ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
10 มิถุนายน 2554

ชีวิตเด็กวัด ตอนที่ 4

ชีวิตครอบครัว (ต่อ)

ตอนนี้ผมเข้าธนาคารกรุงเทพ ได้แล้ว ทำให้ชีวิตทำท่าจะดีขึ้น

ป้าเหลียว ภริยา พ.ต.ต.ประเทือง ปัทมะเศรษฐ ซึ่งเกษียณมาใกล้ ๆ กัน ลุงเทืองเลยไปอยู่ดำเนินสะดวกกับพี่เทิง

ป้าเหลียวมาอยู่กันที่บ้านสุคันธาราม แล้วมองหาที่ปลูกบ้านอยู่ ก็มาได้ที่บางซื่อ สมัยโน้นนับว่าใกลความเจริญมากทีเดียว ป้าเหลียวตัดสินใจซื้อที่ ๖๕ ตารางวาเผอิญมีที่เปล่าติดกันเขาจะขายก็บอกให้ผมซื้อด้วย ก็เลยได้ที่ดินติดกัน ได้กู้เงินบริษัทอาคเนย์ประกันภัย จำกัด โดยความช่วยเหลือจากคุณวิทยา (คุณวีรวรรณ) เหล่าเศรษฐกุล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท วิ่งเต้นช่วยเหลือ เลยต้องประกันอัคคีภัยมาจนบัดนี้) นำมาปลูกบ้านพร้อม ๆ กันเสร็จ ย้ายเข้ามาอยู่ในปี ๒๕๑๒

ตอนนั้นนุคลอดลูกชายคนโตได้ ๑ เดือน อายุบ้านกับลูกต้นเท่ากันพอดี

การงานของผมกับของนุที่ธนาคารเป็นไปด้วยดีมาโดยลำดับ จนกระทั่งวันหนึ่งบ่นว่า ขี้เกียจทำงาน อะไร ๆ มันก็มาลงที่เราคนเดียว

ธรรมดานุไม่ใช่คนขี้บ่น ไม่ค่อยปริปากบอกอะไรกับใคร แต่เมื่อถึงขั้นบอกผมว่าอยากลาออกจากงาน ผมก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก ก็ได้แต่พูดจาหว่านล้อมว่าอย่าพึ่งซิ เรายังต้องใช้เงินส่งเสียลูก ๆให้เรียนหนังสือ ถ้าจะออกเอาไว้ออกพร้อมกันเมื่อตอนที่ผมเกษียณ

การก็เป็นอย่างนี้นานเหมือนกันจนนุได้เลื่อนให้เป็นรักษาการหัวหน้าส่วน

อาการเริ่มปรากฏชัดนุเริ่มจำอะไรไม่ได้ งานที่ทำมานานกว่า ๒๐ ปีก็ยังลืม

ไอ้นี่มารู้ทีหลังว่ามันเกิดจากอาการเครียด นุจะเครียดทั้งงานแบ็งค์ งานบ้าน ที่บ้านก็รบกับยาย (คุณแม่) ซึ่งเล่นไพ่ ทำกับข้าวแจกชาวบ้านแล้วก็ทำรกไปทั้งบ้าน

กลับจากที่ทำงานก็มาล้างถ้วยล้างจาน ถูบ้านที่ขาไพ่กินไป เล่นกันไป

นุร้องไห้ทุกวัน ผมเห็นสภาพนี้มานาน ก็สงสารก็พากันไปหัดเล่นกอล์ฟ เสาร์/อาทิตย์ก็ไปตีกอล์ฟด้วยกัน พอหายกลุ้มไปได้พักใหญ่ กลับมาบ้านก็อีหรอบเดิม

ส่วนงานที่ธนาคารนั้นกลายเป็นทุกขลาภ ได้เลื่อนตำแหน่งก็พอดีเจอผู้บังคับบัญชาที่ขึ้นชื่อว่าเจ้าระเบียบ เลยทำให้เครียดเข้าไปใหญ่

ผมพาหาหาแพทย์ที่ดีที่สุดในขณะนั้น ก็ได้ท่านอาจารย์ นพ.ปรีดา พัวประดิษฐ์ ได้ทำการสแกนด์และตรวจคลื่นสมอง อาจารย์บอกว่าเป็น โรคสมองเสื่อมก่อนวัย อย่าปล่อยให้ไปไหนมาไหนตามลำพัง อาจกลับบ้านไม่ถูกหรือหายตัวไปก็ได้

