น้ำท่วมที่ฮุสตัน: ผลของการไม่เชื่อวิทยาศาสตร์แล้วปล่อยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำอะไรได้ตามใจฉัน น้ำท่วมที่ฮุสตัน : ผลของการไม่สนใจวิทยาศาสตร์ แล้วปล่อยให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำอะไรได้ตามใจตนเอง ตั้งแต่เมืองฮุสตันเริ่มเป็นเมืองเมื่อประมาณสองร้อยกว่าปีก่อน คนเมืองทั้งหลายมีความเชื่อว่าพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นที่รวมของเชื้อโรคติดต่อต่าง ๆ และเป็นสถานที่เพาะเชื้อยุงและแมลงรบกวน แม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า พื้นที่ชุ่มน้ำนั้นสามารถช่วยชะลอน้ำและแบ่งเบาผลกระทบของน้ำท่วมเมืองได้ ผู้คนยังยืนยันที่จะทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านั้นด้วยการถมทับให้เป็นลานคอนกรีตและอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ทำให้จากปี พ.ศ. 2535 ถึง พ.ศ. 2553 ฮุสตันสูญเสียพื้นที่่ชุ่มน้ำไปมากกว่า 75% ของที่เคยมีอยู่ ภาพแรกนี้เป็นพื้นที่ของเมืองฮุสตัน ในปี พ.ศ. 2529 พื้นที่เมืองจะแทนด้วยสีฟ้า และสีม่วง และพื้นที่ชุ่มน้ำกับพืชพรรณต่าง ๆ แทนด้วยสีเขียว เมื่อเปรียบเทียบกับภาพที่สองที่เป็นเมืองฮุสตันในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำหายไปจำนวนมาก ทำให้ผลของพายุฮาร์วี่ที่พัดกระหน่ำเมืองในวันนี้มีผลกระทบอย่างมหาศาลเนื่องจากไม่เหลือพื้นที่ชุ่มน้ำไว้รับมือกับอุทกภัยแต่อย่างใดเลย ความหายนะที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนฮาร์วี่ เป็นตัวอย่างของผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา เป็นเมืองที่ไม่มีกฎหมายกำหนดขอบเขตในการพัฒนาที่ชัดเจนจึงต้องจ่ายค่าเสียหายเป็นความสูญเสียของสภาพแวดล้อมไปอย่างไม่มีโอกาสจะได้คืน การสูญเสียพื้นที่รับน้ำของเมืองเพราะไม่มีกฎหมายผังเมืองควบคุมการพัฒนาในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ เกิดการก่อสร้่างอาคารในเขตที่ควรจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมือง เช่น บ้านพักคนชราในย่าน Dickinson มีน้ำท่วมถึงเอว เพราะโครงการนี้สร้างในเขตน้ำท่วมที่กำหนดโดยหน่วยงานบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินแห่งชาติ (สร้างได้อย่างไร) ในพื้นที่เมืองมีผู้คนจำนวนน้อยที่จะมีประกันน้ำท่วม มีข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมที่ล้าสมัย บ้านพักอาศัยในเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสี่ของทั้งหมดที่จะมีประกันภัย หน่วยงานการเคหะและหน่วยงานพัฒนาเมืองของอเมริกามีความพยายามจะแก้ปัญหาโดยการออกกฎหมายควบคุมและสร้างเกณฑ์ในการลดผลกระทบจากการพัฒนาที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม มาตรการนี้ได้รับความเห็นขอบจากโอบาม่า ประธานาธิบดีคนเดิม มาตรการดังกล่าวกำลังจะถูกยกเลิกโดยทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ ผู้ไม่เคยเชื่อในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าการพัฒนาส่งผลต่อสภาพแวดล้อมเมือง อุปสรรคสำคัญในการรักษาสภาพแวดล้อมดั้งเดิมของเมืองเอาไว้คือ การที่กฎ ระเบียบ กฎหมายต่าง ๆ ของเมือง ไม่สามารถควบคุมการพัฒนาได้อย่างจริงจัง อีกทั้งพื้นที่ธรรมชาติที่เป็นภูเขา รวมถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบแพร่กระจายในแบบอเมริกา ยิ่งเพิ่มผลกระทบของภัยพิบัติครั้งนี้มากยิ่งขึ้น ปี พ.