลานทางมารดาของเจ้าเมิ่งฝู่
รูปทิวทัศน์นี้ชื่อ"บ้านพักที่ห่างไกลในภูเขาฤดูร้อน"
ภาพนี้ออกสไตล์จิตรกรยุคก่อนๆ คือแนว "ต่ง-จวี"
(ต่งหยวน-จวีหราน) มีความสามารถตั้งแต่เยาว์วัย
ทั้งในการแต่งบทกวี และ เขียนลายมืออักษรศิลป์

(สังเกตดีๆนะครับ.....รูปนี้มีเงาสะท้อนของคุณแป๋ว
กำลังแอ๊คชั่นทำงาน คือการเก็บภาพมาฝากเรางัย)




4

ดอกไห่ถาง หรือ Crabapple




5

ดอกพุด หรือ Gardenia

รูปดอกไม้ทั้ง 2 ภาพนี้ เป็นฝีมือของ เฉียนเสวี่ยน(錢選)
จิตรกรสมัยหยวน เป็นสหายเจ้าเมิ่งฝู่ ทั้งคู่ที่มีชื่อเสียงมาก
อยู่ในกลุ่มจิตรกรปัญญาชนคือ: "แปดอัจฉริยะแห่งหวูซิง"




6

ปาต้าซานเหริน(八大山人) ภาพ "นกน้อย ไผ่ กับหิน"
เห็นเส้นพู่กันขนกุด กับ ตัวอักษรแบบนี้ไม่ต้องลังเลเลย
ว่านี่คือปาต้า ผู้ยิ่งใหญ่ ยิ่งใหญ่ตลอดกาล
รูปนี้มีประวัติว่ามีความเสียหาย ขาดแหว่ง
ได้รับการซ่อมแซมบูรณะให้มีสภาพดีแล้ว
ฝีมือซ่อมทำได้เนียนมากแทบจะดูไม่ออก
อักษรลายมือที่ขอบทั้งซ้ายขวาของภาพนี้
ผมดูแล้วคิดว่าเป็นเป็นลายมือจางต้าเชียน
ตัวเล็กจังอ่านไม่ออก ไม่ทราบว่าท่านเป็น
ผู้ซ่อมรูปนี้หรือปล่าว นี่ก็ผู้ยิ่งหญ่ายอีกคน

อย่างไรก็ตาม....ถ้าให้ผมวิจารณ์ส่วนเติมแต่ง เดาว่าเป็นขอบก้อนหิน
(ที่อยู่ต่ำกว่าอักษร 4 แถว) ดูเส้นพู่กันปั๊บจะเห็นความแตกต่างชัดเจน
มีลักษณะลังเล ไม่มั่นใจ ไม่ต่อเนื่องในอัตราเร็วเท่าเส้นเดิม อีกทั้งน้ำ
หนักหมึกที่แต้มให้เกิดเงาออกโทนสีเทามากเกินไป แต่ของเดิมจะออก
โทนดำเข้ม นี่คือส่วนที่ผมไม่ชอบใจ (และนึกตำหนิ) ถ้าผมเป็นเจ้าของ
รูปเดิม ผมจะซ่อมแค่ตัวรูปเดิม(proper) ท่านลองเอาอะไรก็ได้ปิดขอบ
ภาพนี้ทั้ง 2 ข้าง ไม่ให้เห็นอักษรจีนที่เป็นลายมือจางต้าเชียน นี่แหละ
คือ "สิ่งที่ท่านปาต้าต้องการ" มีทั้ง ความโดดเดี่ยว อ้างว้าง นกน่าจะมี
เพียงตัวเดียวเสียด้วยซ้ำ ถ้าหากแม้นว่าผมต้องการให้จางต้าเชียนเขียน
อักษรประกอบรูปนี้ ต้องแยกส่วนออกจากรูปเดิม ซึ่งมัก(นิยม)ให้เขียน
แล้วแปะไว้เหนือตัวรูปเดิม นี่จึงจะไม่เป็นการทำร้าย (ทำลาย?)ของแท้

(แต่นี่ก็ยังดี เพราะถ้าจะทำอย่างที่ผมว่าก็ยังสามารถทำได้อยู่...คือการ
preserve ของเดิมแท้ ส่วนที่จะเอาลายมือท่านต้าเชียนไปไว้ข้างบนคง
หมดสิทธิ์ ท่านจากไปปรโลกหลายปีแหล่ว คงไม่อวตารมาเขียนให้ได้)

ลายมือของจางต้าเชียนที่เขียนไว้ในรูปของปาต้าซานเหรินมีใจความดังนี้
"ผู้ที่นิยมชมชอบภาพเขียนในปัจจุบันนี้ต้องการภาพม้วนแขวนขนาดเล็ก
ประมาณ 3 เชียะ(ฟุต)เป็นพื้น ธรรมเนียมนี้แพร่ขยายไปตั้งแต่เหนือจรดใต้
แต่จะคลั่งไคล้กันมากแถบหวูจง(มณฑลเจียงซู) ดังนั้นเมื่อผู้ค้าโบราณวัตถุ
ได้ภาพเก่าแขวนขนาดใหญ่มา จะตัดภาพให้มีขนาดเล็กลงเพราะคาดว่าจะ
ได้ราคาสูงขึ้น วิธีการทำลายภาพเขียนแบบนี้เป็นดุจการกรีดหัวใจบรรพชน
จิตรกรอย่างโหดร้ายและทารุณยิ่งกว่าทรมาณนักโทษ เมื่อเร็วๆนี้ได้ภาพนี้
มาจากฮ่องกง ข้าฯเสียดายนักกับสภาพขาดวิ่นเสียหาย จึงเกิดความคิดว่า
น่าจะแต่งเติมสักสองสามเส้นเพื่อซ่อมแซม ข้าฯไม่บังอาจจะสามารถทำให้
ภาพนี้เปล่งประกายดุจดังผลงานชิ้นเอกที่เคยเป็นมาในอดีต หรือแม้กระทั่ง
ไม่บังอาจทำให้คืนสภาพอย่างฉับพลันให้เหมือนเดิม ด้วยส่วนตัวแล้วข้าฯ
เปรียบ(เส้นที่เติมของข้าฯ)ดังเป็นไม้เท้าของคนตาบอด เหมือนการปลอบ
ขวัญ(ให้ภาพเขียนนี้)ข้าฯก็ว่ายังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย (เขียนบันทึกเมื่อ) วัน
ในวสันตฤดู ปีเหรินเจิน(1952) เขียนโดยนักศึกษาต้าเชียนแห่งต้าเฟิงถาง"



ลิ้งค์ไปบล๊อกปาต้าซานเหริน ข้างล่างนี้ครับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=01-2010&date=20&group=2&gblog=9




7

ทิวทัศน์สมัยหมิงต่อชิง ตัวอักษรก็แสนจะเล็ก และ อ่านยากมาก
ดูฝีพู่กันและลายมือแล้วน่าเป็น สือเทา(石涛) หรือ(เต้าฉี 道济)

(เชิญกลับไปดูบล๊อกที่ผมเคยเล่าถึง จ่าง แซ่ตั้ง ที่แปลบทความ
"หนึ่งขีด" ของจิตรกรท่านนี้เถิด สไตล์ของท่านแบบนี้แหละครับ)

ลิ้งค์ไปบล๊อกจ่าง แซ่ตั้ง ข้างล่างนี้ครับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=03-2010&date=09&group=2&gblog=15




8

ภาพทิวทัศน์ประหยัดองค์ประกอบชวนให้นึกถึง
จิตรกร หนีจ้าน(倪瓚) ปลายสมัยราชวงศ์หยวน
ภาพมีต้นไม้ใหญ่ไม่กี่ต้น - ศาลามุงหญ้า 1 หลัง
เป็น"เอกลักษณ์"ของจิตรกรท่านนี้เลยแหละครับ
แต่ไม่เหมือนหนีจ้านที่ภูเขาตรงกลางภาพชัดเกิน
ขัดกับทฤษฎีที่ว่า : อะไรถ้าอยู่ไกลกว่าจะเบลอๆ

เล่ากันว่าท่านหนีจ้านผู้นี้เป็นคนออกจะประหลาด
มีฐานะ เป็นเจ้าที่ดิน สะสมวัตถุโบราณ รูปเขียน
และลายมือ เป็นคนที่รักความสะอาดสุดๆถ้าเจอ
ใครที่สงสัยว่าสกปรกจะหลบ ล้างมือวันละหลาย
ครั้งมาก แม้แต่ต้นหวูถงในสวนของเขาก็ต้องให้
คนรับใช้ในบ้านต้องล้าง ทำความสะอาดเสมอๆ




9

ภาพม้วนยาว (hand scroll) รูปทิวทัศน์ ภูเขา-แม่น้ำ
เห็นรายละเอียดแค่นี้ก็จะบรรยายถึงวิธีการดูภาพม้วน
ขนาดยาว เริ่มจากคลี่ม้วนภาพด้านขวามือแล้วค่อยๆ
คลี่ต่อมาทางซ้ายมือ ดูไปเรื่อยๆเสมือนว่ากำลังเดิน
ชมทิวทัศน์ไป บางรูปยาวมาก เดินกันจนเมื่อยมือครับ

ภาพม้วนขนาดยาวที่ประทับใจผมที่สุด ไม่ใช่ของจีน
แต่เป็นของญี่ปุ่น ผู้วาดเป็นสมณะจิตรกร เซสชู โตโย
ท่านศึกษาการวาดภาพจากจีน ซึ่งเป็นสไตล์หม่า-เซี่ย
(สมัยซ่ง:หมาหย่วนกับเซี่ยเกวย) ผลงานมีเอกลักษณ์
เส้นพู่กันกับการลงโทนหมึกจัดว่าขั้นไร้เทียมทานจริงๆ
วันหน้าคงมีโอกาสว่ารายละเอียดถึงท่าน"เซสชู" ครับ




