ไปเที่ยว พุกาม มัณฑเลย์ กันไหม (ตอนที่ 2) ไปเที่ยว พุกาม มัณฑเลย์ กันไหม (ตอนที่ 2) บล็อกนี้ ต่อจากการเที่ยวพม่าที่ พุกาม นะคะ สถานที่ท่องเที่ยวแหล่งสุดท้ายของวันนี้และของเมืองพุกามก็คือ วิหารสุลามณี (Sulamani Temple) วัดนี้มีความโดดเด่นในเรื่องงานปูนปั้นประดับวิหารสุลามณีที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในเมืองพุกาม เป็นวิหารสองชั้น มีเจดีย์องค์ใหญ่ตั้งอยู่เบื้องบนสุดลายปูนปั้นประดับซุ้มประตู มีให้ชมทั้งลายใบเคลก (คือ ลายยาวเรียวคล้ายฝักเพกา)และลายบัวหงาย เฟื่องอุบะแบบพุกามและหน้ายักษ์ ด้านในวิหาร มีพระพุทธไสยาสน์และพระพุทธรูปขนาดใหญ่ด้วย วันนี้ พวกเราเที่ยวชมเจดีย์ต่าง ๆ ตั้งแต่เช้า จนมืดค่ำ ก็ยังขาด 1 ใน 5 เจดีย์ที่ว่า ต้องไปชม คือ วิหาร อะเพยทนะ (Abeyadana) แต่ฉันก็หาประวัติมาให้อ่านค่ะ สร้างในสมัยของพระเจ้า กยันสิทถา มีอายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17 ตามตำนานกล่าวไว้ว่าสร้างวิหารนี้อยู่ในบริเวณที่ มเหสีของพระองค์ คือ พระนาง อะเพยทนะ มารออยู่ตอนที่พระองค์หลบซ่อนอยู่ที่เจดีย์ นาคยน (ได้ชื่อว่าวิหารแห่งการรอคอยและหนีภัย) เจดีย์องค์นี้ ยอดเจดีย์เป็นแบบ ปาละ ซึ่งในสมัยพุกามตอนต้นนิยมสร้าง ก่อด้วยอิฐมีลักษณะมีมุขยื่นออกมาด้านหน้า มีชื่อเสียงเรื่องจิตรกรรมฝาผนัง เป็นเรื่องราวพุทธประวัติและพระโพธิสัตว์ ขนาดใหญ่ ยังมีภาพเทพเจ้าในศาสนาฮินดู เช่น พระวิษณุและพระศิวะ สรุปพุทธสถานที่ต้องไม่พลาดชมในพุกาม มี 5 แห่ง คือ 1.เจดีย์ชเวสิกอง เด่นในด้านเก่าแก่ที่สุด 2.เจดีย์อนันทเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่สวยที่สุด 3.วิหารสัพพัญญู เป็นศาสนสถานที่สูงที่สุด 4.วิหารอเพยทนะ เป็นศาสนสถานที่มีภาพเขียนบนฝาผนังเก่าที่สุด 5.เจดีย์วิหารธรรมยางยี เป็นศาสนาสถานที่ใหญ่ที่สุด เย็นนี้ เราก็ทานอาหารร้านที่โบลแนะนำ ซึ่งเดินจากที่พักไปไม่ไกลนัก อาหารก็เหมือนเดิม ที่เราเคยชิมอร่อย คือ ผัดเปรี้ยวหวาน ตามด้วยผัดผักรวมมิตร ท่านผู้อ่านมาดูหน้าตาอาหารมื้อสุดท้ายที่พุกามค่ะ ว่าน่าอร่อยไหม อิอิ วันที่ 26 มิถุนายน 58 วันนี้ เราออกจากเมือง พุกาม เวลา 8.00น.เพื่อมุ่งหน้าไปเมืองมัณฑเลย์ ซึ่งต้องใช้เวลา ประมาณ 4 ชั่วโมง ก็เข้าเมืองสกาย โบลอธิบายว่า เมืองสกาย นี้ เป็นเมืองก่อนจะถึงเมืองมัณฑเลย์ เราข้ามสะพานอังวะ ซึ่งเป็นแม่น้ำ เอยาวดี มองไปทางหน้าต่าง จะเป็นทิวทัศน์ ภูเขา มีศาสนสถานเห็นเด่นชัด ค่ะ ชมภาพ นะคะ
จากวัด อู มิน ทอนซ์ แล้ว โบลก็ขับรถพาพวกเราไปอีกวัดหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กัน คือ เจดีย์ ซุน อู ปง หง่า ซิน (Sone Oo Pone Nya Shin Pagoda Hill)วัดนี้ นักท่องเที่ยวมากันมามากมาย มาไหว้พระกัน พวกเราไหว้เสร็จ ก็เดินชมความงดงามของวัดนี้ วัดนี้ มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่และหนักมาก มีจิตรกรรมฝาผนังมากมาย สิ่งก่อสร้างสวยงาม เลี่ยมกระจกเงางาม มีพระพุทธรูปมากมายเช่นกัน มีจุดชมวิว มองเห็นเมืองข้างล่าง มีต้นไม้หลากหลายชนิด ทางเดินเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ช่วงนี้ฝนตกเพิ่งหยุดตก ทางค่อนข้างลื่น เดินต้องระวังมากพอสมควร มีนักท่องเที่ยวลื่นล้มแล้ว นักท่องเที่ยวมีทั้งต่างชาติและคนพม่าเองด้วย เรามองหามุมสวย ๆ ถ่ายรูปมาฝากคุณผู้อ่านเช่นเคยค่ะ
