ทางจักรยานในประเทศเยอรมัน ตอนที่ 1 มีโอกาสได้ไปสัมผัสกับทางจักรยานของสองประเทศในกลุ่มยุโรป ที่ได้ชื่อว่าส่งเสริมด้านการขี่จักรยานอย่างเยอรมันและเนเธอร์แลนด์ เยอรมันน่ะไม่เท่าไรแต่ว่าเนเธอร์แลนด์นี่เค้าคุยว่าเค้าเป็นเบอร์หนึ่งของโลกด้านการใช้จักรยานในพื้นที่เมือง แต่เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบการใช้จักรยานของสองประเทศนี้ ผมขอนำเสนอทางจักรยานของประเทศเยอรมันก่อนแล้วกันครับ ประเทศกลุ่มยุโรปเค้ามีการประชุมกันเรื่องการใช้จักรยานเมื่อสี่ห้าปีที่แล้วและเกิดพันธกิจร่วมกันเรื่องการพัฒนาเส้นทางจักรยานให้เป็นเครือข่ายต่อเนื่องกันทั้งกลุ่มยุโรป ใช้ชื่อโครงการว่า จักรยานเปลี่ยนโฉมหน้ายุโรป โดยให้แต่ละประเทศไปพัฒนาเส้นทางจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานในประเทศของตนในสองลักษณะคือเส้นทางจักรยานที่ใช้งานในท้องถิ่นกับเส้นทางที่เป็นเส้นทางจักรยานที่สามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายกับประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มยุโรปด้วยกัน เยอรมันก็เป็นประเทศที่รับข้อเสนอนี้ด้วย เส้นสีดำที่เห็นในแผนที่คือเส้นทางที่เป็นเส้นทางท้องถิ่นของเยอรมันเองส่วนเส้นสีเขียว(อาจจะเห็นไม่ชัดนักด้วยการย่อขนาดภาพที่เล็กเพื่อให้สามารถแสดงบนบล๊อกได้) นั่นคือเส้นทางที่เยอรมันจะพัฒนาให้เป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับเส้นทางจักรยานของประเทศอื่น ด้วยการจัดการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีทำให้ประเทศนี้เค้าไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องรถยนต์เหมือนบ้านเรา จากภาพนี้จะเห็นว่าบนถนนนั้นเป็นการเรียงหินไม่ใช่ผิวแอสฟัลท์เพราะเป็นถนนในย่านที่พักอาศัยอีกทั้งกลางถนนนั้นหากสังเกตให้ดีจะเห็นรางของรถรางแทรกอยู่ ในย่านนี้จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้เฉพาะคนเดินเท้า ขี่จักรยาน และรถรางเท่านั้น ส่วนรถยนต์หากเข้ามาก็ต้องเจียมเนื้อเจียมตัวจะเที่ยวจอดสะเปะสะปะมิได้ เพราะไม่มีการอำนวยความสะดวกให้ ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมให้คนใช้การเดิน ขี่จักรยานและบริการรถราง เท่านั้น พื้นที่ของรถยนต์มีให้แต่ในเส้นขาวที่อยู่ริมที่จอดรถที่เห็นในภาพเท่านั้นเอง ซึ่งแนวคิดแบบนี้แตกต่างจากบ้านเราอย่างลิบลับเพราะบ้านเรานั้นขอให้ถนนมีพื้นที่เท่าไรฉันก็จะทำไว้ให้รถวิ่งกันให้หมด ไม่ต้องนึกถึงจักรยานหรือว่าคนเดินกันล่ะ ด้วยถนนที่เล็กแคบเช่นนี้ก็เพราะว่าเค้าต้องการอนุรักษ์ความเป็นย่านประวัติศาสตร์ของพื้นที่เอาไว้ อีกทั้งป้องกันการรุกลำ้ของอารยธรรมรถยนต์ในเมืองของเขา แต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัดเช่นนั้นการจะหาที่จอดรถก็เป็นเรื่องลำบาก จึงมีนโยบายให้จอดรถในลักษณะที่คร่อมไปบนทางเท้าได้ เนื่องจากเค้าทำถนนเดิมเล็กแคบแต่ทางเท้าเค้ากว้าง แม้ว่าจะมีรถยนต์จอดคร่อมทางเท้าอยู่่คนก็ยังเดินได้ไม่รู้สึกเป็นอุปสรรค เมื่อไรที่รถยนต์ออกไปแล้ว ก็ปรากฏให้เห็นแต่ทางเท้าไม่มีที่จอดรถให้ดูอุจาดตา เป็นแนวคิดที่น่าสนใจซึ่งก็สวนทางกับประเทศไทยที่รักของเราอีกเช่นเคย เพราะบรรดานักการเมืองสมองถั่วทั้งหลายท่านนิยมที่จะทุบทิ้งทางเท้าเพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถแต่อย่างเดียว โดยไม่เคยคำนึงถึงความรู้สึกเรื่องการเดินเท้าและบรรยากาศความสวยงามของเมืองแต่อย่างใด ซึ่งเหตุการณ์อย่างที่ว่านี้ปรากฏในเทศบาลต่างๆของประเทศไทยอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะที่อุบลราชธานีที่ประชาชนถึงขั้นต้องลุกขึ้นมาปกป้องทางเท้าไม่ให้ถูกทุบทำลายเป็นถนน แต่ยังไม่เคยเห็นในเมืองอื่นๆ |
บทความทั้งหมด
|
เมืองเขาดูสวยงามจัง