10

ภาพม้วนยาว ทิวทัศน์ซานสุ่ยกับชาวประมง
วาดโดย หวูเจิ้น(吴镇) จิตรกรสมัยราชวงศ์หยวน




11

ชาวประมง 1




12

ชาวประมง 2




13

ชาวประมง 3




14

ชาวประมง 4




15

ชาวประมง 5



15/1

ชาวประมง 6 (รูปเติมมาล่าสุด)


ภาพชุดชาวประมงทั้งหมด 6 ภาพนี้ ตัดตอนมาจาก
รูปม้วนยาว (รูปที่ 10) วาดโดยท่าน หวูเจิ้น (吴镇)
ซึ่งเป็นชนชั้นสูงมีการศึกษา แต่ก็ไม่เคยรับราชการ
เป็นผู้ที่ไม่พึงพอใจกับระบบการเมืองในยุคสมัยนั้น
รูปชาวประมงเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงชีวิตง่ายๆ
ซึ่งบางครั้งปัญญาชนที่ไม่อยากอยู่ในระบบราชการ
จะปลีกเร้นมาเป็นคนหาปลา คนตัดฟืน คนทำไร่-นา
ขอให้สังเกตว่าเส้นพู่กันปาดป้ายสบายๆ แม่นยำมาก
ลงตัวไม่เงอะงะ เข้ากันได้กับตัวอักษรที่จิตรกรเขียน
เป็นบทกวีบรรยายภาพ ทั้งหมดเป็นนฤมิตกรรมระดับ
"ตรีสัมบูรณ์" (Three Perfections) นับเป็นชิ้นเอกที่
ยอดเยี่ยมในการแสดงนิทรรศการครั้งนี้ทีเดียว ครับ

(รูปนี้ผมเคยเห็นอยู่ใน John M. Crawford Collection,
New York น่าจะเป็นการยืมเพื่อนำมาแสดงที่นี่ครั้งนี้)




16

พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ (กวนอิม)
วาดในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ


พระอวโลกิเตศวรแห่งสุ่ยเยว่(水月觀音 : ปางประทับหว่างจันทรธารา)
ภาพเขียนสมัยซ่ง วาดเมื่อปี ค.ศ.968
อักษรที่มุมซ้ายบนของภาพเขียนไว้ว่า "เพื่อสรรเสริญบูชาพระผู้ทรงมหา
กรุณาที่ทรงช่วย(สรรพสัตว์)ให้พ้นจากห้วงทุกข์ คือพระกวนอิมโพธิสัตว์
แห่งสุ่ยเยว่" พระโพธิสัตว์ทรงเครื่องอลังการ์ประทับนั่งบนปัทมอาสน์ พระ
หัตถ์ซ้ายทรงถือคณโฑน้ำที่เรียกว่า Kalasa พระหัตถ์ขวาทรงถือกิ่งหลิว
ที่มงกุฎประดับพระเศียรมีรูปของพระอมิตพุทธ ณ เบื้องซ้ายและขวามีพระ
โพธิสัตวสาวก 2 องค์นั่งเฝ้าแหน ซึ่งมีอักษรจีนเขียนไว้ว่า "พระโพธิสัตว์
ถือถาดดอกไม้บูชา" รอบๆพระวรกายของทั้ง 3 องค์มีรัศมีวงกลมสีสันสด
ใสรอบพระเศียรและพระวรกาย พัสตราภรณ์มีจีบริ้วพลิ้วไหวนี่เป็นลักษณะ
ของพุทธจิตรกรรมแบบเอเซียกลาง ในส่วนล่างสุดของภาพเป็นรูปบุคคล
4 คน ซึ่งขนาบกลุ่มตัวอักษรตรงกลาง อักษรลางเลือนพอควรจนยากจะ
แปลจับความได้ สตรีนางที่นั่ง 2 คนแซ่ "ยิน" สตรีที่ยืน (ขนาดเล็กกว่า)
เป็นนางสนม เครื่องประดับศีรษะสตรีงดงามมาก ใบหน้าขาวผ่องด้วยแป้ง
สำอาง แสดงให้เห็นถึงแฟชั่นที่นิยมของสตรีสมัยศตวรรษที่ 10 ตัวอักษร
ตรงกลางยังมีที่พออ่านได้คือ บอกกาลสมัยว่าเขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม
ค.ศ. 968 คำอธิบายเกี่ยวกับ "พระกวนอิมโพธิสัตว์ปางประทับหว่างจันทร
ธารา" ปรากฏครั้งแรกในพระสูตร "หัวเหยียนจิง"





17

ภาพคัดลอกจากกู้ไข่จือ(顧愷之) ประกอบกวีร้อยแก้ว(ฟู่)
"เทพีแห่งแม่น้ำลั่ว"
ที่เห็นเป็นภาพของกวี คือโจสิด กับบรรดาบริวารนั่นเอง
ภาพชุดนี้มีอยู่ 3 เวอร์ชั่น อยู่ในมิวเซียมต่างๆอีก 2 แห่ง
คือ Peking Ku Kung Museum กับTung-pei Museum
เวอร์ชั่น Freer Gallery สันนิษฐานว่าคัดลอกในสมัยซ่ง
(ผมดูรูปข้างบนแล้ว ไม่น่าเป็นเวอร์ชั่นของ Freer ครับ)

ในประวัติจิตรกรรมจีน กู้ไข่จือ เป็นจิตรกรรุ่นบุกเบิกที่ยัง
มีผลงานปรากฎเป็นหลักฐานแน่ชัด ก่อนหน้านี้จะเป็นเรื่อง
เล่า บันทึกแบบตำนาน ที่หาชิ้นงานมาแสดงชัดเจนไม่ได้

(โจสิดเป็นกวีแต่งกลอน"เจ็ดก้าว" ที่เอาตัวรอดจากโจผีได้
คงยังไม่ลืมกัน..."เถาถั่วจุดไฟใช้คั่วถั่ว ถั่วในกะทะร้องขอ
เกิดแต่รากเหง้าเดียวกัน ไฉนจึงเผาให้รุ่มร้อนถึงเพียงนี้")




18

แสดงภาพม้วนยาว กับบรรยากาศการจัดแสดงภาพ
ตลอดจนการให้แสงเข้าส่องทางเพดานหรือหลังคา




19

ฉีไป๋สือ(齊白石) เบญจมาศกับไหเหล้า
วาดตอนอายุได้ 85 ปี (อ่านไม่ค่อยชัด)
เส้นอักษรจ้วนตัวโตยังเข้มแข็งตรงแหน็ว
เรียกว่าที่อายุมากมิได้เป็นอุปสรรคเลย
ขอคารวะด้วยเหล้าชั้นดีสัก 1 ไห ขอรับ

(ภาพนี้ไม่ได้จัดแสดงในห้องนิทรรศการ
แต่อยู่หน้าห้องเครื่องกระเบื้องของจีน)

ลิ้งค์ไปบล๊อก ฉีไป๋สือ ข้างล่างนี้ครับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=03-2010&date=09&group=2&gblog=15



20

จางต้าเชียน(張大千) ทิวทัศน์สไตล์ละเลงหมึกมีเอกลักษณ์ของตนเอง
จากแผ่นดินใหญ่มาเมื่อตอนบ้านเมืองรบกัน ภายหลังมาพำนักที่ไต้หวัน
เดินทางแสดงภาพไปทั่วโลก เก่งทั้งวาดเอง และวาดลอกเลียนของเก่า
เบิกเนตรฝรั่งมังค่าไปหลายผืน จนถูกประจานไปพอสมควร บ่อเซียงกัง
ช่วงหนึ่งท่านไปศึกษาภาพที่ถ้ำตุนหวง คัดลอกรูปสวยๆไว้มากเชียวครับ
เคยเห็นภาพจิตรกรตอนอยู่ในบ้านที่บราซิล คงมีตังค์ไปซื้อบ้านที่นั่นไว้

(ภาพนี้ไม่ได้จัดแสดงในห้องนิทรรศการ แต่อยู่หน้าห้องเครื่องกระเบื้อง)




21

ฉีไป๋สือ(齊白石)วาดรูป เด็กง่วงดูหนังสือดึกดื่น
พอเช้าอาป๊าก็รีบปลุกให้ไปโรงเรียน....แง แง แง
น่าสงสารชีวิตตี๋น้อยจริงๆครับ ยามกินไม่ได้นอน
ยามนอนไม่ได้กิน อะไรจะลำบากยากเย็นปานนั้น
ผมว่ารูปวาดชาวบ้านของท่านฉีมีเสน่ห์มั่กมากกก
คอนเฟิร์มว่า.................Simplicity is Beauty !

(รูปนี้แถม แสดงอยู่ในห้องนิทรรศการเดือนเมษา)

ลิ้งค์ไปบล๊อก ฉีไป๋สือ ข้างล่างนี้ครับ
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=03-2010&date=09&group=2&gblog=15





......................................................






