Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2559
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
21 พฤษภาคม 2559
 
All Blogs
 

มเหสีพระนเรศ



===================================
ที่มา .. https://www.facebook.com/WipakHistory/posts/1083129788417157:0
===================================



ตั้งแต่สมัยก่อนมักกล่าวกันว่าสมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงมีพระมเหสี เพราะทรงทำแต่ศึกสงครามบ้าง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คนในสมัยหลังตีความกันไปเอง เพียงเพราะไม่มีระบุถึงอยู่ในพระราชพงศาวดาร (ซึ่งโดยปกติมักไม่ได้กล่าวถึงพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว) และไม่ได้พิจารณาหลักฐานอื่น ๆ ประกอบ

ซึ่งมีหลักฐานหลายชิ้นของทั้งไทยและต่างประเทศที่ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีอยู่จริงเช่นหลักฐานของสเปนอย่าง History of the Philippines and Other Kingdom ของบาทหลวงมาร์เซโล เด ริบาเดเนอิรา (Marcelo de Ribadeneira, O.F.M.) ได้ระบุถึงกระบวนเรือพระพยุหยาตราชลมารคในสมัยสมเด็จพระนเรศวรว่ามีกระบวนเรือของพระอัครมเหสีอยู่ด้วยว่า

“...ตามติดมาเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีและสาวสรรกำนัลในสมเด็จพระอัครมเหสีประทับแต่เพียงลำพังพระองค์ และบรรดานางกำนัลนั่งในเรือลำอื่นที่ตกแต่งอย่างน่าอัศจรรย์ และกั้นด้วยม่านอย่างรอบคอบจนเป็นไปได้ที่จะสามารถมองผ่านม่านจากภายในออกมาสู่โลกภายนอกได้ โดยที่คนภายนอกไม่เห็นคนภายใน..."
.
นอกจากนี้ในพระราชพงศาวดารของไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำพระราชพิธีอาศวยุธ ก่อนจะเสด็จไปตีละแวกใน พ.ศ.๒๑๓๖ (พงศาวดารสมัยรัตนโกสินทร์ชำระศักราชช่วงนี้เร็วไป ๑๐ ปี โดยระบุว่าเป็นจุลศักราช ๙๔๕ หรือ พ.ศ.๒๑๒๖)

“ลุศักราช ๙๔๕ ปีมแมเบญจศก สมเดจ์พระนะเรศวรเปนเจ้าครั้นเสรจ์การพระราชพิทธีอาสะวะยุทธ แล้วมีพระราชบริหารสั่งให้เกนทับเตรยีมไว้ แลพลสกรรลำเครื่องแสนหนึ่งช้างเครื่องแปดร้อย ม้าพันห้าร้อยกำหนฎเดือนอ้ายจะยกไปตีกรุงกำภูชาธิบดี” – พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม
.
พระราชพิธีอาศวยุธ เป็นพระราชพิธีสิบสองเดือนที่ทำในเดือน ๑๑ โดยเป็นพิธีการแข่งเรือของพระเจ้าแผ่นดินกับพระอัครมเหสีเพื่อทำนายชะตาของบ้านเมือง
ก็สามารถอนุมานได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระอัครมเหสี
.
ส่วนหลักฐานที่ระบุพระนามของพระมเหสีมีดังต่อไปนี้
.
๏ พระมณีรัตนา
ในเอกสารคำให้การขุนหลวงหาวัด ซึ่งเป็นเอกสารที่เรียบเรียงที่พม่าเรียบเรียงจากปากคำของเชลยไทยสมัยเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่สองเป็นภาษามอญ ได้ระบุว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงได้พระมเหสีพระนามว่า ‘พระมณีรัตนา’ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์

‘ส่วนพระนเรศวรนั้น ก็เข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จเข้าสู่พระราชฐานอันอัครเสนาบดีและมหาปุโรหิตทั้งปวง จึงทำการปราบดาภิเษกแล้วเชื้อเชิญให้เสวยราชสมบัติ จึงถวายอาณาจักรเวนพิภพแล้วจึงถวายเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้ง ๕ และเครื่องมหาพิไชยสงครามทั้ง ๕ ทั้งเครื่องราชูปโภคทั้งปวงอันครบครัน แล้วจึงถวายพระนามใส่ในพระสุพรรณบัตรสมญา แล้วฝ่ายในกรมจึงถวายพระมเหษีพระนามชื่อพระมณีรัตนา และถวายพระสนมกำนัลทั้งสิ้น แล้วครอบครองราชสมบัติเมื่อจุลศักราช ๙๕๒ ปีขาล’