อิ่มแล้ว รถม้าก็มาเทียบ 4 คัน เสียค่ารถม้า คนละ 4000 จ๊าด แต่ก็คุ้มค่านะ เขาว่า วันนี้พวกเขาได้แขก คือ พวกเราเป็นกลุ่มแรก และกลุ่มเดียว เพราะนี่ ก็จะบ่ายสามเข้าไปแล้ว ระหว่างทาง ฉันก็ถ่ายรูปให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวอังวะ เขาอยู่กันด้วยการทำนา ค้าขายบ้าง ยังเป็นลักษณะของชนบทอยู่ บ้านที่ปลูกสร้าง มีสองชั้น เท่านั้นแต่ก็ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านชั้นเดียว ถนนที่รถม้าวิ่งไป ก็เป็นถนนสายแคบ ๆ สองข้างทาง เป็นทุ่งนาบ้าง ต้นไม้ใหญ่ มีเจดีย์ วัดที่ผ่านไป บ้าง ระยะทางน่าจะหลายกิโลอยู่ มาชมภาพวิถีชาวบ้านของชาวอังวะ ค่ะ
รถม้าพาพวกเรามาถึงท่าเรือ น่าจะประมาณ 5 โมงกว่าแล้ว พวกเราจ่ายเงินค่ารถม้า คนละ 4000 จ๊าด แล้วก็นั่งเรือข้ามฟาก มาขึ้นรถที่โบลกับโรส รออยู่ จากที่นี่ เขาพาไป สะพาน อูเบ็ง ซึ่งอยู่ในเมืองอมรปุระ เพื่อชมสะพานไม้สัก ที่เป็นไฮไลน์อีกที่หนึ่ง น่าเสียดายที่เราถึงที่นี่ ยามพระอาทิตยใกล้จะลับขอบฟ้าไปแล้ว ต้องรีบถ่ายรูปเก็บไว้ก่อนที่ลำแสงสุดท้ายแห่งดวงสุริยาจะลาลับจากโลกนี้ไป เลยได้รูปมาไม่มากนัก สะพาน อูเบ็ง (U Bein Bridge) ได้ชื่อว่า เป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก ประมาณ 1.2 กิโลเมตร เดินข้ามสะพานข้ามทะเลสาบ ตองตะมาน ( Taungthaman) ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างเมืองอังวะและเมืองอมรปุระ ไม้ที่ใช้สร้างสะพาน อูเบ็ง นั้น คือไม้ที่รื้อจากพระราชวัง อังวะ เพราะการสร้างเมืองหลวง ที่สะพานนี้มีเสาค้ำยันขนาดใหญ่ ประมาณ 1200 ต้น ทะเลสาบบางช่วงมีน้ำตื้น ก็จะกลายเป็นสันดอนกลางน้ำ สามารถปลูกแปลงผัก สร้างเพิงพัก สามารถขี่จักรยานไปมาได้ ระหว่างทางเดินสะพาน จะสร้างที่พักไว้ให้ได้นั่งพัก เป็นจุด ๆ ยามเย็นที่เราเดินมาถึงนี้ ลมแรงมาก ๆ ที่สำคัญ เราต้องเดินอยู่กลางสะพาน สองข้างของสะพานไม่มีราวให้จับ สะพานก็ไม่กว้างนัก ไม่น่าเกินสองเมตรนะ ฉัน วัชรี น้อง และบุษ เดินมาตามสะพาน พยายามอยู่กลางสะพาน ผมเผ้าทุกคนปลิวยุ่งเหยิงกันไปหมด ทิวทัศน์ตรงไหนสวย พวกเราก็หยุดถ่ายรูปกัน นักท่องเที่ยว ทั้งฝรั่ง ทั้งคนในประเทศพม่าเอง แม้แต่พระสงฆ์ ก็มาเดินจีวรปลิวกันแถวนี้เลย แปลกจัง มาได้ไงไม่รู้ อิอิ ฉันคิดว่า สถานที่อย่างนี้ พระสงฆ์ไม่ควรมาเดินจีวรปลิวหรอก แถม ไม่หวั่นเกรงถูกตัวสีกา อีกนะ พวกเราต้องเป็นผู้หลบเอง มีอะไรแปลก ๆ ให้เห็นเรื่อยเลย อิอิ เรามาชมภาพสวย ๆ ยามโพล้เพล้ ที่ฉันนำมาฝากดีกว่า ค่ะ