เป็นอย่างไรบ้างครับ ตุปัดตุเป๋ทัวร์ชมนิทรรศการศิลปกรรม
ภาพเขียนชิ้นเอกของจีน ที่ Freer Gallery ซึ่งเป็นแหล่งสะสม
ภาพวาดจีนที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของโลก ที่อยู่นอกประเทศจีน






Freer Gallery สังกัดสถาบันสมิธโซเนี่ยน อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
มิสเตอร์ชาร์ลส์ แลง ฟรีเอ่อร์ (1854–1919) มหาเศรษฐีชาวดีทร้อยท์
บริจาคเป็นสาธารณสมบัติ เปิดตัวให้คนชมเมื่อปี 1923 (ตรงกับตอน
ปลายรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)
ปัจจุบันมีงานสะสมมากกว่า 25,000 ชิ้น


ที่สร้างชื่อเสียงให้ Freer Gallery อีกอย่างคือ มีนักวิชาการมาร่วม
ศึกษาวิจัย โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยมิชิแกน
มีผลงานวิชาการชั้นเยี่ยมตีพิมพ์เป็นประจำ ทั้งในตำรา และวารสาร
ผมเองในฐานะนักวิชาเกินกำมะลอ ก็ต้องยอมรับว่าเป็นหนี้บุญคุณ
สถาบันแห่งนี้ผ่านการอ่านเรื่องราวที่ตีพิมพ์ โดยที่ไม่เคยเหยียบย่าง
เข้าไปเลยแม้แต่ครั้งเดียว และครั้งพิเศษนี้ก็ด้วยความอนุเคราะห์ของ
คุณแป๋ว (SevenDaffodils) ผู้มีฝีมือระดับศิลปิน สาขาการถ่ายภาพ
ณ บล๊อกแกงค์แห่งนี้ ได้กรุณานำภาพ 21 ภาพมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ
เราได้ชมกัน ผ ม ข อ ข อ บ คุ ณ อย่างจริงใจไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ



การถ่ายภาพจากพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ทั้งแสง เงา และมุมกล้อง
มิได้จัดไว้สำหรับการถ่ายรูป แต่จัดไว้สำหรับผู้เข้ามาเยี่ยมชมด้วยตา
การที่ภาพชุดนี้มีเงาสะท้อน มีแสงขาดหรือเกิน เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้
รับรู้ถึงบรรยากาศแบบเดินชมในงานนิทรรศการจริงๆ คิด(บวก)เสียว่า
เป็นกำไรที่เหนือกว่าเปิดดูหนังสือหรือเว็บที่มีแต่รูปถ่ายสมบูรณ์พร้อม


นึกดูแล้วน่าอิจฉาฝรั่ง ญี่ปุ่น ที่เศรษฐีของเขานิยมบริจาคศิลปวัตถุ
ให้เป็นสาธารณสมบัติเพื่อยกระดับสติปัญญา จรรโลงใจให้ชาวบ้าน
ที่อัฐน้อยเบี้ยหอยหด จะได้มีโอกาสเชยชมเสพสุนทรียรสกันทั่วหน้า
ต่างจากเศรษฐีบ้านเราที่พร่องรสนิยม บวกกับความขี้เหนียวผสมงก
มีเงินก็จำใจต้องบริจาคให้พรรคการเมืองเฮงๆซวยๆทั้งหลาย เผื่อเกิด
เคราะห์หามยามร้ายที่ฟลุคได้เป็นรัฐบาล จะได้ไม่มารังแกเบียดเบียน





บ่นบ้าเป็นตาแกร่กินผึ้ง



ถึงเวลาแล้วหรือยัง....


ป ฏิ รู ป ป ร ะ เ ท ศ ไ ท ย !



ขอเสนอให้เริ่มด้วย....จับไดโนเสาร์นักเลือกตั้งจากทุกพรรค

เอามา..........ทำหมัน 1, ตัดลิ้น 2, ฉีดสารตะกั่วเข้าสมอง 3

มันจะได้..เป็นใบ้ ปัญญาอ่อน และหยุดการแพร่เชื้อสายพันธุ์


ซาดิสต์เกินไปไหมครับท่าน เหอ เหอ เหอ........วันนี้เกรียน !







...................................................




แสร้งเกรียนเสร็จ กลับมาโลกรื่นรมย์เราต่อดีกว่าครับ
ปรับอารมณ์สู่โหมดสุนทรีย์...ฟังเพลงอะไรดีน้อวันนี้

เอางี้ละกัน ถือว่าหลบจากจีน มาเที่ยว 'เมกา ที่ ดี.ซี.
พักเพลงจีนสัก 1 เพลา มาฟังเพลงคล้าสสิกกันดีมั้ย?
วันนี้ ขอให้ฟัง Evgeny Kissin บรรเลงเดี่ยวเปียโน
เพลง Pictures At An Exhibition ของ Mussorgsky
จะได้เข้ากับบรรยากาศที่ Freer Gallery พอดิบพอดี
ผมชอบท่อน Promenade มากครับ คั่นระหว่างภาพ
ที่จัดแสดง เพราะจัง เลยเอามาทั้งหมด 4 คลิป ครับ

หนุ่มรัสเชี่ยนเลือดยิวคนนี้สุดยอด ผมเคยประทับใจ
เมื่อแรกได้ชมการแสดงเพลง Piano Concerto No.1
ของไชคอฟสกี้ กับวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิค ปี 1988
ตอนนั้นเขาอายุ 16 ปีกว่าเอง เก่งซะจนไม่รู้จะชมเป็น
ภาษาอะไร พวกฝรั่งมังค่าบอกว่าเป็น child prodigy

คลิปข้างล่างนี้ เล่นเมื่อปี 2007 Kissen อายุได้ 26 ปี
ขอเชิญพิสูจน์ด้วยหูตาของท่านเองเลย ค ร้ า บ ผ ม










ขอบคุณ You Tube ที่นำเพลงแสนไพเราะมาสู่จักษุโสตรพวกเรา




...................................................








 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 9 มกราคม 2554 14:50:07 น.
Counter : 8222 Pageviews.  

หวงปินหง (黃賓虹) : เสือใต้ร่ายรำพู่กัน



จิตรกรร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่แห่งมหาประชาชนจีน



ถ้า ฉีไป๋สือ (齊白石) เป็น สิงห์เหนือ

หวงปินหง (黃賓虹) ก็ต้องเป็น เสือใต้






หวงปินหง

1865-1955

สิริอายุ 90 ปี







ภาคชีวประวัติ

เกิดที่เมือง จินหัว(金華) มณฑลเจ้อเจียง(浙江)
เป็นลูกคนหัวปี เตี่ยเป็นพ่อค้าจ้อเซ็งลี้ แต่มีความชื่นชมในบทกวีและภาพเขียน
เมื่อเกิดได้นามว่า เม่าจื้อ(懋質) ตอนหลังทอนลงเหลือแค่ จื้อ(質)
ฉายาว่า ผู่ฉุน(樸存)

ที่หมู่บ้านบริเวณนั้นเรียกว่า ศาลาปินหง滨虹 จึงได้ชื่อตั้งเองว่า ปินหง
ต่อมาแปลงอักษร "ปิน" ให้ต่างไปอีกโดยตัดธาตุ "น้ำ" สามจุดออกจากหน้าอักษรนั้น


อายุ 5 ขวบ อาเตี่ยได้จ้างครูตำแหน่งขั้นซิ่วไฉมาสอน ท่านนี้นามว่าครู เจ้าจิงเถียน(趙经田)
ครูซินแสท่านนี้สอนอ่านเขียนแต่งกาพย์กลอน แถมยังสอนดนตรีกู่ฉินให้อีก
ยังไม่สะใจท่านครู จึงได้เรียนเขียนรูปทิวทัศน์อีกด้วย


สรุปเอาว่า หวงปินหง เติบใหญ่มาในบรรยากาศอันอบอวลด้วยศิลปะ ฉะนี้แล


พออายุได้ 7 ขวบ เจ้าหนูน้อยก็คล่องแคล่วใน "พันอักษร"


มีเรื่องเล่าตอนนี้

เพื่อนของอาเตี่ยนาม หนียี่ฝู่(倪逸甫) สอนวิธีเขียนพู่กันให้
เคล็ดวิชาคือ เขียนด้วยพลังที่ถูกต้องลงบนกระดาษ
แล้วพลิกกระดาษดูจะเห็นหมึกทะลุทะลวงถึงข้างหลังอย่างครบเส้น
ไม่เป็นเพียงจุดที่กดหนักบางแห่ง

การเขียนรูปก็เช่นกัน มีเคล็ดวิชา
ตอนเช้าให้วางกระดาษขาวๆไว้ตรงหน้า ยังไม่ต้องเตรียมพู่กันหรือหมึก
ให้จ้องดูกระดาษอย่างเดียว
เช้าอีกวัน ทำซ้ำแบบเดิมอีก
ไม่ช้าภาพในใจจะเริ่มปรากฏแล้ว
และเมื่อนั้นเขาจะสามารถเห็นสิ่งที่เขาจะวาด มองเห็นอย่างมั่นใจ
และเมื่อวาดออกมาก็ประสบความสำเร็จยิ่ง!


อาเตี่ยของปินหงมีหนังสือ "ตราประทับแห่งหอเฟยหง(飞鸿堂印谱)"
ซึ่งรวบรวมตราประทับของนักแกะตราผู้มีชื่อเสียง อาทิ
ติงจิ้ง(丁敬) เติ้งสือหรู(鄧石如)
หวงปินหงใช้เวลาราว เดือนหนึ่งเพื่อแกะตราลอกเลียนได้ถึงมากกว่าโหล
แกะได้สวยงามตามต้นแบบ พออาเตี่ยมาเห็นบอก
"อั๊วไม่เชื่อว่าลื้อแกะเอง อย่ามาแหกตาอั๊วนะเฟ้ยอาหง"
อาหงจึงต้องแกะสดๆให้ดูจะจะ อาเตี่ยจึงยอมเชื่อศิโรราบโดยดี
ตอนนั้นเขาอายุแค่ 11 ขวบ


พออายุ 13 ขวบ อาหงสามารถสอบผ่านระดับอำเภอ
ปีนี้เขาเห็นรูปเขียนภูเขาหวงซานของ สือเทา(石涛) ที่บ้านสกุลหวาง ในหมู่บ้านฉิว(虬)
อาหงประทับใจมากและขอยืมมาเป็นแบบเพื่อวาดลอกเลียน แต่เจ้าของไม่ยอมให้ยืม
วันถัดมา ตื่นขึ้นเขาก็ร้องด้วยความปิติว่า "แม้ข้าจะไม่มีโอกาสวาดลอกเลียนสือเทา
แต่รูปนั้นก็ปรากฏในความฝันของข้าแล้วเมื่อคืน"