จากเนื้อความดูแล้ว ‘พระมณีรัตนา’ คงจะเป็นพระอัครมเหสี แต่การอ้างอิงจากหลักฐานประเภทคำให้การก็ต้องใช้ความระมัดระวังและไม่ควรยึดถือว่าเนื้อหาในหลักฐานเป็นจริงไปทั้งหมด เพราะเรียบเรียงหลักจากเหตุการณ์จริงนานมาก หลายเรื่องทั้งชื่อและเหตุการณ์มีความคลาดเคลื่อนจากหลักฐานร่วมสมัย เหมือนเป็นเรื่องเล่าปากต่อมากกว่าหรือ ‘มุขปาฐะ’ ดังนั้นพระนาม 'พระมณีรัตนา' อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้
.
๏ Tjan Croa Maha dijtian
ในเอกสาร Historical Account of King Prasat Thong ฉบับแปลภาษาอังกฤษของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias Van Vliet) หัวหน้าสถานีการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุทธยาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ได้ระบุว่ามี widow (หม้าย) ของ Black king นามว่า Zian Croa Mady Jan เป็นผู้มีบทบาทในการทูลขอพระราชทานอภัยโทษให้พระหมื่นศรีสรรักษ์ (พระเจ้าปราสาททอง) ต่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากที่พระหมื่นศรีสรรักษ์ถูกลงอาญาจำคุก ๕ เดือน ในข้อหาทำร้ายร่างกายออกญาเกี่ยวข้าวซึ่งเป็นพระยาแรกนา

ชื่อ Zian Croa Mady Jan ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในชื่อ ‘เจ้าขรัวมณีจันทร์’ ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยส่วนใหญ่คุ้นหูกันดี จากภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งมีมณีจันทร์เป็นนางเอก (ส่วนประวัติอื่นๆ ในภาพยนตร์ เช่นว่าเป็นชาวมอญ เป็นธิดาลับของพระเจ้าบุเรงนองเป็นเรื่องแต่งทั้งหมด)

ด้วยชื่อที่มีคำว่า 'มณี' เหมือนกันเลยทำให้มีการสันนิษฐานน่าจะเป็นองค์เดียวกับ 'พระมณีรัตนา' แต่ที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบคือชื่อ Zian Croa Mady Jan ที่เป็นที่มาของชื่อ ‘มณีจันทร์’ เป็นการแปลที่ผิดพลาด

โดยเกิดจากการแปลเอกสารของฟาน ฟลีต (วัน วลิต) ที่คลาดเคลื่อนตอนแปลภาษาดัตช์เป็นฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ.1663 (พ.ศ.๒๒๐๖) ซึ่งทำให้ความหลายตอนคลาดเคลื่อน ต่อมาได้แปลจากฉบับฝรั่งเศสเป็นอังกฤษและไทยตามลำดับจึงผิดตามฝรั่งเศสทำให้ทั้งชื่อคนและเหตุการณ์คลาดเคลื่อนไป โดยที่ไม่ได้มีการสอบทานจากต้นฉบับภาษาดัตช์เลย
.
สำหรับ Zian Croa Mady Jan ตามหลักฐานต้นฉบับภาษาดัตช์เขียนว่า Tjan Croa Maha dijtian อ่านได้ประมาณว่า ‘เจ้าขรัวมหา...จันทร์’ ซึ่งดูจากรูปคำไม่น่าจะแผลงเป็น ‘มณี’ ได้ เพราะคำว่า ‘มหา (Maha)’ นั้นชัดมาก เข้าใจว่าตอนแปล คำว่า ‘ha’ จะตกไป จาก Maha dijtian จึงกลายเป็น Ma di่jtian แล้วแปลเป็น Mady Jan

คำว่า widow บอกได้แค่ว่าเป็นหม้ายเท่านั้น อาจมีฐานะเป็นตั้งแต่ อัครมเหสี มเหสี สนม เจ้าจอม ก็ได้ แต่ดูจากคำว่า 'มหา' ในพระนาม เข้าในว่าน่าจะมีฐานะสูงพอสมควร และดูจากที่ทรงขอให้พระเจ้าทรงธรรมยกโทษให้พระเจ้าปราสาททองได้ก็เข้าใจว่าคงเป็นที่เคารพนับถืออยู่ในระดับหนึ่ง สันนิษฐานว่าคงเป็นมเหสีของสมเด็จพระนเรศวรเป็นอย่างต่ำ แต่จะเป็นองค์เดียวกับพระมณีรัตนาหรือไม่ ไม่มีหลักฐาน แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นองค์เดียวกัน

แต่พระนามจริงๆ ของพระนางคงไม่ใช่ ‘มณีจันทร์’ อย่างที่เราเข้าใจกัน
.
นอกจากพระมณีรัตนากับ Tjan Croa Maha dijtian ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นอัครมเหสี และน่าจะเป็นคนไทยแล้ว ยังปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีที่เป็นธิดาของเจ้าประเทศราชอีกสององค์ ได้แก่
.
๏ พระเอกกษัตรี
ตามพระราชพงศาวดารของกัมพูชา ระบุว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงพิชิตเมืองละแวก ทรงโปรดให้กวาดต้อนพระศรีสุริโยพรรณ ซึ่งเป็นพระอุปโยราชแห่งกรุงละแวก พร้อมทั้งครอบครัว และเชลยชาวเขมรอีกราว ๓๐,๐๐๐ คนลงมายังกรุงศรีอยุทธยา และต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๓๘ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงเอาพระธิดาของพระศรีสุริโยพรรณ พระนามว่า ‘พระเอกกระษัตรี’ มาเป็นพระมเหสีของพระองค์