ศ. 2535-2553 พื้นที่ชุ่มน้ำประมาณ 2,500 เอเคอร์ สูญเสียไปจากเขตชนบทHaris ทำให้สูญเสียความสามารถในการที่จะรองรับน้ำมากกว่า 15 พันล้านลิตรจากน้ำท่วม คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 600 ล้่านเหรียญ แมรี่ เอ็ดเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า พื้นที่ชุ่มน้ำดั้งเดิมที่มีอยู่ถูกเปลี่ยนให้เป็นทางเท้า ถนนเพื่อรองรับการเติบโตเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมือง ในปัจจุบันแม้เพียงฝนตกหนักทั่วไปก็จะมีน้ำจำนวนมากไหลจากถนนและทำให้เกิดน้ำท่วมได้ ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ชุ่ม่น้ำที่หายไป แต่ทุ่งหญ้า ที่ว่างอื่น ๆ ที่เป็นเหมือนฟองน้ำช่วยซิมซับน้ำท่วมที่ผ่านเข้ามาก็สูญหายไปด้วย เพราะพื้นที่พัฒนาที่มีอัตราสูงขึ้นทุกปี คนยิ่งเยอะ : ผู้ประสบภัยยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้น เมืองฮุสตันอยู่ในวังวนของความชั่วร้ายแห่งการพัฒนา ที่คนเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อรองรับมากยิ่งขึ้น ที่ว่างถูกทำให้กลายเป็นลานคอนกรีตและอาคาร ทำให้เกิดน้ำผิวดินเพิ่มมากขึ้น ก็เกิดน้ำท่วมได้ง่ายขึ้นและส่งผลกระทบต่อเมืองมากยิ่งขึ้น "เพราะพวกเราไม่เคยสนใจว่าสิ่งแวดล้อมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร สำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มองว่าพวกเขาสามารถที่จะเปลี่ยนฮุสตันได้เพียงเวลาข้ามคืน(โดยไม่สนใจผลกระทบหลังจากนั้น)เพื่อแลกกับผลกำไรที่เขาควรจะได้ แต่สำหรับพวกเรา เราต้องการบ้านเมืองที่เป็นที่อยู่อาศัยอย่างมีความสุขของลูกหลานรุ่นต่อไป ผลกระทบของพายุฮาร์วี่นี้เป็นเหมือนคำเตือนจากธรรมชาติที่เราต้องยอมรับในสิ่งที่เราได้ทำลงไป และเราควรจะคิดแก้ไขให้เกิดสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" หลักฐานของคำกล่าวนี้จะเห็นได้จากแผนที่ทั้งสองข้างล่างนี้ที่แสดงให้เห็นว่าฮุสตัน สูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำไปให้กับการพัฒนาอย่างไรบ้าง (พื้นที่ชุ่มน้ำคือบริเวณที่เป็นสีม่วง) จากฮุสตันฝากคำเตือนมาถึงเมืองโคราช กรณีของเมืองฮุสตัน แสดงให้เห็นถึงความอ่อนด้อยในการพัฒนาของมนุษย์ที่เพียงแค่เห็นแก่ผลกำไรและประโยชน์ส่วนตน มากกว่าการคิดถึงผลกระทบในอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไป เมืองโคราชบ้านผม เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ. 2553 ในครั้งนั้นเกิดความเดือดร้อนไปทั่วทุกพื้นที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป น้ำท่วมครั้งนั้นเป็นเพียงแค่ความทรงจำ คนโคราชยังคงสนุกกับการพัฒนาบนมโนพรางตาว่าฉันจะเป็นมหานครแห่งอีสาน เมืองแห่งห้างสรรพสินค้าใหญ่ เมืองแห่งการจับจ่ายใข้สอย โดยที่คนโคราชหลงลืมไปว่าเมืองโคราชนั้นกำลังจะกลายเป็นลานคอนกรีตมากกว่าเมืองแห่งธรรมชาติแบบดั้งเดิม ลำตะคองที่กำลังโดนรุกล้ำ(โดยผู้มีอำนาจ) ธรรมชาติสองฝั่งลำตะคองกลายเป็นพื้นที่รกร้าง กลายเป็นเหมือนพื้นที่หลังบ้านที่ไม่มีใครสนใจว่าใครจะทำอะไรกับมันก็ปล่อยกันไปตามสะดวก ทุ่งหัวทะเลที่เป็นแหล่งรับน้ำใหญ่ที่สุดของเมืองก็กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและอาคารมากมาย ที่โล่ง พื้นที่รับน้ำทั้งหลายสูญหายไปอย่างรวดเร็ว เพียงเพราะอยากได้ห้างใหญ่ อยากได้บ้านจัดสรรเข้ามา จะน่าแปลกใจอะไรที่เมืองโคราช ฝนตกทีไรก็น้ำท่วม เพราะผู้คนบ้านเมืองนี้ไม่เคยรู้สึกว่าเขาขาดที่ว่างและพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อรับภัยพิบัติ เพราะผู้คนบ้านเมืองนี้เขามัวแต่ยินดีที่จะมีห้างใหญ่ มีถนนวงแหวน มีทางลอด อันเป็นสื่อลวงตาให้เขาคุยโม้ได้ว่าบ้านฉันพัฒนาแล้ว เมื่อธรรมชาติเขาส่งแบบทดสอบเช่น ภัยพิบัติมาให้อีกรอบ โคราช บ้านฉัน......จะสอบผ่านไหม? โดย: bicycleman วันที่: 30 เมษายน 2561 เวลา:5:34:00 น.
|
บทความทั้งหมด
|