Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2559
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
28 มิถุนายน 2559
 
All Blogs
 

อินทรวิเชียรฉันท์ 11

เห็นเด็กนักเรียนไทย ไม่แน่ใจว่า ม.ต้น หรือ ม.ปลายเริ่มมาถามหาความช่วยเหลือการเขียนอินทรวิเชียรฉันท์หลายกระทู้ ในห้องถนนนักเขียน พันทิป

เป็นความยากของเด็กไทยจำนวนมากที่จะต้องทำอะไรด้วยตัวเอง

ประเด็นการขอความอุปถัมภ์จากสังคมรอบข้างเกิดจากสัญชาติญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์เรา ซึ่งก็พอเข้าใจได้อยู่ ..

ในขณะเดียวกัน พฤติกรรมนี้ สามารถมองได้ว่า การช่วยเหลือจัดการตัวเองของคนในสังคมไทยนี้ อ่อนด้อย อ่อนแอ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ..

ตัวเองไม่เก่ง แต่ไม่กล้ายอมรับกับโลกว่าตัวเองไม่เก่ง
จึงต้องหา"ตัวช่วย" ที่จะอุปถัมภ์ ค้ำชู ให้โลกเข้าใจว่า ตัวเองเก่งเหมือนกัน
แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าโลกที่เข้าใจไปแบบนั้น .. เพราะถูกหลอกจากความเป็นจริงเบื้องหลังที่มีคนอื่นช่วยอยู่อีกต่อหนึ่ง

คนเช่นที่ว่ามีอยู่มากมาย และอยู่อย่างหน้าไม่อายแม้แต่น้อย
เป็นความมักง่ายบนความตอแหลของคนในสังคมกะลาครอบแห่งนี้อีกอย่างหนึ่งที่น่ารังเกียจ

ครู ..
ครูสมัยนี้ หลักสูตรสมัยนี้ สอนเด็กไทยออกมาได้อ่อนด้อยมากทางภาษาไทย
ไม่เข้าใจว่า การปรับเปลี่ยนหลักสูตรมาตลอดระยะเวลายาวนาน ทำไมยิ่งมายิ่งแย่ลง

ยังวนเป็นวงจรอุบาทว์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ..
แปลนิราศนรินทร์
แปลนิราศภูเขาทอง
เขียนอินทรวิเชียรฉันท์ 11

เหล่านี้ ไม่ได้ใช้ภาษาต่างด้าวแต่อย่างใด
พจนานุกรมออนไลน์ก็มีมากมาย
ทำไมถึงแปลกันไม่ได้ กับเด็กในวัย 14-16 ?

ที่ว่าภาษาอังกฤษแย่มากโดยเฉลี่ยทั้งประเทศแบบอันดับแทบโหล่ใน AEC (ไม่ใช่ในโลกนะ) นั้นยังไม่ต้องพูดถึง

แม้แต่ภาษาตัวเองยังเข้าใจไม่ได้เลย ..
ยังแปลไม่ถูก แม้จะมีวิธีหาความหมายของแต่ละคำได้อย่างง่ายดายด้วย Google แล้วก็ตาม

ยังต้องมา ..
ถาม ..
ถาม ..
ถาม ..
ไม่จบไม่สิ้น !

วิธีการอธิบายความใดๆให้บุคคลที่ 2-3 เข้าใจ เป็นทักษะอย่างหนึ่ง
ในการอธิบายว่า อย่างไรคือ ครุ
ในการอธิบายว่า อย่างไรคือ ลหุ
เมื่อต้องการทดสอบว่าอาจมีเด็กสักคนไม่เข้าใจ ในห้องที่สอนอยู่ .. ครูควรทำอย่างไร ?

ต้องสอบปากเปล่าต่อหน้า

เมื่อแน่ชัดว่าไม่เข้าใจ ก็ต้องต่อหลังเวลา
มันไม่ใช่เรื่องยากหากครู "เอาใจใส่เด็ก" ไม่มัวแต่ "เอาใจใส่นาย" หรือ "หน้าตาตัวเอง"
หรือ "ห่วงกลับบ้าน"

จากฉันท์โบราณที่เล่นเสียงหนักเบา .. ซึ่งยากต่อการแยกแยะด้วยหู
มาเป็นฉันท์ยุคปฏิรูปที่เล่นเสียงสั้นยาว .. ซึ่งง่ายต่อการแยกแยะด้วยตา

ฉันท์ เป็นของแขก ไทยเอามาปรับ
คำที่ใช้การแยกอ่านสระได้จึงมีแต่คำบาลี สันสกฤต เท่านั้น

เสียงท้ายวรรค ไปตามกาพย์ยานี เพราะเป็นฉันทลักษณ์ตระกูลเดียวกันที่ต่างไปจากกลอนของไทย และโคลงของลาว