คืนนี้โบล ล่ำลาพวกเรา เพราะว่าเขาจะกลับไปรับทัวร์อีกกรุ๊ปไปพุกาม แต่เขาบอกว่า ไม่ต้องห่วง เขาให้น้องชายของโรสภรรยาของเขารับงานต่อ พาพวกเราไปเที่ยว ตามโปรแกรมไว้ งานของพวกเขาทำเป็นระบบในเครือญาติ รับช่วงกันต่อ ๆ ไป แสดงว่า กิจการการรับนักท่องเที่ยวของเขาดีมากทีเดียว แตกสาขามาถึงน้อง น้องสะใภ้ แล้วโรส ก็น่าจะเอาดีทางทัวร์ เพราะเขากำลังเรียนภาษาไทยอีกด้วย เรามาดูสภาพห้องของโรงแรม จ้ะ
27 มิ.ย. 58 เช้านี้ ทานข้าวเช้าที่โรงแรม ประมาณ 8.30 น.ก็เริ่มออกเที่ยว โดยวันนี้เปลี่ยนโชเฟอร์เป็นน้องชายของโรส เก็บเงินสำหรับค่าเรือและค่าเข้าสถานที่ต่าง ๆ 3 แห่ง 1,0000จ๊าด ค่าเรือ อีกรวมคนละ 15,625 จ๊าด ค่าเข้าชม มินกุนอีก 3 ดอล แห่งแรกที่ไป คือ เขาพาพวกเราไปลงเรือ ซึ่งเป็นเรือที่พวกเราเช่าเป็นเอกเทศ ไม่ปะปนกับนักท่องเที่ยวอื่น ๆ เรือพาเราไปเที่ยว หมู่บ้าน มิงกุน ซึ่งมีเจดีย์มินกุน ซึ่งสร้างไม่สำเร็จ บริเวณนั้น ยังมีวัด เจดีย์อื่น ๆ อีก ซึ่งฉันจะกล่าวเป็นเรื่อง ๆ ไป มาดูภาพที่เราล่องเรือไปตามแม่น้ำอิรวดีค่ะ สองฟากฝั่ง งดงาม น้ำในแม่น้ำ สะอาดดี เกลียวคลื่น เป็นละลอก ๆ ยามเรือแล่นผ่านไปบนพื้นน้ำ จะแตกกระจายเป็นฟองขาว ดูแล้วเพลินตาเหลือเกิน สายลมแห่งแม่น้ำอิรวดี โชยมา คลายร้อนไปได้เป็นอย่างดีทีเดียว มาชมภาพที่ฉันถ่ายภาพในเรือและทิวทัศน์ที่เรือของเราแล่นผ่านไป ค่ะ เราขึ้นจากเรือแล้ว สิ่งแรกที่เราเห็น คือ ศาสนสถานที่เรียกว่า เจดีย์มินกุน มีแต่ด้านล่างของเจดีย์ที่มีพระพุทธรูปให้คนมาสักการะ ส่วนบนเจดีย์ที่ใหญ่โตนี้ มีรอยร้าว และสร้างไม่สำเร็จ ตามที่ฉันได้ค้นคว้ามาค่ะ เจดีมินกุน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี ถ้าเรามองจากที่ไกล ๆ ตัวเจดีย์จะดูเหมือนเนินเขาขนาดย่อม ๆ ตามประวัติกล่าวไว้ว่า ผู้สร้างเจดีย์องค์นี้ คือ พระเจ้าปดุง พระองค์ทรงตั้งพระทัยไว้ว่า จะสร้างเจดีย์องค์นี้ ให้ใหญ่โตเหนือเจดีย์องค์ใด ๆ ในพุกาม และยิ่งใหญ่กว่า องค์พระปฐมเจดีย์ของไทยด้วย ทั้งนี้เพื่อต้องการแสดง พระราชอำนาจของพระองค์ว่ายิ่งใหญ่เหนือกษัตริย์องค์อื่น ๆ สร้างในช่วง พ.ศ.1790-1797 โหรทำนายไว้ว่า แม้ว่าสร้างเจดีย์องค์ที่ใหญ่ที่สุดเสร็จ บ้านเมืองจะล่มสลาย แต่พระองค์ก็ไม่เชื่อ พยายามจะสร้างต่อไป แต่พระองค์สร้างได้ 7 ปี ก็สวรรคตไปก่อน นักประวัติศาสตร์คาดว่า ถ้าเจดีย์องค์นี้ สร้างเสร็จจะสูงถึง 160เมตร หลังจากที่พระเจ้าปดุงสวรรคตไปแล้ว เจดีย์ก็ถูกปล่อยร้าง ซึ่งสร้างได้ฐานที่เป็นอิฐสีน้ำตาลแดงสูงเพียง 50 เมตร ในปี 1839 เกิดแผ่นดินไหว ทำให้เจดีย์พังถล่มลงมา กลายเป็นกองอิฐมหึมา ในปี 2012 เกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง ทำให้องค์เจดีย์ที่เหลือ เกิดรอยร้าวมากยิ่งขึ้น พวกเราไหว้พระพุทธรูปที่อยู่ด้านล่างแล้ว ก็ขึ้นไปที่เจดีย์ที่เป็นกองหินใหญ่ต่อ โดยมีบันไดให้ปีนขึ้นไป แล้วต้องปีนป่ายตามก้อนหินต่าง ๆ โดยมีชาวพม่าหลายคน มาคอยให้ความช่วยเหลือ (ซึ่งก็เป็นวิธีหนึ่งของการทำมาหากินของพวกเขา คือ พอช่วยเหลือเราปีนขึ้น ปีนลง เสร็จ เราก็ต้องให้ทิปเขาไงล่ะ ) มาดูรูปที่ฉันถ่ายมาฝาก ค่ะ
