Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2559
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
20 กรกฏาคม 2559
 
All Blogs
 
ปรับ "ทักษะ-เรียนรู้" เด็กไทย


ที่มา .. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
//www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1468862379






เร็ว ๆ นี้ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และธนาคารโลก จัดเสวนาเดินหน้าการศึกษาไทยอย่างไรให้ตอบโจทย์ "Thailand Economy 4.0" จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์การศึกษารุ่นใหม่

"ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์" นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ไทยมีกำลังแรงงานในช่วงอายุ 15-65 ปี ราว 37 ล้านคน แต่ขาดแคลนแรงงานฝีมือซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในมุมผู้ประกอบการ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยถดถอยลงตั้งแต่ปี 2550 ค่าจ้างของแรงงานทุกกลุ่มลดลงรุนแรง และมีแนวโน้มซบเซามากกว่า 10 ปีแล้ว (ก่อนเริ่มนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท) สวนทางกับตัวเลขการศึกษาของแรงงานไทยที่ดีขึ้นถ้านับตามจำนวนปีการศึกษา

"ประเทศไทยมีปริมาณบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก แต่กลับขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ ทำให้เสี่ยงต้องยอมทำงานรับค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิ และออกไปอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ขณะที่แรงงานระดับล่างกว่า 1 ล้านคนว่างงานเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือนทุกปี เพราะขาดทักษะที่นายจ้างต้องการเช่นกัน"

จากผลทดสอบนานาชาติ PISA นักเรียนไทยจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพ หรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยที่อายุ 15 ปี รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ และยังมีช่องว่างทักษะขั้นพื้นฐานอย่างการอ่านของเด็กไทยเปรียบเทียบระหว่างชนบทและในเมือง ต่างกันมากถึง 3 ปีการศึกษา และหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนาม พบว่าความสามารถของนักเรียนเวียดนามแซงหน้าเด็กไทยถึง 1.5 ปีการศึกษา

"ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว" คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ Economy 4.0 ด้วย Education 2.0 ซึ่งไม่สามารถช่วยให้ผู้ที่เรียนจบปรับตัวให้เข้ากับโลกของการทำงานได้ เกิดปัญหาช่องว่างทางทักษะที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเศรษฐกิจปรับตัวแต่แรงงานไทยปรับตัวไม่ทัน

ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ได้ร่วมกับ สสค. วิจัยประเด็นช่องว่างทักษะเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ใน จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต ตราด และอีก 14 จังหวัดทั่วประเทศพบว่า ช่องว่างทักษะสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาเทียบเท่ากับ Economy 2.0 และกำลังพัฒนาไปสู่ Economy 3.0 คือ

1)ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศอื่น ๆ
2)ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ
3)การใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต

ส่วนจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาเทียบเท่ากับ Economy 3.0 และกำลังก้าวไปสู่ Economy 4.0 พบว่า มีช่องว่างทักษะเพิ่มขึ้นทุกประเด็น ถ้าไม่นับปัญหาภาษาต่างประเทศ ช่องว่างทักษะสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

1)ความรู้เฉพาะตามตำแหน่งงานที่ทำ
2)การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงาน
3)ความสามารถในการเรียนรู้งาน

"ซึ่งระบบการศึกษาที่จะตอบโจทย์นี้ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน จัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนต้องมีวิธีการประเมินผลการเรียนแตกต่างจากปัจจุบันที่เน้นการสอบเพียงอย่างเดียว"

ขณะที่ "ดร.ไกรยส ภัทราวาท" ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.ชี้ว่า สถานการณ์เลิกจ้างและตัวเลขบัณฑิตตกงานจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอีก 5 ปี

ถัดจากนี้ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ทักษะการทำซ้ำเป็นประจำ (Routine Skill) จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย

ในปี 2563 นั้น 1 ใน 3 ของทักษะที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบันจะล้าสมัย ซึ่ง 65% ของงานใน 10 ปีข้างหน้ายังไม่เกิดขึ้น แล้วระบบการศึกษาจะสอนเด็กอย่างไร

"เป็นความท้าทายว่าไทยสามารถสร้าง The New S-Curve ใหม่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นี้ได้หรือไม่ The New S-Curve ใหม่ของไทยคืออะไร และจะส่งผลให้กำลังแรงงานไทยรุ่นใหม่สามารถก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางได้ในเร็ววันนี้หรือไม่ ระบบการศึกษาไทยจึงจำเป็นปรับตัว โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ควรร่วมมือกันปฏิรูปให้เกิดการเรียนรู้ทักษะซึ่งเป็นที่ต้องการในปัจจุบันและในอนาคต"




Create Date : 20 กรกฎาคม 2559
Last Update : 20 กรกฎาคม 2559 7:41:14 น. 0 comments
Counter : 667 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.