ลูกอีสาน โดย คำพูน บุญทวี
จำได้คับคล้ายคับคลาว่า ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง "ลูกอีสาน" ครั้งแรกตอนอายุ 8 ขวบ วันนั้น ผมกำลังดูโทรทัศน์ดูรายการเกมส์โชว์ ในช่วงบ่ายวันเสาร์อยู่ ด้วยความไม่ใส่ใจกับเสียงโฆษณาในระหว่างเกมส์โชว์ตอนสุดท้ายว่าถัดไปจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ลูกอีสาน" ผมก็ดันฟัง "ลูกปิศาจ" เสียนี่

แต่กระนั้นผมก็ยังเปิดทีวีทิ้งไว้เป็นเพื่อน ในขณะที่ตัวเอง ก็นั่งเล่น เรียงหุ่นพลาสติกรูปสิงสาราสัตว์ของตัวเอง ต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ในตอนนั้น ก็คือ ดาราที่เล่นในเรื่องลูกอีสานที่เป็นภาพยนตร์ในตอนนั้น พูดอีสานสำเนียงชัด และเหมือนจริงทุกคน ซึ่งต่างจากละครช่องสามไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ตอนผมยังเด็ก หรือ วันสองวันก่อนที่ได้ยินมานี้ ที่ดาราเล่นละครรับบทเป็นคนอีสาน แต่พูดสำเนียงไม่เหมือน (แต่ด้วยเหตุผลทางการตลาดหรืออะไรก็แล้ว แต่ ที่คนทำละครจำเป็นต้องใช้ดาราที่พูดอีสานไม่ชัดมาเล่น)

หลังจากนั้น ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่อง "ลูกอีสาน" อีกครั้งก็ตอน มัธยม ที่อาจารย์ภาษาไทยมอบหมายสั่งงานให้อ่านเป็นหนังสือนอกเวลา

และต้องสารภาพเลยว่าผมเป้นคนที่อ่อนภาษาไทยมาก ๆ ตั้งแต่เรียน ม.1 ถึง ม.6 ผมได้เกรด 4 แค่ตัวดียว ก็คือ ม.6 เทอมสุดท้าย ช่วงจะสอบเอ็นทรานซ์ เข้ามหาวิทยาลัยนั่นแหละ นอกนั้น เกรดหนึ่งเกือบตลอด เพราะ ไม่สนใจเรียน และต่อต้าน วิชาภาษาไทย มาก ๆ

ในช่วงที่ต้องอ่านหนังสือเรื่อง "ลูกอีสาน" เป็นหนังสือนอกเวลาก็เหมือนกัน ที่ ตอนผมไปสอบ ผมก็สอบตก และก็ต้องไปสอบแก้หลายต่อหลายหน กว่าจะผ่านมาได้ แล้วไอ้ที่ผ่านมาเนี่ย ก็ผ่านแบบคาบเส้น แถมไอ้คะแนนที่คาบเส้น เนี่ยเป็นเพราะเพื่อน บอก คำตอบ เป็นข้อ มาให้อีกตางหาก อาจารย์ก็รู้ แต่ อาจารย์เขาสงสาร เขาเลยให้ผ่าน ๆ ไปอย่างงั้นอย่างงั้น

-------------------

จนมาสมัยที่เรียนระดับปริญญาตรี ในวิชาภาษาไทยตัวแรก ๆ ที่นิสิตชั้นปีที่หนึ่งทุกคนต้องเรียน อาจารย์ที่สอน ได้กล่าวไว้ว่าหากใครจะเป็น "นักเขียน" ที่ดี เขาผู้นั้นจะต้องเป็น "นักอ่าน"ที่ดี ให้ได้เสียก่อน

ว่าแล้วท่านอาจารย์ก็ยกตัวอย่าง คำพูน บุญทวี นักเขียนซีไรต์ผู้นี้ทำงานอยู่ในห้องสมุดมานับสิบปี ทำให้เขามีโอกาสได้อ่านหนังสืออยู่ทุกวัน จนกระทั่งสามารถเขียนนวนิยายระดับคุณภาพอย่างเรื่อง ลูกอีสาน เล่มนี้ขึ้นมาได้ และในช่วงเวลานั้นเองเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มจะหัดเขียนหนังสือหนังหากับเขาบ้างแล้ว ยิ่งได้รู้ว่า นวนิยายเล่มนี้ถูกจัดอยู่ในประดาหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ผมจึงตั้งใจไว้ว่า สักวันจะต้องอ่าน "ลูกอีสาน" ให้จงได้

แต่ก็ยังไม่ได้อ่านเสียที จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมจึงมีโอกาสได้อ่าน สองวันก็อ่านจนจบเล่ม

--------------------

ประเด็นแรกที่ผมประทับใจจากหนังสือเรื่องนี้ ก็คือประเด็นเรืองภาษา
ถึงแม้ว่าคุณแม่ผมจะเป็นคนอุบล และเติบโตที่อีสานมา แต่เพราะคุณพ่อ ไม่ใช่คนอีสาน ที่บ้านจึงพูดภาษาไทยกัน

