ทางจักรยานในหลอดแก้ว
มีแนวคิดของประเทศแคนาดา(www.velo-city.ca)มาให้ดูครับใครที่เห็นแนวคิดโครงการขนส่งมวลชนแบบพอเพียงของผมแล้วบอกว่าเพ้อฝันล่ะก็ อีกฟากโลกหนึ่งก็มีคนคิดแบบเดียวกับผมเช่นกัน แต่เค้าคิดไปไกลกว่าเพราะว่าเค้ามีเทคโนโลยีและทุนเยอะ แต่ก็ยังไม่วายถูกแขวะว่าไร้สาระ (บนโลกใบนี้ถ้าท่านทำอะไรเพื่อจักรยานแล้วล่ะก็ ผู้คนมักจะคิดว่าท่านสติไม่ดี แต่ถ้าหากท่านทำอะไรเพื่อให้รถยนต์เดินทางสะดวก ท่านจะได้รับคำชื่นชม ทั้งที่ในความจริงแล้วมันสะดวกจริงๆหรือเปล่าก็ไม่รู้) มาดูกันครับ


คุณคนนี้แกชื่อ คริส ฮาร์วิค ครับแกเป็นสถาปนิก มีแนวความคิดว่าจะทำเส้นทางจักรยานเป็นรูปหลอดแก้วพาดผ่านพื้นที่เมือง ในเส้นทางนี้ก็อนุญาตให้ยานพาหนะอะไรก็ได้ครับที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะเข้ามาใช้เส้นทาง คือจะเป็นจักรยาน สเก็ตบอร์ด รถเข็น ฯลฯ โดยในหลอดแก้วนี้จะมีระบบอัดอากาศที่ทำให้มียานพาหนะที่เข้ามานั้นมีความเร็วเพิ่มขึ้นได้ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงครับ (ผมว่ามันเร็วไปนะ....น่ากลัวอุบัติเหตุ)





นี่แหละครับภาพจำลองเส้นทางในแนวคิดของคุณคริส ฮาร์วิค เค้าแหละ โครงสร้างทั้งหมดจะเป็นเหล็กกับกระจกครับ เค้าบอกว่าเส้นทางนี้สามารถเดินทางได้ในทุกฤดูกาล ไม่ต้องกลัวร้อน กลัวฝน กลัวหิมะ (เข้าใจว่าแกคงจะออกแบบให้เป็นระบบปรับอากาศประมาณนั้น) คุณคริส ฮาร์วิค เค้าพูดถึงเส้นทางจักรยานที่สร้างโดยรัฐบาลของเค้านั้นมันเป็นเส้นทางจักรยานแบบพื้นๆทั่วไป ไม่มีอะไรแปลกใหม่ น่าสนใจ แล้วก็ไม่จูงใจให้เกิดการใช้งาน ควรที่จะสร้างเส้นทางอย่างที่แกนำเสนอนี้เพื่อเป็นระบบขนส่งที่ท้าทายผู้คนให้เข้ามาใช้งาน สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมได้โดยรอบ น่าตื่นเต้น เร้าใจกว่าเส้นทางจักรยานทั่วๆไป ประมาณนั้น คริส ฮาร์วิค นำเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 2004 โดยเสนอแนะให้สร้างเส้นทางแบบนี้ลอยอยู่เหนือแนวรางรถไฟ แนวคลองคูน้ำในเมือง พาดผ่านสวนสาธารณะและพื้นที่ในเมืองอื่น โดยความสูงของเส้นทางนี้ประมาณ 5 เมตรหรือสูงเท่ากับระยะปลอดภัยตามมาตรฐานการรถไฟและทางหลวงกำหนด โดยเส้นทางแรกที่ควรจะสร้างคือพาดผ่าน Gardiner ไปถึง Don Valley (คงเป็นชื่อย่านในเมืองของเค้าละครับ ผมเองก็ไม่เคยไปเหยียบแคนาดาสักครั้งเลย แปลแบบยกมาเลยก็แล้วกัน)









ภาพสุดท้ายนี่เป็นทางขึ้นลงในบริเวณที่เป็นจุดเปลี่ยนการเดินทางครับ


นายอดัม กิมบอร์น ประธานสหพันธ์ผู้ใช้จักรยานแห่งเมืองโตรอนโต กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “เป็นโครงการที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล มโหฬาร บานตะไท ไม่ใช่แค่ร้อยล้านเท่านั้น แต่น่าจะเป็นพันๆล้านดอลล่าร์เลยทีเดียว” คุณคริสแกก็สวนกลับเลยว่าแม้มันจะก่อสร้างด้วยราคาเป็นพันล้านอย่างไร มันก็ยังคุ้มค่าอยู่ดี เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับมลภาวะและการจราจรติดขัดปีละ 3.7 พันล้านดอลล่าร์ แล้วก็บอกต่อว่าถึงอย่างไรแนวคิดของแกนั้นก็ยังถูกกว่า ดีกว่าการสร้างทางด่วนสำหรับรถยนต์อยู่ดี

หากใครคิดที่จะหัวเราะในแนวคิดของคุณคริส ฮาร์วิคนี้ ว่าเพ้อฝัน หรือไร้สาระ ก็จงทราบไว้เลยว่าในปัจจุบันนั้นไม่ใช่แค่ประเทศแคนาดาเท่านั้นที่มีแนวคิดในการพัฒนาเส้นทางจักรยานแบบหลุดโลกเช่นนี้ แต่ในประเทศญี่ปุ่น โคโรลาโด (biketran.com) ซิคาโกหรือลอนดอน ก็กำลังมีแนวคิดเช่นกัน แต่เป็นการสร้างอุโมงค์ใต้ดินสำหรับจักรยาน ในเมืองซิดนีย์ เคมบริดย์ หรือประเทศสวีเดน ผู้ใช้จักรยานก็มีพื้นที่ร่วมบนสะพานหรือทางเดินเท้า



Create Date : 16 กันยายน 2551
Last Update : 16 กันยายน 2551 20:25:56 น.
Counter : 1119 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Bicyclecity.BlogGang.com

bicycleman
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]

บทความทั้งหมด