เราออกจากที่ มินกุน นั่งเรือกลับไปฝั่งมัณฑเลย์ แล้วก็พาพวกเราไปทานข้าวร้านอาหารไทย ราคาก็ไม่แพงนัก ฉันสั่งทานผัดไทยกุ้ง ราคาตกประมาณ 150 บาท คนอื่นสั่งผัดกระเพราไข่ดาว ผัดไทย กุ้งตัวใหญ่มาก เส้นผัดไทยห่ออยู่ในไข่ ดูน่ากินมาก เยอะเหลือเกิน ฉันเหลือครึ่งจานได้ เลยให้เขาใส่กล่องกลับที่พัก ทานกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ออกมาหน้าร้านรอรถมารับพวกเรา ขณะที่รอรถ ก็ถ่ายรูปหน้าร้านนี้ไว้เป็นที่ระลึก เผื่อใครมาเที่ยวอยากทานจะได้มาได้ค่ะ เป็นร้านที่มีเจ้าของเป็นคนไทย แต่เจ้าของไม่ได้อยู่ที่นี่ นาน ๆ จะมาตรวจร้าน คงแต่งตั้งผู้จัดการมาดูแล ได้ข่าวว่าร้านนี้เก่าแก่มาก
รถเข้าไปในวังแล้ว เราก็จะเห็นความอลังการของวังนี้ เรามาเรียนรู้ ความเป็นมาของพระราชวังมัณฑเลย์ ก่อนจะไปชมความงามของวังแห่งนี้ ค่ะ พระราชวังมัณฑเลย์ เป็นพระราชวังแห่งสุดท้ายของอาณาจักรพม่า ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ พระราชวังนี้ สร้างในสมัยของพระเจ้ามินดง แห่งราชวังอลองพญา ซึ่งเป็นผู้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่มัณฑเลย์ เพราะที่นี่มีภูเขามัณฑเลย์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยทรงคาดหวังว่า จะทำให้อาณาจักรพม่า อยู่เย็นเป็นสุข เป็นเมืองหลวงมาถึง 28 ปี มาถึงสมัยของพระเจ้าธีบอ(สีป่อ) โอรสของพระเจ้ามินดง เมื่อพระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์ พระมเหสี คือพระนางศุภยารัต นั้น นิสัยโหดเหี้ยม ได้ดำเนินวางแผนโดยร่วมมือกับพระมารดา คือ พระนางอเลนันดอ ฆ่าเชื้อพระวงศ์และขุนนาง น้อยใหญ่มากมายกว่า 500 ชึวิต เพียงกลัวว่า บัลลังก์พระสวามีจะไม่มั่นคงและพระนางต้องการกุมอำนาจของบัลลังก์ให้อยู่ในมือของพระนางและครองกรุงมัณฑเลย์ และนี่เป็นสาเหตุ ทำให้ประเทศอังกฤษ ถือเป็นข้ออ้างเข้ายึดการปกครองของประเทศพม่า เข้าบุกรุกประเทศพม่า ว่า พม่าเป็นประเทศป่าเถื่อน ส่วนพระนางศุภยารัตย่ามพระทัย คิดว่า กองทัพของพม่านั้นก็มีแสนยานุภาพไม่แพ้กันและเชื่อว่า ถ้าเกิดสงครามแล้ว ประเทศฝรั่งเศสจะช่วยฝ่ายตน พระนางจึงตัดสินพระทัยเปิดสงครามกับประเทศอังกฤษภายใต้พระนามของพระเจ้าธีบอ ในที่สุด ก็แพ้สงครามประเทศอังกฤษตกเป็ยเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ พระราชวังมัณฑเลย์ ถูกระเบิดและไฟไหม้เหลือแต่กำแพงเมือง ในปี 1995 (พ.ศ. 2533) รัฐบาลพม่า ได้สร้างพระราชวังมัณฑเลย์ขึ้นใหม่แต่น่าเสียดายเพราะตัดทอนการแกะสลักออกไปจนหมดสิ้น เหลือแต่กลุ่มอาคารใหญ่ ๆ ท้องพระโรงและหอคอยแดงสูง 33 เมตร ที่คนไทยเรียกว่า "หอคอยศุภยลัต"ซึ่งพระนางสั่งให้สร้างขึ้นเพื่อดูเรือรบของอังกฤษที่ล่องแม่น้ำอิรวดีขึ้นมาตีเมืองมัณฑเลย์ หอนี้ จึงกลายเป็นหอชมวิวที่จะได้เห็นอาคารต่าง ๆ ภานในวังของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันที่มาเที่ยวที่พระราชวังนี้ ฉันได้ถ่ายภาพอาคารต่าง ๆ รวมทั้งหอคอยสีแดงนี้ มาให้ท่านผู้อ่านได้ยลโฉมพระราชวังมัณฑเลย์ จำลองขึ้นมาใหม่นี้ ค่ะ หลังจากเที่ยวพระราชวังมัณฑเลย์แล้ว ก็ไปเที่ยวอีกวัดหนึ่ง ไม่ได้อยู่นานเลย เพราะยังเหลือที่เที่ยวที่ต้องไปอีก เลยได้แต่ถ่ายป้ายชื่อวัดเป็นรูปหมู่ รูปเดี่ยวบ้างเล็กน้อย แล้วก็ไปอีกวัดที่อยู่ใกล้กัน