จะมีได้ยินเสียงภาษาลาวบ้าง ก็ตอนไปบ้านคุณยาย หรือไม่ก็ตอน แม่โมโห นาน ๆ จะมีคำอีสานหลุดมาสักที

ผมฟังอีสานออก แต่พูดไม่ได้เลย จนกระทั่ง ขึ้นชั้นมัธยม ถึงเริ่มพูดอีสานเป็น เพราะ เพื่อนพูดกัน เลยต้องปรับตัว จนบัดนี้ พูดคล่องปร๋อ แล้ว

แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ภาษาอีสานที่ผมรู้จัก มันก็เป็น "อีสานที่กลายพันธุ์" ไปจาก ภาษาของคำพูน บุญทวี พอสมควร ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ ผมฟังไม่ชัดถนัดถนี่ แล้วก็ไม่ได้เรียนตัวอักษรลาวมา ทำให้ หลายครั้ง "ฟังบ่คัก" จึงได้เสียงที่ผิดเพี้ยนไป ผมได้มารู้มาเข้าใจ ก็ตอนอ่านนวนิยายเรื่องนี้นี่เอง อย่างเช่นคำว่า

"ยาพ่อ" ที่คนลาว(อีสาน) ผม เคยได้ยินยายพูดเป็นเสียง "ยะพ่อ" เวลาที่จะเรียกผมมากินข้าวแล้วไม่มากินซะที ผมก็เพิ่งรู้ว่าคำว่า "ยะพ่อ" นั้น มันคือ คำว่า "ยาพ่อ" ที่เขาใช้เรียกพระสงฆ์องคเจ้า แต่ยายเรียกผม เพราะต้องการจะประชดที่มากินข้าวช้า

หรือคำพูดเวลาเพื่อนเถียงกัน ที่ผมได้ยินเป็นคำว่า

"เว้าไปทั่วทีบทั่วแดน" ที่แปลเป็นไทยว่า "พูดไปมั่วไปเรื่อย" จริงๆ มันออกเสียงเต็มรูปว่า "เว้าไปทั่วทวีปทั่วแดน" แต่เข้าใจว่า เวลามาพูดจริง ๆ เสียง "ว.แหวน" มันหาย จากคำว่า "ทั่วทวีป" เลยเหลือแค่ "ทั่วทีป"

อีกคำที่น่าสนใจคือคำว่า "ย่าน" ที่ผมได้ยิน ที่แปลว่า "กลัว"
แต่ใน "ลูกอีสาน" คำพูน ใช้คำว่า "ยั่น" ตรงนี้ก็เป็นอีกจุด ที่น่าตั้งข้อสังเกต

ผมจำได้ว่า เคยอ่านเจอใน ไตรภูมิพระร่วง ของ พญาลิไท ว่ามันมีคำว่า "อย่าน" ที่แปลว่า "กลัว"อยู่ตรงนั้น และตอนที่อ่าน ก็คิดเดาไปว่า มันน่าจะเป็นคำเดียวกันกับคำว่า "ย่าน" ในภาษาอีสาน เป็นแน่
แต่พอมาเจอ "ยั่น" ของ คำพูน แล้วทำให้ผมเริ่มลังเลกับสมมติฐานในข้อนี้

นอกเหนือจากประเด็นทางด้านภาษาแล้ว ประเด็นทางอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ก็เป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ เหมือนผม เคยอ่านเจอมาว่า ในสมัยก่อนที่ประเทศไทยจะสถาปนาระบบรัฐชาติสมัยใหม่ ใน รัชกาลที่ 5 นั้น ภาคอีสาน ทั้งภาค จัดได้ว่า มีความเป็นชาติพันธุ์และความภักดีอยู่แห่งเดียวกัน กับ ล้านช้าง หรือ กรุงศรีศตนคนหุต สังเกตได้จากดนตรี วัฒนธรรมและภาษาที่ใช้ มีความคล้ายคลึงกัน

คือ คนในภาคอีสานและล้านช้างจะเรียกตัวเองว่า เป็น "คนลาว" เหมือนกัน แต่ ถ้ามาจากกรุงเทพ จะเรียกว่าเป็นคนไท

เมืองนครราชสีมา ถือได้ว่าเป็นเมืองชายแดนแล้ว คือ ทีสื่อความเป็นชายแดน "นคร" แปลว่า "เมือง" "ราช" น่าจะแปลว่า "ราชา" ส่วนคำว่า "สีมา" น่าจะแปลว่า "เขตแดน" รวมความ คือ เขตแดนเมืองของพระราชาอะไรทำนองนั้น

แม้แต่ ล้านนาเอง ก็ยังมีคนเรียกว่า เป็น "พวกลาว" ถ้าผมจำไม่ผิด ผมเคยเห็นจิตร ภูมิศักดิ์อ้างถึงโคลงบทหนึ่ง ที่กล่าวถึง พระเจ้าติโลกราช ว่าเป็น พระเจ้ากรุงลาว เช่นเดียวกัน