อายุ 15 ไม่ได้มาเป็นสาว เอ๊ย หนุ่มรำวง อาหงไปฝึกวิชาวรยุทธ ชอบทั้งขี่ม้าและวิชากระบี่ รำดาบ
วิชาเหล่านี้ยังคงติดตัวหวงปินหงมาตราบชั่วชีวิต เขามีความเชื่อว่าวิชาศิลปะต้องการความแข็งแรง
มิฉะนั้นเส้นพู่กันจะขาด "พลัง"
เขาจึงออกกำลังเสมอ ทั้งปีนเขา และเดินระยะไกล


อายุ 19 ปี ได้เดินทางไปชมเขาหวงซานครั้งแรก ตื่นเต้นมากเมื่อแรกเจอ
วันหนึ่งในตอนเย็นหลังจากที่เหน็ดเหนื่อยเพราะเขาเดินทางไปชมน้ำตก
แต่คืนนั้นเพื่อนร่วมทางพบว่า เขายังไปนั่งวาดรูปท่ามกลางแสงจันทร์
เพื่อนๆต้องตักเตือนเพราะห่วงใย เกรงจะเกิดอันตรายเนื่องจากความเหนื่อยล้า


อายุ 20 ปี มีคนจากหังโจวนำเอาของขวัญมาฝาก
เป็นภาพทาบถูเพื่อลอกอักษรจากหินสลัก หวงชอบมาก
นำติดตัวไปด้วยตลอดเวลา เมื่อมีเวลาก็จะหัดเขียนเลียนตัวอักษร
ทำให้เกิดความชำนาญในการเขียนอักษรโบราณแบบต่างๆในเวลาต่อมา

ลายมือของเขามีความสวยงามจากการที่ได้แบบอย่างจากต้นแบบที่ดีเยี่ยม
ดังนั้น ในภาพเขียนของเขา ไม่ว่าเป็นภาพทิวทัศน์ หรือภาพดอกไม้
จะเห็นร่องรอยของเส้นพู่กันตามแบบของเส้นการเขียนตัวอักษรนั่นเอง
มีทั้งเส้นเฟยไป๋(เส้นปาดเร็วจนทิ้งรอยขาวไว้)เมื่อวาดก้อนศิลา
ลายเส้นแบบ "เจ้า(เมิ่งฝู่)" เมื่อวาดต้นไม้
นี่คือศิลปะของหวงปินหง


ปี 1886 (22 ปี) หวงรับงานเป็นเสมียนสำนักบริหารเกลือในหยางโจว
หัวหน้าของเขาเข้าใจในศิลปะและอนุญาตให้เขาใช้เวลาศึกษาศิลปะได้
โดยไม่มอบงานให้มากนัก บางทีหวงจะชวนลูกชายหัวหน้าไปชมงานสะสมศิลปะที่หยางโจว
ช่วงนี้หวงศึกษางานทิวทัศน์ของเจิ้งซาน ศึกษางานนก-ดอกไม้ของเฉินซงกวาง

หวงสะสมผลงานเป็นภาพวาดเก่าๆกว่า 300 ชิ้น ส่วนมากเป็นภาพวาดสมัยหมิง
สมัยนั้นซื้อหากันด้วยราคาถูกมาก (เขาเคยเล่าว่าภาพของแท้ของ
สือเทา หรือหนีจานหาซื้อได้ในราคารูปละ 10 หยวน)
ส่วนหนึ่งในงานสะสมของเขาภายหลังได้ขายต่อให้จินเต๋อเจียน

เมื่อหวนรำลึกถึงเยาว์วัย หวงเล่าว่า

"เมื่อได้รูปภาพมาคราวใด จะศึกษาอย่างกระตือรือล้น
ยากนักที่จะปล่อยให้ผ่านสายตาไปอย่างง่ายๆ
หากมีเวลาให้ดูน้อย เขาจะคัดลอกหลายๆครั้งเพื่อจะได้เข้าใจว่า
จิตรกรสมัยก่อนวาดกันอย่างไร"

งานคัดลอกขอเขาระหว่างช่วงอายุ 40 – 50 ปี ได้รับการรักษาไว้อย่างดี
มีงานของ ถงหยวน หมี่ฟู่ หลี่ถัง หมาหย่วน เซี่ยเกวย หวางเมิ่ง
หนีจาน และอื่นๆอีกมาก
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องยืนยันว่าหวงศึกษางานอย่างทุ่มเท
เพื่อจะได้เข้าใจในส่วนที่ดีที่สุดของบรรดาปรมาจารย์ยุคเก่าทั้งหลาย



ด้วยบุคลิกและความคิดของเขา หวงไม่สามารถทำงานอ๊อฟฟิศได้นาน
การเป็นพ่อค้าในธุรกิจเกลือจำต้องสัมผัสกับการประพฤติมิชอบและการให้สินบาทคาดสินบน
บางครั้งภาพเขียนโบราณก็สามารถนำมามอบให้กันต่างสินบนได้
หวงเคยถูกเรียกไปให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพแท้ภาพเก๊
เมื่อไม่ชอบใจก็ลาออกแล้วกลับบ้าน

หวงเคยเขียนเล่าเมื่ออายุ 60 ปีว่า
"ข้าฯเสมียนน้อยต๊อกต๋อยในหยางโจว พับแขนเสื้อแล้วก็(สะบัดก้น)กลับบ้าน"


ปี 1894 (อายุ 30 ปี) กลับไปภูมิลำเนาเพื่อจัดการงานศพบิดา
หลังจากนั้นใช้เวลาประมาณ 3 ปี เพื่อช่วยงานสร้างเขื่อนทดน้ำ


หวงเข้าไปมีบทบาททางการเมืองในปลายศตวรรษที่ 19
โดยเข้าไปสนับสนุนนักปฏิรูป คังโหย่วเหวย เหลียงฉีเจา และถานซื่อถง


ปี 1899 (อายุ 35 ปี) หวงหลบภัยไปที่เซี่ยงไฮ้เพราะพัวพันกรณีขบถ


ปี 1900 หวงเข้าร่วมมือในกิจการชลประทานในบ้านเกิด
งานของเขาประสบผลสำเร็จมาก เขาจะขี่ม้าไปตรวจตราเขื่อน
และคลองระบายน้ำ


ปี 1903 เขาไปเป็นครูในโรงเรียนที่หวูหู ช่วงนี้จะเผยแพร่แนวคิดปฏิวัติ
แม้กระนั้นก็มิได้ทิ้งการศึกษาศิลปะ น้อยคนนักที่จะทราบว่าเขาสามารถวาดภาพได้ดี


จนฤดูร้อนในปี 1906 บ้านเกิดของหวงเกิดภัยพิบัติจากแมลง
หวงคิดน้ำยาผสมน้ำมันถงฉีดพ่นปราบแมลงเป็นผลสำเร็จ
เขาดีใจมากและกลายเป็นที่ชื่นชมของบรรดาเกษตรกร


อย่างไรก็ดีในความคิดทางการเมืองของเขา ซึ่งต่อต้านราชวงศ์ชิง
ทำให้เขาต้องสงสัยและถูกหมายจับ คราวนี้เขาต้องลี้ภัยไปที่เซี่ยงไฮ้
และต้องหลบอยู่นานถึง 30 ปี นับแต่ปี 1907 เป็นต้นไป


ที่เซี่ยงไฮ้ หวงได้ร่วมงานกับกลุ่มรักชาติออกหนังสือถกวิจารณ์กันเรื่องศิลปะกับการเมือง
ช่วงนั้นพวกชาวต่างชาติมานำเอาสมบัติทางโบราณคดีและศิลปวัตถุออกไปจากจีนมาก
หวงวาดการ์ตูนในหนังสือที่มีเกาเจี้ยนฝู้ และเกาฉีเฟิงเป็นบรรณาธิการ


ปี 1911 เขากับเติ้งชิวเหมยออกหนังสือเกี่ยวกับศิลปกรรม
เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปกรรม วรรณกรรม เนื้อหาจำพวก ลายมือ
ภาพเขียน ปฏิมากรรม เครื่องปั้นดินเผา เครื่องสำริด หยกและศิลา
วรรณคดี และอื่นๆ


ปี 1913 หวงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีของวิทยาลัยศิลปะแห่งนครเซี่ยงไฮ้
และสองปีถัดมาก็ได้ตั้งร้านจำหน่ายโบราณวัตถุในเซี่ยงไฮ้


ปี 1921 เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าแผนกศิลปกรรมใน
สำนักพิมพ์ Commercial Press แต่ทำได้ 4 ปี ก็ลาออก


เขาสะสมตราประทับที่หายากมากกว่า 2,000 ตรา
ตราเหล่านี้นอกจากมีคุณค่าในด้านสุนทรียศาสตร์แล้ว
ยังมีคุณค่าในการวิจัยทางภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์
ในปี 1924 ตราประทับที่หายากของเขาถูกขโมยไป
และน่าสงสัยว่าขโมยคงทำตามใบสั่ง เนื่องจากมีผู้มาขอซื้อ
จากหวงหลายครั้ง แต่เขาไม่ขาย

ระยะนี้หวงค่อนข้างจะซึมเศร้า เขาจึงผ่อนคลายโดยการเดินทาง
ท่องเที่ยวไปชมสถานที่สวยงามต่างๆ
อีกทั้งค่าครองชีพในเซี่ยงไฮ้ค่อนข้างสูง
เขาจึงต้องขายของสะสมเพื่อให้การดำรงชีพของครอบครัวจะได้ไม่ลำบากนัก
ตอนนั้นหวงอายุ 60 ปีแล้ว


ในปี 1924 หนังสือชื่อ "จิตรกรที่มีชื่อเสียงของจีน" ของเขาได้รับการตีพิมพ์
เขายังชีพอยู่ได้ส่วนหนึ่งจากการวาดรูป เขากินอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย
แม้ค่าจ้างวาดรูปจะได้ต่ำกว่าที่ตกลงเขาก็ไม่ว่ากระไร

