เต๋า: มรรควิธีที่ไร้เส้นทาง โดย Osho
เมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา ผมเคยสนทนากับหลวงพี่ที่เคารพท่านหนึ่ง ว่าหนังสือ “ธรรมะ” เล่มใด ในปีนี้ พ.ศ.นี้ (ก็คือตอนนั้น) หลวงพี่ท่านแนะนำหนังสือธรรมะเรื่อง “วุฒิภาวะ” หรือที่แปลมาจากภาษาอังกฤษเรื่อง “Maturity” ที่เขียนโดย Osho ซึ่งเป็นนักเขียนที่ผมไม่คุ้นชื่อมาก่อน ผมก็เลยได้โอกาสซื้อเก็บไว้ แต่จนบัดนี้ เวลาผ่านไปสามสี่ปีแล้วก็ยังไม่ได้มีโอกาสอ่าน

วันหนึ่งผมเดินไปที่มุมสะสมหนังสือของน้องชาย เผอิญไปเห็นหนังสือของ Osho มากมายหลายเล่มวางไว้บนเล่ม ก็เลยลองหยิบเล่มหนึ่งในนั้น ซึ่งชื่อว่า Tao: The Pathless Path หรือแปลเป็นไทยว่า “เต๋า มรรควิธีที่ไร้เส้นทาง” มาเปิด ๆ ดู เปิดไปเปิดมา เริ่มติดใจ เลยหยิบมาอ่านจนจบเล่ม

ต้องบอกตามตรงอีกแล้วว่า ผมเป็นคนที่อ่อนหัดในความคิดเชิงปรัชญามาก ๆ อย่าว่าแต่ปรัชญาจีนเลย แม้ปรัชญาพวก “กระแสหลัก” ของโลกตะวันตก อย่างพวกสำนัก โสเครตีส อริสโตเติ้ล ที่คนเรียนสายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ หรืออักษรศาสตร์น่าจะคุ้นเคย ผมก็ยัง หูไม่กระดิกแม้แต่น้อย

แต้แม้กระนั้น จากเท่าที่อ่านผ่าน ๆ จบไปหนึ่งรอบ ดู ๆ ไปแล้ว เต๋า จะโจมตีแนวคิด ขงจี๊อ ซึ่งผมเข้าใจว่ามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมจีนแผ่นดินใหญ่และเอเชียตะวันออกค่อนข้างมาก คลับคล้ายคลับคลาว่า เต๋า ไม่เห็นด้วยกับกับแนวความคิดเปรียบเทียบ หรือ การดิ้นรนพยายามหาความสุขอย่างที่ขงจื๊อเชื่อ



ประเด็นที่น่าสนใจ ที่ผมคิดว่า ผม น่าจะจับจุดได้ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นเรื่องการบรรลุธรรมของศาสนาต่าง ๆ ที่เหมือน osho จะจำแนก ออกเป็นสองแนวทาง คือ อย่างแรก การบรรลุธรรมโดยการปฏิเสธ อย่างที่สอง การบรรลุธรรมโดยการยอมรับ

Osho ระบุไว้ว่า อุปสรรคของพวกที่ถือเส้นทางการปฏิเสธ ก็คือ อัตตา เพราะพวกนี้ หากมีความเพียรและประสบความสำเร็จ ศัตรูที่สำคัญ ก็คือความ ถือตน และความมั่นใจเกินไปนั่นเอง

ในขณะเดียวกันอุปสรรคที่สำคัญ ของผู้ที่ถือเส้นทาง การยอมรับ ก็คือความเฉื่อยหรือการเกียจคร้าน เพราะการปล่อยวางมากเกินไป จะเกิดความ เกียจคร้าน จนบางที งานก็ไม่ไปไม่มาเหมือนกัน

ทั้งสองแนวทาง แม้จะเดินต่างเส้นทางกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน แต่ต้องระมดระวัง อุปสรรคสองประการดังที่กล่าวมาแล้ว

คิดไปคิดมา ก็คลับคล้ายคลับคลา กับพุทธปรัชญา ตอนที่ พระพุทธเจ้าสดับฟังเสียงพิณก่อนจะตรัสรู้อย่างไรอย่างนั้น

ประเด็นอีกประการหนึ่ง ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ ก็คือ เรื่อง “ความเป็นสุภาพบุรุษ” ที่ Osho กล่าวถึงไว้ว่า บางครั้งบางคราว ความเป็นสุภาพบุรุษ ก็เป็นแค่สิ่งจอมปลอม ที่คนเสแสร้งแกล้งทำ

โดยส่วนตัวแล้วผมเห็นด้วยกับความคิดนี้ แม้ว่าผมจะไม่ได้ตีความ คำว่า “สุภาพบุรุษ” ในแบบที่ Osho ตีก็ตาม
แต่ ในกรณีที่ คนที่ เปลือกนอกดูเหมือนจะเป็นสภาพบุรุษ แต่พอการแสดงความเป็นสุภาพบุรุษทางเปลือกนอกนั้น ไปหลอกลวงให้สตรีเสียใจ คือ พอได้ในสิ่งที่ต้องการ แล้วก็ทิ้งเขา แบบนี้ ผมก็มองว่า มันก็คือการหลอกลวง ดี ๆ นี่เอง สู้ไม่เป็นสุภาพบุรุษ แต่จริงใจ และไม่ทำให้ใครมาคาดหวังจะอะไรยังจะดูเป็นคนมี “สัจจะ” เสียมากกว่า สุภาพบุรุษที่ลวงโลก

ประเด็นที่ Osho จะสื่อ ก็น่าจะเป็น คนบางคนบางกลุ่มไป “พยายาม” เป็นสุภาพบุรุษมากเกินไป แล้วก็เป็นได้แต่ภายนอก แตจิตใจยังเต็มไปด้วยกิเลสอยู่ สุดท้าย แล้วความเป็นสุภาพบุรุษแต่ภายนอกนั้นก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย

ความคิดของ Osho ตรงนี้ ทำให้ผมนึกคิดถึงแนวคิดสู่ความสำเร็จของ Deepak Chopra ที่บอกว่า คนเราหากพยายามเกินไป มักจะประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะความพยายามมากเกินไปนั้น จะแฝงไปด้วย ตัณหา อยู่ เพราะ ตัณหา นำมาซึ่งความคาดหวัง และความคาดหวังจะทำให้จิตร้อนรนไม่สงบจนผิดพลาดได้ง่าย

แต่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าหากว่าคนเราทำอะไรด้วยความพยายามแบบที่มี “ฉันทะ” และ “ปัญญา” โอกาสประสบสุขความสำเร็จและสันติก็ไม่ใช่ว่าจะไร้หนทางไปเลยเสียทีเดียว

.ในความเป็น “สุภาพบุรุษ” ที่ว่า บุรุษทั้งหลาย จึงพึงควรละ “ตัณหา” และแสวงหา “ปัญญา” และความจริงใจ ด้วย “ฉันทะ” เข้าไว้ หากทำได้ นั่นแหละถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสุภาพบุรุษทั้งข้างนอกและข้างใน



Create Date : 07 ธันวาคม 2552
Last Update : 7 ธันวาคม 2552 16:10:36 น.
Counter : 850 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

เชษฐภัทร
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



New Comments
All Blog
MY VIP Friend