ข้อนิยม ที่ไม่ใช่ข้อบังคับ คือ ..
1.คำท้ายวรรค ไม่"นิยม"ลงด้วยคำที่มีรูปวรรณยุกต์คาอยู่ .. วรรณยุกต์คือ เอก โท ตรี จัตวา
2.คำที่สามในวรรค 2 ไม่จำเป็นต้องสัมผัสสระกับคำท้ายวรรค 1
3.เสียงท้ายวรรค 2 ควรเป็นเสียงสามัญ
4.เสียงท้ายวรรค 4 ควรเป็นเสียงจัตวา

ฉันทลักษณ์ ไม่ต้องโยงเส้นให้วุ่นวาย ..
00100 - - - 110102
00102 - - - 110103

00100 - - - 110103
00103 - - - 110104

1 คือ ลหุ
ที่เหลือคือ ครุ
เลขเหมือนกัน สัมผัสสระ
.
.
.
จากอิลราชคำฉันท์ของท่าน ผัน สาลักษณ์

๏ ภาคพื้นพนารัญ - - - จรแสนสราญรมย์
เนินราบสลับสม - - - พิศเพลินเจริญใจ
๏ โขดเขินศิขรเขา - - - ณลำเนาพนาไลย
สูงลิ่วละลานไน - - - ยนพ้นประมาณหมาย
๏ ยอดมัวสลัวเมฆ - - - รุจิเรขเรียงราย
เลื่อม ๆ ศิลาลาย - - - ก็สลับระยับสี
๏ ขาบแสงประภัศร - - - นิลก้อนตระการดี
ขาวแม้นมณีมี - - - รตรุ้งรำไพพรรณ
๏ ทอแสงผสานสาย - - - สุริย์ฉายก็ฉายฉัน
เหลืองเรื่ออุไรวรร - - - ณวิจิตรจำรูญ
๏ แง่งเงื้อมฉง่อนงาม - - - ก็วะวามวิไลยปูน
ปนรัตนไพฑูร - - - ยพิพิธประภากร
๏ ปานก้อนพระไกรลาศ - - - วรนารถมเหศร
สร้องเสพสถาพร - - - ศิริสุนทรารมณ์
๏ อวยพรพิพัฒน์พ้น - - - ภยเวทวราคม
นอกนี้ฤเปรียบสม - - - ศิขรินทงามงอน
๏ วุ้งเวิ้งชะวากผา - - - ฆณแผ่นศิลาสลอน
ช่องชานชโลทร - - - ชลเผ่นกระเซ็นสาย
๏ ปรอย ๆ ประเล่ห์เห - - - มอุทกพะพร่างพราย
ทราบซ่านสราญกาย - - - กระอุร้อนก็ผ่อนซา
๏ ท่อธารละหานห้วย - - - ก็ระรวยระรินวา
รีหลั่งถะถั่งมา - - - บมิขาดผะผาดผัง
๏ ไม้ไหล้สล้างชม - - - ขณะลมกระพือวัง
เวงเสียงก็เสียดดัง - - - ดุจซอผสานสาย
๏ แสนสาธรารมณ์ - - - จรชมก็ชวนสบาย
ใจหงอยก็ค่อยหาย - - - หฤหรรษเหิมหาญ
.
.
.
สระเจ้าปัญหา คือ สระอำ

ขาวแม้นมณีมี - - - รตรุ้งรำไพพรรณ ..
ตรงนี้ สระอำ เล่นบท ลหุ ตรง "รำ"ไพพรรณ

เหลืองเรื่ออุไรวรร - - - ณวิจิตรจำรูญ ..
พอตรงนี้ สระอำ เล่นบท ครุ ตรง"จำ"รูญ

กับโคลงก็ลักษณะเดียวกัน .. บ้างเป็นคำเอก .. บ้างเป็นคำสามัญ

เอาเป็นว่าเป็น ลหุ - อนุโลมในฉันท์ เพราะเสียงมันไม่สั้น และเสียงไปพ้องกับคำครุ สระอัม ทั้งหลาย เช่น อัมพวา กัมพุช สัมมา คัมภีร์

เอาเป็นว่าเป็น คำเอก - อนุโลมในโคลง แล้วกัน
.
.
.
ปัญหาของความมักง่าย ..
สระเลือน ที่เอามาสัมผัสกันในตำแหน่ง บังคับ

อำ .. สัมผัสสระเลือนกับ .. อาม
นำ .. สัมผัสเลือนกับ .. นาม
หมัย .. สัมผัสเลือนกับ .. หมาย
ไกล .. สัมผัสเลือนกับ .. กลาย