จากที่นี่แล้ว ก็ไปชมอีกสถานที่หนึ่ง ซึ่งเป็นวัดที่มีหนังสือใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวคือ ในสมัยของพระเจ้ามินดง ซึ่งนอกจากจะเป็นกษัตริย์นักรบแล้ว ยังทรงเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในสมัยของพระองค์ มีการสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 5 ที่วัดกุโสดอร์ โดยมีพระสงฆ์เข้าร่วม จำนวน 2400 รูป ใช้เวลาในการชำระนานถึง 6 เดือน หลังจากชำระเสร็จเรียบร้อย พระองค์โปรดให้จารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นหินอ่อนขนาดใหญ่ นับรวมได้ 729 แผ่น พร้อมทั้งสร้างเจดีย์สีขาวครอบแผ่นหินอ่อนที่จารึกพระไตรปิฎกเหล่านั้น และประดิษฐานไว้รอบเจดีย์มหาโลกมารชินแห่งวัดกุโสดอร์ ให้ประชาชนได้ศึกษา เราจะมองเห็นเจดีย์สีขาวเหล่านี้ได้อย่างชัดเจนจากยอดเขามัณฑเลย์ หรือมาเที่ยวที่นี่ ค่ะ มาชมภาพที่ฉันถ่ายมาให้ชม ค่ะ
ขากลับ ลีฟปิดไปแล้ว พวกเราเลยต้องเดินลงจากเขาไป เมื่อยแย่เหมือนกัน แถม บางจุดก็สลัว ๆ กลัวสะดุดหกล้มละก้อ แย่แน่ ๆ เลย อิอิ กลับถึงที่พัก เหนื่อยพอควร หาอาหารมื้อเย็นทานแล้ว ต้องรีบจัดกระเป๋าและนอน เพราะพรุ่งนี้ เราต้องตื่นประมาณ ตี 3กว่า เพราะว่า จะต้องไปชมและไหว้ พระมหามัยมุนี ตอนตี 4 ค่ะ อันเป็นไฮไลท์ อีกที่หนึ่งที่ใครมาถึงมัณฑเลย์แล้วพลาดไม่ได้ เพราะเป็นประเพณีที่กระทำการล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกเช้า ไม่ต่ำกว่า 200 กว่าปีมาแล้ว เป็นศาสนสถาน 1 ใน5 แห่งของพม่าที่ต้องไปสักการะ สักครั้งหนึ่งในชีวิตของชาวพุทธ ค่ะ มาทราบประวัติความเป็นมาของพระมหามัยมุนี ค่ะ ตามตำนานเล่าขานกันมาว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมาแสดงธรรมโปรดชาวเมืองยะไข่ พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์รัฐยะไข่ ทรงเกิดความเลื่อมใส จึงทูลขอพระพุทธรูปแทนพระองค์ ท้าวสักกะ (พระอินทร์)จึงได้เนรมิต พระมหามัยมุนีที่งดงามเหมือนดั่งหนึ่งมีชีวิต พระพุทธองค์จึงทรงประทานลมหายใจพร้อมทั้งประสาทให้พรให้พระมหามัยมุนี สามารถเทศนาได้เหมือนพระองค์ วันใดที่พระพุทธศาสนาหยั่งรากอย่างมั่นคงแล้ว ค่อยสิ้นฤทธิ์พรที่ทรงประทานไป พระเจ้าจันทสุริยะ ทรงสร้างพระมหามัยมุนี ขึ้นที่เมือง ธรรมวดี เมื่อ พ.ศ. 689 สูง 12 ฟุต 7 นิ้ว หุ้มด้วยทองคำเปลวหนา 2 นิ้ว แต่เดิม พระมหามัยมุนี ประดิษฐานอยู่ที่รัฐยะไข่ ต่อมาพม่าตียะไข่ได้ในสมัยพระเจ้าปดุง พระองค์จึงอัญเชิญ พระมหามัยมุนี โดยอัญเชิญมาทางแม่น้ำอิรวดี และประดิษฐานเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ของเมืองมัณฑเลย์ตั้แต่ พ.