ส่วนหนึ่งของงาน เขาจะมอบให้แก่หอศิลปกรรมและพิพิธภัณฑ์


ในช่วง 10 ปีสุดท้ายในเซี่ยงไฮ้ เขารับงานสอนศิลปะให้หลายโรงเรียน
นอกจากนี้ก็ท่องเที่ยวไปชมมหาสิงขรต่างๆและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในจีน
เมื่ออายุได้ 70 ปีแล้ว เขายังแข็งแรง ไม่ว่าจะไปที่ใดก็ยังขยันวาดรูปตลอดมา


ในปี 1926 (72 ปี) รับงานบรรณาธิการหนังสือ "เสินโจวกว๋อกวางเส้อ"


ปี 1928 เดินทางไปกว่างซีเพื่อบรรยายตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยแห่งกว่างซี ที่กุ้ยหลิน
เขายังไปที่กว่างโจวและได้ซื้อหนังสืออัลบั้มภาพวาดของหวงหลวี่ บรรพชนของเขา


ปี 1932 หวงไปที่เสฉวน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์
ในสถาบันศิลปกรรมหนานหนิงในนครเฉิงตู
เขายังไปที่ภูเขาเอ๋อร์เหม่ย(ง่อไบ๊)แม้จะเป็นฤดูหนาวที่หนาวแสนสาหัส
จวบเข้าฤดูใบไม้ร่วงปีถัดมา เขาจึงกลับไปยังเซี่ยงไฮ้
หวงเขียนลายมือบันทึกการเดินทางครั้งนั้นเป็นบทกวี
และได้พิมพ์แจกแก่บรรดามิตรสหายในเวลาต่อมา
สุขภาพและร่างกายเขายีงสมบูรณ์แข็งแรงมาก เดินตัวปลิวอย่างเร็วบนทางราบ
และไม่ต้องใช้ไม้เท้าช่วยเวลาขึ้นเขา


ปี 1935 เขาเดินทางกลับไปเยี่ยมกุ้ยหลินอีกครั้ง ขากลับแวะที่ฮ่องกงก่อนแล้วจึงไปเซี่ยงไฮ้
ที่ฮ่องกงเขาไปเที่ยวที่วิคตอเรียพีค และเกาลูน ได้สเก็ตช์ภาพจำนวนหนึ่ง
นำออกแสดงนิทรรศการที่ฮ่องกง และมาเก๊า


ปี 1937 (อายุ 74 ปี) หวงไปปักกิ่งเพื่อรับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์
ในเดือน มิถุนายน เขาได้ซื้อภาพเขียนสมัยซ่งที่ไม่ปรากฏลายเซ็นจิตรกร
ความนึกคิดของเขาหมกมุ่นอยู่ที่รูปเขียนนั้น แยกตัวอยู่กับรูปนั้นกับกองหนังสือ
เขาปรารถนาที่จะไปชมภูเขาในกวางตุ้ง กว่างซี แคว้นจิง และแคว้นฉู่


ปี 1943 เพือนๆได้จัดแสดงนิทรรศการรูปเขียนฉลองวันเกิดให้


เมื่ออายุได้ 80 ปี หวงเขียนบันทึกว่า
"อายุ 80 ยังคงเรียนอย่างหนัก
อย่างไม่เหนื่อยหน่าย จุด(ตะเกียง)น้ำมันยันเที่ยงคืน"


ปี 1948 ( 84 ปี) รับไปสอนที่สถาบันศิลปกรรมที่หังโจว
ยังเดินเที่ยวขึ้นเนินเขาและวาดรูปเสมอๆ
บอกใครๆว่าไม่เกี่ยงที่จะเป็น "ตาแก่นักวาดแห่งทะเลสาบซีหู"


เมื่ออายุ 88 ปี มีคนเห็นเขาวาดรูปบนรถไฟขณะเดินทางไปปักกิ่ง


เมื่ออายุ 89 ปี ได้เสียสายตาไปมาก แต่ก็ไม่เคยทิ้งให้พู่กันอยู่เฉยๆ
หมายความว่า ฝีมือการปาดป้ายพู่กันของเขาบรรลุถึงขั้นสุดยอดแบบว่าไม่จำเป็นต้องใช้สายตา


ในปี 1953 อายุย่างเข้าปีที่ 90 ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลผ่าตัดต้อกระจก
ในเดือนถัดมาก็ป่วยด้วยโรคลำไส้อักเสบ แม้จะป่วยเขาก็ยังแปลความอธิบายแก่หวางป๋อหมิ่น


ปี 1954 หวงให้สัมภาษณ์แก่จิตรกรอาคันตุกะจากฮังการีและโปแลนด์
ต้นเดือน มีนาคมปีนี้ เขาป่วยหนักอยู่ 29 วัน และถึงแก่กรรม
ก่อนสิ้นชีวิตเขาพยายามพยุงตัวขึ้นเพื่อวาดรูปทิวทัศน์เล็กๆ
และ 2 วันก่อนสิ้นลม เขาได้นอนตะแคงแต่งกวีบทสุดท้าย


ในพินัยกรรมของเขา ได้อุทิศหนังสือที่สะสมไว้ทั้งหมด
ตลอดจนงานศิลปกรรมที่เขาวาดสะสมไว้กว่า 10,000 ชิ้นให้แก่ประเทศจีน



ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่ เนินทักษิณ ริมทะเลสาบซีหู
อยู่ในร่มเงาไม้สนและต้นแป๊ะ และมีคลื่นจากแม่น้ำเฉียนถัง
สาดสำเนียงขับกล่อมอยู่ชั่วนาตาปี







ตัวอย่างผลงาน


ที่นำมาให้ชมในคราวนี้ เป็นผลงานอัลบั้มภาพเขียนชุด
ปาซานสูสุ่ย (巴山蜀水) หรือ ทิวทัศน์แห่งแคว้นเสฉวน
จำนวน 12 ภาพ เป็น reproductions ที่ผมสะสมไว้
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ศิลปกรรมแห่งเสฉวน (四川美术出版社)
เมื่อปี คศ.1985





1

犍为小景(เจียนเหวยเสียวจิ่ง)
เจียนเหวยอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเสฉวน



2

叙州舟次(ซู่โจวโจวชื่อ)



3

巴渝山石(ปาหยวีซานสือ)



4

蓮渓道中(เหลียนซีเต้าจุง)



5

广安天池(กว่างอันเทียนฉือ)



6

遂宁道次(ซุ่ยหนิงเต้าชื่อ)



7

嘉州江岸(เจียโจวเจียงอั้น)



8

嘉陵江边(เจียหลิงเจียงเพียน)



9

北碚泉石(เป่ย์เป้ย์ฉวนสือ)



10

合江舟行(เหอเจียงโจวสิง)



11

虎头岩景(หู่โถวเหยียนจิ่ง)



12

青城山中(ชิงเฉิงซานจุง)


13

ลายมืออักษรศิลป์แบบตัวบรรจงเล็ก (เสี่ยวไค่)
ของหวงปินหง เขียนเป็นบทกวี(ซือ)





ตราประทับตราหนึ่งของหวงปินหง




ท่านจะเห็นลักษณะการ "เขียน" ภาพของท่านหวงปินหง
ด้วยสไตล์การใช้ "เส้น" หรือ "ฝีพู่กัน" แบบการเขียนตัวอักษรจีน

รสนิยมหรือการชื่นชมวิธีการแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์
และความเข้าใจค่อนข้างลึกซึ้งมากๆ อธิบายกันได้ยากเสียด้วย
ผมจึงจะไม่พยายามบอกเล่าอะไรมาก เพราะอาจจะผิดก็ได้

หากท่านเปรียบเทียบกับงานของท่านฉีไป๋สือ ผมว่าการเข้าใจและเข้าถึง
จะเรียบง่ายตรงไปตรงมามากกว่า


สรุปคือ ท่านผู้ชมตัดสินใจเอง





จิตรกรเอกทั้งสองท่านต่างมีดีด้วยกันทั้งคู่

ที่เหมือนกันมากในอุดมการณ์ของสังคมนิยม คือ

การรับใช้มวลมหาประชาชน รักและศรัทธาประชาชน

ประเทศชาติและประชาชน....ต้องมาก่อน !






ไอ้ที่คอยจ้องจะงาบ

จะโกงบ้านกินเมือง

ลงนรกไปเรย...ชิ้ว ! ชิ้ววววว !




........................................................



สำหรับดนตรีคราวนี้ชักคิดถึงกู่ฉิน ท่านหวงปินหงได้ร่ำเรียนกู่ฉินมาแต่เล็ก
ขอเอาฝีมืออันดับหนึ่งของ หวางเฟย (王菲) ในเพลง 鸥鹭忘机
คำแปลสำนวนคุณชัชกู่ฉินแปลเอาความว่า "ละจิตที่คิดร้าย"


ขอขอบคุณ You Tube ที่พาเพลงไพเราะมาสู่เรา




........................................................









ปอลอ :

สำหรับรูปในบล๊อกนี้ถ่ายด้วยกล้องตัวใหม่ครับ อิ อิ
เป็น Canon รุ่น S95 เพิ่งไปสอยมาจากฟิวเจอร์พาร์ค
ยังไม่คุ้นเคยกันเท่าไร คู่มือก๊อขี้เกียจอ่านเป็นนิสัยถาวร

ไม่ว่าเป็นกล้องดีหรือห่วยแค่ไหน ฝีมือผมก็คงเส้นคงวา
" ของแท้ต้องเบลออออ....ถ้าชัดๆสวยๆคือของเก๊ " 5 5 5 +





 

Create Date : 27 ตุลาคม 2553    
Last Update : 2 ธันวาคม 2553 16:26:14 น.
Counter : 4895 Pageviews.  