ใช้ได้ในสัมผัสในวรรคที่ไม่ใช่ตำแหน่งบังคับ

แต่หากจะดันทุรังเขียน ก็คงไม่มีใครว่า แต่นั่นคือ ร้อยแก้ว ไม่ใช่ ร้อยกรอง
อะไรที่ไม่มีฉันทลักษณ์รองรับ เราเรียกร้อยแก้ว บทความ บรรยายโวหาร พรรณาโวหาร

คำว่า"กลอนเปล่า" มันไม่มีในรูปแบบอะไรต่างจากร้อยแก้ว ..
แต่หากทำให้เข้าใจได้ง่ายก็พึงใช้กันไปตามสะดวก
.
.
.
ลหุ ไทย
อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ เอาะ อัวะ
คำพวกนี้ปกติเสียงหนัก สมัยโบราณจัดเป็นครุ แทบหมด
เฉพาะเจาะจง .. 3ลหุ+1ครุ .. ใช้เขียนท้ายวรรค วสันตดิลก หรือ สัททุลฯ ได้เลย
คำไทยหายากและเขียนฉันท์ไม่ไพเราะ

คนชอบฉันท์จึงต้องมีคำแขกในคลังสมองเยอะๆ
.
.
การแยกอ่าน
สูงลิ่วละลานไน - - - ยนพ้นประมาณหมาย
ไนยนะ มาจาก นัยนา .. การฉีกคำออกต่างวรรคเพื่อเอาลหุ มักทำในผู้ชำนาญเรื่องภาษาแล้วเป็นส่วนใหญ่ เช่นผู้ผ่านหลักสูตรนักธรรมทางพุทธศาสนา

และเราต้องอ่านว่า ..
สูงลิ่วละลานไน - - - ยะนะพ้นประมาณหมาย

หากไปอ่าน ..
สูงลิ่วละลานไน - - - ยน-พ้น-ประมาณหมาย - อันนี้จะออกทะเล แปลว่าไม่รู้เรื่องฉันท์
.
.
.

คำ ร หัน หรือ รร
ตัวนี้หากเป็นคำโดดๆ เช่น ..
มรรค เราอ่าน มัก หรือ มะคะ
ตรรก เราอ่าน ตัก หรือ ตะกะ

รร คือ สระอะ เปลี่ยนรูปนั่นเอง
มีใช้อยู่หลายคำ และมาจากแขก

มรรคา เราอ่าน มัก-คา .. อีกรูปที่ใช้กันคือ มรคา .. ซึ่งขึ้นต้นวรรคคู่ได้เลย
มรรคะ อ่าน มะ-คะ
วรรณะ อ่าน วะนะ
ตรรกะ อ่าน ตะกะ
.
.
.
การถอดตัวการันต์เพื่อเอาลหุ
คำที่มีการันต์ทั้งหมดมาจากแขก ใส่การันต์เพื่อลดเสียงปลายคำ
ถวัลย์ - คำนี้อ่าน ถะ-หวัน
พอถอดการันต์เพื่อเขียน วสันตดิลก อ่าน ถะ-หวัน-ละ-ยะ เพื่อเอาคำครึ่งมาต่อก็จะไพเราะเสนาะหู
.
.
.
O ผู้เหนือโลก .. O







อินทรวิเชียรฉันท์ ๑๑

O พิศภาคะหลากพรรณ - - - อภินันทะรำบาย
พันลอกและดอกลาย - - - กละร่ายระรัวรอ
O กลีบช่อลออชู - - - รสะภู่ ฤ รู้พอ
กลีบโง้งและโก่งงอ - - - ดุจะล่อจะให้หลง

O กลิ่นหวนและล้วนหอม - - - ขณะล้อม ฤ ล้างลง
กรุ่นดินและกลิ่นดง - - - รสะสงเคราะห์ยามสาย
O แดดทอดตลอดถิ่น - - - ภุมรินะร่อนราย
ส่องเช้าสุรีย์ฉาย - - - มรรคะปลายจะปลอดปรุง

O แว่วสรรพสุโนกซ้อง - - - พิเราะร้องจะอำรุง
เมียงหมายกระจายมุง - - - นิระมุ่งจะเป็นภัย
O หวีดหวิวละลิ่ววน - - - วตะบนสะบัดใบ
กิ่งแกว่งเพราะแรงไกว - - - วตะไล้แตะแล้วลา

O มาลย์ลิ่วและปลิวล่วง - - - ดุจะบวงพระบาทา
ลาดสู่พระผู้สา- - - - มัญะฝ่ากิเลศฝืน
O บาทเธียระเพียรธรรม - - - ระยะกรรมจะกลบกลืน
ล่วงคล้อยเพาะคอยขืน - - - บทะตื่น ณ ในตน

O รอบาทะลาดใบ - - - ขณะไท้ บ่ รอทน
ทุกข์ผ่านจะลาญผล - - - อัตะวนจะป่นวาย
O ลมวู่พบูวี - - - ปฐพีก็พร่างพราย-
ด้วยรัศมีฉาย - - - รพิป้าย ณ หนหาว

O เงาภาพกระหนาบพื้น - - - บทะยื่นน่ะยืดยาว
ทุกข์ฤทธิพิษร้าว - - - จะละน้าว บ จำนน
O เมื่อร้อนนะผ่อนแรง - - - ทิฐิแปร่งก็ผ่อนปรน
จิตไท้ก็ไม่ทน - - - อัตะตนก็ป่นสูญ
.
.