อนิจจัง นี่คือนุ ที่ครอบครัวพอจะลืมหน้าอ้าปาได้บ้าง นุก็ไม่ได้รับความสุขนั้นแม้แต่น้อย

ผมใจคอไม่ค่อยดี ก็เลยปรึกษานายว่า ขอลาออกก่อนเกษียณดีไหม เมื่อผู้ใหญ่ไม่ขัดข้องผมก็ให้นุลาออก

ตอนนั้นยังได้พานุไปเที่ยวที่เมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย ไปตีกอล์ฟกันที่นั่นก็ยังเล่นกอล์ฟได้ แต่หลังจากนั้นมาอีกไม่นานมีอาการวิตก หวาดกลัวผสมเข้ามาอีก ก็ให้แพทย์ดูอาการให้ยาก็สงบไปได้พักหนึ่ง

เพื่อนฝูงหลายต่อหลายคนก็แนะนำให้รักษาทางไสยศาสตร์มีทั้งทรงเจ้าเข้าผี เจ้าแม่กวนอิม ปล่อยนกปล่อยปลาสารพัน ไม่มีอะไรดีขึ้น ที่สุดก็คือ ยาของอาจารย์ หมอปรีดาเท่านั้น

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ท่านมาด่วนเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ นุคนไข้ของหมอ ก็ยังเหมือนเดิมครับ

ขอเล่าย้อนหลังไปนิดหนึ่ง ช่วงนี้ดวงผมคงอยู่ในช่วงขาขึ้น คุณประจวบ อินอ๊อด ผู้จัดการฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ให้ผมพาผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจ ๒ คนคือคุณนิรันดร์ ทองปาน และคุณวิชัย สุวรรณบรรณ ไปญี่ปุ่น เพื่อร่วมพิธีย้ายสาขาโตเกียว ผมก็รับปากทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยแน่ใจตัวเองเท่าไหร่ ว่าจะทำได้สำเร็จ

ในที่สุดก็ได้ไปและเรียบร้อย แต่มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ที่ความวิตกกังวลก่อนการเดินทางเป็นเหตุให้โรคเก่ากำเริบ คือมีเลือดออกที่กระเพาะอาหาร เป็นมากในวันสุดท้ายก่อนกลับถึงเมืองไทย

ออกจากสนามบินดอนเมืองก็เข้าโรงพยาบาลนนทเวชไปเลย เคราะห์ดีที่มีนุร่วมเดินทางไปด้วยและช่วยดูแลผมเป็นอย่างดีจึงรอด

ผมก็เลยต้องดูแลนุมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ กว่า ๑๐ ปีแล้ว นุยังดูทีท่าว่าจะไม่เป็นอะไรไปมากกว่านี้ แต่ผมไม่แน่ว่า ถ้ามีเรื่องสะเทือนใจมาก ๆ หลายเรื่องและนานเข้า ผมจะเป็นอะไรไปก่อนหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ได้

มีอยู่ระยะหนึ่ง ท่านประธานกรรมการพัฒนาสังคม (คุณวิระ รมยะรูป) ได้ไปเป็นนายกสมาคมกรุงเทพกรีฑา ได้ชวนให้ผมไปช่วยท่านที่สมาคม ได้มีส่วนสร้างผลงานในการจัดกอล์ฟการกุศลหารายได้บำรุงสภากาชาดไทยสำเร็จ

แม้ว่าจะเป็นการดำเนินงานของหลายฝ่าย แต่ก็เกิดจากความตั้งใจของผมที่ทำให้เกิดกิจกรรมนี้ขึ้น ทำให้ได้รู้จักผู้คนในวงการกอล์ฟอีกมากล้วนเป็นผู้มีฐานะดีทั้งนั้น

ผมได้มีโอกาสรู้จักกับนักวิชาการและเพื่อนนักกอล์ฟอีกหลายคนซึ่งลักษณะนิสัยใจคอล้วนแปลกแตกต่างไปจากปกติเมื่อเล่นกอล์ฟ แต่มีคนหนึ่งที่ผมต้องขอขอบคุณที่ได้มีส่วนให้ชีวิตมีค่าขึ้นบนถนนสายคนเล่นกอล์ฟคือคุณสาวิตรี ไหลงาม ซึ่งก็ได้เป็นเพื่อนร่วมงาน และร่วมทางอยู่พักใหญ่