หลิ่งหนานฮว่าพ่าย (嶺南畫派) ภาค 2 : ชมผลงานชิ้นเยี่ยม (ต่อ)





คงได้ชื่นชมกับผลงานของจิตรกรสำนักหลิ่งหนานกันพอควรแล้ว

(ท่านที่เพิ่งเข้ามาโปรดอ่านเอนทรี่นี้ก่อน ตามลิงก์ข้างล่างครับ)
//www.bloggang.com/viewdiary.php?id=dingtech&month=09-2010&date=04&group=2&gblog=28


แต่ยังมีอีกสัก 2 ท่าน ที่ผมอยากให้ชมรูปเขียนสวยๆชิ้นเยี่ยม

สองท่านนี้คือ



เฉินซู่เหริน (陳樹人)
ผู้เป็นหนึ่งในจิตรกรผู้บุกเบิก เกิดในรัชสมัยจักรพรรดิ์กว่างซวี่ปีที่ 9
เขาเป็นชาวกว่างตงและเป็นศิษย์ของจวีเฉาและจวีเหลียน
ได้ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นเช่นเดียวกับสองพี่น้องสกุลเกา
มีชื่อเสียงมากในทางฝีพู่กันที่แม่นยำลื่นไหล...คล้ายแบบแผนดั้งเดิม
แต่การลงสีเขาประยุกต์ตามแบบตะวันตก
เฉินสามารถจับเอาวิญญาณของนกน้อยเกาะพักบนกิ่งต้นไม้ใหญ่หรือ
บนก้านกล้วยที่มักจัดไว้ตรงกลางภาพ
ภาพที่ดูเรียบง่าย ทว่าลื่นไหลของเขาที่สีสันบรรเจิด ทำให้มีผู้กล่าวขานว่า
" งดงามดังบทกวีของปัญญาชน "





เจ้าเส้าอ๋าง (趙少昂)
ผู้เป็นจิตรกรเอกที่นำผลงานของสำนักหลิ่งหนาน
ไปเผยแพร่ทั่วโลก จขบ.ชื่นชมเป็นพิเศษกว่าของท่านอื่นครับ

ตอนเด็กเรียนวาดรูปกับครูในหมู่บ้าน พออายุ 16 ปี จึงได้เรียนกับพี่น้องสกุลเกาทั้งสอง
เมื่ออายุได้ 23 ปี ได้เป็นครูสอนศิลปะ
ในปี 1930 ได้รับรางวัลจากเบลเยี่ยมในงานระดับโลก และได้ตั้งสำนักหลิ่งหนานที่กว่างโจวในปีนี้
เขาได้จัดนิทรรศการที่กว่างโจว และปีต่อๆมาก็เวียนจัดไปทั่วเมืองจีน
ช่วงหลังเจ้าเส้าอ๋างได้ย้ายไปอยู่ที่ฮ่องกง
ปี 1939 จัดนิทรรศการเดี่ยวที่ฮ่องกง
ปี 1941 จัดนิทรรศการเดี่ยวที่นิวซีแลนด์
การท่องเที่ยวและแสดงผลงานยิ่งนำพาให้เขาประทับใจในทัศนียภาพ
อันงดงามของแผ่นดินจีน เช่น กุ้ยหลิน ภูเขาเอ๋อเหม่ย(ง๊อไบ๊) สามโตรก(แม่น้ำฉางเจียง)
ปี 1946 หลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น เจ้าเส้าอ๋างกลับมายังจีนตอนใต้ สร้างงานอยู่ที่ฮ่องกง มาเก๊า
ปี 1948 ได้รับเกียรติแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ได้รับเชิญไปแสดงภาพเขียนในหลายประเทศ
เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เอเซียอาคเณย์
ปี 1953 ได้ตระเวณไปยุโรป แสดงผลงานที่ สวิส สหราชอาณาจักร
ปี 1954 แสดงภาพที่ฝรั่งเศส และอิตาลี
ปี 1960 - 1971 จัดนิทรรศการกว่า 30 ครั้ง ที่แคนาดา เยอรมนี ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
ปี 1977 ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในไทเป
ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
เจ้าเส้าอ๋าง ชมชอบที่จะวาดภาพทิวทัศน์ สัตว์ ดอกไม้ แมลง ปลา และจักจั่น
ผลงานของเขาสำแดงเอกลักษณ์ของสำนักหลิ่งหนานได้แจ่มชัดมากทีเดียว




ความจริงสายสำนักต่างๆยังสามารถไล่สาวย้อนกลับไปกลับมาได้ยาวโข

บอกชื่อไปมากมายจะชวนเวียนหัวเปล่าๆ.......ชมรูปเขียนดีกว่าครับ




............................................................



ผลงานของ เฉินซู่เหริน (陳樹人) 5 ภาพ


1


สีสันวสันตฤดูในหลิ่งหนาน


2


นกแม็กพายทักทาย


3


ผึ้งบินผ่านลำไผ่เขียว


4


นกนางแอ่นคืนรัง


5


ห่านป่ากับพงอ้อ




............................................................



ผลงานของ เจ้าเส้าอ๋าง (趙少昂) 10 ภาพ

6


นกกระยางขาวในสระบัว


7


ปลาคาร์พ 9 ตัว


8


กบในสระคราวสันต์


9


ขุนเขาหน้าผาขจีกับสายธาราแห่งแคว้นฉู่


10


ทิวทัศน์อเมริกาพาให้คิดถึงบ้าน


11


เรือน้อยยามฝนพรำค่ำคืนสู่เคหา


12


เกาะคอนยามฤดูศารท


13


ตั๊กแตนตำข้าวขย้ำเหยื่อ


14


หุบเขาดอกท้อยามหลังฝน


15


นกกระเต็นเกาะก้านบัว




.......................................................................



ก็คงได้ชื่นชมกับผลงานอันวิเศษของสำนักหลิ่งหนานไปแล้ว

เป็นอย่างไรบ้างครับ?....ชอบ..ไม่ชอบ อย่างไรก็เชิญคอมเม้นท์

ดูเก่าบ้าง ใหม่บ้าง สลับกันเปลี่ยนบรรยากาศนะครับ




........................................



มีของแถมนะครับ อิ อิ รูปสุดท้ายนี่ ผมวาดเอง
ไม่ใช่สำนักหลิ่งหนานนะ แต่เป็นสำนักหุยคง (ห้วยขวาง) ครับ หุ หุ





นกกะรางหัวหงอก





ก่อนจบขอเชิญฟังเพลงเพราะๆตามเคย

คราวนี้ขอนำเอา ไวโอลินคอนแชร์โต้ บรรเลงเพลง
ตำนานแห่งผีเสื้อ "เหลียงซานพอ กับ จุ๊อิงไถ"
กระบวนแรกที่แสนหวานชื่นสลับร่าเริงในรักแรกเริ่ม
ฝีมือเดี่ยวไวโอลินโดย หลี่ว์ซือฉิง (ชนะเลิศรางวัลปากานีนี่ 1987)



ขอบคุณ You Tube ในเสียงดนตรีแสนวิเศษสู่โสตรพวกเรา



.........................................................











 

Create Date : 13 กันยายน 2553    
Last Update : 13 กันยายน 2553 11:49:29 น.
Counter : 4731 Pageviews.  

หลิ่งหนานฮว่าพ่าย (嶺南畫派) : สกุลช่างศิลปะจีนยุค "เปลี่ยนแปลง"









"Change"..........

คำที่เป็นพระเอกมานานพอควร
พอๆกับคำว่า Globalization (โลกาภิวัตร)
ในวงการไหนๆก็เหมือนกัน เขาว่ากันว่าอะไรๆมันไปรวดเร็ว
คนอยู่กับที่คือคนที่ถอยหลัง ตามไม่ทันเพื่อน
น้ำที่มันขังนิ่ง...ไม่ช้าก็จะเน่า...
ศิลปะจีน โดยเฉพาะด้านจิตรกรรม ทำกันมาตามประเพณี
ย่ำอยู่กับที่หลายร้อยปีดีดัก.........คนวาดก็เบื่อ คนดูก็เซ็ง

ลัทธิขงจื่อทำให้เกิดศรัทธาแห่งการเคารพบรรพชน
เคารพสิ่งที่บรรพชนสร้าง...........จึงหาคนกล้า "นอกครู" ยาก

แต่กรุงจีนรึจะสิ้นคนกล้า............ แหะ แหะ...ตามผมมาคร้าบ





............................................................



ลุ ค.ศ.1757 รัฐบาลราชวงศ์ชิงเปิดการค้าทางทะเลกับนานาชาติ
(ตรงกับสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยพระเจ้าอุทุมพร กรมขุนพรพินิต)
ฝรั่งมังค่าเริ่มหาตลาดระบายสินค้ามาแถบเอเซียกันยกใหญ่
เมืองกว่างโจว ในมณฑลกวางตุ้งเป็นเพียงแห่งเดียวที่กฎหมายจีน
อนุญาตให้เป็นเมืองท่าขนถ่ายสินค้าสู่จีน นาน 86 ปี...ตราบถึงปี ค.ศ.1843
(ตรงกับไทยสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)


ด้านอุษาคเณย์ของจีนนี่แหละ รวมถึงมณฑลกวางตุ้งยุคใหม่
เรียกขานกันแบบลำลองว่า "หลิ่งหนาน" (嶺南) แปลตามศัพท์ว่า "เทือกเขาทางใต้"
บรรดาปราชญ์ทางการเมืองที่สำคัญหลายคนได้อุบัติขึ้นในแถบนี้
เช่น คังโหย่วเหวย (康有為 1858-1927) และเหลียงฉี่เชา (梁啟超 1873-1929)
ซึ่งเป็นพวกหัวก้าวหน้าต้องการสร้างระบอบรัฐธรรมนูญแทนระบอบจักรพรรดิ์ดั้งเดิม
และ ดร. ซุนยัตเซ็น (孫中山,孫逸仙 1866-1925) ผู้สถาปนาสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ.1911


วิวัฒนาการของจิตรกรรมจีนแบบชาวกวางตุ้งเริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
แต่ยังไม่แพร่หลาย
มาเป็นที่ยอมรับกันในระดับชาติเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 นี่เอง




..........................................