ด้วยเพราะเนื้อเรื่องลูกอีสานยังดำเนินอยู่ในยุคที่ อำนาจอธิปไตยของรัฐไทย ยังตอกย้ำและขีดเขียนทาบทับ "ความเป็นไทย"ลงไปยังบนวิถีชีวิตคนพื้นถิ่นได้ไม่ชัดเท่าใดนัก คือเป็นช่วงแรกที่รัฐไทยเพิ่งสถาปนากลไกการปกครองของรัฐจากส่วนกลาง เพลงชาติก็ยังเป็นเพลงชาติเพลงเก่า

ประจักษ์พยานด้าน "ความภักดี" ในทำนองเช่นนี้ ก็ยังพบเห็นได้ ในวรรณกรรมเรื่องลูกอีสาน เราจะพบข้อคิดข้อความ อยู่บ่อยครั้ง ที่ คนในนวนิยายแทนตัวเองว่าเป็น "คนลาว" แม้กระทั่ง ไทใหญ่ ที่เดินทางมาแถวยโสธรร้อยเอ็ด ก็ยังแทนตัวเองว่า "เป็นคนลาวคือกัน" (เป็นคนลาวเหมือนกัน)

ตัวละครในมีความศรัทธาเลื่อมใส่ ศิลปวิทยาการของครูบาอาจารย์สำนักหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ในฝั่งลาวปัจจุบัน มีความศรัทธาในพระแก้วมรกต และชาวบ้านก็ยังจำเรื่องเล่าได้ว่า พระแก้วมรกตเคยอยู่เวียงจันทน์ และย้ายมาอยู่ในกรุงเทพ รวมถึงศรัทธาพระธาตุพนมที่นครพนม เรื่องเล่าประวัติศาสตร์การสร้างเมืองอุบลของพระวอพระตา เรื่องราวก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ก็ยังเป็นที่จดจำและเป็นเรื่องเล่าที่ตอกย้ำซ้ำเติมความเป็นอัตลักษณ์ ของความเป็นคนอีสานนั่นเอง

----------------



ความแห้งแล้งของภูมิประเทศ ที่นานทีปีหนฝนจะตก เหมือนกับ กาพยานี "อีศาน" ที่อัศนี พลจันทร์ได้ประพันธ์ไว้ไม่มีผิด คนอีสานเป็นคนอดทน ต่อสู้ไม่ยอมจำนน แม้จะแลดูเหมือนสิ้นไร้หนทาง แต่ก็ยังมานะบากบั่นหาอาหาร กินตามมีตามเกิดจนได้

ตลอดเรื่อเราจึงพบอาหารที่ทุกวันนี้ไม่รู้จะหากินได้ที่ไหนอย่างเช่น หมกฮวก ลาบนกขุ้ม ปิ้งกะปอม ลาบไก่ป่า แกงอ่อมไก่ ปลาร้า จั๊กจั่น อึ่งปิ้ง ที่คนอีสานแท้ ๆ เลี้ยงชีพกันในอดีต

คำสอนจากเรื่องที่ผมประทับใจที่สุดก็คือคำสอนของหลวงพ่อ ตอนที่หลวงพ่อถามคูน ตัวละครเอกว่า รักอะไรและเกลียดอะไร มากที่สุด คูน ตอบว่า รักพ่อรักแม่ และน้องสาวสองคน แต่คูน เกลียดฟ้า

หลวงพ่อ บอกว่า คูนอย่าเกลียดฟ้า แม้ฟ้าจะไม่ได้ให้ฝน จนผืนดินแล้งไปหมด ที่คนเราเป็นทุกข์ นั้นเป็นเพราะคนเป็นสาเหตุเอง ฟ้าไม่เคยทำให้ใครต้องทุกข์

นั่นหมายความว่าหลวงพ่อสอนให้คูนเป็นคนอดทน และต่อสู้ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ได้หล่อหลอมความเป็นคนอีสาน นำเสนอการต่อสู้ชีวิตอดทน ไม่ยอมจำนน ต่อความอดอยากยากแค้น ผมคิดว่า ความประทับใจเพียงเท่านี้ ก็เพียงพอแล้วที่จะการันตี ความเป็นหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรจะอ่าน



Create Date : 13 ธันวาคม 2552
Last Update : 13 ธันวาคม 2552 21:24:49 น.
Counter : 2524 Pageviews.

1 comments
  
เคยอ่านตั้งแต่สมัยเรียนม.ต้น(มั๊ง)
จำได้ว่าชอบและประทับใจ..แต่ว่าตอนนี้
จำเนื้อเรื่องแทบไม่ได้แล้ว..หลงเสน่ห์บ้านๆค่ะ
โดย: nikanda วันที่: 14 ธันวาคม 2552 เวลา:16:48:45 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend