เนเธอร์แลนด์แดนสวรรค์ของจักรยาน ตอนที่5
เท่าที่ผมได้เคยผ่านตาเอกสารเกี่ยวกับที่มาที่ไปของความเป็นเมืองจักรยานของเนเธอร์แลนด์นั้น พบว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นประเทศเค้าก็ใช้จักรยานกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งจักรยานเริ่มประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในโลก แต่ในยุคประมาณช่วงปี 1970 จำนวนรถยนต์ในเมืองที่เริ่มมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา(คงคล้ายๆกับบ้านเรานั่นแหละ) และคนใช้จักรยานก็เริ่มได้รับผลกระทบเนื่องจากการขยายตัวของการใช้รถยนต์ โชคดีของประเทศนี้ที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นว่าหากปล่อยให้มีการใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายเช่นนี้ วัฒนธรรมจักรยานของเค้าที่สั่งสมกันมายาวนานคงจะล่มสลายเป็นแม่นมั่น คนกลุ่มนี้ก็ร่วมกันตั้งเป็นองค์กรขึ้นมาชื่อว่า The Dutch Union of Cyclists (ENFB)

กลุ่มสหพันธ์จักรยานแห่งดัทช์นี่แหละที่เป็นกลไกสำคัญในความสำเร็จด้านนโยบายเกี่ยวกับการใช้จักรยานของเนเธอร์แลนด์ในทุกวันนี้ เพราะตั้งแต่ปี 1975 ที่กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นมา เค้าก็ดำเนินกิจกรรมด้วยการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆของเมืองในการสำรวจและจัดทำเส้นทางเพื่อคนใช้จักรยาน ให้ข้อคิดเห็นและคำปรึกษาต่างๆเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จักรยานมากขึ้น ตัวแปรสำคัญที่ทำให้คำปรึกษาหรือแนวคิดของกลุ่มได้รับการปฏิบัติก็คือเมื่อกลุ่มได้สนับสนุนให้นาย Michael Van de Vlis ลงเลือกตั้งในปี1978 นายคนนี้ได้รับการเลือกตั้งแล้วได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายการจราจร ทีนี้ก็เข้าทางของกลุ่มเค้าทันที โครงการเพื่อจักรยานอะไรที่ไม่เคยมีงบประมาณสนับสนุน อีตานี้แกก็จัดการหาทางเอางบมาให้ได้ อะไรที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการ อีตานี้แกก็ลุยให้มันลุล่วงผ่านมาได้ แล้วยังหาทางหางบประมาณมาสร้างเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น สนับสนุนการศึกษาเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้จักรยานมากขึ้น เรียกว่าอะไรที่มันเป็นเรื่องของจักรยานแกจัดหางบประมาณมาสนับสนุนหมด (แหม ผมอยากให้นักเลือกตั้งประเทศไทยมีสักคนนะคนแบบนี้....เห็นมีแต่พันธ์ุปากเหม็นสมองถั่วทั้งนั้น)



นี่แหละครับหน้าตาของคนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนโยบายส่งเสริมการใช้จักรยานของเนเธอร์แลนด์ เมืองไทยเราทำไมจะมีคนอย่างนี้มาเกิดบ้างมั้ยน้อ?

สำหรับตอนนี้ผมก็จะเอาภาพมาเล่าว่าด้วยนโยบายของนายคนนี้(และทีมงาน) จึงทำให้มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปร่างเรื่องราวที่เราสัมผัสได้บ้าง



ภาพนี้แสดงให้เห็นถึงการวางแผนจราจรที่คำนึงถึงทุกองค์ประกอบที่ใช้งานพื้นที่ครับ ท่านจะเห็นแนวของรถรางอยุ่ในภาพ มีรถส่วนตัวจอดติดไฟแดงอยู่ แล้วก็ทางม้าลายของคนเดินเท้า แต่ที่อยากให้สังเกตก็คือทางข้ามของจักรยานที่แยกเป็นพื้นสีแดงอย่างชัดเจน ทุกการเดินทางในพื้นที่เหล่านี้มีสัญญาณจราจรควบคุมทั้งหมดเพราะเป็นตำแหน่งทางแยกทางข้ามที่ทุกการเคลื่อนที่มาเจอกัน ดังนั้นต้องทำให้มันชัดเจน ใครจะหยุดใครจะไปต้องเข้าใจตรงกันทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้อุบัติเหตุตรงทางแยกทางข้ามมันก็เกิดขึ้นน้อย และเป็นการทำให้เกิดวินัยสำหรับผู้ใช้พื้นที่ด้วย ใครที่ไม่เคารพกฏเกณฑ์อย่างน้อยก็มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพราะมันเห็นโทนโท่อยู่ว่าสัญญาณไฟมันเป็นไฟเขียวหรือแดง คนจะข้ามถนนซี้ซั้วก็ต้องคิดกันหน่อยล่ะครับ










นี่อีกผลงานหนึ่งครับในเรื่องของการจำกัดความเร็วของรถยนต์ด้วยการทำถนนให้แคบ หนึ่งเลนก็คือหนึ่งเลนจริงๆ ตรงไหนที่ไม่ให้แซงกันก็สร้างอุปสรรคให้เห็นชัดๆว่ามันแซงไม่ได้ ถนนอย่างนี้เอามาทำที่เมืองไทย บรรดาผู้ใช้รถยนต์เสียงยิ่งใหญ่ทั้งหลายได้โวยกันสนั่นเมืองแน่นอน









นี่คือรูปธรรมจากการนำแนวคิดส่งเสริมการใช้จักรยานไปใช้งาน การมีถนนในทุกพ้ืนที่ต้องมีทางจักรยานประกบไปด้วยเสมอ คิดถึงทางเลียบคลองส่งน้ำในชนบทบ้านเรานี่นะครับ ที่ส่วนใหญ่ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณหน่อยก็เอาไปทำถนนเพื่อรถยนต์เสียหมด แต่ของเค้านั้นควบคุบรถยนต์ไว้ให้ขับในเลนที่จำกัด แต่เอาพื้นที่อื่นมาทำเป็นถนนเพื่อจักรยานเสีย ประชาชนในท้องถิ่นเค้าก็เลยได้ขี่จักรยานอย่างมีความสุชจนน่าอิจฉา









นี่เป็นอีกเส้นทางหนึ่งทำเป็นแนวสีแดงสองฟากถนน ข้อสำคัญคือเส้นทางจักรยานเหล่านี้จะต้องสอดคล้องต่อเนื่องกันเป็นเครือข่ายไปทั้งเมือง ผู้ใช้งานจึงจะสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและสนุก ไม่ใช่เป็นแค่เส้นตรงเส้นเดียวไม่ต่อเนื่องกับใคร คนก็ไม่อยากออกมาใช้งานกัน




จุดไหนที่เป็นทางข้ามทางแยก ก็มีมาตรฐานการออกแบบต้องมีเครื่องหมาย มีอุปสรรคให้รถยนต์ต้องชะลอความเร็ว มีสัญญาณให้หยุดให้ข้ามสำหรับคนและจักรยาน









นี่คือบรรยากาศในย่านช๊อปปิ้งของเมืองครับ สีเทานั่นคือแนวถนนสำหรับรถขนส่ง หรือเข้ามาทำธุระก่อนที่จะถึงเวลาที่คนเดินพลุกพล่านรถก็จะโดนห้ามเข้ามา แต่ที่น่านิยมก็คือการจัดเตรียมที่จอดจักรยาน คือเค้ามีแนวคิดแบบว่าจักรยานก็คือคนที่เดินเร็ว ดังนั้นตรงไหนคนเดินเข้าไปถึงได้ จักรยานก็ต้องเข้าถึงได้เช่นกัน แตกต่างกับแนวคิดของบ้านเรานะครับที่จักรยานเรามองเป็นยานพาหนะต้องลงไปอยู่บนถนนเท่านั้น







เมื่อมีคนเดินพลุกพล่านการค้าการขายอะไรมันก็มีชีวิตชีวา มีคนเดินเข้าเดินออกตลอดเวลา เพราะการออกแบบส่งเสริมให้คนเดินเท้านี่แหละ เพื่อให้การเดินมันไม่น่าเบื่อหน่ายก็มีการสร้างจุดกุ๊กๆกิ๊กๆให้เกิดการมองการพูดคุยอย่างทำเป็นคนนอนบนเปล แล้วยังมีโชว์รูมจักรยานอยู่ตามหัวมุมอีกด้วย นี่แหละครับวิถีชีวิตในวัฒนธรรมจักรยาน ที่ได้ภาพแบบนี้มาก็เพราะว่าช่วงที่ผมไปถ่ายรูปนั้นเป็นเวลาที่ร้านรวงเค้าเตรียมปิดกลับบ้านกันแล้ว













นี่คือที่จอดจักรยานครับ พบเห็นได้ทั่วไปในทุกมุมทุกซอกอาคาร มีหลากหลายรูปแบบการใช้งาน ทั้งนี้ก็เกิดจากภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากการใช้จักรยานต่อเนื่องมาจนรู้ปัญหาว่าควรจะจัดทำที่จอดอย่างไรอยู่ในตำแหน่งใด บ้านเราถ้าอยากเอาของเค้ามาใช้บ้างก็คงต้องหาข้อมูลกันหน่อย



Create Date : 11 สิงหาคม 2552
Last Update : 11 สิงหาคม 2552 20:31:03 น.
Counter : 1473 Pageviews.

1 comments
The Last Thing on My Mind - Tom Paxton ... ความหมาย tuk-tuk@korat
(1 ม.ค. 2567 14:50:49 น.)
สวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๗ มาช้ายังดีกว่าไม่มา
(2 ม.ค. 2567 07:30:30 น.)
พบเจอภาพอะไร? ส่วนหนึ่งของภาพน่าสนใจจึงตัดมาใช้ คุกกี้คามุอิ
(1 ม.ค. 2567 03:56:23 น.)
สวัสดีปีใหม่ Rain_sk
(1 ม.ค. 2567 21:38:33 น.)
  
แวะมาอ่านค่ะ
โดย: อารีรัตน์ วันที่: 11 สิงหาคม 2552 เวลา:21:31:47 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Bicyclecity.BlogGang.com

bicycleman
Location :
นครราชสีมา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]

บทความทั้งหมด