วสันตดิลกฉันท์ ๑๔

O งดงาม ณ ยามชุติวิพุธ
บริสุทธิดำรง
บรรสาระศานติและณรงค์-
ทุขะสงเคราะห์สิ้นสาย

O งามเพ็ญะเด่นศศิพิลาส
รุจะสาดและกำจาย
โลมฟ้าและพานิละสลาย
นยะหมายจะเปรียบเหมือน

O บรรโลมโพยมบทะจรัส
บริพัตรเพราะดาวเดือน
อกเอ๋ยเพราะเชยนยะสะเทื้อน
ฤจะเคลื่อนจะคลายสูญ

O ช่วงนั้นถวัลยะพิสิฏ
เพาะจริตะจำรูญ
หล่อหลอมถนอมพฤติวิทูร
ละอดูระหักหาย

O ท่ามกลางพยางคะบริภาษ
วิปลาสะกำจาย
แซ่ศัพทะรับมติภิปราย
นิระหน่ายกะสำเนียง

O "เขาว่า" .. เพราะว่าผิวะสดับ
เสนาะศัพทะสำเนียง
ปานว่าจะพาทิพยะเสียง
ประลุเคียงประคองขวัญ

O "ยินว่า" .. เพราะว่าคติวิจิตร
ผิวะคิดก็คมครัน
จึงว่าเพราะกว่าอรรถะสวรรค์
ระบุคันถะขวนขวาย

O ยากแต่จะแปรศิระชะเง้อ
ผิวะเพ้อเพราะบรรยาย
ยากเข็ญจะเร้นอัตะสยาย
ธิระผ้ายและเพียรเผย

O เกินกาลจะผ่านอริยะวาท
อธิชาติชมเชย
ล่วงถิ่นมุนินทระจะเผย
สัจะเกยมโนกรรม

O จึงภาษประหลาดระบุระบือ
มุหะถือผิว์คือธรรม
จึงพาละผ่านบทะกลัม-
พระซ้ำกระหน่ำเสริม

O อักโขมโนทัศนะอ้าง
นยะต่างสิแต่งเติม
ผ่านวาทะปราชญะกระเหิม
ประจุเพิ่มและเพียรขาย

O ดั่งโลมและโหมวตะสะบัด
ชะธวัชะปลิวปลาย
อวดอยู่ก็ภูษิตะสยาย
สิละม้ายจะง่ายเห็น

O เฉดรงคะบ่งรัฐะประจักษ์
บริรักษะร่มเย็น
บอกผู้ศัตรูสุขุมะเพ็ญ
ผิวะเร้นจะรุกราน

O ลมฤทธิ์อวิชช์ผิวะกระชั้น
ฤจะทันจะทัดทาน
เห็นแต่จะแปรมุหะผสาน
อวตาระรูปหลง

O มิจฉาประดาขณะกระหวัด
ดละวัฏฏะหมุนวง
ฤๅรู้จะสู่อัตะณรงค์
พระประสงคะสืบสอน?

O อวดอยู่ก็ภูษิตะประหลาด
วิปลาสะอาภรณ์
โลมฤทธิมิจฉะสะท้อน
ฤ จะผ่อนสะพัดผืน

O หลงศรัทธ์ระบัดทิฐิพิลาป
บุญะบาปะกล้ำกลืน
เว้นผู้เพราะรู้วิชช์จะขืน
ประลุตื่น ณ ในตน

O เศร้านั้นเพราะนันทิวิปลาส
คติทาสะจำนน
สิ้นหวัง ฤ ดั่งอุตริฉล
ทุพพละปล้นธรรม

O งดงามก็ยามทิฐิวิพุธ
บริสุทธิเนื่องนำ
นัยแท้จะแผ่ศักยะล้ำ
สัทะค้ำบ่คลายคลอน


O อัญชลิตพระพุทธน้อม - - - นำใจ
ต่างประทีปชวาลไข - - - ขจ่างเรื้อง
ปลิดป่นมืดหม่นใน - - - สำนึก สิ้นนา
ครวญใคร่หมายปลิดเปลื้อง - - - เท็จถ้อยเดียรถีย์ ฯ




 

Create Date : 28 มิถุนายน 2559
0 comments
Last Update : 28 มิถุนายน 2559 16:17:16 น.
Counter : 12077 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.