ศ.2327 ลักษณะของพระมหามัยมุนี เป็นพระพุทธรูปสีทองอร่าม ปางมารวิชัย ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ ประดับเพชรนิลจินดาอย่างวิจิตร ในปี พ.ศ. 2422 สมัยของพระเจ้าสีป่อ ก่อนจะเสียเมืองพม่าให้แก่ประเทศอังกฤษ ได้เกิดไฟไหม้วัดทองคำ จึงทำให้ทองคำเปลวที่ปิดองค์พระมหามัยมุนีเกิดละลาย เก็บทองคำได้ถึง 700บาท ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 ชาวบ้านได้เรี่ยไรเงินเพื่อบูรณะวัดขึ้นใหม่ ขนาดวัดใหญ่กว่าเดิม โดยช่างชาวอิตาเลี่ยน นับว่าเป็นวัดที่สร้างใหม่ที่สุด แต่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในพม่า แต่ปัจจุบัน องค์พระมีลักษณะตะปุ่มตะป่ำผิดรูปทรงไปจากเดิม เป็นเพราะ ชาวมัณฑเลย์ นิยมนำแผ่นทองคำเปลวมาปิดรอบองค์พระ เป็นพุทธบูชา ผ่านนานเป็นร้อย ๆ ปี แผ่นทองคำเปลวก็กลายเป็นเนื้อทองคำหนาเตอะห่อหุ้มองค์พระ จึงเป็นที่มาของคำว่า "พระพุทธรูปเนื้อนิ่ม" ชาวยะไข่และชาวมัณฑเลย์เชื่อว่า พระมหามัยมุนี คือ พระพุทธรูปที่มีชีวิต เนื่องจากเชื่อว่า พระพุทธองค์ได้เสด็จลงมาประทานพรให้ จึงทำให้ทุกเช้าจะต้องมีประเพณีการล้างพระพักตร์พระพุทธรูปมีชีวิตองค์นี้ สืบทอดมาเป็นเวลานานเป็นสองร้อยกว่าร้อยปี มาแล้ว วันที่ 28 มิถุนายน เช้านี้ นัดรถมารับ ตี 4 ฉัน ภา น้อง บุษ พร้อมตรงเวลา เหลือ คณะของจุก ไม่ได้ลงมาเลย ต้องไปปลุก ปรากฎว่า ยังไม่ตื่น พอรู้ ก็รีบล้างหน้าล้างตา รอประมาณ 15นาที จึงพร้อมกัน กว่าจะไปถึง เขาก็เริ่มพิธีไปแล้ว เราน่าจะถึงที่วัดประมาณเกือบตี 5 ได้มั้ง ฟ้ายังมืดอยู่ พอลงจากรถ ก็มีพระบ้าง เณร บ้าง มายืนรอที่ประตูรถ จะให้เราใส่บาตรกัน พวกเราก็ไม่ได้เตรียมอาหารอะไรมากันเลย ง่ายที่สุด ก็คือ ควักปัจจัยใส่บาตรไป มืดก็มืด มองไม่เห็นว่าเป็นแบงค์ราคาที่เราตั้งใจจะใส่หรือเปล่า อิอิ ใส่ไป 3 รูป แล้วต้องรีบเดินไป เพราะเดี๋ยวจะพลาดชมพิธีสำคัญของการล้างชำระพระพักตร์ เดินผ่านทางที่จะไปที่ที่ทำพิธีนั้น ไกลพอสมควร สองข้างทางที่ผ่าน เป็นที่ขายของ มีดอกไม้ เครื่องบูชา แต่พวกเราไม่ได้ซื้ออะไร เพราะไม่มีใครแนะนำอะไร เดินไปถึงลานที่เขาทำพิธี ก็เห็นประชาชน ส่วนใหญ่คือ ชาวพม่า นั่งกันเต็มลานพิธีแล้ว มีเสียงสวดมนต์กันพร้อมเสียงดนตรีปีพาทย์คลอไปด้วย มองไปไกล ๆ จะเห็นองต์พระมหามัยมุนี มีเหล็กเส้นกั้นไม่ให้ผู้หญิงเข้าไป ที่ที่ทำพิธี จัดเป็นเวทีสูงกว่าด้านล่างน่าจะประมาณ เมตรกว่า ๆ มีอ่างน้ำมนต์ หลายอ่างอยู่ มีผลไม้ ของไหว้ต่าง ๆ มีผู้ชายที่แต่ชุดขาวทำพิธีอยู่ เดินไปเดินมา เสียงของผู้ที่มาชมพิธี จะสวดมนต์กันด้วยความศรัทธา ฉันพยายามเดินไปด้านหน้าเพื่อหาที่นั่งที่พอจะแทรกให้ได้เห็นพิธีชัดเจนและเก็บภาพพิธีเหล่านี้มาฝาก ในที่สุด ฉันก็ได้ที่ด้านหน้าใกล้เส้นเหล็กที่เขากั้นไว้ ภา แทรกเร็วกว่าฉัน ใกล้เส้นขั้นกว่าฉัน หลังจากชายที่แต่งชุดขาว จัดเตรียมอ่างน้ำมนต์ เครื่องไหว้บูชาแล้ว ฉันก็เห็น พระรูปหนึ่ง น่าจะเป็นเจ้าอาวาสและเป็นผู้ทำพิธีล้างพระพักตร์ สีพระทนต์ ให้องค์พระมหามัยมุนี โดยมีผ้าสีเหลืองเหมือนผ้าจีวรผ้า กางไว้บริเวณตักองค์พระ เจ้าอาวาส เริ่มรับเครื่องใช้ต่าง ๆ จากชายชุดขาว เริ่ม สีพระทนต์องค์พระ สีไปมาตรงพระโอษฐ์ขององค์พระ หลายนาที จากนั้น รับผ้าจากชายขาว ซึ่งผ้านั้นชุบน้ำที่มีเครื่องหอมและผสมไม้ ทานาคา เจ้าอาวาสก็จะทำการเช็ดพระพักตร์ขององค์พระไปมา นานมาก เปลี่ยนผ้าหลายครั้ง (เท่าที่สังเกต) ส่วนผู้ที่มาร่วมพิธีที่อยู่ด้านล่าง ก็จะสวดมนต์อย่างตั้งอกตั้งใจ ด้วยแรงแห่งความศรัทธา เจ้าอาวาสก็ทำพิธีทำความสะอาดพระพักตร์องค์พระอย่างตั้งอกตั้งใจนานนับเป็นชั่วโมงได้ โดยไม่ได้หยุดมือเลยเช่นกัน หลังจากชั่วโมงผ่านไป เสร็จพิธี ก็มีการเก็บเครื่องที่ใช้ในพิธี แล้วอนุญาตให้ผู้ชายขึ้นไปปิดทอง รอบองค์พระ ผู้หญิงไม่ให้ขึ้นไป ต้องฝากทองผู้ชายขึ้นไปปิดให้ ฉันถ่ายรูปมาให้ชื่นชมองค์พระมหามัยมุนี มาให้ชมมากพอสมควรค่ะ เชิญชมค่ะ
หลังจากเสร็จพิธีล้างชำระพระพักตร์พระมหามัยมุนีแล้ว ฉันก็เดินออกจากที่ทำพิธี มองหาพรรคพวก ยังไม่เจอใครเลย ถือโอกาสถ่ายรูปบริเวณวัด เจอ ครอบครัวพ่อลูก นั่งอยู่บริเวณนั้น นึกว่าเขาพูดภาษาไทยไม่ได้ เลยพูดภาษาอังกฤษกับเขาให้ช่วยถ่ายรูปให้ฉัน เขาคงเดาว่า ฉันเป็นคนไทย เลยพูดภาษาไทยกับฉัน เขาบอกว่า เขาไปอยู่ที่ไทยมาหลายปี เลยพูดได้ อิอิ เลยได้รูปที่เขาถ่ายให้ค่ะ
ไปถึงสนามบินแล้ว ฉันบอกให้จุกเอาเงินค่ารถ และค่าทิปที่พวกเราเตรียมไว้ให้โรส โดยให้ ภา เป็นคนมอบ เพราะเขาพูดภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด ขนกระเป๋าลงจากรถ ก็มีคนเข็นรถมาช่วยเราเอากระเป๋าใส่รถเขา เข็นให้เรา นั่นหมายความว่า เขาจะมาขอทิปจากเรานั่นเอง ถ้าไม่อยากเสียค่าทิป ก็ลากกระเป๋าเอง ซึ่งที่จริงพวกเรามีกระเป๋าเล็ก คนละใบเท่านั้น แถมเป็น 4 ล้อ ไม่ต้องใช้แรงมากเสียด้วยซ้ำ งานนี้ ภา เป็นคนจ่ายทั้งสองคันให้ ที่สนามบินนี้ พวกเราเอาเงินพม่า ไปแลกเงินไทยหรือเงินดอลคืน ฉันได้คืนมาสิบกว่าดอล มั้ง มาวุ่นวายอีกที ก็คือ เขาไม่ให้หิ้ว ทานาคา ขึ้นครื่อง เพราะกลัวว่าจะใช้เป็นอาวุธ จุกก็โดนด้วย ฉันกับจุก ต้องวิ่งมาเอาเป้ โหลดขึ้นเครื่อง ซึ่งต้องมีการอธิบายว่า เราได้ซื้อน้ำหนักแล้ว เขาก็ใจดียอมโหลดเพิ่ม ขึ้นเครื่องให้อีกใบ ทั้ง ๆ ที่กระเป๋าเราโหลดขึ้นเครื่องไปหมดแล้ว อิอิ เป็นความรู้ใหม่ให้ท่านผู้อ่านที่จะไปเที่ยวพม่า อย่าได้เอา ทานาคา ที่เป็นท่อน ๆ ขึ้นเครื่องนะจ๊ะ เดี๋ยวจะต้องวิ่งเหนื่อยไปขอเขาโหลดขึ้นเครื่อง โชคดีที่หิ้วเป้ไป ไม่งั้นไม่รู้จะใส่อะไรโหลดขึ้นเครื่อง ค่ะ เครื่องบิน ออกตามกำหนดเวลา เรามาถึงดอนเมือง ก็ประมาณบ่ายสามโมง ตามกำหนด หลังพิธีตรวจคนเข้าเมืองแล้ว พวกเราก็ไปรอกระเป๋ากัน ได้กระเป๋าแล้ว ก็ต้องหยิบ ทานาคา ที่จุกฝากใส่เป้ฉันมาด้วย ต่างล่ำลากันไป ฉันโทรหาเหลน ปรากฏว่า ยังมาไม่ถึง เขาบอกว่า รถติดมาก ฉันกับบุษยา ต้องนั่งรอเขามารับประมาณ 1 ชั่วโมง มาถึงบ้าน ประมาณเกือบ 6 โมงแล้ว ฉันหยิบ ทานาคา ฝากไปให้เหลนสะใภ้ 