ตลิ่งสูง ซุงหนัก โดย นิคม รายยวา
ผมจำไม่ได้ว่า นวนิยายระดับรางวัลซีไรต์ เรื่องตลิ่งสูงซุงหนัก ของ นิคม รายยวา นี้ถูกจัดให้เป็นหนังสือนอกเวลา ในระดับชั้นมัธยมต้นหรือมัธยมปลายปีไหน

แต่ที่แน่ ๆ และจำได้แม่นก็คือว่า เหมือน ผมเคยโดนอาจารย์ประจำวิชาภาษาไทย สั่งให้อ่านเป็นหนังสือ นอกเวลา แต่ในตอนนั้นผมก้ไม่เคยสนใจที่จะหยิบฉวย ขึ้นมาอ่าน หน้าปกของมันเป็นอย่างไร มีความสำคัญยังไง ก็ ไม่เคยใส่ใจจะรู้

หากจะถามว่าแล้วผ่านวิชาภาษาไทยมาได้อย่างไร ก็คงต้องยอมรับไปหน้าซื่อ ๆ ว่า ผม เนี่ยสอบวิชาภาษาไทยตกแล้วตกอีก ตั้งแต่ระดับ มัธยมศึกษาชั้นปีที่สองไปจนถึงชั้นปีที่สี่ เวลา เข้าไปสอบหนังสือนอกเวลาที่เป็นข้อสอบเลือกให้ กา ก. ข. ค. ง. ก้แบบเข้าไป ประมาณว่า เลือกอ่านตามสามัญสำนึก ทั้งที่ไม่เคยอ่านนั่นแหละ จน ผ่านมาได้แบบคาบเส้นฟลุ้ก ๆ เพราะสอบซ้ำ จำคำถามได้แล้วไปถามเพื่อนบ้าง กามั่วบ้าง ก็ว่ากันไป

-----------------------------


มาวันนี้ เวลาผ่านไปกว่าสิบห้าปี
ความคิดความอ่านของผมในตอนนี้ ต่างกับตอนอยู่ม.ต้น หรือม.ปลายลิบลับ เพราะตอนนี้ ดันมีความฝันที่อยากจะเป็น นัก(ขอ)เขียนกับเขาบ้าง จนอาจารย์สอนภาษาไทยสมัยก่อน เมื่อมาเจอ ผมตอนนี้ ก็แทบไม่อยากจะเชื่อตา เชื่อใจตัวเอง ว่าไอ้นี่หรือ ที่เราเกือบให้เกรดศูนย์มัน

--------------------

ผมใช้ความพยายามปะติดปะต่อเนื้อ เรื่องตลิ่งสูงซุงหนัก ในตอนต้นอยู่ ระยะหนึ่ง ด้วยฉากหลัง และวิถีชีวิต ของตัวเอกในเรื่อง อย่าง คำงาย กับพลายสุด และผืนป่า ที่อบอวลไปด้วย กลิ่นน้ำ ตลิ่ง และช้างเป็น ฉากที่ ผม ไม่ค่อยคุ้นชิ้นเท่าใดนัก

แต่พออ่านไปได้สักพัก ก็เริ่มพอจะจับเค้าโครงชีวิตของตัวละคร อย่างคำงาย มะจัน และแอ ได้

คำงายเติบโตกับช้างมาตั้งแต่เด็ก จนเขาคิดว่าเขาจะต้องเลี้ยงชีวิตด้วยอาชีพควาญเสียแล้ว แต่ ด้วยชะตาชีวิต ทำให้เขาได้กลายมาเป็นช่างสตั๊ฟสัตว์ และจะด้วยบุพเพสันนิวาส หรืออะไรก็แล้วแต่ทำให้เขาได้มาพบเจอกับ มะจัน และทั้งคุ่ก็แต่งงานกัน มีลูกเล็ก ๆ ที่ซุกซนชื่อ เด็กชายแอ

แต่โชคชะตาของคำงายก็ยังต้องเกี่ยวพันกับช้าง เมื่อเขาตั้งใจจะสลักไม้ชิงชันขอนใหญ่ให้ตัวใหญ่เท่าพลายสุด เพื่อแลกกับพลายสุดที่ต้องพลัดจากเขาไปอยู่ในความดูแลของ "พ่อเลี้ยง" กับคืนมาให้ได้

ณ ตรงนี้เอง ที่ทำให้ ตัวละครอย่างคำงายเริ่มจะเข้าใจชีวิต เริ่มเข้าใจอาชีพที่ตนทำ สิ่งที่ช้างทำ ไม่ว่าจะเป็นการสตั๊ฟสัตว์ หรือการลากซุงของช้าง

