เราจะช่วยเมืองได้อย่างไร สวนรับน้ำฝน เราไม่อาจจะให้บ้านเมืองกลับคืนไปในสมัยที่โคราชยังไม่มีทางรถไฟผ่านเข้ามาในพื้นที่ มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีเขียวขจีของร่มไม้ รายล้อมด้วยเทือกสวน ป่าหมาก ของชาวบ้าน เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว อะไรที่เสียไปแล้วเราเรียกคืนกลับมาไม่ได้อีก แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะยอมจำนนไม่คิดจะทำอะไรหรือแก้ไขให้มันดีขึ้นมาบ้างเลยในปัจจุบัน น่าสนใจว่าบ้านอื่นเมืองอื่นที่เขามีวัฒนธรรมความเป็นเมืองสูงกว่าเรานั้น เขามีชีวิตอยู่กันอย่างไร เขาลำบากลำบนเพราะปัญหาน้ำท่วมเมือง(แค่ฝนตกหนักสักชั่วโมง)อย่างที่เราเห็นและเป็นอยู่หรือไม่ ขอบคุณเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและGoogleที่ทำให้การสืบค้นอะไรในวันนี้ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ผมค้นพบว่าในบ้านเมืองที่กฏหมายการผังเมืองเขาดีและมีมาตรฐานนั้น ทุกชีวิตในเมืองต้องมีความรับผิดชอบร่วมกับปัญหาของสาธารณะด้วย เช่น ปัญหาการจัดการน้ำผิวดินของเมือง เขาจะมีข้อบังคับว่าใครจะสร้างอาคารอะไรเพิ่มขึ้นมาอีก บุคคลผู้นั้นจะต้องมีการแสดงให้เห็นด้วยว่าได้มีการจัดการที่ดีที่จะลดและชะลอนำ้ผิวดินไม่ให้ก่อปัญหาให้เมืองเพิ่มมากขึ้นไปอีก เทศบาลของเขาจะมีมาตรการส่งเสริมให้ชาวบ้านชาวเมืองร่วมด้วยช่วยกันสร้างสวนรับน้ำฝนเพื่อช่วยลดภาระและชะลอน้ำผิวดินก่อนที่จะระบายลงสู่ท่อระบายสาธารณะของเมือง โครงการหนึ่งที่น่าสนใจและควรเอามาใช้กับโคราชก็คือ การจัดทำ"สวนรับน้ำฝน" "สวนรับน้ำฝน" คือการสร้างพื้นที่ที่สามารถรับน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกลงมายังที่ดินของแต่ละคน มีการจัดการที่ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาไหลมารวมกันในพื้นที่ที่จัดสวนเอาไว้เพื่อพักและชะลอน้ำไว้ก่อนที่จะไหลออกไปสู่ทางระบายน้ำของเมือง โดยสวนที่ว่านี้จะมีการจัดทำระบบผิวพื้นให้สามารถซึมซับน้ำได้รวดเร็วในระดับหนึ่ง และเมื่อน้ำท่วมมาถึงระดับที่กำหนดก็จะมีการระบายออกไปในอีกทางหนึ่งเพื่อให้ไหลไปสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ ระหว่างที่น้ำถูกกักไว้ที่สวนรับน้ำฝนนี้ พืชพรรณที่ปลูกเอาไว้ก็จะเป็นเหมือนตะแกรงกรองฝุ่น กรองคราบต่างๆกักเอาไว้ไม่ไหลออกไปสร้างปัญหาให้กับทางระบายน้ำสาธารณะให้อุดตัน สวนที่ว่านี้จะเห็นได้ดังภาพด้านบน ที่เป็นภาพตัดของสวน ซึ่งคือการขุดดินเดิมให้ลึกลงไปแล้วปกคลุมหลุมด้วยวัสดุที่สามารถดูดซับน้ำได้รวดเร็ว ทำเป็นหนองรับน้ำแล้วก็ปลูกพืชพรรณที่เหมาะสมกับพื้นที่ลงไป น้ำฝนที่ตกลงมาจะถูกลำเลียงผ่านร่องน้ำและเส้นทางน้ำมาสู่สวนรับน้ำฝนที่กำหนดเอาไว้ เพื่อรวมน้ำทั้งหมดไว้ตรงนี้ก่อนที่จะส่งออกไปนอกบริเวณที่ดิน เทศบาลบ้านเค้าก็จะจัดทำคู่มือการสร้างสวนรับน้ำฝนแบบง่ายๆแจกจ่ายให้ประชาชนเอาไปอ่าน เอาไปทดลองทำ วันว่างคนในครอบครัว เพื่อนๆก็มาช่วยกันทำสวนรับน้ำฝนอย่างสนุกสนาน ได้ทั้งความผูกพันทางสังคมและได้ช่วยเหลือเมืองเรื่องการจัดการน้ำผิวดิน พืชพรรณที่เอามาปลูกก็แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของ จะเป็นไม้ดอก ไม้ใบก็ว่ากันไป ผมว่าถ้าโคราชบ้านเราส่งเสริมกันอย่างจริงจัง ปลูกตะไคร้ ใบโหระพาหรือว่าอะไรที่เป็นพืชสวนครัวช่วยลดค่าใช้จ่ายแถมยังได้ช่วยลดปัญหาเมืองได้อีกด้วย น่าจะดีกว่ามานั่งก่นด่าว่า"ใครผิด"อยู่ไม่น้อย |
บทความทั้งหมด
|