สองพี่น้องสกุลเกา....ผู้นำของ "สกุลช่างศิลปะหลิ่งหนาน"



เกาเจี้ยนฝู้ (高劍父 1879-1951) ได้เข้าสังกัดสมาคมถงเหมิงฮุ่ย (同盟會) ซึ่งก่อตั้งโดย
ซุนยัตเซ็นเมื่อปี ค.ศ.1905 เป้าหมายคือปฏิวัติล้มล้างระบอบจักรพรรดิ์


หลังปี ค.ศ.1911 เกาเจี้ยนฝู้ได้อุทิศตนเพื่อการ "เปลี่ยนแปลง"
โดยผ่านการวาดภาพ การเผยแพร่ผลงาน-เขียนบทความ การสอนลูกศิษย์
เขาสนับสนุนส่งเสริมพัฒนา "ภาพเขียนแบบจีนใหม่" ซึ่งเขากับสานุศิษย์
และน้องชายคือ



เกาฉีฟง (高奇峰 1889-1933)
ได้พยายามรวมเอาสไตล์การวาดแบบดั้งเดิมให้
เข้ากับองค์ประกอบแบบเรียลิสติคของตะวันตก ผสมผสานกับแบบญี่ปุ่นยุคใหม่(เมจิ)
จึงได้ศิลปะแนวใหม่ที่เข้าถึงประชาชนจีนในระบอบสาธารณรัฐจีนใหม่
ได้มากกว่าการวาดภาพแบบปัญญาชนยุคเก่าในอดีต

ทั้งคู่ได้พัฒนาการใช้สีและฝีแปรงอันรุนแรงที่ผลลัพธ์ออกมาเป็นเอกลักษณ์
ส่งอิทธิพลมากมายในหมู่จิตรกรทางภาคใต้


ยังมีจิตรกรอีกท่านหนึ่งที่จัดว่าเป็นผู้ร่วมบุกเบิกคือ


เฉินซู่เหริน (陳樹人 1884-1948)


ทั้ง 3 ท่านได้รับเกียรติเรียกว่า สามจิตรกรหลิ่งหนานผู้ยิ่งใหญ่
("สองเกา หนึ่งเฉิน") 三大家 ("二高一陈")
ทั้งสามท่านมีครูร่วมกัน ครูทั้งสองพี่น้องแห่งสกุล "จวี" นับเป็นผู้จุดประกาย
ของสกุลช่างศิลปะหลิ่งหนานทีเดียว ขอเอ่ยนามเพื่อให้เกียรติแก่
จวีเฉา (居巢 1811-1889) กับ



จวีเหลียน (居廉 1828-1904)


จิตรกรอีกท่านหนึ่งที่โดดเด่นของสำนักนี้คือ



เจ้าเส้าอ๋าง (趙少昂 1905-1998) ผู้ร่วมสมัยและฝีมือฉมังนัก



............................................................




มีคำกล่าวจาก หวงพินหง (黃賓虹 1865-1955)
จิตรกรร่วมสมัยท่านหนึ่งว่า


" สมัยถัง...เป็นดังส่าหมัก(เหล้า)
สมัยซ่ง...เป็นดังสุรา
สมัยหยวน...ลุมาตกต่ำ
เป็นดังสุราผสมเจือด้วยน้ำ
ยิ่งสมัยนี้ล่วงมา...
น้ำยิ่งผสมมากขึ้น
ในสมัยปัจจุบันนี้...รูปเขียน
มีแต่น้ำ แต่ไร้สุรา
ผู้เสพแล้วไม่อาจเมามาย
ดูไปแล้วช่างดูดาดไร้รสชาติยิ่งนัก "



จิตรกรผู้นำในสกุลช่างศิลปะหลิ่งหนาน เสนอให้ก้าวกระโดดเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
โดยขอเอา "ธรรมชาติเป็นครู"....มุ่งพินิจพิจารณาวาดแบบ "เขียนจากของจริง"

คำสอนมีว่า


"折衷中外 ...."เจ๋อจงจงเว่ย์
融合古今" .... หรงเหอกู่จิน"

("พินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญถึงจีนและต่างชาติ
ผสมผสานเอาอดีตให้เข้ากับปัจจุบัน")


คตินิยมของสกุลช่างศิลปะหลิ่งหนานมีความคล้ายคลึงกับทาง
ลัทธิ "อิมเพรสชั่นนิสม์" คือ
จับเอาวิญญาณของธรรมชาติมาทั้งรูปทรงและสีสัน
สะท้อนเอามาจากของจริง คือเคารพในนฤมิตกรรมของธรรมชาติ
สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่วาดลงไปไม่มีความแตกต่างถึงขั้นขัดแย้งกัน
รสชาติที่ได้รับถีงจะไม่เหมือนธรรมชาติ
แต่ก็มีสิ่งสะท้อนจากวิญญาณแท้จริงของธรรมชาติ

แบบอย่างที่มาคือจากญี่ปุ่นและจากทางฝรั่งตะวันตกผสมผสานกัน
ในสำนักอิมเพรสชั่นนิสม์ ก็ได้รับอิทธิพลการลงสีจากภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น
ส่วนญี่ปุ่นเองก็ได้รับอิทธิพลจากจีนหลายครั้งหลายครา
จึงอาจกล่าวได้ว่า....

สกุลช่างศิลปะหลิ่งหนานเป็นการรับเอาวัฒนธรรมญี่ปุ่นยุคเมจิและตะวันตก
หวนกลับมาสู่จีนอีกครั้งหนึ่ง ดังมีคำกล่าวว่า


"外師造化 ...."เว่ย์ซือเซ่าฮว่า
中得心源" .... จงเต๋อซินหยวน"

(ศึกษาอารยธรรมจากเบื้องนอก-ต่างชาติ
ธำรงแก่นจิตใจดั้งเดิมของภายใน-จีน)





จขบ.ขอสรุปรวบยอดง่ายๆว่า....
แบบอย่างของจีน......เน้นหนักโดดเด่นที่เส้นฝีพู่กัน
เส้นจะไม่ใช้เป็นเส้นร่างรูป แต่จะจุ่มสีแล้วแต้มป้ายปาดไปเลย
วิธีแบบนี้เรียกว่าวาดแบบ "ไม่มีกระดูก" (沒骨)
แบบอย่างตะวันตกและญี่ปุ่นยุคเมจิ...เน้นที่สีสันแสงเงากับเพอสเพ็คทีฟ




..................................................................



จะไม่พูดมากกว่านี้แล้ว ดูชมภาพเลย
คงจะทำให้ทราบซึ้งกว่าที่ผมว่ามาข้างต้นครับ





ชุดแรกของ จวีเฉา (居巢) 3 ภาพ

1


ลั่วหยางฮวา


2


ปลาตระกูล catfish


3


นกกระยางคู่


....................................................


ชุดที่ 2 ของ จวีเหลียน (居廉) 2 ภาพ


4


ใบบัวห่อดอกไม้


5


ดอกโบตั๋นกับแอสเตอร์


....................................


ชุดที่ 3 ของ เจ้าจือเชียน (赵之谦) 2 ภาพ


6


ดอก...(ไม่รู้จักชื่อ)


7


ดอกโบตั๋นกับกุหลาบ


.......................................



ชุดที่ 4 ของ เกาเจี้ยนฝู้ (高劍父) 4 ภาพ


8


เหยี่ยวจ้อง


9


เสือคำรามใต้ดวงจันทร์


10


ฟักทอง


11


บัวขาว



...............................................


ชุดที่ 5 ของ เกาฉีฟง (高奇峰) 6 ภาพ

12


ฝนคราวสันต์ ต้นหลิวริมบึง


13


นกอินทรี


14


วานรชมจันทร์


15


ม้าขาวกับแรกหิมะ


16


ภาพทิวทัศน์


17


พระโพธิธรรม(ตั๊กม้อ) เพ่งกำแพง


................................................



ดูว่าบล๊อกจะยาวเกินไปแล้ว

ขอต่อคราวหน้านะครับ

จะเป็นภาพเขียนของ เฉินซู่เหริน กับ เจ้าเส้าอ๋าง

รับรองสวยสะเด็ดยาดแน่นอน.....




............................................................


ก่อนจบฟังเพลงเพราะๆสักเพลง มีบรรยากาศของจีนที่รับเอา
วัฒนธรรมตะวันตกทางดนตรีและบัลเล่ต์มาแสดง เป็นการปรับ
จิตสำนึกของประชาชนให้เข้ากับระบอบการเมืองการปกครอง
แบบฝรั่ง ปลุกใจและเร้าใจทีเดียวครับ

การแสดงบัลเล่ต์ประกอบเพลง Yellow River Concerto กระบวนที่ 4



ขอบคุณ You Tube ที่ส่งผ่านเพลงและการแสดงดีๆมาให้เราได้ชมกัน


..........................................................









 

Create Date : 04 กันยายน 2553    
Last Update : 6 กันยายน 2553 23:11:38 น.
Counter : 5996 Pageviews.  