ส่วนลูก ๆ ก็ออกเรือนไปทั้ง ๒ คน ยังไม่มีหลาน เพราะยังต้องทำมาหากินเสริมฐานะให้ครอบครัว (บันทึก ๑๕ สิงหาคม ๒๕๓๖)

หลังจากที่เกษียณธนาคารต่ออายุเป็นที่ปรึกษาอีก ๕ ปีครึ่ง ได้เงินมาซื้อรถเก๋งได้ ๑ คัน เงินขายที่ดิน นำมาปลูกสร้างหอพัก ส่งลูกเรียน ก็ได้เก็บกินพอเลี้ยงตัวไปเดือน ๆ ก็พอเหลือไปตีกอล์ฟบ้าง เพราะช่วยให้โลหิตหมุนเวียนดีขึ้น ตายช้าลงไปอีกหน่อย

จึงเรียกได้ว่าไม่ถึงกับลำบากแต่ก็ไม่สบายนัก และคิดว่าไม่เสียชาติเกิดแล้ว.




 

Create Date : 10 มิถุนายน 2554
0 comments
Last Update : 16 มิถุนายน 2554 23:08:11 น.
Counter : 974 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


พ คชา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พยงค์ คชาลัย
เกิด ๒๔๗๘ (น่าจะแก่) จ. ราชบุรี
ตกฝากเวลาพระออกบิณฑบาต(๐๖.๐๐ น.)

เจ็บ เป็นครั้งคราว(เคยหนัก แต่รอด)
ตาย ยังไม่ได้กำหนด(วัน /เวลา)
สมรส หม่าย
บุตร ๒ คน และ หลาน ๒ คน

การศึกษา
ประถมที่ รร.เทศบาล๑ หน้าวัดสัตตนาถ ปริวัตร ราชบุรี
รร.ประชาบาลไพลประชานุกูล วัดบางแคกลาง อ.อัมพวา จ,สมุทรสงคราม (หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒)

มัธยม ที่ รร.บำรุงราษฎร์และรร.เบญจมราชูทิศ หลังวัดสัตตนาถฯ จ,ราชบุรี / โรงเรียนทหารม้า(ยานเกราะ)และ
สูงสุด ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาการหนังสือพิมพ์ แผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

การงาน
รับราชการทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นผู้ควบคุมเสียง เป็นผู้ประกาศ เล่นละครวิทยุ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารยานเกราะ เขียนบทความ เขียนสารคดี เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อฟ้าของอภิธรรมมูลนิ ฯลฯ

เข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เป็นพนักงานอันดับหนึ่งจนถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้น AVP ในฝ่ายการประชาสัมพันธ์(ยุคบุกเบิก)รวมเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี(และยังช่วยทำอยู่)

มีผลงานที่น่าคุย คือ เสนอก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ที่สร้างชื่อให้ธนาคารได้มาก และ

ร่วมประสานงานโครงการหนังสือ”ลักษณะไทย”
จนบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สำคัญ คือ

ธนาคารจัดพิมพ์ทูนเกล้าฯถวายในวโรกาส ๘๐ พรรษามหาราช(นับจากจะพิมพ์เนื่องในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ สีลมเมื่อ ปี ๒๕๒๕)
และงานอื่น ๆอีกเยอะมาก
ทั้งยังร่วมก่อตั้งชมรมประชาสัมพันธ์ธนาคารด้วย

งานเขียน
หนังสือชื่อ ๓๖๖ อดีต พิมพ์แจกห้องสมุดประจำจังหวัด
เขียนเรื่องสั้นชื่อ”คำสั่ง”ลงในป๊อกเก็ตบุ๊ค(คงไม่มีใครได้อ่าน)
และเขียนอะไรต่อมิอะไรในหน้าที่การงานเยอะเหมือนกัน

งานพิเศษ ร่วมกับอาจารย์ประจวบ อินอ๊อด สอนวิชาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หลายปี
รับเชิญบรรยายตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย

เกียรติยศ ได้รับเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้น ๒ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย
เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์

กีฬา กอล์ฟ (พอเล่นได้ถ้วยบ้างเท่านั้น)
[Add พ คชา's blog to your web]