1 แท่งเท่านั้น จากนั้น ก็โทรศัพท์ ให้เล็ก น้องชายของบุษยา มารับเขากลับบ้าน การท่องเที่ยวพม่าของฉันในครั้งนี้ ก็จบลงด้วยความตั้งใจที่จะไปไหว้ศาสนสถานที่สำคัญ 5 แห่ง ครบแล้ว ที่สุดท้าย ก็คือ พระมหามัยมุนี กลับมาด้วยความอิ่มบุญ สนุกสนานเป็นของแถม อิอิ ฉันหวังว่า การบันทึกการเดินทางท่องเที่ยวของฉันครั้งนี้ ท่านผู้อ่านคงได้ สาระ ความรู้ ไปบ้าง พร้อมกับความเพลิดเพลินในอารมณ์มากพอสมควรนะคะ แล้วไว้พบกันใหม่ เที่ยวประเทศเขมร ในโอกาสต่อไป ค่ะ
แวะมาเยี่ยมชมครับอาจารย์ กลับมาจากพม่าแล้วผมก็รอชมพุกามอยู่เลย
ได้เที่ยวเต็มคอร์สเลย น่าไปบ้างจัง อีกหน่อยเปิด AEC แล้วน่าจะเที่ยวสะดวกนะครับ ผมอยากขับรถเข้าไปเที่ยวเองเลย จะแวะให้พรุนทุกเจดีย์ อิอิ ตอนไปกับทัวร์ยังไม่หนำใจ พุกามนี่สุดยอดจริงๆนะ ในภูมิภาคนี้ก็มีพุกามกับเมืองพระนครของเขมรนี่ละครับ ที่ดึงดูดคอโบราณคดีแบบสุดๆแล้ว เจดีย์มิงกุนใหญ่โตมากๆ แต่ไม่น่าจะสร้างแข่งกับพระปฐมเจดีย์นะครับ พุทธศตวรรษที่ 18 พระปฐมเจดีย์ยังเป็นเจดีย์เล็กๆ เท่าที่พระประโทนเท่านั้นเอง เพิ่งใหญ่โตขนาดนี้ตอนบูรณะสมัย ร.4 ถ้ามิงกุนสร้างเสร็จคงใหญ่โตมโหฬารมากๆ แต่ก็คงโดนแผ่นดินไหวทำพังอยู่ดี - -" พระราชวังมัณฑะเลย์น่าเสียดายของเดิมโดนไฟสงครามทำลายลงหมดแล้ว เหลือแค่อันเดียวที่ย้ายไปไว้ที่ชเวนันดอนั่นละครับ ส่วนอันที่สร้างใหม่สวยงามสู้ของเดิมไม่ได้เลย แค่พระราชวังก็ใหญ่โตเท่าเมืองๆนึงเลยครับ แต่พออังกฤษเข้ามายึดหมดอำนาจนี่สถานะกษัตริย์พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือไปเลย ส่วนกษัตริย์ไทยสละดินแดนรักษาบัลลังก์เอาไว้ได้ พม่ามีศรัทธาในศาสนาพุทธเข้มแข็งที่สุดในแถบนี้ แม้แต่สังคายนาพระไตรปิฎกยังเคยทำมาแล้วที่วัดกุโสดอ ส่วนของไทยเขาไม่นับว่าเป็นการสังคายนาอย่างเป็นทางการ พิธีล้างหน้าพระมหามัยมุณีต้องตื่นแต่เช้ามากๆๆๆถึงจะได้เข้าชม พิธีกรรมก็ยาวเป็นชั่วโมงเลย น่าชื่นชมพระและผู้เกี่ยวข้องที่ทำแบบนี้อยู่ทุกวันๆนะครับ เพิ่งรู้ว่าทานาคาเอาขึ้นเครื่องไม่ได้ พวกฝุ่นพวกของเหลวนี่โดนห้ามอย่างเข้มงวดเลย โดย: ชีริว
![]() ![]() พม่าถือว่าทองที่ชิงได้จากสงครามถือเป็นทองเชลย จะไม่เอาไปทำของศักดิ์สิทธิ์อย่างเจดีย์หรือพระพุทธรูปที่คนเคารพบูชาเด็ดขาดครับ ถ้ารวม AEC แล้วน่าจะมีการร่วมชำระประวัติศาสตร์ให้เรียนอย่างถูกต้องตรงกันเหมือนกันนะครับ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ฉบับชาตินิยมที่ตั้งแต่ยุคจอมพล ป. เราใช้สร้างความสามัคคีของคนในชาติด้วย propaganda ประเภท"สร้างศัตรูร่วม" น่าจะหมดไปจากยุคนี้ได้แล้ว
อาจารย์ชีพจรลงเท้าจริงๆ จะรอชมทริปเขมรต่อนะครับ ![]() เป็นอีกหนึ่งอาณาจักรพี่ใหญ่ในแถบนี้เลย ผมยังไม่เคยไปเขมรสักครั้งด้วย ถ้าตามทริปของอาจารย์ได้เที่ยวละเอียดกว่าทัวร์ทั่วๆไปแน่นอนครับ โดย: ชีริว
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|
ถ้าไปได้ดีไม่มีปัญหากับสุขภาพ
คราวนี้เที่ยวกับพี่แฮ๋วได้แล้วค่ะ