ปรากฏในพงศาวดารละแวก ฉบับแปล จ.ศ. ๑๑๗๐ ความว่า
“ครั้น ณ ปีมะเมียฉศก (พ. ศ. ๒๑๓๗) สมเด็จพระนเรศรเป็นเจ้า พระองค์ได้สมบัติในเมืองละแวกสมดุจหนึ่งพระทัยปรารถนาแล้ว พระองค์ก็เลิกกองทัพมากรุงศรีอยุธยา แล้วพระองค์ให้นำมาซึ่งสมเด็จพระศรีสุริโยพรรณกับพระมเหษี พระราชบุตรพระราชธิดาและพระศรีไชยเชฐ พรรคพวกพระศรีสุริโยพรรณเข้ามาอยู่เมืองกรุงศรีอยุธยาด้วย ให้ตั้งบ้านอยู่นอกกำแพงกรุงและเมื่อพระนเรศรเป็นเจ้านำเอาซึ่งพระศรีสุริโยพรรณนั้นมา พระชันษาพระศรีสุริโยพรรณนั้นได้ ๓๘ ปี แล้วจึ่งสมเด็จพระนเรศรเป็นเจ้า นำเอาพระราชธิดาพระศรีสุริโยพรรณพระองค์หนึ่งทรงพระนามชื่อว่า พระเอกกษัตรี เป็นพระมเหษีพระนเรศรเป็นเจ้าในปีมะแมสับตศก (พ. ศ. ๒๓๑๘)”
.
๏ โยธยามีพะยา (Yodaya Mibaya)
ในสมัยสมเด็จพระนเรศวร เมืองเชียงใหม่ปกครองโดยพระเจ้านรธามังช่อ (Nawrahta Minsaw) ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แต่เนื่องจากสภาวะการเมืองที่วุ่นวายในตอนนั้น ทำให้หัวเมืองประเทศราชน้อยใหญ่พากันแยกตัวจากหงสาวดี ซึ่งก็รวมถึงเชียงใหม่ด้วย แต่เชียงใหม่เองก็มีปัญหาคือถูกคุกคามจากล้านช้าง เชียงใหม่หาที่พึ่งไม่ได้ ด้วยเหตุนี้พระเจ้านรธามังช่อจึงส่งพระราชสาส์นและบรรณาการลงไปกรุงศรีอยุทธยา ยอมเป็นประเทศราชใน พ.ศ.๒๑๔๑

เช่นเดียวกับพระเจ้าบุเรงนองที่เมื่อตีได้บ้านเมืองต่างๆ ก็มักจะขอโอรสธิดามารับราชการเพื่อเป็นหลักประกันความจงรักภักดีของจ้าประเทศราช สมเด็จพระนเรศวรก็ทรง ‘ขอ’ พระธิดาองค์ใหญ่ของพระเจ้านรธามังช่อกับพระนางสิ่งผยูชิงแมด่อ (Hsinbyushin Medaw – นางพญาช้างเผือก) ซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าแปรที่เป็นอนุชาของพระเจ้าบุเรงนอง มาเป็นมเหสีอีกองค์ไม่ปรากฏพระนามของมเหสีองค์นี้ แต่ในพงศาวดารพม่าเรียกว่า โยธยามีพะยา (Yodaya Mibaya) แปลว่า 'มเหสีอยุทธยา'

ในทางกลับกัน สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงเกี่ยวดองกับทางเชียงใหม่โดยรับมังสาตุลองหรือพระทุลอง พระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าเชียงใหม่มาเป็นเขยของพระองค์ โดยให้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระองค์

เรื่องการเกี่ยวดองครั้งนี้ปรากฏอยู่ใน ‘โคลงมังทรารบเชียงใหม่’ ซึ่งเป็นวรรณกรรมล้านนาที่แต่งราว พ.ศ. ๒๑๕๗ ความว่า

นอเรศขอเจื่องเจ้า - - - สาวกระสัตร
เทียมแท่นเสวยสมบัติ - - - โกถเคล้า
แล้วเล่าลูกชายถัด - - - เป็นแขก เขรยเอย
หวังว่าจักบางเส้า - - - เล่าซ้ำแถมถม ฯ
.
จากหลักฐานที่ยกมาก็แสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระมเหสีหลายองค์ เช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินส่วนใหญ่ในแถบนี้ที่นิยมมีพระมเหสีจำนวนมาก ไม่ได้ไม่มีอย่างที่ส่วนใหญ่เข้าใจกัน

และอาจจะมีสนมหรือเจ้าจอมหม่อมห้ามอีกจำนวนมากเช่นเดียวกับพระเจ้าแผ่นดินทั่วไป เพียงแต่ไม่ปรากฏหลักฐานที่ระบุชัดเจนเท่านั้นครับ
.




 

Create Date : 21 พฤษภาคม 2559
0 comments
Last Update : 21 พฤษภาคม 2559 19:22:58 น.
Counter : 989 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.