โขดศิลาแห่งหวงซาน(黃山石) : มหัศจรรย์แห่งขุนเขาแผ่นดินจีน




สีเหลือง.............เปล่าครับ ไม่ใช่กีฬาสีระดับชาติ


ที่แบ่งคนไทยเป็นฝักเป็นฝ่ายแทบจะตายไม่เผาผีกันแร้ว


ขอเสียทีเถิดครับ พ่อแม่พี่น้องไทย


คนชาติไทยมีเลือดสีแดงรักชาติเหมือนกันถ้วนหน้า
คนชาติไทยเคารพสีขาวแห่งพระศาสนาอันบริสุทธิ์
คนชาติไทยรักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ



สีของธงไตรรงค์เท่านั้นที่จะรวมใจไทยเป็นหนึ่งเดียว


นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พวกเราต้องตระหนัก สำเหนียก ยึดมั่น


อย่าให้เศษสวะที่เป็นอาสวกิเลสของคนกระหายอำนาจบางคนบางกลุ่ม
มาเป็นเหตุปัจจัยแห่งความร้าวฉาน เผาผลาญความรักใคร่ของเรา
อ้างเอากระพี้ขี้ผงแห่งความริษยาและหวาดระแวง
มาตระแบงบ่อนทำลายสามัคคีธรรมของคนไทย


หนักแน่นเข้าไว้ครับ

หนักแน่นเข้าไว้ครับ

หนักแน่นเข้าไว้ครับ





...........................................................................





สีเหลืองที่ผมจะกล่าวถึงวันนี้คนจีนเรียกว่า


"หวงซาน" (黄山)


แปลว่า "ภูเขาเหลือง" นั่นเอง



ดังได้กล่าวไว้ในเอ็นทรี่ที่แล้วว่า :

สองสิ่งที่จิตรกรจีนจักต้องได้ไปสัมผัสคือ

"สนแห่งไท่ซาน(泰山松)" กับ "โขดศิลาแห่งหวงซาน(黃山石)"

วันนี้ผมจะพาท่านไปชมโขดศิลาครับ

...

...

หวงซาน เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,200 ตาราง กม.
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอ เส้อเสี้ยน(歙縣)
มณฑลอานฮุย(安徽) ซึ่งเป็นตอนใต้ของแม่น้ำฉางเจียง



ที่นี่นับเป็นสถานที่มีชื่อเสียงมากของจีน
นักท่องเที่ยวนิยมมาชมความงามของทัศนียภาพ
โดยเฉพาะความงดงามอย่างประหลาดของโขดศิลา
ทะเลเมฆ ต้นสนแก่คร่ำ และธารน้ำร้อน



นักทัศนาจรผู้ยิ่งใหญ่สมัยราชวงศ์หมิง : สวีเสียเค่อ(徐霞客) กล่าวไว้ว่า :


"หากได้มาเยือนปัญจมหาคีรีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปชมขุนเขาที่ใดอื่นอีก
แต่เมื่อกลับจากเที่ยวชมหวงซานแล้ว ก็ไม่เห็นจักต้องไปชมปัญจมหาคีรีอีกครา"



มีกวีร่วมสมัยท่านหนึ่งกล่าวว่า :

"หวงซานนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
ที่บอกว่า ไท่ซานแสนวิเศษ, หัวซานนับเป็นเอก, หลูซานน้ำตกสวย,
เหิงซานมีเมฆโอบภู และศิลาประหลาดแห่งเอี้ยนต้าง....
ทั้งหมดนี้รวมกันแล้วอยู่ที่หวงซาน"




หวงซานมียอดเขาที่เด่นๆ 72 ยอด
มีชื่อเรียกขานตามรูปทรงปรากฏ
ยอดที่สูงสุด 1,800 เมตร
มีต้นสนโบราณงอกตามโขดศิลายอดเขาและไหล่เขา
ทั้งสองสิ่งนี้ไม่มีวันจะแยกจากกันได้
ดูแปลกประหลาด แต่ก็งดงามแสนสุดวิเศษนัก


บรรยากาศบนหวงซานนั้นไม่สามารถจะทำนายได้
สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ไม่ว่าจะเป็นวันที่ท้องฟ้ากระจ่าง หลังฝน
เมฆหมอกคละคลุ้ม หรือลมพายุกรรโชก
ความลึกล้ำของหุบเหว ลี้ลับน่าสะพรึงกลัว

ต้นสนที่งอกจากโขดศิลาล้วนๆ ดูอัศจรรย์นัก บ้างเหมือนแขวนห้อย
บ้างเหมือนกระสาเหินบิน บ้างดังมังกรทะยานชล

โขดศิลานั้นเล่า มียอดหนึ่งสนงอกบนยอดแหลมยาวดูราวพู่กันผลิเพล็ดดอก
บ้างเหมือนดอกบัว บ้างเหมือนเกือกบู๊ท มีหน้าผาหนึ่งดูราวผืนม่านมโหฬาร

ทั้ง 3 สิ่ง คือ เมฆ สน ศิลา ของหวงซานนั้นผสมผสานกันลงตัวยิ่ง
ม่านเมฆที่โอบหุ้มยอดเขา บางคราวคล้ายเทพเริงร่าย
บัดเดี๋ยวกลายเป็นทะเลเมฆ สักครู่กลับกลายเป็นดังฝูงแกะ
ดูอีกทีกลายเป็นม้าควบกระโจน



สรรพสิ่งที่เราคิดไม่ถึงว่าจะมีจริงในโลกนี้


เห็นแต่ในภาพวาด


เชิญชมได้ครับ....ว่า " ห ว ง ซ า น " นั้น


มีจริง...เป็นจริง...งามจริง





.....................................................................




ผมมีอัลบัมภาพเขียนของหวงซานอยู่ส่วนหนึ่ง
อยากนำเสนอให้ท่านได้ชื่นชมกันบ้าง


ภาพวาด "หวงซาน" โดย หลิวไห่ซู่ (劉海粟)
(ภาพที่ 1-7)

ขอเล่าประวัติจิตรกรร่วมสมัยท่านนี้สักเล็กน้อย
มีชีวิตอยู่ระหว่าง คศ. 1896-1994
เป็นชาวเมืองฉางโจว มณฑลเจียงซู เรียนวาดรูปมาตั้งแต่ 6 ขวบ

ปี คศ.1912 ได้ร่วมกับศิลปินอื่นๆตั้ง "วิทยาลัยศิลปะซ่างไห่"

ท่านเป็นผู้ที่สนใจในศิลปะตะวันตก โดยเฉพาะแบบ โพสต์-อิมเพรสชั่นนิสม์ และโฟวิสม์
ได้เดินทางไปศึกษาต่างประเทศคือ ญี่ปุ่น 2 ครั้ง ยุโรป 2 ครั้ง(รวม 12 ปี)
หลิวไห่ซู่ขึ้นเขาหวงซานเพื่อทำงานศิลปะนับสิบครั้ง
ด้วยฝีมือและเท็คนิกทำให้ภาพชุด "หวงซาน" ของท่านมีชื่อเสียงที่สุด
ท่านสามารถกำหนดแสงเงา ตลอดจนไล่น้ำหนักสีได้อย่างเชี่ยวชาญลุ่มลึก

ปี คศ.1949 จีนปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสม์
ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิการบดีวิทยาลัยศิลปะหนานจิง

แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมของแก๊งส์ 4 คน
ท่านต้องไปทำงานตรากตรำในชนบทเช่นเดียวกับศิลปินอื่นๆ

กระทั่งปี คศ.1978 รัฐบาลจึงได้คืนชื่อเสียงเกียรติยศแก่ท่าน






-1-




-2-




-3-




-4-




-5-




-6-




-7-




...................................................




-8-

รูป หวงซาน โดย ยิงเย่ผิง(應野平)



..................................................




ภาพที่ 9-14 เป็นฝีมือจิตรกรชาวไต้หวัน ที่ยังมีความผูกพันกับมาตุภูมิเดิม
ความรักและภาคภูมิใจในจีนแผ่นดินใหญ่ปลุกเร้าให้เกิดผลงานเหล่านี้
บทกลอนที่ประพันธ์ขึ้นประกอบภาพเขียนบรรยายถึงความประทับใจ
ในขุนเขาและธารน้ำอันสุดแสนงดงามอย่างหาที่ใดเปรียบมิได้

คนจีนแยกกันอยู่ 2 แผ่นดิน ยังโหยหาอาวรณ์มาสร้างสานสัมพันธ์

ไฉนไทยเราเคยรักใคร่ผูกพันมาสะบั้นไมตรีแตกแยกถึงเพียงนี้???





-9-

โดย หมี่จี๋เถียน(弭菊田)



-10-

โดย จางเติงถาง(張豋堂)



-11-

โดย หมี่จี๋เถียน(弭菊田)



-12-

โดย หมี่จี๋เถียน(弭菊田)



-13-

โดยหวูเจ๋อเฮ่า(吴澤浩)



-14-

โดย จางเติงถาง(張豋堂)




......................................................



ขอให้ดูภาพถ่ายสักหน่อยหนึ่ง พอได้เปรียบเทียบกับรูปวาด
เอามาจากเว็บของจีนครับ





-1-




-2-




-3-




-4-




-5-




-6-




-7-






.............................................................






สำหรับดนตรีครั้งนี้ขอเสนอกู่ฉินในเพลง
ผิงซาลั่วเยี่ยน (平沙落雁) ห่านป่าบินลงหาดทราย




ขอบคุณ You Tube ที่ส่งเพลงไพเราะมาเช่นเคย


แถมเพลงประกอบภาพ "หวงซาน" อีกคลิปครับ




................................................













 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 27 ธันวาคม 2554 20:12:09 น.
Counter : 4396 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

Dingtech
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]









◉ ภุมราท้าโลกกว้าง . . เกินฝัน

หวังวาดสู่สวรรค์ . . . . . เวิกโพ้น

แท้คืนสู่สามัญ . . . . . . มละตื่น

ยังฉงนงวยโงกโง้น . . . .โง่ตื้นลืมตาย ฯ





Dingtech :

ผมเป็นคนธรรมดา ธรรมดา มาจากบ้านนอก
รักศิลปะทุกชนิด ทุกรูปแบบ ทุกสัญชาติ

รักชาติไทย รักประเทศไทย
รักคนไทยทุกคน จงรักภักดี และ
เคารพสักการะพระมหากษัตริย์ไทย

ยินดีแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆทุกคนครับ





since 16 December 2009

New Comments
Friends' blogs
[Add Dingtech's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.