ประโยคของคำงายที่ว่า "มนุษย์เราทุกคน ล้วนลากซุงท่อนหนักที่มองไม่เห็นกันอยู่ทั้งนั้น เพียงแต่มนุษย์ไม่รู้ตัวว่ากำลังลากอยู่" ชวนให้ผมนึกถึง แนวคิด เรื่อง "ร่างกายใต้บงการ" (les corps dociles) ของ Michel Foucault ว่าด้วยการทำงานของวาทกรรม ที่แทรกซึมเข้าไปทุกอณูอากาศ Foucault ยกตัวอย่าง ค่านิยม ของคนงานในสังคมทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ได้ ประกอบสร้างอัตลักษณ์และการสร้างความหมายของ บุคลากรที่ดีในสังคม ทุนนิยม เมื่อคนใดก็ตามได้ถูกปลูกฝังความเชื่อเรื่อง บุคลากรที่ดี จนเขาเชื่ออย่างสุดหัวใจแล้วละก็ เมื่อนั้น เขาจะปฏิบัติตาม อัตลักษณ์นั้น ๆ โดยที่ไม่ต้องมีแส้ หรือการลงโทษใด ๆ บนเรือนร่างของเขาเลย

เฉกเช่น กับช้างที่ลากซุงฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อใดก็ตามที่ช้างเชื่อว่า มันต้องลากซุง มันก็มุมานะลากซุงของมันไป โดยที่ไม่ต้อง ใช้แส้ใช้ตะขอ ทำโทษมันเลย

คนเราเองก็เหมือนช้าง สิ่งที่คนเราขวนขวายไขว่คว้าก็เปรียบเสมือนการลากซุง ซุงที่เรามองไม่เห็น

ตลอดเวลาที่คำงายแกะสลักขอนไม้ชิงชัน เป้นรูปช้าง ทำให้เขาได้เรียนรู้ถึงคุณค่าของชีวิต มันน่าขันที่เขาพยายามแกะสลัก ไม้ที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิตดุจที่ช้างมี และสิ่งนี้ ก็คงน่าขันไม่ต่างไปจาก การที่คนเราฆ่าสัตว์ให้สิ้นชีวิตไป พอสัตว์นั้นตาย กลับพยายามนำสัตว์นั้นมาสตั๊ฟ ให้ดูดุจราวกลับมามีชีวิต

สิ่งเหล่านี้ทำให้คำงาย รู้คุณค่าของ ชีวิตคนที่เขารัก
แทนที่จะสตั๊ฟซากสัตว์ที่ตายแล้วให้ดูมีชีวิต
สู้สตั๊ฟซาก ร่างกายที่ยังมีชีวิต ให้มีชีวิตยิ่ง ๆ ขึ้นด้วยการให้ความรัก ความเอาใจใส่ ก่อนที่ อนิจจัง จะพรากชีวิตคนที่รักให้จากเราไป นั้นจะไม่ดีกว่าเล่าหรือ



Create Date : 27 เมษายน 2552
Last Update : 27 เมษายน 2552 20:25:54 น.
Counter : 1888 Pageviews.

4 comments
  
เป็นเล่มที่อยากอ่านแต่ยังไม่มีโอกาสได้อ่านค่ะ
เคยเห็นผ่านๆนะ แต่เสียดายที่ไม่ได้หยิบมาอ่านเหมือนกัน
แก่นของเรื่องราว..น่าสนใจมากค่ะ..แต่ไม่รู้เหมือนกัน
ว่าเป้นนอกเวลาม.ไหน..แต่คิดว่าเราไม่ได้เรียนเล่มนี้แน่ๆ
โดย: nikanda วันที่: 28 เมษายน 2552 เวลา:4:51:25 น.
  
เราอ่านเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตอนเรียนมหาวิทยาลัยค่ะ ของเราเป็นฉบับพิมพ์ครั้งเก่า ที่มีรูปช้างนั่นละ ชอบมาก ๆ เลย เสียน้ำตาให้กับตอนจบไปไม่รู้เท่าไร พร้อมกับการก่นด่าคนใจร้าย คงด้วยเพราะเราเป็นเด็กเมืองช้างด้วยละมัง ความผูกพันที่มีกับช้างจึงเหมือนจะมีมากกว่าคนจังหวัดอื่น

ป.ล. ถูกใจสองย่อหน้าสุดท้ายของคุณจขบ. ค่ะ โดนมาก
โดย: Kitsunegari วันที่: 28 เมษายน 2552 เวลา:16:10:49 น.
  
เป็นอีกหนึ่งหนังสือในดวงใจเลยค่ะ จำได้ว่าอ่านครั้งแรกตอนเรียนอยู่ ม.2 อ่านจบแล้ว รีบไปหาซื้อมาครอบครองเป็นเจ้าของทันที เพราะชอบมาก สงสารพลาดสุดสง่ามาก ๆ เลย
โดย: หวานเย็นผสมโซดา วันที่: 29 เมษายน 2552 เวลา:17:11:16 น.
  
จำได้ว่าอ่านเล่มนี้ตอนอยู่ม.ต้น (น่าจะม. 1-2) พอผ่านไปนานๆ ก็ลืมว่าเรื่องราวเป็นไง เดี๋ยวไปค้นมาอ่านใหม่


เข้ามาอ่านหน้า "หนังสือ" แล้วเกิดอารมณ์อยากแชร์ประสบการณ์อ่านหนังสือให้คนอื่นมั่งจัง
โดย: pimpa_11 วันที่: 3 พฤษภาคม 2552 เวลา:12:45:11 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend